บทนำ

ภาษากฎหมายไทยมีวิวัฒนาการเคียงบ่าเคียงไหล่มากับภาษาไทยนับตั้งแต่ยังไม่มีอักษรไทยจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้. แต่เรื่องที่แปลกซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ แม้ว่าจะมีตำรา บทความ, หลักสูตรเกี่ยวกับภาษาไทย, สำนวนโวหารประเภทต่างๆ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ อันเกี่ยวกับภาษาไทยอยู่เป็นจำนวนมากมายก็ตาม. แต่ตำราภาษากฎหมายไทยโดยตรงกลับไม่มีปรากฏ ส่วนวรรณกรรมอันเกี่ยวกับภาษากฎหมาย แม้จะมีอยู่บ้าง ก็เป็นจำนวนน้อยมาก. เรื่องที่ปรากฏมีอาทิเช่น, ตำนานกฎหมายไทย, กฎหมายไทยสมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี การร่างกฎหมาย, วิธีการใช้สำนวนโวหารกฎหมาย, และบทความกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งมีปัญหาหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาษากฎหมายไทยอยู่บ้างบางแห่ง. การขาดวรรณกรรมเรื่องภาษากฎหมายไทยนี้ ดูประหนึ่งว่า, บรรดาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายต่างก็เชี่ยวชาญในเชิงภาษากฎหมายอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในวิชาชีพของตนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทั้งหลาย ต่างก็ตระหนักดีอยู่แก่ใจว่า, ในบรรดาปัญหากฎหมายทั้งปวงนั้น, เรื่องที่สุดจะยุ่งและแสนจะยาก ไม่มีสิ่งใดเกินเรื่องของภาษากฎหมาย, เมื่อนักกฎหมายเข้าประชุมก็ดี, เมื่อนักกฎหมายแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายในโอกาสอื่นก็ดี, มีบ่อยครั้งที่แม้แต่นักกฎหมายด้วยกันเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่นักกฎหมายพูดนั้น ผู้พูดหมายความว่าอย่างไร. ถ้าจะว่ากันให้ถึงแก่นแล้ว, ในบางกรณี แม้แต่ตัวนักกฎหมายผู้พูดเองจะเข้าใจเรื่องที่ตนพูดเองด้วยหรือไม่ ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่เป็นอันมาก. เรื่องที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กฎหมายเป็นข้อบังคับซึ่งใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป, และบุคคลทั่วไปจำเป็นต้องอ่านและเข้าใจกฎหมายนั้นๆ ด้วย เพราะหลักกฎหมายสำคัญมีอยู่ว่า, ‘ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว’. เมื่อนักกฎหมายเองก็ยังไม่เข้าใจภาษากฎหมายดี แล้วเราจะหวังให้บุคคลทั่วไปเข้าใจภาษากฎหมายนั้นอย่างไรได้. นี่ก็เป็นเพียงแง่เดียวในปัญหานานัปการของภาษากฎหมายไทย.

อีกด้านหนึ่ง คงจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า, ภาษากฎหมายไทยเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการอันน่าภาคภูมิใจมาเป็นเวลาแรมศตวรรษ, และภาษากฎหมายไทยนี้ก็เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราท่านทุกวันนี้....และคงจะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักกฎหมายด้วยว่า, มรดกอันมีค่าชิ้นนี้เป็มรดกอันมีภารติดพันกล่าวคือมีหน้าที่ของทายาทติดตามมาด้วย...นับเป็นหน้าที่ของพวกเราทายาทที่จักต้องช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำชูให้ภาษากฎหมายฟูเฟื่องเจริญรุดหน้าและเปลี่ยนแปรไปทันกับสภาวะของสังคม, ซึ่งกฎหมายมีบทบาทอย่างสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น. แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ที่ภาษากฎหมายไม่เฟื่องฟูไม่ก้าวไปไกลเท่าที่ควร, และไม่ขยายตัวไปจนได้ระดับกับความเจริญก้าวหน้าในด้านอื่นๆ ของกฎหมาย. ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะความเอาใจใส่ในภาษากฎหมายไทยของนักกฎหมายมีน้อยเกินไป เป็นปฐมเหตุ.

ผู้เขียนเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเรียกร้องและรบเร้านักกฎหมาย นักศึกษากฎหมาย และบุคคลทั่วไปให้สนใจในภาษากฎหมายไทย, ในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในกฎหมายในฐานะเป็นเครื่องมือซึ่งวิชาชีพกฎหมายจะขาดเสียมิได้, และในฐานะเป็นมรดกประจำชาติอันมีค่าและมีภาระติดพันสำหรับพวกเราชาวไทยทุกคน.

หนังสือนี้พิจารณาปัญหาทั้งหลายอันเกี่ยวกับภาษากฎหมายไทยในแง่ต่าง ๆ รวมสามประการด้วยกัน คือ:

ประการแรก: การวิจัยภาษากฎหมายไทย

ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น เรื่องเกี่ยวกับภาษากฎหมายไทยบางเรื่องมีผู้ค้นคว้าและนิพนธ์ไว้แล้ว. สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนได้นำมาอ้างอิงในหนังสือนี้ตามบทและตอนที่ว่าด้วยเรื่องนั้น ๆ โดยอ้างอิงวรรณกรรมต้นฉบับหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่าที่พอจะหาได้. ส่วนที่ยังไม่มีผู้ใดค้นคว้าและนิพนธ์ไว้ก่อนโดยละเอียด, ผู้เขียนก็ค้นคว้าและเรียบเรียงขึ้นใหม่ในหนังสือเล่มนี้. เรื่องใหม่ ๆ เหล่านี้ มีอาทิเช่น, ความเป็นมาของภาษากฎหมายไทยในระบบกฎหมายปัจจุบัน, การพิจารณาภาษากฎหมายไทยโดยเปรียบเทียบกับภาษากฎหมายของนานาประเทศ, อิทธิพลที่ดีและอิทธิพลอันไม่พึงปรารถนาของภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในภาษากฎหมายไทยปัจจุบัน, การใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนในแง่ของกฎหมาย, คุณลักษณะสำคัญของโวหารกฎหมายที่ดี, และการฝึกฝนเรื่องโวหารกฎหมาย.

ประการที่สอง: การให้ข้อเสนอแนะ

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้นำตัวอย่างต่าง ๆ มาแสดงประกอบข้อคิดเห็นและเหตุผลของผู้เขียนด้วย. ตัวอย่างเกือบทั้งหมดมิใช่เป็นตัวอย่างสมมติ, หากแต่เป็นเรื่องจริงในตัวบทกฎหมายปัจจุบัน, คำคู่ความ, บทความ, หรือวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ, ซึ่งโดยมารยาท ผู้เขียนไม่อาจเปิดเผยแหล่งที่มาของตัวอย่างบางตัวอย่างที่กล่าวอ้างถึงได้. อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวอย่างจากตัวบทกฎหมายในปัจจุบัน นอกจากอ้างอิงมาเพื่อประกอบข้อคิดเห็นหรือหลักภาษากฎหมายแล้ว ยังอ้างอิงมาเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายนั้น ๆ ในโอกาสอันสมควรต่อไปอีกโสตหนึ่งด้วย. ส่วนตัวอย่างต่าง ๆ ในภาษากฎหมายประเภทอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนยกมาแสดงและติชมนั้น ก็เป็นการติเพื่อก่อโดยแท้. ในกรณีที่ผู้เขียนวิจารณ์ไว้ ผู้เขียนก็เสนอแนะว่าสมควรแก้ไขภาษาในตัวอย่างนั้นไปในทางใด ทั้งนี้เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้ติชมต่อไปอีกทอดหนึ่ง.

อนึ่ง เนื่องจากวงการกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ, ฝ่ายตุลาการ, หรือฝ่ายบริหารย่อมถือเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักสำคัญในด้านการใช้ภาษากฎหมาย และภาษาไทยโดยทั่วไป, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคำ, ตัวสะกด และความหมายของคำ. ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบางประการไว้ ณ ที่นี้ด้วย.

นอกจากนั้น เกือบทุกเรื่องที่กล่าวถึง ผู้เขียนได้เสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขไว้ด้วย และในเบื้องสุดท้ายก็ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการฟื้นฟูภาษากฎหมายไทยโดยทั่วไปไว้ดุจกัน.

ประการที่สาม : การทดลองในเรื่องของภาษากฎหมาย

ถ้าหากเราถือว่า ภาษากฎหมายเป็นเรื่องของวิชาการและศิลปะประกอบกันแล้ว, เมื่อมีการพิสูจน์ทดลองเรื่องของวิชาการในสาขาอื่น ๆ ได้, อาทิเช่น การทดลองใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ, การทดลองยานอวกาศ, และการทดลองเปลี่ยนหัวใจมนุษย์; หรือแม้แต่ในด้านของศิลปะ, เมื่อมีการทดลองในแง่ของศิลปะสาขาอื่น ๆ ได้, เป็นต้นว่า การทดลองใช้สีบางประเภทในงานจิตรกรรม, การทดลองสร้างปฏิมากรรมแบบใหม่ ๆ ขึ้น, การทดลองผูกคำร้อยกรองแบบใหม่ในวรรณกรรม, เหตุไฉนเราจึงไม่แสวงหาทางทดลองปรับปรุงแก้ไขภาษากฎหมายของเราบ้าง ? จริงอยู่ ในต่างประเทศก็ยังไม่ปรากฎแนวคิดเห็นในเรื่องเอาการทดลองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางปรับปรุงภาษากฎหมาย, แม้กระนั้น ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องรอคอยติดสอยห้อยท้ายนานาประเทศอยู่ตลอดไป. เราน่าที่จะบุกเบิกแนวทางใหม่ของเราเองบ้างเหมือนกัน.

ปัญหาต่อไปมีว่าจะทดลองเรื่องอะไรในภาษากฎหมายไทย ? ผู้เขียนใคร่ขอเสนอข้อพิจารณาดังนี้ :

(ก) จริงอยู่, ผู้เขียนได้กล่าวในตอนต้นว่า เรามิได้เอาใจใส่ในภาษากฎหมายไทยเท่าที่ควร, แม้กระนั้นก็ยังมีความเห็นในหมู่นักวิชาการและนักกฎหมายในกลุ่มน้อยบางกลุ่มว่า การศึกษาหลักภาษาไทยเป็นเรื่องสุดปรารถนาของการตระเตรียมเพื่อศึกษาวิชากฎหมาย, บางท่านมีความเห็นไกลไปถึงกับเสนอแนะให้ผู้ที่จะเข้าศึกษาวิชากฎหมายไปเรียนหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์เสียก่อนสี่ปี หรือมิฉะนั้นก็สมควรศึกษาวิชาศิลปศาสตร์อันมีภาษาไทยเป็นวิชาเอกวิชาหนึ่งด้วยระหว่างหนึ่งถึงสองปีเป็นอย่างน้อยเสียก่อน. ผู้เขียนไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นที่กล่าวนี้เลย. ผู้เขียนไม่ขอคัดค้านเรื่องความสำคัญของภาษาไทยในแง่ที่เป็นรากฐานของการศึกษากฎหมายโดยตรง. แต่ผู้เขียนเห็นว่าระยะเวลาที่จะต้องเสียไปเพื่อการตระเตรียมรากฐานของภาษาไทยทั่วไปถึงสี่ปี, หรือแม้แต่เพียงปีเดียว ก็เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินสมควร, ผลที่จะได้รับไม่คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไป ประการหนึ่ง; อีกประการหนึ่ง, แม้หลักภาษาไทยเป็นเรื่องสำคัญที่นักศึกษากฎหมายพึงเรียนรู้เป็นอย่างดี, และเท่าที่ปรากฏ นักศึกษากฎหมายส่วนใหญ่ยังหย่อนความรู้ทางภาษาไทยก็ตาม, ก็สมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงเรื่องนี้ในหลักสูตรวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษามากกว่าที่จะเจียดเอาเวลาอันมีค่าในหลักสูตรวิชากฎหมายโดยเฉพาะในชั้นปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ไปเพื่อการศึกษาภาษาไทยทั่วไปอีก; และประการที่สำคัญที่สุดก็คือมิใช่แต่เพียงหลักภาษาไทยทั่วไปเรื่องเดียวเท่านั้นที่นักศึกษากฎหมายต้องรู้เป็นอย่างดี, นักศึกษายังต้องเรียนรู้ภาษากฎหมายไทยซึ่งมีหลักการและคุณลักษณะของโวหารแตกต่างไปจากภาษาไทยธรรมดานานัปการเป็นอย่างดีด้วย. ผู้เขียนแน่ใจว่า ภาษากฎหมายไทยโดยเฉพาะนี้ไม่มีการสอนในหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์, หรือในหลักสูตรการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์. ภาษากฎหมายไทยนี้ต่างหาก ที่นักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายพึงปรารถนาอย่างแท้จริง ในหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางนิติศาสตร์.

เมื่อมีความเห็นแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย, แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนเช่นนี้, จะเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะให้มีการพิสูจน์ทดลองผลของการจัดหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ ว่าจัดอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุดในทางวิชาชีพ ? การทดลองที่ผู้เขียนขอเสนอเพื่อพิจารณาก็คือ :

๑) สมควรมีการทดลองสอน วิชาภาษากฎหมายไทย เป็นเอกเทศในหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางนิติศาสตร์หรือไม่ ?

๒) ถ้าสมควรจัด, สมควรทดลองวางนโยบายขงอวิชานี้เป็นสองประการ คือ: ประการแรก, วางรากฐานและหลักภาษากฎหมายไทยให้แก่นักศึกษากฎหมาย; และประการที่สอง, ให้ ‘กุญแจ’ หรือวิธีการ แก่นักศึกษาในอันที่จะไปไขหาความรู้และฝึกหาความจัดเจนในภาษากฎหมาย เมื่อประกอบวิชาชีพกฎหมายในภายภาคหน้าด้วยตนเอง, หรือสมควรจะวางแนวนโยบายไปในทางอื่นใด ?

(ข) เนื่องจากผู้เขียนได้เสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนว่าสมควรจะใช้ในภาษากฎหมายด้วยหรือไม่, ผู้เขียนจึงได้ทดลองใช้เครื่องหมายวรรคตอนในหนังสือเล่มนี้ตลอดทั้งเล่ม, เพื่อประกอบข้อพิจารณาของท่านผู้อ่านด้วยว่า การใช้เครื่องหมายวรรคตอนนี้ เมื่อใช้แล้วมีส่วนดีส่วนเสียหรือแง่คิดอื่นประการใดบ้าง? ถ้าสมควรใช้เครื่องหมายเหล่านี้ในภาษากฎหมายไทย, สมควรใช้ตามหลักภาษาอังกฤษทั่วไปหรือสมควรตั้งเกณฑ์กำหนดขึ้นใหม่สำหรับภาษากฎหมายไทยโดยเฉพาะ ? ถ้าสมควรตั้งเกณฑ์กำหนดขึ้นใหม่, เกณฑ์กำหนดนั้นสมควรเป็นอย่างไร ?

(ค) ผู้เขียนได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบบตัวอักษรย่อในกฎหมายว่า, สมควรจัดให้มีระเบียบเดียวกัน, และควรจะทดลองใช้อักษรย่อแบบใหม่ที่นิยมใช้ในงานสารบรรณของทางราชการทั่วไป, เพื่อความสั้น รัดกุม และ ประหยัดเวลาหรือไม่ ?

(ง) การทดลองที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่สุดในด้านภาษากฎหมายไทยก็คือการทดลองปรับปรุงภาษาไทยและภาษากฎหมายไทยของตัวเราเอง, เป็นต้นว่า ท่านผู้อ่านที่ลายมือสวย แต่ไม่มีใครอ่านออกแม้แต่ตัวท่านเอง, อาจทดลองหาวิธีแก้ไขหรือปรับปรุงให้ลายมือของท่านดีขึ้น.การทดลองวิธีการใหม่ ๆ. ถ้าหากทำอย่างมีหลักการ. มีเหตุผล, และใช้วิจารณญาณอันดีแล้ว, ย่อมเป็นเรื่องที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง. อย่างไรก็ตาม, เรื่องสุดยอดของความยากในภาษากฎหมายไทยได้แก่เรื่องโวหาร. ในเรื่องนี้ท่านผู้อ่านอาจทดลองพิสูจน์หรือเปรียบเทียบด้วยตัวท่านเองได้ว่าคุณลักษณะของโวหารกฎหมายที่ดีนั้น, สมควรจะมีประการใดบ้าง ? แนวคิดเห็นในเรื่องนี้ของต่างประเทศหรือของผู้เขียนที่ได้แสดงไว้ในหนังสือนี้ใช้ได้หรือไม่? สมควรจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือมีแนวคิดเห็นอื่นใดที่เหมาะสมกับภาษากฎหมายไทยกว่านี้หรือไม่ ? และเราท่านก็คงเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า, ด้วยวิธีการทดลองในแง่ต่าง ๆ นี้, ย่อมช่วยปรับปรุงให้ภาษากฎหมายของเราก้าวหน้าไปได้ดีวิธีหนึ่ง.

นอกจากข้อพิจารณาสามประการดังกล่าวแล้วนี้, ผู้เขียนเห็นว่าเนื่องจากภาษากฎหมายเป็นเพียงสื่อแสดงออกซึ่งตัวบทกฎหมายหรือวรรณกรรมกฎหมายประเภทอื่น ๆ เท่านั้น, จึงยังมีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับภาษากฎหมายไทยอย่างใกล้ชิดอีกสองเรื่องคือ เหตุผลในกฎหมาย, และความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย. แต่เนื่องจากเรื่องทั้งสองนี้มีข้อพิจารณาในแง่ต่าง ๆ เป็นเอนกประการ. บางปัญหาเป็นเรื่องของภาษากฎหมายโดยตรง บางปัญหาเป็นเรื่องของเหตุผล, หรือความคิดเห็น หรือปัญหาข้อกฎหมายโดยเฉพาะ, จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในที่นี้เฉพาะเท่าที่จำเป็นแก่การพิจารณาภาษากฎหมายไทยเท่านั้น. ถ้าหากมีโอกาส ผู้เขียนจะได้เรียบเรียงเรื่องดังกล่าวทั้งสองเรื่องเสนอท่านผู้อ่านเป็นบทความต่างหากต่อไป.

เนื่องจากหนังสือนี้เป็นเพียงเรื่องชวนให้คิด, สะกิดให้ค้น, และดลใจให้เราร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงภาษากฎหมายไทยให้ดีเด่นเท่านั้น, จึงไม่พึงยึดถือหนังสือนี้เป็นข้อยุติ หรือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดอย่างตำรา, หากแต่จึงถือว่าเป็นเพียงข้อพิจารณาเบื้องต้นอันเกี่ยวกับภาษากฎหมายในแง่ต่าง ๆ ในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญในกฎหมายและเป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพของนักกฎหมายและนักศึกษากฎหมาย, และสำหรับบุคคลทั่วไปผู้แสวงความรู้ความบันเทิงในเชิงภาษา, หรือใฝ่หาอรรถรสในกฎหมายเท่านั้น.

ประการสุดท้าย, ผู้เขียนใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในเรื่องของภาษากฎหมายไทยที่พบเห็นในหนังสือเล่มนี้หรือจากที่อื่น, เพื่อความก้าวหน้าของภาษากฎหมายไทย. สำหรับตัวผู้เขียนเองใคร่ขอน้อมรับข้อคิดเห็นดังกล่าวด้วยความยินดี, เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงหนังสือนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แสดงไว้ข้างต้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในวาระอันสมควรต่อไปด้วย.

  1. ๑. รายละเอียดในแง่ต่าง ๆ ของการตระเตรียมเข้าศึกษาวิชากฎหมายของต่างประเทศและของประเทศไทย, โปรดดูบทความของผู้เขียน เรื่อง ‘การจัดการศึกษาวิชากฎหมาย (ตอนที่ ๑)’ ใน บทบัณฑิตย์, เล่ม ๒๑, ตอน ๒, เมษายน ๒๕๐๖, หน้า ๓๕๔-๓๖๙.

  2. ๒. ถ้าหากจะมีการประกวดลายมืออ่านยากกันแล้ว พวกเรานักกฎหมายคงจะครองตำแหน่งชนะเลิศตลอดกาลเป็นแน่แท้, เล่ากันสืบมาว่า ท่านผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งจดคำพยานตอนหนึ่งว่า ‘จำเลยถือปืนคาร์ไบน์’ ท่านผู้พิพากษาศาลสูงท่านอ่านเป็นว่า ‘จำเลยถือปีบ ๓ ใบ’. ผู้เขียนก็ยังงุนงงอยู่จนทุกวันนี้ว่า ท่านผู้เขียนเขียนอย่างไรและท่านผู้อ่านอ่านอย่างไร, ข้อความอันเดียวกันนั้นจึงได้กลายเป็นคนละเรื่องห่างไกลกันไปได้ถึงเพียงนั้น.

    เรื่องลายมือนี้ ผู้เขียนขอเสนอแนะข้อทดลองง่าย ๆ ว่า เนื่องจากเด็ก ๆ แม้อยู่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมเขียนหนังสือ, ใคร ๆ ก็อ่านออก โดยที่เขียนตัวบรรจง, ต่อมาเขียนตัวหวัดแกมบรรจง, และหลังจากนั้นมีแต่ตัวหวัด ตัวบรรจงหรือแกมบรรจงหายไป, และตัวหวัดก็เริ่มเลวลงเป็นลำดับ, จนกระทั่งถึงขั้นอ่านไม่ออกเอาเลยเมื่อพวกเรามาประกอบวิชาชีพกฎหมายนี้เอง. ถ้าหากเราจะย้อนกลับไปเขียนแบบเด็กชั้นประถมอีกครั้งหนึ่ง, คือเขียนตัวอักษรให้ชัดเจนเป็นตัว ๆ ไปแบบหวัดแกมบรรจงแทนที่จะเขียนติดกันเป็นพืดหรือดัดแปลงรูปอักษรเสียใหม่แล้วผู้เขียนรับรองว่าใครๆ ก็ต้องอ่านออก, แม้จะไม่สวยก็ยังชัดเจน. ท่านผู้ที่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในลายมือของท่านจะไม่ทดลองวิธีการง่าย ๆ นี้ดูบ้างหรือ ? จริงอยู่ มีหลายท่านที่แจ้งว่าเวลาไม่อำนวย, แม้กระนั้นผู้เขียนก็ยังเห็นว่าเขียนช้าลงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าเขียนแล้วไม่มีผู้ใดอ่านออก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ