บทที่ ๔. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับภาษากฎหมายไทยในปัจจุบัน

ภาษาเขียนกับภาษาพูด

ในปัจจุบัน, อิทธิพลของภาษาอังกฤษประเภทฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) ยังมีอยู่เหนือภาษาตัวบทกฎหมายไทยตลอดมานับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบบกฎหมายไทยเดิมมาเป็นระบบปัจจุบัน; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในด้านวากยสัมพันธ์ดังได้พิจารณามาแล้วในตอนต้น. ภาษาตัวบทกฎหมายนี้ก็มีอิทธิพลเหนือภาษากฎหมายที่เป็นภาษาเขียนประเกทอื่น ๆ อาทิเช่น, ภาษาของคำพิพากษา, คำคู่ความ, และตำรากฎหมายเป็นต้นด้วย, ทั้งนี้ทั้งในด้านวากยสัมพันธ์และด้านศัพท์กฎหมาย. ส่วนภาษาพูดในเรื่องกฎหมายนั้น, แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอิทธิพลของฟังชั่นเนิล อิงลิชเจือปนอยู่ด้วยเลย, หากแต่เป็นภาษาพูลของสามัญชนทั่วไปนั่นเอง. เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญเรื่องหนึ่งที่สมควรแยกใช้ภาษากฎหมายทั้งสองประเภทนี้ตามโอกาส.

ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง, กระทรวงยุติธรรมเคยให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในเรื่องการใช้ภาษากฎหมายนี้ว่า :

อันถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในคำพิพากษาหรือสำนวนความนั้นเป็นการสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง เพราะตามธรรมดาคำพิพากษาของศาลย่อมต้องรักษาโวหารให้เป็นไปในทำนองของภาษากฎหมาย ไม่ควรใช้ภาษาตลาดเกินไป ถ้อยคำใดมีแบบแผนหรือกรณีที่ใช้ในกฎหมายแล้ว ควรใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนและกฎหมายนั้น ๆ หรือคำใดแต่เดิมเคยใช้อย่างหนึ่ง ก็ควรใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่’.

ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยให้คำแนะนำนักศึกษากฎหมายเกี่ยวกับภาษาพูดและภาษาเขียนไว้ว่า :

‘..การที่สอบไล่ได้นั้น การมีความรู้ดีช่วยได้ห้าสิบในร้อย การตอบคำถามดีช่วยได้อีกห้าสิบในร้อย เพราะอะไร ? เพราะว่าศิลปในการแสดงออก (expression) นั้นสำคัญนัก ท่านผู้อ่านเคยพบบ้างไหม บางคนมีความรู้ดีจริงๆ แต่พูดออกมา เขียนออกมา คนอื่นไม่รู้เรื่อง และบางทีตนเองก็ไม่รู้เรื่องด้วยเหมือนกัน ผู้เขียนเคยพบแล้ว เวียนหัวเกือบตาย ฉะนั้น เวลาสอบไล่ แม้เราจะมีความรู้ดีเพียงไร ก็ขอได้โปรดแสดงออกมาโดยกระจ่างใส และให้คนอื่นเข้าใจตลอดปลอดโปร่ง หรือยิ่งให้เขาเคลิบเคลิ้มไปด้วยก็ยิ่งดี ศิลปแห่งการแสดงออกนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าฝึกให้มีขึ้นได้ไม่เหลือวิสัย ขอให้ฝึกตนให้พูดโดยได้ความชัดเจนเรียบร้อย ให้เขียนโดยภาษาหนังสือที่ดี นำความหมายมาตีแผ่ลงให้เด่น - - - - -

‘ภาษาหนังสือนั้น แต่ก่อนๆ เขาถือกันมาก แม้ตอบถูกธง แต่ถ้าภาษาไม่ดี ก็เอาเป็นตกได้ ทั้งนี้เพราะเขาถือกันว่าสำคัญสำหรับนักกฎหมาย โดยที่ว่านักกฎหมายนั้นถ้าพูดหรือเขียนให้คนอื่นไม่รู้เรื่องแล้ว ใช้ไม่ได้ทีเดียว ผิดกับนักอื่น ๆ เช่นนักปรัชญาซึ่งยิ่งพูดหรือเขียนให้คนอื่นไม่รู้เรื่องได้เท่าไรก็ยิ่งดี การที่จะมีภาษาหนังสือที่ดีนั้น อาจารย์เก่าๆ เคยแนะให้อ่านหนังสือดี ๆ ที่มีลักษณะเป็นตำรา แต่เวลานี้ตำราหายากมีแต่นวนิยาย ซึ่งถ้าจะไปจำเอาภาษาหนังสือเหล่านั้นมาใช้ในการตอบสอบไล่ หรือเอาไปเขียนเป็นคำฟ้อง หรืออุทธรณ์ฎีกาในโรงศาลแล้ว ผู้อ่านพบเข้าจะตบอก ผู้เขียนได้เคยเห็นในคำพิพากษาศาลว่า คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยนั้น ไม่น่าฟังว่าเป็นความจริง เพราะเขียนยังกับนวนิยาย ฯลฯ’.

นักกฎหมายไม่ว่าชาติใดภาษาใดมักจะปะปนภาษาเขียนกับภาษาพูดเสมอ. ถ้าหากเราพิเคราะห์โดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า, สำหรับภาษาพูดนั้นเป็นเรื่อง ‘กลอนสด’, ผู้พูดเผชิญหน้าผู้ฟังอยู่, ย่อมรู้ได้ทันทีว่าผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่ตนพูดดีหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็อาจพูดซ้ำสองหรือสามครั้งได้โดยไม่เสียเวลาของภาษาพูด. ตรงกันข้าม, ถ้าเป็นเรื่องเขียนแล้ว การกล่าวซ้ำในลักษณะที่ใช้พูดทำให้ภาษาเขียนฟังเพื่อซ้ำซากไม่น่าอ่าน. ถ้าผู้อ่านยังจับเนื้อความไม่ได้ ก็ย้อนมาอ่านอีกกี่เที่ยวก็ได้ สำหรับการพูดนั้น บางทีผู้พูดเพียงแต่ชำเลืองตา, ยกมือหรือบุ้ยปากประกอบผู้ฟังก็เข้าใจความหมายได้ดี. บางทีก็เน้นความสำคัญหรือแสดงข้อข้องใจด้วยน้ำเสียงหรือหางเสียงก็พอแล้ว. ทั้งในบางครั้งผู้ถูดมิได้พูดต่อด้วยซ้ำไป, หากแต่หยุดรอจังหวะเพียงเล็กน้อย ก็มีความหมายให้เข้าใจได้อยู่ในตัวแล้ว. แต่กิริยาอาการเหล่านี้ไม่ปรากฏและไม่มีช่องทางที่จะปรากฏในภาษาเขียนได้เลย. ทางพิสูจน์ข้อแตกต่างระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียนที่ง่ายที่สุดทางหนึ่งก็คือ, ถ้าเราทดลองถอดคำบรรยาย, คำอภิปรายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีผู้นิยมมากเป็นพิเศษออกมาเป็นพิมพ์ดีดแล้ว, จะเห็นได้ชัดทีเดียวว่า, คำบรรยาย, หรือคำอภิปรายที่ว่าดีพิเศษนั้นไม่น่าจะได้รับการยกย่องชมเชยถึงเพียงนั้นเลย, เพราะถ้อยคำขาดตอนหรือห้วนไปบ้าง, ยาวเกินไปบ้าง, ซ้ำแล้วซ้ำอีกบ้าง, ทั้งผิดไวยากรณ์ก็มีไม่น้อย. ในทางกลับกัน, ถ้าเราทดลองเอาความเรียงที่เรียบเรียงไว้อย่างสละสลวยที่สุดแล้วมาพูดตามนั้น คำต่อคำ, ผู้ฟังจะเหนื่อยหน่ายต่อโวหารนั้นๆ เพราะเท่ากับฟังผู้อื่นอ่านหนังสือให้ฟัง, ซึ่งขาดความมีชีวิตชีวา, ขาดความเพลิดเพลิน และไม่ชวนฟังเลย. ในทำนองเดียวกัน, วิธีการที่ใช้เฉพาะเรื่องของวาทศิลป์ที่ว่าการพูดที่ดีนั้นจะต้องพูดช้า, ชัด, และฉะฉาน, ที่ไม่มีโอกาสจะใช้กับเรื่องการเขียนเลย. เรื่องวาทศิลป์และศิลปะแห่งการเขียนนี้, เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเจริญถึงขั้นสูงสุดในสมัยกรีกรุ่งเรือง, ในสมัยนั้นชาวกรีกว่าศิลปะและวิธีการของการพูดกับของการเขียนนั้นเป็นคนละเรื่อง, จึงแยกกันศึกษาและฝึกฝนเป็นส่วนสัด.

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันยังมีท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายเป็นจำนวนไม่น้อย นิยมใช้ภาษาพูดในตำรากฎหมายอยู่, โดยที่ท่านถือเอาความเข้าใจง่ายเป็นสำคัญ, ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของคนทั่วไปแต่ผู้เขียนยังมองเห็นไปอีกแง่หนึ่งว่า, ภาษาเขียนที่ดีก็อาจอ่านเข้าใจได้ง่ายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในระหว่างการพูดกับการเขียน, ผู้เขียนยังรักที่จะใช้ภาษาเขียนในเมื่อเป็นเรื่องของการเขียน, ส่วนในเรื่องการพูดก็น่าจะใช้ภาษาพูด. เพราะเหตุนี้แทนที่จะเขียนอย่างภาษาพูดว่า ‘จะเอาเรื่องหรือไม่เอาเรื่อง?’ หรือ ‘จะติดใจเอาความไหม?’ ก็ควรเขียนว่า, ‘ผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยหรือไม่ ?’

ชะรอยจะเนื่องมาจากการใช้ภาษาผิดประเภทนี้เองเราจึงหาอาจารย์วิชากฎหมายที่สอนดี, และเรียบเรียงตำราเด่นด้วยได้ยากอย่างยิ่ง. จากประสบการณ์ที่เราพบกันมาไม่ว่าในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ, ปรากฏว่าอาจารย์บางท่านสอนดีมาก, แต่ตำราของท่านไม่ดีเท่ากับการสอน. อาจารย์บางท่านแต่งตำราได้ยอดเยี่ยม, แต่เมื่อฟังคำบรรยายของท่านแล้ว กลับผิดหวัง, อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับกันว่าเหตุสำคัญมิใช่อยู่ที่การใช้ภาษาผิดประเภทแต่เพียงประการเดียว. เหตุผลสำคัญประการอื่นอาจมีอีกก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, การตระเตรียมการสอน, บุคคลิกภาพของผู้สอน, และศิลปะแห่งการสอน, ซึ่งในด้านการพูดก็แตกต่างกับในด้านการเขียนอย่างที่กล่าวได้ว่าเป็นคนละเรื่อง, อาจารย์ที่เป็นเอกทั้งด้านการสอนและในเชิงการเขียนจึงหายากประดุจการหาเลือดจากปู.

ในคำคู่ความก็มักจะปรากฏว่าใช้ภาษาพูดอยู่ด้วยเสมอ, โปรดพิจารณาตัวอย่างซึ่งนำมาจากเรื่องจริงดังต่อไปนี้:

‘ถ้าหากโจทก์มุ่งหมายถึงความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ โดยขออย่าเพ่อปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้น’.

วลีที่ว่า : ‘โดยขออย่าเพ่อ’. น่าจะเรียงว่า ‘โดยของดการปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้น’, มากกว่า.

‘เขียนด้วยกระดาษก๊อบปี้’. ควรจะเป็นว่า, ‘เขียนด้วยกระดาษอัดสำเนา’.

‘จำเลยขับรถยนต์ออกจากที่จอดรถทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นโจทก์กำลังขึ้นรถยนต์ยังไม่ทันเสร็จ’. คำว่า ‘ยังไม่ทันเสร็จ’ น่าจะเป็น, ‘ยังไม่เรียบร้อย’.

‘คดีโจทก์ไม่มีทางขาดอายุความ’. ถ้าเขียนว่า, ‘คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ’. จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ ?

คำว่า ‘ปืนคอลท์ตราควาย’. สมควรเรียกว่า, ‘ปืนลูกซองพกชนิดทำเองโดยไม่ได้รับอนุญาต’.

‘ก่อนจะเกิดเหตุเป็นคดีนี้ จำเลยมีอาชีพเป็นช่างอ๊อก ได้เงินมา ๑๔๐ บาท โจทก์จะเอาเงินนี้ทั้งหมด จำเลยไม่ยอมให้ จึงเกิดทะเลาะกัน แล้วโจทกได้ใช้สากกระเบือตำน้ำพริกกับท่อแป๊ปน้ำตีจำเลย’. คำว่า ‘ช่างอ๊อก’ น่าจะเป็น ‘ช่างเชื่อมโลหะ’, ‘สากกระเบือตำน้ำพริก’ ควรเปลี่ยนเป็น ‘สากไม้ตำน้ำพริก’, ‘ท่อแป๊ปน้ำ’ สมควรเขียนว่า ‘ท่อเหล็ก’.

อนึ่ง การใช้ภาษาพูดในคำคู่ความนี้, บางครั้งทำให้มองไปได้ว่าคู่ความฝ่ายนั้นมิได้ให้ความคารวะต่อศาลตามสมควร, เช่น :

‘จำเลยก็พ่นกระสุนเข้าใส่ผู้ตาย’. ถ้าเรียงว่า ‘จำเลยซึ่งผู้ตาย’ ความหมายก็คงเหมือนกัน.

‘จำเลยขอกราบเรียนว่า โจทกเข้าใจข้อกฎหมายผิดอย่างช่วยไม่ได้ทีเดียว!’ การใช้ถ้อยคำและอัศเจรีย์ในลักษณะดังกล่าวส่อให้เห็นการเย้ยหยันโจทก์ต่อศาลอยู่ในที.

อย่างไรก็ตาม, เราต้องยอมรับกันว่า, ในบางกรณี การใช้ภาษาเขียนหรือภาษาในตัวบทกฎหมายนั้น, คู่ความอาจงุนงงได้เหมือนกัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในคดีอาญา จำเลยซึ่งไร้การศึกษา, หรือได้รับการศึกษาน้อย, อาจไม่เข้าใจข้อหาในภาษากฎหมายเลยก็เป็นได้ เป็นต้นว่า :

‘จำเลยได้ซื้อ หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสุรา พระพุทธศักราช ๒๔๙๓.’

แม้แต่จำเลยที่ได้รับการศึกษาแล้วก็อาจฉงนได้ว่า, ประโยคที่ว่าหมายความว่ากระไร ? แต่ถ้าใช้คำในภาษาพูดเพียงสองสามคำว่า ‘จำเลยมีเหล้าเถื่อนหรือเปล่า ?’ ไม่ว่าจำเลยจะได้รับการศึกษาหรือไม่ ย่อมเข้าใจทันที. ในทำนองเดียวกันกับคำในภาษาพูดว่า, ‘ฝิ่นเถื่อน’, ‘ไม้เถื่อน’, ‘ปืนเถื่อน’, ‘บุหรี่เถื่อน’, ฟังแล้วใคร ๆ ก็ร้อง ‘อ๋อ’ เพราะเข้าใจทันทีและเข้าใจได้ดีกว่าถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายมากมายนัก, หรือเช่นคำว่า ‘จี้’ ถ้าใช้ภาษากฎหมายก็คงจะต้องว่า ‘ใช้อาวุธข่เข็ญผู้เสียหาย, เพื่อปลดเอาทรัพย์ หรือเพื่อบังคับให้ส่งทรัพย์ให้.’ ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายยังไม่ตรงกับภาพพจน์ที่คนทั่วไปนึกคิดกัน คือยังไม่ทราบว่าถึงขนาดปืนจ่อท้ายทอย, หรือเอามีดจิ้มพุง, ผู้เสียหายด้วยหรือไม่. ปัญหาจึงมีว่า, ถ้าเช่นนั้น กฎหมายจะใช้คำเหล่านี้เสียโดยตรงเลยไม่ได้หรือ ? ความจริงก็ไม่มีอะไรห้าม. แต่ถ้าใช้คำเหล่านี้แล้ว, กฎหมายที่ต้องให้คำนิยามอีกว่า, คำเหล่านี้แต่ละคำมีความหมายอย่างไร, ยิ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาด้วย, ความแน่นอนในความหมายของแต่ละคำย่อมสำคัญที่สุด; และคำนิยามศัพท์ที่ว่านี้ก็คือถ้อยคำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง. ถ้าจะต้องนิยามศัพท์อีกก็เท่ากับเป็นการกล่าวซ้ำในเรื่องเดียวกันถึงสองครั้ง. คำในภาษากฎหมายจึงเป็นดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้.

ในบางกรณีคำบางคำแม้แต่คนในกรุงเทพฯ เองก็อาจไม่เข้าใจคือคำว่า ‘พยายามฆ่า’ เมื่อศาลถามจำเลยว่า, ‘จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายจริงหรือเปล่า ?’ จำเลยแถลงว่า, ‘เปล่าครับ ผมยิงเขานัดเดียวเท่านั้นเอง.’ ที่จำเลยแถลงเช่นนั้น, จำเลยคงเข้าใจว่า, ‘พยายามฆ่า’ หมายถึง ‘การเพียรพยายามฆ่าจนกระทั่งตาย.

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, มาตรา ๑๗๒, ที่ได้บัญญัติให้ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะอ่านและอธิบายฟ้องคดีอาญาให้จำเลยฟังอยู่แล้ว, ฉะนั้น ปัญหาเรื่องจำเลยไม่เข้าใจคำฟ้อง หรือเข้าใจผิด จึงไม่น่าจะมี.

เรื่องการใช้ภาษาพูดในการเขียนเรื่องของกฎหมายนี้มักจะปรากฏในกระดาษคำตอบสอบไล่ของนักศึกษาเสมอ. แต่ก็น่าให้อภัย, เพราะนักศึกษาเพิ่งเริ่มศึกษากฎหมายย่อมมีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา. โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:

‘ถ้าผู้เยาว์นี้อายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้วละก้อ พินัยกรรมเป็นอันสมบูรณ์.’ คำว่า ‘ละก้อ’, เป็นภาษาพูดที่ไม่น่าจะนำมาใช้ในคำตอบสอบไล่เลย. ทั้งในกรณีนี้อาจตัดออกได้โดยไม่เสียความหมายของเรื่องที่กล่าว.

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินแต่คำว่า ‘ครูดุ’, ‘ครูใจดี’ เสมอ. แต่ผู้เขียนเองนับว่าเป็นผู้มีโชควาสนาพอตัวอยู่ที่มี ‘ศิษย์ดุ’, ‘ศิษย์ใจดี’ ด้วย. ทั้งภาษาที่ศิษย์ใช้ที่เป็นภาษาตลาด, โดยถือวิสาสะเป็นกันเองจริง ๆ. สักขีพยานในเรื่องนี้ก็คือ, ผู้เขียนเคยตั้งปัญหาสอบไล่ถามนักศึกษาปัญหาหนึ่งในวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปว่า :

‘การที่ ก. ตีศีรษะ ข. เป็นนิติกรรมหรือไม่ ?’

นักศึกษาผู้หนึ่งตอบว่า ‘เป็นเรื่องที่อยู่ในกฎหมายอาญา เพราะเป็นเรื่องความตาย การฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือพยาบาทจองเวรกัน ผมจะไม่ให้คำตอบและไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เลย.’

อีกปัญหาหนึ่งเป็นปัญหาให้นักศึกษาให้คำแนะนำแก่ ก. ผู้เกี่ยวข้องในคดีหนึ่งว่าสมควรดำเนินการอย่างไรต่อไป. นักศึกษาผู้หนึ่งตอบว่า:

‘ให้คำแนะนำ ก. อย่าให้วุ่นวายไปเลย เพราะขืนทำอะไรไป ก็ไม่มีผลอะไร.’ นักศึกษาอีกผู้หนึ่งกล่าวในกระดาษสอบว่า, ‘ปัญหาสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าได้นำเอาคำตอบไปปะปนไว้ในหัวข้อข้างบนนี้แล้ว จึงต้องขอความกรุณาไม่นำมาฉายซ้ำอีก.’

อนึ่ง ในเรื่องจำนวนเงินซึ่งมีเลขหนึ่งนำหน้า, เช่น ‘หนึ่งแสนบาท’, ‘หนึ่งหมื่นบาท’ ‘หนึ่งพันบาท’, ‘หนึ่งร้อยบาท’, มักจะปรากฏว่า, ไม่ได้เขียนตัวอักษรว่า ‘หนึ่ง’ ไว้ข้างหน้าด้วย, โดยเขียนตามที่พูดกันซึ่งไม่ถูกต้อง. ในการเขียนเช็คจ่ายเงินนั้น, บางธนาคารไม่ยินยอมจ่ายเงินให้, แม้ว่าเช็คนั้นจะมีจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขถูกต้อง แต่ไม่มีตัวอักษรว่าหนึ่งซึ่งแสดงถึงจำนวนกำกับอยู่ด้วย. เรื่องนี้ แม้กระทั่งในตัวบทกฎหมายเอาที่ละเว้นไม่ใช้ตัวอักษร ‘หนึ่ง’ ข้างหน้าหลัก ก็ยังมีอยู่, ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๔, ซึ่งใช้คำว่า ‘ในราคาพันบาท’ เป็น อาทิ. ยิ่งกว่านั้น, ถ้าพิจารณาดูธนบัตรของรัฐบาลไทยฉบับละหนึ่งร้อยบาท ก็ไม่ปรากฏว่าใช้คำว่า ‘หนึ่ง’ ข้างหน้า. ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งได้ให้แง่คิดแก่ผู้เขียนว่า, แต่เดิมนั้นมักจะพูดกันว่า ‘ร้อยชั่ง’, ‘พันตำลึง’, ‘พันบาท’, ‘หมื่นบาท’, ไม่มีคำว่า ‘หนึ่ง’ ข้างหน้า ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ที่ผู้เขียนขกมาเป็นตัวอย่างนั้น. นอกจากนั้นในกฎหมายลักษณะอาญาก็หามีคำว่า ‘หนึ่ง’ ข้างหน้าจำนวนเงินในระวางโทษปรับไม่. คำว่า ‘หนึ่ง’ เพิ่งจะเริ่มมานิยมใช้ในภาษาไทยเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง, ดังเช่นในการวางโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญาเป็นต้น. ผู้เขียนเห็นว่า, แง่คิดนี้มีน้ำหนักและแสดงถึงวิวัฒนาการของภาษากฎหมายไทยในเรื่องนี้ว่า, อาจจะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) ในระยะหลัง ๆ นี้ก็เป็นได้. แม้กระนั้นก็ดี, เมื่อภาษากฎหมายไทยผันแปรไปเช่นนี้, เราก็น่าจะคล้อยตามให้เป็นระเบียบแบบแผน, ธนบัตรฉบับละหนึ่งร้อยบาทก็น่าจะมีตัวอักษร ‘หนึ่ง’ ข้างหน้าคำว่า ‘ร้อยบาท’ ด้วย.

อีกแง่หนึ่งของภาษาเขียนจำนวนเงินนี้ที่น่าจะพิถีพิถันกันด้วย. โดยที่ปรากฏเสมอว่ามีการเขียนจำนวนเลขลักลั่นเอาตัวอักษรปะปนตัวเลข. เพราะฉะนั้นแทนที่จะเขียนผิด ๆ ว่า ‘๓ หมื่นบาท’, น่าจะเขียน ‘สามหมื่นบาท’ หรือ ‘๓๐,๐๐๐ บาท’.

นักกฎหมายกับภาษาพื้นเมือง

นักกฎหมายซึ่งต้องไปปฏิบัติงานในวิชาชีพต่างถิ่นคงจะต้องประสบอุปสรรคในเชิงงาน เพราะภาษาพื้นเมืองเป็นเหตุบ้างไม่มากก็น้อย. ถ้าหากเราไม่เข้าใจภาษาพื้นเมืองเสียเลย, ผลเสียอาจจะมีบ้าง. อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ว่า, คำบางคำในภาษาพื้นเมืองมีความหมายแตกต่างไปจากภาษาที่เราเข้าใจกันอยู่. ผลจึงเป็นว่า, ไม่ใช่เราไม่เข้าใจก็เหล่านั้น, หากแต่เราเข้าใจผิดไปเลยทีเดียว.

เมื่อผู้เขียนไปรับราชการ ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตอนแรก ๆ นั้น, มีพยานคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายให้การว่า, หลังจากที่ตนถูกปล้นกลางทางแล้วปิ๊ดบ้าน. ผู้เขียนก็ฉงนคิดว่า, พยานจะต้องไปปิดบ้านทำไม, ในเมื่อถูกปล้นกลางทาง. ผู้เขียนอุตส่าห์มีกไปถึงสุกาษิตบทหนึ่งว่า ‘วัวหายล้อมคอก’, แต่ก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจกระจ่างขึ้น, เพราะความหมายของสุภาษิตบทนั้น, ไม่ตรงกับเรื่องในคดีดังกล่าว ต่อมาพยานอีกปากหนึ่งในคดีเดียวกันนั้นเองก็เบิกความว่า, ‘ปิ๊ดบ้าน, อีก’. พยานโจทก์อีกหลายปากต่อมาก็เบิกความว่า ‘ปิ๊ดบ้าน’ หลังจากที่ผู้เสียหายถูกปล้นแล้วเหมือนกัน. ในที่สุด, ผู้เขียนถามความทั้งสองฝ่ายว่า ‘ปิ๊ดบ้าน’ หมายความถึงอะไร ? ก็ได้รับคำตอบว่า, ความจริงไม่ใช่ ‘ปิ๊ดบ้าน’, คำที่ถูกต้องคือ, ‘ปิ๊กบ้าน’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘กลับบ้าน’.

อีกครั้งหนึ่ง, พยานปากหนึ่งให้การว่า ‘พยานถูกจำเลยเอาฆ้อนบุบหัว’ ผู้เขียนก็เกิดความสงสัยในทันใดนั้นว่า ถ้าพยานถูกฆ้อนบุบศีรษะจริงดังที่เบิกความแล้ว, พยานอาจจะตายคาที่หรือได้รับบาดเจ็บสาหัส, พยานจะมีโอกาสมาเบิกความได้อย่างไร. เมื่อผู้เขียนถามพยานอีกครั้ง, พยานก็ยังยืนยันว่าตนถูกบุบศีรษะจริงๆ. ในที่สุด, เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมจำเลยได้อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า, ที่พยานเบิกความว่า, ‘ฆ้อนทุบหัว’ นั้น, พยานมิได้หมายความถึง ‘ฆ้อน’, อย่างที่ชาวกรุงเทพฯ เข้าใจกัน. คำว่า ‘ฆ้อน’ นี้ พยานหมายความถึงไม้หรือไม้ตะพด, ‘บุบ’, หมายความได้ว่า ตี. รวมความได้ว่า พยานถูกจำเลยเอาไม้ตีศีรษะ. ผู้เขียนสอบถามต่อไปว่า สิ่งที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่า ‘ฆ้อน’, ทางเหนือเรียกอะไร ? ก็ได้รับคำตอบว่า ‘ฆ้อนเหล็ก’.

ในคดีข่มขืนกระทำชำเราคดีหนึ่ง, ผู้เขียนถามจำเลยเมื่ออ่านฟ้องให้จำเลยฟังแล้วว่า, ‘จำเลยจะรับสารภาพไหม ?’ จำเลยแถลงว่า, ‘บ่ฮับ มันสู้ผ่มฮับ’. ผู้เขียนถามซ้ำอีก, จำเลยยืนยันว่า, ‘มันสู้ผ่มฮับ บ่ฮับ’, กลับไปกลับมาอยู่เช่นนั้น จำเลยรายนั้นมาจากอำเภออมก๋อย, ซึ่งเป็นท้องที่ที่ทุรกันดารแห่งหนึ่งของเชียงใหม่. ผู้เขียนบอกจำเลยว่า, ‘อ้าว, เมื่อมันสู้, จำเลยจะปฏิเสธได้อย่างไร ? รับเสียดีกว่า, ศาลจะได้หาทางลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามสมควรแก่รูปคดี’. จำเลยก็ยังยืนยันแบบกระต่ายขาเดียวว่า ‘บฮับ มันสู้ผ่มฮับ’, ผู้เขียนพูดตัดบทว่า, ‘เอาน่า, รับก็รับเสียเถอะ, ศาลจะลดโทษให้’. จำเลยก็ยังยืนกรานอยู่เช่นเดิม. ในท้ายที่สุด, โจทก์อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า, ความจริงคำว่า ‘สู้’, ในภาษาคำเมือง (ภาษาพื้นเมืองของเชียงใหม่) มิได้มีความหมายว่า จำเลยหรือผู้เสียหาย ‘ต่อสู้’, หากแต่หมายความว่าผู้เสียหายรักใคร่, หรือพึงพอใจในตัวจำเลย. คำในภาษาพื้นเมืองของเขามีความหมายกลับกันไปจากภาษาไทยธรรมดาถึงเพียงนี้, หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คำว่า ‘สู้’ นี้, ในความหมายของคำเมืองจะเรียกว่า ‘สู้’ ก็ได้เหมือนกัน, แต่ว่าเป็นการสู้ในเชิงรักมากกว่า. ถ้าหากว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้เขียนทราบความหมายที่แท้จริงของคำนี้แล้ว. คดีนั้นจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมจากศาลเท่าที่ควรก็เป้นได้.

อนึ่ง คำว่า ‘สู้’ นี้ทางกรุงเทพฯ มีข้อขบขันไปอีกแง่หนึ่ง, กล่าวคือ, ศาลมักจะถามจำเลยเมื่ออ่านฟ้องคดีอาญาให้ฟังว่า, ‘จำเลยสู้ไหม ?’ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักกฎหมายทั่วไปว่า หมายถึง ‘จำเลยจะต่อสู้คดีหรือไม่ ?’ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่จำเลยไม่เข้าใจสำนวนภาษากฎหมายโดยเฉพาะ, มีจำเลยรายหนึ่งแถลงต่อศาลว่า, ‘โอ้, ผมไม่สู้ท่านหรอกครับ รูปร่างท่านใหญ่เหลือเกิน’.

อนึ่ง คำว่า ‘ต้นน้ำ’ หมายถึงทิศเหนือ, และ ‘ปลายน้ำ’ หมายถึงทิศใต้, ส่วนเดือนทางเหนือเร็วกว่าภาคกลางสองเดือน คือ, ถ้ากล่าวว่า ‘เดือนแปด’, หมายถึง ‘เดือนหก’ ของภาคกลาง.

ทางปักษ์ใต้, มีศัพท์พื้นเมืองแปลก ๆ ทำนองนี้เหมือนกัน, เพื่อนผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า พยานปากหนึ่งเบิกความว่า ‘จำเลยใส่เสื้อขาวคอดำ’. ศาลจดคำพยานว่า ‘จำเลยสวมเสื้อขาว คอปกเสื้อสีดำ’. แต่โจทก์แถลงต่อศาลว่า, พยานมิได้ให้การเช่นนั้น เมื่อศาลสอบถาม, จึงปรากฏว่า คำว่า ‘คอดำ’ หมายถึงกางเกงดำ. ท่านผู้รู้ที่เป็นชาวปักษ์ใต้หลายท่านยังแสดงความข้องใจอยู่ว่า, คำว่า ‘คอดำ’ จะแปลว่ากางเกงดำแน่หเรือ, เพราะไม่เคยได้ยินคำเช่นนั้นเลย, อย่างไรก็ตาม คำนี้อาจเป็นคำพื้นเมืองในท้องถิ่นในท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะก็เป็นได้.

ท่านผู้พิพากษาท่านหนึ่งเล่าเรื่องภาษาภาคใต้ที่แปลกและน่าสนใจเรื่องหนึ่งในนิตยสาร ‘ดุลพาห’ ว่า :

‘นานมาแล้ว มีข้าราชการผู้หนึ่งย้ายจากภาคกลางไปใหม่ ๆ ชาวภาคใต้เรียกว่าข้าหลวง (แต่ก่อนๆ มาชาวภาคใต้เรียกข้าราชการที่ไปจากภาคกลางว่าข้าหลวงทุกคน) คราวหนึ่ง ข้าราชการผู้นั้นได้ไปมีเรื่องมีราวกับราษฎรพื้นเมืองเพราะเข้าใจผิดเนื่องจากคำพูดความหมายไม่ตรงกัน คือว่าข้าหลวงคนนั้นแรกไปตรวจราชการตามชนบทไปพบผู้หญิงสาวสวยชาวพื้นเมืองคนหนึ่งเข้า มีสามีแล้ว แต่ข้าหลวงคนนั้นยังไม่รู้ว่ามีสามีแล้ว ได้เกิดเสน่หาต่อผู้หญิงคนนั้นมาก จึงถามผู้หญิงนั้นว่า ‘มีผัวแล้วหรือยัง’ หญิงนั้นตอบว่า ‘ยัง’ ซึ่งความหมายของหญิงคนนั้นว่า มีสามีแล้ว (เพราะทางภาคใต้คำว่า ‘ยัง’ เขาหมายความว่า ‘มี’) ข้าหลวงคนนั้นหาได้ศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนไม่ เข้าใจว่าผู้หญิงคนนั้นยังไม่มีสามีแน่นอน เข้าไปกอดปล้ำเอาเฉย ๆ ผู้หญิงคนนั้นก็กลัวข้าหลวงเพราะถือว่าเป็นเจ้านายก็ไม่ร้องเอะอะอย่างใด เมื่อสามีกลับมา หญิงคนนั้นก็ร้องห่มร้องไห้ เล่าให้สามีซึ่งเรื่องราวโดยตลอดที่ข้าหลวงได้ทำกับเขา สามีจึงถามว่า ‘ทำไมจึงยอมให้เขาทำเอาล่ะ’ หญิงคนนั้นตอบสามีว่า ‘ฉานบอกแล้วว่าผัวยังๆ แต่ข้าหลวงไม่ฟัง ไม่รู้จะทำปรือ’.

อีกประโยคหนึ่งซึ่งเป็นสำนวนภาษาไทยทางกรุงเทพฯ, แต่ทางปักษ์ใต้ไม่เข้าใจ. กล่าวคือมีชาวกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งถามชาวปักษ์ใต้ว่า, ‘ทางนี้ไปไหน ?’ ผู้เป็นเจ้าของถิ่นตอบว่า ‘ทางมันจะไปไหน มันก็อยู่ของมันเฉย ๆ’ กรณียังน่าสงสัยเหมือนกันว่าไม่ทราบจริงหรือเล่นสำนวน.

ภาษาพื้นเมืองทางจังหวัดสุรินทร์ก็มีความหมายผิดแผกไปจากภาษาไทยธรรมดาเหมือนกัน เมื่อเพื่อนผู้เขียนถามถึงพนักงานนายหนึ่งว่าไปไหน. ได้รับคำตอบว่า: ‘เขาขอทุเลาครับ’, ซึ่งหมายความว่า ‘ขอลาหยุดงาน’. ดูราวกับว่า, งานที่ทำนั้นเป็นทัณฑกรรมอันสุดแสนจะทนทานได้ ถึงกับต้องขอทุเลา. อนึ่ง มีกำพื้นเมืองบางคำของจังหวัดนี้ที่บุคคลทั่วไปคงจะไม่มีโอกาสเดาถูก คือ ‘หัวนอน’ หมายถึง ‘ทิศใต้’, และ ‘ปายตีน’ หมายถึง ‘ทิศเหนือ’.

ทางภาคกลาง เช่นจังหวัดอุทัยธานีก็มีคำบางคำซึ่งทางกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ใช้กันเช่น ‘แหงะ’, แปลว่า เหลียวหน้า, ‘เอิ้น’, แปลว่า ร้องเรียก, ‘อ๋อย’, แปลว่า ล้อ.

อนึ่ง แม้ในระหว่างชาวกรุงเทพ ฯ ด้วยกันเอง, บางครั้งก็อาจเข้าใจกันผิดได้, ดังเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานมานี้ คือ ขณะที่คนขับรถประจำทางถอยหลังรถ, พนักงานขายตั๋วประจำรถเป็นผู้อุทางท้ายรถให้, พนักงานขายตั๋วบอกว่า ‘พอ ๆๆ’. คนขับเข้าใจว่ายังมีที่ว่างพอให้ถอยไปได้อีก, จึงถอยไปเรื่อย ๆ ตามคำบอกจนกระทั่งไปชนรถเก๋งซึ่งจอดอยู่พังยับเยินไปทั้งคัน. เรื่องนี้จะโทษพนักงานขายตั๋วก็ยาก, เพราะคำว่า ‘พอ’ นั้น พนักงานขายตั๋วก็เข้าใจอย่างคนทั่วไปเข้าใจอีกแง่หนึ่งว่า ‘พอแล้ว ๆ’ นั่นเอง. ทั้งจะโทษคนขับแต่ผู้เดียวก็น่าจะไม่เป็นธรรม, เพราะจะว่าเขาเข้าใจความหมายของคำว่า ‘พอ’ ผิดก็ไม่ถนัดนัก.

คำพูดคำเดียวกันซึ่งผู้ฟังหลงผิดคิดว่าเป็นคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับที่ผู้พูดประสงค์ยังมีอีกหลายคำ. คำว่า ‘ติด’ และ ‘เป็นหนี้’ เป็นตัวอย่าง. ‘สายัญเปนหนี้วันเพ็ญ’ , หรือ ‘สายัณติดวันเพ็ญ’ ดังนี้, สายัณหรือวันเพ็ญเป็นเจ้าหนี้ ?

คำฎหมายและภาษากฎหมายโดยตรง, มีสำนวน, มีโวหารโดยเฉพาะซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากต่อคนธรรมดา, และโดยนัยกลับกัน, ภาษาพื้นเมืองที่มีข้อยุ่งยากสำหรับเรานักกฎหมายซึ่งไปจากต่างท้องถิ่นมิใช่น้อยเหมือนกัน. ในบางครั้ง เราก็พลั้งเผลอใช้คำในภาษาพื้นเมืองในคำคู่ความหรือการจดคำพยายนหรือคำพิพากษาซึ่งยังความลำบากใจให้แก่ศาลสูง, ซึ่งไม่ทราบภาษาพื้นเมืองนั้นหาน้อยไม่. ในกรณีจำเป็นต้องใช้คำพื้นเมือง, ก็สมควรจะวงเล็บความหมายของคำนั้น ๆ ในภาษาไทยมาตรฐานไว้ด้วย.

การใช้เครื่องหมายวรรคตอนในภาษากฎหมาย

เนื่องจากเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนกำลังอยู่ในความสนใจของบุคคลทั่วไป, มีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งแนะว่าเราสมควรฟื้นฟูเครื่องหมายวรรคตอนขึ้นมาใช้กันอีกวาระหนึ่ง, จะได้พิจารณาเรื่องนี้ในแง่ของภาษากฎหมายไทยด้วย.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิพนธ์ในเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนไว้ว่า :

‘๕. ลักษณะเขียนหนังสือ เราเขียนด้วยถ้อยคำติดกันไปหมด ไม่เว้นระยะคำทุกคำอย่างเป็นลักษณะเขียนหนังสือของชาวยุโรป, จึงทำให้เป็นที่ฉงนแก่ผู้ที่ไม่สู้ชำนิชำนาญในเชิงการอ่านหนังสือไทย; ไม่ใช่แต่ชาวต่างประเทศ, ถึงแม้คนไทย ๆ เราเองก็รู้สึกลำบากอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน.

‘.....ข้อนี้เป็นเครื่องทำให้หนังสือไทยเราเป็นหนังสือที่เรียนแลเขียนอ่านให้ถูกต้องได้ยากเกินไปกว่าที่ควร. หนังสือใดที่เรียน เขียน อ่าน ได้ยาก ย่อมจะเป็นของทำให้ผู้ใช้เสียเปรียบแก่ผู้ที่มีอักษรใช้อย่างที่เรียน เขียน อ่านได้ง่ายๆ, เพราะฉะนั้น จึ่งเป็นข้อที่ควรคำนึงอยู่โดยแท้.

‘.....การแบ่งระยะระหว่างคำต่อคำ, ตามแบบหนังสือยุโรป, ดูจะไม่เป็นการยากอะไร, ทั้งถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ไม่เป็นการอุตตะเหลือเกินเลย. เพราะในหนังสือสวดมนตร์ และเทศนามหาชาติ เป็นต้น ที่ได้พิมพ์ขึ้นแล้ว ก็ได้แบ่งระยะระหว่างคำภาษามคธไว้แล้ว...

‘เครื่องหมายแบ่งวรรคตอนเหล่านี้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล ณ กรุงเทพ), ตั้งแต่ยังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์, อธิบดีกรมศึกษาธิการ, ได้คิดชื่อขึ้นไว้เรียก และได้แต่งคำอธิบายวิธีใช้เครื่องหมายแบ่งวรรคตอนไว้โดยละเอียด, และได้พิมพ์เป็นแบบเรียนการแต่งหนังสือของกรมศึกษาธิการด้วยแล้ว ฯลฯ’.

อนึ่ง แม้ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ก็ได้มีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนแบบตะวันตกอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงใช้อยู่ในหนังสือ ‘พุทธประวัติ’ พระองค์ท่านได้ทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่า:

‘...อนึ่ง น่ารำคาญอยู่ว่า ของฝรั่งเขาก็มีเครื่องหมายต่างๆ ไทยโบราณก็มีคั่น หนังสือในบัดนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง ความอาจปนกัน เช่น ชักคำ ผู้อ่านกล่าวยากจะรู้ว่าหมดแค่ไหน ขอพระราชทานลงคั่นอย่างในหนังสือเก่าในจ่าหน้าและคำนำนี้ ฯลฯ’๑๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า :

‘ซึ่งจะทรงใช้คั่นหนังสืออย่างเท่านั้นก็ดีอยู่, เข้าใจว่ากรมศึกษาได้ออกแบบแล้ว ฤๅเป็นแต่คิดจะออก จำไม่ได้ แต่เป็นอย่างฝรั่ง ฯลฯ’.๑๑

ในภาษาอังกฤษ เครื่องหมายวรรคตอนนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง, และถือเป็นส่วนหนึ่งของประโยคแต่ละประโยคทีเดียว. ยิ่งในด้านภาษากฎหมายโดยตรงด้วยแล้ว, เครื่องหมายวรรคตอนมีความหมายโดยเฉพาะและมีความสำคัญมาก, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกล่าวอ้างถึงคดีต่าง ๆ ก็ดี, ตำรากฎหมาย, และวรรณกรรมกฎหมายต่าง ๆ ก็ดี, ไม่ว่าผู้เขียนจะเป็นนักกฎหมายทั่วไป หรือเป็นนักกฎหมายผู้วิจัยปัญหากฎหมายโดยเฉพาะ. มหัพภาคก็ดี, จุลภาคก็ดี, ที่ปรากฏในเชิงอรรถซึ่งกล่าวอ้างถึงวรรณกรรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความหมายโดยเฉพาะ แม้จะยังไม่มีการวางเกณฑ์กำหนดสากลสำหรับเรื่องนี้ในภาษากฎหมาย, ก็เกือบจะถือได้ในปัจจุบันว่า เป็นประเพณีที่จะต้องใช้เครื่องหมายวรรคตอนดังที่ใช้อยู่ในบทความนี้, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกล่าวอ้างถึงวรรณกรรมกฎหมายของต่างประเทศ.๑๒ ยิ่งกว่านั้น ในระบบกฎหมายอังกฤษนั้น, การอ้างถึงคำพิพากษาคดีต่าง ๆ ของศาลอังกฤษ ที่ระบุถึงปี ค.ศ. นั้น, มีการใช้วงเล็บเล็กและวงเล็บก้ามปูในโอกาสต่างกัน, โปรดพิจารณาตัวอย่าง :

Stanley V. Powell (1860) 60 L.J Q.B. 52.

Stanley V. Powell [1861] 1 Q.B. 86.

การใช้วงเล็บเล็กหมายความถึงปี ค.ศ. นั้นเป็นปีที่ศาลได้ตัดสินคดีดังกล่าวนั้นคือ ค.ศ. ๑๘๖๐. ส่วนการใช้วงเล็บก้ามปู หมายถึงปีที่จัดพิมพ์คำพิพากษานั้นขึ้นเผยแพร่.๑๓

สำหรับในภาษาไทย, เนื่องจากเราเขียนติดกันไปทั้งประโยคดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส, ถ้าหากใช้เครื่องหมายวรรคตอนแล้ว, ย่อมช่วยให้เข้าใจภาษานั้นง่ายขึ้น ทั้งอาจจะกันหรือแก้ปัญหาเรื่องความเข้าใจผิดได้เป็นอันมาก. แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การใช้เครื่องหมายวรรคตอนในภาษาไทยในปัจจุบันเสื่อมความนิยมลงไป. แม้จะมีการใช้กันอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย, และยังลักลั่นกันอยู่.

ที่สะพานในทางหลวงแผ่นดินสายหนึ่งมีป้ายประกาศว่า :

‘ขับช้าๆ อันตราย’

ดังนี้ จะให้เข้าใจว่าต้องขับเร็วหรือช้า, จึงจะปลอดภัย ? เพราะถนนที่มีสภาพเป็นลูกระนาด, ขับช้า ๆ ก็มีอันตรายเหมือนกัน. ถ้าติดป้ายที่มีข้อความดังกล่าว อาจเกิดความเข้าใจผิดได้. ตรงกันข้าม ถ้าหากมีจุลภาคระหว่างคำว่า ‘ขับช้าๆ’ และ ‘อันตราย’, หรือเขียนคำทั้งสองไว้คนละปรรทัด, อาจทำให้เข้าใจง่ายขึ้น บางท่านแนะนำว่า ควรจะเป็น ‘อันตราย ขับช้า ๆ.’

ในด้านภาษากฎหมายโดยตรง, การใช้เครื่องหมายวรรคตอนย่อมจะช่วยในด้านความแจ้งชัดรัดกุมของภาษาเป็นอย่างดี.

ในคำฟ้องคดีอาญาคดีหนึ่ง มีข้อความว่า :

‘จำเลยมี ปืนไม้ เป็นศาสตราวุธ เข้าทำการปล้น’

ปัญหาที่ทำให้ฉงนคือ, จำเลยมีปืนที่ทำด้วยไม้, หรือมีทั้งปืนและไม้ ? การเขียนติดกันเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยได้. เมื่อมีข้อสงสัย, ศาลย่อมต้องยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยนั้นให้แก่จำเลย. ในกรณีที่ประสงค์จะกล่าวว่า มีทั้งปืนและไม้, ถ้าหากใช้จุลภาคระหว่างคำทั้งสอง, ย่อมทำให้เนื้อความชัดเจนขึ้นทันที ถ้าไม่ใช้จุลภาค. ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งเสนอว่า : ‘จำเลยมีปืนและไม้เป็นศาสตราวุธ เข้าทำการปล้น’.

ในคำพิพากษาคดีอาญาส่วนมาก, การกำหนดโทษจำเลยนั้นมักปรากฏข้อความในทำนองว่า :

‘ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ๑๒ ปี’

ข้อที่ฉงนได้ง่ายที่สุดก็คือ ในกรณีที่มีจำเลยหลายคน, ประโยคนี้จะหมายความว่า, ให้จำคุกจำเลยที่หนึ่งมีกำหนดสิบสองปี, หรือให้จำคุกจำเลยที่สิบเอ็ดมีกำหนดสองปี ? ในกรณีเช่นนี้, ถ้ามีจุลภาคหลังเลขที่ของจำเลยและหน้าจำนวนปีที่จำคุก, ย่อมทำให้การกำหนดโทษซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในคำพิพากษานั้นปราศจากความเคลือบคลุมและข้อสงสัย. มิฉะนั้นก็จะต้องเรียงคำพิพากษาไปอีกแบบหนึ่งว่า, ‘ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑๒ ปี’, ดังนี้เป็นต้น.

ในคำฟ้องคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ปรากฏว่ามีข้อความประหลาดดังต่อไปนี้:

‘คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นายมั่น (ตาย) นายโม้ (ตาย) นางเป เจ้ามรดก (ตาย) นายชายบิดาจำเลยที่ ๑ (ตาย) นางสาย (ตาย) เป็นบุตรนายลุน นางผม... เมื่อประมาณ ๑๖ ปีมานี้ นางเปตายไม่มีบุตร มีมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือโจทก์ผู้เดียว ฯลฯ.’

เมื่ออ่านถึงคำว่า, โจทก์นายมั่น (ตาย) จะเกิดความสงสัยทันทีว่าโจทก์ตายแล้วจะมาฟ้องคดีได้อย่างไร ? ความจริง ควรเว้นวรรคระหว่างคำว่าโจทก์กับนายมั่น หรือ, ถ้าหากมีการใช้เครื่องหมายจุลภาคระหว่างคำทั้งสอง, ข้อสงสัยย่อมไม่เกิดขึ้นเลย. อีกประการหนึ่ง, ไม่ควรมีการเว้นวรรคระหว่างคำว่านางเปกับเจ้ามรดก, มิฉะนั้นย่อมทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคคลสองคน, ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดีนั้น, นางเป คือตัวเจ้ามรดกเอง. ข้อน่าคิดอีกข้อหนึ่ง คือ, ข้อความในวงเล็บว่า ‘ตาย’ นั้น ทำให้ความสนใจของผู้อ่านไปอยู่ที่เรื่องตายเกินกว่าที่จำเป็น, ทั้งเมื่ออ่านจบประโยค, ซึ่งมีคำว่า ‘ตาย’ ถึง ๖ คำ, ย่อมทำให้เกิดความฉงน, บางท่านอาจข้องใจเกินเลยไปอีกว่านายลุนกับนางผมตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่, ต้องย้อนกลับมาอ่านเอาใจความสำคัญอีกหลายครั้งว่า ความหมายอันแท้จริงของประโยคนี้มีอย่างไร ? ตัวอย่างนี้แสดงแง่ให้เห็นอีกแง่หนึ่งว่า การใช้เครื่องหมายวรรคตอนผิดที่ก็ดี, และการไม่ใช้เมื่อควรใช้ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดความสับสนได้ง่าย. ผู้เขียนเห็นว่า, น่าจะเอาคำว่า ‘ตาย’ ออกทั้งหมด, และถ้าจะเขียนว่า:

‘คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์, นายมั่น, นายโม้, นางเปซึ่งเป็นเจ้ามรดก, นายชายซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ ๑, และนางสาย, เป็นบุตรนายลุน นางผม, บุคคลดังกล่าวทุกคนถึงแก่กรรมแล้ว นอกจากโจทก์แต่ผู้เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่, และเป็นทายาทโดยธรรมแต่ผู้เดียวของนางเปซึ่งถึงแก่กรรมโดยไม่มีบุตร....ฯลฯ’ ดังนี้จะทำให้เข้าใจแจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?

การเว้นวรรคตอนในตัวบทกฎหมายนับว่ามีความสำคัญยิ่ง, เพราะถ้าเว้นผิดที่แล้ว, ความหมายก็ดี, การกล่าวอ้างก็ดี, อาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติได้.

โปรดพิจารณาตัวอย่างจากประมวลกฎหมายอาญาต่อไปนี้ :

‘มาตรา ๓๓๙ ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ

(๕) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

ฯลฯ - ฯลฯ

ปัญหามีว่า ถ้าจะอ้างถึงการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น, จะอ้างว่าประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา ๓๓๙ วรรค ๓ หรือวรรค ๔ ? ตามที่ถูกต้องน่าจะเป็นวรรค ๓ แต่เนื่องจากมีการย่อหน้าในวรรคแรกข้างท้าย (๕), จึงทำให้นักกฎหมายเป็นจำนวนมากฉงนและนับวรรคผิด. ถ้าหากไม่มีการย่อหน้าใหม่ในวรรคแรกดั่งกล่าว, ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย.

เรื่องวรรคตอน, และเครื่องหมายวรรคตอนนี้เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของภาษา ยิ่งเป็นภาษากฎหมายยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก การที่เราท่านจะใช้กันตามใจชอบหรือโดยพลการ ดูจะเป็นการมิชอบด้วยธรรมนิยมแห่งการใช้ภาษาไทย เรื่องนี้น่าจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในเวลาอันสมควรจากสถาบันซึ่งอยู่ในฐานะที่จะชี้ขาดในเรื่องของภาษาไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ราชบัณฑิตยสถาน, และสภาวิจัยแห่งชาติ, ว่า, เราน่าจะเจริญรอยตาม เบื้องพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และตามหลักภาษาไทยเดิมหรือไม่ ? ถ้าสมควร, ควรจะมีการวางเกณฑ์กำหนดในรายละเอียดประการใดบ้าง ?

ระบบตัวอักษรย่อในภาษากฎหมาย

การใช้ตัวอักษรย่อในภาษากฎหมายไทยนั้นเป็นที่นิยมกันอยู่ทั่วไป เพื่อประหยัดเวลา๑๔ แต่น่าเสียดายที่ยังมิได้มีการวางมาตรฐานในเรื่องนี้ให้เป็นระเบียบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, มีชื่อย่อและตัวย่อหลายแบบด้วยกัน เช่น, ป.วิ.แพ่ง, ประมวล วิ.แพ่ง, ป.วิ.พ. และ ป.ว.พ. เป็นอาทิ. นอกจากนั้น โดยที่มิได้มีการจัดระเบียบเรื่องตัวย่อนี้, การที่ต่างคนต่างใช้อาจสับสนหรือเข้าใจผิดได้, อาทิเช่น ‘พ.ร.ก.’ ตามสารบาญกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ให้หมายถึง ‘พระราชกฤษฎีกา’,๑๕ แต่ตามสารบาญกฎหมายที่กรมอัยการจัดทำ, ตัวอักษรย่อ พ.ร.ก. นี้ หมายความถึง ‘พระราชกำหนด’.๑๖ นอกจากนี้ ในบรรดานักศึกษาและนิสิตวิชากฎหมายยังสู้อุตส่าห์คิดค้นระบบอักษรย่อขึ้นใช้เองตามลำพัง, และคาดว่าครูผู้สอนต้องรู้ตัวย่อเหล่านั้นด้วย. ที่ผู้เขียนเคยพบมี ‘ต.ย.’, ‘ข.ส.ก.’, ‘ต.ป.ท.’ เมื่อถามผู้ใช้ จึงทราบว่า ‘ต.ย.’ หมายถึง ตัวอย่าง ข.ส.ก., ให้เข้าใจว่าเป็น ข้อสังเกต. ‘ต.ป.ท.’ ให้เข้าใจว่าอ้างถึงต่างประเทศ. นอกจากนั้น นักศึกษาและนิสิตเป็นจำนวนไม่น้อยนำเอาเครื่องหมาย ∴ (เพราะฉะนั้น), ∵ (เพราะว่า) ในวิชาคำนวณ มาอนุโลมใช้ในการตอบข้อสอบไล่วิชากฎหมายด้วย โดยปกติ, ในการสอบไล่วิชากฎหมายมักจะมีการแนะนำให้ผู้เข้าสอบไล่ใช้คำเต็ม และอนุญาตให้ใช้อักษรย่อเฉพาะคำที่รู้กันทั่วไปจริง ๆ เช่น ป.พ.พ. (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์), ม. (มาตรา), ก.ม. (กฎหมาย) เป็นอาทิ.

การใช้อักษรย่อนี้มักจะก่อให้เกิดข้อเคลือบคลุมสงสัยเสมอ, ถ้าหากผู้อ่านมิได้อยู่ในวงการที่ใช้ตัวอักษรย่อประเภทนั้น, อาทิเช่น ‘ก.ป.ส.’ หมายความถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ; ‘ก.ส.อ.’ หมายถึง คณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก, ‘ร.พ.ช.’ หมายถึง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท, ‘วิ. เด็ก’ หมายถึง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณากดีเด็กและเยาวชน พุทธศักราช ๒๔๙๔.

อนึ่ง, ในปัจจุบันมีความนิยมใช้อักษรย่ออย่างสั้นที่สุด, โดยตัดมหัพภาคระหว่างตัวย่อออก. อาทิเช่น, ‘ปกค’ หมายความถึง ปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อเราจะใช้อักษรย่อเพื่อประหยัดเวลาแล้ว, ก็ควรย่อให้สั้นที่สุด.๑๗ แนวนิยมใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ในระบบอักษรย่อของกฎหมายได้ดี ดังนั้น แทนที่จะเขียน ป.พ.พ. อย่างที่เคยเขียนกันมา, น่าจะเขียน ปพพ. ‘ประมวล วิ. แพ่ง.’ น่าจะเขียน ปวพ. ดังนี้เป็นอาทิ.

แนวย่อตัวอักษรที่มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งใช้อยู่ก็น่าได้รับการพิจารณาในวงการกฎหมายดุจกัน, คือ แทนที่จะเขียนว่า:

‘๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)’

ท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้เขียนว่า :

‘๕๐,๐๐๐ (ห้าหมื่น) บาทถ้วน’

การเขียนดังกล่าวสั้นกะทัดรัด, ได้ความชัดแจ้งทั้งตัวอักษรและจำนวนเลข, และในแง่เข้าใจผิดหรือข้อผิดพลาดเรื่องจำนวนไม่น่าจะมี, เพราะตัวจำนวนเลขนั้นเขียนเป็นตัวอักษรควบคู่กันอยู่ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ตัดคำว่า ‘บาท’ ซึ่งมีสองคำ ออกเสียหนึ่งคำเท่านั้น.

เพื่อประหยัดเวลาเละเพื่อให้ระบบอักษรย่ออยู่ในระเบียบเดียวกัน เป็นการสมควรหรือไม่ที่สถาบันกฎหมายต่าง ๆ จะร่วมมือกันวางระบบเรื่องตัวย่อให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน ?๑๘

การพิสูจน์อักษรภาษากฎหมาย

สำหรับท่านที่เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารกฎหมายหรือเคยเกี่ยวข้องจัดพิมพ์หนังสือประเภทใดก็ตาม, ย่อมจะเข้าใจและเห็นใจงานฝ่ายบรรณาธิการของนิตยสารกฎหมาย หรืองานจัดพิมพ์หนังสือกฎหมายเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีการระมัดระวังกันอย่างสุดฝีมือ, เราก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ จึงมีทางผิดพลาดเสมอ. งานพิสูจน์อักษรเป็นงานปิดทองหลังพระโดยแท้. ทำดีเพียงไรก็หามีผู้ใดเห็นไม่. แต่ถ้าพลาดพลั้งเพียงเล็กน้อย, ทุกคนกลับเห็นเสมือนกับหลังพระที่มิได้ปิดทองนั่นเอง. บางครั้งช่างเรียงพิมพ์เรียงตกไปทั้งหน้า, ผู้พิสูจน์อักษรอาจตรวจรายละเอียดในแต่ละหน้า, แต่ไม่ได้ตรวจดูเลขหน้า. บางครั้งตรวจถูกต้องเรียบร้อยแล้ว สั่งพิมพ์, แต่บังเอิญตัวพิมพ์ชำรุด, หรือหลุดหายระหว่างพิมพ์, ช่างเรียงพิมพ์ช่วยแก้ไขให้ใหม่. เรื่องที่แก้ไขถูกต้องแล้วอาจผิดพลาดไปอีกได้ง่ายที่สุด, และปรากฏว่ามีเสมอ. ยิ่งกว่านั้น บางคราวช่างเรียงพิมพ์สู่รู้ แก้ข้อความให้เสร็จโดยเข้าใจว่าผู้เขียนต้นฉบับสะกดผิด หรือเขียนคำบางคำตกไป. ด้วยเหตุนี้, ในบทความบางบท, เราจึงมีโอกาสได้เห็นคำว่า ‘กฎหมายตราสามดาว’, แทนที่จะเป็น ‘กฎหมายตราสามดวง’; มีคำว่า, ‘เจ้าของมรดก’ แทนคำว่า ‘เจ้ามรดก’. สำหรับผู้เขียนเองไม่เคยเสียวหัวใจเท่ากับตอนตรวจปรู๊ฟต้นฉบับเรียงพิมพ์ในข้อความที่ผู้เขียนกล่าวว่า

‘สุนทรภู่ได้ผูกกลอนในเรื่องนี้ไว้อย่างแยบคายว่า... ฯลฯ’,

ข้อความในฉบับที่เรียงพิมพ์แล้วกลับกลายเป็น: ‘สุนทรภู่ได้ผูกกลอนในเรื่องนี้ไว้อย่างหยาบคายว่า ฯลฯ’, อย่างไรก็ดี, บรรณาธิการหรือผู้จัดพิมพ์จะจู้จี้นักก็ไม่ได้, เพราะผู้เรียงพิมพ์เขาก็มีหัวใจเหมือนกัน.

ในการพิมพ์ผิดพลาดดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย, เคยมีกรณีเสียหายเกิดขึ้นเสมอ. มีธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จัดพิมพ์แบบสัญญาการพาณิชย์ระหว่างประเทศไว้ติดต่อกับลูกค้าชาวต่างประเทศเป็นครั้งคราว, เมื่อแบบสัญญานั้นหมด ก็จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เสมอมา, แต่การตรวจพิสูจน์อักษรทำอย่างสะเพร่า, ในการพิมพ์ครั้งหนึ่ง พิมพ์ข้อสัญญาว่าด้วยความรับผิดของลูกค้าตกไปทั้งข้อจึงไม่อาจฟ้องร้องลูกค้ารายนั้นให้รับผิดตามสัญญาอันมีค่าเป็นเงินเรือนแสนได้. แต่เรื่องความเสียหายเนื่องจากการตรวจพิสูจน์อักษรผิดพลาดนี้, คงไม่มีรายใดที่เสียหายมากเท่ารายของหน่วยค้นคว้าทดลองจรวดไปดาวพระศุกร์ของสหรัฐอเมริกา, ซึ่งทางหน่วยค้นคว้าทดลองจรวดส่งคำสั่งขึ้นไปยังสมองกลในจรวดโดยตก ยัติภังค์ (hyphen) ไปเพียงอันเดียวเท่านั้น, จรวดนั้นจึงหาได้ไปยังดาวพระศุกร์ตามสั่งไม่, ทั้งยังทำให้สหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียจรวดเครื่องนั้น ซึ่งมีมูลค่าถึง ๓๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปในอวกาศเลยด้วย.๑๙

ในตัวบทกฎหมายที่พิมพ์ผิดพลาด, เพราะความบกพร่องในเรื่องการพิสูจน์อักษรนี้ก็มีปรากฏอยู่แล้ว คือ, พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พุทธศักราช ๒๔๘๙, มาตรา ๘, ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นพิมพ์ผิดพลาด. โดยพิมพ์อัตราการจ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ เป็นร้อยละยี่สิบห้า, ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า:

‘... โจทก์ฎีกาเพียงว่า รางวัลเจ้าหน้าที่ผู้รับให้จ่ายร้อยละสิบห้านั้นไม่ถูก เพราะตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๘ ให้จ่ายร้อยละยี่สิบห้า โจทก์ฎีกาเถียงดังนี้ ได้ตรวจดูแล้ว พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๘ มีว่า ให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ กฎหมายมีดังนี้ การจ่ายรางวัลในเรื่องนี้ก็ต้องเป็นร้อยละยี่สิบห้า หาใช่ร้อยละสิบห้าไม่ ประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนขอแก้เป็นร้อยละสิบห้านั้นมีจริง แต่ประกาศเช่นนี้ไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกาศนี้ไม่ทำให้ร้อยละยี่สิบห้ากลับกลายเป็นร้อยละสิบห้า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนจะมีอำนาจแก้ไขบทกฎหมายนั้นหามิได้ เพราะฉะนั้น รางวัลตามมาตรา ๘ จึงต้องเป็นร้อยละยี่สิบห้า ศาลพิพากษาแก้เป็นว่า เงินรางวัลให้จ่ายร้อยละยี่สิบห้า ฯลฯ.’๒๐

ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อศาลฎีกา, ผู้เขียนมีความเห็นว่า, ประการแรก, ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาข้างบนนี้, เห็นได้ชัดว่า, จริงอยู่, ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมิได้มีอำนาจแก้ไขบทกฎหมายเลย, แต่สำหรับกรณีนี้, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพียงแต่มุ่งประสงค์จะแก้คำผิดซึ่งปรากฏในการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาให้ตรงกับตัวบทกฎหมายซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติยินยอมและเห็นชอบต่างหาก. ประการที่สอง, การที่จะถือว่าบทกฎหมายใดจะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น, ย่อมต้องหมายความด้วยว่า บทกฎหมายนั้นได้รับความยินยอมและเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว; ก็เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมิได้ลงมติดั่งที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษานั้นแล้ว, จะถือเป็นกฎหมายได้หรือ ? ประการที่สาม, จริงอยู่, ถ้าจะมองในแง่ความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องถือเป็นเด็ดขาดตามนั้น ผู้เขียนไม่ขอแย้งในข้อนี้, ถ้าหากว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้ดังนั้น, ตรงกันข้าม, ถ้าถือเอาการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเกณฑ์กำหนดแต่ประการเดียวโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องแห่งข้อความที่ประกาศด้วยไซร้, ผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมอย่างยิ่งก็ได้. สมมุติว่าราชกิจจานุเบกษาลงพิมพ์บทกำหนดโทษของกฎหมายฉบับหนึ่งผิด, แทนที่จะพิมพ์ว่า ‘จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป’, กลับพิมพ์เป็นว่า, ‘จำคุกตั้งแต่ห้าสิบปีขึ้นไป’, ซึ่งเป็นเรื่องอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้. ในกรณีเช่นนี้จะถือตามที่พิมพ์ผิดนั้นล่ะหรือ ? ผู้เขียนมีความเห็นว่า, ในกรณีเช่นนี้, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศแก้ไขคำที่พิมพ์ผิดเรียบร้อยแล้ว, น่าจะถือตามที่แก้ไขแล้วนั้นเป็นสำคัญ, การแก้ไขนั้นสมควรมีผลย้อนหลังไปจนกระทั่งถึงวันที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนั้นด้วย. ทั้งนี้, โดยไม่ควรให้มีผลกระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไปแล้วโดยสุจริตก่อนประกาศแก้ไขนั้น.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

เมื่อกล่าวถึงคำที่ใช้ในกฎหมายไทย, เราต้องพิจารณาถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วย เพราะพจนานุกรมฉบับนี้มิใช่แต่เพียงเป็นแบบมาตรฐานสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทยเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันของบุคคลทั่วไปและของทางราชการเท่านั้น๒๑ หากแต่ศาลยุติธรรมก็ได้ถือเป็นหลักสำคัญในเรื่องคำและตัวสะกดและอ้างถึงเสมอในเรื่องความหมายของคำสามัญทั่วไป เช่นคำว่า ‘ทำลาย’๒๒ ‘ผ่าน’๒๓ และ ‘แซง’๒๔ พจนานุกรมฉบับนี้เรียบเรียงได้ดีมาก, น่าสรรเสริญผลงานของราชบัณฑิตยสถานชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง.๒๕

สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี้, ผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขไว้ ณ ที่นี้ด้วยบางประการ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในเรื่องที่เกี่ยวด้วยคำในกฎหมายและภาษาที่ใช้ในเรื่องของกฎหมาย.

ในคำนำของพจนานุกรมฉบับนี้มีความตอนหนึ่งว่า:

‘ในเรื่องคำนั้น ถือกันเป็นหลักว่า พจนานุกรมเป็นที่รวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษาดุจทะเบียนสำมะโนครัวซึ่งเป็นที่รวบรวมจำนวนพลเมืองของชาติ ฉะนั้น ถ้าผู้ทำพจนานุกรมเก็บคำที่ใช้อยู่ไม่หมดก็ดี หรือเก็บคำที่ไม่มีที่ใช้เข้ามาไว้ก็ดี ย่อมเป็นเหตุให้จำนวนคำผิดพลาด ทำให้สถิติของคำที่ใช้ภาษาเสียไป เฉพาะหลักข้อนี้อาจมีข้อบกพร่องได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี คณะกรรมการก็ได้พยายามที่จะให้พจนานุกรมนี้บรรจุคำที่ยุติแล้ว ซึ่งมีใช้ในภาษาไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้.’

ผู้เขียนใคร่ขอสนับสนุนแนวนโยบายของราชบัณฑิตยสถานในข้อนี้อย่างจริงใจ.

พจนานุกรมฉบับนี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓. บัดนี้เวลาล่วงมา ๑๗ ปีแล้ว น่าที่จะปรับปรุงให้ทันสมัยตามแนวนโยบายที่วางไว้ได้แล้ว. ปัจจุบันมีคำใหม่ ๆ ซึ่งไม่มีปรากฎอยู่ในพจนานุกรม ฯ เป็นจำนวนมาก. อาทิเช่น. เกียรติภูมิ, คอมมิวนิสต์, ทรราชย์, โทรทัศน์. นิทรรศการ, ประชาทัณฑ์, ประชาสัมพันธ์, ปรนัย, วิสาหกิจ, วิทยากร, สถาบัน, สันทนาการ, สัญลักษณ์, สัมมนา, สวัสดิการ, อวกาศ, อัตนัย, และอนุรักษ์, คำเหล่านี้น่าจะถือได้ว่า ‘ยุติ’ แล้ว เพราะส่วนใหญ่ทางราชการเป็นผู้บัญญัติขึ้นเอง, ทั้งริเริ่มใช้, และคนทั่วไปก็ได้ใช้ตามโดยเข้าใจความหมายดีอยู่แล้ว.

อนึ่ง นอกจากนั้นยังมีคำที่ใช้กันมานานแล้วอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีปรากฏในพจนานุกรม ฯ อาทิเช่น, สมบูรณาญาสิทธิราชย์, เป็นต้น, ไม้ขีดไฟ, ทศพิธราชธรรม, ภูมิธรรม, สารัตถะ, เชิงอรรถ, และเฮโรอีน.

ตามแนวนโยบายของราชบัณฑิตยสถานดังกล่าวข้างต้น, สมควรรวมคำในภาษาพูดไว้ด้วย เช่นคำว่า ‘ออมชอม’, ในพจนานุกรมฯ มีเฉพาะคำในภาษาเขียนคือ ‘รอมชอม’, เท่านั้น. คำในภาษาพูดแท้ๆ ก็มีเป็นจำนวนมากอยู่แล้วเช่น, อีโนงโตงเนง, อีนุงตุงนัง, อลึ่งฉึ่ง, และ อีล่อยป่อยแอ เป็นต้น เพราะเหตุนี้จึงน่าจะรวบรวมคำพูดทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในพจนานุกรม ฯ ด้วย.

ตรงกันข้าม คำบางคำผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะมีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ นี้เลย เช่นคำว่า ‘พรูด’ เพราะเป็นคำที่ไม่มีความหมายอะไร. พจนานุกรม ฯ ให้แต่เพียงคำแปลว่า ‘เสียงดังเช่นนั้น’ คำแปลเป็นทำนองกำปั้นทุบดิน. ถ้าจะเอาเสียงต่างๆ มาประมวลไว้ด้วย, ก็เห็นจะต้องมีรายการเพิ่มอีกร้อยแปดพันเก้า. ทั้งไม่อาจเขียนไว้ให้ตรงตามเสียงที่แท้จริงด้วย.

เรื่องสำคัญที่สมควรได้รับการพิจารณาในการปรับปรุงพจนานุกรมฉบับนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การกล่าวอ้างถึงซึ่งกันและกันในบรรดาคำที่มีความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า ‘cross reference’ นั้น, ในพจนานุกรม ฯ มีปฏิบัติอยู่บ้างแต่ไม่สม่ำเสมอ. คำว่า ‘ตื้น’ พจนานุกรม ฯ ให้คำแปลว่า ‘ไม่ลึก’, และคำว่า ‘ลึก’ มีคำแปลคำหนึ่งว่า ‘ไม่ตื้น’ นอกจากนั้น พจนานุกรม ฯ ยังได้ให้ความหมายอื่น ๆ อันเป็นความหมายเอกและความหมายรองลดหลั่นเป็นลำดับไปด้วย, นับว่าเป็นการเหมาะสมและต้องตามหลักสากลของการเรียบเรียงพจนานุกรมอยู่แล้ว มิฉะนั้นแล้ว ถ้าหากผู้ใช้พจนานุกรม ฯ ไม่รู้ความหมายของคำทั้งสอง เช่นความหมายของคำว่าลึกและตื้นแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อันใดจากพจนานุกรมฉบับนั้นเลย นอกจากจะรู้เพียงว่าลึก คือไม่ตื้น, และ ตื้น คือไม่ลึก ... อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่มีคำเป็นจำนวนมากที่พจนานุกรม ฯ มิได้กล่าวอ้างถึงซึ่งกันและกันในบรรดาคำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน, ตัวอย่างเช่น คำว่า ‘ก่น’ แปลว่า ‘ขุดโค่น’, คำว่า ‘โก่น’ แปลว่า ‘โค่น’ ผู้เขียนเห็นว่า ทั้งคำว่า ‘ก่น’ และ ‘โก่น’ มีความหมายอย่างเดียวกัน, น่าจะมีการกล่าวอ้างถึงกันและกัน คำว่า ‘ล้มละลาย’ พจนานุกรม ฯ ให้ความหมายว่า, มีหนี้สินล้นพ้นตัว, ทรัพย์สมบัติตกอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์. แต่คำว่า ‘เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์’ ก็ดี, คำว่า ‘พิทักษ์ทรัพย์’ ก็ดี, ไม่มีปรากฏในพจนานุกรม. อนึ่ง คำซึ่งหาคำแปลยากที่สุดคำหนึ่งในทางกฎหมายคือ, ‘ความยุติธรรม’ พจนานุกรม ฯ ให้คำแปลว่า ‘ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล’. แต่คำว่า ‘ความเที่ยงธรรม’ ไม่มีปรากฏในพจนานุกรม ฯ, คำว่า ‘ความชอบธรรม’ กลับแปลว่า ‘ถูกต้องตามธรรม’, และมิได้กล่าวอ้างถึงคำว่า ‘ยุติธรรม’ ไว้ด้วยเลย.

อนึ่ง, คำบางคำมีความหมายหลายอย่าง, หรือมีความหมายกว้างกว่า, หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม ก็น่าจะให้ความหมายใหม่ไว้ด้วย, เช่น คำว่า, ‘สาธิต’, นอกจากจะแปลว่าสำเร็จแล้ว, น่าจะมีความหมายถึงการทดลองในเชิงแสดง, เช่น โรงเรียนสาธิต ซึ่งมีการทดลองสอนในเชิงแสดง ไว้ด้วย. คำว่า ‘อภิสิทธิ์’, ในปัจจุบันมิได้มีความหมายเฉพาะ ‘ความสำเร็จ’ หากแต่มีความหมายถึง ‘สิทธิอันไม่พึงมีพึงได้’ ด้วย. จริงอยู่ บางท่านอาจแย้งว่าใช้คำผิดความหมาย, แต่เมื่อเราพิจารณาอีกแง่หนึ่งว่าคนทั่วไปนิยมใช้กันอย่างมีความหมายเช่นนี้แล้ว จะถือว่า ‘ยุติ’ ตามที่นิยมใช้กันหรือไม่ ?๒๖

สุภาษิตและคำพังเพยต่าง ๆ น่าจะรวบรวมไว้ด้วย, เพราะมีคำอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ปรากฏในคำธรรมดานอกจากในสุภาษิตและคำพังเพย. พจนานุกรม ฯ อาจให้คำอธิบายคำเหล่านี้ในฐานเป็นรายการเอกเทศ, หรือเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายคำตามรายการอื่นก็ได้ตามความเหมาะสมดังที่พจนานุกรม ฯ ได้กำหนดไว้บ้างแล้ว. เป็นต้นว่า, คาหนังคาเขา, นอนหลับทับสิทธิ, เจ้าถอยหมอความ, คำอื่นที่ควรรวมไว้ด้วยก็มี เช่น, ขิงก็ราข่าก็แรง, คาบลูกคาบดอก, คลุมถุงชน, คมในฝัก, คดในข้องอในกระดูก, ฉ้อราษฎร์บังหลวง, ตบหัวแล้วลูบหลัง, บัวมิให้ช้ำน้ำมิให้ขุ่น, น้ำนิ่งไหลลึก, ไม้เบื่อไม้เมา, วัวหายล้อมคอก, สุกเอาเผากิน, และ เอาชนะคะคาน เป็นอาทิ.๒๗

เมื่อพิจารณาถึงศัพท์กฎหมายโดยตรงแล้ว, ในการปรับปรุงแก้ไขพจนานุกรมฉบับนี้ สมควรรวบรวมศัพท์กฎหมายไว้ให้ครบถ้วนด้วย, และสมควรถือด้วยว่า เมื่อกฎหมายใช้คำใด, คำนั้นน่าจะถือได้ว่า ‘ยุติ’ แล้ว. เท่าที่มีปรากฏอยู่ในการพิมพ์ครั้งที่ผ่านมาแล้วมีศัพท์กฎหมายน้อยมาก. คำที่ไม่มีปรากฏ เช่น, การฉ้อฉล, กลฉ้อฉล, เช่าช่วง, เจตนารมณ์, เจือสม, พระราชบัญญัติ, พิทักษ์ทรัพย์, ทรัพย์นอกพาณิชย์, โภคยทรัพย์, ตัวแทนเชิด, ค่าฤชาธรรมเนียม, วรรณกรรม นาฏกียกรรม, ประกันภัยค้ำจุน, รัฐธรรมนูญ และสังกมทรัพย์, เป็นต้น

นอกจากศัพท์กฎหมายที่มีปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว, ยังสมควรรวบรวมศัพท์กฎหมายที่นักกฎหมายใช้กันอยู่ แต่ไม่ปรากฏในตัวบทกฎหมายด้วย อาทิเช่น, การครอบครองโดยปรปักษ์, กฎหมายปิดปาก, ที่ดินมือเปล่า, เจ้าทรัพย์, ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด, วิสามัญฆาตกรรม, และนางบำเรอ.

จริงอยู่ที่คำในภาษากฎหมายบางคำยังไม่ยุติว่า ความนิยมใช้จะผันแปรไปในทางใด, หรือรับเอาคำใด เช่น, หลักนิติธรรม (The rule of law), สิทธิบัตร (patent), คำเหล่านี้อาจจะรอไว้จนกว่าได้มีกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ เอง, หรือเป็นที่รู้แน่ชัดว่าคนทั่วไปนิยมใช้คำใดแน่, จึงค่อยรวมคำนั้น ๆ ไว้ในพจนานุกรม ฯ ก็ได้.

สำหรับศัพท์ที่มีปรากฏในพจนานุกรม ฯ บางคำให้แต่ความหมายธรรมดาไว้, โดยมิได้ให้ความหมายในแง่กฎหมายด้วย. ตามพจนานุกรม ฯ คำว่า ‘เงื่อนไข’, หมายความถึง ‘ข้อที่ไขความ, ข้อความที่กำหนดไว้เพื่อบังคับตามกรณี’, แต่คำนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ หมายความถึง, ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน. ส่วนความหมายของคำว่า ‘เงื่อนไข’ ตามพจนานุกรมฯ นั้น ในทรรศนะของกฎหมาย, เห็นจะตรงกับคำว่า ‘ข้อไข’, หรือ ‘ข้อแม้’, หรือ ‘ข้อกำหนด’ มากกว่า อย่างไรก็ตาม, ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๒๐๖, คำว่า ‘เงื่อนไข’, น่าจะมีความหมายว่าเป็นข้อแม้หรือข้อไขตามความหมายที่กล่าวไว้ในพจนานุกรมฯ. คำว่า ‘เงื่อนเวลา’, พจนานุกรมฯ ให้ความหมายว่า ‘เงื่อนไขเกิดจากเวลา’, แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓ นั้น, หมายถึง กำหนดเวลาอันจะทำให้นิติกรรมเริ่มมีผลหรือสิ้นผลบังคับ. พจนานุกรมฯ น่าจะเพิ่มความหมายตามกฎหมายนี้ไว้ด้วยสำหรับทุกคำที่มีความหมายธรรมดา, และความหมายตามกฎหมาย.

ศัพท์กฎหมายที่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ฯ แล้ว บางคำยังมีข้อน่าพิจารณาอยู่อีกบางประการ, กล่าวคือ, ราชบัณฑิตยสถานน่าจะคำนึงถึงความหมายในกฎหมายด้วย. ในกรณีที่คำนิยามศัพท์ในกฎหมายกะทัดรัด ชัดเจน, น่าจะถือตามคำนิยามศัพท์นั้น ๆ เป็นสำคัญ เช่นคำว่า ‘วิ่งราว’ พจนานุกรม ฯ ให้ความหมายว่า ‘แย่งเอาสิ่งของแล้ววิ่งหนีไป’. น่าจะรัดกุมสู้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายไม่ได้. กฎหมายลักษณะอาญา, มาตรา ๒๙๗, บัญญัติว่า ‘ผู้ใดลักทรัพย์ โดยใช้กิริยาฉกฉวยเอาทรัพย์พาหนีไปต่อหน้า ท่านว่ามันมีความผิดฐานเป็นโจรวิ่งราวทรัพย์’; และประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา ๓๓๖, ใช้ถ้อยคำว่า, ‘ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า’ ซึ่งเป็นประโยคที่คลุมความหมายของคำว่า ‘วิ่งราว’, ได้ดี. ในคดีหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้, ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปซื้อสุราดื่ม. ผู้เสียหายไม่ยินยอมขายเพราะหมดเวลาขายแล้ว. จำเลยพูดว่าไม่ขายก็จะเอาไปกินเฉย ๆ จะทำอะไรเขา. แล้วจำเลยหยิบสุราแม่โขงครึ่งขวดของผู้เสียหายไปต่อหน้าผู้เสียหายแล้วเดินออกไปจากร้าน. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราว. ถ้าถือตามพจนานุกรม ฯ ไม่น่าจะเป็นวิ่งราว, เพราะแม้มีการแย่งเอาสิ่งของไป, แต่ก็ไม่มีการวิ่งหนีด้วย.๒๘

คำว่า ‘นิติกรรม’, พจนานุกรม ฯ ให้ความหมายว่า ‘กระทำโดยเจตนาจะผูกความสัมพันธ์ทางกฎหมายขึ้นระหว่างบุคคล’. หากว่านำความในมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้แทนน่าจะได้ความหมายชัดเจนและกะทัดรัดกว่า คือ ‘นิติกรรมได้แก่การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระวางบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ’.

จริงอยู่ที่มีคำบางคำซึ่งศัพท์กฎหมายมีความหมายโดยเฉพาะและแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าคำนั้น ๆ อยู่ในกฎหมายฉบับใด เช่นคำว่า ‘เคหะ’, ‘เคหะสถาน’, ก็ยากที่พจนานุกรม ฯ จะนำคำอธิบายเหล่านั้นมารวบรวมไว้ได้ทั้งหมดว่า ประมวลกฎหมายอาญาว่าอย่างไร ? พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่าอย่างไร ? พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ว่าอย่างไร ? และกฎหมายอื่น ๆ ว่าอย่างไร ? ถ้าจะต้องประมวลความหมายของคำเหล่านี้มาไว้โดยละเอียดทั้งหมดแล้ว ก็จะมิใช่เป็นพจนานุกรมทั่วไป หากแต่จะกลายเป็นพจนานุกรมกฎหมายไป.๒๙ นอกจากนั้นในบางกรณี ศาลยังตีความคำคำเดียวกันในกฎหมายต่างฉบับกันแตกต่างออกไปอีกด้วย, เช่น คำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ตามมาตรา ๒๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น, ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีความหมายแตกต่างจาก ‘เหตุสุดวิสัย’ ในมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.๓๐ ในกรณีเช่นนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับพจนานุกรมก็คือ, ให้ความหมายกลาง ๆ หรือให้ความหมายตามกฎหมายสำคัญเท่านั้น.

อย่างไรก็ตาม, ราชบัณฑิตยสถานอาจจะอาศัยคำแปลศัพท์กฎหมายจากตัวบทกฎหมายเป็นหลักไม่ได้ทุกคำไป, เพราะคำบางคำกฎหมายมิได้นิยามไว้, ทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ช่วยในด้านการทำความเข้าใจความหมายของศัพท์กฎหมายนั้น ๆ ได้ไม่มากนัก. เช่นคำว่า, ‘หมิ่นประมาท’, ‘ดูหมิ่นซึ่งหน้า’, ‘ความสงบเรียบร้อยของประชาชน’ และ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เป็นต้น. ตรงกันข้าม, ศาลยุติธรรมเองเสียอีกที่ต้องอ้างอิงพจนานุกรม ฯ เกี่ยวกับความหมายของศัพท์กฎหมายบางคำ, เช่น, คำว่า ‘วิญญูชน’ เป็นต้น.

ข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความหมายของศัพท์กฎหมายบางคำที่พจนานุกรม ฯ ให้ไว้คลาดเคลื่อนไปจากความหมายอันแท้จริงของกฎหมาย, เช่น คำว่า ‘สัตยาบัน’, พจนานุกรม ฯ แปลว่า ยืนยันความตกลง, รับรองข้อตกลง แต่ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศก็ดี, ในแง่ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทก็ดี, คำนี้น่าจะหมายถึงการยืนยันความตกลงที่ทำไว้ในเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ.๓๑ นอกจากนั้นคำนี้ยังมีความหมายที่สำคัญอีกสองนัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กล่าวคือ, การรับรองสิ่งที่เป็นโมฆียกรรมให้สมบูรณ์,๓๒ และการรับรองการกระทำโดยปราศจากอำนาจให้เป็นการกระทำที่สมบูรณ์.๓๓

คำชี้แจงหลักการเขียนและวิธีใช้พจนานุกรม ฯ เรื่องตัวสะกดยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งพอ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นปัญหาข้องใจของบรรดานักกฎหมายทั้งหลายอยู่ว่า, คำบางคำที่ถูกต้องนั้นควรจะสะกดอย่างไร ? เช่นว่า, ‘ภาระจำยอม’ ถูกต้อง, หรือ ‘ภารจำยอม’ ถูกต้อง, หรือถูกทั้งสองคำ ? คำว่า ‘สารสำคัญ’ ถูกต้องแล้ว, หรือต้องเขียนว่า ‘สาระสำคัญ’ จึงจะถูกต้อง ? คำว่า ‘ที่สาธารณ’ จะต้องประวิสรรชนีย์หรือไม่ ? จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงคำชี้แจงเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้นด้วย

ประการสุดท้าย, มีปัญหาน่าคิดว่า, เมื่อพจนานุกรม ฯ นี้มีความมุ่งหมายว่าจะ ‘บรรจุคำที่ยุติแล้วซึ่งมีใช้ในภาษาไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้’, สมควรจะประมวลคำและวลีที่ถือว่าเป็นคำและวลีไพร่และคำหยาบทั้งหมดไว้ด้วยหรือไม่ ? บางท่านอาจคิดว่าไม่สำคัญ, แต่ถ้าเรามานึกถึงเรื่องของกฎหมายโดยตรงแล้ว, คำเหล่านี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องใดบ้างที่เป็นคำสบประมาท ? คำว่า ‘ดอกทอง’ มีความหมายตรง ๆ ตามคำนั้นหรือมีความหมายอื่นใดแฝงอยู่ ? ‘The Concise Oxford Dictionary of Current English’ ไม่ได้รวมคำเหล่านี้ไว้ด้วย. แต่มีพจนานุกรมศัพท์ไพร่และคำหยาบโดยเฉพาะในภาษาอังกฤษอยู่เหมือนกัน, เช่น ‘A Dictionary of the Underworld’ ของ Eric Partridge,๓๔ ของอเมริกันก็มีเช่น ‘American Tramp and Underworld’ โดย Godfrey Irwin น่าประหลาดอยู่เหมือนกันที่หนานุกรมเหล่านี้เล่มใหญ่โตกว่าพจนานุกรมธรรมดาเสียอีก. สำหรับคำไพร่และคำหยาบของไทยนั้น, บางทีวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีผู้สนใจเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ โดยประมวลคำเหล่านี้ไว้ เป็น ‘มรดก’ ให้ลูกหลานเหลนศึกษากันต่อไปก็เป็นได้. ผู้เขียนแน่ใจว่าถ้าจะเรียบเรียงคำและวลีเหล่านี้เป็นพจนานุกรมแล้วก็คงจะได้เล่มไม่เล็กกว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี้เป็นแน่. อย่างไรก็ตาม, ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะรวมคำและวลีของศัพท์ดังกล่าวในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เพราะพจนานุกรมฉบับนี้เป็นเพียงพจนานุกรมฉบับมาตรฐานสำหรับภาษาไทยทั่วไปเท่านั้น.

  1. ๑. ข่าวศาล, เล่ม ๒, หน้า ๗๕.

  2. ๒. นายสัญญา ธรรมศักดิ์, ‘เรื่องสอบไล่’, นิติสาส์น, ปีที่ ๑๙, เล่ม ๔, ตุลาคม-พฤศจิกายน-ธันวาคม, ๒๔๙๑, หน้า ๗๖๓ - ๗๖๕.

  3. ๓. Urban A. Lavery, ‘The Language of the Law’, The American Bar Association Journal, Volume 7, 1921, p. 282.

  4. ๔. นอกจากความเห็นของท่านผู้รู้ที่กล่าวนี้แล้ว, ท่าน ‘เสฐียรโกเศศ’ ก็ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ว่า ‘...เมื่อก่อนพูดกันว่า โมงเช้า คำอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน ไม่นิยมบอกจำนวนเลขหนึ่งไว้ข้างหน้า เช่น แม่ร้อยชั่ง ทองพันชั่ง นาหมื่น ถ้าจำเป็นจะต้องบอกจำนวนเลขหนึ่ง ก็เอาหนึ่งไว้ข้างหลัง เช่น โมงหนึ่ง ค่ำหนึ่ง ร้อยหนึ่ง ถ้ามีหนึ่งต่อท้ายจำนวนสิบ ร้อย พัน เป็นต้น หนึ่งก็เป็นเอ็ด เช่น สิบเอ็ด ร้อยเอ็ด พันเอ็ด โจทย์เลขของเก่า เขียนว่า ‘อิฐ ๑๐๐๑ ตาเถรขน ๔ ยายชีขน ๗ หมดอิฐ ๑๐๐๑ เป็นคนละเที่ยว” บัดนี้เราพูดหนึ่งในเรื่องนับจำนวนที่อยู่หน้าก็มี เช่น หนึ่งร้อยเอ็ด หนึ่งพันเอ็ด ที่ถูกอย่างเก่าควรเป็น ร้อยเอ็ด พันเอ็ด เช่นเมืองร้อยเอ็ด แต่ก่อนไม่ใช้พูดว่า เมืองหนึ่งร้อยเอ็ด ที่ภาษาเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นธรรมดา เพราะความเป็นไปของภาษาก็เป็นทำนองเดียวกับเรื่องของคน ด้วยภาษาเป็นวัฒนธรรม คือ เป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้น จึงย่อมมีชีวิตโดยปริยาย จะหนีกฎธรรมดาไปไม่ได้ ท่านผู้รู้ผู้หนึ่งใช้คำเช่น หนึ่งคน และคนหนึ่งให้มีความหมายต่างกัน ถ้าเป็นจำนวนกำหนดนับแน่นอน ก็ใช้ว่า หนึ่งคน (one man) ถ้าเป็นจำนวนกลางๆ ไม่แน่นอน ก็ใช้ว่า คนหนึ่ง (a man) ตามแนวความคิดอย่างภาษาอังกฤษ.’ : พื้นความหลัง, โรงพิมพ์ศิวพร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๓.

  5. ๕. เรื่องของภาษาพื้นเมืองนี้ในต่างประเทศก็มีปัญหามากมายเหมือนภาษาพื้นเมืองของเราเหมือนกัน ระหว่างที่ผู้เขียนอยู่ลอนดอน ได้เคยถามพนักงานประจำรถประจำทางถึงสถานที่แห่งหนึ่งว่า จะต้องขึ้นรถประจำทางสายใดไป พนักงานประจำรถบอกผู้เขียนว่า, ‘บุ๋ซ นุม เบอร์ วุน’ ผู้เขียนถามซ้ำอีกสองสามครั้ง, ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน จนกระทั่งรถคันที่พนักงานประจำรถผู้นั้นประจำอยู่ไปลับตาแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ทราบว่า เขาว่ากระไร. ผู้เขียนเพิ่งมาทราบจากแม่บ้านของผู้เขียนในภายหลังว่า, พนักงานประจำรถกันนั้นต้องเป็นชาวเมืองยอร์คเชีย (Yorkshire), ซึ่งเขาพูดตามสำเนียงพื้นเมืองนั้น. สำเนียงที่เป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน (The Received Pronunciation) นั้นต้องว่า บัซ นัมเบอร์ วัน (Bus Number One), ซึ่งหมายถึงรถประจำทางหมายเลขหนึ่ง. ภาษาพื้นเมืองอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ชาวอังกฤษเองก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คือ พวกค้อกนี่ในลอนดอนเอง. ชาวค้อกนี่ร้องขายหนังสือพิมพ์ตามถนนว่า “มิดดาย ป่ายเพอะ” นั้นหมายถึง มิดเดย์ เพเพอร์ (midday paper) ซึ่งได้แก่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ออกจำหน่ายตอนเที่ยงวัน.

  6. ๖. ท่านผู้สนใจเรื่องภาษาพื้นเมือง, โปรดดู ‘ภาษาภาคเหนือและอีสาน’, นายจวน เจียรนัย, ดุลพาห, ปีที่ ๓, เล่ม ๔, เมษายน ๒๔๙๙, หน้า ๒๖๕ : ‘ภาษาโคราช’, นายวิจิต วิจารณ์, ดุลพาห, ปีที่ ๓, เล่ม ๑๐, ตุลาคม ๒๔๙๙, หน้า ๘๒๒: ‘ภาษาภาคใต้’, นายอุทัย ศุภนิตย์, ดุลพาห, ปีที่ ๓, เล่ม ๑๒, ธันวาคม ๒๔๙๙, หน้า ๑๐๐๘, ซึ่งทุกท่านเขียนไว้อย่างน่าอ่านมาก.

    นอกจากนี้ยังมีเกล็ดภาษาที่น่าสนใจในที่อื่น ๆ อีกมาก, อาทิเช่น ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า ‘ในภาษาไทยใหญ่, คำว่า ‘กั๊ด’ แปลว่าหนาวเย็นหรือร่มเย็น แต่โดยที่พวกทหารไทยขณะที่ยึดครองเชียงตุงอยู่นั้นฟังเป็นว่ากัดไปเลย วันหนึ่ง พระเอกทหารไทยเราจะเข้าไปยังบ้านสาว พอเห็นหมาแม้วหลายตัวขนปุยนอนหลับอยู่ ก็ร้อง ถามสาวว่า หมามันกัดไหม สาวก็ร้องบอกว่า หมามันบ่กั๊ดดอก มันมีขนยาว เจ้าหนุ่มเข้าใจผิด อารามดีใจพอเข้าไปก็ถูกหมาเหล่านั้นมันฟัดเอาเสียแทบแย่ มารู้เอาภายหลังว่าหมาเหล่านั้นขนของมันยาว มันจึงไม่รู้สึการนาว นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน ส่วนคำว่าหนาว หมายถึงเป็นไข้.

    คราวนี้พวกไทยใหญ่มาเที่ยวเมืองไทยบ้าง พวกที่เล่าให้ฟังก็เป็นคนที่ผมรู้จัก เขาเล่าว่า เมื่อพวกเขามาถึงลำปางครั้งแรก ขณะที่พักอยู่ที่โรงแรมไม่รู้จะสั่งอาหารอะไร รู้แต่ข้าวผัด ก็เลยพากันสั่งข้าวผัดทั้งหมด แถมยังบอกเจ๊กว่า ‘เฮ็ดให้มันหวาน ๆ เด้อ’ เจ๊กผู้นั้นก็จัดการทำโดยใส่น้ำตาลเสียเต็มรัก พอเสร็จยกมาตั้ง พวกนั้นกินเข้าไปก็พากันต่อว่าเจ๊กใหญ่ว่าข้าวผัดของลื้อมันบ่หวาน เพื่อนชาวจีนเราก็ตอบว่า อั๊วใส่น้ำตาลลงไปตั้งครึ่งกิโลแล้ว ยังไม่หวานก็กินน้ำตาลเปล่าจะดีกว่า ต่อว่ากันไปมา ในที่สุดก็เข้าใจกันคือ คำว่าหวานในภาษาไทยใหญ่ เขาแปลว่าอร่อย’: นายสวัสดิ์ เอกอุ่น, ‘คนไทยในรัฐฉาน’, โดม, วารสาร ของ สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่หนึ่ง, ฉบับที่สอง, ธันวาคม ๒๕๐๘, หน้า ๔๖.

  7. ๗. นายอุทัย ศุภนิตย์, ‘ภาษาภาคใต้’, ดุลพาห, ปีที่ ๓, เล่ม ๑๒, ธันวาคม ๒๔๙๙, หน้า ๑๐๐๘-๑๐๐๙.

  8. ๘. นายบุญ อินทรัมพรรย์, เรื่องข้อคิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอนในภาษาไทย (จัดพิมพ์แบบอัดสำเนา)

  9. ๙. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องวิธีใหม่สำหรับใช้สระ และเขียนหนังสือไทย.

  10. ๑๐. อ้างถึงในบทความเรื่องข้อคิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอนในภาษาไทย โดยนายบุญ อินทรัมพรรย์, หน้า ๔.

  11. ๑๑. อ้างถึงในบทความที่กล่าวในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๔.

  12. ๑๒. ผู้เขียนได้ถือตามแบบของ Kate L. Turabian, A Manual for Writers of Term Papers, Theses and Dissertations (12th imp.; Chicago: University of Chicago Press, 1961). สำหรับแบบฉบับในการกล่าวอ้างกฎหมายไทย, ผู้เขียนได้เคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการ, ดุลพาห, นิตยสารกระทรวงยุติธรรม, ปีที่ ๘, เล่มที่ ๘, เดือนสิงหาคม ๒๕๐๔, หน้า ๙๑๖ – ๙๓๖.

  13. ๑๓. Glanville Williams, Learning the Law (6th ed.; London: Stevens and Sons, 1957), p. 39.

  14. ๑๔. ในภาษากฎหมายอังกฤษมีการจัดระบบตัวย่อใช้เหมือนกัน, แต่ก็มิได้มีการจัดระเบียบให้มีมาตรฐานสากลแต่ประการใด : Glanville Williams, Learning the Law (6th ed.; London : Stevens and Sons, 1957), pp. 203-218.

  15. ๑๕. นายจวน เจียรนัย, สารบาญกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๙๕ . ถึง พ.ศ. ๒๔๙๗, กระทรวงยุติธรรม จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๙

  16. ๑๖. สารบาญกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๔, กรมอัยการจัดทำ, เมษายน ๒๔๙๗, หน้า ๗.

  17. ๑๗. กล่าวกันว่า อักษรย่อที่ยาวที่สุดในโลกได้แก่คำว่า ‘A.U.C.S.R.L.F.R.V.W.A.M.,’ ซึ่งใช้ในประเทศบราซิล คำเต็มของตัวอักษรย่อนคือ ‘The All-Union Central Scientific Research Laboratory for the Restoration of Valuable Works of Arts in Museums.’ : Norris and Ross McWhirter, The Guinness Book of Records (12th ed.; London: Guinness Superlatives Limited, 1965), p. 131. การจัดตัวย่อแบบนี้จะดีกว่าการใช้ตัวเต็มหรือ ? ถ้าจะใช้ตัวย่อจริงๆ แล้ว, น่าจะต้องจัดตัวย่อของตัวย่ออีกชั้นหนึ่งเห็นจะเหมาะสมกว่า.

  18. ๑๘. ในนิตยสาร ‘บทบัณฑิตย์’ ก็เคยมีการจัดระบบตัวอักษรย่อศัพท์กฎหมายที่ใช้ใน ‘บทบัณฑิตย์’ ให้อยู่ในระเบียบเดียวกันเหมือนกัน ‘บทบัณฑิตย์’ เล่ม ๒๐, ตอน ๑, มกราคม ๒๕๐๕, หน้า ๒๒๓, และบทบรรณาธิการ, หน้า ๒๓๕.

  19. ๑๙. Norris and Ross McWhirter, The Guinness Book of Records (12th ed.; London: Guinness Superlatives Limited, 1965), p. 137.

  20. ๒๐. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๓/๒๔๙๒

  21. ๒๑. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี, เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกดฉบับลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓. นอกจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ยังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหลายฉบับ เกี่ยวกับการใช้คำในภาษาไทยของทางราชการ, อาทิเช่น, เรื่องบัญญัติศัพท์, เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และ เกาะ, ด้วย.

  22. ๒๒. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๘/๒๕๐๘.

  23. ๒๓. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๙/๒๕๐๙.

  24. ๒๔. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๘๘/๒๕๐๘.

  25. ๒๕. สำหรับประเทศอังกฤษไม่มีราชบัณฑิตยสถาน, ซึ่งมีสิทธิและมีอิทธิพลในด้านภาษาเช่นของไทย, นักกฎหมายก็ดี, นักภาษาศาสตร์ก็ดี, ต่างฝ่ายต่างแสดงข้อคิดเห็นของตนโดยเสรี, แต่น้ำหนักแห่งข้อคิดเห็นนั้นจะมีมากน้อยเพียงไร, ยอมแล้วแต่ชื่อเสียง, ความสามารถ และเหตุผลในการอภิปรายสารัตถะแห่งเรื่องที่มีปัญหานั้น ๆ เอง พจนานุกรมของอังกฤษที่เทียบได้กับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทยได้แก่ ‘The Concise Oxford Dictionary of Current English’ ซึ่งเป็นพจนานุกรมที่พี่น้องชาวอังกฤษสองคนในสกุลฟาวเล่อร์ (Fowlers) ซึ่งเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น, ผลงานชิ้นนี้ดีเด่นมากจนเป็นที่ยอมรับเป็นพจนานุกรมฉบับมาตรฐานของอังกฤษ. อย่างไรก็ดี, พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับที่สำคัญที่สุดคือ ‘The Oxford English Dictionary’, ซึ่งมีความละเอียดพิสดารเป็นพิเศษ, มีความยาวหลายหมื่นหน้า, พี่น้องสกุลฟาวเลอร์ทั้งสองนั้นก็มีบทบาทและเป็นบุคคลสำคัญในการเรียบเรียงพจนานุกรมฉบับนี้ด้วย พจนานุกรมดังกล่าวใช้เวลาเรียบเรียงหลายชั่วคน. เมื่อเรียบเรียงเสร็จเรียบร้อยแล้วได้รับการยกย่องและอ้างอิงจากศาลองกฤษเสมอ. แม้พจนานุกรมเหล่านี้จะมีอิทธิพลในด้านภาษาสูงมาก แต่ก็มิได้อยู่ในฐานะที่จะชี้ขาดในเรื่องของภาษาเช่นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของเรา.

  26. ๒๖. คำเหล่านี้น่าจะเทียบได้กับคำว่า ‘กำมะลอ’ ซึ่งแต่เดิมมีความหมายถึง ‘ลงรักแบบญี่ปุ่น, เรียกของที่ทำตามแบบนั้น เช่น หีบกำมะลอ ลายกำมะลอ ฯลฯ, แต่ต่อมา มีความหมายอีกความหมายหนึ่ง คือ, ‘ของเทียม ไม่ทนทาน’ ซึ่งพจนานุกรม ฯ ก็ได้ให้ความหมายไว้ทั้งสองความหมาย.

  27. ๒๗. คำพังเพยเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในตำราภาษาไทยหลายเล่ม เช่น, หลักภาษาไทยและการใช้ภาษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย, ของนายเจือ สตะเวทิน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรเจริญทัศน์ ข้อพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๐.

  28. ๒๘. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๑๙/๒๕๐๓.

  29. ๒๙. ผู้เขียนเห็นว่า สถาบันกฎหมายในประเทศไทยน่าจะจัดทำพจนานุกรมกฎหมายขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและบุคคลทั่วไปด้วย. อย่างไรก็ตาม, ผู้เขียนเห็นว่า, งานชิ้นที่สำคัญกว่าพจนานุกรมกฎหมาย ก็คือสารานุกรมกฎหมาย ในทำนอง ‘Halsbury’s Laws of England’ ของอังกฤษ. สถาบันกฎหมายในประเทศไทยน่าจะเริ่มคิดและเริ่มจัดทำได้แล้ว, เพราะงานชิ้นนี้ถ้าสำเร็จ จะเป็นประโยชน์อันล้ำค่าแก่ประเทศบ้านเมืองทีเดียว. ถ้าหากลงทุนและลงแรงเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย, ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ, จะได้พจนานุกรมกฎหมายด้วย.

  30. ๓๐. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๕/๒๕๐๙ อธิบายความหมายของคำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ตามมาตรา ๒๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า ‘หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ มิได้หมายถึงว่า ‘พฤติการณ์พิเศษ’ ที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่อาจกระทำได้ภายในกำหนดนั้นต้องเป็นเหตุสุดวิสัย เหตุสุดวิสัยตามมาตรา ๒๓ จึงไม่จำต้องเป็นเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งไม่มีใครอาจป้องกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘.’

  31. ๓๑. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๐๘.

  32. ๓๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙-๑๔๓.

  33. ๓๓. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓.

  34. ๓๔. Routledge and Kegan Paul เป็นผู้จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๔๙.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ