นิทานเรื่องที่ ๕ เรื่องสัตว์เดรฉานร้องทุกข์ต่อพระเจ้าเนาวสว่าน

เหลี่ยม ๕ นั้นจารึกไว้เปนนิทานว่า ในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าเนาวสว่านถามแก่ราชครูทั้งสี่ว่า เหตุใดเหยี่ยวนั้นอายุสั้น นกกระจอกนั้นมีอายุยืน พระราชครูกราบทูลว่า เหยี่ยวนั้นอายุสั้นด้วยใจฉกรรจ์ทำข่มเหงแก่เพื่อนสัตว์ แลนกกระจอกอายุยืนเหตุว่ามิได้ข่มเหงแก่เพื่อนสัตว์ นกกระจอกอายุจึ่งยืน ขอพระองค์เจ้าอยู่ในทำนองคลองธรรมเถิด พระชัณษาพระองค์ก็จะยืน แลพระเจ้าเนาวสว่านเห็นจริงด้วย จึ่งหารือแก่ราชครูทั้งสี่ ว่าถ้าราษฎรจะมีกิจศุขทุกข์ ผู้ใดทำข่มเหงแก่ราษฎร ๆ จะร้องฟ้องแก่เสนาบดีจะให้เอาเนื้อความกราบทูลแก่เราเกลือกเสนาบดีจะเห็นแก่กันมิได้เอาธุระนิ่งเนื้อความผู้ยากนั้นเสีย ราษฎรทั้งปวงจะได้ความเดือดร้อน ทำไฉนความแค้นของราษฎรจะได้แจ้งถึงเรา ราชครูทั้งสี่ปฤกษากันกราบทูลว่า อันพระองค์เจ้าตรัสเอนดูแก่อาณาประชาราษฎรนั้น ควรด้วยเกล้ากระหม่อมแล้ว บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุข แลความทรงธรรมก็จะเลื่องฦๅอยู่ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ แลพรของราษฎรก็จะค้ำชูพระองค์เจ้าจะปราศจากโรคภัย พระชัณษาของพระองค์เจ้าก็จะยืน อันว่าเสนาบดีสัตย์ซื่อควรจะต่างพระเนตร์พระกรรณได้ จึ่งจะตั้งให้เปนเสนาบดี แลซึ่งจะนิ่งเนื้อความของราษฎรเสียนั้นเห็นมิบังควร จึ่งพระเจ้าเนาวสว่านตรัสแก่พระราชครูทั้ง ๔ ว่าเราคิดว่าจะให้ทำระฆังแขวนไว้ ถ้าราษฎรมีศุขทุกข์ร้องฟ้องแก่เสนาบดีเห็นแก่กันมิได้เอาธุระ ก็ให้มาชักสายระฆังเราจะได้แจ้งทุกข์ของราษฎรทั้งปวง พระราชครูทั้ง ๔ จะเห็นประการใดเล่า แลพระราชครูทั้ง ๔ กราบทูลว่า พระองค์เจ้านี้คิดควรนักหนา แลซึ่งผู้จะทำข่มเหงราษฎรเห็นแก่กันก็จะเกรงกลัว แลราษฎรทั้งปวงจะได้อยู่เย็นเปนศุข จึ่งพระเจ้าเนาวสว่านสั่งให้ทำระฆังแขวนไว้ใกล้แต่พอชักได้ยินเสียงระฆัง อยู่กาลวันหนึ่งแม้ ของช่างประมกตัวหนึ่งมาคาบสายระฆังนั้นชัก พระเจ้าเนาวสว่านได้ยินเสียงระฆัง ให้คนเร็วออกมาดูเห็นแม้ตัวหนึ่งยังแต่หนังหุ้มกระดูกเดินนั้นก็หาแรงมิได้ แลคนเร็วเอาแม้จูงเข้าไปกราบทูลแก่พระเจ้าเนาวสว่าน ๆ เห็นแม้ผอมนักจึ่งตรัสว่า ดีร้ายจะมีเหตุ ให้ไปสืบเจ้าของแม้นั้นมา คนเร็วไปสืบช่างประมกเจ้าของแม้นั้น พาเอาตัวมาน่าพระที่นั่งแล้วถามช่างประมกว่า แม้นี้ของผู้ใด เหตุอันใดจึ่งผอมนัก ช่างประมกให้กราบทูลว่า แม้ตัวนี้เปนของข้าพเจ้า เดิมแม้หนุ่มอยู่นั้นข้าพเจ้าบรรทุกผ้าบนหลังไปมาทุกวัน ข้าพเจ้าปรนให้กินจึ่งแม้พีอยู่ ครั้นแม้แก่แล้วว่าข้าพเจ้าจึ่งปล่อยเสียให้ไปหากินเอง จึ่งแม้ผอมลงฉนี้ ครั้นพระเจ้าเนาวสว่านได้ทรงฟังก็ตรัสว่า เมื่อแม้หนุ่มใช้การปรนให้กินได้ ครั้นแม้แก่หาแรงมิได้ขับให้ไปกินเองนั้นมิชอบ ให้ช่างประมกเอาเข้าแลหญ้ามาปรนทุกวันกว่าแม้จะพีดังเก่า แลช่างประมกได้ยินพระเจ้าเนาวสว่านตรัสดังนั้น ก็ปรนแม้ให้กินทุกวันตามรับสั่ง แม้นั้นก็พีขึ้นดังเก่า เนื้อความนี้เลื่องฦๅไปว่า พระเจ้าทรงธรรมแต่สัตว์มาฟ้องยังเอาธุระ แลหญิงเถ้าผู้หนึ่งได้ยินดังนี้ก็เข้ามาสำหรับระฆังชัก พระเจ้าเนาวสว่านได้ยินเสียงระฆัง จึงสั่งคนเร็วให้ไปดู คนเร็วเห็นหญิงเถ้าคนหนึ่งก็พามาน่าพระที่นั่ง พระเจ้าเนาวสว่านสั่งให้ถามหญิงเถ้านั้น ว่าผู้ใดทำข่มเหงประการใด จึ่งมาชักสายระฆัง หญิงเถ้าให้การกราบทูลว่า เดิมทีบ้านข้าพเจ้าได้อยู่มาแต่ผู้เถ้าผู้แก่สืบ ๆ กันมาจนถึงข้าพเจ้า อายุข้าพเจ้าได้ถึงเพียงนี้ ผู้ใดจะได้ทำข่มเหงข้าพเจ้าหามิได้ แลบัดนี้สาลิมนตรีทำข่มเหงทลายเรือนข้าพเจ้าเสียแล้วสาลิมนตรีปลูกเรือนลงที่บ้านข้าพเจ้า แลข้าพเจ้าเปนคนยากจนใครจะเห็นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึ่งนิ่งเนื้อความมาถึงเดือนหนึ่งแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าได้ยินว่า พระเจ้าทรงธรรมแต่สัตว์มาฟ้องยังเอาธุระให้สำเร็จได้ จึ่งข้าพเจ้ามาชักสายระฆังหวังจะให้แจ้งใต้ลอองธุลีพระบาท จึ่งพระเจ้าเนาวสว่านให้หาสาลิมนตรีมาถาม สาลิมนตรีให้การว่าข้าพเจ้าปลูกเรือนลงที่บ้านหญิงเถ้านั้นจริง ข้าพเจ้าให้เงินค่าที่หญิงเถ้ามิเอา พระเจ้าเนาวสว่านจึงตรัสว่า สาลิมนตรีทำข่มเหงจริงอยู่แล้ว จึ่งพระเจ้าเนาวสว่านให้ถลกหนังสาลิมนตรีเสียบไว้ที่บ้านนั้น แล้วไปป่าวร้องราษฎรทั้งปวงมาดู อย่าให้ดูเยี่ยงสาลิมนตรีสืบไป แต่พระเจ้าทรงธรรมให้ทำแก่สาลิมนตรีดังนั้น เสนาบดีแลราษฎรก็มิข่มเหงแก่กันเลย บ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุขด้วยพระเจ้าทรงธรรมนั้นแล ฯ

  1. ๑. ที่แปลว่า “แม้” ในนิทานนี้ เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ฬ่อ คือสัตว์อันเกิดแต่ม้ากับลาประสมกัน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ