เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๙

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน

พระราชนิพนธ์

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

----------------------------

วัน ๔ ๑๑ ๗ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า สมเด็จกรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช โปรดให้เจ้าพนักงานจัดการทั้งปวง ที่จะได้เชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ออกมาไว้หอธรรมสังเวชตามธรรมเนียม

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย ซึ่งทรงพระประชวรพระโรคเจือด้วยโทษพระเสมหะเรื้อรังมานานนั้น โปรดให้แปรสถานออกมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งจักรีองค์ตะวันออกแต่เวลาเช้านี้

เวลาเที่ยงแล้ว สมเด็จกรมพระภาณุพันธุวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย และเจ้าพนักงานเข้าทางประตูพรหมศรีสวัสดิ เข้าไปขึ้นบนพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร ด้านทางพระมหามนเทียร แล้วสรงน้ำพระศพ แต่ไม่ได้เสด็จออก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสรงน้ำหลวง เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพตามขัตติยราชประเพณี แล้วเชิญพระศพลงพระโกศลองใน เชิญลงบันไดทางด้านพระมหามนเทียร เชิญขึ้นบนยานมาศสามคาน พระโกศมณฑปประกับนอก มีคู่แห่แตรสังข์กลองชนะเครื่องสูงคู่เคียงอินทร์พรหม แห่ออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูพรหมศรีสวัสดิ เชิญขึ้นบนหอธรรมสังเวช ตั้งแว่นฟ้า ๓ ชั้น รายด้วยเครื่องสูงตามประเพณี มีกลองชนะประโคมทั้งกลางวันกลางคืน ๑๐ คู่ จ่าปี่จ่ากลองแตรสังข์ พระสงฆ์สวดอภิธรรม ๑๖ รูป กว่าจะได้พระราชทานเพลิง เมื่อพระศพขึ้นที่แล้ว โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จทรงทอดผ้าไตร ๖๐ ผ้าขาว ๑๐๐ พับ พระสงฆ์สดับปกรณ์ตามธรรมเนียม

วัน ๕ ๑๒ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่มีอันใด ไม่ได้เสด็จออก

วัน ๖ ๑๓ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่มีอันใด ไม่ได้เสด็จออก

วัน ๗ ๑๔ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ยังไม่ได้เสด็จออก

วัน ๑ ๑๕ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จหอธรรมสังเวช พระวิเชียรมุนีถวายเทศนาเป็นเทศน์เวร จบแล้วเสด็จขึ้น รับสั่งเรื่องการพระเมรุกับสมเด็จกรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช

วัน ๒ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

วันนี้เป็นวันสวดมนต์สมัยสัตวารที่ ๑ นับแต่วันสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอสิ้นพระชนม์มา เวลาทุ่มเศษ เสด็จหอธรรมสังเวช ทรงจุดเทียนนมัสการ พระพรหมมุนีถวายศีลแล้ว พระพรหมมุนี พระครู ฐานานุกรม ๑๕ รูป สวดมหาปฏิปัฏฐาน จบแล้วทรงทอดผ้าไตร พระพรหมมุนีฐานานุกรม ๑๐ รูป รายของหลวงสดับปกรณ์ และโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงทอดผ้าไตรรายเจ้าภาพ ราชาคณะ ฐานานุกรม ๕ รูปสดับปกรณ์ส่วนเจ้าภาพ แล้วบรรพชิตฝ่ายญวนขึ้นสวดกงเต๊ก แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนา ทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์ และทรงประเคนเครื่องกัณฑ์เทศน์ แล้วเสด็จขึ้น

วัน ๓ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ๕ โมง โปรดให้เลี้ยงพระที่หอธรรมสังเวชก่อน เวลาบ่าย ๑ โมงเศษ เสด็จออกประเคนบริขารของหลวง ๑๐ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงประเคนรายเจ้าภาพ ๕ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาแล้ว มีสดับปกรณ์รายร้อยของหลวง ๑๐๐ ของเจ้าภาพ ๑๐๐ แล้วบรรพชิตฝ่ายญวนสวดกงเต๊ก และมีเทศนากัณฑ์เจ้าภาพกัณฑ์หนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่อัฏวิจารณศาลา ทอดพระเนตรกงเต๊กประเดี๋ยวหนึ่ง เสด็จขึ้น เวลาค่ำไม่มีอันใด

วัน ๔ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเกือบทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนางตามธรรมเนียม พระมนตรีพจนกิจนำใบบอกหลวงกรุงศรีบริรักษ์ว่า ด้วยมีตราให้ไปจัดการยกแดนพระวัดไชโย เมืองอ่างทองนั้น ครั้น ณ วัน ๑ ๗ ค่ำ ได้พร้อมพระยาหัถการบัญชาช่าง ขุนเทพพยากรณ์โหร พระยาอ่างทอง อาราธนาพระสงฆ์สวดมนต์ วัน ๒ ๗ ค่ำ เวลาเลี้ยงพระสงฆ์เวลาเช้า ๕ โมง ๓๕ นาที ยกเสาแดนพระพุทธรูปใหญ่เสา ๘ วา รวมทั้งเสาตะเกียบสูงแต่พื้นดิน ๑๐ วา ขอถวายพระราชกุศลฉบับ ๑ กับใบบอกพระไชยบูรณ์ ปลัดเมืองพิษณุโลกว่า เจ้าหมื่นไวยวรนารถมาถึงวัน ๗ ๗ ค่ำ ได้จัดรับรองและจัดเครื่องสังเวยให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ บวงสรวงหน้าวัดพระชินราช แล้วจัดบายศรีให้เวียนเทียนพระชินราช มีการสวดมนต์ การเล่นสมโภชพระชินราชตามธรรมเนียม ณ วัน ๑ ๗ ค่ำ เจ้าหมื่นไวยวรนารถออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเช้า ๕ โมงเศษ

พระวิจารณอาวุธอ่านบอกพระยาสุรินทรฦๅไชย เมืองเพชรบุรี ว่าโปรดพระราชทานไทยธรรมออกไปทำพิธีแรกนาหลวงหน้าเขาพระพนมขวด ณ วัน ๔ ๗ ค่ำ พระสงฆ์ ๗ รูปสวดมนต์โรงพิธีหน้าเขา ณ วัน ๕ ๗ ค่ำ เวลาเช้าเลี้ยงพระ เวลาเช้า ๔ โมง ๔๒ นาที พระยาสุรินทรฦๅไชยจับหางไถแรกนาหลวงเสร็จแล้ว

เสด็จขึ้นประทับออฟฟิศ ตรัสอยู่จน ๒ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น

วัน ๕ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกพระจันทรสุริยวงศ์เมืองมุกดาหาร ๒ ฉบับๆ หนึ่งว่า พระยาราชวรานุกูลเกณฑ์คน ๒๙๕ คน ช้างม้าโคต่างสาตราวุธไปเข้ากองทัพ ได้แต่งราชบุตรและผู้ช่วยคุมไปเข้ากองทัพ คนตายในที่รบ ๒๓ ตามระยะทาง ๗๖ คน รวม ๙๙ คน ภายหลังพระศรีเสนามีหนังสือเกณฑ์คน ช้าง ๑๐ โคต่าง ๒๐๐ ไปเข้ากองทัพกรมหมื่นประจักษ์และให้ซื้อข้าว ๑๕๐๐ ถัง ได้แต่งคนคุมช้างม้าไปแล้ว จัดซื้อข้าวสารเหนียว ราคา ๒ สลึง ๑๕๐๐ ถัง เงิน ๙ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท ส่งไปแล้ว ภายหลังมีตราให้จัดซื้อข้าวขึ้นฉางไว้ ๑๕๐๐ ถัง ในปีนี้ฝนแล้งราคาข้าวขึ้นถังละ ๑ บาท ซื้อไว้ ๑๕๐๐ ถัง เงิน ๑๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง รวมเงิน ๒ ครั้ง ๒๘ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท ได้จ่ายให้ข้าหลวงกองพระยามหาอำมาตย์ ๗๕๐ ถัง คงเหลือ ๗๕๐ ถัง อีกฉบับหนึ่งว่า พระจันทรสุริยวงศ์จัดได้เงิน ๒ ชั่ง พระไกรสรราชเมืองหนองสูง พระอมรฤทธิ์ธาดา เมืองพารุกากรภูม ๑๐ ตำลึง อุปฮาดเมืองสองคอนดรฎง ๑๐ ตำลึง พระรัฐากรบริรักษ์นายกอง ๑๐ ตำลึง ท้าวโพธิสาร ๕ ตำลึง ท้าวสุริยนายกอง ๕ ตำลึง รวม ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ให้ท้าวเพี้ยคุมลงมาสมโภชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในการพระราชพิธีลงสรง กับสำเนาใบบอกพระศักดาเรืองฤทธิ์ ปลัดเมืองตากว่า หลวงรามนายด่านไชยมีบอกส่งรูปพรรณผู้ร้ายซึ่งฝ่ายอังกฤษส่งมา ว่าผู้ร้าย ๘๐ คน ปล้นเผาเรือนในแขวงอังกฤษ กองด่านสืบจับได้อ้ายผู้ร้ายเงี้ยว ๓ คนมาถาม รับว่าอยู่เมืองมรแมน โกจิมองเงี้ยวเป็นหัวหน้า มีเพื่อนเป็นพระ ๕ รูป กับพวกเงียวอี้กรวม ๘๐ คน มาปล้นที่เมืองเชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ในแขวงเมืองมรแมนสองครั้ง เมื่อปล้นครั้งหลัง สู้เจ้าของและโปลิศไม่ได้แตกไป อ้ายเงี้ยว ๓ คน พระ ๒ รูป กับพวกจะไปหาเจ้าอธิการวัดเมืองเมียวดี พวกกองด่านล้อมจับได้ ๓ คน นอกนั้นหนีไปได้ แล้วนายด่านสืบได้ความว่าพวกเมืองตื่นจับพระ ๒ รูปได้ ส่งไปเมืองเชียงใหม่ แต่พวก ๕๐ คนหนีไปได้ บัดนี้ฝ่ายอังกฤษมีหนังสือมาขอตัวผู้ร้ายไปชำระ (โปรดให้ส่งไปตามสัญญาคนข้ามแดน)

พระวิจารณอาวุธอ่านบอกพระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามเมืองตะกั่วป่า ว่าจัดได้ต้นไม้ทองหนักต้นละ ๑บาท ๖ ต้น เงินหนักต้นละ ๑ บาท ต้น เทียนพนม ๑๐๐๐ เล่ม ผ้าขาว ๒๔ ศอก ๑๐๐ พับ ผ้าแดงเทศ ๕๐ พับ ผ้าลายยำมราต ๒๐๐ ผืน ผลจันทน์เทศหนัก ๒๔ ชั่งจีน อำพันแดงหนัก ๓๐ ชั่ง ๓ ตำลึงจีน เสื่อขาว ๑๐๐ ผืน ให้กรมการนำเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย

เสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น

วัน ๖ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

วันนี้เวลาทุ่มเศษเสด็จออกขุนนางตามธรรมเนียม หลวงเสนาภักดีนำใบบอกพระไกรสิงหนาท เมืองภูเขียว ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งว่าพระยาสุริยวงษา พระยาประทุมเทวาธิบาล มีหนังสือให้เอาเงินส่วยจัดซื้อกระบือไปส่ง จึ่งจัดส่งไปราคาตัวละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ๗ กระบือ เงิน ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เมืองกระเษตรสมบูรณ์ ๒ เงิน ๘ ตำลึง ๒ บาท ส่งกระบือไปหนองคายแล้ว อีกฉบับหนึ่งว่า เร่งเงินแทนทองคำส่วย เงิน ๗ ชั่ง คิด ๑๔ หนักแทนทองคำ ๑๐ ตำลึง ให้พระศรีวรวงศ์ผู้ว่าที่อุปฮาดคุมลงมาส่ง กับใบบอกพระยาประทุมเทวาธิบาล เมืองหนองคาย ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งว่าเอาเงินส่วยเมืองหนองคายเมืองขึ้น รวม ๒๔๗ ชั่ง ๓ ตำลึง ๑ บาท จัดซื้อข้าวเปลือก ข้าวเจ้า ๑๐๐ เกวียน ๓๔ สัด ราคาเกวียนละ ๕ ตำลึง เงิน ๒๕ ชั่ง ๓ ตำลึง ๓ บาท ยังไม่พอจ่าย จัดซื้ออีก ๑๐๕ เกวียนๆ ละ ๗ ตำลึง เงิน ๓๖ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ ครั้งเงิน ๖๑ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๓ บาท ข้าวเปลือกข้าวเหนียว ๔๖๐ เกวียน ๓๔ สัด ราคาเกวียนละ ๓ ตำลึง เงิน ๖๙ ชั่ง ๓ บาท รวมข้าว ๖๖๕ เกวียน ๖๘ สัด เงิน ๑๙ ตำลึง ๒ บาท จ่ายให้กองทัพใช้เงิน ๑๔๗ ชั่ง ๒ ตำลึง รวม ๒ ราย เงิน ๑๗๘ ชั่ง ๑ ตำลึง ๒ บาท เกินเงินส่วย ๒๘ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๑ บาท และพระยาประทุมท้าวเพี้ยจัดข้าว ๒๔๔ เกวียน ๘๙ สัด พริกเกลือและอื่น ๆ ราคา ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท และกรมหมื่นประจักษ์ทรงใช้การทัพ ๓๐ ชั่ง ๑๖ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง กับเงินจ่ายเกินที่เก็บจากไพรส่วย ๒๘ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๑ บาท รวม ๗๓ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย ฉบับที่ ๒ ว่าท้าวเพี้ยไพร่เมืองหนองคาย ซึ่งแบ่งไปเป็นเลขเมืองกมุทาไส ไม่สมัครอยู่เมืองกมุทาไส ขอกลับมาเมืองหนองคาย กรมหมื่นประจักษ์ตัดสินให้มาตามสมัคร จึงส่งคำตัดสินลงมา

พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนหลวงอภิบาลประเพณี เป็นพระอภิบาล หัวหน้าตระลาการ นา ๘๐๐ ขุนอักษรสมบัติเสมียนตรา เป็นหลวงกิจการกลจักร เจ้ากรมเรือกลไฟ ฝ่ายพระราชวังบวร นา ๔๐๐ หมื่นฉลากชลาสินธุ์ เป็นขุนบริรักษ์สรรพการ ปลัดกรมเรือกลไฟฝ่ายพระราชวังบวร นา ๒๐๐

พระยาศรีสิงหเทพนำ พระยาพิไชย อธิปไตยพาหิรเขตรราชนิเวศน์สมันตารักษวิบูลยศักดิ์อรรคมนตรี พิริยพาห ข้าหลวง ๑ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ที่ ๒ หลวงรามรักษา ปลัดกรมล้อมพระราชวัง นายรองพลพันมหาดเล็กผู้ช่วย ๒ พระอภิบาลประเพณี ตระลาการศาลต่างประเทศ ๑ พระอุดนพิศดาร ๑ หลวงจงรักษราชกิจล่าม ๑ กราบถวายบังคมลาไปราชการเมืองนครเชียงใหม่ แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้น

วัน ๗ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกหลวงกะแหงพลล้าน ปลัดเมืองชัยนาท ว่าตำแหน่งหลวงพรหมภักดี ยกกระบัตรว่างอยู่ ขอพระราชทานขุนพิพิธอักษรพรรณ เป็นหลวงพรหมภักดี ยกกระบัตร แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

วัน ๑ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนาง หลวงเสนาภักดี นำใบบอกหลวงจินดารักษ์ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธปลัดเมืองฉะเชิงเทรา ๒ ฉบับ ๆ หนึ่ง ขอพระราชทานจีนแก้วน้องหลวงพิสุทธิ์จีนชาติ เป็นขุนสมานจีนประชา อีกฉบับหนึ่งอำแดงทิมภรรยาจีนเพิ่ม บุตรขุนสมานจีนประชา ขอพระราชทานที่เขตพระอุโบสถวัดสมานเพิ่มนคร กว้าง ๗ วา ยาว ๑๒ วา เป็นที่วิสุงคามสีมา แล้วนำจีนแก้วเฝ้าถวายน้ำตาลทราย ๔ บาท แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

วัน ๒ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาทุ่มเศษ เสด็จออกหอธรรมสังเวช ทรงจุดเทียนนมัสการพระเทพโมลีฐานานุกรมเปรียญ รวม ๑๕ รูปสวดมนต์ แล้วทรงทอดไตรของหลวง ๑๐ ไตร โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงทอดผ้าไตรของเจ้าภาพ ๕ ไตร แล้วบรรพชิตฝ่ายญวนสวดกงเต๊กและมีเทศนากัณฑ์หนึ่ง เวลายามเศษเสด็จขึ้น

วัน ๓ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาเช้า ๕ โมง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จออกไปทรงประเคนที่หอธรรมสังเวช พระสงฆ์ที่สวดมนต์เมื่อคืนนี้รับพระราชทานฉัน เวลาบ่ายเสด็จออกหอธรรมสังเวช ทรงประเคนบริขารพระสงฆ์ ๑๐ รูป โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงประเคนของเจ้าภาพ ๕ รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา แล้วบรรพชิตฝ่ายญวนสวดกงเต๊ก แล้วมีสดับปกรณ์ของหลวง ๑๐๐ ของเจ้าภาพ ๑๐๐ มีเทศนากัณฑ์เจ้าภาพกัณฑ์หนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นเวลาบ่าย ๓ โมง วันนี้ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๔ ๑๐ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกหลวงจินดารักษ์ข้าหลวง พระเกรียงไกรกระบวนยุทธปลัดเมืองฉะเชิงเทราว่า ณ วัน ๕ ๑๔ ๖ ค่ำ ได้ชักศพขุนสมานจีนประชาเข้าโรงทึมวัดสมานเพิ่มนคร ได้นำผ้าขาวพับ ๑ ร่ม รองเท้า ๑๐ สำรับ ของหลวงทำบุญ ครั้น ณ วัน ๑ ๖ ค่ำ เวลาบ่าย เชิญหีบศิลาหน้าเพลิงตีศิลาจุดเพลิงเผาศพขุนสมานจีนประชาแล้ว ขอถวายพระราชกุศล ครั้น ณ วัน ๖ ๑๔ ๖ ค่ำ ได้ชักศพพระวิเศษฦๅไชยเข้าโรงทึม วัดปิตุลาธิราชรังสฤษดิ์ ได้นำผ้าไตร ๒ ผ้าขาว ๓ ร่ม รองเท้า ๓๐ สำรับ บังสุกุลมีเทศน์ ครั้น ณ วัน ๑ ๗ ค่ำ ได้เชิญหีบศิลาหน้าเพลิงตีศิลาจุดเพลิงเผาศพพระวิเศษฦๅไชย เสร็จแล้วขอถวายพระราชกุศล เสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

วัน ๕ ๑๑ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

วันนี้เวลาทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกพระยาพิไชยสุนทร เมืองอุทัยธานี ๒ ฉบับๆ หนึ่งว่า นายด่านตำบลหนองหลวงพบคนทำเงินแดง ๕ คนกับเครื่องมือ จับได้อ้ายเจียมคนหนึ่ง อีก ๔ คนหนีไปเมืองมรวดี ได้ถามปากคำ อ้ายเจียมรับเป็นสัตย์ ซัดอ้ายพัน อ้ายพุ่ม อ้ายคต อ้ายพรม ซึ่งหนีไปเมืองมรวดี เครื่องมือ มีเงินแดงยังไม่ได้มีตรา ๕ บาท ทองแดง ๖ ก้อน เหล็กตราพระจอมเกล้า ๗ ตรา ปราสาท ๒ ราชวัติ ๒ ตราจักร ๔ เครื่องมือต่าง ๆ ๒๒ ภายหลังนายด่านแม่กลาเมืองมรวดีมีหนังสือมาขอตัวอ้ายเจียมกับกระบือ ๗ กระบือไป ได้มีหนังสือบอกไปและให้ส่งตัวผู้ร้ายอีก ๔ คน ถ้าได้ความประการใดจะบอกมา อีกฉบับหนึ่งว่า พระยาพิทักษ์ทวยหารเมืองปทุมธานีขอเช่าป่าไม้ แม่วง แม่เปน ได้ทำสัญญาเสร็จแล้วส่งลงมารัติไฟตามธรรมเนียม แล้วเสด็จขึ้นประทับออฟฟพิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

พระยาภาสกรวงศ์ ผู้ว่าการแทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศ กราบบังคมทูลว่า พระยานครไชยศรี ขอพระราชทานกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เพราะตัวป่วยไข้ โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

วัน ๖ ๑๒ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนาง หลวงเสนาภักดีนำใบบอกหลวงเขตตานุรักษ์ข้าหลวง พระยาอุตรการโกศลเมืองพิไชย ว่าด้วยจำนวนข้าวสาร ข้าวกล้อง ข้าวเปลือก ที่ส่งขึ้นไปและจัดซื้อ เมืองพิไชยรวมข้าวสาร ๔๐ ถัง ข้าวกล้อง ๑๐๑ เกวียน ๔๖ ถัง ๑๐ ทะนาน ข้าวเปลือก ๕๒๒ เกวียน ๙๐ ถัง ได้จัดซ้อมเป็นข้าวสาร ๑๓๒-๘-๑๔ ส่งไปเมืองฝาง เมืองนำปาด เมืองตรอน ข้าว ๓ อย่าง ๒๖๖-๙๙-๐ จ่ายที่เมืองพิไชยข้าวสาร ๘๑-๘-๑๔ ถัง ข้าวเปลือก ๓-๘๘-๘ ยังคงฉางข้าวสาร ๑๐๐ ข้าวเปลือก ๑๙๑-๒๐-๐ ฉบับ ๑ กับใบบอกหลวงวิจารณสาลีข้าหลวงพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพิษณุโลกว่า จ่ายข้าวสารกองทัพอีก ๓-๘๕-๑๘ ยังคงฉางเมืองพิษณุโลกข้าวเปลือกราษฎรยืม ๘๕-๐ คงฉาง ๔๖๕-๙๙-๘ รวม ๕๗๕-๘๔-๘ ข้าวกล้อง ๓-๑๐-๑๘ ข้าวสาร ๐-๔๔-๑๗ ชำระเร่งเงินค่าข้าวที่ราษฎรยืมได้เงิน ๗ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ๗๐๐ ไพ ให้กรมการคุมลงมาส่งฉบับ ๑ กับใบบอกพระยาวิเศษไชยชาญเมืองอ่างทองขอที่เขตพระอุโบสถวัดอิฐ บ้านแขก เมืองอ่างทอง กว้าง ๑๕ วา ยาว ๒๐ วา เป็นที่วิสุงคามสีมา ฉบับ ๑ พระยาศรีสิงหเทพ นำแม่ทัพนายกองที่ไปราชการด้วยเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ๒๘ นาย เจ้าเมืองกรมการที่ไปราชการทัพกลับมา ๗ นาย กรมการเมืองสิบสองจุไทย เมืองหัวพันทั้งหก รวม ๑๔ เมือง คน ๓๔ คนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เจ้าหมื่นไวยวรนารถทูลเกล้า ธงและสาตราวุธเครื่องใช้ของฮ่อที่เก็บได้ในค่าย และสรรพเครื่องบริโภคใช้สอยของคนในแขวงสิบสองจุไทยและหัวเมืองทั้ง ๖ ถวายเป็นตัวอย่างด้วย เสด็จขึ้นประทับออฟฟิศครู่หนึ่ง เสด็จขึ้นข้างใน

วัน ๗ ๑๓ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้ออกขุนนาง

วัน ๑ ๑๔ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๒ ๑๕ ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙

เวลาค่ำมีการสวดมนต์สัตวารที่ ๓ ที่หอธรรมสังเวช ไม่ทรงสบาย โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศล ไม่เสด็จพระราชดำเนิน มีการทั้งปวงเหมือนวันก่อนทุกอย่าง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ