บทที่ ๖. การฝึกฝนเรื่องโวหารกฎหมาย

ความเข้าใจผิดที่สำคัญประการหนึ่งของบรรดานักกฎหมายก็คือ, เรามักจะคิดกันเสียว่า เมื่อเป็นนักกฎหมายแล้ว, การพูดการเขียนในเชิงกฎหมายย่อมดีอยู่เอง, เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพอยู่แล้ว, หาจำต้องฝึกฝนอบรมเรื่องโวหารกฎหมายเป็นพิเศษแต่ประการใดไม่. สักขีพยานในเรื่องความเข้าใจผิดนี้ มีปรากฏอยู่ในคุณภาพแห่งวรรณกรรมกฎหมายไทยส่วนมากในปัจจุบัน.

อันโวหารกฎหมายนั้น จะดีเพียงไรย่อมขึ้นอยู่กับวิทยาการในด้านกฎหมายประการหนึ่ง, และศิลปแห่งภาษากฎหมายอีกประการหนึ่ง. พรสวรรค์ในด้านเขียนเก่งและพูดคล่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ, และเป็นเรื่องเฉพาะตัวนักกฎหมายแต่ละคน. เราไม่อาจเพาะ, เราไม่อาจฝึกฝนพรสวรรค์นี้ได้. เราจะทำได้ก็แต่เพียงทางเดียว คือ นำพรสวรรค์นี้มาใช้ให้ถูกทาง. อนึ่ง พรสวรรค์นี้ก็หาใช่ปัจจัยสำคัญในเรื่องโวหารกฎหมายที่ดีแต่เพียงประการเดียวไม่. บุคคลใดก็ตาม แม้จะมีพรสวรรค์ในด้านการเขียนเก่งและพูดคล่อง, มีความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย (the legal mind) สูง, ถ้าหากขาดการฝึกฝนในเรื่องของโวหารกฎหมายโดยเฉพาะแล้ว ย่อมจะมีโวหารกฎหมายที่ดีได้ยาก. เช่นเดียวกับการศึกษาหลักภาษาไทยโดยปราศจากการฝึกหัดเขียนหรือพูด, เปรียบได้เสมือนการหัดว่ายน้ำบนบกนั่นเอง.

ในด้านการฝึกฝนโวหารกฎหมายโดยตรงนี้, วิธีการฝึกฝนเขียนและพูดในภาษามาตรฐานย่อมนำมาใช้ได้โดยอนุโลม, ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาภาษาไทยท่านหนึ่งให้ข้อแนะนำที่มีเหตุผลและพึงถือปฏิบัติได้ในเรื่องการใช้ภาษาว่า:

‘ผู้ที่จะรู้ภาษาดี ต้องเรียนรู้หลัก ๓ ประการ ต้องเรียนรู้หลักภาษาให้เข้าใจดี ประการ ๑ ต้องเรียนรู้วรรณคดีของภาษาให้เข้าใจดี ประการ ๑ ต้องเรียนรู้วิชาใช้ภาษาดี ประการ ๑ เมื่อศึกษาได้ครบถ้วนตามหลักทั้งสามนี้แล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ภาษาดี ฯลฯ’

ตามหลักดังกล่าวนี้, ผู้ที่จะมีโวหารกฎหมายดี, จำเป็นต้องเป็นผู้พหูสูตร, อ่านและฟังมาก, เป็นคนช่างสังเกต, จดจำโวหารที่สละสลวยไว้ใช้ในโอกาสอันควร, เว้นแต่โวหารนั้นเป็นโวหารเฉพาะตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง. นักอักษรศาสตร์บางท่านแนะนำว่า, ในการฝึกฝนเรื่องโวหารนี้, สมควรจะอ่านวรรณกรรมชิ้นเอกต่าง ๆ เพื่อศึกษาเรื่องโวหารโดยเฉพาะเป็นครั้งคราว, โดยไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระของเรื่องที่อ่าน, แต่ควรสังเกตและวิจารณ์เฉพาะในเรื่องโวหารที่ว่าดีนั้น, ดีอย่างไร ? มีคุณลักษณะที่ดีเด่นประการใดบ้าง ? ถ้าหากโวหารนั้นไม่ดี, ไม่ดีอย่างไร ? ท่านสามารถจะปรับปรุงแก้ไขวรรณกรรมชิ้นนั้นให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ?

เป็นที่น่าสังเกตว่า, ในบางครั้งเราอ่านวรรณกรรมบางชิ้นแล้ว รู้สึกว่าเขียนดี และเป็นที่ประทับใจ, แต่พอย้อนกลับมาอ่านใหม่อย่างพินิจพิเคราะห์, กลับกลายเป็นเรื่อง ‘งามผาด’ และมิใช่ ‘งามพิศ’ แต่ส่วนใหญ่ มักจะได้แก่เรื่องที่เราไม่ค่อยได้แลเห็นคุณค่าอันดีเด่นของวรรณกรรมนั้นๆ ในการอ่านครั้งแรก, คล้ายกันกับการฟังเพลงครั้งแรกนั่นเอง, ตรงกันข้าม, เมื่อฟังเพลงนั้นหลายครั้ง หรืออ่านวรรณกรรมนั้นหลายหน, อาจแลเห็นคุณค่าดีเด่นขึ้นเป็นลำดับ, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ‘เข้าถึง’ ความไพเราะของเพลงที่ฟัง, หรือ ‘เข้าถึง’ อรรถรสของเรื่องที่อ่าน, ซึ่งเรื่องนี้สำคัญอยู่ที่ต้องมีสมาธิและใช้วิจารณญาณอย่างพินิจพิเคราะห์.

อันการคิดค้นโวหารใหม่ ๆ ขึ้นใช้เองเฉพาะตัวนั้น, พึงกระทำอย่างยิ่งแต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม. ถ้าสำนวนโวหารนั้นบังเอิญมีผู้นิยมว่าสละสลวย, ก็เป็นสิ่งที่มีค่าในด้านช่วยเสริมให้วรรณกรรมนั้นชวนอ่านชวนฟังขึ้นอีก, ทั้งยังช่วยสร้างสรรค์ภาษาให้มีชีวิต ให้มีความกว้างขวางก้าวหน้าขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย, และภาษาจะเจริญได้ก็โดยที่มีคนต้นคิดและสร้างสรรค์ผันแปรภาษาให้มีสำนวนโวหารใหม่, แปลก, เหมาะสมกับเรื่องที่ใช้อยู่เสมอ, ทั้งการใช้ถ้อยคำก็ถูกต้องตามหลักภาษาไทยด้วย. ตามปกติ ผู้อ่านผู้ฟังมักจะแหนงหน่ายต่อการอ่านการฟังสำนวนโวหารเก่าและซ้ำซาก, แต่อีกด้านหนึ่ง, สำนวนโวหารที่คิดค้นขึ้นใหม่นั้น, แม้ว่าใหม่และแปลก แต่ก็อาจยุ่งยากหรืออาจไม่เหมาะสม, หรืออย่างน้อยที่สุด, ในความรู้สึกของบุคคลทั่วไปอาจเห็นว่าขัดเขินก็ได้. โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:

‘คำเบิกความของนางประยูรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคดีฝ่ายจำเลย จึ่งจะฟังเป็นประมาณมิได้เสียแล้ว’

‘คดีแพ่งดุจกล่าวนั้น’

สำนวนที่ว่า ‘จึ่งจะฟังเป็นประมาณมิได้เสียแล้ว’ ก็ดี, ‘ดุจกล่าว’ ก็ดี, บางท่านคงจะเห็นพ้องด้วยกับผู้เขียนว่า เราไม่ค่อยเคยได้ยินใครใช้กัน, และดูจะเป็นสำนวนเฉพาะตัวอันฟังดูขัดเขินอยู่. อย่างไรก็ดี บางท่านอาจเห็นว่าสำนวนดังกล่าวไม่ขัดเขิน และอาจมีผู้นิยมใช้ตามในภายภาคหน้าก็เป็นได้.

สำหรับตัวอย่างภาษากฎหมายที่ดีนั้น, ในระบบกฎหมายของเราก็มีอยู่เป็นจำนวนมิใช่น้อย, ตัวอย่างที่นำมาแสดงในบทความนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น. สำหรับภาษาในตัวบทกฎหมายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นโวหารที่ดีมีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นก็มีอยู่ในพระราชบัญญัติบางฉบับเหมือนกัน, อาทิ เช่น, พระราชบัญญัติการเดินอากาศ, พ.ศ. ๒๔๙๗. นัยว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทางคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร มิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงต้นร่างของหน่วยงานเจ้าของเรื่องเลยแม้แต่น้อย. สำหรับตัวอย่างภาษาคำพิพากษาที่ดี, ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ที่อาจเลือกศึกษาโวหารได้. อย่างไรก็ดี, เรื่องของโวหารเป็นเรื่องของศิลปเฉพาะตัวดังกล่าวแล้วข้างต้นด้วย. ดังนั้น แม้ว่าโดยส่วนรวมอาจกล่าวได้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกามีมาตรฐานโวหารกฎหมายสูง, คำพิพากษาของท่านผู้พิพากษาบางท่านมีโวหารดีเด่นเป็นพิเศษด้วย. ส่วนวรรณกรรมกฎหมายประเภทอื่นๆ ก็มีโวหารกฎหมายไทยที่ดีและมีปริมาณพอเลือกศึกษาได้. อันวรรณกรรมชิ้นใดจะถือว่ามีโวหารดีเด่นอย่างใดเป็นเรื่องซึ่งพอวินิจฉัยได้, ถ้าหากใช้วิจารณญาณอย่างพินิจพิเคราะห์ดังกล่าวแล้วข้างต้น. เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของโวหารโดยเฉพาะ, แม้ว่าโวหารที่ไม่ดี ก็เป็นบทเรียนที่ควรจะได้ศึกษาดุจกัน.

ในเรื่องแนวความคิดเห็นในการพูดหรือการเขียนนั้น ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ให้คำแนะนำอันมีค่าอีกแง่หนึ่งว่า :

‘ศิลปแห่งการแสดงออกนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าฝึกให้มีขึ้นได้ ไม่เหลือวิสัยขอให้ฝึกตนให้พูดโดยได้ความชัดเจนเรียบร้อย ให้เขียนโดยภาษาหนังสือที่ดี นำความหมายมาตีแผ่ให้เด่น และขอให้ระลึกด้วยว่า การที่จะเป็นได้เช่นนี้ เราต้องมีความคิดแจ่มใสด้วย จึงจะพูดได้ดี นี่เป็นความสำคัญนัก’.

สำหรับเรื่องแนวความคิดเห็นในการเขียนโดยเฉพาะนั้น, นักอักษรศาสตร์ท่านหนึ่งให้คำแนะนำว่า:

‘ก่อนที่จะลงมือเขียน ผู้เขียนต้องคิดแล้วคิดอีก จนกว่าความคิดนั้นจะแจ่มแจ้งอยู่ในสมอง แล้วจึงเขียนลงไป เขียนด้วยถ้อยคำสั้นๆ ใช้ประโยครัดกุม แต่ละย่อหน้าไม่ต้องเขียนยาวนัก ไม่ควรจะเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในขณะเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ขณะที่เขียนนั้น ควรจะสมมุติตนเองเป็นผู้อ่านไปด้วย ว่าจะเข้าใจมากน้อยเพียงไร หรือลองนำไปอ่านให้คนอื่นฟังก่อน มีเรื่องเล่าว่านักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ก่อนที่จะพิมพ์บทละครของเขาออกไปนั้น เขามักจะนำไปอ่านให้คนครัวฟังก่อนเสมอ ถ้าผู้ฟังไม่เข้าใจ เขาก็จะแก้ไขให้เรียบร้อยฯลฯ’.

ตามหลักเกณฑ์เรื่องแนวคิดเห็นดังกล่าว, เราจะสังเกตจากโวหารที่ดีในวรรณกรรมกฎหมายชิ้นเอกทั้งหลายได้ประการหนึ่ง, คือแม้ว่าวรรณกรรมกฎหมายเหล่านั้นจะเป็นของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม, คุณภาพของโวหารก็หาเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทัดเทียมกันเสมอไปไม่, ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากจิตใจและอารมณ์ของเจ้าของโวหารในขณะเขียนนั้น. เปรียบเสมือนเจ้าของโวหารนั้นเป็นศิลปินประเภทหนึ่ง: บางขณะอาจจะมี ‘แรงดลใจ’ ดีกว่าอีกขณะหนึ่งก็เป็นได้. หากจิตใจไม่ผ่องแผ้วแจ่มใสหรือฝืนใจเขียนในขณะที่ไม่มีอารมณ์ชวนเขียนแล้ว, ยากนักหนาที่ผลงานแห่งวรรณกรรมกฎหมายนั้นๆ จะดีเด่นเท่าที่ควร แต่ก็จะมีมนุษย์ปุถุชนคนใดเล่าที่จะมีดวงจิตอันบริสุทธิ์ผ่องใสและมีแรงดลใจอยู่ได้ทุกขณะจิต, นอกจากองค์พระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น.

อย่างไรก็ดี, เรื่องอารมณ์นี้ นักกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติอเมริกันนายหนึ่งมีความเห็นว่า นักกฎหมายไม่ได้ใช้อารมณ์ให้เป็นประโยชน์ในการเขียนเรื่องกฎหมายเหมือนกับกวี, นักประพันธ์ หรือนักเขียนประเภทอื่น ๆ เมื่อมีจุดด้อยเช่นนี้, นักกฎหมายจึงต้องหาจุดเด่นในเรื่องอื่นมาทดแทน, กล่าวคือ ต้องพยายามเอาใจใส่ในด้านแบบฉบับ, และลีลาแห่งการเขียนให้มากขึ้น. ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของนักกฎหมายอเมริกันผู้นี้มีส่วนจริงอยู่บ้างก็แต่เพียงในด้านภาษาของตัวบทกฎหมาย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโวหารประเภทไม่เฉพาะตัว (impersonal style) ดังกล่าวแล้วข้างต้นเท่านั้น. ส่วนภาษากฎหมายประเภทอื่น ๆ, ไม่น่าจะเป็นเช่นคำกล่าวหานั้นเลย, เพราะภาษากฎหมาย ในประเภทเหล่านี้ต้องอาศัยหลักวิชาและศิลปะประกอบกัน. เมื่อเป็นเรื่องของศิลปะแล้ว, อารมณ์ของศิลปินย่อมมีบทบาทสำคัญยิ่งดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่การแสดงออกซึ่งศิลปะในภาษากฎหมายย่อมแตกต่างกับศิลปะของภาษาประเภทอื่นๆ เป็นธรรมดา.

สืบเนื่องมาจากเรื่องของจิตใจและอารมณ์ของผู้เขียนดังกล่าวนี้, เคล็ดลับในการเขียนที่ดีย่อมอยู่ที่มีแนวคิดเห็นที่ดี, วางแผนเค้าโครงการเขียนที่ดี, และเขียนในระหว่างที่จิตใจผ่องแผ้วแจ่มใส, ทั้งมีอารมณ์ชวนเขียน. แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ว่า นักกฎหมายมักจะต้องทำงานแข่งกับเวลาเสมอ. เป็นต้นว่า อุทธรณ์, ฎีกา, ก็ต้องยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การเรียงคำพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้นก็ดุจกัน. นอกจากนั้น ในวิชาชีพกฎหมายก็มีงานที่จะต้องเรียบเรียงในฉับพลันทันใดเป็นจำนวนมาก. เรามักจะไม่มีเวลารอให้เกิดอารมณ์ชวนคิด, ชวนเขียนเลยแม้แต่น้อย. ปริมาณแห่งวรรณกรรมกฎหมายที่มีความดีเด่นเป็นพิเศษจึงมีไม่มากเท่าที่เราหวังกัน.

ท่านศาสตราจารย์บอนเนอมี โดเบร (Bonomy Dobrée) แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ได้ให้ข้อเตือนใจที่น่าคิดเกี่ยวกับการฝึกโวหารที่ดีข้อหนึ่งว่า, อันการเขียนนั้นควรเขียนตามที่คิด, และอย่าปล่อยให้ ‘ปากกาพาไป.’ ข้อแนะนำที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของท่านศาสตราจารย์ผู้นี้คือ, การ ฝึกหัดเฝ้าดูจิตใจตนเองว่ามีหัวงคิดนึกอย่างไร ? และห้วงคิดนึกนั้นดำเนินไปอย่างไร ? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าปรึกษาหารือกับตนเอง, ฟังตนเองคิดในใจ, และต้องฝึกหัดพูดหรือเขียนให้ตรงตามที่ใจคิดและประสงค์จะกล่าว. การเฝ้าดูจิตใจในลักษณะดังกล่าวนี้จะบังคับให้เราเป็นนักคิดด้วย เพราะเรื่องที่จะกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการกลั่นกรองการใช้ถ้อยคำด้วยจิตใจเสียก่อนเป็นเบื้องต้น. สิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดาย, แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการฝึกและเหาะโวหารที่ดี.

ผู้ฝึกฝนภาษากฎหมายต้องฝึกหัดใช้ห้วงความคิดนึกในเรื่องที่จะเขียนโดยคิดก่อนทั้งเรื่องว่า, ในเรื่องนั้นประสงค์จะกล่าวอะไรบ้าง, แล้วจึงแยกแยะออกมาเป็นประเด็น ๆ, จัดลำดับประเด็นตามเหตุผลที่ควรจะเป็น, และเหมาะสมกับเรื่องที่จะกล่าว. จากนั้น สมควรคิดต่อไปว่า, ประเด็นใด ควรกล่าวสั้นหรือยาวอย่างไร, ประเด็นใดเป็นประเด็นสำคัญ, ประเด็นใดเป็นเพียงส่วนประกอบ, ทั้งนี้ ย่อมแล้วแต่เนื้อเรื่องและความมุ่งหมายของผู้เขียน. ถ้าจำเป็นต้องอ้างถึงเรื่องอื่นซึ่งมิใช่เรื่องในประเด็นโดยตรง, หากแต่เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นเท่านั้น, ก็สมควรกล่าวไว้ด้วย. เมื่อพิจารณากำหนดประเด็นเบื้องต้นแล้ว, สมควรพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่า, แต่ะละประเด็นนั้น มีส่วนสัมพันธ์กันและเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่กล่าวหรือไม่. ในเบื้องสุดท้าย ควรพิจารณาทั้งเรื่องว่า, คำกล่าวในแต่ละประเด็น มีขนาดสั้นยาว และน้ำหนักถ้อยคำ ได้ส่วนสัดกันหรือไม่ มีความพอดีกับเรื่องนั้นทั้งเรื่องหรือไม่.

สำหรับการร่างตัวบทกฎหมายนั้น, เซอร์ เฟรเดอริก พอลล็อก (Sir Frederic Pollock) กล่าวว่า, ผู้ร่างต้องมีความจัดเจนหลายประการด้วยกัน : ประการแรก, ต้องมีความสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นชัดแจ้ง, ซึ่งมิใช่เรื่องที่ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิดกัน, ประการที่สอง, ต้องรู้ศัพท์กฎหมายดี, และตระหนักด้วยว่า ผู้ใช้กฎหมายที่ความภาษาตัวบทกฎหมายนั้นอย่างไร, ประการที่สาม, ต้องสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า, ร่างกฎหมายนั้น ๆ จะใช้บังคับแก่บุคคลใด ในกรณีใดบ้าง, และจะได้ผลเพียงใด. ท่านเองไม่ประสงค์ที่จะสบประมาทว่า, นักนิติบัญญัติของอังกฤษ ส่วนมากเป็นผู้ที่ไร้วุฒิเหล่านี้โดยสิ้นเชิง.

อนึ่ง ดั่งที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า, การร่างกฎหมายนั้นจะร่างให้ผู้ที่สุจริตเข้าใจได้ถูกต้องเท่านั้นหาเพียงพอไม่, หากแต่ต้องพยายามร่างโดยมิยอมให้ผู้ไม่สุจริตมีโอกาสจงใจเข้าใจผิดด้วย. ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในแง่ของผู้ไม่สุจริตด้วยว่า, มีช่องทางที่จะทุจริตบิดเบือนตีความหมายกฎหมายนั้นเป็นอื่นได้หรือไม่. ในทำนองเดียวกัน, การร่างสัญญาก็ดี, การร่างพินัยกรรมก็ดี ต้องพยายามทดสอบในมุมกลับว่ามีช่องโหว่ต่าง ๆ หรือไม่ด้วย.

เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) ปรัชญาเมธีชาวอังกฤษสมัยปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี ในหนังสือ เรื่อง ‘หลักวิชาสังคมวิทยา’ (Principles of Sociology) ว่า : ‘หลักการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมี ห้าประการ, แต่ละประการมีความสำคัญลดหลั่นกันดังนี้คือ (๑) ใช้คำอังกฤษแท้, แทนที่จะใช้คำอังกฤษที่มีรากเง่ามาจากภาษาอื่น, (๒) ใช้คำเฉพาะและคำที่จัดอยู่ในประเภทรูปธรรม แทนที่จะใช้คำทั่วไป หรือคำที่จัดอยู่ในประเภทนามธรรม, (๓) เรียงลำดับคำในแต่ละประโยคให้ถูกต้อง, (๔) ให้ความหมายของคำในประโยคตรงกันกับความนึกคิดของผู้กล่าว, และ (๕) ใช้ถ้อยคำในรูปต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า, ใช้คำพังเพย เพื่อประหยัดเวลาของผู้อ่าน’.๑๐ หลักการเหล่านี้ น่าจะนำมาปรับใช้กับการใช้ภาษากฎหมายไทยได้ดี.

จริงอยู่ ที่กฎหมายบางลักษณะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ, แต่ส่วนใหญ่มักจะเห็นกันไปว่า เรื่องของกฎหมายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย. ปัญหาน่าคิดมีว่าจะเรียกร้องให้บุคคลทั่วไปหรือแม้แต่นักกฎหมายเองสนใจในวรรณกรรมกฎหมายได้อย่างไรบ้าง ? สำหรับเรื่องตัวบทกฎหมายโดยตรงนั้น ย่อมอยู่ที่ว่า, กฎหมายนั้นว่าด้วยเรื่องใด. ถ้าเป็นเรื่องครอบครัวมรดก, หรือกฎหมายอาญา, ย่อมมีผู้สนใจอยู่แล้วไม่มากก็น้อย; ถ้าหากเป็นกฎหมายลักษณะอื่นบางลักษณะ, อาจมีผู้สนใจน้อย, แม้ในวงการนักกฎหมายเอง, นอกจากในหมู่ผู้ที่ต้องใช้กฎหมายนั้นโดยเฉพาะ. เรื่องนี้แก้ไขยาก. นักศึกษากฎหมายบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า, ถ้าหากใครนอนไม่หลับ, สมควรแนะนำให้อ่านหนังสือกฎหมาย, เพราะจะหลับง่ายและเร็วกว่ารับประทานยานอนหลับหลายเท่าตัว. ส่วนวรรณกรรมกฎหมายประเภทอื่น ๆ เช่น, บทความหรือตำรากฎหมายนั้น, อาจเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้บางประการ, กล่าวคือ, โดยการปรับปรุงโวหารให้ดีเด่น, ชวนอ่าน, ให้โวหารนั้นมีคุณลักษณะครบถ้วนดังกล่าวแล้วข้างต้น ประการหนึ่ง, และอีกประการหนึ่ง, ควรใช้ความคิดเห็นในเชิงกฎหมายที่ใหม่, แปลก, น่าคิด, ลึกซึ้งและกว้างขวาง, ชี้ช่อง และเสนอแนะเงื่อนแง่ต่าง ๆ ของปัญหาทั้งหลายในกฎหมายลักษณะนั้น ๆ, แต่ทางเสียที่มีอยู่, กล่าวคือ การพิจารณาปัญหาใดก็ตาม ถ้าละเอียดเกินไปในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อาจทำให้ผู้อ่าน ‘เห็นพฤกษ์แต่ไม่เห็นไพร’, หรือ ‘เห็นไพรแต่ไม่เห็นพฤกษ์’, หรือกลับกลายเป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นยาก นอกจากนั้น, ตัวอย่างที่นำมาแสดงประกอบนั้น, ถ้าหากเป็นตัวอย่างเรื่องจริงที่น่าสนใจ ย่อมทำให้เรื่องที่เขียนมีภาพพจน์น่าสนใจ ชวนอ่านขึ้น และเข้าใจเรื่องง่ายเข้า, ทั้งมีน้ำหนักให้ผู้อ่านคล้อยตามเหตุผล และความคิดเห็นของผู้กล่าวยิ่งขึ้นด้วย.

สำหรับการฝึกพูดนั้น, ดั่งได้กล่าวแล้วข้างต้น, วาทศิลป์ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายประการนอกเหนือไปจากโวหารการพูด, การฝึกพูดจึงต้องขยายขอบเขตให้กว้างขวางกว่าการฝึกเขียน, การฝึกพูดควรรวมตลอดทั้งการสร้างบุคคลิกภาพในเชิงพูด, ปรับปรุงน้ำเสียงที่พูดให้สดชื่น แจ่มใส, พูดชัดทุกถ้อยคำ, มีความเชื่อมั่นในตนเอง, ฝึกฝนการวางเค้าโครงการพูด ซึ่งต้องประกอบด้วยคำนำ, ตัวเรื่อง, และสรุป, คิดก่อนพูดว่า จะพูดเรื่องอะไร ? พูดกับใคร ? และสมควรพูดอย่างไร ? การพูดที่ดีนั้น ต้องเหมือนกับการพูดในการสนทนาตามปกติ, พูดจากใจจริง, พูดช้า, ชัด, และฉะฉาน.

ในเรื่องวาทศิลป์แห่งการว่าความนั้น, ลอร์ด เบอร์คิท แนะนำว่า การแถลงการณ์ด้วยวาจาในศาลนั้นมีวิธีการและศิลปะโดยเฉพาะ, ผู้พูดต้องฝึกฝนในเรื่องศิลปะของการจูงใจ, พยายามเอาชนะใจผู้ฟังให้จงได้. ผู้พูดจะจูงใจได้ดีก็ต่อเมื่อตนรู้ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายในคดีของตนอย่างละเอียด, สามารถเล่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นอย่างแจ่มแจ้ง ผู้พูดต้องมีหลักจิตวิทยาดี, มีปฏิภาณไว, รู้ใจผู้ฟังดี, มีสัญชาติญาณในเชิงคดีว่า ตนสมควรพูดอย่างไร; และต้องฝึกฝนในด้านการเลือกเฟ้นใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องและถูกที่;๑๑ และเคล็ดลับในเรื่องของวาทศิลปในเชิงคดีก็คือ, ควรพูดให้เข้าใจง่าย, และพูดจากส่วนลึกของดวงใจผู้พูด.๑๒

ประการสุดท้าย, เคล็ดลับสำหรับการเขียนและการพูดอีกข้อหนึ่งคือ, เมื่อฝึกเขียนและฝึกพูดแล้ว, ต้องมีผู้ช่วยติชมด้วย, จึงจะได้ประโยชน์ในด้านการฝึกฝนเรื่องโวหารอย่างเต็มที่ ดังที่ ‘ยาขอบ’ นักประพันธ์สำคัญคนหนึ่งของไทย เคยกล่าวเน้นไว้ว่า :

‘เพื่อนที่ดีจะช่วยให้เราเขียนหนังสือได้ชัดเจน, โดยการช่วยติชมข้อเขียนของเรา’.๑๓

ในด้านการพูดก็เช่นเดียวกัน และผู้ติชมที่มีความสำคัญไม่ยิ่งและหย่อนกว่า ‘เพื่อนที่ดี’ ก็คือ ตัวผู้เขียนหรือผู้พูดเอง. แต่มีข้อน่าคิดอยู่ว่า ตนเองจะติชมตนเองได้ดี ก็ต่อเมื่อเขียนหรือพูดแล้วเก็บไว้สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง, อาจจะเป็น ๒ - ๓ วัน, หรือเป็นเวลาแรมสัปดาห์, แล้วย้อนกลับมาพิจารณาจุดเด่นจุดด้อยในข้อเขียน, หรือเรื่องที่พูดซึ่งบันทึกเสียงหรือบันทึกไว้ด้วยวิธีอื่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง, ผู้เขียนหรือผู้พูดจะแลเห็นส่วนดีและข้อบกพร่องได้อย่างชัดเจน. วาระนั้นน่าจะเป็นโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงข้อเขียนหรือคำกล่าวของตนเองได้ดีที่สุด.

  1. ๑. นายเกษม บุญศรี, ‘การใช้ภาษา’, เอกสารประกอบการศึกษาวิชาภาษาไทย ประจำภาคแรก, คณะศิลปศาสตร์ ปีที่ ๑, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๖๓.

  2. ๒. Raymond Chapman, A Short Way to Better English (London: C. Bell & Sons Ltd., 1956) p. 92.

  3. ๓. นายสัญญา ธรรมศักดิ์, ‘เรื่องสอบไล่’, นิติสาส์น, ปีที่ ๑๙, เล่ม ๔, ตุลาคม, พฤศจิกายน, ธันวาคม ๒๔๙๑, หน้า ๗๖๔.

  4. ๔. นางสาว พรพรรณ วัชราภัย, สำนวนการเขียน, บริษัทประชาชน จำกัด จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติม, พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า ๕๒.

  5. ๕. The story writer or the poet, indeed almost every other writer, makes constant use of a great human factor which is denied the lawyer--the element of emotion. After all it is this element of emotion-in some one of its subtle and varied forms-which makes the strongest appeal in this prosaic world, whether it be with the crude and simple man or with the most highly cultured one. Since this element of feeling is almost entirely banished from the writing of the lawyer, he must be more careful than any other writer to make up for this handicap; and he can only do that by giving more attention to the form and style of what he writes.: Urban L. Lavery, ‘The Language of the Law’, American Bar Association Journal, Volume 8, 1922, p. 270.

  6. ๖. ‘...there is that of fidelity to thought, the extremely difficult task of complete honesty; we must not, as is so easy, allow language to condition our thought...’: Bonomy Dobrée, Modern Prose Style (London: Oxford University Press, 1934), p. 229.

  7. ๗. ‘...he must listen to himself, so to speak, to hear what he has to say. He must not prejudge, or force an issue : we must be able to imagine that he is talking to himself. In no other way can be achieve a style, which is the sound of his voice, which is the man himself.

    It is not so simple as it sounds for a man to watch his own mind; it is as difficult as writing in the way you ordinarily talk : literary habits continually get in the way.... What he must really do, as the first essential, is to keep his awareness athletic, especially his awareness of himself. And he must not watch his mind idly; he must watch it as he might a delicate piece of machinery doing its work, and he must watch it, not flickering about in the direction he wants it to go. Otherwise the result may be disastrous.’: Bonomy Dobrée, Modern Prose Style (London: Oxford University Press, 1934), pp. 221-222.

  8. ๘. ท่านศาสตราจารย์ฮิล (Hill) กล่าวในหนังสือ Essays on English ว่า: ‘A good writer sees his subject as a whole and treats it as a whole. However abundant his material (and the more of it the better) he presents it as a unit. Sometimes he effects this by giving prominence to one idea, and grouping other ideas about that in subordinate positions-digressions if made at all being distinctly marked as digressions. Always he observes the laws of proportion, and then gives to each part the space it should occupy relatively to every other part and to the whole. : อ้างถึงในบทความเรื่อง ‘The Language of the Law’, Urban L. Lavery, The American Bar Association Journal, Volume 8, 1922, p. 270.

  9. ๙. “The kind of skill required includes many elements. First comes power of expressing ideas clearly which is not so common as many people think. Familiarity with the appropriate technical terms is, of course, needful, and, besides this, there should be knowledge of the manner in which the language of statutes is looked upon by those who have to interpret it. There must yet be added the faculty of scientific imagination which can foresee the various consequences of a proposed enactment in its relations to the various persons and transactions affected by it. We shall offer no insult to the intelligence of members of Parliament in saying that most of them are without these special qualifications. : อ้างถึงในบทความที่อ้างในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๒๗๑.

  10. ๑๐. The five principles which Spencer gives and the order of their importance are: the use of ‘Saxon English words’ rather than words of foreign derivation; the use of specific, concrete words ‘rather than words of an abstract or generic nature; the ‘right arrangement’ of words and expressions most nearly related to thought; and the use of various figures of speech (similes, metaphors, etc.) to secure economy of attention.’ : อ้างถึงใน ‘The Language of the Law’, Urban L. Lavery, The American Bar Association Journal, Volume 8, 1922, p. 274.; นอกจากนี้ โปรดดูหลักการร่างกฎหมายของมองเตสกิเออร์ ปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศส ซึ่งอ้างถึงในตอนต้นประกอบด้วย.

  11. ๑๑. Lord Birkett, Six Great Advocates (London : Penguin Books, 1963), p. 108.

  12. ๑๒. Many opinions have been expressed from time to time about the character of the highest advocacy and the highest oratory. It would seem to be the view of these best qualified to judge that simplicity of speech, linked with the expression of the deepest feelings of mankind, has always had power to stir men’s blood in all ages of the world’s history...’: Lord Birkett, Six Great Advocates (London: Penguin Books, 1963), pp. 109-110

  13. ๑๓. ยาขอบ, สินในหมีก, โรงพิมพ์ประเสริฐอักษรกิจ จัดพิมพ์, พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๑๐.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ