๒
ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวง จึงเชิญพระศพพระเจ้าฟ้ารั่วเข้าถวายพระเพลิงในปราสาท กวาดเอาพระอัฎฐิแลพระอังคารประมวญเข้าแล้วก่อพระเจดีย์สรวมลงไว้ กระทำเปนรูปนกยูงทองไว้หน้าพระเจดีย์ ๆ ยังประดิษฐานอยู่คุงเท่าบัดนี้ แล้วเสนาพฤฒามาตย์ปะโรหิตทั้งปวง จึงเชิญมะกะตาผู้เปนพระอนุชาพระเจ้าฟ้ารั่ว ขึ้นครองสมบัติในศักราช ๖๗๕ ปี ณวันเสาร์ขึ้นเจ็ดค่ำเดือนสามฤกษ์ยี่สิบ ครั้นมะกะตาได้เสวยราชสมบัติเปนใหญ่ในเมืองเมาะตะมะแล้ว จึงให้แต่งพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการ ให้ราชทูตคุมไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้าขอพระราชทานนาม พระร่วงเจ้าจึงตรัสถามราชทูตว่ามะกะตานี้เปนเชื้อวงษ์กษัตริย์อยู่หรือ ราชทูตว่าเปนพระอนุชาพระเจ้าฟ้ารั่ว สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังก็มีพระทัยยินดี จึงพระราชทานพระนามลงในพระสุพรรณบัตร์ชื่อพระเจ้ารามประเดิด ราชทูตรับพระสุพรรณบัตร์แล้ว ก็กราบถวายบังคมลามาถึงเมืองเมาะตะมะ จึงถวายพระสุพรรณบัตร์แก่พระเจ้ามะกะตา
ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตทั้งปวง ก็ตั้งพระราชพิธีราชาภิเศกมะกะตา เปนกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้ารามประเดิด ๆ จึงให้สร้างเมืองสะโตง แลเมืองวานแล้วโปรดให้สมิงยีรามะละไปกินเมืองวาน
ขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ จึงแต่งให้เสนาบดีเปนแม่ทัพมาตีเมืองวาน ๆ แตก สมิงยีรามะละตาย แลพระเจ้ารามประเดิดนั้นได้เสวยราชสมบัติแล้ว เกียจคร้านมิได้เอาพระทัยใส่ในราชกิจ
ฝ่ายสมิงมังละคิดซึ่งเปนผัวนางอุ่นเรือน น้องสาวพระเจ้าฟ้ารั่วหรือพี่เขยพระยารามประเดิดนั้น คิดกันกับภรรยาว่า พระยารามประเดิดเกียจคร้าน มิได้เอาพระทัยใส่ในราชการแผ่นดิน อุปมาดังต้นไม้อันหาผลมิได้ มิดังนั้นประดุจดอกไม้อันปราสจากกลิ่นหอมก็หาประโยชน์มิได้ เมื่อตัวความคิดน้อยแล้วสิประกอบด้วยความเกียจคร้านเล่า แต่ทัพเสนาบดียกมาเพียงนี้ ยังได้ความเดือดร้อนทั้งพระนครแล้ว ถ้าหากมีศึกกษัตริย์ใหญ่หลวงมา จะมิเสียพระนครเปนเชลยเขาเสียหรือ ทั้งพระยาช้างเผือกก็จะได้ไปแก่ข้าศึก จะนิ่งอยู่ให้ครองสมบัติสืบไปมิได้ จำจะยกเสียจากราชสมบัติ ครั้นคิดกันแล้ว จึงแต่งเปนกลอุบายให้กรมช้างเอาเนื้อความกราบทูลว่า มีช้างตัวหนึ่งสามงา ๆ หนึ่งออกที่กระพอง เที่ยวกันหญ้าอยู่ป่าริมลานพระ พระยารามประเดิดได้ทรงฟังสำคัญว่าจริง มิได้มีความสงสัยก็ดีพระทัย จึงสั่งให้เอาช้างต่อแลเชือกบาศข้ามไปฟากเมืองเมาะลำเลิงแล้ว ส่วนพระองค์ก็เสด็จข้ามไปด้วยพวกพลพอประมาณ หมายจะจับช้างตัวประหลาด เมื่อข้ามไปมิพบช้างสำคัญแล้ว จะเสด็จกลับคืนเข้าเมือง ประตูเมืองเขาก็ปิดเสีย เข้าพระนครมิได้ สมิงมังละคิดก็ให้จับพระยารามประเดิดฆ่าเสีย พระยารามประเดิดได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะสองปี ในศักราช ๖๗๖ ปี แต่กษัตริย์ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะสวรรคตล่วงไปสองพระองค์แล้ว จึงสมิงมังละคิดจะคิดเอาราชสมบัติ
ฝ่ายนางอุ่นเรือนภรรยานั้นจึงว่า ธรรมดาขึ้นชื่อว่าเปนเจ้าแผ่นดินนี้ ต้องประพฤติให้องอาจดุจหนึ่งพระยาไกรสรสีหราช เสนาบดีไพร่พลเมืองจึงจะเกรงกลัว บัดนี้พระองค์ก็ทรงชราภาพอยู่แล้ว จะมีผู้ใดเกรงกลัวหามิได้ ลูกชายเราก็มีอยู่สองคน ลูกชายใหญ่นั้นจะให้เปนพระยาเสวยราชสมบัติแล้ว เราสองคนก็จะพึ่งพาอาศัยได้ถนัด ไพร่ฟ้าข้าเฝ้าทั้งปวงก็เกรงกลัวฉันท์เดียวกัน ครั้นปรึกษาเห็นชอบด้วยกันแล้ว จึงอภิเศกเจ้าอาวซึ่งเปนบุตรชายใหญ่นั้นให้ครองราชสมบัติ ณวันอาทิตย์ขึ้นหกค่ำเดือนยี่ศักราช ๖๗๖ ปี จึงแต่งพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณการ ให้ราชทูตคุมไปถวาย ทูลขอพระนามสมเด็จพระร่วงเจ้า ๆ จึงพระราชทานนามลงพระสุพรรณบัตร์ ชื่อพระเจ้าแสนเมืองมิง แลพระราชธิดาสมเด็จพระร่วงเจ้า ซึ่งเปนมเหษีพระเจ้าฟ้ารั่วนั้น สมิงมังละคิดก็เอามาเปนภรรยา สมิงมังละคิดให้ปลูกตำหนักใหญ่อันหนึ่งบนยอดเขาฟังปู แล้วให้เขียนเปนรูปต่าง ๆ อยู่มาวันหนึ่งสมิงมังละคิดออกไปเล่นน้ำในสระ ฝ่ายข้าสาวซึ่งอยู่ในตำหนักนั้นนอนกลางวันมิได้ปิดหน้าต่าง เมื่อจะเกิดเหตุนั้น กาคาบเอาเนื้อย่าง ซึ่งไฟติดอยู่นั้นมาจับกินที่หน้าต่างไฟตกลงติดเชื้อเข้าก็ไหม้ตำหนักขึ้น นางห้ามทั้งหลายซึ่งอยู่ในตำหนักนั้น หนีไม่ทันก็ตายในไฟ
ฝ่ายสมิงมังละคิดกลับเข้ามา เห็นนางห้ามทั้งปวงถึงแก่ความตายดังนั้น จึงให้เอาศพนั้นมากองมั่วสุมไว้ เอาไม้ซึ่งเหลือไฟไหม้นั้นมาเผาศพนั้นเสีย
ฝ่ายพระเจ้าแสนเมืองมิง กับแม่นางตะปีนั้นอยู่ด้วยกัน มีพระราชบุตรองค์หนึ่งชื่ออายกำกอง ครั้นอยู่มามีพระราชบุตรอีกองค์หนึ่งชื่อว่านางโอกัลยา พระเจ้าแสนเมืองมิงมีราชบุตรสององค์
ฝ่ายสมิงมังละคิด แลนางอุ่นเรือนซึ่งเปนบิดามารดา ก็ถึงแก่กาลกิริยาไปสู่ปรโลกในปีนั้น ในศักราช ๖๘๐ ปี พระยาแสนเมืองมิงยกไปตีเมืองลำภูลประการ ได้เมืองลำภูลประการแล้ว ยกไปตีเมืองทวายก็ได้เมืองทวาย จึงให้ขุนลังกาไปตีเมืองตะนาวศรีก็ได้เมืองตะนาวศรี แต่พระยาแสนเมืองมิงได้เสวยราชสมบัติอยู่สิบสี่ปีจะได้มีข้าศึกมาย่ำยีหามิได้ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเปนสุข พระยาแสนเมืองมิงนั้นโลภในการเมถุนธรรมนัก ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษก็ถึงแก่พิลาลัย ศักราช ๖๘๑ ปี แต่กษัตริย์ได้ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะ ได้พระนามในพระสุพรรณบัตรมาแต่เมืองสุโขทัยเปนสามพระองค์ จึงเจ้าชีพเปนพระอนุชาพระเจ้าแสนเมืองมิงได้เสวยราชสมบัติสืบมา รับพระนามว่าพระเจ้ารามมะไตย แลราชธิดาของพระเจ้ารามประเดิดซึ่งเปนน้องพระเจ้ารามมะไตยองค์หนึ่งนั้น ชื่อว่า แม่นางอำปะแลแม่นางตะปี ซึ่งเปนมเหษีพระเจ้าแสนเมืองมิง พระเจ้ารามมะไตยเอานางทั้งสองคนนี้มาเลี้ยงเปนอัครมเหษี อยู่มาจึงให้ไปสร้างเมืองตะเกิง แลเมืองวากะเมาะอยู่ข้างทิศอุดรเมืองพะโค
ครั้นอยู่มาไทยห้าร้อย หนีออกไปแต่เมืองเพ็ชรบุรีไปสู่สมภารพระเจ้ารามมะไตย ๆ ถามว่าเหตุไฉนจึงมาสู่สมภารเรา ไทยห้าร้อยจึงทูลว่า ข้าพเจ้ารู้ข่าวเลื่องลือไปว่า พระองค์มีความรักใคร่ในข้าราชการแลทหารนัก ข้าพเจ้าจึงเข้ามาสู่สมภาร พระเจ้ารามมะไตยได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย จึงพระราชทานรางวัลแก่ไทยห้าร้อยเปนอันมาก โปรดให้ชีปอนข้าหลวงเดิมเปนใหญ่แก่ไทยห้าร้อย ครั้นอยู่มา สมิงอายกำกอง ซึ่งเปนพระราชบุตรพระเจ้าแสนเมืองมิงเกิดด้วยแม่นางตะปีนั้น เปนคนหยาบช้า ประพฤติพาลทุจริต พระเจ้ารามมะไตยผู้เปนบิดาเลี้ยงให้เอาไปจำไว้ ให้ริบเอาทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเสียสิ้น ครั้นอยู่มาภรรยาของอายกำกองคลอดบุตรชาย พระเจ้ารามมะไตยทรงพระเมตตาแก่กุมารผู้เปนหลานนั้น จึงพระราชทานทรัพย์สิ่งของๆอายกำกองผู้บิดาคืนให้กุมารที่คลอดนั้น ครั้นกุมารวัฒนาการจำเริญใหญ่ขึ้นมา พระเจ้ารามมะไตยจึงพระราชทานนามชื่อสมิงเจ้าอายปราสาท ๆ มีบุตรสี่คนๆหนึ่งชื่อยีจาน พระเจ้ารามมะไตยโปรดให้กินเมืองพะสิม คนหนึ่งชื่ออายพะบูนโปรดให้กินเมืองนครเพน คนหนึ่งชื่อเลิกพร้าโปรดให้กินเมืองมองมะละ คนหนึ่งชื่ออุเลวโปรดให้กินเมืองเมาะลำเลิง แล้วพระเจ้ารามมะไตยให้เจ้าอายพะบูนไปตีเมืองทวาย ส่วนพระองค์นั้นยกไปตีเมืองตะนาวศรีแตกได้เมืองตะนาวศรีแล้วกลับเข้ามาในปีนั้น แล้วให้ยีจานยกไปตีเมืองมะเริง ได้เมืองมะเริงแล้ว ก็ให้อยู่กินเมืองมะเริง
ฝ่ายพระเจ้ารามมะไตย เกิดพระราชบุตรด้วยนางอำปะสามพระองค์ พระราชบุตรผู้ใหญ่นั้น เมื่อประสูตรเกิดจันทรุปราคา พระราชบิดามารดาพระวงศา จึงพระราชทานนามชื่อพระนางจันทะมังคะละ อยู่มาพระชนม์ได้สี่ขวบห้าขวบ พระนางจันทะมังคะละสิ้นพระชนม์ พระราชบุตรีถัดมาพระองค์หนึ่ง เมื่อจะประสูตร์มีเหตุอัศจรรย์ พระเจ้ารามมะไตยผู้เปนพระราชบิดาให้สร้างกุฎีเจ็ดหลังถวายพระสงฆ์แล้วเสร็จแต่ในวันเดียว แล้วมีผู้นำเอาผลมะเดื่อใหญ่ประมาณสามกำมาถวาย ผลมะเดื่อนั้นรามัญเรียกว่าวิอาศรัย ตัวอักษรวิกับกุฎีเจ็ดหลังซึ่งสร้างแล้วนั้นจึงถวายพระนามชื่อว่าวิหารเทวี พระราชบุตรองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า มุนะ ครั้นต่อไปในเบื้องหน้าพระราชบุตรชื่อว่ามุนะนี้ได้ครองราชสมบัติ คนทั้งปวงก็เรียกพระวิหารเทวีนั้น ชื่อว่าพระมหาเทวีเหตุว่าเปนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้ารามมะไตยเกิดพระราชบุตรด้วยแม่นางตะปีสองพระองค์ พระองค์หนึ่งชื่อว่ามิฉานเปนพระราชบุตรี พระราชบุตรรององค์หนึ่งชื่อว่ามังลังกา ครั้นมังลังกาค่อยจำเริญขึ้นมา พระราชบิดาให้ยกทัพไปตีเมืองทวายก็ได้เมืองทวาย อยู่มาครั้งหนึ่งชีปอนซึ่งได้คุมไทยห้าร้อยเปนกำลังคิดกลอุบายปลูกเรือนฝากระดานน้อยเรือนหนึ่ง ครั้นเรือนแล้วจึงไปทูลเชิญพระเจ้ารามมะไตยว่า ขอเชิญพระองค์เสด็จไปเหยียบเรือนข้าพเจ้าให้เปนเกียรติยศไว้ พระเจ้ารามมะไตยก็ทรงพระเมตตาแก่ชีปอนว่าเปนข้าหลวงเดิมมา แล้วก็ได้เลี้ยงพระองค์มาแต่ยังเยาว์อยู่นั้น หาความสงสัยพระทัยไม่ ก็เสด็จลงไปสู่เรือนชีปอน ๆ กับไทยห้าร้อยก็จับพระเจ้ารามมะไตยฆ่าเสีย พระเจ้ารามมะไตยก็สวรรคต พระเจ้ารามมะไตยได้เสวยราชสมบัติในศักราช ๖๘๑ ปี เสวยราชได้แปดปีทิวงคต ในศักราช ๖๘๙ ปี แต่กษัตริย์ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะ ตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วมาจนถึงพระเจ้ารามมะไตย เปนสี่พระองค์ด้วยกันในเมืองเมาะตะมะ
ฝ่ายแม่นางอำปะพระอัครมหเสีเอก อันตั้งพระนามชื่อว่า นางจันทะมังคะละนั้น กับนางนักสนมทั้งปวง จึงลอบเอาเงินทองไปให้แก่เสนาคนหนึ่งชื่อว่าเจตะสงคราม ให้คิดฆ่าชีปอนเสีย เจตะสงครามรับเงินทองแล้วก็ยกไปฆ่าชีปอนเสีย แลชีปอนได้เปนใหญ่ในเมืองเมาะตะมะได้เจ็ดวันก็ตาย ในศักราช ๖๘๙ ปี แต่กษัตริย์ได้ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะเปนห้าพระองค์ ครั้นชีปอนตายแล้ว อายกำกองผู้เปนราชบุตรพระเจ้าแสนเมืองมิง ซึ่งเปนหลานพระเจ้ารามมะไตย ๆ ให้จำไว้นั้น ครั้นอยู่มา นางจันทะมังคะละคิดให้ถอดออกจากโทษ ยกราชสมบัติให้ อายกำกองได้ราชสมบัติแล้ว มิได้กตัญญูรักใคร่นางจันทะมังคะละ ๆ ลอบเอายาพิศม์ใส่ให้อายกำกองกิน อายกำกองก็ถึงแก่ความตาย แต่กษัตริย์ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะได้หกพระองค์ ครั้นอายกำกองถึงแก่อาสัญกรรมแล้ว พระยาอายลาวเปนใหญ่อยู่ในเมืองสะโตง แล้วยกไปอยู่เมืองพะโค มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ อายลอง นางอำปะให้ไปเชิญมา จะยกราชสมบัติให้ พระยาอายลาวจึงพาเอาอายลองซึ่งเปนบุตรไปเมืองเมะตะมะด้วย พระยาอายลาวก็เอานางอำปะภิเศกเปนอัครมเหษี พระยาอายลาวได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาตะมะ ๆ กับเมืองสุโขทัยขาดทางพระราชไมตรีกันแต่นั้นมา
ขณะนั้นในเมืองเมาะตะมะ เมืองพะโค เมืองสะโตง เมืองพะสิมนั้น บังเกิดเข้ายากหมากแพง อาณาประชาราษฎรนั้นล้มตายเปนอันมาก พระยาช้างเผือกก็งาหัก ครั้นอยู่มา พระยาอายลาวจึงทรงดำริห์ว่า ถ้ากูล่วงลับไปแล้ว มุนะผู้เปนบุตรนางตะปีกับลูกกูนี้ใครจะได้ราชสมบัติ จำกูจะลองความคิดคนทั้งสองดู ทรงดำริห์แล้ว ทำเปนทรงพระประชวร มิให้พระอัครมเหษีแลนางนักสนมเข้าใกล้ ให้แต่คนที่ไว้พระทัยเข้าใช้ใกล้พระองค์แต่สองคนสามคน ครั้นอยู่มาทำประชวรหนักลง นางนักสนมจึงพูดแก่กันอย่าให้แพร่งพรายไปว่า ทรงพระประชวรหนักลง
ฝ่ายอายลองพระราชโอรสนั้น คุมพลทหารไปจับมุนะ ๆ ตีแตกมา แล้วมุนะยกพวกพลติดตามมาจะจับเอาอายลอง พระเจ้าอายลาวเห็นวุ่นวาย จึงร้องตวาดออกมาว่า อ้ายสองคนพี่น้องทำไมกัน ฝ่ายทหารมุนะได้ยินพระสุรเสียงพระยาอายลาวร้องตวาดออกมา ก็วิ่งหลบลี้หนีไป พระยาอายลาวทำอาการประดุจหนึ่งทรงพระโกรธแก่มุนะ ว่าพวกพ้องข้าไทยมันมาก มันจึงทำข่มเหงแก่ลูกกูได้ถึงเพียงนี้ จึงสั่งให้จำมุนะไว้
ครั้นอยู่มานางจันทะมังคะละ กับนางสะเจียงทูลขอโทษมุนะ พระยาอายลาวโปรดมุนะพ้นโทษ ครั้นอยู่มาอายลองพระราชโอรสพระเจ้าอายลาวเปนอหิวาตกโรคดับสูญสิ้นพระชนม์ พระยาอายลาวผู้เปนพระราชบิดา ได้เสวยราชสมบัติเมืองเมาะตะมะได้สิบแปดปี ลุศักราช ๗๐๗ ปี ก็สวรรคต ตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะ ได้ช้างเผือกผู้เปนปถมราชพาหนะ มาตราบเท่าพระยาอายลาว ลำดับกษัตริย์ต่อมา พระนามปรากฎเรียกว่า พระเจ้าช้างเผือกทุกพระองค์ ล่วงไปได้เจ็ดพระองค์ด้วยกัน แลพระองค์ซึ่งเปนเคารบแปด คือมุนะได้ราชาภิเศกในราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้าอู่
อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าอู่เสด็จไปคล้องช้างเมืองพะโค เมื่อเสด็จกลับมานั้นพบสตรีผู้หนึ่งอยู่ในสวนกล้วย เปนบุตรีชาวสวนกล้วย มีลักษณะงามหาที่สุดมิได้ ชื่อว่าเม้ยโกสก แปลเปนคำไทยว่านางผมงาม พระเจ้าอู่มีพระทัยเสน่หารักใคร่ในนางนั้นนัก จึงให้ตกแต่งมรรคาสรรพไปด้วยราชวัตรฉัตรธง ต้นกล้วยต้นอ้อยมีร้านน้ำสองข้างมรรคา รับสตรีนั้นเข้ามาเมืองเมาะตะมะ เลี้ยงเปนพระสนมเอก ให้ชื่อว่านางอำเปอ
ขณะนั้นชาวเมืองทั้งปวงซึ่งได้เห็นรูปนางนั้น ก็ตบมือรำทำเพลงว่า ตักกะตอยลัดอูรูปะนะโกลนโกญปะราตะลาญ แปลเปนภาษาไทยว่า นางรูปงามทรามสวาทผาดหน้าดี มีศรีแก่นางทั้งหลาย ลูกชาวบ้านกล้วยป่า แลนางอำเปอนั้น พระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกเปนที่เสน่หารักใคร่ยิ่งนัก ครั้นอยู่มานางจันทะมังคะละซึ่งเปนพระอัครมเหษีตาย จึงตั้งนางอำเปอขึ้นเปนอัครมเหษี ให้ชื่อว่านางจันทะมังคะละ
ฝ่ายอำมาตย์คนหนึ่งนั้น มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่ามะสามบุญ ๆ มีลูกหญิงสี่คน ๆหนึ่งชื่อว่ามุเอียด คนหนึ่งชื่อว่ามุกอ คนหนึ่งชื่อว่ามุชีพ คนหนึ่งชื่อว่า มุเตียว ทั้งสี่คนนั้นอำมาตย์ผู้เปนบิดาเอาขึ้นไปถวายพระเจ้าอู่ ๆ รับเอาไว้คนหนึ่งชื่อว่ามุเตียว เปนน้องที่สุดแล้วพระราชทานให้มังลังกา ตั้งมังลังกาเปนยี่กองสิน ให้ไปกินเมืองพะโค แลมุเตียวนั้นมีบุตรคนหนึ่งชื่อว่าบุญลาภ ครั้นจำเริญอายุขึ้นมา พระเจ้าอู่โปรดให้ไปกินเมืองตะเกิง พระเจ้าอู่เสวยราชได้สามปี ในศักราช ๗๑๐ ปี พระเจ้าเชียงใหม่จึงแต่งกองทัพแปดทัพๆ ละหมื่น ให้อูพิดเปนแม่ทัพยกไปตีเมืองเมาะตะมะ แลกองทัพยกไปตีเมืองสะโตง เมืองตักคลา เมืองวาน เมืองยางงิน เมืองนครเถิง เมืองเหล่านี้แตกหมดมาตั้งกองทัพอยู่ณบ้านปลายไผ่แปดทัพ ใกล้เมืองเมาตะมะทางสองร้อยเส้น ชาวเมืองเมาะตะมะออกไปหาเข้าปลาก็ขัดสน สมณชีพราหมณ์เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรก็ได้ความร้อนรนนัก จึงมาประชุมปรึกษาพร้อมกันว่า แต่ก่อนเปนบุรพจารีตสืบมา ถ้าจะมีศึกสงครามมาแต่ประเทศทิศใด ก็ย่อมให้แต่งบวงสรวงพลีกรรมบูชาเทพยดาอารักษ์ พระเสื้อเมืองทรงเมืองกับพระยาช้างเผือก ข้าศึกก็จะพ่ายหนีไป ปะโรหิตจึงเอาเนื้อความทั้งนี้ขึ้นไปบังคมทูลพระเจ้าอู่ ๆ แจ้งแล้ว ครั้นเวลากลางคืน เทพยดาเจ้าอันรักษาพระยาช้างเผือก จึงบันดาลให้พระเจ้าอู่ทรงสุบินนิมิตว่า ให้ทำต้องกันกับปะโรหิตกราบทูล ครั้งพระเจ้าอู่ตื่นบรรทมขึ้นแจ้งในนิมิตแล้ว ก็มีความยินดีนัก จึงให้อาราธนาสมณชีพราหมณ์ ให้ปลูกศาลบวงสรวงเทพยดาอารักษ์กับโรงพระยาช้างเผือกบนยอดเขาไกล้เชิงกำแพงเมือง แล้วให้ล้อมด้วยราชวัตรฉัตรธง จึงให้ประดับพระยาช้างเผือกด้วยเครื่องคชาอาภรณ์อันอลงการ แล้วเชิญเข้าสถิตย์ในโรง ยืนเหนือแผ่นศิลาบ่ายหน้าไปต่อราชสัตรู แล้วให้เอาอ่างทองคำมาใส่น้ำพระพุทธมนต์ตั้งไว้ตรงหน้าพระยาช้างเผือก ปะโรหิตจึงอธิษฐานว่า ขอให้พวกอรินทร์ราชไพรีพ่ายแพ้หนีไป ด้วยอำนาจพระเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินและอำนาจพระยาช้างเผือก
ฝ่ายพระยาช้างเผือกก็เอางวงสูบในอ่างทอง พ่นน้ำออกไปโดยทิศข้าศึกตั้งนั้น ฝ่ายรี้พลช้างม้ากองทัพเมืองเชียงใหม่ซึ่งประชิดเมืองเมาตะมะนั้น ก็ตกใจตื่นเหยียบผู้คนอลหม่านไป ครั้นพระเจ้าอู่แจ้งเหตุดังนั้นแล้ว จึงให้ยกกองทัพออกโจมตีกองทัพเมืองเชียงใหม่ ๆ ก็แตกพ่ายไป ทิ้งเครื่องสาตราวุธเครื่องอุปโภคบริโภคเสียสิ้น ทหารแลอาณาประชาราษฎรในเมืองออกเก็บเอาของที่กองทัพทิ้งเสียนั้นได้เปนอันมาก
ขณะนั้นเมืองเมาะตะมะ มีชัยแก่ข้าศึกเพราะพระยาช้างเผือกครั้งนั้น จึงทรงพระนามชื่อว่าพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือก ครั้งอยู่มาพระเจ้าช้างเผือก ทรงพระราชศรัทธาจะใคร่ทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้ถาวรสืบไป จึงให้แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการบรรทุกสำเภาออกไป ขอพระบรมสารีริกธาตุณเมืองลังกาทวีป พระเจ้าลังกาครั้นแจ้งแล้ว ก็ทรงพระโสมนัศยินดีมีศัทธาด้วยพระเจ้าช้างเผือก ก็สั่งให้จัดแจงเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุให้ราชทูตมาเปนอันมาก พระเจ้าช้างเผือกจึงให้สร้างพระสถูปกลอมปอน แปลเปนภาษาไทยว่าพระเจดีย์ใหญ่ร้อยอ้อม จึงเชิญพระสารีริกธาตุบรรจุไว้แล้ว ให้หล่อรูปฉลองพระองค์แลรูปพระอัครมเหษี รูปพระมหาเทวีอันเปนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ แลรูปนางนักสนมแลเสนาบดีแล้วไปด้วยทองคำตั้งไว้บูชาพระสถูป ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงถวายพระนามพระสถูปนั้นว่าพระเจดีย์กลอมปอน ก็ปรากฎอยู่ณเมืองเมาะตะมะมาคุงเท่าบัดนี้ แลพระเจ้าช้างเผือกได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะได้หกปี
ขณะนั้นศักราชได้ ๗๑๖ ปี นายช้างเอาช้างเผือกลงน้ำให้เกิดอัสจรรย์เปนพายุพัดหนักอากาศมืดมน ช้างนั้นก็อันตรธานหายไป ครั้นพระเจ้าช้างเผือกแจ้งดังนั้น ก็ทรงพระวิตกมีพระทัยเศร้าหมองยิ่งนัก
ขณะนั้นยังมีหมอช้างคนหนึ่งมากราบทูลว่า ในป่าละภูนั้นมีช้างใหญ่ตัวหนึ่ง รอยเท้าได้ศอกขนาด ควรที่จะเปนช้างพระที่นั่งได้ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกแจ้งเนื้อความซึ่งหมอช้างมากราบทูลดังนั้นก็มีพระทัยยินดีนัก จึงพระราชทานรางวัลให้แก่หมอช้างผู้นั้นเปนอันมาก แล้วพระเจ้าช้างเผือกจึงสั่งให้เกณฑ์เอาพระตะเบิดพี่เขยซึ่งกินเมืองตะเกิง แลอำมาตย์ปานจอซึ่งกินเมืองวาน สมิงนารายน์ซึ่งกินเมืองสะโตง มะสามน้องสมิงชีพรายซึ่งกินเมืองตักคลา เจ้าพระลักษ์กินเมืองเสพทั้งห้าเมือง มาพร้อมกันเปนคนหกหมื่นเศษ พระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จไปป่าละภู กับทั้งพระราชบุตรพระราชธิดาพระราชวงษานุวงษ์ แลพระอัครมเหษี นางพระสนมกรมในทั้งปวง เสด็จอยู่ณป่าละภูประมาณสี่เดือน มะละคอน น้องชายสมิงเลิกพร้านั้น ก็ไปตามเสด็จด้วย
ฝ่ายพระตะบะผู้รักษาเมืองเมาะตะมะนั้น ภายหลังคิดกันทำการขบถต่อพระเจ้าช้างเผือก ส่วนตัวพระตะบะนั้นแข็งเมืองเมาะตะมะ อายพะบูนผู้น้องแข็งเมืองนครเพน อุเลวนั้นแข็งเมืองเมาะลำเลิง สมิงเลิกพร้านั้นแข็งเมืองมองมะละ พระตะบะนั้นเหตุว่า มีลูกหลานมากจึงคิดร้ายต่อพระเจ้าช้างเผือก ๆ เสด็จล้อมช้างอยู่ณป่าละภูนั้น ทอดพระเนตร์เห็นดาวกฤติกา ซึ่งโลกสมมุติเรียกว่าดาวลูกไก่ นั้นเข้าในดวงพระจันทร์ จึงตรัสถามราชาปะโรหิตว่าเหตุนี้จะเปนประการใด สมิงขะเจียงสะมิดโหร จึงกราบทูลทำนายว่า เปนประเพณีสืบมา พระจันทร์เปนใหญ่กว่าดาวทั้งปวง ถ้าดาวดวงใดใกล้พระจันทร์แล้ว รัศมีพระจันทร์ก็กลบสีดาวลบหายไป อันพระจันทร์ดุจพระมหากษัตราธิราชเจ้า ดาวนั้นดุจดังเสนาบดีทั้งปวง ซึ่งเปนบริวารพระมหากษัตริย์ ครั้นเข้าใกล้พระมหากษัตริย์แล้วอานุภาพก็หายไป บัดนี้ดาวกฤติกาเข้าใกล้ดวงพระจันทร์ตลอดไป รัศมีก็สว่างอยู่หามลทินมิได้ พระจันทร์ก็ส่องสว่างอยู่ด้วยกันดังนี้ ต้องในคัมภีร์โหรว่า เสนาบดีจะคิดขบถประทุษฐร้ายต่อพระองค์ ซึ่งจะช้าอยู่ในป่านี้ข้าศึกจะมีกำลังมากขึ้น ไพร่พลในกองทัพก็เจ็บป่วยเปนอันมาก ขอเชิญเสด็จพระองค์ยกกองทัพกลับคืนเข้าพระนคร พระเจ้าช้างเผือกก็เห็นชอบด้วย
ครั้นเวลารุ่งเช้า พระเจ้าช้างเผือกก็สั่งให้ยกกองทัพกลับมา ครั้นถึงบ้านปลายไผ่ริมเมืองเมาะตะมะ พระตะบะรู้จึงให้ปิดประตูเมืองไว้ พระเจ้าช้างเผือกแจ้งเหตุแล้ว จึงสั่งทหารสมิงนารายน์ว่า เราจะยกเข้าตีเมืองเมาะตะมะ พระเจ้าช้างเผือกกับเสนาบดีจัดไพร่พลพร้อมแล้ว ก็ยกเข้าถึงประตูเมือง ชาวเมืองเมาะตะมะเห็นพระเจ้าช้างเผือกก็ตกใจกลัวนัก จะใคร่เปิดประตูเมืองให้ แลพี่น้องเมียคชาอิดซึ่งเปนนางท้าวข้างใน ชวนกันเปิดประตูจะรับพระเจ้าช้างเผือก
ขณะนั้นมะอายพะบูนผู้น้องพระตะบะ ซึ่งร่วมคิดด้วยพี่ชาย ขี่ช้างพลายกับทหารพันหนึ่งมาถึงประตูนั้น ให้จับพวกเม้ยคชาอิดตัดศีร์ษะเสีย แล้วเอาไปตระเวนตีฆ้องร้องว่า ถ้าผู้ใดทำดังนี้อีก มิได้รักษาหน้าที่เชิงเทินจะให้ลงพระราชทัณฑ์ตัดศีร์ษะเสีย ชาวเมืองทั้งปวงเห็นดังนั้น ก็กลัวอาญารักษาหน้าที่เชิงเทินไว้เปนสามารถ
ฝ่ายกองทัพพระเจ้าช้างเผือก จะหักหาญรบเข้าไปในเมืองนั้นมิได้ เสนาบดีข้างพระเจ้าช้างเผือกนั้น ร้องเรียกบุตรภรรยาเข้าไป ฝ่ายพระตะบะรู้ก็จับเอาบุตรภรรยาเสนาบดีซึ่งอยู่ด้วยพระเจ้าช้างเผือกมัดแขวนขึ้นไว้ให้เห็น ฝ่ายนายทัพนายกองข้างพระเจ้าช้างเผือก เห็นบุตรภรรยาต้องผูกมัดเจ็บช้ำลำบากอยู่ ต่างคนต่างสงสารนิ่งอยู่มิได้ก็หนีพระเจ้าช้างเผือกเข้าไปหาบุตรภรรยาของตนบ้าง
ฝ่ายพระตะบะก็ให้ปล่อยลูกเมียนายทัพนายกอง ซึ่งมัดไว้นั้นออกเสียให้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้หนีมาเข้านั้นเปนอันมาก ผู้ซึ่งไม่มาเข้าหานั้น พระตะบะให้ทำโทษบุตรภรรยามากขึ้น ครั้นเวลากลางคืนทหารในกองทัพพระเจ้าช้างเผือก ก็หนีไปในเมืองเปนอันมาก แต่สมิงราชสังครำคนหนึ่งนั้น คิดกตัญญูต่อพระเจ้าอู่พระเจ้าช้างเผือกว่า พระองค์เลี้ยงดูได้ดีมา จะหนีเข้าไปหาพระตะบะเหมือนคนทั้งปวงหาควรไม่ ถึงพระตะบะจะทำโทษแก่บุตรภรรยาสักเท่าใด ก็เปนเวรานุเวรเขาทำมาแต่ก่อนเอง จะเอาเวรเขามาใส่เวรเราได้หรือ จำจะอาษาไปกว่าจะสิ้นชีวิต จึงสมิงสะมอนเปนเสนาบดีผู้น้อยคนหนึ่ง เข้าไปกราบทูลพระเจ้าอู่พระเจ้าช้างเผือกว่า คนหนีเข้าไปในเมืองเปนอันมากกองทัพเราเบาบางไป ที่ยังมาข้างหลังก็มามิทัน เห็นไพร่พลอิดโรยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเจ็บปวดเปนอันมาก บรรดานายทัพนายกองที่เปนคนต่างพระเนตร์พระกรรณของพระองค์ ซึ่งไปอยู่เมืองพะโคนั้นให้หามาก็ยังมิทัน พระองค์จะเสด็จอยู่นี่นานไปกำลังศึกเราจะน้อยไป ข้าพระพุทธเจ้าจะขอเชิญเสด็จพระองค์ไปตั้งทัพณเมืองวานก่อน เมื่อใดพระตะเบิดพี่เขยพระองค์ซึ่งกินเมืองตะเกิงนั้น มาถึงพร้อมกันกำลังศึกเรามากแล้วเมื่อใด จึงเชิญเสด็จยกโยธาทหารมาตีเมืองเมาะตะมะเมื่อนั้น อันพระตะบะนี้เปรียบประดุจสุนักข์จิ้งจอกอันน้อย จะมาสู้พระองค์ซึ่งเปนพระยาราชสีห์ได้ฉันใด
ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือก ได้ฟังสมิงสะมอนกราบทูลดังนั้น เห็นชอบด้วย จึงสั่งให้กวาดต้อนครอบครัวซึ่งอยู่นอกเมืองนั้นให้ล่วงไปอยู่เมืองวานแล้ว พระองค์ก็ยกกองทัพไปตั้งมั่นอยู่ณเมืองวาน แลเมืองเมาะตะมะกับเมืองวานทางไกลกันสองวัน ฝ่ายพระตะเบิดพี่เขย แลนายทัพนายกองน้อยใหญ่ซึ่งอยู่ณเมืองตะเกิงนั้น ก็ยกมาถึงเมืองวานพร้อมกัน พระเจ้าช้างเผือกจึงสั่งให้ก่อกำแพงเมืองวาน
ขณะนั้นศักราช ๗๑๗ ปี พระเจ้าช้างเผือกตั้งอยู่ณเมืองวานให้หาเสนาบดีมาพร้อมกัน พอเปนฤดูฝนไพร่พลไม่ได้ทำนา ครั้นรุ่งขึ้นปีใหม่ พระเจ้าช้างเผือกจึงแต่งให้พระตะเบิด พี่เขยพระเจ้าช้างเผือกเปนแม่ทัพ สมิงราชสังครำทัพหนึ่ง สมิงนครซึ่งกินเมืองพะโคทัพหนึ่ง พร้อมด้วยช้างม้ารี้พลเครื่องสาตราวุธ ให้ถือน้ำพิพัฒน์สัจจาแล้ว จึงให้ยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะมะ ล้อมเมืองเมาะตะมะไว้
ฝ่ายพระตะบะแต่งกองทัพออกมาตีพระตะเบิดก่อน แลสมิงมะละครน้องสมิงเลิกพร้า ภักดีต่อพระเจ้าช้างเผือก เปนใจรบพุ่งตัดศีร์ษะกองทัพพระตะบะได้เนืองๆ แจ้งไปถึงพระเจ้าช้างเผือก ๆ ก็ดีพระทัยหนัก แต่ล้อมเมืองเมาะตะมะไว้สิบห้าวัน ผู้คนซึ่งอยู่ในเมืองเมาะตะมะก็กลัวพระเจ้าช้างเผือกนัก พระตะเบิดจึงใช้ให้คนเข้าไปบอกแก่แม่มะสำโรว่า เรายกมาล้อมเมืองอยู่นี่ก็ช้านานแล้ว ยังไม่เห็นสิ่งของที่จะเปนของคาวของหวานมาสู่ให้เรากินดังแต่ก่อนบ้างเลย แม่มะสำโรจึงว่าข้าพเจ้าเปนผู้หญิงดอก จะได้คิดขบถต่อพระเจ้าช้างเผือกนั้นหามิได้ ครั้นจะแต่งเข้าของออกไปให้กินอย่างแต่ก่อน กลัวพระตะบะจะฆ่าเสีย จึงนิ่งจนใจอยู่ แลซึ่งพระตะบะทำการขบถทั้งนี้ ก็เปนกรรมของพระตะบะตกแต่งใส่ตัวเอง ข้าพเจ้าขอถวายบังคมมาถึงฝ่าพระบาทพระเจ้าช้างเผือกด้วยเถิด นอกกว่าพระตะเบิดพี่เขยพระเจ้าช้างเผือกแล้ว ผู้ใดจะเปนที่พึ่งข้าพเจ้านั้นหามิได้ ทุกวันนี้เห็นแต่พระตะเบิดเปนที่พึ่งผู้เดียว จึงแม่มะสำโรเอาเรื่องราวทั้งนี้ไปบอกแก่พระตะบะ ๆ ก็ดีใจ พระตะบะจึงว่าแก่แม่มะสำโรว่า จะให้สิ่งของออกไปแก่พระตะเบิดก็ตามเถิด แม่มะสำโรได้โอกาสดังนั้นก็ตกแต่งเข้าของออกไปให้พระตะเบิดกินเนือง ๆ พระตะเบิดกินของหาสงสัยไม่ ครั้นหลายวันมา พระตะบะจึงให้เอายาพิศม์ลอบไปใส่ในของกินซึ่งแม่มะสำโรเอาไปให้พระตะเบิดนั้น ครั้นพระตะเบิดกินเข้าไปก็ถึงแก่ความตาย พระตะบะรู้ว่าแม่ทัพหลวงตายแล้ว จึงแต่งกองทัพออกไปโจมตี กองทัพทั้งนั้นก็แตกพ่ายไป ทิ้งอาศพพระตะเบิดไว้ พระตะบะก็เอาอาสภพระตะเบิดเผาเสีย
ขณะเมื่อพระตะเบิดตายแล้ว พระเจ้าช้างเผือกหาความสบายในพระทัยมิได้ จึงพระเจ้าช้างเผือกยกมหาเทวีพระเจ้าพี่นางให้เปนภรรยาไชยสุระ แล้วแต่งให้ไชยสุระเปนแม่ทัพ ยกทหารกลับไปตีเมืองเมาะตะมะอีกครั้งหนึ่ง แลไชยสุระนั้นขี่ช้างพลายเข้าหักกำแพงเมือง ชาวหน้าที่เชิงเทินก็ทิ้งขว้างหม้อดินแลสุพรรณถันออกไป ข้างไชยสุระก็ถอยออกมา แล้วทหารบนหน้าที่ยิงเกาทัณฑ์ไปถูกไชยสุระตาย พระตะบะจึงให้ยกกองทัพออกตามตี ทัพไชยสุระก็แตกพ่ายไป จับได้ทหารไชยสุระสามคน ชื่อว่าเจตะราชหนึ่ง สามลามุตองหนึ่ง ทะละเชชหนึ่ง พระตะบะให้เอาทหารสามคนไปปล่อยเสียณเมืองฝรั่ง กองทัพไชยสุระก็แตกกลับไปเมืองวาน อยู่มาฝ่ายสมิงเลิกพร้ายกขึ้นไปตีเมืองหลากแหลก เจ้านครษา ซึ่งกินเมืองหลากแหลกนั้น ต้านทานมิได้ก็แตกหนีไป ตัวเจ้านครษาก็ถึงแก่ความตาย สมิงเลิกพร้าก็ได้เชลยเปนอันมาก
ฝ่ายกองทัพพระเจ้าช้างเผือก ตั้งอยู่ในหว่างศึกกระหนาบบมิอาจไหวตัวได้ ฝ่ายสมิงมะละคอนซึ่งเปนน้องสมิงเลิกพร้านั้นอยู่ข้างพระเจ้าช้างเผือก จึงกราบทูลพระเจ้าช้างเผือกว่า พี่ข้าพเจ้าเปนขบถต่อพระองค์ ตัวข้าพเจ้าหาเปนขบถด้วยไม่ ข้าพเจ้าจะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิต บุตรภรรยาของข้าพเจ้าจะขอไว้ใต้ลอองธุลีพระบาท ตัวข้าพเจ้าจะขอรับพระราชทานไปอยู่เมืองหลากแหลกจะขอต่อด้วยสมิงเลิกพร้า มิให้สมิงเลิกพร้ามาย่ำยีได้ คำข้าพเจ้ากราบทูลนี้ ถ้าพระองค์มิไว้พระทัย ข้าพเจ้าขอถวายความสัตย์ไว้ จะขอรับพระราชทานโลหิตในพระบาทแห่งพระองค์ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกทราบแล้ว ก็ให้มะละคอนกระทำความสัตย์กินโลหิตพระบาท จึงพระราชทานให้ชื่อว่า สมิงสามปราบให้กินเมืองหลากแหลก ครั้นสมิงสามปราบได้กินเมืองหลากแหลกแล้ว สมิงเลิกพร้าผู้พี่รู้ข่าวไป ก็ยกกองทัพมาตีสมิงสามปราบ ๆ ผู้น้องก็รบต้านทานอยู่ได้ แต่พระเจ้าช้างเผือกให้ไปตีเมืองเมาะตะมะถึงสองครั้ง ๆ หนึ่งพระตะเบิดเปนนายทัพไปตี ก็ถูกยาพิศม์ถึงแก่ความตาย กองทัพก็เลิกกลับมา อีกครั้งหนึ่งให้ไชยสุระไปตีก็ถูกเกาทัณฑ์ถึงแก่ความตาย กองทัพก็เลิกกลับมา ตั้งแต่นั้นไม่ให้ยกไปตีเลยตั้งมั่นอยู่ณเมืองวาน
ฝ่ายพระตะบะกับญาติวงษ์ทั้งปวง ซึ่งอยู่ในเมืองเมาะตะมะนั้นจึงปรึกษากันว่า พระเจ้าช้างเผือกตั้งมั่นอยู่ณเมืองวาน เราท่านทั้งปวงหาความสุขไม่ ครั้นจะยกกองทัพไปตีโดยกำลังก็เห็นจะกระทำมิได้ เราคิดจะไปขอกองทัพพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ยกลงมาช่วยตีกระหนาบ เห็นจะได้มีชัยชะนะฝ่ายเดียว ครั้นคิดพร้อมกันแล้ว จึงให้จัดแจงแหวนพลอยอันมีค่าต่าง ๆ ทองคำกับสักหลาดแพรม้วนหนึ่ง ผ้าสีหร่ำโมรีเปนเครื่องราชบรรณาการ แล้วให้แต่งพระราชสาส์นไปถึงพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ในพระราชสาส์นนั้นว่า ข้าพเจ้าพระตะบะขอน้อมเศียรเกล้าถวายบังคมพระบาทยุคลสมเด็จพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ให้แจ้ง ด้วยแต่ก่อนนั้นข้าพเจ้าเปนข้าพระเจ้าช้างเผือกมานานแล้ว ทุกวันนี้น้ำใจขุ่นหมอง ข้าพเจ้าจะนอนที่ใดก็ผินเท้าไปข้างพระเจ้าช้างเผือก ผินศีร์ษะมาข้างพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกก็ยกไปตั้งอยู่ณเมืองวาน ได้ทำสงครามรบพุ่งติดพันธกันมาหลายครั้ง ยังหาแพ้ชนะกันไม่ ข้าพเจ้าจะขอรับพระราชทานกองทัพสมเด็จพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ยกมาช่วย ตั้งอยู่ที่เมืองสะเติงเปนทัพกระหนาบ เห็นว่ากองทัพพระเจ้าช้างเผือกจะพ่ายหนีไป ถ้าข้าพเจ้าได้เปนใหญ่ในเมืองเมาะตะมะแล้ว ชีวิตข้าพเจ้ามีอยู่ตราบใดอันเมืองเมาะตะมะนี้ ข้าพเจ้าขอถวายไว้ใต้ฝ่าพระบาทขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่
ฝ่ายพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ รับเครื่องราชบรรณาการแล้ว ก็มีหนังสือตอบมาว่า จะยกกองทัพลงมาช่วยพระตะบะ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกแจ้งว่า พระตะบะให้ไปขอกองทัพพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ๆ จะยกมาช่วยพระตะบะ จึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีว่า กองทัพเมืองเชียงใหม่จะยกมาตั้ง ณเมืองสะเติง จะคิดประการใดดี
เสนาบดีกราบทูลว่า สงครามครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ด้วยว่ากองทัพเมืองเชียงใหม่ยกลงมาตั้งณเมืองสะเติง ถ้ากองทัพยกเข้าตีเปนสองทัพกระหนาบเข้ามา พระตะบะจะมีน้ำใจกำเริบ ก็จะตีหักเข้ามาได้ ฝ่ายทัพข้างเราจะขัดสนนัก ขอเชิญเสด็จพระองค์ยกกองทัพไปตั้งเมืองพะโคก่อนผ่อนเอากำลังไว้ พระเจ้าช้างเผือกจึงตรัสว่า ถ้าเราจะยกไปตั้งเมืองพะโคแล้ว เมืองเมาะตะมะนี้จะมิเปนสิทธิ์แก่พระตะบะหรือ เสนาบดีทั้งปวงจึงทูลว่า ถ้าพระองค์มิยกไปจะตั้งมั่นอยู่ณเมืองวานนี้ก็เห็นจะได้อยู่ ข้าพเจ้าจะอุปมาถวายอันธรรมดาไฟไหม้ปถพีร้อน ถึงจะมีของดีเปนที่รักก็จำจะเอามาทำเปนรองเท้าเหยียบไป จึงจะหนีเพลิงซึ่งร้อนได้ บัดนี้ก็มีศึกสงครามมา จะทำอันตรายแก่บ้านเมืองแห่งเรา อันประเพณีศึกจะหย่อนกำลังหาญเหือดลงนั้น ก็เปนต้นด้วยโลกีเปนที่ตั้ง จึงจะเกิดกำหนัดตัดความหาญเหือดลงได้ พระองค์มีพระราชธิดาอยู่ขอให้แต่งตะละแม่ศรีไปอ่อนน้อมแก่พระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ เห็นการสงครามก็จะเหือดหายไปเปนมั่นคง
ครั้นพระเจ้าช้างเผือกได้ฟังถ้อยคำอำมาตย์แพรจอกราบทูลดังนั้นก็เห็นชอบด้วย จึงแต่งราชธิดาแลเครื่องราชบรรณาการ กับช้างพลายห้าช้าง ขึ้นไปถวายพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ๆ ก็ดีพระทัยหนักมิได้ยกทัพลงมา แต่พระเจ้าช้างเผือกเสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะได้สิบห้าปี พระตะบะแข็งเมืองอยู่ได้หกปี ครั้นอยู่มาฝ่ายนางจันทะมังคะละพระอัครมเหษีพระเจ้าช้างเผือกประชวรหนัก จึงกราบทูลพระเจ้าช้างเผือกว่าหลานของข้าพเจ้าคือ มะยีกำกองคนนี้ ข้าพเจ้ารักดังบุตรในอุทร ไปภายหน้าพระองค์อย่าได้รังเกียจ ข้าพเจ้าขออภัยในมะยีกำกองเปนอันขาดทีเดียว พระองค์ทรงพระเมตตาแก่ข้าพเจ้าฉันใด จงทรงพระเมตตาแก่มะยีกำกองฉันนั้น พระเจ้าช้างเผือกครั้นได้ฟัง พระองค์มิได้ตรัสประการใด ครั้นอยู่มานางจันทะมังคะละผู้เปนพระอัครมเหษีพระเจ้าช้างเผือกถึงแก่พิลาลัยไปสู่ปรโลก ครั้งนั้นพอบุตรอำมาตย์แพรจอนั้นถึงแก่ความตายด้วย แลอำมาตย์แพรจอซึ่งเปนบิดานั้น เปนที่คิดอ่านราชการแก่พระเจ้าช้างเผือก ๆ จึงสั่งให้โกนศีร์ษะทั้งเมือง
ฝ่ายพระตะบะรู้จึงแต่งอายพะบูนผู้น้อง คุมไพร่ห้าร้อยโกนศีร์ษะสิ้นทุกคน ให้ปลอมไปปล้นเอาเมืองวาน อายพะบูนจึงยกพลห้าร้อยกับช้างพลายร้อย ครั้นกลางวันเข้าซุ่มซ่อนอยู่ในป่า กลางคืนก็เร่งรีบไปก่อนสว่าง เวลาเช้าตรู่ชาวบ้านเมืองเปิดประตูก็ปลอมเข้าไป นายประตูแลชาวเมืองทั้งปวงหาทันสงสัยไม่ ครั้นเข้าไปในเมืองได้ ก็คุมกันเปนกองทัพไล่ตีทั่วทั้งเมือง ชาวเมืองก็ตื่นแตกกระจัดพลัดพรายไป
ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกเสด็จขึ้นช้างพังตัวหนึ่ง ก็ขับช้างหนีไปแต่กับนายช้างคนหนึ่ง พวกพลทหารตามมิทัน ครั้นถึงคลองอันหนึ่ง ช้างลงข้ามคลองติดโคลน ถอนเท้ามิขึ้น นายช้างจึงเข้าแบกเอาพระเจ้าช้างเผือกพารีบเข้าป่าฝ่าพง เมื่อพระเจ้าช้างเผือกอยู่บนหลังนายช้างพาไปนั้น เห็นสิ่งใดก็ถามเนือง ๆ ฝ่ายควานช้างซึ่งแบกพระเจ้าช้างเผือกมานั้นเหนื่อย พระเจ้าช้างเผือกถามสิ่งใดก็พูดบ้างนิ่งเสียบ้าง ครั้นพระเจ้าช้างเผือกถามเซ้าซี้ไปก็โกรธ จึงว่าเปนคำฉกรรจ์ว่า พระยาอู่ผัวมหาเทวี ข้าศึกตามมาไม่เปนทุกข์มาถามเซ้าซี้อยู่อีกเล่า พระเจ้าอู่ได้ฟังควานช้างว่าดังนั้น ก็ขัดพระทัยมิได้ถามนายช้างต่อไปเลย ครั้นมาถึงตำบลกะยัดแตะเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตทั้งปวงพาเอาพระอัครมเหษี พระราชบุตร์ พระราชธิดา แลนางสนมทั้งปวงมาทันพระเจ้าช้างเผือกพร้อมกัน พระเจ้าช้างเผือกมิได้เสด็จกลับมาเมืองวาน ยกตรงไปเมืองพะโคทีเดียว ครั้นถึงเมืองพะโคแล้ว พระมหาเทวีซึ่งเปนพระเจ้าพี่นางอยู่ณเมืองตะเกิง รู้ข่าวไปก็เสด็จขึ้นมา ครั้นมาถึงก็เข้ากอดเอาพระเจ้าช้างเผือกผู้เปนพระราชอนุชา ก็ทรงพระกันแสงรักกัน ครั้นสร่างโศกแล้วจึงพระเจ้าช้างเผือกพระราชทานรางวัลแก่ทหารซึ่งตามเสด็จมานั้น ตามยศถาศักดิ์โดยสมควร แต่นายช้างผู้เดียวพระเจ้าช้างเผือกมิได้พระราชทานสิ่งอันใด พระมหาเทวีจึงว่านายช้างนั้นมีคุณแก่พระองค์เปนอันมาก พาพระองค์มาถึงพระนครได้ชอบจะปูนบำเหน็จให้มากกว่าคนอื่นจึงควร พระเจ้าช้างเผือกตรัสว่าคุณมันมีก็จริง แต่ว่าโทษมันกระทำไว้ เมื่อมันพาข้าพเจ้ามากลางทาง มันด่าว่าข้าพเจ้าเปนผัวพระพี่นาง ข้าพเจ้าจะฆ่าเสียอีก เหตุว่ามีคุณได้พามา จึงไม่ประหารชีวิตเสีย แต่เท่านี้ก็เปนว่าแทนคุณอยู่แล้ว พระเจ้าช้างเผือกก็มิได้พระราชทานสิ่งใดแก่นายควานช้าง พระมหาเทวีจึงขอเอานายช้างไปเลี้ยงไว้
ศักราชได้ ๗๒๐ ปี พระเจ้าช้างเผือกไปอยู่เมืองพะโค แลเมืองพะโคนั้น แต่ก่อนกษัตริย์ได้เสวยราชสมบัติเปนลำดับกันมาแต่พระเจ้าสักกระทัตร์ จนถึงพระเจ้าดิศราช ซึ่งได้สร้างเจดีย์กะลอมปอนนั้น เปนสิบเจ็ดพระองค์ด้วยกัน ครั้นพระยาดิศสวรรคตแล้วก็สิ้นเชื้อวงษ์กษัตริย์มา ครั้นอะขะมะมอญได้เปนกษัตริย์ในเมืองพะโค มาจนถึงพระเจ้าตราพระยาได้เปนกษัตริย์ในเมืองพะโคก็บริบูรณ์ขึ้น ต่อเมื่อพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกยกไปสร้างนครขึ้น จึงคืนคงเปนราชธานีใหญ่ แต่นั้นมาก็มีเชื้อราชวงษ์ได้เสวยราชย์สืบกันมาตราบเท่าบัดนี้