๑๐

ลำดับนั้นมังสุเหนียด ผู้เปนพระราชโอรสพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาได้ราชาภิเศกครองราชสมบัติในกรุงรัตนบุระอังวะสืบมา ทรงพระนามพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตามภุกามภาษา ฝ่ายมังศรีธาตุผู้เปนพระราชอนุชาคิดจะชิงราชสมบัติเปนใหญ่ในกรุงรัตนบุระอังวะ ก็คิดการขบถต่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตั้งเกลี้ยกล่อมส้องสุมผู้คน ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งดังนั้น จึงให้จัดทแกล้วทหารเปนขบวนทัพ จะให้ไปล้อมจับมังศรีธาตุพระราชอนุชามาประหารชีวิตเสีย มังศรีธาตุรู้พระองค์เห็นจะอยู่สู้รบมิได้ ก็พาพวกพลทหารหนีลงมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยพระเจ้าราชาธิราช ณกรุงหงษาวดี แล้วกราบทูลซึ่งเหตุผลในกรุงรัตนอังวะตามมีทุกประการ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาสวรรคตแล้ว มังสุเหนียดผู้เปนพระราชบุตรได้ครองราชสมบัติเปนใหญ่ในกรุงรัตนบุระอังวะก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดพระราชทานวังตำหนักแลเครื่องอุปโภคบริโภคแก่มังศรีธาตุโดยควรแก่ฐานาศักดิ์เปนอันมาก ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงมังศรีธาตุไว้ แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้ามณเฑียรทองผู้เปนพระราชบิดาพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเปนกระษัตราธิราชอันใหญ่ มิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ กระทำให้ผิดพระราชวัตตานุวัตร ยกกองทัพล่วงลงมาเหยียบแดนเมืองหงษาวดี ให้ขาดทางพระราชไมตรีแต่ก่อนแล้ว แลบัดนี้มังสุเหนียดผู้เปนพระราชโอรสได้ครองราชสมบัติในกรุงรัตนอังวะ ไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงก็ยังมิราบคาบเปนปกติ จำเราจะยกกองทัพขึ้นไปกระทำแก่กรุงรัตนบุระอังวะบ้าง เห็นจะได้โดยง่าย ทรงพระดำริห์แล้วจึงปรึกษาเสนาบดีทั้งปวง ๆ ก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้จัดกองทัพ แต่งเรือฉลากบางหุ้มด้วยเหล็กสามร้อยลำ เรือลายเลหุ้มทองแดงห้าร้อยลำ เรือลายคาเล่หยักห้าร้อยลำ เปนเรือพันสามร้อยลำ สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง ให้เจ้าสมิงนครอินท์เปนแม่กองทัพหน้า สมิงอุบากองเปนเกียกกาย สมิงนิตทินชัยเปนทัพหนุน สมิงสามแหลกทัพหนึ่ง สมิงพ่อเพ็ชร์ทัพหนึ่ง สมิงพระรามราชบุตรเขยสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทัพหนึ่ง สมิงทอทัพหนึ่ง สมิงอังวะมังศรีทัพหนึ่ง ทั้งห้าทัพนี้สำหรับช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมกองทัพทั้งปวง สมิงราชสังครำ อำมาตย์ทินมณีกรอด สมิงพระตะเบิด สามนายนี้เปนทัพหลัง รวมกันสิบสองทัพเปนคนเจ็ดหมื่น แล้วให้สมิงโยธาราช สมิงมาสะมันคุมนายทัพนายกองถือพลสามหมื่น ช้างห้าร้อย ม้าพันห้าร้อยเปนกองทัพบก ให้สมิงชีพรายอยู่รักษาเมือง

ครั้นถึงณวันอังคารเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ ศักราช ๗๕๙ ปี ได้มหาพิชัยฤกษ์โชคยามเวลาแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้ลั่นฆ้อง พลทหารโห่ร้องโบกธงเอาชัยออกขนานเรือพระที่นั่ง ยกกองทัพเรือแลทัพบกไปครั้งนั้นเปนมหันตโอฬาร กองทัพเรือก็ประกอบด้วยเรือนายทัพทแกล้วทหารตั้งเปนขบวนนาวาพยุหะ มีดั้งกันแซกแซงซ้ายขวาหน้าหลัง คับคั่งเปนทิวแถวในท้องทางชลมารค พลทหารก็แต่งตัวสีหลากๆ คนละอย่าง บ้างเขียวเหลืองขาวแดง แต่ล้วนฝีมือเข้มแข็งกล้าหาญในการสงคราม ดูงามเปนสง่า มีมือถือเครื่องสรรพสาตราวุธสำหรับยุทธณรงค์โดยขบวนพลง้าวทวนภู่จามรี พลทหารดั้งกระบี่ โล่เขนหอกซัดเกาทัณฑ์ศรกำทราบสพาย ทุกหมู่กองพลนิกายมีนายหมวดตรวจกวดขัน ดาษไสวไปด้วยพรรณธงชายธงฉาน เขียวเหลืองขาวแดงปักประจำลำเรือทุกกองทัพ เสียงสนั่นด้วยศัพท์ฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล กองทัพบกก็ประกอบด้วยรี้พลช้างม้าโดยขบวนพยุหยาตรารีบเดินกองทัพไป

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ยกเข้าไปใกล้แดนกรุงรัตนบุระอังวะ ตีได้หัวเมืองตะละชีแลเมืองปรวน จนถึงบ้านอะลอย บ้านเย็นปู บ้านสามพลู บ้านกรัดขับ บ้านตะไลยจิบ บ้านปรวน เปนลำดับไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชสั่งให้กวาดเอาข้าวปลาอาหารไว้เปนกำลัง แต่บ้านเรือนถิ่นถานนั้น ให้เอาเพลิงจุดเผาเสียสิ้น ฝ่ายพม่าชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวง ก็แตกหนีหลบหลีกไปเอาตัวรอด

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งว่า กองทัพพระเจ้าราชาธิราชตีเข้ามาดังนั้น ก็ให้กวาดครอบครัวอพยพ เอาข้าวปลาอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในเมืองสิ้น กองทัพพระเจ้าราชาธิราชยกตีล่วงไปได้เมืองภุกามอันเปนเมืองหลวงเก่า แลเมืองจเดิง เมืองอะลอย เมืองจเดิงนั้นกับเมืองหลวงอังวะอยู่คนละฟากแม่น้ำ แล้วตั้งให้เสนาบดีอยู่รักษาเมือง ฝ่ายกองทัพกรุงอังวะก็มิได้ยกออกมาต่อสู้ นิ่งสงบอยู่ในเมือง

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ยกล่วงเดินไป ตีเมืองตะคองมาเลใกล้กรุงอังวะทางสิบห้าวัน ครั้นตีเมืองตะคองมาเลได้แล้ว พระองค์ก็ยกถอยมาตั้งอยู่ณเมืองจเดิงที่ให้รักษาอยู่นั้น แล้วจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า เรายกกลับมาเมืองอังวะได้แปดวันแล้ว พระเจ้ากรุงอังวะก็มิได้ยกออกมาต่อสู้เรานิ่งอยู่ฉะนี้ แลกิจการในเมืองอังวะจะเปนประการใดก็ไม่รู้ ครั้นแต่งให้ทหารไปลาดตระเวนจับผู้คน จะมาไต่ถามเอากิจการก็มิได้สักคนหนึ่ง เราจะรู้ที่คิดการหมายเอาชัยชนะได้ประการใด

อำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะคิดอุบายจับพม่ามาถวายให้จงได้ ด้วยเมืองอังวะแลเมืองจเดิง กับพระธาตุสร้อยจะเยียดนั้น อยู่ฟากแม่น้ำหนึ่ง เยื้องกันเปนสามแพร่ง จะขอให้บ่ายหน้าเรือขนาน ไปข้างพระธาตุสร้อยจะเยียด ให้เอาเสื้อผ้าธงเทียวข้ามไปบูชาให้พม่ารู้แล้ว จึงให้สมิงสามกรายเอาเรือบรรจุทหารซุ่มไว้ ฝ่ายพม่ารู้ว่ากองทัพเราเอาสิ่งของไปบูชาพระธาตุ ครั้นคนกลับมาหมดแล้ว พม่าก็จะออกเก็บเอาสิ่งของ เห็นจะจับผู้คนได้บ้าง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นชอบด้วย จึงสั่งให้จัดผ้าแพรพรรณธงเทียวไปบูชาพระธาตุ ให้สมิงสามกรายคุมทหารไปซุ่มคอยอยู่ ตามซึ่งอำมาตย์ทินมณีกรอดทูลนั้น

ครั้งนั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สดุ้งตกพระทัยกลัว มิได้ทรงดำริห์การที่จะสู้รบ เปรียบประดุจสกุณโปดกอยู่ในฝ่าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช จึงทรงพระวิตกว่า แดนเมืองอังวะข้างฝ่ายอุดรทิศนั้นก็ยังมิได้ราบคาบก่อน แลกองทัพมอญยกรีบเร็วมาครั้งนี้ ตีล่วงข้ามแดนเข้ามาจนถึงเมืองอังวะ ฝ่ายไพร่พลพม่าก็แตกกระจัดกระจายไป เมื่อไม่ได้กำลังไพร่พลเสบียงอาหารแล้ว จะรบสู้ศึกมอญนั้นเห็นขัดสนนัก จึงให้ประชุมคนทั้งสองฝ่ายคือสมณชีพราหมณ์ แลเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งปวง เข้ามาพร้อมแล้วตรัสปรึกษาว่าศึกมอญมาติดเมืองเรา ครั้งนี้ผู้ใดจะมีสติปัญญาจะคิดอาสาสู้รบประการใดบ้าง เสนาบดีก็นิ่งอยู่มิได้กราบทูลประการใด

ขณะนั้นพระสังฆราชองค์หนึ่ง มีนามว่าพระสังฆราชภังคยะสะกะโร มีสติปัญญาสามารถทรงพระไตรปิฎก แลรู้หลายภาษา พูดภาษารามัญ ไทยใหญ่ ไทยน้อย ลาว ญวน เงี้ยว ทวายได้ ครั้นเห็นเสนาบดีทั้งปวงนิ่งอยู่ดังนั้นจึงถวายพระพรว่าเปนธรรมดาสืบมา แม้พระเจ้าแผ่นดินมีทุกข์เดือดร้อนด้วยเหตุสิ่งใดแล้ว ขุนนางข้าราชการน้อยใหญ่ทั้งปวง ก็ย่อมรับอาสาช่วยปลดเปลื้องสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา ถ้าฝ่ายฆราวาสขัดขวางแล้วก็ถึงสมณ ครั้งนี้เปนโอกาสของสมณแล้ว อาตมาภาพก็คิดว่าเกิดมาเปนข้าแผ่นดิน มหาบพิตรทรงพระกรุณาโปรดปลูกเลี้ยงให้ยศศักดิ์เปนใหญ่ยิ่ง มีพระคุณหาที่สุดมิได้ อาตมาภาพจะขอรับอาสาออกไปเจรจาความเมือง ด้วยพระเจ้าราชาธิราชสนองพระเดชพระคุณ ให้ยกกองทัพกลับไปจงได้

พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังยังไม่ไว้พระทัย จึงตรัสว่าซึ่งพระคุณเจ้ารับอาสาดังนี้ก็ดีแล้ว แต่ข้าพเจ้ากริ่งใจอยู่ กลัวจะไม่สมคิด ด้วยพระยามอญองค์นี้ เขาเล่าลือมาว่าใจร้ายหยาบช้าห้าวหาญนัก แต่ลูกเมียเปนที่รักยังรอไม่ใคร่ได้ เมื่อจะได้ราชสมบัตินั้นให้ฆ่าสมิงมราหู เขาว่าโกรธราวกับจะให้รองโลหิตมาเสวย พวกพม่าที่เขารู้ชวนกันเรียกว่า พระเจ้ามหายักษ์เมืองมอญ ซึ่งยกทัพขึ้นมาติดเมืองเรานี้ก็เพราะโกรธว่า สมเด็จพระราชบิดาแลข้าพเจ้ายกลงไปย่ำยีเขาก่อน ซึ่งพระคุณเจ้าออกไปว่ากล่าวโดยดีนั้น ข้าพเจ้ายังวิตกนักเกรงจะไม่สมหมาย อุปมาดังไปอ้อนวอนเสือว่าอย่าให้กินเนื้อนั้น ข้าพเจ้าเห็นสุดยากที่เสือจะยอมให้ ขอพระคุณตรึกตรองดูจงควร

พระสังฆราชภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งพระเจ้าราชาธิราชมีพระทัยร้ายห้าวหาญนัก ราวกับมหายักษ์นั้น ขอมหาบพิตรอย่าได้ทรงพระวิตก อาตมาภาพจะรับอาสาสู้รบด้วยคารมเทสนา ให้พระทัยอ่อนน้อมเปนมนุษย์ลงจงได้ อันวิสัยรบด้วยสาตราฆ่าฟันแทงยิงกันนั้น เหนื่อยยากแก่ทแกล้วทหารนัก ซึ่งอาตมาภาพรับอาสาครั้งนี้ จะสู้ด้วยอาวุธคมคือลมปาก มิให้ยากแก่ไพร่พล จะให้พระเจ้าราชาธิราชอ่อนน้อมยอมแพ้ประนมพระหัตถ์คำนับให้ถอยทัพกลับจงได้ ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่าเกรงจะไม่สมหมายนั้น รับพระราชทานอภัย อุปมาดังมหาบพิตรทรงพระตำหนินาวาทั้งโกลน ติลครโขนเมื่อยังไม่ได้ใส่เครื่อง อันเรือทำยังไม่สำเร็จ ลครโขนยังมิได้แต่งเครื่องครบนั้น จะดูงามที่ไหน เปรียบเหมือนอาตมาภาพถวายพระพรอวดอ้างฝีปากไว้ เมื่อยังมิได้เจรจาก็ยังไม่เห็นเท็จแลจริง อันวิสัยมนุษย์ทุกวันนี้ ฆ่าช้างก็หวังจะเอางา เจรจาก็หวังเอาถ้อยคำ เปนที่สำคัญมั่นหมาย แม้นมหาบพิตรยังทรงพระสงกาอยู่แล้ว อาตมาภาพจะขอถวายทัณฑ์บนไว้ แม้นไปทำการไม่สมดังว่าแล้ว มหาบพิตรจงสึกอาตมาภาพเสีย ลงพระราชอาญาสักหน้าส่งไปเปนตพุ่น สำหรับเกี่ยวหญ้าช้างจนตาย

สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ได้ทรงฟังพระสังฆราชรับอาสาให้ทัณฑ์บนแข็งแรงดั่งนั้น ก็แย้มพระสรวลตรัสว่า ซึ่งข้าพเจ้าว่าจะไม่สมหมายนั้น เพราะความกลัวจึงได้คิดเกรงกริ่ง ใช่จะประมาทพระคุณว่า จะไปเจรจาสู้รบไม่สำเร็จนั้นหามิได้ พระคุณเจ้าก็มีสติปัญญาสามารถ แม้นเห็นสมคิดแล้ว ก็นิมนต์พระคุณเจ้าออกไปเจรจาเถิด ซึ่งพระคุณเจ้าให้ปฏิญาณทัณฑ์บนนั้น ถึงจะพลาดพลั้งไม่สมคิดประการใด ข้าพเจ้าหาเอาโทษไม่ ด้วยพระคุณเปนสมณอุสาหรับอาสาด้วยความสวามิภักดิ์ ชอบแต่จะปูนบำเหน็จถวายให้ถึงขนาดจึงจะควร

พระสังฆราชภังคยะสะกะโร จึงถวายพระพรว่า ซึ่งอาตมาภาพรับอาสาถวายทัณฑ์บนไว้นั้น ใช่จะอวดอ้างปัญญาวิชาความรู้หามิได้ หวังจะกระทำให้เปนแบบแผนแก่เสนาบดีแลทแกล้วทหารสืบไปภายหน้า จะได้มีใจกล้าหาญในสงคราม รับอาสาเจ้าไม่เสียดายชีวิต จะได้คิดถึงความมั่นสัญญาที่ตนกระทำไว้ อันคำทัณฑ์บนนั้นอุปมาดังหลักเปนที่ยุดหน่วง แม้ไม่มีหลักแล้ว ครั้นไปกระทำการเหนื่อยยากเข้าดวงจิตต์มักปรวนแปรไป อนึ่งอาตมาภาพพิจารณาการหน้าหลังแน่ใจของตนแล้ว จึงขันรับอาสาว่าจะได้ชัยชนะภายเดียว เพราะเห็นชาตากรุงรัตนบุระอังวะยังรุ่งเรืองดีอยู่ ถึงข้าศึกจะหักโหมประการใด ก็มิอาจจะเอาเมืองได้ คงล่าทัพกลับไปเปนแท้

พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงตรัสสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการออกไปถวายพระเจ้าราชาธิราชนั้น เปนสิ่งของแพรลายขบวนอย่างดีสิบพับ ผ้าซับพระพักตร์ปักทองผืนหนึ่ง พระเต้าน้ำทองใบหนึ่ง โต๊ะเครื่องเสวยของกษัตริย์สำรับหนึ่ง พรมสามผืน เมี่ยงสิบกระหมวด น้ำดอกไม้เทศสิบเต้า สีเสียดเทศยี่สิบก้อน ผ้าแดงโมรีสิบพับ กับของกินทั้งปวงเปนเครื่องเลี้ยงทหารพอสมควร ให้จัดคนถือสิ่งของไปด้วยนั้น แต่ล้วนคนชราหกสิบคน แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงตรัสสั่งพระสังฆราชว่า สิ่งของทั้งนี้ให้ว่าเปนของพระคุณเจ้า มีจิตต์ยินดีนำออกมาถวาย ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสั่งให้จัดสิ่งของเสร็จแล้ว ก็อาราธนาพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรออกไป เมื่อพระสังฆราชภังคยะสะกะโรออกไปนั้น มีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อพระคางตรีออกไปด้วย เจ้าพนักงานจึงให้เอาเรือผูกขนานกันเข้าสองลำ แล้วขนสิ่งของลงในเรือขนานนั้น พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรก็ลงเรือพร้อมด้วยคนหกสิบข้ามไป ครั้นถึงหน้าค่ายพลับพลาพระเจ้าราชาธิราช พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงให้ขนเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปอยู่แต่นอกค่าย ฝ่ายทหารเฝ้าประตูค่ายจึงเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดี

ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จออก เสนาบดีจึงเข้ากราบบังคมทูล ว่าบัดนี้มีพระสงฆ์ข้ามมาแต่ฟากเมืองอังวะ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งดังนั้นจึงตรัสสั่งให้มหาดเล็กไปนิมนต์เข้ามา มหาดเล็กรับสั่งถวายบังคมลาออกมานมัสการพระสังฆราชแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโอกาส ให้อาราธนาพระคุณเจ้าเข้าไป พระสังฆราชจึงให้คนขนของเข้าไปส่ง ครั้นเข้าไปถึงประตูค่าย ทหารรักษาประตูก็ตรวจค้นดูเครื่องสาตราวุธในตัวพระสังฆราช แลสิ่งของเครื่องราชบรรณาการถ้วนทั่วแล้วจึงให้เข้าไป แต่พวกพม่าแลพระสงฆ์องค์หนึ่งนั้นให้ยับยั้งอยู่ภายนอก

ครั้นพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรเข้าไปจวนจะถึงหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแกล้งเมินพระพักตร์เสีย ทำเปนไม่ทรงเห็นหาตรัสทักไม่ พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรไปยืนนิ่งอยู่ช้านาน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเห็นนานนักแล้ว จึงทำผันพระพักตร์เหลือบพระเนตร์มาตรัสทักว่า พระคุณเจ้ามาเมื่อไร พระสังฆราชาถวายพระพรว่า อาตมาภาพมาเมื่อมหาบพิตรทอดพระเนตร์เห็น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ยิ้มอยู่ แล้วอาราธนาให้พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรนั่งบนอาศน์ที่สมควร พอเจ้าพนักงานนำเครื่องราชบรรณาการของพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรเข้ามาถวายหน้าพระที่นั่ง พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรถวายพระพรว่า อาตมาภาพแจ้งว่ามหาบพิตรเสด็จมาแต่มรรคาไกล อาตมาภาพก็ยินดีมีอุสาหออกมาเยือน ไม่มีสิ่งใดอันตระการมีแต่สิ่งของเท่านี้ อาตมาภาพจะขอถวายแก่มหาบพิตรตามมี

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรถวายของดังนั้น จึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า ซึ่งสิ่งของพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรนำมาทั้งนี้ มิใช่ของพระสังฆราชาภังคยะสะกะโร เห็นจะเปนสิ่งของพระเจ้ามณเฑียรทองให้มา เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นจริงด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้รับสิ่งของไว้แล้ว ตรัสถามว่าพระคุณเจ้าออกมาหาโยมเจ้านี้ด้วยกิจธุระอันใด พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรว่า อาตมาภาพออกมาเฝ้ามหาบพิตรบัดนี้ ด้วยมีความปรารถนาจะใคร่แจ้งว่า พระองค์ทรงพระอุสาหเสด็จกรีธาพลขึ้นมาทั้งนี้ เพื่อพระราชประสงค์สิ่งใด

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้ายกกองทัพมาทั้งนี้ด้วยเหตุประการหนึ่ง จึงมีความปรารถนาสามประการ เหตุประการหนึ่งนั้น ด้วยพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาละทางพระราชไมตรีเสีย ยกกองทัพลงไปกระทำข่มเหงย่ำยีถึงเมืองหงษาวดี ฝ่ายข้าพเจ้าก็หมายใจว่า เปนกษัตริย์อันประเสริฐในรามัญประเทศ ครั้นจะมิยกขึ้นมาตอบแทนพม่าบ้าง ก็ดูดุจดังว่ามิใช่ชายหามานะมิได้ อันความปรารถนาสามประการนั้น ประการหนึ่งคือ ตั้งใจมาจะกระทำยุทธนาการให้เมืองอังวะอยู่ในอำนาจขึ้นแก่หงษาวดี ให้ขอบขัณฑเสมากว้างขวางออกไป ประการหนึ่งคือ กรุงอังวะเปนที่เจดียสถานมาก ข้าพเจ้ามีศรัทธาจะขึ้นมานมัสการ ทั้งจะได้ชมประเทศกรุงอังวะด้วย ประการหนึ่งคือจะยกยอบวรพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไปนาน

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรได้ฟังดังนั้น ก็ถวายพระพรว่าซึ่งพระองค์ตรัสมาทั้งนี้ไพเราะนัก อันพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวามิได้ตั้งอยู่ในทางพระราชไมตรีนั้น บัดนี้ก็เสด็จทิวงคตล่วงแล้ว ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระสติปัญญาสามารถ แลจะมาประพฤติโดยพระทัยอันพยาบาทดังนี้ อาตมาภาพเห็นเปนครุโทษใหญ่หลวงนัก ขอพระองค์ทรงพระราชดำริห์ถึงครุกรรมข้อนี้ แลทางพระราชประเพณีอันชอบแต่ก่อนสืบมา เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอะโนระธามังฉ่อได้เสวยราชสมบัติอยู่ในภุกาม พระองค์ยกลงไปรักษาพระเกษธาตุที่นครสิงหคุต ครั้นถึงเมืองปรวนล่วงเข้าแดนรามัญประเทศจึงทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองมอญกับเมืองพม่าเปนทางพระราชไมตรีกันมาแต่ก่อน แลบัดนี้เรายกล่วงแดนเข้ามามิควรนัก เกลือกพระเจ้าหงษาวดีจะมีพระทัยรังเกียจ ก็จะเสียทางพระราชไมตรีแก่กัน ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอโนรธามังช่อจึงเสด็จกลับขึ้นมา มิได้ลงไปรับพระเกษธาตุที่นครสิงหคุต พระองค์ทรงรักษาพระราชประเพณีถึงเพียงนี้ พระนครทั้งสองฝ่ายก็เปนสุวรรณปถพีเดียวกัน อยู่เย็นเปนสุขมา หาความอิจฉาวิหิงสาแก่กันมิได้

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า พระคุณเจ้าว่าทั้งนี้ก็ชอบอยู่ แต่พระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาเปนกษัตริย์ผู้ใหญ่ ละทางพระราชไมตรีเสียก็ผิดมิได้ประพฤติโดยโบราณราชประเพณีตามพระเจ้าอโนรธามังช่อ แลยกลงไปเพื่อจะกระทำย่ำยีแว่นแคว้นของข้าพเจ้าให้อยู่ในอำนาจ ข้าพเจ้าก็ยกขึ้นมาตอบแทนเพื่อจะแผ่อาณาจักร์ให้กว้างขวางออกไปบ้าง พระคุณเจ้ามาว่ากล่าวดังนี้เหมือนยุดมือข้าพเจ้าไว้ให้กระทำแต่ข้างเดียวหาควรไม่

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรว่า มหาบพิตรตรัสดังนี้ ดุจดังอาตมาภาพเปนสมณลามก มีความฉันทาลำเอียง จะให้สัตว์ฉิบหายข้างหนึ่งเจริญข้างหนึ่ง หารักษาสิกขาบทตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหารไม่ เปนความสัตย์อาตมาภาพมิได้เข้าข้างใด ซึ่งถวายพระพรแก่มหาบพิตรฉนี้ ด้วยคิดว่ามหาบพิตรทั้งสองฝ่ายพระนครเปนบรมกษัตริย์อันประเสริฐ เปนที่ตั้งพระพุทธสาสนา แลเปนที่อาศัยสมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง เพราะทรงพระสติปัญญาเปนสัมมาทิฏฐิ ประพฤติตามพระพุทธโอวาทอยู่ทั้งสองฝ่าย อันพระพุทธโอวาทซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในพระตรัยปิฎกทั้งสามนั้น อยู่ในพระขันตีธรรมบทเดียว ถ้าบพิตรพระองค์ใดปฏิบัติตามพระขันตีบทเดียวนี้ไซร้ ได้ชื่อว่าบพิตรพระองค์นั้น ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอันตรัสไว้ในพระไตรปิฎกทั้งสามนั้นสิ้น พระสาสนาแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็จะวัฒนาการเจริญสืบไป สมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในพระขันตีราชธรรมนั้น อาตมาภาพจึงถวายพระพรเตือนพระสติพระองค์ผู้เปนประธานฝูงสัตว์โลกทั้งปวง ให้ทรงปฏิบัติในพระขันตีราชธรรม แลพระองค์มาตรัสโดยทางอาฆาฏจองเวรพยาบาท อันเปนข้าศึกแก่ขันตีธรรมให้ขาดประโยชน์ปรโลกฉนี้ ดุจหนึ่งพระองค์มิได้ทรงปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทของสมเด็จพระพุทธเจ้าอันตรัสสั่งสอนไว้

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้ามาว่ากล่าวเตือนสติข้าพเจ้าโดยพุทธโอวาทดังนี้ ดูเหมือนหนึ่งพระคุณลำเอียง แม้นไม่มีจิตต์ฉันทาเข้าด้วยข้างหนึ่ง จะให้ฉิบหายข้างหนึ่งเจริญข้างหนึ่งแล้ว ถ้าเปนสัจธรรมของพระคุณเจ้าเที่ยงแท้เสมอที่จะมิให้สัตว์แลพระพุทธสาสนาเปนอันตรายจริง พระคุณเจ้าก็จะช่วยเตือนสติถวายโอวาทคำสั่งสอนพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาอันเปนสัมมาทิฏฐิให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรม อย่าให้ยกทัพลงไปเบียดเบียฬขอบขัณฑเสมาเมืองหงษาวดีก่อนฉะนี้ จึงจะเห็นว่าพระคุณเจ้าตั้งอยู่สัจธรรมเปนอันแท้ ที่จะให้สัตว์ทั้งปวงเปนสุขเสมอกันจริง นี่พระคุณเจ้ามิได้ห้ามสั่งสอนพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมปฏิบัติ นิ่งให้มาเบียดเบียนขอบขัณฑเสมาเมืองหงษาวดีเปนต้นเหตุก่อน ข้าพเจ้าจึงยกทหารขึ้นมาตอบแทนตามพระราชประเพณี พระคุณเจ้าจึงมาให้โอวาทตักเตือนข้าพเจ้า ให้ตั้งอยู่ในขันตีทศพิธราชธรรมปฏิบัติ แลทศพิศราชธรรมปฏิบัตินั้นมีถึงสิบประการ ในบทตัปปังนั้นว่า ให้พระมหากษัตริย์มีวิริยะภาพอุสาหปราบปรามข้าศึกอันเปนเสี้ยนหนามให้ราบคาบ เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวามาเบียดเบียฬขอบขัณฑเสมาเมืองหงษาวดีก่อน แลพระคุณเจ้าจะให้ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมอดออมเสียฉนี้ จะมิเสียราชธรรมในบทตัปปังที่ว่าให้พระมหากษัตริย์มีความเพียรปราบปรามเสี้ยนศึกสัตรูให้ราบคาบนั้นหรือ เหตุฉะนี้จึงเห็นว่าพระคุณเจ้าแกล้งมาว่าแก่ข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมฝ่ายเดียวนั้น เห็นหาเปนสัจธรรมไม่

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรก็ถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่า ราชธรรมมีถึงสิบประการนั้นก็จริง แต่สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสสรรเสริญขันตีราชธรรมอันเดียวนี้ว่า มีคุณานุภาพอานิสงส์ล้ำเลิศประเสริฐกว่าราชธรรมทั้งเก้าประการ ซึ่งมหาบพิตรจะมาทรงปฏิบัติตามตัปปะราชธรรม อันเพียรภาพที่จะยังข้าศึกเสี้ยนหนามให้เดือดร้อนราบคาบ จะแผ่ขอบขัณฑเสมาให้กว้างขวางออกไปนั้นมิได้ประกอบด้วยคุณฝ่ายเดียวดุจขันตีราชธรรม ยังเจือไปด้วยโทษอยู่ อาตมาภาพขอถวายพระสติตักเตือนไว้ ตามเนื้อความอันมีในพระไตรปิฎกว่า เมืองดาวดึงษาสวรรค์ แลอเวจีมหานรกกับชมภูทวีปทั้งสามภูมิ์นี้ กว้างขวางยาวใหญ่ได้หมื่นโยชน์เสมอกัน แลฝ่ายดาวดึงษาสวรรค์เทวโลกนั้น ก็มีระยะเทวะวิมานย่านประเทศที่อยู่ต่าง ๆ อันบุญนิมิตตกแต่งเปนอันดี จะได้ยัดเยียดเบียดเสียดกันนั้นหามิได้ ฝ่ายชมภูทวีปนั้นกว้างขวางได้หมื่นโยชน์ เปนโลณะมหาสมุทรท่วมเสียสี่พันโยชน์ เปนป่าหิมพานต์ก็สามพันโยชน์ เปนที่มนุษย์อาศัยก็สามพันโยชน์ พระมหากษัตราธิราชแต่โบราณก็ตั้งบ้านเมือง ๆ แต่ครั้งพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสวยพระชาติเปนมหาโควินท์ เวลามหาพราหมณาจารย์นั้นก็ช่วยแบ่งปันประเทศแว่นแคว้นแดนบ้านเมืองเปนระยะฝักฝ่าย จะได้คับคั่งเบียดเสียดวิวาทชิงแดนแก่กันนั้นหามิได้ แต่อเวจีมหานรกกว้างขวางยาวใหญ่ได้หมื่นโยชน์ บริบูรณ์ด้วยสัตว์อักตกอยู่ในนั้น มิได้หย่อนอย่างชมภูทวีป ด้วยอำนาจอกุศลคือ โลภะ โทสะ โมหะ เปนมูลมีในสันดานสัตว์โลก ผู้กระทำอกุศลกรรมบทสิบประการ เปนกายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม อกุศลทุจริตอันหยาบช้า ครั้นจุติก็ไปบังเกิดในอเวจีมหานรกเปนอันมากจะประมาณมิได้ บ้างนั่งนอนยืนยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นเหล็กแดง อันพิลึกด้วยเพลิงนรก จะได้มีช่องว่างที่จะชี้ลงว่าที่นี่เปนระแวกว่างอยู่นั้นหามิได้ จึงได้ชื่อว่าอเวจีมหานรก แต่กรุงอังวะกับกรุงหงษาวดีนั้น ไกลกันเปนระยะทางถึงเดือนหนึ่ง ใช่จะเบียดเสียดคับคั่งกันอย่างอเวจีมหานรกนั้นหามิได้ ซึ่งพระองค์จะทรงปฏิบัติตามตัปปะราชธรรมปราบเสี้ยนสัตรู จะเอากรุงอังวะเปนขอบขัณฑเสมาให้สัตว์ทั้งปวงคับคั่งยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ดังอเวจีมหานรกนั้นหาควรไม่ อันบุคคลผู้ใดกระทำอกุศลด้วยกายวาจาจิตต์อันชั่วร้ายนั้น ก็จะเปนเวรานุเวรติดตามผู้นั้นไปดุจดังกงเกวียนอันเวียนพัดผันไปตามโค แลกงเกวียนก็ตามกระทบเท้าแห่งโคเปนนิตย์ ซึ่งมหาบพิตรจะไม่ทรงประพฤติขันตีราชธรรมอันประเสริฐกอบไปด้วยคุณฝ่ายเดียว จะมาประพฤติตามตัปปะราชธรรม อันเจือไปด้วยคุณแลโทษ คือยังข้าศึกให้เดือดร้อนด้วยยุทธนาการฆ่าฟันกันฉนี้ พระองค์ทรงเห็นคุณนั้นจะล้างโทษให้พ้นภัยในอบายภูมิได้แลหรือ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ตรัสว่า อันคุณก็อยู่ฝ่ายคุณ โทษก็อยู่ฝ่ายโทษ อันคุณจะล้างโทษนั้นก็หามิได้ ดุจน้ำกับน้ำมันระคนกัน จะเปนอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นหามิได้ แต่โดยจิตต์ของข้าพเจ้ายกทัพมายังกรุงรัตนบุระอังวะครั้งนี้แม้นไม่มีเหตุก็หาไม่ ใช่จะมาด้วยน้ำใจวิหิงสา จะเบียดเบียฬผู้มีความชอบให้พินาศฉิบหาย แลยังพระพุทธสาสนาให้เปนอันตรายเศร้าหมองนั้นหามิได้ ตั้งใจแต่จะทำนุบำรุงพระพุทธสาสนา แลจะยังฝูงคนอาธรรมทุรชนนั้น ให้ตั้งอยู่โดยคลองธรรมสุจริต จึงประพฤติตามตัปปะราชธรรมอันจะกำจัดเสียซึ่งข้าศึก ซึ่งพระคุณเจ้าว่าราชธรรมนี้เจือไปด้วยคุณแลโทษนั้นก็จริง แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ถึงจะเสียเงินก็จะแลกเอาทอง ถึงจะเสียทองก็จะแลกเอาแก้วมณีอันมีค่าไว้จงได้ ตามประเวณีโลกีกษัตริย์อันเสวยสมบัติในกลียุคเข็ญ ต้องจำเปนด้วยมีผู้มาก่อเหตุก่อนแล้วจำจะสานตาม อันสัตว์เวียนไปในสงสาร ใครเลยจะพ้นจากกุศลแลอกุศล ซึ่งจะหลีกภัยให้พ้นจากครุกรรมนั้น ก็แล้วแต่เจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของตน ข้าพเจ้าเห็นฉนี้ จึงประพฤติตามตัปปะราชธรรมปฏิบัติอันเจือไปด้วยคุณแลโทษ

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโร จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตร์ว่ามหาบพิตรจะทรงปฏิบัติตามตัปปะราชธรรมอันเจือไปด้วยคุณแลโทษฉนี้ก็ดี อันประเวณีปรินายก ผู้จะกระทำสงครามให้มีชัยชนะนั้น พึงให้รู้ในมูลสงครามสี่ประการ พะลัญจะ คือให้รู้กำลังข้าศึกว่าฝูงกามีกำลังแต่ในกลางวัน ฝูงนกเค้ามีกำลังแต่ในราตรี ฝูงสกุณชาติปักษีมีกำลังในเวหา ฝูงปลามีกำลังในน้ำหนึ่ง กาลัญจะ คือให้รู้จักกาลแห่งข้าศึกอันเสียอัปปะริหานิยะธรรมแปดประการ คือมิได้พร้อมเพรียงกัน เปนต้น ด้วยอาธรรมทุจริต อันใดอันหนึ่งแลหรือ ๆ ยังบริบูรณ์อยู่หนึ่ง เทสัญจะ คือ ให้รู้ประเทศอันกอรป์ด้วยธัญญาหาร ที่จะเปนกำลังแห่งข้าศึกนั้นหนึ่ง อุตุญจะ คือให้รู้จักสมัยแห่งฤดูทั้งสามมีวสันตฤดูเปนต้นแห่งเมืองข้าศึกนั้นหนึ่ง แลมูลแห่งสงครามทั้งสี่ประการ อันจะมีชัยชนะ เสนาบดีซึ่งเปนปรินายกนำพลทหารของพระองค์มิได้แจ้ง ยกพลโยธามาตีกรุงอังวะในวสันตะฤดู กรุงอังวะเปนภูมิประเทศตอนสูงกว่ากรุงหงษาวดีถึงห้าสิบเส้น เมื่อฝนตกน้ำนองแล้ว กระแสน้ำนั้นมีกำลังแรงเชี่ยวจนถึงก้อนศิลาแลต้นไม้ใหญ่มิอาจจะทนทานได้ก็หักโค่นทำลายลอยลงไปตามกระแสร์น้ำ แลทัพพระองค์ยังจะทนทานได้หรือ จะเปนอันตรายแก่พลทหาร เห็นจะล้มตายเปนอันมาก พวกพลทหารกรุงอังวะจะมิพักรบพุ่ง พลทหารฝ่ายพระองค์ก็จะพินาศล้มตายไปเอง บรมบพิตรสิจะทรงปฏิบัติปราบเสี้ยนสัตรูให้ราบคาบ หาแจ้งในมูลสงครามทั้งสี่ประการไม่หรือ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรว่าดังนั้น ก็ทรงพระสรวลแล้วจึงตรัสว่า พระคุณเจ้าเปนสมณสั่งสนทนาด้วยมูลสงครามดังนี้ เปรียบประดุจบุรุษพรรณาภัยอันพิลึกในป่าหิมพานต์ ให้แก่ฝูงพระยาไกรสรราชสีห์ฟัง แลสำแดงภัยพิลึกในมหาสมุทรให้ฝูงนาคราชอันมีฤทธิ์ฟัง ฝูงพระยาไกรสรราชสีห์หรือจะหนีไปจากป่าหิมพานต์ ฝูงนาคราชอันมีฤทธิ์หรือจะหนีไปจากมหาสมุทร พระคุณเจ้าสำแดงความพิรุธในใจออกเอง ด้วยวาจาพระคุณเจ้าสนทนา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเจรจาหาเปนธรรมกถาเที่ยงแท้สัจธรรมไม่ พระคุณเจ้าเข้าใจว่า ราชปรินายกเสนามนตรีฝ่ายเมืองหงษาวดีไม่เข้าใจในการพิชัยสงครามแปดประการหรือ อาวุธะกัญจะ คือตกแต่งสรรพาวุธ มีดาบเปนต้นให้คมกล้า เปนที่บำรุงน้ำจิตต์ทแกล้วทหารผู้ถือมิให้ย่อท้อ ได้เปรียบแก่ข้าศึกด้วยอาวุธหนึ่ง สิปปะกัญจะ คือศึกษาเนืองๆ ในศิลปสาสตร์ทั้งปวงให้ชำนาญแม่นยำได้เปรียบแก่สัตรูโดยศิลปศาสตร์หนึ่ง พะละกัญจะ คือจัดพลทหารอันมีกำลังแกล้วกล้า อย่าให้ปนด้วยคนขลาดอันจะพูดพาทีให้ผู้หาญย่อท้อ ให้ได้เปรียบแก่สัตรูโดยพลทหารแกล้วกล้าหนึ่ง พะยุหะกัญจะ คือจัดแจงพยุหะหมู่พลอันควรแก่ตรีเสนา เบ็ญจะเสนา เนาวะเสนา สัปตะเสนา ตามถานในคำภีร์พิชัยสงคราม แลคำภีร์กาพย์มณฑกีว่า ถานประเทศที่นี้ควรจะตั้งพยุหนั้นมีครุทธะกากะพยุหเปนต้น เพื่อจะให้เปนปัจจัยอุดหนุนกัน ดุจครุธแลกามีปีกแลหางเท้าแลตัวแลศีร์ษะเปนปัจจัยอุดหนุนพร้อมกัน จึงบินไปได้ในอากาสนั้นได้เปรียบแก่สัตรูโดยพยุหนั้น หนึ่ง โกฏฐะกัญจะ คือฉลาดตั้งซุ้มค่ายให้มั่น กันอันตรายโดยรอบคอบ ให้เปนที่อาศัยแก่พลทหารอันเหนื่อยมาแต่ที่ยุทธนาการ จะได้อาศัยกินอยู่หลับนอนให้มีกำลังน้ำใจ ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยซุ้มค่ายหนึ่ง มันตะกัญจะ คือให้มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเปนบรมรัตนมนต์อันประเสริฐเปนนิจเนือง ๆ ทุกอัสสาสะประสาทแลอิริยาบถนั่งนอนยืนเดิน เพื่อจะเปนที่พึ่งจะได้กระทำสัตยาธิษฐานแก่สรรพภัย มีปิศาจภัย โรคภัย ยุทธภัย เปนต้นอันมีมาแต่ข้าศึก ด้วยอาการแลกฤตยาคุณ ให้ไพร่พลปราศจากอันตราย ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยกำลังพระพุทธมนต์หนึ่ง วิริยะกัญจะ คือมีความเพียรหมั่นตักเตือนทหารทุกกระทรวงการ อย่าให้ขาดได้โดยอัชฌาสัย อย่าอ่อนกล้านั้นพอเปนมัชฌิมปานกลาง ให้ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยความเพียรหนึ่ง ปัญญากัญจะ คือมีปัญญารำพึง ซึ่งเหตุผลโดยรอบคอบเปนนิตย์ ในอดีต อนาคต ปัจจุบันที่จะเอาชัยชนะในสงคราม อย่าให้เปนอันตรายแก่พวกพลได้ ๆ เปรียบแก่ข้าศึกสัตรูโดยปัญญา ประการหนึ่ง ทายะกัญจะ คือรู้ปูนบำเหน็จให้ถึงขนาดแก่ทหารผู้มีความชอบให้แกล้วกล้าขึ้นในสงครามจงได้ ด้วยอามิศอันดีแลถ้อยคำอันไพเราะห์ ให้ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยปูนบำเหน็จ แลรางวัลนั้นหนึ่ง เปนยอดศีร์ษะไชยภูมิสงครามแปดประการดังนี้ แลกลสงครามอันอื่นต่างๆ ก็แจ้งอยู่ ถึงพระคุณเจ้าจะเจรจาประการใด ฝูงเสนาบดีราชปรินายกฝ่ายข้าพเจ้าก็เข้าใจในวาระจิตต์ของพระคุณเจ้าทุกประการ แต่หากว่าเกรงกาสาวะพัตถ์อันเปนธงชัยของพระอริยะเจ้าอยู่ จึงมิได้ว่าแก่งแย่งให้เคืองใจ

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโร จึงถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรมิได้ทรงเห็นในวาระน้ำจิตต์ของอาตมาภาพอันตั้งอยู่ใจสัจธรรมทั้งนี้ ก็เพราะผลวจีกรรมของอาตมาภาพได้กระทำมาแต่ก่อน จึงมิได้เชื่อให้ทรงแคลงอาตมาภาพ โดยความสัตย์นี้อาตมาภาพคิดโดยจิตต์เมตตาสัตว์ว่า อันชมภูทวีปนี้มัชฌิมประเทศ ศีร์ษะแผ่นดินอยู่กลางเปนที่ตั้งพระมหาโพธิวิพุทธาภิเศก ในวิมุติเสวตรฉัตร์แห่งสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าทั้งปวง แลบันดารุกขชาติลัดดาวัลย์มีโดยรอบนั้น มีเครือวัลย์เวียนขึ้นเปนทักขิณาวัฏ แลมียอดอ่อนน้อมเข้าไปต่อพระมหาโพธิ์ มีเมืองใหญ่เปนโสฬศมหานครสิบหกแวดล้อมแผ่นดินมัชฌิมประเทศ มีทรงสัณฐานดังรูปตะโพนกึ่งกลางกว้างสามร้อยโยชน์ โดยรอบคอบเก้าร้อยโยชน์เท่านี้ เปนสมเด็จพระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิ์เจ้า พระอรรคสาวก พระอสีติมหาสาวก พระยาบรมจักรพรรดิ์ พระยากุลจักรพรรดิ์ พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา ท้าวพระยาอันมีกุศลสมภารมาก ย่อมมาบังเกิดในที่นั้น แลกรุงรัตนบุระอังวะกับกรุงหงษาวดีราชธานีทั้งสอง ก็นับเข้าในมัชฌิมประเทศเสมอกัน ฝ่ายมหาบพิตรทั้งสองเปนพระเจ้าแผ่นดิน ก็มีพระราชกุศลสมภาร ได้บำเพ็ญอบรมมาแต่ก่อนเปนอันมาก จึงได้มาเกิดในมัชฌิมประเทศเปนบรมอิสสราธิปไตยใหญ่หลวง ควรจะกระทำพระราชไมตรีต่อกัน สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งสองฝ่ายจะได้อยู่เย็นเปนสุขได้ บำเพ็ญกุศลสร้างบารมีเปนทางสวรรค์ทางนิพพานเพราะพระองค์จึงจะสมควร บัดนี้พระองค์ยกพลทหารมากระทำสงครามเบียดเบียฬกันฉนี้ ให้สมณพรามณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั้งสองฝ่ายได้ความเดือดร้อนเสียกองกุศลเปนมูลแห่งบาปอันจะไปสู่จตุราบายทุกข์ดังนี้ อาตมาภาพมีอุสาหออกมาถวายพระพรดังนี้ จะได้เข้าข้างผู้ใดไม่ หวังจะเตือนพระสติ เพื่อจะให้บรมบพิตรทรงพระดำริห์ความอันควรโดยโบราณราชประเพณี กับจะให้เปนประโยชน์แก่พระองค์ไปในปัจจุบันแลอนาคตกาลนั้น

ขณะเมื่อพระสังฆราชาภังคยะสะกะโร ออกมาเจรจาความเมืองอยู่ด้วยสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้น พอสมิงสามกรายซึ่งไปคอยจับพม่าณพระธาตุสร้อยจะเยียด จับได้พม่าอันออกมาเก็บสิ่งของตัดเอาศีร์ษะได้สามสิบคน จับเปนได้เจ็ดคนมาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรเห็นดังนั้น จึงถวายพระพร ว่าเดิมมหาบพิตรทรงตรัสแก่อาตมาภาพว่า ซึ่งเสด็จกรีธาพลยกกองทัพขึ้นมายังกรุงอังวะนี้ ด้วยเหตุประการหนึ่ง จึงมีความปรารถนาสามประการ คือทรงพระราชศรัทธาจะสถาปนาพระบรมธาตุเจดียสถานไว้ให้เปนพระราชกุศลสืบไปในกัลปาวสาน อาตมาภาพก็มีความยินดี แลบัดนี้มาเห็นราชบุรุษของพระองค์ ไปกระทำอันตรายแก่คนเปนข้าพระพุทธเจ้าอันหาความผิดมิได้ ซึ่งเปนของพระมหากษัตริย์ทรงพระราชอุทิศถวายแก่พระรัตนไตรสืบมาแต่ก่อนฉนี้ อาตมาภาพดูลำบากตา มีความกรุณาแก่คนเปนข้าพระรัตนไตร ผู้หาความผิดมิได้มาถึงแก่ความตาย แลราชบุรุษผู้ประทุษฐร้ายต่อพระรัตนไตรก็เปนครุกรรมอันใหญ่ จะได้เสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นสิ้นกาลช้านาน แต่เหตุอกุศลจิตต์อันมิได้เคารพรู้คุณพระรัตนไตร อาตมาภาพสังเวชนัก จะขอถวายพระพรลามหาบพิตรก่อน

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโร ทำอาการเปนประหนึ่งจะไปจากที่นั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้าว่าราชบุรุษของข้าพเจ้าไม่รู้คุณพระรัตนไตรนั้นฉันใด พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรว่า อันราชบุรุษซึ่งได้เปนที่ถานันดรเสวยมนุษย์สมบัติเปนเศรษฐีคหบดี ก็อาศัยได้สร้างบารมี ศีลทานภาวนาสักการะบูชาพระรัตนไตรเปนประธาน ผลบุญนั้นจึงส่งให้ได้มาเกิดเปนเศรษฐีคหบดี อยู่ในมัชฌิมประเทศราชธานี ควรที่ราชบุรุษเหล่านี้จะรู้คุณพระรัตนไตร ทำสักการะบูชาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก นี่มากระทำอันตรายเบียดเบียฬคนเหล่าข้าพระ อันพระมหากษัตริย์แต่ก่อนทรงพระราชอุทิศถวายไว้ให้ปฏิบัติพระรัตนไตรจนล้มตาย เปนครุกรรมโทษจะได้ทนทุกขเวทนาในอเวจีมหานรกเปนอันช้านานนัก เหตุฉนี้อาตมาภาพจึงถวายพระพรว่า ราชบุรุษเหล่านี้มิได้รู้คุณพระรัตนไตร

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยะสะกะโรสำแดงธรรมโดยพิศดารดังนั้น ก็ถอยมานะในพระทัยลงด้วยสามารถพระองค์เคารพในพระรัตนไตรยาธิคุณยิ่งนัก ทรงพระดำริห์เห็นธรรมสังเวชทุกประการ จึงตรัสแก่พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรว่า เมื่อแรกข้าพเจ้าขึ้นมาถึงนั้นมิได้พบคนแต่สักคนหนึ่ง ก็ไม่แจ้งกิจการณ์ในกรุงอังวะว่าจะเปนประการใด จึงให้ทหารไปคอยจับเอาคนมา เพื่อจะใคร่รู้กิจการณ์ในกรุงอังวะ แลซึ่งทหารไปกระทำหยาบช้าฆ่าฟันฝูงคนซึ่งปฏิบัติบรมธาตุเสียทั้งนี้ ข้าพเจ้าหาได้สั่งให้ทำแก่คนข้าพระไม่ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้เอาผู้ไปฆ่าฟันเหล่าข้าพระเสียนั้นเปนโทษ

พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่ามิได้สั่งให้กระทำนั้น ก็ทำโทษแก่พระองค์มิได้ แลซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้เพราะอาตมาภาพ อันมหาบพิตรจะให้ลงพระราชอาญาราชบุรุษเหล่านั้น ก็ต้องอยู่ในสิกขาบท อาตมาภาพขอพระราชทานโทษอย่าให้ขุ่นหมองในสมณกิจเลย แลซึ่งเขามิได้เคารพต่อพระรัตนไตรไปฆ่าฟันพวกข้าพระเสียนั้น บาปกรรมก็ติดตัวเขาผู้ทำผิดไปในอนาคตกาล

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชพระราชโทษให้แล้ว จึงตรัสแก่พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรว่า ข้าพเจ้าจะฟังคำพระคุณเจ้าจะถอยทัพกลับไปจากกรุงรัตนบุระอังวะแล้ว แต่มีศรัทธาจะใคร่สถาปนาก่อหอพระขึ้นไว้ให้เปนการกุศลเปนที่สำคัญไว้สักแห่งหนึ่ง จะให้เปนเกียรติยศไปภายหน้า พระสังฆราชาภังคยะสะกะโร จึงถวายพระพรว่า ตามแต่พระองค์จะทรงพระบัญชาที่ควรเถิด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้จัดของถวายตอบแทนแก่พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรมากกว่าที่นำมาสองเท่า พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรจึงถวายพระพรลาพระเจ้าราชาธิราชกลับเข้ามาเมือง แล้วเข้าไปถวายพระพรแก่สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องตามซึ่งได้สนทนากับพระเจ้าราชาธิราชทุกประการ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งว่า กองทัพมอญเลิกไป ก็คลายพระวิตกลง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้รื้อเรือขนานไปสร้างหอพระขึ้นไว้ ณ พระธาตุสร้อยจะเยียด แล้วพระองค์ก็ให้ถอยทัพมา

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทราบว่า พระเจ้าราชาธิราชเลิกกองทัพออกจากที่แล้ว ก็ให้ทหารออกไปเอาเพลิงเผาหอพระซึ่งพระเจ้าราชาธิราชสร้างไว้นั้นเสีย ควันเพลิงก็กลุ้มกลบตระหลบไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นทหารพม่า ออกมาเผาหอพระที่พระองค์ให้สร้างไว้นั้น ก็น้อยพระทัยทรงพระโกรธยิ่งนัก ตรัสสั่งให้หยุดกองทัพจะกลับขึ้นมาตีเอาเมืองอังวะให้ได้

ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระราชศรัทธา ให้สถาปนาหอพระขึ้นไว้เปนพุทธบูชาของพระรัตนไตรขาดแล้ว ผู้ใดกระทำประทุษฐร้ายแก่พระศรีรัตนไตร โทษนั้นก็อยู่แก่ผู้กระทำผิด ประดุจตัวผู้ซึ่งหยิบต้องถ่านเพลิงนั้นก็ย่อมหากจะร้อนในมือตนเอง แลซึ่งพระองค์สถาปนาบำเพ็ญพระราชกุศลสร้างหอพระเปนพุทธบูชาไว้นั้น ถึงมีผู้มาทำอันตรายดังนี้ พระราชอานิสงส์จะได้สาบสูนย์เสียนั้นหามิได้ ก็ติดตามค้ำชูพระองค์ไปจนสำเร็จพระนิพพาน ประการหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้ามีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า บุคคลจะผจญสงครามภายนอกชนะได้ร้อยครั้งพันครั้ง ก็มิเท่าผู้ผจญสงครามภายใน คืออดโทโส ได้ขณะหนึ่ง มีกุศลอันล้ำเลิศประเสริฐกว่ากุศลทั้งปวงจะคณนาหามิได้ ประการหนึ่งอันประเพณีพระมหากษัตริย์ตรัสสิ่งใดเปรียบประดุจงาช้างซึ่งงอกออกแล้วมิได้หดคืน พระองค์ก็ได้ตรัสให้ถ้อยคำไว้แก่พระสังฆราชาภังคยะสะกะโรว่า จะถอยทัพเสด็จกลับไปกรุงหงษาวดีแล้ว ยังมิทันได้กลับไปถึงพระนครก่อน มาทรงพระโกรธแก่พม่าจะยกคืนขึ้นไปนั้น ข้าพเจ้าเห็นไม่ชอบ ขอได้ทรงพระดำริห์ตามพระวัตตรานุวัตร์ดูจงควร

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังอำมาตย์ทินมณีกรอดทูลทัดทานดังนั้น ก็เห็นด้วย จึงให้ถอยทัพมาตั้งอยู่ณเมืองภุกาม ทรงพระราชศรัทธาสั่งให้ก่อกุฎีถวายพระสงฆ์เปนอันมาก แลให้มีการมหรสพสมโภชสามวัน แล้วก็ยกพยุหโยธาทัพเสด็จกลับมาถึงกรุงหงษาวดี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ