คำนำ

หนังสือมหาชาติ คือ เวสสันตรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เห็นจะได้แปลจากภาษามคธออกเปนภาษาไทยตั้งแต่ครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานี แต่ที่เอามาแต่งเปนบทกลอน ปรากฎว่าแต่งในครั้งกรุงเก่า มีจดหมายในพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถมีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์แต่งขึ้นเมื่อปีขาลจุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕

หนังสือที่แต่งชุดนั้นเรียกว่า มหาชาติคำหลวง เห็นจะสำหรับให้คฤหัสถ์สวดเปนทำนอง ให้อุบาสกอุบาสิกาฟังตามวัด ในวันไปทำบุญแลรักษาศีล ประเพณีสวดหนังสือมหาชาติคำหลวงยังสวดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันนักขัตฤกษ์ฝ่ายพระสาสนาเช่นวันเข้าพรรษาเปนต้น อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ หนังสือมหาชาติคำหลวงของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถหายสูญเสียแต่ครั้งกรุงเก่าหลายกัณฑ์ ฉบับที่มีอยู่ทุกวันนี้พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้มีรับสั่งให้รวบรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณแล้วทั้งชุด สังเกตสำนวน เชื่อได้ว่าเปนฉบับที่แต่งในครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถแต่กัณฑ์ทศพรกัณฑ์เดียว นอกจากนั้นเห็นเปนสำนวนที่แต่งในกรุงเก่าชั้นหลังบ้าง แต่งในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็มีบางกัณฑ์

ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เวลารัชกาลแต่ พ.ศ. ๒๑๔๕ จน พ.ศ. ๒๑๗๐ ปี ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ว่าได้โปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นอิกชุด ๑ หนังสือมหาชาติที่หาไว้ได้ในหอพระสมุดวชิรญาณ สังเกตสำนวน เข้าใจว่าจะเปนฉบับคำหลวงที่แต่งครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีอยู่หลายกัณฑ์ เปนกลอนแต่แต่งสำหรับพระเทศน์ เข้าใจว่าประเพณีที่พระเทศน์มหาชาติเปนทำนองน่าจะมีขึ้นครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเปนประถม คงจะทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ฟังมาก แต่นั้นมาจึงมีกระวีพอใจแต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าตลอดมาจนในกรุงรัตนโกสินทร หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์สำนวนต่าง ๆ กัน แต่ที่หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมไว้ได้

กัณฑ์ทศพร มี ๘ สำนวน

กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๐ สำนวน

กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี ๗ สำนวน

กัณฑ์วนประเวศ มี ๑๓ สำนวน

กัณฑ์ชูชก มี ๑๔ สำนวน

ภัณฑ์จุลพน มี ๑๖ สำนวน

กัณฑ์มหาพน มี ๘ สำนวน

กัณฑ์กุมาร มี ๖ สำนวน

กัณฑ์มัทรี มี ๑๑ สำนวน

กัณฑ์สักรบรรพ มี ๙ สำนวน

กัณฑ์มหาราช มี ๗ สำนวน

กัณฑ์ฉกระษัตริย์ มี ๕ สำนวน

กัณฑ์นครกัณฑ์ มี ๗ สำนวน

ตามความที่ได้ทราบสืบกันมา กล่าวว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ก็ได้ทรงนิพนธ์หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นชุด ๑ เว้นแต่กัณฑ์มหาพนกับ (อะไรอิกกัณฑ์ ๑ เข้าใจว่า) กัณฑ์มัทรี เล่ากันว่ากัณฑ์มหาพนท่านทรงยอมว่าจะแต่งให้ดีกว่าสำนวนของพระเทพโมฬี (กลิ่น) ไม่ได้ จึงไม่ทรง แต่กัณฑ์มัทรีนั้นจะไม่ทรงด้วยเหตุใดไม่ทราบ

หนังสือมหาชาติที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ทรงนิพนธ์ แต่ก่อนมาได้พบหนังสือไม่กี่กัณฑ์ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรรมการหอพระสมุดตรวจหนังสือในหอพระมณเฑียรธรรม พบหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์อยู่ในคัมภีร์จำพวกฉบับลายรดน้ำ ซึ่งเปนหนังสือสร้างในรัชกาลที่ ๓ ชุด ๑ หนังสือชุดนี้ โดยมากเปนพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ มีหลายกัณฑ์ที่ยังไม่เคยพบมาแต่ก่อน นับว่าพึ่งจะหาหนังสือมหาชาติของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ได้พร้อมในคราวนี้ กรรมการหอพระสมุดจึงเห็นควรจะให้รีบรวบรวมพิมพ์ไว้เสีย จึงจะไม่สูญ

กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เปนพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูตรเมื่อณวัน ๗ ๑ ค่ำ ปีจอจุลศักราช ๑๑๕๒ พ.ศ. ๒๓๓๓ ทรงผนวชเปนสามเณรแต่ในรัชกาลที่ ๑ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน องค์ที่แจ้งประวัติไว้ในคำนำหนังสือพระราชปุจฉาที่พิมพ์นั้น เสด็จทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพน จนได้รับอุปสมบทเปนพระภิกษุในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมแม จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ และเสด็จประทับอยู่วัดพระเชตุพนต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

มีเรื่องราวเล่าสืบกันมาว่า เมื่อทรงผนวชเปนพระภิกษุได้สัก ๓ พรรษา สมเด็จพระวันรัตนถึงมรณภาพ ยังไม่ทันจะได้โปรดให้ผู้ใดเปนอธิบดีสงฆ์ในวัดพระเชตุพน ประจวบเวลาพระราชทานพระกฐิน พระสงฆ์ในวัดพระเชตุพนจึงเตรียมจะอปโลกพระกฐินถวายพระราชาคณะที่รองลงมา ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงวัดพระเชตุพน มีรับสั่งให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ แต่ยังไม่ได้รับกรม เปนอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน เข้าใจว่าเห็นจะทรงตั้งให้เปนพระราชาคณะด้วยในเวลานั้น ประเพณีทรงตั้งเจ้านายที่ทรงผนวชเปนพระราชาคณะแต่ก่อน เปนแต่พระราชทานพัดแฉกเท่านั้น ข้าพเจ้าเคยได้สดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ยังประทับอยู่วัดราชาธิวาศ วัน ๑ เสด็จเข้ามาถวายเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดแฉก รับสั่งว่า “สีต้นบวชนานแล้ว เปนพระราชาคณะเสียเถิด” เท่านี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เปนพระราชาคณะ ก็เห็นจะทำนองเดียวกัน คงทรงตั้งเมื่อวันเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน พร้อมกับเมื่อรับสั่งให้ครองวัด แลรับสั่งให้ครองกฐินในปีนั้นด้วยทีเดียว กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ถวายพระพรว่า ไม่ได้เตรียมท่องอปโลกไว้ มีรับสั่งว่าไม่เปนไร เมื่อไม่ได้ท่องไว้ ให้องค์อื่นว่าแทนก็ได้ จึงเลยเปนธรรมเนียมในวัดพระเชตุพนตั้งแต่วันนั้นมา พระราชาคณะผู้จะครองกฐินไม่ต้องว่าอปโลก จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ได้รับกรมครั้งแรก เปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ แต่จะได้สถาปนาเมื่อใด ยังไม่ทราบ ปรากฎจดหมายเหตุตั้งกรมในรัชกาลที่ ๒ สองคราว คราวแรกเมื่อปีรกา จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ ตั้งหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนต้น อิกคราว ๑ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙ ปรากฎพระนามแต่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์พระองค์เดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เห็นจะได้เปนกรมหมื่นในคราวหลัง คือเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙ นี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เมื่อยังเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเห็นจะได้เปนอาจารย์เจ้านายหลายพระองค์ มีเนื้อความปรากฎในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีแลพระพุทธวจนแลวิชาการคดีโลกอื่น ๆ ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เจ้านายพระองค์อื่นที่ได้ทรงศึกษาก็คงจะมีอิก ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชอยู่ในเวลานั้น ทรงเคารพนับถือกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ มากทั้ง ๒ พระองค์ เห็นจะเมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมวัดในกรุงเทพ ฯ จัดขึ้นเปนคณะกลางอิกคณะ ๑ ให้ขึ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ทรงบังคับบัญชาเสมอสมเด็จพระราชาคณะ แลมีเรื่องซึ่งครั้ง ๑ เปนความลับรู้กันแต่ในพระราชวงษ์ ว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เคยทรงปฤกษาปรารภกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ถ้าราชสมบัติได้แก่เจ้านายบางองค์ บางทีจะถูกเบียดเบียนได้ความเดือดร้อน ทรงพระดำริห์เห็นพร้อมกันว่า ควรจะสร้างวัดเล็ก ๆ ไว้ในเรือกในสวนสักแห่ง ๑ ถ้าถึงเวลาคับแค้นเมื่อใด จะเสด็จออกไปอยู่เสียที่วัดนั้นให้ห่างไกล อย่าให้เปนที่กีดขวางแก่ราชการบ้านเมือง ทรงพระดำริห์พร้อมกันเปนความลับอย่างนี้ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ จึงไปทรงสร้างวัดชิโนรสขึ้นในคลองมอญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไปทรงสร้างวัดนอก ซึ่งพระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาศ เมื่อภายหลัง แต่ชตาเมืองไทยไม่ทรุดโทรมอย่างทรงพระวิตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระเกียรติยศกรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเปนกรมสมเด็จ มีเนื้อความตามพระบรมราชโองการประกาศเลื่อนกรม เมื่อณวัน ๖ ๑๔ ๙ ค่ำปีกุญ จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ได้ประดิษฐานดำรงมาเปนมหานครอันใหญ่ เปนที่ศุขเกษมสมบูรณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหสุริยสมบัติ เพียบภูลด้วยชนคณานิกรบรรพสัษย์ คือบุรุษรัตนราชวงษานุวงษ์ เสนามาตย์ราชมนตรีกระวีชาติราชปโรหิต เปนที่ไปมาค้าขายแห่งนานาประเทศพานิชวิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์ สรรพพัศดุล้วนวิเศษ เปนที่รื่นเริงบรรเทิงจิตรแห่งชาวนานาประเทศคามนิคมชนบท ปรากฎด้วยมหาชนอันเจริญขึ้นด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่าง ๆ แลชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เปนประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธสาสนา ประดับด้วยเรือนพระปฏิมาอุโบสถาคารเสนาศน์ วิจิตรด้วยสุวรรณหิรัญมาศ เปนที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเปนมาได้ดังนี้ สำเร็จด้วยอำนาจบุญบารมีพระเดชานุภาพวิริยปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตย์เปนประถม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงพระนามตามประกาศ ด้วยพระนามแห่งพระมโหทิศปฏิมาว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเปนเดิมมา ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่าก็เปนพระบรมวงษ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น แลได้ทรงผนวชรับธุระฝ่ายพระบวรพุทธสาสนามาช้านาน ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธสาตรราชสาตรแบบอย่างโบราณราชประเพณีต่าง ๆ แลในทางประฏิสันถารปราไส แล้วมีพระหฤไทยโอบอ้อมอารี เปนที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงษานุวงษ์ทั่วไป แลได้เปนครูอาจารย์ครุฐานิยบุทคลแห่งราชสกูลวงษ์มหาชนเปนอันมาก ควรที่จะเปนประธานาธิบดี มีอิศริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณานิกรสงฆ์คามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง เมื่อบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่ ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ ที่มีตระกูลเปนอย่างอื่น ให้มีอิศริยยศถานานุศักดิยิ่งกว่า จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เปนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ บรมพงษาธิบดี จักรกรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรางกูร ปรเมนทรนเรนทร์สูรย์สัมมานาภิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมลมงคลธรรมเจดีย์ ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย ไตรปิฎกกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเสกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนติ สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจสฤษดิศุภการ มหาปาโมกขประธานวโรดมบรมนารถบพิตร เสด็จสถิตย์ณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุศมศิริสวัสดิ” ดังนี้ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อณวัน ๖ ๑ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๙๖ พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา พระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญพระอัฐิประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักณวัดพระเชตุพน แลให้มีตำแหน่งถานานุกรมสำหรับประจำรักษาพระอัฐิแต่นั้นมา ถึงเวลาเข้าพระวัสสาเสด็จไปถวายพุ่มวัดพระเชตุพน ย่อมเสด็จไปถวายพุ่มพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ด้วย แลเมื่อวันเสด็จพระราชทานพระกฐินวัดพระเชตุพน ก็โปรดให้เชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ มาในพระอุโบสถ ทรงทอดผ้าไตรปีสำหรับถานานุกรมสดัปกรณ์พระอัฐิทุกปีมา ประเพณีที่ทรงเคารพบูชาต่อพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ดังกล่าวมานี้ มีตลอดรัชกาลที่ ๔ มาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปฏิบัติตามแบบอย่างสืบมา จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ฯ เปนกระวีหนังสือไทยอย่างวิเศษที่สุดพระองค์ ๑ หนังสือเรื่องต่าง ๆ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ สอบได้บาญชีดังนี้คือ

๑ สรรพสิทธิคำฉันท์ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๒ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย แต่งต่อพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายน์มหาราชที่ทรงค้างไว้จนจบ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๓ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ กรมศึกษาธิการพิมพ์แล้ว

๔ ฉันท์ดุษดีสังเวยกล่อมช้างพัง พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๕ กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๖ ฉันท์มาตราพฤติ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๗ ฉันท์วรรณพฤติ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๘ ลิลิตเตลงพ่าย กรมศึกษาธิการพิมพ์ครั้งหลัง

๙ ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคแลชลมารคยังไม่ได้พิมพ์

๑๐ โคลงยอพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ดั้นบาทกุญชรแลวิวิธมาลี พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๑๑ ร่ายทำขวัญนาค พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว

๑๒ มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์ เคยได้พิมพ์แล้วแต่กัณฑ์ทศพร หิมพานต์ มหาราช ฉกระษัตริย์ นครกัณฑ์ รวม ๕ กัณฑ์ ยังไม่ได้พิมพ์ ๖ กัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีโคลงฉันท์เบ็ดเตล็ด เช่น โคลงฤๅษีดัดตน โคลงกลบท เปนต้น ซึ่งทรงรับแต่งพร้อมกับคนอื่น ๆ จาฤกหรือพิมพ์แล้วบ้างยังบ้าง

มีข้อควรสังเกตอย่าง ๑ ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ไม่ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเปนกลอนแปดเลยสักเรื่องเดียว ไม่ใช่ทรงไม่ได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ไม่ทรงกลอนแปดนั้น เพราะกลอนแปดมักใช้แต่งในทางสังวาศแลบทลคร จึงทรงรังเกียจประการ ๑ อิกประการ ๑ จะเปนเพราะเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ในสมัยเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องต่าง ๆ นั้น กระวีที่เชี่ยวชาญกระบวนแต่งกลอนแปดมีมาก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แลสุนทรภู่เปนต้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ จะทรงพระดำริห์เห็นว่า กระบวนแต่งกลอนแปด จะสู้กระวีที่มีอยู่ในเวลานั้นยาก จึงไม่ทรงเสียทีเดียว เหมือนอย่างหนังสือมหาชาติกัณฑ์มหาพนซึ่งไม่ทรงแต่งสู้พระเทพโมฬี (กลิ่น) ฉนั้น

ข้อควรรู้ในเรื่องเทศน์มหาชาติยังมีอิกอย่าง ๑ คือ ประเพณีแต่ก่อนถือกันว่า เมื่อเจ้านายทรงผนวช ควรจะฝึกหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ใดกัณฑ์ ๑ จนได้เทศน์ถวาย กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เองถวายเทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชสามเณร ได้ทรงเทศน์กัณฑ์มัทรีถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชสามเณร ก็ได้ทรงเทศน์กัณฑ์สักรบรรพถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงผนวชได้หัดเทศน์มหาชาติแทบทุกพระองค์ ถวายเทศน์ในรัชกาลที่ ๔ บ้าง ที่มาทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ถวายในรัชกาลที่ ๕ ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนิยมในประเพณีเทศน์มหาชาติ พระองค์เองได้ทรงศึกษาทำนองในสำนักพระมหาราชครูพิราม (ชู เปรียญ) ทรงได้ทั้งกัณฑ์สักรบรรพแลทานกัณฑ์ ได้ทรงซักซ้อมกัณฑ์สักรบรรพให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ถวายเทศน์เมื่อทรงผนวชสามเณร แลได้ทรงฝึกสอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ให้ทรงเทศน์ทานกัณฑ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่เสด็จออกไปศึกษาวิชาการในประเทศยุโรปเสียก่อน ไม่ได้ทรงผนวชสามเณรจึงไม่ได้ถวาย แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะยังทรงเทศน์ทำนองทานกัณฑ์ได้อยู่จนทุกวันนี้

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ หนังสือมหาชาติจึงเปนหนังสือจำพวก ๑ ซึ่งนิยมกันในราชตระกูล

ข้าพเจ้าเชื่อว่า บรรดาผู้ที่เปนกระวีแลเปนผู้ที่ชอบใจอ่านหนังสือบทกลอน จะพอใจอ่านหนังสือมหาชาติของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ซึ่งได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นคราวนี้ ทั่วกัน

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๓ เดือนตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ