พระนารายน์

พระเป็นเจ้าซึ่งมักจะออกนามว่านารายน์นั้น คือผู้ที่มีนามโดยเฉพาะว่า วิษณุ หรือ พิษณุ พวกพราหมณ์นับถือเป็นองค์ ๑ ในพระเป็นเจ้าทั้งสามของเขา และพราหมณ์บางเหล่า ก็ยกย่องว่าเป็นใหญ่กว่าพระเป็นเจ้าทั้งปวง พราหมณ์ผู้นับถือพระนารายน์ว่าเป็นใหญ่ยิ่งเช่นนี้ ได้นามว่า ไพษณพ (ไวษ์ณว)

ในชั้นต้น เมื่อพระไตรเพทยังเป็นคัมภีร์หลักแห่งลัทธิไสยศาสตร์นั้น พระวิษณุมิได้เป็นเทวดาอันมีฤทธานุภาพมากมายปานใดนัก เช่นในพระฤคเวทกล่าวถึงพระวิษณุว่าเป็นองค์แห่งกำลังตะวัน และว่าดำเนินผ่านสัปตภูมิ (ภูมิทั้ง ๗) โดยย่างสามย่าง และว่าหุ้มห่อสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยรัศมีของพระองค์ ย่างทั้งสามซึ่งกล่าวในที่นี้ อรรถกถาจารย์อธิบายว่ามุ่งเอาองค์แห่งแสงสว่าง ๓ ประการ กล่าวคือไฟ ๑ แสงฟ้าแลบ ๑ ดวงตะวัน ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ๑ ก็ว่ามุ่งเอาอาการแห่งตะวัน กล่าวคือเวลาขึ้น ๑ เวลาเที่ยง ๑ เวลาตกหนึ่ง ๑ กับในพระเวทและในหนังสืออื่นๆ ซึ่งแต่งในยุคเดียวกันนั้น มีกล่าวถึงพระวิษณุว่าเป็นมิตรกับพระอินทร ซึ่งในยุคไตรเพทนี้เป็นเทวราชผู้มีฤทธานุภาพเป็นชั้นที่ ๑ พระวิษณุเป็นแต่เทวดาชั้นรองลงมาเท่านั้น แต่ถึงแม้ในสมัยนั้นก็ได้นามอยู่แล้วว่า “พระผู้สงวนอันไม่มีผู้ชำนะได้”

ครั้นต่อ ๆ ลงมา มีคณาจารย์สอนลัทธิไสยศาสตร์ต่างคนต่างคิดแผลงกันออกไป เรื่องราวแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลายวิจิตรพิสดารขึ้นทุกที จึงมีข้อความผิดแผกแปลกไปจากข้อความที่มีอยู่ในตำหรับพระเวทเดิม ทั้งเกิดแบ่งแยกเป็นสาขาเป็นนิกายต่างๆกันไป ต่างนิกายก็ต่างยกย่องนับถือพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ว่าเป็นใหญ่ยิ่งยวด และบรรดาสิ่งใดๆ ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ก็เก็บเอามายกให้แก่พระเป็นเจ้าผู้ที่ตนนับถือนั้นทั้งสิ้น เช่นการสร้างโลก ตามความนิยมกันในชั้นต้นก็ว่าเป็นหน้าที่พระพรหมา แต่พวกที่นับถือพระวิษณุเก็บเอามายกให้พระวิษณุ โดยอธิบายไปต่าง ๆ เช่นว่าพระวิษณุแบ่งภาคเป็นพระพรหมาและสร้างโลกขึ้นในน้ำ หรืออีกนัย ๑ ว่า พระพรหมานั้นกำเนิดในดอกบัว ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีแห่งพระวิษณุ เพราะฉะนั้นจึ่งควรนับว่าพระวิษณุนั้นแลเป็นผู้สร้างโลก เพราะพระองค์ได้สร้างพระพรหมาขึ้นก่อน พระพรหมาจึ่งได้สร้างโลกขึ้น ในหนังสือปัทมปุราณะยังอธิบายยิ่งไปกว่านั้น คือแสดงว่าพระวิษณุคือพระปรพรหมผู้เป็นปฐมบรมมูลแห่งโลกตามคำในคัมภีร์นั้นมีอยู่ว่า “ในเมื่อจำเดิมเริ่มรังสรรค์โลก พระมหาวิษณุมีพระหฤทัยปรารถนาจะใคร่ทรงสร้างโลกทั้งหมด จึ่งบันดาลพระองค์ให้เป็นสามภาค กล่าวคือเป็นผู้สร้าง ๑ ผู้สงวน ๑ ผู้ล้าง ๑ พระมหาบุรุษได้ทรงสร้างพระพรหมาขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องขวา เพื่อสร้างโลกนี้ ทรงสร้างพระวิษณุขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องซ้ายเพื่อสงวนโลกนี้ แล้วจึ่งสร้างพระศีวะมหากาลขึ้นจากกลางพระองค์เพื่อล้างโลกนี้ คนเราไซร้บางคนก็บูชาพระพรหมา บางคนก็บูชาพระวิษณุ บางคนก็บูชาพระศีวะ แต่พระวิษณุเป็นเจ้า พระองค์ผู้เป็น ๑ แบ่งภาค ๓ นั้นไซร้ ทรงสร้าง สงวน และล้างโลก เหตุฉะนี้ผู้มีศรัทธาแท้จริงจงอย่าได้บูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้นให้แปลกกันไปเลย”

ในหนังสือวิษณุปุราณะ (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปอีกมากในหนังสือนี้) เป็นตำหรับสำหรับแสดงเรื่องพระวิษณุเป็นเจ้าเป็นอาทิ มีข้อสรุปความไว้แห่ง ๑ ว่า “โลกนี้ไซร้ ได้บังเกิดมาแต่พระวิษณุ โลกนี้มีอยู่ในพระองค์ พระองค์เป็นผู้บันดาลให้โลกนี้คงอยู่และสูญไป พระองค์ไซร้คือโลกนี้แล้ว” ดังนี้ ก็ตรงกับคำในโองการแช่งน้ำ ซึ่งมีอยู่ว่า “แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน” นั้นแล

ในหนังสือวิษณุปราณะนั้น ต่อจากวรรคที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ มีข้อความเป็นคำสรรเสริญไว้ว่า “ข้าขอไหว้พระองค์ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ผู้ควรเคารพ ผู้ไม่มีดับ พระวิษณุผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ผู้มีลักษณะอัน ๑ อันเดียวทั่วไป ผู้มีฤทธิอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั่วไป ข้าขอไหว้พระองค์ผู้เป็นหิรัณยะครรภ เป็นหะริ และเป็นสังกร คือผู้สร้าง ผู้สงวน และผู้ล้างโลก” ขอจงสังเกตว่า “หิรัณยะครรภ” นั้น เป็นนามใช้เรียกพระพรหมาผู้สร้างซึ่งมีกำเนิดจากไข่ “หริ” เป็นนามแห่งพระนารายน์ แปลว่า “สงวน” ตรงตามหน้าที่ “สังกร” นั้นเป็นนามแห่งพระศีวะ

พระวิษณุนั้นโดยมากมักเรียกกันว่า นารายน์ ซึ่งบางอาจารย์ก็แปลว่ามาจาก “นร”-น้ำ “อายน”-กระดิก สนธิเป็น “นารายน” แปลว่าผู้กระดิกในน้ำ อธิบายว่าที่เรียกเช่นนี้เพราะในเวลาที่สร้างนั้น สร้างในน้ำและบรรทมในน้ำ เมื่อขณะที่สร้าง แต่เดิมนามว่านารายน์นี้ก็เป็นของพระพรหมา แต่ครั้นเมื่อมีความนับถือพระวิษณุกันมากขึ้น จึ่งยกนามนารายน์นี้มาให้พระวิษณุ ๆ ก็เลยครอบครองเป็นเจ้าของต่อมาทีเดียว ผู้ที่นับถือพระนารายน์นั้น มักเรียกพระศีวะว่าพระมหาเทพ และศัพท์ “อิศวร” (พระผู้เป็นใหญ่) นั้น ก็ใช้เรียกพระนารายน์ แต่ตามความนิยมแห่งคนโดยมาก นามอิศวรเป็นของพระศีวะเป็นเจ้า เรียกพระศีวะเป็นเจ้าว่าอิศวรทั่วกันแล้ว จึ่งเป็นอันจะตู่ไปใช้เป็นนามพระนารายน์ไม่ได้ถนัดนัก

ในคัมภีร์จำพวกปุราณะต่างๆ ซึ่งพวกพราหมณ์ไพษณนิกายแต่ง มีเรื่องราวอยู่หลายแห่งสำหรับแสดงความเป็นใหญ่ของพระนารายน์ เช่นมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ในหนังสือจำพวกภาควัตปุราณะ มีเรื่องว่า;- ในกาลครั้ง ๑ พระฤษีเจ้าทั้งปวงกำลังกระทำพิธีพลีกรรมอยู่ที่ริมฝั่งน้ำสะรัสวดี ได้เกิดมีข้อเถียงกันขึ้นในระหว่างพระฤษีเจ้าว่า อันพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้น องค์ใดจะประเสริฐยิ่งกว่าองค์อื่น จึ่งพร้อมกันแต่งให้พระภฤคุมุนีพรหมบุตรเป็นผู้สอบสวนในข้อนี้ พระภฤคุมุนีตรงไปยังพรหมโลกก่อนและเดินตรงเข้าไปในวิมานพระพรหมาโดยมิได้แสดงกิริยาเคารพตามประเพณีเลย พระพรหมาทอดพระเนตรเห็นพระมุนีประพฤติกิริยาหยาบเช่นนั้นก็ทรงพระโกรธแต่ทรงรำลึกขึ้นได้ว่าผู้ผิดนั้นเป็นโอรสแห่งพระองค์เอง จนสู้ดับโทษะสงบลงได้ พระภฤคุได้แลเห็นดังนั้นแล้วจึ่งไปยังเขาไกรลาศ ครั้นเมื่อพระมเหศวรรีบเสด็จลุกมากอดอย่างฉันพี่น้อง พระภฤคุก็หันหน้าหนีเสีย พระอิศวรมีความขัดพระทัยในความประพฤติแห่งพระมุนี จึ่งฉวยพระแสงตรีศูลเงื้อง่าจะฆ่าพระมุนี แต่นางบรรพตี (พระอุมา) เข้าไปกราบแทบพระบาทและทูลทัดทานพระสามีไว้ พระภฤคุก็ไปยังไวกูนฐ์ (ที่สถิตพระนารายน์) เห็นพระนารายน์บรรทมหลับอยู่ที่ตักพระลักษมี พระมุนีก็ยกเท้าขึ้นถีบกลางพระทรวง พระเป็นเจ้าเสด็จลุกขึ้น นมัสการพระภฤคุแล้วตรัสว่า “ข้ายินดีขอต้อนรับท่านมหาพราหมณ์ ขอเชิญท่านจงนั่งลงพักผ่อนกาย และขอจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ผู้ได้กระทำผิดไปแล้วโดยความโฉดเขลา (คือในการที่มิได้ลุกขึ้นต้อนรับแขกโดยเร็ว) และขออภัยซึ่งทำให้เท้าอันอ่อนของท่านต้องเจ็บเพราะข้าพเจ้า” ตรัสเช่นนั้นแล้ว ก็เอาพระหัตถ์นวดฟั้นเท้าพระภฤคุ และตรัสต่อไปว่า “วันนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้มีบุญยิ่งนัก เพราะพระคุณเจ้าได้เอาธุลีละอองพระบาทแห่งพระองค์อันเป็นเครื่องล้างบาปได้นั้น แตะแล้วบนหน้าอกแห่งข้า” เมื่อพระวิษณุเป็นเจ้าได้ตรัสฉะนี้แล้ว พระภฤคุมุนีมีความปีติเต็มตื้นไปจนพูดไม่ออกจึ่งมิได้ทูลตอบประการใด ทูลลากลับจากที่เฝ้า และตาก็เต็มไปด้วยน้ำตาอันบังเกิดมาเพื่อความศรัทธาหาที่สุดมิได้ ฝ่ายพระฤษีเจ้าทั้งหลายบรรดาที่สโมสรประชุมอยู่ริมฝั่งสะรัสวดีนั้น ครั้นได้ฟังคำพระภฤคุแถลงเหตุการณ์ต่างก็มีความแน่นอนใจ ว่าพระวิษณุเป็นใหญ่ยิ่งในพระเป็นเจ้าทั้งสาม เพราะพระองค์นั้นปราศจากโทษะและความโกรธ

ในหนังสือปัทมปุราณะมีข้อความเล่าไว้ถึงเรื่องพระอิศวรยอมยกย่องพระนารายน์ว่าเป็นใหญ่กว่าพระองค์ คือมีเป็นถ้อยคำดำรัสแก่พระอุมามหาเทวีว่า “ตูข้าจะแสดงให้เจ้าเข้าใจมูลและรูปแห่งพระวิษณุ เจ้าจงรู้เถิดว่าแท้จริงพระองค์คือนารายน์ คือมหาบุรุษ และปรพรหมไม่มีที่เริ่มและไม่มีที่สุด ทรงรอบรู้ทั่วไป อยู่ในที่ทั้งปวง ยั่งยืนมีไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นบรมสุข พระองค์คือศีวะ คือหิรัณยะครรภ และสูรยะ พระองค์ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลาย แม้ตูข้าเองก็ไม่เทียมเท่า แต่ที่แท้นั้นเป็นการพ้นวิสัยที่ตูข้า หรือพระพรหมา หรือเทวดาอื่น ๆ จะแสดงพระคุณแห่งพระวาสุเทพ ผู้ประเดิมโลกและเป็นอธิบดีแห่งสากลโลกนี้”

ในหนังสือวราหะปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับแสดงคุณพระนารายน์ในหน้าที่ผู้สงวนโลกนั้น มีข้อความกล่าวไว้ว่า:-พระนารายน์มหาเทพ เมื่อได้ทรงรำพึงถึงการสร้างโลกนี้ ได้ทรงรำพึงด้วยว่า เมื่อได้สร้างโลกขึ้นแล้วจำจะต้องสงวนไว้ต่อไปด้วย “แต่โดยเหตุที่ผู้ไม่มีตัวจะกระทำกิจการอันใดมิได้ไซร้ จำเราจะต้องสร้างสิ่งมีตัวขึ้นจากเชื้อแห่งเราเอง และใช้ให้เป็นผู้สงวนโลกสืบไป” เมื่อทรงดำริฉะนั้นแล้ว พระนารายน์สวยัมภูจึ่งได้ทรงสร้างเทวดาขึ้นองค์ ๑ จากเชื้อแห่งพระองค์ และประทานพรว่า “ดูกรวิษณุ เจ้าจงเป็นผู้รังสรรค์สิ่งทั้งปวง เจ้าจงเป็นผู้สงวนภพทั้งสาม และเปนที่รักใคร่แห่งชนทั่วไป เจ้าจงเป็นผู้รอบรู้ในสิ่งสรรพ และทรงอานุภาพใหญ่ยิ่ง และเจ้าจงเป็นผู้ประพฤติตามความปรารถนาแห่งพรหมาและทวยเทพทุกเมื่อ เทอญ” แล้วพระมหาบุรุษก็กลับกลายเป็นพืชไปอย่างเดิม (คือไม่มีตัว มีแต่คุณธรรม) ฝ่ายพระวิษณุเมื่อทรงคำนึงถึงสาเหตุที่พระองค์ได้มีกำเนิดมานั้น ก็บรรทมหลับไป และในขณะที่บรรทมหลับอยู่นั้น ทรงสุบินนิมิตเห็นการสร้างของต่าง ๆ จึ่งบันดาลให้มีดอกบัวหลวงผุดขึ้นมาจากพระนาภี ในกลางดอกบัวนั้น พระพรหมาได้บังเกิดขึ้น และพระวิษณุเป็นเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งได้บังเกิดมาจากพระองค์ฉะนั้น ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก

ข้อความที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ ก็เป็นแต่หัวข้อพอเป็นสังเขป เพื่อให้สังเกตเห็นได้ว่า พวกพราหมณ์ยกย่องนับถือพระนารายน์กันอย่างสูงปานใด ถ้าจะเก็บข้อความอธิบายให้ละเอียดก็จะกินที่มากนัก เพราะข้อความมีอยู่เป็นอย่างวิจิตรพิสดารมาก ยกตัวอย่างเช่นในวิษณุปุราณะแห่งเดียวเท่านั้นก็จะต้องการสมุดเล่มหนาพอใช้กว่าจะเก็บความได้หมด แต่ในที่นี้ข้าพเจ้ามิได้มุ่งหมายที่จะแต่งสำหรับไสยศาสตร์ ความปรารถนามีอยู่อย่าง ๑ ต่างหาก คือจะอธิบายเรื่องพระนารายน์พอเป็นเค้า ๆ เพื่อให้ผู้อ่านทราบลักษณะแห่งพระนารายน์ไว้บ้าง ก่อนที่จะอ่านเรื่องนารายน์สิบปาง ซึ่งจะมีต่อไปนี้ เพราะฉะนั้นข้อความที่กล่าวถึงพระนารายน์ในส่วนที่เป็นองค์ ๑ ในพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้น เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ดูก็จะเพียงพออยู่แล้ว จะได้เหลือที่ไว้กล่าวถึงนารายน์สิบปางให้ละเอียดต่อไป

บัดนี้จะได้กล่าวถึงข้อความสำคัญอันเนื่องด้วยพระนารายน์ โดยย่อพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

ที่สถิตของพระนารายน์เรียกว่า “ไวกูนฐ์” ในคัมภีร์มหาภารตะว่าเป็นทองทั้งแผ่น กว้างแปดหมื่นโยชน์ วิมานล้วนแล้วไปด้วยรัตนะเสาและฉ้อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย น้ำพระคงคาตกลงมาจากสวรรค์ลงตรงธรุวะ (ยอดโลก หรือดาวเหนือ) แล้วไหลลงทางผมแห่งสัปตฤษี (คือฤษี ๗ ตน ซึ่งนิยมกันว่าบัดนี้แลเห็นเป็นดาว ๗ ซึ่งไทยเรียกว่าดาวจระเข้) แล้วและตกจากนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ ณ ที่นี้มีสระโบษขรณีทั้ง ๕ อันเต็มไปด้วยบัว ๕ อย่าง มีดอกจงกลนีสีขาวสะอาด เป็นที่ประทับแห่งพระวิษณุเป็นเจ้า และข้างขวาแห่งพระองค์นั้นคือพระลักษมี อันมีราศีสว่างกระจ่างเหมือนแสงฟ้า และมีกลิ่นบัวหลวงหอมฟุ้งมาจากพระกายแห่งนางนั้น กลิ่นไกลไปได้ถึงระยะแปดร้อยโยชน์

ในรูปสมัยใหม่นี้ ในมัธยมประเทศมักเขียนพระนารายน์เป็นชายหนุ่ม สีดำหรือม่วงแก่ และมีสี่กร แต่ส่วนสีกายพระนารายน์นั้น ตามมหาภารตะว่าไม่เป็นสีดำอยู่เสมอ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุค คือในยุคที่ ๑ ซึ่งเรียกว่ากฤตายุคหรือสัตยะยุคนั้น ชนย่อมปฏิบัติดีงามอยู่เป็นพื้นตั้งอยู่ในศีลในธรรมสม่ำเสมอ กายพระนารายน์จึ่งเป็นสีขาวเพราะความบริสุทธิ์ย่อมจับพระฉวีพระเป็นเจ้า กฤตายุคนี้ย่อมคงอยู่ได้ ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ (๑ ปีมนุษย์เป็น ๑ วันสวรรค์ คำนวณตามจันทรคติ นับ ๓๖๐วันเป็น ๑ ปี ก็เป็นอันได้ความว่า อายุแห่งกฤตายุคคงเป็น ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษย์) ครั้นสิ้นยุคนี้แล้ว ถึงยุคที่ ๒ ซึ่งเรียกว่าเตรตายุค ความดีในโลกลดลงไปส่วน ๑ ใน ๔ สีกายพระนารายน์ก็เปลี่ยนเป็นแดง ครั้นครบกำหนด ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์ (๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษย์) ขึ้นยุคที่ ๓ ซึ่งเรียกทวาบรยุค ความดีในโลกลดลงไป ๒ ส่วนใน ๔ สีกายพระนารายน์ก็เปลี่ยนไปเป็นเหลือง ครั้นครบกำหนด ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ (๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษย์) ขึ้นยุคที่ ๔ ซึ่งเรียกว่ากะลียุค ยังคงเหลือความดีอยู่ในโลกเพียงส่วน ๑ ใน ๔ เท่านั้น สีกายพระนารายน์ก็กลายเป็นดำ สมกับความมืดมัวแห่งโลก กะลียุคนี้มีกำหนด ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ (๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษย์) ครั้นเมื่อสิ้นกะลียุคนี้แล้ว พระเป็นเจ้าจึ่งจะล้างโลกและสถาปนาขึ้นใหม่ กลับเริ่มเป็นกฤตายุคใหม่อีกต่อไป ในกาลบัดนี้เราอยู่ในกะลียุค ซึ่งตามความนิยมข้างไสยศาสตร์ว่าได้เริ่มต้นตั้งแต่ ๒๕๕๙ ปีก่อนพุทธศักราช เพราะฉะนั้นปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ นี้ ก็ตรงกับปีที่ ๕๐๑๖ แห่งกะลียุค เหตุฉะนี้ถ้าจะเขียนรูปพระนารายน์ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ นี้ (และต่อไปอีก ๔๒๖,๙๘๔ ปี) เขียนสีกายดำหรือสีดอกอัญชันเป็นถูก

ส่วนการแต่งพระองค์นั้น ตามรูปมักแต่งเป็นกษัตริย์ กรทั้ง ๔ นั้นมีของถือต่าง ๆ กัน ตามความในโองการแช่งน้ำว่า “สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี” ดังนี้ คือกล่าวถึงของที่มักถือโดยปรกติ สังข์นั้นชื่อปาญจะชันยะ ซึ่งเรียกตามนามแห่งอสูรตน ๑ ชื่อปัญจะชน อสูรตนนี้ได้ลักเอาตัวบุตรแห่งพราหมณ์สานทีปนี้ผู้เป็นอาจารย์แห่งพระกฤษณไป พระกฤษณตามลงไปพบในมหาสมุทร ปัญจะชนได้เข้าอยู่ในเปลือกหอยสังข์ พระกฤษณฆ่าอสูรแล้วก็เอาเปลือกหอยสังข์นั้นมาใช้เป่าสืบไป จักรที่ถือนั้นชื่อสุทรรศนะ หรือวัชรนาภะ คทานั้นชื่อเกาโมทกี (ปลายเป็นรูปบัวตูม) ส่วนในมือที่ ๔ ซึ่งว่าถือ “ธรณี” นั้น มักทำเป็นดอกบัว เพราะพวกพราหมณ์มักเปรียบพื้นแผ่นดินนี้ด้วยดอกบัวหลวง นอกจาก ๔ อย่างซึ่งกล่าวแล้วนั้น พระนารายน์ยังมีอาวุธอีก ๒ อย่าง คือธนูศรชื่อศารนคะและพระขรรค์ชื่อนนทก ที่บนพระทรวงมีขนชนิด ๑ เรียกว่าศรีวัตสะ มีทับทรวงเป็นแก้วชื่อเกาสุตุภ และมีวไลยฝังด้วยแก้วชื่อส๎ยมันตกะ เรื่องราวแห่งอาวุธที่พระนารายน์ถือ และเรื่องแก้วส์ยมันตกะนั้น มีข้อความอธิบายไว้พิสดารในวิษณุปราณะ แต่เป็นเรื่องที่เนื่องด้วยพระกฤษณ (เพราะฉะนั้นได้จัดลงไว้ต่างหากแล้ว)

ในหน้าที่ผู้สงวนโลก หรือโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ อันเป็นผลแห่งอกุศลกรรมหรือความประพฤติพาลแห่งมนุษย์หรืออมนุษย์นั้นไซร้ พระนารายน์จำเป็นต้องเสด็จอวตารลงมาดับความร้อนให้เย็น ในการที่ลงมาเช่นนี้ ย่อมทรงรูปต่าง ๆ จึ่งเรียกว่าอวตารนั้นอวตารนี้ หรือเรียกตามภาษาไทยแท้ว่าปางนั้นปางนี้ ส่วนจำนวนปางนั้น ไม่แน่ว่าเท่าใด บางตำหรับว่า ๑๐ บางตำหรับว่า ๒๔ และบางตำหรับก็ว่านับไม่ถ้วน แต่โดยมากนิยมกันว่ามีสิบปาง ส่วนเรื่องอวตารหรือปางนี้ ได้กล่าวไว้ในบท ๑ ต่างหากแล้ว

ผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระนารายน์นั้น จะได้ผลานิสงส์สำคัญอัน ๑ ซึ่งมีกล่าวอยู่เป็นหัวข้อสำคัญในโองการแช่งน้ำ กล่าวคือ “โอม ! สิทธิ สรวงศรีแกล้วแผ้วมฤตยู” ดังนี้ มุ่งเอาความว่า ผู้ที่มีความศรัทธามั่นคงอยู่ในพระนารายน์แล้ว จะพ้นจากอำนาจพระยมได้ ข้อนี้มีคำอธิบายพิสดารอยู่ในหนังสือวิษณุปุราณะ กัณฑ์ที่ ๓ ปริจเฉทที่ ๗ ณ ที่นี้พราหมณ์ไมเต๎รยะมีปุจฉาถามพระปราศรมุนี ใจความว่า ทำอย่างไรชนจึ่งจะพ้นจากเงื้อมมือพระยมไปได้ พระปราศรจึ่งวิสัชนาดังนี้

ดูกรมุนีผู้เจริญ อันปุจฉานี้ไซร้พระนกูลได้เคยถามพระภีษมะผู้เป็นอัยกา และตูข้าจะแสดงความซึ่งท่านวิสัชนาครั้งนั้นให้ฟัง ฯ พระภีษมะนั้นไซร้ได้ว่าแก่พระกุมารว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์ผู้ ๑ มาจากกะลิงคะราษฎร์มาหาเรา เขาได้เล่าให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาได้ถามปัญหาแก่พระมุนีตน ๑ ซึ่งรำลึกชาติได้ และซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในกิจการทั้งที่ล่วงไปแล้วและจะมีมา ณ เบื้องหน้า เมื่อเราผู้มีความเชื่อถือในถ้อยคำแห่งพราหมณ์นั้น ได้วิงวอนให้พราหมณ์แสดงความตามที่มหาฤษีได้กล่าวมานั้นไซร้ พราหมณ์จึ่งเล่าให้เราฟัง และสิ่งซึ่งพราหมณ์เล่าให้เราฟังนั้นเรายังมิได้เคยพบแห่งอื่นอีกเลย เมื่อเราได้ถามปัญหาแก่พราหมณ์เหมือนอย่างที่สูเจ้าได้ถามเรานี้ไซร้ พราหมณ์กะลิงค์จึ่งเล่าความตามที่พระมุนีได้เล่าให้เขาฟัง คือข้อสำคัญอันพระฤษีผู้รำลึกชาติได้นั้นได้แสดงแล้ว เป็นคำสนทนาระหว่างพระยมกับยมทูตตน ๑ ฯ ครั้ง ๑ พระยมแลเห็นยมทูตผู้ ๑ ถือบ่วงอยู่ในมือ พระยมจึงกระซิบบอกกับเขานั้นว่า “เจ้าจงหลีกให้ไกลจากผู้ศรัทธาในพระมธุสูทน์ (นารายน์) กูนี้ไซร้เป็นใหญ่เหนือชนทั้งปวง เว้นเสียแต่พวกไวษณพเท่านั้น กูนี้ไซร้ได้รับเทวบัญชาแห่งพระธาดาเป็นเจ้า อันเป็นที่เคารพแห่งอมรรตยะเทพทั้งหลายให้เป็นผู้เหนี่ยวรั้งมนุษย์ และให้เป็นผู้ตรวจตราผลแห่งกุศลและอกุศลในสากลโลก แต่ผู้ใดที่ปฏิบัติโดยอาศัยพระหริเป็นเจ้าเป็นธรรมุเทศไซร้ ผู้นั้นแลจะรอดพ้นจากอำนาจกู เพราะเหตุว่าพระวิษณุย่อมมีฤทธิอำนาจอาจครอบงำและเหนี่ยวรั้งกูได้ เปรียบเหมือนทองคำ ถึงแม้จะทำขึ้นรูปให้เป็นกำไลก็ดี มงกุฎก็ดี หรือต่างหูก็ดี คงยังมีเนื้ออยู่อย่างเดิม ดังนี้ฉันใด แม้พระหรินั้น จะทรงรูปเป็นเทวดา สัตว์ หรือมนุษย์ก็ดี ก็ยังเป็นพระหริอยู่อย่างเดิมฉันนั้น อันว่าหยาดน้ำทั้งหลาย ซึ่งลมได้หอบขึ้นไปแล้วจากพื้นดิน ครั้นเมื่อลมสงบแล้ว น้ำนั้นก็จะกลับตกลงยังพื้นดินอีกฉันใด อันว่านานาประเภทแห่งเทวดา มนุษย์ และสัตว์ ซึ่งกระจัดกระจายไปแล้วเพื่อความกวนขุ่นแห่งอุปนิสัย เมื่อสิ้นกรรมแล้วก็จะกลับรวมกันเข้าในความสูญยิ่ง (นิรพาน) อย่างเดิมฉันนั้น บุคคลใดมีปัญญาอุตสาหะนบนอบแทบพระบาทบงกชแห่งพระหริ อันเป็นที่เคารพแห่งทวยเทพไซร้ ผู้นั้นย่อมจะรอดพ้นจากบรรดาบ่วงบาป บุคคลเช่นนั้นแลสูเจ้าจงหลีกให้ไกล เหมือนหลีกจากไฟอันหยอดแล้วด้วยน้ำมันฉะนั้นเทอญ” ฯ ครั้นได้ฟังคำดำรัสแห่งพระยมฉะนั้นไซร้ ยมทูตจึงทูลพระธรรมราช (พระยม) ความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ขอจงได้โปรดทรงแนะแก่ตูข้า ว่าทำไฉนข้าจึ่งจะรู้จักผู้ที่เลื่อมใสในองค์พระหริ อันเป็นผู้ครอบงำสรรพสัตว์” ฯ พระยมจึ่งตรัสตอบว่า “ผู้ที่เลื่อมใสในพระวิษณุนั้นไซร้ คือผู้ที่ไม่ลดละจากกิจปฏิบัติอันควรแก่วรรณแห่งตน ผู้ที่แลดูทั้งมิตรและอมิตรด้วยจิตอุเบกขาเสมอกัน ผู้ที่ไม่ถือเอาของใด ๆ (ซึ่งมิใช่ของตน) และไม่ทำร้ายสัตว์ใด ๆ เจ้าจงรู้จักเถิดว่าผู้ที่จิตปราศจากมลทินนั้นแลเป็นผู้เลื่อมใสในพระวิษณุ ผู้ที่มีศรัทธาแท้จริงในพระหริไซร้ เขาย่อมเอาพระชนรรทนะ (นารายน์) ตั้งไว้เป็นกรรมัษฐานในดวงจิต ซึ่งเขาได้กระทำแล้วให้แผ้วจากความมัวเมา และผู้นั้นเป็นผู้มีมโนอันปราศจากความแปดเปื้อนด้วยมลทินแห่งกะลียุค เจ้าจงรู้เถิดว่า อันคนดีที่เป็นผู้นับถือพระวิษณุนั้น คือผู้ซึ่งถึงแม้จะได้เห็นทองอยู่ในที่ลับ ก็นึกเสียว่าทรัพย์ของผู้อื่นเหมือนต้นหญ้า แล้วตั้งจิตมุ่งอยู่แต่ที่ตรงพระเป็นเจ้า คนผู้นั้นผ่องแผ้วเหมือนภูเขาแก้วอันใสสะอาด เพราะเหตุว่าพระวิษณุจะเสด็จอยู่อย่างใดในดวงใจแห่งชนผู้มีความโกรธ ความริษยา และอคติอย่างอื่น ๆ อันความรุ่มร้อนแห่งไฟจะอยู่ได้ในกองรัศมีอันเย็นแห่งดวงเดือนไฉนได้ ผู้ใดยังชีพอยู่โดยตั้งอยู่ในมโนสุจริต มีอโกรธะ (ความไม่ปองร้าย) และสันโดษ (มักน้อย) เป็นอาทิ ตั้งอยู่ในกายสุจริต มีอหึศา (ไม่ทำร้ายแก่ผู้อื่น) เป็นอาทิ ตั้งอยู่ในวจีสุจริต กล่าววาจาอันไพเราะและดี ไม่โอ้อวด และพูดตามจริงใจ ผู้นั้นไซร้ย่อมมีพระวาสุเทพเป็นผู้กำกับดวงใจอยู่เป็นนิตย์ อันว่าต้นเต็งรัง (ศาละ) ย่อมสำแดงด้วยความงามว่าได้ดูดรสอันดียิ่งแล้วจากพื้นแผ่นดินฉันใด เมื่อพระอนันตะเทวราชได้เสด็จสถิตอยู่ในดวงใจแห่งผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็จะมีความงามในท่ามกลางประชุมชนในโลกนี้ฉันนั้น ดูกรทูต เจ้าจงรีบหลีกเสียให้ห่างไกลจากบรรดาบุคคล ผู้ที่ได้ชำระบาปกรรมได้แล้วโดยยมและนิยมปฏิบัติ และผู้ซึ่งมีจิตตั้งมั่นอยู่ในพระอัจยุต (คือพระนารายน์) และซึ่งปราศจากความเย่อหยิ่ง ความริษยา และความปองร้าย ฯลฯ”

ตามที่ได้แปลมาไว้ส่วน ๑ เท่านี้ ก็พอเป็นที่สังเกตได้แล้วว่าความมุ่งหมายแห่งพราหมณ์คณาจารย์นั้น มีอยู่อย่างไร ความปรารถนาก็ให้ชนพยายามประพฤติชอบไว้ จะได้เป็นผู้ที่ต้องพระอัธยาศัยแห่งพระนารายน์ และพระนารายน์จะได้คุ้มกันรักษามิให้ตกไปในเงื้อมมือพระยม คือไม่ให้ตกนรกเท่านั้น

พระนารายน์เป็นที่นับถือแห่งชนในมัธยมประเทศเป็นอันมาก ดังมีพยานปรากฏอยู่คือ เทวสถานอันเป็นที่บูชาพระนารายน์นั้นมีอยู่มากกว่าศาลพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ

พระนารายน์มีพระนามตั้งพัน และมีมนตร์อัน ๑ เรียกว่า “สหัสรนาม” ถือกันว่าเป็นมนตร์สำคัญ ใครว่าได้ตลอดได้บุญนัก ในนามทั้งพันแห่งพระนารายน์นั้น นอกจากวิษณุและนารายน์ ยังมีที่พบใช้อยู่บ่อย ๆ อีกหลายนาม ดังเก็บมาลงไว้ในที่นี้บ้างพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้.-

ไวกูนฐนาถ - จอมไวกูนฐ
เกศวะ - มีผมอันงาม
มัธวะ - ประกอบด้วยน้ำผึ้ง หรือ เกิดแต่มธุ
สวยภู - เกิดเอง
ปิตามวร (ปิตามพร) - นุ่งเหลือง
ชนรรททนะ - ผู้ทำให้คนไหว้
วิษวัมวร (วิษวัมพร) - ผู้คุ้มครองโลก
หริ - ผู้สงวน
อนันตะ - ผู้ไม่มีที่สุด
มุกุนทะ - ผู้ช่วย
บุรุษ - ชาย
บุรุษโษตตม (บุรุโษดม) - ยอดชาย
ยัญเญศวร - เป็นใหญ่เหนือการบูชา
อัจยุต (อจุตตะ) - ไม่มีเสื่อม
อนันตะไศยนะ - นอนบนหลังอนันตะนาค
จัตุรภุช - สี่แขน
ชลไศยิน - นอนในน้ำ
ลักษมีปติ - ผัวนางลักษมี
มธุสูทน - ผู้สังหารมธุ (อสูร)
นร - คน
นารายน์ - ผู้กระดิกในน้ำ
ปัญจายุธ (ปัญจาวุธ) - ผู้ถือเอาอาวุธ ๕ อย่าง
ปัทมนาภ - สะดือบัว
ศารนคิน หรือ ศารนคิปาณี - ผู้ถือศรศารนคะ
จักรปาณี - ถือจักร
วาสุเทพ – ลูกวสุเทพ (เป็นนามพระกฤษณะแต่มักเลยใช้เรียกพระนารายน์เองด้วย)
ทาโมทร - มีเชือก (ทาม) ผูกพุง
โคบาล - เลี้ยงโค

----------------------------

อาวุธพระนารายน์

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ พระนารายน์มีอาวุธ ๕ อย่าง ต่างมีเรื่องราวบอกเล่าว่ามาแต่ที่ใดบ้าง ดังนี้เก็บมาไว้ดังต่อไปนี้

๑. สังข์ปาญจะชันยะ เป็นเปลือกหอยสังข์อันหุ้มกายอสูรตน ๑ ชื่อปัญจะชน อสูรตนนี้เมื่อขึ้นบกมีรูปคล้ายมนุษย์ แต่พอลงทะเลกลายเป็นหอยสังข์ ครั้ง ๑ ปัญจะชนได้ลักเอาบุตรแห่งพราหมณ์สานทีปนี ผู้เป็นอาจารย์พระกฤษณนั้นลงไปไว้ พระกฤษณตามลงไปช่วยบุตรอาจารย์ฆ่าอสูรตาย แล้วจึ่งเอาเปลือกสังข์นั้นมาใช้สำรับเป่าในการสงครามสืบไป

ตามธรรมเนียมกษัตริย์โบราณต้องมีสังข์สำหรับตัว เพื่อใช้เป็นเครื่องให้อาณัติสัญญาแด่พล เพราะฉะนั้นจึ่งจัดเข้าเป็น “อาวุธ” อย่าง ๑ คือเป็นเครื่องใช้ในการสงคราม สังข์ของกษัตริย์มักมีชื่อ สังข์ของพระกฤษณชื่อปาญจะชันยะแล้วก็คงเลยแต่งเรื่องราวประกอบขึ้นให้พิสดาร

อนึ่ง ควรสังเกตว่า เรื่องพระกฤษณลงไปรบกับอสูรซึ่งเป็นสังข์อยู่ในมหาสมุทรนี้ ดูคล้ายกับเรื่องในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเรา ซึ่งกล่าวว่าพระนารายน์อวตารเป็นปลาลงไปรบกับสังข์อสูร ผู้ลักเอาพระเวทลงไปซ่อนไว้ เรื่องนี้จะได้กล่าวถึงในตอนกล่าวด้วยมัตสยาวตารสืบไป

๒. จักรสุทรรศน์ หรือ วัชรนาภ - มีเรื่องราวเล่ามาในมหาภารตว่า ใจความว่า ครั้ง ๑ พระกฤษณไปเยี่ยมท้าวยุธิษเฐียร และปาณฑพกุมารในนครอินทรปรัสถ์ พระอรชุนได้ชวนพระกฤษณไปเที่ยวไล่สัตว์ในป่าปาณฑพ (ขาณ์ฑว) ซึ่งอยู่ริมนครนั้น เผอิญในเวลานั้นพระเพลิงกำลังปรารถนาจะกินป่าขาณฑพ แต่พระอินทรไม่ยอม จึ่งเกิดวิวาทกัน พระกฤษณกับพระอรชุนเข้าข้างพระเพลิง ๆ จึ่งชำนะได้กินป่าตามปรารถนา พระเพลิงจึ่งให้จักรวัชรนาภกับคทาเกาโมทกีแด่พระกฤษณเป็นบำเหน็จ

๓. คทาเกาโมทกี - มีเรื่องอยู่ข้างบนนี้แล้ว

๔. ธนูศารนคะ - ตามศัพท์แปลว่า “ทำด้วยเขาสัตว์”

๕. ขรรค์นนทก - ตามศัพท์แปลว่า “ชื่นใจ”

อนึ่งในที่นี้ควรชี้แจงว่า ตรีสูลนั้น ไม่ใช่อาวุธของพระนารายน์ เป็นของพระอิศวร ในการที่ข้างเรามาเกณฑ์ให้เป็นอาวุธของพระนารายน์นั้น น่าจะเป็นไปโดยความเข้าใจผิดโดยแท้.

----------------------------

อาภรณ์พระนารายน์

(แก้วสำคัญ ๒ อย่าง)

แก้วเกาสตุภ

นี้เป็นแก้ว ซึ่งทรงที่พระทรวง เป็นอย่างทับทรวง เป็นแก้วซึ่งได้มาจากเกษียรสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤต (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปในปางที่ ๒) รูปร่างจะเป็นอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด แต่ในพจนานุกรมสังสกฤตของโมเนียรวิลเลียมส์มีข้อความอยูว่า “เกาสตุภเป็นวิธีประสานนิ้วอย่าง ๑ ในพิธีไหว้พระ” ซึ่งถ้าจะให้เดาก็เห็นจะเป็นรูปอย่างมือประนม

แก้วสยมันตกะ

แก้วนี้สำคัญมาก ทรงที่พระกร ฝังไว้ที่วไลยหรือเกยูร เป็นรัตนะวิเศษ มีตำนานยืดยาว มีข้อความพิสดารอยู่ในหนังสือวิษณุปุราณะกัณฑ์ที่ ๔ ปริจเฉทที่ ๑๓ มีความดังคำแปลต่อไปนี้

ท้าวสัตราชิต กษัตรีย์จันทรวงศ์ สกุลยาทพ (สกุลเดียวกับพระกฤษณ แต่คนละสาขา) เป็นผู้ที่มีศรัทธาในองค์พระสุริยเทวราชเป็นอันมาก อยู่มาวัน ๑ ท้าวสัตราชิตไปดำเนินอยู่ที่ริมฝั่งมหาสมุทร รำลึกถึงพระสุริยะ และสวดสรรเสริญอยู่ ทันใดนันเทพเจ้าก็เสด็จลงมาเฉพาะหน้า ท้าวสัตราชิตแลดูพระสุริยะไม่เห็นรูปถนัด จึงทูลว่า “เทวะ ตูข้าได้เคยเห็นพระองค์แล้วในนภากาศ เป็นดวงไฟ บัดนี้ขอพระองค์จงโปรดตูข้าให้ได้แลเห็นพระรูปอันแท้จริงแห่งพระองค์เถิด” ทันใดนั้นพระอาทิตย์ก็ทรงเปลื้องแก้วชื่อสยมันตกะจากพระศอ และวางไว้แห่ง ๑ ท้าว. สัตราชิตจึ่งแลเห็นพระรูป เป็นคนเตี้ย พระกายเหมือนสีทองแดงอันขัดแล้ว และมีพระเนตรสีแดงเรื่อ ครั้นท้าวสัตราชิตได้กระทำสักการตามสมควรแล้ว พระอาทิตย์จึ่งตรัสว่าให้ขอพรอัน ๑ ได้ ท้าวสัตราชิตก็ทูลขอแก้วสยมันตกะเป็นของตน พระอาทิตย์ประทานแก้วนั้นแก่ท้าวสัตราชิตแล้ว ก็เสด็จกลับขึ้นไปยังนภากาศ ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตครั้นได้แก้วอันประเสริฐหามลทินมิได้นั้นแล้ว ก็ผูกไว้ที่พระศอ และโดยอำนาจแห่งแสงแก้วนั้นจับพระองค์มีรัศมีกระจ่างไปในทิศานุทิศคล้ายพระอาทิตย์ฉะนั้นแล้ว ท้าวสัตราชิตก๊กลับเข้าไปยังนครทวารกา ฯ ฝ่ายชาวนครนั้น ครั้นเห็นเธอมาใกล้ ก็พากันไปเฝ้าองค์พระปุรุโษดม ซึ่งได้ทรงอวตารลงมาเอารูปเป็นมนุษย์ (คือพระกฤษณ) เพื่อทรงภาระแห่งโลกนี้ และกราบทูลแด่พระองค์ว่า “เทวะ พระสุริยะเป็นเจ้าจะเสด็จมายังราชสำนักแห่งพระองค์แน่แล้ว” แต่พระกฤษณทรงยิ้มแล้วตรัสตอบว่า “นั้นหาใช่พระสุริยะเป็นเจ้าไม่ แต่หากเป็นท้าวสัตราชิตซึ่งพระอาทิตย์ได้ประทานแก้วสยมันตกะแล้ว และเธอประดับแก้วนั้นอยู่ จงไปดูเธอโดยปราศจากความกลัวเถิด” เขาทั้งหลายก็พากันไป ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตครั้นไปถึงที่อยู่แล้วก็เก็บแก้วนั้นไว้ ณ ที่นั้น และแก้วนั้นก็บันดาลให้บังเกิดทรัพย์ขึ้นทุกวัน คือทองคำแปดภาร (ชั่ง) และโดยอำนาจแห่งแก้วนั้น ก็เป็นเครื่องคุ้มกันบรรดาภยันตราย กันสัตว์ร้าย อัคคีภัย โจรภัย และทุพภิกขภัย ฯ

ฝ่ายพระอัจยุต (คือกฤษณ) มีความปรารถนาจะให้แก้ววิเศษนั้นเป็นของพระภูบดี แต่ถึงแม้เธอมีอำนาจที่จะชิงเอาแก้วนั้นจากท้าวสัตราชิตก็จริงอยู่แล เธอก็หาได้ชิงเอาไม่ เพราะเธอไม่ปรารถนาจะให้บังเกิดความผิดใจกันในสกุล ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตนั้น เกรงว่าพระกฤษณจะตรัสขอแก้วนั้น จึ่งมอบให้แก่พระประเสนผู้อนุชาฯ ก็อำนาจสำคัญแห่งแก้วนี้มีอัศจรรย์อยู่ คือเป็นมูลอันหาที่สุดมิได้ แห่งความสุขแก่บุคคลสุจริตซึ่งประดับ แต่ถ้าบุคคลผู้ทุจริตประดับ ก็กลับเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ฯ พระประเสนรับแก้วนั้นไป และผูกไว้ที่คอแล้ว ก็ขึ้นม้าและเข้าป่าไปไล่เนื้อ ในขณะไล่เนื้อนั้น มีราชสีห์ตัว ๑ ได้ฆ่าเธอตาย ฯ ฝ่ายราชสีห์นั้นพอคาบแก้วได้แล้ว กำลังจะไป ก็เผอิญพญาชามพวาน ผู้เป็นกฤษราช (จอมหมี) แลเห็นและฆ่าสิงห์นั้นตาย แล้วก็ฉวยเอาแก้วนั้นกลับเข้าสู่ถ้ำ และให้แก้วนั้นแก่สุกุมารผู้เป็นบุตรเพื่อเป็นของเล่น ฯ ครั้นอยู่มานานเวลา และพระประเสนมิได้กลับ พวกกษัตริย์ยาทพก็พากันซุบซิบแก่กันว่า “นี้เป็นเหตุ เพราะพระกฤษณเธออยากได้แก้วนั้น และเมื่อไม่ได้แล้ว เธอจึ่งได้ปลงชีพประเสนเสีย เพื่อถือเอาแก้วนั้นเป็นของตน” ฯ

ครั้นความนินทาอันนี้ทราบถึงพระภควัต (กฤษณ) เธอก็ชวนกษัตริย์ยาทพหลายองค์ และพร้อมกันสะกดรอยตามพระประเสนไป โดยเดินตามรอยเท้าม้า โดยการสะกดรอยนี้แลจึ่งปรากฏว่า พระประเสนและม้าได้ถูกสิงห์ฆ่าตายแล้ว บรรดาชนทั้งหลายก็ยกโทษเธอ (พระกฤษณ) ในข้อที่ปลงชีพพระประเสน ฯ เธอยังมีความปรารถนาต่อไปที่จะได้แก้วนั้นคืน เธอจึ่งสะกดรอยตามสิงห์ไป และในระยะทางไม่ห่างไกลนัก ก็ถึงที่ซึ่งพญาหมีได้ฆ่าสิงห์ตาย เธอจึ่งสะกดรอยตามหมีไปอีก ฯ ครั้นถึงเชิงเขาเธอจึงสั่งให้กษัตริย์ยาทพคอยอยู่ ณ ที่นั่น แล้วเธอก็สะกดรอยต่อไปจนไปพบถ้ำ และพอย่างเข้าปากถ้ำ ก็ได้ยินเสียงนางนมแห่งสุกุมารพูดปลอบว่า “สิงห์มันฆ่าพระประเสน สิงห์นั้นถูกพญาชามพวานฆ่าตายแล้ว อย่าร้องไห้เลยสุกุมาร สยมันตกะนี้เป็นของเธอแน่แล้ว” ฯ ครั้นเมื่อเป็นที่แน่พระทัยฉะนั้นแล้ว พระกฤษณก็เข้าไปในถ้ำ และทอดพระเนตรเห็นแก้วอันมีแสงอยู่ในมือนางนม ซึ่งกำลังจะส่งให้สุกุมารเพื่อเป็นของเล่น ฯ ครั้นนางนมเห็นพระกฤษณเข้าไป ทั้งแลเห็นเนตรเธอจ้องดูแก้วนั้นด้วยอาการอยากได้ นางก็ร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังเรียกให้ผู้อื่นมาช่วย ฯ ฝ่ายพญาชามพวานได้ยินนางร้อง ก็มีความโกรธรีบเข้าไปในถ้ำ แล้วก็เกิดมีการยุทธระหว่างพญาหมีกับพระอัจยุต ซึ่งรบกันอยู่ถึง ๒๑ วัน ฯ ฝ่ายพวกกษัตริย์ยาทพซึ่งได้ไปกับพระกฤษณนั้น ก็คอยอยู่แล้วได้ ๗ หรือ ๘ วันเพื่อรอเสด็จกลับ แต่ครั้นไม่เห็นพระมธุสูทน์ (กฤษณ) กลับออกมา ก็พากันเข้าใจว่าคงจะได้สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้วในถ้ำนั้น เขาทั้งหลายคิดกันว่า “การที่จะเอาชำนะศัตรูใด ๆ ก็คงจะไม่กินเวลานานถึงปานนี้” และคิดฉะนั้นแล้วเขาก็พากันกลับคืนเข้าสู่นครทวารกา และเล่าว่าพระกฤษณได้เสียพระชนม์ชีพเสียแล้ว ฯ

ฝ่ายพระญาติวงศ์แห่งพระอัจยุตเมื่อได้ทราบข่าวฉะนั้น ก็จัดการกระทำศราทธพรตตามประเพณี ฯ อันภักษาหารและน้ำซึ่งเขาได้เซ่นถวายในการศราทธพรตนั้นไซร้ ก็ได้เป็นเครื่องยังพระชนม์ชีพและชูพระกำลังแห่งพระกฤษณ ในขณะซึ่งทรงกระทำยุทธอยู่นั้น แต่ฝ่ายศัตรูนั้นไซร้มีความเหน็ดเหนื่อยด้วยการยุทธ ซึ่งต้องกระทำด้วยผู้มีกำลังมากอยู่ทุก ๆ วันมีความชอกช้ำและยับเยินทั่วทุกอวัยวะเพราะถูกอาวุธ ทั้งมีความอ่อนเพลียด้วยอดอาหาร จึ่งมิสามารถจะต่อสู้ได้ต่อไป เมื่อพ่ายแพ้แก่ศัตรผู้มีฤทธิ์ฉะนั้นไซร้ พญาชามพวานก็ลงกราบแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ พระองค์นี้น่าจะไม่แพ้บรรดาอสูรทั้งหลาย และบรรดาอมนุษย์อันสิงสถิตในบาดาล ในพื้นพสุธา และในสวรรค์ ยิ่งเป็นผู้ที่มีรูปเป็นมนุษย์อันต่ำต้อยน้อยกำลังด้วยแล้วไหนจะชำนะพระองค์ได้ และยิ่งเป็นผู้มีกำเนิดเป็นเดียรฉานอย่างตูข้าด้วยแล้วก็จะยิ่งซ้ำร้าย ข้ามีเชื่อแน่แล้วว่าพระองค์คือภาค ๑ แห่งองค์พระนารายน์ผู้เจ้าแห่งตูข้า และเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนโลกนี้” ฯ ฝ่ายพระกฤษณครั้นได้ทรงฟังคำชามพวานทูลฉะนั้น ก็ตรัสอธิบายว่า พระองค์ได้เสด็จลงมาเพื่อทรงภาระแห่งโลกไว้ และพระองค์ก็ทรงพระกรุณา ทรงลูบกายพญาหมี เพื่อให้ทายความชอกช้ำในการยุทธ ฯ พญาชามพวานกราบถวายบังคมพระกฤษณอีกครั้ง ๑ แล้วก็ถวายนางชามพวดีผู้เป็นบุตรีเป็นบรรณาการ ทั้งส่งแก้วสยมันตกะถวายด้วย ฯ ถึงแม้ของบรรณาการจากผู้ต่ำต้อยเช่นนั้นไม่เป็นของที่สมควรจะทรงรับก็ดี แต่พระอัจยุตก็ได้ทรงรับแก้วนั้น เพื่อจะแสดงความบริสุทธิ์แห่งพระองค์ แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับคืนเข้ายังนครทวารกาพร้อมด้วยนางชามพวดี ฯ

ฝ่ายชาวนครทวารกา ครั้นเห็นองค์พระกฤษณยังคงพระชนม์อยู่และเสด็จกลับเข้ามา ต่างก็เต็มไปด้วยความโสมนัส จนแม้ผู้ที่มีอายุมากแล้วก็กลับมีแรงเหมือนเป็นหนุ่มดังเก่า และบรรดากษัตริย์ยาทพทั้งชายและหญิง ก็พากันแวดล้อมพระอานะกะทุนทุภี (ผู้เป็นพระบิดาพระกฤษณ) และช่วยกันยินดีด้วย ฯ พระภควัตก็ตรัสเล่าสรรพเหตุการณ์แด่ยาทพสมาคม ตรัสเล่าความตามที่เป็นมาแล้วทุกประการ และเมื่อได้ทรงส่งแก้วสยมันตกะคืนให้แด่ท้าวสัตราชิตแล้ว ก็เป็นอันได้พ้นจากการถูกใส่ความในข้อประพฤติชั่วร้าย แล้วพระองค์ก็ตรัสชวนนางชามพวดีเข้าไปภายในปราสาท ฯ

ฝ่ายท้าวสัตราชิตมาคำนึงว่า ตนได้เป็นสาเหตุให้พระกฤษณต้องถูกนินทา ก็มีความตกใจ และเพื่อจะมิให้เธอนั้นขัดพระทัย ท้าวสัตราชิตจึงยกนางสัตยภามาผู้เป็นธิดาให้เป็นมเหสีพระกฤษณ ฯ นางนี้ไซร้ได้มีกษัตริย์ยาทพขอแล้วหลายองค์ มีอาทิคือพระอก๎รูระ พระกฤตวรรมัน และพระศตะธันวัน (หรือศตะธนูก็เรียก) ซึ่งต่างมีความโกรธเคืองเป็นอันมากในข้อที่นางได้ไปเป็นชายาแห่งผู้อื่นฉะนั้น พวกที่เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยอกรูระและกฤตวรรมัน จึ่งกล่าวแก่พระศตะธนูว่า “สัตราชิตผู้ชั่วร้ายนี้ ได้หมิ่นประมาทเธอเป็นหนักหนา ทั้งหมิ่นประมาทเราทั้งหลาย ซึ่งได้ขอบุตรีเขาแล้วนั้น เขากลับไปยกให้แก่กฤษณ อย่าให้เขามีชีวิตอยู่อีกต่อไปเลย เหตุใดเล่าเธอจึงไม่ฆ่าเขาเสียและชิงเอาแก้ว ถ้าแม้พระอัจยุตจะวิวาทกับเธอเพื่อเหตุนั้นไซร้ เราทั้งหลายจะเข้ากับเธอ” เมื่อได้รับคำรับรองเช่นนั้น พระศตะธนูก็รับว่าจะฆ่าท้าวสัตราชิต ฯ

ครั้นเมื่อมีข่าวมาว่ากษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ ได้ถูกเผาตายในชตุคฤหพระกฤษณทรงทราบความจริงอยู่ (คือรู้ว่ากษัตริย์ปาณฑพมิได้ตายจริง) จึ่งเสด็จไปยังตำบลวารนาวัต (อันเป็นที่ซึ่งพวกปาณฑพไปอยู่เมื่อถูกเนรเทศจากนครหัสดิน) เพื่อจะบรรเทาความปองร้ายแห่งพระทุรโยธนะ แเละกระทำกิจอันสมควรแก่ญาติ๑๐ ฯ ฝ่ายพระศตะธนูถือเอาโอกาสที่พระกฤษณไม่อยู่นั้น จึ่งลอบฆ่าท้าวสัตราชิตในขณะที่นอนหลับอยู่ แล้วก็ถือเอาแก้วไปเป็นของตน ฯ ครั้นข่าวนี้ทราบไปยังนางสัตยภามานางก็มีความเคืองแค้นในข้อที่พระบิดาเสียพระชนม์ชีพนั้นยิ่งนัก นางจึ่งขึ้นรถในฉับพลัน รีบขับตรงไปยังตำบลวารนาวัต และทูลพระสามีให้ทรงทราบเรื่องซึ่งพระศตะธนูได้ฆ่าท้าวสัตราชิต เพื่อแก้แค้นในการที่นางมาเป็นชายาพระกฤษณ และว่าพระศตะธนูได้เอาแก้วไปเสียด้วยแล้ว และนางทูลขอให้ทรงรีบจัดการแก้แค้นลงโทษผู้ที่ผิดอย่างร้ายกาจเช่นนั้น ฯ พระกฤษณซึ่งเป็นผู้ที่มีพระหฤทัยเย็น ครั้นเมื่อได้ทรงฟังเหตุการณ์ฉะนั้น พระเนตรเขียวด้วยความทรงพระพิโรธ และตรัสแก่นางสัตยภามาว่า “การที่ทำร้ายเช่นนั้น เป็นเหตุอันฉกรรจ์แท้จริง ที่จะยอมนิ่งให้คนชั่วเช่นนั้นทำร้ายดังนี้มิได้ ผู้ใดปรารถนาจะฆ่านกซึ่งทำรังอยู่ในต้นไม้ใด ก็ต้องโค่นต้นไม้นั้น น้องจงคลายความโศกาดูรภาพเถิด ไม่ต้องปริเทวะอีกต่อไปเพื่อเสื่อมความโกรธอีกแล้ว” ฯ ทันใดนั้นพระวาสุเทพก็รีบเสด็จกลับยังทวารกา ตรัสชวนพระพลเทพ (ผู้เป็นพระเชษฐา) ไปโดยเฉพาะ แล้วตรัสแก่เธอว่า “สิงห์ตัว ๑ ได้ฆ่าประเสนซึ่งไปไล่เนื้อในป่า และ ณ บัดนี้สัตราชิตได้ถูกศตะธนูปลงชนม์ชีพเสียแล้ว เมื่อทั้งสองนั้นล่วงลับไปแล้ว แก้วซึ่งเป็นของเธอทั้ง ๒ ก็ควรที่จะเป็นของเราทั้ง ๒ จงลุกขึ้นเถิดจงขึ้นรถทรง และตามไปประหารชีวิตศตะธนูเสียเถิด” ฯ

ครั้นพระอนุชาส่งเสริมฉะนั้น พระพลราม (คือพลเทพนั้นเอง) ก็รับอาสาอย่างแข็งแรง ฯ แต่พระศตะธนูได้ทราบความคิดจะทำร้ายเช่นนั้น จึงไปหาพระกฤตวรรมันขอให้ช่วย แต่พระกฤตวรรมันหายอมช่วยไม่ โดยอ้างว่าตนไม่สามารถจะสู้รบทั้งพลเทพและพระวาสุเทพ ฯ ศตะธนูไม่สมปรารถนาเช่นนั้น จึงไปหาพระอกรูระ แต่พระอกรูระตอบว่า “เธอจงไปหาที่พึ่งแห่งอื่นเถิด เราจะป้องกันเธอได้อย่างไร ถึงแม้ในหมู่อมรรตยะเทพ ผู้มีชนสรรเสริญอยู่ทั่วโลก ก็ไม่มีเลยที่จะสามารถจะต้านทานพระจักริน๑๑ ซึ่งแม้แต่กระทืบพระบาทก็หวั่นไหวไปทั้งไตรภพ ผู้มักทำให้นางอสุรเป็นหม้ายและมีอาวุธอันกองทัพมีกำลังก็มิอาจจะต่อสู้ได้ อนึ่งใครเล่าจะสามารถต่อสู้พระสีริน๑๒ ผู้สามารถอาจทำลายความเข้มแข็งแห่งศัตรูได้แม้โดยชำเลืองด้วยพระเนตร อันกลาดไปมาด้วยอำนาจแห่งสุรา๑๓ และซึ่งมีไถอันใหญ่เป็นเครื่องสำแดงอานุภาพ สามารถอาจจับและสังหารศัตรูอันเก่งที่สุด” ฯ พระศตะธนูจึ่งตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจะช่วยเรามิได้แล้ว อย่างน้อยก็ขอให้ท่านรับและรักษาแก้วนี้ไว้ด้วย” พระอกรูระจึ่งว่า “เราจะยอมรับเช่นนั้น ถ้าเธอจะรับปากว่า ถึงแม้จะถึงที่อับจน เธอก็จะไม่แสดงว่าแก้วนั้นอยู่ที่เรา” พระศตะธนูยอมรับปากเช่นนั้นแล้ว พระอกรูระก็รับแก้วไปไว้ และพระศตะธนูจึ่งขึ้นทรงนางม้าอันมีฝีตีน สามารถอาจวิ่งได้วันละร้อยโยชน์และหนีไป ฯ

ฝ่ายพระกฤษณเมื่อทรงทราบว่าพระศตะธนูหนีไปแล้ว จึ่งทรงผูกรถเทียมด้วยม้าทั้ง ๔ อันมีนามปรากฏว่า ไศพยะ ๑ สุครีพ ๑ เมฆบุษปะ ๑ พลาหก ๑ และเสด็จติดตามไป พร้อมด้วยพระพลเทพ ฯ ฝ่ายนางม้า (ซึ่งพระศตะธนูทรงนั้น) วิ่งไปได้ร้อยโยชน์ แต่พอถึงแดนมิถิลาก็ล้มลงตาย พระศตะธนูจึงลงจากม้าเดินหนีต่อไป ฯ ฝ่ายพระกฤษณ (ครั้นเมื่อพบศพม้า) จึ่งตรัสแก่พระพลภัทร์ (พลเทพ) ว่า “พระเชษฐาจงประทับในรถนี้ น้องจะเดินตามคนร้ายไปและสังหารมัน พื้นแถวนี้ไม่ราบคาบ ม้าคงจะลากรถผ่านไปไม่ไหว” พระพลภัทร์จึ่งรออยู่ในรถ และพระกฤษณก็ดำเนินตามพระศตะธนูไป ครั้นเมื่อไล่ไปได้สองโกส (ไร่ ?) พระองค์ก็ขว้างจักร และถึงแม้ขณะนั้นพระศตะธนูอยู่ห่างก็จริง แต่จักรก็ไปต้องศีรษะขาดลง พระกฤษณเข้าไปค้นหาแก้วสยมันตกะในตัว ก็หาพบไม่ จึ่งเสด็จกลับไปยังพระพลภัทร์และตรัสแจ้งว่า การที่ได้ปลงชีพพระศตะธนูแล้วนั้น หาผลมิได้เลย เพราะเหตุว่าแก้วอันมีค่า เป็นเชื้อแห่งโลกนั้นไซร้ หาได้อยู่ที่ผู้ตายนั้นไม่ ๆ ฝ่ายพระพลภัทร์เมื่อได้ฟังดังนั้นก็มีความพิโรธยิ่งนัก และตรัสแก่พระวาสุเทพว่า น่าอายจริง ๆ หนอ ซึ่งเจ้ามีความโลภถึงปานนี้ กูไม่นับเจ้าเป็นพี่น้องกันอีกต่อไปแล้ว อันทางแห่งกูไปทางนี้ เจ้าจะไปทางใดก็ตามใจเถิด กูขอขาดจากนครทวารกาจากบรรดาญาติวงศ์ และจากตัวเจ้าแล้ว การที่จะมากล่าวเท็จลวงกูนั้นหาประโยชน์มิได้เลย” ฯ พระพลภัทร์ได้พูดจาว่าพระอนุชา ผู้พยายามที่จะแก้ให้หายโกรธนั้นแล้ว เธอก็เข้าไปสู่วิเทหนคร ท้าวชนกก็รับรองพระพลรามโดยแข็งแรง และเธอก็เลยอาศัยในนครนั้นต่อไป ฝ่ายพระวาสุเทพนั้นเสด็จกลับไปยังทวารกา ฯ ในขณะที่พระพลภัทร์อยู่ในราชสำนักท้าวชนกนั้นไซร้ พระทุรโยธนะโอรสท้าวธฤตราษฎร์ได้เรียนวิชารบด้วยคทาต่อพระพลภัทร์ฯ ครั้นเมื่อเวลาล่วงไปได้สามปี ราชาอุครเสนและผู้ใหญ่ในสกุลยาทพต่างมีความเชื่อแน่แล้วว่าแก้วนั้นมิได้อยู่ที่พระกฤษณ จึ่งพากันไปยังวิเทหบุรี และแก้ความสงสัยแห่งพระพลเทพ แล้วพากลับคืนมายังนคร ฯ

ฝ่ายพระอกรูระ อุตสาหะถนอมสุวรรณอันได้มาด้วยอำนาจแห่งแก้วประเสริฐนั้นแล้ว ก็กระทำการบูชายัญเนือง ๆ และโดยอาศัยอำนาจแห่งมนตร์ จึ่งได้อยู่กินโดยบริบูรณ์ถึง ๕๒ ปี และด้วยอำนาจแห่งแก้วนั้นอันทุพภิกขภัยและพยาธิทุกข์ก็หามีไม่เลยทั่วทั้งอาณาเขต ฯ ครั้นเมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้นแล้ว พะเอินพวกกษัตริย์สกุลโภชะได้ฆ่าพระศัตรุฆน์หลานท้าวสัตวัตตาย และโดยเหตุที่อกรูระเป็นสัมพนธมิตรกับพวกโภชะไซร้ อกรูระจึงหนีไปจากทวารกากับเขาด้วย ฯ จำเดิมแต่อกรูระได้หนีไปแล้วก็บังเกิดมีลางร้ายต่าง ๆ มีงูร้าย มีมรณภัย มีห่าลง และเหตุร้ายอื่น ๆ พระอุรคาริเกตน์๑๔ จึ่งตรัสเรียกกษัตริย์ยาทพมาชุมนุม พร้อมด้วยพระพลภัทร์และราชาอุครเสน แล้วและเชิญให้พิจารณาดูว่า เหตุไฉนจึ่งมีลางร้ายมาพร้อมกันหลายประการเช่นนี้ ฯ จึ่งพระอันธกผู้เป็นผู้ใหญ่ผู้ ๑ ในหมู่ยาทพ จึงกล่าวว่า “อันที่ใดเป็นที่สถิตแห่งพระศ๎วผลกะผู้บิดาพระอกรูระนั้นไซร้ ที่นั้นย่อมปราศจากทุพภิกขภัย พยาธิทุกข์ ความแห้งแล้งและเหตุร้ายอื่น ๆ ครั้ง ๑ เมื่อฝนแล้งในแคว้นกาศิราช เขาได้อัญเชิญพระศวผลกะไปยังที่นั้น และเทพเจ้าก็ให้ฝนลงมาโดยทันที ฯ อีกประการ ๑ พะเอินพระราชินีกาศิราชทรงพระครรภ์พระบุตรี แต่ครั้นเมื่อถึงกำหนดที่ควรประสูติ พระบุตรีนั้นก็หาประสูติไม่ เวลาก็ล่วงไปถึง ๑๒ ปี แต่พระบุตรีก็ยังหาประสูติไม่ ท้าวกาศิราชจึ่งตรัสแด่พระบุตรีว่าลูกเอย เหตุไฉนการประสูติของเจ้าจึ่งรอช้าไปเช่นนี้ เจ้าจงประสูติมาเถิด พ่ออยากจะใคร่ได้เห็นลูก เหตุไฉนลูกจึงทำให้มารดาของเจ้าต้องทนทุกขเวทนาอยู่ช้านานเช่นนี้ พระบุตรีจึ่งตอบ (จากในพระครรภ์) ว่า ถ้าพระบิดาจะประทานโควันละตัวเป็นทักษิณาแด่พราหมณ์ไซร้ ต่อไปอีก ๓ ปีลูกก็จะประสูติ ฯ เพื่อเหตุนั้นแล พระราชาจึ่งประทานโคเป็นทักษิณาแด่พราหมณ์วันละตัว จนครบกำหนด ๓ ปี พระธิดาก็ประสูติ พระบิดาจึ่งขนานนามประทานนางนั้นว่า คานทินี และนางนี้พระราชายกประทานแด่พระศวผลกะ เมื่อเธอนั้นมายังราชสำนักนั้น๑๕ ฯ ฝ่ายนางคาทินีนั้นไซร้ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้ให้โคเป็นทักษิณาแด่พราหมณ่วันละตัวเสมอไป ฯ อกรูระไซร้เป็นบุตรแห่งนี้ซึ่งเกิดแต่ศวผลกะ เพราะฉะนั้นนับว่าเธอนั้นเป็นผู้ที่มีกำเนิดอันเป็นมงคลเลิศ เมื่อบุคคลอย่างเช่นเธอนั้นไซร้อยู่ห่างไกลพวกเรา จึ่งบังเกิดมีอุปัทวเหตุ เช่นทุพภิกขภัย พยาธิภัย และอุบาทว์อื่น ๆ ขอจงได้ไปเชิญเธอนั้นกลับมาเถิด อันความผิดแห่งบุคคลผู้ประเสริฐไม่ควรที่เราจะเพ่งเล็งดูให้ละเอียดเกินไปเลย” ฯ

ตามคำแนะนำแห่งพระอันธกผู้เป็นกุลเชษฐาแห่งยาทพนั้นไซร้ สมาคมยาทพจึ่งแต่งทูต มีพระเกศวะ (กฤษณ) ราชาอุครเสน และพระพลภัทร์เป็นหัวหน้าไปแสดงแก่พระศวาผลกี (คืออกรูระ) ว่า อันความผิดใด ๆ ที่เธอได้กระทำมาแล้ว เขาทั้งหลายจะไม่ถือโทษเลย และเมื่อพระอกรูระได้รับคำมั่นสัญญาแล้วว่าจะไม่มีอันตรายแก่ตน ก็ยอมให้ทูตนำกลับไปยังนครทวารกา พอเธอนั้นกลับมาถึง อันความไข้ ความแห้งแล้งและทุพภิกขภัย และอุปัทวันตรายทั้งปวงก็เหือดหายไป ด้วยอานุภาพแห่งแก้ววิเศษฯ ฝ่ายพระกฤษณครั้นได้เห็นเช่นนั้น จึงทรงคำนึงว่า การที่พระอกรูระมีกำเนิดมาแต่นางคานทินีและพระศวผลกะนั้น เป็นเหตุอันไม่เพียงพอแก่ผลที่ปรากฏนั้นเลย และน่าจะมีอานุภาพสิ่งอื่นอันสำคัญกว่าซึ่งบันดาลให้ความไข้และทุพภิกขภัยสงบไป พระจึ่งรำลึกในพระทัยว่า “แก้วสยมันตกะอันสำคัญนั้น น่าจะอยู่ที่เธอนั้นแน่แล้ว เพราะเราได้เคยทราบอยู่ว่าแก้วนี้มีอานุภาพเช่นนั้น อนึ่งพระอกรูระนี้ไซร้ได้กระทำยัญกรรมมาแล้วเป็นหลายคราวติด ๆ กัน อันสมบัติของเธอนั้นไซร้หาเพียงพอที่จะใช้สอยเพื่อกิจเช่นนั้นไม่ ไม่ต้องสงสัยเลยเธอคงจะได้แก้วนั้นไว้” ฯ ครั้นทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึ่งตรัสนัดบรรดากษัตริย์ยาทพให้ไปสมาคม ณ ตำหนักแห่งพระองค์ โดยอ้างว่าจะมีงานอย่างใดอย่าง ๑ ครั้นเมื่อมาพร้อมกันแล้ว และได้ทรงอธิบายเหตุซึ่งนัดมาสมาคมแล้ว และได้กระทำกิจสำเร็จแล้ว พระชนรรทนะ (กฤษณ) จึ่งตรัสสนทนาด้วยพระอกรูระและเมื่อได้ตรัสเล่นพอสมควรแล้ว จึ่งตรัสขึ้นว่า “ดูกรท่านผู้เป็นญาติสนิท ท่านนี้ไซร้เป็นผู้ที่มีหฤทัยเผื่อแผ่ยิ่งนัก แต่เรารู้อยู่ดีว่า แก้ววิเศษซึ่งศตะธนูได้ลักไปนั้น ศตะธนูได้ส่งให้แก่ท่าน และบัดนี้ท่านก็รักษาไว้เพื่อประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแห่งราชอาณาจักรนี้ ขอให้แก้วนั้นคงอยู่แก่ท่านต่อไปเถิด เราทั้งหลายย่อมได้รับผลอันดีจากอานุภาพแห่งแก้วนั้นทั่วกัน แต่พระพลภัทร์สงสัยว่าตูข้าเป็นผู้ได้แก้วนั้นไว้ เพราะฉะนั้นเพื่อความเมตตาแด่ตูข้า ขอให้ท่านขยายแก้วนั้นให้เห็นทั่วกันเถิด” ฯ ฝ่ายพระอกรูระซึ่งขณะนั้นแก้วอยู่กับตัว ครั้นเมื่อถูกถามตรงๆ เช่นนั้น ก็ยั้งอยู่มิรู้ที่จะทำอย่างไรดี เธอคำนึงว่า “ถ้าแม้เราจะไม่รับว่ามีแก้วนั้นอยู่เขาทั้งหลายก็จะพากันค้นในตัวเรา และคงจะพบแก้วนั้นอยู่ในผ้าของเรา เราจะยอมให้เขาค้นมิได้เลย” เมื่อดังนั้นแล้วอกรูระจึ่งว่าแก่พระนารายน์ ผู้เป็นมูลแห่งสากลโลกนี้ว่า “จริงอยู่ อันแก้วสยมันตกะนั้นไซร้ ศตะธนูได้ฝากตูข้าไว้ เมื่อเธอนั้นไปจากที่นี้ ตูข้าได้นึกอยู่ทุกวันว่าท่านคงจะร้องเรียกเอาจากข้า และตูข้าได้เก็บแก้วนั้นไว้จนบัดนี้ด้วยความไม่สะดวกใจเลย การรักษาแก้วนี้ไว้ทำให้บังเกิดความหนักใจแก่ข้าเป็นอันมากจนข้าหาความสุขมิได้เลย และมิได้มีความโปร่งใจสักขณะเดียว ข้าเกรงอยู่ว่าท่านจะเห็นตูข้าเป็นผู้ไม่สมควรจะเป็นผู้รักษาแก้วอันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความเจริญแห่งอาณาจักร์ฉะนี้ไซร้ ข้าจึ่งเว้นเสียมิได้กล่าวว่าอยู่ที่ตูข้า แต่บัดนี้ขอท่านจงรับแก้วไปเอง และมอบให้ผู้ใดรักษาก็ตามใจท่านเถิด” ฯ ครั้นกล่าวฉะนั้นแล้ว พระอกรูระก็หยิบสมุคทองคำใบย่อม๑๖ ออกมาจากในผ้าห่มและหยิบแก้วออกมาจากสมุคนั้น เมื่อชูแก้วนั้นขึ้นในท่ามกลางยาทพสมาคมไซร้ อันห้องที่ชุมนมนั้นก็สว่างไปด้วยรัศมี ฯ พระอกรูระจึ่งกล่าวว่า “นี้แลคือแก้ว ซึ่งศตะธนูได้มอบให้ตูข้า แม้เป็นของผู้ใดก็ให้ผู้นั้นรับไปเถิด” ฯ

บรรดากษัตริย์ยาทพเมื่อได้แลเห็นแก้วนั้น ต่างก็มีความประหลาดใจและต่างเปล่งอุทานวาจาด้วยยินดี ฯ ฝ่ายพระพลภัทร์ก็ร้องอ้างขึ้นว่าเป็นของเธอกับพระอัจยุตรวมกัน ดังได้ตกลงกันไว้แต่เดิม แต่ฝ่ายนางสัตยภามาก็มาร้องขอเป็นของนาง โดยเหตุที่เดิมเป็นของพระบิดาแห่งนาง ฯ ในระหว่างพระพลกับนางสัตยานี้ไซร้ พระกฤษณรู้สึกพระองค์ประหนึ่งว่าเป็นโคอันอยู่หว่างล้อทั้งสองแห่งเกวียน และตรัสแก่พระอกรูระต่อหน้ากษัตริย์ยาทพทั้งหลาย ดังนี้ว่า “อันแก้วนี้ไซร้ท่านได้เปิดขึ้น ณ ท่ามกลางที่ชุมนุมเพื่อแก้ชื่อแห่งข้า แก้วนี้นัยว่า ๆ เป็นของข้าและพระพลภัทร์รวมกัน และเป็นมฤดกส่วนพระราชบิดานางสัตยภามาด้วย แต่แก้วนี้ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ดีแก่ราชอาณาจักรทั่วไป ควรจะอยู่ในความปกปักรักษาแห่งบุคคลผู้เลี้ยงชีพเป็นพรหมจรรย์เสมอไป ส่วนตูข้านี้ไซร้มีเมียถึงหมื่นหกพันคน๑๗ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่สมควรจะรักษาแก้วนั้น ส่วนนางสัตยภามานั้นก็น่าจะไม่ยินยอมถือข้อสัญญาซึ่งหล่อนจะต้องปฏิบัติเพื่อเป็นเจ้าของแก้วนี้๑๘ และส่วนพระพลภัทร์นั้นไซร้ เธอก็ชอบเสวยสุราและมักเพลิดเพลินในทางกามคุณารมณ์มากเกินกว่าที่จะปฏิบัติอย่างพรตได้ โดยเหตุฉะนี้เราทั้งสามไม่ควรเป็นผู้ควรคำนึงถึง และบรรดากษัตริย์ยาทพทั้งหลาย พร้อมทั้งพระพลภัทร์ นางสัตยาและตูข้าเอง จึ่งขอให้อกรูระผู้มีเมตตาเป็นผู้รับรักษาแก้วนั้นไว้ เหมือนอย่างที่ท่านได้กระทำมาแล้วแต่ปางหลัง เพื่อประโยชน์แห่งเราทั้งหลายทั่วไป เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้สมควรรักษาแก้วนั้น และในขณะที่อยู่ที่ท่าน แก้วนั้นได้นำผลดีมาสู่บ้านเมืองแล้ว ขอท่านจงอย่าได้อิดเอื้อนไม่รับตามคำของแห่งเรานี้เลย” ฯ ฝ่ายพระอกรูระครั้นได้รับส่งเสริมฉะนั้น ก็รับแก้วไป และต่อนั้นไปก็ประดับแก้วนั้นไว้โดยเปิดเผยที่พระศอ ดูรัศมีส่องสว่างจนลานตา และพระอกรูระนั้นจะไปแห่งใดก็ดูประหนึ่งพระอาทิตย์ อันทรงสังวาลแสงสว่างฉะนั้น ฯ

เรื่องแก้วสยมันตกะนี้ มีในหนังสือปุราณะอื่น ๆ และในหนังสือหริวํศอีกด้วย แต่ในวิษณุปราณะนี้มีข้อความพิสดารกว่าแห่งอื่น ที่ข้าพเจ้าแปลมาไว้ตลอดเช่นนี้ เพราะเห็นว่าในส่วนเนื้อเรื่องก็ออกจะสนุก ทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่าการปกครองในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ฯ ตามที่สังเกตดูเห็นได้ว่าการปกครองในหมู่กษัตริย์ยาทพนั้น ดูคล้ายแบบที่พวกมลกษัตริย์หรือกษัตริย์ลิจฉวีใช้กันในพุทธกาลนั้นเอง คือไม่มีราชาที่สืบสันตติวงศ์เป็นผู้ทรงราชย์และถืออำนาจสิทธิ์ขาด ผู้ที่เรียกว่าราชานั้นก็คือผู้ที่ได้รับสมมติให้เป็นประธานชั่วตลอดอายุเท่านั้น และจะวินิจฉัยการใด ๆ ก็สิทธิขาดได้แต่ในท่ามกลางสมาคมแห่งญาติวงศ์ บรรดากษัตริย์ในสกุลเดียวกันคงมีอิสริยะเสมอกันหมด ถ้าหากผู้ใดจะเป็นผู้นับถือผิดกว่าคนอื่นก็โดยมีอภินิหารส่วนตัวเท่านั้น ฯ ส่วนการปกครองนั้น ดูก็ไม่สู้เรียบร้อยนัก เพราะดูมีฆ่าฟันกันและแก้แค้นกันอยู่เนือง ๆ การฆ่ากันหรือแก้แค้นแทนกันดูเหมือนจะถือเป็นกิจส่วนตัว คดีเช่นนั้นจึ่งไม่ใคร่จะเข้าสู่ญาติสมาคม ต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันจะมีผลซึ่งจะต้องได้รับทั่วถึงกัน จึ่งจะเป็นคดีที่นำปรึกษาในสมาคม ฯ ลักษณะปกครองเช่นนี้มักมีผลร้ายอย่างไร ก็ปรากฏอยู่ในเรื่องกษัตริย์ลิจฉวีในพุทธกาล ซึ่งเสียเมืองเพราะเกิดความกินแหนงซึ่งกันและกันนั้น เป็นตัวอย่างเรื่อง ๑ แล้ว และส่วนกษัตริย์ยาทพที่อยู่ในนครทวารกานี้ ในที่สุดก็ถึงแก่พินาศ ดังจะได้กล่าวโดยพิสดารต่อไปในเรื่องพระกฤษณาวตารข้างหน้านี้ ฯ.๑๙

----------------------------

  1. ๑. พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระราชประสงค์เดิม เห็นจะทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพิมพ์ไว้ข้างต้น พระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง แล้วภายหลังจะเป็นด้วยทรงเห็นว่าเนื้อความละเอียดพิสดารเกินไป หรืออย่างไรไม่ปรากฏ จึงได้ทรงงดเสีย ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ ย่อให้สั้นลงกว่าเดิม โปรดให้พิมพ์ไว้เป็นคำนำพระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง.

  2. ๒. ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

  3. ๓. พระนกูลเป็นเจ้าพวกปาณฑพ คือลูกท้าวปาณฑุ ผู้ครองนครหัสดิน เป็นผู้มีชื่อเสียงในหนังสือมหาภารต เพราะเป็นผู้ ๑ ซึ่งได้กระทำมหาภารตยุทธ์ ส่วนพระภีษมะนั้น เป็นลุงท้าวปาณฑุ และนับว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในธรรมะและราชประเพณีมาก พวกหลาน ๆ จึ่งนับถือ.

  4. ๔. เป็นกิจปฏิบัติสำหรับพราหมณ์ ตามคำอธิบายแห่งอรรถกถาจารย์มีไว้ว่า ยมปฏิบัติมีองค์ ๕ คือ (๑ ) อหึศา ความไม่เบียดเบียนคนหรือสัตว์อื่น (๒) สัต๎ย ความจริง (๓) อัส๎เตย ( อสาเถย์ย) ความไม่โกง (๔) พ๎รห๎มจร๎ย ความเว้นจากกาม (๕) อปร์ริค๎รห ความไม่อยากได้ ไม่อยากมั่งมี ฯ นิยมปฏิบติมีองค์ ๕ คือ (๑) เศาจ ความผ่องแผ้วจากมลทิน (๒) สัน์โตษ ความพอใจในของ ๆ ตนที่มีอยู่แล้ว (๓) ตปัส ความบำเพ็ญเผากิเลศ (๔) ส๎วาธ๎ยาย (สาธยาย) เล่าเรียนพระเวท (๕) อีศ๎วรป๎รณิธาน ความรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างสูงสุด.

  5. ๕. อีกนัย ๑ เรียกว่าทวาราวดี เป็นนครซึ่งพระกฤษณะได้สร้างขึ้นเป็นที่สำนักแห่งกษัตริย์ยาทพ มีข้อความพิสดารอยู่ในเรื่องพระกฤษณาวตาร (ปางที่ ๘).

  6. ๖. คือราชาอุครเสน ผู้เป็นตาทวดพระกฤษณ (ดูที่กฤษณาวตาร).

  7. ๗. คือที่เรียกในรามเกียรติ์ว่าชมพูพานนั้นเอง.

  8. ๘. ที่ป่าซึ่งพระกฤษณตามพระประเสนไปนี้ ในวายุปุราณะกล่าวว่า ชื่อเขาฤกษวัต หรืออีกนัย ๑ เรียกว่า เขาวินธยะ.

  9. ๙. “ชตุคฤห”- เรือนชัน ฯ เรื่องนี้มีมาในมหาภารต อาทิบรรพ คือเล่าถึงเรื่องพระทุรโยธนะลูกท้าวธฤตราษฎร์คิดร้ายต่อกษัตริย์ปาณฑพผู้เป็นลูกของอา ยุให้พระบิดาเนรเทศไปแล้วยังไม่พอใจ ตามจองผลาญไปอีก ไปทำเรือนทาชันขึ้นไว้และคิดจะล่อให้กษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ กับมารดาแห่งกษัตริย์นั้นเข้าไปอยู่ในเรือนและเผาเสีย แต่พวกปาณฑพรู้กลจึ่งรอดได้.

  10. ๑๐. พระกฤษณเป็นญาติกับพวกกษัตริย์ปาณฑพอย่างสนิท พระนางกุนตีผู้เป็นมารดาพระยุธิษเฐียร พระอรชุน และพระภีมเสนนั้น เป็นขนิษฐภคินีแห่งพระวสุเทพผู้เป็นพระบิดาแห่งพระกฤษณ เพราะฉะนั้นนางกุนตีก็เป็นอาพระกฤษณ ฯ ฝ่ายพวกโอรสท้าวธฤตราษฎร์ มีพระทุรโยธนะเป็นอาทิ ซึ่งออกนามรวมกันว่ากษัตริยโกรพนั้นพระกฤษณนับว่าเป็นญาติเหมือนกัน คือประการ ๑ เป็นจันทรวงศ์ด้วยกัน อีกประการ ๑ ท้าวธฤตราษฎร์เป็นเชษฐาแห่งท้าวปาณฑุ และท้าวปาณฑุเป็นสามีนางกุนตี จึงนับว่าท้าวปาณฑุนั้นเป็นอา และนับถือท้าวธฤตราษฎร์ผู้พี่เป็นลุง ฯ โดยเหตุฉะนี้พระกฤษณจึ่งเข้าได้ทั้งปาณฑพและโกรพ และได้พยายามได้ ๒ ฝ่ายนั้นดีกัน แต่ทำสำเร็จไม่ ในที่สุดจึงถึงแก่กระทำยุทธกัน (ดูที่กฤษณาวตารต่อ) ฯ

  11. ๑๑. “จักริน” ก็คือนามเดียวกับ “จักรี” แปลว่าผู้ถือจักร เป็นนามพระนารายน์ แต่ในที่นี้ใช้เรียกพระกฤษณ.

  12. ๑๒. “สีริน” แปลว่าผู้ถือไก (สีระ) เป็นนามพระพลเทพ ผู้ถือไถเป็นอาวุธใช้อย่างพลอง.

  13. ๑๓. พระพลเทพนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ชอบสุรา เพราะในกาลครั้ง ๑ ได้ไปพบสุราอยู่ในค่าคบไม้ ดื่มสุรานั้นก็มีใจกำเริบ เรียกให้แม่พระยมนาไหลมาหา ครั้นแม่พระยมนาไม่ยอม พระพลรามก็แผลงอิทธิฤทธิ์ลากลำน้ำนั้นออกมาจากร่องจนได้.

  14. ๑๔. “อุรคาริเกตนะ” แปลวา “ผู้มีอุรคาริเป็นเครื่องหมาย” คือพระนารายน์ ฯ คำว่า “อุรคาริ” มาจาก “อุรค” “อริ” แปลว่าเป็นข้าศึกแก่งู เป็นนามแห่งพญาครุฑ

  15. ๑๕. นางคานทินีนี้ เมื่อเกิดก็มีอายุได้ ๑๕ ปีแล้ว จึ่งตกแต่งให้มีผัวได้ทีเดียว

  16. ๑๖. ที่ข้าพเจ้าแปลไว้ในที่นี้ว่า “สมุคใบย่อม” คือตามคำภาษาสังกฤตว่า “สมุท์คกะ” ซึ่งมาจากคำ “สมุท์คะ” และคำนี้ถ้าจะเขียนเป็นภาษามคธก็เป็น “สมุค์ค” ส่วนคำแปลนั้น ตามพจนานุกรมโมเนียรวิลเลี่ยมส์ว่า “หีบรูปกลม” ดังนี้ ดูก็ตรงกับรูปภาชนะซึ่งไทยเราเรียกว่า “สมุก” นั้นเอง เพราะฉะนั้นมีข้อควรสันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกัน ข้าพเจ้าจึ่งแก้ตัวสะกดเป็น “ค” เพื่อให้ถูกมูลเดิม – ว.ป.ร.

  17. ๑๗. ที่พระกฤษณว่ามีเมีย ๑๖,๐๐๐ คนในที่นี้ เป็นนักสนม นอกจากนี้ยังมีมเหสีอีก ๓ คน คือนางรุกมิณี บุตรีราชาวิทรรภ ๑ กับนางชามพวดีและนางสัตยภามา ซึ่งได้กล่าวถึงในเรื่องแก้ววิเศษนี้

  18. ๑๘. ข้อสัญญาเหล่านี้ จะเปนอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ เพราะไม่มีมาในต้นฉบับเดิม.

  19. ๑๙. ดูนารายน์สิบปาง พระราชนิพนธ์ ร. ๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ