๒๐

ฝ่ายตะละนางพระยาท้าวนั้น ครั้นมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าหงษาวดีแล้วก็สบายพระทัย ทรงพระเสน่หาในพระเจ้าหงษาวดีนั้น ประดุจดังพระราชโอรสเกิดแต่พระอุทร พระเจ้าหงษาวดีก็กลัวเกรงนบนอบกระทำสการบูชา ทรงปฏิบัติรักษาตะละนางพระยาท้าวนั้นดุจดังพระราชมารดาอันยังพระองค์ให้บังเกิด ตั้งไว้ในที่เปนสมเด็จพระชนนีหลวง แล้วพระองค์ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญการกุศลเปนอันมาก ตรัสสั่งให้ปลูกพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวัง เรียกว่าพระที่นั่งธรรมสภาค แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกมาบอกพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์วันละร้อยรูปมิได้ขาด แล้วให้สามเณรสี่องค์ ซึ่งเปนนิสสิตร่วมยาก หนีมาแต่กรุงอังวะนั้นสึกออก โปรตตั้งให้เปนเสนาบดีผู้ใหญ่ ชื่อพระยาอินท์หนึ่ง พระยารามหนึ่ง พระยาพรัวหนึ่ง พระยาแก่นท้าวหนึ่ง แล้วโปรดตั้งเสนาบดีเปนอันดับลงมา ตามผู้ใหญ่ผู้น้อยโดยขนาดตำแหน่งที่

ครั้นอยู่มาพระเจ้าหงษาวดี จึงให้แต่งสำเภาลำหนึ่ง บันทุกเสบียงอาหารไพร่พลพร้อมแล้ว จึงตรัสนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ กับด้วยพระภิกษุที่ชำนาญในจิตรกรรมรูปภาพเลขา ให้ไปเขียนอย่างปราสาทอย่างพระพุทธบาทแลอย่างพระวิหารทั้งสิบหกแห่ง ซึ่งมีอยู่ณเมืองลังกาทวีปนั้นมา พระพุทธโฆษาจารย์รับสั่งแล้วก็ถวายพระพรลาลงสู่สำเภากับด้วยภิกษุทั้งปวง จึงให้ใช้ใบแล่นสำเภาไป ครั้นถึงท่าที่จอดณลังกาทวีปแล้ว

พระเจ้าลังกาได้แจ้งว่า มีพระสงฆ์ไปแต่ชมพูทวีปก็ดีพระทัย จึงตรัสสั่งให้ขุนนางมารับพระพุทธโฆษาจารย์ เข้าไปยังพระราชวังสถาน ขุนนางก็พาพระพุทธโฆษาจารย์ไปเฝ้า พระเจ้าลังกาเสด็จออกถวายนมัสการแล้วก็ตรัสถามว่า พระผู้เปนเจ้ามาถึงประเทศข้าพเจ้านี้ด้วยประสงค์สิ่งอันใด พระพุทธโฆษาจารย์จึงถวายพระพรว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงหงษาวดีผู้ทรงทศพิธราชธรรมเปนอันดีนั้น มีพระราชศรัทธาอาราธนาให้อาตมาภาพพาพระภิกษุผู้ชำนาญในจิตรกรรมมาเขียนอย่างไพชยนต์มหาปราสาท อย่างพระพุทธบทวลัญชร แลอย่างพระวิหารทั้งสิบหกเข้าไปถวาย จะทรงสถาปนาสร้างไว้ในกรุงหงษาวดี เพื่อจะให้เปนที่บำรุงพระราชศรัทธา แลเปนเกียรติยศไปตลอดจนกัลปาวสาน

พระเจ้าลังกาได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดีมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาเปนอันมากดังนั้น ก็ทรงพระประสาทโสมนัสนัก จึงตรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์รูปหนึ่งในพระอารามหลวงนำพระพุทธโฆษาจารย์และพระภิกษุทั้งนั้น ไปเขียนอย่างทั้งปวงได้เสร็จแล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ก็สั่งสนทนาด้วยพระสงฆ์ทั้งปวง เปนธรรมสากัจฉาต่างๆ เสร็จแล้ว ก็ลาพระสงฆ์ทั้งปวงจึงกลับเข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าลังกาแล้ว ก็พาพระภิกษุทั้งปวงลงสู่สำเภาเร่งให้ใช้ใบแล่นมาถึงกรุงหงษาวดี จึงนำอย่างทั้งปวงเข้าถวายพระเจ้ากรุงหงษาวดี ๆ ทอดพระเนตร์เห็นอย่างทั้งสามนั้นแล้วก็มีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสสั่งให้สถาปนาพระเจดีย์สถานทั้งสิบหกแห่ง ปีหนึ่งก็สำเร็จ แล้วให้สร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง ครั้นเสร็จแล้วจึงให้หล่อรูปพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ คือพระกุกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระพุทธกัสสป พระสมณโคดม โดยกำหนดขนาดพระกายสูงใหญ่พอควรแก่พระราชศรัทธา ครั้นเสร็จแล้วก็ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสี่พระองค์ ขึ้นไว้บนปรางค์ปราสาททั้งสี่ทิศ แล้วให้สร้างพระมหาวิหารทั้งสิบหกแห่งสำเร็จแล้ว ก็ทรงพระราชอุทิศส่วยสาอากรไว้สำหรับพระวิหาร ที่พระพุทธไสยาศน์นั้นก็ให้เขียนพระพุทธบทวลัญชร สร้างไว้ไนพระอารามแล้ว จึงให้นิมนต์พระสงฆ์อันทรงพระไตรปิฎกครองอยู่ทุกพระอาราม แล้วก็ให้แต่งการฉลองมีงานมหรสพ สมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืนแล้ว พระองค์ก็ทรงพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทกลงเหนือเมทนีดล แผ่ส่วนพระราชกุศลให้แก่สัตว์โลกทั้งปวง เบื้องต่ำแต่อวิจีมหานรกขึ้นมา เบื้องบนตลอดถึงภวัคคะพรหมเปนที่สุด ด้วยพระราชหฤทัยจำนงพระโพธิญาณ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก แล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งนายช่างทั้งปวงให้ปุนะพระมุเตาใหญ่ในเมืองหงษาวดีขึ้นอีก ตรัสถามว่ากษัตริย์แต่ก่อนท่านให้ก่อไว้สูงเก่าใด นายช่างจึงกราบทูลว่า เมื่อครั้งพระเจ้าดิศราชได้เสวยราชสมบัตินั้น จะให้ปุนะสูงขึ้นอีกเท่าใดข้าพเจ้ามิได้ทราบ

พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า เปนธรรมเนียมมาบุคคลผู้ใดจะสร้างพระพุทธรูปยืนแล้วจะนั่งก็มิได้ นั่งแล้วจะนอนก็มิได้ นอนแล้วจะนั่งก็มิได้ นั่ง แล้วจะยืนก็มิได้ เปนอย่างธรรมเนียมฉะนี้ จะสร้างพระมหาเจดีย์เล่า จะให้หย่อนลงก็มิได้ พระธาตุพระพุทธเจ้ามิได้เปนรูปสมเด็จพระพุทธเจ้า เหมือนเมื่อพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ นายช่างจงก่อเสริมตามชอบใจเถิด นายช่างจึงทูลว่าจะขอปุนะพระมุเตาให้สูงขึ้นร้อยศอกเปนยี่สิบห้าวา มีพระราชโองการตรัสว่าชอบแล้ว จึงตรัสสั่งนายช่างว่า พระธาตุสมเด็จพระพุทธเจ้า แลพระธาตุพระอรหันต์ ซึ่งพระเจ้าลังกาเชิญเสด็จส่งเข้ามานั้น เราจะให้บันจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์นั้นด้วย เมื่อบันจุพระธาตุนั้นให้บันจุไว้ณทิศทักษิณ ครั้นบันจุเสร็จแล้ว พระพุทธไสยาศน์ซึ่งอยู่ทิศทักษิณนั้น ก็ให้ปุนะขึ้นอีกด้วย นายช่างรับสั่งแล้วก็ปุนะพระเจดีย์นั้นสูงขึ้นร้อยศอก พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จออกไปทอดพระเนตร์เห็นพระเจดีย์เอียงอยู่ข้างทิศอาคเนย์ดังนั้นก็ทรงพระโกรธนัก จึงตรัสว่าพระมหาเจดีย์เอียงอยู่ฉะนี้ ท่านจะ คิดประการใด นายช่างไม่รู้ที่จะกราบทูล ถวายบังคมแล้วก็ก้มหน้านิ่งอยู่ พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า เราจะคิดทำให้พระมหาเจดีย์ตรงขึ้นจงได้ จึงสั่งให้ขุดสระลงในทิศพายัพ ไกลพระเจดีย์ออกไปสามวา สำเร็จแล้วได้ห้าวัน พระมหาเจดีย์ก็ตรงขึ้น นายช่างทั้งปวงก็สรรเสริญชมพระปัญญา แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ให้ถมสระนั้นเสียดังเก่าด้วยมูลดินที่ขุดไว้นั้น อนึ่งพระเจดีย์ซึ่งบันจุพระสารีริกะธาตุแต่ก่อน แลสถานอาวาสณแห่งใดๆ ซึ่งปรักหักพังอยู่แต่ก่อนนั้น ก็ให้ปุนะขึ้นทุกแห่งสิ้น ครั้นเสร็จแล้วก็ให้มีงานมหรสพสมโภชทั้งกลางวันกลางคืนถ้วนไตรมาศสามเดือน ครั้งนั้นกรุงหงษาวดีอุปมาดังเมืองเทพยดาก็ว่าได้ ราษฎรทั้งปวงอยู่สุขสนุกสบายหา อันตรายมิได้ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระเจ้ากรุงหงษาวดีจึงจัดเรือแข่งกัน ครั้นเรือมาพร้อมถึงที่สนามแล้ว ก็ทรงจัดเรือให้เสนาบดีแข่งกันเปนคู่ๆ ครั้นแข่งแพ้กันไปแล้วกลับมา เรือสมิงเพิดกำกองชนเรือสมิงเพิดคะราชล่มลง สมิงเพิดคะราชจมน้ำตาย ณตำบลบางนาค ครั้นเสด็จขึ้นถึงที่ประโคนหน้าวัดศรีปรางค์ เรือทองสิบลำก็มาทันเรือพระที่นั่ง เสนาบดีทั้งปวงก็มาถึงพร้อมกันที่ประโคนนั้นแล้ว พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งให้เลี้ยงดูเสนาบดี แลไพร่พลทั้งปวงด้วยเครื่องโภชนาหารให้อิ่มสำราญ

ฝ่ายภรรยาสมิงเพิดคะราช ครั้นรู้ว่าสวามีเรือล่มถึงแก่กรรมตายแล้วก็เสียใจร้องไห้เข้ามากราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า เรือสมิงเพิดกำกองโดนเรือสมิงเพิดคะราชสวามีข้าพเจ้าล่มลง จนสวามีข้าพเจ้าถึงแก่อาสัญกรรม ขอได้ทรงพระกรุณาตรัสพินิจฉัยให้ข้าพเจ้าด้วย พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสว่าการตีคลีหนึ่ง ชกมวยตลุมบอนหนึ่ง แข่งเรือหนึ่ง การเล่นสามประการนี้แม้ตายเสียก็หาโทษมิได้ ซึ่งสวามีท่านเรือล่มถึงกาลกิริยานั้น ก็เปนกรรมของสวามีท่านสิ้นอายุ เปนอาการมรณะแล้ว ท่านอย่าเสียใจเศร้าโศกเลย จงกระทำกุศลแผ่ส่วนบุญไปให้เถิด จึงพระราชทานเงินทองสิ่งของแก่ภรรยาสมิงเพิดคะราช ให้เปนค่าเครื่องแต่งการปลงศพสวามี

ฝ่ายพระยาล้าวได้ยินพระเจ้าหงษาวดีตรัสพินิจฉัยความดังนั้น ก็กราบทูลว่าเพราะเหตุแม่น้ำแคบ เรือแข่งกันนั้นต่างคนต่างหมายจะเอาชัยชนะ จึงเรือสมิงเพิดกำกองโดนเรือสมิงเพิดคะราชล่มลง สมิงเพิดคะราชถึงอนิจกรรม พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสสั่งวิสุกรรมว่า ให้รังวัดแต่ตำบลบางนาคไป จนถึงเบิงอะละภักนั้นจะได้กี่ร้อยเส้น วิสุกรรมรับสั่งแล้ว ก็คุมคนออกไปรังวัดที่ทั้งสองตำบล แล้วกลับมากราบทูลว่า ข้าพเจ้าออกไปรังวัดแต่ตำบลบางนาค ไปถึงเบิงอะละภักนั้นได้ร้อยห้าสิบเส้น พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งแล้ว จึงตรัสสั่งพระยาอินท์หนึ่ง พระยารามหนึ่ง พระยาล้าวหนึ่ง สมิงพระรามหนึ่ง เพิกลครศรีหนึ่ง มะนูราชสังฑะหนึ่ง มะนูกาเพิดหนึ่ง ขุนนางเจ็ดนายนี้ ให้คุมคนไปขุดคลองที่รังวัดไว้แล้วให้กว้างได้สิบเส้น ขุนนางทั้งเจ็ดก็คุมคนไปขุดคลอง กว้างได้สิบเส้นตามรับสั่ง แล้วก็พากันกลับเข้ามากราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็มีพระทัยยินดีนัก

ขณะนั้นกรุงหงษาวดีรุ่งเรืองไปด้วยพระพุทธสาสนาเปนอันงามยิ่ง เกียรติยศเกียรติคุณพระเจ้าหงษาวดี ก็เลื่องลือไปในนานานุประเทศทั้งปวง ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าล้านช้าง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แลกษัตริย์พระนครอื่นๆ ก็มีพระทัยชื่นชม ต่างให้แต่งพระราชสาส์นองค์ละฉบับ แลเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตอุปทูตกับไพร่คุมมาถวายทุกประเทศ พระเจ้ากรุงหงษาวดีให้แต่งการรับพระราชสาส์นโดยอย่างธรรมเนียม ราชทูตทั้งปวงก็เข้ามากราบถวายบังคม ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ

พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งให้อ่าน ในพระราชสาส์นของกษัตริย์ทุกๆ พระนครนั้น มีเนื้อความต้องกันว่า เราทั้งปวงผู้ดำรงพระนครในประเทศต่างๆ นี้ได้ทราบว่า พระเจ้าหงษาวดีมีพระเดชานุภาพแลพระเกียรติยศเปนอันมาก ก็มีความยินดียิ่งนัก ปรารถนาจะใคร่กระทำพระราชไมตรีด้วย ให้พระนครหงษาวดีกับนครทั้งปวงนี้เปนสุวรรณปัถพีเดียวกัน ครั้นจะถวายพระราชธิดามาสัมพันธมิตร์เล่าก็ยังมิแจ้งว่าเปนพระวงศ์ใด จึงแต่งราชทูตให้นำพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พอเปนทางพระราชไมตรีครั้งหนึ่งก่อน ถ้าทราบพระวงศ์เห็นชอบด้วยแล้ว จึงจะแต่งพระราชธิดามาถวายต่อภายหลัง ซึ่งพระราชสาส์นของกษัตริย์ต่างๆ พระนครนั้น ราชทูตอุปทูตจะได้นำมาถึงพร้อมวันเวลาเดียวกันหามิได้ แต่มีเนื้อความต้องกันทุกพระราชสาส์น จึงกล่าวรวมคราวเดียว

ครั้นพระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งในพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินต่างๆ ประเทศแล้ว ก็ทรงพระดำริห์ว่ากษัตริย์ทั้งปวงนี้ถือชาติตระกูลว่า เปนเชื้อขัติยวงศ์มีทิฏฐิมานะมาก ว่ากล่าวเสียดแทงเรามาทุกพระองค์ จะจำคิดแก้ไขให้กษัตริย์ทั้งปวงคลายมานะอ่อนน้อมนับถือเราจงได้ แต่จะกล่าวชักนำโดยความคดีโลกนั้นเห็นหาสิ้นสำนวนไม่ จำจะแต่งราชสาส์นเทสนาตอบโดยทางคดีธรรมให้กษัตริย์ทั้งปวงเลื่อมใสเชื่อฟัง เห็นกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จะยกราชธิดาตั้งเครื่องกัณฑ์บูชาเราเปนแน่ อนึ่งวิชาเทสนานี้เราก็ได้เล่าเรียนซ้อมหัดเปนอาวุธสำหรับตัวมา แต่เปนสามเณรยังเยาว์อยู่ จนอุปสมบทบวชเปนภิกษุได้ลาภสการเลี้ยงกายแลมีชื่อเสียงปรากฎก็เพราะคุณวิชาเทสนา ตั้งแต่สึกมาครอบครองแผ่นดินแล้ว มิได้เทสนาให้ผู้ใดฟังเลย วิชาเทสนาจะเรื้อรังไปเสียแล้ว จึงตรัสสั่งเจ้าพนักงาน ให้แต่งพระราชสาส์นตอบลงในแผ่นสุพรรณบัตรหลายฉบับ มีเนื้อความต้องกันทุกฉบับ กับให้จัดเครื่องราชบรรณาการต่างๆ โดยสมควร แล้วโปรดพระราชทานเงินทองเสื้อผ้า แก่ราชทูตอุปทูตเปนอันมาก ครั้นพระราชสาส์นเสร็จแล้วก็มอบให้ราชทูตอุปทูตทั้งปวงนำไป ราชทูตทั้งหลายก็ถวายบังคม ลา ถือพระราชสาส์นตอบ แลคุมเครื่องราชบรรณาการกลับไปถวายพระเจ้าอยู่หัวของตนทุกๆ พระนคร

พระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์นั้นก็มีรับสั่งให้อ่าน ในพระราชสาส์นตอบนั้นว่า เราผู้ครองกรุงหงษาวดี ขอสนองพระราชสาส์นยุคลมาถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ ผู้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เปนสัมมาทิฏฐินับถือพระพุทธสาสนาด้วยกัน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวง ปรารถนาจะใคร่เปนสัมพันธมิตร บำรุงพระราชไมตรีแต่ยังมิได้แจ้งว่าเปนวงศ์ใดนั้น เราจะขอเทสนาเปรียบเทียบเนื้อความถวายให้ทราบ ด้วยในกัล์ปนี้เรียกว่าภัทธกัล์ป เพราะเจริญยืดยืนทรงพระพุทธเจ้าได้ถึงห้าพระองค์ คือพระกุกกุสนธ์ ซึ่งได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์แต่ก่อน แล้วเสด็จสู่นฤพานไปนั้น เปนเชื้อพระวงศ์ใด พระโกนาคมน์ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสมโพธิญาณภายหลังนั้น เปนเชื้อวงศ์พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า พระกุกกุสนธ์นั้นหรือ พระโกนาคมน์พุทธเจ้าเสด็จปรีนิพพานไปแล้ว พระพุทธกัสสปได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า พระพุทธกัสสปนั้น เปนเชื้อพระวงศ์เนื่องมาแต่พระโกนาคมน์นั้นหรือ พระพุทธกัสสปเสด็จยังพระนฤพานแล้ว พระศรีสักยมุนีได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า พระศรีสักยมุนีเปนเชื้อพระวงศ์ของพระพุทธกัสสปนั้นหรือ พระพุทธภาษิตจึงเรียกว่า เปนพระพุทธวงศ์เดียวกัน ธรรมดาบุคคลจะเปนพระพุทธเจ้านั้น ถ้ามิได้มีบารมีสี่อสงไขยแปดอสงไขยสิบหกอสงไขย กำไรแสนมหากัล์ป แล้ว ก็หาตรัสเปนพระพุทธเจ้าไม่ อนึ่งพระพุทธเจ้าของเราได้เสด็จทรงนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ ภายใต้ร่มไม้พระมหาโพธิเปนเสวตรฉัตรแล้ว ในเมื่อเวลาอัสฎงคต พระองค์ทรงขจัดเสียซึ่งพระยารามาธิราชกับทั้งเสนามาร ให้ปราชัยไปแล้ว พระมหาสมมุติวงศ์บรมกษัตริย์ยังมิได้ขาด ในเมื่อปถมยาม พระองค์ทรงพิจารณาซึ่งบุพเพนิวาสญาณ ระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่แต่ก่อน พระมหาสมมุติวงศ์ก็ยังมิได้ขาด ในเมื่อมัชญิมยาม พระองค์ได้ทิพจักษุทิพโสตร พระมหาสมมุติวงศ์ก็ยังมิได้ขาด ในเมื่อเวลาปัจฉิมยาม พระองค์ทรงพิจารณาพระปฏิจจะสมุปบาท เปนอนุโลมปฏิโลม เมื่อเวลาปัจจุสมัยจะใกล้รุ่ง พระองค์ก็ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสมโพธิญาณเปนพระพุทธเจ้า พระมหาสมมุติวงศ์บรมกษัตริย์ก็ขาดตั้งอยู่ในพระพุทธวงศ์ เรียกว่าเปนวงศ์พระพุทธเจ้า ตั้งแต่วันนั้นเวลานั้นมาในกัล์ปนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้วสี่พระองค์ ยังจะมาตรัสในเบื้องหน้านั้นอีกพระองค์หนึ่ง ภัทรกัล์ป ทำลายแล้ว กัล์ปเจริญตั้งขึ้นอีกหลายกัล์ป ทรงพุทธพยากรณ์ทรงทำนายว่า จะมาตรัสอีกเก้าพระองค์ รวมเปนสิบด้วยพระพุทธเจ้า ที่จะตรัสในที่สุดภัทรกัล์ป เปนพระองค์คำรบห้านั้น พระโพธิสัตว์ทั้งปวงซึ่งจะมาตรัสเปนพระพุทธเจ้านี้ เกิดในตระกูลแลวงศ์ชาติภาษาต่าง ๆ พระพุทธฎีกาก็ทรงดำรัสเรียกว่าเปนพระพุทธวงศ์เดียวกัน กษัตริย์ทั้งปวงซึ่งเปนสัมมาทิฏฐิ นับถือพระพุทธสาสนาทั้งสิ้นนี้ จะ เรียกวงศ์พระพุทธเจ้าโดยพระพุทธภาษิต หรือจะเรียกเปนวงศ์อย่างอื่นก็ตาม อนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว คนทั้งปวงเอาแก้วเงินทองสิ่งของที่ดีแลสังกะสีดีบุกตะกั่ว โดยต่ำลงไปจนถึงไม้แลอิฐปูน มากระทำเปนพระพุทธปฏิมากรเคารพนมัสการนั้น กษัตริย์ทั้งปวงผู้เปนสัมมาทิฏฐิ จะไม่เคารพนับถือทรงเห็นว่าเปนของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่สุดลงไปว่าเปนอิฐเปนปูนก็ตามพระสติปัญญา อุปมาเหมือนหนึ่งเรานี้ คนทั้งปวงประชุมชวนกันอัญเชิญมาราชาภิเศกได้ดำรงราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว กษัตริย์ทั้งปวงผู้มีปรีชาเฉียบแหลม จะทรงเห็นว่าตั้งอยู่ในที่เปนขัติยวงศ์เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ทรงดำรัสเรียกพระพุทธวงศ์นั้น หรือจะว่าเปนวงศ์ใดก็ตาม อนึ่งเปรียบความให้ชิตกระชั้นเห็นใกล้ๆ อีกอย่างหนึ่ง คือราชธิดาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด เมื่อยังทรงพระเยาว์เปนราชทาริกาอยู่นั้น ก็เรียกว่าวงศ์เด็ก ครั้นเจริญรุ่นทวีพระชนม์เปนราชกุมารีขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าวงศ์สาว พระชนมายุมากชราแล้ว ก็เรียกว่าวงศ์แก่ เมื่อกษัตริย์ทั้งปวงจะกลับเรียกว่าวงศ์แก่เปนวงศ์สาว วงศ์สาวเปนวงศ์เด็กได้ก็ตามอัชฌาสัย ซึ่งเราเปรียบเทียบเทสนาถวายตอบแทนพระราชสาส์นทั้งปวงที่มีมานั้น คดีธรรมอยู่เบื้องต้น คดีโลกอยู่ที่สุด ขอพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ผู้ทรงปรีชาสามารถ หวังจะใคร่รู้จักวงศ์เรานั้น จงทรงพระวิจารณ์ด้วยพระปัญญาอย่างละเอียด ให้เห็นโดยสัมมาทิฏฐิญาณ อย่าทรงพระดำริห์ด้วยพระปัญญามฤจฉาทิฏฐิแล้ว ก็คงจะรู้จักวงศ์เราโดยแท้

ครั้นกษัตริย์ทั้งปวงได้แจ้งในพระราชสาส์นตอบนั้นแล้ว ก็มีพระทัยชื่นชมยิ่งนัก ราวกับได้ทรงสดับพระธรรมเทสนากัณฑ์หนึ่ง ต่างพระองค์ก็ตรัสสรรเสริญว่า พระเจ้าหงษาวดีนี้ทรงพระไตรยปิฎกธรรม มีพระปรีชาญาณเปนอันยิ่ง ฉลาดทั้งคดีโลกคดีธรรม จะหากษัตริย์พระองค์ใดเปรียบเสมอเปนอันยาก

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสนับถือพระพุทธสาสนานัก ครั้นได้ทราบในพระราชสาส์นตอบ ออกพระนามพระพุทธเจ้าดังนั้น ก็ทรงพระปราโมชปลื้มพระทัยเปรียบประดุจสตรีใจอ่อนผูกรักกับบุรุษอยู่แล้ว ครั้นได้ฟังเพลงสาส์นคำเกี้ยวที่ไพเราะจับใจซ้ำเข้าอีก ก็ยิ่งมีความเสน่หาทราบเสียวมากขึ้น จึงตรัสปรึกษาแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาวดีนี้มีปัญญาลึกซึ้งรู้พระไตรปิฎกมาก ควรจะนับว่าเปนพระเจ้าทรงธรรมแท้ ซึ่งมีพระราชสาส์นตอบมานี้ ก็อุประมาดังเทสนาให้เราฟัง เรามีความยินดีนัก อนึ่งแต่ก่อนเราคิดไว้ว่าจะถวายธิดาไปเปนสัมพันธมิตรด้วยพระเจ้าอังวะ ก็เห็นพระเจ้าอังวะไม่ค่อยจะอยู่ในยุติธรรม เกรงธิดาเราจะได้รับความคับแค้นเมื่อภายหน้า บัดนี้เราเห็นพระเจ้าหงษาวดีตั้งอยู่ในยุติธรรมสมดังคำคนเล่าลือ เห็นจะปรารถนาเปนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมั่นคง เราจะถวายธิดาไปเปนสัมพันธมิตรด้วยพระเจ้าหงษาวดีจะให้ไมตรีสนิทถาวรนาน ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด แสนท้าวขุนนางลาวทั้งปวงก็เห็นด้วย พระเจ้าเชียงใหม่ตรัสปรึกษาข้างหน้าแล้วก็เสด็จเข้าข้างใน ตรัสบอกพระมเหษีแลพระราชธิดา ๆ จึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าเกิดมาเปนสตรีก็ย่อมอยู่ในบังคับบิดามารดา เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเห็นชอบจะทรงปลูกฝังฺแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ขัดพระราชบัญชา อนึ่งข้าพเจ้าก็ตั้งความอธิษฐานไว้ว่า จะได้กษัตริย์พระองค์ใดเปนสามีแล้ว ขอให้ได้กษัตริย์ที่ตั้งอยู่ในยุติธรรม พระทัยเปนกุศลปรารถนาพระโพธิญาณ ข้าพเจ้าจะขอเปนบาทบริจาริกากษัตริย์พระองค์นั้นไปทุกชาติ จนบรรลุพระนฤพาน ถ้าพระเจ้าหงษาวดีปรารถนาเปนพระพุทธเจ้าแล้วก็จะสมดังความอธิษฐานที่ข้าพเจ้าตั้งไว้

พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทรงฟังก็ดีพระทัยนัก จึงตรัสว่าลูกเราคิดก็ต้องกันกับบิดา ๆ นี้ก็อยากจะใคร่ได้กษัตริย์เขย ที่มีวิริยปัญญามาก ปรารถนาเปนพระพุทธเจ้านั้น ถ้าได้ตรัสแล้วจะได้พาเราข้ามห้วงมหรรณพให้ถึงพระนฤพานด้วย

พระอัครมเหษีก็ทูลว่า ข้าพเจ้าก็คิดดังนั้น หวังจะให้ธิดาของพระองค์ได้เปนมเหษีกษัตริย์ที่เปนสัปปุรุษ ปรารถนาเปนพระพุทธเจ้า ธิดาของพระองค์จะได้เปนคู่สร้างพระบารมี ถ้าได้ตรัสแล้วจะได้โปรดข้าพเจ้า แลธิดาของพระองค์ให้พ้นทุกข์ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงโปรดพิมพายโสธรให้บรรลุมรรคผลดังนั้น

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้ทรงฟังก็ปลื้มพระทัยยิ่งนัก จึงตรัสว่าเราทั้งสามคิดต้องกันดีแล้ว เห็นเราทั้งสามจะพบกันทุกชาติ แลจะได้ไปพระนิพพานพร้อมกัน พระเจ้าหงษาวดีนี้ เห็นจะปรารถนาเปนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งโดยแท้ แล้วเสด็จออกข้างหน้า จึงตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่ง ทรงจัดราชทูตอุปทูตหลายนาย ให้นำพระราชธิดาอันทรงพระนามว่านางประทุมมาลี กับด้วยนางสนมกำนัลทั้งปวงโดยขนาด ไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลาคุมพระราชธิดาไปกับด้วยไพร่พลเปนอันมาก ครั้นล่วงเข้าแดนรามัญใกล้กรุงหงษาวดี จึงส่งข่าวเข้าไป เสนาบดีไห้แจ้งก็นำความเข้ากราบทูล

พระเจ้าหงษาวดีทรงทราบแล้วก็ดีพระทัยนัก แย้มพระสรวลตรัสแก่พระยาอินท์ว่า กษัตริย์ทั้งปวงมีพระราชสาส์นว่ากล่าวเสียดแทงเรามา เราให้แต่งพระราชสาส์นเทสนาตอบนั้น ก็คิดแล้วแต่เดิมว่า กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง คงจะยกลูกสาวตั้งเครื่องกัณฑ์เราเปนแน่ บัดนี้พระเจ้าเชียงใหม่มีศรัทธามาก ถวายพระราชธิดามาเปนเครื่องบูชาเทสนาเรา พระยาอินท์เห็นฝีปากเราแล้วหรือ พระยาอินท์ยิ้มแล้วจึงทูลว่า ข้าพเจ้าเห็นแล้ว สำนวนพระโอษฐ์ของพระองค์นั้นเปรียบประดุจน้ำทิพย์ที่เย็นหวาน ใครได้ฟังแล้วก็ทราบซ่านอยู่ในดวงใจสิ้นปีเดือนเปนอันมาก พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า พระยาอินท์ยกยอเราเกินไปกระมัง พระยาอินท์ทูลว่า ข้าพเจ้ามิได้แกล้งกล่าวสรรเสริญพระเดชพระคุณให้เกิน ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานฟังสำนวนพระโอษฐ์ที่ไพเราะ แต่พระองค์ยังทรงผนวชก็หวานทราบในดวงจิตต์ข้าพเจ้ามิได้หายจนคุมเท่าบัดนี้

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังก็ดีพระทัย จึงตรัสสั่งขุนนางให้ออกไปรับ ราชทูต แลสั่งให้พระยาอินท์แต่งการรับโดยราชประเพณี ครั้นราชทูตมาถึง มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานเบิกทูตนำเข้าเฝ้า ราชทูตอุปทูตลาวพุงดำเมืองเชียงใหม่ก็เข้ามาเฝ้า กราบถวายบังคมแล้ว ถวายพระราชสาส์นกำกับของพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าหงษาวดีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานอ่านถวาย ในพระราชสาส์นนั้นว่า พระเจ้าเชียงใหม่ขอแจ้งความมาถึงพระเจ้าหงษาวดี ด้วยเราได้ทราบในพระราชสาส์นเทสนาตอบนั้นแล้ว ก็มีจิตต์ชื่นชมยินดีนัก เราจึงให้ราชทูตอุปทูตนำราชธิดาไปถวายเปนบาทบริจาริกา หวังจะเปนสัมพันธมิตร รักษาราชไมตรีไปจนตลอดกัลปาวสาน ซึ่งธิดาเราต่างชาติภาษา ยังไม่แจ้งในขนบธรรมเนียมฝ่ายรามัญโดยแท้ แม้นผิดพลั้งในราชกิจประการใด ขอพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงพระกรุณา พระราชทานโอวาทสั่งสอนด้วย

พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งในพระราชสาส์นกำกับนั้นแส้ว ก็ทรงพระโสมนัสนัก จึงพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ราชทูตอุปทูต แลไพร่พลซึ่งมาด้วยเปนอันมาก แล้วให้ทำการอภิเศกตั้งนางประทุมมาลีเปนอัครมเหษีเอก ครั้นเสร็จแล้วจึงให้แต่งเครื่องราชบรรณาการเปนอันมาก มอบให้ราชทูตอุปทูตนำกลับไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่

ครั้นอยู่มาพระเจ้ากรุงจีนทรงพระดำริห์ว่า พระเจ้าหงสาวดีนี้คนทั้งปวงเลื่องลือสรรเสริญว่ามีสติปัญญามาก ถ้าเราจะทดลองปัญญาดูให้เห็นจริง จึงสั่งให้ช่างทำหีบใหญ่ใบหนึ่ง ให้เอาพลอยนพรัตน์ประดับหีบเปนอันงาม แล้วเอาธนูใส่ยาพิษทำกลตั้งลงในหีบแล้วปิดไว้ จึงจาริกเปนอักษรลงว่า หีบนี้เผยได้แต่พระมหากษัตริย์ แล้วเขียนไว้ที่ฝาหีบนั้นเจ็ดตัวว่า กว้าวบวกรักบต่างเสิมมะ เปนหนังสือจีนเจ็ดอักษร ให้ราชทูตอุปทูตสี่คนชื่อโอจินหนึ่ง ซิมมะหาจินหนึ่ง ตกเขียหนึ่ง ปะวะหนึ่ง กับคนถือเครื่องราชบรรณาการสี่สิบ แล้วให้ทำเปนรูปหุ่นเดินได้ มีปากอ้าเข้าอ้าออกประดุจเจรจาได้มาด้วยสามร้อยหกสิบตัว ทั้งหุ่นแลคนรวมเปนสี่ร้อยสี่ แล้วพระเจ้ากรุงจีนตรัสสั่งราชทูตว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีมีพระปรีชาเฉียบแหลมแก้ปริศนานี้ได้ ก็ให้ราชทูตอุปทูตทั้งสี่กับไพร่สี่สิบคนนี้อยู่เปนข้า พระเจ้าหงษาวดีเถิด แลเครื่องราชบรรณาการ จงถวายเปนเครื่องสักการบูชาพระปัญญาต่อภายหลัง ถ้าพระเจ้าหงษาวดีแก้ปริศนามิได้ ก็ให้เอาตัวผู้ครองเมืองหงษาวดีลงเสีย ทูตทั้งสี่จงอยู่ครองเมืองหงษาวดีเถิด ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลา คุมเครื่องราชบรรณาการกับไพร่รอนแรมรีบมาบันลุถึงเมืองหงษาวดี

พระเจ้าแผ่นดินได้แจ้งแล้วจึงตรัสสั่งพระยาอินท์ พระยาพรัว สมิงจ่ากอง ขุนนางทั้งสามนี้ให้แต่งการรับเลี้ยงดูราชทูต แล้วให้แต่งถนนหนทางจงเรียบราบ เสนาบดีทั้งปวงนั้นให้ตกแต่งนุ่งห่มจงโอ่โถง ขุนนางทั้งสามนั้นรับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกมาให้จัดการแต่งรับเลี้ยงดูราชทูต โดยอย่างธรรมเนียมตามรับสั่ง ครั้นถึงเวลาพระเจ้าหงษาวดีเสด็จออก พร้อมด้วยเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อยทั้งปวง จึงมีรับสั่งให้ขุนนางทั้งสาม เบิกทูตนำเข้าเฝ้า พระยาอินท์ พระยาพรัว สมิงจ่ากองก็นำแขกเมืองเข้าเฝ้า กราบถวายบังคมแล้วจึงให้เอาหีบกลนั้น ตั้งไว้บนราชบัลลังก์โดยสมควรหน้าพระที่นั่ง พระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตร์เห็นหีบใส่กุญแจกลไว้แน่นหนา แลอักษรเจ็ดตัวซึ่งเขียนมานั้น ทรงพิจารณาดูแล้วก็แจ้งด้วยพระปัญญาว่า หีบนี้เปนกลจะมีอาวุธอยู่ในนั้นเปนมั่นคง จึงตรัสถามพระยาอินท์ว่า ปริศนาพระเจ้ากรุงจีนกระทำมานี้ พระยาอินท์คิดได้หรือประการใด พระยาอินท์กราบทูลว่า ข้าพเจ้าปัญญาน้อยคิดไม่เห็น พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัสว่าไม่มีผู้ใดคิดได้แล้วเราก็ต้องคิดเอง จึงตรัสสั่งพระยาอินท์ให้ไปดูที่นอกพระราชวัง ให้ทำเรือกสูงพ้นตัวบุรุษ เอากระดานบังขั้นในทั้งสี่ด้าน เชิงเรือกนั้นให้ชิดดินบังตัวไว้แล้วให้เอาไม้ยาวมาทำกระเดื่อง เอาขวานที่คมดีเล่มหนึ่ง ผูกปลายกระเดื่องเข้าไว้ให้มั่นคง แล้วให้นำหีบกลนั้นออกไปตั้งไว้ที่ใกล้กระเดื่อง พระยาอินท์รับสั่งแล้วก็ออกมา เกณฑ์ไพร่กระทำการเสร็จตามรับสั่งแล้วเข้ากราบบังคมทูล พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงฉลองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินออกไปนอกพระราชวัง พร้อมด้วยเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตข้าราชการน้อยใหญ่ทั้งปวง จึงตรัสสั่งให้ไพร่จีนที่มาด้วยราชทูตนั้นสองคน เข้ามาคอยยกหีบตั้งให้ตรงปลายกระเดื่อง พระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงเหยียบข้างต้นกระเดื่องไว้ ไพร่จีนก็เข้ามายกหีบนั้นตั้งให้ตรงปลายกระเดื่องแล้ว ก็รีบออกไปจากที่นั้น พระเจ้าหงษาวดีก็ยกพระบาทขึ้น ปลายกระเดื่องผูกขวานนั้น ก็สับลงถูกหีบแตกออกเปนสองภาค ธนูยนต์ใส่ยาพิษซึ่งอยู่ในหีบนั้นก็ลั่นออกเสียงเปนอันดัง ลูกธนูยิงขึ้นไปสูงกว่าชั่วลำตาลจะได้ถูกต้องพระองค์หามิได้

ฝ่ายราชทูตอุปทูตแลเสนาบดีทั้งปวง ครั้นเห็นดังนั้นก็ตกตลึงไป แล้วชวนกันกราบถวายบังคมสรรเสริญว่า พระเจ้าแผ่นดินหงษาวดีนี้ทรงพระปัญญาบารมียิ่งนัก แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จกลับเข้ายังพระราชวัง พร้อมด้วยเสนาข้าราชการทั้งปวง ราชทูตอุปทูตจึงให้เจ้าพนักงาน นำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย เปนของบูชาพระปัญญาต่อทีหลัง ตามพระเจ้ากรุงจีนตรัสสั่ง พระเจ้าหงษาวดีก็โปรดพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ราชทูตอุปทูต แลไพร่ถือเครื่องราชบรรณาการสี่สิบคนนั้นเปนอันมาก ราชทูตได้รับพระราชทานแล้ว จึงให้พระยาอินท์กราบทูลว่า ไพร่อีกสามร้อยหกสิบคนนั้น ยังมิได้รับพระราชทานรางวัล พระยาอินท์ก็กราบทูลตามคำราชทูต

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระดำริห์ด้วยพระปรีชาว่า ไพร่อีกสามร้อยหกสิบนั้นเห็นจะไม่ใช่คน จะเปนรูปภาพยนต์หรือรูปหุ่นสิ่งใด พระเจ้ากรุงจีนแสร้งให้กระทำมาทดลองสติปัญญาเราเปนมั่นคง เราก็จำจะทดลองให้เห็นจริง จึงตรัสสั่งพระยาอินท์ว่า ท่านจงไปปลูกโรงใหญ่ให้แขกเมืองอยู่ แล้วให้แต่งถนนหนทาง แต่พระราชวังออกไปถึงโรงแขกเมือง แลหน้าโรงนั้นให้เอาเชือกฟั่นสามเกลียว ประมาณเท่าเชือกผูกโคขึงไว้แล้วจึงนำแขกเมืองเข้าไป รับพระราชทานเครื่องเลี้ยงในโรง พระยาอินท์ก็จะได้เห็นเหตุนั้น พระยาอินท์รับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกไปเร่งให้กระทำโรง แลการทั้งปวงเสร็จตามพระราชโองการ พวกวิเศษชาวพนักงานก็แต่งเครื่องโภชนาหารของเลี้ยงแขกเมืองมาเตรียมไว้พร้อม แล้วพระยาอินท์ก็ไปเชิญราชทูตอุปทูต มารับประทานเครื่องเลี้ยงกับด้วยไพร่ทั้งปวง พระยาอินท์กับขุนนางรามัญทั้งหลายนั้น นำราชทูตมาหน้า ราชทูตจึงให้ไพร่จีนยี่สิบคนเดินนำหน้ารูปหุ่น เดินหลังหุ่นยี่สิบคน หวังจะให้คอยดูแลป้องกัน มิให้รูปหุ่นทั้งปวงเดินสดุดพลั้งพลาดล้มลง พระยาอินท์กับขุนนางแลราชทูตอุปทูตกับไพร่ ครั้นมาถึงเชือกขึง ก็พากันเดินข้ามไปได้สิ้น ส่วนรูปหุ่นมีสายยนต์กลไกข้างใน ถ้าไขกลให้เดินให้นั่งก็นั่งได้เดินได้เหมือนคน ครั้นมาถึงเชือกขึงเข้า จะกระโดดเดินข้ามไปนั้นมิได้ ๆ แต่เดินโดยตรงก็ถูกเชือกล้มลง ที่มาข้างหลังนั้น ก็ปะทะโดนกันเข้าล้มลงสิ้น พระยาอินท์แลขุนนางมอญทั้งปวงเห็นแล้ว จึงได้รู้ว่าคนสามร้อยหกสิบนั้นเปนรูปหุ่นเขาทำมา ต่างคนก็มีความพิศวงยิ่งนัก เมื่อแต่ก่อนก็เห็นด้วยกันแล้ว แต่มิได้พิจารณาสงสัย สำคัญว่าเปนคนจริง ด้วยมีปากหน้าหูตาแลอวัยวะทั่วกาย นุ่งห่มเหมือนกับคนโดยแท้เว้นแต่มิได้พูดเท่านั้น จึงมิได้มีความสงกา พระยาอินท์ก็สรรเสริญความคิดจีนแก่ขุนนางทั้งปวงว่า พวกจีนนี้มีสติปัญญาฉลาดในการช่างฝีมือดียิ่งนัก จะหาช่างเมืองอื่นเปรียบเสมอเปนอันยาก จึงสั่งให้เก็บขนรูปหุ่นทั้งปวงนั้น เข้าตั้งไว้ในโรงที่ควรแห่งหนึ่ง ครั้นราชทูตอุปทูตกับไพร่ทั้งนั้น รับพระราชทานเครื่องเลี้ยงเสร็จแล้ว

พระยาอินท์ก็ให้คนนำรูปหุ่นมาสองตัว จึงพาราชทูตอุปทูตเข้าเฝ้าถวายรูปหุ่นให้ทรงทอดพระเนตร์ แล้วก็กราบทูลว่าคนสามร้อยหกสิบนั้นเปนหุ่น พระเจ้าหงษาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นแลได้ทรงฟัง จึงตรัสว่านั่นมิใช่หรือเราคิดแล้วก็ไม่ผิด พระยาอินท์นี้ตาบอดสองข้าง แต่ได้เห็นด้วยจักษุแล้วก็ยังมิรู้ เรานั่งอยู่กับที่มิได้เห็น ก็รู้ก่อนพระยาอินท์เสียอีก พระยาอินท์จึงทูลว่า ข้าพเจ้าเปนคนมัญฑธาตุปัญญาโฉดเขลา ถึงมีจักษุก็เหมือนหนึ่งหาไม่ เพราะปราศจากความพิจารณาตรึกตรอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสติปัญญาสามารถแจ้งในเหตุการณ์ตื้นลึกรวดเร็ว เปรียบประดุจเทพยดาผู้มีทิพเนตร์ พระอาญาเปนล้นเกล้า ข้าพเจ้าขอรับพระราชทานอภัย ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่ารูปเหล่านี้เปนหุ่นนั้นมีผู้ใดมากราบทูล หรือทรงพระวิจารณ์ด้วยพระปรีชาจึงได้ทราบ

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟัง ก็แย้มพระสรวลตรัสว่า พระยาอินท์นี้ตาสว่างขึ้นข้างหนึ่งแล้ว ธรรมดาเปนคนปัญญาน้อย ถ้าหมั่นไต่ถามศึกษาคบหาด้วยบุคคลผู้มีปัญญามากอยู่แล้ว ได้ฟังรู้เห็นเนืองๆ ก็ค่อยมีปัญญาเจริญขึ้น เรียกว่าเปนคนฉลาดได้ ซึ่งเรารู้เหตุทั้งนี้ก็เพราะความบอกเล่าแลปัญญาตรึกตรองประกอบกัน คนผู้บอกเล่านั้นจะรู้ก็หามิได้ อาศัยปัญญาเราพิจารณาสอบสวนฟังดูกิริยาอาการ ซึ่งจะรู้เห็นเหตุชอบแลผิดหนักเบาตื้นลึกหนาบางหยาบละเอียดใกล้ไกลสูงต่ำนั้น ก็ย่อมรู้ด้วยพิจารณาอาการธรรมดาสิ่งของมีวิญญาณหรือหาวิญญาณมิได้ ก็มีอาการสำแดงออกภายนอกทุกสิ่ง เรียกว่าอาการนั้น คำมคธภาษาพุทธภาค พระยาอินท์จะไม่เข้าใจความ เราจะว่าให้ฟัง อาการนั้นแปลเปนคำรามัญได้หลายอย่าง แปลให้เห็นแต่สามอย่างว่า กรบปะกอปรากวด กลมโต๊ะตอม กลนเกลิง คำที่เรียกว่าอาการนั้น แปลเปนไทยได้หลายอย่างแปลให้เห็นแต่สามอย่างว่า ของกระทำให้ปรากฎหนึ่ง กระทำเปนต้นเดิมหนึ่ง กระทำมาหนึ่ง ซึ่งว่าของมีจิตตวิญญานนั้น คือมนุษย์แลสัตว์ดิรัจฉาน เทพยดาอินทร์พรหมทั้งปวง แต่ล้วนมีอาการด้วยกันทั้งสิ้น เหมือนอย่างความรักความชัง หรือไม่รักไม่ชังมัธยัสถ์เพิกเฉยอยู่ โกรธแลไม่โกรธ ๆ มากหรือโกรธน้อย กำหนัดยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส แลสิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย จึงเกิดความยินดี มีความอร่อยทราบทั่วจิตต์ทั่วกายนั้น หรือไม่มีความกำหนัดยินดีในของเหล่านี้ มีจิตต์เพิกเฉยสิ่งที่ไม่มีตัว คือความรักความชังเปนต้นอย่างว่ามานี้ ถ้าเกิดขึ้นในดวงจิตต์ผู้ใดแล้วถึงยังไม่เจรจาเลย อาการก็สำแดงให้ปรากฎออกมาภายนอกสิ้น คนทั้งปวงจึงล่วงรู้สังเกตกำหนดกันว่า คนผู้นี้รักเราชังเราไม่รักไม่ชังเรา รักชังผู้อื่นไม่รักชังผู้อื่น อนึ่งคนเปนโรคในศีร์ษะหรือในอุทรแลทรวงอกเปนอยู่ภายในเล็งเห็นด้วยยาก แพทย์ผู้ชำนาญพิจารณาอาการก็รู้ว่าเปนโรคสิ่งนั้นสิ่งนี้ เจ็บมากหรือน้อยจะเปนแลตายนั้น ก็รู้เพราะโรคสำแดงอาการ ให้ปรากฎออกมาณภายนอก ของที่หาวิญญานมิได้มีอาการปรากฎนั้น เหมีอนอย่างแก้วแหวนเงินทองนากแลเหล็กเปนต้น จะเปนของดีหรือปนปลอมเนื้อแลสีดีชั่วนั้น ก็เปนอาการปรากฎออกมา คนผู้ชำนาญพิจารณาอาการ จึงรู้ว่าของสิ่งนี้ไม่ดีเปนของปลอมปน ซึ่งจะพิจารณาอาการสิ่งของที่มีจิตต์วิญญาณหรือหาวิญญาณมิได้นั้น ถ้าคนมีปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ก็เห็นลึกละเอียด ถ้าปัญญาน้อยก็เห็นแต่ตื้นๆ อย่างหยาบ ท่านผู้มีปัญญาอย่างยิ่ง ชำนาญในที่จะพิจารณาลักษณะอาการนั้น ถึงคนจะอยู่ไกลกันร้อยพันโยชน์หมื่นแสนโยชน์ หรือไกลออกไปมิได้เห็นกัน ได้ฟังแต่ข่าวบอกเล่า แลได้ฟังถ้อยคำหรือได้ยินหรือได้เห็นสิ่งของที่ทำมา ท่านผู้มีปัญญาลึกละเอยดนั้น พิจารณาดูลักษณะอาการแล้ว ก็รู้ว่าคนผู้นั้นเปนคนดีคนชั่ว มีปัญญาแลไม่มีปัญญา ซึ่งเราจะพรรณาคุณปัญญามากไปก็มิได้สิ้น อนึ่งคนมีปัญญาน้อยคิดการมิถึง ก็ย่อมดูหมิ่นสงสัยคนผู้มีปัญญามาก ซึ่งท่านเปนขุนนางผู้ใหญ่ มิได้พิจารณาดูอาการให้แน่ก่อน ว่าเปนหุ่นหรือคนจริง มาบอกเราตามคำราชทูตต่อหน้าเสวกามาตย์ดังนี้ ถ้าเปนพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นปัญญาน้อย ก็จะสำคัญว่าคนจริงตามคำกราบทูล จะให้นำเข้ามารับพระราชทานรางวัล ก็จะได้ความอัปยศแก่ขุนนางแลแขกเมือง จะทรงพระพิโรธให้ลงโทษแก่ท่าน แต่เราให้อภัยไม่ถือโทษ เพราะเห็นว่าท่านปัญญาน้อยกว่าเรา ๆ เหมือนพระอาทิตย์ไม่ควรจะโกรธหิ่งห้อย แลเราประพฤติน้ำจิตต์เหมือนดวงพระจันทร์ หวังจะส่องแสงให้สว่าง เย็นใจสัตว์ทั่วโลกธาตุ ซึ่งท่านเปน ข้าราชการนี้ พึงมีวิจารณะปัญญาตรึกตรองการให้ละเอียดรอบคอบอย่าประมาทในราชกิจทั้งปวงจึงจะชอบ พระยาอินท์ได้ฟังถวายบังคมรับราชโอวาทนุสาส์นใส่เกล้าฯ

ฝ่ายราชทูตอุปทูตนั้น สรรเสริญชมพระปัญญาพระเจ้าหงษาวดีเปนอันมาก ราชทูตนั้นพูตภาษารามัญได้แต่ไม่สู้คล่อง จึงกราบทูลว่ารูปหุ่นสามร้อยหกสิบนี้ พระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้าให้ช่างกระทำมาหวังจะทดลองพระปรีชาของพระองค์ แล้วตรัสสั่งว่า ถ้าพระองค์ทรงพระปัญญาลึกละเอียด ทราบในปริศนาที่ทำมาทดลองสิ้นแล้ว ก็ให้ถวายรูปหุ่นทั้งนี้ไว้ แลให้ข้าพเจ้าทั้งสี่กับไพร่สี่สิบนี้ อยู่เปนข้าผ่าพระบาทพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงแก้ปริศนามิได้ ก็ให้ข้าพเจ้าทั้งปวงกลับไป บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งปวงได้เห็นสติปัญญาของพระองค์ หลักแหลมลึกซึ้งเปนอันยิ่งแล้ว ข้าพเจ้าทั้งปวงจะขออยู่เปนข้าฝ่าพระบาทบงกชมาศ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณไปจนสิ้นชีวิต

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้นก็มีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสว่า ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนทำปริศนามาทดลองปัญญาเราดังนี้ เรามีความยินดียิ่งนัก ขอบพระทัยพระเจ้ากรุงจีนนัก อุปมาดังสาตราวุธอันคมกล้าของเรา เก็บใส่ฝักไว้มิใคร่จะได้ชักออกมาขัดสี สนิมก็จับทำให้คมร่อยเสียไปบ้าง พระเจ้ากรุงจีนมาทดลองเราก็เหมือนมาช่วยลับอาน สาตราวุธคือปัญญาของเราให้คมกล้าขึ้นดังเก่า แต่เราเสียดายยิ่งนัก ด้วยพระเจ้ากรุงจีนทำปริศนามาลองเราทั้งนี้ ให้ราชทูตแลไพร่นำข้ามบ้านเมืองล่วงแดนกันดารมาเปนอันมาก จะทำปริศนาให้สุขุมคำภีร์ภาพลึกละเอียดซึ้งลงไปกว่านี้มิได้ นี่ทำปริศนามาเหมือนลองปัญญาเด็กหาประโยชน์มิได้ เราอยากจะให้ลองเราด้วยกลอุบายแยบคายสิ่งใด ที่ล่วงเสียซึ่งปัญญาความคิดของมนุษย์ทั่วทั้งโลกนั้น แต่ยังไม่เห็นใครมาลองเราเลย จึงสั่งให้เจ้าพนักงาน แต่งพระราชสาส์นตอบฉบับหนึ่ง กับให้จัดเครื่องราชบรรณาการโดยสมควร แล้วตรัส แก่ราชทูตอุปทูตว่า ซึ่งท่านจะสวามิภักดิ์อยู่ด้วยเรา ตามพระเจ้ากรุงจีนตรัสสั่งนั้นก็ชอบแล้ว แต่ท่านจงพากันนำพระราชสาส์นของเรา กลับไปถวายพระเจ้าอยู่หัวของท่านอีกครั้งหนึ่งเปนทางเจริญพระราชไมตรี เราจะให้ทูตของเรากำกับไปด้วย เพราะท่านทั้งปวงชำนาญในมรรคา แลรู้ขนบธรรมเนียมที่จะเข้าเฝ้าเพ็ททูลพระเจ้ากรุงจีนให้ต้องแบบอย่าง แล้วจึงพาบุตรภรรยาของท่านกลับมาอยู่ด้วยเรา จึงทรงจัดขุนนางรามัญให้เปนราชทูตอุปทูต กับไพร่ไปด้วยทูตจีนพอสมควร

ราชทูตจีนแลราชทูตรามัญก็ถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการ ขึ้นม้าไปกับไพร่ รอนแรมไปโดยระยะมรรคาเปนหลายคืนหลายวันก็บรรลุถึงกรุงจีน ขุนนางจีนเจ้าพนักงานทูลข่าวพระราชสาส์นแจ้งแล้วก็รีบเข้ากุ๋ยทูล กุ๋ยนั้นคำจีนเมืองหลวงว่าถวายบังคมคำนับ

พระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบว่า มีพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงรามัญมาดังนั้น ก็ดีพระทัย จึงตรัสสั่งขุนนางผู้หนึ่ง ให้เกณฑ์จงเปียเชงเปีย จัดขบวนแห่คำนับรับพระราชสาส์น เลี้ยงดูแขกเมืองตามอย่างธรรมเนียม จงเปียนั้นคำจีนว่าทหารเอกทหารใหญ่ เชงเปียนั้นว่าทหารเลวพวกไพร่ ขุนนางรับสั่งแล้วก็ออกไปเกณฑ์กันกระทำการรับพระราชสาส์นแลราชทูตโดยขบวน

ครั้นถึงเวลาพระเจ้ากรุงจีนก็เสด็จจากเหลาไต่ คือปราสาทหลวงออกยังพระที่นั่งเก๋ง พร้อมด้วยพระวงศานุวงศ์ขุนนางใหญ่น้อยทั้งปวง มีรับสั่งให้เบิกทูตนำเข้าเฝ้า ขุนนางได้รับสั่งก็ออกมานำทูตเข้าไป ราชทูตจีนราชทูตรามัญก็เข้าไปเฝ้า ราชทูตรามัญถวายบังคมคำนับอย่างธรรมเนียมรามัญแล้ว มีรับสั่งออกมาให้ลุกขึ้นยืนอยู่อย่างธรรมเนียมจีนตามตำแหน่งที่เหมือนขุนนางทั้งปวง ราชทูตจีนนั้นกุ๋ยตามธรรมเนียมจีนแล้ว ก็ทูลความตามพระเจ้าหงษาวดีมีพระสติปัญญาสามารถ ทรงแก้ปริศนาแลตรัสประการใดๆ ก็ทูลถี่ถ้วนทุกประการ แล้วถวายพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการแทนทูตรามัญ

พระเจ้ากรุงจีนได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัย จึงตรัสสั่งให้ล่ามแปลพระราชสาส์นให้พนักงานอ่านถวาย ในพระราชสาส์นนั้นว่า เราผู้ครองกรุงหงษาวดี เปนใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวงขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงพระเจ้ากรุงจีนผู้เปนวั่งเต้ ประกอบด้วยกฤษฎาธิการ มีพระเกียรติยศยิ่ง เปนใหญ่ในประเทศจีนทั้งปวง ด้วยเราได้เห็นในปริศนา ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนให้มากระทำทดลองสติปัญญา เรานั้น เรามีความยินดียิ่งนัก มิเสียทีพระเจ้ากรุงจีนทรงพระปรีชาเฉียบแหลม หาผู้เสมอเปนอันยาก จะเปรียบเทียบด้วยบุคคลที่ดีในปัจจุบันบัดนี้ ก็เกรงจะไม่สมกับพระปรีชาที่ลึกซึ้ง ข้างภาษาจีนก็นับถือ เซียนแลเง็กเซียนเต้ คือเทพยดาแลพระอิศวรว่าเปนผู้ประเสริฐสูงสุด ข้างรามัญพม่าลาวไทยทวายเขมรแขกสิงหฬ ภาษาทั้งปวงนี้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเปนใหญ่ยิ่งเลิศกว่าเทพยดาอินทร์พรหม ทั้งสิ้น ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนทรงพระปัญญาฉลาดในเล่ห์กลอุบายดังนี้ ควรจะเปรียบด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าของเราอันมีในคำภีร์พระสุตตันตปิฎก ความว่าแต่ปุริมชาติปางหลังครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าของเราเสวยพระชาติเปนอำมาตย์ นามปรากฎว่าเสนะกะบัณฑิตอยู่ในเมืองพาราณสี มีสติปัญญามากหาผู้เสมอมิได้ ย่อมเทสนาสั่งสอนคนทั้งปวงให้ตั้งอยู่ในยุติธรรมเปนนิจนิรันดร ครั้งนั้นมีพราหมณ์เข็ญใจผู้ หนึ่งไปภิกขาจาร คือเที่ยวขอทาน ได้เงินแลทองเครื่องสการบูชาเปนอันมากจะกลับบ้านของตน มาถึงกลางทางเข้าหยุดพักอาศัยใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วก็แก้ถุงเข้าสัตตูออกกิน มิได้รูดปากถุงเข้าไว้ดังเก่า ลงไปกินน้ำในสระ งูเห่าตัวหนึ่งอยู่ในโพรงไม้ ได้กลิ่นข้าวสัตตู ก็เลื้อยเข้ามาในถุงนั้นครั้นพราหมณ์กลับขึ้นมา ก็มิได้พิจารณาว่างูอยู่ในนั้น รูดปากถุงผูกเข้าไว้แล้วก็หิ้วถุงเดินไป

ฝ่ายเทพยดาองค์หนึ่ง ซึ่งสิงสถิตย์อยู่บนต้นไม้ แจ้งเหตุนั้นแล้วก็มีจิตต์กรุณา จึงสำแดงกายให้ปรากฎร้องว่า พราหมณ์ผู้นี้ถ้าหยุดอยู่กลางทางก็จะตาย ถ้าไปถึงเรือนในวันนี้ภรรยาก็จะตาย เทพยดาบอกดังนั้นแล้วก็บันดาลกายหายไป พราหมณ์ได้ยินพระไพรพฤกษ์เทพเจ้าว่าดังนั้น ก็ไม่แจ้งว่าความตายจะมาถึงเพราะเหตุใด เปนทุกข์เศร้าโศกยิ่งนักก็รีบมาจนถึงสำนักพระเสนะกะโพธิสัตว์ เข้าไปคำนับแจ้งความทุกข์ให้ฟัง ตามคำพฤกษเทวดาว่านั้นทุกประการ แล้วถามว่าข้าพเจ้าจะตายด้วยเหตุใดขอท่านได้อนุเคราะห์บอกข้าพเจ้าให้ทราบด้วย พระโพธิสัตว์ก็ซักถามพราหมณ์ว่า ตั้งแต่แรกมาๆ หยุดพักณที่ตำบลใดกระทำสิ่งไรบ้าง พราหมณ์ก็แจ้งความให้ฟังตามมีมาแต่หลัง พระโพธิสัตว์มีปัญญาลึกละเอียดเฉียบแหลมว่องไว มิได้เห็นด้วยจักษุเลย พอฟังความที่พราหมณ์บอกดังนั้น ก็พิจารณาแจ้งด้วยปัญญาว่า งูเห่าอยู่ในถุงเข้าสัตตู จึงให้พราหมณ์แก้สายถุงออกวางไว้ณที่แจ้ง แล้วให้เอาไม้เคาะแต่ไกล งูเห่าก็ออกจากถุงเลิกพังพานแล้วก็เลื้อยไป พราหมณ์แลคนทั้งปวงเห็นประจักษ์ดังนั้น ก็สรรเสริญปัญญาพระโพธิสัตว์เปนอันมาก แล้วพราหมณ์เจ้าของมีกตัญญูรู้จักคุณปัญญา จึงเอาทองร้อยกระษาปณ์ออกบูชาพระโพธิสัตว์ ๆ รับแล้วก็คืนให้แก่พราหมณ์ผู้นั้น ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนทำหีบกลหุ่นยนต์มาลองเรานี้ พระเจ้ากรุงจีนก็ทรงพระปัญญาดังเทพยดาผู้มีทิพญาณ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่บนต้นไม้ รู้ว่างูเห่าเข้าในถุงนั้น เราผู้คิดปริศนาตก มิให้อาวุธในหีบกลต้องกายเราได้นั้น จะว่ามีปัญญาเปนอันยิ่ง เปรียบประดุจพระโพธิสัตว์หรือ ๆ จะเห็นว่าเปรียบเกินไป สติปัญญาไม่เท่าถึงก็ตาม อนึ่งเราคิดอายใจไม่หาย ด้วยพระเจ้ากรุงจีนทำปริศนามาลองปัญญาเราครั้งนี้ ยังตื้นต่ำอ่อนเผินนัก เปรียบประดุจทำของมาขายเด็กเล่น ปริศนาเช่นนี้ทารกเด็กๆ ในหงษาวดีอายุสักเจ็ดขวบก็คิดเห็นแก้ได้ ถ้าพระเจ้ากรุงจีนจะทำมาอีกแล้ว ขอจงเห็นทางพระราชไมตรีซึ่งมีต่อกัน ให้ทำปริศนามาที่ล่วงเสียแก่ซึ่งปัญญาความคิดของมนุษย์ทั่วพิภพ หรือไม่มีสิ่งที่จะหยั่งได้ กว้างไม่มีสิ่งจะวัดใหญ่ไม่มีกำหนด สูงไม่มีสิ่งใดจะสอย ให้สามารถจะคิดเห็นแก้ไขได้แต่เทพยดาพวกเดียว อย่างนั้นจึงจะสมควรแก่เราผู้มีปัญญาน้อย

พระเจ้ากรุงจีนได้แจ้งในพระราชสาส์นดังนั้นแล้ว ก็ให้ครั้นคร้ามย่อท้อพระทัย เกรงพระปัญญาบารมีพระเจ้าหงษาวดียิ่งนัก จึงตรัสแก่พวกกุนซือ คือขุนนางที่ปรึกษาทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาวดีนี้มีสติปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ซึ่งพระราชสาส์นว่ากล่าวมานี้ทั้งแหลมทั้งคม อนึ่งเปรียบประดุจทิพย์อาหารที่มีรสอร่อยอย่างดี หวานก็หวานเผ็ดก็เผ็ด ตั้งแต่นี้เราเข็ดไม่ให้ไปทดลองอีกแล้ว อนึ่งเราเปนกษัตริย์มฤจฉาทิฏฐิอยู่เปนนิจดังนี้ มิได้แจ้งในธรรมที่เปนกุศลฝ่ายรามัญ ซึ่งจะนำตนให้พ้นทุกข์เลย เห็นบาปกรรมจะมีแก่เราเปนเที่ยงแท้ ขุนนางกุนซือทั้งปวงก็ทูลว่า พระเจ้าหงษาวดีมีพระปัญญามาก ควรจะนับว่าเซียนผู้วิเศษองค์หนึ่งได้ พระเจ้ากรุงจีนจึงตรัสว่า พระเจ้าหงษาวดีมีพระปรีชาญาณเปนอันยิ่งดังนี้ ควรเราจะนับถือเปนครูอาจารย์ จำจะให้แต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวาย เปนของคำนับบูชาพระปัญญาอีกจึงจะชอบ ตรัสแล้วก็สั่งให้กระทำเทียนด้วยทองคำเล่ม หนึ่ง หนักแปดสิบบาท เข้าตอกทองคำเจ็ดดอก ให้จัดพระภูษาทรงอย่างกระบวนที่ดี ฉลองพระองค์ลายทองมังกรห้าเล็บอย่างเอกผืนหนึ่ง ปี่กลองอย่างจีนหกคู่ ปี่กลองแลแตรทองคนเป่าสำหรับครบทุกสิ่งแล้ว จีงให้เอาใบลานทองประดับพลอยนั้นมา แล้วตรัสปรึกษาขุนนางฝ่ายอาลักษณ์ว่า เราจะถวายพระนามไปแก่พระเจ้าหงษาวดี จะแต่งโดยคำภาษาของเรา หรือคำในภาษารามัญดีประการใด ขุนนางฝ่ายอาลักษณ์กราบทูลว่า ข้างรามัญก็ใช้คำในมคธภาษา แต่งชื่อเสียงทั้งปวง ว่าเปนคำประเสริฐ ควรจะแต่งพระนามโดยคำมคธภาษาพุทธภาค พระเจ้ากรุงจีนก็เห็นด้วย จึงให้ขุนนางอาลักษณ์จารึกพระนามลงในลานทองว่า ปัญญาราชา ใส่ในหีบทองประดับเนาวรัตน์ แล้วให้ราชทูตอุปทูตเก่าสี่คน ถือพระสุพรรณบัตร์จารึกพระนาม แลเครื่องราชบรรณาการนำกลับมาไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ราชทูตอุปทูตทั้งสองฝ่ายก็ถวายบังคมลานำเครื่องราชบรรณาการมากับไพร่ ลงนํ้าขึ้นบกล่วงมา ครั้นถึงกรุงหงษาวดีก็นำพระสุพรรณบัตร์ แลเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายพระเจ้ากรุงหงษาวดี ๆ ก็มีพระทัยชื่นชม จึงโปรดให้รับไว้ แล้วตรัสแก่ขุนนางทั้งปวงว่า พระมหากษัตริย์จีนนั้นมีตะบะเดชะเปนใหญ่ยิ่ง ครั้นรู้พระองค์ว่าทำผิดแล้วก็ยังรู้จักโทษ ให้แต่งนามกับสิ่งของต่างๆ มาคำนับเราเปนทางขะมาโทษ ได้ชื่อว่าพระเจ้ากรุงจีนมีปัญญา ถึงจะเปนพาลก็ควรเรียกว่าบัณฑิตได้ ฝ่ายเสนาบดีแลพราหมณาจาริย์ทั้งหลาย ก็สรรเสริญพระเจ้ากรุงจีน โดยกระแสพระราชโองการเปนอันมาก

ครั้นอยู่มาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ให้แต่งพระราชสาส์นปริศนาฉบับหนึ่ง จึงให้พระมหาราชครูปโรหิตเปนราชทูต ขุนวังเปนอุปทูตจำทูลพระราชสาส์นกับไพร่พอสมควร ให้ถือมาถวายพระเจ้าหงษาวดี ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นปริศนาขึ้นม้ามากับไพร่รีบเร่งมาบรรลุถึงกรุงหงษาวดี เสนาบดีได้แจ้งแล้ว ก็นำความขึ้นกราบทูล พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งสมิงพรัวหนึ่ง สมิงจ่งกองหนึ่ง ให้ไปรับพระราชสาส์น แลแขกเมืองตามอย่างธรรมเนียม แล้วให้เชิญพระราชสาส์นนำราชทูตอุปทูตเข้าเฝ้า ราชทูตอุปทูตก็เข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงตรัสสั่งให้เจ้าพนักงานอ่านถวาย ในพระราชสาส์นปริศนานั้นว่า เราผู้ครองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ขอแจ้งความมาถึงพระสหาย ผู้เปนพระเจ้าแผ่นดินกรุงหงษาวดี ทรงพระปรีชาญาณสุขุมคำภีรภาพยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งปวง ด้วยเราปรารถนาจะใคร่แจ้งในปริศนาสามประการ คือปริศนาบทหนึ่งนั้นว่า ต้นไม้ในชมพูทวีปนี้มีใบเท่าใด บทสองว่าดอกไม้สิ่งใดเปนใหญ่กว่าดอกไม้ทั้งปวง บทสามว่าใบไม้สิ่งใดเปนใหญ่กว่าใบไม้ทั้งหมด ขอพระสหายเราผู้มีพระปรีชาเฉียบแหลมชำนาญในการเทสนามาก่อนจงวิสัชนาให้เราแจ้งด้วย

พระเจ้าหงษาวดีได้ทราบในพระราชสาส์นปริศนาดังนั้น ก็แย้มพระสรวลตรัสว่า เราว่าพระเจ้ากรุงจีนทำปริศนาลองปัญญาเด็ก แล้วพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็พลอยเล่นเปนเด็กไปด้วย จึงตรัสวิสัชนาว่า ซึ่งไม้ต้นหนึ่งเปนกี่ใบนั้น คือไม้ในชมพูทวีปนี้ เมื่อแรกเกิดขึ้นมานั้นเปนสองใบมีโดยมาก ถ้าจะใคร่ให้เห็นจริงก็จงชัณสูตร์ดูเมล็ดผลมะม่วง จะว่าโดยสำนวนโวหารอีกอย่างหนึ่ง ไม้ต้นหนึ่งมีสามใบเหมือนกันหมดทั้วโลก คือใบอ่อน ใบชำลาปานกลาง ใบแก่ ซึ่งว่าดอกไม้สิ่ง ใดเปนใหญ่นั้น คือดอกไม้ดอกหนึ่งหรือหลายดอก ถ้าคนเก็บมาร้อยกรองเปนพวงมาลัย แล้วเสียบเหน็บประดับไว้เหนือเกษา ดอกไม้นั้นถึงจะเปนดอกไม้เล็กน้อยเกิดแต่ต้นอยู่ในแผ่นดินที่ตํ่า ก็ควรเรียกว่าเปนของสูง ถ้าแม้นประดับอยู่บนพระเศียรพระมหากษัตริย์แล้ว คนก็ยำเกรงมิอาจหยิบฉวยได้ ดอกไม้ประดับเหนือเกล้านั้น เรียกว่าเปนใหญ่กว่าดอกไม้ทั้งปวง ซึ่งว่าใบไม้สิ่งใดเปนใหญ่นั้น คือใบไม้ชื่อใดๆ ถ้ามีคนเก็บมาเย็บกรองแล้วแลมุงไว้ที่สูง ใต้ร่มใบไม้นั้นพระมหากษัตริย์ แลสมณชีพราหมณ์ราษฎร ภาษาชาติตระกูลสูงต่ำเปนประการใดเข้าอาศัยได้ ใบไม้อยู่ที่สูงแล้วก็เรียกว่าใบไม้นั้น เปนใหญ่กว่าใบไม้ทั้งปวง ซึ่งจะกำหนดใบพฤกษาบุปผาชาติเล็กแลใหญ่อย่างอื่นนั้นหาสิ้นเชิงไม่ เราตรึกตรองแก้ไขดังนี้ นี่แลเปนสิ้นสำนวน จึงตรัสสั่งให้ขุนนางฝ่ายอาลักษณ์ ซึ่งรู้จักอักษรภาษาไทย ให้จดจารึกคำแก้ปริศนาลงในแผ่นพระสุพรรณบัตรแล้ว ก็โปรดพระราชทานรางวัลแก่ราชทูตอุปทูตโดยสมควร ราชทูตอุปทูตอยู่ประมาณสองวันสามวัน ก็ให้ขุนนาง นำเข้าเฝ้าทูลลา

พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพอพระทัยทรงคิดปริศนานั้นก็ดีแล้ว เราจะขอฝากปริศนาไปถวายสักหกบท ว่าเมล็ดเข้าในนา ซึ่งคนปลูกทุกบ้านทุกเมืองนั้นจะนับได้สักกี่พันธุ์ มนุษย์ทั้งปวงพูดกันวันหนึ่งกี่คำ ฝูงปลาในน้ำมีอยู่กี่อย่าง เขาพระสุเมรุมนุษย์อยู่ที่ไหน บุญกับบาปเกิดแต่แห่งใด ความมรณะจะมาถึงมนุษย์ทั้งปวงเวลาไร ปริศนาเก่าของเราหกบทนี้คดีโลกอยู่เบื้องต้น คดีธรรมอยู่เบื้องปลาย ท่านจงกำหนดจำไปถวายแล้วทูลว่า เราทราบว่าพระสหายชอบพระทัยตรึกตรองปริศนา เราจึงถวายปริศนาโบราณมาหกบท หวังจะได้ทรงรำพึงอรรถาธิบายให้เห็นพระปรีชารุ่งเรือง เวลาเสด็จเข้าสู่ที่พระบรรทมพร้อมด้วยนางนักสนมอยู่งาน จะได้ทรงทายปริศนานี้ ให้นางห้ามแหนมีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมขึ้น ถ้านางใดแก้มิได้ก็แล้วไป ถ้านางสนมผู้ใดมีปัญญาแก้ได้ขอพระสหายเราจงทรงพระราชศรัทธา โปรดพระราชทานรางวัลถึงขนาดอย่าให้ขาดคืน การที่สงเคราะห์บุตตะทาราคณานาฎนักสนมนารีนี้ก็เปนศิริเจริญ นับเข้าในมงคลสามสิบแปดประการที่พระพุทธเจ้าทรงบัณฑูร จึงตรัสบอกอรรถาธิบายความปริศนาทั้งหกนั้นแก่ราชทูตอุปทูต ๆ ก็กราบถวายบังคมลาพร้อมด้วยบ่าวไพร่ กลับไปยังกรุงศรีอยุธยา นำพระสุพรรณบัตรคำแก้ปริศนาเข้าถวายแลทูลปริศนาหกบท ที่พระเจ้าหงษาวดีถวายมาให้ทรงตรึกตรองแลตรัสเปรียบปรายมานั้นทุกประการ

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้แจ้งในคำวิสัชนาปริศนา แลปัญหาหกบทนั้น ก็แย้มพระสรวลชอบพระทัย จึงตรัสว่าเราตรึกตรองอยู่ยังมิเห็นความ พระมหาราชครูปโรหิตคิดเห็นประการใดบ้าง จงว่าไปเราจะขอฟัง พระมหาราชครูก็ทูลว่า แต่ก่อนข้าพเจ้าฉงนอยู่ตรึกตรองมิเห็น พอพระเจ้าหงษาวดีโปรดแสดงอรรถาธิบายให้ฟังก็เข้าใจ ซึ่งว่าเข้าในนามีอยู่กี่พันธุ์นั้น คือเข้าเจ้าพันธุ์หนึ่ง เข้าเหนียวพันธุ์หนึ่ง ชื่อเข้าอื่นๆ ถึงจะมีก็ไม่ประสงค์ ซึ่งว่าพูดกันวันละกี่คำนั้น คือมีอยู่สองคำ ๆ จริงกับคำไม่จริง ซึ่งว่าปลาในน้ำมีอยู่กี่พันธุ์นั้น คือปลามีอยู่สองพวก ปลานํ้าจืดพวกหนึ่ง ปลาน้ำเค็มพวกหนึ่ง แก้โดยโวหารอีกอย่างหนึ่งว่า ปลาตัวผู้พวกหนึ่ง ปลาตัวเมียพวกหนึ่ง ปลากะเทยไม่มี ซึ่งว่าพระสุเมรุมนุษย์อยู่ที่ไหนนั้น คือได้แก่พระมหากษัตริย์ อันเปนประธานแก่คนทั้งปวง อุปมาดังหลักพระนคร จึงเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุราช ให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในยุติธรรมโดยเที่ยงตรงมั่นคง เหมือนหนึ่งเขาพระสุเมรุ อันมิได้หวั่นไหวด้วยลมพัดพาน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใด ประพฤติธรรมสุจริตดังเขาพระสุเมรุแล้ว ก็จะมีความสรรเสริญพระเกียรติยศเกียรติคุณเปนที่สุดหามิได้ ความชอบดีก็จะอำนวยผลในภพนี้แลภพหน้า แม้ไม่ตั้งอยู่ในราชธรรมเที่ยงตรงแล้ว ความครหาข่าวชั่วก็จะมีเปนนิรันดร ซึ่งว่าบุญกับบาปเกิดแต่ที่ใดนั้น คือบุญกับบาปเกิดแต่ดวงจิตต์เปนต้นเดิม ให้พระมหากษัตริย์แลคนทั้งปวง รักษาสงวนจิตต์งดเว้นจากการบาป ให้ขวนขวายบำเพ็ญการบุญเพิ่มเติมไว้ให้มาก ไปในภพเบื้องหน้าจะได้ประกอบด้วยความสุขมิได้สิ้น ซึ่งว่าความมรณะจะมาถึงเวลาไรนั้น เปนธรรมที่ไม่มีมนุษย์ทั้งปวงจะกำหนดได้ บุคคลที่มีปัญญารำพึงถึงความตายเนืองๆ อย่าประมาทมัวเมาอยู่ในสัตว์แลสังขาร อันเปนเครื่องผูกพันชักหน่วงให้เนิ่นช้า คนที่ประมาทไม่พิจารณาถึงความมรณะนั้น พระพุทธเจ้ามิทรงตรัสสรรเสริญ ไม่เรียกว่าเปนผู้มีปัญญาเลย

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้แจ้ง ในความอธิบายปริศนาดังนั้นแล้วก็ทรงพระโสมนัศชื่นชม จึงตรัสสรรเสริญว่าพระเจ้าหงษาวดีมีพระปรีชายิ่งนัก แล้วตรัสสั่งเสนาบดีทั้งปวงว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาผู้เปนพระราชบิดาเรานั้น เนื้อความสามข้อนี้ ได้ให้ไปถามพระเจ้าลแวกณกรุงกำพูชา พระเจ้าลแวกว่าต้นไม้ในชมพูทวีปมีเปนอันมาก ทำไฉนจึงจะรู้ว่าใบมากน้อยเท่าใด ตรัสคนองเล่นอยู่จึงมิได้แก้ สมเด็จพระราชบิดาเราได้ทราบก็ทรงติเตียนว่า พระมหากษัตริย์ลแวกนี้ เปนทุระปัญญาหาความคิดมิได้ ธรรมดาพระเจ้าแผ่นดิน จะตรัสความจริงเปนเล่นเสียฉะนี้ มีธรรมเนียมอยู่หรือ จะตรัสสิ่งใดมิได้กลับไปกลับมา ดุจดังพื้นปัถพีจึงจะควร ส่วนพระเจ้าหงษาวดีแก้ปริศนาสามข้อนี้แล้วแต่ในทันใดนั้น นักปราชญ์ทั้งปวงควรสรรเสริญยิ่งนัก แล้วพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึงตรัสสั่งให้จารึกพระนาม เปนอักษรลงในแผ่นทองว่า พระมหาราชาธิบดี ว่าพระนามนี้เปนพระสามัญญา สมเด็จพระเจ้าตาของเรา ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อน เรามีจิตต์ชื่นชมในปัญญาธิคุณ ถวายมาแก่พระเจ้าหงษาวดี ให้รับเอาพระนามนี้เถิด กับผ้าต้นตรวยเชิงทองสามชั้น ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนให้มาแก่เราแต่ก่อน เราถวายมาบูชาพระปัญญาพระเจ้ากรุงหงษาวดีด้วย จึงให้ราชทูตอุปทูตเปนผู้จำทูลพระราชสาส์นนำมา ราชทูตอุปทูตก็อัญเชิญพระราชสาส์น กับสิ่งของเครื่องทรงยินดีนั้นมาถวายพระเจ้าหงษาวดี

พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งในพระราชสาส์นนั้นแล้ว จึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจารึกพระนามของสมเด็จพระเจ้าตาให้มาแก่เรา ๆ จะได้ของสิ่งใดที่ดีถวายตอบแทนไปเล่า จึงให้เอาจานมรกฎอย่างดีใบหนึ่งหนักห้าบาท เปนราคาทองสองชั่ง ของพระเจ้าชีพถวายมาแต่ครั้งพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกแต่ก่อนนั้น ผ้าอย่างดีตราหนึ่ง ราคาสามร้อยชั่ง เปนทองคำหนักสองชั่ง จึงสั่งให้แต่งพระราชสาส์นกำกับเครื่องราชบรรณาการฉบับหนึ่ง มอบให้ราชทูตอุปทูตไทยนำกลับไป

ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลา นำพระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการตอบแทน กลับไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึงมีรับสั่งให้อ่านในพระราชสาส์นนั้นว่า เรามีความยินดีนัก ขอแจ้งมาให้พระสหายเราผู้ครองกรุงศรีอยุธยาทรงทราบว่าธรรมดาผู้รู้จักคุณปัญญาโดยแท้นี้ มีแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จสู่นิพพานนั้นฝ่ายเดียว พระองค์ทรงรู้คุณปัญญา แลตรัสสรรเสริญคุณปัญญาเปนอันมาก เพราะฉะนี้จึงได้เรียกว่าพระปัญญาธิกะ สร้างพระบารมีสื่อสงไข กำไรแสนมหากัลป จึงได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า บัดนี้พระสหายเรารู้คุณปัญญา ก็ข้องเข้าใน บารมีสิบประการ ๆ นั้นนับปัญญาด้วย สหายเราได้ปัญญาบารมีแล้ว จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เรากับพระสหายจะได้เปนมหามิตร์ไมตรี สร้างพระบารมีด้วยกันไปในเบื้องหน้า สองพระนครจะได้เปนสุวรรณปัถพีเดียวกัน

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้แจ้งในพระราชสาส์นนั้น ก็มีพระทัยยินดียิ่งนัก อนึ่งพระเกียรติยศพระเจ้ากรุงรามัญก็เลื่องลือไปว่าพระเจ้าหงษาวดีมีพระปัญญาหลักแหลม พระมหากษัตริย์ทั้งปวง ต่างให้แต่งพระนามแลเครื่องราชบรรณาการมาถวายเปนอันมาก

อยู่มาพระเจ้าอังวะทรงทราบกิตติศัพท์ว่า กษัตริย์ทั้งปวงสรรเสริญปัญญาพระเจ้าหงษาวดีนัก จึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า มหาปิฎกธรบุตรเลี้ยงเรานี้ คิดว่าจะมีปัญญาทรงพระไตรปิฎกได้มาก ลือชื่อปรากฎอยู่แต่เมื่อเปนภิกษุเท่านั้น ครั้นสึกออกมาได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีแล้ว กลับมีสติปัญญายิ่งฉลาดทั้งคดีโลกคดีธรรม กษัตริย์ทั้งปวงให้มาถามปริศนาก็แก้ได้หมด จำเราจะให้ไปลองปัญญาดูบ้าง จึงสั่งให้แต่งพระราชสาส์นปริศนาฉบับหนึ่ง ให้มังสุกรีเปนราชทูต มังลีผู้น้องเปนอุปทูตจำทูลพระราชสาส์น ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลาขึ้นม้ามากับไพร่ ครั้นถึงกรุงหงษาวดี เสนาบดีเจ้าพนักงานแจ้งข่าวแล้วก็เข้ากราบบังคมทูล

พระเจ้าหงษาวดีได้ทราบมีพระทัยปราโมชทรงนับถือนัก จึงตรัสสั่งให้แต่งการรับพระราชสาสนํโดยขบวน สั่งให้เสนาบดีปลูกเรือนใหญ่รับแขกเมืองยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ นั้น แล้วให้วิเศษแต่งเครื่องโภชนาหารของกินเลี้ยงแขกเมืองอังวะ แล้วให้พระยาอินท์พระยาพรัวนำแขกเมืองเข้าเฝ้า ราชทูตอุปทูตก็เข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคม จึงมีรับสั่งให้อ่านในพระราชสาส์นนั้นเปนปริศนาสามประการว่า เราได้ฟังคำสรรเสริญในประเทศทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาวดีมีปรีชาเฉียบแหลม ชำนาญแก้ปริศนาหาผู้เสมอมิได้ เราจะขอถามปริศนาสักสามประการ คือว่ากรุงหงษาวดีนั้น มีฝูงปลาเปนหลายพวก ปลาหนึ่งกินมีรสยิ่งกว่าปลาทั้งปวง คือปลาสิ่งใด อนึ่งสตรีภาพงามยิ่งกว่าสตรีทั้งหลาย คือสตรีพวกใด อนึ่งน้ำห้วยหนองคลองบึงบางน้ำบ่อน้ำพุน้ำชอนทั้งปวง นํ้าสิ่งหนึ่งกินมีรสกว่าน้ำทั้งหลายนั้น คือน้ำสิ่งใด พระเจ้าหงษาวดีจงวิสัชนาแก้มาให้เราฟัง

พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งในปริศนาดังนั้น ก็ทรงพระสรวลตรัสว่าสมเด็จพระราชบิดาเลี้ยงเรานี้ ดูก็ทรงพระชราภาพอยู่แล้วแต่ไม่ยอมแก่เลย พระทัยยังเปนหนุ่มอยู่เสมอ เราว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเล่นเปนเด็กแล้ว พระราชบิดาเลี้ยงเราก็พลอยเล่นเปนหนุ่มไปด้วยเล่า เรานี้ปานกลาง จะเรียกว่าหนุ่มก็ได้แต่ใจเหมือนแก่ จึงตรัสวิสัชนาแก้ปริศนาว่า ซึ่งว่าปลาสิ่งใดมีรสกว่าปลาทั้งปวงนั้น คือปลาบ้า ๆ คนก็รู้อยู่ว่ากินตายแล้วมิคิดแก่ชีวิต บังอาจเอาปลาบ้ามากินได้ กินแล้วก็ถึงแก่ความตายเอง เอาชีวิตแลกรสปลาบ้านั้น จึงว่าปลาบ้านี้กินมีรสกว่าปลาทั้งปวง อนึ่งสตรีภาพผู้ใดงามยิ่งกว่าสตรีทั้งปวงนั้น คือสตรีภาพที่มีสวามีอยู่แล้ว มีชายผู้อื่นมาผูกรักยินดีล่วงประเวณีภรรยาท่านนั้น มิฟังคำพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ ในอาคาริยวินัยสิกขาบทว่า ตายแล้วจะไปทนทุกข์เวทนาในนรกช้านานนัก ชายผู้นั้นก็มิฟังยังบังอาจเพียรล่วงประเวณีภรรยาท่านจงได้ สตรีภาพผู้นั้นมีรูปงามหรือไม่งาม ก็ชื่อว่างามยิ่งกว่าสตรีทั้งปวง นี้แก้โดยวิสัยสำนวนนักเลงเจ้าชู้ ถ้าแก้ตามสำนวนในพระบาลีแล้ว ท่านว่าสตรีมีบุญมาก พร้อมด้วยลักษณะเบ็ญจกัลยาณีห้าประการ คือเรียกว่างามยิ่งกว่าหญิงทั้งปวง แก้โดยสำนวนนักปราชญ์นั้นว่า สตรีผู้ใดใจเปนกุศลรักษาสัตย์มั่นคง ซื่อตรงต่อสวามี ถึงตัวจะตายก็มิให้เสียสัตย์ แม้น รูปชั่วทั่วทั้งตัวหาสิ่งงามมิได้ นักปราชญ์ทั้งปวงก็นับถือเรียกว่างาม ความงามนั้นแฝงบังอยู่ภายใน อนึ่งสตรีผู้ใดงามเหมือนทองหล่อทั้งแท่ง ไม่มีที่ติเท่าเส้นผม ถ้าใจไม่งามแล้ว นักปราชญ์ทั้งปวงก็หาเรียกว่างามไม่ เพราะงามรูปนั้นหาง่ายงามนํ้าใจหายาก เหตุฉะนี้จึงว่าสตรีงามใจงามยิ่งกว่าสตรีทั้งปวง ถ้างามทั้งรูปทั้งใจ ก็เรียกว่างามเลิศงามดีเปนสตรีงามอย่างยิ่ง ซึ่งว่านํ้าสิ่งใดมีรสกว่านํ้าทั้งปวงนั้น คือน้ำสุรา ผู้จะกินมิได้ฟังคำพระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ว่า ให้เว้นเสียอย่าเสพสุรา ถ้าผู้ใดเสพแล้ว จะไปตกนรกทนทุกข์เวทนายิ่งนัก ครั้นพ้นนรกแล้วจะมาเกิดเปนยักษ์ห้าร้อยชาติ เปนสุนักข์ห้าร้อยชาติ จะเปนคนบ้านั้นนับชาติมิได้ ผู้นั้นก็มิฟังขืนกินสุราได้ จึงว่าน้ำสุรามีรสกว่าน้ำทั้งปวง

พระเจ้าหงษาวดีทรงแก้ปริศนาแล้ว จึงให้เจ้าพนักงานจารึกคำวิสัชนานั้นลงในแผ่นพระสุพรรณบัตร์ กับให้จัดเครื่องราชบรรณาการเปนอันมาก มอบให้ราชทูตอุปทูตนำกลับไป ราชทูตอุปทูตรับแล้วก็ถวายบังคมลาขึ้นม้ากลับไปกับบ่าวไพร่ ครั้นถึงกรุงอังวะก็เชิญพระสุพรรณบัตรคำแก้ปริศนา แลเครื่องราชบรรณการเข้าถวายพระเจ้าอังวะ

พระเจ้าอังวะได้แจ้งเนื้อความแก้ในปริศนาสามประการนั้นแล้ว ก็ชอบ พระทัยตรัสสรรเสริญว่า บุตรเลี้ยงเรามีปัญญาว่องไวยิ่งนัก จึงให้อาลักษณ์จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าราชาธิบดีแล้วให้จัดผ้ารำปติสี่สิบพับ แพรริ้วผุดทองสี่สิบม้วน สักหลาดยี่สิบเข็ด ผ้าสาลูยี่สิบตรา เปนเครื่องราชบรรณาการบูชาพระปัญญา ให้ราชทูตอุปทูตคนเก่านั้น นำกลับมาถวายพระเจ้าหงษาวดี

ครั้นอยู่มาพระเจ้าลังกา ได้ทรงฟังกิตติศัพท์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ว่าพระเจ้าหงษาวดีมีพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชศรัทธาอุสาหะบอกพระไตรปิฎก แก่พระภิกษุสงฆ์เปนนิจ แลทรงแก้ปริศนาของกษัตริย์ทั้งปวงได้สิ้น จำเราจะให้ไปลองแก้ปริศนาของเราบ้าง จึงสั่งให้แต่งพระราชสาส์นปริศนา ที่พระองค์ทรงพระดำริห์ไว้แต่ก่อน แล้วให้จัดเครื่องราชบรรณาการ สิ่งที่ดีมีค่าเปนอันมาก ให้จิตตอำมาตย์เปนราชทูต อำมาตย์กุลันเปนอุปทูต สองนายนี้เปนพหูสูตร์รู้พระพุทธวจนมาก จึงตรัสสั่งราชทูตอุปทูตว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีแก้ปริศนานี้ได้ จึงยกเครื่องราชบรรณาการทั้งนี้ ถวายเปนเครื่องสักการะบูชาพระปัญญาเถิด แม้นแก้มิได้ให้นำกลับมา ราชทูตอุปทูตก็ถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการลงมาสู่สำเภา อันเจ้าพนักงานนาวยานจัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมด้วยต้นหนคนท้ายนายลำ เครื่องสาตราวุธไพร่พลเสบียงอาหาร นายเรือจึงให้ใช้ใบสำเภาแล่นมา

ครั้นสำเภามาถึงปากนํ้าเมืองเสี่ยง พระยาพรัวผู้รักษาเมืองเสี่ยงนั้น ใช้ให้คนไปสืบดูรู้ความแน่ว่า สำเภาพระราชสาส์นลงมาแต่เมืองลังกา พระยาพรัวจึงขึ้นมากราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า บัดนี้สำเภาพระราชสาส์นมาแต่ลังกาทวีป พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งแล้วมีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสถามเสนาบดีทั้งปวงว่า พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงหงษาวดีสืบๆ มาแต่ก่อนนั้น ยังได้ยินบ้างหรือ ว่าพระราชสาส์นลังกาทวีปมาถึงเมืองหงษาวดีมีหรือประการใด เมื่อพระเจ้าหงษาวดีตรัสถามดังนั้น จะมีเสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่งกราบทูลประการใดหามิได้ ยังมีชายผู้หนึ่งชื่อวิอิดเมียดกราบทูลว่า แต่ก่อนเมื่อครั้งพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือก ได้ดำรงราชสมบัติอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ยินว่าสำเภาพระราชสาส์นเมืองลังกา นำพระศรีมหาโพธิมาถวายสิบต้นครั้งหนึ่ง ขณะนั้นได้ยินว่าชาวเมืองเสี่ยงทั้งปวง ออกไปรับพระราชสาส์นถึงปากน้ำเสี่ยง

พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งดังนั้น จึงตรัสสั่งพระยาพรัวให้ออกไปรับพระราชสาส์นขึ้นมายังเมืองหงษาวดี ให้ข้าราชการผู้หนึ่งชื่อมังพะโคไปด้วย ตรัสสั่งว่าให้มังพะโคนำแขกเมืองผู้ถือพระราชสาส์นขึ้นมาก่อน พระยาพรัวให้มาภายหลัง พระยาพรัวกับมังพระโครับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลา พาบ่าวไพร่รีบลงมาถึงเมืองเสี่ยง จึงให้แต่งเรือฉลากบางสี่สิบลำ บรรจุไพร่พลพร้อมก็ออกไปรับสำเภาพระราชสาส์นเข้ามา ครั้นสำเภาถึงเมืองเข้าจอดทอดที่แล้ว พระยาพรัวจึงให้แต่งเครื่องโภชนาหารเลี้ยงแขกเมือง เสร็จแล้วจึงให้มังพะโคนำราชทูตอุปทูตขึ้นมา โดยขบวนเรือตามเรือนำซ้ายขวาหน้าหลังเปนอันมาก ราชทูตอุปทูตเมื่อมานั้นครั้นแลเห็นพระเจดีย์องค์หนึ่ง จึงถามมังพะโคว่าพระเจดีย์นี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่ารามัญเรียกพระเจตอยเนิด คำไทยว่าพระเจดีย์แห ราชทูตอุปทูตถามว่าเหตุใดจึงเรียกพระเจดีย์แห มังพะโคบอกว่า แต่ก่อนมีพระเกษธาตุองค์หนึ่งลอยน้ำมา สตรีเฒ่าผู้หนึ่งลงตำแห จึงได้พระเกษธาตุนั้น นำมาบันจุไว้ในพระเจดีย์องค์นี้ จึงเรียกว่าพระเจดีย์แหมาคุ้มเท่าบัดนี้

ครั้นเรือพระราชสาส์นมาถึงตำบลแห่งหนึ่ง รามัญเรียกว่าก๊กซุ่มจ๊าด คำไทยว่าโคกงูเห่า ราชทูตอุปทูตก็ถามว่า ตำบลนี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่าชื่อโคกงูเห่า ราชทูตอุปทูตถามว่า เหตุใดจึงเรียกว่าโคกงูเห่า มังพะโคบอกว่า แต่ก่อนมีเศรษฐีผู้หนึ่งมีบุตรเจ็ดคนเปนงูเห่าเสียนั้นตัวหนึ่ง มาอาศัยอยู่ในโคกตำบลนี้ ครั้นเศรษฐีถึงแก่มรณภาพแล้ว บุตรซึ่งเปนคนหกคนนั้น ก็เอาทรัพย์ของบิดาแบ่งปันกันเปนแต่หกส่วน ๆ งูเห่าผู้เปนบุตรด้วยนั้นมิได้แบ่งปันให้ งูเห่านั้นรู้ก็เลิกพังพานขึ้นมาสู่เรือน พี่น้องทั้งหลายเห็นงูเห่าก็ตกใจกลัว พากันละทรัพย์เสียแล่นหนีไป งูเห่าก็เอาหางกระหวัดรวบรวมทรัพย์ทั้งหกส่วนนั้นเข้าเปนกองเดียว แล้วก็เอาศีร์ษะซ้อนขึ้นไว้บนกองทรัพย์ ฝ่ายน้องน้อยที่สุด ซึ่งบวชเปนสามเณรอยู่นั้นจึงพูดแก่พี่ทั้งห้าคนว่า งูเห่านี้เปนพี่น้องเราร่วมบิดาเดียวกัน ถึงเปนสัตว์ดิรัจฉานก็จำจะแบ่งปันทรัพย์ออกให้ส่วนหนึ่งจึงจะชอบ พี่น้องทั้งปวงก็เห็นด้วย สามเณรจึงเข้ามาบอกแก่งูเห่าว่า น้องจะแบ่งทรัพย์ให้ส่วนหนึ่ง งูเห่าพูดมิได้แต่รู้ภาษามนุษย์ จึงหลีกถอยออกไปให้ห่าง สามเณรก็ให้พี่ชายคนหนึ่ง เข้ามาแบ่งทรัพย์ออกเปนเจ็ดส่วน หกส่วนนั้นให้แก่พี่น้องหกคน แต่ส่วนหนึ่งซึ่งจะได้แก่งูเห่า งูเห่าก็กวาดประสมเข้าไว้ด้วยส่วนของน้องน้อย แล้วก็เลื้อยกลับไปอยู่ในโคกดังเก่า คนทั้งปวงรู้เหตุก็เรียกว่าโคกงูเห่ามาจนคุมเท่าบัดนี้

ครั้นมาถึงตำบลบางพระขรรค์ ข้างรามัญเรียกว่าบันพระแซ่ง ราชทูตอุปทูตจึงถามว่า ตำบลนี้ชื่อใด เหตุผลต้นเดิมเปนประการใดท่านจงเล่าให้เราทราบ มังพะโคบอกว่า ตำบลนี้เรียกบางพระขรรค์ แต่ครั้งพระเจ้าฝรั่งมังคะลู เสด็จประพาสมาทางนี้ลงข้ามน้ำด้วยรี้พลแลม้าสี่สิบม้า พระขรรค์ตกลง จึงเรียกว่าบางพระขรรค์จนเท่าบัดนี้

ครั้นมาถึงบ้านเลี้ยงโค รามัญเรียกว่ากวนเลี่ยงแกลว ราชทูตอุปทูตก็ถามว่าบ้านนี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่าเรียกบ้านเลี้ยงโค ราชทูตถามว่า เหตุใดจึงชื่อบ้านเลี้ยงโค มังพะโคบอกว่าแต่ก่อนมีแม่โคดำนิลตัวหนึ่ง ครั้นรีดนมออกมาน้ำนมนั้นเปนเหมือนเนย เจ้าของโคจึงนำเข้าถวายพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือก สร่วยบ้านแลที่ทำนาตำบลนี้ โปรดพระราชทานให้แก่ผู้เลี้ยงโคนั้น จึงเรียกบ้านเลี้ยงโคจนเท่าบัดนี้

ครั้นมาถึงพระเจดีย์มะก้าว ราชทูตอุปทูตก็ถามว่า พระเจดีย์นี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่า แต่ก่อนนั้นมีพระเจดีย์องค์หนึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุไว้แล้ว มะก้าวเปนบุตร์กุดุมภีผู้หนึ่ง มีทรัพย์เปนอันมากมากระทำปุนะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้ ให้ใหญ่สูงขึ้นกว่าเก่า จึงเรียกว่าพระเจดีย์มะก้าวจนบัดนี้

ครั้นมาถึงตำบลบางนาค ข้างรามัญเรียกว่าบันแพะ ราชทูตอุปทูตจึงถามว่าตำบลนี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่าเรียกบางนาค ราชทูตอุปทูตถาม ว่าเหตุใดจึงเรียกบางนาค มังพะโคบอกว่า พระมหากษัตริย์แต่ก่อนเสด็จมาถึงตำบลนี้ ทอดพระเนตร์เห็นนาคผู้ตัวหนึ่ง มีพระประสงค์จะใคร่ได้จึงตรัสว่า ถ้าผู้ใดสามารถจับนาคผู้ตัวนี้ให้เราได้ เราจะให้รางวัลแก่ผู้นั้น จึงนายประมงผู้หนึ่งเข้ามากราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอรับอาสาไปจับนาคผู้ตัวนี้มาถวายให้จงได้ พระมหากษัตริย์ก็ดีพระทัย จึงตรัสว่าท่านจงเร่งไป นายประมงก็กราบถวายบังคมแล้ว ก็ไปไล่จับนาคผู้ ๆ ตัวนั้นก็ดำน้ำหนีไป นายประมงก็ดำนํ้าตามไปจับนาคผู้ตัวนั้นได้นำมาถวายพระมหากษัตริย์ ๆ ก็ชอบพระทัย จึงโปรดพระราชทานรางวัลแก่นายประมงเปนอันมาก จึงเรียกว่าบางนาคคุ้มเท่าบัดนี้

ครั้นมาถึงตำบลสระสมิงพระราม ราชทูตอุปทูตก็ถามดุจหนหลัง มังพะโคบอกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้น ให้สมิงพระรามเปนแม่กองกำกับการ เกณฑ์ทหารขุดสระนี้ไว้ จึงเรียกว่าสระสมิงพระราม

ครั้นมาถึงตำบลโพธิ์ร้อยต้น รามัญเรียกว่าซวยนอมกลอม ราชทูตอุปทูตก็ถามว่าตำบลนี้ชื่อใด มังพะโคบอกว่าตำบลนี้ชื่อโพธิ์ร้อยตัน ราชทูตอุปทูตก็ซักถามเหตุผลดุจหนหลัง มังพะโคบอกว่า เมื่อครั้งพระเจ้าฟ้ารั้วเสวยราชสมบัติในกรุงหงษาวดีเสด็จไปประพาสป่า มีชายผู้หนึ่งหาบผลกะลอยเกริบมา จะหลีกไปให้พ้นทางเสด็จ ไปมิทันจึงปลงหาบลงหมอบอยู่ริมทาง คนซึ่งตามเสด็จมานั้น หยิบเอาผลกะลอยเกริบในหาบใบหนึ่ง มิได้ขอต่อเจ้าของ ชายผู้นั้นก็มิไปยังหมอบเฝ้าคอยอยู่ที่นั้น พอพระมหากษัตริย์เสด็จกลับมาถึงที่นั้น ชายเจ้าของหาบก็กราบบังคมทูลว่าผู้หนึ่งตามเสด็จมาชิงผลกะลอยเกริบของข้าพเจ้าไป พระมหากษัตริย์ได้ทรงฟังก็เสด็จยับยั้งอยู่ที่นั้น จึงตรัสสั่งให้สืบเอาตัวผู้ซึ่งหยิบเอาผลกะลอยเกริบของชายผู้นั้นให้จงได้ ผลมะขามป้อมนั้นรามัญเรียกผลกะลอยเกริบ ครั้นขุนนางถือรับสั่งได้ตัวผู้นั้น ซักถามเปนสัตย์แล้วก็เข้ากราบทูล พระมหากษัตริย์ก็ทรงพระพิโรธ จึงตรัสสั่งให้ฆ่าผู้นั้นเสียมิให้ผู้ใดดูอย่างสืบไป สั่ง ให้บั่นออกเปนร้อยท่อน ให้เอาไปฝังไว้เปนสิบแห่ง แล้วให้ปลูกโพธิ์ประจำไว้ร้อยต้น จึงเรียกว่าตำบลโพธิ์ร้อยต้นสืบมา คำแขกเมืองไต่ถาม แลคำให้การทั้งปวงนั้นขุนนางผู้กำกับก็จดหมายไว้สิ้น

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่ง ให้พระยาอินท์ปลูกหอพระราชสาส์น แลเรือนราชทูตอุปทูตนั้น ให้โอฬาริกด้วยที่นั่งที่นอนปัจฐรณ์ต่างๆ แล้วตรัสสั่งเสนาบดีทั้งปวงว่า การรับแขกเมืองลังกามาแต่ไกลครั้งนี้ ต้องแต่งรับให้สคราญครึกครื้น ทางที่จะรับแขกเมืองเข้ามานั้น ให้แต่งประดับด้วยราชวัตฉัตร์ธง แลช้างม้าสำหรับยืนประจำตามตำแหน่งนั้น ก็ให้ผูกเครื่องประดับประดาเปนอันงาม ลูกขุนทั้งปวงให้แต่งตัวนุ่งห่มจงสอาดโอ่โถง อนึ่งไพร่พลทั้งปวงซึ่งเกณฑ์เข้าขบวนแห่นั้น ให้แต่งประกวดพรักพร้อมเปนอันมาก

พระยาอินท์แลเสนาบดีทั้งปวงรับสั่งแล้ว ก็ออกไปให้เกณฑ์ไพร่ทุกหมวดกรม เร่งรัดให้กระทำการรับแขกเมืองพร้อมเสร็จทุกประการ ครั้นพระราชสาส์นเข้ามาถึงกรุงหงษาวดี เจ้าพนักงานก็ลงไปรับพระราชสาส์นด้วยพานพระสุวรรณจำหลักสามชั้น อัญเชิญขึ้นยังยานุมาศมีเครื่องสูง ราชทูตอุปทูตก็ขึ้นคานหามพร้อมด้วยพลทหารพระหลวงหมื่นขุน เข้าในขบวนแห่แหนเปนอันมาก เสียงศัพท์แตรสังข์ฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล มังพะโคก็นำราชทูตอุปทูตเข้ามา โดยทางสถลมารคที่แต่งรับ ครั้นถึงพระราชวังชั้นนอก ก็เชิญราชทูตอุปทูตเข้ารับพระราชทานเครื่องเลี้ยง อันชาวพนักงานเตรียมไว้

ครั้นถึงเวลาพระเจ้าหงษาวดีก็สำอางพระองค์ ทรงพระภูษาตรวยเชิงทองสามชั้น สอดฉลองพระองค์ลายทองมังกรห้าเล็บอย่างดีที่พระเจ้ากรุงจีนถวายมา ทรงเครื่องราชวิภูษิตอันวิจิตร ทรงพระธำมรงค์ครบนิ้วพระหัตถ์ โพกพระเศียรเสร็จแล้วเสด็จออกยังท้องพระโรงราชสัณฐาคาร วิยะเวชยันตวิมานสมาคม พร้อมด้วยแสนเสวกามาตย์ราชกะวีมนตรีมุขทั้งปวง เฝ้าอยู่ตามตำแหน่ง จึงมีรับสั่งให้เบิกทูตนำเข้าเฝ้า มังพะโคก็นำราชทูตอุปทูตเข้ามากราบถวายบังคมหน้าพระที่นั่ง ราชทูตก็ถวายพระราชสาส์นปริศนาซึ่งพระเจ้าลังกาให้มานั้น พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งให้ มหาสิวะละเจ้าพนักงานอ่านถวาย ในพระราชสาส์นนั้นว่า เราได้ทราบกิตติศัพท์มานานแล้ว ว่าพระเจ้าหงษาวดีทรงพระสติปัญญายิ่ง ชำนาญในการแก้ปริศนา หากษัตริย์องค์ใดเปรียบเสมอมิได้ เราจึงมีปริศนามาหวังจะขอชมพระปัญญาสักครั้ง ปริศนานั้นว่าสัตว์หนึ่งมีหนังเปนปีก สัตว์หนึ่งเอากระดูกเปนปีก สัตว์หนึ่งเอาขนเปนปีก นกหมู่หนึ่งกินในบ่วงตายในบ่วง นกหมู่หนึ่งกินนอกบ่วงตายนอกปวง นกหมู่หนึ่งกินในบ่วงตายนอกบ่วง นกหมู่หนึ่งกินนอกบ่วงตายในบ่วง อนึ่งมามืดไปรุ่งเรือง อนึ่งมามืดไปมืด อนึ่งมารุ่งเรืองไปรุ่งเรือง อนึ่งมารุ่งเรืองไปมืด อนึ่งบุคคลสามพวกมิได้สร้างกุศลก็ได้กุศล สิ่งใดจะหนักกว่าหนัก สิ่งใดจะเบากว่าเบา อนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสิ่งใดที่ว่าเปนที่ยิ่งอย่างเอก อนึ่งเลขหนึ่งจนเลขสิบดังนี้ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ จะได้แก่สิ่งใด อนึ่งคาถาสามบทท่านว่าไว้ยังมิครบใส่ลงให้ครบ ให้แก้คาถาสามบทจนสำเร็จนั้น คือจะว่าประการใด เปนปริศนาสิบเจ็ดประการ ขอพระเจ้าหงษาวดีผู้มีพระปรีชาเฉียบแหลมจงวิสัชนาให้เราแจ้งด้วย

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังพระราชสาส์นปริศนา ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ก็แจ้งความอธิบายด้วยพระปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว เปรียบประดุจเห็นเงาในพระฉายมิได้ขัดข้องเนิ่นช้า จึงตรัสแก่พระมหานาคผู้ทรงคุณอันวิเศษ พระมหาราชครูแลครูอันทรงไตรปิฎกญาณ พร้อมด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า พระเจ้าลังกาให้มีปริศนามาดังนี้ ผู้ใดผู้หนึ่งจะวิสัชนาได้บ้าง ให้ท่านทั้งหลายว่าไปเราจะฟัง เมื่อมีพระราชโองการตรัสถามดังนั้น พระสงฆ์มหานาคแลราชครูเสนาบดีทั้งหลายนั้นก็นิ่งอยู่ ไม่มีผู้ใดกราบทูลรับว่าจะแก้ปริศนาได้

ฝ่ายมังพะโคกราบถวายบังคมแล้วทูลว่า ปริศนานี้อุประมาดังแก้วเจ็ด ประการ สมควรจะครองได้แต่พระมหาจักรพรรตราธิราชองค์เดียว ประเทศราชอื่นๆ จะครองแก้วเจ็ดประการนั้นมิได้ ถึงเปนพระโสดาจะแก้ปริศนาของพระสกิทาคาก็มิได้ พระสกิทาคาจะแก้ปริศนาของพระอนาคาก็มิได้ พระอนาคาจะแก้ปริศนาของพระอรหันต์ก็มิได้ พระอรหันต์ก็ไม่สามารถจะแก้ปริศนาของพระอรรคสาวกได้ พระอรรคสาวกก็ไม่อาจจะแก้ปริศนาของพระปัจเจกโพธิเจ้าได้ พระปัจเจกโพธิเจ้าจะแก้ปริศนาของสมเด็จพระพุทธเจ้านั้นมิได้ ความนี้พระองค์ก็ทรงทราบอยู่ในพระทัยสิ้นแล้ว ซึ่งพระเจ้าลังกาให้มีพระราชสาส์นปริศนามานี้เปนสิ่งสุขุมลึกละเอียดยิ่งนัก ผู้อื่นมิอาจจะแก้ได้ เว้นไว้แต่พระองค์ผู้ทรงพระปัญญาอันเฉียบแหลมลึกซึ้ง จึงจะทรงแก้ไขให้เห็นประจักษ์จริงได้

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังมังพะโคทูลดังนั้น จึงตรัสแก่พระยาอินท์แลพระมหานาคราชครูว่า ซึ่งมังพะโคว่าดังนี้ใครจะเห็นประการใด พระยาอินท์ก็ทูลว่า ข้าพเจ้าแลมังพะโคนี้เปรียบประดุจพระอานนท์เถรอาศัยองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้รู้ธรรมทั้งปวง ซึ่งมังพะโคทูลดังนั้นก็ชอบแล้ว พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย จึงตรัสว่าปริศนาพระเจ้าลังกาให้มานี้เราชอบใจหยากจะแก้นัก ด้วยข้องเข้าคดีธรรมหลายข้อ ควรจะคิดไว้เปนเครื่องดำเนินปัญญาได้ ซึ่งพระเจ้าลังกาทำปริศนาดังนี้เรายินดีด้วย ถึงจะหนุ่มเราก็นับถือว่าแก่ ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าอังวะนั้น ทำปริศนาไม่ใคร่มีสารประโยชน์ เราจึงว่าเล่นเปนเด็กเปนหนุ่ม จึงตรัสสั่งให้มหาสิวะละจารึกคำแก้ปริศนา เปนพระราชสาส์นลงในแผ่น สุพรรณบัตร์ว่า ซึ่งพระเจ้าลังกาให้มีพระราชสาส์นปริศนามาสิบเจ็ดประการนั้น เราจะวิสัชนาแก้ไขให้แจ้ง ซึ่งปริศนาข้อต้นว่าสัตว์หนึ่งเอาหนังเปนปีกนั้น คือค้างคาว สัตว์หนึ่งกระดูกเปนปีกนั้น คือแมลงทับ สัตว์หนึ่งเอาขนเปนปีก คือฝูงปักษาชาติทั้งปวง นกหมู่หนึ่งกินในบ่วงตายในบ่วงนั้น มิใช่นกคือบุคคลพวกหนึ่งเกิดมาในวัฏสงสารเปนฆราวาสแล้วตายในฆราวาสนั้น คือกินในบ่วงตายในบ่วง นกหมู่หนึ่งกินนอกบ่วงตายในบ่วง คือบุคคลพวกหนึ่งเกิดมาในสังสารวัฏบวชเปนบรรพชิตแล้วสึกออกมาเปนฆราวาสเล่า ตายภายในฆราวาสนั้น คือกินนอกบ่วงตายในบ่วง นกหมู่หนึ่งกินในบ่วงตายนอกบ่วงนั้น มิใช่นกคือบุคคลพวกหนึ่ง เกิดมาในวัฏสงสารเปนฆราวาสแล้วแลได้บวชเปนบรรพชิตครองสิกขาบทสองร้อยยี่สิบเจ็ดบริบูรณ์แล้วแลตายนั้น คือกินในบ่วงตายนอกบ่วง นกหมู่หนึ่งกินนอกบ่วงตายนอกบ่วงนั้น คือบุคคลพวกหนึ่งเกิดมาในวัฏสงสาร มิได้อยู่ครอบครองฆราวาสเลย บวชเปนบรรพชิตครองสิกขาบท จนตายในบรรพชิตนั้น คือกินนอกบ่วงตายนอกบ่วง หนึ่งมามืดไปรุ่งเรืองนั้น คือบุคคลเกิดมาในวัฏสงสารเปนคนยากโฉดเขลาหาปัญญามิได้ ครั้นรู้จักคุณพระรัตนไตรก็มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา เว้นจากบาปบำเพ็ญกุศล ครั้นตายก็ได้ไปสู่ที่ชอบ คือมามืดไปรุ่งเรือง อนึ่งมารุ่งเรืองไปมืด คือบุคคลพวกหนึ่งเกิดมาในวัฏสงสาร ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติแลตระกูลยศเปนอันมาก แต่สันดานหยาบกระด้างประมาทมัวเมา ไม่เคารพรู้คุณพระรัตนไตร มิได้กลัวละอายแก่บาป ครั้นตายก็ไปสู่จัตุราบาย คือมารุ่งเรืองไปมืด อนึ่งมามืดไปมืด คือบุคคลเกิดมาในวัฏสงสาร เปนคนทุพพลภาพคับแค้นอยู่แล้ว ยังไม่กลัวละอายบาป ทำอกุศลเพิ่มเติมเข้าอีกเปนอันมาก ครั้นตายก็ไปสู่จัตุราบาย คือมามืดไปมืด อนึ่งมารุ่งเรืองไปรุ่งเรืองนั้น คือบุคคลพวกหนึ่ง เกิดมาในวัฏสงสาร เมื่อเกิดมานั้นมีตระกูลอันยิ่ง ประกอบด้วยทรัพย์เปน อันมาก รู้คุณพระรัตนไตร มีศรัทธาบำเพ็ญกุศลมาก ครั้นดับจิตต์ก็ได้ไปที่ชอบ คือมารุ่งเรืองไปรุ่งเรือง อนึ่งบุคคลสามจำพวกมิได้สร้างกุศลเลย ก็ได้กุศลเปนนิจ คือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมนั้น บำรุงพระนครให้สมณพราหมณ์ราษฎรทั้งปวงอยู่เย็นเปนสุขได้สร้างกุศลแลอำนวยทาน ผลอานิสงษ์นั้นก็ได้แก่พระมหากษัตริย์ เปนอันมาก ประการหนึ่งกุลบุตรบวชในพระพุทธสาสนาครองสิกขาบท ปฏิบัติตามกิจพระวินัยทุกประการนั้น ถึงมิได้บำเพ็ญกุศลอื่นเลย ก็ได้ผลอานิสงษ์เปนอันยิ่ง อนึ่งสตรีใจเปนธรรมสุจริตซื่อตรงต่อสามี มิได้เอาจิตต์ไปประฏิพัทธ์ผูกพันในชายอื่น เคารพยำเกรงปฏิบัติโดยชอบในสวามีของตน สตรีนั้นถึงมิได้สร้างกุศลอื่นเลยก็ได้กุศล บุคคลสามจำพวกนี้ ถึงมิได้สร้างกุศลอื่นเลยก็ได้กุศลเปนอันมาก ซึ่งว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ สิ่งใดว่ายิ่งอย่างเอกนั้น คือพระอรหันต์ เพราะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่มรรคญาณผลญาณ ขาดจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดประการ ลุถึงสรรเพ็ชุดาญาณนั้น ด้วยพระอรหันต์ เหตุดังนี้พระองค์จึงตรัสสรรเสริญพระอรหันต์ว่าเปนธรรมยอดยิ่งอย่างเอก อนึ่งได้พระอรหันต์แล้ว ก็เชื่อว่าถึงพระนิพพาน ซึ่งว่าสิ่งใดหนักกว่าหนักนั้น คือสัตว์เปนมฤจฉาทิฏฐิเที่ยงถือว่าบุญบาปไม่มี ใครทำความชอบชั่วดีก็ไม่ได้ผล นี่แหละเปนผู้หนัก ภูเขาสูงใหญ่ว่าหนักนั้นหรือก็มิหนักเท่า เหตุว่าภูเขาสูงใหญ่นั้น พระอริยเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีพระโมคคัลลาน์เปนต้น ท่านหยิบโยนขึ้นไปในอากาศได้ดังเมล็ดกรวด สัตว์ผู้เปนมฤจฉาทิฏฐินี้หนักกว่าหนัก แม้นพระโมคคัลลาน์ร้อยพันพระองค์ จะยกขึ้นจากโทษนั้นมิได้ เหตุดังนี้จึงว่ามฤจฉาทิฏฐินี้หนักกว่าหนัก อนึ่งว่าสิ่งใดเบากว่า เบานั้น คือสัตว์เปนสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาเชื่อคุณพระรัตนไตรสามประการ รักษาศีลภาวนาบำเพ็ญทาน เปนทางใกล้พระนิพพานนั้น จึงชื่อว่าเบากว่าเบา สิ้นปริศนาสิบสี่ประการเพียงนี้ ยังอีกสามประการซึ่งปริศนาว่า เลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ จะได้แก่สิ่งใดนั้น คือเลขหนึ่งได้แก่สัตว์ทั้งหลาย เกิดมาแล้วย่อมมีอาหารเปนที่ตั้ง เลขสองนั้น คือนามแลรูปทั้งสอง เลขสามนั้น คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เลขสี่นั้น คือพระจตุราริยสัจทั้งสี่ เลขห้านั้น คือเบ็ญจขันธ์ทั้งห้า เลขหกนั้น คืออายตนะทั้งหก คือจักขวาตนะหนึ่ง โสตายตนะหนึ่ง ฆานายตนะหนึ่ง ชิวหายตนะหนึ่ง กายายตนะหนึ่ง มนายตนะหนึ่ง เลขเจ็ดนั้น คือสัตตะโพชฌงค์ทั้งเจ็ด เลขแปดนั้น คือพระอัษฎางคิกมรรคทั้งแปด เลขเก้านั้น คือนวสัตตาวาศทั้งเก้า คืออบายทั้งสี่นั้นหนึ่ง มนุษย์ฉกามาพจรหนึ่ง ปถมฌานหนึ่ง ทุติยฌานหนึ่ง ตติยฌานหนึ่ง อรูปสี่เปนเก้า เลขสิบนั้น คือพระอรหันต์ ประกอบด้วยองค์สิบประการ คาถาสามบทยังไม่ครบนั้นคือว่า อัฐะมีอินทะรีเยจันทะ อัฐะจันทะริกิญจิกาวิสาวี อัฐะมีอินทะรีเยจันทะ แปลความว่าลักษณะพระจันทร์นั้น ครั้นถึงวันแรมแปดค่ำย่อมเปนกึ่งหนึ่งมิได้กลม ไม่แจ่มแจ้งดุจวันเพ็ญเลย แม้นสตรีภาพผู้ใดดวงจิตต์มิซื่อสัตย์บริสุทธิ์ เปนเหมือนดังพระจันทร์วันแรมแปดคํ่านั้น บุรุษผู้มีปัญญาพึงเว้นจากสมาคมด้วยสตรีภาพผู้นั้น กวะตุปูเชตุกามาวะ เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลายย่อมกระทำสักการบูชา กิง ดังฤๅใครจะรู้ บัณฑิตา เว้นไว้แต่ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้

ครั้นพระเจ้าหงษาวดีทรงวิสัชนาปริศนาสำเร็จแล้ว ราชทูตอุปทูตก็กราบถวายบังคมทูลสรรเสริญว่า ปริศนาทั้งปวงนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้า ให้นำไปทุกประเทศ พระมหากษัตริย์พระองค์ใด มิอาจจะแก้ได้ พระองค์เจ้าทรงวิสัชนานี้เปนอันฉับพลัน ด้วยพระปัญญาแหลมล้ำคำภีร์ภาพ เปนพหูสูตร์ทรงพระไตรปิฎก จึงทรงแก้ปริศนานี้ได้ เปนอัศจรรย์นัก ราชทูตอุปทูตจึงได้นำเครื่องราชบรรณาการที่ดีต่างๆ กับกลองยี่สิบคู่นั้น เข้ามาถวายเปนเครื่องสักการบูชาพระปัญญาพระเจ้าหงษาวดีต่อทีหลังตามพระเจ้าลังกาตรัสสั่ง

พระเจ้าหงษาวดีก็มีพระทัยชื่นชม จึงให้คนคุมเครื่องราชบรรณาการทั้งปวงนั้น ไปบูชาถวายพระมุเตา แต่กลองยี่สิบคู่นั้นให้นำไปไว้เปนกลองสำหรับราชาภิเศกกษัตริย์ แล้วให้พระราชทานรางวัลแก่ราชทูตอุปทูตเปนอันมาก แล้วตรัสสั่งพระยาอินท์กับมังพะโค ให้นำแขกเมืองไปเที่ยวดูพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ แลไพชยนต์มหาปราสาท รูปพระบทวะลัญชะวิหารทั้งสิบหกแห่ง ซึ่งพระองค์ให้สร้างไว้ในที่ต่างๆ แลรูปหุ่นสามร้อยหกสิบซึ่งตั้งไว้นั้น

พระยาอินท์แลมังพะโคก็ถวายบังคมลา พาราชทูตอุปทูตไปดูพระเจดีย์ แลเที่ยวชมเที่ยวนมัสการพระต่างๆ ที่เปนส่วนพระเจ้าหงษาวดีให้ทรงถาปนานั้น ราชทูตอุปทูตพูดแก่มังพะโคว่าเปนบุญของเรายิ่งนัก จึงได้มานมัสการพระพุทธเจ้า แลได้เห็นการทั้งปวงนี้ ครั้นเห็นรูปหุ่นจึงถามว่า รูปเหล่านี้น่าดูนักทำด้วยสิ่งใด หูตานุ่งห่มเหมือนกับคนเปนจริง แม้ไม่สังเกตเข้าใกล้แล้ว เห็นจะสำคัญว่าคน หาสงสัยมิได้ มังพะโคก็บอกว่ารูปทั้งนี้ พระเจ้ากรุงจีนแต่งพระราชสาส์น แลเครื่องราชบรรณาการกับทั้งพระนาม ให้ราชทูตอุปทูตทั้งสี่กับคนคุมเครื่องราชบรรณาการสี่สิบเข้าสู่พระโพธิสมภาร ถวายรูปหุ่นสามร้อยหกสิบนี้มาด้วย ราชทูตอุปทูตก็สรรเสริญว่า พระเจ้าหงษาวดีนี้ มีพระบุญญาภิสมภารมากหาที่สุดมิได้ อยู่มาสองวันราชทูตอุปทูต จึงให้ขุนนางนำเฝ้าทูลลาจะกลับไป

พระเจ้าหงษาวดีก็สั่งให้มังพะโค จัดการส่งแขกเมือง ราชทูตอุปทูตกราบถวายบังคมลา มังพะโคกับไพร่พลทั้งปวงตามไปส่งจนลงสำเภาแล้วก็กลับมา นายเรือจึงให้ออกสำเภาใช้ใบแล่นไปหลายคืนวันก็ถึงเมืองลังกา ราชทูตอุปทูตก็เชิญพระสุพรรณบัตร์คำแก้ปริศนาซึ่งพระเจ้าหงษาวดีวิสัชนานั้น เข้าถวายพระเจ้าลังกาแล้วกราบทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินรามัญทรงพระราชศรัทธา บอกพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์วันละร้อยรูปทุกเวลามิได้ขาด แลไพชยนต์มหาปราสาท การทั้งปวงบรรดาแขกเมืองได้เห็นนั้น ก็จดหมายนำไปกราบทูลพระเจ้าลังกาทุกประการ

ครั้นพระเจ้าลังกาได้แจ้งในคำแก้ปริศนา แลทรงทราบว่า พระเจ้าหงษาวดีเปนพระราชวงศ์ใหญ่หลวง ทรงสร้างบารมีเปนทางพระโพธิญาณดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงให้ทำลานทองประดับพลอยเปนอันมาก จารึกพระนามลงว่า พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ แล้วให้จัดกลองทองแตรลำโพงทองสิบสองคัน คนสำหรับกลองแลแตรครบ ให้ราชทูตอุปทูตลงสำเภา นำมาถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ได้ทราบราชทูตลังกามาอีก ก็ให้แต่งการรับพระราชสาส์นแลสิ่งของถวายไว้แล้ว ก็ตอบแทนตามราชประเพณี แล้วให้ส่งแขกเมืองกลับไปยังทวีปลังกา

ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดี จึงสั่งให้นิมนต์สงฆ์ราชาคณะแลประชุมชีพ่อพราหมณ์ราชินิกุลลูกขุนมนตรีกระวีราชทั้งปวงพร้อมกันแล้ว ตรัสถามว่าพระนามพระมหากษัตริย์ทั้งปวงให้มาแก่เรานี้ พระนามใดจะสมควรแก่เรา ท่านทั้งปวงจงว่ามา เราจะรับเอาพระนามนั้น พระสงฆ์แลพราหมณาจารย์เสนาบดีทั้งปวงก็นิ่งอยู่ไม่มีผู้ใดกราบทูล จึงมีพระราชโองการตรัสว่า เราถามฉะนี้เหตุใดพากันนิ่งอยู่สิ้น

ฝ่ายมังพะโคจึงทูลว่า พระนามอันพระมหากษัตริย์ทั้งปวงถวายมานี้ แต่ล้วนเปนพระนามกษัตราธิราชอันประเสริฐสิ้นด้วยก้น ซึ่งจะรู้ว่าพระนามนี้ดีชั่วตํ่าสูง ควรจะรับได้มิได้นั้น ยากที่คนทั้งหลายจะกราบทูล เหตุพระองค์ทรงพระปัญญาบารมีหาที่สุดมิได้ แลพระนามองค์ใดสมควรแก่อิสสระภาพ ก็จะพึงสำเร็จด้วยพระทัยดำริห์ของพระองค์ พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า มังพะโคทูลแก่เราดังนี้ เพราะเทพยดามาสิงสู่อยู่ในปากจึงแก้เราได้ เราเห็นว่าพระนามที่พระเจ้าลังกาให้มาแก่เรานี้ ประเสริฐนักหาที่สุดมิได้ พระนามองค์นี้ควรเราจะรับเอา จึงให้ขุนศรีภูริปรีชาอ่านพระนามในแผ่นสุพรรณบัตร์ พระสงฆ์ราชาคณะแลพราหมณาจารย์เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นชอบถวายสาธุการพร้อมกัน พระเจ้าหงษาวดีก็รับพระนาม ซึ่งพระเจ้าลังกาถวายมาว่า พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์นั้น จึงสั่งให้ตั้งการ พระราชพิธีถวายพระนาม โดยพุทธศาสตรไสยศาสตร ตามบุรพประเพณีพระมหากษัตริย์เสร็จแล้ว พระเจ้าศรีสากยวงค์ธรรมเจดีย์ ก็โปรดตั้งให้มังพะโคเปนสมิงจงกอง

ขณะนั้นพระยาอินท์กราบทูลว่า บรรดาพระนามที่พระมหากษัตราธิราช ต่างกรุงทั้งปวงถวายมานี้ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าประมวลเข้าในพระนาม ซึ่งพระเจ้าลังกาถวายมาแก่พระองค์สิ้น เหตุดังนั้นข้าพเจ้าจึงสรรเสริญว่า พระองค์ทรงพระปรีชาญาณคำภีร์ภาพหาที่สุดมิได้ พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ ได้ทรงฟังดังนั้นก็ชอบพระทัยนักจึงถอดพระธำมรงค์เพ็ชร์ ซึ่งทรงอยู่ในนิ้วพระหัตถ์ควรค่าได้แสนตำลึงนั้น พระราชทานให้แก่พระยาอินท์

ครั้นอยู่มาพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ จึงสั่งให้วิสุกรรมกระทำพระราชมณเฑียร โดยยาวสิบแปดศอก โดยกว้างสิบหกศอก ระเบียงข้างหนึ่งสิบสามศอก หน้ามุขสิบห้าศอกกว้างได้ร้อยศอก ท้องพระโรงยาวเก้าสิบสามศอก กว้างสามสิบศอก พระที่นั่งสมเด็จยาวสี่สิบสองศอก กว้างสี่สิบศอก ศาลาลูกขุนยาวเก้าสิบเก้าศอก กว้างได้สิบเอ็ดศอก ครั้นสร้างพระราชมณเฑียรแลการทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็สั่งให้ตั้งการพระราชพิธี ซึ่งจะเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงให้เลือกเอาแต่พราหมณ์วิสัย อันชำนาญในศิลปศาสตรวิชาคุณไตรเพทเข้าราชพิธี พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ ก็เสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรพร้อมด้วยนางกษัตริย์พันหนึ่ง

ฝ่ายพราหมณ์มหาศาลก็เป่าสังข์ทักษิณาวัฎ ให้ประโคมดุริยดนตรีทั้งปวงขึ้นพร้อมกันแล้ว ให้เล่นงานมหรสพสมโภชเปนอันมาก ครั้นพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์เฉลิมพระราชมณเฑียรเสร็จแล้ว จึงตรัสถามมังสุวรรณรัชฏว่า ส่วยสาอากรซึ่งขึ้นท้องพระคลังหลวงมากน้อยเท่าใด มังสุวรรณรัชฏจึงเอาบัญชีมาอ่านถวายว่า ส่วยสาอากรขึ้นท้องพระคลังปีละสามสิบตึก พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ได้ทรงฟังดังนั้นแล้ว ก็ทรงพระดำริห์ว่าแต่เราบริโภคมื้อหนึ่ง กับผ้าพันกายประมาณหกศอกเท่านี้ แลส่วยอากรขึ้นคลังปีละสามสิบตึกเปนอันมาก ตัวเรานี้ประดุจอสุรกายอันรักษาทรัพย์ไว้ก็หาประโยชน์มิได้ จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งมังสุวรรณรัชฏ ให้แบ่งทรัพย์นั้นออกเปนส่วนอากร อันขึ้นแก่พระอารามสำหรับเปนของสงฆ์นั้นแล้ว สั่งให้จารึกเปนพระราชกำหนดตั้งศักราชเดือนปีวัน คืนขึ้นแรมไว้ว่า ส่วยสาอากรครั้งนี้ เราอุทิศถวายไว้เปนของกัลปนาสำหรับพระอาราม แต่วันนี้ไปจนสิ้นศักราชห้าพันพรรษา อย่าให้ผู้ใดทำอันตรายเลย แล้วทรงประกาศแช่งไว้ว่า กษัตริย์พระองคํใดซึ่งจะได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสืบไปภายหน้า อย่าให้เอาส่วยอากรซึ่งเราอุทิศถวายไว้ สำหรับพระอารามแลพระสงฆ์ทั้งปวงนี้ กลับมาเข้าท้องพระคลังอีกเลยเปนอันขาด ถ้าเจ้าแผ่นดินองค์ใดมิฟังขืนให้เอาทรัพย์ทั้งนี้ มาเข้าท้องพระคลังหลวงอีก ก็ขอให้เจ้าแผ่นดินองค์นั้นสิ้นชีวิตแล้วไปสู่เปรตวิสัย แลทนทุกข์เวทนาในอวิจีมหานรก นับด้วยมหากัลปเปนอันมากเถิด

ครั้นอยู่มามีพี่น้องสามคน บิดามารดาชราภาพแล้ว จึงเอาดาบเล่มหนึ่งตราไว้แก่ลูกสามคนแล้วสั่งว่า ถ้าเราหาบุญไม่แล้วให้ผู้ใดแบ่งปันให้แก่ลูกตนเถิด ครั้นอยู่มาบิดามารดาตาย พี่น้องสามคนจึงวิวาทกันด้วยดาบเล่มนั้น เพราะต่างคนต่างจะใคร่ได้ก็พากันไปหาตุลาการ ๆ จึงถามพี่น้องสามคน ๆ ก็ให้การว่า เมื่อบิดามารดายังไม่ถึงแก่กรรมนั้น ได้เอาดาบนี้แขวนคอข้าพเจ้าไว้จริง แต่พี่น้องผู้เปนหญิงมีผัวแล้วไม่ควรจะได้ จะกลับมาเอาด้วยเล่าข้าพเจ้ามิยอม ตุลาการฟังความแล้ว พิจารณาปรึกษามิตกลงเนื้อความนั้นไม่สำเร็จค้างอยู่ถึงสามปี

ฝ่ายพิกลกองผู้กินเมือง จึงให้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ ได้ทรงฟังเรื่องความแล้ว จึงให้หาตุลาการสี่คนเข้ามาตรัสถามว่า เรื่องความผู้มีชื่อสามคนพี่น้องนี้ ท่านทั้งปวงพิจารณามาช้านานถึงสามปีแล้ว เปนประการใดจึงยังมิสำเร็จ ศรีเมฆราชจึงทูลว่า บทพระอัยการซึ่งจะใส่ด้วยความข้อนี้ มิได้มีจึงไม่สำเร็จ จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ซึ่งตุลาการทั้งสี่พิจารณาไม่สำเร็จนั้นเราก็เห็นด้วย เพราะความเรื่องนี้สุขุมพิพากษายากอยู่ ตรัสฉะนี้แล้ว พระองค์จึงนำความมาเปรียบอาการว่า ผู้ใดผู้หนึ่งรักใคร่กันแลกันให้สิ่งของแก่กัน ครั้นภายหลังจะกลับคืนเอาเล่า ถ้าผู้ใดได้สิ่งของนั้นไว้แล้วแลยากจนไป เอาของซึ่งให้นั้นไปจำหน่ายขายกินเสีย เจ้าของเดิมจะกลับคืนเอานั้นมิได้ จะว่ากล่าวประการ ใดก็มิได้ ถ้าสิ่งของซึ่งให้นั้นยังคงอยู่ ถึงลูกตัวจะรับทุกข์ยากของพ่อแม่นั้นก็ดี ให้มิได้ นี่พ่อแม่จะได้ความยากแค้นก็หามิได้ แลมีเครื่องใช้สรอยอยู่ ซึ่งลูกหญิงมีผัวออกเรือนต่างหาก ทรัพย์สิ่งของผู้คนอันใด พ่อแม่ก็ตกแต่งให้แล้ว แลดาบนี้พ่อแม่ได้ตราแต่เมื่อยังมิตาย ถ้าลูกเหล่านี้หยิบยืมมาใช้สรอยจะได้ว่ากล่าวแก่กัน ดาบนี้ควรจะจัดเปนทรัพย์มรดกโดยพระอัยยการได้ ด้วยเปนรูปพรรณมั่นคงอยู่ ถ้าจะแบ่งปันให้ลูกทั้งสามคนก็ได้ แต่เราเห็นเปนรูปพรรณสิ่งเดียว จะแจกจ่ายเปนอันยาก ให้เอาดาบเล่มนี้ไปบูชาพระมุเตาทำบุญเสียเถิด จึงจะชอบ

เมื่อพระเจ้าหงษาวดีตรัสพิพากษาความในเวลานั้นเสด็จอยู่ ณพระที่นั่งธรรมสภา ทรงบอกพระไตรปิฎกแก่พระภิกษุสงฆ์เสร็จแล้ว แลพระสงฆ์สามร้อยองค์ ซึ่งมาเรียนพระปริยัติธรรมนั้นยังมิได้ไป ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวีมนตรีมุขทั้งปวง กับทั้งพระสงฆ์สามร้อยองค์ ได้ฟังพระราชโองการทรงตัดสินโดยชอบธรรมนั้น ก็บันลือเสียงสาธุการเปนอันมาก พี่น้องสามคนนั้นก็เห็นสมควร ต่างมีความชื่นชมยินดี ชวนกันถวายอนุโมทนาด้วย

ครั้นอยู่มามีชายหนุ่มสองคน ๆ หนึ่งชื่อโลกพร้า คนหนึ่งชื่อเพิดงาย เปนนักเลงเจ้าชู้เกิดวิวาทแย่งชิงกันด้วยเรื่องหญิง แลคนหนึ่งมีความพยาบาทคิดจะฆ่าคนหนึ่งเสีย คอยปองร้ายอยู่ทุกวัน คนหนึ่งรู้ตัวหนีอยู่มิได้พบ คนหนึ่งถืออาวุธคอยอยู่ดังนั้นช้านานเปนหลายปี ครั้นอยู่มาชายที่หลีกหนีนั้นปวยเปนไข้ตาย พวกญาติทั้งปวงก็แต่งการศพนำไปป่าช้า คนซึ่งคอยปองร้ายอยู่นั้น รู้ว่าชายผู้เปนคู่วิวาทตายแล้วก็ยังไม่หายโกรธ จึงถือดาบตามออกไปป่าช้า ร้องว่ากูคอยอยู่นานแล้วมิพบตัวเลย วันนี้มาพบแล้วจะขอฟันเสียให้หายแค้นตามที่ได้สบถไว้ ว่าแล้วก็ตรงเข้าฟันเอาศพนั้นขาดออกเปนสามท่อนแล้วก็กลับมาม้าน

 ฝ่ายญาติพี่น้องของผู้ตายทั้งปวงนั้น เห็นแล้วก็สังเวชใจ ต่างคนอดกลั้นความโกรธไว้ ด้วยจะเผาศพทำการบุญ ครั้นเผาศพเสร็จแล้ว ญาติของผู้ตายก็พากันไปฟ้องยังตุลาการ ๆ จึงให้เรียกตัวชายผู้นั้นมาถาม ชายผู้นั้นก็ให้การตามจริงว่า ข้าพเจ้ากับผู้ตายมีความขัดเคืองด้วยเรื่องชิงชู้กัน ข้าพเจ้าคิดจะฆ่าเสียนานแล้วแต่คอยอยู่มิพบตัว ครั้นข้าพเจ้ารู้ว่าตายแล้ว จึงตามไปฟันให้สมแค้น มิให้เสียน้ำสบถ

ครั้นตุลาการพิจารณาดูข้อซึ่งฟันอาศพนั้น พระอัยการบทนี้มิมีจะปรับ ไหมมิได้ เนื้อความนั้นจึงช้าอยู่ ฝ่ายญาติพี่น้องของผู้ตายจึงทำฎีกาไปยื่นต่อเจ้าพนักงาน ๆ ก็นำขึ้นกราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ได้ทรงทราบแล้ว จึงมีรับสั่งให้หาตุลาการทั้งสี่เข้ามาตรัสถามว่า ความเรื่องนี้เหตุใดจึงชำระมิเสร็จ ตุลาการก็กราบทูลตามข้อความนั้น จึงมีพระราชโองการตรัสว่า มันผูกสาเหตุอยู่แต่เมื่อยังมิตายนั้นจะคอยฆ่ามิได้ ครั้นตายแล้วมีอาศพมีแต่ร่างเปล่ามันยังตามมาฟันด้วยสาเหตุฉะนี้ ก็เปนอันฟันท่านเหมือนเมื่อมีชีวิตอยู่ มันผู้ทำผิดในแผ่นดินเมืองดังนี้ ควรพิจารณาว่าเปนทำการสองครั้ง เมื่อยังมิตายนั้นครั้งหนึ่ง เมื่อเปนอาศพแล้วครั้งหนึ่ง ให้ตุลาการทั้งสี่ดูบทพระอัยยการแล้วปรับเปนสองชั้น ตุลาการรับพระราชโองการแล้ว ก็ออกมาดูบทพระอัยยการ ต้องด้วยบทปรับทวีคูณฟันอาศพขาดสามท่อน ตั้งหมายเปนค่าหกคน ให้จำเลยใช้สินไหมเต็มแล้วก็เสร็จกัน

ครั้นอยู่มามีหญิงคนหนึ่ง รูปงามนักผิวเนื้อละเอียดเหลือง เปนหญิง แพสยา เสียแต่เท้าฉ่องหน่อยหนึ่ง บุรุษนักเลงทั้งปวงได้เห็นรูปแล้วย่อมมีความพิสวาทมาก วันหนึ่งชายหนุ่มสองคน คนหนึ่งเปนบุตรกรายแมนอำมาตย์เมาะเกิด คนหนึ่งเปนบุตรโลหะพยาไปหาหญิงนครโสเภณีนั้น แล้วยื่นทรัพย์เปนราคาตามธรรมเนียมให้แก่หญิงงามเมืองผู้นั้นพร้อมกันทั้งสองคน แล้วชิงกันต่างคนต่างจะใคร่ได้ก่อน ก็เกิดวิวาททุ่มเถียงแก่กัน จึงพากันไปหาตุลาการให้ตัดสินเนื้อความนั้น ตุลาการจึงให้หาหญิงนั้นมา ให้ชายทั้งสองออกไปเสียภายนอกแล้ว ถามว่าท่านรับทรัพย์ของผู้ใดก่อน หญิงนั้นบอกว่าข้าพเจ้ารับทรัพย์ของชายทั้งสองนี้พร้อมกัน ตุลาการซักถามว่า เมื่อท่านรับทรัพย์จากชายทั้งสองพร้อมกันนั้นมือขวารับข้างผู้ใด มือซ้ายรับข้างผู้ใด ให้ว่าไปแต่ตามจริงอย่าอำพราง หญิงงามเมืองให้การว่า ข้าพเจ้ารับทรัพย์ของบุตรกรายแมนอำมาตย์เมาะเกิดด้วยมือขวา รับ ทรัพย์ของบุตรโลหะพยาด้วยมือซ้ายจริงแต่ได้รับก่อนแล้ว ตุลาการจึงให้ไปพาตัวชายทั้งสองเข้ามา ซักถามสอบกันโดยคดีความ ชายทั้งสองก็รับดุจคำหญิงงามเมืองว่านั้น ตุลาการพิพากษาว่าเปนความวิวาทกันด้วยวัตถุที่ลับเพราะจะใคร่ได้ก่อน เปนธรรมเนียมชายทั้งปวง จึงจะชำระวัตถุที่ลับให้ตกลงเปนอันได้ก่อนได้หลังนั้น ต้องตัดสินเอามือหญิงเปนใหญ่ ถึงมาทว่ามือซ้ายต่ำสำหรับจับของที่ชั่ว แลลูบล้างสิ่งของที่ไม่สอาดนั้นก็ดีแต่ได้รับหนก่อน มือขวาเปนใหญ่กว่ามือซ้ายก็จริงแต่รับเปนหนหลัง มือขวาช่วยบำรุงมือซ้าย หญิงรับทรัพย์ของผู้ใดด้วยมือซ้ายก่อน ตัดสินให้ผู้นั้นเปนก่อน เมื่อตุลาการพิพากษาดังนี้แล้ว จึงนำคำชี้ขาดขึ้นกราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ได้ทรงฟังก็แย้มพระโอษฐ์ตรัสว่า ซึ่งท่านพิพากษาโดยชอบธรรมดังนี้ดีนัก

ความมีเรื่องหนึ่งว่า มะรอดกับมะสังทำไร่ถั่วเคียงกัน มะรอดนั้นตัดหนามมาสะไร่ถั่วของตัวไว้แล้วก็กลับไป มะสังเอาหนามของมะรอดกิ่งหนึ่ง ไปปักกันไร่ถั่วของตัวไว้ มะรอดออกมาเห็นหนามของตัว ไปอยู่ที่ไร่ถั่วของมะสังดังนั้นก็โกรธ มะรอดก็ถอดเอาหนามที่มะสังไปสะรั้วของตัวไว้ดังเก่า มะสังออกมาพบมะรอดก็เข้าชิงเอาหนามนั้น เกิดวิวาทเถียงกัน มะรอดด่ามะสังว่า อ้ายชาติโจรป่ามือมึงด้วนตีนมึงขาดหรือ จึงไปตัดเอาเองมิได้คอยลักหนามของกู แต่นกกายังรู้จักเที่ยวคาบหญ้าแลใบไม้มาปิดบังทำรังได้ มึงเปนคนมีมือเสียเปล่าเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน มะสังโกรธด่าตอบว่าอ้ายชาติเนระคุณ ทีมึงไม่อยู่กูก็ช่วยดูไร่ไล่นกไล่กาให้ แต่กูเอาหนามของมึงมากิ่งหนึ่งเท่านี้เปนอะไรนักหนา มึงไม่รู้จักคุณกูก็เปรียบดังสัตว์ดิรัจฉานเหมือนกัน มะรอดว่าทีมึงกลับไปบ้านกูก็ช่วยดูให้บ้าง มึงจะลำเลิกข้างเดียวกูไม่ยอม มะสังโกรธเปนกำลัง ฉวยได้ไม้ท่อนหนึ่ง วิ่งตรงเข้ามาตีมะรอดศีร์ษะแตก คิ้วขาด หน้าผากแตก หูวิ่น ลิ้นขาด ตาบอดทั้งสองข้าง มือซ้ายขวาหัก เท้าซ้ายหักเท้าขวาหักเปนแผลสิบเอ็ดแห่ง พวกญาติพี่น้องมะรอดมาช่วยมิทัน มะสังหลบตัวไปแล้ว ญาติทั้งปวงจึงหามมะรอดผู้เจ็บ ไปฟ้องยังตุลาการ ๆ จึงให้หามะสังมาถาม มะสังให้การรับเปนสัตย์ว่าข้าพเจ้าได้ตีจริง ตุลาการเห็นแผลมะรอดสิบเอ็ดแห่ง จึงพิจารณาว่าแผลที่หนักกว่าแผลทั้งปวงนั้น คือตาทั้งสองบอดเปนที่สูงกว่าแผลทั้งปวง จึงพิพากษาให้ปรับเปนค่าแปดคน ให้เปนสินไหมแก่มะรอด ซึ่งมะสังตีมะรอดมีแผลบาดเจ็บถึงสิบเอ็ดแห่ง ตุลาการให้ปรับแต่แห่งหนึ่งนั้น มะรอดมิเต็มใจ จึงให้ญาติพี่น้องทำฎีกาไปยื่นต่อเจ้าพนักงาน ขุนนางเจ้าพนักงานก็นำขึ้นถวาย

พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงทราบเรื่องความในฎีกานั้นแล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองอูเพิดลงไปดู เจ้าเมืองอูเพิดก็ลงไปพิจารณาดูผู้เจ็บแล้ว ก็กลับเข้ามากราบทูลว่า แผลนั้นหนักสิ้นทั้งนั้น จึงมีรับสั่งให้หาตุลาการทั้งสี่เข้ามาตรัสถามว่า เนื้อความซึ่งพิจารณาโจทก์มิเต็มใจนั้น พิพากษาเปนประการใด ศรีเมฆราชกราบทูลว่า มะสังตีมะรอดเปนขันธ์อันเดียว มีแผลสิบเอ็ดแห่ง ข้าพเจ้าทั้งสี่พิพากษาว่า จักษุบอดนั้นเปนที่สุดกว่าแผลทั้งปวง จึงปรับให้มะสังใช้สินไหมแก่มะรอดเปนค่าแปดคน มะรอดมิเต็มใจสุดแล้วแต่จะทรงโปรด จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ตุลาการทั้งสี่นี้ดุจหนึ่งผู้จานหนังสือมิได้เรียนรู้ในพระบาลี ให้รู้ผิดแลถูกโดยละเอียดรอบคอบ เปนแต่จานได้ตามฉบับเท่านั้น ถ้าเขาตีตัวบาดเจ็บดังนี้ แลมีผู้มาปรับให้ว่าเปนขันธ์อันเดียว ท่านยังจะยอมรับเอาหรือ ความข้อนี้จำจะตัดสินโดยกระแสคดีธรรมจึงจะชอบด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงบัณฑูรไว้ว่า ขันธ์แห่งสัตว์ทั้งปวงมีห้าประการ คือรูปขันธ์หนึ่ง เวทนาขันธ์หนึ่ง สัญญาขันธ์หนึ่ง สังขาระขันธ์หนึ่ง วิญญาณะขันธ์หนึ่งเปนห้า ซึ่งเรียกว่าขันธ์นั้น คือคำไทยว่ากองว่าเหล่า พระองค์ทรงจำแนกธรรมเปนห้ากอง รูปขันธ์หนึ่ง กับนามขันธ์ทั้งสี่ซึ่งให้เกิดโทโส จึงได้ทำโพยแก่รูปขันธ์อันหนึ่ง  รูปขันธ์นั้นมีสามสิบสองประการ พระพุทธเจ้าตรัสเทสนาไว้ ให้นับแต่เกษาจนถึงมัตถลุงค์ แลรูปทั้งสามสิบสองอยู่ด้วยกัน จึงเรียกว่าเปนกรรมสามสิบสองประการในรูปขันธ์ มะรอดมีแผลถึงสิบเอ็ดแห่งให้รูปขันธ์อันมีกรรมสามสิบสองเปนเหตุด้วยกัน ต้องในพระอัยยการเหตุแต่ละแห่ง ในขันธ์ของสัตว์นั้น มีพระอัยยการไว้ว่า แหวกผมค่าสองคน เหตุใดจึงว่าค่าสองคน เหตุว่าเมื่อคลอดจากครรภ์มารดานั้น ผมนี้เปนที่ยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง แลได้เอาเครื่องตกแต่งนั้นขึ้นตั้งไว้ อนึ่งเมื่อคลอดแล้วนั้น ญาติทั้งปวงได้เห็นก็มีความยินดีนัก เหตุ ดังนั้นจึงว่าค่าสองคน หน้าผากแตกนั้นค่าสี่คน เหตุใดจึงว่าค่าสี่คน เพราะสัตว์ทั้งปวงเมื่อแรกเกิดนั้น ครั้นญาติเอาลงอาบน้ำชำระกายเสร็จแล้ว เทพยดาเขียนหน้าผากหมาย เหตุดังนั้นจึงว่าค่าสี่คน แลคิ้วขาคเปนค่าสี่คน เพราะคิ้วเปนที่เสน่หาแก่จักษุคนทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงว่าค่าสี่คน หูขาดไปตามรีนั้นค่าสามคนเพราะเสียงอันใดอยู่ในที่ลับ จักษุมิได้เห็นก็ได้ยิน เพราะเหตุดังนั้นจึงว่าค่าสามคน ตาขวาบอดค่าแปดคน ตาซ้ายบอดค่าหกคน เหตุใดจึงปรับฉะนี้ ธรรมดามือข้างขวายิ่งกว่ามือซ้าย ผู้มีปัญญาจึงปรับฉะนี้ หูขวาวิ่นว่าค่าสี่คน หูซ้ายวิ่นว่าค่าสามคน เหตุใดหูขวายิ่งกว่าหูซ้าย เพราะเมื่อพราหมณ์ให้ใบมะตูมนั้น ครั้นเอาออกแต่สังข์ด้วยมือขวา ครั้นรับก็รับด้วยมือขวา เมื่อจะทัดก็ทัดข้างหูขวา เหตุดังนั้นจึงว่าหูขวาค่าสี่คน แตกหน้าค่าสามคน เหตุใดจึงว่าค่าสามคน เพราะสัตว์ทั้งปวงตื่นขึ้น จากที่นอนแล้วล้างหน้าเอาเครื่องหอมอบรม เพราะจะให้คนทั้งปวงรักใคร่ ตนเปนนิจ เหตุดังนั้นจึงว่าค่าสามคน ฝีปากเบื้องบนขาดค่าสองคน ฝีปากเบื้องตํ่าขาดค่าหนึ่งคน เหตุใดจึงปรับฉะนี้ ว่าผู้อยู่บนสูงกว่าผู้อยู่ตํ่า ฝีปากเบื้องบนจึงปรับเปนค่าสองคน ฝีปากเบื้องต่ำเปนค่าคนหนึ่ง หน้าฟันล่างหักค่าคนหนึ่ง เหมือนกับลิ้นขาดนั้นค่าคนหนึ่ง เหตุอยู่ที่ลับรูปนั้นมิได้เสีย แต่จะกินสิ่งใดอาศัยลิ้นจึงรู้รส จึงเปนค่าคนหนึ่ง แม้นกายลำบากอยู่นั้นค่าสิบห้าคน เหตุใดจึงปรับว่าค่าสิบห้าคน เพราะเหตุว่าผู้ใดตีฟันท่านให้กายลำบากอยู่นั้นเปรียบประดุจลมพายุหนัก พัดถูกต้นไม้ให้ถอนลากขึ้นล้มลง จะตายก็มิตายจะเปนก็มิเปน ๆ คนลำบากอยู่ จะทำการงานเลี้ยงชีวิตมิได้ จึงปรับเปนค่าสิบห้าคน ซึ่งมะสังตีมะรอดมีแผลสิบเอ็ดแห่งนั้น ให้ปรับสี่สิบสองคน ถ้าเปนเหล็กปรับสองร้อยชั่ง ให้เปนสินไหมแก่มะรอด จึงมีพระราชโองการสั่งให้สมิงอูเพิดเรียกสินไหมให้แก่มะรอด สมิงอูเพิดรับสั่งแล้ว ก็ออกมาเรียกสินไหมแก่มะสัง ๆ จึงอ้อนวอนว่า ข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์เงินทองสิ่งใดมีแต่นาอยู่ห้าสิบไร่ จะขอให้เปนสินไหม สมิงอูเพิดจึงนำ ความขึ้นกราบบังคมทูลตามคำมะสังว่าทุกประการ จึงมีพระราชโองการสั่งให้สมิงอูเพิดไปรังวัดนาปักเปนแหล่งไว้ มอบให้แก่มะรอด สมิงอูเพิดก็ไปรังวัดแล้ว ๆ ให้แก่มะรอดตามรับสั่ง แลที่นานั้นคนทั้งปวงก็เรียกว่านามะรอดมาจนคุ้มเท่าบัดนี้

อยู่มามังราชาลูกชาวบ้านอพูล ภรรยาชื่อเม้ยไก ตัวมังราชาลงเรือไปค้าขายณเมืองเมาะตะมะ ฝ่ายมังละคอนเปนลูกชาวบ้านมะกาวไปค้าขายณบ้านอพูล มังละคอนกับเม้ยไกรักใคร่เปนชู้กัน มังละคอนคิดจะพาเม้ยไกหนี จึงทำอุบายเอาศพสตรีผู้หนึ่งมาใส่ไว้ในเรือนเม้ยไก แล้วให้เม้ยไกแสร้งทำอาการเปนไข้ ก่อไฟนั่งผิงอยู่ในเรือนให้ปรากฎแก่คนทั้งปวง แล้วลอบพาเม้ยไกลงจากเรือนณเวลากลางคืน จึงเอาไฟเผาเรือนขึ้น หวังจะให้เนื้อความสูญ มังละคอนกับเม้ยไกก็พากันหนีไปอยู่บ้านมะกาว

ครั้นเวลารุ่งเช้า ชาวบ้านเห็นอาศพไฟไหม้อยู่บนเรือน ฝ่ายญาติพ่อแม่ตายายของเม้ยไก สำคัญว่าศพเม้ยไกไฟไหม้ตายก็ชวนกันร้องไห้รัก ครั้นมังราชาผู้ผัวกลับมา แจ้งความที่ญาติแลชาวบ้านบอกแล้วก็เสียใจ สำคัญว่าเม้ยไกภรรยาตายจริง ก็มีความเศร้าโศกเปนอันมาก

อยู่มามังราชาไปเที่ยวค้าขายตำบลบ้านมะกาว จึงเห็นเม้ยไกกับมังละคอนเดินไปด้วยกัน มังราชาพิจารณาแต่ไกลก็จำได้ ว่าเม้ยไกภรรยาของตน จึงเดินแฝงตามไปให้รู้จักเรือนไว้ แล้วมังราชาก็ขึ้นไปฟ้องว่ากล่าวแก่สมิงมะกาว ผู้รั้งเมืองเปนใหญ่ในแขวงนั้น สมิงมะกาวก็ให้หาตัวมังละคอนแลเม้ยไกมาถาม มังละคอนให้การว่า เดิมข้าพเจ้าอยู่บ้านมะกาว ภรรยาข้าพเจ้าคนนี้อยู่ด้วยกันมาแต่บ่าวแต่สาว เม้ยไกก็ให้การว่า พ่อแม่ข้าพเจ้าตายเสียแต่ยังเด็ก ญาติข้างมารดาพาไปเลี้ยงไว้ ให้ชื่อข้าพเจ้าว่าเม้ยไก ครั้นญาติผู้เลี้ยงตายแล้ว ข้าพเจ้าเปนสาวขึ้น จึงได้มังละคอนผู้นี้เปนผัว อยู่ด้วยกันมาแต่หนุ่มแต่สาว ข้าพเจ้าจะได้มีผัวถึงสองคนหามิได้ สมิงมะกาวจึงถามมังราชาๆ ให้การว่า ภรรยาข้าพเจ้าคนนี้ชื่อเม้ยไก เปน ลูกสาวชาวบ้านอพูล อยู่กินด้วยกันมานานแล้ว อยู่มาข้าพเจ้าไปเที่ยวค้าขายณเมืองเมาะตะมะ ครั้นกลับมามีคนบอกว่า ไพ่ไหม้เม้ยไกตายในเรือน ข้าพเจ้าสำคัญว่าตายจริง บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นเม้ยไกภรรยาของข้าพเจ้ายังมิตาย มาอยู่ด้วยชายอื่นดังนี้ ข้าพเจ้าจึงนำคดีมาว่ากล่าวต่อท่าน สมิงมะกาวจึงถามสอบลูกค้าสี่พวกซึ่งมาด้วยมังราชานั้น ลูกค้าสี่พวกก็ให้การว่า เม้ยไกนี้ไฟไหม้เรือนตายจริง สมิงมะกาวฟังพยานให้การดังนั้น ก็เห็นว่ามังราชาหาความไม่จริงมากล่าว จึงว่าท่านเปนบ้าเมียเสียจิตต์ เห็นเมียเขาเปนเมียตัว ตู่ภรรยาท่านให้ได้ความอายดังนี้ผิด จึงตัดสินให้มังราชาเปนแพ้ ปรับตามบทพระอัยการ มังราชาก็เสียใจ จึงขึ้นมายังกรุงหงษาวดี จึงจ้างคนทำฎีกาไปยื่นต่อขุนนางเจ้าพนักงาน ๆ ก็นำขึ้นกราบทูล

พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งพระยาอินท์ให้เอาตัวมังละคอนแลเม้ยไกมาแยกกันถาม มังละคอนเม้ยไกก็ให้การยืนอยู่ดุจหนหลัง พระยาอินท์ก็ให้นำคำให้การของคนทั้งสองเข้ากราบทูล จึงมีรับสั่งให้หาพ่อแม่พี่น้อง แลทาษชายหญิงมังละคอนแลเม้ยไกเข้ามาในพระราชวังทั้งสิ้น เมื่อผู้มีชื่อทั้งปวงเข้ามาถึงแล้ว สุนัขตัวหนึ่งซึ่งเม้ยไกเลี้ยงไว้ คุ้นเคยอยู่แต่ก่อนมานั้น ก็ตามผู้มีชื่อทั้งปวงเข้าไปด้วย สุนัขนั้นมันเห็นเม้ยไก เจ้าของเก่าของตัวก็จำได้ดีใจ กระดิกหูหางเข้าไปเลียมือเท้าเม้ยไกแล้วก็นอนอยู่ข้างเม้ยไก ๆ แลคนทั้งปวงขับมันก็มิไป พอพระเจ้าหงษาวดีเสด็จออก พร้อมด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าอยู่ตามตำแหน่ง พวกมีชื่อทั้งปวงก็กราบถวายบังคมหมอบเฝ้าอยู่ณภายนอกหลังขุนนางทั้งปวง สุนัขนั้นก็หมอบเลียมือเลียเท้าเม้ยไกอยู่มิได้ห่างไกล พระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตรเห็นสุนัขทำอาการรักเจ้าของดังนั้น ก็ทราบด้วยพระปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว เหมือนหนึ่งเนื้อความนั้นจะสำเร็จในทันใด จึงชี้พระหัตถ์ให้เสนามนตรีทั้งปวงดู ตรัสถามว่าท่านทั้งปวงเห็นแล้วหรือ เสนาบดีทั้งปวงก็ทูลว่า ข้าพเจ้าเห็นแล้ว จึงมีพระราชบัญชาให้สนองพระโอษฐ์ถามเม้ยไกว่า ตัวเองเปนลูกผู้ดี ธรรมดาใจสตรีนี้ อุปมาดังใบไม้ครั้นต้องลมก็หวั่นไหว เองได้ยินลมปากมังละคอนพัดเข้าถูกใจ เองจึงมีความยินดีรักใคร่ทิ้งผัวตามชู้ ทำอุบายลักพากันหนีไป บัดนี้เนื้อความนั้นกูก็รู้อยู่แล้ว เองจงให้การไปแต่โดยสัตย์ ถ้ามิให้การตามจริงแล้ว จะให้เอาลูกตุ้มเหล็กผูกเชือกแขวนคอลากไปถ่วงน้ำเสียให้ตาย ลูกตุ้มแลเชือกนั้นพระองค์ก็ให้เจ้าพนักงานจัดมาเตรียมไว้ ผู้รับสั่งก็ออกมาว่ากล่าวซักถามเม้ยไก ดุจพระราชบัญชาทุกประการ

ฝ่ายเม้ยไกก็กลัวตัวสั่น อ้อนวอนขอชีวิตแล้ว ก็ให้การโดยสัตย์ว่า มังราชาผู้นี้เปนผัวข้าพเจ้าจริง มังละคอนผู้นี้เปนชายชู้ จึงมีพระราชโองการตรัสออกมาให้ซักถามอีกว่า เมื่อไฟไหม้เรือนคนทั้งปวงว่าเองตาย อาศพเองนั้นญาติพี่น้องเผาเสียแล้ว เหตุใดเล่าตัวเองจึงยังอยู่ ผู้รับสั่งจึงซักถาม เม้ยไกให้การตามจริงว่า เดิมมังละคอนเห็นหญิงคนหนึ่ง เรือล่มจมน้ำตายณปากคลองอพูล มังละคอนพูดแก่ข้าพเจ้าว่า เราจะพากันหนีไป ทำอุบายมิให้คนทั้งปวงสงสัย ข้าพเจ้าจึงว่าตามแต่ท่านจะคิดเถิด ครั้นเวลาค่ำมังละคอนจึงเอาอาศพขึ้นมาไว้บนเรือนข้าพเจ้า แล้วเอาเพลิงเผาเรือนขึ้นพาข้าพเจ้าหนีไป มีรับสั่งให้สมิงพะโคจดเอาคำให้การเม้ยไกไว้แล้ว จึงตรัสสั่งให้ถามมังละคอนว่า เนื้อความทั้งปวงเราแจ้งอยู่แล้ว จงให้การไปแต่ตามจริงจึงจะรอดชีวิต แม้นมิให้การโดยสัตย์แล้วจะให้ฟัน เปนหลายท่อน แล้วจะให้แขวนประจานไว้ทุกตำบล ผู้รับสั่งก็ซักถามมังละคอน ๆ กลัวพระราชอาญาก็รับว่า ข้าพเจ้าได้ล่วงประเวณีภรรยาท่านกระทำผิดจริง แล้ว มังพะโคก็จดคำให้การมังละคอนเข้ากราบทูล จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่เสนาบดีทั้งปวงซึ่งเฝ้าพร้อมกันว่า แต่สัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักเจ้าอันจากกันไปช้านาน ครั้นเจ้ามาถึงมันเห็นจำได้ก็ดีใจ กระดิกหูหางเข้าไปเลียมือเลียเท้า แล้วก็นอนอยู่ใกล้เจ้า ครั้นได้กลิ่นผู้อื่นเปนสัตรูก็เห่าให้ไกลออกไป ได้กลิ่นเจ้าก็รักใคร่แล้วนอนรักษาอยู่ เม้ยไกจะขับก็มิไป เม้ยไกคนนี้เปนเมียมังราชาจริง แลซึ่งว่าเม้ยไกตายในไฟนั้น ก็เปนมังละคอนเผาเมียมังราชาด้วย ความผู้มีชื่อสามคนเรื่องนี้โจทก์ชนะ ให้ตุลาการดูบทพระอัยยการสี่ประการ ปรับจำเลยผู้แพ้ คือเผาเรือนท่านเสียนั้นประการหนึ่ง เผาเมียท่านเสียนั้นประการหนึ่ง ลักพาเมียท่านหนีไปประการหนึ่ง ล่วงประเวณีเมียท่านประการหนึ่ง ทั้งสี่อย่างนี้ปรับตามพระอัยยการ ถ้าสินไหมมากมังละคอนผู้เดียวจะใช้มิได้ มีบทพระอัยยการว่า ลูกทำผิดโทษ อยู่กับบิดามารดา ข้าทำผิดโทษอยู่แก่เจ้า สานุศิษย์ทำผิดโทษอยู่แก่อาจารย์ บิดาญาติพี่น้อง ซึ่งสนิทก็ควรจะช่วยใช้กันได้ เนื้อความสี่สถานเราตัดสินดังนี้ เสนาบดีทั้งปวงจะเห็นประการใด พระยาอินท์จึงกราบทูลว่า เดชะพระโพธิสมภารของพระองค์ผู้ทรงพระปัญญาบารมี จึงได้ความจริงเปนอันเร็ว ซึ่งพระองค์ให้ข้าพเจ้าทั้งสี่พิจารณาเนื้อความนั้น เห็นจะปรับแก่มังละคอนได้ แด่ข้อผิดซึ่งล่วงประเวณีสิ่งเดียว พระองค์ทรงพิจารณาเหตุผุดออกอีกถึงสี่ข้อดังนี้ ข้าพเจ้าทั้งปวงพิจารณามิถึง พระปัญญาบารมีหาที่สุดมิได้ ตุลาการก็เรียกสินไหมผู้แพ้คดีให้แก่ฝ่ายชนะ ตามบทพระอัยยการปรับเปนสี่สถานถ้วนแล้วก็เลิกกัน แต่นั้นไปพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ก็ครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรโดยยุติธรรม พระพุทธสาสนาก็รุ่งเรืองยิ่งนัก อยู่มานางประทุมมาลีพระอัครมเหษีมีพระราชบุตร องค์หนึ่งที่พระชิวหานั้นเปนปานดำทั้งสิ้น พระราชบิดามารดาแลพระญาติวงศาทั้งปวงมีความโสมนัสนัก พระเจ้าหงษาวดีจึงให้นามพระราชบุตร์ว่า มังมณีนิล ลุศักราช ๘๘๓ ปี

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้ง ก็มีพระทัยชื่นชม จึงแต่งให้เสนาบดีจำทูล พระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการมาสมโภชมังมณีนิลพระราชนัดดาเปนอันมาก สมเด็จตะละนางพระยาท้าว พระเจ้าย่าเอาไปเลี้ยงไว้ เปนที่สนิทเสน่หานัก จนพระราชกุมารเจริญพระพรรษาได้สิบสามปี

อยู่มาตะละนางพระยาท้าวเสด็จทิวงคต พระชนมายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี อยู่ในราชสมบัติได้ห้าสิบเอ็ดปี ลุศักราช ๘๙๑ ปี พระเจ้าหงษาวดีจึงสั่งเสนาบดีให้ทำพระเมรุมาศโดยขนาดสูงใหญ่ในท่ามกลางเมือง ให้ตกแต่งด้วยสรรพเครื่องประดับทั้งปวง เปนอันงามอย่างยิ่ง แล้วตรัสปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงว่า สมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงของเรานี้ มีพระคุณเปนอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงเราจนได้เปนเจ้าแผ่นดิน เราคิดจะสนองพระเดชพระคุณให้ถึงขนาด ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงได้ฟังพระราชโองการตรัสปรึกษาดังนั้นก็กราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเปนทาษปัญญา การทั้งนี้สุดแต่พระองค์จะทรงพระดำริห์เถิด ข้าพเจ้าทั้งปวงจะทำตามรับสั่งทุกประการ พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า เราจะทำไว้ ให้เปนอย่างในการปลงศพ จะได้มีผลานิสงส์ยิ่งขึ้นไป จึงสั่งให้ทำเปนรูปเหรา มีล้อหน้าแลท้ายสรรพไปด้วยไม้มะเดื่อแลไม้ทองกวาว แล้วจึงทำรัตนบัลลังก์บุษบกตั้งบนหลังเหรา ให้แต่งการประดับจงงดงามเร่งให้สำเร็จในเดือนหน้าจงได้ เสนาบดีทั้งปวงรับสั่งแล้ว ก็ออกมาให้หมายเกณฑ์กันเร่งกระทำทุกพนักงาน เดือนหนึ่งก็สำเร็จดังพระราชบัญชาทุกประการ ทั้งพระเมรุมาศซึ่งทำมาก่อนนั้นก็แล้วลงด้วย พระเจ้าหงษาวดีได้ทราบว่าการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึงให้หมายบอกกำหนดงานในเดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ จะเชิญพระศพไปยังพระเมรุมาศ

ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีน พระเจ้าลังกา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ทั้งห้าพระองค์นี้ ได้แจ้งอยู่แต่ก่อนแล้ว ว่าพระเจ้าหงษาวดีจะปลงพระศพพระราชมารดาเลี้ยง ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินเดิม ต่างพระองค์ก็ให้จัดเครื่องไทยทานเปนราชบรรณาการให้คนคุมมาถวายเปนอันมาก พระเจ้าหงษาวดีจึงให้เจ้าพนักงานรับไว้ตามตำแหน่ง ครั้นถึงเดือนเก้าขึ้นเก้าคํ่า เสนาพฤฒามาตย์ราชกระวีมนตรีมุขทั้งปวง อีกเมืองเอกโทตรีจัตวาก็มาพร้อมกัน พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ตั้งขบวนแห่ อัญเชิญพระศพสมเด็จตะละนางพระยาท้าว ลงสู่บุษบกบัลลังก์เหนือหลังเหรา แล้วตรัสสั่งเสนาบดีให้แยกกันเปนสองพวก จะได้แย่งชิงพระศพเปนผลานิสงส์ เสนาบดีทั้งปวงก็แบ่งกันออกเปนสองแผนกโดยพระราชบัญชา พระเจ้าหงษาวดีจึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาท ทรงจับเชือกแล้วตั้งพระสัตยาทิฏฐานว่า ข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้พระคุณสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง จึงคิดทำการให้ลือปรากฎไปทุกพระนคร ขอคุณพระรัตนไตรจงเปนที่พึ่ง ถ้าบุญข้าพเจ้าจะวัฒนาการสืบไปแล้ว ขอให้ชิงพระศพสมเด็จพระราชมารดาจงได้มาดังใจคิดเถิด ครั้นตั้งพระสัตยาทิฏฐานแล้ว จึงตรัสสั่งให้จับเชือกชักพร้อมกัน

ขณะนั้นเปนการโกลาหลสนุกยิ่งนัก เสนาบดีแลไพร่พลทั้งปวงก็เข้าแย่งชักเชือกเปนอลหม่าน พระศพนั้นก็บันดาลได้มาข้างพระเจ้าหงษาวดี เสียงชนทั้งปวงโห่ร้องพิลึกลั่นทั้งพระนคร พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระโสมนัสนัก จึงให้ชักแห่พระศพไปพร้อมด้วยเครื่องสูงไสวทั้งกรรชิงกลิ้งกลดอภิรุมชุมสายพรายพรรณ์พัชโบก แลจามรธารตวันอันพรรณราย สล้างสลอนด้วยธงเทียวทั้งหลายเขียวเหลืองขาวแดงระดาดาษ เสียงสนั่นพิณพาทย์เครื่องประโคมฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล สพรึบพร้อมด้วยหมู่พลอันจัดเข้าในขบวนแห่แหนดูเอนกแน่นประหนึ่งจะนับมิได้ การแห่พระศพครั้งนี้ ครึกครื้นเปนมโหฬาดิเรกเปรียบประดุจการแห่อย่างเอก ของนางอับษรกัญญาทั้งเจ็ดองค์ ซึ่งแห่พระเศียรท้าวกบิลพรหมผู้เปนบิตุรงค์ กับด้วยเหล่าเทพยเจ้าทั้งปวงอันเวียนเลียบเหลี่ยมไสลหลวง ประทักษิณษิเนรุราช ครั้นถึงพระเมรุมาศ จึงให้เชิญพระศพขึ้นตั้งยังมหาบุษบกเบ็ญจาสุวรรณ ให้มีงานมโหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน จุดดอกไม้เพลิงถวายพระศพ มีพระธรรมเทสนาแลพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมเปรียญอันดับ สวดสัตดับปะกรณ์ ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ แลโปรยทานกัลพฤกษ์แก่ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปถึงบิดามารดา ครั้นครบเจ็ดวันจึงถวายพระเพลิง พร้อมด้วยเสนาบดีพระวงศานุวงศผู้น้อยผู้ใหญ่ฝ่ายในฝ่ายหน้า อีกทั้งพระสงฆ์ถานานุกรมเปนอันมาก แล้วได้แจงพระรูปเก็บพระอัฏฐใส่ในพระโกษทองประดับพลอยเนาวรัตนอัญเชิญเข้าบันจุไว้ในพระมุเตา แล้วให้มีการสมโภชอีกสามวันตามราชประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน

ครั้นการเสร็จแล้ว พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า เราทำการครั้งนี้เปนผลานิสงส์สนุกยิ่งนัก แต่นี้ไปใครจะทำศพบิดามารดาผู้มีคุณก็ให้ชิงศพเหมือนเรา ซึ่งทำไว้เปนอย่างฉะนี้ จึงได้เปนประเพณีฝ่ายรามัญสืบกันมาจนบัดนี้

ครั้นทำการพระศพเสร็จแล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระราชศรัทธา บริจาคทานรักษาศีลบำรุงราษฎรสมณชีพราหมณ์ทั่วขอบขัณฑเสมา ให้อยู่เย็นเปนสุขหาภัยอันตรายมิได้

จบบริบูรณ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ