เทวดา

๑. พระนารายน์ เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์ มีพระนามปรากฏหลายอย่าง ที่ใช้อยู่มากคือนารายน์ วิษณุ ฤๅ พิษณุ หริ ฤๅ หริรักษ์ มธุสูทนะ (ผู้สังหารมธุ) ไกตะราชิต (ผู้ชำนะไกตะภะ มธุกับไกตะภะทั้ง ๒ นี้เป็นอสูร ซึ่งได้เกิดขึ้นจากพระกรรณพระนารายน์ ขณะเมื่อบรรทมอยู่เหนือพญาเศษนาคเมื่อสิ้นกัลป และกำลังจะผลาญพระพรหมาซึ่งอยู่ในดอกบัวอันผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายน์นั้น ก็พอพระนารายน์ตื่นบรรทมขึ้นสังหารอสูรเสียทัน) ไวกูณฐนารถ (ไวกูณฐคือที่สถิตของพระนารายน์) เกศวะ (ผู้มีเกศาอันงาม) มธวะ (เกิดแต่มธ) สวยัมภู (เกิดขึ้นเอง) ปิตัมวร ฤๅ ปิตัมพร (ผู้ทรงเครื่องสีเหลือง) ชนรรททนะ (ผู้ทำให้ชนบูชา) วิษวัมวร (ผู้คุ้มเกรงโลก) อนันตะ (ไม่มีที่สุด) ทาโมทร (มีเชือกคาด) มุกุนท (ผู้ช่วยให้รอดพ้น) ปุรุษ ฤๅ มหาบุรุษ ปุรุโษตมะ ฤๅ ปุรุโษดม ยัชเนศวร (ผู้เป็นใหญ่ในพลีกรรม) ตริโลกนาถ ฤๅ ไตรโลกนาถ เหล่านี้เป็นต้น

พระนารายน์มีอวตารสำคัญ ๑๐ ปาง คือ (๑) มัตสาวตาร เป็นปลา (๒) กูรมาวตาร เป็นเต่า (๓) วราหาวตาร เป็นหมู ลงมาสังหารหิรัญอักษะอสูร (๔) นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ ลงมาสังหารหิรัญกสิปุอสูร ทั้ง ๔ ปางนี้อยู่ในสัตยยุค คือยุคที่ ๑ แห่งกัลป (๕) วามนาวตาร เป็นคนค่อม ลงมาลวงเอาไตรโลกคืนจากพลิราชอสูร (๖) ปรศุรามาวตารเป็นปรศุราม (คือรามสูร) (๗) รามจันทราวตาร เป็นพระรามจันทร์ในรามายณะ (๘) กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณ ฤๅที่เรียกว่าท้าวบรมจักรกฤษณ์ ในเรื่องอุณรุท ฤๅอีกนัยหนึ่งเรียกว่า พลรามาวตาร คือเป็นพระพลราม (พระพลเทพ) น้องพระกฤษณ (๙) พุทธาวตาร เป็นพระพุทธเจ้า (๑๐) กัลกยาวตาร เป็นคนขี่ม้าขาว ปางนี้จะมีมาต่อเมื่อปลายกาลียุค (คือยุคที่ ๔ ปัตยุบันนี้) พระกัลกยาวตารจะได้ล้างโลกนี้ทั้งสิ้นแล้วจะได้เริ่มกัลปใหม่ เป็นสัตยยุคต่อไป

รูปพระนารายน์มีสี่กร โดยมากถือสังข์ ๑ จักร ๑ คทา ๑ ก้อนดินเป็นเครื่องหมายแห่งโลก (ฤๅดอกไม้เป็นเครื่องหมายแห่งของเกิดแต่ดิน) ๑ นอกจากนี้บางทีถือธนู ลูกศร ตรี เป็นต้น พญาเศษนาค อีกนัยหนึ่งเรียกว่า อนันตนาคราช เป็นบัลลังก์บรรทมลอยอยู่ในกลางเกษียรสมุทร พญาครุฑเป็นพาหนะ

สีกายพระนารายน์นั้น ต่างกันตามยุค คือในสัตยยุคเป็นสีขาว ในไตรดายุคเป็นสีแดง ในทวาบรยุคเป็นสีเหลือง ในกาลียุคเป็นสีดำ (แต่สีดำช่างคงจะเห็นว่ามืดไม่งาม จึ่งยักเยื้องแก้ไขเป็นสีดอกตะแบก)

๒. พระลักษมี อีกนัยหนึ่งเรียกว่าพระศรี (พระศรีกับพระลักษมีไม่ใช่เป็น ๒ องค์ เป็นองค์เดียวกันเรียกนาม ๒ อย่าง ๆ) เป็นพระอัครมเหสีของพระนารายน์ “และเมื่อพระนารายน์ได้อวตารลงมาบังเกิดในมนุษย์โลกคราวใด พระลักษมีก็ได้โดยเสด็จทุกครั้ง เมื่อเป็นพระวามน พระลักษมีได้บังเกิดจากดอกบัว และมีนามปรากฏว่าปทมา ฤๅ กมลา เมื่อพระองค์เป็นปรศุราม พระลักษมีเป็นนางธรานี เมื่อพระองค์เป็นพระราม พระลักษมีเป็นนางสีดา เมื่อพระองค์เป็นพระกฤษณ พระลักษมีเป็นนางรุกมินี ในปางอื่นพระลักษมีก็ได้เป็นผู้อุปฐากพระวิษณุนารถทุกครั้ง ถ้าแม้พระองค์ทรงถือเอาเทวรูป พระลักษมีก็คงมีเทวรูป ถ้าแม้พระองค์ทรงถือเอามนุษรูป พระลักษมีก็คงมีมนุษรูป คงจะให้พระองค์ของเทวีเป็นที่เหมาะกันกับพระรูปแห่งพระวิษณุนารถเสมอไป” (กล่าวตามคัมภีร์วิษณุปราณะ)

ในเรื่องรามายณะ พาลกัณฑ์มีเล่าถึงเรื่องกำเนิดของพระลักษมี ใจความว่าเมื่อขณะที่เทพยเจ้าทั้งหลายกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ได้มีดอกบัวหลวงผุดขึ้นมาจากกลางทะเล ในดอกบัวนั้นมีนางอยู่นาง ๑ อันงดงามหาที่ติมิได้ จึงมีนามว่าลักษมี (แปลว่ามีความถึงพร้อม ฤๅงามพร้อม) และมีสิริอันประเสริฐ จึงได้นามว่า ศรี พอชึ้นมาจากทะเลน้ำนมนางก็ได้ตรงเข้าไปยังพระนารายน์ พระนารายน์จึ่งยกให้เป็นพระมเหสีแต่บัดนั้น

ในรูปเขียน พระลักษมีมีสีกายเป็นทอง นั่งบนดอกบัวหลวง มีพวงมาลาสวมคอ พวงมาลานี้ทำด้วยดอกไม้อันไม่มีเวลาร่วงโรย ได้มาแต่เกษียรสมุทร

นอกจากนามว่าลักษมีและศรี ยังมีที่เรียกกันอีกว่า หริปรีย (เป็นที่รักใคร่แห่งพระหริ) ปัทมา (นางบัวหลวง) ปัทมาลัย (ผู้สถิตในบัวหลวง) ชลธิชา (เกิดแต่ทะเล) โลกมาตะ (มารดาโลก) เป็นต้น (จงดูเรื่องพระสรัสวดีด้วย)

๓. พระอิศวร เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ไนศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้ล้างฤๅทำลาย แต่โดยเหตุที่ในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสัตว์ไม่หายสูญเลย คงท่องเที่ยวอยในวัฏสงสาร จึ่งไม่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ผลาญอย่างเดียว ทั้งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ดีขึ้น และโดยเหตุนี้จึ่งมักปน ๆ กับพระพรหมผู้สร้างอยู่บ้าง

พระอิศวรมีนามกว่าพันนาม นามว่า “อิศวร” นี้ เป็นนามที่พราหมณ์จำพวก ๑ ใช้เรียก แปลว่า “พระเป็นเจ้า” เท่านั้น แต่ใช้ว่า ““พระศิวะ” ฤๅ “พระสังกร” ก็มี เดิมในคัมภีร์ไตรเพทไม่มีพระอิศวร พวกพราหมณ์ชั้นหลังที่นับถือพระอิศวรจึ่งอ้างว่า พระอิศวรก็คือ “รุทระ” ในคัมภีร์ไตรเพทนั้นเอง นอกจากนามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีนามที่ใช้อยู่อีกบ่อย ๆ คือ

(๑) “นิลกัณฐ์” คอน้ำเงินตามเรื่องว่าเมื่อพระเป็นเจ้าทั้งหลายกวนมหาสมุทรทำน้ำอมฤต พระรุทระได้ดื่มน้ำเที่เหลือจากน้ำอมฤต น้ำนี้เป็นพิษทำให้คอเขียวไป

(๒) “มหาเทวะ” ฤๅ “มหาเทพ”

(๓) “ภวะ”

(๔) “สามภู” ฤๅ “สยมภู” เกิดเอง

(๕) “หะระ” ผู้นำไป

(๖) “มเหศวร” ฤๅ “ปรเมศวร” พระผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

(๗) “จันทรเษกระ” ผู้มีจันทร์อยู่บนนลาต (ดูเรื่องพระจันทร์)

(๘) “ภูเตศวร” ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ภูต

(๙) “มฤตุญชัย” ผู้ชำนะความตาย

(๑๐) “ศรีกัณฐะ” คองาม

(๑๑) “สมรหร” สังหารสมร คือกาม

(๑๒) “คังคธร” ผู้ทรงไว้ซึ่งคงคา (ในเกษา-ดูเรื่องแม่พระคงคา)

(๑๓) “สถานุ” ตั้งมั่น

(๑๔) “คิริษะ” เจ้าแห่งภูเขา (จอมไกรลาศ)

(๑๕) “ทิคัมพร” มีอากาศเป็นเครื่องปกปิด

(๑๖) “ภาควัต” ผู้เป็นเจ้า

(๑๗) “อิสาน” ผู้ปกครอง

(๑๘) “มหากาล”

(๑๙) “ตรยัมพกะ” สามตา

(๒๐) “ปัญจานนะ” ห้าหน้า (สำหรับบูชาให้หายไข้)

พระอิศวรสถิตบนเขาไกรลาศ ฤๅ ถ้าเสด็จลงมายังมนุษย์โลกก็สถิต ณ เมืองพาราณสี โคผู้เผือก เรียกว่าอุศุภราชบ้าง นันทิราชบ้างเป็นพาหนะ

สีกายพระอิศวรเป็นสีขาว คอสีนิล เกษาสีเจือแดงมุ่นอย่างฤๅษี กรมีเป็น ๒ บ้าง ๔ บ้าง ๕ บ้าง ๑๐ บ้าง พักตรมี ๑ โดยมาก (นอกจากในปางที่เรียกนามว่าปัญจนะนั้นมี ๕ พักตร) มีเนตร ๓ เนตรกลางอยู่ที่กลางนลาตและตั้งขึ้นตรง ๆ เหมือนทรงข้าวบิณฑ์ หัตถ์ถือกรี ทรงหนังเสือ มีพระจันทร์เสี้ยวติดเหนือนลาต ทรงสังวาลเป็นงู ๑ สาย ทรงประคำทำด้วยกระโหลกศีร์ษะมนุษย์ ๑ สาย ธุหร่ำ ๑ สาย บางทีเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายก็ใช้เป็นงูล้วน

๔. พระอุมา มเหสีพระอิศวร มีนามต่าง ๆ ตามปางต่าง ๆ หลายปางคือเช่นนี้ คือ

(๑) “อุมา” เป็นบุตรีทักษะโอรสพระพรหมธาดา ในชั้นต้นทักษะไม่สมัครยกให้พระอิศวร แต่พระพรหมขอให้จึ่งตกลง ในปางนี้มีเรื่องว่าครั้งหนึ่งทักษะได้มีการสมโภชใหญ่ แต่ไม่อัญเชิญพระอิศวรไป ณ ที่นั้น เพราะดูถูกว่าเป็นยาจกโสมม พระอุมาเสียใจจึ่งโดดเข้ากองกูณฑ์เผาตัวตาย แล้วได้นามว่า

(๒) “สตี” คือเป็นหญิงที่ซื่อตรงดี ต่อมาหญิงที่เข้ากองไฟขณะเผาศพสามี จึ่งเรียกว่า “สตี”

(๓) “ปรรวตี” ฤๅ “อุมาไทมะวตี” เป็นบุตรีท้าวหิมวัต (คือเขาหิมาลัย) กับนางเมนาบุตรีแห่งเมรุ นี่คือเมื่อเผาตัวเป็นสตีแล้ว มาเกิดใหม่

(๔) “เคารี” นี้เป็นปางเดียวกับปรรวตี ตามเรื่องว่าสีกายดำ พระอิศวรเย้าเรื่องสีกาย พระปรรวตีจึ่งออกไปอยู่ป่าและเข้าฌานอยู่จนพระพรหมประทานพรให้สีกายกลายเป็นทอง

ที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ พระอุมาเป็นเทวีแท้ และเป็นองค์มเหสีพระอิศวร แต่นอกจากนี้ยังมีปางของพระอุมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นของที่มาพ่วงเข้าภายหลัง เช่นทุรคาและกาลีเป็นต้น ซึ่งมีลักษณะผิดกับพระอุมาบางทีมาก ๆ และไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณะ จึ่งมิได้กล่าวถึงในที่นี้

๕. พระคเณศร์ ฤๅ วิฆเนศร์ เรียกว่าโอรสของพระอิศวรและพระอุมา (ปรรวตี) พราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าแห่งวิทยาการต่าง ๆ เรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศร์มีต่าง ๆ หลายอย่างและเรื่องที่เล่าว่าเหตุไรเศียรจึ่งเป็นเศียรช้างก็มีต่าง ๆเหมือนกัน นอกจากคเณศร์ เรียกว่า “คณปติ” (คณบดี) ซึ่งแปลความอย่างเดียวกันก็ได้ “วินัยกะ” (พินายของไทยเรา) ก็เรียก “เอกทันตะ” ก็เรียก เพราะมีงาเดียว เดิมมี ๒ งาบริบูรณ์ แต่ครั้งหนึ่งปรศุราม (รามสูร) ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาศ พระอิศวรบรรทมหลับอยู่ พระคเณศร์จึ่งห้ามมิให้เข้าไป ปรศุรามถือว่าเป็นคนโปรดจะเข้าไปให้ได้ เกิดวิวาทกันถึงรบกัน พระคเณศร์จับปรศุรามด้วยงวงปั่นขว้างไปจนปรศุรามสลบ ครั้นฟื้นขึ้นปรศุรามจึ่งจับขวานขว้างไป พระคเณศร์เห็นขวานจำได้ว่าเป็นของพระอิศวรประทานจึงไม่ต่อสู้ แต่ก้มลงรับไว้ด้วยงาข้างหนึ่ง งานั้นก็สะบั้นไปทันใด ฝ่ายพระปรรวตีกริ้วปรศุราม กำลังจะทรงแช่ง ก็พอพระนารายน์ซึ่งเป็นที่เคารพแห่งปรศุรามแปลงเป็นกุมารมาวิงวอนขอโทษ พระปรรวตีจึ่งประทานโทษให้ (เรื่องนี้มาจากคัมภีร์พรหมาไววรรตะปุราณะ วิลสันแปล)

รูปพระคเณศร์ที่มักทำ มีเศียรเป็นศีร์ษะช้าง โดยมากมี ๔ กร แต่ ๖ กร ๘ กร ฤๅ ๒ กรก็ใช้ กายอ้วนใหญ่ หนูเป็นพาหนะ

๖. พระขันทกุมาร เรียกตามสังสกฤตว่า “สกันทะ” ฤๅ “กรรติเกยะ” อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “พระอรชุน” เป็นจอมพลแห่งทัพสวรรค์ตามคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ว่าเป็นโอรสพระอิศวรและพระปรรวตี ครั้นว่าจะนำเรื่องเหล่านี้มาเล่าไว้ก็จะฟั่นเฝื่อ จึ่งจำต้องงดไว้

รูปที่ทำโดยมาก กายเป็นสีทอง บางทีมี ๖ เศียร ๑๒ กร นกยูงเป็นพาหนะ

๗. พระพรหมา เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นสยัมภู คือเกิดขึ้นเองอีก กำเนิดของพระพรหมนี้ ตามคัมภีร์ต่าง ๆ ข้างศาสนาพราหมณ์มีเรื่องเล่าไว้ต่าง ๆ กันหลายอย่าง พระมนุูกล่าวว่าแรกบังเกิดนั้นเป็นไข่ฟองใหญ่ก่อน ไข่แตกออกแล้วจึ่งเป็นองค์พระพรหม แต่หนังสือมหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่าพระพรหมาได้เกิดขึ้นในดอกบัวหลวง ซึ่งผุดขึ้นมาจากนาภีพระนารายน์ พรหมาปุราณะกลับว่าพระพรหมา ฤๅในที่นี้เรียกว่า “อาปวะ” ได้แบ่งพระองค์เป็น ๒ ภาค เป็นชายภาค ๑ หญิงภาค ๑ และพระนารายน์ได้เกิดมาแต่ภาคทั้ง ๒ นี้ แล้วพระนารายน์จึ่งสร้างพระวิราช ซึ่งเป็นผู้ได้เป็นบิดาของมนุษย์คนแรก แต่ในคัมภีร์นี้เองมีฎีกาอธิบายไว้ว่า ในชั้นต้นพระนารายน์ได้สร้างพระอาปวะฤๅ วิศิษฎ ฤๅ วิราชขึ้น โดยอาศัยกำลังพระพรหมา แล้วพระวิราชจึ่งสร้างพระมนูซึ่งเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอีกชั้น ๑ ข้อความที่นำมากล่าวไว้โดยสังเขปเช่นนี้ ก็พอจะแสดงให้เห็นได้แล้ว ว่าการที่จะเล่าเรื่องพระพรหมามิใช่ง่ายนัก และพระพรหมากับพระนารายน์ดูแย่ง ๆ กันเป็นผู้สร้างอยู่ มิหนำซ้ำพระอิศวรกับพระพรหมาก็แก่งแย่งกันอีก ว่าใครสร้างใคร ในคัมภีร์ปุราณะอัน ๑ กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมีโลกทั้งหลายขึ้น มีแต่มหากาล (คือพระอิศวร) อยู่องค์เดียว พระมหากาลได้ถูพระกรซ้ายด้วยนิ้วพระหัตถ์ จนเกิดพองขึ้นเป็นรูปไข่มีสีคล้ายทอง ไข่นี้พระมหากาลได้ต่อยเป็น ๒ ภาค ภาคบนทำเป็นสวรรค์ ภาคล่างเป็นแผ่นดิน ในกลางเป็นพระพรหมา ซึ่งพระมหากาลได้มอบธุระให้เป็นผู้สร้างต่อไป ดังนี้ แต่ข้อที่ว่าพระพรหมาเป็นผู้สร้างพระอิศวรนั้น คือสร้างพระรุทระขึ้นจากหน้าผาก แต่เรื่องราวของพระพรหมามีอีกมากมายเกินกว่าที่จะนำมาลงไว้ในที่นี้

พระพรหมาเป็นพระเจ้าองค์ ๑ ก็ดี แต่มีผู้บูชาน้อยนัก ทั่วทั้งมัชฌิมประเทศมีเทวสถานที่บูชาพระพรหมโดยเฉพาะอยู่แห่งเดียวที่ตำบลปุษกะระ ในแขวงอาชมีรเท่านั้น พวกพราหมณ์นิยมกันว่าพระพรหมาเป็นผู้สร้างได้กระทำกิจสำเร็จแล้ว จึ่งไม่ต้องมีสถานไว้ให้มาสถิต และบำบวงเฉพาะวันเพ็ญมาฆมาสปีละครั้งเป็นพื้น

นามพระพรหมาที่ใช้อยู่อย่างมากนอกจากพรหมา คือ:-

(๑) “ธาตา” (ธาดา) ผู้สร้าง

(๒) “อาตมภู” เป็นขึ้นด้วยตนเอง

(๓) “ประชาปติ” (ประชาบดี) เป็นใหญ่ในประชา

(๔) “โลเกษ” เป็นเจ้าโลก

(๕) “หิรัณยครรภ” เกิดแต่ท้อง (ไข่) ทอง

(๖) “กมลาศน์” นั่งบนดอกบัวหลวง

(๗) “สวิตฤปติ” ภัศดาแห่งนางสวิตฤ

(๘) “อทิกวิ” กระวีที่ ๑

รูปพระพรหมา มีสีกายแดง สี่เศียร ทรงเครื่องขาว หัตถ์ ๑ ถือไม้เท้า อิกหัตถ์ ๑ ถือถาดสำหรับอามิสพลี มีห่าน (ฤๅหงส์) เป็นพาหนะ

๘. พระสรัสวดี (สะรัสวติ) เป็นมเหสีพระพรหมธาดา พวกพราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าของปัญญาและวิทยาทั้งหลาย เป็นมารดาแห่งพระเวท และเป็นผู้คิดหนังสือเทวนาครี พระสรัสวดีนี้พระพรหมาได้สร้างขึ้น คือแบ่งภาคจากพระองค์ (ดูเรื่องพระพรหมา) เพราะฉะนั้นบางทีก็เรียกว่าพรหมบุตรี บางทีก็พระสรัสวดีเป็นมเหสีพระนารายน์ ตามความนิยมของพวกพราหมณ์ไวษณวะนิกาย (คือพวกนับถือพระนารายน์) มีเรื่องเล่าว่า เดิมพระนารายน์มีมเหสี ๓ องค์ คือพระลักษมี ๑ พระสรัสวดี ๑ พระคงคา ๑ แต่ไม่เป็นที่ปรองดองกัน พระนารายน์จึ่งยกพระสรัสวดีให้พระพรหม ยกพระคงคาให้พระอิศวร คงไว้แต่พระลักษมี

พระสรัสวดีนับว่าเป็นเทพธิดาแม่น้ำ ในมัชฌิมประเทศมีลำน้ำชื่อสรัสวดี (ซึ่งชาวอินเดียเดี๋ยวนี้เรียกว่า “สูรสูตี”) ข้างประจิมทิศแห่งแม่น้ำยมนา ในคัมภีร์พระเวทกล่าวถึงแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคา จึ่งเข้าใจได้ว่า ในโบราณสมัยนับถือลำน้ำนี้มากกว่าแม่พระคงคา ในคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ มีนามมเหสีพระพรหมหลายนาม แต่ดูตามข้อความในมัตสาปุราณะทำให้เข้าใจว่าองค์เดียวมีหลายนาม คือพระพรหมได้แบ่งภาคพระองค์เองออกเป็นพระเทวีองค์ ๑ อันมีนามปรากฏว่า ศตรูปาบ้าง สวิตฤบ้าง สรัสวดีบ้าง พราหมณีบ้าง ดังนี้ แต่มีเรื่องราวในสกันทะปุราณะเล่าถึงเรื่องพระวิตสฤมีความหึงหวงกับพระคายะตฤซึ่งเป็นชายาพระพรหมอีกองค์ ๑ ในปัทมะปุราณะก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันอีก แต่ในวราหะปุราณะกล่าวถึงพระสรัสวดี เรียกนามว่า คายะตฤบ้าง สรัสวดีบ้าง มเหศวรี (ซึ่งเป็นนามของพระอุมาอันหนึ่ง) บ้าง สวิตฤบ้าง แต่โดยมากเรียกว่าสรัสวดี

รูปพระสรัสวดีเป็นหญิงสาว สีกายขาวนวล มี ๔ กร หัตถ์เบื้องขวาถือดอกไม้ บูชาพระพรหมหัตถ์ ๑ ถือคัมภีร์ใบลานอีกหัตถ์ ๑ หัตถ์เบื้องซ้ายถือสายสร้อยไข่มุก เรียกว่าศิวมาลาแทนประคำหัตถ์ ๑ ถือกลองเรียกว่า “ทมรรวะ” (ที่ไทยเราเรียกว่าบัณเฑาะว์) อีกหัตถ์ ๑ แต่ที่ทำเป็นถือพิณและนั่งบนดอกบัวหลวงก็มี

๙. พระอินทร์ ในคัมภีร์ไตรเพท ซึ่งเป็นมูลรากแห่งศาสนาพราหมณ์นั้น พระอินทร์เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าเทพยทั้งหลาย นับว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถือไว้ซึ่งอสุนีบาต และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อบำรุงพืชผลทังปวงในแผ่นดิน ต่อมาภายหลังเกิดมีพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ขึ้น พระอินทร์จึ่งนับถือลดหย่อนลงมาเป็นชั้นรอง พระอินทร์นั้นมิได้นับว่าเป็นสยัมภู คือมิได้เกิดขึ้นเอง มีบิดามารดา ที่ว่าเป็นโอรสแห่งเท๎ยาส (ฟ้า) กับปฤถวี (ดิน) และเป็นเชษฐาแห่งอัคนีก็มี แต่กล่าวเป็นอย่างอื่นก็มี เป็นเจ้าผู้ครองสวรรค์ มีกำหนด ๑๐๐ ปีสวรรค์ ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องละทิพยสมบัติ มีเทวดาอื่นขึ้นเสวยทิพยสมบัติแทน บางทีมนุษย์ที่ได้บำเพ็ญตะบะฌานกล้าพอ ก็สามารถจะได้ครองสวรรค์เหมือนกัน

นามของพระอินทร์มีต่าง ๆ หลายอย่าง เหลือที่จะเก็บรวบรวมมาให้หมดได้แต่ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ คือ

(๑) “อมรินทร์” เป็นใหญ่ในหมู่อมร

(๒) “เทวปติ” “เทวเทวะ” เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา

(๓) “สุรปติ” (สุรบดี สุรบดินทร์ สุรินทร์ ฯลฯ) เป็นใหญ่ในหมู่สุร

(๔) “มเหนทร” ฤๅ “มหินทร” ใหญ่ยิ่ง

(๕) “สักระ” ฤๅ “สักรินทร์ ” ผู้มีความสามารถยิ่ง

(๖) “วัชรี” ฤๅ “วัชรินทร์” ผู้ถือเพชราวุธ

(๗) “สวรรคปติ” (สวรรคบดี) จอมสวรรค์

(๘) “เมฆวาหน” ผู้ทรงเมฆ

(๙) “วฤตระหา” ผู้สังหารวฤตระ คือความแห้งแล้งในแผ่นดิน

(๑๐) “ทิวัสปติ” เจ้าแห่งอากาศ

(๑๑) “วาสวะ” (วาสพ) เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพทั้ง ๘ มีพระเพลิงเป็นต้น

(๑๒) “ศตกรตุ” ฤๅ “ศตมขะ” เจ้าแห่งการบวงสรวงมีกำหนดได้ร้อย (คือ พิธีอัศวเมธ ๑๐๐ ครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่กระทำได้เป็นพระอินทร์)

(๑๓) “สหัสรากษะ” ฤๅ “สหัสนัย” พันตา

(๑๔) “ศจีปติ” ภัสดาแห่งนางศจี

รูปพระอินทร์บางทีมี ๔ กร ๒ หัตถ์ถือหอก หัตถ์ที่ ๓ ถือเพชราวุธ หัตถ์ที่ ๔ ว่าง แต่โดยมากมักมีแต่ ๒ กร มิีตาทั่วกาย ทรงช้าง หัตถ์ขวาถือเพชราวุธ หัตถ์ซ้ายถือธนู

พาหนะมีช้างชื่อไอราวัต (ไอยราพต) ฤๅ เอราวัณก็เรียก กับมีม้าขาวชื่อ อุจไฉหศระวัส มีรถคัน ๑ สารถีชื่อมาตลี วิมานเรียกว่าไวชยันตะ (ไพชยนต์ ) ฤๅ เวชยันต์ มีสวนนันทนะอุทยาน นครที่สถิตชื่ออมรวดี ซึ่งอยู่บนเขาเมรุ

ตามหนังสือมหาภารตะกล่าวว่า เมือง (อมรวดี) นี้ มีวิมานอันงดงามเป็นที่อยู่ของชาวเมือง ไม่มีนครใดที่จะงดงามเสมอเหมือนได้ ในสวนมีต้นไม้หลายพรรณอันเป็นที่ร่มรื่น บ้างมีผลอันมีโอชารสเลิศ บ้างมีดอกอันส่งกลิ่นหอมหวาน เหล่าอัปสรอันรูปงามอย่างยิ่งทำให้เป็นที่จำเริญเนตรชาวนคร ทั้งมีผู้ชำนาญในการขับร้องและสรรพดุริยางค์หาที่เปรียบมิได้ ต่างทำให้เป็นที่เพลิดเพลินใจด้วยสำเนียงอันไพเราะ นครนี้พระวิศุกรรมเป็นผู้สร้าง วัดโดยรอบ ๘๐๐ โยชน์ สูง ๔๐ โยชน์ บรรดาเสาทำด้วยเพชร์ และวิมาน บัลลังก์ ทั้งเครื่องประดับประดาทั้งปวง ล้วนทำด้วยทองนพคุณ

๑๐. มเหสีพระอินทร์ มเหสีพระอินทร์นั้น ตรวจดูตามหนังสือต่าง ๆ ว่า มีองค์เดียว และโดยมากเรียกว่า “อินทราณี” ฤๅ “ศจี” แต่มีนามอีกหลายอย่าง โปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์ในหนังสือพจนานกรมอังกฤษสังสกฤตได้กล่าวไว้ว่า “มเหสี (ของพระอินทร์) มีนามเรียกว่าศจี อินทราณี ศักราณี มโฆนิ อินทรศักติ ปุโลมชา และเปาโลมี” ดังนี้ ในคัมภีร์ฤคเวทมีกล่าวว่า “ตามบรรตดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดียิ่งกว่าหญิงทั้งสิ้น เพราะว่าภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพลงด้วยชราภาพเลยในเบื้องหน้า” ข้อนี้มิสเตอร์วิลกินส์อธิบายว่า เพราะพระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ ๆ นางอินทราณีก็คงยังเป็นอัครมเหสีของผู้เป็นพระอินทร์ต่อ ๆ ไป ในสวรรค์คงจะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นใหญ่ปกครองโลกสวรรค์ และนางอินทราณี ขอเป็นอัครมเหสีของจอมสวรรค์เสมอ เพราะฉะนั้นจึ่งนับว่าไม่มีเลยที่ภัสดาของนางอินทราณีจะต้องสิ้นชีพลงเพราะชราภาพ

โปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์กล่าวว่า พระอาทิตย์กับพระอินทราณี มีโอรสองค์ ๑ ชื่อชยันตะ แต่มิสเตอร์วิลกินส์ว่าเทพบุตรนี้ชื่อจิตรคุปตะ และว่าเกิดมาจากครรภ์นางโค เพราะพระอุมาได้สาปนางฟ้าทั่วไปมิให้มีบุตรได้ นางอินทราณีบำเพ็ญกุศลกรรมต่าง ๆ เพื่อขอพรให้มีบุตร จึ่งได้จิตรคุปตะเทพบุตรมาสมประสงค์ แต่จะทรงครรภ์เองมิได้ จึ่งให้นางโคทรงครรภ์แทน และเมื่อนางโคคลอดบุตรนั้น นางอินทราณีก็รู้สึกเจ็บเหมือนหนึ่งคลอดบุตรเอง

๑๑. พระปรรชันย์ อธิบายยากว่ามีลักษณะและหน้าที่อย่างไร ตามคำสรรเสริญก็มีต่าง ๆ ว่าเป็นฝนบ้าง เป็นพายุบ้าง เป็นเมฆบ้าง เป็นฟ้ากัมปนาทบ้าง เพราะฉะนั้นดูแย่ง ๆ หน้าที่กับพระอินทร์อยู่ ในรามายณะกล่าวชัดว่ามีตัวต่างหากจากพระอินทร์ แต่กำเนิดเป็นอย่างไร รูปร่าง สีสรร เป็นอย่างไร ค้นหาไม่พบ

๑๒. พระอาทิตย์ เป็นโอรสพระกสปประชาบดีกับนางอทิติในคัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงพระอาทิตย์ว่าเป็นโอรสนางอทิติองค์ ๑ และเรียกนามว่าสุริยะ ว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนีก็ว่า ในคัมภีร์ที่กล่าวแล้วนั้นมีว่านางอทิติมีโอรส ๘ องค์ แต่องค์ ๑ พิการ นางจึ่งทิ้งเสีย พี่น้องมีความสงสารจึ่งช่วยแก้ไขให้หายพิการ และให้นามว่าวิวัสวัต ต่อมากล่าวพระอินทร์ ๑ พระสุรยะ ๑ พระอัคคี ๑ รวม ๓ นี้ได้บำเพ็ญตะบะต่าง ๆ มาก จนได้เป็นใหญ่กว่าเทพยเจ้าทั้งหลาย ตามที่ว่ามาแล้วว่า พระอาทิตย์เป็นโอรสนางอทิตินั้น บางทีก็มีกล่าวว่าเป็นโอรสพระเท๎ยาส บางแห่งว่านางอุษัสเป็นมเหสีแห่งสุรยะ แต่บางแห่งก็ว่าเป็นมารดา แต่ในคัมภีร์ปุราณะโดยมากว่าเป็นโอรสพระกสปกับนางอทิติ ในวิษณุปราณะมีเรื่องเล่าถึงพระอาทิตย์ว่าได้นางสังคนา บุตรีพระวิศุกรรมเป็นมเหสี มีเรื่องราวยืดยาว แต่จะนำมาเล่าในทีนี้ก็จะฟั่นเฝือนัก จึ่งงดไว้ (ดูในเรื่องพระเสาร์ด้วย)

นามของพระอาทิตย์ ถ้าจะกล่าวถึงในหมู่เทวดานพเคราะห์เรียกว่า “ระวิ” (ระพี) นอกจากนามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ ยังมีที่เรียกอยู่มากอีกคือ “ทินกร” “ทิวากร” “ภาสกร” “ประภากร” “อาภากร” เป็นต้น

ตามคัมภีร์ไตรเพทว่าพระสุรยะนั้น “เนตรทอง กรทอง ชิวหาทอง ทรงรถเทียมม้าเท้าด่างขาว” ตามคัมภีร์ปุราณะบอกรูปพระอาทิตย์ว่า สีกายแดงแก่ มี ๓ เนตร ๔ กร ถือดอกบัวเผื่อน ๒ หัตถ์ หัตถ์ที่เหลืออีก ๒ หัตถ์นั้น หัตถ์ ๑ ให้พร หัตถ์ ๑ กวักให้บูชา นั่งบนดอกบัวหลวงมีรัศมีเปล่งปลั่งทั้งกาย มีสารถีคือพระอรุณ

๑๓. พระจันทร์ ฤๅโสมเทพ - ในชั้นต้นโสมเทพเป็นเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมิใช่พระจันทร์ แต่มาภายหลังจึ่งกลายเป็นพระจันทร์ไปด้วย ในฤคเวทว่าพระโสมเป็นเจ้าแห่งน้ำโสม ซึ่งนับถือกันว่าเป็นโอสถวิเศษ โสมเป็นชื่อไม้เถาชนิด ๑ เรียกชื่อตามภาษาละตินว่า “อัสเคล์ปิอัส อซิดะ” (Asclepias acida) มีใบน้อย ดอกสีขาวเล็ก ๆ อยู่ปลาย ๆ เถา มียางขาว ๆ รสฝาด ชาวมัชฌิมประเทศนับถือกันมาก ในคัมภีร์ฤคเวทกัณฑ์ที่ ๙ เต็มไปด้วยคำสรรเสริญต้นโสมและพระโสมเทพ ตามคัมภีร์เวทนั้น กล่าวว่าพระโสมเทพได้บุตรี ๓๓ องค์ของพระประชาบดีเป็นชายา แต่พระโสมโปรดนางโรหินีมากกว่านางอื่น ๆ นาง ๓๒ มีความหึงจึ่งกลับไปหาบิดา พระโสมวิงวอนขอรับคืนไปและรับว่าจะเลี้ยงดูให้เสมอกัน แต่แล้วลืมคำนี้เสีย พระประชาบดีจึ่งสาปพระโสมให้เป็นโรคฝีในท้อง (เพราะเหตุฉะนี้พระจันทร์จึ่งได้ผอมลงทุกวันจนดับหายไป แล้วจึ่งค่อยเกิดขึ้นใหม่อีก ซึ่งมนุษย์เห็นปรากฏอยู่เป็นข้างขึ้นข้างแรมจนกาลบัดนี้)

ในวิษณุปราณะซึ่งเป็นหนังสือชั้นใหม่กว่าไตรเพท กล่าวว่าพระโสมเทพ (คือพระจันทร์) เป็นโอรสพระอตฤมุนีพรหมบุตร แต่ว่าเกิดมาจากมหาสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤตก็ว่า กับมีเรื่องต่อไปว่าพระจันทร์ได้กระทำพิธีราชสุยะมีบุญญาธิการมาก เกิดกำเริบขึ้นจึ่งไปลักพานางดารามเหสีพระพฤหัสบดีไป พระพฤหัสบดีจะพูดว่ากล่าวอย่างไร พระโสมเทพก็ไม่ฟัง พระพรหมว่ากล่าวก็ไม่ฟัง เทพฤๅษีทั้งหลายไปว่ากล่าวก็ไม่ฟัง จนเกิดมีสงครามขึ้น พระอินทร์กับเทวดาฝ่าย ๑ พระโสมกับอสูรอีกฝ่าย ๑ จนนางดาราเองได้ความเดือดร้อนร้องขอบารมีพระพรหมธาดาเป็นที่พึ่ง พระพรหมธาดาจึ่งบังคับให้พระโสมคืนนางดารา แต่นางดารามีครรภ์อยู่แล้ว พระพฤหัสบดีจึ่งสั่งให้บุตรคลอดออกมา บุตรนี้คือพระพุธ ฝ่ายพระพฤหัสบดี ครั้นเมื่อนางดาราได้สารภาพแล้วว่าพระจันทร์เป็นบิดาแห่งกุมารนั้น ก็มีความพิโรธ จึ่งเผานางเสียจนเป็นเถ้า (เพราะพระพฤหัสบดีนี้ว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนี) แต่พระพรหมได้ชุบนางขึ้นใหม่ และโดยเหตุนางได้ล้างบาปแล้วด้วยเพลิง พระพฤหัสบดีจึ่งรับไว้เป็นมเหสีอย่างเดิม ฝ่ายพระสมุทรมีความพิโรธพระโสมผู้เป็นโอรส จึ่งตัดรอนเสีย แต่พระลักษมีผู้เป็นภคินีได้ช่วยวิงวอนขอหย่อนโทษบ้าง พระสมุทรจึ่งยอมถอนคำสาปให้ส่วน ๑ แล้วพระลักษมีได้ช่วยวิงวอนพระอุมา ขอให้พระโสมได้กลับขึ้นไปบนสวรรค์ พระอุมาทูลวิงวอนพระอิศวร ๆ จึ่งเอาพระจันทร์ติดเหนือนลาตของพระองค์ แล้วเสด็จไปในสมาคมแห่งเทวดาทั้งหลาย พระพฤหัสบดีเห็นเช่นนั้นก็มีความขุ่นเคืองยิ่งนัก จนพระพรหมต้องไกล่เกลี่ยว่า ให้พระจันทร์อยู่เสียนอกสวรรค์ แต่ให้เป็นเจ้าแห่งดาวและพฤกษชาติทั้งหลาย

รูปพระจันทร์เป็นมนุษย์ สีกายขาว ๒ กร ทรงรถเทียมม้าขาว

๑๔. พระอังคาร “มังคละ” ก็เรียก “ภุมมะ” ก็เรียก ไม่ปรากฏว่ากำเนิดเป็นอย่างไร (ค้นยังไม่พบ) มิสเตอร์วิลกินส์กล่าวว่า เป็นเทวดาองค์เดียวกับพระขันทกุมาร รูปเป็นคน สีกายแดง ๔ กร ภูษาอาภรณ์แดง ทรงแกะเป็นพาหนะ

๑๕. พระพุฒ (ฤๅพุธ) โอรสพระจันทร์ กับนางดารา (ดูในเรื่องพระจันทร์)

๑๖. พระพฤหัสบดี เป็นครูแห่งเทวดาทั้งหลาย ตามไตรเพทว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนี แต่มาภายหลังจึ่งนิยมกันว่าเป็นฤๅษี โอรสพระอังคีรสพรหมบุตร (ดูในเรื่องพระจันทร์ด้วย)

๑๗. พระศุกร์ เป็นโอรสพระภฤคุมุนีพรหมบุตร เป็นครูแห่งพวกแทตย์ และว่าเนตรบอดข้าง ๑ ที่เนตรบอดนั้น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนารายน์เป็นพระวามนาวตาร ไปยังที่พิธีการของพลิราชจอมแทตย์ ศุกรได้ห้ามพลิราชมิให้ๆ สิ่งใดแก่พระวามนาวตาร แต่พลิราชได้ลั่นวาจาแล้วว่าจะยกแผ่นดิน ๓ ย่างให้แก่พระวามนาวตาร จึงตกลงเป็นจะให้และเป็นหน้าที่ของพระศุกร์ผู้เป็นปโรหิตของพลิราชที่จะอ่านมนต์และเทน้ำกรดให้หลั่ง แต่พระศุกร์ทราบแล้วว่า ถ้าแม้ให้ตามพระวามนาวตารขอก็แผ่นดินก็คงจะตกไปเป็นของพระวามนาวตารทั้งสิ้น จึ่งหายตัวลงไปสิงอยู่ในกลดน้ำ และกันไว้มิให้น้ำนั้นไหลออกมาได้ ฝ่ายพระวามนาวตารเล็งเห็นว่าพระศุกร์ลงไปกันน้ำไว้ จึ่งหยิบฟางหญ้าคาแยงลงไปในกรดถูกเนตรพระศุกร์เจ็บปวดทนมิได้ จึ่งต้องเปิดให้น้ำไหล และเนตรพระศุกร์จึ่งบอดข้าง ๑ พระศุกร์นี้นับถือกันว่ามีวิทยาขลังสามารถจะชุบคนตายให้ฟื้นขึ้นได้

สีกายเลื่อมประภัสสร ภูษาอาภรณ์สีเช่นกัน

๑๘. พระเสาร์ ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์กับนางฉายา ฤๅอีกนัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระพลรามกับนางเรวะดี ตามเรื่องที่ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์กับนางฉายานั้น มีข้อความกล่าวไว้ในวิษณุปุราณะว่า นางสังคณา (ฤๅนัยหนึ่งเรียกว่า สรัณยา) บุตรีพระวิศุกรรมเป็นมเหสีพระสุรยะ อยู่ด้วยกันจนมีเทพบุตร ๓ องค์ แล้วนางสรัณยาทนรัศมีพระอาทิตย์มิได้ จึ่งจำต้องหลบหนีไป ให้นางฉายาอยู่แทน พระสุรยะก็ไม่รู้สึกอยู่หลายปีว่าสับตัวกัน จนอยู่มาวัน ๑ นางฉายามีความโกรธพระยมผู้เป็นโอรสพระสุรยะกับนางสังคณา นางจึ่งกล่าววาจาแช่งพระยม และผลก็มีแก่พระยมตามคำแช่ง ตตามธรรมดาคำแช่งของมารดาจะมีผลอันใดแก่บุตรก็หามิได้ เพราะฉะนั้นพระสุรยะจึ่งทราบได้ว่านางฉายามิใช่มารดาของพระยม

พวกพราหมณ์ถือว่าพระเสาร์เป็นเทวดาเคราะห์ร้าย ดังปรากฏอยู่ในหนังสือพรหมาไววรรตะปุราณะ เล่าเรื่องพระคเณศร์ว่า เมื่อพระคเณศร์ประสูติแล้วเทพยดาทั้งหลายได้พากันไปเฝ้าพระอิศวรกับพระปรรวดี และได้เข้าไปชมพระคเณศร์เรียงองค์กัน พระเสาร์ก็ไปในที่นั้นด้วยแต่ก้มหน้าอยู่ ตาหาดูพระกุมารไม่ พระปรรวดีตรัสถามว่า เหตุไฉนจึ่งไม่แลดูพระกุมาร พระเสาร์ตอบว่าวัน ๑ พระเสาร์กำลังเข้าฌานรำลึกถึงคุณพระนารายน์ มเหสีของพระเสาร์เข้ามา พระเสาร์ก็หาได้ปราศรัยฤๅสำแดงความชื่นชมโสมนัสอย่างใดไม่ นางมีความโกรธจึ่งสาบไว้ว่า ถ้าพระเสาร์แลดูผู้ใดให้ผู้นั้นพินาศ ฝ่ายพระปรรวดีได้ทราบเรื่องแล้ว ก็ยังขืนวิงวอนให้พระเสาร์ดูพระกุมาร พระเสาร์เรียกพระธรรมราชา (พระยม) ให้เป็นพยานว่าได้รับอนุมัติแล้ว จึ่งมองดูพระคเณศร์ ทันใดนั้นเศียรพระคเณศร์ก็หลุดจากกายลอยไปยังไวกูณฐ์และเข้าบรรจบกับองค์พระนารายน์ จนพระนารายน์ต้องขึ้นทรงครุฑไปยังลำน้ำปุษปะภัทร์ ตัดศีร์ษะช้างที่นอนหลับอยู่ริมลำน้ำนั้นมาติดแทนเศียรพระคเณศร์ที่สูญไป พระอิศวรกับพระปรรวดีมีความยินดีประทานพรต่างๆ แก่บรรดาเทวดาและฤๅษีชีพราหมณ์ที่ไปเฝ้า เว้นแต่พระเสาร์นั้นพระปรรวดีได้แช่งให้ขาเขยกต่อมา

รูปพระเสาร์ สีกายดำ มี ๔ กร ภูษาอาภรณ์ดำ และมิสเตอร์วิลกินส์ว่า ทรงนกแร้งเป็นพาหนะ ตามตำราโหรของไทยว่าทรงเสือ

๑๙. พระราหู ว่าเป็นโอรสพระพฤหัสบดีกับนางสิงหิกา ตามความที่นิยมกันว่าพระราหูอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ในเวลาอุปราคานั้น มีเรื่องเล่ามาว่า เดิมพระราหูเป็นอสูร แต่เมื่อเวลากวนน้ำอมฤตนั้น ได้แปลงรูปเป็นเทวดา พระอาทิตย์กับพระจันทร์ซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันได้ทูลท้วงแก่พระนารายน์ว่า มีอสูรตน ๑ ได้กินน้ำอมฤตแล้ว พระนารายน์จึ่งตัดเศียรอสูรนั้นเพื่อลงอาญา แต่อสูรนั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งเศียรทั้งกายก็มิได้ตาย พระนารายน์จึ่งตั้งนามภาคเศียรว่าราหู ให้อยู่ทางที่ลับแห่งจันทรโคจร ตั้งนามกายภาคว่าเกตุ ให้อยู่ทางที่แจ้งแห่งจันทรโคจร กับอนุญาตว่าเพื่อแก้แค้น ให้ราหูมีเวลาได้เข้าใกล้พระอาทิตย์พระจันทร์และกระทำให้มัวมล ร่างกายซูบผอมและดำไป

รูปพระราหู สีกายดำ มิสเตอร์วิลกินส์ว่าขี่สิงห์เป็นพาหนะ แต่ตำราโหรไทยเราว่าขี่ครุฑ

๒๐. พระเกตุ เป็นภาคกายแห่งอสูรราหูเมื่อถูกพระนารายน์ฟันเป็น ๒ ภาค (ดูในเรื่องพระราหู)

รูปพระเกตุ มิสเตอร์วิลกินส์ไม่กล่าวว่าเป็นอย่างไร ตำราโหรไทยว่ากายสีทอง ทรงนาคเป็นพาหนะ

๒๑. พระเพลิง (อัคนี) เป็นที่นับถือของพวกพราหมณ์โบราณมาก จึ่งมีเรื่องเล่าถึงมาก นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสแห่งอากาศและปฤถวี นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระพรหมาธิราช และเรียกนามว่าพระอภิมาณี นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระกัสปกับนางอทิติ จึ่งนับว่าเป็นอาทิตยะองค์ ๑ นัยหนึ่ง (ในหนังสือชั้นหลัง) ว่าเป็นโอรสพระอังคีรส ราชาแห่งปิตรีทั้งหลาย (คือบิดาของมนุษย์) อีกนัยหนึ่งว่าเป็นองค์เดียวกับพระพฤหัสบดี คำสรรเสริญบท ๑ ซึ่งโปรเฟสเส้อร์โมเนียร์ วิลเลียมส์ได้แปลลงไว้ในหนังสือชื่อ “อินเดียนวิสดอม” บอกลักษณะพระเพลิงแจ่มแจ้งดี มีใจความตามคำสรรเสริญนั้นว่า “มีแสงสว่าง รัศมี ๗ แฉก มีรูปแปลกๆ น่าชม กายสีเป็นทองคำ มีเศียร ๓ เกษา กระจ่างโพลน และโอษฐ์ทั้ง ๓ มีคางและทนต์อันร้อนจัด เสวยสรรพสิ่งปวง บางทีพระองค์ก็มีเขานับด้วยพัน ล้วนรุ่งโรจน์ มีเนตรนับด้วยพันอันฉายรัศมีกระจ่างจ้า ทรงรถทองลอยละลิ่วเฉียดลม เทียมม้าอันแดงจัด”

รูปที่เขียนโดยมาก มักมีสีกายแดง มีชงค์ ๓ กร ๗ เนตร ขนง และเกศาสีม่วงแก่ ทรงแกะผู้เป็นพาหนะ คล้องสังวาลธุหร่ำอย่างพราหมณ์ และมีสังวาลผลไม้ร้อยกรองเป็นพวง มีเปลวไฟออกมาจากโอษฐ์ และมีรัศมีเป็น ๗ แฉก ถือขวาน

นามพระเพลิงที่ใช้เรียกกันในมัชฌิมประเทศ นอกจาก “อัคนี” และ “อภิมาณี” ที่กล่าวแล้วนั้นมี

(๑) “พราหมณัศปติ” เป็นผู้ใหญ่ในหมู่พราหมณ์ (มุ่งว่ากองกูณฑ์)

(๒) “วาหนี” ผู้รับเครื่องพลีกูณฑ์

(๓) “ธนัญชัย” ผู้ชำนะทรัพย์

(๔) “ชิวลนะ” ผู้ลุกสว่าง

(๕) “ธูมเกตุ” ผู้มีควันเป็นที่กำหนด

(๖) “ฉาคะรถะ” ผู้ทรงแกะผู้

(๗) “สัปตะชิวหา” ผู้มีชิวหา ๗

๒๒. พระวรุณ (พิรุณ) เป็นที่นับถือของชาวมัชฌิมประเทศมาก ถือว่าเป็นเจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย เป็นผู้รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง มีมเหสีนามว่า วรุณี และพระสมุทร พระคงคาเทวี ทั้งลำน้ำสระและพุทั้งหลาย เป็นบริพาร

มีนามอีกว่า “ประเจตัส” (มีปัญญา) “ชละปติ” (เจ้าแห่งน้ำ) “ยาทะปติ” (เจ้าแห่งสัตว์น้ำ) “อัมพุราช” (เจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย) “ปาศี” (ผู้ถือบ่วง)

รูปพระวรุณ สีกายขาว หัตถ์ขวาถือป่วง ฤๅถือธนูศรก็มี ทรง “มกระ” คือเหราเป็นพาหนะ (ไทยเราว่าทรงนาค)

๒๓. พระอัศวิน เป็นเทวดา ๒ องค์แฝด เรียกนามรวมนามเดียวว่าอัศวิน หาเรื่องราวที่จะเล่าถึงให้แจ่มแจ้งยาก และจะกล่าวชัดเจนว่าเป็นเจ้าแห่งอะไรก็ยาก เพราะมีคำอธิบายต่าง ๆ กันหลายประการนัก มิสเตอร์มิยัวร์ (J. Muir D.C.L., LL.D.) ในหนังสือชื่อ “หนังสือสังสกฤตฉบับเดิม” (Original Sankskrit Texts) กล่าวพระอัศวิน “เป็นผู้เริ่มนำแสงสว่างมาในฟากฟ้าเวลาเช้า เป็นผู้เร่งเมฆที่บังแสงอรุณให้เลื่อนพ้นไป และผู้นำทางให้พระอาทิตย์เดิน” ในคำสรรเสริญมีกล่าวว่าเป็นโอรสพระสุรยะบ้าง ว่าเป็นโอรสแห่งฟ้าบ้าง ว่าเป็นโอรสแห่งสมุทรบ้าง

ที่ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์นั้น มีเรื่องเล่าในหนังสือวิษณุปราณะว่า เมื่อครั้งนางสรัณยาได้หนีจากพระอาทิตย์ไปแล้วนั้น (ดูเรื่องพระเสาร์) นางได้ออกไปอยู่ป่า พระอาทิตย์เล็งทิพเนตรเห็นว่านางอยู่แห่งใดแล้วจึ่งตามออกไป พบนางกลายรูปเป็นนางม้าอยู่ในป่า พระอาทิตย์ก็จำแลงเป็นม้าผู้ไปอยู่ด้วย จนเกิดพระอัศวินทั้งคู่นี้มา (และบางทีจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง กุมารทั้งสองจึ่งได้นามว่าอัศวิน คือมูลรากของนามมาจากอัศวะนั้นเอง)

พระอัศวินทั้ง ๒ นี้นับถือกันว่าเป็นแพทย์พิเศษ สามารถเยียวยารักษาคนตาบอดให้แลเห็น คนขาเขยกให้ขาตรง และพิการต่างๆ ให้กลับเป็นคนดีได้

รูปนั้นทราบได้แต่ว่าเป็นอย่างมนุษย์ และขี่ม้าแข็ง นัดปราชญ์เยอรมันชื่อโปรเฟสเส้อร์โคลด์สติคเกอร (goldstiicker) แสดงความเห็นไว้ว่า เดิมพระอัศวินนี้เป็นมนุษย์ จึ่งมีเรื่องราวกล่าวถึงว่าท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลกเพื่อรักษาคนไข้โดยมาก ต่อ ๆ มาจึ่งยกย่องกันขึ้นเป็นเทวดา

๒๔. พระวายุ (พายุ) คือเจ้าลม ตามคัมภีร์ไตรเพทไม่ปรากฏว่ามีกำเนิดอย่างไร แต่ตามหนังสือปุราณะกล่าวว่าเป็นโอรสพระกสปกับนางอทิติ เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นอาทิตยะองค์ ๑ เหมือนกัน

นอกจากวายุ ยังมีนามเรียกอีกว่า “วาตะ” “ปวนะ” “มารุต” “สปรรศนะ” “คันธวาห”

ลักษณะตามไตรเพท ว่ามีรูปร่างงดงามยิ่งนัก ทรงรถเทียมม้าสีแดงฤๅม่วงแดง ม้านั้นโดยมากเทียมคู่เดียว แต่บางทีมีเทียมถึงเก้าสิบเก้า ร้อย ฤๅพันก็มี แล้วแต่กำลังลมอ่อนฤๅแรง ในรูปเขียนชั้นหลัง ๆ มีสีกายขาว ทรงมฤคเป็นพาหนะ หัตถ์ถือธงสีขาวบ้าง เขนงฤๅแตรสำหรับเป่าบ้าง

๒๕. พระยม ว่าเป็นโอรสพระสุริยะกับนางสรัณยา อีกนัยหนึ่งในฤคเวทว่าเป็นโอรสของคนธรรพ์ ในชั้นต้นตามคัมภีร์ไตรเพท มิได้นับถือว่าพระยมเป็นเจ้านรก เป็นแต่นับถือว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ถึงแก่ความตาย และเป็นผู้ที่ได้ดำเนินทางไปโลกที่อยู่แห่งคนตายก่อนผู้อื่น จึ่งเป็นผู้นำทางของผู้ตายทั่วไป ครั้นเมื่อตายไปถึงสถานแห่งพระยมแล้ว ก็ได้รับความสุข จึ่งนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งผู้ตายทั้งหลาย แล้วจึ่งกลายเป็นนับว่าพระยมคือตัวมฤตยู (ความตาย) นั้นเอง แต่อย่างไร ๆ ก็ดี คงถือว่าการที่ไปถิ่นพระยมนั้นเป็นอันไปสู่สถานอันเปนสุข ครั้นมาในชั้นหลัง คือตามหนังสือปุราณะต่าง ๆ พระยมจึ่งมาเป็นตุลาการแห่งคนตายและเป็นเจ้านรก เช่นในปทมะปุราณะเป็นต้น กล่าวว่าพระยมเป็นตุลาการของผู้ตาย และเป็นเจ้าแห่งผู้ตกนรก บรรดาคนที่ตายไปแล้วต้องไปเฉพาะพักตร์พระยมเพื่อฟังข้อความที่พระจิตรคุปตะเทพบุตรได้จารึกไว้ในเรื่องกุศลและอกุศลกรรมของตน ๆ ผู้ที่ได้ทำบุญพระยมก็ส่งไปยังสวรรค์ ผู้ที่ได้ทำบาปก็ไล่ไปลงนรกเพื่อรับทัณฑกรรมต่อไป ตามวิษณุปุราณะมีกล่าวไว้ว่า บรรดาคนที่ตายต้องตกไปอยู่ในเงื้อมหัตถ์พระยมทั้งสิ้น และจะต้องทนทุกข์เวทนาต่าง ๆ เว้นเสียแต่ผู้ที่นับถือและบูชาพระวิษณุอยู่เป็นนิตย์เท่านั้น” และตามความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า วิญญาณแห่งผู้ตายจะออกจากร่างไปถึงถิ่นพระยมได้ภายใน ๔ ชั่วโมง ๔๐ นาที เพราะฉะนั้นจะเผาศพก่อนที่คนตายไปแล้วเกินเวลาที่กำหนดนั้นไม่ได้” (วิลกินส์)

นามพระยมมีที่เรียกกันอยู่มาก ๆ ยังมีอยู่อีกดังต่อไปนี้

(๑) “ธรรมราชา

(๒) “ปิตฤปติ”เป็นใหญ่ในหมู่บิดา (คือบรรพบรุษ)

(๓) “สมวุรติ” ผู้ตัดสินเที่ยง

(๔) “สะมะนะ” ผู้สงบ

(๕) “กาละ” เวลา (ที่ใช้พูดกันอยู่ว่าพระกาลมาผลาญ)

(๖) “ทัณฑะธร” ผู้ถือไม้ (สำหรับลงอาญา)

(๗) “ศรัทธะเทวะ” เจ้าแห่งการทำศพ

(๘) “ไววัสวตะ”เกิดแต่พระวิวัสวัต (พระอาทิตย์)

(๙) “อันตะกะ” ผู้ทำให้ถึงที่สุด (แห่งชีพ)

(๑๐) “มหิเษส” ผู้ทรงมหิงษ์

ตามรูปเขียน สีกายเขียว ภูษาแดง ทรงมงกุฎและมาลาประดับเกษา ถือคทา ทรงกระบือเป็นพาหนะ แต่ข้างไทยเราว่าทรงสิงห์เป็นพาหนะ

๒๖. พระวิศุกรรม ฤๅเรียกตามภาษาสังสกฤตว่า “วิศวกรรม” และ ต๎วัสตฤ” ก็เรียก นับว่าเป็นศิลปีเอกในหมู่เทวดา

ในรูปชาวมัชฌิมประเทศ เขียนพระวิศุกรรมมีสีกายขาว มี ๓ เนตร ทรงชฎาและอาภรณ์ทอง ถือคทา (ของไทยเราเป็นสีเขียวโพกผ้า)

๒๗. ท้าวกุเวร ฤๅท้าวเวศวัณ และพระไพรศพณ์ก็เรียก ท้าวกุเวรนี้เป็นพรหมพงศ์ ดังปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่เล่ามา ที่มีเรื่องราวละเอียดอยู่ ๒ แห่ง คือ ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะแห่ง ๑ ในมหาภารตะแห่ง ๑ เรื่องราวคล้าย ๆ กัน ที่ผิดกันเป็นข้อใหญ่คือ ในรามายณะว่าท้าวกุเวรเป็นนัดดาของพระปุลัศต๎ยะ แต่ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสพระปุลัศต๎ยะ ในที่นี้จะได้เล่าเรื่องตามข้อความที่มีมาในรามายณะ ดังนี้

ในสัตย์ยุคครั้ง ๑ พระปุลัศต๎ยะมุนีพรหมบุตรได้ถูกนางฟ้าและนางมนุษย์รบกวนให้เป็นที่รำคาญด้วยการร้องรำทำเพลงต่าง ๆ พระปุลัศต๎ยะจึ่งประกาศแช่งไว้ว่า ถ้าแม้หญิงใดได้มาให้แลเห็นอยู่ใกล้อาศรมของเธอแล้ว ให้หญิงนั้นต้องมีบุตร แต่นางธิดาของราชฤษีตริณะวินทุมิได้ทราบประกาศนี้ จึ่งได้เดินไปทางที่ห้าม ก็บังเกิดมีครรภ์ขึ้นตามคำแช่ง พระตริณะวินทุได้ทราบเหตุเช่นนั้น ก็ไปยังพระปุลัศต๎ยะยกธิดาให้ ต่อมานางจึ่งคลอดบุตร อันได้นามว่าวิศรวัส (ฤๅอีกนัยหนึ่งเรียกว่าเปาลัศต๎ยัน คือ เกิดแต่ปุลัศต๎ยะ) วิศรวัสได้เล่าเรียนวิทยาอาคมจนเป็นมุนีเช่นบิดา และได้นางธิดาแห่งพระภารทวาชมุนีเป็นชายา มีบุตรด้วยกัน นามว่ากุเวรฤๅไวศรวัณ (เวสวัณ คือเกิดแต่วิศรวัส) พระกุเวรได้บำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี พระพรหมธาดาจึ่งทรงพระเมตตาประทานพรให้เป็นเทวดาเจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย และให้เป็นโลกบาลผู้ ๑ ด้วย กับทั้งประทานบุษบกสำคัญอัน ๑ ซึ่งจะใช้ขี่ลอยไปได้ทุกแห่ง พระวิศรวัสจึ่งแนะให้พระกุเวรไปอยู่ ณ เมืองลงกา ซึ่งพระวิศุกรรมได้สร้างขึ้นให้พวกรากษส แต่ซึ่งพวกรากษสได้ทิ้งเสียเพราะความเกรงพระนารายน์ ขณะนั้นมีพญารากษสตน ๑ ซึ่งมีนามว่าสุมาลี อันได้ถูกขับลงไปอยู่ ณ บาดาลนั้น ได้ขึ้นมาเยี่ยมแผ่นดิน ได้เห็นท้าวกุเวรขี่บุษบกไปเยี่ยมพระบิดา สุมาลีมีความริษยาและอยากจะใคร่ให้พวกรากษสได้กลับไปอยู่ ณ กรุงลงกาตามเดิม จึ่งใช้ให้นางไกกาสีผู้เป็นธิดาขึ้นไปยั่วยวนพระวิศรวัสมุนี ๆ ก็เป็นที่พอใจจึ่งรับนางไว้เป็นชายา มีโอรสธิดาด้วยนางคือ ราพน์ ๑ กุมกรรณ ๑ สูรปนขา ๑ วิภีษณะ (พิเภก) ๑ อยู่มานางไกกาสีมีความริษยาท้าวกุเวร จึ่งยุยงราพน์ให้แข่งพี่บ้าง ราพน์กับอนุชาทั้ง ๓ จึ่งพากันไปศึกษาในสำนักพระโคกรณมุนี (ที่เราเรียกว่าพระโคบุตร) ได้เข้าฌานและบำเพ็ญทุกรกิริยาต่าง ๆ อยู่พันปี จนพระพรหมธาดาทรงพระเมตตาประทานพรหลายประการ (ซึ่งกล่าวไว้ในตอนว่าด้วยทศกรรฐ์ต่างหาก) แล้วราพน์จึ่งชิงเอาลงกาและบุษบกจากท้าวกุเวร

ตามข้อความที่ได้มาเช่นนี้ จึ่งปรากฏว่าท้าว “กุเปรัน” ในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยเรา คือท้าวกุเวรนี้เอง

ข้อที่ว่ากุเวรเป็นโลกบาลนั้น ปรากฏตามรามายณะว่า โลกบาลมี ๔ องค์ คือพระอินทร์อยู่ทิศบูรพา พระยมอยู่ทิศทักษิณ พระวรุณอยู่ทิศปรัศจิม พระกุเวรอยู่ทิศอุดร แต่บางแห่งว่าโลกบาลมี ๘ องค์ นอกที่รักษาทิศใหญ่อันกล่าวแล้ว มีที่รักษาทิศเฉียงคือ พระอัคนีทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระสุรยะทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระโสมตะวันออกเฉียงเหนือ พระวายุตะวันตกเฉียงเหนือ

ท้าวกุเวรนั้นเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ทั้งหลาย เมืองนั้นตามมหาภารตะว่าชื่อคันธมรรทนะ มีอุทยานอันเป็นที่สำราญและงดงามยิ่งนัก และมีกล่าวถึงในรามายณะบ่อย ๆ พระภารทวาชมุนีเมื่อรับพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ ก็ได้กล่าวว่า “ขอสวนแห่งท้าวกุเวร อันอยู่ห่างไกลเหนือกุรุรัฐนั้น จงมาบังเกิดมีขึ้น ณ ที่นี้ ขอผ้าและอาภรณ์อย่างดีจงเกิดมีมาแทนใบไม้ และนารีแทนผล” ซึ่งปรากฏว่าในสวนนั้นมีต้นนารีผล

นอกจากถูกแย่งเมืองลงกาและบุษบก ท้าวกุเวรมิหนำซ้ำต้องไปรับใช้ท้าวราพน์อยู่คราว ๑ ในตำแหน่งขุนคลัง แต่ไม่ใช่ต้องไปรับใช้ผู้เดียว เทวดาอื่นก็ต้องไปรับใช้อยู่ด้วย เช่นพระอินทร์ต้องไปรับใช้เป็นผู้ร้อยกรองพวงมาลัย พระเพลิงต้องไปเป็นพ่อครัว พระอาทิตย์ต้องไปให้แสงสว่างในกลางวัน และพระจันทร์ในกลางคืนเป็นต้น

รูปท้าวกุเวร ชาวมัชฌิมประเทศจะได้เคยเขียนฤๅปั้นไว้อย่างไร ยังค้นไม่พบ แต่ในชั้นหลัง ๆ นี้ ไม่มีใครเขียนฤๅปั้นเสียอีกแล้ว แต่ตามข้อความปรากฏอยู่ว่าเดิมเป็นมนุษย์ แล้วพระพรหมยกขึ้นเป็นเทวดามียักษ์เป็นบริวาร ช่างไทยจึ่งมักเขียนท้าวกุเวรเป็นยักษ์

๒๘. พระสมุทร เป็นเจ้าแห่งทะเลทั้งหลาย แต่หาเรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดไม่ได้ มีแต่เรื่องเล่าในรามายณะ ถึงเรื่องแม่น้ำคงคาเกิดมาในมนุษยโลกอย่างไร และว่าหลุมที่โอรสพระสัคราชได้ขุดนั้น คือห้วงทะเล (ดูในเรื่องแม่พระคงคา)

ในเรื่องรามายณะลังกากัณฑ์ ตอนจองถนน มีบอกลักษณะและอาภรณ์ของพระสมุทรว่าสีกายน้ำเงินแก่แกมทอง ทรงสังวาลประดับด้วยแก้ววิเศษต่าง ๆ ทรงมงกุฎประดับไข่มุกและแก้วทะเลหลายประการ มีมาลัยดอกไม้สวรรค์อันไม่รู้จักเหี่ยวแห้ง

๒๙. แม่พระคงคา ได้ความตามพาลกัณฑ์แห่งหนังสือรามายณะว่า พระหิมาลัยมีมเหสีชื่อนางเมนา บุตรีแห่งพระเมรุ ทั้ง ๒ นี้มีบุตรี ๒ องค์ คือพระคงคา ๑ พระอุมา ๑ เทพยดาทั้งหลายได้ขอพระคงคาไปไว้เพื่อล้างบาป ลำน้ำคงคาจึ่งมีอยู่ในเทวโลก ต่อมามีพระมหากษัตริย์องค์ ๑ ทรงพระนามว่าสัครฤๅสาคร (ดูเรื่องพระสัครราชด้วย) ท้าวสัครราชนี้ไม่มีโอรสจึ่งกระทำการสักการะด้วยการทรมานพระองค์ต่าง ๆ ต่อหน้าพระภฤคุมุนีช้านานจนพระภฤคุมีความเมตตาจึ่งให้พรให้มีโอรส คือมเหสีองค์ ๑ ให้มีกุมารแต่องค์เดียว แต่อีกองค์ ๑ ให้มีกุมาร ๖ หมื่นองค์ การก็เป็นไปตามพระภฤคุได้ประสาทพรไว้ โอรสที่เกิดมาแต่นางเกศินีมเหสีขวานั้น มีมาเฉพาะองค์เดียว นามว่าอังศุมาน นางสุมดีมเหสีซ้ายมีโอรสหกหมื่น แล้วท้าวสัครราชจะกระทำพิธีอัศวเมธ แต่พระอินทร์ลงมาลักม้าตัวนั้นไปเสียก่อน ท้าวสัครราชจึ่งตรัสใช้ให้พระโอรสหกหมื่นองค์ไปเที่ยวตามหาม้า พระกุมารได้ขุดแผ่นดินลงไปองค์ละโยชน์จนถึงกลางพิภพ ก็หาได้พบม้านั้นไม่ ฝ่ายพวกเทวดามีความตกใจจึ่งไปทูลวิงวอนพระพรหมาให้ช่วย พระพรหมาตรัสว่า พระนารายน์จะทรงแปลงเป็นกะปิลลงไปแก้ไขเหตุร้อนของเทวดา พระนารายน์เป็นกะปิลลงไปยืนขวางทางพวกกุมารทั้งหกหมื่น ครั้นกุมารจะจับว่าเป็นผู้ร้ายลักม้า พระกะปิลก็บันดาลให้บังเกิดไฟไปผลาญกุมารเป็นเถ้าไป ไม่มีสิ่งไรจะทำให้กุมารเหล่านี้จะพ้นทุกข์ได้นอกจากที่กระแสแม่พระคงคาจะมาล้างให้หมดมลทิน ท้าวสัครราชก็ดี และต่อมาพระอังศุมานก็ดี จะพยายามปานใดก็ไม่สามารถจะให้พระคงคาไหลลงมาจากเทวโลกได้ พระทิลิปะราชโอรสพระอังศุมานก็ได้พยายามอีก แต่ก็ไม่สำเร็จอีก จนถึงคราวพระภาคิรัถโอรสพระทิลิปะจึ่งสำเร็จตามประสงค์ พระภาคิรัถไม่มีโอรส จึ่งบำเพ็ญการทรมานองค์ต่าง ๆ จนพระพรหมาทรงพระเมตตา ตรัสว่าจะขอพรอันใดจะประสาทให้ พระภาคีรัถจึ่งทูลขอให้พระคงคาลงมาล้างสาครกุมารทั้งหกหมื่นให้หมดมลทิน จะได้ขึ้นไปสวรรค์ได้ กับขอโอรสองค์ ๑ พระพรหมาก็ประสาทพระพรให้ และตรัสสำแดงอุบายให้ว่า ให้พระภาคิรัถไปทูลวิงวอนพระอิศวรให้ช่วยเหนี่ยวรั้งแม่พระคงคาไว้บ้าง เพราะถ้ามิฉะนั้นน้ำจะท่วมโลกมนุษย์หมด พระภาคิรัถก็ตั้งกระทำกิจบูชาพระอิศวรจนสมประสงค์ ฝ่ายพระคงคามีความพิโรธว่ามนุษย์บังอาจมาขอลงไป จึ่งกล่าวว่าจะไหลลงไปให้ท่วมโลก พระอิศวรเข้ารับกระแสพระคงคาและรวบไว้ด้วยพระเกษา จนแม่พระคงคาค่อยคลายพิโรธแล้ว กระแสคงคาจึ่งตกลงในสระวินทุ อันเป็นที่เกิดแห่งสัปตะมหานที น้ำคงคาสายหนึ่งได้หลั่งไหลตามพระภาคิรัถไป จนถึงมหาสมุทรและดำเนินลงไปในหลุมที่สาครกุมารทังหกหมื่นได้ขุดไว้นั้น พอน้ำพระคงคาตกต้องกองเถ้าล้างมลทิน สาครกุมารทั้งหกหมื่นก็พ้นทุกข์กลายเป็นเทพบุตรเหาะไปสู่เทวโลก และแม่พระคงคาก็ยังคงหลั่งไหลอยู่ในมนุษย์โลกภาค ๑ จนตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะเหตุฉะนี้ชาวมัชฌิมประเทศจึ่งนิยมกันว่า แม้ผู้ใดได้ลงแช่ในกระแสพระคงคาจะหมดมลทินสิ้นบาปได้

รูปพระคงคาเขียนสีกายสีน้ำไหล สี่กร กรขวาทั้ง ๒ ถือก้อนศิลา กรซ้ายถือใบไม้กร ๑ ถือหม้อน้ากร ๑ ทรงมัจฉาเป็นพาหนะ

หมายเหตุ - นอกจากแม่พระคงคา ยังมีลำน้ำอีกหลาย ซึ่งกล่าวถึงในเรื่องรามายณะ แต่กล่าวถึงเป็นลำน้ำแท้ ๆ มากกว่าเป็นตัวเป็นตน จึ่งมิได้นำมารวมไว้ในแผนกเทวดานี้)

๓๐. พระหิมาลัย ฤๅหิมพานและหิมวัตก็เรียก ไม่มีเรื่องราวปรากฏในรามายณะว่ากำเนิดมาอย่างไร มีแต่กล่าวว่าเป็นบิดาพระคงคากับพระอุมา และว่าเป็นราชาแห่งภูเขาทั้งหลายในมนุษยโลก มีมเหสีชื่อนางเมนา รูปพระหิมาลัยเป็นอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด ช่างไทยใช้เขียนสีกายเป็นสีบัวโรย.

  1. ๑. ในพระราชนิพนธ์ นารายน์สิบปาง ใช้ว่า มัตสยาวตาร

  2. ๒. ในพระราชนิพนธ์ นารายน์สิบปาง ใช้ว่า กลียุค

  3. ๓. หน้า ๕๙

  4. ๔. หน้า ๖๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ