บทที่ ๑. ความเป็นมาของภาษากฎหมายไทย

ภาษากฎหมายไทยสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

สำหรับภาษากฎหมายไทยสมัยก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะได้ทรงบัญญัติอักษรไทยขึ้นใช้นั้น, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘ตำนานกฎหมายเมืองไทย’ ว่า: ...‘ยังไม่มีหนังสือไทย ใช้กันแต่หนังสือคฤนถ์ ซึ่งพวกพราหมณ์พามาแต่อินเดีย หนังสือคฤนถ์นั้น ตามที่เคยเห็นศิลาจารึก เห็นใช้เขียนแต่ภาษามคธ ภาษาสังสกฤต และภาษาขอม ไม่เคยพบจารึกอักษรคฤนถ์เป็นภาษาไทยเลย แต่บางทีจะเขียนภาษาไทยอย่างหนังสือขอมเขียนแปลร้อยได้ในครั้งนั้นแล้ว เข้าใจว่ากฎหมายไทยที่ตั้งขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตอนก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ เห็นจะต้องให้แปลกลับเป็นภาษาขอม หรือภาษาสังสกฤต หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวหนังสือคฤนถ์แปลร้อยได้ แต่การจดลงเป็นหนังสือ ไม่ว่าในภาษาใด คงเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์จึงเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงที่สูงศักดิ์ชื่อเป็นพราหมณ์ทั้งนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้า พระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่าพ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่นมีหนังสือชินกาลมาลินีเป็นต้นว่า พระยารามราชเป็นผู้คิดหนังสือไทยขึ้น เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖.... เมื่อมีหนังสือไทยขึ้นแล้ว กฎหมายก็ตั้งขึ้นต่อมา หรือกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้เริ่มจดลง และรักษามาในหนังสือไทย แต่ความรู้หนังสือไทยแพร่หลายเร็วมาก ข้อนี้มีพยานเห็นได้ด้วยศิลาจารึกภาษาไทยรุ่นเก่าใช้ตัวหนังสือไทยตามแบบของพระเจ้าขุนรามคำแหงทั่วทุกเมืองในราชอาณาจักรลานนาไทย ตลอดขึ้นไปจนกรุงศรีสัตนาคนหุต เพราะความต้องการหนังสือสำหรับเขียนภาษาไทยมีอยู่ด้วยกันทุกประเทศที่ชาติไทยได้เป็นใหญ่ เมื่อเกิดแบบตัวหนังสือมีขึ้นทุกประเทศก็ยอมรับใช้หนังสือนั้นโดยเห็นประโยชน์ มิต้องมีผู้ใดบังคับบัญชา’

จากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งมีความว่า : ‘...เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขลูกเมียเยียข้าวไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ว จึงแล่งความแก่ข้าได้ซื่อ บ่เข้าผู้ลัก มักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้าง บ่มีม้า บ่มีปั่ว บ่มีนาง บ่มีเงิน บ่มีทองให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี

ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางเมืองกลางบ้าน มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม...’

ปัญหาน่าคิดมีว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้เป็นตัวบทกฎหมายโดยตรง หรือเป็นเพียงบันทึกทำนองจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ ? ในตัวศิลาจารึกนี้เอง การใช้พยัญชนะและสระก็ดี, วิธีจารึกก็ดี, ทั้งสี่ด้านไม่เหมือนกัน; ยิ่งกว่านั้น การใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ ก็มีเพียงตอนต้นเท่านั้น, ตอนท้ายเป็นเรื่องบอกเล่าแล้วทั้งสิ้น. ท่านศาสตราจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ให้แง่คิดว่า, ศิลาจารึกฉบับนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นปฐมรัฐธรรมนูญ, หรือเอกสารเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง, อันแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมืองไทยในแผ่นดินพ่อขุนรามคำแหง. อย่างไรก็ตาม, ปัญหาที่ว่าศิลาจารึกนี้จะเป็นตัวบทกฎหมายโดยตรงหรือเป็นบันทึกทำนองจดหมายเหตุก็ยังคงเป็นปัญหาที่จะให้นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีขบคิดกันต่อไปตามเหตุผลและหลักฐานที่ค้นพบทั้งในเบื้องนี้และเบื้องหน้า.

สำหรับในแง่โวหารภาษาในศิลาจารึกนี้, ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับข้อวิจารณ์ของนักอักษรศาสตร์ท่านหนึ่งที่ว่า :

‘สำนวนการเขียนในศิลาจารึกนี้เป็นสำนวนการเขียนอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ใช้คำไทยแท้ๆ เป็นส่วนมาก มักใช้คำซ้ำๆ นิยมคำที่เป็นคู่กัน... บางตอนก็สัมผัสคล้องจองกันด้วย’ แม้แต่คำราชาศัพท์ก็ไม่มีปรากฏ. คำที่ใช้เป็นคำโดด หรือคำที่มีพยางค์เดียวเป็นส่วนใหญ่, ทั้งการผูกประโยคก็เป็นแบบเอกรรถประโยคเป็นส่วนมาก.

ลายศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ถือได้ว่าเป็นวรรณคดีไทยชิ้นเอกชั้นหนึ่ง, ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับศิลปกรรมประเภทอื่นๆ ในสมัยเดียวกันแล้ว, จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ในลีลาและชั้นเชิงของศิลปะ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประฏิมากรรม, เช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย, มีลักษณะเป็นไทยแท้, มีความงามเด่น, มีความนุ่มนวลและกลมกล่อม. ต้องด้วยลักษณะอันดีของศิลปะ. ศิลปะสมัยสุโขทัยเป็นศิลปะชั้นสูง ยากที่จะหาศิลปะไทยสมัยอื่นใดเสมอเหมือนได้.

ภาษากฎหมายไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เรื่องประหลาดในภาษากฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีปรากฏใน ‘ตำนานกฎหมายเมืองไทย’, ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า:

‘ขณะเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา แม้หนังสือไทยเพิ่งมีขึ้นได้เพียง ๖๗ ปี ก็เชื่อได้ว่าคงจะได้ใช้ตลอดลงมาจนถึงเมืองอู่ทองแล้ว บรรดากฎหมายที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาเข้าใจว่า เขียนเป็นหนังสือไทยทั้งนั้น แต่ประหลาดอยู่หน่อยที่ข้าพเจ้ายังได้พบพระราชกฤษฎีกาเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาและแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมีที่เมืองพัทลุงเขียนเส้นดินสอดำในกระดาษ ยังใช้อักษรและภาษาเขมรหลายฉบับ จะเป็นด้วยเหตุใด ข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็นจนทุกวันนี้ ฯลฯ’

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น นอกจากมีพระธรรมศาสตร์เป็นกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองแล้ว, ยังมีพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีของบรมกษัตริย์ในครั้งนั้นกลายเป็นบทกฎหมายขึ้นโดยแท้ในสมัยต่อมาด้วย. อนึ่ง พระราชกำหนดกฎหมายที่ตราขึ้นใช้บังคับในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย. สำหรับพระธรรมศาสตร์ของไทยมิได้มีที่มาจากต้นฉบับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในประเทศอินเดียโดยตรง. หากแต่เราได้รับช่วงมาจากมอญ, ซึ่งมีราชอาณาจักรรุ่งเรืองเป็นใหญ่อยู่ในบริเวณที่ราบอันเป็นภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓, ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗. เดิมมอญแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษารามัญอีกทอดหนึ่ง ต่อมาไทยแปลพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย. ปัญหาที่ว่าแปลเมื่อใดนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า :

‘ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดารก็น่ายุตติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึกเห็นจะไม่มีเวลาแปล.’

กฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เราหาดูได้เวลานี้มีปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง, ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระขึ้นใหม่.๑๐ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงนั้น, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า :

‘...เชื่อได้ว่าคงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า และเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่ากฎหมายตอนปลายกรุงเก่าที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกษฐ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือ กฎหมาย ๓๖ ข้อ และมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกายังไม่ตัดความทีเดียว อยู่ในพระราชกำหนดเก่าก็อีกหลายสิบบท.’๑๑

โปรดพิจารณาภาษาที่ใช้ในพระราชปรารภในกฎมนเทียรบาล ซึ่งตราขึ้นใช้บังคับในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถดังต่อไปนี้ :

‘ศุภมัสดุ ศักราช ๗๒๐ วันเสาร์เดือนห้าขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนาถมหามงกุฎเทพมนุษวิสุทธิสุริวงษ์องคพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทศพิธราชธรรม ถวัลราชประเวนีศรีบรมกร ศัตราธิราชพระบาทธดำรงภูมิมณฑลสกุลสีมาประชาราษฎร บรมนารถบรมบพิตร เสด็จสถิตย์ในรัตนสิงหาศบัญชรสิงห์ แลสมเด็จพระเจ้าหน่อพุทธางกูรสุริยวงษ์ และสมเด็จพระพรรณเมศวรนั่งเฝ้า แลพญาเอกสัตราชพระมหาอุปราช แลมหาเสนาจตุสดมมุกขมนตรีพิรยโยธามาต และตำรวจนอกมหาไทลูกขุน ทหารพ่อเรือนซ้ายขวาเฝ้าพระบาทในที่นั้น จึงตั้งพระราชอาญาไอยการทหารพ่อเรือน ชายหญิงสมณพราหมณาจารย แลวานิชนิกรนรประชาราษฎรทั้งหลาย ฯลฯ’

ท่านศาสตราจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช วิจารณ์ภาษากฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับนี้ว่า :

คนไทยที่ไม่รู้ภาษาแขกฟังเอาความหมายได้ยากเต็มทีและเมื่อยิ่งพูดมากความหมายก็ยิ่งน้อยลงไปเป็นธรรมดา...๑๒

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จซึ่งตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) บัญญัติไว้ในบทที่ ๔๒ ว่า:

‘...ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรัมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นค่าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้ แลมีพิพาทแก่กันดังนี้ เพราะมันอยู่แล้ว มันละที่บ้านที่สวนมันเสีย แลมีผู้หนึ่งเข้ามาอยู่แลล้อมทำเอาปลูกสร้างอยู่ให้เป็นสิทธิแก่มัน อนึ่ง ถ้าที่นั้นมันมิได้ละเสีย แลมันล้อมทำไว้เป็นคำนับ แต่มันหากไปราชการกิจศุขทุกข์ประการใด ๆ ก็ดี มันกลับมาแล้ว มันจะเข้าอยู่เล่าไซ้ ให้คืนให้มันอยู่ เพราะมันมิได้ซัดที่นั้นเสีย ถ้ามันซัดที่เสียช้านานถึง ๙ ปี ๑๐ ปีไซ้ ให้แขวงจัดให้ราษฎรซึ่งหาที่มิได้นั้นอยู่ อย่าให้ที่นั้นเปล่าเป็นทำเนเสีย อนึ่ง ถ้าที่นั้นมันปลูกต้นไม้อัญมณีอันมีผลไว้ ให้ผู้อยู่ให้ค่าต้นไม้นั้น ถ้ามันพูนเป็นโคกไว้ ให้บำเหน็จซึ่งมันพูนนั้นโดยควร ส่วนที่นั้นมิให้ซื้อขายแก่กันเลย อนึ่ง ผู้ยากเข้าขออาไศรยอยู่ในที่บ้านท่าน ๆ ผู้อยู่ที่ก่อนให้อยู่ถึงปีหนึ่งสองปีก็ดี ครั้นรังเกียจกันเล่า จะขับผู้ขออยู่นั้นเสียให้ออกจากที่นั้นว่าหาที่อื่นอยู่เถิด อย่าให้ผิดหมองกันเลย ถ้าผู้ขออยู่ได้ปลูกเรือนเสาไม้จริงแลทำรั้วไว้เป็นเขตเจ้าที่ยอมให้ปลูกให้ทำแล้วได้อยู่มาถึงสามปี ท่านว่าเป็นสิทธิแก่มันผู้ขออยู่’.๑๓

น่าสังเกตว่าในครั้งกระโน้น ความแน่นอนของ เวลา หาเป็นเรื่องสำคัญ เช่นในระบบกฎหมายปัจจุบันไม่. กฎหมายบทนี้ใช้คำว่า ‘๙ ปี ๑๐ ปี’, ‘ปีหนึ่งสองปี’, และ ‘สามปี’, แสดงให้เห็นว่า เพียงแต่ระยะเวลาล่วงเลยมาประมาณ ๙ ปี ๑๐ ปี หรือ ‘ปีหนึ่งสองปี’ ก็น่าจะปรับเรื่องเวลาเข้าบทที่ ๔๒ นี้ได้แล้ว. ส่วนคำว่า ‘สามปี’ นั้น, แม้มิได้มีคำว่า ‘สองปี’ อยู่หน้า หรือ ‘สี่ปี’ อยู่หลัง, ก็น่าจะสันนิษฐานได้จากเนื้อความในบทกฎหมายนี้ว่าเป็นระยะเวลากำหนดไว้โดยประมาณดุจกัน.

ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับภาษากฎหมายในสมัยนั้นก็คือ, ยังมีลีลาที่แฝงภาษาร้อยกรองอยู่ด้วยเป็นอันมาก. มีถ้อยคำที่สอดคล้องสัมผัสกันเสมอ. แม้แต่ชื่อกฎหมายในบางรัชกาล ก็มีถ้อยคำสอดคล้องต้องกันอยู่, เช่น ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรฐ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด’๑๔ เป็นต้น.

อนึ่ง ตัวบทกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นผิดกันกับตัวบทกฎหมายตามระบบกฎหมายไทยปัจจุบันในเนื้อหาที่สำคัญก็คือ, กฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ให้เหตุผลที่ได้ตราตัวบทกฎหมายนั้นไว้ด้วยในบทบัญญัตินั้น ๆ เอง, ยิ่งกว่านั้นยังแฝงบทอบรมสั่งสอนไว้ด้วย.

โปรดพิจารณากฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งปรากฏว่ามีอยู่แล้วในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง).๑๕ บทที่ ๘๒ แห่งกฎหมายบัญญัติว่า :

‘ชายใดลอบทำชู้ด้วยลูกสาวหลานสาวท่านมิได้กล่าวถาม แลพ่อแม่หญิงรู้ชู้ขึ้นไปมาหาสู่ลูกตนดังนั้นไซ้ ท่านว่า คือเมียมัน ให้มันแต่งษะมาพ่อแม่หญิง พึงให้พ่อแม่หญิงรับษะมา ให้มันอยู่กันเป็นคู่สังวาศ เพราะเขาทั้งสองเป็นคู่สร้างกันมาแต่กาลก่อน เป็นสัตรีภาพอย่าให้ชายสัมผัศถูกต้องตัวถึงสอง ถ้าชายมิได้แต่งษะมาพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่แห่งหญิงแลมิได้เลี้ยงหญิงดังท่านเลี้ยงลูกเมียท่านทั้งหลาย แลมันทำชู้แล้วมันทอดหญิงนั้นเสียท่านว่ามันทำให้ลูกหลานท่านนมตกอกพร่อง ให้ไหมชายผู้ลเมิดพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่นั้นโดยขนาด ถ้าแต่งมาษะมาพ่อแม่หญิงมิรับ แลพรากลูกสาวไปให้แก่ชายอื่นให้เสียประเวณีธรรมไซ้ ท่านว่าผู้มาเอาเมียมัน แลพ่อแม่ทำมิชอบนั้น ท่านให้ไหมพ่อแม่หญิงและชายผู้มาเอาเมียมันโดยขนาด’.

บทที่ ๖๗ : ‘ภรรยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน จะหย่ากันไซ้ ตามน้ำใจเขา เหตุว่าเขาทั้งสองสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้’.

เมื่อเปรียบเทียบภาษากฎหมายสมัยกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว, จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากราวกับว่าเป็นคนละภาษาทีเดียว, ทั้งด้านการผูกประโยค, ลีลา, แนวคิดเห็น, และเชิงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นนั้น ๆ. จริงอยู่ ที่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น, สำนวนการเขียนละเอียดถี่ถ้วนกว่าสมัยสุโขทัย, แต่การใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย, กล่าวซ้ำซาก, ถ้อยคำที่เป็นพลความมีมากกว่าถ้อยคำที่เป็นแก่นสาร. ถ้าจะเทียบกับศิลปกรรมร่วมสมัยประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประฏิมากรรม, เช่นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา, ศิลปกรรมประเภทนี้ย่างเข้าสู่ยุคที่ตกต่ำตลอดมา, จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์.๑๖ ยุคก่อนที่จะได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมจากตะวันตกแล้ว, จะเห็นได้ว่าด้านวรรณกรรมกฎหมายก็ตกอยู่ในสมัยเสื่อมเหมือนกันทุกประการ.

ภาษากฎหมายไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐, ปรากฏว่าบรรดาพระราชกำหนดกฎหมายถูกไฟเผาเป็นเถ้าถ่านไปเป็นอันมาก. ประมาณกันว่าเหลืออยู่เพียงหนึ่งในสิบเท่านั้น. เวลาล่วงเลยมาถึง ๔๐ ปีเศษจึงได้มีการชำระพระราชกำหนดกฎหมายใหม่. เหตุที่ได้ล่วงล่ามาช้านานเช่นนั้นก็เพราะในยุคนั้นมีสงครามพัวพันอยู่มิได้ขาด. ใน พ.ศ. ๒๓๔๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีพระบรมราชโองการตรัสให้คณะอาลักษณ์ ลูกขุน และราชบัณฑิตรวม ๑๑ นาย ชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการ, ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปโดยจัดเป็นหมวดเป็นเหล่า, และปรับปรุงบทกฎหมายให้ต้องตามครรลองแห่งความยุติธรรม. กฎหมายที่สะสางใหม่เรียกกันทั่วไปว่า ‘กฎหมายตราสามดวง’,๑๗ อันเป็นประมวลกฎหมายของแผ่นดินที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดั้งเดิมใหม่ให้รัดกุมและเที่ยงธรรม, และเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุด.๑๘ ส่วนใหญ่ของกฎหมายนี้ใช้บังคับมานานถึง ๑๐๓ ปี จึงได้ยกเลิกไป. แม้กระนั้นก็ดี, บางส่วนก็ยังคงใช้บังคับอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, กฎหมายลักษณะผัวเมียยังใช้บังคับถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาซึ่งสมรสก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘. สำหรับภาษาที่ใช้ในกฎหมายตราสามดวงนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาดังได้พิจารณามาแล้วข้างต้น.

ภาษากฎหมายไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคใหม่ในประวัติศาสตร์, ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอีกวาระหนึ่ง. ในด้านกฎหมาย, กฎหมายตราสามดวงไม่อาจบังคับได้ทุกกรณี, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ, ทั้งบทบัญญัติบางบทก็กลายเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและยุ่งยาก บางบทก็ไม่เที่ยงธรรม, หรือรุนแรงเกินสมควร, พระองค์ได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายขึ้นใหม่มีจำนวนถึงห้าร้อยฉบับเศษ.๑๙ ในที่นี้ใคร่ขอยกตัวอย่างกฎหมายที่ตราขึ้นในรัชกาลที่ ๔ มาแสดงบางฉบับ :

ประกาศพระราชบัญญัติผัวขายเมีย

มีพระบรมราชโองการ มานพระบันทูรสุรสิงหนาทให้ประกาศแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายน่าฝ่ายใน แลราษฎรในกรุงนอกกรุงให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อณวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ นพศก อำแดงจั่นทำฎีกาทูลเกล้าถวาย กล่าวโทษนายเอี่ยมผัวว่า ลักเอาชื่ออำแดงจั่นไปขายไว้แก่ผู้มีชื่อ อำแดงจั่นไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วย ครั้นความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทดังนี้ จึงทรงพระราชดำริว่า ผัวลักเอาชื่อภริยาไปขาย ภริยาไม่ได้รู้เห็นด้วย จะเรียกว่าเป็นเรือนเบี้ยไม่ควร แต่กฎหมายเก่านั้นว่าไว้อย่างไรยังหาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่ ณ วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ นพศก จึงมีพระราชหัตถเลขาให้พระอินทรเทพ เชิญไปถามลูกขุน ฯ พร้อมกันคัดบทกฎหมายเก่าทูลเกล้าถวายเข้ามาดังนี้ (ถ้าผัว แล พ่อแม่ นายเงิน เอาชื่อลูกเมีย ข้า คน ลงในกรมธรรม์ขายท่านว่าเป็นสิทธิ แม้ว่าเจ้าสินบอกก็ดี มิได้บอกก็ดี แก่ตัวเรือนเบี้ยซึ่งมีชื่ออยู่ในกรมธรรม์นั้น ท่านว่าเป็นสิทธิได้โดยระบินเมืองท่าน เหตุว่า เจ้าผัว แลพ่อแม่ นายเงินนั้นเป็นอิสระภาพ) (บทหนึ่งว่า เมียก็ดี ลูกก็ดี เอาชื่อพ่อแม่ ผัว ลงในกรมธรรม์ขาย ท่านว่ามิเป็นสิทธิ เหตุว่า เมียลูกนั้นมิได้เป็นอิสระแก่ผัวแลพ่อแม่นั้น) กฎหมายเดิมมีอยู่เช่นนี้ จึงทรงพระราชดำริว่า กฎหมายบทนี้เมื่อพิเคราะห์ดูเหมือนผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคนไป หาเป็นยุติธรรมไม่ ให้ยกเสีย จึงมีพระราชบัญญัติใหม่ว่า ถ้าผัวจะเขียนชื่อเมียในสารกรมธรรม์ขาย ถ้าเมียมิใช่เมียทาส มีค่าตัว มีสารกรมธรรม์ในมือผัวแล้ว ต่อเมียยอมให้ขายลงลายมือแกงใดด้วยเป็นสำคัญ ผู้เขียนสารกรมธรรม์ ฦๅมีผู้นั่งเป็นพยานรู้เห็นด้วยจึงเป็นอันขาย ควรถือว่าเป็นตัวเรือนเบี้ยได้ ถ้าเมียไม่ยอมให้ขาย ฤๅลักเอาชื่อไปขาย ไม่มีพยานรู้เห็น ไม่เป็นอันขาย แต่ถ้าเมียอยู่กับผัว ไม่ได้หย่าร้างค้างขายแยกย้ายกัน ผัวลักเอาชื่อเมียไปทำกรมธรรม์ขายแล้วหนีไป นายเงินจะมาร้องฟ้องให้เกาะครองเมียมาเร่ง ให้ส่งตัวผัวตามระบินเมืองได้ ถ้ามันยอมเป็นจำนำแทนผัว มันให้ใช้ต่างกระยาดอกเบี้ยค่าป่วยการ ฤๅยอมเป็นทาสต่อภายหลังลงแกงใด ทำใบยอมให้จะยึดเอาตัวเป็นทาสก็ได้ ถ้าไม่ยอม จะเกาะเป็นจำนำได้แต่ในโรงศาลจะยึดเอาเป็นตัวทาสไม่ได้ ถ้าเมียหย่าร้างขาดจากผัวเมียกันก่อน แต่มันหนี ถึงมีชื่อในสารกรมธรรม์ มันไม่รู้เห็นด้วยก็ดี ฤๅเมียผัวมันไปขายเป็นทาสท่านผู้อื่นไว้แต่ก่อน ยอมเป็นทาสใช้อยู่ในเรือนนายเงินแล้ว ก่อนแต่ผัวลักเอาชื่อมาทำสารกรมธรรม์ ขายที่อื่นอีกนั้นก็ดี จะเกาะมันเอามาเป็นจำนำไม่ได้ ให้เกาะเอาแต่ผู้นายประกันแลผู้รับเรือนนายประกันเงินของตัวในการเรื่องผัวลักเอาชื่อของเมียมาขายนั้นเถิด ในการอย่างนี้ต้องเป็นความลำบากแก่ผู้มักง่ายเชื่อ กฎหมายเก่าว่า ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน ฯลฯ.’

ในประกาศเรื่องการเสพย์สุรามาในวันสงกรานต์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า :

‘ถ้าคนเมามีพวกมากต่อสู้เจ้าของบ้าน ถึงเจ้าของบ้านจะชกตี มีบาดเจ็บก็ดี ถ้าเมื่อจับตัวไปส่งกรมพระนครบาล ๆ ชัณศูจน์รู้แน่ว่าคนนั้นเมาจริง ก็ให้เจ้าของบ้านเป็นผู้ชนะ ถ้าผู้มาส่งเห็นว่า ถ้าจับตัวคนผู้บุกรุกไปส่งจะมีพวกของผู้นั้นสกัดกั้นทางแก้ไขตามทางที่จะไปส่งจะเกิดวิวาทกัน ถ้าอย่างนั้นก็ให้ยึดเอาไว้ มาเล่ากับกรมพระนครบาล หรือนายอำเภอคนใดคนหนึ่งให้ไปชัณศูจน์ว่าเมา หรือไม่เมาอย่าให้ทันคนเมานั้นสร่างจะเป็นคำโต้เถียงกันไป อนึ่งในยามตรุษยามสงกรานต์นั้น ผู้ใดจะเสพย์สุราเมามาก ก็ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนของตัว ถึงจะมีที่ไปก็ให้งดรอต่อสร่างเมาแล้วจึงไป ฯลฯ.’

ประกาศพระบรมราโชวาทไม่ให้ทิ้งสัตว์ตายลงในน้ำมีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า :

‘...บัดนี้ได้ทราบคำคนนอกประเทศแลคนนอกกรุงเป็นลาวแลเขมรและชาวหัวเมืองดอนใช้น้ำบ่อและอื่น ๆ หลายพวกย่อมติเตียนว่า ชาวกรุงเทพ ฯ นี้ทำโสมมนักลงในแม่น้ำลำคลอง ด้วยทิ้งซากศพสัตว์ตายให้ลอยไป ๆ มา ๆ น่าเกลียดชัง แล้วก็ใช้กินแลอาบในแม่น้ำอยู่เป็นนิตย์ เป็นน่ารังเกียจพระมหานคร

เพราะเหตุฉะนั้น จึงทรงพระมหากรุณาโปรดสั่งสอนเตือนสติว่ามาว่า แต่นี้ต่อไปห้ามมิให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งทิ้งสุนัขตายแมวตายแลซากศพสัตว์ต่าง ๆ ลงในแม่น้ำแลคลองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นอันขาด ขอให้คิดอ่านใช้สอยจ้างวานใคร ๆ ไปทิ้งเสียที่ป่าช้าดังซากศพคนนั้นเถิด ถ้าบ้านเรือนอยู่ริมน้ำจะเอาไปป่าช้ายาก ก็ให้ฝังเสียในดินในโคลนให้ลี้ลับไป อย่าให้ลอยไปลอยมาในน้ำได้ แลการซึ่งทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในน้ำให้ลอยขึ้นลอยล่องอยู่ดังนี้ คิดดูโดยละเอียดก็เห็นเป็นที่รังเกียจแก่คนซึ่งได้อาศัยใช้น้ำอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน ฯลฯ’.

เมื่อพิเคราะห์ดูบทบัญญัติแห่งกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ แล้ว จะเห็นได้ว่า แม้ว่าโวหารภาษากฎหมายเป็นไปในทำนองภาษากฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในด้านความคิดเห็นทางกฎหมาย ดังเช่น สิทธิของสตรีดีขึ้นกว่าเดิม, สามีจะขายภริยาไม่ได้ ถ้าภริยาไม่ยินยอมด้วย; และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพิถีพิถันเรื่องศัพท์ภาษาไทยเป็นพิเศษ, ถึงกับทรงมีประกาศพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการใช้ศัพท์หลายฉบับ, อาทิเช่น ทรงห้ามใช้คำว่า ‘กะปิ’ และ ‘น้ำปลา’, แต่ทรงให้ใช้คำว่า ‘เยื่อเคย’ และ ‘น้ำเคย’ แทนตามลำดับ.๒๐ คำว่า ‘อ้วน’ และ ‘ผอม’ ทรงถือว่าเป็น ‘คำหยาบ, คำต่ำคำเลว’, และทรงให้ใช้คำว่า ‘ซูบพระองค์’, ‘ทรงพระเจริญหรือพ่วงพี’,๒๑ แทนตามลำดับ. นอกจากนั้น ยังทรงให้หลีกเลี่ยงคำผวนต่าง ๆ อีกด้วย. ส่วนเหตุผลในการตรากฎหมายขึ้นบังคับก็ได้กล่าวไว้โดยละเอียด.

ท่านศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช วิจารณ์ภาษากฎหมายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ว่า :

‘ถ้าพิเคราะห์กันในเชิงวิธีเขียนหนังสือตลอดจนโวหารหลวง เราจะเห็นได้ทีเดียวว่ากฎหมายเหล่านี้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงร่างขึ้นเองด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ซึ่งช่วยทำให้พระราชกำหนดกฎหมายในรัชกาลของพระองค์ท่านเต็มไปด้วยข้อความสนุกสนาน และให้ความเต็มตื้นแก่ใจ ....เราได้อ่านโศกวรรณกรรมในประกาศให้เปลี่ยนชื่อกะปิ น้ำปลาเป็นเยื่อเคย น้ำเคย ซึ่งแสดงว่าแม้แต่พระมหากษัตริย์ทรงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ยังต้องพ่ายแพ้ต่อมติมหาชนจนหมดทางไป....

มีข้อที่น่าสังเกตว่ากฎหมายของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น แม้จะสั้นเสมอในส่วนที่เป็นบทบังคับของกฎหมาย เหตุผลที่ให้เป็นเชิงพระราชปรารภถึงความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมาย ท่านว่าของท่านไว้ยืดยาวถึงใจที่สุด ด้วยประการเช่นนี้ เราจึงไม่ได้อ่านแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ยังได้เรียนรู้ตลอดถึงเจตนารมณ์และเหตุการณ์เบื้องหลังการออกกฎหมายนั้นด้วยอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าจะเปรียบพระมหากษัตริย์นักนิติศาสตร์ในกาลก่อน เช่น พ่อขุนรามคำแหง หรือสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ อาจยังไม่เข้าขั้นนักนิติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเท่า แต่ในบรรดาพระมหากษัตริย์ของไทยในกาลก่อนและเบื้องหลังแต่นั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ทรงเขียนกฎหมายด้วยหัวใจ และด้วยความจริงใจอย่างเต็มเปี่ยม ฯลฯ.’๒๒

ภาษากฎหมายไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมัยต่อมา

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประเทศไทยได้เจริญรุดหน้าไปดุจดังคำพังเพยที่ว่า ‘พลิกแผ่นดิน’. ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้ที่ทรงพระปรีชาสามารถปรุงแต่งและนำเอาอารยธรรมตะวันตกมาประสมประสานกับอารยธรรมตะวันออกในบ้านเมืองได้อย่างแนบเนียน; และทรงนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ดีเป็นยอดเยี่ยม สำหรับรัฐประศาสโนบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายไทยนั้น, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้ในการเปิดรัฐมนตรีสภา, เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ว่า:

‘บางทีก็จะมีอยู่เนือง ๆ ที่ท่านทั้งหลายจะต้องค้นหาเทียบเคียงกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเมืองต่างประเทศ แลหัวเมืองของเมืองต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี เรามีความไว้ใจว่าท่านทั้งหลายคงจะตริตรองดูเหตุการทั้งหลาย ที่มีเฉภาะสำหรับกับบ้านเมืองเราอยู่นี้ เป็นสำคัญเป็นนิตย์ การที่เราคิดจัดการแก้ไขธรรมเนียมให้ดีขึ้นนั้นต้องให้เป็นการมั่นคง แลประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลง ฤๅจะจัดการแก้ไขธรรมเนียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ใหม่ไปหมดสิ้นทีเดียว แลไม่ควรที่จะหลับตาเอาอย่างทำตามธรรมเนียมที่มีในที่อื่น หากว่าเราจะต้องค่อย ๆ ทำการให้ดีขึ้นโดยลำดับ ในการที่เป็นสิ่งต้องการจะจัดให้ดีแล้ว แลเลิกถอนแต่สิ่งที่เห็นเป็นแน่แท้ว่าไม่ดี ฤๅเป็นของใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น ทุกเมืองอื่น ๆ แลในเมืองนี้เป็นสำคัญทั้งสิ้น ย่อมมีธรรมเนียมหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่จะต้องนับถือกัน ไม่ใช่เพราะว่าเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่โบราณเสมอเหมือนกับอายุของประเทศนี้อย่างเดียวหากเพราะว่าเป็นธรรมเนียมที่สนิทแน่นแฟ้นแก่น้ำใจ แลความเชื่อมั่นของอาณาประชาชน แลเพราะว่าถ้าจะเลิกถอนธรรมเนียมเช่นนี้เสีย ก็จะไม่เป็นแต่เพียงที่จะเป็นไภยเกิดขึ้นแก่เมืองที่ตั้งอยู่ได้อย่างเดียว หากจะกระทำให้อาณาประชาราษฎรไม่เป็นผาศุกด้วย’๒๓

สำหรับด้านภาษาไทยนั้น, พระองค์ท่านสนพระทัยเป็นพิเศษและได้ทรงตั้งสมาคมภาษาไทยขึ้น, ‘เพื่อป้องกันถ้อยคำที่ใช้ไม่ถูกต้องมิให้แพร่หลายขึ้นโดยรวดเร็ว, และเพื่อจะแก้ไขถ้อยคำและอักษรที่ใช้กันมาในที่ผิด ๆ ให้ถูกต้อง’๒๔ ในด้านภาษากฎหมายไทยโดยเฉพาะ, น่าจะถือได้ว่าเป็นระยะแห่งการปฏิรูปเช่นเดียวกับระบบกฎหมายไทย. ภาษากฎหมายไทยที่ปฏิรูปใหม่ที่ดำเนินตามหลักรัฐประศาสโนบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายไทยดังกล่าวข้างต้นทุกประการ. ภาษากฎหมายไทยแปรรูปจากการมีลักษณะเป็นสาขาหนึ่งของวรรณคดีไทยมาเป็นภาษาไทยในทางวิชาการที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่ง. นับตั้งแต่วาระที่ประเทศไทยใช้กฎหมายลักษณะอาญาเป็นต้นมา, ภาษากฎหมายไทยมีคุณลักษณะใหม่, กล่าวคือ เป็นภาษาที่ต้องอาศัยทั้งหลักวิชากฎหมายและศิลปะในเชิงอักษรประกอบกัน. ถ้อยคำแทบทุกคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายมีความหมายและมีน้ำหนัก, และพลความมีน้อย. ภาษาในตัวบทกฎหมายไทยใหม่นั้น, ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษเป็นอันมาก. รายละเอียดในเรื่องนี้จะได้พิจารณาต่อไปในหัวข้อเรื่องอิทธิพลของภาษาอังกฤษในภาษากฎหมายไทย.

เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคแห่งการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยดังกล่าว จึงมีข้อที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับภาษากฎหมายไทยของยุคนี้บางประการ. สำหรับตัวอย่างภาษากฎหมายไทยที่ดียิ่งในยุคที่กล่าว, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องเกี่ยวกับอรรถคดี, และลายพระหัตถ์ของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ จะได้นำมาแสดงไว้ในเรื่องโวหารกฎหมายไทยที่ว่าดี, ดีนั้นประการใด ?

สำหรับในด้านศิลปะนั้น, เราอาจเปรียบเทียบภาษากฎหมายได้กับศิลปกรรมประเภทอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน. ยุคดังกล่าวนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยได้รับอารยธรรมด้านศิลปกรรมจากตะวันตกเช่นเดียวกัน. แม้กระนั้นก็ดี, ในด้านศิลปกรรมประเภทอื่นๆ ก็เช่นเดียวกับด้านภาษากฎหมาย, ผู้ที่มีส่วนมีเสียงในวงการที่รับผิดชอบทุกวงการเป็นห่วงใยเกรงศิลปกรรมไทยและภาษาไทยจะถูกกลืนไปในอารยธรรมตะวันตกด้วย, จึงได้พยายามระมัดระวังให้อิทธิพลตะวันตกมีอยู่เฉพาะเท่าที่จำเป็น, และพยายามรักษาความเป็นไทยไว้ในเรื่องเหล่านี้อย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังที่จะได้พิจารณาต่อไปในเรื่องอิทธิพลของภาษาอังกฤษในภาษากฎหมายไทย.

โวหารกรมสวัสดิ์

ในยุคแห่งการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยนี้, เรื่องที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้ามากที่สุดเรื่องหนึ่ง, คือโวหารของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, อธิบดีศาลฎีกาพระองค์หนึ่งในยุคนั้น. พระองค์ท่านเองทรงหวังจะให้ตัวอย่างอันดีในทางภาษากฎหมายเพื่อเป็นแนวบรรทัดฐานในทางวิชาชีพต่อไป. ดังปรากฏในคำนำของหนังสือโวหารกรมสวัสดิ์, ซึ่งหลวงราชบัญชาเป็นผู้รวบรวมว่า :

‘...และทรงหวังว่าผู้สนใจในทางความจะได้สำเหนียกทำนองปฤกษาความชั่งเท็จจริงหนักเบาคำพยาน หยิบเหตุให้สมผล กล่าวต้นให้รับกับปลาย มิให้ก้าวก่ายตักกุตักกะ เขินขัดกับวิจารณปัญญา สำเหนียกทั้งโวหาร ภาษาถ้อยคำใช้ให้เป็นสง่าในทางบังคับความตลอดถึงอักขรวิธี ได้เห็นอุทธาหรณ์คดีอันจะพึงอ้างอิงเป็นบันทัดฐานในกระบวนพิพากษาด้วย ทรงอธิษฐานให้เป็นเครื่องค้ำวิชาชำระความให้เป็นเครื่องขัดเกลาสำนวนโรงศาล ให้หันเข้าหาภาษาไทยในใบสัตย์เก่าก่อนบ้าง เพราะเหตุว่าเยี่ยงอย่างภาษาความแลภาษากฎหมายไม่ว่าในประเทศใด ๆ ย่อมรักษาถนอมโวหารภาษาสูงใช้ถ้อยคำลึกสละสลวย เช่นภาษาเทศนา ภาษาธรรม ล้วนเป็นสำนวนบัณฑิตผู้รู้ผู้เรียนแล้วในสนาม จะพูดจะเขียนตามปากตลาดดาดสามัญนั้นมิบังควร ฯลฯ’๒๕

ณ ที่นี้สมควรได้พิจารณาตัวอย่างคำพิพากษาตามโวหารกรมสวัสดิ์เพื่อเป็นตัวอย่างประกอบด้วย คือ :

‘ให้อัยการเมืองตรวจสำนวนแลไต่สวนนายน้อยโจทก์ แลพยานหลักฐาน เมื่อเห็นว่าคดีมีมูลพอก็ให้ว่ากล่าวฐานฟ้องเท็จตามมาตรา ๑๕๘-๑๖๐ แห่งลักษณอาญา อย่าให้ชาวสุพรรณทำเล่นแก่ความได้’ (ความตอนหนึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๒๘/๒๔๕๕).

‘อนึ่งความมาปรากฏว่า นายเดชคนนี้หากินทางลงเอาเงินรับประกันคู่ความทำไม่ชอบธรรม แลยังประเวประวิงในอันใช่ที่มีแต่จะเอาเปรียบคน จะชั้นแก่แผ่นดินก็ยังเอาเปรียบ ถ่วงไม่ให้เงินประกัน ๖๐๐ บาทนี้ไว้ได้ถึง ๒ ปี จงตราหน้าไว้ แลควรเข็ด ควรระวังอย่าให้รับประกันคู่ความให้ยุ่งยากในศาลยุติธรรมได้ต่อไป’ (ความตอนหนึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๙/๒๔๕๕).

‘ทางพิจารณาได้ความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นว่าศาลข้าหลวงพิเศษปฤกษาตัดสินพิเคราะห์ละเอียดละออดีนัก ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ นายสำอ๋องพนักงานอัยการร้องฎีกาไม่คิดหน้าระวังหลัง ใช่ว่าเจ้าทิฐิ ฤๅเวลา หรือดุนเดาโดยแผนสพร่าว สักแต่ว่า ทำราชการ ฎีกาไม่เป็นแก่นสาร แลวิธีบังคับราชการเช่นนี้ทำให้ผู้น้อยระอา อิดใจ น้อยใจ จะฟ้องกำนันข้าราชการควรต้องไต่สวนให้ถ่องแท้จับผิดได้มั่น ไม่ควรจะจับเล็กน้อยหยุมหยิมเช่นนี้ ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย ปล่อยจำเลยไป’ (ความตอนหนึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๒/๒๔๕๕).

‘กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนคดีนี้โดยตลอด มูลกรณีนั้นเกิดจากจำเลยไปขุดคันนาของนายแดงเพื่อให้น้ำเข้านาของตน เมื่อนายแดงเห็นเช่นนั้น จึงเอาดินกลบเสียไม่ยอมให้จำเลยขุดอีก ฝ่ายหนึ่งขุด ฝ่ายหนึ่งกลบดังนี้ จำเลยขัดใจขึ้นมาตรงเข้าเตะ และต่อยนายแดงหลายที นายแดงล้ม จำเลยได้เอาด้ามจอบกระทุ้งถูกนายแดงอีก ๑ ที ตามคำชัณสูตรไม่ปรากฏว่ามีแผลแตก มีแต่ฟกช้ำไม่สาหัส ศาลข้าหลวงพิเศษแก้เอาโทษเพียงสามเดือนนั้นชอบนัก ฎีกาโจทก์หาแก่นสารมิได้ อัยการตลอดจนกระทั่งผู้ว่าราชการ และมณฑลผู้มีหน้าที่ว่าความหลวง มิใช่คดีเล็กน้อยเช่นนี้ ทำราชการเหมือนเล่นการพนันขันต่อ คิดทิฐิมานะ เอาแต่ชะนะคะคาน แม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อรับรอง ก็ไม่รู้ว่าอย่างไรสำคัญไม่สำคัญในอรรถคดี เถียงรีเถียงขวาง ไม่เป็นแก่นสาร เป็นต้น จงอย่าริรับรองคดีเล็กน้อยไม่เป็นปัญหาสำคัญอย่างนี้อีก มีแต่จะทำให้เหนื่อยเปล่าหาประโยชน์แก่แผ่นดินมิได้เลย ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย’ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๙๘/๒๔๕๕).

โวหารภาษากฎหมายประเภทนี้จะเหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองในสมัยนั้นหรือไม่เพียงไร, เป็นปัญหาที่น่าค้นคว้าศึกษาอยู่เป็นอันมาก. แต่สำหรับในแง่ของเรานักกฎหมายปัจจุบัน ก็มีข้อน่าคิดอีกแง่หนึ่งว่า, เรื่องการตำหนิบุคคลทุกฝ่ายในคำพิพากษานับแต่คู่ความ, นายประกัน, พนักงานอัยการ, และศาลนั้น, ในปัจจุบันจะถือเป็นเรื่องที่นอกประเด็นหรือไม่ ? และ, โวหารดังกล่าวนี้ในปัจจุบันจะถือว่าเป็นโวหารที่แข็งกร้าวหรือหาญหักเกินไปหรือไม่ ? เมื่อกาลสมัยต่างกันไป, ปัญหาต่าง ๆ ในภาษาย่อมต่างกันด้วย, แต่เราก็น่ายินดีที่ระบบกฎหมายของเรามีโวหารหลายอย่างต่างประเภทให้เราได้มีโอกาสได้ศึกษาและพิจารณาว่า, โวหารใดสมควรถือเป็นแบบฉบับที่ดี, หรือเป็นตัวอย่างที่ไม่สมควรเอาอย่าง...

คำร้อยกรองในภาษากฎหมายไทย

อนึ่ง ในยุคแห่งการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยนั้นเอง, เล่ากันสืบมาว่าคำถามสอบไล่วิชากฎหมายในบางลักษณะวิชา, มีคำถามเป็นแบบร้อยกรองและมีลักษณะเป็นปริศนามากกว่าคำถามสอบไล่วิชากฎหมายอยู่บ้างเหมือนกัน. โปรดพิจารณาคำถามและธงคำตอบข้างล่างนี้ :

(๑) คำถาม : คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า สูเจ้าเข้าใจว่ากระไร ?

ธงคำตอบ : พระราชบัญญัติป้องกันโรคระบาด คนในบ้านห้ามออก คนนอกบ้านห้ามเข้าบ้าน.

(๒) คำถาม : มีดในเรือนก็ว่าพร้า ข้าในเรือนกว่าเมีย ข้อนี้จริงเพียงไร ?

ธงคำตอบ : จริงเพียงจริง มีดใช้ก็คือพร้า ข้าในเรือนก็คือเมียทาส.

สำหรับคำถาม (๒) นี้, มีผู้เข้าสอบไล่คนหนึ่งตอบถูกต้องคือ, ‘จริงเพียงจริง’ แต่ได้คะแนนศูนย์, เพราะกรรมการสอบไล่มีความเห็นว่า, จะรู้ใจกรรมการสอบไล่ถึงขนาดที่ตอบได้ว่า ‘จริงเพียงจริง’, โดยไม่รู้ข้อสอบและธงคำตอบมาก่อนสอบไล่นั้น, เป็นเรื่องพ้นวิสัย...

ตัวอย่างภาษากฎหมายที่ดีในยุคปฏิรูปภาษากฎหมายไทย

ในยุคปฏิรูปภาษากฎหมายไทยนั้น, มีนักกฎหมายที่มีความสามารถทั้งในด้านกฎหมายและในเชิงภาษากฎหมายไทยใหม่เป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน. ขอได้โปรดพิจารณาคำบรรยายวิชาพยานหลักฐาน ของ พระยานรเนติบัญชากิจ ข้างล่างนี้ :

ถ้อยคำของคนตายกล่าวถึงเหตุที่ตนถูกฆ่า

ข้อ ๖๓ ถ้าคนผู้ตายได้กล่าว หรือให้ถ้อยคำกล่าวถึงเหตุที่ตนถูกฆ่าตายเอง ศาลถือว่าถ้อยคำนั้นฟังเป็นพยานหลักฐานได้เฉพาะแต่ในคดีที่จำเลยต้องหาว่าฆ่าผู้ตาย ๆ โดยความเจตนา หรือไม่เจตนาอย่างเดียวเท่านั้น (ตามวิธีของกฎหมายอังกฤษจะต้องได้ความด้วยว่าเมื่อเวลาให้ถ้อยคำนั้นผู้ตายได้รู้สึกตัวแล้วว่าตนจะถึงแก่ความตายโดยแน่แท้ ไม่มีความหวังอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะพ้นจากความตายได้)

เขาถือกันว่าเมื่อคนเรารู้สึกโดยแน่ว่าจะตายไปประโลกย์ ผู้นั้นย่อมหมดความหวังแลห่วงใยกิจการในโลกย์ทุก ๆ อย่าง ขณะนี้คนเราหมดความอคติแลความพยาบาท ไม่หยากกล่าวเท็จปรักปรำเอาผู้ใด (กฎหมายอังกฤษถือว่า ขณะนี้คนเราตั้งใจจะพูดจริงเสมอกับได้มาทำสัตย์สาบาลตัวที่ในศาล ถ้อยคำของผู้ตายนี้ในชั้นเดิมศาลถือว่าเป็นพยานได้หลายอย่างจนถึงในคดีแพ่งด้วย แต่ภายหลังศาลถือว่าฟังได้แต่เฉพาะในความอาญา ซึ่งจำเลยต้องหาว่าฆ่าผู้ตายเท่านั้น) สังเกตดูศาลไทยก็ออกจะเดินวิธีนี้ เพราะความเรื่องฆ่าคนตายโดยมากเรื่องจะหาพยานที่รู้เห็นข้อความเท็จจริงให้ดีเหมือนผู้ถูกบาดเจ็บนั้นเป็นการยาก ศาลจะต้องพิจารณาถ้อยคำของผู้ตายประกอบกับเหตุผลแลคำพยานอื่น ๆ แต่ข้อความรู้สึกของผู้ตายนั้น แทบจะทุกเรื่องพิจารณาไม่ได้ความ เจ้าพนักงานกองตระเวนแลอำเภอที่เป็นผู้ถามปากคำผู้ตาย ไม่มีใครเข้าใจในเรื่องนี้ จึงไม่มีใครเอาใจใส่ที่จะถาม หรือจะจดเอาถ้อยคำของผู้ตายไว้ว่าผู้ตายได้คิดว่าจะตายหรือรอดอย่างไรไม่ ครั้นเวลามาเบิกความเป็นพยาน ถ้าศาลถามเขาว่าเมื่อเวลาให้ถ้อยคำผู้ตายได้รู้สึกว่าจะตายหรือจะรอดดังนี้ เขาก็ตอบว่าไม่ได้ถาม แลเขาไม่สามารถที่จะรู้สึกไปถึงความในใจของผู้ตายได้ เพราะเป็นคนละคนกันอยู่ดังนี้แทบทุกเรื่อง ศาลต้องสังเกตดูเหตุอื่นเอาเอง เป็นต้น ถ้าได้ความว่าผู้ตายมีอาการหนัก แลได้ตายลงในเร็ว ๆ นั้น ศาลก็วินิจฉัยว่าคำของผู้ตายนั้นฟังได้ ถ้าอาการไม่หนัก แลต่อมานานจึงได้ตาย หรือว่าได้ตายโดยเหตุอื่นศาลก็วินิจฉัยว่าคำนั้นฟังไม่ได้.’๒๖

พึงสังเกตว่า, แม้ว่าคำอธิบายนี้จะสั้น, แต่ก็อธิบายข้อกฎหมายได้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง, เข้าใจง่าย. ถ้อยคำทุกคำที่ใช้กะทัดรัด, ชัดเจน. ข้อที่น่าพิศวงอีกประการหนึ่งก็คือ, กฎหมายลักษณะพยานของไทยในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น, อิงกฎหมายลักษณะพยานของอังกฤษอย่างใกล้ชิดเช่นในปัจจุบัน, แต่คำอธิบายนี้ไม่มีแววแฝงสำนวนอังกฤษอยู่เลยแม้แต่น้อย. อ่านแล้วระรื่นหูดีกว่าตำราทางวิชาการในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ อีกหลายสาขาที่ลอกเอาสำนวนจากฝรั่งมาด้วยทั้งดุ้น.

ศัพท์กฎหมายไทยเดิมที่ล่วงสมัย

ในยุคแห่งการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยนั้น, นอกจากจะมีการยกเลิกโทษอันรุนแรงในกฎหมายแล้ว, ถ้อยคำที่รุนแรงในกฎหมายที่ได้รับการยกเลิกไปด้วย, ดังเช่นการเรียกจำเลยในคดีอาญาว่า ‘อ้าย’, หรือ ‘อี’. ส่วนคำว่า ‘มัน’ ซึ่งใช้สำหรับผู้กระทำผิดทางอาญาในกฎหมายลักษณะอาญา, ก็มิได้นำมาใช้อีกในประมวลกฎหมายอาญา. อย่างไรก็ดี, มีเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เป็นอันมากเรื่องหนึ่งคือ, ศัพท์กฎหมายไทยเดิมที่ดีๆ, ได้สูญสิ้นไปตามระบบกฎหมายไทยเดิมด้วยเป็นจำนวนมาก. คำซึ่งเวลานี้เราไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว, เช่น คำว่า ‘ชู้เหนือขันหมาก’, หมายถึงผิดเมียในขันหมาก; ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงคู่หมั้นของชายอื่นเรียกว่า ‘จำโนท’; ‘ชู้เหนือผัว’, ได้แก่ชายที่ลอบได้เสียกับเมียผู้อื่นซึ่งผัวยังมีชีวิตอยู่; ‘ชู้เหนือผี’, คือ ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงที่ผัวตาย, เมื่อศพผัวยังอยู่บนเรือน; ‘เชิงกระยาดอกเบี้ย’, ได้แก่การทำงานต่างดอกเบี้ย; คำว่า ‘นมตกอกพร่อง’, ใช้ในกรณีที่หญิงที่เสียความบริสุทธิ์ให้แก่ชายแล้ว; ‘วิจักขณพยาน’, คือ พยานที่เชี่ยวชาญ, ‘พลาดิสัย’, ตรงกันกับคำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ในกฎหมายปัจจุบัน; ‘สินหัวบัวนาง’, คือสินสอด, อันเป็นทรัพย์สิ่งของที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงเรียกเอาจากชายที่มาแต่งงานเป็นค่าที่ได้เลี้ยงดูตัวหญิงมา; ‘ษมายุมแปลง’, เป็นเครื่องสักการะที่ชายนำไปคำนับบิดามารดาหญิงขอโทษในการที่ลักพาลูกสาวเขาไป; ‘สบเสีย’ มีความหมายถึงหมิ่นประมาท, ‘ประเด็นหารือบท’, แปลว่าปัญหาข้อกฎหมาย; ‘ประทุษร้ายทางแพ่ง’, หมายความถึงละเมิด; ‘บทตัดสำนวน’, หมายถึงกฎหมายปิดปาก, ‘สวนสับขับแท้’, หมายถึงการพิจารณา; ‘สังขริกบัญชร’, ซึ่งเป็นคำที่ฟังดูหรูหรามากแต่แปลว่า, เครื่องจองจำ เช่น โซ่ตรวน; และคำที่เราไม่คิดกันเลยว่าจะมี คือ ‘หญิงฉกรรจ์’, ซึ่งได้แก่หญิงอายุ ๒๑ - ๓๐ ปี.๒๗

 

  1. ๑. หลวงวิจิตรวาทการ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวไว้ว่า ‘ปัญหาที่ว่า พ่อขุนรามคำแหงจะเป็นคนแรกที่บัญญัติอักษรไทยหรือไม่นั้น ก็มีข้อโต้เถียงกันอยู่มาก ศาสตราจารย์เซเดส์ เห็นไปในทางที่ว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่คนแรกที่บัญญัติอักษรไทยขึ้น เพราะก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้น ไทยก็มีตัวหนังสือใช้ ซึ่งศาสตราจารย์เซเดส์เรียกว่า ‘อักษรไทยเดิม’ แต่ตามทางตรวจค้นปรากฏว่า ตัวอักษรไทยที่มีอยู่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้น ไม่ใช่อักษรไทย เป็นอักษรมอญกับเขมรที่ไทยเอามาใช้เขียนภาษาไทย เมื่อเขียนไม่สะดวก โดยตัวอักษรไม่พอกับสำเนียงและภาษา ก็เปลี่ยนแปลงบ้าง แต่รูปร่างของตัวอักษรก็คงเป็นอักษรมอญเขมรอยู่อย่างชัด พ่อขุนรามคำแหงได้บัญญัติตัวอักษรไทยขึ้น ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ดูแต่อักษร ก็น่าคิดไปว่า พ่อขุนรามคำแหงเพียงแต่เอาตัวอักษรแบบมอญเขมรมาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ความจริงนั้น การที่พ่อขุนรามคำแหงบัญญัติอักษรไทยขึ้น ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษร ข้อสำคัญอยู่ที่วิธีเขียน คือตัวอักษรมอญ เขมร มีตัวซ้อนที่เรียกว่า สังโยค พ่อขุนรามคำแหงได้เลิกวิธีสังโยค ซึ่งต้องนับว่าเป็นเคราะห์ดีของชาติไทยนักหนา เพราะว่าถ้าเรายังใช้วิธีสังโยคอยู่จนบัดนี้แล้ว ไทยเราจะไม่สามารถมีเครื่องพิมพ์ดีดใช้ได้เลย ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือสระ ซึ่งมอญ เขมร เอาไว้ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง พ่อขุนรามคำแหงบัญญัติให้เรียงอยู่ในบรรทัดเดียวกัน ซึ่งตรงกับวิธีเขียนของยุโรป พ่อขุนรามคำแหงไม่รู้หนังสือยุโรปเลย แต่มีความฉลาดตรงกันเข้าอย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนั้น พ่อขุนรามคำแหงยังเพิ่มวรรณยุกต์บอกสำเนียงไว้ให้ตรงตามสำเนียงไทย ข้อบัญญัติเหล่านี้ต้องนับว่าเป็นของใหม่ และถึงอย่างไร ๆ พ่อขุนรามคำแหงควรได้รับเกียรติยศว่าเป็นคนแรกที่บัญญัติ ‘ลายสือไท’ : เอกสารประกอบการศึกษาวิชาภาษาไทยประจำภาคแรก, คณะศิลปศาสตร์ ปีที่ ๑, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๑๑๖-๑๑๗, สำหรับข้อคิดเห็นของท่านศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นั้น, โปรดดู ตำนานอักษรไทย, โดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์, องค์การคุรุสภาจัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๗.

  2. ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานกฎหมายเมืองไทย และ ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์, โรงพิมพ์ไทยเขษม จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑-๓.

  3. ๓. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษรจัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๕๘๓-๖๘๔.

  4. ๔. นางสาวพรพรรณ วัชราภัย, สำนวนการเขียน, บริษัทประชาชน จำกัด จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า ๘.

  5. ๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๕๙๓ , อนึ่ง โวหารภาษาไทยแบบง่ายๆ ทำนองโวหารในลายศิลาจารึกนี้, ดูจะเริ่มเป็นที่สนใจของบุคคลในรุ่นปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง. เช่น, ใน หนังสือพิมพ์ชาวไทย, ฉบับลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๑, ‘อินทรีย์’ เขียนเกี่ยวกับเรื่อง ‘อาสาไทยสู้ศึกญวน’, ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยจงอางศึกของไทยในเวียดนามใต้ว่า กลยุทธญวนแดงที่ว่า ‘มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่กูตี มึงหนีกูไล่’, ใช้ไม่ได้ผลเมื่อผจญกับทหารไทย.

  6. ๖. ‘งานศิลปของทุกชาติเมื่อถึงขั้นเจริญสูงสุดแล้ว ย่อมเจริญไปพร้อม ๆ กันทุกสาขา เพราะแต่ละชาติแต่ละสาขามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน งานศิลปกรรมในโลกที่จัดว่าเป็นวิจิตรศิลปนั้น นักปราชญ์ท่านแบ่งออกได้เป็นห้าสาขาด้วยกัน คือ สถาปัตยกรรม ประฏิมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม การดนตรีและนาฏศิลป์’ : นายเขียน ยิ้มศิริ, พุทธานุสรณ์, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลบุญส่งการพิมพ์, จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๘๘.

  7. ๗. อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ‘....สิ่งที่มีค่าที่สุดในพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยชั้นครู (classic) มีอยู่สองประการคือ เป็นศิลปเนรมิตขึ้นใหม่จากแบบซึ่งลอกเลียนกันต่อ ๆ มาและศิลปินได้ถ่ายทอดอุดมคติ ชีวิตจิตใจและวิญญาณอันบริสุทธิ์ของไทยลงไปในงานอย่างเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาแห่งความเป็นไทยไม่เป็นทาส ไม่ว่าจะเป็นในทรรศนะใดก็ตาม ฯลฯ : พุทธานุสรณ์, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลบุญส่งการพิมพ์ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑๑๔.

  8. ๘. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานกฎหมายเมืองไทย และ ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์, โรงพิมพ์ไทยเขษมจัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑๓.

  9. ๙. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๑๓.

  10. ๑๐. ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ‘กฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา,’ ดุลพาห, เล่ม ๕, ปีที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๐, หน้า ๔๐.

  11. ๑๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานกฎหมายเมืองไทยและประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์, โรงพิมพ์ไทยเขษม จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๕.

  12. ๑๒. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถาและคำอธิบายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๕๙๓ - ๕๙๔.

  13. ๑๓. รวมกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน, อนุสรณ์ในพิธีเปิดอาคารใหม่ในกรมที่ดิน, โรงพิมพ์สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทย ฯ, จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๑, หน้า ๒.

  14. ๑๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานกฎหมายเมืองไทย และ ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์, โรงพิมพ์ไทยเขษม จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๓๑.

  15. ๑๕. หนังสือเล่มที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๘.

  16. ๑๖. เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปกรรมและโบราณคดีโดยทั่วกัน : Reginald Le May, The Culture of Southeast Asia (2nd ed.; London: George Allen and Unwin, 1956), p. 199; ‘พระพุทธรูปของสกุลช่างอยุธยานั้น เมื่อวินิจฉัยคุณค่าในทางศิลปแล้ว ก็ตกเป็นยุคเสื่อมของงานประฏิมากรรมการสร้างพระพุทธรูป (decadent art) ยิ่งที่เลียนแบบของสมัยอื่นๆ เช่น ของอู่ทอง ลพบุรี และสุโขทัยแล้ว ก็กลายเป็นศิลปะที่ขาดคุณค่าของความเป็นตัวเองไปสิ้น’: นายเขียน ยิ้มศิริ, พุทธานุสรณ์, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลบุญส่งการพิมพ์ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑๒๑.

  17. ๑๗. รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายตราสามดวง โปรดดู Tanin Kraivixien, ‘The Legal System,’ The Administration of Justice in Thailand (Bangkok: The Thai Bar Association, 1967), pp. 2-3.

  18. ๑๘. สำหรับกฎหมายอื่นที่ได้ตราขึ้นบังคับในรัชกาลที่ ๑ ภายหลังกฎหมายตราสามดวง, เท่าที่ปรากฏ ขณะนี้มีเพียงฉบับเดียวคือกฎหมาย จุลศักราช ๑๑๕๖ พระราชบัญญัติบ่อนเบี้ย (พ.ศ. ๒๓๓๗); ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, มีการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับน้อยมาก. กฎหมายที่ตราขึ้นใช้บังคับในรัชสมัยดั่งกล่าวมีเช่น, กฎหมายจุลศักราช ๑๑๗๓, กฎหมายห้ามไม่ให้ซื้อฝิ่น, ขายฝิ่น, สูบฝิ่น (พ.ศ. ๒๓๕๔), ตราขึ้นใช้บังคับในรัชกาลที่ ๒; กฎหมายจุลศักราช ๑๑๙๙ กฎหมายลักษณะโจรห้าเส้น (พ.ศ. ๒๓๘๐) ตราขึ้นใช้บังคับในรัชกาลที่ ๓.

  19. ๑๙. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถา และ คำอภิปรายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๑๒๘.

  20. ๒๐. ประกาศเรื่องเรียกกะปิ น้ำปลาว่า เยื่อเคย น้ำเคย ฉบับที่ ๑ และที่ ๒, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๙๖-๙๙.

  21. ๒๑. ประกาศวางโทษเรื่องทักอ้วนผอม ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก, คณะศิลปศาสตร์, เอกสารประกอบการศึกษาวิชาภาษาไทย พ.ศ. ๒๕๐๗, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๐๗.

  22. ๒๒. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, โรงพิมพ์เฟื่องอักษร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๑๔๖-๑๔๘.

  23. ๒๓. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมงกุฎเกล้า, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๙๘.

  24. ๒๔. ประกาศตั้งสมาคมภาษาไทย, ฉบับลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖.

  25. ๒๕. โวหารกรมสวัสดิ์, พ.ศ. ๒๔๕๔, (ไม่ปรากฏชื่อสำนักพิมพ์) คำนำ.

  26. ๒๖. พระยานรเนติบัญชากิจ, หนังสือลักษณะพยานโดยย่อ, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จัดพิมพ์, ร.ศ. ๑๒๘, หน้า ๑๐๖ - ๑๐๗, ๑๖๑ - ๑๖๒.

  27. ๒๗. ท่านผู้สนใจเรื่องศัพท์กฎหมายไทยเดิม โปรดดู พจนานุกรมกฎหมาย ของขุนสมาหารหิตะคดี, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๗๔.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ