พญาครุฑ

พญาครุฑเป็นพาหนะแห่งพระนารายน์ และมักกล่าวถึงอยู่ด้วยกันเนืองๆ เพราะฉะนั้นจึ่งสมควรที่จะกล่าวถึงกำเนิดและเรื่องราวไว้ในที่นี้บ้าง พอเป็นสังเขป

เรื่องที่กล่าวถึงพญาครุฑนั้น มีกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง แต่ปราชญ์อังกฤษผู้ ๑ ชื่อดับลยู. เย. วิลกินส์ ได้รวบรวมเรื่องพญาครุฑไว้ในหนังสือชื่อ “ฮินดูมิธอโลยิ” แสดงด้วยเรื่องเทวดาต่าง ๆ ในไสยศาสตร์ ข้าพเจ้าเก็บข้อความจากหนังสือฉบับนี้บ้าง จากหนังสืออภิธานนามในไสยศาสตร์ ของอาจารย์ ยอน เดาสัน อีกฉบับ ๑ เลือกสรรที่จุใจมาลงไว้ในที่นี้ ฯ

พระกัศยปประชาบดีมีชายาหลายนาง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ ๒ นาง ซึ่งมีนามเนื่องในเรื่องพญาครุฑ คือนางวินะตา ๑ นางกัทรุ ๑ เป็นพี่น้องกัน นางวินะตานั้นเป็นมารดาพญาครุฑกับพระอรุณ นางกัทรุเป็นมารดาแห่งนาคทั้งหลาย ฯ นางทั้ง ๒ นั้นไม่ชอบกัน และลูกต่อลูกก็เป็นอริกันด้วย ฯ สาเหตุที่จะวิวาทกันใหญ่นั้น คือ ๒ นางนั้นเกิดเถียงกันขึ้นถึงเรื่องสีม้า ซึ่งผุดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรเมื่อครั้งกวนอมฤต ถึงแก่ท้าพนันกันว่า ถ้าใครแพ้ต้องยอมเป็นทาสี เผอิญนางวินะตาแพ้ จึ่งต้องเป็นทาสีให้นางกัทรุและนาคผู้เป็นลูกใช้ ฯ ในมหาภารตมีเรื่องราวพิสดารกล่าวด้วยการที่พญาครุฑได้ช่วยมารดาให้พ้นจากกรรมกร เนื้อเรื่องเล่าโดยย่อมีอยู่ดังต่อไปนี้ ฯ

เหล่านาคมีความปรารถนาที่จะได้กินน้ำอมฤต เพื่อจะได้ไม่ตาย จึงตั้งข้อสัญญาไว้ว่า ถ้าพญาครุฑไปเอาพระจันทร์ ซึ่งมีน้ำอมฤตอยู่เป็นบ่อ ๆ นั้นมาให้เป็นค่าไถ่ จึ่งจะปล่อยตัวนางวินะตาให้พ้นจากกรรมกร พญาครุฑรับคำแล้วก็ไปหามารดาเพื่อขอเสบียงไปกินในกลางทาง นางก็สอนว่าให้ไปเที่ยวหากินตามริมฝั่งมหาสมุทร แต่กำชับว่าให้ระวังอย่ากินพราหมณ์ ให้กินแต่ผู้ที่ประกอบมิจฉาชีพ มีชาวประมงเป็นต้น ฯ พญาครุฑรับคำมารดาแล้วก็ลาไป จนถึงที่แห่ง ๑ เป็นหมู่บ้านชาวประมง พญาครุฑก็สูดเอาบ้านเรือน ต้นไม้ ปศุสัตว์ มนุษย์ และของอื่น ๆ ในที่นั้นกินเข้าไปหมด แต่ในหมู่คนที่อยู่นั้น เผอิญมีพราหมณ์อยู่คน ๑ ซึ่งพอพญาครุฑกลืนเข้าไปแล้วก็รู้สึกเร่าร้อนเป็นกำลัง รู้ได้ว่าได้กลืนพราหมณ์เข้าไปแล้ว จึงร้องบอกแก่พราหมณ์ว่าให้ออกมาเสียเถิด พราหมณ์ตอบว่ามีภรรยาอยู่คน ๑ เป็นลูกสาวชาวประมง ต้องให้นางนั้นออกมาด้วยพราหมณ์จึ่งจะยอมออกมา พญาครุฑก็ยอมตาม ฯ พญาครุฑบินต่อไปจนถึงพระกัศยปผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นดาวสถิตในนภากาศ พระบิดาก็ชี้ทางให้ไปหาอาหารที่ทะเลสาบแห่ง ๑ พญาครุฑไปก็พบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กันอยู่ เต่านั้นตัวยาว ๘๐ โยชน์ และช้างยาว ๑๖๐ โยชน์ พญาครุฑคีบเต่าด้วยตีน ๑ คีบช้างอีกตีน ๑ แล้วก็ไปจับบนต้นไม้ต้น ๑ สูง ๘๐๐ โยชน์ แต่ต้นไม้นั้นทนน้ำหนักไม่ไหว กิ่งก็ลั่นจะหัก และเผอิญบนค่าคบไม้นั้น มีพราหมณ์คนรูกำลังประชุมกันบูชายัญอยู่หลายพันคน พญาครุฑเกรงว่าพราหมณ์จะเป็นอันตราย จึ่งคาบกิ่งไม้ที่พราหมณ์ประชุมอยู่นั้นด้วยปาก คงถือช้างและเต่าไว้ด้วยตีน และบินไปจนถึงภูเขาแห่ง ๑ ในที่ไกลถิ่นมนุษย์ วางกิ่งไม้ลงโดยดีแล้ว จึ่งกินเต่าและช้างได้โดยสะดวก ฯ ต่อนี้ไปพญาครุฑได้ข้ามพ้นอันตรายต่าง ๆ อีกหลายอย่าง จนในที่สุดจึงไปถึงพระจันทร์ ฉวยพระจันทร์ได้แล้วก็เอาซ่อนใต้ปีกและบินกลับ ฯ มากลางทางพบพระอินทร์และทวยเทพซึ่งทราบเหตุว่าพญาครุฑลักน้ำอมฤตไปได้ เทวดาก็พากันเข้ารบพญาครุฑเพื่อชิงน้ำอมฤตคืน แต่พญาครุฑมีฤทธิ์มาก ทำลายวัชระของพระอินทร์เสียได้ แม้แต่พระนารายน์ก็เอาชำนะพญาครุฑมิได้ แต่พญาครุฑจะหนีพระนารายน์ก็ไม่พ้นเหมือนกัน ในที่สุดจึงตกลงทำสัญญาเป็นไมตรีกัน พระนารายน์ประทานพรให้พญาครุฑไม่ตายและสัญญาว่าจะให้นั่ง ณ ที่สูงกว่า ฝ่ายพญาครุฑยอมเป็นพาหนะแห่งพระนารายน์ ฯ เพื่อเหตุนี้แล พระนารายน์จึ่งทรงครุฑ และส่วนพญาครุฑก็ได้อยู่ในธงที่งอนรถพระนารายน์ อันเป็นที่นั่งที่สูงกว่า ๆ เรื่องนี้ในรามายณะก็มีเหมือนกัน ฯ

พญาครุฑกับพวกนาคนั้น เลยเป็นอริกันไม่มีที่สุด และจนชั้นบุตรหลานก็ยังคงเป็นศัตรูต่อกัน เพราะเหตุฉะนั้นพวกพราหมณ์เมื่อกลัวงูจึ่งออกนามพญาครุฑเพื่อให้งูกลัว ฯ

ส่วนรูปครุฑนั้น ตามตำหรับว่ามีศีรษะ ปีก และตีนเป็นนก แต่มีตัวเป็นคน หน้าสีขาว ปีกสีแดง ตัวเป็นทอง ฯ

พญาครุฑมีชายาชื่ออุนนะตี หรือวินายกา มีบุตรชื่อสัมปาตี (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียก “สัมพาที”) กับชดายุ (ซึ่งในรามเกียรติ์เรียก “สดายุ”)

ส่วนนามแห่งพญาครุฑนั้น มีอยู่เป็นอันมาก แต่ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ ได้เก็บมารวบรวมไว้ต่อไปนี้ คือ -

สุบรรณ - ปีกงาม

ครุตมัน - จอมนก

ทักษายะ - พอใจในความคล่องแคล่ว

ศาลมลิน - ผู้อยู่ต้นศาลมะลิ (งิ้ว)

ตรรกษยะ - (คำแปลเคลือบคลุม)

วินายก - ผู้ปัดเป่า (ความขัดข้อง)

สีตานน - หน้าขาว

รักตะปักษ์ - ปีกแดง

เศวตะโรหิต - ขาวแดง

สุวรรณกาย - ตัวทอง

คัคเนศวร - จอมฟ้า

ขะเคศวร - จอมนก

นาคานตก - ทำลายนาค

ปันนัคนาศน์ - ผลาญงู

สรรปาราติ - ศัตรูกับงู

อุรคาริ - อริแห่งงู

ตรัศวิน - ผู้ไปเร็ว

รสายน - วิ่งเหมือนปรอท

กามะจาริน - ผู้เที่ยวไปตามใจ

กามายุส - ผู้อยู่ตามสบาย

จิราท -- กินนาน

วิษณุรถ - ยานพระวิษณุ

วิษณุวาหน - พาหนะพระวิษณุ

สุเรนทรชิต -- ผู้ชำนะพระอินทร์

วัชระชิต - ผู้ชำนะวัชระ

ไวนะเตยะ – เกิดแต่นางเวนะตา

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ