บทที่ ๓. อิทธิพลของภาษาอังกฤษในภาษากฎหมายไทย

อิทธิพลอันดีเด่นของภาษาอังกฤษที่มีเหนือภาษากฎหมายไทย

ในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนระบบกฎหมายไทยเดิมมาเป็นระบบกฎหมายแผนปัจจุบันนี้, กฎหมายอังกฤษมีอิทธิพลอยู่ในกฎหมายไทยเป็นอันมาก ทั้งด้านการจัดการศึกษากฎหมายของไทยก็จัดตามแบบอังกฤษ. ดังที่เมอซิเออ ปาดูซ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายในประเทศไทยตอนหนึ่งว่า :

‘...ผู้พิพากษาไทยที่ได้รับการฝึกฝนมานั้น ส่วนมากศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายที่กรุงเทพฯ คือ กฎหมายผัวเมีย มรดก และที่ดิน จากครูไทย กฎหมายทั่วไปจากผู้ที่ศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษ และบางทีก็จากที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรป ผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษก็อ่านจากตำรากฎหมายอังกฤษ ผู้ที่ได้ไปศึกษาที่เพียงแต่ศึกษากฎหมายภาษาอังกฤษ ได้รับเป็น Barrister-at-Law รวมความว่าผู้พิพากษาไทยได้รับการฝึกฝนแต่แบบอย่างอังกฤษ หรือกฎหมายอังกฤษ... ฯลฯ.’

ท่านเจ้าพระยามหิธรได้กล่าวถึงการสอนวิชากฎหมายของเสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า :

‘หนังสือที่ทรงใช้สอน คือ กฎหมาย ๒ เล่ม ซึ่งภายหลังเผล็ดผลเป็นกฎหมายบางเรื่อง หรือกฎหมายราชบุรี ทางอาญาใช้ประมวลกฎหมายอินเดียเป็นหลัก วิธีพิจารณา สัญญา และประทุษร้ายส่วนแพ่งใช้ตำรากฎหมายอังกฤษ ทรงอธิบายว่า เราจะพุ้ยไปฝ่ายเดียว ไม่เหลียวแลดูใครนั้นไม่ได้ ต้องเดินตามทางกฎหมายที่โลกนิยม...ฯลฯ’.

ด้วยเหตุผลดังกล่าว, ภาษากฎหมายของอังกฤษ โดยเฉพาะศัพท์กฎหมายอังกฤษ, จึงมีปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายไทยในตอนเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นอันมาก, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ศัพท์กฎหมายอังกฤษที่นำมาใช้แบบทับศัพท์ก็มี, เช่น คำว่า เอเยนซี (ลักษณะตัวแทน), อีสเม้นท์ (ลักษณะภารจำยอม), แบ้งค์ (ธนาคาร), แอกซิเด้นท์ (อุบัติเหตุ), ทรัสต์, ทรัสตี, นิวแซนซ์ (การก่อความเดือดร้อนรำคาญ), และเบลเม้นท์ (การประกัน), เป็นอาทิ ศัพท์กฎหมายอังกฤษที่แปลมาเป็นภาษาไทยแล้วก็มี, เช่น คำว่า ‘tort’ ขณะนั้นแปลว่า ‘ประทุษร้ายส่วนแพ่ง’. อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา, และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว, คำเหล่านี้ค่อย ๆ หายไปจากการใช้, และลางเลือนไปจากความทรงจำ. ศัพท์กฎหมายที่ใช้ในโอกาสต่อมามีเฉพาะที่ปรากฏในประมวลกฎหมายและกฎหมายฉบับอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่.

อิทธิพลของภาษาอังกฤษที่มีในภาษาไทยที่สำคัญที่สุดมิใช่เรื่องศัพท์กฎหมายดังกล่าวข้างต้น, อันเป็นเรื่องอิทธิพลชั่วคราวระหว่างที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายเท่านั้น. อิทธิพลของภาษาอังกฤษที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องวากยสัมพันธ์หรือการผูกประโยคและการจัดลำดับคำ (syntax), และโวหาร (style) ของภาษากฎหมายไทยโดยตรง, และอิทธิพลอันดีเด่นนี้ยังคงมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้.

นายพิชาญ บุลยง (Monsieur René Guyon) ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมายของกรมร่างกฎหมายกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า, เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนระบบกฎหมายไทยเดิมมาสู่ระบบกฎหมายไทยแผนปัจจุบัน, ได้มีการร่างตัวบทกฎหมายทั้งหมดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษก่อน, แล้วจึงได้แปลมาเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง. เหตุที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่กรรมาธิการร่างกฎหมายซึ่งมีทั้งนักกฎหมายไทยและเทศรู้จักดี.

ปัญหามีว่า, ภาษาอังกฤษที่ใช้ร่างประมวลกฎหมายของไทยนั้นเป็นภาษาอังกฤษประเภทใด ? เมื่อพิจารณาดูตัวบทกฎหมายลักษณะอาญาก็ดี, ตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ดี, จะเห็นได้ชัดเจนว่า, ภาษาอังกฤษที่ใช้นั้นหาใช่ภาษาตัวบทกฎหมายของอังกฤษ, หรือภาษาของคำพิพากษาศาลอังกฤษดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นไม่, หากแต่เป็นภาษาอังกฤษอีกประเภทหนึ่ง, ถ้าจะเทียบกับภาษาตัวบทกฎหมายของอังกฤษแล้ว น่าจะใกล้เคียงกับภาษากฎหมายอังกฤษที่ใช้ใน The Sale of Goods Act, 1893, มาก, แต่ความสละสลวยในเชิงภาษาเห็นจะสู้ The Sale of Goods Act, 1893, ไม่ได้. ภาษาอังกฤษที่ใช้ในตัวบทกฎหมายของไทยนั้นน่าจะเทียบได้ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า “ควีนส อิงลิช” (Queen’s English) อันเป็นภาษามาตรฐาน, แต่ก็ยังมีส่วนแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ, ควีนส อิงลิชนั้น ยังถือเอาความไพเราะ, และความนุ่มนวลของภาษาเป็นคุณลักษณะสำคัญด้วย. แต่ภาษาอังกฤษที่ใช้ในตัวบทกฎหมายของเราไม่มี, และไม่จำเป็นต้องมีคุณลักษณะดังกล่าวนั้นเลยด้วย. ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า, น่าจะจัดภาษาอังกฤษในตัวบทกฎหมายไทยเข้าประเภทภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘ฟังชั่นเนิล อิงลิช’ (Functional English) ได้ดี. ฟังชั่นเนิล อิงลิช มีคุณลักษณะสำคัญ คือ : สั้น, กะทัดรัด, ชัดเจน, และมีความหมายอันแน่นอน. ภาษาประเภทนี้นิยมใช้ในภาษาทางวิชาการ เพื่อแสดงข้อเท็จจริง, เหตุผล, และอธิบายหลักทางวิชาการ.

นับว่าเป็นเอกลาภของเราโดยแท้, ที่ภาษากฎหมายไทยแผนปัจจุบันเริ่มต้นด้วยดี, โดยมีภาษาอังกฤษประเภทที่เหมาะสมเป็นแบบฉบับ. ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าเรานำเอา ‘ลีกัล อิงลิช’ (Legal English) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าภาษากฎหมายของอังกฤษที่แท้จริงไม่ว่าจะเป็นภาษาตัวบทกฎหมายหรือภาษาคำพิพากษาของศาลมาใช้แล้ว, จะยุ่งยากแก่ผู้ใช้กฎหมายเป็นที่สุดทีเดียว.

ผลของการใช้ภาษาอังกฤษประเภท ฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) เป็นแบบฉบับในการร่างต้นฉบับบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยนี้ คือ ภาษากฎหมายไทยซึ่งแปลมาจากต้นร่างภาษาอังกฤษนั้น เป็นภาษาไทยที่ปฏิรูปใหม่แตกต่างไปจากภาษากฎหมายแต่เดิมมาในแง่ที่ว่า เป็นภาษาที่มีสำนวนโวหารใหม่ในทางวิชาการโดยเฉพาะไม่ใช่ภาษาวรรณคดีอย่างที่ปรากฏแต่เดิมมา. ภาษากฎหมายไทยที่ปฏิรูปแล้วนี้ส่วนใหญ่อ่านง่าย, สั้น, กะทัดรัด, และชัดเจน. คำที่ใช้โดยมากมีความหมายอันแน่นอน ไม่ค่อยมีการกล่าวซ้ำซาก, หรือกล่าวแบบ ‘น้ำท่วมทุ่ง’ หรือ ‘ชักแม่น้ำทั้งห้า’.

ข้อที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ, กล่าวกันว่า, เมื่อได้มีการแปลตัวบทกฎหมายจากต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยแล้ว, คณะกรรมาธิการร่างประมวลกฎหมายได้ให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยตรวจแก้, ขัดเกลา, ในด้านภาษาไทยให้เป็นภาษาไทยที่ดีและสละสลวยด้วย. เมื่อพิเคราะห์ดูตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ในสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายจะเห็นได้ว่า, ภาษาไทยที่ใช้นั้นสละสลวยมาก, ทั้งบทบัญญัติบางบทยังมีสัมผัสนอกและสัมผัสใน ในเชิงร้อยกรองกลาย ๆ ด้วย.

โปรดพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕ วรรคแรกที่ว่า :

‘สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสุดสิ้นลงเมื่อตาย’.

สำหรับศัพท์กฎหมายในต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้น, มิใช่เป็นศัพท์ในกฎหมายของอังกฤษโดยตรง, ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายกรณีที่เราถือตามระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย. เราจึงนำเอาศัพท์กฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายมาใช้เป็นจำนวนมาก. คำว่า ‘juristic acts’ (นิติกรรม), ‘letter’ (ผู้ให้เช่า), ‘servitude’ (ภาระจำยอม), ไม่เคยมีใช้ในระบบกฎหมายของอังกฤษเลย. ทั้งคำบางคำแม้จะมีใช้ในระบบกฎหมายอังกฤษ, แต่ความหมายก็ยังไม่เหมือนกับความหมายของศัพท์กฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายและของไทย. คำว่า ‘immovables’ ( อสังหาริมทรัพย์), ‘movables’ (สังหาริมทรัพย์), ระบบกฎหมายอังกฤษใช้เฉพาะในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, และแตกต่างกับคำว่า ‘realty’ และ ‘personalty’ อันเป็นเรื่องของกฎหมายภายในประเทศอังกฤษโดยแท้.

ตามต้นฉบับตัวบทกฎหมายไทยในภาษาอังกฤษนั้น, เราได้นำศัพท์กฎหมายละติน, และฝรั่งเศสมาใช้ด้วย, ซึ่งเรื่องนี้เป็นความนิยมในการร่างกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย, และของอังกฤษเองด้วย.

ศัพท์กฎหมายละตินที่กล่าวมามีเช่น, sui juris (บรรลุนิติภาวะ), mutatis mutandis (โดยอนุโลม), per stirpes (การรับมรดกแทนที่), vice versa (ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น), เป็นอาทิ.

สำหรับศัพท์กฎหมายฝรั่งเศสก็ได้แก่, force majeure (เหตุสุดวิสัย), en venire sa mère (ในครรภ์มารดา), de cu jus (เจ้ามรดก), domaine public (สาธารณสมบัติของแผ่นดิน), เป็นอาทิ.

ข้อที่พึงสนใจพิเศษก็คือ ศัพท์กฎหมายละตินก็ดี, ศัพท์กฎหมายฝรั่งเศสก็ดี, ที่ปรากฏในภาษาอังกฤษนั้น, ถือเป็นประเพณีว่า, ถ้าเป็นการเขียน, หรือพิมพ์ดีดต้องขีดเส้นใต้ศัพท์เหล่านี้ไว้ด้วย; แต่ถ้าเป็นการพิมพ์แท่น, ศัพท์เหล่านี้พิมพ์ด้วยตัวเอน (italics), โดยที่ถือกันว่า, จากทรรศนะของภาษาอังกฤษแล้ว, คำเหล่านี้เป็นคำของภาษาต่างประเทศ, อย่างไรก็ตาม, มีข้อยกเว้นอยู่ในบางกรณีที่ไม่ต้องขีดเส้นใต้หรือพิมพ์ศัพท์ในภาษาละตินและภาษาฝรั่งเศสด้วยตัวเอน, เพราะถือว่าศัพท์เหล่านั้นเป็นศัพท์ที่ใช้มากในภาษาอังกฤษจนกระทั่งถือเป็นคำอังกฤษไปแล้ว เช่น, ‘a priori’ (ประการที่สำคัญกว่านั้น), ‘coup d'état’ (การปฏิวัติ), ‘ex officio’ ( โดยตำแหน่ง), ‘habeas corpus’ (หมายให้ส่งตัวผู้ต้องคุมขังไปยังศาล), ‘per annum’ (เป็นรายปี), และ ‘bona fide’ (โดยสุจริต). แม้กระนั้นก็ดี ตำราต่าง ๆ ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อแตกต่างขัดแย้งกันอยู่ว่า คำใดบ้างที่ไม่สมควรถือเป็นศัพท์ต่างประเทศ, แต่ข้อแตกต่างนี้ก็เปนเพียงเรื่องปลีกย่อยเท่านั้น.

จุดเด่นอีกประการหนึ่ง, ในเรื่องอิทธิพลของภาษาอังกฤษที่มีเหนือภาษากฎหมายไทย คือ, ในด้านคำพิพากษาของศาล, ตลอดจนคำคู่ความ, และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย, เช่น, สัญญาต่าง ๆ แม้มิได้แปลมาจากภาษาอังกฤษ, ก็ได้รับอิทธิพลจากโวหารของฟังชั่นเนิล อิงลิช, ที่ปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายไทย, ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษ, ซึ่งนับว่าเป็นอิทธิพลที่ดี, เป็นอิทธิพลที่ฝังรากลึกและแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง. อิทธิพลนี้ช่วยเสริมให้การพัฒนาภาษากฎหมายไทยในสาขาต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี, และในแนวทางที่สมควร.

อย่างไรก็ตาม, ในการแปลตัวบทกฎหมายไทยจากต้นร่างฉบับภาษาอังกฤษนั้น, มีข้อพิจารณาที่สำคัญยิ่งคือ, ศัพท์กฎหมายบางคำ, รวมทั้งกฎหมายบางมาตรานั้น, ท่านผู้แปลแปลจากตัวบทภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยผิดพลาด, ดังกรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ :

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓, วรรคแรก, ในต้นฉบับภาษาอังกฤษมีข้อความว่า : ‘In the case of causing death, compensation shall include funeral and other necessary expenses’.

ในฉบับภาษาไทยบัญญัติผิดไปจากความหมายในฉบับภาษาอังกฤษว่า :

‘ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย’.

ทั้งนี้เพราะต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า, ‘shal include’, ถ้าหากจะแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องน่าจะแปลว่า, ‘รวมตลอดทั้ง’, แทนที่จะแปลว่า ‘ได้แก่’. เมื่อแปลผิดเช่นนี้แล้ว ตามหลักของการตีความกฎหมายเราต้องถือฉบับภาษาไทยเป็นสำคัญ. ผลที่ตามมา คือ, การทำให้บุคคลอื่นตายนั้นต้องจ่ายค่าเสียหายน้อยเสียกว่าการทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บเสียอีก, เพราะในกรณีที่ตาย เรียกได้แต่เฉพาะค่าปลงศพ, และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นเท่านั้น, ค่าทำขวัญเรียกไม่ได้, ค่าเสียหายอื่นก็เรียกไม่ได้, นอกจากเรื่องขาดการอุปการะ, ทั้งนี้เพราะแปลคำว่า ‘shall include’ ผิดพลาดไปนั่นเอง.

ในทำนองเดียวกัน, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๒๑๘, ก็แปลคำว่า ‘damage’, และ ‘damages’, ผิดพลาดอีกด้วย ความหมายอันแท้จริงของคำว่า ‘damage,’ คือ ความเสียหาย, และ ‘damages’ คือค่าเสียหาย, แม้จะเป็นค่าเสียหายเพียงรายเดียว, หรือหลายราย ก็ต้องใช้ศัพท์คำนี้.

โปรดพิจารณามาตรา ๒๑๘, วรรคแรก:

ตัวบทภาษาอังกฤษมีข้อความว่า: ‘When the performance becomes impossible in consequence of a circumstance for which the debtor is responsible, the debtor shall compensate the creditor for any damage arising from the non-performance’.

ตัวบทภาษาไทยมีข้อความว่า:

‘ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่การไม่ชำระหนี้นั้น’.

ถ้าหากเปลี่ยนคำว่า ‘ค่าเสียหาย’ เป็นคำว่า ‘ความเสียหาย.’ เนื้อความในตัวบทภาษาไทยจะชัดเจนและสอดคล้องต้องกับความในตอนต้น, และความที่ตามมาเป็นอย่างดี. เรื่องนี้พิจารณาอีกแง่หนึ่งก็น่าเห็นใจผู้แปล, ซึ่งอาจไม่ใช่นักกฎหมาย หรือเป็นนักกฎหมาย แต่อาจไม่สันทัดในศัพท์กฎหมายของอังกฤษ, เพราะคำสองคำนี้ใกล้เคียงกันมาก แต่เมื่อแปลผิดย่อมทำให้ผู้อ่านงุนงงไม่ทราบว่าวรรคแรกของมาตรานี้บัญญัติว่าอย่างไร ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้.

นอกจากนั้น ตัวบทกฎหมายในภาษาไทยบางบทแปลมาจากต้นร่างภาษาอังกฤษแล้วไม่รู้เรื่องเลยก็มี. โปรดพิจารณาถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๙๘๑, วรรคแรก, ซึ่งบัญญัติว่า:

‘คู่สัญญาซึ่งส่งคู่มีกฉบับหนึ่งไปให้เขารับรอง ต้องเขียนแถลงลงในคู่ฉีกฉบับอื่นว่า คู่ฉีกฉบับโน้นอยู่ในมือบุคคลชื่อไร ส่วนบุคคลคนนั้นก็จำต้องสละตั๋วให้แก่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแห่งคู่อีกฉบับอื่นนั้น’.๑๐

ผู้เขียนขอรับสารภาพว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจทั้งฉบับภาษาไทยและต้นฉบับภาษาอังกฤษ ถ้อยคำที่มีส่วนทำให้ฉงนมากเห็นจะได้แก่คำว่า ‘คู่ฉีกฉบับอื่น’ , และ ‘คู่ฉีกฉบับโน้น’ , ทั้งถ้อยคำในตัวบทภาษาไทยบ่งแสดงว่าอาจมีคู่ฉีกถึงสามฉบับ, แต่ในตัวบทภาษาอังกฤษดูเสมือนมีเพียงสองฉบับเท่านั้น.

อิทธิพลภาษาอังกฤษอันไม่พึงปรารถนาในภาษากฎหมายไทย

จริงอยู่ ที่ภาษากฎหมายไทยได้รับอิทธิพลอันดีเด่นมาจากภาษาอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวากยสัมพันธ์, หรือการผูกประโยคและจัดลำดับคำ (syntax), และโวหาร (style), ของภาษากฎหมายไทยโดยตรง, ส่วนด้านอื่น ๆ ของภาษาอังกฤษนั้น, กรรมการร่างกฎหมายของไทยมิได้นำมาใช้ในภาษาไทยด้วย, ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง. และกรณีเป็นผลให้ภาษากฎหมายไทยเรามีโอกาสได้พัฒนาไปในทางที่สมควรและยังคงความเป็นไทยอยู่ตลอดมา.

ศัพท์ไทย ศัพท์เทศ

วิวัฒนาการด้านหนึ่งของภาษากฎหมายไทยที่เราควรภาคภูมิใจก็คือ, วงการวิชาชีพกฎหมายของเรามีความรู้สึกในทางชาตินิยมอย่างแนบแน่นในทรวงอกและทราบซึ้งในดวงใจ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ศัพท์กฎหมายของเรา, เราบัญญัติศัพท์ของเราขึ้นเอง, แต่ละคำมักจะแสดงความเป็นไทยอยู่เสมอ. ไม่มีสาขาวิชาชีพอื่นใดจะเทียบเทียมได้เลย. สาขาแพทยศาสตร์ก็ดี, วิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์ก็ดี, และสาขาอื่น ๆ ก็ดี, รับเอาศัพท์จากต่างประเทศ, คือ, จากภาษาละตินบ้าง, อังกฤษบ้าง, ฝรั่งเศสบ้าง, เยอรมันบ้าง, มาใช้แบบที่เรียกว่า ‘ทับศัพท์’ เป็นส่วนมาก,๑๑ ในสาขานิติศาสตร์นั้น, มีการใช้ศัพท์ต่างประเทศน้อยที่สุด. เท่าที่ปรากฏ, แทบจะเรียกว่านับจำนวนศัพท์เหล่านี้ได้. ขณะนี้ก็มีคำว่า ‘เช็ค’, ‘คอมมิวนิสต์’, ‘ทรัสต์,’ ‘เครดิตฟองซิเอร์’ และ ‘บิลออฟเลดดิ้ง,’ เป็นอาทิ ส่วนการใช้ภาษาอังกฤษในตัวบทกฎหมายก็มีน้อยที่สุดดุจกัน, ตัวอย่างการใช้ถ้อยคำในภาษาอังกฤษในตัวบทกฎหมายไทยได้แก่, พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช ๒๔๗๖, มาตรา ๓ ให้คำนิยาม, คำว่า ‘คอมมิวนิสม์’ ไว้ว่า ‘หมายความว่าลัทธิใด ๆ ซึ่งบ่งความถึงการสนับสนุนส่งเสริมการรวบรวมกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือรวมการอุตสาหกรรม หรือรวมทุน หรือรวมแรงงานเข้าเป็นของรัฐบาล (nationalization of land or industry of capital or labour);’ พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พุทธศักราช ๒๔๖๖, มาตรา ๑๐ ใช้คำว่า ‘ดลภาค (surface).’

โดยปกติ, ในกรณีใดก็ตามที่เราสามารถคิดคำไทยขึ้นใหม่ได้, เราก็มักจะจัดทำทันที คำที่เป็นศัพท์กฎหมายที่คิดค้นขึ้นใหม่เพื่อใช้กับหลักกฎหมายใหม่ ๆ มีเป็นจำนวนมาก, เช่น ‘จัดการงานนอกสั่ง,’ ‘ลาภมิควรได้’, ‘ละเมิด’, และ ‘ลิขสิทธิ์’ เป็นต้น. บางคำคิดค้นขึ้นแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ได้จัดการเปลี่ยนแปลงเสียใหม่, อาทิ เช่นคำว่า obligation ในชั้นแรกแปลว่า ‘พันธธรรม’ ต่อมาแปลใหม่ว่า ‘ณี่,’ ในท้ายที่สุด เปลี่ยนเป็น ‘หนี้’ ดังที่เห็นอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, บรรพสอง, ในปัจจุบัน คำว่า ‘public order’ หรือ ‘public policy’ นั้น เดิมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๖, มาตรา ๑๒ ใช้คำว่า ‘รัฐประศาสโนบายหรือความปลอดภัยแห่งบุคคลฤๅทรัพย์สิน.’ พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐, มาตรา ๖ (๓), ใช้คำว่า ‘ความสงบราบคาบของประชาชน’. ปัจจุบันใช้คำว่า ‘ความสงบเรียบร้อยของประชาชน.’ คำว่า ‘เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์’ ก็มีการโต้เถียงกันว่า, ทรัพย์นั้นไม่มีเจ็บป่วย จึงไม่ควรใช้คำว่า ‘รักษา’. ในปัจจุบันจึงใช้คำว่า ‘เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์’ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘official receiver’ แทน.

คำที่เพิ่งคิดค้นขึ้นใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีไม่น้อย เช่น บรรษัท (Corporation) และนิมิต (invention). ทั้งในกรณีที่มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้ศัพท์กฎหมายนั้น ๆ, บรรดานักกฎหมายยังได้พยายามขวนขวายคิดค้นคำไทยขึ้นใช้ตามควรแก่กาละและเทศะด้วย, เช่นคำว่า ‘the rule of law’ มีบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยถึง ๘ คำแล้ว คือ ‘หลักธรรม’,๑๒ ‘หลักความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย’,๑๓ ‘นิติธรรมวินัย’,๑๔ หลักกฎหมาย’,๑๕ ‘หลักธรรมแห่งกฎหมาย’,๑๖ ‘นิติปรัชญา’,๑๗ ‘นิติสดมภ์’,๑๘ นอกจากนั้น, ท่านผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านใช้คำว่า ‘หลักนิติธรรม’, และดูเหมือนคำสุดท้ายนี้กำลังอยู่ในความนิยมของนักกฎหมายทั่วไป.

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอันมากที่ในปัจจุบันนี้ความรู้สึกนึกคิดในด้านการคิดค้นหาศัพท์ไทยใหม่ ๆ ค่อนข้างจะเนือย ๆ ไป, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในหมู่นักกฎหมายในสาขานิติบัญญัติ ในพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙, เหตุใดจึงใช้คำว่า ‘หญิงพาตเนอร์’, ซึ่งน่าสนเท่ห์อยู่. เหตุใดเราไม่คิดคำในภาษาไทยขึ้นใหม่ ? จริงอยู่, คนไทยโดยทั่วไปเข้าใจกันดีว่าหญิงพาตเนอร์ หมายความถึงหญิงประเภทใด. อย่างไรก็ตาม, ผู้ที่เคยไปต่างประเทศ, จะต้องยืนยันได้ว่า, ฝรั่งใช้คำว่า ‘พาตเนอร์’ เมื่อประสงค์จะกล่าวถึงคู่เต้นรำธรรมดา, หรือหุ้นส่วน, หาใช่หญิงพาตเนอร์ตามที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งหมายจะควบคุมไม่. ถ้าจะหาคำภาษาอังกฤษที่ใกล้ที่สุดสำหรับคำว่า ‘หญิงพาตเนอร์’ นี้น่าจะได้แก่คำว่า ‘dance hostess’. ข้อขอดอันควรคิดอีกข้อหนึ่งก็คือ, เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่า ‘ไนท์คลับ’, คู่เคียงกับคำว่า ‘หญิงพาตเนอร์’ ? คำว่า ‘ไนท์คลับ’ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับเปลี่ยนแปรเป็น ‘สถานที่เต้นรำ’, เช่นนี้มิกลายเป็นเรื่อง ‘หัวมงกุฏ ท้ายมังกร’ หรือ ? เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับคำว่า ‘สามี’ แทนที่จะใช้กับคำว่า ‘ภรรยา’, กลับไปใช้กับคำว่า ‘เมีย’ เป็นต้น... อย่างไรก็ดี, อาจมีบางท่านย้อนถามว่า, ถ้าเช่นนั้นจะเอาคำอะไรในภาษาไทยมาใช้แทนคำว่า ‘หญิงพาตเนอร์’ ? ผู้เขียนใคร่ขอเสนอคำต่อไปนี้เพื่อพิจารณา: ‘คู่เต้นรำ’, ‘เพื่อนรำ’, ‘คู่บันเทิง’ หรือ ‘นางรำบำเรอ’. สำหรับ คำว่า ‘นางรำบำเรอ’ นี้, เคยมีใช้ในภาษาไทยมาก่อน, ดังที่ปรากฏในประกาศของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งหมายถึงบุคคลประเภทหนึ่งในราชสำนัก. อนึ่ง ท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งเห็นควรใช้ว่า ‘ภารณี’. การบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ใหม่นี้มีปัญหาต่อไปว่า, อาจจะมีผู้ไม่เข้าใจ. ในกรณีเช่นนั้น เราก็อาจมีคำนิยามไว้ก็ได้ว่าคำเหล่านี้หมายความถึงหญิงประเภทใด

น่าเสียดายอยู่เป็นอันมาก, ถ้าหากเราจะยกเลิกการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นใช้ใหม่ให้ทันกับวิวัฒนาการของสังคม แล้วกลับไปใช้วิธีง่ายเข้าว่าด้วยการทับศัพท์แทน... ประเพณีบัญญัติศัพท์กฎหมายไทยขึ้นใช้เองนี้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเกือบค่อนศตวรรษแล้ว, สมควรจะยกเลิก เสียละหรือ?

ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นใช้

ในการคิดค้นศัพท์ใหม่ขึ้นใช้ มีข้อพิจารณาอยู่บางประการ, กล่าวคือ, ศัพท์ที่คิดค้นขึ้นนั้นการให้มีความหมายแจ้งชัดอยู่ในตัวโดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบายประกอบด้วย คำภาษาอังกฤษที่ว่า ‘pattern of courtship’, ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งแปลว่า ‘กระสวนแห่งการเว้าวอน’ เราต้องยอมรับกันว่าคำไทยใหม่นี้ไพเราะมาก, แต่มีใครบ้างที่จะทราบความหมายของคำนี้ทันทีทันใดที่ได้อ่านได้ฟัง, โดยปกติ, เมื่ออ่านหรือฟังแล้วเราก็ฉงนกันว่า คำว่า ‘กระสวน’ หมายความถึงอะไร ? และ “การเว้าวอน” อาจจะไม่ใช่ การเกี่ยว ก็ได้, อาจจะเป็นการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ หรือขอทรัพย์สินเงินทองก็เป็นได้. ตรงกันข้าม, ถ้าใช้คำว่า ‘วิธีการเกี้ยว’, ทุกคนต้องเข้าใจทันที. ในทำนองเดียวกัน คำว่า ‘sensory feeling’, น่าจะแปลว่า ‘ความรู้สึกทางสัมผัส’ แทนที่ จะแปลว่า ‘เวทนารมณ์เชิงเพทนาการ’. คำว่า ‘centralization’ บางท่านแปลว่า ‘สังเกนทร์’, ซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าใจในทันทีทันใดว่าคำแปลนี้หมายความว่าอะไร ? ทั้งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่ปรากฏว่ามีคำนี้. ดังนั้นบางท่านจึงสมัครใจใช้คำภาษาอังกฤษตามเดิม แทนที่จะใช้คำว่าสังเกนทร์ ก็ใช้คำว่า ‘centralization’ มากกว่า. อย่างไรก็ดี, คำนี้บางท่านแปลว่า ‘การรวมอำนาจ’, ซึ่งเป็นคำที่เหมาะสมกว่าคำว่า ‘สังเกนทร์’, เพราะคำนี้มีคำอธิบายอยู่ในตัวเอง คำว่า ‘de-centralization’ บางท่านแปลว่า ‘วิเกนทร์’, แทนที่จะใช้คำว่า ‘การแยกอำนาจ’, หรือ ‘การกระจายอำนาจ’, อย่างไรก็ตาม, น่าสังเกตว่า ถ้าหากคำใดนิยมใช้กันมาก, จนกระทั่งใคร ๆ ก็เข้าใจว่าคำนั้นมีความหมายอย่างไรแล้ว, ย่อมไม่มีปัญหายุ่งยากเลย.

คำบางคำในภาษาอังกฤษมีหลายความหมาย, แต่เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทยแล้วก็อาจฉงนกันได้ง่าย, ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ‘experience’ ในภาษาอังกฤษมีถึงสามความหมาย กล่าวคือ (๑) ความรอบรู้ ความชำนาญ, ความช่ำชอง, ความสันทัด หรือ ความจัดเจน; (๒) ผ่าน, พบ, ประสบ, และ (๓) เหตุการณ์ที่ผ่านพบมา, แม้จะเป็นเพียงครั้งเดียวก็ตาม. แต่เรามาแปลกันแต่เพียงว่า ‘ประสบการณ์’. ปัญหาน่าคิดคือคำว่า ‘ประสบการณ์’ นี้จะมีความหมายครอบคลุมครบทั้งสามความหมายดังกล่าวหรือ ? ถ้าไม่ครบ, มีความหมายในข้อใด ? ยิ่งกว่านั้นในปัจจุบันมีผู้แผลงแปลคำ ‘experience’ นี้ต่อไปอีกว่า ‘พิชาน’, ซึ่งย่อมทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังฉงนขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ๑๙

ถ้อยคำที่แปลมาอย่างวิจิตรพิสดารแต่หมดความนิยมไปแล้วและมีค้าใหม่มาแทนก็มีเช่น psychology เดิมแปลว่า ‘อัธยมตมวิทยา’, ปัจจุบันแปลว่า ‘จิตวิทยา’,๒๐ university เดิมแปลว่า ‘ปัจฉิมศึกษาสถาน’, ปัจจุบันแปลว่า ‘มหาวิทยาลัย’ เป็นต้น.

ในกรณีต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว, ผู้อ่านและผู้ฟังยังไม่สิ้นความหวังที่จะทำความเข้าใจเสียทีเดียว, เพราะผู้พูดผู้เขียนยังสู้อุตส่าห์ให้คำศัพท์เดิมในภาษาต่างประเทศไว้ด้วย. แต่ในบางกรณีผู้พูดผู้เขียนอาจสันนิษฐานเอาเองว่าใคร ๆ ก็ย่อมรู้ความหมายของคำที่ตนบัญญัติขึ้นใหม่หรือที่ตนเพิ่งพบเห็นมา, โดยมิได้ให้คำเดิมในภาษาต่างประเทศด้วย. ความหวังที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ จึงสิ้นสุดลงเพียงนั้นเอง. คำเหล่านี้มี เช่น ‘ประชาวรรณา’, ‘มฤตภาพ’, ‘พัฒนาคลี่คลาย’, และ ‘จำเริญพันธุ์’, ที่เราได้ยินกันเป็นครั้งคราวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงบางสถานี. บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นชื่อเพลงก็เป็นได้.

อันการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นใช้นั้นหาใช่ว่าจะทำได้ง่ายเสมอไปไม่. แม้กระนั้น, บางท่านยังสามารถเลือกสรรคำไทยที่มีความหมายตรงหรือใกล้เคียงมาใช้ได้อย่างน่าทึ่ง, คำว่า ‘aptitude’ แปลว่า ‘ความถนัด’,๒๑ ‘conscience’ แปลว่า ‘มโนธรรม’,๒๒ ‘classic art’ แปลว่า ‘ศิลปะชั้นครู,’๒๓ และ ‘sentimental’ ศิษย์ผู้หนึ่งของผู้เขียนแปลว่า ‘ชวนฝัน’, คำเหล่านี้เป็นตัวอย่างแสดงถึงศิลปะแห่งการบัญญัติศัพท์.

ในบางกรณี, ไม่มีคำตรงหรือคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยเลย, ไม่ว่าจะเป็นคำโดดหรือคำผสมก็ตาม, ทั้งการจะบัญญัติศัพท์ให้มีความหมายชัดเจนเป็นคำอธิบายในตัวเองก็ยาก. กรณีเช่นนี้, จำเป็นต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่, แต่ต้องให้คำนิยามศัพท์ไว้ด้วย. คำว่า ‘nervous breakdown’ ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบว่าหมายถึงอะไร, แต่เมื่อประสงค์จะให้แปลเป็นภาษาไทย, ต่างก็จนปัญญา, ผู้เขียนเคยถามอาจารย์ทางจิตแพทย์และอาจารย์ภาษาไทยและอังกฤษหลายท่าน. จิตแพทย์ท่านหนึ่งเห็นว่าควรใช้คำว่า ‘อาการจิตวิการ’, หรือ ‘จิตแปรปรวน’ บางท่านแปลว่า, ‘อาการหวั่นประสาท’, ฟังแล้วให้รู้สึก ‘หวั่นใจ’ อย่างไรพิกลอยู่ว่า หมายความถึงอะไรแน่ ? มีหลายท่านรักที่จะใช้คำทับศัพท์, ชาวเชียงใหม่กล่าวว่า คำนี้ตรงกับคำเมืองว่า ‘จิตพัวะ’, แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีคำตรงกันกับคำนี้ในภาษาไทย. ผู้เขียนเองขอเสนอคำง่าย ๆ ว่า ‘อาการประสาทเสีย’, ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษ, และน่าจะพอเข้าใจได้ทันที. อย่างไรก็ตาม, มีคำเป็นจำนวน ไม่น้อยที่แปลยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะศัพท์ทางปรัชญา, ซึ่งมีอยู่ในวิชาปรัชญากฎหมายเป็นจำนวนมากเหมือนกัน. คำว่า ‘existentialism’ มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘วิชชมานะวาท’, หรือ ‘สัตตวาท’, เรื่องนี้น่าจะสงวนไว้ให้ท่านผู้รู้และปรัชญาเมธีถกเถียงกันต่อไปว่าหมายความว่ากระไร, และคำที่คิดกันขึ้นนั้นตรงกับความหมายของคำเดิมหรือไม่. คำว่า ‘absolute’ เมื่อเป็นศัพท์ทางปรัชญา, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ทรงแปลว่า ‘สัมบูรณัติ’. เราก็น่าจะถือของพระองค์ไว้ก่อน. ผู้เขียนยอมรับว่าถ้าหากเราไม่ประสงค์คำนี้แล้ว, ก็ไม่ทราบว่าจะใช้คำอื่นใดมาแทนให้เหมาะสมกว่าคำนี้เหมือนกัน. คำอื่นๆ ซึ่งใช้ในปรัชญากฎหมาย, และหาคำแปลภาษาไทยที่เหมาะสมได้ยากยังมีอีกมาก, เช่น pragmatism, automaticism, extra-legal norms, censorial jurisprudence, legal positivism และ utilitarianism.๒๔

ศัพท์กฎหมายซึ่งต้องมีคำนิยามช่วยความเข้าใจ, ที่เราใช้กันมามีตัวอย่างเช่นบุริมสิทธิ์ (preferential rights), การจำยอม (servitudes), ลิขสิทธิ์ (copyright), และสิทธิบัตร (patent), ซึ่งทางการกำลังพิจารณาอยู่ว่าสมควรตรากฎหมายในเรื่องนี้หรือไม่.

กรรตุวาจก และ กรรมวาจก

เมื่อพิจารณาภาษากฎหมายไทยในตัวบทที่แปลมาจากภาษาอังกฤษแล้ว, จะเห็นได้ชัดเจนว่า, ผู้แปลพิถีพิถันไม่ยอมใช้กรรมวาจก (passive voice) โดยไม่จำเป็นเลย. ผู้แปลพยายามแปลโดยรักษาโวหารแบบไทยแท้ไว้โดยตลอด และใช้ กรรตุวาจก (active voice) เป็นประจำ การใช้ประโยคในกรรมวาจกซึ่งไม่สมควรใช้ในภาษาไทยที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอนั้น มิได้มาจากสำนวนในตัวบทกฎหมายไทยที่แปลมาจากอังกฤษเลย, หากแต่ผู้ใช้แปลหรือเคยชินมากับการใช้ภาษาอังกฤษตามลำพัง

ข้อความที่ว่า ‘ครั้นเช็คนั้นถูกนำไปขึ้นเงินโดยเจ้าหนี้ของโจทก์ไม่ได้...’

‘แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากความผิดนี้จะได้ถูกชดใช้ให้จนหมดสิ้นไปแล้วก็ตาม...’

ไม่น่าจะมีใช้ในภาษาไทยเลย. ข้อความเหล่านี้เป็นภาษาพันทางโดยแท้. ภาษาไทยของเรานั้น, โดยปรกติเราใช้กรรมวาจก (passive voice) แต่เฉพาะเรื่องที่เป็นอัปมงคลเท่านั้น เป็นต้นว่า: ถูกครหานินทา, ถูกตำหนิ, ถูกลงโทษ, ถูกเฆี่ยน, ถูกฆ่า, ถูกจับ, ถูกสอบสวน ถูกกล่าวหา, และถูกฟ้อง ฯลฯ. กรณีที่จะใช้กรรมวาจกในเรื่องที่เป็นมงคลนั้น, ผู้เขียนยังนึกไม่ออกเลยจนคำเดียวในขณะเรียบเรียงเรื่องนี้. คำว่า ‘ถูกล้อตเตอรี่’ จะถือเป็นกรรมวาจกเห็นจะยาก, หากแต่เป็นสำนวนในภาษาพูดเท่านั้นเอง.

สำนวนไทยกับสำนวนฝรั่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสไว้ในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร พ.ศ. ๒๔๕๗, มาตรา ๘ (๒) เกี่ยวกับคุณลักษณะของหนังสือที่แต่งดี ตอนหนึ่งมีความว่า :

‘...ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดๆ ก็ตาม, แต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี, ถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาล, ฤๅในปัตยุบันกาลก็ได้, ไม่ใช่ใช้เป็นภาษาซึ่งเลียนภาษาต่างประเทศ, ฤๅใช้วิธีผูกประโยคประธานตามแบบภาษาต่างประเทศ ฯลฯ’.

นอกจากเรื่องกรรมวาจกดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น, เรามักจะพบภาษาไทยที่มีสำนวนแปร่งๆ ทำนองไทยก็ไม่ใช่, เทศก็ไม่เชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้พูดหรือผู้เขียนนั้นต้องใช้ทั้งภาษาไทยและเทศควบคู่กันไปในการพูดหรือเขียนนั้น, เช่น :

‘ศาลอังกฤษได้มองข้อกำหนดดังกล่าวนี้อย่างสงสัย’.

ถ้าเขียนตามสำนวนไทยน่าจะกล่าวว่า: ‘ศาลอังกฤษพิจารณาข้อกำหนดดังกล่าวอย่างระมัดระวัง’.

ในการเรียบเรียงหนังสือของทางราชการชุดหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้, นักวิชาการคณะหนึ่งได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงบทความเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษควบคู่กันไป. สำนวนของภาษาทั้งสองจึงปะปนกันไปโดยที่ผู้เรียบเรียงไม่ได้ตั้งใจ. โปรดสังเกตประโยคต่อไปนี้:

‘นอกจากนั้นยังมีตำรวจม้าออกตรวจและทำหน้าที่เกี่ยวกับจราจรบนหลังม้า’.

ท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถานแก้ไขประโยคนี้ว่า :

‘นอกจากนั้นยังมีตำรวจม้า ขี่ม้า ออกตรวจและทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร’.

อีกประโยคหนึ่ง ก่อนแก้ไขมีข้อความว่า:

‘โดยปกติรับเด็กและเยาวชนที่ปฏิบัติตัวไม่ก้าวหน้าจากสถานฝึกอบรม’.

ท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยผู้เดียวกันนั้นแก้ไขประโยคนี้ว่า :

‘โดยปกติรับเด็กและเยาวชนที่ฝึกและอบรมจากสถานฝึกอบรมแล้วแต่ไม่ดีขึ้น’.

ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจท่านผู้เรียบเรียงบทความทั้งสองบทนั้นว่าต้องเผชิญต่ออุปสรรคเรื่องสำนวนของภาษาทั้งสองปะปนกันโดยไม่รู้ตัว, และในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ใคร่ขอ ‘เปิดหมวก’ ให้ท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยว่าสามารถแก้ไขได้รัดกุมและเป็นสำนวนไทยแท้หาที่ติมิได้.

ในเรื่องสำนวนเทศปนสำนวนไทยนี้มีแง่ที่น่าพิจารณาอีกแง่หนึ่งคือ, ถ้าบังเอิญบุคคลทั่วไปใช้กันเป็นนิจสินหรือพูดกันจนติดปากแล้ว, แม้คำเหล่านั้นจะถือกันว่าไม่ไพเราะเหมาะสมในสมัยหนึ่ง, ก็อาจจะเป็นที่ยอมรับกันว่าไพเราะเหมาะสมในอีกสมัยหนึ่ง, เพราะใช้กันมานานแล้วก็เป็นได้, ตัวอย่างเช่น, คำว่า ‘มาสาย’, เคยตำหนิกันว่าเป็นคำซึ่งเลียนภาษาต่างประเทศ, สมควรใช้คำว่า ‘มาล่า’ หรือ ‘มาช้า’,๒๕ และคำว่า ‘รับ (ข้าว)’, เป็นคำพูดที่ ‘แปลกหู’ ควรใช้คำว่า ‘กินข้าว’.๒๖ เมื่อพิจารณาคำเหล่านี้ในแง่ความนิยมของบุคคลทั่วไปแล้ว, จะเห็นว่า แม้คำว่า ‘มาล่า’, ‘มาช้า’, ยังคงมีใช้อยู่, คำว่า ‘มาสาย’ กลับได้รับความนิยมใช้มากกว่า. อนึ่ง คำว่า ‘รับ (ข้าว)’ ก็ดุจกัน, ตามความรู้สึกของบุคคลทั่วไปในปัจจุบันดูจะสุภาพกว่าคำว่า ‘กินข้าว’ เสียอีก.

สำหรับศัพท์กฎหมายโดยตรงก็เคยมีปัญหาในเรื่องคำใหม่ ๆ ฟังแล้วเขินอยู่เหมือนกัน, ดังที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ ทรงกล่าวไว้ในบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๙๖/๑๒๙ ตอนหนึ่งมีความว่า : ‘... โค๊ดอาญาใช้ว่า ‘ค่าเสียหาย’ จริง แต่ไม่เห็นมีอะไรห้ามไม่ให้เราใช้คำ ‘สินไหม’ คำ ‘สินไหม’ เป็นคำไทยแท้ คำ ‘ค่าเสียหาย’ เป็นคำใหม่ พึงใช้กันในเร็วๆ นี้ และฟังเขิน ในความทำร้ายร่างกาย เพราะถ้าจะปรับเรื่องทำร้ายร่างกายแล้ว ก็ต้องทำขวัญค่าเจ็บป่วยเสียหาย ซึ่งเป็นสำนวนยาวนัก จึงใช้คำ สินไหม สั้นๆ ซึ่งเป็นที่เข้าใจแล้ว ฯลฯ’.๒๗ ในปัจจุบันคำทั้งสองนี้ก็ยังมีใช้อยู่, แต่คำว่า ‘สินไหม’ นั้นดูจะไม่ใช้เป็นคำเดียว หากแต่ใช้ผสมกับคำอื่น เช่น ‘อาญาสินไหม’, และ ‘ค่าสินไหมทดแทน’, ซึ่งคำเหล่านี้มีความหมายไม่ตรงกับคำว่า ‘ค่าเสียหาย.’๒๘ เมื่อใช้กันมานานเข้าก็ชินหูกันไป, โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ‘ค่าเสียหาย’ และ ‘ค่าสินไหมทดแทน’ ก็มีใช้อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว.

จริงอยู่ที่ผู้เขียนกล่าวในตอนต้นว่า ภาษากฎหมายไทยปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากฟังชั่นเนิล อิงลิชในสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ. แต่ในยุคต่อ ๆ มา, ลีกัล อิงลิชก็แทรกเข้ามามีอิทธิพลในสำนวนภาษากฎหมายไทยบ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า, ‘และหรือ’ ที่มีปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมาย, เช่น มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า, ‘...แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของผู้ว่าคดีมาศาลเข้าในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนั้นด้วย’. คำว่า ‘และหรือ’ นี้, เห็นได้ชัดว่า เอามาจากสำนวนในลีกัล อิงลิช ที่ว่า ‘and/or’ , คำว่า ‘และหรือ’ นี้ฟังดูค่อนข้างจะขัดเขินในภาษาไทย, และประการที่สำคัญกว่านั้นก็คือ, จริงอยู่ที่แต่เดิมมาคำว่า and/or นิยมใช้ในภาษากฎหมายของอังกฤษกันมาก, แต่ในปัจจุบันแทบจะเรียกว่าเป็นคำที่ล้าสมัย, เพราะคำนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่นักกฎหมายและนักอักษรศาสตร์ว่าเป็นคำที่ ‘น่าเกลียด’ ไม่ควรนำมาใช้ในภาษาตัวบทกฎหมายเลย.๒๙ คำที่สมควรใช้แทนคือ : ‘... X or Y or both of them’.๓๐ หรือ ‘soldiers or sailors or both’.๓๑ วลีทั้งสองนี้เป็นภาษาฟังชั่นเนิล อิงลิช. อนึ่ง น่าสังเกตว่าในกฎหมายลักษณะอาญาฉบับภาษาอังกฤษนั้น บทระวางโทษถือตามวลีนี้คือ : ‘shall be punished with imprisonment not exceeding ... or fine not exceeding ..., or both.’ และถ้อยคำในฉบับภาษาไทยมีว่า:

‘ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน...หรือปรับไม่เกิน... หรือทั้งจำทั้งปรับ’. บทระวางโทษในประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ถือตามกฎหมายลักษณะอาญาทุกประการ. ถ้อยคำว่า ‘หรือ-หรือ-หรือทั้ง-ทั้ง’, จะไม่รัดกุมและเหมาะสมกว่าคำว่า ‘และหรือ’, หรือ ?

การใช้ศัพท์ภาษาต่างประเทศในศาล

อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖ บัญญัติว่าบรรดากระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีให้ทำเป็นภาษาไทย. แม้กระนั้นก็ดี, มักจะปรากฏเสมอว่า, มีการกล่าวคำในภาษาต่างประเทศแทรกบ้างเป็นครั้งคราว. เรื่องนี้ท่านศาสตราจารย์ พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ ให้ข้อแนะนำว่า :

‘อีกข้อหนึ่งข้าพเจ้าขอเตือนว่า ไม่ควรอุตริใช้คำภาษาต่างประเทศซึ่งท่านไม่เข้าใจคำแปลอย่างชัดเจน ถึงแม้ท่านจะเข้าใจคำแปลดี ถ้ามีคำแปลที่ใช้ได้เหมาะเท่ากัน ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าควรใช้คำไทย เพราะเราเป็นไทย ศาลก็ศาลไทย ไม่ควรเอาภาษาอื่นมาใช้โดยไม่จำเป็น ฯลฯ’๓๒

การแปลภาษากฎหมาย

การแปลและการถอดความ

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการแปล, ถ้าหากผู้แปลไม่ระมัดระวังเรื่องสำนวนโวหารตามแบบฉบับของไทย, หรือตามแบบฉบับของภาษาต่างประเทศที่ประสงค์จะแปลแล้ว, ไม่ว่าจะเป็นภาษาธรรมดาหรือภาษากฎหมาย, มักจะเป็นผลทำให้ภาษาที่แปลผิดความมุ่งหมายไป. ผู้เขียนเห็นว่า การแปลที่จะให้ได้ทั้งเนื้อความและอรรถรสเหมือนต้นฉบับนั้นเป็นเรื่องยากเพราะภาษาแต่ละภาษามีลีลา, มีแบบแห่งการผูกประโยค, และการจัดลำดับคำของตนเอง ฉะนั้น ในบางกรณี, การถอดความซึ่งหมายความถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในสารัตถะให้ตรงตามต้นฉบับ, และมีอรรถรสเหมือนต้นฉบับ, โดยไม่ต้องเคร่งครัดในเรื่องการแปลคำต่อคำ, ประโยคต่อประโยคนั้น, ย่อมเป็นผลดีกว่าการแปลโดยตรง แต่การที่ผู้แปลจะถอดกวามได้ดีเพียงใดนั้น, ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจในภาษากฎหมายทั้งสองภาษาเป็นอย่างดี.

สำหรับการแปลตัวบทกฎหมายของไทยเป็นภาษาอังกฤษก็ดี, การแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นไทยก็ดี, แม้จะมีอุปสรรคในความแตกต่างด้านการแสดงออกของภาษาบ้าง, แต่ก็ไม่ยากนัก ด้วยเหตุที่ภาษาอังกฤษประเภทฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) มีอิทธิพลเหนือภาษากฎหมายไทยอยู่แล้ว ดังกล่าวข้างต้น.

การแปลเอกสารในอรรถคดี

ในทางอรรถคดี, บางครั้งเมื่อโอกาสอำนวย คู่กรณีก็พยายามชิงไหวชิงพริบในการแปลข้อความในสัญญาเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายตนเหมือนกัน. เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลคดีหนึ่ง, คดีนั้นมีประเด็นพิพาทว่าฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยจะต้องเป็นผู้เสียภาษีโรงเรือน, และภาษีที่ดินสำหรับสถานที่พิพาท ? เรื่องนี้ต้นฉบับสัญญาทำไว้เป็นภาษาอังกฤษ มีความว่า:

‘The tenant shall pay the land tax or any other tax which by Government law pertaining to business premises rented by the tenant it is under obligation to pay.

โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าแปลข้อความนี้ว่า :

​‘ผู้เช่าต้องชำระภาษีที่ดินหรือภาษีอื่นใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐบาลจะต้องชำระเกี่ยวกับสถานที่การค้าที่ผู้เช่าได้เช่ามา.’

จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่า แปลว่า :

‘ผู้เช่าจะชำระภาษีที่ดินหรือภาษีอื่นใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐบาลเกี่ยวกับอาคารการค้าที่ผู้เช่าได้เช่านั้น เป็นหน้าที่ของผู้เช่าจะต้องชำระ.’

เมื่อพิจารณาต้นฉบับสัญญาแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เจตนาของคู่กรณีขณะทำสัญญาประสงค์จะให้ฝ่ายผู้เช่าเปนผู้ชำระภาษีทั้งหมด, ถ้าคู่กรณีเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่จะต้องชำระภาษีดังกล่าวอยู่แล้วจะต้องเขียนสัญญาข้อนี้ไว้เพื่อประโยชน์อันใด ? เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี, สัญญาฉบับนี้เขียนไว้ไม่รัดกุม, จึงมีปัญหาขึ้น; และที่มีปัญหาขึ้นนี้ก็อยู่ที่ข้อความที่ว่า ‘it is under obligation to pay.’ ซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องเขียนไว้ด้วยเลย, ฝ่ายจำเลยจึงถือโอกาสหาทางแปลสัญญาข้อนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนโดยมิชอบ. อันการตีความในสัญญานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๓๖๘, บัญญัติว่าต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย. สำหรับเรื่องที่กล่าวมาศาลจึงวินิจฉัยให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ.

การแปลสุภาษิตกฎหมาย

สำหรับการแปลภาษากฎหมายที่น่าสรรเสริญในความรู้และน่าเลื่อมใสในความสามารถของผู้แปล, ก็คือการแปลสุภาษิตกฎหมายโรมันจากฉบับภาษาอังกฤษซึ่งแปลจากภาษาละตินแล้วมาเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง. ผู้เขียนไม่สามารถค้นหาได้ว่าท่านผู้ใดเป็นผู้แปล. คำแปลสุภาษิตกฎหมายเหล่านี้มีปรากฏอยู่ใน ‘ข่าวศาล’, หนังสือพิมพ์ของกระทรวงยุติธรรม, เมื่อประมาณ ๔๐ ปีเศษมานี้. คำแปลสุภาษิตเหล่านี้แปลได้ตรงตามความหมายเดิม, และมีสำนวนโวหารเป็นไทยที่ไพเราะน่าจับใจมาก, ซึ่งใคร่ขอยกตัวอย่างมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้ :

Let the principal answer. เป็นนายเขาจักต้องรับสำนอง๓๓
No man can give a better title than that which he himself has. ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน.๓๔
Ignorance of the law excuses no man. ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว.๓๕
An exception is to be strictly construed. ข้อยกเว้นจะต้องมีความโดยเคร่งครัด.๓๖
Acts indicate the intention. กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา.๓๗
There must be no punishment except in accordance with the law. ไม่มีกฎหมายไม่มีโทษ.๓๘
Let justice be done, though the heavens fall. จงประสาทความยุติธรรมแม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที.๓๙

สำหรับสุภาษิตของอังกฤษเองที่แปลเป็นไทยก็มี, เช่น: ‘He, who comes to equity, must come with clean hands.’ ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมืออันขาวบริสุทธิ์.

สุภาษิตกฎหมายไทยที่ถอดความมาจากสุภาษิตอังกฤษก็มี, เช่น: ‘It is better to prevent one false conviction than to ensure ten true ones.’ ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน.

สุภาษิตซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายที่มาแปลกันในรุ่นใหม่ๆ นี้ก็มีเหมือนกัน, เช่น: ‘Conscience is the voice of God in the soul.’ มโนธรรมคือเสียงสวรรค์ในดวงใจ.

สุภาษิตกฎหมายเหล่านี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมความรู้ความคิดเห็นในเชิงกฎหมายแล้ว ยังเป็นตัวอย่างอันดีในแง่โวหารของภาษากฎหมายไทยด้วย.๔๐

ข้อยุ่งยากของผู้แปลภาษากฎหมาย

เล่ากันต่อ ๆ มาว่า เคยมีนักเรียนไทยที่เพิ่งสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ, สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอนส่งโทรเลขมายังหน่วยราชการต้นสังกัดในกรุงเทพ ฯ, แจ้งเรื่องของนักเรียนผู้นั้นว่า, ‘Passed the Bar.’ เจ้าหน้าที่แห่งหน่วยราชการนั้นแปลเสนอผู้บังคับบัญชาว่า : นักเรียนผู้นั้นเดินทางผ่านสันดอนมาแล้ว’.

ยิ่งกว่านั้น เมื่อ ๗-๘ ปีมานี้, มีนักกฎหมายต่างประเทศเขียนจดหมายถึงเนติบัณฑิตยสภาไทยฉบับหนึ่ง จ่าหน้าซองว่า, ‘The Thai Bar’ ทางการไปรษณีย์โทรเลขของไทย เขียนด้วยตัวดินสอเพื่อความสะดวกในการหาสถานที่ส่งจดหมายนั้นให้แก่บุรุษไปรษณีย์ว่า :

‘ให้ไปถามที่บาร์เฉลิมไทย’.

เรื่องของศัพท์กฎหมายอาจทำให้บุคคลทั่วไปฉงนได้ง่ายเช่นนี้

ผู้เขียนเคยพร่ำสอนศิษย์ในเรื่องการแปลอังกฤษอยู่เสมอว่า, อย่าทอดอาลัยตายอยาก พยายามแปลให้สุดฝีมือ. แม้แปลคำใดไม่ได้, อย่าปล่อยทิ้งเป็นช่องว่างไว้, มิฉะนั้น ก็เท่ากับพูดว่า ‘ท่านกรรมการโปรดหักคะแนนผู้สอบไล่ตรงนี้ด้วย’; ควรจะอ่านข้อความตอนก่อนและหลังคำศัพท์ที่ตนไม่รู้ความหมาย, แล้วพยายามนึกเดาให้ได้ว่าคำที่ไม่ทราบนั้นคืออะไร ? มีความหมายอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับข้อความที่ตนทราบอยู่แล้ว, นี่เป็นคำแนะนำของผู้เขียน. ศิษย์ผู้ว่านอนสอนง่ายแต่น่าสงสารผู้หนึ่งที่ต้อุตส่าห์ ‘ถอดความ’ ประโยคในคำถามสอบไล่ข้างล่างนี้มาให้ครูเห็นใจ :

‘If the independence of the judges is the keystone, then the certainty and justice of the law is the structure on which the rule of law depends’.

คำ ‘ถอดความ’ ในภาษาไทย :

‘ถ้าหากความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นประหนึ่งก้อนหินอันเป็นที่ยึดของโครงร่างแห่งซุ้มประตูไซร้ ความแน่นอนและความยุติธรรมของกฎหมายก็เป็นดังโครงร่างอันนั้น’.

แง่คิดเกี่ยวกับการแปลภาษากฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ

สำหรับการแปลภาษากฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษนั้น, ในด้านลีลาของภาษาไม่น่าจะมีอุปสรรคมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ถ้าต้นฉบับภาษาไทยมีข้อความกะทัดรัดสละสลวยอยู่แล้ว, การแปล, หรือ ในบางกรณี, การถอดความเป็นภาษาอังกฤษประเภทฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) ย่อมเหมาะสมดังกล่าวแล้วข้างต้น ข้อขัดข้องที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การเลือกใช้ศัพท์กฎหมายให้เหมาะสม, เป็นต้นว่า, การแปลสัญญาเป็นภาษาอังกฤษ, ผู้เขียนเห็นว่าสมควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ปรากฏในต้นฉบับตัวบทกฎหมายไทยในภาคภาษาอังกฤษ, เว้นแต่คำศัพท์นั้น ๆ ไม่มีปรากฏในภาษาอังกฤษที่ใช้กันโดยทั่วไป, อาทิ เช่น, คำว่า, ‘ผู้ให้เช่า’, และ ‘ผู้เช่า’, ถ้าจะใช้คำว่า ‘letter’, และ ‘hirer’, ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, เกรงว่าจะไม่มีชาวต่างประเทศผู้ใดเข้าใจเลย, จึงสมควรใช้ ‘landlord’ และ ‘tenant’ คู่หนึ่ง, หรือ ‘lessor’ และ ‘lessee’ อีกคู่หนึ่ง แต่ไม่สมควรใช้ให้ผิดฝาผิดตัว, อนึ่ง การฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน แทนที่จะใช้คำว่า ‘action for ejection’, น่าจะเขียนว่า ‘action for the recovery of land’, จะได้ความในภาษาอังกฤษชัดเจนกว่า คำบางคำเช่น ‘Juristic act’ (นิติกรรม) ไม่เคยมีใช้ในภาษาอังกฤษ, ถ้าจะใช้ให้เข้าใจได้ดี, น่าจะต้องมีคำอธิบายประกอบด้วย นอกจากนั้น, ศัพท์กฎหมายตามระบบกฎหมายของอังกฤษโดยเฉพาะ อาทิเช่น, ในเรื่องของพินัยกรรม คำว่า ยกทรัพย์มรดกให้ นั้น ต้องใช้ถึงสามคำว่า : ‘give, devise, and bequeath’, เราน่าจะใช้คำว่า ‘give’ คำเดียวก็เพียงพอ หรือเมื่อประสงค์จะกล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ หรือสิ่งที่เหลือนั้น, แทนที่จะเขียนคำซ้ำ ๆ กันแบบภาษากฎหมายอังกฤษว่า, ‘the rest, residue and remainder’, เราอาจเขียนแต่เพียง ‘the rest’, หรือคำใดคำหนึ่งที่กล่าวมานั้นแต่เพียงคำเดียว. คำบางคำซึ่งใช้ในภาษากฎหมายโดยเฉพาะ เช่น ‘aforesaid’, ‘forthwith’, ‘hereinafter’, ‘thereafter’, ‘thereby’, ‘thenceforth’, ‘theretofore’, และ ‘whereas’, ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น, มิฉะนั้นอาจทำให้ฉงนโดยใช่เหตุ. ในกรณีที่คำบางคำมีความหมายเช่นเดียวกับคำหลาย ๆ คำรวมกัน, ควรจะใช้คำคำนั้นเพียงคำเดียว เช่น ‘in order to’ ควรเขียน ‘to’, ‘for the purpose of’ น่าจะใช้คำว่า ‘for’, มิฉะนั้นภาษาที่ใช้จะกลายเป็นภาษาลีกัลลีส (legalese) ดังกล่าวข้างต้น แทนที่จะเป็นฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English).

โดยสรุปแล้วการแปลที่ดีนั้น, ต้องได้ความหมายในภาษาใหม่ที่แปลแล้วตรงตามต้นฉบับของภาษาเดิม, และอรรถรสในทั้งสองภาษาต้องตรงกันด้วย, เสมือนหนึ่งเป็นเรื่องซึ่งเขียนขึ้นในภาษาใหม่นั้นเอง, ซึ่งการที่จะทำได้ดังกล่าว, ในบางกรณีต้องใช้การถอดความแทน, และผู้แปลหรือผู้ถอดความต้องมีความรู้ในภาษาทั้งสองเป็นอย่างดี, จึงจะแปลดีดังกล่าวแล้วได้.

  1. ๑. หลวงสารนัยประสาสน์, พัฒนาการศึกษากฎหมายในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๒๔.

  2. ๒. จากหนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๙.

  3. ๓. René Guyon, The Work of Codification in Siam (Paris : Imprimerie Nationale, 1919), pp. 15-16.

  4. ๔. C. Baker, A Guide to Technical Writing (London: Sir Isaac Pitman & Sons Ltd., 1961), pp. 2-3.,

    ‘The best style for presenting facts and instructions is that known to technical authors as functional English. Its mood, person, and tense may be varied to suit particular documents but it remains essentially the presentation of exact reasoning with mathematical precision. In this respect, it may be contrasted with popular story writing where the reader is confronted with a series of events which may or may not be directly concerned with the plot. His curiosity is stimulated by these and he looks for a solution of his own. For recreation this is excellent—for study it is disastrous. The technical reader should be given no choice and opportunity to invent ‘facts’ or data to solve his problem. In functional English he is told precisely what to do. If, for example, he is required to take a guage reading at a certain time he is told to ‘read the pressure guage immediately the jack has reached the end of its stroke,’ and not ‘the pressure should be noted after the movement of the jack,’ which is not a mandatory instruction and allows some latitude in the actual time at which the reading is to be taken.

    Sentences are confined to the function they are required to serve. They deal with a single topic and give their message in crisp, direct phraseology. If the subject is pressure in a hydraulic jack, for example, the sentence is confined to the jack and its pressure and the thought is not confused by particulars of the operation or details of any electrical control equipment. Such associated information as may be needed for a full appreciation of the pressure is given in separate sentences cast to convey those Particular data’.

    ท่านผู้อ่านอาจข้องใจว่า ตัวบทกฎหมายไทยในฉบับภาษาอังกฤษนี้ มิใช่ภาษาอังกฤษประเภทที่เรียกว่าเท็คนิคัล อิงลิช (Technical English) หรือ ? ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะถือได้ว่าเป็นเท็คนิคัล อิงลิช, และฟังชั่นเนิล อิงลิช ก็ถือได้ว่าเป็นเท็คนิคัล อิงลิช ประเภทหนึ่ง, ซึ่งมีความดีเด่นเป็นพิเศษในแง่ที่ว่าเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย, สั้น, กะทัดรัด, และชัดเจน อันผิดกับเทคนิคัล อิงลิชโดยทั่วไป. เท็คนิคัล อิงลิชโดยทั่วไปนั้น บางทีมีโวหารเคลือบคลุม, หรือเยิ่นเย้ออยู่เป็นอันมาก, ดังที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในทางภาษาวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า : ‘Perhaps in time a more amiable way of writing will emerge, and in fact technical writers are already conscious of the obscurity and pomposity of a great deal of technical writing.’ : A.J. Herbert, The Structure of Technical English (second impression ; London: Longmans, 1966), Preface.

  5. ๕. คำว่า ‘ภาระจำยอม’ ในกฎหมายอังกฤษใช้คำว่า ‘easement’ ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น.

  6. ๖. Kate L. Turabian, A Manual for Writers of Term Papers, Theses, and Dissertations (12th impression; Chicago: University of Chicago Press, 1961), pp. 16-17.

  7. ๗. ในกรณีที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษกับตัวบทคำแปลฉบับภาษาไทยแตกต่างกัน, ศาลไทยย่อมถือเอาฉบับภาษาไทยเป็นสำคัญ ดังที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ ทรงกล่าวไว้ในบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๗/๑๒๘ ว่า ‘....เมื่อฎีกาได้เลือกเดินความตามฉบับหลวง แลไม่เห็นความตามแบบฝรั่งแล้วก็เป็นอันว่าถูกวิธีวินิจฉัยกฎหมาย แต่จะกระทำให้เข้าใจผิดกับฝรั่งได้ ที่ควรจะชี้ให้ฝรั่งทราบ เพื่อได้แก้ฉบับฝรั่งเข้าหาฉบับไทย ฯลฯ’: พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์, คำพิพากษากรรมการฎีกาบางเรื่อง, เล่ม ๔, โรงพิมพ์กองลหุโทษ., ร.ศ. ๑๒๘, หน้า ๕๙๓; และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๕/๒๔๘๓; อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ต้นฉบับตัวบทกฎหมายไทยเคลือบคลุม, ศาลไทยเคยใช้ตัวบทฉบับภาษาอังกฤษพิจารณาประกอบตัวบทฉบับภาษาไทยด้วย : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๕/๒๔๘๕.

  8. ๘. แต่เดิมนั้นศาลฎีกาเคยวินิจฉัยมาตรา ๔๔๓ นี้ไปในด้านให้ประโยชน์แก่ผู้เสียหาย เช่น, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๔๖/๒๔๗๕ : วินิจฉัยว่า บิดามารดาเด็กผู้ตายอาจเรียกค่าทำขวัญจากแพทย์ผู้ให้ยาเด็กรับประทานจนเกินขนาดเป็นเหตุให้เด็กตายได้; แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับต่อๆมา วินิจฉัยมาตรานี้ตามตัวอักษรและเป็นคุณต่อผู้ละเมิด, เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๔๒/๒๔๙๙ : ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฆ่าบุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย, ย่อมถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์, ทำให้โจทก์ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูไป, โดยมิต้องคำนึงว่าในปัจจุบัน บุตรที่ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเป็นมารดาอยู่หรือไม่. ส่วนค่าเสียหายจะเท่าใด, ศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควร; ส่วนค่าเสียหายเพื่อความวิปโยคโทมนัสนั้นเรียกไม่ได้, เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เรียกร้องได้; คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๒/๒๕๐๒ : วินิจฉัยว่า การสูญเสียบุตรซึ่งถูกรถยนต์ชนตายนั้นไม่ต้องด้วยค่าสินไหมทดแทนลักษณะใดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, บิดาเรียกร้องไม่ได้ ; คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๙/๒๕๐๒ : วินิจฉัยว่า ค่าเสียหายทางจิตใจที่โจทก์เกิดความว้าเหว, เพราะสูญเสียภริยาผู้เคยปฏิบัติให้ชีวิตของโจทก์มีความสุขนั้น โจทก์หาเรียกร้องได้ไม่.

    นอกจากนี้โปรดดูบทความเรื่องชีวิตคนกับค่าสินไหมทดแทน, โดยนายอำนวย อินทุภูติ, ใน ‘บทบัณฑิตย์’ เล่ม ๒๑, ตอน ๔, ตุลาคม ๒๕๐๖, หน้า ๙๐๒-๙๐๙.

  9. ๙. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓, วรรคสอง, ที่มีคำว่า ‘shall include’ ในตัวบทภาษาอังกฤษด้วย, และคำแปลในตัวบทภาษาไทยก็ใช้คำว่า ‘ได้แก่’ เช่นเดียวกับถ้อยคำในวรรคแรก.

  10. ๑๐. ตัวบทภาษาอังกฤษของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๑ มีว่า ‘A party who has sent one duplicate for acceptance must indicate on the other duplicate the name of the person in whose hands this duplicate will be found. That person is bound to give it up to the lawful holder of another duplicate’.

  11. ๑๑. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สาขาวิชาชีพต่าง ๆ กำลังตื่นตัวบัญญัติศัพท์ไทยของตนเองขึ้นใช้เป็นส่วนสัด, อาทิเช่น สาขาแพทย์ศาสตร์ ก็มี พจนานุกรมศัพท์แพทย์ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, นอกจากนั้นก็มี ศัพท์คณิตศาสตร์และศัพท์ป่าไม้ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม ๘๔, ตอนที่ ๖๕ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐.

  12. ๑๒. นายวิกรม เมาลานนท์, ดุลพาห, ปีที่ ๒, เล่ม ๑๒, ๒๔๙๘, หน้า ๘๑.

  13. ๑๓. นายสุด สุตรา, ดุลพาห, ปีที่ ๗, เล่ม ๑๑, ๒๕๐๓, หน้า ๑๔๐๘.

  14. ๑๔. ‘เสริม สุวรรณเทพ’, ดุลพาห, ปีที่ ๘, เล่ม ๔, ๒๕๐๔, หน้า ๓๘๔.

  15. ๑๕. นายเสนาะ เอกพจน์, ดุลพาห, ปีที่ ๘, เล่ม ๙, ๒๕๐๔, หน้า ๑๐๐๓.

  16. ๑๖. นายศิริ วิศิษฐธรรม อัศวนนท์, ดุลพาห, ปีที่ ๘, เล่ม ๑๐, ๒๕๐๔, หน้า ๑๑๒๓.

  17. ๑๗. นายศิริ วิศิษฐธรรม อัศวนนท์, ดุลพาห, ปีที่ ๘, เล่ม ๑๐, ๒๕๐๔, หน้า ๑๑๒๓.

  18. ๑๘. นายจำรูญ เจริญกุล, ดุลพาห, ปีที่ ๙, เล่ม ๑, ๒๕๐๕, หน้า ๖๐.

  19. ๑๙. ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, มีคำใกล้เคียงคือ ‘วิชานนะ’, มีคำแปลว่า, ความรู้ ความเข้าใจ, ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของคำว่า ‘experience’ นัก.

  20. ๒๐. ศาสตราจารย์ ม.ล. ตุ้ย ชุมสาย, จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน, ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๘, บรรณกรรมครั้งที่ ๓, พิมพ์ครั้งที่ ๒, หน้า ๓๘.

  21. ๒๑. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๓๔๘.

  22. ๒๒. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๒๕๐.

  23. ๒๓. นายเขียน ยิ้มศิริ, พุทธานุสรณ์, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลบุญส่งการพิมพ์ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑๑๔.

  24. ๒๔. สำหรับท่านที่สันทัดในทางปรัชญาและรู้ภาษาอังกฤษดี น่าจะทดลองแปลข้อความต่อไปนี้เป็นภาษาไทย ข้อความนี้เป็นปรัชญากฎหมายตอนหนึ่งของ George Hegel: ‘...A legal process, in itself in any case a means......begins to be something external to its end and contrasted with it. This long course of formalities....may be turned into an evil, and even an instrument of wrong, and for this reason it is by law made the duty of the parties to submit themselves to the simple process of arbitration (before a tribunal of arbitrators) and to the attempt to reconcile their differences out of court, in order that they....may be protected against legal processes and their misuse....’ : Clarence Morris, ed., The Great Legal Philosophers (Philadelphia : University of Pennsylvania Press, 1959), p. 323.

  25. ๒๕. จากข้อความในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร พ.ศ. ๒๔๕๗.

  26. ๒๖. จากข้อความในกระแสพระราชดำริเพื่อตั้งสมาคมภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖.

  27. ๒๗. พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์, คำพิพากษากรรมการฎีกาบางเรื่อง, เล่ม ๕, โรงพิมพ์ลหุโทษ, ร.ศ. ๑๒๙, หน้า ๔๑๔.

  28. ๒๘. โปรดดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘.

  29. ๒๙. Sir Alison Russell, Legislative Drafting and Forms (4th ed.; London: Butterworths, 1938), p. 101.

  30. ๓๐. Fowler’s Modern English Usage, revised by Sir Ernest Gowers (2nd ed.; London: Oxford University Press, 1965), p. 29.

  31. ๓๑. Sir Ernest Gowers, The Complete Plain Words (5th imp.; London: H.M.S.O., 1958), p. 26.

  32. ๓๒. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ : “หลักการว่าความ”, นิติศาสตร์, ปีที่ ๒๒, เล่ม ๒, กุมภาพันธ์, หน้า ๑๙๕-๑๙๖.

  33. ๓๓. Respondeat Superior.

  34. ๓๔. Nemo dat qui non habet.

  35. ๓๕. Ignorantia juris non excusat.

  36. ๓๖. Exceptio est strictisse mae interpretationis.

  37. ๓๗. Acta exteriora indicant interiora secreta. คำแปลภาษาอังกฤษอีกอันหนึ่งคือ External actions show internal secrets.

  38. ๓๘. Nulla poena sine lege.

  39. ๓๙. Fiat justitia, ruat coelum.

  40. ๔๐. ท่านที่สนใจในเรื่องสุภาษิตกฎหมายโปรดพิจารณาบทความเรื่อง ‘สุภาษิตกฎหมาย’, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, ดุลพาห, ปีที่ ๖, เล่ม ๗, กรกฎาคม ๒๕๐๒ และเล่ม ๘, สิงหาคม ๒๕๐๒.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ