บทที่ ๒. ภาษากฎหมายของนานาประเทศ

เนื่องจากกฎหมายไทยทุกฉบับที่ประกาศใช้ในตอนเริ่มใช้ระบบกฎหมายปัจจุบันร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษก่อน, ครั้นแล้วจึงแปลมาเป็นภาษาไทยประการหนึ่ง, และอีกประการหนึ่ง, เพื่อให้การพิจารณาภาษากฎหมายของเราละเอียดรอบคอบ, จึงสมควรที่จะได้พิจารณาภาษากฎหมายของอังกฤษและของประเทศอื่น ๆ เปรียบเทียบด้วย, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในแง่ที่ว่า ภาษากฎหมายของนานาประเทศนั้นมีหลักการและแนวคิดเห็นประการใด ? มีอุปสรรคในแง่ใดบ้าง ? และมีวิธีการแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ?

ภาษากฎหมายของอังกฤษ

สำหรับภาษากฎหมายของอังกฤษ (Legal English) โดยตรงนั้น, เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นภาษาทางวิชาการที่มีความยุ่งยากและสับสนที่สุดประเภทหนึ่ง, ภาษาประเภทอื่นซึ่งเป็น ‘ทางการ’ ที่ยุ่งยากและสับสนก็พลอยได้รับสมญาอันไม่เป็นมงคลแก่ภาษากฎหมายนักว่า เป็นภาษา ‘officialese’ หรือ ‘legalese’. ภาษากฎหมายประเภทที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเห็นจะได้แก่ ภาษาของตัวบทกฎหมายเอง. ลอร์ด เจสเซล อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้เคยกล่าวถึงพระราชบัญญัติของอังกฤษฉบับหนึ่งว่า, ผู้ร่างสู้อุตส่าห์ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากจนได้, ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะมีปัญหาเลย, ถ้าหากร่างง่าย ๆ โดยใช้คำที่ถูกต้องและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป. สิ่งที่ทำให้ภาษาของตัวบทกฎหมายอังกฤษยุ่งยากประการหนึ่ง คือ แต่เดิมมานั้น, กฎหมายแต่ละมาตราต้องมีเพียงประโยคเดียวเท่านั้น. ด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่ละประโยค, แต่ละมาตรา, จึงยาวประมาณ ๓๐-๕๐ บรรทัด. นอกจากภาษาของตัวบทกฎหมายจะมีความเยิ่นเย้อดังกล่าวแล้วยังมีความสับสนอย่างยิ่ง, ทำให้ยากแก่การอ่านและการทำความเข้าใจของคนทั่วไปด้วย. การใช้มหัพภาคในแต่ละมาตรานั้น, เพิ่งจะเริ่มมาใช้กันในรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย มหาราชนี่เอง. อย่างไรก็ดี, ผู้พิพากษาที่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายอยู่ด้วย, มักจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้ร่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรอยู่มาก. บางท่านกล่าวว่า ไม่มีอะไรจะง่ายกว่าการตินักร่างกฎหมายต่าง ๆ นานา, แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรจะยากเย็นเข็ญใจเท่ากับการตีความกฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้. ท่านผู้พิพากษาที่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายอีกท่านหนึ่งปรารภว่า, แม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติไว้ง่าย ๆ แต่บางคนก็พยายามหาช่องทางที่จะเข้าใจผิดให้ได้, ฉะนั้นการร่างกฎหมายนั้นจะร่างให้ผู้ที่สุจริตเข้าใจได้ถูกต้องเท่านั้นหาเพียงพอไม่, หากแต่ต้องพยายามร่างให้ผู้ไม่สุจริตไม่มีโอกาสจงใจเข้าใจผิดได้ด้วยจึงจะดีที่สุด. ลอร์ดเดนนิ่ง, ซึ่งเป็นนักกฎหมายผู้ทรงไว้ซึ่งอัจฉริยภาพสูงยิ่งผู้หนึ่งของอังกฤษในปัจจุบัน, ให้แง่คิดอีกแง่หนึ่งว่า, สิ่งที่พึงระลึกเมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายก็คือ, เป็นการพ้นวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่จะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ว่า, จะมีกรณีใดเกิดในอนาคตบ้าง, และแม้ว่าจะคาดการณ์ได้, ก็เป็นการเหลือวิสัยที่จะบัญญัติกฎหมายให้คลุมถึงกรณีเหล่านั้นได้ทุกกรณีโดยปราศจากความเคลือบคลุม. ภาษาอังกฤษมิใช่เครื่องมือที่จะใช้ได้เที่ยงตรงและแน่นอนอย่างการคำนวณ.

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ร่างกฎหมายอังกฤษเผชิญอยู่ตลอดมา คือในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้น ความแน่นอนของความหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายย่อมสำคัญที่สุด. ดังนั้นแม้แต่คำว่า ‘ผ้าขี้ริ้ว’ ก็ยังต้องให้คำนิยาม และแยกประเภทอย่างพิถีพิถัน, เพื่อให้มีความหมายอันแน่นอน, เพื่อการควบคุมราคาการซักผ้าขี้ริ้ว. ตาม Statutory Rules and Order for 1945, ให้คำนิยามศัพท์ผ้าขี้ริ้วไว้ดังนี้:

‘Rags’ means any worn-out, disused, discarded or waste fabric or material made wholly or mainly from wool, cotton, silk, rayon, or flax or from any mixture thereof.

‘Wiping rags’ means rags each one of which is not less than 144 square inches in size and has been trimmed and washed and is suitable for use as a wiping rag.

ความแจ่มกระจ่างของตัวบทกฎหมายที่เป็นปัญหายุ่งยากที่สุดปัญหาหนึ่งของนักร่างกฎหมายอังกฤษ. ในบางกรณี, เพื่อมิให้ข้อความในบทบัญญัติเคลือบคลุมต้องมีการกล่าวอ้างซ้ำซากอย่างน่าขำขัน, ดังที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายฉบับหนึ่งว่า :

‘In the Nuts (Unground) (Other than Groundnuts) Order, the expression nuts shall have reference to such nuts, other than groundnuts, as would, but for this Amending Order, not qualify as nuts (Unground) (Other than Groundnuts) by reason of their being nuts (Unground).’

โปรดสังเกตว่าไม่มีการใช้สรรพนามแทนคำนามที่ใช้ในตัวบทกฎหมายเลย, หากแต่มีการกล่าวคำนามนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก. อนึ่ง ถ้อยคำในกฎหมายอังกฤษอีกฉบับหนึ่งก็มีข้อที่น่าสังเกต คือ The Statutory Rules and Orders 1943, No. 1216, ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องเดียวกันนั้นมีความว่า :

‘1. The Control of Tins Cans Kegs Drums and Packaging Pails (No. 5) Order, 1942 (a), as varied by the Control of Tins Cans Kegs Drums and Packaging Pails (No. 6) Order, 1942 (b), the Control of Tins Cans Kegs Drums and Packaging Pails (No. 7) Order, 1942 (c), The Control of Tins Cans Kegs Drums and Packaging Puils (No. 8) Order, 1942 (d), and the Control of Tins Cans Kegs Drums and Packaging Pails (No.9) Order, 1942 (e), is hereby further varied in the Third Schedule thereto (which is printed at p. 2 of the pointed (No. 6) Order, in ‘Part II. Commodities other than Food’, by substituting for the reference ‘2 A’ therein, the reference ‘2 A (1)’; and by deleting therefrom the reference ‘2 B.’

การร่างกฎหมายทำนองนี้มีผู้ตำหนิกันมาก ทั้งมีผู้ตั้งปัญหาถามกันว่า, เหตุใดจึงไม่พยายามบัญญัติกฎหมายโดยใช้ภาษาง่าย ๆ ให้เข้าใจกันได้โดยสะดวกและทั่วถึง.

อย่างไรก็ตาม, กฎหมายลายลักษณ์อักษรของอังกฤษที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกฎหมายแบบฉบับซึ่งเป็นเอกในเชิงการร่างกฎหมายก็คือ, The Sale of Goods Act, 1893. กฎหมายฉบับนี้ เซอร์ แมคเคนซี ชามเมอร์ซ (Sir Mackenzie Chalmers) เป็นผู้ร่าง, คุณลักษณะที่ดีเด่นเป็นพิเศษก็คือ, ภาษากฎหมายที่ใช้สั้น, กะทัดรัด, อ่านเข้าใจง่าย, และเป็นภาษากฎหมายที่มีโวหารสละสลวยอย่างยิ่ง. กฎหมายฉบับนี้เป็นแม่พิมพ์ของกฎหมายลักษณะซื้อขายของนานาประเทศ, มิใช่เฉพาะแต่สำหรับประเทศในเครือจักรภพเท่านั้น, หากแต่เป็นแม่พิมพ์ของกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ของประเทศในกลุ่มสะแกนดิเนเวียด้วย.๑๐ กฎหมายนี้เคยมีอิทธิพลสูงในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นที่มาของกฎหมาย The Uniform Sale Act.๑๑ กฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับอื่น ซึ่งเซอร แมคเคนซี ชามเมอรซ์เป็นผู้ยกร่าง, อาทิเช่น, The Bills of Exchange Act, 1882, และ The Partnership Act, 1890, ก็ได้รับการยกย่องว่าดีเยี่ยมในเชิงการร่างดุจกัน, อนึ่ง กฎหมายทั้งสามฉบับนี้เป็นที่มาทางหนึ่งของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ในลักษณะซื้อขาย, ลักษณะตั๋วเงิน, และลักษณะหุ้นส่วนบริษัทด้วย. อย่างไรก็ดี, กฎหมายลายลักษณ์อักษรอันจัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมกฎหมายชั้นเยี่ยมเช่นนี้มีน้อยที่สุดในระบบกฎหมายของอังกฤษ.๑๒

สำหรับภาษากฎหมายที่ใช้ในคำพิพากษาของศาลอังกฤษนั้น, แตกต่างออกไปจากภาษาของตัวบทกฎหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น, ภาษาในคำพิพากษาเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาพูดอยู่เป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะตามหลักกฎหมายอังกฤษ, คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นเรื่องแสดงความคิดเห็น, และเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละนายที่จะกล่าวเองในศาล. แม้ว่าผู้พิพากษาแต่ละนายจะเห็นพ้องต้องกันในผลแห่งคำพิพากษา, แต่เหตุแห่งคำวินิจฉัยอาจจะแตกต่างกัน. บางครั้งก็ปรากฏว่าทั้งเหตุและผลในการวินิจฉัยของผู้พิพากษาขัดแย้งกัน. คุณภาพในวรรณกรรมกฎหมายของอังกฤษประเภทนี้มีอยู่ทุกระดับ, ศาสตราจารย์ เซอร์ เดวิด ฮิว แพรี่ (Sir David Hugh Parry) เคยกล่าวในชั้นที่ผู้เขียนเรียนอยู่ว่า, คำพิพากษาในคดีเรื่องหนึ่งซึ่งท่านกำลังสอนอยู่นั้น, ยาวเต็มเล่มหนังสือทั้งเล่ม, ซึ่งหนาประมาณสามนิ้วฟุต. ท่านกล่าวว่า ท่านเองอ่านมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนกฎหมาย, จนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านสอนอยู่เกือบ ๕๐ ปีแล้ว, ท่านที่ยังไม่ทราบเลยว่าคดีนั้น, ศาลตัดสินในประเด็นใดอย่างไรบ้าง. แต่คำพิพากษาที่ดีเด่นจริงๆ ซึ่งเขียนอย่างมีชีวิตชีวาก็มีเป็นจำนวนมิใช่น้อย. บรรดาผู้พิพากษาปัจจุบันซึ่งได้รับการยกย่องว่าเรียบเรียงคำพิพากษาได้ยอดเยี่ยมจริงๆ ก็มี, เช่น, ลอร์ด เดนนิ่ง (Lord Denning), เซอร์ เรย์มอนด์ เอเวอร์เช็ด (Sir Raymond Evershed), ลอร์ดเดฟลิน (Lord Devlin), และ ไวเคานท์ แรดคลีฟ (Viscount Radcliffe) เป็นอาทิ.

ปัญหามีว่า, หลักการสำคัญในการเรียงคำพิพากษาของอังกฤษที่ดีนั้นมีประการใด ? ไวเคานท์ แรดคลีฟ ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอังกฤษ (The House of Lords) กล่าวว่า, คำพิพากษาที่ดีนั้น น่าจะต้องมีคุณลักษณะดังที่นายคลัตตั้น-บร้อค (Clutton-Brock) นักเขียนมีชื่อคนหนึ่งของอังกฤษ, ได้เคยพูดถึงเรื่องภาษาร้อยแก้วไว้ว่า, ‘คุณลักษณะสำคัญของภาษาร้อยแก้ว คือ ความเที่ยงธรรม, ซึ่งความเที่ยงธรรมนี้อยู่ที่การตั้งปัญหา, ความอดทน, และความสามารถควบคุมอารมณ์ได้, แม้อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อันสูงส่งก็ตาม... ต้องฝึกฝนจนเป็นนิสัยในเรื่องการรักษาความเที่ยงธรรมในแนวความคิดเห็นและการใช้ลีลาโวหารที่เรียบสนิท. ผู้ชำนาญในเชิงภาษาร้อยแก้วนั้นต้องมิใช่ผู้ใช้ภาษาเนือย ๆ หรือชาเย็น, และในเวลาเดียวกันจะต้องมิใช่ผู้ที่ใช้ถ้อยคำหรือภาษาอันแรงด้วยอารมณ์, ซึ่งไม่เหมาะสมกับเรื่องที่กล่าว, ต้องแสดงข้อคิดเห็นโดยไม่เร่งร้อน, ลุกลน, ต้องไม่กล่าวทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนคิดในเรื่องนั้น. เรื่องใดแม้จะสละสลวยสักปานใด, หากมิใช่เรื่องในประเด็นแล้วย่อมต้องละเว้น. ความสละสลวยของเรื่องนั้นอยู่ที่การกล่าวแต่เฉพาะปัญหาของเรื่องนั้นเองโดยตรง, และกล่าวแต่เพียงพอสมควรแก่สภาพของเรื่องนั้น’.๑๓ นอกจากนั้น, ไวเคานท์ แรดคลีฟ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า, ผู้พิพากษาต้องให้เหตุผลในการตัดสินคดี, และต้องให้ความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องด้วยว่าการตัดสินคดีนั้นถูกต้องเที่ยงธรรมแล้ว.๑๔

อนึ่ง ไวเคานท์ แรดคลีฟ ได้กล่าวเกี่ยวกับภาษากฎหมายทั่วไปไว้ด้วยว่า, ต้องเป็นภาษาที่แจ่มแจ้งทั้งในแง่แนวความคิดเห็น, และการแสดงออกซึ่งแนวความคิดเห็นด้วย, กับทั้งต้องเป็นภาษาที่กะทัดรัด. การให้เหตุผลประกอบข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงต้องหนักแน่นดุจกัน.๑๕

ในทรรศนะของกฎหมายเปรียบเทียบท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งวิจารณ์ว่าเนื่องจากผู้พิพากษาแต่ละนายต้องเขียนคำพิพากษาของตนเอง, คำพิพากษาในแต่ละคดีจึงมีมากฉบับ, เหตุผลแห่งการวินิจฉัยซ้ำกันและยืดยาวโดยใช่เหตุ, ทำให้สิ้นเปลืองเวลาของผู้พิพากษา. แต่ในขณะเดียวกันคำพิพากษาศาลอังกฤษก็มีลีลาเป็นแบบฉบับถือปฏิบัติกันมาช้านาน. ลีลาในคำพิพากษาที่ว่านี้เป็นลีลาแบบของทนายความให้เหตุผลในเชิงกล่าวแก้คดีของตนเองในศาลอย่างจัดเจน. ภาษาของคำพิพากษาศาลอังกฤษจึงมีลีลาแตกต่างไปจากคำพิพากษาของศาลประเทศอื่นซึ่งโดยปกติเป็นภาษาทางการ.๑๖

ผู้เขียนเองเห็นว่าคำพิพากษาของศาลอังกฤษมีลีลาไปในเชิงอภิปราย, ให้เหตุผลสนับสนุนข้อคิดเห็นของผู้พิพากษา, อ้างอิงแนวคำพิพากษาดั้งเดิมมาเปรียบเทียบ, ยกตัวอย่างอื่นที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงในคดีมาเปรียบเทียบด้วยในลักษณะที่ว่าถ้าหากเป็นในคำพิพากษาของศาลไทยแล้ว, ก็ถือกันว่าเป็นการกล่าวเรื่องนอกประเด็นมากกว่า. ด้วยเหตุที่คำพิพากษาของศาลอังกฤษมีการกล่าวเรื่องอื่น ๆ อันมิใช่ประเด็นที่พิพาทโดยตรง, หากแต่มีการอ้างอิงเรื่องอื่นเพื่อสนับสนุนเหตุผลแห่งข้อคิดเห็นของผู้พิพากษา, จึงจำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์พิเศษขึ้น, กล่าวคือ, ถ้าหากเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยคดีโดยตรง (ratio decidendi) แล้ว. ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าคำกล่าวในคดี (obiter dictum). แนวปฏิบัติของศาลอังกฤษเช่นนี้นับว่าเป็นดาบสองคมอยู่, กล่าวคือ, เหตุผลนั้นอาจจะชัดเจน, ลึกซึ้ง, หรือยุ่งยาก, สับสน ก็ได้, แล้วแต่ว่าฝีมือในการเรียงคำพิพากษาของผู้พิพากษาแต่ละนายเป็นอย่างไร. คำพิพากษาศาลอังกฤษในระดับยอดเยี่ยมนั้นดีเด่นแทบจะหาที่เปรียบเทียบมิได้, แต่ก็มิใช่ว่าทุกฉบับจะดีเด่นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด.

ในที่นี้ใคร่ขอตัดตอนคำพิพากษาของศาลอังกฤษ, ซึ่งถือว่าดีเด่นและเป็นชั้นลายครามที่นักกฎหมายอังกฤษทุกคนรู้จักดี, และส่วนมากจดจำได้ขึ้นใจมาแสดงให้เห็นลีลาของภาษากฎหมายประเภทนี้, ข้อความที่ตัดตอนมานี้เป็นตอนที่ว่าด้วยหลักแห่งภาระการพิสูจน์ในคดีอาญา, ซึ่งตกแก่โจทก์, ลอร์ด แซงกี้ (Lord Sankey) กล่าวในคำพิพากษาคดี Woolmington ว่า “Throughout the web of the English criminal law one golden thread is always to be seen that it is the duty of the prosecution to prove the prisoner’s guilt subject to what I have already said as to the defence of insanity and subject also to any statutory exception. If, at the end of and on the whole of the case, there is a reasonable doubt, created by the evidence given by either the prosecution or the prisoner as to whether the prisoner killed the deceased with a malicious intention, the prosecution has not made out the case and the prisoner is entitled to an acquittal. No matter what the charge or where the trial, the principle that the prosecution must prove the guilt of the prisoner is part of the common law of England and no attempt to whittle it down can be entertained. When dealing with a murder case the Crown must prove (a) death as the result of a voluntary act of the accused; and (b) malice of the accused. It may prove malice either expressly or by implication. For malice may be implied where death occurs as the result of a voluntary act of the accused which is (i) intentional; and (ii) unprovoked. When the evidence of death and malice has been given (this is a question for the jury) the accused is entitled to show by evidence or by examination of the circumstances adduced by the Crown, that the act on his part which caused death was either unintentional or provoked. If the jury are either satisfied with this explanation or, upon a review of all the evidence, are left in reasonable doubt whether, even if his explanation be not accepted, the act was unintentional or provoked, the prisoner is entitled to the benefit of the doubt. It is not the law of England to say, as was said in the summing-up of the present case: ‘If the Crown satisfy you that this woman died at the prisoner’s hands then he has to show that there are circumstances to be found in the evidence which has been given from the witness-box in this case which alleviate the crime so that it is only manslaughter or which excuse the homicide altogether by showing it was a pure accident...’ per Lord Sankey in Woolmington V. Director of Public Prosecutions [1935] A.C. 462.

ภาษาที่พูดในศาลอังกฤษมีความพิสดารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาษากฎหมายประเภทอื่นๆ. แทนที่การพิจารณาคดีในศาลจะใช้ภาษามาตรฐานหรือที่เรียกว่า Queen’s English (หรือ King’s English แล้วแต่ว่าขณะนั้นประมุขของประเทศอังกฤษเป็นหญิงหรือชาย), หรือใช้ภาษาพูดธรรมดา, กลับใช้ภาษาที่พิสดารออกไป. ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมาเบิกความในศาล, จึงต้องเรียนและใช้ภาษากฎหมายเฉพาะในศาลด้วย, ดังจะเห็นจากถ้อยคำดังต่อไปนี้:

‘On the fifth inst. at nine p.m. approximately, when on duty, I was approaching the western outskirts of Sutton Procorum, when I observed accused behaving in a suspicious manner in the company of the female witness. There was a light haze at the time. Accused was seated in a squatting posture on a branch of a municipal plane – tree adjoining no.3, Pelham Place, at about ten feet from ground level, and, the female witness, who was in a recumbent position on the municipal bench under the said tree was inciting accused to make an entry into the premises. The words she used were; ‘Go on, Alf, go on in, have a bit of pluck! No one won’t see you.’ The female witness appeared to be under the influence of drink : She spoke these words in a highly jocular manner. The impression she conveyed was that she was sky-larking.’๑๗

ยิ่งกว่านั้น, สำเนียงพูดของภาษาที่ใช้ในศาลก็เพี้ยนแผลงไปจากภาษาธรรมดา. สำเนียงภาษาพูดในศาลไม่เหมือนกันกับสำเนียงวิทยุ บี.บี.ซี. หรือ The Received Pronunciation หรือสำเนียง ‘อ๊อกซฟอร์ด’ (The Oxford Accent) อันเป็นสำเนียงที่บุคคลทั่วไปใช้เรียกสำหรับสำเนียงของ ‘คนหัวสูง;’ หากแต่เป็นสำเนียงของภาษากฎหมายโดยเฉพาะ. สำเนียงนี้แฝงความดัดจริตไว้ในน้ำเสียงหาน้อยไม่. ถ้าจะเทียบกับสำเนียงไทยเรา, ก็ได้แก่สำเนียงที่ใช้เฉพาะในการแสดงละครหรือภาพยนต์นั่นเอง. ท่านผู้อ่านที่ดูภาพยนต์อังกฤษเกี่ยวกับคดีในศาลจะสังเกตเรื่องนี้ได้ดี. คำบางคำก็ออกเสียงดัดให้แปร่งไปจากปรกติ: ‘creditor’ แทนที่จะอ่าน เครดิเตอ กลับอ่าน เครดิต้อ. ‘debtor’ ไม่อ่านว่า เด็ทเตอ, แต่อ่านว่า เด็ทต้อ ดังนี้เป็นต้น.

ผู้เขียนรู้สึกว่าโชคดีที่บ้านเมืองเราไม่มีการดัดแปลงภาษาพูดของเราออกไปอย่างดัดจริตพิสดารเช่นนั้น, ไม่ว่าเราจะเป็นนักกฎหมายหรือว่าเป็นนักวิชาการสาขาอื่นใดก็ตาม.

ภาษากฎหมายอังกฤษมีความยุ่งยากดังกล่าวนี้, แม้แต่ชาวอังกฤษเองก็หนักใจที่ต้องฟัง, และพูดภาษาซึ่งตามปกติก็ไม่เคยได้ยินหรือใช้. ยิ่งเป็นนักเรียนต่างประเทศ, ยิ่งได้รับความลำบากเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ. ระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยในอังกฤษ, อาจารย์เคยให้อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับการลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลาค่ำคืน, ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘เบอร์เกลอรี่’ (burglary). ขณะนั้นผู้เขียนยังไม่สันทัดภาษาอังกฤษนัก, จึงพูดคำว่า ‘เบอร์เกลอรี่’ ไม่ถูกต้อง โดยพูดใกล้กับคำว่า, ‘buggery’ (บักเกอรี่), เมื่อพูดถึงคำนี้ครั้งใด, เพื่อนนักศึกษาต้องหัวเราะทันที. บางคนถึงกับหน้าแดง, อาจารย์ก็หน้าแดงเหมือนกัน ผู้เขียนไม่ทราบว่า, เขาขำขันกันด้วยเรื่องอะไร, ผู้เขียนอภิปรายต่อไปเรื่อย ๆ. เมื่อสิ้นชั่วโมงอภิปรายแล้ว, ผู้เขียนถามเพื่อนนักศึกษาว่าหัวเราะเรื่องอะไรกัน ? ไม่มีใครยอมบอก. เมื่อผู้เขียนรบเร้า, เพื่อนสนิทคนหนึ่งจึงบอกว่า, คำว่า, ‘บักเกอรี่’ ต่างกับคำว่า ‘เบอร์เกลอรี่’, อย่างฟ้ากับดินทีเดียว. ‘บักเกอรี่’ แปลว่าความผิดฐานกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์, ในทรรศนะของเราคนไทยซึ่งเพิ่งเรียนภาษาอังกฤษใหม่ ๆ เสียงของคำทั้งสองนี้ใกล้เคียงกันมากทีเดียว. นอกจากนั้น, ในภาษากฎหมายอังกฤษ, ยังมีภาษาละตินซึ่งมีอิทธิพลเหนือภาษากฎหมายอังกฤษนานเป็นแรมศตวรรษแฝงอยู่ด้วยเป็นอันมาก. นักศึกษากฎหมายชาวต่างประเทศจึงต้องเรียนภาษาละตินควบไปด้วย, มิฉะนั้นย่อมไม่อาจเข้าใจ, และแสดงออกซึ่งข้อคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษอันถูกต้องได้ดีเท่าที่ควร. อย่างไรก็ตาม สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ตำราวิชากฎหมายของอังกฤษส่วนใหญ่เป็นตำรา ที่มีคุณภาพสูง เรียบเรียงไว้ละเอียดลึกซึ้งชัดเจน แสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมายไว้อย่างน่าสรรเสริญ.

ภาษากฎหมายของสหรัฐอเมริกา

สำหรับภาษาของตัวบทกฎหมายของอเมริกัน, ก็เช่นเดียวกันกับภาษาของตัวบทกฎหมายของอังกฤษ, อ่านเข้าใจยาก, ยืดเยื้อ, และยุ่งเหยิง, รัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐนิวยอร์ก, บทที่ ๘ มาตรา ๑๐ นั้น, เพียงประโยคเดียวมีถ้อยคำถึง ๔๖๒ คำ, โดยไม่มีการเว้นวรรคตอนเลย. ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐอิลลินอยส์, บทที่ ๔ มาตรา ๓๔ ประโยคเดียวมีถ้อยคำถึง ๔๙๔ คำ, ซึ่งไม่มีผู้ใดอ่านเข้าใจ, แม้จะอ่านหลายครั้งก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐโอกลาโฮมา, บทที่ ๑ มาตรา ๗, เพียงแต่ข้อไข (proviso) ของมาตรานี้ซึ่งมีเพียงประโยคเดียว, ก็มีความยาวถึง ๒๓๗ คำ. ซ้ำร้ายกว่านั้น, ไม่มีผู้ใดสามารถจะเข้าใจความหมายของข้อไขนั้นได้, ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนักกฎหมาย, กล่าวกันว่า, ภาษาตัวบทกฎหมายดังกล่าวหาใช่ภาษาอังกฤษไม่.๑๘ ทั้งมิใช่แต่เพียงภาษาของตัวบทกฎหมายเท่านั้นที่ถูกบุคคลทั่วไปตำหนิ, ไม่ว่าเรื่องใดที่นักกฎหมายอเมริกันเขียนแล้ว, ดูรู้สึกบุคคลทั่วไปจะมีอุปาทานว่าเขียนไม่ได้เรื่องดุจกัน. บางเรื่องควรกล่าวให้ได้เรื่องเพียง ๘ คำ, ก็เขียนถึง ๑๘ คำดังนี้เป็นต้น.๑๙ ปรากฏว่าในตำรากฎหมายของอเมริกันเล่มหนึ่ง มีประโยคยืดยาวนี้อยู่ด้วยคือ :

‘The comparatively recent introduction of sleeping cars upon the great highways of travel, as a means of public conveyance, while it marks a new era in the history of common carriers of passengers, and signalizes the advancement of the age in the attainment of the luxuries of refinement and wealth, yet on account of the unique and peculiar features of the system as it exists, both with reference to the railroads that employ them, and to the traveling public that enjoy their superior comforts and facilities, there have arisen interesting questions of law, touching the responsibility of such companies, for the loss or theft of the goods, luggage, and valuables of passengers, upon which there exists, among the bench and bar, an undesirable, and, it would seem, needless amount of uncertainty, not to say, diversity of legal sentiment.’๒๐

อย่างไรก็ดี, กฎหมายลายลักษณ์อักษรของอเมริกันที่ได้รับการยกย่องว่ามีโวหารดียิ่งก็มี, เช่น, รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเอง. นอกจากนี้, ยังปรากฏว่ามีกฎหมายใหม่ๆ ซึ่งได้รับการพิจารณาด้วยความพิถีพิถันในเชิงการร่าง, การใช้ภาษา, และโวหารเป็นอันมาก, อาทิเช่น, The Uniform Commercial Code ฉบับปัจจุบัน อันเป็นประมวลกฎหมายพาณิชย์ซึ่งมลรัฐต่างๆ อาจให้สัตยาบันรับไว้ใช้ในมลรัฐของตนได้.๒๑ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายฉบับนี้ถึง ๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายปรับปรุงแก้ไขเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕. ประมวลกฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า, แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีคุณค่าอย่างสูงในทางปฏิบัติเพราะได้ประมวลความสัมพันธ์ทางการพาณิชย์ไว้อย่างเป็นระเบียบในกฎหมายฉบับเดียวกัน, แต่ในด้านชั้นเชิงการร่างและโวหารของภาษากฎหมายที่ใช้นั้น สับสน, ไม่มีความไพเราะ, และเข้าใจได้ง่ายไม่เท่า The Sale of Goods Act, 1893, ของอังกฤษ. อย่างไรก็ตาม, โวหารและลีลาแห่งภาษากฎหมายลายลักษณ์อักษรของอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าโวหารและลีลาของกฎหมายสมัยเดิมเป็นอันมาก. อนึ่ง วรรณกรรมของกฎหมายอีกประเภทหนึ่งก็คือ The Model Codes และ The Restatements of the Law ของ The American Law Institute. อาทิเช่น, The Model Code of Evidence และ The Restatement of the Law of Tort, ซึ่งมิใช่เป็นตัวบทกฎหมายโดยตรง, หากแต่เป็นการเรียบเรียงหลักกฎหมายใหม่ตามแนววินิจฉัยของศาลที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีทั้งมวลในลักษณะต่างๆ พร้อมทั้งให้คำอธิบายและตัวอย่างประกอบวรรณกรรมกฎหมายประเภทนี้ใช้ภาษาที่แจ่มกระจ่าง, กะทัดรัดและรัดกุม, ผิดกับภาษากฎหมายในตัวบทกฎหมายรุ่นเดิม ๆ, ซึ่งฟุ้งเฟ้อและเคลือบคลุมมาก.

เมื่อพิจารณาถึงภาษาที่ใช้ในคำพิพากษาของศาลอเมริกันแล้ว, จะเห็นว่าแตกต่างกับภาษาที่ใช้ในคำพิพากษาของศาลอังกฤษ. ภาษาคำพิพากษาของศาลอเมริกันนั้นยกย่องกันว่าเป็นความเรียงที่ดียิ่ง, และเป็นวรรณกรรมทางวิทยาการอย่างแท้จริง ผู้พิพากษาอเมริกันแต่ละนายมีลีลาในการเรียงคำพิพากษาเป็นของตนเองมากกว่าผู้พิพากษาอังกฤษ. ผู้พิพากษาอเมริกันที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีส่วนสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนี้ได้แก่: มิสเตอร์จัสตีส โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ (Mr. Justice Oliver Wendell Holmes), มิสเตอร์จัสติส ฮิวโก แบล้ค (Mr. Justice Hugo Black), และ มิสเตอร์จัสตีส เบนจามิน เนเธิ่น คาโดโซ (Mr. Justice Benjamin Nathan Cardozo), มิสเตอร์จัสติส ลุยส์ เดมบิทซ์ แบรนไดซ์ (Mr. Justice Louis Dembitz Brandeis), และ มิสเตอร์จัสตีส เฟลิกซ์ แฟรงค์เฟอร์เต้อร์ (Mr. Justice Felix Frankfurter), เป็นอาทิ ในคำพิพากษาแต่ละฉบับกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากสับสนในคดีต่าง ๆ อย่างละเอียด, กล่าวอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน, และอภิปรายปัญหาข้อกฎหมายอย่างลึกซึ้ง.๒๒

ภาษาของมิสเตอร์จัสตีส แบรนด์ไดซ์ ที่ใช้ในคำพิพากษานั้น, มีผู้กล่าวว่าเป็นภาษาที่ตรงไปตรงมา, มุ่งประสงค์จะกล่าวให้ง่าย, ให้มีความหมายชัดเจน, และจูงใจให้โน้มเอียงตามเหตุผลที่ยกขึ้นโต้เถียงโดยไม่ใช้ถ้อยคำที่หรูหรา, หรือใช้วาทศิลป์ที่ฟุ้งเฟ้อ.... และในด้านการเรียงความเห็นแย้งนั้น, มิสเตอร์จัสตีสแบรนด์ไดซ์ กล่าวถึงประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างแหลมคมและชัดเจน, กล่าวอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่ท่านเห็นว่าเกี่ยวข้อง, และนำมาวินิจฉัยในความเห็นแย้งนั้น. ท่านเรียงความเห็นแย้งของท่านด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างสูง. ท่านจะร่างความเห็นแย้งดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก, จนกระทั่งท่านพอใจว่าความเห็นนั้นตรงตามแนวความคิดเห็นของท่านในปัญหานั้น ๆ อย่างแท้จริงแล้ว, ในคดีเรื่องหนึ่งท่านร่างความเห็นแย้งถึง ๓๐ ครั้ง.๒๓

ผู้พิพากษาอเมริกันนายหนึ่งให้ข้อแนะนำในการเรียงคำพิพากษาว่า, ‘คำพิพากษาที่ดีนั้นจักต้องมีความกระจ่างแจ้ง, กะทัดรัด, และสมบูรณ์, ไม่มีการอภิปรายเรื่องอันไร้สาระ, และไม่บกพร่องในทางไวยากรณ์, หรือคำจูงใจอันไร้เหตุผล’.๒๔

โวหารกฎหมายของมิสเตอร์จัสตีสโฮล์มส์ได้รับคำยกย่องว่านอกจากจะเป็นคำพิพากษาที่ล้ำเลิศด้วยเหตุผลในกฎหมายแล้ว, ยังมีความไพเราะ เพราะแฝงคำคมในกฎหมายไว้ด้วยเป็นอันมาก. โปรดพิจารณาโวหารของมิสเตอร์จัสติสโฮล์มส์ ดังต่อไปนี้:

‘If it is a bad rule, that is no reason for making a bad exception to it.’

‘A horse-car cannot be handled like a rapier....’

‘A boy who is dull at fifteen probably was dull at fourteen....’

‘Civil proceedings in court are not scientific investigations the end of which must always be objective truth....’

‘The mind like any other organism gradually shapes itself to what surrounds it, and resents disturbance in the form which its life has assumed....’

‘All values are anticipations of the future....’

‘I see no ground for denying the power of the legislature to enact the law mentioned in the question proposed. The need or expediency of such legislation is not for us to consider....’๒๕

อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า, ภาษากฎหมายอังกฤษและภาษากฎหมายอเมริกันนั้นต่างกันไม่เฉพาะแต่เพียงด้านลีลาและโวหารดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น แม้แต่ศัพท์กฎหมาย การอ่านออกเสียงและตัวสะกดก็แตกต่างกันเป็นอันมาก, อาทิ เช่น, ในสหรัฐอเมริกา การเข้าเป็นสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา เรียกว่า, ‘admitted to the bar’. แต่อังกฤษเรียกว่า, ‘called to the bar’; ในสหรัฐอเมริกาทนายว่าความในคดีใดคดีหนึ่งเรียกว่า, ‘A Lawyer tries a case’ แต่ในอังกฤษเรียกว่า, ‘A barrister pleads a case’ คอกพยาน, อเมริกันเรียก, ‘the witness-stand’, อังกฤษเรียก, ‘the witness-box’. ทนายความอเมริกันเรียก, ‘attorney at law’, ส่วนอังกฤษเรียก, ‘barrister-at-law’, สำหรับทนายความประเภทว่าความในศาล, และเรียก, ‘solicitor’ สำหรับทนายประเภทให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย (ซึ่งในบางกรณีว่าความในศาลได้เหมือนกัน), แต่คำว่า solicitor นี้, ในสหรัฐอเมริกากลับแปลว่าเป็น ‘ผู้ชักชวน’, ซึ่งในบางกรณีมีความหมายคลุมถึงโสเภณีด้วย. ทนายความอาวุโสซึ่งทางอังกฤษเรียก ‘Q.C.’ หรือ ‘Queen’s Counsel’ นั้น สหรัฐอเมริกาไม่มี. คำว่า หักกลบลบหนี้ อังกฤษเรียก ‘set-off’, อเมริกันนั้น นอกจากจะเรียก ‘set-off’ แบบอังกฤษแล้ว ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘off-set’. ส่วนตัวสะกดก็แตกต่างกัน เช่น อังกฤษสะกดว่า ‘defence’, แต่อเมริกันสะกดว่า ‘defense’; คำว่า ‘gaol’ ในภาษาอังกฤษ, อเมริกันใช้คำว่า ‘jail’; การอ่านออกเสียงต่างกันก็มีเช่น, อังกฤษอ่านคำว่า ‘redress’ และ ‘address’ โดยเน้นพยางค์หลัง แต่อเมริกันเน้นพยางค์แรกทั้งสองคำ, คำว่า ‘advertisement’ อังกฤษอ่านว่า ‘แอ๊ดเวอตีสเมิ่นท์’ อเมริกันอ่านว่า ‘แอ๊ดเวอไตสเมิ่นท์’; ‘clerk’ อังกฤษอ่านว่า ‘คล้าค’, แต่อเมริกัน อ่านว่า ‘เคลิ้ก.’

ที่ประหลาดยิ่งกว่านั้นก็คือ, แม้ในสกอตแลนด์, ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะอังกฤษ, ก็มีระบบกฎหมายของตนเองและแตกต่างไปจากระบบกฎหมายอังกฤษเป็นอันมาก. ศัพท์กฎหมายที่ใช้ก็แตกต่างจากศัพท์กฎหมายอังกฤษ, ทนายความในสกอตแลนด์เรียกว่า ‘advocate’, ในสกอตแลนด์ไม่มีศาล ‘The Quarter Sessions’ เช่นในอังกฤษ, หากแต่มี ‘The Sheriff Court’ แทน ในอังกฤษมี The Court of Criminal Appeal, แต่ในสกอตแลนด์มี The Court of Session แทน.

ภาษากฎหมายของฝรั่งเศส

ในบรรดาประมวลกฎหมายต่าง ๆ ของนานาประเทศ, ประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสซึ่งจัดร่างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้านโปเลียนมหาราชได้รับการยกย่องว่าเป็นประมวลกฎหมายที่ดีเด่นกว่าประมวลกฎหมายทั้งหลายในบรรพกาล ทั้งในด้านเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย, ในแง่ความไพเราะของภาษาและในเชิงการร่าง. โวหารของภาษากฎหมายที่ใช้นั้นล้ำเลิศทั้งในด้านวรรณกรรมและในด้านกฎหมาย, ภาษากฎหมายที่ใช้ให้ความหมายชัดแจ้ง, แน่นอน, สั้น, กะทัดรัด, และตรงไปตรงมา อนึ่ง สำหรับวิธีการร่างกฎหมายที่ผู้ร่างใช้นั้น, แม้จะไม่สมบูรณ์, แต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือว่าดีเด่นมาก. บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่เคลือบคลุมและไม่ยอกย้อนเลย. บทบัญญัติแสดงเรื่องของรูปธรรมตามลำดับ มิใช่เป็นเรื่องของรูปธรรมติดตามด้วยเรื่องของนามธรรม, ข้อจำกัด, ข้อไข, ข้อยกเว้นต่าง ๆ แม้จะมีอยู่, ก็มีอยู่น้อยที่สุด. บทบัญญัติที่ขัดกันเอง, และบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนามธรรมทั้งหลายไม่มีปรากฏอยู่เลย ยิ่งกว่านั้น, ผู้ร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังสามารถร่างบทบัญญัติต่าง ๆ โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสที่สามัญชนชาวฝรั่งเศสใช้กันโดยทั่วไปในขณะนั้นด้วย. บุคคลทั่วไปจึงเข้าใจประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง. ทั้งการตีความตามตัวอักษรในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายฉบับนี้ก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปด้วย.๒๖

สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าพระเจ้านโปเลียน มหาราช ทรงมีบทบาทอย่างสำคัญในด้านพระราชทานความคิดเห็นในเชิงกฎหมายและทรงวิจารณ์หลักกฎหมายใหม่ที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสฉบับนี้, ทรงมีความภาคภูมิพระราชหฤทัยในประมวลกฎหมายฉบับนี้ยิ่งเสียกว่าชัยชำนะทั้งปวงในพระราชสงคราม, พระองค์ทรงหวังไว้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งนี้จะเลื่องชื่อลือชาอยู่คู่เคียงกับพระนามของพระองค์ในประวัติศาสตร์ของโลก. บัดนี้ ก็เป็นที่ตระหนักแล้วว่าเป็นความจริงตามพระราชปรารถนานั้นทุกประการ.๒๗

เมื่อเปรียบเทียบประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสกับประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศอื่น ๆ แล้ว, แม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสจะร่างมานานกว่าบรรดาประมวลกฎหมายแพ่งรุ่นใหม่ ๆ ด้วยกัน, ก็ยังได้รับการยกย่องว่าไม่มีประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใดจะเทียบเท่าในความดีเด่นได้เลย. ประมวลกฎหมายแพ่งของเยอรมันซึ่งร่างภายหลังประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ถึงหนึ่งร้อยปี, และได้รับความชมเชยทั่วไปว่าทันสมัยและมีหลักวิชากฎหมายใหม่ ๆ มาก, แต่ในแง่ภาษากฎหมายที่ใช้ก็ยังสู้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสไม่ได้, เพราะบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสชัดเจนและเข้าใจง่ายกว่า.๒๘

เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสมีคุณลักษณะดีเด่นเป็นพิเศษเช่นนี้, จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะได้ศึกษาและพิจารณาถึงหลักการในการร่างประมวลกฎหมายนี้ด้วย. ประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้รับอิทธิพลในด้านการร่างจากหลักการแห่งการร่างกฎหมายของมองเตสกิเออร์, ปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศส, ที่ปรากฏในหนังสือ De L’Esprit des Lois ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๔๘.

หลักการในการร่างกฎหมายของมองเตสกิเออร์โดยสังเขป

(๑) ภาษากฎหมายนั้นสมควรมีลีลาที่สั้น, กะทัดรัด, และง่าย. ภาษาที่เพริดพริ้งเฉิดฉาย, หรือถ้อยคำอันจูงใจต่าง ๆ เป็นเพียงพลความที่ทำลายคุณค่าของโวหารภาษากฎหมาย.

(๒) ศัพท์ที่เลือกใช้ สมควรเป็นศัพท์ที่มีความหมายแน่นอนที่สุดเท่าที่จะทำได้, และมิใช่เป็นเพียงคำที่มีความหมายใกล้เคียง, ทั้งนี้เพื่อที่จะละเว้นความเข้าใจแตกต่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้.

(๓) กฎหมายนั้นสมควรบัญญัติถึงแต่เฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ, และพึงละเว้นการบัญญัติกฎหมายในทำนองคำพังเพย, หรือในทำนองตัวอย่างสมมติ.

(๔) กฎหมายนั้นไม่สมควรบัญญัติให้ยอกย้อน, เพราะกฎหมายเหล่านี้จะใช้บังคับกับสามัญชนซึ่งมีสติปัญญาปานกลาง. กฎหมายเหล่านี้มิใช่เป็นแบบฝึกหัดในวิชาตรรกวิทยา, แต่เป็นเรื่องของเหตุผลธรรมดาสำหรับสามัญชน.

(๕) กฎหมายนั้นไม่สมควรบัญญัติหลักการใหญ่ให้ปะปนกับข้อยกเว้น, ข้อจำกัด, หรือข้อไขต่าง ๆ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น.

(๖) กฎหมายนั้นไม่สมควรจะบัญญัติในเชิงอภิปราย. การให้เหตุผลรายละเอียดแห่งการบัญญัติกฎหมายนั้น ๆ ขึ้นเป็นเรื่องเสี่ยงภัยโดยแท้, เพราะการให้เหตุผลดังกล่าวย่อมเปิดช่องให้เกิดการโต้แย้งขึ้นได้.

(๗) เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น, กฎหมายนั้นสมควรจะได้มีการพิจารณาโดยรอบคอบ, ละเอียดและถี่ถ้วน, และกฎหมายจำเป็นต้องมีไว้เพื่อประโยชน์แห่งการใช้บังคับจริง ๆ กฎหมายไม่สมควรมีบทบัญญัติอันขัดต่อเหตุผลธรรมดา, ความเที่ยงธรรม, และตามสภาพแห่งความเป็นไปในสังคม, เพราะกฎหมายที่มีจุดอ่อนก็ดี, กฎหมายที่ไม่จำเป็นก็ดี, กฎหมายที่ปราศจากความเที่ยงธรรมก็ดี ย่อมทำให้ระบบกฎหมายทั้งระบบเสียไป, และเป็นการบั่นทอนอำนาจของรัฐด้วย.๒๙

หลักการในการร่างกฎหมายของมองเตสกิเออร์นี้ได้รับการยกย่องนับถือจนเป็นหลักปฏิบัติสากลของนานาประเทศ, แม้นักกฎหมายอังกฤษเองก็ยินยอมรับว่าหลักการนี้สมควรถือเป็นหลักปฏิบัติในประเทศอังกฤษด้วยดุจกัน.๓๐

สำหรับภาษาในคำพิพากษาของศาลสูงสุดฝรั่งเศสนั้น, แตกต่างกับภาษาคำพิพากษาของศาลอังกฤษอย่างหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว. คำพิพากษาศาลสูงสุดของฝรั่งเศสสั้นมาก, เหตุผลแห่งคำพิพากษาซึ่งเรียกว่า, ‘motifs’ นั้น, มิได้มีในเชิงอภิปรายแบบของศาลอังกฤษ, แต่เป็นเหตุผลอันเป็น ‘ทางการ’. โวหารแห่งภาษาคำพิพากษาก็เป็น ‘ทางการ’ แบบโวหารภาษาของทางราชการโดยทั่วไป. นักกฎหมายเปรียบเทียบชาวอังกฤษท่านหนึ่งกล่าวว่า, คำพิพากษาของศาลฝรั่งเศสนั้นเปรียบเสมือนเอกสารของทางราชการ, ส่วนคำพิพากษาศาลอังกฤษเปรียบเสมือนศิลปกรรมหรือวรรณคดีชิ้นหนึ่ง.๓๑ อย่างไรก็ตาม, คำพิพากษาศาลชั้นต้นของฝรั่งเศสละเอียดและยืดยาวคล้ายคำพิพากษาของศาลอังกฤษ. โวหารและไวยากรณ์ที่ใช้ในภาษาคำพิพากษาก็ผิดเพี้ยนไปจากภาษาฝรั่งเศสธรรมดา, ทั้งนี้เพราะศาลฝรั่งเศสถือปฏิบัติตามลีลาแห่งภาษาของศาล, ซึ่งใช้กันมาจนเป็นประเพณีนิยม. สิ่งที่พึงสังเกตก็คือ, ในคำพิพากษาศาลสูงสุด, และศาลล่างทั้งฉบับ มีเพียงประโยคเดียวเท่านั้น. ประธานอยู่ต้นประโยค, กริยาอยู่ท้ายประโยค ในประโยคเดียวนั้น แบ่งออกเป็นอนุประโยคเป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นคำพิพากษาของศาลสูงสุดใช้คำสันธาน ‘attendu’ เชื่อมอนุประโยค, ถ้าเป็นคำพิพากษาศาลล่าง ใช้คำสันธาน ‘considerant’ เชื่อมอนุประโยค.๓๒

นักวิจัยชาวสวิเดนท่านหนึ่งให้ข้อวิจารณ์ภาษาในคำพิพากษาของศาลฝรั่งเศสว่า คล้ายคลึงกับภาษาคำพิพากษาของศาลสวิเดนและของศาลเยอรมัน, ในแง่ความสั้น, และการใช้ภาษาที่เป็นทางการ. ส่วนเหตุผลของศาลฝรั่งเศสนั้น, เฉพาะนักกฎหมายเท่านั้นที่จะเข้าใจ. บางคนก็ลังเลใจที่จะเรียกว่าเป็นเหตุผลของคำพิพากษา. เพราะมีแต่เพียงการกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังเป็นยุติแล้ว, กับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะปรับกับคดีนั้นเท่านั้น.๓๓

ผู้เขียนมีความเห็นว่า, ลีลาโวหารแห่งคำพิพากษาของศาลสูงสุดของฝรั่งเศสคล้ายคลึงกับลีลาโวหารของคำพิพากษาของศาลไทย ทั้งในแง่ความสั้น, ความเป็น ‘ทางการ’ ตลอดจนเหตุผลในคำพิพากษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาข้อกฎหมาย, ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง, คือการกล่าวอ้างบทกฎหมายใดปรับแก่คดีนั้น, ทั้งในคำพิพากษาของศาลสูงสุดของฝรั่งเศสก็ดี, ของไทยก็ดี, คือ เหตุผลแห่งคำพิพากษานั้น ๆ เอง.

ภาษากฎหมายของประเทศอื่น ๆ

สำหรับภาษากฎหมายของประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจมีอีกเป็นจำนวนมาก. เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาภาษากฎหมายเปรียบเทียบ, ใคร่ขอนำมาแสดง ณ ที่นี้อีก ๔ ประเทศ.

กฎหมายของสวิสต้องบัญญัติไว้ถึงสามภาษา, คือ ภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, และอิตาเลียน, เพราะแต่ละภาษาเป็นภาษาทางการของประเทศ. ด้วยเหตุดังกล่าว, จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ฝ่ายนิติบัญญัติอีกเป็นอันมาก แม้ว่าผู้ร่างกฎหมายชาวสวิสจะได้เพียรพยายามร่างกฎหมายทั้งสามภาษาให้ประณีตเพียงไรก็ตาม, ความแตกต่างในความหมายของถ้อยคำในแต่ละภาษาก็ยังคงมีอยู่นั่นเอง. ประมวลกฎหมายแพ่งสวิสซึ่งเป็นที่มาสำคัญสายหนึ่งของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยนั้น, แม้จะได้รับความยกย่องว่าเป็นประมวลกฎหมายที่ยอดเยี่ยมฉบับหนึ่ง, ก็ยังมีปัญหาเรื่องการตีความขึ้นสู่ศาลเสมอ.๓๔

ในบรรดาประเทศซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ ๆ ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการเปลี่ยนภาษากฎหมายจากภาษาของประเทศแม่ มาเป็นภาษาเขียนในภาษาประจำชาติของตนอยู่ไม่น้อย. สหภาพพม่าต้องเผชิญปัญหาสำคัญ, เกี่ยวกับการมีศัพท์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการในสังคมปัจจุบัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์ในสาขารัฐศาสตร์. ในปัจจุบันก็ยังต้องพึ่งภาษาอังกฤษควบคู่กันไปกับภาษาพม่า. รัฐธรรมนูญฉบับทางราชการของสหภาพพม่ามีทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ. แต่ในเบื้องสุดท้ายสหภาพพม่ายังมุ่งมั่นที่จะใช้ภาษาพม่าในกฎหมายเช่นเดียวกับในภาษาของทางราชการ.๓๕

สำหรับลังกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มีประชากรพูดภาษาสิงหล ๘,๐๐๐,๐๐๐ คน, และพูดภาษาทมิฬ ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน, ภาษาราชการจึงมีทั้งภาษาสิงหลและภาษาทมิฬ. ท่านศาสตราจารย์วิชากฎหมายลังกาท่านหนึ่งได้ปรารภถึงอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ในการแปลตัวบทกฎหมายของลังกาในภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาพื้นเมืองว่าต้องอาศัยเวลานานปี, และมีปัญหายุ่งยากในด้านความหมายของถ้อยคำด้วย.๓๖

อย่างไรก็ตาม, คงไม่มีประเทศใดในโลกที่จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องภาษากฎหมาย อันเป็นปัญหาที่ยุ่งยากเท่ากับอินเดียเป็นแน่. จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ อินเดียมีประชากร ๔๓๗,๐๐๐,๐๐๐ คน. มีภาษาพื้นเมือง ๘๔๕ ภาษา. เดิมนั้น, ตามรัฐธรรมนูญอินเดียมีภาษาทางการถึง ๑๔ ภาษา.๓๗ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๘, มีการประกาศใช้ภาษาฮินดูเป็นภาษาทางการตามรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขใหม่. ชาวอินเดียทางภาคใต้ได้ก่อการจลาจลและประท้วงการใช้ภาษาฮินดูแต่เพียงภาษาเดียวเป็นภาษาทางการอย่างรุนแรง อาทิเช่น, มีการกระทำอัตวินิบาตกรรมประท้วง, วางเพลิง, และรัฐมนตรีซึ่งเป็นชาวใต้สองนายลาออก, ฯลฯ ทั้งนี้เพราะถ้ามีการใช้ภาษาฮินดูเป็นภาษาทางการแต่เพียงภาษาเดียวแล้ว, การสอบไล่เข้ารับราชการก็ต้องเป็นภาษาฮินดูแต่เพียงภาษาเดียว, และมีชาวอินเดียเป็นจำนวนมากซึ่งไม่รู้ภาษาฮินดูย่อมถูกกีดกันโดยปริยาย. เพื่อระงับวิกฤติการณ์, นายกรัฐมนตรีอินเดียจำต้องให้คำมั่นแก่ประชาชนว่า จะหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถือภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการในอันดับรองด้วย จนกระทั่งบัดนี้อินเดียก็ยังตกลงกันในเรื่องภาษาทางการและภาษากฎหมายของอินเดียไม่ได้.๓๘

เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่งนักที่เราไม่ต้องประสบปัญหายุ่งยากในด้านภาษากฎหมายอย่างที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราเผชิญอยู่ในขณะนี้.

  1. ๑. ‘I must say that whoever is responsible for the drafting of clauses 32 and 33 of this Act of Parliament has taken a great deal of trouble to raise a very difficult question, when he might with the greatest ease by using appropriate and well known terms have avoided any question whatever.’ per Jessel M. R. in Spencer V. Metropolitan Board of Works (1882) 22 Ch.D. 142, 161.

  2. ๒. Sir James Stephen, Digest of the Criminal Law (London, 1877), Introduction, p. xix. อนึ่งคำว่า ‘มหาราช’ ในที่นี้, บางท่านเห็นสมควรใช้คำว่า ‘มหาราชินี’.

  3. ๓. ‘We ought to make great allowance for the framers of Acts of Parliament in these days; nothing is so easy as to pull them to pieces, nothing is so difficult as to construct them properly, as the law now stands.’ per Lord St. Leonards in O’Flaherty V. M’Dowell (1857) 6 H.L.C. 142, 179.

  4. ๔. ‘I have had on many occasions, to draft Acts of Parliament, which, although they may be easy to understand, people continually try to misunderstand, and in which, therefore, it is not enough to attain to a degree of precision which a person reading in good faith can understand, but it is necessary to attain if possible to a degree of precision which a person reading in bad faith cannot misunderstand. It is all the better if he cannot pretend to misunderstand it.’ per Stephen J. in Re Castioni (1891) 1 Q.B. 149, 167.

  5. ๕. ‘Whenever a statute comes up for consideration it must be remembered that it is not within human powers to foresee the ‘manifold sets of facts which may arise; and that, even if it were, it is not possible to provide for them in terms from all ambiguity. The English language is not an instrument of mathematical precision ...’ per Lord Denning in Seaford Court Estates Ltd. V. Asher (1949) 2 K.B. 481 at p. 498.

  6. ๖. Sir Ernest Gowers, The Complete Plain Words (5th imp.; London: H.M.S.O., 1954), p. 11.

  7. ๗. Randolph Quirk, ‘‘Dialects’ within Standard English,’ Transactions of the Yorkshire Dialect Society, pt. 58, vol. 10 (1958), p. 32. ในแง่ของชาวอังกฤษ ข้อขำขันของตัวอย่างนี้มิใช่มีแต่เพียงเรื่องการกล่าวซ้ำซากเท่านั้น หากแต่อยู่ที่ความหมายสองนัยของคำว่า ‘nuts’ ด้วย, เพราะคำนี้ นอกจากแปลว่า ‘ถั่ว’ แล้ว, ในภาษาตลาดยังแปลว่า ‘คนไม่เต็มบาท’ ด้วย.

  8. ๘. Sir Ernest Gowers, The Complete Plain Words (5th imp. ; London: H.M.S.O., 1958), p. 13.

  9. ๙. Clive M. Schmitthoff, The Sale of Goods (2nd ed. ; London : Stevens & Sons., 1966), p. 13. อย่างไรก็ตาม บางท่านวิจารณ์ว่าการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ดีนัก ทั้ง เซอร์แมคเคนซี ชามเมอร์ซ เอง ก็รู้สึกไม่พึงพอใจในผลงานนี้มากนัก : ‘...The arrangement of the Act is not altogether satisfactory and despite the praise justly lavished on Sir Mackenzie Chalmer’s draftsmanship, the Sale of Goods Act was, perhaps, his least happy effort in this and other respects.’: ท่านศาสตราจารย์ L.C.B. Gower แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน, Foreward, P.S. Atiyah, The Sale of Goods, (2nd ed.; London: Sir Isaac Pitman and Sons, 1964).

  10. ๑๐. หน้า ๑๖, ๑๗.

  11. ๑๑. หนังสือเล่มที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๑๗.

  12. ๑๒. F.H. Lawson, The Rational Strength of English Law (London: Stevens & Sons, 1951), p. 18.

  13. ๑๓. ‘The cardinal virtue of prose is Justice, and ... Justice needs inquiry, patience, and a control even of the noblest passions... a habit of Justice in all the processes of thought, a style tranquillised and a form molded by that habit. The master of prose is not cold, but he will not let any wood or image inflame him with a heat irrelevant to his purpose. Unhasting, unresting, he pursues it, subduing all the riches of his mine to it, rejecting all beauties that are not germane to it; making his own beauty out of the very accomplishment of it, out of the whole work and its proportions ...’ per Clutton-Brock, ซึ่งท่าน Viscount Radcliffe อ้างถึงใน Foreward ในหนังสือ The Language of the Law รวบรวมโดย Louis Blom-Cooper (London: The Bodley Head, 1965), p. XI.

  14. ๑๔. ‘... and the judge now must give reason for his conclusions, and must convince as well as decide.’ ในหนังสือเล่มที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างบนนี้, หน้า ๑๓.

  15. ๑๕. ‘... lucidity of thought and expression, compression (I hope that the lawyers are not going to let us down there), and a power to pursue an argument in a way that does relate conclusions to facts and principles that are relevant to them.’ ในหนังสือเล่มที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างบนนี้ หน้า ๑๒.

  16. ๑๖. J. Gillis Wetter, The Styles of Appellate Opinions (Leyden: A.W. Sythoff, 1960), pp. 34 - 35.

  17. ๑๗. Robert Graves and Alan Hodge, The Reader Over Your Shoulder (London: Jonathan Cape, 1952), p. 48.

  18. ๑๘. Urban A. Lavery, ‘The Language of the Law’, The American Bar Association Journal, 1921, p. 277.

  19. ๑๙. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องการใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย, คือ แทนที่จะพูดว่า ‘No’ คำเดียวกลับพูดว่า ‘The answer to the question is in the negative.’ จากบทความที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๓๘๙.

  20. ๒๐. จากบทความในหนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๓๘๔.

  21. ๒๑. เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๙ มีมลรัฐต่าง ๆ ให้สัตยาบันรับเอาประมวลกฎหมายพาณิชย์ไว้ใช้ในมลรัฐของตนรวมทั้งสิ้น ๔๓ มลรัฐ และคาดกันว่าในท้ายที่สุดมลรัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ก็คงจะรับเอาประมวลกฎหมายนี้ไว้ใช้ในมลรัฐของตน : Clive M. Schmitthoff, The Sale of Goods (2nd ed.; London : Stevens & Sons, 1966), p. 17.

  22. ๒๒. J. Gillis Wetter, The Styles of Appellate Judicial Opinions (Leyden: A.W. Sythoff, 1960), p. 35.

  23. ๒๓. ‘...he presently committed himself to a direct, straightforward style as the most effective judicial utterance. He aims at simplicity of statement, clarity of meaning, and persuasiveness of argument; he tries to attain these qualities without resort to colorful words or rhetorical florish ...…

    .…In dissent Brandeis sharply and clearly states question, presents from the law reports and secular literature all that he finds relevant and brings to judgment everything of information and understanding which he possesses. His workmanship, to quote a favorite phrase of his, is painstaking; his opinions are written and re-written until they convey his studied conception of the problem; the dissenting opinion in the O’Fallon case (49 Sup. Ct., at 409) is said to have gone through thirty drafts : Walton H. Hamilton, ‘The Jurist’s Art’, 31, Columbia Law Review 1073-1093 (1931), at pp. 1075-1077, 1089.

  24. ๒๔. ‘...clear, compact and complete, carrying no immaterial discussions and losing no weight through grammatical leaks or rhetorical cracks’: อ้างถึงใน Lord Macmillan, Law and Other Things (London : Cambridge University Press, 1937), p. 144.

  25. ๒๕. Catherine Drinker Bowen, Yankee From Olympus (London: Ernest Benn, 1949), pp. 304-305.

  26. ๒๖. ‘... The Code Napoleon was far superior to its predecessors as to style, legislative technique, and the spirit that pervades it. The style of the Code is a literary as well as a legal masterpiece; its language is clear and precise, concise and direct. Likewise, legislative technique followed by its drafters, although by no means immune from defects, still commands considerable respect. The provisions of the Code are neither vague nor subtle; they proceed from reality to reality, and not from reality to abstraction; qualifications, limitations and exceptions are kept down to a bare minimum, confusing casuistry and sterile abstractions are entirely absent. Moreover, the drafters of the Code Napoleon were able to express legal concepts, and to formulate legal provisions in the language currently employed by the French people in its everyday life and therefore generally understood; literal interpretation was thus made easy....’ Bernard Schwartz, ed., The Code Napoleon and the Common Law World (New York: New York University Press, 1956 ), p. 56.

  27. ๒๗. Charles Sumner Lobingier, ‘The Napoleon Centenary and Its Legal Significance’, The American Bar Association Journal, Volume 7, 1921, p. 383 : เมื่อใกล้จะสิ้นพระชนม์ พระเจ้านโปเลียนทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า : ‘My true glory is not in having won forty battles ; Waterloo will blot out the memories of those victories. But nothing can blot out my Civil Code. That will live eternally’. : จากบทความที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้อนี้.

  28. ๒๘. Amos and Walton’s Introduction to French Law (2nd ed.; London: Oxford University Press, 1963), p. 32.

  29. ๒๙. คำแปลหลักการในการร่างกฎหมายของมองเตสกิเออร์ในภาษาอังกฤษโดยสังเขป มีดังต่อไปนี้ :

    (1) The style should be both concise and simple : grandiose or rhetorical phrases are merely distracting surplusage.

    (2) The terms chosen should, as far as possible, be absolute and not relative, so as to leave the minimum of opportunity for individual differences of opinion.

    (3) Laws should confine themselves to the real and the actual, avoiding the metaphorical or hypothetical.

    (4) They should not be subtle, ‘for they are made for people of mediocre understanding; they are not an exercise in logic, but in the simple reasoning of the average man’.

    (5) They should not confuse the main issue by any exceptions, limitations, or modifications, save such as are absolutely necessary.

    (6) They should not be argumentative; it is dangerous to give detailed reasons for laws, for this merely opens the door to controversy.

    (7) Above all, they should be maturely considered and of practical utility, and they should not shock elementary reason and justice and la nature des choses; for weak, unnecessary, and unjust laws bring the whole system of legislation into disrepute, and undermine the authority of the state. (De L’Esprit des Lois, XXIX Ch. 16): Sir C.K. Allen, Law in the Making (7th ed.; London: Oxford University Press, 1964), pp. 482-3.

  30. ๓๐. Sir C.K. Allen, ในหนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถข้างต้น, หน้า ๔๘๒.

  31. ๓๑. F.H. Lawson, The Rational Strength of English Law (London: Stevens & Sons, 1951), p. 28.

  32. ๓๒. F.H. Lawson, Negligence in the Civil Law (London: Oxford University Press, 1950), pp. 232-234.

  33. ๓๓. J. Gillis Wetter, The Styles of Appellate Judicial Opinions (Leyden: A.W. Sythoff, 1960), pp. 28-29.

  34. ๓๔. Rudolf B. Schlesinger, Comparative Law (Brooklyn: The Foundation Press, 1959), p. 477.

  35. ๓๕. Hugh Tinker, The Union of Burma (3rd ed.; London: Oxford University Press, 1961), pp. 86, 178.

  36. ๓๖. ในการประชุมระหว่างประเทศ, ‘เรื่องการจัดการศึกษากฎหมาย’, ณ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์, เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมด้วย.

  37. ๓๗. R.B. Le Page, The National Language Question (London: Oxford University Press, 1964), pp. 53 – 54.

  38. ๓๘. S.J. Tambiah, ‘The Politics of Language in India and Ceylon’, Modern Asian Studies, Volume I, Part 3, July 1967, pp. 231-232

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ