บทที่ ๗. สรุปความ

อาจกล่าวได้ว่า ภาษากฎหมายไทยของเรามีวิวัฒนาการมาด้วยความน่าสนใจอย่างยิ่ง. ภาษากฎหมายไทยเดิมในสมัยสุโขทัยนั้นนับได้ว่าเป็นภาษาที่เป็นวรรณคดี, ซึ่งมีความไพเราะสละสลวยมาก. ข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยนับได้ว่า, เป็นเพชรน้ำหนึ่งในวรรณะกรรมกฎหมายไทยอีกโสดหนึ่งด้วย. ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น, แม้ภาษากฎหมายไทยจะไม่มีคุณลักษณะที่เด่นเท่าสมัยกรุงสุโขทัย, ก็ยังนับได้ว่าเป็นวรรณคดีไทยทางร้อยแก้วที่สำคัญที่สุดสาขาหนึ่ง เมื่อเราเปลี่ยนระบบกฎหมายไทยเดิมมาสู่ระบบปัจจุบัน, ภาษากฎหมายไทยก็ได้รับการปฏิรูปตามมาด้วย, โดยถือเอาภาษาอังกฤษประเภทฟังชั่นเนิล อิงลิช (Functional English) เป็นหลักในด้านวากยสัมพันธ์, แต่ในด้านศัพท์กฎหมายนั้น, ภาษากฎหมายไทยยังคงรักษาความเป็นไทยไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ตราบเท่าทุกวันนี้. ภาษาอังกฤษประเภทฟังชั่นเนิล อิงลิช ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในภาษาตัวบทกฎหมายไทย, และภาษาตัวบทกฎหมายไทยที่มีอิทธิพลอยู่ในภาษากฎหมายไทยประเภทอื่น ๆ อีกช่วงหนึ่ง. อิทธิพลภาษาอังกฤษอันไม่พึงปรารถนา, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ในเรื่องกรรมวาจกและการใช้ศัพท์ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ, ยังมีแทรกแซงอยู่บ้างประปราย, ภาษากฎหมายไทยในระบบกฎหมายปัจจุบันมิใช่เป็นภาษาประเภทวรรณคดี, หากแต่เป็นภาษาทางวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยทั้งหลักวิชาการและศิลปะประกอบกัน; เป็นภาษาที่ต้องการความแน่นอน, ความแจ่มแจ้งของถ้อยคำแต่ละคำ, ต้องการความสั้น กะทัดรัด มากกว่าความไพเราะระรื่นหู เช่นวรรณคดี, ภาษากฎหมายไทยปัจจุบันเป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่น, มีความละเอียด ประณีต และลึกซึ้ง; มีวิวัฒนาการมาอย่างน่าชื่นชม; เราเป็นหนี้บุญคุณท่านผู้สถาปนาระบบกฎหมายไทยใหม่และภาษากฎหมายไทยใหม่เป็นอย่างมาก.

ภาษากฎหมายไทยปัจจุบันเป็นภาษาที่พร้อมจะรับการพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความเจริญของสังคมทั้งในเบื้องนี้และเบื้องหน้า, ทั้งในด้านถ้อยคำ ความหมายของถ้อยคำ, และโวหารตามแบบฉบับของไทยโดยเฉพาะ. เมื่อภาษากฎหมายไทยได้รับการปรับปรุงในด้านต่าง ๆ แล้ว, ย่อมจะทำให้การทำความเข้าใจกฎหมายสะดวกขึ้น, การตีความกฎหมายง่ายเข้า, การร่างกฎหมาย, การทำนิติกรรมรัดกุมขึ้น, ปัญหาทั้งหลายอันจะเกิดจากการใช้กฎหมาย ย่อมลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ แม้กระนั้นก็ดี, ผู้เขียนใคร่ขอพยากรณ์ว่า, ภาษากฎหมายไทยนี้คงจะไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้, จนกว่าวงการกฎหมายไทยจะยินยอมรับรู้ และมีการฟื้นฟูภาษากฎหมายไทยอย่างจริงจัง ในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในวิชาชีพกฎหมาย....น่าเสียดายยิ่งนัก ที่เราไม่เคยได้ให้ความสนับสนุน หรือส่งเสริมภาษากฎหมายกันอย่างเป็นทางการมาก่อนเลย. ทางส่งเสริมฟื้นฟูภาษากฎหมายนี้มีนานัปการ, อาทิเช่น, การจัดวิชาภาษากฎหมายไทยไว้ในหลักสูตรชั้นปริญญาตรีทางนิติศาสตร์, การประกวดเรียงความกฎหมาย, การส่งเสริมให้นักศึกษากฎหมายสนใจเรียบเรียงบทความเกี่ยวกับกฎหมาย, การจัดให้มีการอภิปรายและสัมมนาแง่ต่าง ๆ ของภาษากฎหมาย, การให้ทุนส่งเสริมการค้นคว้าด้านวรรณกรรมกฎหมาย, การค้นคว้าเปรียบเทียบภาษากฎหมายไทยกับเทศ, การเลือกสรรโวหารกฎหมาย ที่ดีเด่นเป็นพิเศษ ทั้งเก่าและใหม่มาลงพิมพ์เผยแพร่ ฯลฯ ..น่าที่จะเป็นหน้าที่ของพวกเรานักกฎหมายทุกคน ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันจรรโลงภาษากฎหมายไทย อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม และล้ำค่าแขนงหนึ่ง ที่เราสืบมรดกมาให้ก้าวหน้าต่อไป. เพื่อประโยชน์ของพวกเราในวิชาชีพกฎหมายโดยตรง และเพื่อประโยชน์สุขของบุตรหลานของเราสืบไปภายภาคหน้าด้วย.

ในเบื้องสุดท้ายนี้, ใคร่ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสแห่งวันพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๒, มาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย :

‘...เมื่อมาคำนึงถึงวิธีที่จะนำเอาวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ จะต้องอาศัยสิ่งใดบ้างแล้ว ก็เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือภาษา การได้มาซึ่งวิชาความรู้ต้องอาศัยภาษา การนำความรู้ไปใช้ก็ย่อมต้องอาศัยภาษาอีก... ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเรา ทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอ...ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ...ฯลฯ’.

ปัจฉิมลิขิต

ข้อผิดพลาดขาดตกและบกพร่องของผู้เขียนที่ปรากฏในหนังสือนี้, ผู้เขียนขออุทิศให้เป็นวิทยาทานแด่ท่านผู้อ่าน, ในฐานเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรเอาอย่าง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ