บทที่ ๑๐ - สาสนคุณ

ภายนอกกำแพงนครราชภุช มีค่ายที่พักของทหารต่างนครเรียงอยู่เปนทิว มีปรำพลับพลาใหญ่น้อยของบรรดากษัตริย์แห่งนักรบเหล่านั้นตั้งเด่นอยู่เปนระยะไป ซึ่งบัดนี้ต่างพากันยกมาเพื่อแสดงความสามารถของตน สำหรับหวังจะได้เข้าในราชพิธีสยุมพร ร่วมกับเจ้าหญิงอารยวดี ผู้เปนราชกนิษฐาผู้ทรงโฉมและทรงคุณสมบัติอันสูง ของพระเจ้ากรุงราชภุชนั้น

วันนี้เปนวันของราชพิธีแล้ว ทุกแห่งและทุกสถานที่ภายในกำแพงพระนคร จึงถูกจัดและตบแต่งกันไว้อย่างงดงามจับตาเปนอย่างยิ่ง มีธงทิวปลิวสบัดชายอยู่ทั่วไป มีความสนั่นครั่นครื้นไปด้วยเสียงบรรเลงเพลงของแตรสังข์ และเสียงของบรรดาชาวนครทั้งหลาย มีพระเจ้าศานติคุปต์ประทับเปนประมุขอยู่ภายในโรงพิธีใหญ่ ที่ริมท้องสนามหลวงภายในพระนครของพระองค์นั้น และมีเจ้าหญิงอารยวดีประทับเปนประธานของฝ่ายในอยู่ที่ริมโรงพิธีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าความสง่า, หรู และใหญ่โตแห่งราชพิธีนี้ จะได้ทำความตื่นเต้นและเบิกบานแก่ผู้ใด สักเท่าใดก็ดี แต่ในน้ำพระทัยของเจ้าหญิงในขณะนี้ ย่อมชอกช้ำอยู่แล้วเปนอย่างหนักหนา.

เช้าเมื่อแรกเริ่มเปิดราชพิธี เจ้าหญิงได้รับสาส์นจำเริญพรมาจากบรรดาเจ้าชายผู้มาในราชพิธีนี้ทุกพระองค์ ซึ่งต่างก็เพียรประดับอักษรร่ายเปนคำฉันท์ ล้วนมีน้ำคำคมคายและอ่อนหวานไม่แพ้แก่กันได้ อันฝีปากทั้งสิ้นเหล่านี้ จะมีดีมาสักเพียงไรก็ตาม แต่ทั้งหมดจะหาไพเราะเพียงสักกึ่งหนึ่งของเจ้าชายฐากูรชาตรีแห่งนครเทวะปุระนั้นมิได้ เพราะแม้ว่าเจ้าหญิงจะมีน้ำพระทัยลำเอียง ในการที่ไม่หมายจะเลือกพระองค์ใดอยู่แล้วก็ดี ก็ยังอดที่จะพอพระทัยในน้ำคำอันห้าวหาญมั่นคงของพระเจ้ากรุงเทวะปุระนี้อยู่ไม่ได้เหมือนกัน แต่มีสาส์นฉะบับหนึ่ง ได้ลบล้างความรู้สึกทั้งหลายของเจ้าหญิงให้เปลี่ยนแปลงไปได้สิ้น ความในสาส์นนั้นมีว่าดังนี้

“หม่อมฉันทรงพระนามว่า เจ้าชายศิลปดิลกแห่งพาณิชยเกตุ ได้อัญเชิญพระองค์เองมาในฐานะของพราหมณ์น้อยผู้หาเกียรติศักดิ์อันใดมิได้ จึงมีแต่ความบูชาเปนอย่างสูง เพื่อนำมาถวายพระองค์ผู้เปนศรีของนครราชภุชและเปนเจ้าในน้ำใจของบรรดาผู้ชายทุกคนเท่านั้น และถ้ามีเจ้าฐากูรชาตรีมาประจำพระทัยของพระองค์เปนพิเศษอยู่แล้ว หม่อมฉันขอถวายชีวิตอันเปนสิ่งสูงที่สุดของหม่อมฉันนี้ แสดงความสามารถเพื่อให้ฝ่าบาทได้เปรียบเทียบกับเจ้าพระองค์นั้น ไว้พอเปนขวัญพระทัยของพระองค์ สักครั้งหนึ่ง”

เจ้าหญิงทรงจำได้อย่างแม่นยำที่สุดว่า ลายพระหัดถ์ภายในสาส์นฉะบับนี้เปนของนายคันธวณิช ชายผู้อยู่ในยอดความปรารถนาของพระองค์ หากเขาจะได้เปนถึงเจ้าชายศิลปดิลกแล้ว เจ้าหญิงย่อมทรงแปลกและหวั่นหวาดอยู่ในพระราชหฤทัยเปนที่แน่แท้ เพราะสัตรูการเมืองผู้นี้จะมาเปนศัตรูในพระทัยของพระองค์ ทั้ง ๆ ที่พระทัยของพระองค์ไม่ได้บรรจุเอาความเปนศัตรูไว้ให้กับชายผู้นี้แม้แต่เพียงส่วนน้อยเลยทีเดียว หากเปนความจริงอย่างเหตุการณ์ที่พระองค์ได้ประสบมาในโอกาสนี้แล้ว พระองค์คาดไม่ถึงได้เลยว่า จะหักห้ามพระทัยเสียนั้น จะได้หรือไม่เพียงใด.

มีบางอย่างในความทุกข์ร้อน มีบางอย่างในความไม่แน่นอนพระทัย และมีบางอย่างในความรักสัตรูของชาติและรักบ้านเมือง เจ้าหญิงได้ยอมตกลงพระทัยที่จะอำความไว้แต่ในพระทัยด้วยความกระวนกระวายเปนที่สุด เพื่อดูผลสุดท้ายอันคับขันที่จะได้เกิดขึ้นมานี้ บรรดากิฬาทั้งหลายที่ได้ผ่านไปแล้ว เช่นการสร้างค่ายรบ การแสดงเพลงอาวุธทั้งทางพื้นดินและทางหลังพาหนะของเหล่าทหารหาญที่ได้เข้าแข่งขันกันเปนเมือง ๆ ไปเปนต้น แม้ความน่าดูจะมีอยู่เพียงใดก็ดี ความอัศจรรย์เช่นนั้นก็ไม่สามารถจะกำจัดความเบื่อหน่ายของเจ้าหญิงอารยวดีให้สิ้นลงไปเสียได้ รูปทรงอันสง่างามนั้น ทอดนิ่งเปนปกติอยู่ตามมรรยาทวิสัย แต่ในน้ำพระทัยนี้ให้ร้อนแสนร้อนเปนที่ยิ่ง คอยแต่จะเร่งเวลานาที เร่งการงานทั้งหลายให้ผ่านพ้นไปเสียให้สิ้น อย่างความเร็วของพระทัยจะเร่งได้เท่าใดก็เร่งไปจนถึงที่สุด เพื่อหวังจะได้ชมโฉมพราหมณ์น้อยผู้เปนเจ้าของสาส์นปลาดของพระองค์เท่านั้น ผลของการแข่งขันคั่นแรกได้ปรากฎตามความเปนจริงทั้งหลายแล้วว่า การกิฬาและการฝีมือทั้งสิ้นของทหารแห่งนครเทวะปุระได้เปนเยี่ยมกว่าทหารของเมืองใด ดังนั้นเจ้าฐากูรชาตรีจึงเปนยอดในความพึงพระทัยของเจ้าผู้ครองราชภุชไปด้วย.

บัดนี้ได้ถึงเวลาแล้ว ที่เจ้าชายทั้งหลายจะได้แสดงความสามารถของพระองค์ ดังนั้นเหล่ากษัตริย์ในราชพิธี จึงต่างพากันเสด็จออกสู่ท้องสนามหลวง มีพราหมณ์หนุ่มผู้หนึ่งรวมมากับเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายนั้นด้วย ความขบขันของทุกคนในสถานที่นั้น เมื่อได้เห็นพราหมณ์จะมาแสดงฝีมือ ทางยุทธร่วมกับบรรดานักรบ ไม่ผิดความสรวลเย้ยที่เหล่าปาณฑพภราดาได้รับในคราวเลือกคู่ของนางเทราปทีแต่ครั้งกระโน้นเลย แต่ในครั้งกระนี้มีอยู่แต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่ทรงพระกายขึ้นทอดพระเนตร์อย่างไม่รู้สึกว่าหรือในประการใดเลย ทั้งซ้ำกลับตื่นพระทัยเปนอย่างหนักด้วย ความอันเปนทั้งนี้ได้แก่เจ้าหญิงอารยวดีนั่นเอง พระองค์ทรงกุมและกดพระอุระตลอดเวลาที่ทอดพระเนตร์ เพราะแม้จะไกลเท่าไกลเพียงใดก็ดี แต่ภายในเครื่องคลุมกายอย่างเพศพราหมณ์นั้น เจ้าหญิงตระหนักในพระทัยเปนที่แท้ ว่าผู้นั้นคือนายคันธวณิชของพระองค์ แต่ที่จะเปนเจ้าชายศิลปดิลกหรือผู้ใดอีก เจ้าหญิงยกความรู้สึกข้อนี้ ให้ไว้กับความอัศจรรย์และความไม่แน่ในพระทัยทั้งสิ้น.

การยกศรชัย – การแข่งรถรบ – การใช้วิธีรบบนหลังม้า - เพลงอาวุธ – การยิงเป้าด้วยธนู เปนกีฬาที่เหล่ากษัตริย์ทั้งหลายได้แสดงกันมาแล้ว ผลสุดท้ายจึงเหลือแต่ผู้มีความสามารถเสมอกันเพียงสองกษัตริย์เท่านั้น คือเจ้าชายฐากูรชาตรีกับพราหมณ์หนุ่ม.

เสียงร้องก้องของคนทั่วไปได้บังเกิดขึ้น บรรดาผู้ที่อยู่ในโรงพิธีจึงต่างยืนกันขึ้นด้วยความตกใจ พระเจ้าศานติคุปต์ก็ทรงยืนขึ้นด้วยเหมือนกัน กษัตริย์กับพราหมณ์ฝ่ายละคนที่กำลังสู้รบกันอยู่กลางท้องสนามหลวงนั้น เปนเป้าสายตาของเหล่าคนที่ล้อมอยู่โดยรอบสนามใหญ่ ภาพที่เห็นจึงเด่นและตื่นตากว่ากิฬาอย่างอื่นที่แสดงมาแล้วทั้งหมด แต่พระเจ้ากรุงราชภุชทรงใช้เสียงราชสีห์มีพระราชโองการขึ้นในบัดใจ.

“ไปเชิญทั้งสองพระองค์โน่น มาหาเราใน – เดี๋ยวนี้!”

ชั่วโมงเศษล่วงไปแล้ว พราหมณ์น้อยจึงดำเนินนำทหารเอกของนครราชภุช มาหยุดยืนอยู่หน้าที่ประทับอย่างสง่าผ่าเผย ความมั่นคงนั้นเกิดแต่ท่านพราหมณ์ได้ถวายบังคมแบบกษัตริย์ใช้ต่อกษัตริย์ ต่อพระเจ้าศานติคุปต์ แล้วจากนั้นพระพักตร์ทั้งสองที่ตะลึงแก่กันอยู่แล้ว ก็ได้มีเสียงพระอุทานออกมาเกือบพร้อมกัน.

ท่านคันธวณิช”

ท่านบุณยเสนา”

ความเคยในความรักใคร่ฐานยอดมิตร์แก่กันเกือบจะทำให้พระเจ้าศานติคุปต์ทรงผวาลงมากอด แต่ความมีพระพิโรธและความเปนเจ้าใหญ่ในอำนาจเหนือคนทั้งหลายภายในนครนี้ มีสูงจนตรึงพระองค์ให้นิ่งอยู่กับพระที่อยู่นาน จึงได้มีพระสุรเสียงดำรัสขึ้น.

“ท่านได้ทำลายพระชนม์เจ้าฐากูรชาตรีเสียแล้ว”

ยังไม่ทันจะขาดเสียงรับสั่งลงไป เจ้าหญิงอารยวดีก็เสี่ยงมาลามากำนัลแก่นายคันธวณิช เพื่อเลือกเปนคู่สยุมพรของพระองค์ และเพียงที่นายคันธวณิชได้รับมาลัยดอกไม้หอมไปแล้ว มหาอำมาตย์นายกก็บังคมทูลว่า.

“พราหมณ์ผู้นี้ คือ เจ้าชายศิลปดิลกแห่งนครพาณิชยเกตุพ่ะย่ะค่ะ”

“วา! นี่อะไรกัน !”

พยายามระงับพระสติอยู่เปนขณะใหญ่ ก็มีเสียงร้องบอกกันออกไปจนไกลที่สุดเท่าที่จะมีคนบรรจุอยู่ในนครราชภุชได้ เสียงนั้นไกลออกไปด้วยคำว่า.

“เจ้าชายศิลปดิลก”

“เจ้าชายศิลปดิลก”

“เจ้าชายศิลปดิลก”

“เจ้าชายศิลปดิลก”

พระเจ้ากรุงราชภุชจึงมีรับสั่งถามว่า.

“ท่านหรือ ?”

มีเสียงตอบอย่างกังวาลไพเราะและปกติภาพ

“ข้าพเจ้าเอง”

ต่อจากนั้นเสียงบังคมทูลของเหล่ายอดเสนามหาอำมาตย์ราชเสวกทั้งปวงก็มีเปนอันเดียวกันว่า

“เจ้าชายศิลปดิลกเปนราชศัตรูของนครราชภุช ปลงพระชนม์เสีย!”

คำหารือราชกิจโดยปัตยุบันประกอบกับการที่ต้องเสียการดำเนินรัฐประสาสโนบายไปเช่นนี้ พระเจ้ากรุงราชภุชจึงมีพระปกาศิตโดยทันที.

“เจ้าชายศิลปดิลก พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์!”

ขาดพระดำรัสเท่านั้น เจ้าหญิงอารยวดีฟุบพระองค์ลงหมอบอยู่ที่ใกล้พระบาทของพระเจ้าพี่ยาเธอ รับสั่งด้วยพระเสียงอันสั่นร้าวเข้าไปในหัวอกหัวใจ

“ถ้าเจ้าชายศิลปดิลกจะต้องถูกปลงพระชนม์แล้ว หม่อมฉันขอเลือกเจ้าชายฐากูรชาตรีที่ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วเปนคู่สยุมพร ตามพระปรารถนาของพระเจ้าพี่ แต่หม่อมฉันขอยอมสิ้นชีวิตร่วมกับเจ้าชายพระองค์นี้”

ทั้งตะลึงและทั้งอึ้งประดังแน่นอยู่ในพระมรรยาทของพระเจ้าศานติคุปต์ เพราะพระประสงค์ในการที่พระองค์จะให้เจ้าฐากูรชาตรีได้สยุมพรกับพระกนิษฐานั้น เปนของจริงเละถูกพระประสงค์เปนอย่างยิ่ง แต่ที่เจ้าหญิงจะยอมเสียพระชนม์ร่วมกับเจ้าชายศิลปดิลกนั้น พระองค์ยังไม่เคยทรงทราบเลย จึงตรัสออกมาทั้ง ๆ ที่พระองค์ยังทรงฉงนอยู่

“วา! นี่อะไรกัน”

เสียงทหารและเสียงราษฎรเปนส่วนมาก ตะโกนสะท้านอยู่ทั่วไป.

“สัตรูของกรุงราชภุช จงฆ่าเสีย!” “สัตรูของกรุงราชภุช จงฆ่าเสีย !”

พอจะอ้าพระโอษฐ์ พระเจ้ากรุงราชภุช ก็ได้ทอดพระเนตร์เห็นสาวกของพระโพธิญาณรูปหนึ่ง กำลังดังดำเนินมาใกล้จะถึงที่ประทับอยู่แล้ว จึงทำให้พระองค์ต้องสงบและทอดพระเนตร์ตามมาอย่างหลากในพระหฤทัย ในที่สุดสาวกแห่งพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารูปนั้นก็มาหยุดอยู่ตรงกับพระพักตร์ของพระองค์พอดี และแม้พระสาวกจะปลงผมและครององค์ด้วยผ้าสีน้ำตาลคล้ำก็ตาม แต่ด้วยความที่ยังไม่เคยเห็นลักษณะอันแปลกกว่าบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ประกอบกับความสำรวมอันส่งราศรีอย่างหาความ สะทกสะท้านประการใดมิได้ ทำให้พระเจ้าศานติคุปต์ระงับอยู่ในพระอาการอันนิ่งสนิท พระอรหันต์จึงตรัสว่า.

“อาตมาขอเจริญพรแด่พระองค์ให้ทรงศิริสวัสดิ์ อยู่ในราชสมบัติด้วยสันติสุขโดยกาละยืนยาวนาน และให้ทรงพระชนมายุขัยตลอดไปโดยกาละกำหนดโดยสมบูรณ์เทอญ บัดนี้พระองค์กำลังจะได้สร้างกุศลอันสูงสุดอยู่แล้ว คือด้วยให้ชีวิตพ้นจากกรรมคือความมรณะนั้น”

พระเจ้ากรุงราชภุชส่ายพระพักตร์ไปมา ทรงดำรัสตอบอย่างจริงจัง.

“ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลยว่าท่านกำลังพูดถึงอะไรอยู่”

พระอรหันต์จึงตรัสต่อไปอีก

“ขณะนี้พระองค์กำลังตกลงพระทัยจะทำงานสิ่งใดอยู่ไม่ใช่หรือ ?"

“ข้าพเจ้ากำลังจะสั่งให้ฆ่าราชศัตรูของแผ่นดิน”

“พระองค์ก็ยังไม่แน่พระทัยว่าจะทำลายเจ้าชายพระองค์นั้นได้หรือไม่ แต่ทำไมพระองค์จึงจะแน่พระทัยว่า เจ้าชายพระองค์นั้น เปนราชสัตรูของนครนี้ด้วย”

“ทำไมจะไม่แน่ใจ ราชโอรสแห่งพระเจ้ากรุงพาณิชยเกตุจะไม่เปนราชสัตรูของนครนี้เช่นนั้นหรือ ? เมื่อเปนราชสัตรูแล้ว ความไม่แน่ใจในการที่จะล้างให้สิ้นไปนั้น จะมีที่ไหนอีกเล่าท่าน” ความไม่พอพระทัยปรากฎอย่างอ่อนขึ้นบนสีพระพักตร์ของพระเจ้าศานติคุปต์ ซึ่งพระอรหันต์ทรงหยั่งถึงได้ตลอด จึงตรัสถามย้อนพอตักคู่สนทนา

“ที่พระองค์ทรงเรียกว่าเปนราชสัตรูนั้น เปนโดยฐานะพระราชโอรสของพระเจ้าหิรัญเดชเท่านั้นหรือ ?”

“ไม่แต่เท่านั้นอย่างเดียวดอกท่าน ยังเปนโดยฐานะที่ปลงพระชนม์เจ้าฐากูรชาตรี ยอดมิตร์ของเราอีก”

“พระองค์คงยังไม่แน่พระทัยนักไม่ใช่หรือ ว่าเจ้าชายศิลปดิลกเปนผู้ปลงพระชีพของเจ้าชายฐากูรชาตรีโดยแท้จริง เพราะพระองค์ทรงทราบเพียงเจ้าชายพระองค์นั้นได้ถูกประหารไปแล้ว และถ้า ยอดมิตร์ของพระองค์นี้ถูกทำลายพระชนม์โดยสถานอื่น ความเปนผู้ไม่เปนสัตรูของเจ้าชายศิลปดิลกกับพระองค์ จะไม่ถูกต้องดอกหรือ ?”

ยืดพระกายขึ้นอย่างขุ่นเคืองยิ่งขึ้นกว่าเดิม ตรัสอย่างผู้ทรงอำนาจ.

“รบกันอยู่เพียงสององค์ องค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในขณะรบ ถ้าอีกองค์หนึ่งไม่ใช่เปนผู้ชนะแล้ว ใครจะสามารถทำลายสัตรูของตนได้”

คงสงบอยู่ในลักษณะแห่งพระผู้อยู่ต่อหน้าเวไนยทั้งหลาย สาวกพระโคดมดำรัสว่า

“ม้าของเจ้าชายฐากูรชาตรีถูกแทงที่หน่วยตา จึงดิ้นรนด้วยโทษะ จนเจ้าของต้องตกลงไปจากหลัง ความพยาบาทนั้นทำให้ม้าได้ทำลายพระชนม์เจ้าของๆ เขาเอง พระองค์ควรสำรวจความข้อนี้เสียให้ประจักษ์ได้ก่อน การปลงพระทัยของพระองค์จึงควรจะนับได้ว่าถูกถ้วนแล้ว”

พระเจ้ากรุงราชภุชได้ทรงปกาศิตถึงการชัณสูตร์กันขึ้น และในที่สุดความจริงที่ได้เกิดขึ้นนั้น ทำให้พระองค์ต้องระงับความไม่สมพระทัยไว้ด้วยความนิ่ง แล้วจึงเหลียวไปทางพระอรหันต์ ซึ่งกำลังตรัสขึ้นอีก.

“ถ้าพ้นจากฐานะพระราชโอรสของพระเจ้าหิรัญเดชแล้ว พระองค์ยังจะทรงมั่นพระทัยว่า เจ้าชายศิลปดิลกเปนราชสัตรูของพระองค์อีกหรือไม่?”

“เปนซีท่าน !” พระเจ้าศานติคุปต์ทรงยืนพระเสียงดังเดิม “คือเปนในตำแหน่งรัชทายาทของนครพาณิชยเกตุ”

“เหตุใดพระองค์ไม่ทรงอุตสาหะที่จะทราบว่าเจ้าชายศิลปดิลกนี้คือราชอนุชาของพระองค์เอง”

“ไม่จริง! ไม่มีสิ่งใดที่จะเปนได้เช่นนั้นเลยทีเดียว ท่านผู้วิเศษ !” ความเฉียบขาดของพระเจ้ากรุงราชภุชในขณะนี้ มีเสมอด้วยเสียงราชสีห์ที่กำลังสั่งถ้ำ พระสาวกจึงทรงสาธยายต่อไป.

“เมื่อพระเจ้าเดชานุชิตผู้เปนพระราชบิดาของพระองค์ได้ถูกปลงพระชนม์ไปแล้ว นิ้วพระหัตถ์ได้ถูกขบด้วยทนต์ของพระนางกนกเลขาขาดไป และถูกนำกลับพร้อมกับพระธำมรงค์ของพระบิดาแห่งพระองค์นั้นด้วย ถ้าเจ้าชายศิลปดิลกไม่ได้เปนพระอนุชาของพระองค์แล้ว เหตุใดนิ้วจึงด้วนไปอย่างเดียวกัน และมีพระธำมรงค์สำหรับราชตระกูลนครราชภุชนี้ ประจำพระองค์อยู่ด้วย”

พระเจ้าศานติคุปต์ได้ทรงตระหนักความจริงข้อนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่พระองค์กลับทรงพระสรวลอย่างขบขันเสียเปนที่สุดที่แล้ว และรับสั่งด้วยพระเสียงอันก้อง.

“ข้าพเจ้าทราบดีว่า นิ้วของเจ้าชายที่ด้วนไปนั้นถูกโจรฟัน แต่ถ้าเจ้าชายศิลปดิลกทรงมีพระธำมรงค์ของพระราชบิดาดังนี้จริง สมบัตินั้นก็คงตกสืบกันมาจากผู้ร้ายที่ลักพระราชทรัพย์เท่านั้น”

สาวกแห่งพระผู้มีพระภาคจึงย้ายทำนองดำรัสใหม่.

“เมื่อพระองค์ทรงตระหนักพระทัยว่า เจ้าชายศิลปดิลกเปนราชสัตรูของนครราชภุชเช่นนี้ ความตกลงพระทัยอันเปนส่วนทรงธรรมของพระองค์นั้น จะ มีเปนประการใดบ้าง”

“เจ้าชายศิลปดิลกต้องถูกปลงพระชนม์ !”

“เช่นนั้นก็แล้วแต่พระประสงค์เถิด แต่จะไม่มีอำนาจอะไรบ้างเลยหรือ สำหรับที่พระองค์จะได้นึกถึงความงามของนายคันธวณิช ผู้ได้ช่วยพระชีพของพระองค์ผู้ปลอมเปนบุณยเสนา เพื่อออกตรวจพระนครแต่ครั้งกระโน้นได้”

พระเจ้าศานติคุปต์ทรงทอดพระเนตร์นิ่งอยู่บนพระพักตร์ของเจ้าชายศิลปดิลก และนิ่งอยู่นานโดยมิได้ตรัสแม้เพียงคำใดออกมาเลย ดังนั้น, พระอรหันต์สาวกของพระผู้ทรงแสงแห่งพระญาณ อันได้ทำลายหมู่อวิชชาทั้งหลายให้พ้นไปแล้ว จึงทรงสาธยายเปนพระธรรมว่า

“ความดีอันเปนความปรารถนาสุขของมนุสส์นั้น แม้ไม่พูดก็ได้ปรากฏผลจากการกระทำของผู้ปรารถนาแล้ว ทุกอย่างที่มนุสส์ได้กระทำลงไป เปนวิญญาณในค่าตัวของตนเองเสมอ เพราะความถูกผิดที่ได้ลงแรงไปแล้วนั้น ย่อมไม่เสื่อมสิ้นไปได้ เจ้าชายศิลปดิลก ผู้แฝงพระองค์เปนพราหมณ์น้อยนี้ ก็ได้แสดงความข้อนี้ให้ประจักษ์ได้ พระองค์เปนผู้เจนศิลปและวิทยาการ จนจะมีผู้เสมอได้ก็เพียงเจ้าชายฐากูรชาตรีเท่านั้น แต่ด้วยหวังจะสร้างความดีด้วยไม่โกรธตอบสัตรูผู้หมายมาทำร้าย คือเจ้าชายฐากูรชาตรีที่ได้ต่อรบกับพระองค์ก่อน เพราะพิโรธในความมีผู้เสมอในความสามารถนั้น พระองค์จึงชำนะสัตรูแม้เพียงมีฝีมือปานกันได้ด้วยเชาวนะ ถูกทั้งในทางที่ควรและควรทั้งในทางที่ถูก โดยขณะที่สู้รบกันบนหลังอาชา พระองค์ได้ป้องกันพระองค์เองด้วยแทงมาให้ทำลายเจ้าของ ๆ ตนเสียดังนี้ นับว่าเปนผลของการชำนะในการกิฬา มิใช่เปนผลของความหรืออิจฉาหรือเจตนาประการใด พระผู้ทรงเดชานุภาพพระเจ้าข้า อาตมาภาพขอถวายพระสติอันสุขุมสำเร็จประเสริฐเปนของพระองค์ว่า อันความสันติสุขนั้น เกิดได้โดยการให้ความรุ่งเรืองต่อกัน แข่งขันกันโดยจะชักนำให้โลกเดินไปสู่ความเจริญสุข มิใช่โดยหวังจะทำลายล้างกันให้สิ้นลงด้วยกำลังโยธาหาญดังนี้ เพราะมนุสส์นั้นย่อมแบ่งปันภาระกันเปนเครื่องปรุงความยืดยาวของชีวิตไว้ มนุสส์จึงต้องบำเพ็ญตนเพื่อเปนประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยทำงานสำหรับตนเอง และให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น อันผู้มีความก้าวหน้าในการบำเพ็ญเพียรศึกษารสธรรม จึงจะประกอบผลเปนผู้ที่โลกมุ่งหวังนั้นได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อมนุสส์เจนความเปนธรรมขึ้นมากแล้ว ความแข่งขันทั้งสิ้นของชีวิต จะมีได้โดยทางการเปนนักกิฬาและความเปนผู้ทรงปัญญาเปนอย่างสูง และผู้ชำนะนั้นจึงจะได้กับผู้มีความเพียรและอดทนที่จะเปนคนที่โดยแท้จริง ชนใดจะพึงชะนะมนุสส์ในสงครามได้ตั้งล้าน แต่ด้วยการชนะตนเองได้เช่นนี้ ชื่อว่าเปนจอมโยธีอันชำนะสงครามทั้งปวงได้สิ้น ถ้าพระองค์ทรงแน่พระทัยว่า เจ้าชายศิลปดิลกจะเปนผู้ทรงความรุ่งเรืองให้แก่โลกในภายหน้าได้ เพราะเปนผู้ทรงมีศีลธรรมและทรงวิทยาการดังนี้แล้ว เหตุใดพระองค์จึงไม่ชนะพระทัยตนเอง เพื่อรักษาชีวิตของผู้ทรงความดีไว้พึ่งพำนักแก่กันด้วยเล่า เพราะคนที่นั้นย่อมไม่ทำความเสื่อมให้แก่กัน ดังเช่นสรรพคุณของผลไม้หลายชนิด ย่อมให้คุณกับผู้เสพย์ด้วยรสต่างกันเช่นนี้ ผู้ทรงความดีทั้งหลายย่อมให้ประโยชน์ด้วยทางต่างกันด้วยเหมือนกัน ทุกสิ่งทั้งหลายย่อมประกอบไว้ด้วยสิ่งดีและสิ่งชั่ว ถ้าปลงเลือกทางใดแล้ว ตนก็จะได้รับผลเปนทางนั้นด้วย ถ้าพระองค์จะทรงระลึกว่า เจ้าชายศิลปดิลกเปนพระอนุชาของพระองค์ เปนผู้ได้ให้ชีวิตแก่พระองค์ และได้เปนยอดมิตร์อันเคยครองความรักกันมาตั้งแต่ที่พระองค์ปลอมเปนบุณยเสนา องคมนตรีแต่ครั้งกระนั้นแล้ว พระองค์ยังจะล้างน้ำพระทัยของพระองค์ไปในทางของความเสื่อมได้เช่นนี้ทีเดียวหรือ ?”

/**/คำแนะนำในราชกิจโดยปัตยุบัน ได้ให้พระสติอีกทางหนึ่งกับพระเจ้าศานติคุปต์ ซึ่งผิดกว่าทางที่พระองค์ได้รับมาจากเหล่ายอดเสนามหาอำมาตย์ราชเสวกทั้งสิ้นของพระองค์นั้นเปนอย่างที่สุดที่แล้ว ความรู้สึกอันสูงซึ่งมีประจำอยู่ในน้ำใจของมนุสสผู้เปนธรรม อันมิใช่อยู่ในน้ำใจของคนผู้ทรงอำนาจดังนี้ นำความรู้สึกอันผ่องแผ้วมาให้กับพระองค์ พระเจ้ากรุงราชภุชจึงทำให้น้ำพระเนตร์ของพระองค์หล่อซึมออกมาครองจนเต็มหน่วยพระจักษุ พลางอุทานว่า

“อำนาจของความรักเอ๋ย !”

แล้วพระองค์ก็ดำเนินอย่างเร็วไปกอดเจ้าชายศิลปดิลกไว้ในอ้อมแขน และดำรัสด้วยเสียงอันสั่นเครือต่อไป.

ท่านจะเปนใครที่ไหนก็ตาม แต่ฉันรู้จักว่าท่านเปนนายคันธวณิชที่ฉันได้ลงแรงรักมาแล้วเปนหนักหนา ด้วยความที่แสนรักในยอดมิตร์ของเรานี้ ฉันฆ่าท่านไม่ได้ดอก คนเราชื่อเปนสิ่งสมมุติสำหรับเรียกตน แต่มีความเปนวิญญาณอย่างแท้จริงของตนเอง ฉันต้องการสันติภาพ ฉันต้องการความสงบ ฉันต้องการความดี ท่านได้สร้างสิ่งเหล่านี้มาแล้ว ขอให้ฉันได้ช่วยเหลือท่านให้สำเร็จในต่อไปอีกเถิด”

เสียงทหารของนครเทวปุระ ทั้งที่มีรากมาแต่เดิม และทหารผู้มีเชื้อสายมาจากกองทัพแห่งท้าวยศกรได้ร้องประสานกันต่อไปอีก

“พระเจ้าศิลปดิลก ราชโอรสของพระเจ้าเดชานุชิต!”

“พระเจ้าศิลปดิลก ราชโอรสของพระนางกนกเลขา!”

“พระผู้ชำนะ! พระผู้ทรงธรรม!”

จากนั้นก็มีทหารเอกแห่งกรุงเทวะปุระผู้หนึ่ง ซึ่งเจ้าชายศิลปดิลกทรงจำได้เปนอย่างดีว่า เปนนายกองยานพาหนะสินค้าคนสำคัญของพระองค์นั่นเอง ได้มาถวายบังคมอยู่ที่แทบพระบาท และทูลว่า.

“บรรดาทหารทั้งหลาย ที่ประจำอยู่ในกองทัพสินค้าของพระองค์นั้น ได้สมทบมากับกองทัพของนครเทวะปุระนี้จนสิ้น ข้าพระบาททั้งหลายยังไม่มีผู้ใดต้องเสียชีวิตไปเลย เมื่อความสามารถของเหล่าข้าพระบาทยังไม่สิ้นไปเช่นนี้ บารมีของพระองค์จะเสื่อมสูญลงไปหาได้ไม่ เดชะอำนาจสามุบายและทานุบายของพระองค์ ที่ได้สำแดงมาต่อนานาประเทศจนได้ปรากฎผลแล้ว ข้าพระบาททั้งสิ้นขอถวายพระพร”

เจ้าชายศิลปดิลกทรงขอบพระทัยแก่บรรดาข้าพระองค์สิ้นแล้ว จึงถวายบังคมพระเจ้าศานติคุปต์และทรงคารวะเปนอย่างสูงถวายแด่พระอรหันต์เจ้าพระองค์นั้นอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดก็ทอดพระเนตร์สบเนตรของเจ้าหญิงอารยวดี.

๏ ๏ ๏

ราชพิธีสยุมพรได้สร้างขึ้นแล้วภายในนครราชภุช ความเบิกบานและผาสุกอันแท้จริง ของผู้ที่อยู่ในพิธีนี้ มีกับเจ้าชายศิลปดิลกกับเจ้าหญิงอารยวดีโดยบริบูรณ์ เมื่อพักอยู่ในนครราชภุชโดยสมควรกับเวลาแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ได้อำลานครนั้น ยกแสนยากรกลับคืนสู่กรุงเทวะปุระ และเจ้าชายศิลปดิลกก็ได้ทรงรับพระนางกนกเลขาพระราชมารดามาเสวยสุขอยู่ภายในนครเดิมของพระนางอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น ก็มีราชพิธีปราบดาภิเศกเจ้าชายศิลปดิลก เปนเจ้าผู้ครองนครเทวะปุระนั้น และบรรดานครทั้งสามคือ พาณิชยเกตุ, เทวะปุระ กับราชภุช ก็รวมการปกครองเปนอันเดียวกัน ด้วยใช้เทศบาลแผนสามัคคีธรรมแก่กันเปนเบื้องต้น และแผ่ร่มราชบัลลังก์อยู่ภายใต้พระบวรพุทธสาสนาเปนเบื้องปลาย ยังความสันติสุขแต่นั้นต่อมาจนชั่วกาลนาน.

ในวันปราบดาภิเศกของพระเจ้ากรุงเทวะปุระนั้น เจ้าชายศิลปดิลกทรงประทับอยู่บนหอกลางพระนคร และแสดงพระสุนทรพจน์แด่ทวยนาครทั้งหลาย ด้วยพระปรารถนาอันสูงและควรเคารพยิ่ง

ราษฎรทั้งหลาย บัดนี้ฉันจะได้รับภาระเปนผู้ปกครองราษฎรทุกคนแล้ว ความยินดีของเราที่จะช่วยกันประกอบความสงบสุกจึงได้มีขึ้นมาด้วย บัดนี้ฉันจึงจะได้ทำความเข้าใจในหน้าที่กับความมุ่งหมายทั้งสิ้น ให้ราษฎรเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน เพื่อเปนทางที่จะได้ครองความรักและหน้าที่ของเรา ซึ่งมีอยู่ต่อกันนั้นให้ยืดยาวต่อไปได้ การแก้ไขความบกพร่องที่ซ่อนเร้นเปนของเราอยู่นานมาแล้ว เปนสิ่งที่ราษฎรจะต้องรู้เปนอย่างยิ่ง เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องและแน่นอนในภายหลัง ฉันจะได้บอกสิ่งบกพร่องเหล่านั้นให้ราษฎรทุกคนรู้ไว้ในบัดนี้

เราทั้งหลายเคยสนใจมาแล้วถึงเรื่องความรู้เกียรติยศและทรัพยสินเงินทอง เพราะสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เรามีความสุข ตามที่มนุสส์ของเราพากันปรารถนานั้นได้ แต่แท้ที่จริงนั้น ความสนใจของเราทั้งหลายเท่าที่เปนมาแล้ว หาควรได้ความสุขตามที่ปรารถนานั้นไม่ โดยที่ความสนใจนั้นมิได้เปนไปโดยทางที่ควร คือเรามักจะพากันคิดว่า ความรู้มีอยู่มากในผู้ที่มียศ แล้วจึงพากันเคารพผู้มียศมากกว่าผู้มีความรู้ หรือเรามักจะพากันคิดว่า ความมีทรัพย์มีอยู่มากในผู้มีศีลธรรมอันดี แล้วจึงพากันเคารพผู้ที่มีทรัพย์มากกว่าผู้มีศีลธรรมดังนี้ ฉันขอแนะนำว่ายศนั้น เปนเพียงเครื่องหมายที่ผู้อื่นแต่งตั้งให้เท่านั้น ส่วนความรู้ในวิทยาการเปนสิ่งที่เราได้ให้กับตัวของเราเอง ผู้ที่นับถือตนเองมากกว่าผู้อื่น นับว่าเปนผู้มีเกียรติยศอันแท้จริง ไพร่ไม่หมายความว่าเปนผู้มีตระกูลต่ำ ผู้ดีไม่หมายความว่าเปนผู้มีตระกูลสูง ศีลธรรมเปนสมบัติอย่างหนึ่ง แต่ทรัพย์หาเปนศีลธรรมไม่ ด้วยเหตุนี้แหละราษฎรทั้งหลาย เราจึงควรจะเข้าใจได้ในบัดนี้แล้วว่า ความสุขมิได้เกิดแก่ผู้มียศหรือทรัพย์เลย แต่ความสุขเกิดขึ้นได้กับผู้ทรงวิทยาการและมีศีลธรรมอันดีงามประจำคนนั้นต่างหาก และวิทยาการกับศีลธรรมนี้เอง จะทำให้เกิดมียศและทรัพย์ให้กับตนขึ้นได้อีกด้วย เพราะทรัพย์หรือยศศักดิ์ทั้งหลายเปนเพียงเครื่องหมายอันหนึ่ง ของผู้ทรงวิทยาการหรือศีลธรรมเท่านั้น เราอาจจะใช้เบี้ยเปนสินทรัพย์ของเราก็ได้ แต่เราจะใช้อะไรให้มาเปนปัญญาของเราไม่ได้เลย นอกจากวิทยาการ และเราจะใช้อะไรให้มาเปนเกียรติยศและความดีของเราไม่ได้เลย นอกจากศีลธรรม ปัญญาไม่ใช่เกิดด้วยทรัพย์ เกียรติยศไม่ได้เกิดจากความมีตระกูลที่มาจากกำเนิด หรืออำนาจราชศักดิ์ที่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้น ดังนั้นความรุ่งเรืองของเราทั้งหลาย จึงไม่ได้อยู่ที่การมีที่อยู่อันฟุ่มเฟือย หรือการเสพย์อันประดับประดา หรือการตกแต่งอันทรงสีและทรงลักษณะนั่นเลย แต่ค่าของคนอยู่ที่ได้หมั่นเพียรหาความจริงในอันจะบำรุงโลกต่างหาก เราพยายามจัดแต่งโลกให้เปนสวนสวรรค์ที่งามและสงบสุขได้เท่าใด เรามีความรุ่งเรืองเปนของเราอยู่เท่านั้น.

ราษฎรทั้งหลาย ลักษณะของคนเรานั้น เราอาจจะจำแนกเปนส่วนดีได้ คือเปนผู้มีความประพฤติเรียบร้อย โดยเปนผู้ที่ไม่เบียฬตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เปนผู้มีความสามารถ คือทำงานทุกอย่างในหน้าที่ของตนเปนที่เรียบร้อยเสมอ และเปนคนที่โลกปรารถนา คือเปนผู้ที่ค้นคว้าหาสิ่งที่จะทำความเจริญให้กับโลกที่ตนอยู่ด้วยประการดังนี้ จึงขอให้ราษฎรทุกคนพยายามเปนอย่างน้อย ที่จะเลือกลักษณะใดลักษณะหนึ่งเหล่านี้มาเปนของตน อนาคตที่เราหวังจะพบอารยะธรรมนั้น จึงจะมีมาถึงเราและโลกได้ การที่เราจะทำได้เช่นนี้ เราต้องถือเสียว่า ความทุกข์ยาก, ความลำบากที่จะมากีดกันทางเดินของเรานั้น เปนสิ่งธรรมดาที่จะมีมาสำหรับคนดี และเปนสิ่งที่เราจะต้องข้ามไปเสียด้วยความสนุกและความเบิกบาน ความอดหรือความอยากคือความไม่สมบูรณ์ที่เราจะได้รับ ไม่เปนสิ่งที่จะทำให้เราตายได้ แต่ความอ่อนแอและการสร้างความทุกข์ขึ้นในนิสสัยนั้นต่างหาก ที่จะทำให้เราตาย เดี๋ยวนี้คนเราต้องพึ่งกันหมดแล้ว เพราะเราต่างจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่กันและกันทั้งสิ้น เราจึงไม่มีวันที่จะต้องอดตายได้ เรารู้กันอยู่แล้วว่าทรัพย์สินและเงินทองเปนของที่แต่งตั้งกันขึ้น เพื่อให้เราได้รู้จักความพยายามไม่เกียจคร้านเท่านั้น ไม่ใช่ทำให้เราได้เปลี่ยนศีลธรรมในนิสสัยไปเสียเลย หากว่ามีผู้อิจฉา มีผู้จะบั่นทอนความดีของเราลงไป มีผู้คับแคบไร้การสมาคมอยู่ในทางของเราแล้ว หมายความว่าคนเช่นนั้นเปนผู้ที่ได้ตายไปแล้ว เราอย่าควรไปเอาใจใส่ถึงเลย ความอดทน, ความมานะและความองอาจ ที่เราจะมุ่งหวังไปนั่นแหละ จะทำให้เราทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ยากและจะอยู่สู้โลกอันยังปรวนแปรนี้ได้ เมื่อราษฎรทั้งหลายได้แก้ไขและเลือกทำดังที่ฉันได้ว่ามาแล้วนี้ได้ นับว่าราษฎรมีความสุขโดยสมบูรณ์ทุกประการ

เมื่อราษฎรทั้งหลายได้แก้ไขอย่างที่ฉันได้ขอร้องมานั้นแล้ว ก็จะทำให้ฉันมีความอิ่มใจที่จะพยายามช่วยเหลือราษฎรทุกคนให้มียิ่งขึ้น ความพยายามของฉัน คือจะปลูกฝังให้ราษฎรมีความมั่นหมายและเปนผู้มีความทะเยอทะยาน โดยฉันจะได้ใช้ทรัพย์ที่เราได้รวบรวมขึ้นเปนก้อนสำหรับเราทุกคนนั้น มาค้นคว้าหาความสูงของวิทยาการใหม่ยิ่งขึ้น และจะบำรุงศีลธรรมทั้งหลายให้มีคงไว้สืบไป บรรดาหลักของศีลธรรมที่มีอยู่แล้ว โดยพระพุทธองค์, หลักพระธรรมและสาวกผู้ทรงความดีของพระองค์ได้บัญญัติไว้ จะเปนหลักศีลธรรมที่เราจะช่วยกันรักษาไว้ นอกจากนั้น, ฉันจะให้ความปฤกษาในหน้าที่ของเราให้มีอยู่ต่อกันเสมอ บรรดากิจการส่วนมากแทบทุกอย่าง ฉันและราษฎรทุกคนจะได้มีส่วนรู้เห็นกัน และร่วมใจกันอยู่ด้วยทุกคราวไป ความรับผิดชอบที่เราจะเกี่ยวข้องกับผู้อื่นทั่วไปเปนของฉัน ความรับผิดชอบที่เราจะช่วยกันก่อกู้ความรุ่งเรืองเปนของเราทุกคน ฉันคือราษฎรคนหนึ่ง ที่ราษฎรทั้งหลายได้ยกย่องให้มีเครื่องประดับอันพิเศษ ฉะนั้นเราอย่าถือเลยว่าเครื่องประดับคือยศ, ศักดิ์เหล่านั้น จะเปนเครื่องทำลายพวกเรากันเอง เพราะเราจะแต่งตั้งกันสักเท่าใดก็ได้ แต่น้ำใจอันดีงามที่เรามีอยู่ต่อกันนั้นต่างหาก ที่เราจะหาได้ยากนัก เมื่อเราได้ช่วยกันลงกำลังปัญญาและลงแรงมาด้วยกันเช่นนี้แล้ว เราอย่าไปตามผู้อื่นที่จะทำให้เราเสียความมุ่งหมายของเราเสียเลย เรามีวงศ์ตระกูลที่จะสืบของเรา และเรารักวงศ์ตระกูลของเราด้วยกันเพียงใด เราทุกคนควรถือว่าเราเปนผู้อยู่ในตระกูลอันเดียวกันดังนี้เถิด ในที่สุด - ถ้าคำพูดอันยืดยาวของฉันที่ได้มีมานี้ จะเปนผลดีได้แล้ว ฉันขออวยพรให้ความปรารถนาของราษฎรจงเปนผลสำเร็จ จงมีความสุขและจงมีอายุยืนนาน และขอให้ประเทศจงเจริญ พระพุทธสาสนาจงเจริญ ทั้งขอให้ราษฎรทั้งหลายจงเจริญเทอญ”

----------------------------

จบบริบูรณ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ