พระลักษมี

เมื่อได้กล่าวมาแล้วถึงพระนารายน์ ก็ควรที่จะกล่าวถึงพระลักษมีผู้เป็นมเหสีคู่พระทัย และพระลักษมีนั้น ในเมื่อพระนารายน์อวตาร ลงมาในมนุษย์โลกก็มักจะได้ตามเสด็จลงมาด้วย ถ้าจะพูดกันอย่างชนสามัญก็จะต้องกล่าว พระนารายน์และพระลักษมีนั้นเป็นคู่ผัวเมียกันโดยแท้ เพราะพระนารายน์นั้นมีมเหสีองค์เดียวแต่พระลักษมีเท่านั้น บางคนก็เข้าใจไปว่าพระนารายน์มีมเหสี ๒ องค์ คือพระศรี ๑ พระลักษมี ๑ แต่อันที่จริง “ศรี” เป็นนามอัน ๑ แห่งพระลักษมีนั้นเอง เช่นภควดีก็เป็นนามอัน ๑ แห่งพระลักษมีฉะนั้น

นอกจากพระลักษมีนี้ ยังมีเข้าใจผิดกันอยู่ในเรื่องมเหสีพระเป็นเจ้าเช่นนี้อีก คือในหนังสืออิศวรพงศ์ ซึ่งรวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อครั้งเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีข้อความกล่าวอยู่ว่า “มเหสีพระอิศวร คือ พระมเหศวรี ๑ พระอุมา ๑ พระสุรัสวดี ๑” แท้จริงพระมเหศวรีก็คือพระอุมานั้นเอง ฝ่ายพระสุรัสวดีนั้น หาใช่มเหสีพระอิศวรไม่ เป็นมเหสีพระธาดาพรหม การที่ผิดไปเช่นนี้เป็นด้วยเหตุ ๒ ประการ กล่าวคือ ประการที่ ๑ นางเดียวซึ่งมีหลายนามไปแยกออกเป็นหลายนางไป เช่นพระมเหศวรีและพระอุมา กับพระลักษมีและพระศรีเป็นต้น ซึ่งผิดโดยไม่พอที่ ประการที่ ๒ เป็นด้วยฉงนในส่วนตัวพระเป็นเจ้า คือพระธาดาพรหมนั้น มีนามเรียกว่า ปรเมษฐ จึ่งเข้าใจไปว่าเป็นพระอิศวร ซึ่งมีนามว่า ปรเมศวร จึ่งได้ยกพระสุรัสวดีซึ่งเป็นมเหสีพระปรเมษฐ์ (ธาดา) ไปให้แก่พรประเมศวร (อิศวร) เป็นอันผิดทั่วไปเพราะความฉงน โดยมิได้ตรวจตราแบบฉบับให้ละเอียด ความผิดเช่นนี้ เมื่อมีความรู้มากขึ้น อาจค้นคว้าหาแบบฉบับได้แล้ว ก็ควรแก้ไขไปให้ถูกต้อง ไม่ควรจะปล่อยให้ผิดคลาดเคลื่อนอยู่อย่างเดิม ข้าพเจ้าจึ่งนำข้อความเหล่านั้มาลงแซกไว้ ณ ที่นี้ด้วยความมุ่งหมายเช่นนี้

ส่วนกำเนิดแห่งพระลักษมีนั้น มีข้อความเล่ามาต่าง ๆ กัน ข้าพเจ้าได้เก็บมากล่าวไว้ในที่นี้แต่ ๒ ความ พอเป็นตัวอย่าง

ในรามายณะมีเรื่องกำเนิดพระลักษมีอยู่ในพาลกัณฑ์ ตอนที่พระวิศวามิตรมุนีเล่าเรื่องกวนเกษียรสมุทร เพื่อหาน้ำอมฤตให้พระรามและพระลักษมณ์ฟัง ในระหว่างที่เดินทางไปยังนครมิถิลา ฯ เรื่องนี้ถ้าจะเล่าในที่นี้ให้พิสดารก็ไม่จำเป็น เพราะจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องกูรมาวตาร (ปางที่ ๒) แล้วนั้น จึ่งควรกล่าวไว้ในที่นี้แต่พอเป็นสังเชป มีข้อความว่า ในกฤตายุคไซร้ อันพวกอาทิตย์ (เทวดา) และแทตย์ (อสูร) ต่างมีฤทธาศักดาอานุภาพมาก และแข่งฤทธิ์กันอยู่เนือง ๆ อยู่มาครั้ง ๑ ทั้งเทวดาและอสูรพร้อมใจกันว่าจะกวนเกษียรสมุทรเพื่อหาน้ำอมฤต เพื่อจะได้กินให้อยู่คงไม่มีเวลาแก่และตาย จึ่งเอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกีนาคราชเป็นเชือกผูกเขา และเทวดากับอสูรก็พากันชักให้เขาหมุนไปมา พญานาคพ่นพิษออกมา เป็นที่เดือดร้อนทั่วไป พระนารายน์จึ่งอัญเชิญพระอิศวรให้เสวยพิษ พระอิศวรก็กลืนพิษเสียสิ้น เทวดาและอสูรชักเขามนทรหมุนกวนไปจนเขานั้นทะลุลงไปยังบาดาล ทวยเหพและสิทธาจารย์จึ่งพร้อมกันไปทูลพระนารายน์ให้ช่วย พระนารายน์จึงอวตารเป็นเต่า (กูรมะ) ไปรองไว้ใต้เขามนทร เขาจึ่งไม่กัดพื้นทะเลต่อไป การกวนก็กระทำได้ต่อไป ในที่สุดจึงมีผลวิเศษผุดขึ้นมาแต่เกษียรสมุทรเป็นลำดับคือ (๑ ) พระธันวันตรี เทวะแพทย์พิเศษ (๒) เทพอัปสร ๖ โกฏินาง (๓) นางสุรา อีกนัย ๑ เรียกว่านางวารุณี (๔) ม้าสำคัญ ชื่ออุจไฉห์ศ๎รพ (๕) แก้วเกาสตุภ (๒) พระโสม คือพระจันทร (๗) พระลักษมี (๘) น้ำอมฤต ฯ ครั้นเมื่อได้นำอมฤตขึ้นมาจากเกษียรสมุทรแล้ว เทวดาและแทตย์เกิดวิวาทรบพุ่งชิงน้ำอมฤตกันอย่างไร จะขอผัดไว้กล่าวโดยพิสดารในเรื่องกูรมาวตารสืบต่อไป แต่ส่วนตอนที่กล่าวด้วยกำเนิดพระลักษมีนั้น ควรจะกล่าวให้พิสดารอีกหน่อยในที่นี้ จึ่งขอนำความพิสดารตามที่นายเร๊ฟ ตี. เอช. คริฟฟิถ ได้แปลและประพันธ์เป็นกาพย์ไว้แล้ว ดังต่อไปนี้ ฯ

“ครั้นเวลาล่วงไปได้หลายปีแล้ว จึ่งมีดอกบัวหลวงดอก ๑ ลอยขึ้นมา ในกลางดอกบัวนั้น มีนางงามอยู่นาง ๑ พึ่งแรกรุ่น รูปร่างแน่งน้อยผุดผ่องทั่วสรรพางค์กาย ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อย่างนางกษัตริย์ ทรงทองกรกอบแก้วนพรัตน์ทั้งสองข้าง บนเศียรนางนั้นมีมงกุฎประดับเพชรรัตน ภายใต้มงกุฎนั้นเห็นเกษาอันยาวงามยิ่งนัก ทรงสร้อยสังวาลแก้วมุกดา แลดูนางนั้นผิวพรรณผุดผ่องเหมือนทองทา ฯ ครั้นบัวลอยมาใกล้ฝั่ง เทวีก็ก้าวขึ้นฝั่ง หัตถ์ถือดอกบัวหลวง และนางปัทมา (ลักษมี) ก็ตรงเข้าไปเฝ้าพระปัทมปาณี (นารายน์) โดยความจงรักภักดียิ่ง ฯ อันนางนี้ไซร้ทวยเทพในเมืองแมนและฝูงชนในแดนมนุษย์ พร้อมกันสมมุติพระนามว่าพระลักษมีภควดี ฯ”

ในวิษณุปราณะ กำเนิดแห่งพระลักษมีกล่าวไว้เป็น ๒ นัย คือนัย ๑ ว่าเป็นบุตรีพระภ๎ฤคมุนีประชาบดีกับนางข๎ยาติ (ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘) อีกนัย ๑ ว่าเกิดแต่เกษียรสมุทร (ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๙) ฯ การที่มีกำเนิดเป็น ๒ นัยเช่นนี้ ในขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘ มีอธิบายไว้ คือพระไมเตรยะตั้งบัญหาถามพระปราศรมุนีว่า “ตามคำที่ชนมักกล่าวกันนั้น ว่าพระศรีมีกำเนิดจากเกษียรสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤต ก็เหตุไฉนเล่าท่านจึ่งกล่าวว่าเทวีนั้นเป็นบุตรีพระภฤคุกับนางข๎ยาติ” ฯ พระปราศรจึ่งวิสัชนาว่า “พระศรีผู้เป็นมเหสีพระวิษณุ ผู้เป็นพระมารดาโลกนั้นไซร้ ย่อมเป็นผู้คงอยู่ไม่มีเวลาดับ ดูกรพราหมณ์อันประเสริฐ อันพระเป็นเจ้าย่อมสถิตอยู่ในที่ทั้งปวงฉันใด เทวีก็ย่อมอยู่ทั่วไปฉันนั้น ฯ พระวิษณุเป็นอรรถ เทวีเป็นวาจ (คำพูด) พระหริเป็นนัย เทวีเป็นนิติ พระวิษณุเป็นปัญญา เทวีคือวุทธิ (ความฉลาด) พระเป็นเจ้าเป็นธรรม นางเป็นกรียา พระเป็นผู้สร้าง นางเป็นภูติ พระศรีเป็นภูมิ พระหรีเป็นภูธร (ผู้จุนโลก) พระเป็นเจ้าคือ สันโดษ พระอมรรตยลักษมีคือดุษฎี (ความไม่ทะเยอทะยาน) พระเป็นความอยากได้ นางเป็นความคิด พระเป็นยัญกรรม นางเป็นทักษิณา เทวีเป็นอาชยาหุตี (คือการพลีด้วยเนยใส) พระชนรรทนะเป็นปุโรฑาส (เข้าเภา) พระลักษมีเป็นห้องฝ่ายใน (ที่ผู้หญิงนั่งในงานพิธี) พระมธุสูทน์เป็นห้องฝ่ายหน้า (ที่ผู้ชายนั่ง) พระลักษมีคือเวที (แท่นที่บูชาไฟ) พระหริคือยูปะ (หลักผูกสัตว์บูชายัญ) พระศรีคือเชื้อเพลิง พระหริคือกุศะ (หญ้าคา) พระคือองค์แห่งพระสามะเวท กมลาศนะเทวีคือสำเนียงที่สวด พระลักษมีคือสวาหา (คำมงคลบูชาไฟ) พระวาสุเทพโลกนารถคือไฟที่บูชา พระเสารี (นารายน์) คือพระศังกร (อิศวร) พระภูติ (ลักษมี) คือพระมเหศวรี ฯ ดูกรไมเตรยะ พระเกศวะ (นารายนณ์) คือดวงอาทิตย์ และแสงสว่างไซร้ก็คือพระปัทมาลัยเทวี (ลักษมี) พระวิษณุคือปิต๎ฤคณะ (ฝูงบิดาโลก) พระปัทมาคือชายา (ส๎วธา) ผู้ให้ความอิ่ม พระศรีคือสวรรค์ พระวิษณุผู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งทั้งปวงคือนภากาศ พระศรีบดี (นารายน์) คือดวงจันทร์ นางคือแสงอันไม่เหือดหาย นางนั้นได้นามว่าเป็นผู้บันดาลให้โลกกระดิก พระคือลมซึ่งพัดทั่วไป พระโควินท์ (นารายน์) คือมหาสมุทร พระลักษมีคือฝั่ง พระลักษมีคือพระอินทราณี (มเหสีพระอินทร์) พระมทุสูทน์คือพระเทเวนทร (อินทร) พระจักรินคือพระยม พระกมลาศนเทวีคือนางธูโมรณา (มเหสีพระยม) พระศรีเป็นทรัพย์ พระศรีธร (นารายน์) คือพระกุเวร ฯ ดูกรมหาพราหมณ์ พระลักษมีคือนางเคารี พระเกศวะคือพระชลบดี (พระวรุณ) พระศรีคือเทวเสนา พระหริคือเทวเสนาบดี พระคทาธรคือการต่อสู้ พระศรีคือศักดิ์ (กำลัง) พระลักษมีคือกาษฐาและกลา พระหริคือนิเมษและมุหูรตะ (ดูคำอธิบายข้างล่างนี้) พระลักษมีคือแสงสว่าง พระหริผู้เป็นสิ่งทั้งปวงและเป็นวิศวบดี (เป็นใหญ่เหนือสิ่งทั้งปวง) คือประทีป พระโลกมาตาคือเถาวัลย์ พระวิษณุคือต้นไม้ซึ่งเถาวัลย์นั้นพันอยู่ นางคือกลางคืน พระเป็นเจ้าผู้ทรงจักรคทาคือกลางวัน พระผู้จำแนกสุข (นารายน์) เป็นสวามี พระกมลาศนเทวีคือภรรยา เทพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำปุลึงค์ (คือที่มีนามเป็นตัวผู้) เทวีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำอิถีลึงค์ พระปัทมเนตร (นารายน์) คือธวัช พระปัทมาลัยคือเกตุ (ธง) พระลักษมีคือกาม พระนารายน์โลเกศคือโลภ ฯ ดูกรท่านผู้รอบรู้ในทางธรรม พระโควินท์คือราค พระลักษมีผู้เป็นสุขุมาลยชายาคือรติ (ความรื่นเริง) ฯ แต่เหตุไฉนเล่าจะต้องกล่าวถึงคุณต่าง ๆ แห่งพระองค์ฉะนั้น สิริรวมกล่าวได้โดยสังเขปว่า ในบรรดาเทวดา สัตว์ และมนุษย์ พระหริย่อมเป็นองค์แห่งเพศชาย พระลักษมีย่อมเป็นองค์แห่งเพศหญิง นอกจากพระองค์ทั้งสองนี้แล้ว จะมีสิ่งใดได้ก็หาไม่เลย ฯ”

ส่วนเรื่องกำเนิดพระลักษมีจากเกษียรสมุทรนั้น มีมาในวิษณุปุราณะขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๙ เรื่องราวก็คล้ายกับที่มีอยู่ในรามายณะ ดังได้กล่าวมาแล้ว มีแปลกหน่อยแต่สาเหตุที่เกิดจะต้องกวนเกษียรสมุทรนั้น เป็นเพราะพระทุรวาสมุนีโกรธพระอินทร์ แช่งให้พระอินทร์หมดฤทธิ์ จึ่งแพ้พวกแทตย์และทานพ ต้องจัดการกวนเกษียรสมุทรเอาน้ำอมฤต และของสำคัญที่เกิดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรนั้น ก็มีแปลกกับรามายณะ และลำดับผิดกัน คือ (๑) นางโคสุรภี (๒) นางวารุณี คือสุรา (๓) ต้นปาริชาต (๔) อัปสร (๕) พระโสม (๖) พิษ ซึ่งนาคพากันกิน งูจึ่งมีพิษ (๗) ธันวันตรี ถือขันน้ำอมฤต (๘) พระลักษมี ฯ เรื่องกวนเกษียรสมุทรจะได้งดไว้กล่าวถึงในเรื่องกูรมาวตารต่อไป ในที่นี้จะเก็บข้อความแต่เฉพาะที่กล่าวถึงเรื่องกำเนิดพระลักษมีมาลงไว้ ดังต่อไปนี้ ฯ

“คราวนี้พระศรีเทวี ผู้เปล่งปลั่งโสภาคย์ จึ่งผุดขึ้นมาจากคลื่น ประทับบนดอกบัวบาน พระหัตถ์ถือดอกบัว ฯ อันพระสิทธาทั้งหลายพากันมีความโสมนัส ก็พร้อมกันสรรเสริญพระองค์ด้วยศรีสูกต์ (คือบทสรรเสริญพระศรี) ฯ วิศวาวสุและคนธรรพทั้งหลายก็ขับร้อง และนางฆฤตาจีและเทพอัปสรก็ฟ้อนรำต่อหน้าเทวี ฯ พระคงคาและมหานทีอื่น ๆ ต่างพากันมาชำระสระสนาน และเทพหัสดินก็พากันตักน้ำใสสะอาดด้วยหม้อทองมารดถวายพระเทวีผู้เป็นโลกราชินี ฯ พระเกษียรสมุทรนำพวงมาลัยดอกไม่รู้โรยมาถวายโดยตนเอง และพระเทพศิลปิน (วิศวกรรม) ก็ประดับพระองค์ด้วยทิพยาภรณ์ ฯ ครั้นเสร็จสระสรงทรงเครื่องแล้ว นางก็เข้าไปกอดพระหริต่อหน้าทวยเทพ และในขณะที่นางอิงแอบแนบพระองค์อยู่นั้นนางก็ชำเลืองดูทวยเทพ ซึ่งพากันมีความโสมนัสยินดียิ่ง แต่ฝ่ายพวกแทตย์มีท้าววิประจิตติเป็นนายก หารู้สึกเช่นนั้นไม่ แต่กลับมีความพิโรธเมื่อพระวิษณุเป็นเจ้าผันพระพักตร์ไปจากเขาทั้งหลาย และพระลักษมีก็ทอดทิ้งเขาทั้งหลายเสียแต่บัดนั้น ฯ”

พระลักษมีนั้น ข้างพราหมณ์นับถือว่าเป็นเทวีผู้เป็นแบบแผนแห่งนางงามทั่วไป ทั่งถือกันว่าเป็นเจ้าแห่งความรัก ความมั่งคั่ง และความเจริญ เพราะฉะนั้นจึ่งเป็นที่เคารพนับถือมาก จนมีคำพูดกันว่า ถ้าใครมั่งคั่งและเจริญเรียกว่าพระลักษมีโปรด ถ้าใครอับจนและได้ทุกข์ก็ว่าพระลักษมีทิ้งเสียแล้ว

ในรูปมักเขียนพระลักษมีเป็นนางงาม มีสีกายเป็นทอง นั่งบนดอกบัวมือถือดอกบัว บางตำหรับก็ว่ามี ๔ กร แต่โดยมากมักเขียน ๒ กรเท่านั้นเพราะ ๕ กรรงรังนัก

พระลักษมี มีนามเรียกกันต่าง ๆ มาก ที่ใช้บ่อย ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้) คือ หริปรียา (ที่รักแห่งพระหริ) ชลธิชา (เกิดแต่น้ำ) อินทิรา (งาม) โลกมาตา (มารดาโลก).

----------------------------

  1. ๑. วิษณุปุราณะ ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๓ มีมาตราเวลาอยู่ว่า:-

    ๑๕ นิเมษ (พริบตา ) - ๑ กาษฐา

    ๓๐ กาษฐา - ๑ กลา

    ๓๐ กลา - ๑ มหูรตะ

    ๓๐ มหูรตะ - ๑ วันกับคืน.

  2. ๒. ดู นารายน์สิบปาง พระราชนิพนธ์ ร. ๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ