ฤษี

๑. วาลมีกิ (เรียกในรามเกียรติ์ว่าวัชมฤคี) เป็นลูกพระวรุณผู้เป็นใหญ่ในน้ำทั้งหลาย พระวาลมีกินี้เกิดในตระกูลพราหมณ์ก็จริง แต่ในชั้นต้นพอใจสมาคมกับพวกชาวป่าและโจร ครังหนึ่งได้ยกเข้าปล้นสะดมพระฤษีทั้ง ๗ ตน ท่านฤษีทั้ง ๗ ตนได้ว่ากล่าวชี้แจงให้แลเห็นบาป แล้วได้สอนมนต์ให้เล่าบ่น มนต์นี้มีคำเดียวว่า “มรา” คือนามของพระรามหวนดังนี้ พระวาลมีกิได้น่งบ่นมนต์นี้อยู่หลายพันปี และครั้นเมื่อพระมุนีทั้ง ๗ กลับมายังที่นั้น ก็ได้พบอยู่ที่เดิม แต่ตนกลายเป็น “วัลมีกะ” คือจอมปลวก จึ่งได้นามต่อมาว่า “วาลมีกิ” ดังนี้

พระวาลมีกินี้ สมมติว่าเป็นผู้รจนาเรื่องรามายณะ ฤๅรามเกียรติ์ เหตุที่จะแต่งขึ้นนั้น ได้มีกล่าวไว้โดยละเอียดในพาลกัณฑ์ คือกัณฑ์ที่ ๑ แห่งรามายณะ กล่าวโดยย่อคือ เมื่อเสร็จสงครามในลงกาแล้วได้ ๑๖ ปี พระรามครองสิริราไชยสวรรย์ในกรงศรีอยุธยาอยู่แล้ว พระวาลมีกิได้พบพระนารท ได้ตั้งปัญหาถามพระนารทว่า ในโลกนี้ใครจะเป็นผู้ที่น่านิยม และสรรเสริญบารมียิ่งกว่าชนทั้งปวง พระนารทตอบว่าพระรามเป็นผู้ที่สมควรจะนิยมและสรรเสริญเช่นนั้น และเล่าเรื่องของพระรามโดยย่อจนตลอด พระวาลมีกิได้ฟังแล้วก็เป็นที่จับใจ ครั้นพระนารทกลับไปสวรรค์แล้ว พระวาลมีกิจึ่งลงไปสรงน้ำกับพระภารทวาช ณ ลำน้ำตะสา ในเมื่อไปลงสรงอยู่นั้น ได้เห็นนกนางนวลคู๋ ๑ เล่นอยู่ริมฝั่ง ขณะนั้นมีนายพรานผู้ ๑ ได้ยิงนกนางนวลผู้ตายตกลงริมที่พระฤษีสรง นกเมียก็แสดงอาการกิริยาเศร้าโศกต่าง ๆ พระมุนีมีความสลดจิตยิ่งนัก จึ่งได้รำพันเป็นถ้อยคำแช่งด่านายพราน ถ้อยคำที่ได้รำพันนั้นก็เป็นวรรคตอนครลหุไพเราะเป็นที่น่าพิศวง พระวาลมีกิจึ่งได้ตั้งนามลักษณ์พจนประพันธ์เช่นนี้ว่า “โศลก” เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นแต่แต่ความโศก ครั้นเมื่อกลับไปยังกุฎีแล้ว พระพรหมธาดาได้เสด็จลงมาเฉพาะหน้าพระวาลมีกิ พระมุนีก็ลุกขึ้นรีบไปกระทำสักการบูชาตามควร แต่ในใจยังคงนึกถึงถ้อยคำที่รำพันถึงนายพรานนั้น ท่าวจตุรพักตรจึ่งตรัสสั่งพระวาลมีกิให้รจนา เรื่องรามายณะประพันธ์เป็นโศลกคาถา เพื่อเรื่องนี้จะได้ยั่งยืนอยู่ชัวกัลปาวสาน พระวาลมีกิรับเทวโองการแล้วเข้าฌาน จึ่งเล็งเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงแต่ต้นจนปลาย และประพันธ์ไว้เป็นโศลกคาถาตลอดเรื่อง ครั้นจบลงแล้ว จึ่งได้สอนให้พระกุศกับพระลพราชโอรสแฝดแห่งพระราม ซึ่งได้มาสำนักอยู่ด้วย ณ ที่นั้น ให้เล่าบ่นจนจำได้ตลอดทั้งเรื่องรามายณะ ผู้ที่ได้ฟังก็มีความปีติยิ่งนัก จนความเลื่องลือไปถึงพระกรรณพระราม จึ่งตรัสให้หาเข้าไปให้พระกุศและพระลพเล่าเรื่องรามายณะนี้ ในขณะเมื่อพระองค์กำลังทรงกระทำพิธีอัศวเมธแล้ว เรื่องรามายณะจึ่งมีผู้กำหนดจดจำไว้ได้มั่นคงต่อมาจนกาลบัดนี้

ส่วนนามที่กลายจากวาลมีกิเป็นวัชมฤคีไปนั้น คงจะเป็นด้วยฟังไม่ถนัด จึ่งเขียนเดา ๆ ไปเช่นนั้นเอง

๒. นารท เป็นเทพฤษี โอรสพระพรหมธาดา เป็นเทวทูตและชำนาญในการดุริยางค์ เป็นผู้เริ่มคิดทำพิณขึ้น ในหนังสือว่าเป็นตริกาลัชณะ คือผู้รอบรู้ในกาลทั้ง ๓ กล่าวคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกนัยหนึ่งเรียกว่าตริโลกัชณะ คือผู้รู้จักโลกทั้ง ๓ สามารถสอดส่องเห็นทั่วไปด้วยอำนาจตะบะ ตามความนิยมมีอยู่ว่า พระนารทนี้เป็นผู้ที่ได้เล่าเรื่องรามายณะให้แก่พระวาลมีกิก่อน แล้วพระวาลมีกิจึ่งได้รจนาเรื่องขึ้นตามเทวโองการของพระพรหม

๓. วสิษฐ์ เป็นพรหมฤษี ปุโรหิตประจำพระองค์ท้าวทศรฐ่ในรามายณะ เรียกว่าโอรสพระพรหม โปรเฟสเส้อรมักซมุลเลอรกล่าวว่าเป็นหัวหน้าพวกชีผ้าขาว (คือแต่งขาวล้วน) ก่อนที่ได้มาเป็นปุโรหิตท้าวทศรฐได้เป็นปุโรหิตของพระราชาธิบดีในโบราณกาลมาแล้วหลายองค์ และได้เคยวิวาทกับพระวิศวามิตร์ เพราะแย่งที่ปุโรหิตกันครั้ง ๑ แต่ไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณะ พระวสิษฐ์มีชายานามว่าอรุนธตี

๔. สนัตกุมาร พรหมฤษี เป็นผู้ทำนายเรื่องพระนารายน์จะมาอวตารในสุริยวงศ์กรุงอยุธยา

๕. กสป ฤๅเขียนตามสังสกฤตว่า “กศ๎ยป” เป็นนัดดาแห่งพระพรหมาธิราช ได้มีบุตรเป็นเทวดาหลายองค์ (ดูในเรื่องเทวดาต่าง ๆ และเป็นบิดาพญาครุฑกับอรุณ (ดูเรื่องพญาครุฑ) มีพรหมฤษีเป็นเผ่าพงศ์สืบมาอีกมาก

๖. วิภาณฑก พรหมฤษี วงศ์พระกสป มีชื่อเสียงในรามายณะ เพราะเป็นบิดาพระฤษยศฤงค์

๗. ฤษ์ยศฤงค์ (เขียนตามบาลีว่า “อิสีสิงค์”- ยอดฤษี) พรหมฤษี โอรสพระวิภาณฑกมุนี ตามพาลกัณฑ์แห่งรามายณะ สุมันตร์เป็นผู้เล่าเรื่องพระฤษยศฤงค์ ถวายท้าวทศรฐก่อน คือเรื่องฝนแล้งในเมืองอังครัฐ และท้าวโลมบาทได้ตรัสใช้ให้นางระบำไปล่อลวงพระฤษยศฤงค์ซึ่งไม่เคยพบสตรี จนได้พระฤษยศฤงค์เข้าไปนคร และท้าวโลมบาทยกพระธิดาให้พระฤษยศฤงค์ ฝนจึ่งตกตามประสงค์ เรื่องตอนนี้ตรงกับเรื่องพระกไลยโกฎ ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เล่ม ๖ สมุดไทย แต่ของไทยเราเล่าเป็นเรื่องราวของพระกไลยโกฏโอรสพระอิสีสิงค์ ในรามายณะเล่าเป็นเรื่องตัวพระอิสีสิงค์เอง พระฤษยศฤงค์นี้ท้าวทศรฐได้นิมนต์เข้าไปช่วยทำพิธีอัศวเมธขอให้มีราชโอรส (ซึ่งเราเรียกว่าพิธีกวนข้าวทิพย์)

อนึ่ง ฤษีกไลยโกฎ ไทยเราว่าหน้าเป็นเนื้อ จึ่งทำรูปเป็นเช่นนั้น แต่ในรามายณะกล่าวแต่ว่าพระฤษยศฤงค์เกิดในป่าและเติบโตขึ้นในหมู่เนื้อ มิได้เห็นรูปมนุษย์ใดนอกจากพระวิภาณฑกมุนีผู้บิดา เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ถูกเห็นว่าน่าจะให้ครองหนังเนื้อ ซึ่งตรงกับแผนของฤษีที่อยู่ป่า และมีศีร์ษะเนื้อครอบแทนชฎา

๘. สุยัชนา

๙. วามเทพ

๑๐. ชาวาลี สามตนนี้เป็นฤษีอยู่ในแดนศรีอยุธยา ท้าวทศรฐได้นิมนต์ไปเข้าพิธีอัศวเมธพร้อมด้วยพระฤษยศฤงค์และ พระวสิษฐ์ พระชาวาลีนั้นเป็นวงศ์พระกสป อีก ๒ ตนไม่ปรากฏเผ่าพงศ์

ในรามเกียรตี์ของเรา ฤษี ๕ ตนที่เข้าพิธีกวนข้าวทิพย์นั้น คือพระกไลยโกฎ ๑ พระวสิษฐ์ ๑ พระสวามิตร์ ๑ พระวัชอัคคี ๑ พระภารทวาช ๒ (รามเกียรติ์เล่ม ๖ สมุดไทย) ไม่ตรงกับในหนังสือรามายณะ จะผิดไปด้วยเหตุใดก็เหลือคะเน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ