บทที่ ๕ โวหารกฎหมายไทยที่ว่าดี, ดีนั้นประการใด ?

โวหารการเขียน

โวหาร หรือ ลีลา (style) คืออะไร ? คำว่า ‘style’ นี้บางท่านเรียกในภาษาไทยว่า ‘สำนวน’. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า ‘โวหาร’ มีความหมายตรงกับคำว่า ‘สำนวน’ สำหรับผู้เขียนเองใคร่ขอแปลคำว่า ‘style’ ว่า ‘ลีลา’ หรือ ‘โวหาร’ ส่วนคำว่า ‘สำนวน’ ผู้เขียนเห็นว่าควรใช้กับคำว่า ‘idiom’ มากกว่า.

ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ให้อรรถาธิบายเรื่อง ‘style’ นี้ว่า: ‘...ยอช เสนต์สบุรี (George Saintsbury) ได้ขยายความให้คำอธิบายต่อไปว่า ‘สำนวนคือการเลือกสรรถ้อยคำและเรียบเรียงถ้อยคำให้ได้ความหมายตรงกับที่ต้องการ กล่าวคือ เฟ้นหาคำที่จะแสดงความหมายชัดเจนตรงกับที่เราประสงค์ แล้วเอาคำนั้น ๆ มาเรียงกันเป็นประโยคและข้อความ การเลือกคำและเรียงคำนี้ ทำโดยจิตใจและความคิดของเรา ถ้าจิตหรือความคิด (คือตัวเรา) เป็นอนพิถีพิถันละเอียดลออ การเลือกและเรียงคำก็ประณีต ไม่สับสน เขาจึงว่า สำนวนคือตัวผู้เขียนนั่นเอง (style is the man himself-Buffon).’

สำหรับภาษาไทยมาตรฐาน, คุณสมบัติของ ‘style’ ที่ดีนั้น ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร วางเกณฑ์กำหนดว่าสำนวนที่นับว่าดีได้ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้: (๑) ความชัดเจน, (๒) ความกระชับของถ้อยคำ, (๒) อำนาจ (อันได้แก่ลักษณะที่ปลุกอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง), และ (๔) ความไพเราะ.

ท่านผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งให้ลักษณะของสำนวนการเขียนที่ดีไว้ว่า (๑) ความชัดเจน, (๒) ความสั้น, (๓) ความผันแปร (หมายถึง ‘ความสามารถผันแปรการเขียนของตน ให้ผิดแผกแตกต่างกันออกไปตามท้องเรื่อง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก และตามทำนองของเรื่องในตอนนั้น ๆ ด้วย’), (๔) ความสุภาพ, (๕) ความง่าย, และ (๖) ความคิดใหม่ๆแปลกๆ.

สำหรับโวหารกฎหมายโดยตรงนั้น, มีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่า ภาษาของตัวบทกฎหมายนั้น, แม้จะถือได้ว่ามีโวหาร, ก็เป็นโวหารประเภทไม่เฉพาะตัว (impersonal style), จริงอยู่ ที่การร่างกฎหมายแต่ละฉบับนั้นอาจแตกต่างกันแล้วแต่ว่าผู้ใดเป็นผู้ร่าง, แต่ก็แตกต่างกันไม่มากนัก, เพราะมีเกณฑ์กำหนดในการร่างให้มีมาตรฐานและแนวเดียวกันอยู่แล้ว. ส่วนภาษากฎหมายประเภทอื่น ๆ นั้น, จริงอยู่ ที่มักจะมีลีลาโวหารไปในทำนองเดียวกัน, เพราะต้องอ้างอิงและถือเอาภาษาที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการพูดและการเขียน, แม้กระนั้นก็ดี, ผู้พูดผู้เขียนแต่ละคนก็ยังมีสิทธิเสรีภาพแสดงข้อคิดเห็นของตนตามแนวที่ตนประสงค์ได้เสมอ ภายในกรอบที่ภาษาในตัวบทกฎหมายเปิดช่องให้. ผู้พูดและผู้เขียนย่อมมีโอกาสใช้ศิลปะเฉพาะตัวแสดงข้อคิดเห็นได้. ในกรณีที่มีบุคคลหลายคนกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน, ก็ไม่มีใครเลยที่จะกล่าวได้เหมือนกันกับบุคคลอื่น ๆ ทุกถ้อยคำ, แม้ประสงค์จะเลียนแบบอีกคนหนึ่งก็ตาม. บางคนอาจกล่าวได้ดีกว่า, หรือดีเท่ากับอีกบุคคลหนึ่ง, แต่ต่างกันในชั้นเชิงแห่งการกล่าว. ในทางตรงกันข้าม, หากบุคคลใดประสงค์จะเลี่ยง หรือแอบแฝงเขียนให้เห็นเป็นลีลาหรือโวหารของบุคคลอื่นและมิใช่ของตนเองนั้น, แม้อยู่ในวิสัยที่จะทำได้, ก็เป็นเรื่องยาก, เปรียบเทียบได้กับลายมือของแต่ละบุคคลนั่นเอง, จะลอก, จะเลียน, จะหลบ, จะเลี่ยง ซึ่งกันและกันนั้น, ทำได้ด้วยความยากลำบากดั่งที่ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวว่า การเขียนหนังสือก็เหมือนกัน เลียนแบบกันไม่ได้ สำนวนของใครก็ของคนนั้น’. ศิลปะเฉพาะตัวในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นนี้คือ ‘โวหาร’ นั่นเอง.

ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวถึงเรื่องหนังสือที่ไม่มีสำนวนมีหรือไม่ว่า :

‘หนังสือเช่นนี้มีมากมาย แต่เป็นพวกหนังสือตำรับตำรา กฎหมายอาญา ตำรา ภูมิศาสตร์ ตำราคณิตศาสตร์ เหล่านี้เป็นต้น เป็นตำราที่ไม่มีสำนวน นอกจากจะอ่านยากอ่านง่ายแล้ว ก็ไม่มีรสอื่น ไม่ส่อลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้แต่ง การเขียน หนังสือที่เรียกว่า ไม่มีสำนวน (styleless) นี้ ภาษาอังกฤษเขาว่าไม่มีสีสัน (colourless) คือไม่มีแววลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เขียน ฯลฯ.’

ด้วยความเคารพในข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร, ถ้าหากข้อคิดเห็นนี้หมายรวมถึงตำรากฎหมายด้วยแล้ว, ผู้เขียนยังเห็นว่า ลีลาโวหาร (style) หรือที่ท่านอาจารย์เปลื้อง เรียกว่า ‘สำนวน’ นั้นมีอยู่, และเป็นเรื่องสำคัญเสียด้วยดังได้กล่าวแล้วข้างต้น. ตำรากฎหมายบางเล่มเป็นตำราชั้นครู, อ่านแล้วได้อรรถรสในเชิงกฎหมายมากกว่าตำรากฎหมายอื่น. ตำรากฎหมายบางเล่มแสดงข้อคิดเห็นในแง่กฎหมายได้แจ่มแจ้งจับใจกว่าเล่มอื่น, ตำรากฎหมายก็เช่นเดียวกับวรรณกรรมประเภทอื่นๆทั้งหลาย, มีลีลาโวหารเป็นของผู้เขียนโดยเฉพาะ, แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ใดเรียบเรียงเรื่องนั้นก็ตาม. บางกรณีเราอาจวินิจฉัยได้จากลีลาโวหารที่ปรากฏในเรื่องนั้นๆเองว่าใครเป็นผู้เรียบเรียง, โวหารกฎหมายมีข้อพิจารณาเป็นพิเศษและโดยเฉพาะเป็นเอนกประการ.อย่างไรก็ตาม, เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าโวหารกฎหมายที่ดีไม่จำเป็นต้องมีความไพเราะเฉิดฉันเช่นภาษาในวรรณคดี, เพราะวรรณคดีนั้นมุ่งประสงค์ในเรื่องสร้างความทราบซึ้งตรึงใจให้แก่ผู้ใฝ่รสนิยมในเชิงอักษรเป็นสำคัญ. ส่วนกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของการออกคำสั่งและข้อบังคับให้บุคคลปฏิบัติตาม. ภาษากฎหมายจึงว่าด้วยเรื่องเหล่านี้, หรือเป็นเรื่องการกล่าวอ้าง, โต้แย้ง, บรรยาย หรือวินิจฉัยในเรื่องสิทธิ, หน้าที่, และความรับผิดของบุคคล. แต่ปัญหาต่อไปที่ว่า, โวหารกฎหมายที่ดีหรือ ‘สละสลวย’, สมควรมีคุณลักษณะประการใดบ้างนั้น นักปราชญ์กฎหมายของนานาประเทศก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่หลายประการ. ข้อคิดเห็นเหล่านั้นบางข้อก็ได้นำมาแสดงแล้วในตอนต้น, สำหรับโวหารกฎหมายไทยที่ดีหรือ ‘สละสลวย’, ควรมีคุณลักษณะประการใดบ้างนั้น ผู้เขียนขอแสดงข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้:

โวหารกฎหมายที่ดีต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ๖ ประการ คือ :

ประการที่ ๑. แจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่,

ประการที่ ๒. สั้นกะทัดรัด,

ประการที่ ๓. ใช้ถ้อยคำในภาษากฎหมายให้เป็นระเบียบเดียวกันโดยตลอด

ประการที่ ๔. ใช้ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมาย,

ประการที่ ๕. สุภาพนุ่มนวล, และ

ประการที่ ๖. สามารถจูงใจผู้ฟังผู้อ่านให้คล้อยตามได้.

สำหรับประการที่ ๖ นั้นเป็นคุณลักษณะสำคัญสำหรับภาษากฎหมายประเภทต่าง ๆ ทุกประเภท นอกจากภาษาในตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะ, ดังจะได้พิจารณาในรายละเอียดตามลำดับ.

(๑) ความแจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่

คุณลักษณะข้อนี้มีสาระสำคัญสองประการ คือ, ความแจ้งชัด ประการหนึ่ง, และความไม่มีช่องโหว่ อีกประการหนึ่ง, สาระสำคัญสองประการที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด และบางกรณีไม่อาจแยกพิจารณาได้. เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย จึงขอพิจารณารวมกันไป. คุณลักษณะข้อนี้น่าจะเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดและยุ่งยากกว่าเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น; ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า, นอกจากเรื่องที่กล่าวนั้นจะเป็นเรื่องของกฎหมายโดยตรง, หรือแสดงข้อคิดเห็นในเชิงกฎหมายแล้ว, ภาษาที่ใช้จะต้องถูกต้อง เข้าใจง่าย, ถ้อยคำที่เลือกใช้ต้องตรงกับความหมายที่มุ่งหมายจะพูดหรือเขียน, ภาษานั้นต้องแสดงความแน่นอนแห่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือของผู้กล่าว, ภาษานั้นต้องปราศจากข้อเคลือบคลุมสงสัยในทางกฎหมาย, ทั้งยังต้องอุดช่องโหว่ในแง่ของกฎหมายและในแง่ของภาษาอีกด้วย.

สำหรับภาษาของตัวบทกฎหมายโดยตรง, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า :

‘อนึ่ง เป็นการจำเป็นที่จะต้องแต่งกฎหมายไว้โดยถ้อยคำอันชัดเจนแลแน่นอนว่า สิ่งใดชอบด้วยกฎหมาย สิ่งใดผิด เพื่อว่าจะได้มีทางที่สงไสยฤๅทุ่งเถียงกันด้วยถ้อยคำที่แปลความประสงค์ของกฎหมายนั้นอย่างน้อยที่สุดที่จะมีได้ ฯลฯ’

ท่านศาสตราจารย์เสริม วินิจฉัยกุล กล่าวว่า :

‘ถ้อยคำสำนวนต้องชัดเจน แต่ก็ต้องไม่ใช้ศัพท์เทฆนิคมากเกินไป จริงอยู่ ถ้ากฎหมายมีปัญหา ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในวิชากฎหมายเป็นผู้ตีความ แต่ว่าในการใช้กฎหมายบังคับก็ดี ในการปฏิบัติตามกฎหมายก็ดี บุคคลซึ่งมีหน้าที่เหล่านั้นเป็นคนสามัญ หาได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายไม่ ถ้าใช้ความไม่ชัดเจนแล้วอาจจะเป็นผลร้ายเสียด้วยซ้ำ เพราะใช้บังคับผิดความประสงค์ของกฎหมาย หรือผู้ปฏิบัติตามได้กระทำโดยสุจริตเข้าใจว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็หาได้ถูกต้องตามกฎหมายไม่ จึงเกิดเป็นความผิดอันไม่เป็นสิ่งพึงกระทำ ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังอย่าให้เข้าใจเป็นทางอื่นไปได้

แต่ว่าการที่จะใช้สำนวนภาษาง่ายจนเกินไป บางทีก็ไม่อาจทำได้ เพราะกฎหมายเป็นของเทฆนิคอยู่แล้ว จำจะต้องใช้ศัพท์บางอย่างในกฎหมายซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวตามวิธีการเช่นนี้แล้วก็จำเป็นอยู่เองที่จะทำให้ง่ายกว่านี้ไม่ได้ แต่ถ้ามีคำใดซึ่งต้องการให้มีความหมายพิเศษ ก็ใช้บทอธิบายความไว้ในพระราชบัญญัติเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ฯลฯ.’๑๐

ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องภาษาตัวบทกฎหมายไว้ตอนหนึ่งว่า :

‘ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายนั้น...ผู้ร่างกฎหมายจะต้องหาคำสามัญและเข้าใจง่าย ฯลฯ.’๑๑ และ ‘อนึ่ง การที่จะร่างกฎหมายให้มีถ้อยคำชัดเจนพอที่บุคคลที่สุจริตจะเข้าใจอย่างเดียวยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะยังมีบุคคลไม่สุจริตและไม่ปรารถนาจะปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเหตุนี้จึงต้องร่างกฎหมายให้ชัดเจนพอที่บุคคลที่ไม่สุจริตจะไม่เข้าใจผิดได้ ทั้งนี้คือจะต้องร่างอย่างไม่ยอมให้บุคคลที่ไม่สุจริตเช่นว่านี้ เสแสร้งกล่าวอ้างได้ว่าเขาไม่เข้าใจกฎหมายนั้น....ทั้งนี้ คือผู้ร่างกฎหมายจะต้องคำนึงถึงการเลี่ยงกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั่นเอง ฯลฯ.’๑๒

โปรดพิจารณาตัวอย่างคำสั่งธรรมดาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายเหมือนกันเสียก่อน.

ในรถประจำทางสายหนึ่ง, มีข้อความเขียนไว้ที่ทางออกฉุกเฉินอันมีลักษณะกึ่งประตูกึ่งหน้าต่างว่า :

‘ห้ามจับเล่น นอกจากเหตุฉุกเฉิน’

เราลองวินิจฉัยข้อความดังกล่าวในฐานะเป็นนักกฎหมายว่า, ข้อความนี้มีความหมายแจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่หรือไม่ ? ปัญหาแรกที่น่าพิจารณา คือ, จับจริงๆ ได้หรือไม่? น่าจะได้, เพราะคำสั่งนี้ห้ามเฉพาะการจับเล่นเท่านั้น. ถ้าจะจับเล่น, หากพิจารณาตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด, น่าจะจับได้, แต่จับเล่นได้เฉพาะเวลามีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น. อนึ่ง ข้อห้ามนั้น, ห้ามเฉพาะการจับ, ถ้าหากว่าจะเปิดออกไปเลยก็ไม่น่าจะผิดเหมือนกัน ปัญหามีว่า ถ้าเขียนแต่เพียง ‘ทางออกฉุกเฉิน’, เท่านั้น จะเพียงพอหรือไม่ ?

มหาวิทยาลัยซึ่งสอนวิชากฎหมายด้วยแห่งหนึ่ง, วางข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบของนักศึกษาไว้ข้อหนึ่งว่า :

‘นักศึกษาต้องใช้รองเท้าหนังหุ้มส้น มีเชือกผูกสีดำ’

พิจารณาตามตัวอักษรแล้ว จะเห็นว่ารองเท้านั้นแม้จะมีสีแดง หรือสีเขียว ก็น่าจะใช้ได้, ถ้าปรากฏว่าเป็นรองเท้าหนังหุ้มส้น, แต่เชือกผูกต้องมีสีดำ.

ประกาศที่ปรากฏอยู่ในสนามของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในส่วนภูมิภาคมีว่า :

‘โปรดงดเดินลัดสนาม’

พิจารณาแล้วคล้ายกับว่า, ห้ามเฉพาะการเดินลัดสนาม, ถ้าวิ่งเล่นในสนามไม่ห้ามประการหนึ่ง; และอีกประการหนึ่ง, การห้ามนี้ก็เป็นการห้ามชั่วคราว เพราะใช้คำว่า ‘งด’, วันหนึ่งข้างหน้าอาจให้เดินก็ได้.

ประกาศที่ปักไว้ที่สนามหญ้าของอีกสถาบันหนึ่งมีว่า :

‘ห้ามนั่งสนามหญ้า’

น่าเสียดายที่สถาบันแห่งนี้วิจัยวิจารณ์นานาปัญหาได้ทั่วราชอาณาจักร, แต่ในสนามหญ้าบริเวณของสถาบันเองกลับไม่ได้วิจัย, ตามประกาศนี้ห้ามเฉพาะการนั่งสนามหญ้าเท่านั้น ดังนั้นผู้ใดจะวิ่งเล่น, หรือเดินเล่น, หรือทำอะไรก็ตาม นอกจากนั่งแล้ว ย่อมทำได้ทั้งสิ้น. ปัญหามีว่า ประกาศนี้ตรงกับวัตถุประสงค์ของสถาบันนั้นหรือไม่ ? เห็นว่า น่าจะไม่ตรง, เพราะความมุ่งประสงค์อยู่ที่จะรักษาหญ้าไว้ให้งอกงาม. การเดินกับการวิ่งเล่นซึ่งน่าจะทำให้สนามเสียมากกว่า, จึงสมควรที่จะห้ามมากกว่าการนั่ง.

ถ้าท่านผู้อ่านย้อนถามผู้เขียนว่าจะประกาศอย่างไรจึงจะเหมาะสม? ผู้เขียนก็ใคร่ขอเสนอว่า ควรจะเขียนว่า : ‘ห้ามเข้าในสนามหญ้า’. ผู้เขียนยอมรับว่าถ้อยคำนี้อาจจะไม่รัดกุมนัก, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า :

‘Keep Off the Grass.’

ประโยคภาษาอังกฤษดังกล่าวมีความหมายแจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่, แต่ก็หาคำแปลในภาษาไทยให้ตรงกับประโยคนี้ได้ยาก.

ป้ายประกาศที่เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ) มีว่า :

‘วันนี้สะพานเปิดเวลา ๑๒.๐๐ น.’

ปัญหามีว่า, สะพานเปิดให้ยานพาหนะประเภทรถหรือเรือผ่าน ? น่าจะเขียนให้ชัดกว่านี้ เพราะลักษณะสะพานแห่งนี้แปลกกว่าสะพานอื่นที่ว่า, เมื่อเปิดให้รถเดิน, เรือใหญ่ผ่านไม่ได้; เมื่อเปิดให้เรือใหญ่ผ่าน, รถเดินไม่ได้.

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓, มาตรา ๒๘, บัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่า :

‘ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ’, การประกาศเพียงครึ่งหรือเสี้ยวของฉบับจะทำได้หรือไม่ ? เมื่อประกาศก็ต้องประกาศหนึ่งฉบับ, จึงควรเป็น ‘...อย่างน้อยหนึ่งฉบับ’.

ในบันทึกของทางราชการแห่งหนึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า :

‘การปรับปรุงข้อยุ่งยากของการใช้พื้นที่อวกาศ’

พิจารณาดูคล้ายกับว่าความยุ่งยากที่มีอยู่แล้วนั้นยังไม่เพียงพอ, จำเป็นต้องปรับปรุงให้ยุ่งยากขึ้นไปอีก เดิมผู้เขียนเห็นว่าควรใช้คำว่า ‘การขจัดข้อยุ่งยาก.....’ แต่เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งแย้งว่า, ข้อยุ่งยากเหล่านั้นอาจไม่มีทางขจัดเลยก็ได้ ประการหนึ่ง; และอีกประการหนึ่ง, ผู้เรียบเรียงอาจมีความประสงค์เพียง ‘ปรับปรุง’ ข้อยุ่งยาก, ซึ่งมี ‘ความยุ่งเหยิง’ อยู่หลายประการ, โดยการจัดหมวดหมู่ข้อยุ่งยากทั้งหลายให้เป็นระเบียบก็เป็นได้. ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว, ปรากฏว่ามิได้เป็นอย่างที่เพื่อนผู้เขียนข้องใจ. แม้กระนั้นก็ดี ข้อทักท้วงในเพื่อนผู้เขียนประการแรกมีน้ำหนัก, ผู้เขียนจึงขอเสนอแก้ไขใหม่ดังนี้: ‘การแก้ไขข้อยุ่งยากในการใช้พื้นที่อวกาศ’.

นอกจากผู้พูดหรือผู้เขียนจะต้องระมัดระวังข้อความที่กล่าวนั้นมิให้ขัดกันเองในเหตุผลธรรมดา, และสามัญสำนึกแล้ว, ยังต้องระมัดระวังมิให้ข้อความนั้นๆขัดกันเองในเชิงกฎหมายอีกด้วย

ตัวอย่างข้อความที่ขัดกันเองในด้านเหตุผลธรรมดาและสามัญสำนึก

รายงานข่าวกีฬาของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งกล่าวว่า :

‘ทีมฟุตบอลเยาวชนประเทศ....ชนะทีมฟุตบอลเยาวชนประเทศ....อย่างยับเยิน’. คำว่า ‘ยับเยิน’ เราใช้กันแต่เฉพาะกับคำว่า ‘แพ้’, ถ้อยคำทั้งสองจึงขัดกันเอง. ผู้ฟังที่ฟังไม่ถนัดอาจคิดว่าทีมที่ชนะเป็นทีมที่แพ้ก็เป็นได้, หรือมิฉะนั้น อาจนึกไปว่าทีมนั้นชนะจริง แต่ก็ยับเยิน ถ้าหากจะใช้คำว่า ‘ชนะ...อย่างงดงาม’ น่าจะเหมาะสมกว่า.

‘อันการยิงปืนนั้นตามหลักกฎหมายให้สันนิษฐานว่ามีเจตนาจะฆ่าให้ตายเสมอไป’

หลักกฎหมายอะไรที่มีความพิสดารถึงเพียงนั้น ?

อนึ่ง เรื่องใดขัดต่อเหตุผลธรรมดา หรือสามัญสำนึกนั้น, บางครั้งก็หาใช่เป็นเรื่องที่วินิจฉัยง่ายเสมอไปไม่. ในคดีฟ้องหย่าคดีหนึ่งซึ่งโจทก์ฟ้องว่า จำเลยไปมีภริยาใหม่แล้วละทิ้งโจทก์, ศาลวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า :

‘...อีกประการหนึ่ง สภาพของจิตใจชายใช่ว่ามีใหม่แล้ว จะทิ้งคนเก่าเสมอไปก็หาไม่ ฯลฯ’

ท่านผู้อ่านที่เป็นชายส่วนมากย่อมสนับสนุนคำวินิจฉัยนี้ว่าสอดคล้องต้องด้วยเหตุผลธรรมดา, แต่จะมีท่านผู้อ่านที่เป็นหญิงกี่ท่านเห็นพ้องด้วย ? ซ้ำท่านผู้อ่านหญิงบางท่านอาจคิดรุนแรงต่อไปอีกด้วยว่า ศาลท่านรู้ได้อย่างไร ? เรื่องนี้มิใช่เพียงแต่เป็นเรื่องขัดต่อเหตุผลธรรมดา, หรือขัดต่อสามัญสำนึกเท่านั้น, หากแต่ขัดต่อความเป็นจริงเสียด้วย. บางท่านก็อาจปรารภในเรื่องไม่ตรงแต่ใกล้เคียงประเด็นด้วยความน้อยใจว่า, ‘โถ, ช่างไม่แลเห็นหัวอกเมียหลวงกันบ้างเลย’. ปัญหาที่ว่าเรื่องใดสอดคล้องหรือขัดกับเหตุผลธรรมดาหรือสามัญสำนึก, จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่, สมดังคำกล่าวของวอลแตร์ (Voltaire) ปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศสที่ว่า, ‘เรื่องสามัญสำนึกไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญ’. (Common sense is not common.)

เรื่องที่สมควรพิจารณาต่อไปคือ เรื่องของประโยคปฏิเสธ.

‘ห้ามจำเลยกับพวกอย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป’

เป็นประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ, ซึ่งในที่นี้ไม่ควรใช้ ประโยคที่ถูกต้องน่าจะเป็น, ‘ห้ามจำเลยกับพวกเกี่ยวข้องต่อไป’. อย่างไรก็ดี, เพื่อความชัดเจนควรระบุไว้ด้วยว่า ห้ามเกี่ยวข้องในเรื่องอะไรในประโยคเดียวกันนี้, เช่นห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาท เป็นต้น.

อนึ่ง วลีที่ว่า ‘ห้ามมิให้’ ที่ใช้มากในตัวบทกฎหมายนั้น, ถ้าว่ากันโดยเคร่งครัด ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเหมือนกัน จริงอยู่ที่วลีนี้ใช้มานานจนถือได้ว่ายุติแล้ว ทั้งเป็นสำนวน (an idiomatic expression) กล่าวคือเขียนอย่างหนึ่ง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง, แม้กระนั้นก็ดีเพื่อความเข้าใจง่าย ควรใช้คำตรงและสั้น, คือใช้คำว่า ‘ห้าม’ หรือ ‘มิให้’ คำใดคำหนึ่งมากกว่า.

สำหรับประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธนั้น, ความจริงก็มีที่ใช้เหมือนกัน; แต่ใช้แล้วมีความหมายไม่ตรงกับประโยคบอกเล่าโดยตรง; หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า, ไม่ใช่กรณี ‘ลบกับลบเป็นบวก.’ เป็นต้นว่า, ‘ข้อต่อสู้ของจำเลยมิใช่จะปราศจากเหตุผลเสียทีเดียว’ มีความหมายต่างกับ, ‘ข้อต่อสู้ของจำเลยมีเหตุผล’, ในแง่ที่ว่าสำหรับประโยคแรกบ่งว่ามีการค้านไว้แล้วว่า, ข้อต่อสู้ของจำเลยไร้เหตุผล, แต่ผู้กล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงตามที่มีการคัดค้านนั้น. นอกจากนี้, เรื่องปฏิเสธซ้อนปฏิเสธก็ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้พูดหรือผู้เขียนใคร่ครวญในปัญหานั้นๆแล้วว่า, มิได้เป็นเช่นที่มีข้อกล่าวหาหรือที่มีข้อกริ่งเกรงนั้น. กรณีอื่นๆ โดยปกติใช้ประโยคบอกเล่าเห็นจะเหมาะสมกว่า.๑๓

ในกรณีที่จะใช้ประโยคปฏิเสธหรือใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ, ผู้กล่าวควรระมัดระวังในเรื่องความหมายมิให้ขัดกับที่ประสงค์, บางกรณีผู้อ่านผู้ฟังอาจเข้าใจตรงกันข้ามกับความมุ่งหมายของผู้กล่าวก็เป็นได้. โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ :

‘ไม่ปรากฏว่ามีพ่อค้ารายใดได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกเจ้าพนักงานเรียกเงิน ๓,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าออกใบอนุญาต’.

นี่เป็นรายงานการสอบสวนเรื่องเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้สอบสวนประสงค์จะกล่าวในรายงานว่า, พ่อค้าไม่เดือดร้อนเพราะไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานเรียกร้องเงิน ๓,๐๐๐ บาท, แต่เมื่อกล่าวตามตัวอย่างนี้ย่อมมีความหมายว่า, แม้พ่อค้าจะถูกเรียกร้องเงิน ๓,๐๐๐ บาท, เพื่อเป็นค่าออกใบอนุญาตก็ไม่มีพ่อค้ารายใดเดือดร้อน. ผู้ถูกสอบสวนซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตาของผู้สอบสวนจึงกลับกลายเป็นผู้กระทำผิดไป. เรื่องที่แปลกกว่านั้นก็คือรายงานการสอบสวนเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นมาจนเกือบจะถึงระดับสุดยอด จึงได้ค้นพบกันว่าเรื่องที่กล่าวตรงกันข้ามกับความประสงค์ของผู้กล่าว.

กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม, สมควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธและซ้อนปฏิเสธ (รวมสามชั้น), เพราะแม้ว่าประโยคเช่นนั้นจะอยู่ในวิสัยที่จะฟังรู้เรื่อง, ผู้อ่านผู้ฟังอาจงุนงงได้ง่าย, สมควรกล่าวในแง่อื่นซึ่งจะทำให้เข้าใจง่ายกว่าแทนการกล่าวเช่นนั้น. ศิษย์คนหนึ่งของผู้เขียนตอบคำถามสอบไล่ข้อหนึ่งว่า :

‘นายดำจะไม่มีสิทธิมาว่ากล่าวในเรื่องม้าที่ว่าไม่ได้รับมอบไม่ได้’.

เมื่อพิเคราะห์เนื้อความของประโยคนี้แล้ว, ไม่น่าจะเป็นเรื่องปฏิเสธซ้อนกันสามชั้น, หากแต่สมควรเป็นเพียงประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเท่านั้น จึงน่าจะเป็นว่า:

‘นายดำจะอ้างว่าตนไม่ได้รับมอบม้านั้นหาได้ไม่’.

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช ๒๔๗๗, ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน, แบ่งแยกการ ‘จอดรถ’ และ ‘การหยุดรถ’ ไว้ต่างหากจากกัน, โดยที่มาตรา ๑๙, ๒๐, ๒๑, ๒๒ และ ๒๓ บัญญัติแต่เฉพาะเรื่องการ ‘จอดรถ’, มาตรา ๓๔, มีคำว่า ‘จอดอยู่กับที่’ และมาตรา ๖๙, มีคำว่า ‘จอดรถ’ และ ‘จอดพักรถ’. ส่วนมาตรา ๔๘ มีคำว่า ‘หยุดรถเพื่อรับ หรือส่งคนโดยสาร’, และมาตรา ๑๘ มีทั้ง ‘หยุด’ และ ‘จอดรถ’

มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า :

‘ห้ามมิให้เคลื่อนรถถอยไปมา กลับรถ หยุดรถบนสะพาน ที่ทางร่วม ทางเลี้ยว หัวเลี้ยว หรือในที่คับขัน หรือให้เป็นที่กีดขวางแก่จราจรในที่อื่น ๆ ฯลฯ’.

ปัญหามีว่า ‘จอดรถ’ หรือ ‘จอดพักรถ’ บนสะพานมีความผิดตามมาตรานี้หรือไม่ ? ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะผิด, เพราะมิได้ห้ามไว้, และกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องมีความโดยเคร่งครัด. แต่ถ้าพิจารณาในแง่เหตุผลธรรมดา, และสามัญสำนึกแล้ว, แม้แต่เพียงการหยุดรถ ยังมีการห้าม, เหตุใด การจอดรถจะไม่มีการห้ามด้วย ? อย่างไรก็ตาม, ข้อแย้งที่ว่า, จะจอดรถโดยไม่หยุดรถเป็นไปไม่ได้นั้น น่าจะฟังไม่ขึ้น, เพราะถ้ากฎหมายถือเช่นนั้น, จะต้องมีการแบ่งแยกการหยุดและการจอดต่างหากจากกันตามมาตราต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อเหตุอันใด ? จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ไม่แจ้งชัด, ยังมีช่องโหว่, และขัดต่อเหตุผลธรรมดา.

ตัวอย่างข้อความที่ขัดกันเองในเชิงกฎหมาย.

‘ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ฯลฯ’

การขับรถยนต์โดยประมาทนั้น, ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงหากแต่เป็นข้อกฎหมายที่ศาลเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย. ในกรณีเช่นนี้, ถ้าจะบรรยายข้อเท็จจริงก็ควรจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในขณะนั้น เช่น, จำเลยขับรถเร็วเกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตชุมนุมชน, และไม่หยุดรถที่ทางแยก เป็นต้น.

ในทำนองเดียวกัน, บันทึกของแพทย์ในรายงานการชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายในคดีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่ว่า, ผู้เสียหาย, ‘ถูกข่มขืนกระทำชำเรา’ นั้นหาถูกต้องไม่, เพราะ คำว่า, ‘ข่มขืนกระทำชำเรา’ เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย. ในกรณีเช่นนั้น แพทย์อาจให้ความเห็นได้เพียงว่า ‘ผู้เสียหายถูกกระทำชำเรา’.

ในฟ้องคดีอาญาเรื่องหนึ่ง, โจทก์บรรยายฟ้องว่า :

‘จำเลยร่วมกันใช้ผ้าขาวม้าเป็นอาวุธปิดหน้าเจ้าทรัพย์ เพื่อให้เป็นความสะดวกในการลักทรัพย์’.

การใช้ผ้าขาวม้าในลักษณะดังกล่าว, ยากที่จะรับฟังว่าใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ. ตรงกันข้าม, ถ้าหากใช้ผ้าขาวม้านั้นรัดคอ, น่าจะมีน้ำหนักรับฟังว่าเป็นอาวุธได้.

ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดทั้งเหตุผลธรรมดาและขัดกันเองในเชิงกฎหมาย

เรื่องแปลกแต่จริงในตัวบทกฎหมายไทยเรื่องหนึ่งคือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕, ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน, พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติสองบทขัดแย้งกันอย่างชัดแจ้ง, กล่าวคือ มาตรา ๕ วรรคสอง และมาตรา ๗.

มาตรา ๕ วรรคสองบัญญัติว่า : ‘การตั้งหรือเลิกล้มคณะนั้น ให้ทำได้แต่โดยพระราชบัญญัติ ส่วนการตั้งหรือเลิกล้มแผนกวิชานั้น ให้ทำได้โดยพระราชกฤษฎีกา’.

มาตรา ๗ บัญญัติว่า, ‘การจัดตั้งคณะหรือแผนกขึ้นใหม่ หรือการเลิกล้มคณะหรือแผนกอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา’.

ปัญหามีว่า: การตั้งหรือเลิกล้มคณะนั้นจะต้องทำโดยพระราชบัญญัติหรือโดยพระราชกฤษฎีกา ?

ความขัดแย้งอย่างแจ้งชัดของบทบัญญัติทั้งสองบทนี้ เป็นปัญหายุ่งยากในด้านตีความกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง เมื่ออ่านโดยผิวเผิน อาจแลเห็นในเบื้องต้นว่าบทบัญญัติทั้งสองนี้กล่าวถึงเรื่องต่างกันโดยที่ในมาตรา ๗ มีคำว่า ‘ขึ้นใหม่’ เพิ่มเข้ามาด้วย, แต่ถ้าหากพิจารณาดูในด้านความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำในมาตรา ๕ ที่ว่า ‘การตั้งหรือเลิกล้มคณะ’ กับถ้อยคำในมาตรา ๗ ที่ว่า ‘การจัดตั้งคณะ....ขึ้นใหม่ หรือการเลิกล้มคณะ....ที่ตั้งขึ้นใหม่’ แล้ว จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติทั้งสองนี้ว่าด้วยเรื่องเดียวกันนั่นเอง.

เรื่องจริงที่แปลกขึ้นไปกว่านี้อีกก็คือ, พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖, แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๖ ทวิ, ก็บัญญัติไว้ขัดแย้งกันกับมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติเดียวกันนั้นเช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕, แบบที่เลียนถ้อยคำกันมาคำต่อคำ.

อันการตีความพระราชบัญญัติสองฉบับนี้จะอ้างอิงหรืออาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ มาช่วยใฝ่หาเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติในประเด็นนี้มิได้, เพราะหลักการของแต่ละมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ต่างกันมาก, กล่าวคือ มหาวิทยาลัยบางแห่งกำหนดไว้แจ้งชัด ว่าการแบ่งคณะต่างๆ ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา,๑๔ มหาวิทยาลัยบางแห่งกำหนดให้แบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา,๑๕ และมหาวิทยาลัยบางแห่งให้กระทำโดยข้อบังคับของมหาวิทยาลัย.๑๖

ในทางปฏิบัติ, เช่นการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการจัดตั้งคณะครุศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา.๑๗

ตามหลักการตีความกฎหมายของอังกฤษนั้น, เมื่อบทบัญญัติในกฎหมายฉบับเดียวกันขัดแย้งกัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อไข (proviso) ขัดกับตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอังกฤษเคยวินิจฉัยให้ถือเอาข้อไขเป็นสำคัญ. ทั้งนี้เพราะข้อไขเป็นเรื่องที่ผู้บัญญัติกฎหมายแสดงเจตนารมณ์เป็นครั้งสุดท้าย.๑๘ อนึ่ง ในกรณีที่บทบัญญัติสองบทขัดแย้งกัน บทหนึ่งไม่มีข้อไข, แต่อีกบทหนึ่งมีข้อไข, ต้องถือเอาบทบัญญัติที่มีข้อไขเป็นสำคัญ.๑๙ อย่างไรก็ตาม, ในปัจจุบัน ศาลอังกฤษเปลี่ยนแนววินิจฉัยไปในทางถือเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ, โดยพิจารณาจากบทบัญญัติที่ขัดกันประกอบกับบทบัญญัติอื่น ๆ.๒๐

ผู้เขียนเกรงว่าหลักการตีความกฎหมายอังกฤษดังกล่าว จะนำมาปรับเข้ากับการตีความกฎหมายตามปัญหาของเราไม่ได้, ด้วยเหตุที่ว่า บทบัญญัติทั้งสองมาตราของเรามิได้มีเรื่องของข้อไข (proviso) แต่อย่างใด ประการหนึ่ง; และอีกประการหนึ่ง, แม้จะมองในด้านเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์อย่างไรก็เป็นเรื่องยุ่งยาก., เพราะแม้บทบัญญัติทั้งสองมาตราจะมีความหมายแจ้งชัดอยู่ในตัว, บทบัญญัติทั้งสองก็ขัดกันอย่างชัดแจ้งด้วย จึงไม่อาจทราบได้ว่า ผู้บัญญัติกฎหมายประสงค์อย่างไรแน่.

ท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า, การจัดตั้งคณะใหม่ต้องจัดทำเป็นพระราชบัญญัติ, เพราะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า, รัฐสภาประสงค์จะควบคุมการจัดตั้งคณะใหม่ขึ้น, มาตรา ๕ วรรคสอง จึงได้บัญญัติแยกแยะการตั้งหรือล้มคณะไว้ต่างหากจากการตั้งหรือเลิกล้มแผนกวิชา, ผู้เขียนยังข้องใจอยู่ว่า, การตีความกฎหมายโดยพิจารณาแต่เพียงมาตรา ๕ วรรคสอง, โดยมิได้พิจารณามาตรา ๗ ประกอบด้วย, จะถูกต้องแล้วหรือ?

ผู้เขียนใคร่ขอพิจารณาปัญหานี้อีกแง่หนึ่ง, คือในเมื่อมาตราหนึ่งบัญญัติให้จัดทำเป็นพระราชบัญญัติ และอีกมาตราหนึ่งให้จัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นนี้, การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ดี, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ดี, จัดตั้งคณะใหม่ขึ้นโดยจัดทำเป็นพระราชบัญญัติ, ย่อมไม่มีปัญหาอันใด, เพราะตามหลักการตีความกฎหมายที่ว่า ‘ผู้มีอำนาจกระทำสิ่งใหญ่ย่อมมีอำนาจกระทำสิ่งย่อยด้วย;’๒๑ หรือ ‘สิ่งน้อยย่อมประกอบอยู่ในสิ่งใหญ่,’๒๒ นั้น, เราจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติมีศักดิ์ในกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา, เมื่อจัดทำเป็นพระราชบัญญัติแล้ว, แม้จะมีบทบัญญัติของกฎหมายอีกมาตราหนึ่งให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกาด้วยก็ตาม, ย่อมต้องถือว่าการจัดตั้งคณะโดยพระราชบัญญัตินั้นสมบูรณ์ ตรงกันข้าม, ถ้าหากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้จัดตั้งคณะใหม่ขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา, ปัญหามีว่า การจัดตั้งคณะเช่นว่านั้นจะตกเป็นโมฆะเพราะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ในมาตราแรกซึ่งให้จัดทำเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่? เมื่อตั้งปัญหาเช่นนี้แล้ว, เราอาจนำเอาหลักการตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐, ซึ่งบัญญัติว่า: ‘เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ท่านให้ถือตามนัยนั้น ดีกว่าจะถือเอานัยที่ไร้ผล’, มาปรับเข้ากับปัญหานี้ได้โดยอนุโลม. ตามหลักการตีความนี้, น่าจะถือได้ว่าการจัดตั้งคณะใหม่โดยพระราชกฤษฎีกา, ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง. อนึ่ง อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า, ผลของการตีความในแนวนี้ก็คือ, การจัดตั้งคณะขึ้นใหม่ ในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนั้นจะจัดทำเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาก็ได้.

จริงอยู่ ที่เหตุผลของการตีความในแนวนี้ยังไม่หนักแน่นนัก, แต่เมื่อเราตกอยู่ในฐานะ ‘กลืนไม่เข้า, คายไม่ออก’ เช่นนี้, จะทำอย่างไร? ท่านผู้อ่านมีแนววินิจฉัยอื่นใดที่หนักแน่นกว่านี้บ้างหรือไม่ ?

มีข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกบางประการ, ประการแรกคือ, ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดกันอย่างชัดแจ้งเช่นนี้, ย่อมทำให้ขาดความแน่นอนในเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมาย, การแสวงหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงเกือบจะเป็นเรื่องพ้นวิสัย; ประการที่สอง, การร่างกฎหมายใหม่โดยเลียนถ้อยคำในกฎหมายฉบับก่อน ๆ นั้น, ถ้าหากมิได้กลั่นกรองอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งแล้ว, อาจพลั้งพลาดเป็นคำรบสอง, ดั่งเช่นที่ปรากฏในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๗ นี้เป็นตัวอย่าง. เรื่องทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นเสมอ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการแก้ไขกฎหมายนั้นใหม่บางมาตรา, และผู้เกี่ยวข้องมิได้ดูมาตราอื่นๆ ประกอบด้วยว่า สมควรจะต้องแก้ไขมาตราอื่น ๆ ให้สอดคล้องต้องกันด้วยหรือไม่; และ ประการที่สาม, เหตุที่เราจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาเรื่องการตีความกฎหมายประกอบเรื่องของภาษากฎหมายด้วยเช่นนี้, ก็เพราะการร่างกฎหมายที่ดีนั้น ผู้ร่างจักต้องพิจารณาในแง่ของผู้ใช้กฎหมายด้วยว่า, ถ้าหากมีปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ๆ แล้ว, ผู้ใช้กฎหมายจะปฏิบัติอย่างไร ? เมื่อจำเป็นต้องมีการตีความหมายจะตีความอย่างไร ?

การที่วลีใดหรือประโยคใดจะมีความหมายชัดเจนหรือไม่, ย่อมอาศัยการเรียงลำดับในวลีหรือประโยคอย่างถูกต้องด้วย. การเรียงลำดับคำต่างกัน, ความหมายย่อมต่างกันไปด้วย, ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ มีเช่น : ‘ทำดีไม่ได้’, กับ ‘ทำได้ไม่ดี’, และ ‘ไปไม่ได้’ กับ ‘ไม่ได้ไป’ แต่ในบางกรณี เมื่อเปลี่ยนลำดับคำใหม่แล้ว, ความหมายอาจเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย, เป็นต้นว่า ‘ไม่ปรากฏว่ามี’, ‘ไม่มีปรากฏ’ และ ‘ปรากฏว่าไม่มี’. บางท่านเห็นว่าความหมายเหมือนกันทั้งสามตัวอย่าง. บางท่านเห็นว่า น้ำหนักของความมั่นใจในเรื่อง ‘ไม่มี’ ในแต่ละตัวอย่างต่างกัน. ผู้เขียนเห็นว่า ผู้กล่าวตัวอย่างแรกมั่นใจในเรื่อง ‘ไม่มี’ น้อยกว่าตัวอย่างที่สอง, และผู้กล่าวตัวอย่างที่สองมั่นใจในเรื่อง ‘ไม่มี’ น้อยกว่าตัวอย่างที่สาม, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าตัวอย่างที่สามนี้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ไม่มี’ มากกว่าสองตัวอย่างแรก. อย่างไรก็ดี หลายท่านมีความเห็นกลับหรือสลับกันกับผู้เขียน.

การเรียงลำดับคำในประโยคไม่ถูกต้อง, อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขว, หรือฉงนในเรื่องความหมายได้ โปรดพิจารณาตัวอย่างจากคำคู่ความต่อไปนี้.

‘ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๔๐๐ บาท นับตั้งแต่ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๑ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปแก่โจทก์’.

คำว่า ‘แก่โจทก์’ น่าจะนำมาไว้ท้ายคำว่า ‘ค่าเสียหาย’, กล่าวคือ, ‘ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๔๐๐ บาท... ฯลฯ’.

การเรียงลำดับวลี, ประโยค และเนื้อความในแต่ละวรรค, ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับการเรียงลำดับคำในวลีหรือประโยค, มีฉะนั้น อาจไม่ได้ความหมายที่ชัดเจนหรืออาจผิดเพี้ยนไปจากที่ประสงค์ หรืออาจสับสนจนจับใจความไม่ได้เลย, ดังเช่นตัวอย่างคำคู่ความต่อไปนี้ :

‘จำเลยขอให้การต่อสู้คดีว่า ขอปฏิเสธฟ้องโดยตลอด ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ไม่ทราบว่าอาศัยสิทธิอะไรเรียกร้องจากจำเลย ตั๋วสัญญาใช้เงินกับเบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกัน จำเลยเสียเปรียบ เรื่องเบิกเงินเกินบัญชีก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือต่อกัน ใช้บังคับไม่ได้ ตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความ และเป็นโมฆะ เพราะขณะทำตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ และโจทก์ไม่เคยยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยชำระเงินเลย จำเลยไม่เคยเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และไม่เคยทำตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเบิกเงินเกินบัญชี การเบิกเงินเกินบัญชีจะเป็นจริงและถูกต้องหืรอไม่ ไม่ทราบ เพราะจำเลยยังไม่ได้ไปคิดบัญชีกัน ขอให้ยกฟ้อง’.

คำให้การแบบ ‘วัวพันหลัก’ เช่นนี้ ผู้ใดอ่านแล้วเข้าใจบ้าง ? ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ทั้งสองเรื่องคือ เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน, และเรื่องเบิกเงินเกินบัญชีนั้น, จำเลยเรียงคำให้การสับสนและกลับไปกลับมา, แทนที่จะกล่าวทีละประเด็นตามลำดับเนื้อเรื่องจนสิ้นกระแสความ, อนึ่ง มีแง่คิดไปได้อีกแง่หนึ่งว่า กรณีเช่นนี้ อาจจะเนื่องมาจากจำเลยมุ่งประสงค์จะให้ผู้อ่านฉงนด้วยเหตุผล กลลวง ของการใช้ถ้อยคำกลับไปกลับมาก็เป็นได้. อย่างไรก็ดี การใช้กลวิธีต่อสู้คดีทำนองนี้ มิได้ช่วยให้จำเลยได้เปรียบในเชิงคดีแต่ประการใดเลย, เพราะเนื้อความขัดกันเองโดยตลอด.

สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า, หาใช่ว่านักกฎหมายจะขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความแจ้งชัดปราศจากช่องโหว่เสียทั้งหมดทีเดียวไม่. บางเรื่องนักกฎหมายพิถีพิถันในด้านเลือกสรรถ้อยคำจนเกินไปด้วยซ้ำ เช่น, คณะบรรณาธิการของนิตยสารกฎหมายฉบับหนึ่งอภิปรายกันว่า, เมื่อมีคณะบรรณาธิการและมีตัวบรรณาธิการแล้ว, บุคคลที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ในคณะบรรณาธิการนั้นจะเรียกอย่างไร ? คณะบรรณาธิการคณะนั้นอภิปรายกันแต่เพียงคำนี้คำเดียวว่าควรจะเรียกว่า ‘กอง’, ‘แผนก’, ‘คณะ’, หรือเรียกอะไรก็สิ้นเวลาไปแล้วหนึ่งชั่วโมงเศษ. บุคคลในคณะบรรณาธิการผู้หนึ่งเอ่ยขึ้นว่า, ‘เอาง่าย ๆ เรียกว่า ‘ฝูงบรรณาธิการ’ ก็แล้วกัน’. นั่นแหละ, จึงตกลงกันได้โดยรวบรัด, โดยให้ใช้คำว่า, ‘ฝ่าย’ คือ ‘ฝ่ายบรรณาธิการ’. ถ้ามิได้มีข้อเสนอแนะให้ใช้คำว่า ‘ฝูง’ แล้ว, ก็คงจะยังไม่จบข้ออภิปรายเป็นแน่แท้.

ในเรื่องคำคู่ความก็เช่นเดียวกัน, พวกเรานักกฎหมายมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษด้วยเกรงว่าข้อความที่เรียบเรียงจะไม่แจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่. ในฟ้องคดีอาญาเรื่องหนึ่ง โจทก์กล่าวว่า:

‘เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจสมคบกันทำร้ายร่างกายนายซุ้ยกวง นายคีเยี่ยน นายคีฟัด นายจันทร์ ทั้งนี้โดยจำเลยใช้อาวุธของแข็ง และมีดพับปลายแหลม สนับมือ เป็นศาสตราวุธ ใช้มือและเท้า ชก ต่อย เตะ ถีบ ถอง และกระทืบ ฯลฯ’

กล่าวได้ว่าฟ้องนี้ชัดเจนเลยทีเดียว, จะมีปัญหาก็แต่เรื่องที่ว่าโจทก์จะสืบข้อเท็จจริงได้สมตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น. สังเกตได้ว่าจำเลยในคดีนั้นต้องเป็นชายแน่, เพราะถ้าหากว่าจำเลยเป็นหญิง, อาจจะต้องมีคำว่า, หยิก, ทึ้ง, ข่วน, กัด, ตี, และตบ’, ด้วยเป็นแน่แท้.

สำหรับคุณลักษณะเรื่องความแจ้งชัด และปราศจากช่องโหว่นี้, มีแง่พิจารณาในด้านตรงกันข้ามด้วยคือ, อาจมีคนเป็นจำนวนมากยังนิยมการกล่าวอย่างเคลือบคลุมมากกว่า, ‘เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน’, หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า, ‘Mistiness is the mother of safety’.

ผู้เขียนเคยตั้งคำถามสอบไล่วิชากฎหมายถามนิสิตในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า ‘การเชื้อเชิญเพื่อนไปดูภาพยนต์เป็นนิติกรรมหรือไม่ ?’ นิสิตผู้หนึ่งตอบว่า :

‘เรื่องนี้พิจารณาดูคล้าย ๆ กับจะเป็นนิติกรรม’.

การตอบเคลือบคลุมหรือทำนอง ‘เหยียบเรือสองแคม’ นี้, แทบจะเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้สอบไล่วิชากฎหมายที่ไม่ทราบว่าจะตอบประการใดจึงจะถูกต้อง. โปรดพิจารณาตัวอย่างและชั้นเชิงของผู้สอบไล่อีกแบบหนึ่งคือแบบกำปั้นทุบดิน ดังต่อไปนี้ :

‘ภูษิตอาจจะไม่ต้องรับผิด ถ้าเหตุเกิดขึ้นเพราะไม่ใช่ความผิดของภูษิต’.

อย่างไรก็ดี, ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลก็ดี, ในการดำเนินวิชาชีพกฎหมายในสาขาอื่นๆ ก็ดี ในเรื่องทั่วๆ ไปก็ดี, มีบางกรณีเหมือนกันที่เราไม่อาจกล่าวถึงเรื่องนั้นๆ ได้อย่างแจ้งชัด, เพราะอาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของเราเอง, หรืออาจเป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจผู้อื่นโดยไม่จำเป็น, หรือโดยมารยาทอาจจะกล่าวให้แจ้งชัดไม่ได้ก็เป็นได้. กรณีที่ต้องสงวนถ้อยคำอาจมีไม่น้อยกว่ากรณีที่ต้องกล่าวโดยแจ้งชัดเหมือนกัน. เรื่องทำนองที่ฝรั่งเรียกว่าต้องอ่านเอาเองระหว่างบรรทัด (to be read between the lines) มีอยู่เสมอ. ปัญหาสำคัญอยู่ที่ศิลปะของการกล่าวว่าจะกล่าวอย่างไรจึงจะเคลือบคลุมโดยไม่ให้เป็นเรื่องเคลือบคลุมในสายตาของกฎหมาย. แต่ทั้งนี้ผู้เขียนหมายถึงเรื่องที่ถูกต้องตามศีลธรรม, และตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพกฎหมายโดยเฉพาะเท่านั้น. อนึ่ง ในบางเรื่อง ‘พูดไปสองไพเบี้ย, นิ่งเสียตำลึงทอง’.

(๒) ความสั้นกะทัดรัด

โวหารกฎหมายที่ดีต้องมีความกะทัดรัด, ใช้คำโดยประหยัด, ทุกคำที่เขียนควรมีความหมาย, ไม่ควรมีการใช้คำขาดหรือเกิน, และไม่สมควรมีการกล่าวซ้ำซาก วกวน, หรือกล่าวแบบ ‘น้ำท่วมทุ่ง’ ประโยคแต่ละประโยค, วรรคแต่ละวรรค สมควรให้สั้นกะทัดรัดพอดีกับเนื้อความที่กล่าว.

สำหรับภาษาในตัวบทกฎหมายโดยตรงนั้น, ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย กล่าวว่า :

‘อย่าพยายามใช้ถ้อยคำอันใดลงไปในตัวบทที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้ถ้อยคำนั้นเลย เพราะถ้อยคำเดียวนั้นอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากภายหลังได้มาก ทั้งนี้เพราะผู้ที่จะใช้กฎหมายนั้นในภายหลังอาจจะต้องไปค้นหาเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องใช้ถ้อยคำนั้น และจะต้องคิดว่าผู้ร่างกฎหมายจะไม่ใส่ถ้อยคำลงไปโดยไม่มีความหมาย กฎหมายไม่ใช่เรื่องร้อยแก้วที่ต้องการความไพเราะ สิ่งที่ต้องการคือความเข้าใจง่าย ฉะนั้น จะใส่ถ้อยคำอันใดลงไปในตัวบทกฎหมายก็เฉพาะเมื่อจำเป็นที่จะให้ความหมายชัดเจนเท่านั้น ฯลฯ.’๒๓

ในปัญหาเดียวกันนี้, ท่านศาสตราจารย์เสริม วินิจฉัยกุล กล่าวว่า:

‘การใช้ถ้อยคำต้องใช้โดยประหยัด คำใดไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ เพราะภาษากฎหมายผิดกับภาษาทางวรรณคดี ถ้ามีถ้อยคำอันใดไม่จำเป็นแทรกอยู่ด้วยแล้ว อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นปัญหาขึ้นได้ ฯลฯ.’๒๔

น่าสังเกตว่า ในทางปฏิบัติ ภาษาที่ใช้ในตัวบทกฎหมายโดยตรงและในคำพิพากษาศาลฎีกามีคุณลักษณะในเรื่องความกะทัดรัดดีเด่นเป็นพิเศษ, และรู้สึกว่าพิถีพิถันในเรื่องนี้อยู่เป็นอันมากด้วย. แม้กระนั้นก็ดี, ในภาษากฎหมายที่ใช้ในโอกาสอื่น เช่น ในคำคู่ความก็ดี, สัญญาก็ดี ในคำสั่งต่าง ๆ โดยทั่วไปก็ดี, ยังขาดคุณลักษณะข้อนี้อยู่เสมอ.

ก่อนอื่น โปรดพิจารณาตัวอย่างในเรื่องทั่วไป, เพราะโดยปกติที่เราพูดหรือเขียนเรื่องของกฎหมายซ้ำซาก, หรือฟุ้งเฟ้อ ก็เพราะความเคยชินกับเรื่องธรรมดานั่นเอง.

ในประกาศโฆษณาขายสินค้ารายหนึ่งมีข้อความว่า :

‘เชิญท่านใช้รถเฟี้ยต ยี่ห้อเฟี้ยต’

ข้อน่าฉงนก็คือรถเฟี้ยตยี่ห้ออื่น นอกจากยี่ห้อเฟี้ยตมีด้วยหรือ? เพราะเหตุนี้ ถ้าใช้เพียงว่า ‘เชิญท่านใช้รถเฟี้ยต’, ก็น่าจะพอ.

ในการกล่าวคำปราศรัยนั้น, เรามักจะได้ยินถ้อยคำทำนองนี้เสมอว่า :

‘ในโอกาสนี้ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มีโอกาส ฯลฯ’

เหตุใดจึงต้องกล่าวคำว่า ‘โอกาส’ ซ้ำกัน ?

‘จำเลยถูกฟ้องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา’

มีข้อน่าอภิปรายว่า เมื่อมีคำว่า ‘ฆ่า’ ซึ่งมีความหมายว่าทำให้ตายอยู่แล้ว, จำเป็นต้องมีคำว่า ‘ตาย’ อีกด้วยหรือ ? ประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่า ‘ฆ่าคนโดยเจตนา’, ‘ฆ่าคนโดยไม่เจตนา’, ถ้าไม่ตายก็เรียกว่า ‘พยายามฆ่าคน’, แต่คำว่า ‘ฆ่าคนตาย’ ก็ยังใช้กันอยู่ดาษดื่น. ในทำนองเดียวกันกับคำกล่าวหรือวลีที่ว่า, ‘จริงยิ่งกว่าจริง’, ‘สมบูรณ์ที่สุด’, ‘บริบูรณ์อย่างยิ่ง’, กว่า ‘จริง’ ก็ดี, ‘สมบูรณ์’ ก็ดี, ‘บริบูรณ์’ ก็ดี, ไม่ควรจะเติมคำวิเศษณ์ ‘ยิ่งกว่าจริง’, ‘ที่สุด’, หรือ ‘อย่างยิ่ง’, เข้าไปอีก เพราะแต่ละคำมีความหมายเช่นนั้นอยู่แล้ว. การใช้คำหลายคำที่มีความหมายซ้ำกันนี้มิใช่มีแต่เฉพาะในภาษาไทย, ในภาษาอังกฤษที่มีอยู่ทั่วไป อาทิเช่น, ‘lonely isolation’, ‘illegal crime’ และ ‘famous celebrity’.

ข้อความที่ว่า ‘ต้องสืบพยานซ้ำกันถึงสามครั้งสามหน’, น่าจะเขียนเพียง ‘สามครั้ง’ ก็พอ, ไม่ต้องมีคำว่า ‘สามหน’ ตามมาด้วย.

‘การที่โจทก์มาฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนในมูลหนี้อันเดียวกันหาชอบไม่’ คำว่า ‘ซ้ำ’ กับ ‘ซ้อน’ นี้, ใช้เพียงคำใดคำหนึ่งก็น่าจะเพียงพอ

‘ฐานะของผู้รับโอนไม่อยู่ในฐานะที่จะให้กู้ยืมเงินได้’.

‘ฐานะของ’ ตอนแรกน่าจะตัดออกได้.

‘แต่ในวิถีทางแห่งนิติศาสตร์โดยเฉพาะในแง่ความคิดแล้ว กระผมบังเอิญมีความคิดและความเห็นไม่ตรงกับศาลฎีกาในเรื่อง... ฯลฯ’

ถ้าเขียนเพียงว่า: ‘กระผมเห็นไม่ตรงกับศาลฎีกาในเรื่อง... ฯลฯ’ จะเป็นการเพียงพอหรือไม่ ?

ในทางกลับกัน, การใช้ภาษาที่รวบรัดเกินไป โดยละข้อความบางประการไว้ในฐานะที่เข้าใจได้, อาจทำให้ภาษาขาดความประณีตไปก็ได้, เช่น :

‘ขณะเกิดเหตุ จำเลยกำลังเต้นท่าวาทูซี่อยู่บนหลังคารถ’,

น่าจะเรียงให้เต็มเนื้อความว่า ‘ขณะเกิดเหตุ จำเลยกำลังเต้นรำตามจังหวะเพลงวาทูซี่อยู่บนหลังคารถ’.

‘โจทก์นำสืบว่า เมื่อครั้งโจทก์มีชีวิตอยู่ เคยขอหักหนี้กับจำเลย…’

โดยเหตุผลแล้ว การที่โจทก์ขอหักหนี้กับจำเลยได้ก็แต่เฉพาะตอนที่โจทก์มีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะเหตุนี้อนุประโยคที่ว่า ‘เมื่อครั้งโจทก์มีชีวิตอยู่’ ย่อมไม่จำเป็นต้องกล่าวไว้ด้วย เมื่อตัดอนุประโยคดังกล่าวออกแล้ว, ข้อความที่เหลือก็พอเข้าใจกันได้ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม แต่สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ข้อความนี้ยังเคลือบคลุมอยู่ เพราะอาจมีผู้สนเท่ห์ต่อไปอีกว่า เมื่อมีข้อความว่า ‘เมื่อโจทก์ยังมีชีวิตอยู่’ ก็น่าจะหมายความว่า ขณะที่โจทก์นำสืบโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว, ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้. ความจริงในเรื่องนี้มีโจทก์สองคน, กล่าวคือ โจทก์เดิมซึ่งเป็นผู้ขอหักหนี้กับจำเลยถึงแก่กรรมระหว่างดำเนินคดี, ทายาทของโจทก์เดิมร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เดิมผู้มรณะ; ดังนั้น ประโยคที่แก้ไขแล้ว น่าจะเป็นทำนองว่า :

‘ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า นาย...โจทก์เดิม ผู้มรณะ เคยขอหักหนี้กับจำเลย...’

อนึ่ง คำว่า ‘คำพิพากษาฎีกา’ และ ‘ฎีกา’, ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น, ผู้เขียนเห็นว่า คำที่ถูกต้องคือ ‘คำพิพากษาศาลฎีกา’. ข้อนี้อาจมีนักกฎหมายเป็นจำนวนมากแย้งว่า ‘คำพิพากษาฎีกา’ ถูกต้องอยู่แล้ว. ผู้เขียนใคร่ขอยืนยันว่า คำว่า ‘คำพิพากษาฎีกา’ เป็นเพียงชื่อหนังสือชุดหนึ่งซึ่งเนติบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์เท่านั้น, ถ้าจะใช้คำว่า ‘คำพิพากษาฎีกา’, ในฐานะเป็นคำรวบรัด ในทำนองเดียวกันกับคำว่า ‘ฎีกา’, ก็ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องแต่ประการใด. แต่ถ้าจะใช้คำนี้อย่างเป็นทางการหรือในคำพิพากษาหรือคำคู่ความ, น่าจะใช้ไม่ได้, มิฉะนั้นแล้วเราก็ควรเรียก ‘คำพิพากษาอุทธรณ์’, ‘คำพิพากษาชั้นต้น’, โดยไม่ต้องใช้คำว่า ‘ศาล’ ไว้ด้วย, ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย.

สำหรับเรื่องคำที่ซ้ำกันนั้น มีแง่คิดอยู่ว่า, บางทีคำซ้ำกันจริง, แต่ความหมายไม่ซ้ำกัน, เช่น พยานคนหนึ่งให้การว่า :

‘ความจริงข้าพเจ้าก็ไม่ทราบความจริง’

คำว่า ‘ความจริง’ สองคำนี้ ความหมายต่างกันอยู่, ทั้งเป็นคำคมอยู่ในตัวด้วย.

‘มีกำไร ไม่ขาดทุน’. เห็นได้ชัดว่าซ้ำกัน.

แต่ในกรณีกลับกัน, ‘ไม่ขาดทุน มีกำไร’ ไม่ซ้ำกัน, ที่ว่า ‘ไม่ขาดทุน’ อาจจะไม่ได้หมายความว่ามีกำไร, แต่หมายความถึงเท่าทุนก็ได้. แต่ที่กล่าวว่า ‘ไม่ขาดทุน มีกำไร’, ก็เพราะอาจตอบคำถามซึ่งอาจจะเป็นในทำนองว่า ‘ขาดทุนไหม ?’.

อนึ่ง, การกล่าวซ้ำอีกประเภทหนึ่งกลับนิยมกันว่าเป็นโวหารที่ดี, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในกรณีที่ประสงค์จะย้ำให้เห็นความสำคัญในเรื่องนั้นๆ, เช่นคำกล่าวในพระพุทธวจนะที่ว่า :

‘มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว (เขา) จักเป็นทายาทแห่งกรรมนั้น กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้ทรามและประณีต ฯ’.

‘โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมควบคุมไว้ เหมือนลิ่มควบคุมรถที่กำลังแล่นอยู่ฉะนั้น ฯ’.๒๕

ในวรรณกรรมร้อยแก้วที่ดียิ่งฉบับหนึ่งมีความตอนหนึ่งว่า :

‘...ท่านสอนว่า เมฆดำทะมึนที่บดบังท้องฟ้า ย่อมจะต้องละลายหายไปเพื่อให้สุริยแสงสว่างไสวได้แทนที่ ถูกแล้ว สุริยแสงประจำโลกย่อมต้องสว่างไสวแทนเมฆ แต่แสงที่ประจำชีวิตของข้าพเจ้าถึงจะส่องก็คงริบหรี่เต็มประดา มุ่งมั่นว่าจะได้ไปเรียนอังกฤษในหมู่คนอังกฤษในเมืองอังกฤษ ถึงกับอาสาสมัครเข้าเป็นนักเรียนครู ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สนใจในเรื่องครูเท่าใดนัก ก็ไม่ได้ไป แล้วจะไปเรียนต่อที่ไหนได้ดีเหมือนคาด เสียแรงที่ได้พากเพียรมาจนสำเร็จขั้นอุดมศึกษา เสียแรงที่คุณครูในชั้นประโยคสองท่านปลุกปั้นให้เกิดความสนใจจนรักวิชานี้ หากท่านเป็นเจ้ากระทรวง ความมั่นหมายของข้าพเจ้าคงสัมฤทธิผลแน่ ทำอย่างไรหนอ จึงจะได้สนุกกับภาษาฝรั่งเหมือนครั้งโน้นอีก ฯลฯ’๒๖

พึงสังเกตการใช้คำซ้ำกัน, คือ ‘แสง’, ‘อังกฤษ’ และ ‘เสียแรง’. การกล่าวซ้ำมาก หรือน้อย ย่อมแล้วแต่เนื้อเรื่อง และความเหมาะสมในตอนนั้น ๆ.

น่าเสียดาย ที่เรามิค่อยได้ใช้การกล่าวซ้ำ เพื่อย้ำความสำคัญ ในเรื่องที่กล่าวในภาษากฎหมายตามวาระที่สมควร, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโวหารการพูดมากนัก.

ในเรื่องถ้อยคำที่ใช้ในภาษากฎหมาย ซึ่งสมควรที่จะให้สั้น กะทัดรัดนั้น, โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:

‘จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย’

ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อศาลยุติธรรม, คำว่า ‘เสีย’ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกล่าวไว้ด้วย ? ถ้าหากกล่าวแต่เพียง ‘จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์’, น่าจะพอ, ท่านผู้ร่วมวิชาชีพของผู้เขียนอาจตัดพ้อผู้เขียนว่า เป็น ‘มนุษย์อุตริติต่าง ๆ’, บางท่านที่สนิทสนมและเคยเป็นองค์คณะพิพากษากับผู้เขียนอาจกล่าวว่า, ‘ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง’. เพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่งเห็นไกลไปอีกว่า แม้จะเอาคำว่า ‘ของโจทก์’ ออกเสียด้วย, ก็หาทำให้เนื้อความเสียไปไม่, เพราะคำฟ้องก็ต้องเป็นของโจทก์เสมอ; ถ้าเป็นคำฟ้องของจำเลยก็เรียก ‘ฟ้องแย้ง’ อย่างไรก็ดีเพื่อนร่วมวิชาชีพท่านหนึ่งของผู้เขียนแย้งว่า : ‘คำว่า ‘เสีย’ นี้มาต่อเติมให้น้ำเสียงของความในประโยคนี้นุ่มนวลและไม่ห้วน สมมติว่าเราให้เด็กกินยา ถ้าเราพูดว่า ‘กิน’ ก็รู้สึกว่าห้วน ๆ และขึงขัง แต่ถ้าพูดว่า ‘กินเสีย’ (ออกเสียว่ากินเซี้ย) อย่างนี้ค่อยฟังรื่นหูหน่อย หรือจะลองเทียบคำว่า ‘อย่าไป’ กับ ‘อย่าไปเลย’ ดูบ้าง คำแรกขึงขังเป็นคำสั่งห้าม คำหลังเป็นคำปรามอย่างอ่อนโยน สมัยนี้คำ ‘หา...ไม่’ บางทีเขาก็ตัดคำว่า ‘ไม่’ ออกเสีย คำว่า ‘โดยทั่วถึงกัน’ เขาก็ตัดคำว่า ‘กัน’ ออก เช่นกล่าวว่า ‘เขาหาเข้าใจสถานการณ์โดยถ่องแท้’ หรือ ‘ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นโดยทั่วถึง’ อย่างนี้ฟังดูก็รู้เรื่อง แต่รู้สึกว่ามันแหว่งๆ วิ่น ๆ ไปหน่อย’.

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อแย้งของเพื่อนผู้เขียนท่านนี้ มีน้ำหนักดี, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในภาษากฎหมายประเภทอื่น ๆ, นอกจากตัวบทกฎหมายและคำพิพากษา ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่ง จึงต้องมีความเป็นทางการ, และเด็ดขาด. แต่นี่มิใช่หมายความว่าต้องแข็งกร้าวด้วย. การตัดคำว่า ‘เสีย’ หรือ ‘ของโจทก์เสีย’ ออก, น่าจะทำให้โวหารคำพิพากษานั้นมีความเป็นทางการ, และเด็ดขาด, ตลอดจนสั้น กะทัดรัด ด้วย.

อนึ่ง ในตัวบทกฎหมายที่มีคำว่า ‘เสีย’ โดยไม่จำเป็นต้องมี ก็มีเป็นจำนวนมาก, เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๑๗๔, บัญญัติว่า: ‘การฟ้องคดีท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง หากว่าคดีนั้นได้ถอนเสีย ละทิ้งเสีย ฤๅต้องยกฟ้อง’. คำว่า ‘เสีย’ ทั้งสองคำน่าจะตัดออกได้, หรือถ้าจะเอาไว้คงเดิม, ก็สมควรใส่คำว่า ‘เสียแล้ว’ ข้างท้ายคำว่า ‘ยกฟ้อง’ ด้วย, เช่นเดียวกับข้อความในมาตรา ๑๗๗, เพื่อความมีระเบียบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ข้อความที่ว่า, ‘ในท้องสำนวนปรากฏว่า’, ผู้เขียนเห็นว่าควรเขียนแต่เพียงว่า: ‘ในสำนวนปรากฏว่า’. เพื่อนของผู้เขียนซึ่งแย้งเรื่องคำว่า ‘เสีย’ ที่กล่าวข้างต้น, ค้านผู้เขียนว่า : ‘คำว่า ‘ท้อง’ ในที่นี้เทียบได้กับคำว่า ‘ท้องเรื่อง’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งให้ความหมายว่า เนื้อเรื่อง ดังนั้น คำว่า ‘ท้องสำนวน’ ก็คงจะแปลได้ว่า ‘เนื้อหาของสำนวน’ แม้จะใช้คำว่า ‘ในสำนวนปรากฏว่า’ แทนได้ แต่คำว่า ‘ในท้องสำนวน’ ออกจะไพเราะกว่า, มีสำเนียงเป็นภาษาเก่าที่ค่อนข้างขลัง ๆ สมกับลักษณะของคำพิพากษา ทั้งยังมีความหมายเหมาะเจาะยิ่งกว่าคำว่า ‘สำนวน’ เฉยๆ ด้วย ถ้าเรารับว่า ‘ท้อง’ ในที่นี้หมายถึงเนื้อหา’. คำค้านของเพื่อนผู้เขียนมีเหตุผลน่าคิดเหมือนกัน, แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า การกล่าวว่า, ‘ในสำนวนปรากฏว่า’, มิได้ทำให้ลักษณะที่ดีของคำพิพากษาเสียไป, ทั้งความหมายก็คงเดิม คือ หมายถึงเนื้อหาของสำนวน, และข้อความนี้ดูจะสั้น กะทัดรัดด้วย.

ปัญหาน่าคิดมีต่อไปว่า, อันภาษากฎหมายนั้น การจะให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้, แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ได้ความหมายลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นได้หรือไม่ ? โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:

‘ถูกต้องแท้จริง’

ตามปัญหาดังกล่าว, แต่ละคำในสี่คำนี้ มีความหมายว่า ‘ถูก’ ทั้งสิ้น. จริงอยู่, แต่ละคำคงใช้ได้ในโอกาสต่างกัน. ปัญหามีว่า, เราใช้แต่เพียงคำเดียว ตามโอกาสที่ควรใช้คำนั้น ๆ, เช่น ‘ถูก’, ‘จริง’, เป็นต้น จะได้หรือไม่ ? ผู้เขียนเห็นว่า ใช้ได้แน่, แต่ก็ขาดคุณลักษณะในเรื่องความนุ่มนวลของภาษาอย่างยิ่ง. คนขวัญอ่อนได้ยินเข้าอาจขวัญเสียได้. คนใจน้อยได้ยินเข้าก็อาจจะน้อยใจได้เหมือนกัน. การใช้แต่ละคำโดยตั้งใจให้สั้นที่สุด, จึงมีแง่คิดในเรื่องความห้วนของภาษาอยู่เหมือนกัน. หลักการที่สมควร คือ น่าจะถือสายกลาง แต่พยายามใช้ถ้อยคำอย่างประหยัด. ทุกคำที่ใช้มีความจำเป็นในด้านให้ความหมาย ที่ต้องการจะแสดงออกอย่างแท้จริง, และเป็นภาษาที่ไม่สั้นหรือห้วนจนเกินไป. อย่างไรก็ดี, ในด้านโวหารภาษาตัวบทกฎหมายก็ดี, ภาษาในคำพิพากษาก็ดี, มีลักษณะเป็นคำสั่งโดยตรง, ควรจะสั้น กะทัดรัดอย่างยิ่ง, แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่สั้นจนกระทั่งห้วน, หรือแข็งกร้าวไป, ดังกล่าวข้างต้น.

อนึ่ง ถ้าจะพิจารณาถึงความโน้มเอียงของภาษาในปัจจุบันแล้ว, มีความเป็นไปในทางรวบรัดให้สั้น กะทัดรัด, คำว่า ‘ถูกต้องแท้จริง’, ที่กล่าวนี้, ถ้าเขียนเพียง ‘ถูกต้อง’, หรือ ‘แท้จริง’, เห็นจะไม่มีใครตำหนิว่าเยิ่นเย้อ, หรือห้วนเกินไปเป็นแน่. คำว่า ‘ศาลสถิตยุติธรรม’ ในภาษากฎหมายเดิม, จึงกลายเป็น, ‘ศาลยุติธรรม’ ในปัจจุบัน, ถ้าความโน้มเอียงของภาษายังคงเป็นไปในทางรวบรัดให้สั้นอยู่, ต่อไปภายหน้าค้าว่า ‘ศาลยุติธรรม’ อาจจะสั้นลงเหลือเพียง ‘ศาล’ ก็เป็นได้.

ส่วนด้านความหมายลึกซึ้งนั้น, สมควรจะให้มีความหมายลึกซึ้งเพียงใด ก็แล้วแต่ความประสงค์ของผู้กล่าว, และตามสภาพของเรื่องที่กล่าว.

นอกจากเลือกใช้คำสั้นแล้ว, ประโยคที่ใช้ก็ควรสั้นด้วย. ท่านศาสตราจารย์เสริม วินิจฉัยกุล กล่าวว่า :

‘ประโยคต่างๆ ซึ่งใช้ในกฎหมายควรต้องเป็นประโยคที่สั้นและง่ายไม่ซับซ้อน ประโยคใดถ้ามีความท้าวกันไกล เมื่ออ่านไปแล้วก็ยากที่จะเข้าใจได้ ความชัดเจนและกระจ่างแจ้งเป็นข้อสำคัญในกฎหมาย เพราะจะต้องเขียนให้คนทุกคนมีโอกาสเข้าใจได้ ไม่ใช่เขียนเฉพาะนักนิติศาสตร์เท่านั้น ฯลฯ’๒๗

ในภาษาอังกฤษนั้น, นักอักษรศาสตร์บางท่านเห็นว่า, ประโยคนแต่ละประโยคควรจะให้สั้น, เพราะประโยคสั้นทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าประโยคยาว, ประโยคที่มีคำไม่เกิน ๑๕ คำ ถือได้ว่าเป็นประโยคสั้น.๒๘ อีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า, ประโยคในอุดมคติควรจะยาวไม่เกิน ๑๗ คำ.๒๙

ผู้เขียนมีความเห็นว่า, แม้ในภาษาอังกฤษนั้นเอง, การจะไปกำหนดตายตัวว่า, ประโยคหนึ่งควรมี ๑๕ คำหรือ ๑๗ คำนั้น, หามีเหตุผลสนับสนุนแต่ประการใดไม่, ดูราวกับเป็นการกำหนดจำนวนคำในบทร้อยกรอง, ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องร้อยแก้วโดยแท้. ความจริงน่าจะถือเอาความเหมาะสม ตามที่ปรากฏในเนื้อเรื่องในประโยคนั้นเองเป็นสำคัญ. ในภาษาไทยผู้เขียนเห็นด้วยกับ หลักการของท่านศาสตราจารย์เสริม วินิจฉัยกุล ทุกประการ. นอกจากนั้น แต่ละประโยคสมควรมีเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวแต่เพียงเรื่องเดียว. ถ้อยคำใดไม่ตรงกับประเด็นของเรื่องที่กล่าว ไม่ควรจะมีอยู่ในประโยคนั้น, ทุกคำควรเป็นคำที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อแสดงความหมายของประโยคนั้น.

สำหรับการเรียบเรียงข้อความในแต่ละวรรค, หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘paragraph’ มีหลักเช่นเดียวกับข้อความในแต่ละประโยค, ซึ่งผู้กล่าวต้องพิถีพิถันกำหนดให้แต่ละวรรคมีเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวแต่เพียงเรื่องเดียว. ทุกประโยคในวรรคต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง. เป็นที่สังเกตว่าตัวบทกฎหมายของเราก็ถือตามแนวนี้ โดยแบ่งเป็นมาตรา, อนุมาตรา, หรือวรรค. แต่สำหรับภาษากฎหมายอื่นๆ นอกจากภาษาในตัวบทกฎหมาย, มักจะต้องมี ‘ประโยคประธาน’ (topic sentence), อันเป็นประโยคที่ว่าด้วยหัวใจของเรื่องในวรรคนั้นๆ, และโดยปกติมักจะอยู่ประโยคแรก, หรือประโยคถัดไป, แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักตายตัว ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมสำหรับเรื่องที่กล่าว, และลีลาแห่งการกล่าวเป็นเรื่องๆ ไป. ส่วนความยาวของแต่ละรรคนั้น แม้จะมีผู้เคยให้ความคิดเห็นว่า ไม่ควรจะมีน้อยกว่าสองประโยคก็ตาม, ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าไม่ควรวางเกณฑ์กำหนดตายตัวเช่นนั้น แต่ละวรรคจะสั้นหรือยาวอย่างไร ต้องแล้วแต่เนื้อความในเรื่องที่กล่าวในแต่ละวรรคนั้นเป็นสำคัญ, และสมควรที่จะไม่ให้สั้นหรือยาวจนเกินขนาดไป.

เพื่อให้การพิจารณาคุณลักษณะของโวหารกฎหมายที่ดี ในเรื่องความสั้น กะทัดรัด ละเอียดและแจ่มแจ้ง, สมควรพิจารณาภาษากฎหมายที่ฟุ้งเฟ้อเปรียบเทียบด้วย. นักกฎหมายก็เช่นเดียวกับบุคคลสามัญ กล่าวคือ, มีทั้งนักพูดและนักเขียนเป็นจำนวนมากต่างก็ใคร่พูดมาก และใคร่เขียนยาว, แต่น้อยคนนักที่อยากจะเป็นนักฟัง หรือนักอ่านเรื่องยาวเยิ่นเย้อ, ในเมื่อเรื่องนั้นอาจรวบรัดกล่าว ให้สั้นและได้ความชัดเจนได้. นักพูดและนักเขียน น่าจะคิดคำนึงถึงจิตวิทยาข้อนี้ไว้ด้วย, มิฉะนั้นแล้วคำกล่าวของตนอาจมีน้ำหนักน้อย, หรืออาจไม่มีน้ำหนักเอาเลย, ถ้าปราศจากผู้อ่านหรือฟังผู้ที่สนใจ. อุปมาว่าพ่อค้าต้องเอาใจลูกค้าในการขายสินค้าของตนฉันใด อุปไมยผู้พูดและผู้เขียนก็ต้องเอาใจผู้ฟังและผู้อ่านฉันนั้น.

ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่คดีหนึ่ง, หลังจากที่จำเลย ผู้ไม่มีทนายแก้ต่าง รายหนึ่งได้บรรยายคำให้การมา ๗ หน้ากระดาษในเรื่องเงินกู้ที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนแล้ว, จำเลยลงท้ายคำให้การว่า :

‘ข้าแต่ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ จำเลยต้องขอความกรุณาและอภัยที่ต้องรบกวนเวลาของท่าน อ่านข้อแถลงเสียยืดยาว เพราะมันเป็นเรื่องอัดอั้นอยู่ในหัวอกของจำเลยมาช้านาน ซึ่งยังไม่เคยระบายออกให้ใครได้ยินได้ฟัง ต่อจากนี้ไปก็ไม่มีอะไรจะกราบเรียนท่านอีกแล้ว นอกจากขอความกรุณาปรานีต่อท่าน ได้โปรดช่วยให้ความเที่ยงธรรมแก่จำเลยผู้กำลังตกยาก และไร้ที่พึ่งด้วยเถิด.’ จำเลยได้รับประโยชน์อันใดจากการเขียน ‘ข้อแถลง’ ดังกล่าวในเชิงคดีบ้าง ?

สำหรับคำคู่ความไม่ว่าในคดีแพ่งหรือคดีอาญา, ไม่ว่าจะเป็นคำฟ้องหรือคำให้การ, สมควรให้สั้น กะทัดรัด. ยิ่งในคดีอาญา, ถ้าจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง, คำให้การของจำเลยย่อมจะสั้นมาก. โดยปกติที่ปฏิบัติกัน ในคำให้การมีข้อความแต่เพียงว่า ‘ข้าพเจ้าขอรับสารภาพตามฟ้องโจทก์,’ หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกันนั้น. ทั้งในกรณีที่ขอความปรานีจากศาล, ก็กล่าวแต่เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น แต่ก็มีเสมอที่จำเลยให้การอย่างยืดยาว ขอความเห็นใจจากศาล, โปรดพิจารณาคำให้การของจำเลย ในคดีข่มขืนกระทำชำเราของศาลจังหวัดเชียงใหม่กดีหนึ่ง ในกนั้นผู้เสียหายอายุ ๒๐ ปี จำเลขอายุ ๒๑ ปี จำเลยให้การว่า :

‘ข้าพเจ้าทราบฟ้องของโจทก์แล้ว ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ ขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า การที่ข้าพเจ้าได้กระทำผิดครั้งนี้ ก็เพราะลุ่มหลงในรูปโฉมโนมพรรณของผู้เสียหาย ซึ่งข้าพเจ้าได้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่มาเงียบๆ คนเดียว เมื่อได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกันเพียงสองต่อสอง ข้าพเจ้าไม่อาจระงับความหลงไหลในเสน่ห์ของผู้เสียหายได้ ความรักที่ได้ฟักตัวมานานแล้ว ก็ได้บรรลุและแสดงออกมาซึ่งอารมณ์เพศตามวิสัยของปุถุชน ต่อเมื่อได้ล่วงเกินผู้เสียหายไปแล้ว ก็รู้สึกสำนึกในบาปบุญคุณโทษที่ได้กระทำไป และรู้สึกละอายแก่ใจตัวเองเป็นอันมาก ที่ได้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรมในฐานชู้สาวกับผู้เสียหาย โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยเลย เช่นนี้ข้าพเจ้าได้หลงคิดผิดไปแล้ว จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง ได้โปรดเมตตาปรานีและเห็นใจในความผิดที่ได้กระทำไป ข้าพเจ้าไม่เคยประพฤติผิดมาก่อน หากศาลจะลงโทษข้าพเจ้าถึงจำคุกแล้ว ก็ขอได้โปรดรอการลงโทษให้ข้าพเจ้าสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าจะให้คำปฏิญาณต่อหน้าศาลที่เคารพว่า จะไม่ประพฤติเยี่ยงนี้สืบไป’

คำพิพากษาบางฉบับ ก็มีข้อความบางตอนยืดยาวเหมือนกัน เช่น ในการวินิจฉัยคำพยานในคำพิพากษาฉบับหนึ่งมีว่า :

‘ได้เพียรพิเคราะห์พยานโจทก์จำเลยโดยละเอียดตลอดแล้ว พยานโจทก์เบิกความผิดแผก แตกต่าง หักล้าง ขัดแย้ง ปราศจากเหตุผล อันควรจะเชื่อฟังว่าเป็นความจริง ฯลฯ.’ ซึ่งถ้ากล่าวแต่เพียงว่าพยานแตกต่างกันไม่น่าเชื่อ, จะเพียงพอหรือไม่ ?

คำพิพากษาอีกฉบับหนึ่งวินิจฉัยคำพยานว่า : ‘สรุปแล้วตามพยานโจทก์ตามที่กล่าวมานี้ยังเหินห่าง ไม่ใกล้ชิด ห้อมล้อมกรณี ชี้ชัด ปักลง ตรงจำเลยว่าเป็นคนร้ายรายนี้ ตามที่โจทก์กล่าวหาโดยปราศจากความสงสัย’.

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้พิพากษาบางท่านก็เป็นนักเลงกลอนอยู่ในที, ทั้งบทร้อยกรองนั้นก็มีส่วนแปลกอยู่ที่ว่า, ประหยัดถ้อยคำแต่ก็ได้ความชัดเจน, กะทัดรัด และคมคายไม่น้อย คำพิพากษาบางฉบับมีคำร้อยกรองแฝงอยู่อย่างมีความหมาย:

‘ชิวหาเดียวกล่าวถ้อยเป็นสอง พยานปากเดียวให้การกลับไปกลับมา’

มีคำกล่าวกันต่อ ๆ มาว่า ในคดีข่มขืนกระทำชำเราคดีหนึ่ง ท่านกล่าวในคำพิพากษาว่า :

‘อันชายสองหญิงเดี่ยว อยู่ในที่เปลี่ยว หรือจะพ้นมือชาย’.

(๓) การใช้ถ้อยคำในภาษากฎหมายให้เป็นระเบียบเดียวกันโดยตลอด

ในการร่างกฎหมาย, ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย กล่าวว่า :

‘...เมื่อผู้ร่างกฎหมายใช้ถ้อยคำอันใดในบทมาตราใดแล้ว ก็ต้องใช้ถ้อยคำอันเดียวกันนั้น ในบทมาตราอื่นตลอดไปในร่างกฎหมายนั้น ให้ได้ความหมายถึงเรื่องอย่างเดียวกันไม่ควรใช้ถ้อยคำสอง หรือหลายคำ สำหรับความหมายอย่างเดียวกัน เพราะศาลหรือเจ้าพนักงานที่จะใช้กฎหมายนั้นในเวลาภายหน้า อาจจะเข้าใจว่าเมื่อผู้ร่างกฎหมายใช้ถ้อยคำหลายคำ ก็คงจะมุ่งหมายให้มีความหมายแตกต่างกัน ในทางที่กลับกัน ในการร่างกฎหมายอันเดียวกัน ผู้ร่างกฎหมายก็ไม่ควรใช้ถ้อยคำอันเดียวกันให้มีความหมายหลายความหมาย ฯลฯ.’๓๐

ในกฎหมายฉบับเดียวกัน, กรณีที่ควรใช้ถ้อยคำคำเดียวกันสำหรับเรื่องที่มีความหมายอย่างเดียวกัน, แต่ผู้ร่างใช้ถ้อยคำต่างกันก็มีเป็นจำนวนมาก. เช่น, ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ใช้คำว่า ‘กระทบกระทั่ง.’ แต่ในมาตรา ๑๗๐ กลับใช้คำว่า ‘กระทบ’ เท่านั้น.๓๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕ ใช้คำว่า ‘บุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถ’, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕ ใช้คำว่า ‘บุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถ’, และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๖ ใช้คำว่า ‘บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ’ เป็นต้น. ยิ่งกว่านั้น, ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา ๑๓๗, คำว่า ‘ผู้ไร้ความสามารถ’, หาได้หมายความถึง ‘คนไร้ความสามารถ’ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ เท่านั้นไม่, หากแต่หมายความรวมถึงผู้เยาว์, หญิงมีสามี และคนเสมือนไร้ความสามารถด้วย. เรื่องนี้ ถ้าพิจารณาต้นร่างฉบับภาษาอังกฤษประกอบจะเห็นได้ชัดเจน๓๒. นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, บรรพหนึ่ง, กล่าวถึง ‘ผู้เยาว์’, และ ‘ผู้แทนโดยชอบธรรม’ , แต่บรรพหก, กลับไปใช้คำว่า ‘เด็ก’, และ ‘ผู้ใช้อำนาจปกครอง’ เหล่านี้เป็นต้น.

อนึ่ง, ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๑, ใช้คำว่า ‘คดีเสร็จเด็ดขาด’, แต่มาตรา ๓๙ (๔) ใช้คำว่า ‘คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด’, ส่วนมาตรา ๓๘ ใช้คำว่า, ‘คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด’, และในมาตรา ๓๕ วรรค ๒, ๑๑๘, ๒๔๕, ๒๕๙ และ ๒๖๒ กลับใช้คำว่า ‘คดีถึงที่สุด’ ดังนี้ เป็นอาทิ.

ในทางปฏิบัติ มักจะมีข้อยุ่งยากเสมอว่า, กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้คำเหล่านี้มีความหมายอย่างเดียวกันหรือต่างกัน.

ในกฎหมายต่างฉบับกัน, บางครั้งกฎหมายใช้ถ้อยคำในประเด็น ที่มุ่งประสงค์เช่นเดียวกัน ต่างกัน, เช่นคำว่า ‘กระทบกระเทือน’ ซึ่งใช้เมื่อประสงค์จะกล่าวถึงผลของกฎหมายใดว่ากระทบกระเทือนถึงผลของกฎหมายอื่นอย่างไรบ้าง, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๑๒, มาตรา ๑๔, และพระราชบัญญัติอื่น ๆ เช่น, พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖, มาตรา ๗๒ ใช้คำนี้, แต่กฎหมายบางฉบับกลับใช้คำว่า ‘กระทบกระทั่ง’ เช่นพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕, มาตรา ๒๘, พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔๐, และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๘, เป็นต้น เรื่องนี้หากพิจารณาโดยหลักการอันชอบด้วยเหตุผลแล้ว, แม้จะเป็นกฎหมายต่างฉบับกัน, แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน, ก็ควรจะใช้คำเดียวกัน. โดยเฉพาะในที่นี้ น่าจะใช้คำว่า, ‘กระทบกระเทือน’ มากกว่า, เพราะคำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำแปลไว้ว่า ‘กระเทือนไปถึง’, ซึ่งตรงกันกับเรื่องกล่าว คือ ผลของกฎหมายที่ตราขึ้นนั้น กระเทือนไปถึงผลแห่งกฎหมายฉบับอื่น ๆ หรือไม่. ส่วนคำว่า ‘กระทบกระทั่ง’ พจนานุกรม ฯ แปลว่า ‘ถูกต้องเข้า’, ซึ่งเมื่อใช้คำนี้ กรณีย่อมไม่ตรงกับเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวถึง.๓๓

อนึ่ง กฎหมายประเภทเดียวกัน, แม้ต่างฉบับกัน, แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ก็สมควรจะใช้ถ้อยคำคำเดียวกัน, เช่นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งใช้คำว่า ‘รับฟ้อง’, ‘แถลงการณ์ด้วยวาจา’ และ ‘พยานผู้เชี่ยวชาญ’, ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ชอบที่จะใช้คำคำเดียวกันในเมื่อมุ่งหมายถึงเรื่องในลักษณะเดียวกัน, แต่กรณีหาเป็นเช่นนั้นไม่, กล่าวคือ กลับไปใช้คำว่า ‘ประทับฟ้อง’, ‘แถลงการณ์ด้วยปาก’ และ ‘ผู้ชำนาญการพิเศษ’ ตามลำดับ.

ในทางกลับกัน, คำคำเดียวกัน บางกรณีใช้โดยมีความมุ่งหมาย ที่จะให้มีความหมายต่างกันก็มี ตัวอย่างเช่น, คำว่า ‘เงื่อนไข’ ดังกล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยพจนานุกรม ฯ. ตามมาตรา ๑๔๔, และมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, หมายถึง เหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน อันทำให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผล. แต่ตามมาตรา ๗๐๖ แห่งประมวลกฎหมายฉบับเดียวกันนี้, คำว่า ‘เงื่อนไข’ ในบทบัญญัตินั้นบ่งชัดตามเนื้อความว่าเป็นเรื่องข้อไข, หรือข้อแม้, และมิใช่เหตุการณ์ในอนาคตดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๔, ทั้งถ้อยคำในตัวบทภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า ‘condition’ เหมือนกัน.

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผิดวิธีการร่างกฎหมาย ดังที่ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัยกล่าว และเป็นเรื่องที่นักกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติ สมควรจะได้แก้ไขกันต่อไป.

นอกจากนั้น, แม้ในภาษาธรรมดาที่นักกฎหมายใช้, ก็มีแง่คิดอยู่เหมือนกันว่า ในเรื่องเดียวกัน, เหตุใดจึงไม่ใช้คำคำเดียวกัน ? ตัวอย่างเช่น, ข้อสอบไล่วิชากฎหมายของสถาบันอบรมศึกษากฎหมายแห่งหนึ่ง, กล่าวว่า ในระหว่างสัญญาขายฝาก, ช้าง ๑ เชือกตกลูก ๑ ตัว ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ถ้าเป็นช้าง (ช้างพัง ?) ต้องใช้คำว่า ‘เชือก’, ถ้าเป็นลูกช้าง ต้องใช้คำว่า ‘ตัว’. ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง, จะใช้ลักษณะนามสำหรับช้างพลายว่ากระไร ? และถูกช้างอายุกี่ขวบ จึงจะเปลี่ยนฐานะจาก ‘ตัว’ เป็น ‘เชือก’ ? พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่า ‘เชือก’ ไว้เพียงว่า เป็นลักษณะนาม เรียกช้างบ้านว่าเชือกหนึ่ง, สองเชือก แต่มิได้ให้ความกระจ่างมากกว่านี้๓๔ ผู้เขียนรู้สึกว่า เป็นเคราะห์ดีของท่านกรรมการสอบไล่รายนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า, ถ้าไปเรียกช้างเป็นตัวตัวเช่นนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว, จะต้องรับโทษทัณฑ์สถานใดบ้างก็สุดที่จะคาดหมายได้, ด้วยเหตุที่มีหมายรับสั่ง ณ วันจันทร์, เดือน ๗, แรม ๙ ค่ำ, ปีขาลฉศก ว่า

‘... ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าให้หมายประกาสแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ให้รู้จงทั่วกันว่า ช้างม้านี้เป็นสัตว์มีชาติมีสกุล ไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่ง สองตัว ให้เรียกว่าช้างหนึ่ง สองช้าง ม้าหนึ่ง สองม้า แต่สัตว์เดียรฉานนอกจากช้างม้านั้น ให้เรียกว่าตัวหนึ่ง สองตัว ฯลฯ’.

(๔) การใช้ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมาย

หลักการในเรื่องนี้มีปรากฏในข่าวศาล, ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว.๓๕ ในปัจจุบัน คำบางคำไม่นิยมใช้ในกฎหมายกันแล้ว, เช่นคำว่า ‘เจ้าทุกข์’, หรือ ‘เจ้าทรัพย์’, น่าจะใช้คำว่า ‘ผู้เสียหาย’ แทน.๓๖ ที่ใช้ผิดพลาดกันมาก ก็เห็นจะได้แก่การเรียกชื่อกฎหมาย. เรื่องที่เห็นง่ายที่สุด ได้แก่การเรียกชื่อกฎหมายลักษณะอาญา, ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้เอง, มาตรา ๑ บัญญัติว่า ‘ให้เรียกพระราชบัญญัตินี้ว่า กฎหมายลักษณะอาญา’ แต่บุคคลทั่วไป, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในหมู่นักกฎหมายเรียกกันว่า, ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗’. แม้ในปัจจุบัน, คำว่า ‘ประมวลกฎหมายอาญา’ ก็ยังมีนักกฎหมายเรียกกันผิดๆ ว่า ‘ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙’, ซึ่งเป็นเรื่องที่สับสนกันกับ ‘พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙’, คำว่า ‘พ.ศ. ๒๔๙๙’ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของชื่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา, และมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อประมวลกฎหมายอาญา, ดังจะเห็นได้จากตัวพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ และจาก ประมวลกฎหมายอาญา เองว่า, ระบุหรืออ้างถึงแต่เฉพาะ ‘ประมวลกฎหมายอาญา’ เท่านั้น.

ในทำนองเดียวกัน, แทนที่จะเรียกว่า ‘ประมวลกฎหมายที่ดิน’, กลับไปเรียกผิดพลาดว่า, ‘ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗’.

โดยปกติ, กฎหมายทุกฉบับจะมีบทบัญญัติในมาตราแรก, หรือ ในพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายนั้น ๆ อยู่แล้วว่า ให้เรียกว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม, มักจะมีปัญหาเสมอว่า, ในกรณีที่มีกฎหมายออกมา แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่แล้วนั้น, ทั้งนี้จะอ้างอิงกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นประการใด ? ศาลอุทธรณ์เคยวางแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้ว่า: ‘การอ้างเรียกชื่อตัวบทกฎหมาย ดังที่จะได้เขียนลงไว้ในคำพิพากษานั้น, สำหรับมาตราที่มีบทกฎหมายใหม่ยกเลิกเนื้อความเดิมแล้ว, บัญญัติเนื้อความใหม่ใส่แทนไว้แทนเนื้อความเก่าที่ยกเลิก, ถ้าจะอ้างกฎหมายเช่นนั้น, จะเรียกเพียงชื่อมาตราที่เท่านั้น ก็นับว่าพอแล้ว. แต่ถ้าจะเขียนชื่อกฎหมายใหม่ซึ่งแก้ไขข้อความลงไปด้วย, ก็ควรจะเรียกชื่อมาตราเดิม แล้วต่อคำลงไปว่า, ‘ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ฯลฯ มาตรา...’, จะเรียกระบุแต่ชื่อกฎหมายใหม่ ซึ่งแก้ไขพร้อมกับระบุมาตราตามกฎหมายใหม่ไปเท่านั้นยังไม่พอ.’

ตัวอย่างการอ้างกฎหมายที่ถูกต้อง

‘พระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด, ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐, มาตรา ๗๒, แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน, วัตถุระเบิด, ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐, มาตรา ๓’, หรือ

‘พระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐, มาตรา ๗๒.’

เหตุที่ไม่อ้างถึงกฎหมายใหม่เลย, ก็เพราะถือว่ากฎหมาย ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ในขณะที่อ้างถึงจะต้องมีบทบัญญัติตามที่กฎหมายใหม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้น, และการแก้ไขเพิ่มเติมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ศาลต้องรู้เองด้วย.

อย่างไรก็ตาม, ถ้าหากเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติมาตราใหม่เพิ่มเติมขึ้นจากเดิม, จำเป็นต้องอ้างมาตราที่เพิ่มเติมนั้นด้วย, เช่น:

‘พระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด, ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน, พ.ศ. ๒๔๙๐, มาตรา ๗๒ ทวิ, แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด, ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐, มาตรา ๔’;

หรือ ‘พระราชบัญญัติอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด, ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐, มาตรา ๗๒ ทวิ’.

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า, สำหรับฝ่ายผู้ร่างกฎหมายเอง, อ้างแต่เพียงกฎหมายใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติม, แต่ไม่อ้างมาตราที่เกี่ยวข้องของกฎหมายใหม่นั้นด้วย, เช่น กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙), ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช ๒๔๗๗ กล่าวว่า :

‘อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก แก้ไขเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๗๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ฯลฯ’.

การละเว้นไม่อ้างมาตราของกฎหมายใหม่ ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในลักษณะเช่นนี้, ก็ยังมีข้อน่าข้องใจอยู่ว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับกฎหมาย ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังอีกหลายครั้ง คือ, ในสมัยเดิม, มีการอ้างถึงกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมมาตามลำดับทุกฉบับ ดังเช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในการร่างกฎหมายของอังกฤษ ดังได้นำตัวอย่างมาแสดงไว้ข้างต้นแล้ว. ตามทางปฏิบัติในสมัยต่อมา ในกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่นั้นอ้างถึงเฉพาะกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายว่า : ‘...ได้แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายโดยพระราชบัญญัติ ฯลฯ’ ซึ่งรัดกุมขึ้น แต่ในปัจจุบัน, ใช้แต่เพียงว่า ‘แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ...ฯลฯ’ ดังที่ปรากฏในตัวอย่างที่อ้างข้างต้น, ผู้เขียนเห็นว่าแบบปัจจุบัน สั้น กะทัดรัด และชัดเจนดี.

ในกรณีที่กฎหมายได้รับการแก้ไข โดยผู้ร่างกฎหมายมีความจำเป็นต้องแทรกข้อความใหม่เข้าไปเป็นหมวดใหม่, บทใหม่, หรือมาตราใหม่ระหว่างบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วนั้น, ข้อความใหม่ที่แทรกเข้าไป ก็เรียกตามหมายเลขของบทบัญญัติเดิมที่มาก่อน และ ต่อท้ายคำว่า ‘ทวิ’, ‘ตรี’, ‘จัตวา’, ‘เบญจ’, ‘ฉ’, ‘สัตต’, ฯลฯ ตามลำดับ, ตัวอย่างเช่น :

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔: ‘มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๖ ทวิ และมาตรา ๖๐ ทวิ กับมาตรา ๖๐ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๔๙๗ ตามลำดับ’

‘หมวด ๖ ทวิ

มาตรา ๖๐ ทวิ...

มาตรา ๖๐ ตรี...’

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) : ‘มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทที่ ๓ ทวิ มาตรา ๕๗ ทวิ และมาตรา ๕๗ ตรี ของส่วนที่ ๓ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖’

‘บทที่ ๓ ทวิ

............

มาตรา ๕๗ ทวิ...

มาตรา ๕๗ ตรี...’

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๐๘ : ‘มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๘ ตรี มาตรา ๗๘ จัตวา มาตรา ๗๘ เบญจ มาตรา ๗๘ ฉ มาตรา ๗๘ อัฏฐ มาตรา ๗๘ นว มาตรา ๗๘ ทศ มาตรา ๗๘ เอกาทศ มาตรา ๗๘ ทวาทศ มาตรา ๗๘ เตรส และมาตรา ๗๘ จตุทศ แห่งประมวลรัษฎากรตามลำดับ

มาตรา ๗๘ ตรี

มาตรา ๗๘ จัตวา

มาตรา ๗๘ ฉ

ฯลฯ’

พึงสังเกตว่า ถ้าหากข้อความใหม่ที่แทรกเข้าไปนั้น มีเพียงตอนเดียว, เป็นต้นว่า มาตราที่จะแทรกสมควรจะอยู่ระหว่างมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ที่มีอยู่แล้ว, มาตราที่แทรกที่เรียกว่า มาตรา ๔ ทวิ ถ้าหากมาตราที่จะแทรกซึ่งสมควรอยู่ระหว่างมาตรา ๔ และมาตรา ๕ นั้นมีหลายมาตรา, มาตราที่แทรกก็เรียกว่า มาตรา ๔ ทวิ, มาตรา ๔ ตรี, มาตรา ๔ จัตวา, และต่อไปตามลำดับ. ปัญหาน่าคิดมีต่อไปว่า ถ้าในการแก้ไขครั้งแรกได้เพิ่มมาตรา ๔ ทวิ, มาตรา ๔ ตรี และมาตรา ๔ จัตวา, ไว้แล้ว, ในการแก้ไขครั้งที่สองมีข้อความที่ต้องเพิ่มเป็นอีกมาตราหนึ่งระหว่างมาตรา ๔ ทวิ และมาตรา ๔ ตรี จะทำอย่างไร ? เรื่องนี้ในทางปฏิบัติ, จะต้องยกเลิกมาตรา ๔, มาตรา ๔ ทวิ, มาตรา ๔ ตรี, มาตรา ๔ จัตวา นั้นทั้งหมดก่อน แล้วจึงบัญญัติใหม่, เป็นมาตรา ๔, มาตรา ๔ ทวิ, มาตรา ๔ ตรี, มาตรา ๔ จัตวา, และมาตรา ๔ เบญจ, และจัดเนื้อความใหม่ให้เรียงไปตามลำดับที่ประสงค์.

อันการใช้ถ้อยคำที่ปรากฏในกฎหมายนี้, ยังป้องกันการขัดเขินในการใช้ภาษากฎหมายได้ดียิ่งด้วย, เพราะภาษาในตัวบทกฎหมายนั้น, โดยปกติก็ได้รับการอภิปรายและการกลั่นกรองอย่างประณีตบรรจง จากผู้เชี่ยวชาญในการร่างกฎหมายมาหลายชั้นแล้ว. การใช้ถ้อยคำอื่น อาจมีช่องโหว่, หรือมีปัญหาได้. ตัวอย่างเช่น, ในธนบัตรของรัฐบาลไทยซึ่งเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายนั้น ได้จัดพิมพ์โทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตรไว้ด้วยว่า :

‘โทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร คือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงยี่สิบปี หรือปรับอย่างสูงสี่หมื่นบาท’.

ปัญหาน่าคิดก็คือ, โทษจำคุกตลอดชีวิตมิใช่โทษจำคุกอย่างสูงหรือ ? ถ้าใช่, จะมีโทษจำคุกอย่างสูงยี่สิบปีได้อย่างไร ? ข้อความทั้งสองตอนนี้น่าจะขัดกันอยู่ในตัว. ถ้าหากใช้ถ้อยคำในกฎหมายโดยตรงแล้ว, จะไม่มีปัญหานี้เลย. ตามประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา ๒๔๐, และ มาตรา ๒๔๑, บัญญัติเรื่องโทษฐานปลอม และ แปลงธนบัตรว่า ‘ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท’. และ ‘ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท’. ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายอาญามิได้ใช้ถ้อยคำดั่งที่ใช้ในธนบัตร. โดยเหตุที่โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกอย่างสูงอยู่แล้ว. แต่เหตุที่กฎหมายจำต้องแยกโทษจำคุกตลอดชีวิต, ออกมาจากโทษจำคุกอื่น ๆ อีกประเภทหนึ่ง, ก็เนื่องด้วย การลดโทษก็ดี, การเพิ่มโทษก็ดี, กฎหมายมีวิธีการคำนวณสำหรับโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษจำคุกอื่น ๆ แตกต่างกันประการหนึ่ง๓๗ และอีกประการหนึ่งกฎหมายประสงค์จะกำหนดโทษเป็นขั้น ๆ ให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจเลือกโทษ ให้เหมาะสมตามความหนักเบาของความผิด และพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป.

อนึ่ง การพิมพ์ เรื่องระวางโทษฐานปลอม หรือ แปลงธนบัตรไว้ในธนบัตรนี้, น่าจะกล่าวถึงอัตราโทษขั้นต่ำไว้ด้วย, เพื่อเป็นการเตือนใจผู้คิดปลอมธนบัตร ให้บังเกิดความหวาดเกรงอาญาแผ่นดิน เพราะศาลจะลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำในกฎหมายมิได้, เว้นแต่จะมีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษประการอื่น. มิฉะนั้นก็ไม่ควรกล่าวเรื่องโทษไว้เลยดั่งเช่นในธนบัตรฉบับละหนึ่งร้อยบาทแบบใหม่ เพราะถือได้ว่าทุกคนต้องรู้กฎหมายอยู่แล้ว.

ส่วนการใช้ถ้อยคำอื่น ๆ นอกจากที่ใช้ในกฎหมาย เพื่อความไพเราะนั้น เป็นเรื่องของวรรณคดี, หรือวรรณกรรมประเภทอื่นๆ มากกว่าในภาษากฎหมายไทย, ซึ่งต้องการความแจ้งชัด, รัดกุม, และความสั้น กะทัดรัด ของภาษามากกว่าคุณลักษณะอื่นใดทั้งสิ้น.

โปรดพิจารณาอุทาหรณ์ต่อไปนี้:

‘เพราะฉะนั้น ศาลจะฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากนี้ได้อย่างไรกัน ในเมื่อคำแถลงรับนั้น ย่อมเป็นเสมือนราชินีแห่งข้อพิสูจน์ อะไรเล่าจะน่าเชื่อเท่ากับคำแถลงรับโดยสมัครใจ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้น ก็มีความจำเป็นเฉพาะข้อที่ไม่รับกันเท่านั้น’.

ในแง่กลับกัน, ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัยได้ให้แง่คิดในเรื่องการร่างกฎหมายไว้อย่างมีเหตุผลว่า : ‘ข้อที่ควรระลึกมีว่า ถ้อยคำใดที่มีตำรากฎหมาย หรือคำพิพากษาให้มีความหมาะอย่างใดไว้แล้ว เมื่อผู้ร่างกฎหมายใช้ถ้อยคำนั้น ก็หมายความว่า ได้ยอมรับให้ถ้อยคำมีความหมายเช่นนั้น ถ้าประสงค์จะให้มีความหมายอย่างอื่น ก็ต้องหาถ้อยคำอื่นมาใช้ หรือเขียนบทวิเคราะห์ศัพท์ แสดงความหมายไว้ให้ชัดเจนว่า ประสงค์จะให้มีความหมายอย่างนั้น’.๓๘ ปรากฏว่าเคยมีสมาชิกรัฐสภาบางนาย ซึ่งเป็นกรรมาธิการของรัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายบางฉบับทักท้วงว่า, กฎหมายที่แก้ไขกฎหมายที่ใช้อยู่นั้น, มีแต่เฉพาะเรื่อง ‘การแก้ไข’, เท่านั้น หรือมีเฉพาะเรื่อง ‘การเพิ่มเติม’ เท่านั้น, เหตุใดจึงต้องใช้คำว่า ‘แก้ไขเพิ่มเติม’ และไม่ใช้แต่เฉพาะคำว่า ‘แก้ไข’, หรือคำว่า ‘เพิ่มเติม’ คำใดคำหนึ่ง แล้วแต่กรณี, ความเห็นของท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ข้างต้นย่อมเป็นอรรถาธิบายที่แจ่มแจ้งแล้ว.

อุปสรรคของการใช้ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมาย

เรื่องการใช้ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายนี้ยังมีปัญหายุ่งยากที่น่าจะพิจารณาด้วยในโอกาสนี้สองประการคือ :

ประการแรก : ในกรณีที่กฎหมายใช้ถ้อยคำในเรื่องเดียวกันลักลั่นกัน ดังกล่าวแล้วในเรื่องคุณลักษณะประการที่สาม ของโวหารกฎหมายที่ดีนั้น, เราสมควรจะเลือกใช้ถ้อยคำใด ?

ประการที่สอง : ในกรณีที่ยังมีข้อข้องใจว่า, กฎหมายใช้ถ้อยคำใดในเรื่องใด อย่างไร, เมื่อกล่าวอ้างถึง จะควรใช้ถ้อยคำอย่างไร ?

สำหรับปัญหาแรก, เมื่อถ้อยคำที่ใช้ต่างกันหรือลักลั่นกันอยู่ในเรื่องเดียวกัน, โดยสามัญสำนึกเราก็น่าจะใช้ถ้อยคำที่ใช้ในบัญญัติ ที่เราประสงค์จะใช้อ้างอิงนั้นเองเป็นสำคัญ, มิฉะนั้นก็ควรใช้ถ้อยคำที่ตรงกับความหมาย ซึ่งเราประสงค์จะแสดงออก.

สำหรับปัญหาที่สองนั้น จะประสบในกรณีที่กฎหมายอ้างเรื่องต่างๆ ดังนี้เช่น, อนุมาตรา, ข้อ, และวงเล็บ เป็นต้น, ซึ่งพิจารณาได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้ :

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, มาตรา ๒๑, ซึ่งอ้างถึงข้อความในมาตรา ๒๑ เองว่า: ‘ในกรณีเรื่องใด ที่ศาลอาจออกคำสั่งได้เองหรือต่อเมื่อคู่ความมีคำขอ ให้ใช้บทบัญญัติ อนุมาตรา (๒) (๓) และ (๔) แห่งมาตรานี้บังคับ’, แต่เมื่ออ้างถึงข้อความในมาตรา ๑๘๑, มาตรา ๒๑ นั่นเองกลับใช้ถ้อยคำว่า : ‘ในกรณีเรื่องใดที่คู่ความไม่มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่ง แต่หากศาลอาจมีคำสั่งในกรณีเรื่องนั้นได้เอง ให้ศาลมีอำนาจภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๐๓ และ ๑๘๑ (๒) ที่จะงดฟังคู่ความหรืองดทำการไต่สวนก่อนออกคำสั่งได้’. ส่วนมาตรา ๕๘ อ้างถึงข้อความในมาตรา ๕๗ ตอนหนึ่งว่า ‘ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๑) และ (๓) แห่งมาตราก่อนนี้’, แต่ในมาตรา ๑๗๗ กลับอ้างถึงข้อความในมาตรา ๕๗ นี้ว่า : ‘บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอก ที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๗ (๓) โดยอนุโลม’, ดังนี้. จะถือว่าถ้อยคำที่ว่า ‘...๑๘๑ (๒)’ และ ‘มาตรา ๕๗ (๓)’ นั้น, เป็นอนุมาตรา หรือเป็น ‘ข้อ’ หรือเป็น ‘วงเล็บ หรือเรียกประการอื่น ? ท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านถือว่า, ข้อความที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งสองเรื่องเป็น อนุมาตรา, หากแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้จัดเรื่องนี้ไว้ให้เป็นระเบียบเท่านั้น.

โปรดพิจารณาความใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ ต่อไปนี้ :

‘มาตรา ๒๙๗ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี

อันตรายสาหัสนั้น คือ

(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือ เสียฆานประสาท

(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

(๔) ......

ฯลฯ....’

ถ้าหากเราประสงค์จะอ้างเรื่อง เสียอวัยวะอื่นใด, จะอ้างอย่างไร ? เรื่องนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอ้างดังนี้ : ‘มาตรา ๒๙๗ (๓)’,๓๙ ส่วนการอ่าน ศาลฎีกาอ่านว่า ‘มาตรา ๒๙๗ อนุมาตรา ๓’.๔๐ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อศาลฎีกา, ผู้เขียนเห็นว่า เรื่อง ‘เสียอวัยวะอื่นใด’ นี้ เป็นเพียงข้อหนึ่งในวรรคสองของมาตรา ๒๙๗ เท่านั้น จึงสมควรอ้างว่า ‘มาตรา ๒๙๗ วรรคสอง (๓)’ สำหรับ ‘(๓)’ นี้อ่านว่า ‘วงเล็บสาม’. ที่ผู้เขียนอ่านว่า ‘วงเล็บสาม’, เพราะโดยสภาพแล้ว เรื่องเสียอวัยวะมิใช่เรื่องที่ มาตรา ๒๙๗ จัดแบ่งเป็นส่วนสัด, เป็นข้อ ๆ แบบอนุมาตรา, หากแต่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของวรรคสอง.

โปรดสังเกตความใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต่อไปนี้:

มาตรา ๘๙ :

‘ถ้าคู่ความฝ่ายใดอันมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลัง ประสงค์จะสืบพยานของตน (ก) เพื่อหักล้าง หรือเปลี่ยนแปลง แก้ไขถ้อยคำพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อน ในข้อความทั้งหลาย ซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น หรือ (ข) เพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำ หรือหนังสือ...

......

...... ฯลฯ’

มาตรา ๑๘๐ :

‘การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลแต่แรกนั้น ให้ทำเป็นคำร้อง

ถ้าศาลเห็นว่า (๑) คำฟ้องที่เสนอแต่แรก และคำฟ้องที่เสนอภายหลังโดยทำเป็นคำร้องนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือ (๒) คู่ความที่ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การอาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยาน แล้วแต่กรณี และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย’.

ดังนี้, จะอ้างถึง (ก) และ (ข) ในมาตรา ๘๙, และ (๑) และ (๒), ในมาตรา ๑๘๐ อย่างไร ? ในทางปฏิบัติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการร่างกฎหมายของรัฐบาล อ่านว่า ‘มาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง วงเล็บ กอ...วงเล็บ ขอ.’ และ ‘มาตรา ๑๘๐ วรรคสอง วงเล็บหนึ่ง...วงเล็บสอง’. สำหรับคำว่า ‘ข้อ’ นั้น, ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสงวนไว้ใช้ในกฎกระทรวงโดยเฉพาะ.

อนึ่งนอกจากเรื่องอนุมาตรา, ข้อ, และ วงเล็บแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่อง วรรค อีกด้วย, กล่าวคือ, ในกรณีที่ในมาตราหนึ่งมีเกินกว่าสองวรรค, เราจะเรียกวรรคแต่ละวรรคว่าอย่างไร ? ในทางปฏิบัติ ฝ่ายนิติบัญญัติจัดเป็นสองแบบด้วยกันคือ :

แบบที่หนึ่ง : เรียกว่า วรรคแรก๔๑ วรรคสอง วรรคสาม วรรคสุดท้าย.๔๒

แบบที่สอง: เรียกว่า วรรคหนึ่ง๔๓ วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่.

นอกจากนี้ ในกรณีที่วรรคถัดไปอ้างถึงวรรคที่มาก่อน, บางครั้งกฎหมายเรียกชื่อวรรคตามลำดับของวรรค, เช่น ‘วรรคสาม’ ‘วรรคสี่’๔๔ บางคราวก็อ้างว่า ‘วรรคก่อน’.๔๕ ในกรณีที่กฎหมายใช้คำว่า ‘วรรคก่อน’, หากในมาตรานั้นมีหลายวรรค, บางครั้งอาจก่อให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าหมายถึงวรรคใดที่อยู่ก่อนวรรคที่อ้างถึงนั้น. ยกตัวอย่างเช่น, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ แบ่งออกเป็น ๓ วรรค ในวรรคสามอ้างถึง ‘บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้’, เคยมีปัญหาว่า ‘วรรคก่อน’ นั้นหมายถึง วรรคหนึ่ง, หรือวรรคสอง ? โดยเฉพาะในประเด็นตามมาตรานี้, ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าหมายถึง วรรคสอง.๔๖

ผู้เขียนมีความเห็นว่า, เพื่อขจัดข้อเคลือบคลุมสงสัยอันอาจมีได้ดังกล่าว, และเพื่อความเป็นระเบียบเดียวกัน, ในตัวบทกฎหมายเอง น่าจะเรียกและอ้างถึงวรรคต่าง ๆ ในแต่ละมาตราว่า ‘วรรคหนึ่ง’, ‘วรรคสอง’, ‘วรรคสาม’, ‘วรรคสี่’ ฯลฯ, ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า, วรรคนั้นเป็นวรรคแรกหรือวรรคสุดท้าย, ดังที่ปฏิบัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันหรือไม่.

อนึ่ง ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า, น่าที่จะถึงเวลาแล้วที่คณะกรรมการกฤษฎีกา จะได้พิจารณาจัดวางระเบียบ ในเรื่องการร่างกฎหมายให้เรียบร้อย, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายแต่ละฉบับ และการแบ่งแยกมาตรา, อนุมาตรา, วรรค, วงเล็บ, และข้อ, มิฉะนั้น ในทางปฏิบัติ อาจมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ. ท่านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งบางท่านเห็นว่า, เรื่องเหล่านี้สมควรให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการร่างกฎหมายแต่ละคณะ, ผู้เขียนมีความเห็นว่า, ถ้าเป็นเรื่องของการร่างกฎหมายโดยทั่วไป, ก็น่าจะเป็นไปตามความเห็นดังกล่าว, แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของ ‘แบบ’ แล้ว, สมควรที่จะมีการจัดระเบียบแบบแผนโดยเฉพาะ, เพื่อป้องกันข้อข้องใจของผู้ใช้กฎหมาย และเพื่อความมีระเบียบดังกล่าวแล้วข้างต้น. สำหรับการร่างกฎหมายของอังกฤษ, ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องของ ‘แบบ’ แล้ว มีแนวปฏิบัติอันแน่นอน, ดังเช่นเรื่องมาตรา, อนุมาตรา, วรรค, และข้อ, ในแต่ละวรรคที่พิจารณามาแล้ว เป็นต้น.๔๗ การวางระเบียบในเรื่องนี้, หาทำให้คณะกรรมการร่างกฎหมายเสียสิทธิ หรือถูกริดรอนดุลพินิจไปแต่ประการใดไม่, ถ้าหากการวางระเบียบนั้นเป็นไป โดยเสียงข้างมากของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายครบคณะ).

(๕) การใช้ภาษาที่สุภาพนุ่มนวล

อันที่จริง, เรื่องความสุภาพนุ่มนวลนี้ อาจเห็นกันว่าเป็นเรื่องสามัญสำนึก ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้เลย. แต่ถ้าพิจารณาอีกแง่หนึ่งว่า เรื่องของกฎหมายนั้น จะใช้กันก็ต่อเมื่อมีความขัดกัน, มีข้อพิพาท. เรื่องของอารมณ์รุนแรง ที่แสดงออกในการโต้แย้ง, คัดค้าน, มักจะมีตามมาเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในคำคู่ความ, และการอภิปราย, หรือออกความเห็นเกี่ยวกับปัญหากฎหมาย. การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมักมีบ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดทั้งมารยาท และพลาดทั้งด้านจิตวิทยา. น่าจะกล่าวได้ว่า, เรื่องโต้เถียงปัญหากฎหมายนั้น ถ้าฝ่ายไหนโกรธ ฝ่ายนั้นแพ้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง, โดยเหตุที่ว่าในขณะที่เถียงกันนั้น, ฝ่ายที่โกรธมิได้โต้เถียงด้วยเหตุผลแล้ว, หากแต่เป็นเรื่องของความหน้ามืดและความเป็นทาสของอารมณ์ ต้องการจะเอาชนะด้วยวิธีใดก็ตาม. ในท้ายที่สุด, กลายเป็นเรื่องเอาชนะกันด้วยกำลัง, อาจเป็นกำลังปาก, อาจเป็นกำลังถ้อยคำที่รุนแรง, หรือบางครั้งอาจเป็นกำลังกาย ก็เคยมีปรากฏอยู่เป็นนิตย์. หากเราย้อนกลับมาพิจารณา ในแง่ของคนกลาง, ย่อมเห็นได้ชัดว่า, การใช้ถ้อยคำรุนแรง, ขาดความสุภาพนุ่มนวลนั้น, ไม่ว่าในพฤติการณ์เช่นใด ย่อมไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง, ทั้งไม่เป็นประโยชน์อันใด ต่อฝ่ายที่กล่าวเลยแม้แต่น้อย. ตรงกันข้าม, ผู้ฟังย่อมรู้สึกอิดหนาระอาใจ, หรืออาจจะสงสารฝ่ายที่สุภาพนุ่มนวลก็เป็นได้.

อนึ่ง การตำหนิหรือวิจารณ์บุคคลนั้น, ถ้าใช้ถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล, โดยปกติย่อมได้ผลดีกว่า การใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือหยาบคาย, และผู้ที่ได้รับการตำหนิหรือวิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล, มักรู้สึกสำนึกผิด หรือสะเทือนใจมากกว่า.

การใช้ถ้อยคำเสียดสีหรือไม่สุภาพเคยมีปรากฏในคำคู่ความเป็นครั้งคราวเหมือนกัน. จนกระทั่งบางกรณีอาจกลายเป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาลไปก็ได้.

โปรดพิจารณาข้อความซึ่งคัดมาจากคำคู่ความต่อไปนี้ :

‘...แผนที่ท้ายฟ้อง โจทกกเขียนส่งเดชไปอย่างนั้นเอง ฯลฯ’

‘...ฎีกาของจำเลยเสแสร้งแกล้งบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นข้อกฎหมาย ฯลฯ’

‘...จะฟังว่าคนแก่คนเฒ่าพูดเข้าพูดออกโกหกพกลมไม่เป็นได้อย่างไร เรื่องเพียงเท่านี้จำเลยยังปฏิเสธได้อย่างหน้าเฉยตาเฉย แล้วเรื่องร้ายแรงกว่านี้ ทำไมจำเลยจะไม่กล้าปฏิเสธเล่า.... ยังมีหน้ามาพูดว่า ยืมมาเข้าหุ้นซื้อที่ดินร่วมกัน ก็เมื่อคนแก่พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเช่นนี้ ศาล...ก็ยังตกลงปลงใจเชื่อได้สนิทว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ ทั้งๆ ที่มีสัญญากู้อยู่... ศาล...ก็เชื่อเสียจนสนิทสนมไปเลยว่า เป็นคนจริงจนถึงขนาดยกฟ้องโจทก์อย่างไม่ต้องสงสัย....’

‘โจทก์มีความเห็นว่า เหตุแห่งการลงลายพิมพ์นิ้วมือนั้น สำคัญมาก อยู่ๆ คนเราจะมาลงลายมือพิมพ์นิ้วมือให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ถึงจังหวัด...ไปเป็นของเล่นสนุกๆนั้น ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่วิญญูชนจะทำได้ นอกจากบุคคลประเภทนี้ไม่มีประโยชน์ในโลก และโลกเขาไม่พึงปรารถนาแล้ว จึงทำเล่นตามอารมณ์ไป...’

‘....การทำสัญญากู้ จะเป็นเศษกระดาษหรือเป็นกระดาษชำระดีๆ นี่เอง...’

‘...การพิมพ์ด้วยหมึกนั้น ต้องเป็นคนใช้ที่ถูกต้องตามวิธีการ จึงจะใช้ได้ ถ้าใช้ไม่เป็น พิมพ์ส่งเดชไป ก็ไม่ติดเหมือนกัน’

‘... การวินิจฉัยของศาล...คลาดเคลื่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ ศาล...มิได้คำนึงว่า เมื่อตอนกู้นั้นจำเลยอายุเพียง ๗๐ ปีที่ไหน อายุเพียง ๖๐ ปีเศษเท่านั้น คนแก่กู้เงินไม่เป็นหรือ ? หามีข้อพกพร่องตามกฎหมายไม่.... ฯลฯ’

ข้อความเหล่านี้, ศาเคยวินิจฉัยว่าเป็นข้อความที่ฟุ่มเฟือย, และไม่สุภาพ.

อีกคดีหนึ่ง, โจทก์ซึ่งเป็นหญิงผู้เสียหาย อายุ ๖๐ ปีเศษ, ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อละเมิดจากจำเลย, เนื่องจากจำเลยใช้ไม้ตีโจทก์แขนหัก, จำเลยให้การกระทบกระแทกโจทก์ในเรื่องนอกประเด็น ว่า :

...โจทก์มิได้มีอาการเจ็บป่วยมากมายแต่อย่างใด แต่ที่โจทก์เจ็บมาก ก็คือ เจ็บใจ ผูกใจเจ็บ เอากับจำเลย ...

...โจทก์เป็นคนชรา อายุถึง ๖๐ ปี เสมือนไม้ใกล้ฝั่ง หรือพืชที่สิ้นยางเพาะพันธุ์ไม่ขึ้นแล้ว ฯลฯ’.

เกี่ยวกับเรื่องความสุภาพนุ่มนวลนี้ มีแง่คิดอีกแง่หนึ่ง คือการขีดเส้นใต้ข้อความต่าง ๆ ที่เขียนไว้ เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นความสำคัญของข้อความนั้นๆ การปฏิบัติเช่นนี้มีความจำเป็นเพียงไร ? สำหรับในภาษาอังกฤษถือเป็นมารยาทในการเขียน ที่จะไม่ขีดเส้นใต้ข้อความเพื่อย้ำความสำคัญจนเป็นการพร่ำเพรื่อไป, เพราะเขาถือว่า ผู้อ่านพอที่จะจับความสำคัญของเนื้อเรื่องได้เอง โดยไม่ต้องเน้นโดยการขีดเส้นใต้, ถ้าหากจะมีการเน้น, ก็เน้นในเนื้อหา โดยการใช้ถ้อยคำเน้นแทนการขีดเส้นใต้. กรณีจะมีการขีดเส้นใต้ เพื่อบ่งให้เห็นความสำคัญนั้น, แม้จะมีบ้าง, ก็เป็นส่วนน้อยที่สุด. ปัญหามีว่า เราควรจะถือตามแนวนี้หรือไม่ ? อาจมีบางท่านแย้งว่า, แม้แต่ขีดเส้นใต้แล้ว, ผู้อ่านก็ยังไม่เห็นความสำคัญเลย, การย้ำด้วยถ้อยคำจะเกิดประโยชน์อันใด ? ความจริงอาจจะเป็นว่าผู้อ่านแลเห็นข้อความที่ขีดเส้นใต้เหมือนกัน, แต่เขาอาจไม่แลเห็นความสำคัญของข้อความนั้น ๆ หรือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขีดเส้นใต้ไว้เลย, กรณีจะเป็นไปได้หรือไม่ ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เป็นอันมาก.

น่าจะกล่าวได้ในเบื้องสุดท้ายนี้ว่า, ภาษาที่ใช้ ยิ่งสุภาพยิ่งนุ่มนวลเท่าใด ยิ่งมีเสน่ห์และยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเพียงนั้น.๔๘ และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น, การกล่าวอย่างมีสมบัติของผู้ดีนั้น, ย่อมเป็นศรีแก่ผู้กล่าวเอง.

(๖) ความสามารถจูงใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตามได้

เซอร์ อาเธอร์ ควิลเลอร์ คูช (Sir Arthur Quiller-Couch) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางอักษรศาสตร์นามอุโฆษท่านหนึ่งของอังกฤษสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวว่า, คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของ ภาษาร้อยแก้ว คือ, ความสามารถในการจูงใจ (persuasion), และมิใช่ความเป็นธรรมดังที่ไวเคานท์ แรดคลีฟ (Viscount Radcliffe) สนับสนุนนายคลั้ตตั้น-บร้อค (Clutton - Brock) ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ความสามารถในการจูงใจนี้ เซอร์ อาเธอร์ ควิลเล่อร์ คูช เห็นว่าสำคัญทั้งในบรรยายโวหาร (narrative), และในการอภิปราย (argument), แม้ในศาลยุติธรรม, การจูงใจเพื่อความยุติธรรม ย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น.๔๙ สำหรับโวหารกฎหมายโดยตรงนั้น, จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นตัวบทกฎหมายแล้ว, การให้เหตุผลเพื่อจูงใจว่าเหตุใดกฎหมายจึงบัญญัติไว้เช่นนั้น, หากมีความจำเป็นแต่ประการใดไม่, นอกจากจะก่อให้เกิดการโต้แย้งและทำให้กฎหมายนั้นๆเสียน้ำหนักไปเท่านั้น, ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามที่ปรัชญาเมธี มองเตสกิเออร์ กล่าวไว้, ดังได้นำมาแสดงในตอนต้นแล้ว.

สำหรับตัวบทกฎหมายของไทยโดยตรง, ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ได้กล่าวถึงการให้เหตุผลในกฎหมายนี้ว่า :

‘กฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสมัยเก่าๆ นั้น ในบางบทบางมาตราได้เขียนอธิบายเหตุผลของการที่บัญญัติข้อความเช่นนั้นไว้ในบทมาตรานั้นเอง แม้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เอง ก็เคยเขียนเหตุผลไว้ในบทมาตราเหมือนกัน แต่ผู้เขียนจำได้เพียงมาตราเดียวคือ มาตรา ๒๐๔ ซึ่งใช้คำว่า ‘ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว’ เป็นเหตุผลซึ่งไม่สมควรจะใส่ไว้ในกฎหมาย สำหรับบทกฎหมายนั้นความสำคัญอยู่ที่ว่าลูกหนี้ผิดนัดหรือไม่เท่านั้น ตามที่กล่าวมาแล้ว หมายความว่าไม่สมควรที่บทมาตราต่าง ๆ จะบัญญัติเหตุผลของการที่มีบทบัญญัตินั้นขึ้น เพราะการให้เหตุผลของการที่ควรมีบทบัญญัติขึ้นนี้ ควรจะเป็นเรื่องที่ผู้เสนอกฎหมาย ที่จะอธิบายต่อองค์การที่อนุมัติให้บัญญัติกฎหมายมากกว่า เช่นเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนที่จะอธิบายเหตุผล การบัญญัติกฎหมายนั้นให้สภาผู้แทนทราบ เป็นต้น แต่การที่จะไปเขียนไว้ในบทมาตรานั้น ย่อมจะเป็นการฟุ่มเฟือย บทมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายควรจะมีข้อความสั้นๆ กะทัดรัด อ่านง่าย เข้าใจง่าย เช่นจะต้องการห้ามการอย่างไร ก็เขียนห้ามไว้ ไม่จำเป็นต้องเขียนอธิบายว่า ทำไมจึงต้องมีบทบัญญัติห้ามการกระทำเช่นว่านั้น ข้อที่ควรระลึกมีว่า อย่าเอาเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย ไปปนกับเหตุผลของข้อความซึ่งอาจใส่เพื่อความชัดเจนได้ เช่นเมื่อพูดถึงวิกลจริตก็อาจเขียนเหตุแห่งการวิกลจริตลงได้ ฯลฯ.’๕๐

ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยความเห็นของท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ดังกล่าว. โวหารแห่งตัวบทกฎหมายไม่จำต้องมีเหตุผลประกอบ, จึงไม่จำต้องมีคุณลักษณะเรื่องความสามารถจูงใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตาม. ส่วนภาษากฎหมายประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, คำพิพากษา, คำคู่ความ, บทความกฎหมาย, และวรรณกรรมกฎหมายประเภทอื่นๆ นั้น, ความสามารถจูงใจผู้อ่านผู้ฟังให้คล้อยตามนี้, น่าจะเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง. ท่านผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวว่า, คำพิพากษาที่ดีนั้น, ต้องสามารถทำให้คู่ความทุกฝ่ายหายข้องใจได้ว่า, เหตุใดศาลจึงตัดสินเช่นนั้น.

ตัวอย่างภาษากฎหมายที่เลิศด้วยคุณลักษณะ ด้านความสามารถจูงใจนี้ ก็คือ, หนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ในฐานะเสนาบดีว่าการกระทรวงยุติธรรม, เกี่ยวกับเรื่องการใช้ดุลพินิจลงโทษของศาล, ในที่นี้ ใคร่ขอนำพระราชหัตถเลขา แสดงข้อข้องพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องดุลพินิจลงโทษของศาล, มาแสดงเป็นอันดับแรก อันดับถัดไปก็คือ, หนังสือกราบบังคมทูลของเสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ, และพระราชหัตถเลขา ตอบหนังสือกราบบังคมทูลดังกล่าว, เป็นอันดับสุดท้าย.

พระราชหัตถเลขา

สวนดุสิต

วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

ถึง กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ด้วยกระทรวงมหาดไทยมีจดหมายมาว่า ข้าหลวงเทศาภิบากมณฑล เพ็ชรบูรณ์ ได้รับเรื่องราวอ้ายอ่องนักโทษ ซึ่งต้องจำมา ๔ ปีกับ ๑๐ วัน ขอลดโทษที่ต้องหาว่าเปนปราชิก ศาลตัดสินจำคุก ๑๐ ปี ข้าหลวงเทศาภิบาลว่าคดีอย่างเดียวกับชั้นหลังนี้ ศาลกำหนดโทษเพียง ๕ ปีแล ๗ ปีเปนที่สุด กระทรวงมหาดไทยว่า โทษปราชิกที่ศาลกำหนด ๑๐ ปีแรงอยู่ ที่อ้ายอ่องต้องรับโทษมา ๕ ปีเศษนั้น สมควรแก่ความผิดแล้ว จะขอให้อ้ายอ่องหลุดพ้นโทษไปครั้งหนึ่ง เรื่องกำหนดโทษนั้น เดี๋ยวนี้ดูไม่มีประมาณที่ใกล้เคียงกันเลย เหมือนอย่างเรื่องนี้ ในใบบอกเมืองเพ็ชรบูรณ์ว่าอ้ายอ่องต้องโทษกำหนด ๑๐ ปีเกินไป เห็นความชั้นหลังเคยลงโทษกันเพียง ๕ ปี ๗ ปี ฝ่ายกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ๔ ปีพอแล้ว เปนตามแต่ใครเห็นว่าเท่าใดจะพอ ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่นโทษเงินแดง รายงานโปลิศกล่าวว่า ลงโทษเบานัก ไม่พอที่จะระงับคนชั่วร้ายได้ ตัวอย่างซึ่งเขายกขึ้นในรายงานนั้นก็เห็นว่าเบาเหลือเกินจริง ยังกระทรวงมหาดไทยก็เคยบ่นในใบบอกแลรายงานต่างๆว่า การที่จะสืบหาพยานในเรื่องผู้ร้ายยาก ด้วยเหตุว่าราษฎรพากันกล่าวว่า ผู้ร้ายมาต้องโทษอยู่มีกำหนดน้อย พ้นโทษขึ้นไปก็ผูกพยาบาท

ที่สุดจนผู้ร้ายเล็กน้อย ซึ่งทำอันตรายอยู่ในสวนดุสิตนี้ ถึงจับได้ไปติดโทษอยู่เพียงน้อยวันก็กลับมาขะโมยอีก การที่จะจับผู้ร้ายได้แต่ละครั้งก็ยาก ลงโทษเล็กน้อยไม่คุ้มแก่การลำบากที่จับ

การเรื่องนี้ได้เคยสนทนากับกรมหมื่นศิริธัช ฟังดูว่าเพราะเหตุใด ก็ได้ความว่า ศาลฎีกาได้ลงโทษเต็มตามตัวอย่างที่ได้กำหนดไว้แต่ก่อนเสมอ การที่ศาลอื่น ๆ ลงโทษน้อยไปได้เคยทวีโทษขึ้นทุกเรื่อง

เมื่อได้ความดังนี้ ก็เปนอันสันนิษฐานได้ว่า ทางที่จะแก้นั้นมีอยู่ คือถ้าศาลลงโทษน้อยไป อัยการหรือโจทก็ควรจะร้องอุทธรณ์ให้ตลอดถึงศาลฎีกา คงจะได้วางโทษตามแบบอย่างทุกเรื่อง แต่การที่จะให้มาถึงศาลฎีกาในความทุกเรื่องก็จะเปนความลำบากอยู่ ด้วยอัยการเห็นพอเสียแล้ว ฤๅโจทก์ขี้คร้านที่จะว่าให้ตลอดป่วยการ

อยากจะทราบว่าผู้พิพากษามีหลักอันใดที่จะกำหนดโทษ ฤๅเปนแต่ปล่อยตามความเห็นว่าสมควรอย่างเดียว จะมีทางแก้อย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากที่จะมาถึงศาลฎีกาฤๅไม่

แต่ในความเรื่องปราชิกนี้ ยกมากล่าวพอเปนตัวอย่าง ว่าความเห็นต่าง ๆ กันเท่านั้น ในตัวเรื่องนี้ได้ถามไปยังศาลฎีกาว่าปราชิกเคยวางโทษเท่าใดแล้ว

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

หนังสือกราบบังคมทูล

ที่ ๑๐๒/๓๕๕๐

กระทรวงยุติธรรม

วันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

ขอเดชะ ฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยได้รับพระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๖ มนาคม ร.ศ. ๑๒๑ เรื่องการกำหนดโทษโจรกรรมสูงบ้างต่ำบ้างไม่เสมอกัน พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ปัญหาข้อนี้ไม่ใช่เปนปัญหาที่พึ่งเกิดในเมืองไทย เปนสิ่งที่นักปราชญ์ทั่วโลกได้พิจารณาวินิจฉัยมานาน ถ้าจะทรงทราบเรื่องโดยเลอียดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยในการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยยาว

๑ วิธีที่จะตรวจว่ากำหนดโทษเท่านั้นเท่านี้ จะสมควรกับโทษอย่างนั้นอย่างนี้ โดยดูแต่กำหนดปีอย่างเดียวนั้นไม่พอ เปนต้น เช่นการทำผิดในถานลักทรัพย์ถ้าจะค้นดูแล้วก็จะมีที่เห็นได้ว่า ในเรื่องหนึ่งคนต้องติดคุก ๓ ปี อีกเรื่องหนึ่งติดคุก ๗ วัน ได้ฟังเผิน ๆ ก็ต้องวินิจฉัยว่า การลงโทษอันไม่เปนระเบียบเช่นนี้ เปนการผิดยุติธรรมข้างใดข้างหนึ่ง แต่ถ้าตรวจลงไปเลอียดแล้ว บางทีจะเปนยุติธรรมทั้ง ๒ เช่น นักเลงสูบฝิ่นกินเหล้า เจาะน่าต่างปืนขึ้นบ้านลักทรัพย์เช่นนี้ ๓ ปีก็พอควร แต่ถ้าคนบ้านนอกเข้ามากรุงเทพฯ หลงทางหาอาหารจะบริโภคไม่ได้ เวลาหิวฉวยผ้านุ่งผ้าห่มของผู้อื่นไป ๗ วันก็ไม่ไกลกับที่อันควร เหตุที่จะวางโทษหนักฤๅเบานั้นมีหลายพันอย่าง เช่น จำเลยเปนคนผู้ใหญ่ฤๅเด็ก เปนคนนักเลง ฤๅเปนคนดีมาแต่เดิม เปนคนผู้ดีที่จะรู้สึกโทษมาก ฤๅเปนคนที่ด้านแก่โทษเสียแล้ว ฤๅเปนข้าราชการที่ได้ทำการดีต่อบ้านเมืองมาแล้ว ฯลฯ เหตุเหล่านี้ในกฎหมายเก่า ๒ เล่มของเรา มีเค้าที่บอกถึงผ่อนโทษทวีโทษ เพราะเหตุฉนี้ ถ้ามีบาญชีพรรณาถานโทษตรางหนึ่ง และกำหนดโทษตรางหนึ่งมาดูว่าในปีนี้ก็ดี เดือนนี้ก็ดี การที่ผู้พิพากษากำหนดโทษนั้นจะเปนการสมควรฤๅไม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนัก เพราะข้อที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยนั้นมีอีกหลายอย่างมากเกินที่จะลงในตรางบาญชีได้

ประมาณ ๗ ปีมาแล้ว ข้อที่ทรงพระกรุณาโปรดถามข้าพระพุทธเจ้ามานี้ที่เมืองอังกฤษ มิสเตอร์แลบูแชได้กล่าวขึ้นเหมือนกันในหนังสือพิมพ์ มีนามว่า ‘ตรูท’ มิสเตอร์แลบูแชได้ตีพิมพ์บาญชีกำหนดโทษเปนคู่ๆ กันไป ข้างหนึ่งกำหนดที่สูงเหลือเกิน ข้างหนึ่งที่ต่ำเหลือเกิน เรื่องนี้ไดออกในหนังสือพิมพ์ตรูททุกอาทิตย์กว่าปีเรียกว่าลีเกิลบิลเลอรี (ตอกขื่อผู้พิพากษา) ได้มีข้อทุ่งเถียงกันมาก แต่ถ้าดูในหนังสือพิมพ์อย่างเดียว การที่มิสเตอร์แลบูแชได้กล่าวขึ้นนั้นก็ชอบกล จึงได้มีคนพิจารณาเลอียดลงไปค้นได้ว่า ตรางบาญชีเช่นนี้จะยกขึ้นเปนเกณฑ์ไม่ได้

ในประการที่ ๑ ดังที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ เปนเหตุอย่างหนึ่งที่กำหนดโทษสูงบ้างต่ำบ้างอันเข้าใจง่าย ยังมีอีกประการหนึ่งที่เข้าใจยาก แลที่กินลึกกว่าประการที่ ๑

๒ ใคร ๆ ก็ทราบอยู่แล้วว่าในเรื่องราชการที่จะหาคน ๓ คนมีความเห็นว่าควรจะดำเนินราชการอย่างไรให้ลงความเห็นกันพร้อมนั้น ก็ยากนักยากหนามิใช่เหตุว่าที่เห็นไปต่างๆ นั้นเปนการที่ทำการผิด เพราะเปนได้ที่ทั้ง ๓ คนจะต่างคนต่างเห็นถูก ทำไปอย่างใดอย่างหนึ่งคงได้ผลดี แต่ผลต่าง ๆ กัน ในตัวอย่างนี้ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลว่า ถึงคนน้อยก็ดี ความเห็นยังต้องผิดกันบ้าง แต่ผู้พิพากษาในเมืองไทยหาใช่ ๓ คนไม่ ต้องนับตั้งร้อย ความเห็นที่จะแตกออกไปต้องแยกเปนหลายสายทวีขึ้นทุกที ราชการธุระการฤๅทหารโดยมากเปนการบังคับกิริยา ซึ่งจะใช้ในการทำราชการนั้น การบังคับบัญชามีโอกาสมากที่จะให้พวกธุระการ แลทหารทำการให้ได้ระเบียบมากกว่าทางตุลาการ เพราะในการตุลาการความเห็นของข้าราชการนั่นแหละเปนราชการที่เขาได้ทำ คือธุระการและทหารใช้กิริยา, ตุลาการใช้ความเห็นในวิธีที่ทำการฉลองพระเดชพระคุณ การยากที่จะบังคับให้ความเห็นลงกันหมดเปนระเบียบมากเท่าใด การบังคับบัญชาผู้พิพากษาให้วางโทษเปนระเบียบนั้นก็ยากเท่ากันฤๅมากกว่าหลักกฎหมายนับได้เปนร้อยเปนพันเรื่องราชการที่จะต้องเถียงกันคงไม่เกิน ๑๐ สมัยใดสมัยหนึ่ง

ก็จริงอยู่ที่มีมากที่การลงโทษนั้นหนักไปฤๅเบาไปจนเหลือนิไสย ที่จะจัดไปก็เพียงจัดได้แต่ในส่วนที่เหลือนิไสยเท่านั้นเอง จะจัดเกินกว่านี้ไปตามที่ข้าพระพุทธเจ้าทราบนั้น ทุกแห่งในโลกได้ออกเข็ด ๆ ข้อบัญญัติของกฎหมายในโลกนี้มีอยู่ ๒ อย่างๆ หนึ่งกำหนดอัตราอย่างสูงไม่กำหนดอัตราอย่างต่ำด้วยเปนต้น ลักทรัพย์ตามธรรมดาโทษไม่ให้เกิน ๓ ปี อีกอย่างหนึ่งกำหนดเขตร์สูงแลเขตร์ต่ำ ๒ อย่าง เช่นลักทรัพย์ตามธรรมดาอย่างมาก ๓ ปี อย่างน้อย ๑ ปี วิธีกำหนดโทษอย่างสูงแลอย่างต่ำด้วยนั้นเปนวิธีที่นะโปเลียนที่ ๑ ได้ตั้งเปนกฎหมาย แต่ในเมืองฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้มีกฎหมายอีกอันหนึ่งที่เรียกว่าเบลองเยลอ คือคนทำผิดบางอย่างครั้งแรกไม่ให้ลงโทษ ถ้าอ่านกฎหมายนะโปเลียนกับกฎหมายเบลองเยลอรวมกันไป ดังที่ทำอยู่ในเมืองฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้ วิธีกำหนดโทษ ๒ อย่างนั้นก็ตกลงคงคล้ายกัน จะค่อนอยู่ที่เพียงว่าผู้ที่จะจัดให้วิธีกำหนดโทษเปนระเบียบเช่นอย่างฝรั่งเศสครั้งนะโปเลียนนั้นกลับกลายเปนหย่อนเบาจนถึงไม่มีทำโทษในสมัยนี้เลยวิธีอย่างที่ ๑ ต่อไปอีก

การที่จะบำเพ็ญความยุติธรรมในบ้านเมืองนั้นดูเขียนในกระดาษแล้วดูเหมือนว่าจะให้ความยุติธรรมเปนไปได้ใสบริสุทธิ์เหมือนอย่างฝันเช่นนี้เปนแต่ความคิด การที่ทำจริงได้นั้นทำได้แต่เพียงเลาๆ เพราะเหตุว่าไม่มีเครื่องมือเหมือนอย่างปรอดที่หยั่งว่าร้อนแลเย็นเพียงไร การที่ที่ไปได้ในโลกนี้ก็เพราะด้วยความเดาทั้งสิ้น คือเดาว่าอ้ายนี้ทำผิดจริงฤๅไม่ เดาว่าโทษเท่าใดจึงจะพอ ในเวลาที่ไม่มีตาเต็งจะชั่งโทษแลผิดให้เสมอกัน การทั้งหลายที่ต้องใช้ความเคาเปนพื้นก็ต้องคลาศเคลื่อนอยู่บ้างเปนธรรมดา แต่การคลาศเคลื่อนเช่นนี้มีอยู่เปนพื้นทุกบ้านทุกเมืองจนออกลืม ๆ กันเสียหมด ในสมัยนี้จงใจแต่เพียงให้มีระเบียบในหลักใหญ่ๆ ของกฎหมายเท่านั้นเอง เช่นว่าลักขโมยให้มีโทษ แต่ในส่วนรายเลอียดว่าโทษจะเพียงไรจะกำหนดเปนยืนเข้าเมื่อใดมีผลร้ายมากกว่ามีผลดี ในระหว่างพวกที่รู้กฎหมายหลักสูตร์แพ้ชนะฤๅหลักสูตร์บัญญัติเปนสิ่งที่จับใจอย่างเดียว ถ้าแพ้แล้วจะถูกเจ็บจะต้องเสียมากฤๅน้อยนั้นเปนพลความ เพราะเหตุฉนี้ข้อที่ศาลสูงวางบทกฎหมายอย่างไรจึงจำเปนต้องให้เปนยุติ ศาลสูงจึงเปนศาลสำคัญ มีโอกาสที่จะให้กฎหมายของบ้านเมืองเปนหลักแหล่งลงระเบียบที่จะให้ยุติธรรมใกล้บริสุทธิ์มากกว่าเสนาบดีฤๅกองบัญชาการ แต่ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ประสงค์จะให้ทุกอย่างในยุติธรรมเปนระเบียบขึ้นกว่าเดี๋ยวนี้นั้น พระเดชพระคุณแก่ราษฎรนั้นหาที่สุดมิได้แต่การที่จะจัดไปที่จะให้สมพระราชประสงค์นั้น เข้าอยู่ในบทเทียรีกับแปร๊กติสตัวอย่างที่จะเทียบนั้นก็คือ วิธีเกณฑ์แรงราษฎรคนบางชนิดต้องเปนทหาร ๓, ๔ ปีไม่มีเวลาออก บางชนิดเข้า ๓ เดือนออกปีหนึ่ง บางชนิดต้องเกณฑ์ตามหัวเมือง บางเมืองเกณฑ์มาก บางเมืองเกณฑ์น้อย บางเมืองไม่ได้เกณฑ์เลย ฤๅการเก็บภาษีบางคนไม่ต้องเสียค่าราชการ บางคนต้องเสีย ๖ บาท บางคนเช่นอยู่ในป่าเสียน้อยลงไปกว่านั้นมาก เพราะเหตุต่าง ๆ หลายอย่างหลายสิ่งที่มีมากกว่าจะลงในบาญชีตรางได้ บางอย่างซึ่งเปนปอลีซีที่ควรแก้ให้ลงระเบียบบางอย่าง ถ้าจะแก้ให้ลงระเบียบแล้วจะเปนการอะยุติธรรมไปทีเดียว เช่นอย่างพวกข่าในป่าเปนต้น

ในที่สุดเรื่องอ้ายอ่องปราชิกรายนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเองก็เห็นด้วยเกล้าฯว่าติดคุกถึง ๑๐ ปีนั้นหนักเกินกว่าโทษ แต่คนชั้นเก่าเห็นว่าโทษปราชิกนั้นหนักมีตัวอย่างมากที่ลงโทษหนักเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าดูเหมือนจะเปนคนแรกที่คิดก่อนโทษลงมา แต่ก็ทรงเห็นได้ว่าผู้พิพากษาในกระทรวงของข้าพระพุทธเจ้าเอง มีความเห็นในทางกฎหมายผิดกันกับความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจว่าจะได้ร่างคำเตือนสติผู้พิพากษาในการกำหนดโทษแจกไปตามศาล แต่ที่จะหวังว่าไม่ให้มีเช่นนี้ต่อไปนั้น ก็คงเปนไม่ได้อยู่เองตามเหตุการณ์อันยากที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามาแล้ว

การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขอเดชะ

(ลงพระนาม) รพีพัฒนศักดิ์

พระราชหัตถเลขา

ที่ ๙๑/๔๔๑๒

สวนดุสิต

วันที่ ๑๒ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

ถึง กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ได้รับหนังสือที่ ๑๐๒/๓๕๕๐ ลงวันวานนี้ ชี้แจงเรื่องการกำหนดโทษผู้ร้ายมานั้น ทราบแล้ว

คำชี้แจงนี้เข้าใจชัดเจน ไม่มีความมุ่งหมายเลย แต่เมื่อเขียนหนังสือไปนั้นว่า จะให้กำหนดโทษลงเปนแน่นอนอย่างไร เพราะได้เคยเห็นอยู่ว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ ทั้งเมื่อได้สนทนากับผู้พิพากษาศาลสูงเช่นกรมหมื่นศิริก็ยังซ้ำได้รู้อีกว่าศาลฎีกาได้ตั้งใจตรวจในข้อนี้อยู่ ก็เปนที่พอใจชั้นหนึ่ง

ยังเหลือแต่ข้อความที่นึกสงไสยว่า ผู้พิพากษาจะมีความเห็นต่างๆไกลกันมากนักอย่างใดอยู่ จึงมีผู้ที่มาบ่นให้ฟังบ้าง ฤๅมีโทษที่เห็นแตกต่างกันมาก ๆ มาปรากฏเฉพาะหน้าเช่นนี้บ้าง จึงมีความปรารถนาที่จะหารือเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมว่าจะมีท่าทางอย่างไรบ้าง ซึ่งจะนำความเห็นแห่งผู้พิพากษาทั้งปวงให้แตกต่างกันได้อย่างน้อยที่สุดที่จะทำได้ ฤๅถ้าจะว่าโดยตรงก็นึกสงไสยอยู่บ้างว่าผู้พิพากษาหัวเมืองฤๅผู้พิพากษาใหม่ ๆ ซึ่งไม่สู้คุ้นเคยแก่น่าที่ เมื่อไปอยู่ห่างๆ กันจะต่างคนต่างถือความคิดของตัวเปนหลักตามที่เห็นว่าเปนการสมควรจริงแต่ความเห็นนั้นจะต่าง ๆ กันมากเพราะอยู่ไกลกัน

ความที่คเนใจในเวลาเมื่อเขียนหนังสือว่า ถ้าพูดไปเช่นนี้ เสนาบดีจะทำอย่างไรจะเปนที่พอใจนั้น ไม่ได้มุ่งหมายว่าเสนาบดีจะร่างกฎหมายกำหนดโทษเข้ามาให้ แต่ได้มุ่งหมายว่าจะมีคำตักเตือนอย่างไร ซึ่งจะนำความคิดให้คิดคล้าย ๆ กันเข้าได้มาก เช่นนั้นจะเปนที่พอใจแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นในท้ายหนังสือนี้รับว่าจะทำคำเตือนสติเรื่องกำหนดโทษแจกไปทุกศาลดังนี้ เปนที่พอใจแล้ว

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

สำหรับโวหารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงวิจารณ์ไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในเรื่อง ‘สำนวนหนังสือ’, ว่า :

‘อ่านแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งเหมือนเดินไปในที่เตียนราบ ไม่ต้องบุกหญ้ารกไม่สะดุดขอนไม้นอนขวางทาง ไม่ต้องปีนข้ามรั้ว ไม่ต้องโจนข้ามคู ไม่ต้องอัดลมหายใจ เพื่อจะเพ่งปัญญาให้รู้ความหมายของหนังสือ ไม่ต้องคดเคี้ยวเป็นงูเลื้อย ทรงใช้สำนวนอย่างที่พูดกันอยู่เสมอ ๆ ไม่ทรงประดิษฐ์ประดอยแต่ละประโยคให้เป็นประโยคทรงเครื่อง เปรียบเหมือนแต่งตัวธรรมดา เดินไปตามสบาย ไม่นุ่งหางหงส์ คาดเจียรบาดสวมชฎา เดินท่ายี่เกออกฉาก เมื่อจะตรัสอะไรก็ตรัสออกมาตรงๆ ตามภาษาธรรมดาเราก็เข้าใจทันที ฯลฯ’๕๑

ส่วนโวหาiของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ นั้น แม้ว่าจะเป็นโวหารที่ผิดเพี้ยนไปจากโวหารกฎหมายในปัจจุบันบ้างเล็กน้อย, เพราะกาลสมัยต่างกันก็ตาม, แนวความคิดเห็นในเชิงกฎหมายก็ยังเป็นไปในแนวเดียวกันอยู่ และจะเห็นได้ว่าทรงใช้ประโยคไม่ยืดยาว, ไม่สลับซับซ้อน, ใช้ถ้อยคำสามัญ, เข้าใจง่าย, ทรงอ้างอิงตัวอย่างอื่นๆ ในประเทศมาประกอบข้อคิดเห็น และเหตุผล, ทั้งทรงยกตัวอย่างของต่างประเทศในเรื่องเดียวกันมาเปรียบเทียบด้วย, โวหารชวนอ่าน, ชวนคิด, และประการที่สำคัญที่สุดก็คือ, สำหรับหนังสือกราบบังคมทูลฉบับที่อ้างถึงนั้น เหตุผลที่ทรงใช้เป็นเหตุผลที่หนักแน่น แต่นุ่มนวล, และสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้คล้อยตามไป ตามลำดับของช่วงเหตุและช่วงผลซึ่งรับกันเป็นอันดีเป็นข้อ ๆ ไป. ผู้อ่านที่มีวิจารณญาณดีย่อมเห็นพ้องด้วยเหตุผลในหนังสือกราบบังคมทูลนั้นทุกประการ. สมควรที่จะถือได้ว่าหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้เป็นพระอมตวาทีของพระองค์ท่านโดยแท้.

อีกแง่หนึ่ง, หนังสือกราบบังคมทูลนี้ยังเป็นข้อเตือนใจให้เราพากันระลึก และยังต้องระลึกถึงพระเกียรติคุณของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ แต่หนหลัง, สรรเสริญในพระวีรภาพ, และเคารพยกย่องในพระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ยิ่ง. ส่วนพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ก็แสดงให้เห็นเด่นชัดในความใส่พระราชหฤทัยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ และทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาญาณอันสุขม. เมื่อทรงตระหนักในเหตุผลแห่งการใช้ดุลพินิจลงโทษของศาลแล้ว, ก็ทรงพอพระราชหฤทัย. มิได้ทรงมีทิฐิในข้อข้องพระราชหฤทัยแต่เดิมมาแม้แต่น้อย.

สำหรับในเรื่องการจูงใจผู้อ่านนี้, มีข้อที่สมควรเอาใจใส่เป็นพิเศษอีกประการหนึ่งคือ น้ำเสียง (tone) ของโวหารที่เขียน. ตามปกติน้ำเสียงในภาษากฎหมายควรจะให้เรียบ, หนักแน่น และสม่ำเสมอ. ถ้าหากจะมีการเน้น หรือ การจูงใจผู้อ่าน, ก็สมควรปรับน้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องที่กล่าวนั้นโดยเฉพาะ. ตรงกันข้าม, ถ้าหากใช้น้ำเสียงไม่เหมาะสม, อาจทำให้โวหารเสียไป. ในเรื่องการจูงใจ, ก็อาจทำให้ขาดน้ำหนักไปเป็นอันมาก. โปรดพิจารณาโวหารต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง:

‘จำเลยนี้เห็นได้ตามท้องเรื่องว่าเป็นคนเคยผ่านชีวิตมาหลายด้าน ความคิดความอ่านเฉลียวฉลาด ช่างเจรจาหว่านล้อม เอารัดเอาเปรียบคน และมีความเจนจัดต่างๆ พอตัว โจทก์ผู้เป็นพ่อตาแม่ยายอยู่ในวัยชรามากแล้ว ทั้งโจทก์ที่ ๑ ก็ตาเสีย ถึงแก่มองอะไรไม่เห็นก็ว่าได้ และทั้งสองคนห่างเหิรจากความเป็นไปภายนอกบ้านมาช้านาน ตกอยู่ในสภาพตาแก่ยายแก่ไปแล้ว อะไร ๆ ก็ต้องอาศัยบุตรเป็นประมาณ โจทก์จะยกให้ จำเลยก็แนะนำให้ทำเป็นขาย โจทก์พลอยเอออวยไปด้วย ทำไมต้องไปชำระราคากันที่บ้านจำเลยให้ประดักประเดิดไปเปล่า ๆ เพียงแต่ให้ภริยารบเร้าและตนเองสนับสนุนพูดจาหว่านล้อมโจทก์ก็น่าจะสำเร็จโดยง่ายดาย

พิเคราะห์เท่าใดก็ไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อฟัง ฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมมือกันตลบหน้าตลบหลังหลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อ...ฯลฯ’.

พิเคราะห์ตามตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า นอกจากผู้กล่าวจะใช้ภาษาพูดแทนที่จะใช้ภาษาเขียนในคำวินิจฉัยนี้แล้ว, ตามโวหารนี้ดูคล้ายกับว่า ผู้กล่าวเป็นคนชราที่พูดยานคาง, กล่าวไปเรื่อยๆ อย่างอ้อยอิ่ง, การใช้น้ำเสียงแบบนี้ ทำให้โวหารขาดน้ำหนัก ที่จะเรียกร้องความสนใจและโน้มน้าวจิตใจผู้อ่าน, ทั้ง ๆ ที่การให้เหตุผลของเรื่องดี มีน้ำหนักน่าฟังอยู่เป็นอันมาก.

ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการจูงใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตาม ปัญหาหนึ่ง ก็คือ ในบางเรื่องเรามักจะกล่าวเกินความจริงไปบ้างไม่มากก็น้อย, ทั้งนี้โดยมิได้ตั้งใจหรือมุ่งประสงค์เป็นอื่น, นอกจากใคร่ที่จะให้ผู้อ่านผู้ฟังเห็นจริงตามคำกล่าวนั้นเท่านั้น. เรื่องนี้นอกจากจะขัดต่อหลักสัจธรรมแล้ว, ถ้าหากเป็นเรื่องที่เป็นความเป็นจริงมากไป, แทนที่จะจูงใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตาม, กลับจะทำให้เขาขาดความเชื่อถือ หรืออย่างดีก็เพียงแต่ฟังหูไว้หูมากกว่าปกติด้วยซ้ำไป, อนึ่ง การใช้ถ้อยคำประเภท ‘ที่สุด’ เช่น, ‘รวยที่สุด’, ‘ใหญ่ที่สุดในโลก’, ‘เร็วที่สุดในโลก’ หรือคำอื่น ๆ ในทำนองนั้น ถ้าใช้เกินสมควร, ผู้อ่านผู้ฟังอาจสรุปเอาง่าย ๆ ว่าผู้พูด ‘โม้ที่สุด’ ก็เป็นได้. คำเหล่านี้จึงสมควรใช้เมื่อไตร่ตรองโดยรอบคอบแล้วว่า เป็นคำที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่โอกาส.๕๒ ข้อที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับคำว่า ‘ที่สุด’, และคำวิเศษณ์ทั้งหลายคือ, คำเหล่านี้มีโอกาสใช้ในภาษาของตัวบทกฎหมายน้อย, ทั้งนี้เพราะกฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับให้บุคคลเคารพและปฏิบัติตาม, บุคคลใดจะเห็นพ้องด้วยกฎหมายนั้นหรือไม่ไม่สำคัญ, จึงไม่จำเป็นต้องมีการจูงใจบุคคลใดให้เชื่อถือหรือคล้อยตาม, และกฎหมายต้องใช้ถ้อยคำที่เป็นกลาง.

โดยสรุป, ความจูงใจให้ผู้อ่านคล้อยตามนั้น, อยู่ที่ว่าเขียนชวนอ่านเป็นเบื้องต้น, เมื่ออ่านแล้วเกิดความสนใจ, ห้วงเหตุห้วงผลสอดคล้องต้องกันเป็นอันดี, และประกอบเรื่องให้แลเห็นสมจริง, แจ่มแจ้ง และหนักแน่น จึงจะโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านผู้ฟังให้คล้อยตามได้เป็นเบื้องสุดท้าย. สิ่งเหล่านี้ย่อมอยู่ที่ศิลปะและฝีมือแห่งการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น, การวางเค้าโครงเรื่องที่จะกล่าวนั้นอย่างสุขุมรอบคอบ, และการเลือกเฟ้นใช้ถ้อยคำให้มีความหมายตรงตามที่ประสงค์, และมีน้ำหนักพอดี, ทั้งจัดประโยคให้เหมาะสมกับเรื่องที่กล่าว, จัดลำดับของเหตุและผลตามที่ควรจะเปน, ถ้าหากขาดศิลปะและฝีมือหรือจัดในเรื่องเหล่านี้ผิดพลาดแล้ว, แม้เค้าเรื่องจะดี, รูปคดีจะได้เปรียบ, ก็อาจเสียเรื่องหรือแพ้คดีได้ง่าย ๆ เหมือนกัน.

โวหารการพูด

เนื่องจากภาษาพูดแตกต่างกับภาษาเขียนดังกล่าวแล้วในตอนต้น, โวหารการพูดจึงแตกต่างกับโวหารการเขียนด้วย. สำหรับการพูดที่ดีนั้น, มิใช่อยู่ที่ถ้อยคำที่พูดอย่างโวหารการเขียนแต่ประการเดียว, หากแต่ยังขึ้นอยู่กับบุคคลิกกาพ, หน่วยก้าน, และท่วงทีวาจาของผู้พูดในขณะที่พูดประกอบด้วย. ในการประกวดวาทศิลป์จึงต้องมีการพิจารณาความดีเด่นในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องของโวหารการพูดด้วยอีกหลายประการ. นายดับเบิลยู. อาร์, เกรชั่ม (W.R. Gresham) นายกสมาคมนักพูดแห่งหนึ่งในออสเตรเลียซึ่งเป็นกรรมการตัดสินการโต้วาทีในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย ได้กล่าวในฐานะกรรมการตัดสินการประกวดวาทศิลป์ว่า, คะแนนที่ใช้ในการประกวดแบ่งดังนี้ :

ความชัดเจนแจ่มใสของเสียง

๒๐ คะแนน

การออกเสียงที่ถูกต้องและชัดเจนทุกถ้อยคำ

๒๐ คะแนน

ท่วงทีวาจา

๑๐ คะแนน

ภาษาและไวยากรณ์

๑๕ คะแนน

การตระเตรียมพูด เหตุผล และการจัดเค้าโครงพูด

๑๕ คะแนน

เนื้อเรื่องที่พูดและความประทับใจ

๒๐ คะแนน

รวม

๑๐๐ คะแนน

ตามเกณฑ์กำหนดของนายเกรชั่มนี้, จะเห็นว่าให้คะแนนสำหรับเรื่องที่พูดโดยตรงเพียง ๕๕ คะแนน, ให้คะแนนในเรื่องวิธีการพูดที่ดีอีก ๔๕ คะแนน๕๓ จริงอยู่, กรรมการประกวดวาทศิลป์แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้างในเรื่องคะแนนที่ให้, และให้ในเรื่องใดบ้าง แต่อาจกล่าวได้ว่า, เกณฑ์กำหนดของนายเกรชั่มนี้, เป็นมาตรฐานปานกลางที่พอแสดงให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่า, ในเรื่องของวาทศิลป์นั้น นอกจากโวหารการพูดแล้ว, สิ่งอื่นใดมีความสำคัญประการใดบ้าง

สำหรับในด้านวาทศิลป์นี้, ลอร์ด เบอร์คิท ออฟ อัลเวอร์สตั้น (Lord Birkett of Ulverston) ซึ่งเป็นนักกฎหมายนามกระเดื่องของอังกฤษกล่าวว่า ในวิชาชีพกฎหมาย, การที่ผู้ฟังจะประทับใจได้นั้น, มิได้อยู่ที่ถ้อยคำที่พูดเท่านั้น, หากแต่ต้องอาศัยท่วงทีวาจา และหน่วยก้านของผู้พูดในขณะพูดด้วย. ในบางกรณี, เนื้อเรื่องที่พูดยังไม่สำคัญเท่ากับวิธีที่พูด. สิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้เลย การที่เราอ่านคำแถลงหรือสุนทรพจน์ในภายหลังนั้น จะไม่ได้อรรถรสเหมือนกับการฟังผู้พูดพูดในขณะนั้นเอง.๕๔ ลอร์ด เบอร์คิทเห็นว่า วาทศิลป์นั้นต้องประกอบด้วย บุคคลิกลักษณะของผู้พูด, โอกาสที่พูด, เรื่องที่พูด และวิธีที่พูด.๕๕

เมื่อพิจารณาถึงโวหารกฎหมายในเชิงพูดโดยเปรียบเทียบกับโวหารกฎหมายในเชิงเขียนแล้ว, ปัญหามีว่า คุณลักษณะสำคัญของโวหารการพูดที่ดีมีอย่างไร ?

สำหรับในเรื่องความแจ้งชัดนั้น, น่าจะถือว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญโดยเหตุผลเช่นเดียวกันกับเรื่องโวหารการเขียน. อย่างไรก็ตาม, ความปราศจากช่องโหว่ไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโวหารการพูด, ซึ่งเป็นเรื่องกลอนสด. โดยปกติไม่มีผู้ใดพิถีพิถัน, หรือมุ่งหวังจะให้คำพูดแต่ละคำมีความหมายเฉพาะ และแน่นอน, เช่น ถ้อยคำทุกคำที่เขียน, มักจะถือเอาเนื้อความที่พูดนั้นเป็นสาระสำคัญมากกว่า.

ความสั้น กะทัดรัด ก็หาใช่คุณลักษณะสำคัญของโวหารการพูดที่ดีไม่. ถ้าพูดสั้นมาก เช่นในภาษาเขียนของตัวบทกฎหมายแล้ว, ย่อมเป็นโวหารการพูดที่ห้วน, ซึ่งอาจจะเข้าลักษณะที่เรียกว่า ‘มะนาวไม่มีน้ำ’. การพูดที่ดีต้องมีการเพิ่มถ้อยคำบ้าง เพื่อให้นุ่มนวลอ่อนหวานตามสมควรแก่เรื่องที่พูด. แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าต้องใช้ถ้อยคำหรือข้อความนอกเรื่องอันฟุ้งเฟ้อ, หรือ ต้อง ‘ชักแม่น้ำทั้งห้า’ ประกอบ. การใช้อุทานเสริมบท เป็นต้นว่า ‘ปืนผาหน้าไม้’, ‘ตำหูตำตา’, ‘สิ้นไร้ ไม้ตอก’, ‘แขกเหรื่อ’, ‘มีชีวิตชีวา’, และ ‘ทุกเมื่อเชื่อวัน’, หรือคำพังเพย เช่น ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’, ‘เจ้าถ้อยหมอความ’, ‘ร่มโพร่มไทร’, และ ‘ชักใบให้เรือเสีย’, นั้นแทนที่ถ้อยคำเหล่านี้จะทำให้โวหารการพูดเสียไป, เพราะเป็นถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือย, กลับทำให้โวหารนั้นนุ่มนวลละมุลละไม, เป็นภาษาพูดที่มีความเป็นกันเอง. ทำให้เป็นถ้อยคำที่ก่อให้เกิดอารมณ์อันชวนฟัง. ผู้ฟังมีภาพพจน์โดยไม่ต้องกล่าวให้ยาวความ, และในบางครั้งอาจจะช่วยให้คารมคมคายขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย.

การใช้ถ้อยคำให้เป็นระเบียบเดียวกัน, ก็หาเป็นคุณลักษณะสำคัญในโวหารการพูดไม่ โดยปกติไม่มีผู้ใดเอาใจใส่ในเรื่องการรักษาระเบียบในเรื่องถ้อยคำ, เมื่อผู้พูดพูดให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายในเรื่องที่กล่าวได้ชัดเจนก็น่าจะเพียงพอแล้ว.

การใช้ถ้อยคำในกฎหมายจะเป็นการสมควรหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัญหาที่ว่า, พูดเรื่องอะไร ? พูดกับใคร ? และ พูดอย่างไร ? ถ้าเป็นการอธิบายหรือบรรยายเรื่องของกฎหมายให้นักกฎหมายหรือนักศึกษาฟัง, ก็จำเป็นต้องใช้ศัพท์ในกฎหมาย. แต่ถ้าพูดให้สามัญชนพึ่ง, ก็น่าจะต้องพูดโดยพยายามหลีกเลี่ยงศัพท์กฎหมายที่ยุ่งยาก และวลี หรือสำนวนกฎหมายโดยเฉพาะ, และใช้ถ้อยคำสามัญ หรือวลีธรรมดาแทน ในบางกรณีที่จำเป็นก็อาจจะต้องกล่าวถึงศัพท์และวลีหรือสำนวนกฎหมายเหล่านั้น, แต่ต้องให้ความหมายให้สามัญชนเข้าใจ โดยใช้ถ้อยคำธรรมดาประกอบด้วย, คุณลักษณะสำคัญของโวหารการพูดในแง่นี้ จึงมิได้อยู่ที่การใช้ถ้อยคำในกฎหมาย, หากแต่อยู่ที่ความเหมาะสมของถ้อยคำ และลีลาของการพูด ในเรื่องที่พูด และเป็นการพูดกับบุคคลประเภทใด.

ความสุภาพนุ่มนวลย่อมเป็นคุณลักษณะสำคัญด้วย, ทั้งนี้โดยเหตุผลเช่นเดียวกับโวหารการเขียนดังกล่าวแล้วข้างต้น.

ความสามารถในการจูงใจผู้ฟังให้คล้อยตามได้ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งเช่นเดียวกับโวหารการเขียน. ยิ่งกว่านั้น, ในหลักของวาทศิลป์โดยเฉพาะ ยังจำแนกรายละเอียดในเรื่องนี้ไปถึงเรื่องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง, ความกระตือรือร้นของผู้พูดเพื่อจูงใจผู้ฟัง, และความสามารถให้ผู้ฟังคล้อยตามในเหตุผลซึ่งแจ่มแจ้ง และจับใจ, และการพูดนั้นสมควรประทับใจผู้ฟังหลังจากการพูดแล้วอีกด้วย.

ในวิชาชีพกฎหมายนั้น, จะถือว่าผู้ใดเป็นนักกฎหมายที่สามารถไม่ได้, เว้นแต่จะมีคุณลักษณะข้อนี้ด้วย. ยิ่งในวงการวิชาชีพทนายความของอังกฤษด้วยแล้ว, ไม่มีคุณลักษณะประการอื่นใดมีความสำคัญเท่าเทียมเรื่องความสามารถในการจูงใจผู้ฟังให้คล้อยตามได้นี้เลย, เพราะระบบการพิจารณาคดีของศาลอังกฤษมีคณะลูกขุน, ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินข้อเท็จจริง. การจูงใจลูกขุนให้คล้อยตามเหตุผลของตนได้, จึงเป็นยอดปรารถนาของคู่ความแต่ละฝ่าย. เซอร์เอดเวิร์ด คล้าค (Sir Edward Clarke), ทนายความในตอนปลายรัชสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียมหาราช, เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องจากวงการกฎหมายอังกฤษตลอดมาว่า, มีพรสวรรค์อันเลิศล้ำ ในการจูงใจลูกขุนให้คล้อยตามวาทศิลป์ของตน. กล่าวกันว่าในการแถลงปิดคดีของเซอร์ เอดเวิร์ด คล้าค นั้น, ในห้องพิจารณา ซึ่งเต็มไปด้วยประชาชนผู้กระหายที่จะฟังวาทศิลป์ของเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เงียบสนิท. ทุกคนฟังเซอร์เอ็ดเวิร์ดแถลงต่อลูกขุนราวกับถูกสะกดจิตให้คิดและคล้อยตามวาทศิลป์นั้นไปทีเดียว.

โดยสรุปแล้ว, โวหารกฎหมายในเชิงพูดที่ดี สมควรมีคุณลักษณะสำคัญ ๔ ประการคือ :

(๑) ความแจ้งชัด,

(๒) ความเหมาะสมของถ้อยคำที่ใช้และลีลาที่พูด,

(๓) ความสุภาพนุ่มนวล, และ

(๔) ความสามารถจูงใจผู้ฟังให้คล้อยตามได้.

วาทศิลป์ในกฎหมายนั้น นอกจากจะต้องมีโวหารอันมีคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีคุณลักษณะอื่น, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, บุคคลิกลักษณะ, ท่วงทีวาจา และจังหวะที่พูด ประกอบด้วย.

  1. ๑. นายเปลื้อง ณ นคร, ตำราเรียงความชั้นสูง, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์, ครั้งที่ ๗, พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๓๙.

  2. ๒. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๔๐.

  3. ๓. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๔๔-๔๖.

  4. ๔. นางสาวพรพรรณ วัชราภัย, สำนวนการเขียน, บริษัทประชาชน จำกัด (แผนกพิมพ์), จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๐, พิมพ์ครั้งที่สาม, หน้า ๕๑-๖๒.

  5. ๕. นายเปลื้อง ณ นคร, ตำราเรียงความชั้นสูง, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยวัฒนาพานิช, จัดพิมพ์, ครั้งที่ ๗. พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๓๙.

  6. ๖. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๔๐.

  7. ๗. ท่านศาสตราจารย์แกลนวิล วิลเลียมส์ (Glanville Williams) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริด์จกล่าวว่า: ‘The ordinary man is not usually troubled with these perplexities. It does not matter to the seaman whether an anchor is or is not called part of a vessel. A chemist does not need to answer the question, yes or no, does a rolled-gold watch come within the description gold. Biologists may find difficulty with their classification, but nothing turns on the question whether they classify a creature under one head or another it is simply a question of verbal expediency. With the lawyer it is different. The lawyer, like the theologian, is faced with a number of texts that he regards as authoritative and that are supposed to settle any question that can conceivably arise. Each text was once drawn up by someone who presumably meant something by it; but once the document has left its author’s hands, it is the document that matters, not any unexpressed meaning that still remains in the author’s mind. For the lawyer the words of the document are authoritative as words and there is no possibility of obtaining further information from the author, either because the author is dead or because of the rules of evidence precluding reference to him.’: ‘Language of the Law’, Law Quarterly Review, April, 1945.

  8. ๘. อนึ่ง ท่านศาสตราจารย์บอนเนอมี โดเบร (Bonomy Dobrée) แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ได้ให้ข้อแตกต่างระหว่างภาษากฎหมายและภาษาวิชาการอย่างแท้จริงในสาขาอื่น ๆ ว่า ‘The real difference between legal prose and strictly scientific prose is that the former is, in the nature of things, more authoritative. Lord Sumner definitely lays down the law; you can hear it in his voice: it is his business to say ‘This is so’, not to describe an event or sequence of events, and deduce what are known as causes. And in legal prose we necessarily come upon jargon, technical terms, more often than we do in scientific; one would not like to bet that after reading the judgement we should all of us know exactly how far we were responsible for the injury an infant did to himself when playing on our ground; nevertheless it is to scientific prose (rather than purely technical) that legal prose can best be attached.’: Modern Prose Style (6th imp.; London: Oxford University Press, 1950), p. 97.

  9. ๙. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ, และพระมงกุฎเกล้า ฯ, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๙๕.

  10. ๑๐. นายเสริม วินิจฉัยกุล, ‘งานร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๒, เล่ม ๑, มกราคม ๒๔๙๔, หน้า ๘๔.

  11. ๑๑. นายหยุด แสงอุทัย, ‘การร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๐, เล่ม ๒ ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน, พุทธศักราช ๒๔๙๒, หน้า ๓๒๑.

  12. ๑๒. หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๓๒๒ – ๓๒๓.

  13. ๑๓. ในภาษาอังกฤษที่มีปัญหาเรื่องใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ (double negative) ในทำนองเดียวกับการใช้ในภาษาไทยที่กล่าว, เป็นต้นว่า ‘It is difficult to make people understand.’ กับประโยคที่ว่า ‘It is a matter of not inconsiderable difficulty to make people understand.’ ก็ต่างกันทั้งในแง่ความหมายและในโอกาสที่ใช้: Jeremy Warburg, ‘Some Aspects of Style’, The Teaching of English (London: Oxford University Press, 1966), p. 37.

  14. ๑๔. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖, มาตรา ๕, บัญญัติว่า: ‘มหาวิทยาลัยนี้แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ ตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา’; พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖, มาตรา ๖, บัญญัติว่า: ‘การจัดตั้งคณะขึ้นใหม่หรือการเพิ่มแผนกวิชา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา.’

  15. ๑๕. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗, มาตรา ๗ : ‘...การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี วิทยาลัยการะและสถาบัน ให้กระทำโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา.’; พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๐๘, มาตรา ๙ : ‘การแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา.’, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ๒๕๑๑, มาตรา ๙, บัญญัติว่า: ‘การแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา.’

  16. ๑๖. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พุทธศักราช ๒๔๘๖, มาตรา ๕, บัญญัติว่า : ‘มหาวิทยาลัยนี้อาจแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ และแผนกวิชาตามที่จะได้มีข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้’

  17. ๑๗. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พ.ศ. ๒๕๐๔; พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๐.

  18. ๑๘. ‘....that where the proviso of an Act of Parliament is directly repugnant to the purview, the proviso shall stand and be a repeal of the purview as it speaks the last intention of the makers.’: Att-Gen. V. Chelsea Waterworks (1731) Fitzg. 195.

  19. ๑๙. ‘Where there are two sections dealing with the same subject-matter, one section being unqualified and the other containing a qualification, effect must be given to the section containing the qualification.’: Moss V. Elphich (1910) I K.B. 465, 468.

  20. ๒๐. ‘The true principle...undoubtedly is, that the sound interpretation and meaning of the statute on a view of the enacting clause, saving clause, and proviso, taken and construed together, are to prevail. If the principal object of the Act can be accomplished and stand under the restriction of the saving clause or proviso, the same is not to be held void for repugnancy’. This, it is submitted, would be held by our English courts at the present day to be good law.’: S.G.G. Edgar ed. Craies on Statute Law (sixth ed.; London: Sweet & Maxwell. 1963), p. 220.

  21. ๒๑. สุภาษิตละตินมีว่า : ‘Cui licet quod majus non debet quod minus est non licere’. คำแปลในภาษาอังกฤษมีว่า : ‘He who has authority to do the more important act shall not be debarred from doing that of less importance’.

  22. ๒๒. สุภาษิตละตินมีว่า: ‘Omne majus continet in se minus’. คำแปลในภาษาอังกฤษว่า: ‘The greater contains the less.’

  23. ๒๓. นายหยุด แสงอุทัย, ‘การร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๐, เล่ม ๒ ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน, พุทธศักราช ๒๔๙๒, หน้า ๓๒๑.

  24. ๒๔. นายเสริม วินิจฉัยกุล, ‘งานร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๒, เล่ม ๑, ประจำเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๔, หน้า ๙๐.

  25. ๒๕. การกล่าวซ้ำเพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญของเรื่องที่กล่าวนิยมมากในโวหารอังกฤษเหมือนกัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโวหารการพูด. เมื่อกองทัพอังกฤษถอยจากฝรั่งเศสลงเรือที่ดันเกิ้กเพื่อกลับเกาะอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น, เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล ได้ประกาศความมุ่งมั่นของประชาชนชาวอังกฤษที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันเกาะอังกฤษ, ต่อสู้อย่างยิบตา, และต่อสู้จนสิ้นลมปราณว่า :

    ‘We shall prove ourselves once again able to defend our island home, to ride out the storm of war, and to outlive the menace of tyranny, if necessary for years, if necessary alone. At any rate, that is what we are going to try to do. That is the resolve of His Majesty’s Government, every man of them. That is the will of Parliament and the nation. The British Empire and the French Republic linked together in their cause and in their need will defend to the death their native soil, aiding each other like good comrades to the utmost of their strength. We shall not flag or fail, we shall go on to the end, we shall fight in France, we shall fight on the seas and oceans, we shall fight with growing confidence and growing strength in the air, we shall defend our island, whatever the cost may be, we shall fight on the beaches, we shall fight on the landing grounds, we shall fight in the fields and in the streets, we shall fight in the hills; we shall never surrender ...’: Charles Eade (ed.) Churchill by his Contemporaries (London : Hutchinson 1953), p. 333.

    สุนทรพจน์อันเป็นอมตะของเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล นี้ยังคงดังกึกก้องอยู่ในโสตประสาทของชาวอังกฤษรุ่นสงครามโลกครั้งที่ ๒, รุ่นนี้, และรุ่นหน้า, ชั่วกัป, ชั่วกัลป, ชั่วนิจนิรันดร....

    อนึ่ง ในด้านภาษากฎหมายโดยตรง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในโวหารภาษาพูดก็นิยมการกล่าวซ้ำ เพื่อความสำคัญดุจกัน. โปรดพิจารณาสุนทรพจน์ของลอร์ดเดนนิ่ง เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของฝ่ายบริหารกับหลักนิติธรรม :

    ‘In legal theory Parliament is still sovereign, and we still claim under the rule of law: but anxiety is raised in many quarters by the growing powers of the executive, The change has no doubt been forced upon us by circumstances. You cannot fight great wars, except by giving your leaders powers to make great decisions and to translate them into immediate action. You cannot safeguard your currency and trade in a competitive world, except by strict control over exchange, and over exports and imports. You cannot ensure fair distribution of necessaries wihch are in short supply, except by a system of rationing. You cannot nationalise essential industries, except by putting them under the general direction of the Government. All this involves the entrusting of great powers to the executive ; and the powers, once given, are apt to continue indefinitely.’: Sir Alfred Denning, The Changing Law (London: Stevens and Sons, 1953), p. 1.

  26. ๒๖. หลวงสำเร็จวรรณกิจ, ‘เรื่องของข้าพเจ้า’, ในเอกสารประกอบการศึกษาวิชาภาษาไทย ประจำภาคแรก, คณะศิลปศาสตร์ปีที่ ๑, โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๓๑๙.

  27. ๒๗. นายเสริม วินิจฉัยกุล, ‘งานร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๒, เล่ม ๑, ประจำเดือน มกราคม, พุทธศักราช ๒๔๙๔, หน้า ๘๗.

  28. ๒๘. อ้างถึงใน Urban A. Lavery, ‘The Language of the Law’, The American Bar Association Journal, Volume 7, 1921, p. 284.

  29. ๒๙. อ้างถึงใน John Mason Brown, ‘Language Legal and Literary’. William Davonport (ed.) Voices in Court (New York : The Macmillan Company, 1958), p. 570.

  30. ๓๐. นายหยุด แสงอุทัย, ‘การร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๐, เล่ม ๒, ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๒, หน้า ๓๒๒; นอกจากนี้โปรดดู นายเสริม วินิจฉัยกุล, ‘งานร่างกฎหมาย’ นิติสาส์น, ปีที่ ๒๒, เล่ม ๑ ประจำเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ หน้า ๙๐, และ ข่าวศาล, เล่มสอง, หน้า ๗๕ ที่อ้างถึงข้างต้น.

  31. ๓๑. โปรดดูรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับคำว่า ‘กระทบกระทั่ง’ และ ‘กระทบ’ ในหน้าถัดไป

  32. ๓๒. พระยาเทพวิทูร, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑, มาตรา ๑ ถึง ๓๙๓, พ.ศ. ๒๔๗๖-๗

  33. ๓๓. ในการประชุมร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง, เมื่อมีการอภิปรายกันว่า, สมควรจะใช้คำว่า ‘กระทบกระเทือน’, หรือ ‘กระทบกระทั่ง’, ท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งเสนอแนะว่าควรใช้แต่เพียงว่า ‘กระทบ’, คำว่า ‘กระทั่ง’ ก็ดี, ‘กระเทือน’ ก็ดี, ให้เอาออก, กรรมการส่วนใหญ่ ณ ที่นั้น เห็นสมควรใช้คำว่า ‘กระทบกระเทือน’.

  34. ๓๔. ในหนังสือ หลักภาษาไทย, ของพระยาอุปกิตศิลปสาร, ให้ใช้คำว่า ‘เชือก’ สำหรับช้างบ้านเหมือนกัน : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๑, หน้า ๗๓; ในปัจจุบันเข้าใจว่าต้องใช้คำว่า ‘ตัว’ สำหรับช้างป่า.

  35. ๓๕. ข่าวศาล, เล่ม ๒ หน้า ๗๕.

  36. ๓๖. คำว่า ‘เจ้าทุกข์’ ยังมีใช้อยู่เหมือนกันในกฎหมายบางฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔, มาตรา ๒๗; แต่ในกฎหมายใหม่ ๆ มักจะใช้คำว่า ‘ผู้เสียหาย’ เช่นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น.

  37. ๓๗. ประมวลกฎหมายอาญา, ภาค ๑. ลักษณะ ๑, หมวด ๓, ส่วนที่ ๓.

  38. ๓๘. นายหยุด แสงอุทัย, ‘การร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๐, เล่ม ๒ ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๒, หน้า ๓๒๑-๓๒๒.

  39. ๓๙. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๐/๒๕๐๙; คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับอื่นก็อ้างในแนวเดียวกันนี้ทั้งสิ้น เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๑๖/๒๕๐๒, ที่ ๖๓๑/๒๕๐๙, และที่ ๖๗๗/๒๕๑๐

  40. ๔๐. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๗/๒๕๐๘.

  41. ๔๑. อาทิเช่น พระราชบัญญัติยกเว้นภาษีอากรแก่การนำของเข้ามาในงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งเอเชีย พ.ศ. ๒๕๐๙, มาตรา ๔.

  42. ๔๒. อาทิเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, มาตรา ๑๔๔.

  43. ๔๓. อาทิเช่น พระราชบัญญติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐, มาตรา ๓๘; พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. ๒๕๑๐, มาตรา ๓๑.

  44. ๔๔. อาทิเช่น พระราชบัญญัติสินค้าขาออก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๙, มาตรา ๔.

  45. ๔๕. อาทิเช่น พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙, มาตรา ๖.

  46. ๔๖. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๙/๒๕๐๙.

  47. ๔๗. ‘.....When a section is divided into subsections, the practice in Imperial Acts is to number the section as follows -

    121.- (1)..... (2).....

    (3).....

    The general practice in the colonies is to number the section as follows, without the dash- 121. (1).....

    (2).....

    (3).....

    Subsections are referred to in figures as follows -

    For example-

    Subsection (2) of section 3 shall be read as if.....

    Subsections are divided into paragraphs, lettered (a), (b), (c) etc. They are referred to as follows-

    Paragraph (a) of subsection (2) of section 3 shall be read as if...

    Care must be taken to see that two sets of (a), (b), (c), etc., are not used in same subsection, to the confusion of future references.

    Paragraphs are divided into sub-paragraphs, indicated by Roman numerals, (i), (ii), (iii), etc. They are referred to as follows -

    Sub - paragraphs (ii) of paragraph (a) of subsection (2) of section 3 shall be read as if...” :

    Sir Alison Russell, Legislative Drafting and Forms (4th ed. London: Butterworths, 1938) p. 88.

  48. ๔๘. ‘There is nothing comparable for moral force to the charm of truly noble manners’: per Coventry Patmore. ; ‘Style in writing is much the same thing as good manners in other human intercourse.’: per Sir Arthur Quiller-Couch อ้างถึงในบทความเรื่อง ‘The Language of the Law’ by Urban A. Lavery, The American Bar Association Journal, Volume 8, 1922, P. 270.

  49. ๔๙. Sir Arthur Quiller-Couch, The Oxford Book of English Prose (London: Oxford University Press, 1925), pp. VIII-IX: ‘... Persuasion rather than Justice as the first virtue of Prose, whether in narrative or in argument. Defoe’s art in telling of Crusoe’s visits to the wreck is all bent on persuading you that it really happened, and just so; as Burke, in pleading for conciliation with the American colonists, is bent on marshalling argument upon argument why conciliation is expedient besides being just. In argument, to be sure, the appeal lies always towards an assumed seat of absolute justice to which even in the Law Courts every plea is addressed; Persuasion is after all, as Matthew Arnold says, the only true intellectual process, or as Socrates, in prison under sentence of death for having failed in it, so nobly proclaimed, the only right way of reforming a commonwealth’.

  50. ๕๐. นายหยุด แสงอุทัย, ‘การร่างกฎหมาย’, นิติสาส์น, ปีที่ ๒๐, เล่ม ๒ ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน, พุทธศักราช ๒๔๙๒, หน้า ๓๒๓-๓๒๔.

  51. ๕๑. ประพัฒน์ ตรีณรงค์, ชีวิตและงานของ น.ม.ส., สำนักงานคลังวิทยาจัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๔, หน้า ๔๙๐.

  52. ๕๒. อนึ่ง การโฆษณาขายยาบางราย, โฆษณาสรรพคุณของยานั้นเสียราวกับว่าเป็น ‘ยาครอบจักรวาฬ’ แก้โรคภัยไข้เจ็บได้สารพัดอย่าง. คำโฆษณาเช่นนี้แทบจะไม่มีน้ำหนักเลย. ในทำนองเดียวกันกับ คำว่า ‘ด่วน’, ‘ด่วนมาก’, และ ‘ด่วนที่สุด’ ที่ใช้ในงานสารบรรณ, ถ้าใช้กันจนฟุ่มเฟือยแล้วก็ทำให้คำเหล่านี้ปราศจากความหมายอันแท้จริงไป, ดังที่พบเห็นกันอยู่เสมอ, แม้แต่หมายนัดประชุมซึ่งกำหนดการประชุมไว้อีกสามสัปดาห์ข้างหน้า, บางแห่งก็ยังประทับตรา ‘ด่วนมาก’, หรือ ‘ด่วนที่สุด’ ปัญหาจึงเกิดเสมอเมื่อมีเรื่องด่วนจริงๆ ผู้ที่ใช้ตราเหล่านี้เป็นประจำไม่ว่าสำหรับงานประเภทใด, ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร, ผู้รับหนังสือของตนจึงจะทราบถึงความด่วนอันแท้จริงนั้น.

  53. ๕๓. W.R. Gresham, Speak Up With Confidence (Sydney : The K.G. Murray Publishing Company Pty. Ltd, 1964), p. 13.

  54. ๕๔. ‘...and it becomes quite clear that the thing said can never be separated from the moment of its saying, and certainly any attempt to recapture the fire and the glow of past moments is foredoomed to failure if the thing said is considered alone’.: Lord Justice Birkett, ‘Churchill, the Orator’, in Churchill By His Contemporaries, edited by Charles Eade (London: Hutchinson, 1953), p. 333.

  55. ๕๕. ‘It is sometimes said that oratory depends upon the quality of the orator himself, the occasion on which he speaks, the subject matter of the oration, and the form in which the speech is cast’. ในหนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๓๓๔.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ