ประวัติ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ และหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ เป็นมารดา ทรงมีเจ้าพี่ร่วมมารดา ๓ องค์ คือ

๑. หม่อมเจ้าชายสุวัฒนวิสัย วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๓๙ ถึงชีพิตักษัยแต่ยังทรงพระเยาว์

๒. หม่อมเจ้าชาย เกรียงไกรมรุพล วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๔๑ ถึงชีพิตักษัยขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ

๓. หม่อมเจ้าหญิงสุวคนธ์ประทุม วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๔๔ ถึงชีพิตักษัยแต่ยังทรงพระเยาว์

ทั้ง ๔ องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนาม และยังทรงมีเจ้าน้องต่างมารดาอีก ๓ องค์ คือ

๑. หม่อมเจ้าชายตรีอนุวัตน์ วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึงชีพิตักษัย พ.ศ. ๒๔๙๑ หม่อมนุ่มเป็นมารดา

๒. หม่อมเจ้าหญิงรัตนกมล วัฒนวงศ์ ประสูติวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ หม่อมชุ่มเป็นมารดา

๓. พันโท หม่อมเจ้าชายวัฒนานุวัตร วัฒนวงศ์ ประสูติ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ หม่อมนุ่มเป็นมารดา

รวมพระโอรสและพระธิดา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ จึงมี ๗ องค์

ในบรรดาพระโอรสธิดาของหม่อมเชี้อนี้ ต่างเรียกมารดาไม่เหมือนกัน หม่อมเจ้าสุวัฒนวิสัย เรียกหม่อมมารดาว่า “คุณเช้อ” หม่อมเจ้าเกรียงไกรมรุพล ทรงเรียกหม่อมมารดาว่า “คุณหมา” หม่อมเจ้าหญิงสุวคนธ์ประทุม เรียกว่า “คุณแอ้” ส่วนหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี เรียกว่า “คุณแมะ” จึงทำให้กรมขุนมรุพงศ์ ฯ ทรงเรียกชื่อหม่อมเชื้อตามลูก ๆ จนเมื่อประสูติหม่อมเจ้าหญิงสุวคนธ์ประทุมซึ่งพอตรัสได้ก็เรียกหม่อมมารดาว่า “คุณแอ้” เสด็จพ่อก็ทรงเรียกตามลูกจนติดพระโอฐ แม้จนเมื่อกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเรียกว่า “แอ้” เสมอ จนภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีพระราชดำรัสถึงหม่อมเชื้อก็ทรงเรียกว่า “แอ้” ด้วย ทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงเรียกอย่างคุ้นพระโอฐว่า “แอ้” เช่นกัน เพราะทั้ง ๒ พระองค์ทรงรักใคร่สนิทสนมกันมาก การเรียกเช่นนี้เป็นมาโดยมิได้เปลี่ยนแปลงจนกรมขุนมรุพงศ์ ฯ สิ้นพระชนม์

ในที่นี่เห็นควรจะต้องเล่าทางสายสกุลวงศ์ของเจ้าจอมมารดาบัว ซึ่งท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศริพัฒน์ ต้นราชสกุล “วัฒนวงศ์” เจ้าจอมมารดาบัว ท่านเป็นธิดาคนที่ ๓๐ ของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยคืนเมือง) ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามที่ทราบกันมาท่านมีความฉลาดกว่าบรรดาเจ้านครทั้งหลาย เจ้าจอมมารดาบัว ได้เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชโอรสและธิดา ๕ พระองค์

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเฉลิมลักษณเลิศ ประสูติ เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๙ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๒ ปี

๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายศริสิทธิธงไชย ประสูติ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่น แล้วเป็นกรมขุนสิริธัชสังกาศ ได้ทรงราชการงานเมืองเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง เป็นอธิบดีศาลฎีกา เป็นราชเลขานุการฝ่ายกฎหมาย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชันษา ๕๔ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล ศรีธวัช

๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรไทยเทพกัญญา ประสูติ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๒ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระชันษา ๔๗ ปี

๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายวัฒนานุวงศ์ คือพระบิดาหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ประสูติ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้เปนนายพลตรีราชองครักษ์ เป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส แล้วเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มณฑลปราจีนบุรี ถึงรัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ พระชันษา ๖๑ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล วัฒนวงศ์

๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายดำรงฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๗ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๙ พระชันษา ๒ ปี

ส่วนหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ นั้น มีเชื้อสายสกุล “บุนนาค” ด้วยหม่อมเป็นธิดาพระยาราชพงศานุรักษ์ (ชม บุนนาค) และคุณหญิงสวาดิ พระยาราชพงศานรักษ์ เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ซึ่งเป็นน้องร่วมมารดากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และเจ้าคุณหญิงเป้า มารดานั้นเป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ส่วนคุณหญิงสวาดิ มารดาหม่อมเชื้อนั้นเป็นธิดาพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เช่นกัน

หม่อมเชื้อ มีพี่น้องร่วมมารดา คือ

๑. คุณหญิงประชุม ภรรยา พระยามนตรีสุริยวงศ์ (เชียร) เป็นพี่

๒. หลวงวิชิตสุรไกร (ไชยะมงคล) เป็นน้อง

เมื่อกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสด็จกลับจากราชการต่างประเทศ เพื่อมารับราชการในพระราชอาณาจักร ใน พ.ศ. ๒๔๓๘ กรมขุนมรุพงศ์ ฯ ได้เสด็จไปขอหม่อมเชื้อต่อเจ้าคุณคลี่ และเมื่อเจ้าคุณคลี่ยอมถวายแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ก็เสด็จไปประทับที่หอเสวยบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ซึ่งได้ตกเป็นมรดกของเจ้าคุณคลี่แล้ว ในการที่หม่อมเชื้อได้เป็นหม่อมห้ามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์นี้ เจ้าคุณคลี่ท่านได้ยกสมบัติให้อย่างมากมาย ต่อมาได้ทรงย้ายมาประทับที่วังข้างวัดสุทัศน์เทพวราราม ภายหลังได้ทรงปลูกวังใหม่ขึ้นที่ตำบลมักกะสันแล้ว กรมขุนมรุพงศ์ ฯ ท่านได้ถวายวังเดิมที่ข้างวัดสุทัศน์ ฯ รวมทั้งตำหนักและโรงเรียนที่ได้ทรงสร้างไว้ในวังนั้น ให้เป็นโรงเรียนในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รับไว้แล้วจัดตั้งเป็นโรงเรียนสตรี พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเบญจมราชาลัย” ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ตามที่เล่ามานี้ แสดงให้เพ็นว่า หม่อมเจ้าหญิง จงกลนี วัฒนวงศ์ มีประยูรญาติมากทั้งฝ่ายสกุล ณ นคร และสกุล บุนนาค ซึ่งเป็นสกุลวงศ์ที่ใหญ่ทั้งสองฝ่าย

พระโอรสและพระธิดาของหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ ชันษาสั้นทั้ง ๓ องค์ ดังปรากฏว่า หม่อมเจ้าชายสุวัฒนวิสัย ถึงชีพิตักษัยเมื่อพระชนมายุราว ๙ ขวบ หม่อมเจ้าชายเกรี่ยงไกรมรุพล ได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังดุสิต รับใช้ตามเสด็จออกพร้อมกับหลานเธอในรัชกาลที่ ๕ ทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ส่งไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และได้ไปถึงชีพิตักษัยที่ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้าหญิงสุวคนธ์ประทุมนั้นทรงมีพระชนม์อยู่มาได้รวม ๓ หรือ ๔ ขวบ ก็ถึงชีพิตักษัย คงเหลือแต่หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีองค์เดียว ซึ่งเมื่อยังเยาว์ไม่ทรงแข็งแรงมักประชวรแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นเสมอ จึงต้องมีแพทย์ประจำอยู่ใกล้ชิดตลอดมาจนเจริญชันษา อนามัยจึงค่อยปกติ

การศึกษาของหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ในเบื้องต้นได้จ้างครูมาสอนที่วัง ต่อมาได้ไปศึกษาพิเศษตามโรงเรียนและครูที่มีชื่อบางแห่ง แต่ไม่ได้เรียนจนมีการสอบไล่เป็นชั้นๆ ในเรื่องการศึกษานี้ พระบิดาและมารดาได้เป็นห่วงมาก เพราะมีพระธิดาเหลือองค์เดียว ทั้งอนามัยก็ไม่สู้้แข็งแรง จึงไม่ยอมให้ไปเรียนเป็นประจำ แม้จะมีความประสงค์ถึงการอยากเรียนก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ได้รับการอบรมในหน้าที่การปกครองเป็นแม่บ้านและกิจการอื่น ๆ จากพระบิดาและมารดาเป็นอย่างดี จนพระบิดาสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีมีชันษาได้เพียง ๑๔ ปี จึงทรงขาดจากการเรียน แต่ก็ได้ทรงค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำราหรือไม่ก็ทรงศึกษาจากท่านที่มีความรู้บางคน โดยเห็นว่าต่อไปจะต้องปกครองตนเอง เพราะหม่อมมารดาก็มีอายุมากแล้ว

ในที่สุดหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ ก็ถึงอนิจกรรมลง หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ต้องปกครององค์เองและรักษาทรัพย์สมบัติตลอดมา ในระยะหลังนี้ได้ทรงมีมานะศึกษาหาความรู้ยิ่งขึ้น ดังเช่น เรียนภาษาอังกฤษและหนังสือที่เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ ตลอดจนความรู้ทางพระศาสนาก็สนพระทัยมากอยู่ เพราะมีนิสัยรักการศึกษาตั้งแต่อยู่ในความดูแลปกครองของผู้ใหญ่แล้ว อาศัยที่มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบมีปฏิภาณดี จึงมีความรู้รอบตัวประกอบกิจการงานด้วยตนเอง เจริญรุ่งเรืองตลอดมา ได้ทรงเปิดร้าน “สุคนธาลัย” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ข้างตำหนักถนนสุรวงศ์ โดยไม่โปรดอยู่เฉย ๆ ทรงทำน้ำอบไทยแป้งร่ำ แพรเพลาะห่มนอน เสื้อเด็กอ่อน และกางเกงแพร ขายหารายได้เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อให้การศึกษาพระญาติและเด็กที่อยู่ในพระอุปการะด้วยเป็นอย่างดี

เมื่อสงครามอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้สมัครเป็นสมาชิกอาสากาชาด เข้ารับการอบรมวิชาพยาบาล และช่วยปฏิบติงานให้แก่ทหารบาดเจ็บที่มาพักฟื้น ต่อมาได้ร่วมทำการประดิษฐ์สิ่งของกับคุณหญิงถวิล ศรีเสนา และแนะนำสมาชิกอาสากาชาดใหม่ ๆให้ทำและเย็บสิ่งที่เป็นเครื่องใช้สำหรับเด็ก และใช้ในบ้าน ที่กองอาสากาชาดทุกอาทิตย์ เพื่อจำหน่ายนำเงินมาบำรุงสภากาชาดไทย จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเริ่มประชวรจึงได้ยุติ นอกจากนั้นยังได้ทรงเอื้อเฟื้อช่วยเหลือวงศ์ญาติทั้งสกุล ณ นคร และสกุล บุนนาค ใครเจ็บไข้ก็ได้รับมารักษาที่วังเสมอ ส่วนน้องและหลานของหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ก็ได้ช่วยเหลือตามควรแก่การ และโดยที่ไม่ประมาทต่อความเจ็บไข้ จึงได้ขอให้นางสาวสลับ ควรแสวง นางพยาบาลมาอยู่ด้วยเป็นประจำ ภายหลังมาได้สร้างวังขึ้นใหม่ที่ซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท ส่วนที่วังเก่าก็จัดทำผลประโยชน์อย่างอื่นต่อไป นับว่าเป็นผู้มีปัญญาจัดการทรัพย์สมบัติให้งอกงาม และรู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการพระศาสนาเป็นอันมาก

ในรัชกาลปัจจุบัน หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณตามความสามารถของท่านหลายอย่าง จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

ตรา

ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

ทุติยจุลจอมเกล้า วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

ตติยจุลจอมเกล้า วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

เหรียญ

เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๓ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญกุศลอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมากมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๑. พ.ศ. ๒๔๖๖ บริจาคเงิน ๖,๐๐๐ บาท สร้างตึก “วัฒนวงศ์” ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทย

๒. พ.ศ. ๒๔๗๓ ปริจาคเงิน ๒,๐๐๐ บาท ติดไฟฟ้าถวายภายในวัดนางชี ในคลองบางหลวง จังหวัดธนบุรี

๓. พ.ศ. ๒๔๗๖ บริจาคเงิน ๑,๕๐๐ บาท ติดพัดลมถวายในโบสถ์วัดบุบผาราม จังหวัดธนบุรี

๔. พ.ศ. ๒๔๘๒ บริจาคเงิน ๕,๐๐๐ บาท สร้างกุฎิพระสงฆ์ ๘ ห้อง พร้อมทั้งเครื่องใช้ภายใน ถวายวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี

๕. พ.ศ. ๒๔๘๒ บริจาคเงิน ๑,๐๐๐ บาท ตั้งทุนมูลนิธิฌาปนกิจศพวัดไตรมิตร

๖. พ.ศ. ๒๔๘๔ บริจาคเงิน ๖,๘๐๐ บาท สร้างกุฏิวัดบุบผาราม จังหวัดธนบุรี

๗. พ.ศ. ๒๔๘๔ บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนจงกลนีให้มูลนิธิวัดราชประดิษฐ์

๘. พ.ศ. ๒๔๘๕ บริจาคเงิน ๑,๐๐๐ บำท ตั้งทุนฌาปนกิจ วัดหัวลำโพง

๙. พ.ศ. ๒๔๙๘ ยกที่ดิน ๓๐ ไร่ ถนนราชปรารก ให้เป็นมูลนิธิ “จงกลนีนิธิ” เก็บดอกผลช่วยค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาแพทย์ที่ขาดแคลน ต่อมาได้จัดการขายที่ดิน และสร้างบ้านให้ชาวต่างประเทศเช่า ปัจจุบันมูลนิธิได้เจริญขึ้น มีมูลค่าประมาณ ๒๐ ล้านบาท จากเงินรายได้นี้ ได้ประทานทุนการศึกษาในประเทศให้แก่นักศึกษาแพทย์จนสำเร็จการศึกษาหลายคน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึงปัจจุบัน และยังประทานทุนช่วยเหลือพิเศษ แก่นายแพทย์บางคนให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศด้วย

๑๐. พ.ศ. ๒๔๙๐ บริจาคตึกแถว ๑๘ ห้อง ริมถนนศิริพงษา หน้าโรงเรียนเบญจมราชาลัย ราคาประมาณ ๒ ล้านบาท ถวายวัดมกุฎกษัตริยาราม

๑๑. พ.ศ. ๒๔๙๐ บริจาคเงินค่าอาหารพระถวายวัดอนงคาราม, วัดราชประดิษฐ์, วัดหัวลำโพง วัดละ ๓๐๐ บาท เป็นรายเดือนตลอดชีพ

๑๒. พ.ศ. ๒๔๙๙ สร้างศาลามรุพงศ์ สำหรับตั้งศพให้วัดมกุฎกษัตริยาราม รวมทั้งเครื่องใช้ในการตั้งศพพร้อม เป็นเงิน ๓ แสนบาท

๑๓. พ.ศ. ๒๕๐๐ ปริจาคเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท สร้างตึกผ่าตัด “จงกลนีอุทิศ” ให้โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย

๑๔. พ.ศ. ๒๕๐๒ บริจาคเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้ห้องคนเจ็บไข้ โรงพยาบาลประสาท พญาไท

๑๕. พ.ศ. ๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๕,๐๐๐ บาท ช่วยนักเรียนขาดแคลน

๑๖. พ.ศ. ๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๕,๐๐๐ บาท ให้โรงพยาบาลปัญญาอ่อน

๑๗. พ.ศ. ๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนมูลนิธิช่วยพระสงฆ์ที่อาพาธวัดอนงคาราม และบริจาคสมทบรายปี ๆ ละ ๒,๐๐๐ บาท

๑๘. พ.ศ. ๒๕๐๕ บริจาคเงินปีละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นค่าเลี้ยงเด็กลูกคนป่วยโรคเรื้อน โรงเรียนจิตต์อารี จังหวัดลำปาง

๑๙. พ.ศ. ๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท เขียนเพดานปิดทองโบสถ์วัดธาตุทอง

๒๐. พ.ศ. ๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท ซื้อตู้เย็นสำหรับเก็บเลือดให้บริการโลหิต สภากาชาดไทย

๒๑. พ.ศ. ๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ห้องสมุดโรงเรียนเบญจมราชาลัย

๒๒. พ.ศ. ๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒,๐๐๐ บาท ให้โรงเรียนราชประชาสมาสัย

๒๓. พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างตึกศัลยกรรม ๔ ชั้น ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ๑ หลัง ราคา ๕ ล้านบาท จากเงินทุนของมูลนิธิจงกลนี

๒๔. พ.ศ. ๒๕๐๗ บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนวัดพระเชตุพน

๒๕. พ.ศ. ๒๕๐๘ บริจาคเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้สภากาชาดไทย เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ไตเทียมแก่คนไข้อนาถา และซื้อเครื่องอุปกรณ์สำหรับการนี้

โดยที่หม่อมเจ้าหญิงจงกลณี วัฒนวงศ์ ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ดังกล่าว โดยเฉพาะในครั้งสุดท้ายที่สร้างตึกศัลยกรรม ๔ ชั้นให้สภากาชาดไทยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ราคา ๕ ล้านบาท จากเงินทุนของมูลนิธิจงกลนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นเครื่องหมายแห่งการประกอบคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน เครื่องราชอิสริาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (..) เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.คี. ๒๕๐

สำหรับสภากาชาดไทย ได้ถวายเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ ๑ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และถวายตำแหน่งผู้อุปการคุณกองอาสากาชาด เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๘

คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ได้ถวายการแต่งตั้งเป็นองค์อุปการกิตติมศักดิ์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล พร้อมกับถวายเข็มสมนาคุณ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ได้เริ่มประชวรกระเสาะกระแสะด้วยโรควักกะพิการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปถวายการรักษาอยู่ตลอดเวลา ประชวรต้องประทับรักษาองค์อยู่ที่วังหลายครั้ง แล้วก็หาย เสด็จออกไปในงานต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นการส่วนพระองค์ได้โดยเฉพาะท่านมีความคิดเห็นในการตบแต่งสถานที่ ตบแต่งดอกไม้และสวนได้สวยงามเป็นพิเศษ ได้ฉลองพระเดชพระคุณในการรับรองราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ ณ พระที่นั่งบรมพิมานหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อเจ้าหญิงอเล็กซานดรา แห่งเค้นท์ เสด็จเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๐๒ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๖ ซึ่งเจ้าฟ้าหญิงมาร์เกรเธอ มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์กเสด็จ และได้มีส่วนช่วยในการตบแต่งสถานที่ และสวนดอกไม้ ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณเป็นการส่วนพระองค์เป็นประจำ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความคุ้นเคยเป็นพิเศษ อาทิเช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเสวยพระกระยาหารกลางวันที่วังซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. เมื่อเสด็จ ฯ กลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เวลา ๑๕.๓๐ น. แล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยรถไฟพระที่นั่งเมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น. ระหว่างประชวรต้องประทับรักษาองค์อยู่ที่วัง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่วังซอยสามมิตรหลายครั้ง บางครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ได้เสด็จด้วย อาการประชวรในตอนหลังมีโรคแทรก ต้องเสด็จไปประทับอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ ตึกธนาคารกรุงเทพ เมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงทราบ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมถึงโรงพยาบาล ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าราชการในราชสำนักฝ่ายในผลัดเปลี่ยนกันไปดูอาการเช่น ท้าวโสภานิเวศน์ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายในและยังเป็นญาติทางสายสกุล ณ นคร นอกจากนี้ก็ยังมิบุตรธิดาของเจ้าคุณอุเทนเทพโกสินทร์ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงประยงค์ ภายหลังอาการทรุดลงต้องเติมโลหิตบ่อย ๆ และยังต้องเปลี่ยนไตเทียมในการรักษาพยาบาล นับว่าเป็นบุญกุศลของท่านที่ได้ทำไว้อย่างมากมาย จึงไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องให้เป็นที่ต้องร้อนใจ นอกจากนายแพทย์และพยาบาล ซึ่งถวายการรักษาอย่างพรั่งพร้อมแล้ว ยังมีผู้อื่นทั้งพี่น้องต่างวังได้พากันไปเยี่ยมไม่ได้ขาด เอาใจช่วยให้ได้มีชีวิตอยู่จนเปิดตึกจงกลนี

วันเปิดตึกจุมภฎพงษ์บริพัตร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดตึกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ตึกธนาคารกรุงเทพเพื่อทรงเยี่ยมหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี นำความปิติปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึก ซึ่งพระราชทานนามว่า “ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์” ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประยูรญาติของหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี มาร่วมในงานนี้เป็นอันมาก หลังพิธีแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นทอดพระเนตรบนตึก หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี่ เป็นคนไข้คนแรกนอนอยู่บนเตียงในห้องรอคอยเฝ้า ได้เสด็จฯ เข้าไปประทับในห้องรับแขกเสวยพระสุธารสพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสวยเสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ได้ประทับพระเก้าอี้และทรงมีพระราชดำรัสด้วย ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้พระราชทานพรแก่หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ผู้ต้องนอนเฝ้าอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นกาลสุดท้ายที่ได้มีโอกาสเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมอีกหลายครั้ง ถึงแม้จะประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน แต่เมื่อมีงานพระราชพิธีต้องเสด็จ ๆ กลับพระนคร ก็ทรงหาโอกาสเสด็จ ฯ มาเยี่ยมทุกครั้ง ถึงแม้จะเป็นเวลาอันสั้นเพียงครึ่งชั่วโมง เมื่อทรงทราบว่าอาการหม่อมเจ้าหญิงจงกลนีทรุดมาก ยังได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปกลับในวันเดียวกันจากหัวหิน เพื่อทรงเยี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๘

อาการประชวรของหม่อมเจ้าหญิงจงกลนีทรุดมาก จนเหลือความสามารถของนายแพทย์ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันอังคาร ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา

เมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ ว่าถึงชีพิตักษัย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทุกอย่าง ได้เชิญศพไปสรงน้ำที่วังซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท พระราชทานโกศราชวงศ์เป็นเกียรติยศ เมื่อศพตั้งที่แล้วพระราชทานไตรสดับปกรณ์ และสวดอภิธรรมตลอด ๓ วัน

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๘ ในวันรุ่งขึ้นวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตมวาร พระราชทานศพหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ณ วังซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท ทรงวางพวงมาลาที่หน้าโกศศพ พระสงฆ์ ๗ รูปสวดพระพุทธมนต์จบมีพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ พระ ๔ รูปสวดธรรมคาถา แล้วพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๐.๓๐ น. โปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ รูปที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อน แล้วพระสงฆ์ ๑๐ รูปสดับปกรณ์ เป็นเสร็จพิธี

ในการบำเพ็ญกุศล ๕๐ วัน ในวันที่ ๑๙ และ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๐๘ และ ๑๐๐ วัน ในวันที่ ๗ และ ๘ กันยายน ๒๕๐๘ ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ และเสด็จพระราชดำเนินทั้ง ๒ พระองค์ทรงวางพวงมาลาที่หน้าโกศศพ และประทับบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานในการพิธีตอนบ่าย ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม และวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๐๘ ทั้ง ๒ วัน นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ นอกจากนั้นยังมีสภากาชาดไทย เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ซึ่งได้รับอุปการะจากหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ญาติมิตร ได้บำเพ็ญกุศลถวายทุกสัปดาห์ ๆ ละ ๒ วัน แม้จนเลย ๑๐๐ วันแล้วก็ยังมีผู้บำเพ็ญกุศลถวายเฉพาะสวดพระอภิธรรมทุกคืนวันอังคาร จนถึงวันรับพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ได้ทรงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่ให้แก่สภากาชาดไทยเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐ ล้านบาทเศษ โดยมีเงื่อนไขให้สภากาชาดไทยจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้แก่ผู้อยู่ในพระอุปการะ บำรุงวัด และมูลนิธินักเรียนขาดแคลน กับขอให้สภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการศพตามสมควรแก่เกียรติและฐานะ ฉะนั้น สภากาชาดไทยผู้เป็นทายาทจึงเป็นผู้จัดการในงานพระศพโดยตลอด

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี ได้ทรงประกอบกุศลกรรมที่ดีมาตลอดเมื่อมีพระชนม์อยู่ มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีความเมตตากรุณาต่อพี่น้อง และเป็นมิตรที่ดีของบรรดาญาติมิตรและบุคคลทั่วๆ ไป ได้กระทำกิจที่ควรกระทำทุกอย่างในชีวิตอย่างสมบูรณ์ ผลแห่งคุณงามความดีที่ได้สร้างและประกอบมา ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของท่านได้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ เทอญ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ