คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก

โคลงนิราศวัดรวก เป็นวรรณคดีนิราศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) แต่งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๘ ซึ่งตรงกับ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โคลงตอนท้ายเรื่องระบุนามผู้แต่งและวันเดือนปีที่กวีแต่งโคลงนี้เสร็จสมบูรณ์ คือวันพุธ แรม ๒ คํ่า เดือนอ้าย ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗ ดังนี้

๏ โคลงนิราศวัดรวกนี้ นามแสดง
ถฤกร่ำรังแถลง เลศไว้
ใช่จะอวดโอษฐ์แจง จัดเก่ง ไฉนฤๅ
เป็นแต่เอกโทได้ ดุจเค้าคำโคลง ฯ
๏ แถลงปางศักราชลํ้า พันทวี ร้อยแฮ
เศษสี่สิบเจ็ดปี บอกแจ้ง
ระกามิคศิรมาสมี เดือนฝ่าย แรมฮา
สองคํ่าพุธวารแกล้ง กล่าวสิ้นเสร็จสาร ฯ

หนังสือ โคลงนิราศวัดรวก ฉบับพิมพ์พ.ศ. ๒๔๖๗ ในคำนำระบุไว้ว่า หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งขึ้นขณะเดินทางติดตามพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงญาณภิรมย์เป็นธรรมทูตอัญเชิญเครื่องพุทธบรรณาการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปบูชาพระพุทธบาท สระบุรี การเดินทางครั้งนี้แตกต่างไปจากการเดินทางไปพระพุทธบาทในอดีต กล่าวคือ เดิมมักจะออกเดินทางในเวลากลางวัน และล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา แล้วไปขึ้นฝั่งที่ตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นจะขี่ช้างหรือนั่งเกวียนไปตามถนนฝรั่งส่องกล้องซึ่งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ฝรั่งชาวฮอลันดาตัดถนนสายนี้ขึ้น แต่เมื่อหลวงธรรมาภิมณฑ์เดินทางครั้งนี้ออกเดินทางในเวลาบ่าย ออกเดินทางจากวัดรวก และใช้เกวียนเป็นพาหนะ

โคลงนิราศเรื่องนี้แตกต่างจากวรรณคดีนิราศเรื่องอื่น ๆ กล่าวคือ มิได้เริ่มพรรณนาตั้งแต่กวีเดินทางออกจากที่อยู่อาศัย แต่เริ่มพรรณนาการเดินทางเมื่อมาถึงวัดรวกแล้ว หลวงธรรมาภิมณฑ์ได้นำชื่อสถานที่เริ่มต้นการเดินทางมาใช้เป็นชื่อนิราศ จึงเรียกวรรณคดีเรื่องนี้ว่า โคลงนิราศวัดรวก ซึ่งแตกต่างจากนิราศเรื่องอื่นที่มักจะตั้งชื่อตามสถานที่ปลายทาง

โคลงนิราศวัดรวกแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลง ๔ สุภาพ จำนวน ๒๕๒ บท ตอนต้นเรื่องมีร่ายสุภาพนำ ๑ บท เนื้อความเริ่มต้นจากบทไหว้ครู รำลึกถึงพระรัตนตรัย ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงกล่าวถึงการเดินทางจากวัดรวก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามุ่งหน้าไปยังพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศาลาสระประโคน บางโขมด ศาลายับ บ่อโศก ดงโอบ ศาลาเจ้าเณร หนองคนที ทุ่งมรกต เขาตก สระยอ สระสามเส้น ตำหนักท้ายพิกุล และถึงพระพุทธบาทสระบุรีตอนเที่ยงคืน กวีได้สักการบูชาพระพุทธบาทในวันรุ่งขึ้น

ในโคลงนิราศวัดรวกสะท้อนภาพบรรยากาศบริเวณโดยรอบพระพุทธบาทแตกต่างไปจากนิราศเรื่องอื่น กล่าวคือ กวีสะท้อนภาพความวังเวงน่ากลัวของป่าเขายามคํ่าคืน ซึ่งวรรณคดีเรื่องอื่นมักจะพรรณนาถึงความงดงามของธรรมชาติและความสนุกสนานระหว่างการเดินทาง อย่างไรก็ดี วรรณคดีเรื่องนี้ได้สะท้อนความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อรอยพระพุทธบาทของพุทธศาสนิกชนไทยในอดีต ซี่งสืบทอดมาจนปัจจุบัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ