อวตาร

คำว่าอวตารใช้เป็นศัพท์ ซึ่งแปลว่าการลงมาก็ได้ หรือใช้เรียกผู้วิเศษซึ่งสมมติว่าเป็นพระเป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาก็ได้ และพระเป็นเจ้าองค์ใด ๆ หรือเทวดาใด ๆ แบ่งภาคลงมาก็นับว่าเป็นอวตารทั้งนั้น แต่โดยมากคำว่าอวตารมักใช้สำหรับพระนารายน์ เพราะเรื่องพระนารายน์อวตารย่อมมีอยู่มากกว่าเรื่องพระเป็นเจ้าหรือเทวดาองค์อื่นๆ

เรื่องอวตารต่าง ๆ นั้น ตามความสันนิษฐานน่าจะเห็นว่า ในชั้นเดิมน่าจะเป็นเรื่องซึ่งผูกขั้นเพื่ออธิบายกิจการที่อัศจรรย์อันได้เป็นไปในโลกและซึ่งคนในโบราณสมัยอธิบายไม่ถูกว่าเป็นไปเพื่อเหตุใด จึ่งนึกขึ้นว่าน่าจะมีผู้ซึ่งเป็นใหญ่และมีอานุภาพยิ่งกว่ามนุษย์ ได้เป็นผู้บันดาลให้กิจการนั้น ๆ เป็นไป การอวตารก็เกิดขึ้นมีขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ครั้นต่อ ๆ มา กิจการใด ๆ ที่เป็นไปแล้ว แลเห็นเป็นอัศจรรย์ก็เลยเรียกว่า พระเป็นเจ้าอวตารบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น จนในที่สุดบุคคลใด ๆ ที่เป็นอัจฉริยบุคคล คือมือภินิหารผิดกว่าชนสามัญ ก็เลยพากันนิยมยกย่องกล่าวกันว่าพระเป็นเจ้าอวตารลงมากำเนิดเป็นอัจฉริยบุคคลนั้น ๆ อวตารแห่งพระนารายน์จึ่งบังเกิดมีเป็นหลายปางขึ้น ฯ

ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อวตารแห่งพระนารายน์มีเป็นอันมาก ไม่เฉพาะแต่สิบปาง เรื่องนิทานต่าง ๆ ซึ่งพวกพุทธศาสนิกชนเก็บเอามายกให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์และเรียกว่า “ชาดก” นั้น ข้างฝ่ายพราหมณ์เขาก็ยกให้เป็นเรื่องอวตารของพระนารายน์ทั้งนั้น แต่แท้จริงเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องซึ่งมีอยู่แล้วในพื้นเมืองแต่ก่อนพุทธกาล และก่อนสมัยซึ่งยกย่องพระนารายน์ขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ฯ เช่นเรื่องซึ่งเกี่ยวแก่การเลิกบูชายัญด้วยมนุษย์ อย่างเช่นทุมเมธชาดกในเอกนิบาต เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระพรหมทัตกุมารในนครพาราณสี ทรงมีพระหฤทัยปรารถนาที่จะให้ชนเลิกประเพณีบูชายัญด้วยสัตว์ จึงเสด็จไปยังต้นไม้สำคัญอัน ๑ และทรงปฏิญญาไว้แด่รุกขเทวดาว่า เมื่อได้ทรงราชย์เมื่อใด จะบูชายัญด้วยคนผู้ประพฤติบาปอกุศลต่าง ๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ครั้นเมื่อได้ทรงราชย์จริงแล้วก็ประกาศข้อที่ทรงปฏิญญาไว้นั้นให้ปรากฏ และกำหนดไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ทรงราชย์นั้นไป ถ้าผู้ใดกระทำบาปมีฆ่าสัตว์เป็นอาทิ จะให้เอาตัวฆ่าบูชายัญ แต่วันนั้นไปก็มิได้มีใครฆ่าสัตว์บูชายัญอีกเลย ดังนี้ ถ้าหากจะแลดูแต่เผิน ๆ ก็น่าจะคิดว่าเป็นเรื่องของพุทธศาสน์แท้ เพราะเป็นเรื่องแสดงความไม่เห็นด้วยในการบูชายัญด้วยมนุษย์ หรือด้วยสัตว์ที่ทำประโยชน์แก่มนุษย์นั้น มีมาแต่ในโบราณสมัยก่อนพุทธกาลแล้ว มีพยานอยู่คือในพระเวทมีข้อความ อยู่หลายแห่ง ซึ่งติเตียนชนซึ่งอริยกะเรียกว่าทัสยุ คือเป็นคนดำซึ่งอยู่ในพื้นเมืองมัธยมประเทศ แต่เมื่อก่อนพวกอริยกะได้อพยพเข้ามา ติเตียนกันว่าพวกทัสยุเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือลัทธิผิดและประพฤติกิจลามกต่าง ๆ มีฆ่ามนุษย์และโคบูชายัญเป็นต้น ฯ เรื่องนี้ยกมากล่าวพอเป็นพยานให้เห็นว่า เรื่องชาดกก็ดี อวตารต่าง ๆ ก็ดี ย่อมเป็นนิทานที่มีอยู่ในพื้นเมืองแล้วแต่โบราณกาล แต่หากคณาจารย์ชั้นหลังเก็บเอามาใช้เพื่อประโยชน์ในการสั่งสอนลัทธิของตน และยกเอาคนสำคัญในเรื่องนั้น ๆ เป็นโพธิสัตว์หรืออวตาร เพื่อปลูกความเลื่อมใสให้ยิ่งขึ้นเท่านั้น ฯ

ตามความนิยมข้างฝ่ายพุทธศาสน์ ว่าพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติหลายร้อยพระชาติ แต่คงยกขึ้นเป็นสำคัญแต่สิบพระชาติ ดังนี้ฉันใด ข้างฝ่ายพราหมณ์ก็กล่าวว่า พระนารายน์ได้อวตารมาหลายร้อยปางแล้ว แต่คงยกขึ้นเป็นสำคัญแต่สิบปาง ฉันนั้น ฯ

เรื่องนารายน์สิบปางตามที่ไทยเราเล่า ๆ กันมา และซึ่งได้เคยพิมพ์แล้วที่โรงพิมพ์หลวงแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นเรื่องที่เก็บเล็กผสมน้อยไม่สู้จะได้ข้อความที่ดี ๆ ของเขามาไว้ ทั้งสังเกตดูตามเนื้อเรื่องและสำนวนโวหารก็ดูอยู่ข้างจะต่ำ ในส่วนเนื้อเรื่องที่ไม่สู้จะละเอียดและมักมีแต่ข้อความที่ไม่มีแก่นสารนั้น จะเป็นด้วยได้ฉบับไม่ดีมา หรือเป็นแต่ฟังพราหมณ์ด้วยปากแล้วจดไว้หรือประการใดก็ไม่แน่ แต่ดูอยู่ข้างจะเสื่อมเสียเกียรติยศแห่งหนังสือไทยที่ปล่อยให้เป็นอยู่เช่นนั้น ข้าพเจ้าได้พยายามรวบรวมขึ้นเสียใหม่ เก็บข้อความตามหนังสือที่พอหยิบค้นได้ในเวลานี้ ฯ

อนึ่งสิบปางตามที่ชาวมัธยมประเทศเขานิยมกันว่าเป็นปางสำคัญนั้นไม่ตรงกันกับที่มีอยู่ในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเรา ซึ่งได้พิมพ์ไว้แล้วแต่ก่อนนี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอนำมาวางลงเทียบกันไว้ ดังต่อไปนี้:-

ฝ่ายมัธยมประเทศ

๑. มัตสยาวตาร (เป็นปลา)

๒. กูรมาวตาร (เป็นเต่า)

๓. วราหาวตาร (เป็นหมู)

๔. นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์)

๕. วามนาวตาร (เป็นคนเตี้ย)

๖. ปรศุรามาวตาร (เป็นปรศุราม)

๗. รามจันทราวตาร (เป็นพระราม)

๘. กฤษณาวตาร (เป็นพระกฤษณ)

๙. พุทธาวตาร (เป็นพระพุทธเจ้า)

๑๐. กัลก๎ยาวตาร (เป็นมหาบุรุษขี่ม้าขาว)

ตามหนังสือไทย

๑. วราหาวตาร (เป็นหมู)

๒. กัจฉปาวตาร (เป็นเต่า)

๓. มัจฉาวตาร (เป็นปลา)

๔. มหิงษาวตาร (เป็นควาย)

๕. สมณาวตาร (เป็นสมณะ)

๖. นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์)

๗. ทวิชาวตาร (เป็นพราหมณ์น้อย)

๘. กฤษณาวตาร (เป็นท้าวบรมจักรกฤษณ์)

๙. อัจฉราวตาร (เป็นนางปราบนนทุก)

๑๐. รามาวตาร (เป็นพระราม)

เมื่อเทียบกันดูแล้วเช่นนี้ จะแลเห็นได้ว่า ข้างฝ่ายเราคงมีตรงกับของเขาอยู่ ๗ ปาง คือ วราหะ ๑ กัจฉปะ (ตรงกับกูรมะ) ๑ มังฉะ ๑ นรสิงห ๑ ทวิช (ตรงกับวามน) ๑ กฤษณ ๑ ราม ๑ ฯ แต่ถึงที่ตรงกันเช่นนั้นแล้ว ก็วางลำดับผิดกัน และการที่ลำดับผิดกันเช่นนี้ จะอ้างอวดว่าถึงลำดับอย่างของเราก็ถูกเหมือนกันนั้นไม่ถนัด เพราะถ้ากล่าวเช่นนั้นก็จะเป็นอันสำแดงออกมาว่าไม่รู้จริง ดังจะยกอุทาหรณ์แต่เพียง ๒ ปางก็พอแล้ว คือปางวราหาวตารนั้น จะมาก่อนปางมัตสยาวตารไม่ได้ เพราะในปางมัตสยาวตารกล่าวถึงการสิ้นกัลปก่อนนี้และเริ่มกัลปใหม่ ซึ่งยังคงอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อเริ่มกัลปใหม่ก็เหมือนเริ่มสร้างโลกใหม่อีกครั้ง ๑ เพราะฉะนั้นเมื่อโลกยังมิได้สร้างใหม่ หิรัณย์ก็มาม้วนแผ่นดินไปไม่ได้อยู่เอง ฯ แต่ถ้าแม้อ่านแต่ฉบับไทยที่ได้พิมพ์แล้ว ก็จะไม่รู้สึกได้เลยว่าลำดับผิด เพราะในปางมัจฉาวตารมิได้กล่าวถึงน้ำท่วมโลกเลย มีกล่าวแต่เรื่องพระมัจฉาวตารไปปราบอสูรเอาพระเวทกลับคืน ซึ่งเป็นส่วนอันน้อยส่วน ๑ แห่งเรื่องพระมัตสยาวตารเท่านั้น และเรื่องนี้เป็นตัวอย่างอัน ๑ ซึ่งเห็นได้ว่า ผู้รวบรวมเรื่องนารายน์สิบปางของเราชอบเก็บแต่ข้อความเบ็ดเตล็ดเป็นพื้น ข้อความสำคัญกลับทิ้งเสีย ถึงในปางอื่น ๆ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไป เมื่อกล่าวถึงปางนั้น ๆ โดยเฉพาะ ฯ

การชอบเรื่องเบ็ดเตล็ดเช่นนี้แล ทำให้ไปเก็บเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดมายกขึ้นเป็นปางใหญ่ขึ้นได้ถึง ๓ ปาง คือมหิงษะ ๑ สมณะ ๑ อัจฉระ ๑ ฯ ส่วนปางสมณะนั้น แท้จริงมีเรื่องพระนารายน์อยู่น้อยนิดเดียว และที่มีอยู่ก็ดูไม่สู้เป็นพระเกียรติยศแก่พระนารายน์นัก และที่ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะอยากยอมนับเป็นอวตารด้วยซ้ำ ดูเป็นการจำแลงมากกว่า ฯ เรื่องราวแห่งปางสมณะนั้น มีใจความว่า ท้าวอสูรตรีบุรัมได้บำเพ็ญตะบะอยู่ช้านาน พระอิศวรโปรดปรานจึงทรงอนุญาตให้ขอพรตามปรารถนา ท้าวตรีบุรัมก็ขอพรว่า ถ้าตราบใดมีพระศีวลึงค์ทูนหัวอยู่ อย่าให้เทวดา อสูร สัตว์หรือมนุษย์ใด ๆ ฆ่าตายได้ ต่อไปท้าวตรีบุรัมกำเริบ พระอิศวรเสด็จกรีธาทัพไปปราบ จึ่งเอาเขาพระสุเมรุเป็นคันศร เอาพญาวาสุกีเป็นสายธนู เอาพระนารายน์เป็นลูกศร ครั้นแผลงไปศรก็ไปตกดินเสีย เพราะพระนารายน์บรรทมหลับเสียกลางทาง พระนารายน์จึ่งรับอาสาจำแลงเป็นสมณะไปพูดจาหลอกลวงท้าวตรีบุรัม เอาพระศีวลึงค์จากท้าวตรีบุรัมได้ แล้วพระอิศวรก็ทรงสังหารอสูรนั้นได้ ฯ เรื่องเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่าไม่ควรเรียกว่าอวตาร เพราะตามความเข้าใจว่า อวตารแปลว่าลงมาเกิด เสวยพระชาติเป็นอะไรบ้าง ๑ เป็นพิเศษ และลงมาต่อเมื่อมีทวยเทพสิทธาไปอัญเชิญเป็นพิเศษ กับข้าพเจ้ายังมีความสงสัยต่อไปว่า เรื่องสมณาวตารนี้น่าจะได้ชักเอาเข้ามาพอให้ครบ ๑๐ ปาง และคงจะเอาเข้ามาแทนพุทธาวตารกระมัง แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ยืนยัน ฯ ส่วนเรื่องมหิงษาวตารกับอัจฉราวตารนั้น ข้าพเจ้าออกจะเชื่อแน่ใจว่า ว่าชักเอาเข้ามาให้เต็มจำนวน ๑๐ ปางเป็นแน่ คือปรศุรามนั้น คงจะเหลือที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นพระนารายน์อวตาร เพราะปรศุราม (รามสูร) นั้น เราว่าเป็นยักษ์เสียแล้ว กับกัลกีนั้น เป็นปางซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้างเราแลไม่เห็นว่าจะนับเป็นปางอย่างไรได้ ก็เป็นอันสูญไป ๒ ปาง ต้องไปกระชากเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดมาเดิมเข้าอีก ๒ เรื่องตามแต่จะหาได้และเท่าที่มีความรู้เท่านั้นฯ

ในหนังสือภาควัตปุราณะ ซึ่งเป็นหนังสือสำแดงพระเกียรติคุณพระนารายน์เป็นอาทินั้น มีจำนวนอวตารเป็น ๒๒ ปาง คือ (๑) บุรุษ เป็นมหาบิดรผู้สร้างมนุษย์และสัตว์ทั่วไป (๒) วราห (๓) พระนาราทมหามุนี (๔) นรและนารายน์ (๕) พระกปิลมหามุนี (๖) พระทัตตาเตรยะมุนี (๗) ยัชญ คือ การบูชา (๘) ฤษภ เป็นธรรมราชผู้ ๑ (๙) ปฤถุ เป็นราชาองค์ ๑ (๑๐) มัตสยะ (๑๑) กูรมะ (๑๒) และ (๑๓) ธันวันตรีเทวแพทย์ผู้ถือน้ำอมฤตขึ้นมาจากเกษียรสมุทร (๑๔) นรสิงห์ (๑๕) วามน (๑๖) ปรศุราม (๑๗) เวทะว๎ยาสะ มุนีผู้รจนาพระเวท (๑๘) พระราม (๑๙) พระพลเทพ (๒๐) พระกฤษณ (๒๑) พระพุทธเจ้า (๒๒) พระกัลกี ฯ ยี่สิบสองปางนี้ว่าเป็นปางใหญ่ ต่อนั้นไปจึ่งมีความกล่าวไว้ว่า “แต่อวตารแห่งพระวิษณุไซร้เหลือที่จะคณนา เปรียบประดุจลำธารน้อย ๆ อันไหลจากทะเลใหญ่ อันฤษี มนู เทวดา มนุษย์ และประชาบดี ย่อมเปนส่วน ๑ ๆ แห่งพระองค์ทั้งสิ้น

การที่จะเที่ยวเก็บค้นเอาเรื่องอวตารแห่งพระนารายน์มาสำแดงให้หมดนั้น ก็ดูไม่สู้จะเป็นการจำเป็นปานใดนัก ในที่นี้จึ่งจะกล่าวแต่เฉพาะถึงสิบปางซึ่งชาวมัธยมประเทศถือกันว่าเป็นปางสำคัญ พอให้ประดับความรู้แห่งชาวเราบ้างพอสมควร และจะได้กล่าวถึงทีละปาง ตามลำดับที่ชาวมัธยมประเทศเขานิยมใช้อยู่นั้นสืบไป ฯ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ