คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กำหนดงานวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ศกนี้ พระตีรณสารวิศวกรรม อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่กองวรรณคดและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่า สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจาก หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการพระศพของท่าน จึงประสงค์จะขออนุญาตพิมพ์หนังสือเรื่องจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๒๔ เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้พิมพ์ได้ดังประสงค์

หนังสือนี้เดิมอยู่ในหอพระสมุดหลวง ต้นฉบับเป็นอักษรพิมพ์ดีดมี ๑๐ เล่ม กำหนดเล่มละ ๑ ปี คือตั้งแต่ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ขาดปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ ไป ๑ ปี ปรากฏในบาญแผนกบางเล่มของหนังสือนั้นว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดีตรัสสั่งให้คัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหอพระสมุดหลวงมาเป็นสมบัติของหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรในบัดนี้ หนังสือนี้จึงได้ตกมาเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติด้วย เห็นได้ว่าหนังสือเรื่องนี้ต้องเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน

ที่ว่า “ต้องเป็นพระราชนิพนธ์” ก็เพราะปรากฏในภาคต้น ๆ ที่หอสมุด ฯ ได้จัดให้พิมพ์มาแล้วนั้น ได้ทรงไว้เป็นคำสามัญ ไม่มีราชาศัพท์เลย จนถึงหน้า ๑๙ ในภาคที่ ๕ ต่อแต่นั้นไปเข้าใจว่ารับสั่งให้ผู้อื่นจด จึงใช้ราชาศัพท์เช่น “เสด็จพระราชดำเนิน” “ทรงพระราชนิพนธ์” เหล่านี้เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสำนวนพอเป็นเครื่องสังเกตได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ คือตรัสสั่งให้อาลักษณ์หรือผู้หนึ่งผู้ใดจด เช่นตรัสเล่าว่า “บ่ายไปศาลเจ้า และข้ามไปดูงานวัดนิเวศน์ ย่ำค่ำกลับ” ผู้จดก็เติมราชาศัพท์ลงไปว่า “บ่ายเสด็จไปศาลเจ้าและข้ามไปทอดพระเนตร์งานวัดนิเวศน์ ย่ำค่ำเสด็จกลับ” (หน้า ๑๔ ภาค ๗) แต่ที่ยังสังเกตได้อยู่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์นั้น ก็เพราะมีคำบางคำหรือโดยมากที่ผู้รับรับสั่งให้จดลืมเปลี่ยนหรือเติมราชาศัพท์ลงไปให้สมบูรณ์ เช่น “องค์มนุษย์ถวายเรื่องพระพุทธรัตน์” คำว่า “องค์มนุษย์” คือ “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเช่นคำว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ ฉันก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในพระองค์” คำว่า “ฉัน” เป็นคำแทนพระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ตรัสหมายพระองค์เองและผู้รับรับสั่งให้จดลืมเปลี่ยน แต่คำว่า “พระองค์” เป็นคำที่ผู้รับรับสั่งได้เปลี่ยนแล้ว ซึ่งความจริง ถ้าทรงจดลงเอง ก็คงจะเป็นว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ ฉันก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในตัวฉัน” หรือถ้าผู้รับรับสั่งจะไม่ลืมเปลี่ยน ก็จะเป็นว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ พระองค์ก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในพระองค์” ดังนี้เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าในตอนหลัง ๆ มา ตรัสสั่งให้ผู้อื่นจด แต่ยังคงถือเป็นพระราชนิพนธ์อยู่

หนังสือนี้ถ้าได้อ่านแต่ฉะเพาะวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไรนัก เพราะพูดถึงเรื่องโน้นนิดเรื่องนี้หน่อย ข้อความไม่ติดต่อกัน แต่ถ้าอ่านไปหลาย ๆ วันจะเห็นว่า ล้วนมีข้อความติดต่อเกี่ยวโยงถึงกันตลอด ย่อมอำนวยประโยชน์ให้แก่นักอ่านหลายจำพวก โดยฉะเพาะ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากหนังสือนี้มี ๒ จำพวก คือ

จำพวกที่ ๑ นักประวัติศาสตร์ จะมองเห็นคุณค่าของหนังสือนี้อย่างแท้จริง เมื่อเขียนพงศาวดารประเทศสยามยุคนี้ เพราะพระราชกิจรายวันๆละเล็กละน้อยนี้ เป็นต้นเหตุให้รู้ถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การออกพระราชบัญญัติ กฎหมาย หรือราชการแผ่นดินต่างๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นนั้น ยิ่งกว่านั้น ในปีใดถ้าไม่มีการออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เช่นในปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ และปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ ก็ไม่อาจทราบได้ว่า ใน ๒ ปีนั้นได้มีราชการงานเมืองอะไรบ้าง ถึงแม้อาจค้นได้ในหนังสืออื่น เช่นหนังสือราชการตามกระทรวงต่างๆ เป็นต้น ก็ต้องค้นหาด้วยความลำบากยิ่ง ทั้งอาจไม่ได้เรื่องราวตลอดและเป็นหลักฐานพอ แต่อาจค้นหาได้ในหนังสือนี้

จำพวกที่ ๒ นักศึกษาทางการเมือง เมื่อได้อ่านหนังสือนี้แล้ว จะมองเห็นทางรัฐประศาสโนบาย ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศและเป็นการภายใน ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำสยามประเทศหลีกลัดเกาะแก่งและมรสุมแห่งการเมืองมาด้วยความยากลำบากเพียงไร สมควรเป็นทิฏฐานุคติของนักการเมืองในชั้นหลังได้เป็นอย่างดี

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันนี้ ได้ตีพิมพ์ติดต่อกันมาแล้วรวม ๒๓ ภาค ภาคที่ ๒๓ ซึ่งเป็นภาคที่พิมพ์ครั้งหลังสุด ได้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าทัศโนภาศ เกษมสันต์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ภาคที่พิมพ์ครั้งนี้ เป็นภาคสุดท้าย นับเป็นภาคที่ ๒๔ หวังว่าท่านที่ได้รับแจกหนังสือนี้คงพอใจทั่วกัน

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งสภากาชาดไทย ได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ และให้พิมพ์หนังสือนี้แจกเป็นกุศลสาธารณประโยชน์ ขออำนาจกุศลทั้งนี้จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ซึ่งสิ้นชีพิตักษัยไปแล้วนั้น ทรงประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผล เสวยทิพยสมบัติในสัมปรายภพ สมดังเจตจำนงของเจ้าภาพทุกประการเทอญ.

กรมศิลปากร

๒ กันยายน ๒๕๐๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ