เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๔๙

วัน ๓ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้าวันนี้มีการเลี้ยงพระที่หอธรรมสังเวช และมีการอื่นๆ เหมือนกัน แต่ไม่ได้เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล ไม่ทรงสบายพระบาท

วัน ๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๕ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ยังไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๖ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลา ๒ ทุ่ม เสด็จออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกพระภิรมย์ราชา ข้าหลวง พระยาอุตรการโกศล กรมการเมืองพิไชย ๒ ฉบับ ๆ หนึ่งว่า ด้วยโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศเครื่องสูงกลองชนะหีบศิลาหน้าเพลิง สิ่งของไปพระราชทานเพลิงศพพระยาพิไชยกับพระราชทานเงิน ๓๐ ชั่งให้ขลิบภรรยาพระยาพิไชยทำบุญนั้น ได้นำไปพระราชทานแล้ว วัน ๓ ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมง เจ้าหมื่นไวยวรนารถ และข้าหลวงกรมการแห่โกศพระศพพระยาพิไชยไปเข้าเมรุ ได้นำผ้าไตร ๑๐ ผ้าขาว ๒๕ พับ ร่ม รองเท้า ๓๐ สำรับ เงินปลีก ๑๐ ตำลึง ของหลวงพระราชทานมีเทศนาบังสุกุล ทิ้งทาน มีการเล่น หนัง หุ่นจีน ละคร ดอกไม้เพลิง ๓ วัน ๓ คืน วัน ๕ ๗ ค่ำ พระภิรมย์ราชาตีศิลาหน้าเพลิงเผาศพพระยาพิไชย เสร็จแล้วขอถวายพระราชกุศล อีกฉบับหนึ่งว่า ณ วัน ๓ ๗ ค่ำ ได้ชักศพพระยาธรรมวิจารณ์เข้าเมรุ ได้นำผ้าขาว ๒ พับ ร่ม รองเท้า ๓๐ สำรับ ของหลวงพระราชทานทำบุญแล้ว วัน ๕ ๗ ค่ำ ตีศิลาหน้าเพลิงพระราชทานเพลิงเสร็จแล้ว กับใบบอกพระกำพุชภักดี ผู้ว่าที่พระพิทักษบุรทิศว่า ณ วัน ๗ ๕ ค่ำ ชักศพ พระพิทักษบุรทิศเข้าโรงทึม แล้วนำไตร ๑ ผ้าขาว ๒ พับ ร่ม รองเท้า ๓๐ สำรับ ทำบุญ ครั้น ณ วัน ๒ ๑๑ ๕ ค่ำ ตีศิลาหน้าเพลิงเผาศพเสร็จแล้ว แล้วนำพระกำพุชภักดี ผู้ว่าที่พระพิทักษบูรทิศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายน้ำตาลทราย ๕ บาท ทูลถวาย

พระยาศรีสิงหเทพนำพระยาสุโขทัย ๑ พระตรอนตรีสิน ผู้ว่าที่พระศรีสงคราม ปลัดซ้ายเมืองพิไชย ๑ หลวงวิเศษ ผู้ว่าที่พระตรอนตรีสิน ๑ ซึ่งไปราชการทัพกลับลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และนำพระราชพินิจจัย กรมมหาดไทย หลวงสุนทรพิมล กรมพระคลังมหาสมบัติ กราบถวายบังคมลาเป็นข้าหลวงไปชำระความวิวาทด้วยจับน้ำสุราเมืองอ่างทอง

พระยาพิพัฒนโกษา กราบถวายบังคมลาไปเป็นข้าหลวงรักษาเมืองนครไชยศรี

พระราชทานสัญญาบัตร เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ กรมยุทธนาธิการ ๑ นายจ่ายวดเป็นเจ้าพนักงานที่ ๒ ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ที่ ๑ หลวงสิทธินายเวร เป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้า ๑ พระองค์เจ้านันทวัน เป็นเมเยอ ในกรมทหารรักษาพระองค์ ๑

แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

วัน ๗ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้วออกขุนนาง หลวงเสนาภักดี นำบอกหลวงรามสิทธิสร ยกกระบัตรเมืองลพบุรี รายงานน้ำฝนต้นข้าวในราศีพฤษภ

แล้วเสด็จขึ้นออฟฟิศ ประทับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรี โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ที่จะไปอยู่พระอารามหลวงเข้ามา คือพระราชานุพัทมุนี ๑ ฐานา ๑ พระสามประโยค ๑ อันดับ ๔ รวม ๗ รูป ซึ่งจะไปอยู่วัดโมลีโลกยาราม พระเมธาธรรมรศ ๑ ฐานา ๑ อับดับ ๕ รวม ๗ รูป ไปอยู่วัดพิชัยญาติการาม พระปรากรมมุนี ๑ ฐานา ๑ อันดับ ๕ ไปอยู่วัดราชโอรสาราม พระญาณโพธิ ๑ อันดับ ๖ รวม ๗ ไปอยู่วัดอัมพวันเจดิยาราม เมืองสมุทรสงคราม พระครูอุดมบัณฑิตย์ ๑ อันดับ ๘ รวม ๙ ไปอยู่วัดศรีสุริยวงศ์ เมืองราชบุรี พระครูวิริยกิจการ ๑ อันดับ ๕ รวม ๖ ไปอยู่วัดอภัยทามริการาม รวม พระราชาคณะ ๔ พระครู ๒ ฐานานุกรม ๔ อันดับ ๓๓ รวม ๔๓ รูปเข้าไป ทรงประเคนผ้าไตรสลับแพร เครื่องบริขารต่าง ๆ เป็นอันมาก แต่พระราชาคณะ ๔ รูป ทรงประเคนมผ้าไตรเนื้อดี บริขารต่าง ๆ เป็นอันมาก แต่พระครู ๒ รูป ทรงประเคนผ้าไตรแด่ฐานา ๔ รูป โปรดให้เจ้านายทรงประเคนบริขารพอสมควร ทรงประเคนจีวรสบงกราบพระแด่พระสงฆ์อันดับ ๓๓ รูป โปรดให้เจ้านายประเคนบริขารเล็กน้อย พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา โปรดพระราชทานกปิยวัตถุให้พระเมธาธรรมรศ พระญาณโพธิ ราคาองค์ละ ๓ ชั่งสำหรับซ่อมกุฏิ แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๑ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีอ่านบอกพระยานุภาพไตรภพ เมืองนครเสียมราษฎร์ ว่านายชื่นผู้เป็นที่พระภักดีภูวนารถบุตร กราบถวายบังคมลาอุปสมบท ฉบับ ๑ กับใบบอกหลวงวิเศษภักดี กรมการเมืองพนมศก ว่า ณ วัน ๒ ๖ ค่ำ ได้ชักศพพระยาพนมพินิจเข้าโรงทึม แล้วนำผ้าไตร ๒ ผ้าขาว ๕ พับ ร่ม รองเท้า ๕๐ สำรับ ของหลวงบังสุกุล ครั้น ณ วัน ๕ ๑๔ ๖ ค่ำ เชิญหีบศิลาหน้าเพลิงเผาศพพระยาพนมพินิจ เสร็จแล้วขอถวายพระราชกุศล

กรมมหาดไทยนำขุนสมานจีนประชา กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง

พระวิจารณ์อาวุธ อ่านบอกพระยาประสิทธิสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ๒ ฉบับ ๆ หนึ่งถวายพระราชกุศลเผาศพพระนินนะภูมิบดี เมืองลุ่มสุ่ม อีกฉบับหนึ่งว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลุ่มสุ่มว่างอยู่ ขอพระราชทานหลวงปลัดเมืองลุ่มสุ่มเป็นพระนินนะภูมิบดีต่อไป แล้วนำหลวงปลัดเมืองลุ่มสุ่ม เฝ้าถวายขี้ผึ้งหนัก ๓๐ ชั่งจีน แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น

วัน ๒ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาทุ่มเศษเสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลสัตวารที่ ๔ ที่หอธรรมสังเวช มีการทั้งปวงเหมือนคราวก่อน แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๓ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชออกไปบำเพ็ญพระราชกุศลหอธรรมสังเวช มีการทั้งปวงเหมือนคราวก่อน

วันนี้เวลาบ่ายพระยาภาสกรวงศ์นำใบบอกหลวงพิษณุเทพและศุภอักษรเจ้ามหินธรเทพเมืองนครหลวงพระบาง ซึ่งให้นายแก้วเขมรลูกจ้างมองซิเออปาวีถือลงมา ความในใบบอกและศุภอักษรว่า เดิมเจ้าหมื่นไวยจับบุตรท้าวไลยเมืองไลยซึ่งกระด้างกระเดื่องลงมา และเจ้าหลวงพระบางแต่งให้พระยาลาว ๓ คนคุมไพร่กองละร้อยไปรักษาเมืองงอย เมืองขวาบ้านเพี้ยพันธุรโพไสย ณ วัน ๔ ๗ ค่ำ พระยาเชียงเหนือซึ่งรักษาเมืองงอยแต่งคนขึ้นไปหาพระยาเมืองขวาซึ่งตั้งอยู่น้ำอู คนไปถึงน้ำอูบ้านหาดสาได้พบฮ่อประมาณ ๖๐-๗๐ คน ล่องเรือ ๔ พวกไทไลพระมาไล่ฟันราษฎรแตกตื่นลงมา ราษฎรบ้านต่อๆ มาเห็นราษฎรแตกมาก็แตกตื่นมาอีกถึงเมืองงอย พวกเมืองงอยก็แตกเป็นอันมาก พระยาลาวที่รักษาเมืองงอยคือพระยาเชียงเหนือพระยานาใต้ห้ามไม่ฟังจะสู้รบน้อยตัว จึงตามครัวมาสกัดอยู่เมืองชื่น ข้าหลวงและเจ้าหลวงพระบางรู้ความ จึงแต่งพระยาเชียงใต้ พระยาเมืองแพนคุมคน ๘๐ ล่วงหน้าไป แล้วให้เจ้าอุปราชพระยาลาวท้าวขุนคุมไพร่ร้อยไป เจ้าหลวงพระบางแต่งเจ้าราชสัมพันธุ์ขึ้นไปต้อนคนสมทบกองเจ้าอุปราชอีก เจ้าอุปราชยกไปวัน ๓ ๑๐ ๗ ค่ำ ครั้นวัน ๕ ๑๒ ๗ ค่ำ ได้รับหนังสือเจ้าอุปราชส่งหนังสือฮ่อว่า ท้าวไลยถึงเจ้าหลวงพระบางสองฉบับ ว่าเจ้านายจับลูกมา ขอให้มีความกรุณาขอโทษเสีย ครั้นวัน ๖ ๑๓ ๗ ค่ำ ได้รับหนังสือเจ้าอุปราชอีกว่า ฮ่อประมาณพันเศษกับไทไลยยกมาถึงบ้านสบวัน ใต้เมืองงอย จะสู้รบก็น้อยตัว จึงแต่งคนไปเจรจากับอ้ายคำหุ้มบุตรท้าวไลยว่า ให้พักอยู่บ้านสบวัน คำหุ้มกับฮ่อไม่ยอม หลวงพิษณุเทพข้าหลวงได้มีหนังสือไปขอกองทัพเมืองน่าน ๑๐๐๐ คน ครั้น ณ วัน ๗ ๑๔ ๗ ค่ำ คำหุ้มมีหนังสือมาว่า ท้าวไลยจัดได้เงิน ๑๐๐๐๐ คำ ๑๐๐๐ ม้า ๔๐ จะมาให้เจ้าหลวงพระบางไม่ทำอันตรายใด ๆ ในค่ำวันนั้นราษฎรตกตื่นมาก ครั้น ณ วัน ๑ ๑๕ ๗ ค่ำย่ำรุ่งราษฎรร้องว่าเจ้าอุปราชแตกฮ่อมา ราษฎรขนของลงเรือล่องมาหลายร้อยลำ เจ้าอุปราชถอยทัพกลับมา ข้าหลวงเห็นราษฎรแตกตื่นมาก จึงถอยมาอยู่ฟากน้ำโขง เจ้าอุปราชเจ้าราชสัมพันธุ์กับข้าหลวงต้อนคนได้ ๑๕๐ คนเศษ ไปรักษาเมือง นอกนั้นหนีระส่ำระสายไป เจ้าหลวงพระบางเห็นไพร่พลหลบหนีจวนตัว จึงแต่งพระสงฆ์ไป ๒ รูป ให้ไปพูดกับคำหุ้มบุตรท้าวไลย ๆ แต่งคนมากับพระสงฆ์แจ้งความกับเสนาบดีว่าจะมาดี จะขอเข้ามาหลวงพระบางพรุ่งนี้ ณ วัน ๒ ๗ ค่ำ ฮ่อเข้ามาพักอยู่วัดเชียงทองริมเมืองหลวงพระบาง แล้วจะขอเฝ้า เจ้าหลวงพระบางไม่ให้เฝ้า ณ วัน ๔ ๗ ค่ำ ฮ่อพาลจับลาวมาส่งว่าเป็นผู้ร้าย ขณะนั้นฮ่อพากันถืออาวุธเข้ามาในคุ้มเจ้าหลวง และอยู่นอกคุ้มอีก แล้วยิงปืนเป่าเขาควายขึ้นรบกับลาว ไพร่พลและต้องสู่ที่เจ้าหลวงพระบางจ้างไว้รบอยู่ ๒ ชั่วโมง เจ้าหลวงพระบางเห็นจะสู้ไม่ได้ ลงเรือหนีมาปากลาย พร้อมด้วยครอบครัวเจ้านายท้าวพระยาราษฎร แต่เจ้าอุปราชเจ้าราชสัมพันธุ์จะพลัดไปที่ใดไม่แจ้ง ได้ส่งพระราชดำริเรื่องเสียเมืองหลวงพระบาง และจะจัดการปราบปรามจนเวลา ๕ ทุ่มเศษ

วัน ๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาค่ำ เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ไม่มีการสมโภชพระองค์เจ้าหม่อมเจ้า ซึ่งจะทรงผนวชสามเณรและผนวชเป็นภิกษุ คือ พระองค์เจ้ารุจาวรฉวี พระะองค์เจ้าวิบุลยพรรณรังษี ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงผนวชเป็นสามเณร ๒ หม่อมเจ้าประพฤติ ในกรมขุนวรจักรทรงผนวชเป็นภิกษุ วันนี้ทรงพระราชดำริด้วยการเมืองหลวงพระบางพร้อมด้วยสมเด็จกรมพระภาณุพันธุ์และเจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายกจนค่ำ

วัน ๕ ๑๐ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเพล โปรดให้พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าซึ่งจะทรงผนวชสามเณรและผนวชภิกษุทรงเฉลี่ยงไปขึ้นเกยหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานเงินสลึงทิ้งทาน พระองค์เจ้าในพระราชวังบวรองค์ละ ๗ ตำลึง หม่อมเจ้าองค์ละ ๕ ตำลึง แล้วเข้าไปในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชในพระอุโบสถ สมเด็จพระวันรัตเป็นผู้ให้บรรพชาพร้อมด้วยคณะสงฆ์ ๓๐ รูป พระองค์เจ้ารูจาวรฉวี พระองค์เจ้าวิบุลยพรรณรังษี ทรงผนวชสามเณร หม่อมเจ้าประพฤติ ผนวชภิกษุ ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง พระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการ แล้วทรงประเคนเครื่องบริขารพระองค์เจ้าเณร หม่อมเจ้าพระ ที่ทรงผนวช พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับ

พระองค์เจ้าเณรรุจาวรฉวี หม่อมเจ้าประพฤติ ไปอยู่วัดราชบพิธ พระองค์เจ้าวิบุลยพรรณรังษี ไปอยู่วัดโสมนัสวิหาร

วัน ๖ ๑๑ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานทองคำภายใต้พระมหาเศวตฉัตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีมนตรีมุขมาตย์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยตำแหน่งถ้วนทุกกระทรวง เจ้าพนักงานประโคมแตรฝรั่งมโหระทึก แตรทหารตามขัตติยประเพณี แล้วกรมวัง กรมมหาดไทยนำเจ้าราชบุตร ผู้ว่าที่ราชวงศ์ เจ้าราชภาคินัย เจ้านายท้าวพระยาเมืองหลวงพระบาง ๑๒ นาย ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ๓ นาย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยาศรีสิงหเทพทูลเบิกนำและศุภอักษรเจ้านครหลวงพระบาง ว่าจัดได้ต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ จำนวนปีมะโรง โทศก ต้นไม้ทองสูง ๒ ศอกคืบ หนัก ๑๒ ตำลึง ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงเท่ากัน หนัก ๑ ชั่ง ทองลิ่ม ๔ ลิ่ม หนัก ๘ ตำลึง กำยานหาบ ๑ ชะมดเชียง ๒ ช่อ เจียมลายแดง ๔ ผืน ม้าผู้สีดำ ๒ ม้า สีมรกต ๑ ม้า สีหมอกม้าตอน ๑ ม้า ขอพระราชทานถวาย กับเจ้าราชบุตรว่าที่ราชวงศ์ จัดได้มโหระทึกใหญ่ ๖ กำ ๑ ชะมดเชียงช่อ ๑ เจ้าราชภาคินัยจัดได้ชะมดเชียงช่อ ๑ ขอพระราชทานถวาย กับหนังสือบอกพระจันทรสุริยวงศ์เมืองมุกดาหาร ว่าแต่งให้ท้าวเพี้ยคุมเครื่องราชบรรณาการ จำนวนปีมะเส็ง ตรีศก ต้นไม้ทองเงินสูงศอก ๖ นิ้ว หนักต้นละ ๓ ตำลึง นรนาด ๒ ยอด หนัก ๒ ชั่ง ๔ ตำลึง แทนขี้ผึ้ง ๒ หาบ เงิน ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เงิน ๑๘ ตำลึง แทนงาช้าง ๖๐ ชั่ง ขอพระราชทานถวาย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารสามนัดตามธรรมเนียม

แล้วโปรดพระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยยศแก่ผู้ที่ไปราชการปราบปรามฮ่อ ซึ่งมาย่ำยีพระราชอาณาเขต พระราชทานสัญญาบัตรเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก ศักดินา ๓๐๐๐ และพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ท.จ.ว. กับพานทองกลม คนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ ๑

จ่ายวดมหาดเล็ก เป็นพระพลัษฎานุรักษ์ ปลัดจางวางมหาดเล็ก นา ๑๐๐๐ หลวงดัษกรปลาศ (อยู่) เครื่องราชอิสริยยศช้างเผือกชั้นที่ ๓ ชื่อนิภาภรณ์ นายดวง เลฟเตอร์แนนต์ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ชื่อภูษนาภรณ์ แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศทุติยจุลจอมเกล้า ท.จ. ๑ มงกุฎสยามชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์ ๑ แก่พระยาศรีธรรมศุกราชเมืองสุโขทัย กับพานทองเหลี่ยม คนโททอง กระโถนทองด้วย กับพระราชทานสัญญาบัตรพระตรอนตรีสิน เป็นพระศรีพิไชยสงคราม ปลัดซ้ายเมืองไชย นา ๑๐๐๐ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศมงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ พระราชทานสัญญาบัตรหลวงวิเศษภักดี เป็นพระตรอนตรีสิน ผู้ว่าราชการเมืองตรอนตรีสิน เครื่องราชอิสริยยศช้างเผือกชั้นที่ ๔ ชื่อภูษนาภรณ์ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศมงกุฎสยามชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์ แก่เจ้าราชบุตรผู้ว่าที่เจ้าราชวงศ์เมืองนครหลวงพระบาง พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศช้างเผือกสยามชั้นที่ ๓ ชื่อนิภาภรณ์ แก่เจ้าราชภาคินัยเมืองนครหลวงพระบาง

แล้วพระยาศรีสิงหเทพ นำพระอินทราธิบาล ๑ จมื่นราชานุบาล ๑ กราบถวายบังคมลาไปสืบราชการเมืองนครหลวงพระบาง และนำพระยาสุโขทัย พระศรีพิไชยสงคราม พระตรอนตรีสิน เจ้าราชบุตรว่าที่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชภาคินัย ท้าวพระยาเมืองนครพระบาง กราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมือง และไปจัดการเมืองนครหลวงพระบาง แล้วพระยาศรีนำเจ้านายเมืองน่าน ท้าวเพี้ยเมืองสิบสองจุไทย เมืองหัวพันทั้งหก ซึ่งลงมากับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ซึ่งเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี รวม ๔๑ นาย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จขึ้น

เวลาย่ำค่ำ เสด็จออกประทับมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระยาสุรศักดิมนตรีนำฮ่อและหัวหน้าแขวงสิบสองจุไทย หัวพันทั้งหก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่สนามหญ้า แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๗ ๑๒ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง ทรงพระราชดำริเรื่องการเมืองนครหลวงพระบางจนค่ำ

วัน ๑ ๑๓ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

วันนี้เวลาค่ำ โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จออกทรงจุดเทียนที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระสงฆ์ ๒๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ในการฉลองเทียนพรรษา ซึ่งจะพระราชทานไปตามพระอารามต่าง ๆ

วัน ๒ ๑๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงประเคนพระสงฆ์ที่สวดมนต์ ๒๐ รูป กับพระสงฆ์ที่จะรับตำแหน่ง ๙ รูป รับพระราชทานฉัน ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว พระราชทานไตรแพรสัญญาบัตร พระปลัดจุ่นวัดสระเกศ เป็นพระธรรมธานาจารย์ นิตยภัตเดือนละ ๑ ตำลึง พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวาง พัดรองตราแผ่นดิน พัดรองโหมดย่ามหักทองขวาง บาตรถุงเข้มขาบ ฝาบาตรเชิงบาตร เชิงบาตรมุข กระโถน กาน้ำถมปัด เป็นเครื่องยศอย่างพระราชาคณะ ๑

พระปลัดเอี่ยม วัดราชสิทธาราม เป็นพระสังวรานุวงศ์เถร นิตยภัตเดือน ละ ๓ ตำลึง พระราชทานตาลปัตรงาสาน และของอื่นๆ เป็นเครื่องยศอย่างพระราชาคณะ ๑

พระราชทานผ้าไตรสลับแพรสัญญาบัตร พระปลัดเที่ยงฐานานุกรมเก่า วัดราชคฤห เป็นพระครูสาธุธรรมคุณาธาร นิตยภัตเดือนละ ๒ ตำลึง พระราชทานตาลปัตรพุดตานหักทองขวาง พัดรองโหมดเป็นเครื่องยศอย่างพระครูในกรุง ๑

พระปลัดเดช วัดมหรรณพาราม เป็นพระครูวิหารกิจจานุการ ไปอยู่วัดสระเกศ นิตยภัตเดือนละ ๒ ตำลึง พระราชทานตาลปัตรพุดตาน และของอื่น ๆ เป็นเครื่องยศอย่างพระครูในกรุง ๑

พระปลัดจุ้ย ฐานานุกรมเก่า วัดโมฬีโลกยาราม เป็นพระครูธรรมานุกูล ช่วยกิจสงฆ์ในวัดโมฬีโลกยาราม นิตยภัตเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท พระราชทานตาลปัตรและของอื่น ๆ เป็นเครื่องยศอย่างพระครูในกรุง ๑

พระสมุห์มั่น ฐานานุกรมเก่า วัดอัปสรสวรรค์ เป็นพระครูพุทธพยากรณ์ นิตยภัตเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท พระราชทานตาลปัตรพุดตานและเครื่องยศต่าง ๆ อย่างพระครูในกรุง ๑

พระราชทานผ้าไตรและสัญญาบัตร เจ้าอธิการทอง วัดพระชินราช เป็นพระครูสังขปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่เมืองพิษณุโลก พระราชทานตาลปัตรพุตตานทองแผ่ลวด บาตรสักหลาด กระโถน กาน้ำ ถ้วย เป็นเครื่องยศ แต่ตำแหน่งเคยได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกทองแผ่ลวด และของอื่น ๆ เป็นเครื่องยศ ๑

ครั้นตั้งตำแหน่งพระสงฆ์เสร็จแล้ว เสด็จขึ้น

เวลาค่ำ เสด็จออกหอธรรมสังเวช สัตวารสมัยที่ ๕

วัน ๓ ๑๕ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ๕ โมง เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วทรงประเคน กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ กรมหมื่นวชิรญาณ หม่อมเจ้าพระ พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ๓๐ รูปรับพระราชทานฉันในพระอุโบสถ ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้ว ทรงประเคนพุ่มและเทียนร้อย พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาถวายพระพรลากลับ แล้วเจ้าพนักงานนำพระองค์เจ้าเณร หม่อมเจ้าพระ พระราชาคณะที่เหลือจากฉันบนพระอุโบสถและพระครูหัวเมืองใกล้ๆ ขึ้นมารับพุ่มและเทียนร้อยบนพระอุโบสถ แต่พระครูฐานานุกรมเปรียญในกรุง รับที่ระเบียงตามธรรมเนียมที่เคยมา พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเทียนชนวนให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปจุดเทียนพรรษาพระอารามต่าง ๆ แล้วเสด็จกลับจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่ที่หอธรรมสังเวชนั้น โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลแต่เวลาเช้าแล้ว

วัน ๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า วันนี้มีการเลี้ยงพระตามกาลานุกาล บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ตามเคยในสมัยเข้าพรรษา ไม่ได้เสด็จออก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศล วันนี้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเปลื้องเครื่องพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตตามเคย เปลี่ยนฤดูคิมหันต์เป็นวัสสานะถูกตามธรรมเนียม ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

วัน ๕ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง ได้ข่าวจากพระยาภาสกรวงศ์ ผู้ว่าราชการแทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศว่า ได้ข่าวจากทูตฝรั่งเศสว่าฮ่อเผาเมืองนครหลวงพระบาง และว่าฆ่าเจ้าอุปราชตายแล้ว ไม่ได้เสด็จออกขุนนางด้วย

วัน ๖ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วันนี้ โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จถวายพุ่มหลวงวัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ

วัน ๗ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง ไม่มีใบบอกราชการ เสด็จประทับอยู่ครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น

วัน ๑ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง กรมมหาดไทยนำใบบอกเมืองลพบุรีรายงานน้ำฝนต้นข้าว แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๒ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลสัตวารที่ ๖ มีสวดมนต์และเทศนาเหมือนทุก ๆ คราวมา เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วัน ๓ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จออกทรงประเคนพระสงฆ์ ที่รับพระราชทานฉันที่หอธรรมสังเวช และมีเทศนาตามเคย ค่ำไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๕ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระที่นั่งพุดตานทองคำ ภายใต้มหาเศวตฉัตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีมนตรีมุขมาตย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยตำแหน่งถ้วนทุกกระทรวง เจ้าพนักงานประโคมตามธรรมเนียม ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว กรมวัง กรมมหาดไทย นำเจ้าราชบุตรเมืองนครลำปาง ๑ นายน้อยแก้วเมืองมูล นายแก้วเมืองพวน พระยาเมืองขวา พระยาอินตะราชาเมืองนครลำปาง ๕ พระยาอุปราชเมืองพะเยา ๑ นายน้อยมหาไชย นายน้อยจัน เมืองพะเยา ๓ นาย รวม ๘ นาย ซึ่งเจ้านครหลวงพระบางแต่งให้ลงมาในการพระราชพิธีลงสรง กับท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ๓ นาย ซึ่งพระจันทรสุริยวงศ์ แต่งให้ลงมาในการพระราชพิธีลงสรง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมือง มีพระราชดำรัสปฏิสันถาร ๓ ครั้ง แล้วพระราชทานพานหมากเงิน เครื่องในทองคำ คนโททองคำ กระโถนทองคำ แก่เจ้าราชบุตรเมืองนครลำปางเป็นเครื่องยศ แล้วพระยาศรีสิงหเทพนำหลวงดัษกรปลาศ กรมทหารหน้า กราบถวายบังคมลาขึ้นไปราชการเมืองนครหลวงพระบาง มีพลทหารไปด้วยครั้งนี้ ๑๘๔ คน พระราชทานพรแล้วเสด็จขึ้น

วัน ๖ ๑๐ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง พระศรีเสนานำใบบอกพระยาพิษณุโลกาธิบดี เมืองพิษณุโลก ๔ ฉบับๆ หนึ่งส่งของสำหรับกองทัพซึ่งตกค้างอยู่เมืองไชยนาม ฉบับหนึ่งว่า ข้าวคงฉางเมืองพิษณุโลก มี ๕๗๔-๕๑-๘ เมืองไชยนาม ๒๖-๒-๑๒ รวมข้าวเปลือก ๖๐๐-๕๓-๑๘ ได้จำหน่ายขายข้าวเปลือกได้ ๑๐ เกวียน ๆ ละ ๔ ตำลึง เงิน ๒ ชั่ง อีกฉบับหนึ่งว่าได้เรียกเงินค่าตอไม้ในแขวงเมืองพระพิษณุโลก เมืองขึ้น จำนวนปีระกา สัปตศก ได้เงิน ๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๑ บาท ๓ สลึง ให้กรมการคุมลงมาส่ง อีกฉบับหนึ่งว่า พระพิรมย์ราชา ข้าหลวง พระยาอุตรการโกศล เมืองพิไชย มีหนังสือบอกว่า เมืองหลวงพระบางเสียแก่ฮ่อ พระยาพิษณุโลกาธิบดีแต่งให้ พระศรีพิไชยสงคราม หลวงทรงสัน ขุนประชาบาล } กับขุนหมื่น ๓๐ คน ไปสืบราชการบ้านปากลาย กับเกณฑ์ขุน หมื่น ไพร่ ๔๐๐ คน คอยรับราชการ ถ้าได้ความประการใดจะบอกมา

พระศรีสิงหเทพนำพระยาสมบัติยาธิบาลกราบถวายบังคมลาไปเมืองปราจีนบุรี มอบเครื่องทำบ่อแร่ ซึ่งกัปตันบาลขอพระราชทานทำแร่ พระวิจารณ์นำพระมินนะภูมิบดี เมืองลุ่มสุ่ม กราบถวายบังคมลาไปรักษาราชการบ้านเมือง

พระราชทานสัญญาบัตร นายต่วน บุตรพระยาราชภักดี เป็นหลวงอุปนิกสิตสารบรรณ พนักงานรักษาแสตมป์ หอรัษฎากรพิพัฒน์ นา ๖๐๐ แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๗ ๑๑ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว ออกขุนนางตามธรรมเนียม พระยาราชานุประพันธุ์นำใบบอกพระอินทราชา ว่ามีตราโปรดให้เร่งเงินค่าแรงจีนผูกปี้ จำนวนปีระกา สัปตศก ซึ่งยังค้างอยู่ ๙ ชั่ง ๑๙ ตำลึง นั้น ได้หาตัวหลวงพิไชยชาญยุทธ ยกกระบัตร มาถาม แจ้งความว่าได้รับเงินจาก นายใหญ่ นายหลำ } ซึ่งเป็นผู้แทนหลวงสรจักรานุกิจ ข้าหลวง ๔ ชั่ง ๘ ตำลึง นอกนั้นอยู่กับ นายใหญ่ นายหลำ } กับกรมการเร่งได้จากจีน ๑ ชั่ง รวม ๕ ชั่ง ๘ ตำลึง ให้กรมการคุมเข้ามาส่ง ยังเงินอีก ๔ ชั่ง ๑๑ ตำลึงนั้น ยกกระบัตรกับ นายใหญ่ นายหลำ } ต่อสู้กัน จะขอส่งตัวเข้ามากรุงเทพ ฯ กับใบบอกพระยาสมุทรบุรานรักษ์ ๒ ฉบับๆ หนึ่งว่า ขุนประมูลสมบัติขอพระราชทานที่ยาว ๑๓ วา กว้าง ๔ วา เป็นที่วิสุงคามสีมาวัดทุ่งคอลาก อีกฉบับหนึ่งว่า หมื่นสะท้านนิกรขอพระราชทานที่เขตพระอุโบสถวัดบ้านไร่ ยาว ๑๑ วา กว้าง ๕ วา ๒ ศอก เป็นที่วิสุงคามสีมา แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น

วัน ๑ ๑๒ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาทุ่มเศษ เสด็จพระราชดำเนินออกหอธรรมสังเวช บำเพ็ญพระราชกุศล ที่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในสมัยสัตวารที่ ๗ และนับมาแต่วันสิ้นพระชนม์ จะบรรจบครบ ๕๐ วัน มีพระสงฆ์สวดมนต์ของหลวง ๑๐ รูป ส่วนเจ้าภาพ ๕ รูป และมีเทศนากัณฑ์ ๑ มีการกงเต๊กตามธรรมเนียมอย่างเช่นมีมาแล้ว เวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น

วัน ๒ ๑๓ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ๕ โมง โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกทรงประเคนที่หอธรรมสังเวช มีสดับปกรณ์และกงเต๊กตามธรรมเนียม

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง พระศรีเสนานำใบบอกพระยาวิชิตภักดี เมืองสวรรคโลกว่า พระพิรมย์ราชาข้าหลวง พระยาอุตรการโกศล เมืองพิไชย มีหนังสือไปว่าด้วยฮ่อตีเมืองหลวงพระบางแตก เจ้านายราษฎรพากันมาอยู่บ้านปากลาย เมืองพิไชยจัดพระพลและกรมการคุมไพร่ ๕๐๐ คน ไปรักษาเจ้านครหลวงพระบาง พระยาวิชิตภักดีเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐ คน เครื่องสาตราอาวุธครบ ช้าง ๔๐ แต่งให้กรมการ ๔ นาย คุมขึ้นไปสมทบกองทัพเมืองพิไชย ถ้ากำลังกองทัพพอจะตีฮ่อให้ตี ถ้ากองทัพฮ่อแข็งแรงก็จะตั้งรักษาอยู่ที่ปากลาย ได้มีหนังสือให้พระพิรมย์ราชาส่งเสบียงด้วย

กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปตรวจการเสบียงกองทัพเมืองพิไชย โปรดพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และพระราชทานสายดิ่ง ๒ สาย ประคำทอง ๑ สาย ฉลองพระองค์เยียรบับ ๒ องค์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ชื่อภูษนาภรณ์ แก่พระยาอินตะวงษา เจ้าเมืองเวียงสา

พระยาศรีสิงหเทพนำพระจินดาจักรรัตน ๑ หลวงกำจัดไพรินทร์ ๑ กรมกองแก้วจินดา ๒ หลวงเสนาภักดีมหาดไทย ๑ หลวงวิจารณสาลี กรมนา ๑ หลวงดำรงธรรมสาร กรมแพ่งกลาง ๑ จ่าแรงรับราชการ ๑ จำเร่งงานรัตรุต ๑ กรมพระตำรวจนอกซ้ายขวา ๒ หม่อมราชวงศ์สิทธิ เลฟเตแนนต์ ทหารล้อมพระบรมมหาราชวัง ๑ จมื่นศักดิบริบาล กรมพระตำรวจนอกซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวร ๑ หมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เจ้ากรม หมื่นดำรงราชกิจ ปลัดกรม หมื่นลิขิตคณารักษ์ สมุหบัญชี ในกรมหมื่นสรรพสิทธิ ๓ กราบถวายบังคมลาไปตามเสด็จกรมหมื่นสรรพสิทธิ แล้วเสด็จพระราชดำเนินหอธรรมสังเวช บำเพ็ญพระราชกุศล บรรจบ ๕๐ วันอย่างวันก่อน เวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น

วัน ๓ ๑๔ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ไม่ได้เสด็จออกหอธรรมสังเวช โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล

เวลาทุ่มเศษ เสด็จออกหอธรรมสังเวช พระสงฆ์รามัญ ๑๕ องค์สวดพระพุทธมนต์ ในสมัย ๕๐ วันอย่างวันก่อน มีเทศน์ มีกงเต๊กเหมือนกัน เวลายามเศษ เสด็จขึ้น

วัน ๔ ๑๕ ๘ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๕๙

เวลาเช้า ไม่ได้เสด็จออกหอธรรมสังเวช โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชออกบำเพ็ญพระราชกุศล

เวลาย่ำค่ำ มีสวดมนต์หล่อพระพุทธรูปประจำปีพระชนมพรรษาที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ไม่ได้เสด็จออก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จจุดเทียน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ