คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่

นิราศพระบาท สำนวนของ พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) เป็นวรรณคดีนิราศที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐ คราวเมื่อสุนทรภู่เป็นมหาดเล็กตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี

วรรณคดีเรื่องนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๕ รวมอยู่ในหนังสือ ประชุมกลอนนิราศต่าง ๆ ภาค ๑ ของสุนทรภู่ ครั้นถึงพ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้ตรวจสอบชำระใหม่ โดยเพิ่มเติมเชิงอรรถ รูปภาพและแผนผังประกอบ

นิราศพระบาทประกอบด้วยกลอนสุภาพ ๒๓๑ บท เนื้อหากล่าวถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือ ออกจากท่าวัดระฆังโฆสิตาราม ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองบางจาก พระบรมมหาราชวัง สามเสน บางพลัด บางซื่อ บางซ่อน บ้านวัดโบสถ์ ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ ปากเกร็ด บางพูด บางพัง วัดเทียนถวาย บ้านใหม่ บางหลวง บ้านกระแซง สามโคก ปทุมธานี วังตำหนัก (วัดตำหนัก) บ้านกระบือ เกาะราชคราม บางไทร บ้านสีกุก เกาะเกิด บางเกาะอิน เกาะพระ เกาะเรียน ท่าเสือ คลองตะเคียน วัดธารมาใหม่ คลองสระปทุม วัดแม่นางปลื้ม คลองหัวรอ ท่าศาลาเกวียน บ่อโพง ปากจั่น บางระกำ ปราสาทนครหลวง บ้านแม่ลา บ้านอรัญญิก บ้านตะเคียนด้วน ศาลาลอย วังตะไล จากนั้นจึงเปลี่ยนพาหนะเป็นช้าง เพื่อขึ้นฝั่งและเดินทางต่อทางบก ผ่านป่านาประโคน บางโขมด บ่อโศก หนองคนที ศาลเจ้าสามเณร เขาตก สระยอ จนถึงวัดพระพุทธบาท ขณะที่เดินทางไปนั้นตรงกับเทศกาลสมโภชพระพุทธบาทประจำปี จึงมีการแสดงและการละเล่นสนุกสนาน ซึ่งกวีได้สอดแทรกรายละเอียดงานสมโภชพระพุทธบาทลงในนิราศเรื่องนี้ กวีบรรยายภาพงานรื่นเริง มีการละเล่นชนิดต่าง ๆ มีปี่ระนาด ฆ้องกลอง เครื่องดนตรีประโคม มีไฟตะเกียงจุดรอบบริเวณมณฑปพระพุทธบาท สุนทรภู่ได้สักการะรอยพระพุทธบาทและเที่ยวชมความสวยงามของรมณียสถานรอบพระพุทธบาท

วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ภาพการแต่งกายของชาววังที่อยู่ในขบวนเสด็จ ลักษณะท่าทางและอุปนิสัยของสาวชาววัง การแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวมอญที่สามโคก ปทุมธานี ลักษณะที่อยู่อาลัยของคนไทยตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้สุนทรภู่ได้สอดแทรกคติธรรมบางประการที่ใช้เป็นหลักดำเนินชีวิต เช่น ความกตัญญ ความซื่อสัตย์สุจริต การเลือกคบคน เป็นต้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ