พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔

ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์ ถึงท่านกลาง ถึงคุณสุรวงศวัยวัฒน์ ด้วยแต่ก่อนได้แจ้งความมาว่าออกเรือมาแหลมงอบถึงจันทบุรีในวัน ๓ ๕ ค่ำ รุ่งขึ้นวัน ๖ ๓ ค่ำ หยุดพักทำหนังสือส่งเมล์วันหนึ่งไม่ได้ขึ้นบกแห่งใด ครั้นวัน ๗ ๓ ค่ำ เวลาเช้าขึ้นไปพักอยู่บนเขาแหลมสิงห์ แต่เช้าจนค่ำจึงได้กลับลงมา ทูตอเมริกันโดยสารเรือเมล์ออกไปเมืองจันทบุรีได้ขึ้นไปพบกันบนเขาในเวลานั้นด้วย ครั้นวัน ๑ ๓ ค่ำ ลงเรือเล็กเรือกลไฟลากขึ้นไปจอดที่ท่าเมืองเก่าเหนือตลาด ขึ้นบกดูที่พักคนซึ่งจัดเปนทหาร แล้วขึ้นไปดูบนเนินเมืองเก่าซึ่งจะทำเปนที่โรงทหารต่อไป แล้วกลับลงมาเที่ยวตามตลาดจนตลอด ราษฎรพากันต้อนรับแขงแรง เดิมตระเตรียมกันว่าจะขึ้นไปแแต่แรกมาถึง มีผู้เอาผ้าขาวดาษเปนปรำหน้าตึกเพื่อจะมิให้แดดร้อนในเวลาไปซื้อของ มีผู้เห็นดีด้วยพร้อมกัน ทำปรำผ้าขาวต่อ ๆ กันจนตลอดถนนตลาด พื้นก็ปูด้วยเสื่อบ้างผ้าขาวบ้างต่อต่อกันไปจนตลอด ดูเปนที่ครึกครื้นเอิกเกริกชื่นชมยินดีกันมาก ไม่มีผู้ใดกะเกณฑ์ เวลาบ่ายกลับลงมาเรือ รุ่งขึ้นวัน ๒ ๑๐ ๓ ค่ำ หยุดพักเปนแต่ขึ้นบกที่ปากน้ำ ขี่ม้าไปเที่ยวตามบ้านตามไร่แถบเขาจำห้านทั้งเวลาเช้าเวลาเย็น พื้นที่งามนักเปนที่น่าเที่ยวเล่น รุ่งขึ้นวัน ๓ ๑๑ ๓ ค่ำ ไปที่น้ำตกพลิ้ว ขึ้นที่วัดท่าเรือคลองยายดำไปด้วยม้า ที่น้ำพุนั้นได้จัดการทำลู่ทางที่เที่ยวได้ทั่วถึงสนุกดี พระเจดีย์ศิลาแลงที่ให้พระยาจันทบุรี (โต) ทำไว้แต่ก่อนก็ยังบริบูรณ์ดีรูปร่างกีพอใช้ เปนแต่ปากระฆังโตไปหน่อยหนึ่ง ตั้งนามว่า จุลศิรจุมพฎเจดีย์ แลสุนันทานุสาวรีย์ที่ท่านกรมท่าไปทำนั้นก็ทำเรียบร้อยงามดี แลเปนของถาวรอยู่ได้นาน อนึ่งเมื่อถึงปากทางที่จะเข้าไปลำธารนั้นหลวงจีนอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ไปบักปรำตั้งโต๊ะเลี้ยงน้ำร้อนอยู่ข้างทาง ครั้นไต่ถามก็ได้ความว่ามาอยู่ที่วัดซึ่งสร้างมานานแล้ว ชวนให้เข้าไปดูที่วัด ว่ามีรอยพระบาทที่ไหล่เขาแลที่นั้นเปนที่หองซุ้ยดีตามธรรมเนียมจีน จะขอให้ช่วยสร้างวัดให้ เห็นว่าวัดนี้เปนที่นับถือของพวกจีน ว่าไปตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวไม่มีสัตว์ร้ายมาทำอันตรายได้ถึง ๑๐ ปีมาแล้ว ถึงรดูก็พากันไปถือศีลกินแจอยู่มาก ๆ จึงได้รับจะช่วยสร้างให้เปนการสงเคราะห์แก่พวกจีน ด้วยในเมืองจันทบุรีไม่มี่ที่อัน นอกจากวัดโรมันกาทอลิก ขากลับมาแยกทางไปทางตลาดพลิ้ว เดิรวกวนไปตามทางเกวียน ดูรูปพื้นบ้านเมืองที่ไร่นาต่างๆ ต้องลุยน้ำข้ามลำธารสองเแห่ง แต่เปนที่น่ายินดีว่าตั้งแต่มาเที่ยวครั้งก่อนจนครั้งนี้แปลกตาไปมาก ที่ไร่นาที่ทำๆขึ้นใหม่ๆ มีมากตั้งแต่ฝั่งน้ำมาเต็มตลอดจนถึงเขา เกือบจะไม่มีป่าเลยทีเดียว แลทางที่เดิรไปนั้นก็มิได้ตระเตรียมว่าจะไป แต่เมื่อไปถึงที่ใดราษฎรก็พากันมาตั้งเครื่องบูชาตามหน้าบ้านคอยอยู่แล้วทุกแห่ง ตั้งแต่โต๊ะจีนลงไปจนเทียนเล่มธูปเล่มเปนที่สุด มิได้เว้นเลย ตัวก็พากันประชุมอยู่หน้าบ้าน ไม่ว่ายักย้ายไปทางใดก็คงพบอย่างนั้นทั้งสิ้น สุดแต่นั่งลงแห่งใด หรือเดิรไปแห่งใด ก็มีแต่ราษฎรเอาของมายื่นให้ ไม่ว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ส้มหน่วยกล้วยใบก็ตามยื่นเกรียว ๆ ไป กลับมาลงเรือที่วัดทำเรือตามเดิม ล่องกลับลงมาเรือเวสาตรีเวลาค่ำ ครั้นรุ่งขึ้นวัน ๔ ๑๒ ๓ ค่ำ ไปขึ้นที่เมืองใหม่ เดิรผ่านเข้าไปในกำแพงเมืองออกประตูหลังเมืองไปตามเนินเลี้ยวลงตลาดบางกระจะพักที่ศรีพระยาสองชั่วโมง แล้วออกจากศรีพระยาเดิรบนเนินไปตามทางเกวียนซึ่งมิได้สั่งไว้ก่อน ราษฎรก็พากันคอยต้อนรับเหมือนเวลาวานนี้ตลอดไป กลับมาลงเรือที่ท่าคลองน้ำใสแล้วขึ้นไปเมืองเก่า เพื่อจะได้รับของซึ่งให้ช่างทองเมืองจันทบุรีทำ จอดอยู่ที่หน้าบ้านญวน พวกเด็กๆลูกญวนท่องน้ำลงมาหาประมาณสักร้อยเศษ ดูน่ารักมาก แจกเงินให้ทุกคนแล้วเล่นกันเกรียวกราวอยู่จนค่ำ เวียนแต่ขนของลงมาให้คนละเล็กละน้อยไม่ได้หยุดเลย จนไม่มีที่จะประทุกคนละสามเที่ยวสี่เที่ยว ที่สุดจนหมากแห้งกำมือหนึ่งก็เอามาให้ กลับมาน้ำแห้งถึงเรืออยู่ข้างจะดึกไป

รุ่งขึ้นวัน ๕ ๑๓ ๓ ค่ำ เดิมคิดว่าจะออกจากเมืองจันทบุรีในเวลาเช้าวันนี้ แต่เราเห็นว่าคนเหน็จเหนื่อยมาติด ๆ กันแลยังไม่ได้ให้รางวี่รางวัลอันใด จึงได้รออยู่อีกวันหนึ่ง แจกเสื้อคนที่เหน็จเหนื่อยแลให้เงินสำหรับแจกไพร่สิบชั่ง เวลาบ่ายขึ้นเดิรเล่นที่บ้านปากน้ำ เวลาดึกเรือเมล์มาถึงได้รับหนังสือกรุงเทพ ฯ ทั้งหมด แต่หามีเวลาจะตอบไม่ ด้วยเรือเมล์จะเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ ภายหลังจึงงดไว้ตอบที่กรุงเทพ ฯ ทีเดียว

รุ่งขึ้นวัน ๖ ๑๔ ๓ ค่ำ รับของฝากกรุงเทพ ฯ จากเรือเมล์แล้วเวลา ๒ โมงเช้าจึงได้ออกเรือจากเมืองจันทบุรี ตรงมาทอดนอนที่แสมสาร กรมการแจ้งความว่าได้ปักเสาโทรเลขในแขวงเมืองระยองแล้วได้สักครึ่งหนึ่ง ยังสักครึ่งหนึ่ง เขาทำการได้โดยรวดเร็วมาก จะพาดสายเมื่อใดก็เห็นจะได้

รุ่งขึ้นวัน ๗ ๔ ค่ำ ออกเรือจากแสมสารมาแวะสีชัง ถึงในเวลาบ่ายโมงเดี๋ยวนี้ จึงได้จัดให้เรือกลไฟเล็กถือหนังสือระยะทางเข้ามาแจ้งความให้ทราบก่อน กำหนดเวลาพรุ่งนี้กลางวันจะขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ

หนังสือเขียนในเรือพระที่นั่งเวสาตรี ที่เกาะสีชัง วัน ๗ ๔ ค่ำ ปีวอกฉอ๑๗ศก ศักราช ๑๒๔๖

สยามินทร์

  1. ๑. ทูตอเมริกันคนนี้ชื่อ ชาลส์ ฮันเดอแมน (Charles A. Halderman)

  2. ๒. ชื่อ ซกหัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ