นิทานเรื่องที่ ๑๐ เรื่องพระเจ้าวะดินซาพิพากษาโทษพระราชบุตร์

เหลี่ยม ๑๐ นั้นจารึกไว้เปนนิทานว่า ยังมีพญาองค์หนึ่งทรงพระนามพระเจ้าวะดินซาเสวยราชสมบัติณเมืองเอกราชได้ ๓ ปี แลตรัสแก่เสนาบดีว่า ทำไฉนเราจะแจ้งว่าอาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้นอยู่เย็นเปนศุขหรือประการใด เสนาบดีทั้งปวงกราบทูลว่า เดชะพระบาทพระองค์เจ้าปกเกล้าฯ ข้าพเจ้าแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงอยู่เย็นเปนศุขหาภัยอันตรายมิได้ พระเจ้าวะดินซาก็มีความยินดีไว้แต่ในพระหฤทัย มิช้ามินานพระเจ้าวะดินซาทรงประชวร จึ่งตรัสแก่เสนาบดีว่า แพทย์จะต้องการดินที่เรือนร้างแต่ใน ๓ ปี เจ้าเรือนละเสียหาผู้ใดจะอยู่มิได้นั้น จะปั้นรูปเท่าพระองค์เราเสดาะพระเคราะห์ พระโรคเราจะคลาย ให้เสนาบดีสั่งไปทุกอำเภอ จะได้อำเภอละกี่เรือนนั้นเอาดินมาแต่เรือนละหยิบ อำเภอหนึ่งจะได้มากน้อยเท่าใด ให้กฎหมายเอามาให้แจ้งจงทุกอำเภอ เสนาบดีก็ทำตามรับสั่ง ไปสืบดูในเมืองนอกเมืองรอบแขวงจังหวัด เห็นราษฎรอยู่เย็นเปนศุขจะได้มีเรือนร้างเซก็หามิได้ ไปพบนอกเมืองเรือนเดียว จึ่งให้เอาดินนั้นมาถวาย แลกราบทูลว่าได้ไปเที่ยวดูทุกอำเภอมีแต่มั่นคงพร้อมมูลกันอยู่ จะได้มีเรือนร้างเซแต่นอกไปกว่านี้หามิได้ พระเจ้าวะดินซาจึงให้ไปเอาตัวนายอำเภอที่บ้านเรือนร้างนั้นมาถามว่า เจ้าเรือนหนีไปไหนมีเหตุผลประการใด จึ่งเจ้าเรือนละเรือนเสียดังนี้ นายอำเภอแลเพื่อนบ้านให้การกราบทูลว่า เจ้าเรือนนั้นเปนชาวเมืองอื่นมาค้าขายอาศรัยอยู่จนถึงมรสุมแล้วกลับไป จะได้มีเหตุผลสิ่งใดหามิได้ พระเจ้าวะดินซาได้ยินกราบทูลดังนั้น จึ่งมาแจ้งว่าบ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุขเย็นพระหฤทัย ซึ่งพระโรคนั้นก็คลายลง

อยู่มิช้ามินานเขือผู้หนึ่งซึ่งไปค้าในเมืองบาดกชานนั้นกลับมาได้ปัทมราชมาเมล็ดหนึ่งเห็นราคามากจะเอาไว้นั้นมิควร จึ่งเอามาถวายแก่พระเจ้าวะดินซา ๆ ให้ตอบแทนพระราชทานเปนอันมากแล้ว สั่งให้ช่างทองมาผูกเรือนพระธำมะรงค์ แลช่างทองก็รับเอาไปทำ ครั้นทำเรือนทองแล้ว ยกพระธำมะรงค์ขึ้นพเอิญตกลงจากมือถูกน่าทั่งปัทมราชแตกออกเปนสองซีก ช่างทองก็ตกใจ มาคิดว่าถึงจะขายกันสิ้นทั้งพวกก็จะใช้ค่าปัทมราชนั้นมิได้ คิดดังนั้นก็ทุกข์ตรอมผอมไผ่มิได้กินอาหาร คิดหวังแต่จะใคร่ตาย แลพระเจ้าวะดินซาสั่งแก่มหาดเล็กว่า ช่างทองเอาปัทมราชไปผูกเรือนหลายวันแล้วมิได้เอามาให้ ๆ เร่งเอามาจะทอดพระเนตร์ แลมหาดเล็กก็ไปหาช่างทองมา นายช่างทองก็ตกใจหน้าเผือดหาขวัญมิได้ ครั้นถึงน่าพระที่นั่งพระเจ้าวะดินซาทอดพระเนตร์เห็นช่างทองโศกเศร้ารูปร่างผิดไปกว่าแต่ก่อน หลากในพระหฤทัยจึ่งตรัสถามช่างทองว่า รูปร่างผิดไปกว่าแต่ก่อนดังนี้เปนเหตุสิ่งใดให้ว่าเถิด ช่างทองจึ่งแก้ปัทมราชนั้นออกถวายพระเจ้าวะดินซา ๆ ทอดพระเนตร์เห็นปัทมราชแตกออกเปนสองซีก จึ่งคิดในพระหฤทัยว่าช่างทองโศกเศร้าด้วยเหตุฉนี้ ถ้าจะมิเอาน้ำใจช่างทอง ๆ ก็จะถึงแก่ความตาย ตรึกในพระหฤทัยดังนั้นแล้ว มิทันให้ช่างทองกราบทูล จึ่งตรัสว่าปัทมราชแต่ก่อนเมล็ดเดียว บัดนี้ตกแตกออกเปนสองซีกนั้น เหมือนในพระหฤทัยเราคิดแล้ว แต่ว่ายากแก่ใจช่างทองซึ่งจะทำพระธำมะรงค์แต่องค์เดียวนั้น จะต้องทำเปนสององค์ แลช่างทองได้ยินพระเจ้าวะดินซาตรัสดังนั้น ความทุกข์ซึ่งหมกไหม้อยู่ในใจนั้นก็คลายออก แลหน้าซึ่งโศกเศร้าอยู่นั้นก็ชื่นบานสดใสในบัดเดียวนั้น แลช่างทองกราบถวายบังคมสรรเสริญพระเดชพระคุณแลทูลว่าปัทมราชนี้พลัดมือตกถูกน่าทั่งแตกนั้นโทษข้าพเจ้าถึงตายแล้ว แลพระองค์เจ้าตรัสใส่เกล้าฯ ข้าพเจ้าทั้งนี้ เหมือนหนึ่งพระราชทานชีวิตร์ข้าพเจ้าให้เปนคืนใหม่ ครั้นพระเจ้าวะดินซาได้ยินช่างทองกราบทูล ก็ทรงพระเมตตาตรัสว่าอย่าทุกข์ตรอมเลย เอาปัทมราชนี้ไปทำพระธำมะรงค์มาเปนสององค์เถิด แล้วพระราชทานเสื้อผ้าแก่ช่างทอง ๆ ก็ชื่นชม เอาปัทมราชไปทำพระธำมะรงค์มาถวาย

ทันใดนั้นมนตรีผู้หนึ่งกราบทูลว่าอันปัทมราชนี้หายากนัก แลช่างทองนี้มิได้มีอัชฌาศรัยทำให้แตก ควรจะให้ลงพระราชอาญาเสียอีก แลพระองค์เจ้ามาโปรดพระราชทานเสื้อผ้าแก่ช่างทองทั้งนี้ ช่างทองทั้งปวงก็จะดูเยี่ยงไป พระเจ้าวะดินซาตรัสแก่มนตรีว่า กราบทูลเราทั้งนี้ก็ชอบอยู่แล้ว แต่มนุษย์นั้นใคร่ห่อนจะให้ผิด เปนเพราะบาปเพราะเคราะห์ด้วยอกุศลเข้าแซกจึ่งเปนดังนี้ จะให้ช่างทองใช้ปัทมราชอย่างนี้ก็หายาก แลรูปพรรณช่างทองแต่เพียงนี้ที่ไหนจะหามาใช้ได้ แลซึ่งจะลงพระราชอาญานั้นก็จะตายเปล่า ของก็จะไม่ได้ ความครหานินทาก็จะเลื่องฦๅอยู่ อันธรรมเนียมพระมหากระษัตริย์จำจะโปรดอาณาประชาราษฎร ๆ นั้นประดุจหนึ่งอิฐกำแพงเมือง ถ้ามิโปรดจะฆ่าเสียนั้นประดุจหนึ่งขุดอิฐรากกำแพงออกเสีย เสนามนตรีกราบถวายบังคมทูลสรรเสริญพระเดชพระคุณ อันว่าพระองค์โปรดฉนี้จะเลื่องฦๅเปนฉบับธรรมเนียมอยู่ในโลกนี้ จะได้เปนอย่างเปนธรรมเนียมสืบไป

อยู่มาพระเจ้าวะดินซาตรัสแก่เสนาบดีว่า เหตุใดเราเข้าที่บรรธมเรามิได้หลับถึง ๓ ราตรี แล้วพระกายเราก็ร้อนประดุจหนึ่งลนเพลิงฤๅจะว่าผู้ใดข่มเหงแก่ราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนประการใด ให้เสนาบดีสืบเนื้อความมา มนตรีผู้หนึ่งไปสืบปากราษฎรนอกเมืองไปพบผู้เถ้าผู้หนึ่งณกลางป่า ฉีกเสื้อผ้าแล้วเอาดินโปรยบนศีศะกลิ้งเกลือกร้องไห้ตรากตรำแดดอยู่ที่กลางดิน มนตรีจึงถามผู้เถ้าว่า เหตุอันใดจึงมากลิ้งเกลือกอยู่ดังนี้ จึ่งผู้เถ้าร้องไห้แล้วเล่าให้มนตรีฟังว่าพระราชโอรสของพระเจ้าวะดินซาเสด็จมาเห็นบุตรข้าพเจ้าถือกรงนกสาลิกาอยู่ พระราชโอรสชิงเอานกสาลิกาของบุตรข้าพเจ้า ๆ ไม่ให้ พระราชโอรสเอาดาบฟันบุตรข้าพเจ้าตาย แล้วเอานกสาลิกาไป แลข้าพเจ้ายากจนหาที่ไปร้องฟ้องแก่ผู้ใดมิได้ ถ้าราษฎรเหมือนกันทำข่มเหงข้าพเจ้าจะได้ไปร้องฟ้องแก่เสนาบดี บัดนี้พระราชโอรสทำนั้นข้าพเจ้าจะไปร้องฟ้องแก่ผู้ใด ๆ จะเอาธุระข้าพเจ้า ๆ จนในความคิดแล้วจึ่งข้าพเจ้าฟ้องแก่พระผู้เปนเจ้าอันให้บังเกิดโลกทั้งปวง เห็นว่าจะเอาธุระข้าพเจ้า แลบุตรข้าพเจ้าตายได้ ๔ วันแล้ว ศพก็ยังตกอยู่ แลมนตรีนั้นก็ดูเห็นศพแล้ว จึ่งพาผู้เถ้านั้นเข้ามา เอาเนื้อความกราบทูลแก่พระเจ้าวะดินซา ๆ ทรงพระโกรธ ให้หาพระราชโอรสมาถามว่าเหตุใดมาทำฉนี้ พระราชโอรสกราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอซื้อนกสาลิกาแก่บุตรผู้เถ้านี้มิให้ แล้วชิงจากมือข้าพเจ้า ๆ โกรธจึ่งฟันบุตรผู้เถ้าคนนี้ตายจริง ครั้นพระเจ้าวะดินซาได้ยินพระราชโอรสกราบทูลดังนั้นก็ยิ่งทรงพระโกรธ ให้คุมพระราชโอรสไว้แล้ว สั่งให้เสนาบดีไปปลูกพลับพลานอกเมืองตรงที่พระโอรสฟันเด็กตายนั้น เสนาบดีปลูกพลับพลาแล้ว เข้ามากราบทูลพระเจ้าวะดินซา ๆ เสด็จออกไปที่พลับพลาแล้ว สั่งให้เอาพระราชโอรสออกไปจะให้ฆ่าเสียณที่ฟันเด็กตายนั้น ในทันใดนั้นอรรคมหาเสาบดีผู้ใหญ่กราบทูลพระเจ้าวะดินซาว่า พระองค์เจ้าทรงพระมหาปัญญาอยู่ในทำนองคลองธรรม จะมิให้ผู้ใดข่มเหงแก่ไพร่พลเมือง จะให้อาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเปนศุข ซึ่งพระราชโอรสทำผิดฆ่าเด็กให้ตาย แลพระองค์เจ้าจะให้ฆ่าพระราชโอรสนั้นก็ควรด้วยเกล้าฯ แล้ว แต่ว่าพระราชโอรสนั้นดุจหนึ่งรัศมีในดวงพระเนตร์พระองค์เจ้า แลจะฆ่าพระราชโอรสเสียนั้น รัศมีในดวงพระเนตร์ก็จะเสื่อมสูญไป ใช่ว่าเด็กนั้นจะเปนขึ้นมาก็หามิได้ แลในบทพระคัมภีร์มีอยู่ว่า ถ้าทำผิดสิ่งใดให้ไถ่โทษตามพระคัมภีร์ ขอพระราชทานชีวิตร์พระโอรสไว้ ครั้นพระเจ้าวะดินซาได้ยินอรรคมหาเสนากราบทูลดังนั้นจึ่งตรัสว่า ซึ่งอรรคมหาเสนากราบทูลว่าพระราชโอรสดุจรัศมีในดวงพระเนตร์นั้นควรอยู่แล้ว แลซึ่งจะฆ่าพระราชโอรสเสีย ว่ารัศมีในดวงพระเนตร์จะเสื่อมสูญไปนั้น เราไม่เห็นสม อันเปนพระมหากระษัตริย์รัศมีซึ่งจะเห็นสิ่งใดนั้น มิใช่ว่าจะไว้แก่พระองค์ไว้แก่เสนาบดีทั้งหลาย อันพระมหากระษัตริย์นั้นเอาไว้แต่พระกรรณฟังคำเสนาบดีต่างพระเนตร์ แลซึ่งจะให้ไถ่โทษพระราชโอรสนั้น ใช่ว่าเปนราษฎรเหมือนกันจะได้หลาบจำ ด้วยว่ากลัวจะเสียพัสดุทองเงินอันพระราชโอรสนั้นถึงจะเสียทองเงินสักเท่าใดก็ดี ที่ไหนจะหลาบจำ ชอบให้ฆ่าพระราชโอรสเสียจึ่งจะควร มนตรีผู้หนึ่งกราบทูลว่า พระองค์เจ้าตรัสใส่เกล้าฯ ว่าพระเนตร์ไว้แก่เสนาบดี แลพระองค์เจ้าไว้แต่พระกรรณต่างพระเนตร์นั้น ทรงพระปัญญายิ่งนัก ตรึกในพระทัยดังนี้ ควรด้วยเกล้าฯ แล้ว ข้าพเจ้าผู้เปนเสนาบดีอยู่ใต้ลอองธุลีพระบาทนั้น เห็นว่าอันธรรมเนียมผลมะม่วงเมื่ออ่อนนั้นฝาดเปรี้ยว ครั้นแก่จัดแล้วรสนั้นจึ่งหอมหวานเปนที่ชื่นใจราษฎรทั้งปวง อันผลมะม่วงนั้นจะเปนมะขามหามิได้ แลพระราชกุมารนั้นเปนพระราชโอรสแห่งพระองค์เจ้า บัดนี้ยังทรงพระเยาว์อ่อนอยู่ ถ้าแลได้ผ่านพิภพแล้วก็จะเมตตาแก่อาณาประชาราษฎรดุจหนึ่งพระองค์เจ้าฉนั้น ข้าพเจ้าขอพระราชทานไถ่โทษ จะขอแต่ชีวิตร์พระราชโอรสจะเรียกเอาทานบลไว้ พระราชโอรสก็จะกลัวแก่ทานบลจะมิได้ทำสืบไป พระเจ้าวะดินซาจึ่งตรัสตอบว่า อันมนตรีกราบทูลขอโทษพระราชโอรสว่า ประดุจหนึ่งผลมะม่วงเมื่อดิบนั้นฝาดเปรี้ยว สุกแล้วจึ่งหวานนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่าเสนาบดีเห็นสิ่งใดกราบทูลแก่เรานั้น เราเปนพระมหากระษัตริย์ทรงธรรมจำจะปฤกษาก่อน ในปฤกษาเราเห็นว่าผลมะม่วงนั้นว่าจะดีอยู่หามิได้ บัดนี้เปนด้วงจับแต่อ่อนไปแล้ว ถึงจะแก่ก็ไม่โอชารส ที่ไหนจะชื่นน้ำใจราษฎร อันไม่ชื่นน้ำใจราษฎรจะเปรี้ยวเข็ดยิ่งกว่ามะขามอิก แลว่าเปนความคิดเด็กอยู่นั้นที่ไหนจะกลัวแกทานบลเล่า ชอบฆ่าเสียจึ่งจะควร มนตรีผู้หนึ่งกราบทูลสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าวะดินซาว่า พระองค์เจ้านั้นทรงพระกรุณาส่องแจ้งใจทั่วโลก ประดุจหนึ่งพระอาทิตย์ ขอให้พระองค์เจ้าปฤกษาก่อน พระองค์เจ้ารักพระราชกุมารนั้นประดุจหนึ่งแก้วในดวงจิตร์ ด้วยโปรดอาณาประชาราษฎรนั้น จะประหารทำลายดวงแก้วเสียนั้นมิควร สิ่งใดซึ่งรักแล้วนั้นเปนที่รำฦก รำฦกแล้วมิได้เห็นย่อมโศกเศร้าจะขุ่นหมองในพระหฤทัย ถ้าขุ่นหมองแล้วเสนาบดีจะว่าราชการระงับทุกข์ของราษฎรนั้นก็ขัดสน ราษฎรก็จะได้ความเดือดร้อนนัก ข้าพเจ้าจะขอพระราชทานชีวิตร์พระราชโอรสไว้ ข้าพเจ้าจะขอทำทานบลถวายแทนพระราชโอรส ถ้าพระราชโอรสทำดุจครั้งนี้อิก ขอให้ฆ่าข้าพเจ้าเสียด้วยพระราชโอรสเถิด ครั้นพระเจ้าวะดินซาได้ยินมนตรีกราบทูลขอโทษพระราชโอรสดั่งนั้น ตรัสตอบว่าควรแล้ว ซึ่งเราตั้งให้เปนมนตรีผู้ใหญ่ว่ากล่าวทั้งนี้ เห็นว่ารักเชื้อพระวงศ์จะให้ครองราชสมบัติสืบไป แต่ซึ่งว่ารักแล้วเปนที่รำฦกเกรงเราจะเศร้าหมองนั้น ใช่ว่ามีแต่รักสิ่งเดียว ความโกรธและกลัวบาปกรรมก็มีอยู่ด้วย ธรรมเนียมว่าโกรธแล้วกลัวนั้น จึ่งจะล้างความรักได้ ถ้าเรารักราษฎรให้ฆ่าพระราชโอรสเสียจึ่งจะควร มนตรีผู้ใหญ่กราบทูลตอบพระเจ้าวะดินซาว่า ซึ่งพระองค์ตรัสว่ากลัวบาปจึ่งจะสูญเสื่อมหายนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพระองค์เจ้าว่ารักจริงแต่กลัวบาปนั้น ซึ่งพระองค์จะให้ฆ่าพระราชกุมารเสียนั้นไม่มีบาปฤๅ ถึงฆ่าพระราชกุมารเสียแล้ว ใช่บุตร์ยายจะเปนคืนมาก็หาไม่ บาปจะยิ่งซ้ำเติมไปอิก พระราชกุมารทำผิดให้รู้ทั่วแผ่นดิน พระองค์เจ้าทรงธรรมจะให้ฆ่าพระราชกุมารเสีย จะฦๅอยู่ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ แลพระเจ้าวะดินซาตรึกในพระทัยแล้ว จึ่งให้เสนาบดีปฤกษา ๆ พร้อมกันแล้วกราบทูลว่า ในบทพระคัมภีร์มีอยู่ว่าฆ่าท่าน ๆ ฆ่าตน ครั้นจะให้ฆ่าพระราชกุมารเสียเห็นไม่ควร พระราชกุมารจะได้ผ่านพิภพแทนพระองค์ จะได้ปกเกล้าฯ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ข้าพเจ้าเห็นพร้อมกันให้พระราชกุมารไถ่โทษ เอาทองมากองให้สูงเทียมองค์พระราชกุมารพระราชทานให้เจ้าบุตร์ผู้ตาย จึ่งจะได้ฦๅทั่วนา ๆ ประเทศ ว่าแต่พระราชกุมารผิดพลั้งยังต้องให้ไถ่โทษตัวเพราะพระองค์ทรงธรรม อันพระมหากระษัตริย์ในชมพูทวีปไม่เสมอพระองค์แล้ว เสนาบดีทูลเตือนพระราชกุมารว่า ให้เสวกไปขนเอาทองมากองให้เทียมพระองค์ แล้วจึ่งพระราชกุมารสั่งเสวกให้ไปขนเอาทองมาให้แก่ยายเถ้า แลเสวกบริวารพระราชกุมารก็ไปขนทองมากองให้พระราชกุมาร ๆ เสด็จลงมายืนใต้กองทอง แล้วว่าแก่ยายเถ้าว่า อย่าให้พยาบาทชั่วนี้ชั่วน่าสืบไปเลย ยายเถ้ากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้พยาบาทแก่พระองค์สืบไป แล้วขอให้พระชนมายุของพระองค์ยืนไปตราบเท่ากำหนด ครั้นเสร็จแล้วเสวกบริวารก็ขนทองไปให้ถึงเรือนยายเถ้า ๆ ก็มั่งมีเปนเศรษฐี เพราะพระองค์ทรงธรรมแก่ยายเถ้านั้นแล ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ