๑๔
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ครั้นเสด็จกลับมาถึงกรุงอังวะแล้วก็ทรงพระวิตกว่า เรายกลงไปตีเอาเมืองหงษาวดีเปนหลายครั้งไม่ได้ท่วงทีเลย รี้พลล้มตายมากนัก แลขัดด้วยเสบียงอาหารต้องเลิกทัพกลับมาทุกครั้ง ๆ นี้จะเกณฑ์ทหารลงไปเมืองปรวนทำนาตั้งยุ้งฉางไว้ ได้อาหารมากแล้ว ต่อรุ่งขึ้นปีใหม่จึงจะยกลงไปตีเมืองหงษาวดี ทรงพระดำริห์ดังนั้นแล้วก็ตรัสสั่งให้มังนันทะมิตเปนแม่ทัพ คุมพลหมื่นหนึ่งลงมาบันจบด้วยเจ้าเมืองปรวน ทำนาตระเตรียมอาหารไว้ตามกำหนด ครั้นเช้าปีใหม่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ให้บำรุงช้างม้ารี้พล แลเกณฑ์หัวเมืองขึ้นทั้งปวงได้คนยี่สิบแสน ช้างหมื่นหนึ่ง ม้าสองหมื่น ยกลงมาตั้ง ณ เมืองปรวน จะยกลงมากรุงหงษาวดี
ฝ่ายเจ้าเมืองเตวะทัดต่อแดนกับเมืองปรวน ซึ่งขึ้นแก่กรุงหงษาวดีได้แจ้งแล้ว จึงแต่งหนังสือบอกให้ม้าใช้รีบถือลงมายังเสนาบดี ณ กรุงหงษาวดี เสนาบดีก็นำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ๆ ได้แจ้งในหนังสือเจ้าเมืองเตวะทัดนั้นแล้ว จึงตรัสปรึกษาด้วยสมิงพ่อเพ็ชร์กแลเสนาบดีทั้งปวงว่า จะละให้พม่ายกล่วงข้ามแดนลงมามิชอบ จำเราจะยกทัพขึ้นไปรับไว้แต่ปลายแดนอย่าให้ล่วงลงมาได้ สมิงพ่อเพ็ชร์แลเสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้เกณฑ์ทัพ แลหัวเมืองขึ้นทั้งปวงได้คนสิบแสน ช้างเจ็ดพัน ม้าหมื่นหนึ่ง ครั้นได้ศุภฤกษ์อันเปนมงคลแล้ว พระองค์ก็ยกทัพขึ้นไปจากกรุงหงษาวดี ครั้นไปถึงฟากน้ำซึ่งจะข้ามไปเมืองทะละนั้น สมิงพ่อเพ็ชร์กจึงกราบทูลว่า แม่น้ำเมืองทะละนี้ตลอดถึงเมืองปรวน ฝ่ายเมืองปรวนเปนต้นนำ ถ้าพระองค์ข้ามน้ำไปรับทัพพม่า เกรงทัพเรือพม่าจะวกหลังมาเปนทัพกระหนาบ เห็นจะเสียทีรื้อตัวยาก ขอให้ทัพหลวงตั้งค่ายมั่นอยู่แต่ฝ่ายฟากข้างนี้ จึงจะรับทัพพม่าได้ถนัด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เห็นด้วย จึงให้ตั้งค่ายมั่นริมนํ้าขึ้นไป
ฝ่ายสมิงอุบากองซึ่งอยู่รักษาเมืองทะละนั้น ก็ข้ามมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ณค่ายหลวงซึ่งตั้งอยู่นั้น สมิงพ่อเพ็ชร์จึงกราบทูลว่า เมืองทะละซึ่งสมิงอุบากองรักษานั้นอยู่ฟากโน้น พม่ายกมาครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เปนทัพกษัตริย์มีกำลัง ข้าพเจ้าเห็นว่าจะรับที่กล้าหน้าศึกนั้นมิได้ ขอให้เลิกครอบครัวในเมืองทะละมาไว้ฟากข้างนี้จึงจะควร สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงๆ ก็เห็นด้วยสมิงพ่อเพ็ชร์ แต่สมิงชีพรายนั้นกราบทูลว่า เมืองทะละเปนเมืองใหญ่ ครั้นจะให้เลิกเสียนั้น ฝ่ายครอบครัวในเมืองต้องอพยพก็จะระส่ำระสายนัก เมืองทะละไกลกันกับพระเจ้าอยู่หัวฟากแม่น้ำหนึ่งก็จริง ถึงจะรับมิอยู่ทีเดียวก็ดี แต่ข้าพเจ้าเห็นพอจะต้านทานไว้สักวันหนึ่งสองวันได้ กว่าทัพหลวงจะคิดอ่านแก้ไขอุดหนุนไปช่วยทัพ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังสมิงชีพรายทูลดังนั้น ก็ผันพระพักตร์มาตรัสหารือสมิงอุบากอง ๆ เจ้าเมืองทะละก็รับรักษาได้ตามคำสมิงชีพรายทูลนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช จึงสั่งให้สมิงชีพรายข้ามไปช่วยสมิงอุบากองรักษาเมืองทะละ
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องซึ่งยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองปรวนให้จัดช้างม้าไพร่พลเสบียงอาหารเสร็จแล้วก็ยกลงมา ครั้นถึงเมืองทะละจึงสั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวงเข้าระดมตีเมืองทะละ สมิงชีพรายสมิงอุบากองก็รบต้านทานเปนสามารถ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเสด็จมายืนช้างพระที่นั่งสั่งให้ทแกล้วทหารหักเอาเมืองทะละจงได้ ฝ่ายทหารพม่าก็หักเอาเมืองทะละได้ สมิงอุบากองนั้นต้องอาวุธตายในที่รบ ทหารจับได้สมิงชีพรายกับทหารร้อยหนึ่งม้าร้อยหนึ่ง เอาไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ๆ ก็ให้ทหารคุมตัวสมิงชีพรายแลทหารมอญทั้งปวงไว้
ฝ่ายทหารสมิงชีพรายซึ่งเหลือนั้น แลชาวเมืองทั้งปวงก็แตกข้ามน้ำมา สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ยินเสียงอื้ออึงดังนั้นก็เสด็จออกทอดพระเนตร เห็นคนแตกข้ามนํ้ามาแต่เมืองทะละก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสสั่งทแกล้วทหารให้เอาเรือออกไปแทงคนซึ่งข้ามน้ำแตกมานั้นเสียจนสิ้น อำมาตย์ทินมณีกรอดจึงทูลทัดทานเปรียบเทียบว่า เมืองทะละนั้น สมิงชีพราย สมิงอุบากองกราบทูลอาสารับป้องกันไว้ แต่ไพร่พลทแกล้วทหารทั้งปวง จะได้รับอาสาด้วยหามิได้ พระองค์ทรงพระโกรธแก่หมู่ข้าศึกแลจะเอาเพลิงเผาพระราชมณเฑียรเสียนั้นมิชอบ ข้าพเจ้าขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นด้วย จึงพระราชทานโทษให้แก่อำมาตย์ทินมณีกรอด
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องตีได้เมืองทะละแล้ว ก็ยกทัพหลวงเข้าตั้งอยู่ในเมืองทะละ จึงให้ทัพหน้าตั้งค่ายเหนือนํ้านอกเมืองริมฝั่งรายขึ้นไป ฝ่ายทัพเรือเสบียงพม่าซึ่งจะลงมาส่งแต่เมืองปรวนนั้นยังมามิถึง ทัพมอญกับทัพพม่าตั้งค่ายคนละฟากนํ้ารั้งรอกันอยู่
ขณะนั้นพลายสิงหนารายน์ พลายธนูเพ็ชรมีน้ำมันหน้าหลัง เวลาเช้าหมอควานเอาลงน้ำบ่ายหน้าไป เห็นช้างม้าฝ่ายทัพพม่าออกเล่นระเริงหน้าค่าย ได้ยินเสียงคนโห่ร้องดังนั้น ก็คำรนมันลำพองพุ่งขึ้น นายช้างเอาไว้มิอยู่พาหมอควานข้ามน้ำไปไล่แทงช้างหน้าค่ายพม่าอื้ออึงวุ่นวายขึ้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งดังนั้น ก็เสด็จออกมาเร่งให้ผูกพลายประกายมาศ แลช้างชนะงาทั้งปวงข้ามตามไปช่วยเปนอันมาก ฝ่ายทัพพม่าทั้งปวงมิทันรู้ตัวก็ตกใจวุ่นวายเปนอลหม่าน พากันแตกหนีเข้าหาทัพหลวงในเมืองทะละสิ้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเห็นทัพพม่าแตกหนีไปเมืองทะละดังนั้นก็ดีพระทัย จึงสั่งให้สมิงอังวะมังศรีทัพหนึ่ง สมิงพระรามทัพหนึ่ง สมิงราชสงครามทัพหนึ่ง สมิงนครอินท์กทัพหนึ่ง สมิงสามปราบทัพหนึ่ง ห้าทัพเปนคนห้าหมื่น ยกทัพไปตั้งค่ายแล้วลงรอปักกันไว้ แล้วให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่นํ้าเดินถึงกัน นายทัพทั้งห้าก็ยกไปกระทำการตามรับสั่ง
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ก็ให้ยกช้างม้ารี้พลเข้าหักค่ายสมิงอังวะมังศรี สมิงพระราม สมิงราชสงคราม สมิงนครอินท์ สมิงสามปราบ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ขับพลให้ล่วงข้ามไปช่วยได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ไพล่พลพม่าล้มตายเปนอันมาก พม่าหักค่ายมิได้ก็ถอยเข้าในเมืองทะละ
ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลว่า ทัพพม่าครั้งนี้เสียทีอยู่แล้ว ขอให้แต่งกองทัพขึ้นไปสกัดตีเรือลำเลียง ซึ่งพม่าจะลงมาส่งกันแต่เมืองปรวนนั้นอย่าให้ลงมาได้ ถ้าพม่าขาดเสบียงเมื่อไรแล้วก็จะได้ชัยชนะฝ่ายเดียว พระเจ้ามณเฑียรทองก็จะอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ ถ้าพระองค์ทรงเห็นด้วยข้าพเจ้าแล้ว ศึกพม่าก็จะตัดเสียให้ขาดครั้งนี้ อันสมิงชีพรายแลสมิงอุบากองนั้น แม้มิตายก็จะได้ตัวคืนมาเปนมั่นคง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเห็นด้วย จึงแต่งนายทัพนายกองให้ยกขึ้นไปทั้งบกแลเรือ คอยสกัดตีเรือลำเลียงพม่าซึ่งจะลงมาแต่เมืองปรวน ฝ่ายพม่ามิได้รู้ก็ล่องเรือเสบียงลงมา กองทัพมอญก็ออกสกัดตีเก็บเอาเสบียงแลเรือได้ กองทัพพม่าก็ขัดสนข้าวปลาอาหารอิดโรยลง เมื่อแรกจะลงมาทำการเอาเมืองหงษาวดีนั้น หมายเสบียงอาหารเมืองปรวนเปนกำลัง บัดนี้มอญก็สกัดเสียส่งมิได้ขัดสนลง พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงทรงพระดำริห์ว่า แต่เราทำสงครามด้วยพระเจ้าราชาธิราชมาเปนหลายครั้งแล้ว หมายจะเอาชัยชนะก็มิได้ ฝ่ายกองทัพมอญก็รบพุ่งต้านทานเปนสามารถ ถึงจะได้เมืองทะละเล่า ก็เสียพลทแกล้วทหารเปนอันมาก มาทว่าจะได้เมืองหงษาวดีนั้นก็ดี ก็จะมีแต่เกียรติยศปรากฎไปในแผ่นดินเท่านั้น ใช่จะพากายออกจากวัฏสงสารภพนี้ก็หาไม่ เวรานุเวรก็จะให้เวียนอยู่ในสงสารจักรนับชาติมิได้ ทรงพระดำริห์ฉะนี้แล้ว ก็เหนื่อยหน่ายพระทัยในสงคราม จึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวง ดุจทรงพระดำริห์นั้นทุกประการ เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงให้แต่งพระราชสาส์น แลจัดเครื่องราชบรรณาการโดยสมควร ให้มังนันทะมิตเสนาบดีเปนผู้จำทูลพระราชสาส์น นำเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช มังนันทะมิตก็กราบถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการมากับด้วยบ่าวไพร่ ครั้นถึงจึงแจ้งความแก่ทหารผู้รักษาประตูค่ายๆ ก็บอกส่งเข้าไปให้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ๆ ได้แจ้งแล้วจึงโปรดให้รับเข้ามา มังนันทะมิตก็เข้ามากราบถวายบังคมหน้าพระที่นั่ง ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องบรรณาการของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงโปรดให้อาลักษณ์อ่าน ในพระราชสาส์นนั้นว่าพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชผู้ดำรงพิภพหงษาวดี ด้วยเราพี่น้องทั้งสองมีความปรารถนาเพื่อจะเปนใหญ่ ให้เกียรติยศปรากฎไปในประเทศราชธานีทั้งปวง จึงมากระทำยุทธนาการสงครามด้วยกันทั้งนี้ แต่กรุงหงษาวดีกับกรุงรัตนบุระอังวะทำศึกกันมาก็หลายครั้งแล้ว ถ้อยทีก็มีชัยชนะ ต่างเสียรี้พลช้างม้าทแกล้วทหารด้วยกันทั้งสองฝ่าย อนึ่งสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรก็ได้ความเดือดร้อนเปนอันมาก ถึงมาทว่าสมเด็จพระเจ้าพี่จะได้กรุงอังวะ ข้าพเจ้าจะได้กรุงหงษาวดีเล่า ก็จะมีแต่เกียรติยศปรากฎในอิธโลกเท่านั้น แลชนมายุเราทั้งสองจะยืนอยู่ชั่วกัลปาวสานก็หามิได้ คงจะอยู่ในอำนาจพระยามัจจุราช โดยกำหนดอายุขัยเหมือนกันเห็นหาต้องการไม่ ซึ่งจะมาถือทิษฐิด้วยขัติยมานะต่อกันฉะนี้ ก็จะเปนเวรผูกพันไปดังเงาติดตามกายทุกอิริยาบถ หาประโยชน์มิได้ อันจะขับเคี่ยวสงครามกัน ให้เสียรี้พลทแกล้วทหารล้มตายฉิบหายฉะนี้ ก็เปนที่ติเตียนแก่เทพามนุษย์ผู้มีปัญญาทั้งปวง ดุจเราพี่น้องทั้งสองทำการไปสู่อบายภูมิ ขอสมเด็จพระเจ้าพี่จงทรงพระดำริห์ดูเถิด แลบัดนี้ข้าพเจ้ามิได้มีความวิหิงษาพยาบาทแล้ว คิดจะใคร่ให้แผ่นดินกรุงหงษาวดีกับแผ่นดินกรุงรัตนบุระอังวะเปนสุวรรณปัถพีเดียวกัน ให้เปนที่ไปมาค้าขายถึงกันดังแต่ก่อน เราทั้งสองจะร่วมเศวตฉัตร์กระทำสัตย์เลิกสงครามละพยาบาทนั้นเสีย ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎรสมณชีพราหมณ์อยู่เปนสุขตามโบราณราชประเพณืสืบไป หนึ่งสมิงอุบากองนั้นก็ตายในที่รบ ยังรอดอยู่แต่สมิงชีพราย ข้าพเจ้าก็จะส่งมาถวายสมเด็จพระเจ้าพี่ อย่าได้ทรงพระวิตกเลย
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งในพระราชสาส์นนั้นแล้ว ก็ทรงพระดำริห์ว่า ครั้งนี้สมคำอำมาตย์ทินมณีกรอด ซึ่งทูลไว้นั้นทุกประการ จึงทอดพระเนตรดูหน้าอำมาตย์ทินมณึกรอด ๆ ก็ก้มหน้าเสีย แล้วทอดพระเนตรดูหน้าสมิงพ่อเพ็ชร์เล่า สมิงพ่อเพ็ชร์ก็ก้มหน้าเสียเหมือนก้น พระองค์ก็แจ้งในพระทัยว่า สมิงพ่อเพ็ชร์แลอำมาตย์ทินมณีกรอดนั้น มิยอมเปนไมตรี จึงให้แต่งพระราชสาส์นนั้นแลจัดเครื่องราชบรรณาการตอบโดยสมควร ส่งให้ผู้ถือหนังสือกลับไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง มังนันทะมิตก็ถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นตอบนั้นแลเครื่องราชบรรณาการกลับไป ครั้นแล้วสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จเข้าข้างใน
ขณะนั้นนางเม้ยซุนเครือ เม้ยสดุ้งมอดบุตรสาวสมิงชีพราย ซึ่งเปนพระสนมเอกทั้งสองนั้น ครั้นรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวมิได้รับเปนไมตรีแก่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็เปนทุกข์ถึงพระบิดา จึงเข้ามากอดฝ่าพระบาทซ้ายขวาสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช แล้วร้องไห้ทูลอ้อนวอนว่า บิดาข้าพเจ้าทั้งสองตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก จะร้ายดีประการใดมิได้แจ้ง ขอพระองค์จงรับเปนไมตรีด้วยพระเจ้ามณเฑียรทองเถิด จึงจะได้สมิงชีพรายบิดาข้าพเจ้าทั้งสองคืนมา อนึ่งแม้หาการสงครามมิได้แล้ว ไพร่ฟ้าประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเปนสุข
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ระลึกถึงความหลัง มีพระทัยสงสารนางสนมทั้งสองแลสมิงชีพราย จึงตรัสว่าเราจะหารือสมิงพ่อเพ็ชร์ แลอำมาตย์ทินมณีกรอดดูก่อน ด้วยเขาเปนผู้ใหญ่จะทำตามลำพังนั้นมิได้ นางสนมทั้งสองก็แสร้งทำร้องไห้ ทูลรำพันวิงวอนไปต่าง ๆ แล้วก็ชวนกันอยู่งานนวดพระบาทถวายทั้งสองคน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็มีพระทัยอ่อนลงๆ ด้วยเปนเวลากลางคืน ทรงพระปรานีแก่นางทั้งสองยิ่งนัก จึงตรัสถามนางทั้งสองลองใจนางผู้พี่ก่อนว่า รักพ่อมากหรือรักผัวมาก คุณพ่อกับคุณผัวใครจะยิ่งกว่ากัน นางเม้ยซุนเครือผู้พี่จึงทูลว่า อันคุณของบิดาซึ่งยังตนให้บังเกิด แลได้อุปถัมภ์บำรุงมานั้นก็มีมาก ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดปลูกเลี้ยง ให้ยศศักดิ์ศฤงคารแก่ข้าพเจ้านั้น ก็มีพระคุณยิ่งนักหาที่สุดมิได้ แต่ยังมิเท่าถึงคุณบิดา อันความรักนั้นข้าพเจ้าก็รักเสมอกัน
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟัง ก็เห็นว่านางผู้พี่ทูลโดยสัตย์ซื่อไม่แง่งอน จึงตรัสถามนางเม้ยสดุ้งมอดผู้น้อง ๆ แกล้งทำเอื้อนอายมิใคร่จะทูลได้ ครั้นตรัสซักถามซ้ำเข้าก็ทูลว่าอันคุณของบิดานั้นมาก เพราะมีคุณเปนเบื้องต้น พระคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปกแผ่คุ้มครองให้อยู่สุขทุกวันนี้ ก็มีมากหาที่สุดมิได้ แต่พระคุณทั้งสองนั้นต่างกัน อุปมาดังทองนพคุณแลแก้วมณี ซึ่งว่าคุณบิดาแลพระคุณของพระองค์มากน้อยหนักเบากว่ากันนั้น ข้าพเจ้าปัญญาน้อยไม่เห็นตัวชั่งมิได้ แต่ความรักข้าพเจ้าก็รักมากเสมอกันทั้งสอง แต่อาการนั้นต่างกัน รักบิดาอย่างหนึ่ง รักฝ่าพระบาทพระเจ้าอยู่หัวอย่างหนึ่ง เปรียบประดุจของเก่าแลของใหม่
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย แย้มพระสรวลตรัสว่าพี่เท่อน้องคม น้องแหลมพี่ป้าน พี่เหมือนช้างน้องเหมือนม้าเดินเท้าเร็วกว่ากัน จึงโปรดให้เม้ยสดุ้งมอดผู้น้องอยู่งานรับราชการยามสอง ให้เม้ยซุนเครือผู้พี่รับราชการยามสาม นางน้องชั้นเชิงแยบคายว่องไวทำราชการโปรดมากกว่าพี่ ได้รับพระราชทานรางวัลเนืองๆ มิใคร่จะขาดคืน นางผู้พี่นั้นนานๆ จะได้รับพระราชทานรางวัลแต่ละครั้ง ครั้นเวลาเช้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จออก จึงตรัสแก่สมิงพ่อเพ็ชร์อำมาตย์ทินมณีกรอดว่า คืนนี้บุตรสมิงชีพรายเข้ามาร้องไห้อ้อนวอน จะขอให้เปีนไมตรีด้วยพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องหวังจะให้ได้ตัวบิดาคืนมา อนึ่งว่าการสงครามไม่มีแล้ว ไพร่ฟ้าประชาราษฎรจะอยู่เย็นเปนสุขทั่วกัน ท่านทั้งสองจะเห็นเปนประการใด สมิงพ่อเพ็ชร์อำมาตย์ทินมณีกรอดรู้ว่า ลมสลาตันข้างในพัดกล้าเสียแล้ว จะชักใบกางขึ้นก็กลัวจะขาดเห็นจะทานลมมิได้ ชำเลืองดูหน้ากันยิ้มอยู่ในที จึงทูลว่า ถ้าพระองค์จะตรัสปรึกษาด้วยการสงครามประการใด ซึ่งจะเอาชัยชนะนั้น ข้าพเจ้าทั้งสองจะกราบทูลถวายได้ตามสติปัญญา แต่พระองค์ จะเอาคำสตรีมาตรัสปรึกษาด้วยนั้น ข้าพเจ้าทั้งสองจนใจอยู่ไม่รู้ที่จะคิดทูล ประการใดได้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้น ก็แย้มพระสรวลเสด็จเข้าข้างใน
ฝ่ายมังนันทะมิตผู้ถือหนังสือนั้นก็นำพระราชสาส์นนั้นแลเครื่องราชบรรณาการตอบของพระเจ้าราชาธิราช ไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ๆ จึงสั่งให้อ่าน ในพระราชสาส์นนั้นว่า พระเจ้าราชาธิราชตอบมาถึงพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องผู้เปนกษัตริย์อันประเสริฐ ด้วยเราได้แจ้งในพระราชสาส์นน้องเราซึ่งมีมานั้นแล้ว อันจะทำสัตย์ต่อกันบัดนี้ไม่ได้ ด้วยน้องเรายกพลทหารมาตีเอาเมืองทะละได้ กิตติศัพท์ก็เลื่องลือไปในนาๆประเทศทั้งปวง เราได้ความอัปมาณเสียเกียรติยศยิ่งนัก เมื่อใดเรายกขึ้นไปตีเมืองปรวนตอบแทนได้บ้าง สมความคิดแล้ว จึงจะสิ้นความอัปยศลบล้างกัน ซึ่งสมิงชีพรายนั้นก็มิใช่ชายชาติทหาร ทำสงครามแพ้แก่ข้าศึกโทษถึงตายอยู่เอง ถึงมาทว่าน้องเราส่งคืนมาก็หาต้องการไม่
ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งในพระราชสาส์นแล้ว จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า พระเจ้าราชาธิราชมิยอมกระทำสัตย์ด้วยเรา ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด มังนันทะมิตจึงทูลว่า ครั้งนี้เสบียงอาหารกำลังรี้พลฝ่ายเราก็ถอยลงแล้ว ครั้นจะว่าล่าทัพหนีไปทางเรือเล่า ก็ขัดสนด้วยมอญลงเรือปักกันขวางไว้ ครั้นจะหนีไปทางบกกองทัพมอญรู้ก็จะยกออกก้าวสกัดโจมตี เห็นจะบอบช้ำลำบากนักจะตั้งอยู่สู้รบนานไปก็มิได้ ข้าพเจ้าคิดว่าจะให้มีพระราชสาส์นไปว่าวอนอีกครั้งหนึ่ง อุปมาดังว่ายน้ำเข้าหาจรเข้ แม้นจรเข้มิการุณแล้วจึงคิดผ่อนปรนต่อไป อุบายของข้าพเจ้ายังมีอีกอย่างหนึ่ง ด้วยสมิงชีพรายที่ทหารจับได้ไว้นั้น ข้าพเจ้าแจ้งว่ามีบุตรีสาวสองคน ผู้พี่ชื่อเม้ยซุนเครือน้องชื่อเม้ยสดุ้งมอด เปนพระสนมเอกพระเจ้าราชาธิราชโปรดปรานมาก ถ้าพระองค์ให้มีพระราชสาส์นไปว่ากล่าวอีกครั้งนี้ พระเจ้าราชาธิราชมิรับ ข้าพเจ้าจะแต่งกลล่อลวง ให้สมิงชีพรายมีหนังสือลับไปถึงบุตรสาว ให้นางสนมทั้งสองคิดอ่านทูลอ้อนวอนพระเจ้าราชาธิราช ให้ยอมรับกระทำสัตย์ด้วยพระองค์ให้จงได้
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นด้วย จึงให้แต่งพระราชสาส์นตอบอีกครั้งหนึ่ง ให้มังนันทะมิตนำไป มังนันทะมิตก็ถวายบังคมลา เชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าราชาธิราช ๆ จึงสั่งให้อ่าน ในพระราชสาส์นฉบับสองนั้นว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราชเปนกษัตราธิราชอันประเสริฐ ประกอบด้วยกฤษดาธิการอันใหญ่หลวงยิ่งนัก ซึ่งจะทรงพระพิโรธด้วยเวรจิตต์พยาบาทอยู่นั้นหาควรไม่ อันการสงครามดุจหนึ่งนํ้าในพระมหาสมุท ย่อมไหลขึ้นแลลงอยู่มิได้ขาด ครั้นเมื่อพระเชษฐาธิราชให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองตะแคงนั้น ก็ได้เมืองตะแคง แลได้ตะละเจ้าเปฟ้าผู้เปนพระราชธิดาเรา กับมังกำมุนีไป จนมังกำมุนีตาย ณเมืองพะสิมนั้น เราก็มีความอัปยศเหมือนกัน แลเมืองทะละนี้เปนแต่เสนาบดี หรืออาจจะรับทัพกษัตริย์อันประกอบไปด้วยรี้พลมากได้ ซึ่งพระเชษฐาธิราชกับเรากระทำการยุทธนาการสงครามด้วยกันนั้น ก็ย่อมมีแพ้แลชนะเหมือนกัน จะมาข้องอยู่ด้วยขัติยมานะแลเวรจิตต์ดังนี้ ก็จะพากันไปสู่ทุกข์คติภูมิเสียเปล่าเห็นหาประโยชน์ไม่ ป่วยการกองกุศล ซึ่งจะกระทำถาปนาบำรุงพระพุทธสาสนานั้น เปนหลายปีมาแล้ว พระเชษฐาเจ้าก็มีพระปรีชาญาณอันยิ่ง จงทรงพระราชดำริห์เถิด อย่าให้เสียทางพระราชไมตรี โดยโบราณราชประเพณีนั้นเลย
ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ได้แจ้งในพระราชสาส์นนั้นแล้วก็อ่อน พระทัยลง จึงให้แต่งพระราชสาส์นตอบ รับเปนไมตรีด้วยพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ส่งให้มังนันทะมิตกลับไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ใจความว่าซึ่งน้องเรามีพระราชสาส์นว่ากล่าวมานั้น เราก็เห็นชอบด้วยแล้ว บัดนี้เราจะรับเปนไมตรีกระทำสัตย์ต่อกัน
ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งแล้ว ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงแต่งให้มังเรราชสูคุมตัวสมิงชีพราย แลทหารสมิงชีพรายร้อยคน ซึ่งพม่าจับไว้ได้นั้น กับม้าร้อยม้า เครื่องม้าครํ่าทองสิบสำรับ กับครอบครัวในเมืองทะละมาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ๆ ก็โปรดให้มังเรราชสูขึ้นเฝ้า เคียงกันกับสมิงพ่อเพ็ชร์ จึงให้มังเรราชสูกระทำสัตย์ถวายต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วก็ให้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่มังเรราชสูเปนอันมาก จึงแต่งช้างสามสิบช้างผูกเครื่องครํ่าทองสามสิบสำรับ ให้สมิงพระตะเบิดนำไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องด้วยมังเรราชสู สมิงพระตะเบิดกับมังเรราชสู ก็ถวายบังคมลาคุมช้างไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง แล้วกราบทูลความทุกประการ
ครั้นพระเจ้ามณเฑียรทองแจ้งแล้วก็ดีพระทัย จึงโปรดให้สมิงพระตะเบิดขึ้นเฝ้าหน้ามังเรราชสู ให้สมิงพระตะเบิดกระทำสัตย์ถวายต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่สมิงพระตะเบิดเปนอันมาก จึงตรัสแก่สมิงพระตะเบิดว่า เขาลือว่าท่านคล้องช้างสันทัดดี จงคล้องให้เราดูสักทีหนึ่งจะได้หรือมิได้ สมิงพระตะเบิดจึงทูลว่า ข้าพเจ้าเคยคล้องแต่ช้างเถื่อน ซึ่งพระองค์จะให้คล้องช้างบ้านนี้หาเคยไม่ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังดังนั้นก็ยิ้มอยู่ แล้วตรัสว่าท่านมาเฝ้าเราครั้งนี้ เรามีความยินดียิ่งนัก ประดุจดังเราได้พบกับพระเชษฐาธิราชเจ้าก็เหมือนกัน แล้วพระองค์จึงกำหนดนัดการ ซึ่งจะทำสัตย์แก่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้น
ฝ่ายสมิงพระตะเบิดก็ถวายบังคมลา กลับมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ตามพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องกำหนดนัดการ ขณะนั้นฝ่ายมอญกับพม่าก็ไปมาหากันตามปกติ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแลพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ก็แต่งคนมาให้ปลูกโรงมณฑปใหญ่ ท่ามกลางหว่างค่ายสมิงอังวะมังศรี กับเมืองทะละนั้น กระทำเศวตรฉัตร์ใหญ่กางกั้นณท่ามกลาง มีราชาอาศน์ทั้งสอง แลเครื่องสูงอย่างกษัตริย์พร้อมเสร็จ ครั้นถึงวันนัดได้ศุภนิมิตอันเปนมงคลแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแลพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็เสด็จพร้อมด้วยพลพยุหเสนา มายังโรงมณฑปซึ่งปลูกไว้นั้น พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองก็เสด็จขึ้นทรงนั่งเหนือราชาอาศน์ ร่วมพระมหาเศวตรฉัตร์ทำสัตยานุสัตย์ต่อกัน เฉพาะพระพักตร์พระศรีรัตนไตร แลประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินทั้งปวงว่า ตั้งแต่วันนี้ไปเราทั้งสองจะรักษาไมตรี มิได้ทำยุทธนาการแก่กันเปนอันขาด แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงถวายเศวตรฉัตร์คันหนึ่ง บังพระสุริยคันหนึ่ง พระยี่ภู่สำรับหนึ่ง แก่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ถวายเศวตรฉัตร์บังพระสุริยะ พระยี่ภู่สามสิ่งแก่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเหมือนกัน จึงเอาพระมหามงกุฎแลเครื่องประดับพระองค์ทั้งสอง ประสมกันเข้ากระทำฉัตร์ใส่ยอดพระมุเตา แล้วแบ่งเขตต์แดนอาณาจักรต่อกัน ฝ่ายทางบกนั้นแต่ภูเขาประตองไปข้างเหนือเปนแดนพม่า มาข้างใต้เปนแดนมอญ แลทางน้ำนั้นตั้งแต่แม่น้ำคาบคา ข้างเหนือเปนแดนพม่า ข้างใต้เปนแดนมอญ แลบ่อน้ำมันดินนั้นแบ่งกันคนละกึ่ง ฝ่ายเหนือได้ข้างพม่า ฝ่ายใต้ได้ข้างมอญ
ครั้นพระเจ้าแผ่นดินทั้งสอง กระทำสัตย์ปันเขตต์กันแล้วก็มีพระทัย ปราโมทย์สมัครสโมสรภิรมย์ยินดี มาทว่าแต่ไม้ต้นหนึ่งหญ้าเส้นหนึ่ง ก็มิได้ให้ลวงเก็บของกัน แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็เสด็จกลับเข้าเมืองทะละ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จกลับเข้าค่าย
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ทำสงครามด้วยพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวามาจนถึงพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้หกปี จึงได้ทำสัตย์ต่อกัน ครั้นอยู่มาสามวัน พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ให้เลิกทัพเสด็จกลับไปกรุงอังวะ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ให้เลิกทัพกลับไปกรุงพงษาวดี ครั้งนั้นมอญกับพม่าก็ไปมาค้าขายถึงกัน เปนปกติดีหาอันตรายมิได้ แลกรุงรัตนบุระอังวะกับกรุงพงษาวดี ก็อยู่เย็นเปนสุขด้วยกันทั้งสองฝ่ายหาศึกมิได้
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้เอาทองนพคุณ ชั่งหนักเท่าพระองค์ ไปทำพระพุทธปฏิมากร แล้วจึงเอาพระมหามงกุฎ สังวาล พระธำมรงค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระองค์ทรงนั้น ออกกระทำเปนพุทธบูชา ทรงพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ไว้ แล้วก็ให้มีการมหรสพสมโภชเจ็ดวัน ทรงพระราชศรัทธาให้อำนวยทานแก่สมณชีพราหมณ์ ยาจกวณิพกทั้งปวงเปนอันมาก เมืองหงษาวดีครั้งนั้นประกอบด้วยดุริยางค์ดนตรีเครื่องเล่นเต้นรำทั้งปวง เปนบรมสุขทุกหญิงชาย เปนนิจกาลมามิได้ขาด