บทที่ ๗ - เมืองบิตุราชและมาตุภูมิ

หลายวันมาแล้ว มีกองชนารณพจากนครพาณิชยเกตุ เข้ามาตั้งพักอยู่ในบริเวณท้ายหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ภายในเขตของกรุงเทวะปุระ ซึ่งบรรดาพ่อค้าและเหล่าสินค้าทั้งหลายเหล่านั้น มีหัวหน้าหรือผู้นำนายคันธวณิชผู้หนึ่ง แต่มีคนเปนส่วนน้อยมาก ที่จะได้ทราบว่า นายคันธวณิชผู้นี้ คือเจ้าชายศิลปดิลก แห่งนครพาณิชยเกตุนั่นเอง

บัดนี้, เจ้าชายหนุ่มได้แฝงพระองค์เข้ามาอยู่ในนครราชภุชอีกแล้ว มีบุตรประธานมนตรีผู้พระสหายรักกับมหาดเล็กกำยำคนสนิทอีกผู้หนึ่งเปนผู้ตามเสด็จ คงทิ้งกองชนารณพนั้นไว้ในนครพาณิชยเกตุเหมือนอย่างเดิม,

ขณะนี้, ชายหนุ่มทั้งสามกำลังสงบกายอยู่ในท่ามกลางสายลมอันเย็นชื่นของเวลาเย็นในวันหนึ่ง เปนเวลาอีกหลายวันแล้วเหมือนกัน ที่เจ้าชายศิลปดิลกได้จาริกตรวจไปทั่วนครราชภุช แต่วันนี้ได้ไปไกลและเหน็จเหนื่อยเมื่อยล้ากว่าทุกวันมา สถานที่แห่งนี้จึงทำความพอพระทัยให้กับพระองค์ไม่น้อยเลย

เย็นนั้น, แสงแดดอันอ่อน ๆ ซึ่งมีสีดั่งทองคำสุกนวลละออ ได้ฉาบฉายไปทั่วผืนแผ่นดินของนครราชภุช และแผ่ตลอดไปจนทุ่งนา, ป่าไม้และปลายภูเขาทั่วไป ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างชวนชื่นและชวนชมหาน้อยไม่ ที่บริเวณที่พักแห่งนี้ เปนใต้ร่มสาขาไทรย้อยริมธารน้ำทางท้ายเมือง จึงแลเห็นน้ำในลำธารใสและกำลังไหลลงอย่างเรียบร้อยอ่อนโยน ผ่านหินเล็กหินน้อยไปด้วยเสียงดังอย่างเบาคล้ายกับเสียงดนตรีอันเกิดจากสังคีตของเหล่าคนธรรพ์ในชั้นฟ้า ไกลออกไปทางอีกด้านหนึ่ง มีทุ่งหญ้าสีเขียวสนิทกำลังพิงปลายใบทั้งหลายไปตามสายลมที่รำเพยอยู่ระรวย ท้าให้เห็นทะเลหญ้าแห่งนั้น วิ่งไปเปนคลื่นคล้ายกับสายน้ำที่เต้นอยู่ในท้องทะเลหลวง ไกลออกไปยิ่งกว่าน้ำ มีทิวเขาที่ทอดยอดเลื้อยยาวออกไปไกลจนสุดสายตา ซึ่งสีของทิวเขาเหล่านั้น ก็เหมือนกับสีของสุวรรณบรรพต อันเนื่องจากถูกแสงของดวงอาทิตย์ในเวลาเปนอันแปลกปลาดดังนี้ กระทบสะท้อนอยู่ทั่วไป ซึ่งแม้ว่าทุกอย่างจะได้งามปานไหนก็ดี แต่เมื่อเหลียวกลับมาอีกด้านหนึ่ง ก็จะได้เห็นกรุงราชภุชที่ตระหง่านอยู่ตรงหน้านั้น งามกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้าชายได้ทอดพระเนตร์เห็นมาแล้ว อย่างจะพรรณนาให้ทราบโดยแจ่มแจ้งชัดเจนมิได้

กรุงราชภุช, ตามที่เจ้าชายศิลปดิลกได้ทรงพิจารณา รู้สึกว่านครนี้เต็มไปด้วยความอัศจรรย์อย่างที่จะเทียบกับแห่งไหนมิได้ เพราะนครนี้เต็มไปด้วยความเด็ดขาดมั่นคงของอำนาจ เต็มไปด้วยอำนาจแสนยากร เต็มไปด้วยป้อมปราการ,หอรบ เต็มไปด้วยประตูชัย คือทุกแห่งและทุกสถานที่ ล้วนแล้วแต่จะเปนเครื่องอุปกรณ์ของการรบทั้งสิ้น กรุงราชภุชจึงเปนเมืองของทหาร เปนเมืองของนักรบ หลักของผู้นำจึงมีว่า เจ้าจะหนีการรบไม่ได้ ถ้าฝ่ายตรงข้ามเขาต้องการจะรบ ซึ่งความจริง, แม้ฝ่ายตรงข้ามจะไม่ต้องการรบ แต่กรุงราชภุชก็จะรบเหมือนกัน นอกจากนั้นหลักของนครนี้ยังมีสำคัญอยู่อีกคือ ความชำนาญของการรบ ไม่ใช่เกิดมีขึ้นในเวลาสงบศึกเลยทีเดียว แต่การสงครามเท่านั้นที่สามารถจะสอนให้รู้จักทำสงครามได้ การทำสงครามนั้นย่อมทำด้วยกองทัพ ซึ่งในทุกกองทัพมีส่วนสำคัญยิ่งคือคน พร้อมด้วยความคิด, ความกล้า หรือความขลาดที่มีประจำอยู่ในตัวของคนเหล่านั้นด้วย การตื่นแตกมิได้เปนแต่ฝูงสัตว์เท่านั้น ในฝูงคนทุกชะนิดย่อมเปนไปได้เหมือนกัน ไม่ยกเว้นฝูงทหารที่เรียกว่ากองทัพนั้นอีก การรบจึงเปนการต่อสู้กันระหว่างกำลังใจของทั้งสองฝ่ายยิ่งกว่าอื่นและมากกว่าอื่น เราจะชนะได้เมื่อมีทหารที่นายต้องคอยเหนี่ยวรั้งไว้ เราจะแพ้เมื่อมีทหารที่ต้องคุมไปข้างหน้า ผู้ชนะทั้งหลายจึงมีหลักอยู่ว่า ต้องรู้จักวิธีใช้เครื่องมือของตนให้ถูกและเหมาะ ใครใช้ได้ดีที่สุดผู้นั้นย่อมชนะ คนโดยมากรู้จักใช้แต่เครื่องมือที่เปนวัตถุ แต่คนก็เปนส่วนหนึ่งของเครื่องมือจะได้รู้จักใช้กันก็หาไม่ วิธีที่จะใช้เขาอย่างไรบ้าง เพราะมีคนน้อยคนที่มีสัญญาที่กล้าและดีมาแต่กำเนิด แต่มีคนโดยมากที่กล้าและมีปัญญาฉลาดเพราะการอบรมดี ฉะนั้น ด้วยหลักถานเหล่านี้ การอบรมพลเมืองทุกคนของกรุงราชภุช นับตั้งแต่ได้ย่างตัวออกมาจากครรภ์ของมารดานั้น จึงได้เริ่มให้รู้จักกันทีเดียวว่า คำว่าชาติคืออะไร คำว่าทหารคืออะไร แล้วจากนั้น ทำอย่างไรเด็กเหล่านั้นจึงจะเปนยอดนักรบสำหรับทำงานเพื่อชาติได้บ้าง เด็กทุกคนจึงได้เริ่มถูกฝึกฝนให้รู้สึกว่า ตนยอมตายเสียดีกว่าที่จะเปนนักรบที่ดีไม่ได้ หรือถ้าไม่อดทนพอที่จะตายเพื่อชาติของตนได้ ตนก็ไม่ควรเกิดมาเสียเลยทีเดียว นครราชภุชจึงเปนเมืองของนักรบทุกคน นับตั้งแต่เจ้าลงมาจนถึงขี้ข้า ถ้าใครมีฝีมือเยี่ยมในการรบ มีลักษณะดีที่จะปกครองคนได้ด้วยศีลธรรมบ้าง ลักษณะใครอันนั้น คือลักษณะแห่งกษัตราธิราชของนครราชภุช. นครนี้จึงไม่มีการอบรมถึงศีลธรรม หลักของคนทุกคนในเวลาสงบศึกจึงมีว่า ตนทำเพื่อสามอย่างคือ สุรา, สตรี, และสงคราม ทุกอย่างเหล่านี้จึงเปนพระเจ้าของทุกคน คือสุราเปนคัมภีร์สำหรับประดับเมือง สตรีเปนทั้งทาสและพระเจ้าสำหรับประดับคน และสงครามจึงเปนเกียรติยศสำหรับประดับชาติ มารดาของเด็กทุกคนที่เกิดมาในนครนี้ จึงอบรมตนไว้ด้วยความมีมายา, ความเมา ตลอดจนอบรมไว้ในลักษณะของสัตวป่าที่เปลี่ยวที่สุดก็คือเสือดาว หรือที่เชื่องที่สุดคือเต่า หรือที่ทึ่มที่สุดก็คือควาย, เด็กที่เกิดเหล่านั้นนอกจากที่จะถูกเพาะนิสสัยให้เปนนักรบแล้ว จึงยังถูกครอบครองเอาความเปนมารเข้าไว้อีกเปนอันมากด้วย เขารู้จักการฝึกซ้อมเพลงอาวุธจนกระทั่งการลอบตีศีร์ษะซึ่งกันและกันก็ได้ด้วย ศาสนาของนครนี้ จึงมีอยู่ศาสนาเดียว คือศาสนาของอำนาจ, บรรดาพรามณาจารย์อันมีไว้ ไม่ใช่สำหรับจะเผยแผ่ศาสนา แต่มีไว้เพื่อเปนผู้สร้างพิธีประกอบความสง่างามอย่างหลอกลวงของอำนาจเท่านั้น บรรดายศ, ศักดิ์ไม่ใช่มีไว้เพื่อเครื่องหมายของผู้ทรงคุณธรรม แต่มีไว้เพื่อบารุงใจของพวกที่นับถือสาสนาตามอย่างเดียว นอกจากนั้น, บรรดาคนทั้งหลายที่สร้างทุ่งให้เปนข้าว สร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุสส์ควรมีควรใช้ เช่นปักผ้าเปนลายสำหรับให้พวกทรงอำนาจสวม คือพวกที่ไม่ใช่ขายแรงงานของตน แต่ขายผลในงานของตนนั้น ถูกจัดไว้เปนอีกพวกหนึ่งที่ไม่ใช่เปนพวกมนุสส์แล้ว แต่เปนพวกซึ่งจะเปน แพศย์, ศูทร์หรือรากษสอะไรก็ได้ ลักษณะทั้งหลายเหล่านี้เปนลักษณะของกรุงราชภุช เมืองพระราชบิดาของพระองค์ คือเปนเมืองบิตุราชของพระองค์ ซึ่งบัดนี้ได้มีกษัตราธิราชปกครองใหม่แล้ว อันทรงพระนามว่า พระเจ้าศานติคุปต์ ผู้เปนราชโอรสของพระเจ้าเดชานุชิตเหมือนกัน แต่ต่างกันโดยพระราชชนนีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม, สภาพของนครราชภุชตามที่เจ้าชายได้ทรงเห็นมานี้ ยังต่างกับสภาพของกรุงเทวะปุระอีกเปนอันมาก

กรุงเทวะปุระ, ตามที่เจ้าชายศิลปดิลกทรงเห็น แม้ว่านครนี้จะทรงคุณธรรมอันดีมาแล้วแต่ก่อน ในครั้งกษัตริย์วงศ์แห่งพระเจ้าธรรมาธิปนั้นก็ดี แต่บัดนี้, นับตั้งแต่เจ้ายศกรได้ครอบครองเปนต้นมา คุณธรรมอันนั้นก็เจื่อนจางหายไป และได้ครอบครองศาสนาอำนาจเยี่ยงนครราชภุชเข้ามาแทนที่ ซึ่งในบัดนี้ เมื่อโอรสแห่งยศกรได้สืบราชสมบัติต่อมาอีกแล้ว กลับทำให้นครนี้เปลี่ยนแปลงเปนเมืองที่ถืออำนาจและถือทั้งพระเจ้าไปเสียอีก ซึ่งการถือเหล่านั้นหาใช่หวังจะให้ดำเนินไปสู่ผลแห่ง ความรุ่งเรืองก็หามิได้ แต่ทำไปอย่างโง่เขลาผสมกับความเกียจคร้านเปนที่สุด การถือคุณธรรมของพลเมืองชั้นที่โง่ทึ่มทั้งหลาย คือมอบความรับผิดชอบชีวิตของตนเองให้ไว้กับพระผู้เปนเจ้าบนเบื้องสวรรค์ หรือภูตผีปิศาจร้าย ซึ่งทุกคนต่างก็ตั้งใจที่จะทำความดีฉะเพาะต่อหน้าเทวรูป ด้วยทำผลในชาตินี้ แล้วไปหมายผลความสุขอีกหลายร้อยเท่าในชาติที่ตนจะไปเกิดขึ้นใหม่โน้นทีเดียว ฉะนั้นในชาตินี้ เขาเหล่านั้นจะทำสิ่งใดไป ก็จะทำตามที่ใจชอบ แล้วก็หาโอกาศทำความดีไว้บ้างสักเล็กน้อย เพื่อพอคุ้มกับผลอันมเหาฬารในชาติหน้าเท่านั้นเปนพอ และการเคารพและนับถือในกษัตราธิราชและพราหมณาจารย์ของคนเหล่านี้ ทำตนไปเหมือนกับที่จะเคารพผู้วิเศษสักคนหนึ่ง ที่ความมีเหตุผล, ดีชั่ว, ผิดถูก ไม่ใช่เปนสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกันแล้ว นอกจากความเปนกับตาย หรือชาตินี้กับชาติหน้าเท่านั้น ที่กำลังทำให้ตนได้หมอบกราบอยู่. คนทั่วไปในเมืองนี้ จึงชอบมียศ, ศักดิ์และอำนาจ ชอบแต่งกายสวย ๆ ด้วยเครื่องประดับ ชอบคำยกยอทุกชะนิด แต่ไม่มีใครชอบทำงานเลย งานเล็กทำเปนงานใหญ่ การโง่ทำเปนการฉลาด และข้อสำคัญที่สุด ก็คือชอบทำนาบนหลังพวกเดียวกันนั่นเอง นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคทุกชะนิด ต้องอาศรัยกำลังจากเมืองอื่นส่งมาค้าขายให้ เขาเห็นกันว่าทรัพย์สินเปนของที่มีไว้สำหรับใช้ แต่การใช้ของทุกคนหาใช่ใช้อย่างที่ตนเปนนายอันดีมิได้ แต่เขายอมใช้อย่างที่ให้ทรัพย์สินเปนนาย ทุกคนชอบหลอกลวงกันเองด้วยความฟุ้งเฟ้อ ด้วยการให้ค่าของการปั้นยศ, ปั้นศักดิ์, มีมากกว่าค่าของคน ทุกคนชอบรักษาเกียรติยศของตน ตามอำนาจของผู้เปนนาย และความง่ายของการที่จะมีความสดวกกับสบาย มากกว่าจะให้ความทะเยอทะยานและการมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะเปนคนดีสำหรับโลกเปนเครื่องบังคับ การเปนอยู่ทั้งหลายเหล่านั้น จึงคล้ายกับคนทั้งเมือง กำลังก่อการจลาจลกันเองอย่างเงียบ และอย่างเยือกเย็นสุขุม ซึ่งไม่มีใครทราบเลยว่า การกระทำทั้งหลายเหล่านั้นเปนการจลาจลในเมืองของตนเอง สภาพเหล่านี้เปนสภาพของนครเทวะปุระ เมืองมารดรของเจ้าชายศิลปดิลก ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่า เวลานี้อยู่ในความครอบครองฐากูรชาตรี ราชโอรสของยศกรนั่นเอง อันฐากูรชาตรีผู้นี้ เปนกษัตราธิราชที่ทรงศีลธรรมอันดี มีฝีมือประจำพระองค์อยู่แทบทุกชะนิด และทรงชำนาญในศิลปวิทยาการอยู่เปนอย่างมาก แต่ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยการทำตามความประสงค์ของราษฎร ที่ต่างเรียกร้องสิทธิอย่างทรามของตนนั้น อย่างเอาอกเอาใจยิ่ง แล้วพระองค์ก็มีมเหษีมาก พวกเศรษฐีที่ขูดเลือดราษฎรออกมาเปนเงินก็มีฮาเร็มของตนเอง นครนี้จึงมีความสุขตามฐานที่เปนมาแล้ว ซึ่งต่างกับสภาพของนครพาณิชยเกตุเปนอย่างยิ่งนัก

นครพาณิชยเกตุ, ตามความรู้สึกของเจ้าชายศิลปดิลก นับว่าพระองค์เปนหน่อเนื้อเชื้อสายของนครนี้มาตั้งแต่ทรงพระกำเนิด ฉะนั้นพระองค์ย่อมทรงทราบความเปนอยู่ของนครนี้เปนที่ดีมาก อันเปนของธรรมดา คือนครพาณิชยเกตุรุ่งเรืองขึ้นมาได้ โดยรู้จักดำเนินตนให้ต้องตามกาลสมัย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีหลักและมีความจริงมานานแล้ว แต่คนยังไม่พยายามค้นหรือค้นก็ยังไม่เปนระเบียบ และความเปลี่ยนแปลงอันจะยังผลให้เปนความก้าวหน้านั่นเอง จะสร้างระเบียบอันงามให้กับพิภพแห่งอุทยานนี้ สมัยของนครพาณิชยเกตุ จึงพยายามเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยของมนุษย์ อันจะย่างไปตามลำดับดั่งนี้ คือ สมัยอำนาจ – สมัยเงิน – สมัยวิทยาการ สมัยอารยธรรม ความเปนอยู่ของมนุสส์อันมีมาตั้งแต่ครั้งพราน, ประมงค์ ต่อมาจนสมัยตั้งตัว, เลี้ยงสัตว์ เรียนรู้จักใช้กสิกรรมติดต่อมากับการค้าขาย นั้น ต่อไปในอนาคตก็ลำดับได้คือ มหานุภาพไปสู่ธนานุภาพไปสู่วิทยานุภาพและไปสู่ธรรมานุภาพ บัดนี้วิทยาการจึงประกอบกสิกรรม, สร้างอุตสาหะกรรม และสร้างพาณิชยกรรม จากนั้นวิทยาการจึงเปนสมัยใหญ่ ที่จะทำให้ย่างไปสู่สมัยอารยะธรรมได้ นครพาณิชยเกตุก็ได้อาศรัยหลักตามนี้ จึงไม่ต้องที่จะรบกับผู้ใดด้วยอาวุธและด้วยคน แต่ต้องการรบด้วยศีลธรรม, ด้วยการค้าขายและด้วยวิทยาการ สินค้าเปนส่วนมากของพาณิชยเกตุจึงรอนแรมไปบรรจุอยู่ในนครเทวะปุระเปนส่วนมาก แต่อย่างไรก็ดี, เมื่อทุกคนยังมีศีลธรรมประจำกายอยู่ยังไม่พอ ถึงความดีจะมีมากเพียงใด แต่คนชั่วในพาณิชยเกตุก็มีมากเพียงนั้นด้วย เพราะพวกที่ใช้วิทยาการของตนไปในทางง่าย, ทางเสื่อม ได้ทำความหลอกลวงให้กับคนด้วยกันมิใช่น้อย ตาของคนเขลาที่ดูไม่ถึง จึงย่อมเสียรู้ในความฉลาดซึ่งกันและกันนั้นเปนของธรรมดา นอกจากนั้นนครพาณิชเกตุมีส่วนเสียของบางส่วนอยู่อีกก็คือ มอบความเปนพระเจ้าให้ไว้กับเงิน มอบชีวิตให้ไว้กับพระเจ้า และที่เสียหายมากที่สุดก็คือ ศาสนาที่ควรจะเลือกถือนั้นไม่เหมาะกับความเปนอยู่ของตนเลย.

สภาพของทั้งสามนครมีดั่งนี้ เจ้าชายศิลปดิลกทรงเห็นว่า พระองค์จะต้องเปนผู้แก้ไขให้เหมาะ ในตามฐานะที่พระองค์จะเปนผู้ดำรงประเทศให้ฟื้นคืนเข้าสู่อิสสระภาพอีกครั้งหนึ่ง และด้วยพื้นความรู้ความสามารถทั้งสิ้น ที่พระองค์ได้ทรงมีมาแล้วนั่นเอง จะเปนเครื่องมือที่จะทำให้แก้ไขอันนี้ให้เปนไปได้ ดั่งนั้นพระองค์จึงจะได้เริ่มดำเนินการเพื่อดำรงประเทศ ตามพระภาระที่ได้รับมา และตามหน้าที่ของพระองค์ต่อไป.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ