คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท

โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท งานพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์ ณ ยอดพระมณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ดังปรากฏในโคลงปรารภ ดังนี้

๏ ศกสองพันสี่ร้อย ห้าสิบ หกพ่อ
จอมมนุษย์มกุฎโมฬี ยกเก้ยยว
ยอดมหามรฑปลลิป เฉลอมโลก วิไลยแฮ
กลอิศวรเจ้าเอ้ยยว ปกกถวายอวยถวาย ๚

รูปแบบคำประพันธ์เป็นลิลิตดั้น ประกอบด้วย ร่ายดั้น โคลงดั้นวิวิธมาลี และวสันตดิลกฉันท์ ร่ายดั้นปรากฏตอนด้น กล่าวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรยายเรื่องบุณโณวาทะสูตร์โดยสังเขป ซึ่งในตอนดังกล่าว กวีแต่งบรรยายตามอรรถกถาบุณโณวาท กวีจะยกคาถาภาษาบาลีขึ้นต้นและแปลเป็นภาษาไทย โดยแต่งเป็นร่าย ดังตัวอย่างเข่น

๏ กตมัส๎มิ ํ ชนปเทวิหริส์สสิ ถิ่นไหนบุณณะใคร่ปอง จกกครองประลองรรรมะวิหาร อยู่สำราญแรมชนม์ สุนาปรันต ชนปเท ข้าพระทสะพลรบบอนุศาสน์ พุทโธวาทสังขิตร์ ต้งงจิตรจะปฏิบัติ จวบมสุอมัตวิมุติชาติ จกกเนานิวาศน์ชนบท นามปรากฏประเทศะปัจจันต์ สุนาปะรันต์รัษฐนคร เออดูก่อนบุณณะภิกษุ หมู่มนุษย์ดุฉกาจฉกรรจ์ ในสุนาปรันต์อเลอโพ้น หยาบช้าโลนกักขฬะจริต จกกไปสถิตถิ่นประทุษฐ์ ส เจ สุนาปรัน์ตกา ปริภาสิส์สัน์ติ เผ่ออฝูงมนุษย์ สุนาปรันต์ อันโมหันต์หินะชาติ จกกบริภาสด่าว่า พิษม์ฤศยา พิษม์โกรธ พาลก่อโทษก่อภัย โดยน้ำใจวิหิงสา จกกออกท่าสถานใด ...

ส่วนโคลงดั้น เป็นคำประพันธ์ที่ใช้ดำเนินเรื่องและพบมากที่สุด ลักษณะเป็นโคลง ๔ ดั้น หรือโคลงดั้นวิวิธมาลี มีฉันทลักษณ์เหมือนโคลง ๔ กล่าวคือ บังคับวรรณยุกต์เอก ๗ โท ๔ นิยมใช้วรรณยุกต์โทซ้อนกัน ๒ แห่งในคำที่ ๔ และ ๕ ของบาทสุดท้าย สัมผัสจะเริ่มจากคำสุดท้ายของบาทแรกส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๓ คำสุดท้ายของบาทที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔ และคำสุดท้ายของบาทที่ ๔ จะส่งสัมผัสไปที่คำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ ในโคลงบทต่อไป ดังนี้

๏ บุณโณวาทสูตร์เอ้อน อรรถา แถลงเอย
เร่อองประดิษฐ์พุทธบาทบรร เจอดด้าว
สจจะพันธะภูผา พิภพภาค สยามฤๅ
โดยสดบบฉบบบเบ้อองน้าว ขบบเฉลย ๚
๏ สุนาปรันตราษฐ์แคว้น ธานี น้นนนอ
วานิชะคามแสนเสบย บ่อนค้า
มหาบุณจุละบุณมี ทรัพย์รํ่า รวยแฮ
ขึ้นชื่อลือหน้าด้วย โด่งอุดม ๚

นอกจากนี้ยังปรากฏคำประพันธประเภทฉันท์แทรกเข้ามา ๑ แห่ง คือ คำนมัสการพระพุทธบาท ๕ รอยของโบราณ ด้วยคาถาภาษาบาลีเป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ดังนี้

ยํ นัม์มทายนทิยา มุลิเนจุตีเร
ยํ สัจ์จพัน์ธคิริเก สุมนาจลัค์เค
ยํ ตัต์ถโยนกปุเร มุนิโน จ ปาทํ
ตํ ปาทลัญชนมหํ สิรสานมามิ

เนื้อหาในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทเล่าเรื่องตำนานพระพุทธบาทจาก บาฬีบุณโณวาทะสูตร์ และ บุณโณวาทสูตร์โบราณ (ตามอรรถกถาลังกา) มีที่มาจาก คัมภีร์ปุณโณวาทสูตร อันเป็นพระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาปุณโณวาทสูตร อันปรากฏในคัมภีร์ปปัญจสูทนีอรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ โดยลำดับอรรถกถาปุณโณวาทสูตรนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อคติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีของคนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศาสนิกชนไทยเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทสระบุรี คือรอยพระพุทธบาทบนไหล่เขาสัจพันธบรรพตที่กล่าวถึงในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร ดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “สมด้วยพระบาลีแล้ว ต้องกับเมีองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต[๑]

จากนั้นกล่าวถึงการสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สืบมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงได้พบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเมื่อพ.ศ. ๒๑๔๙[๒] สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศที่ดินรอบพระพุทธบาทเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท สร้างพระอุโบสถพระวิหาร ให้ฝรั่งส่องกล้องตัดถนน เพื่อให้เดินทางจากท่าเจ้าสนุกมายังพระพุทธบาท

เนื้อหาต่อมาบรรยายเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกือบทุกพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการรอยพระพุทธบาท เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระรามาธิเบศร์) โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งธารทองแดงเป็นที่เสด็จประพาส และสร้างพระตำหนักธารเกษมเพื่อใช้เป็นที่ประทับขณะเสด็จประพาสพระพุทธบาท รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนตั้งแต่ลพบุรีจนถึงเขาสุวรรณบรรพต และมีการฉลองสมโภชพระพุทธบาท สมัยสมเด็จพระเพทราชา (พระธาดาธิเบศร์) ได้เสด็จประพาสพระพุทธบาท ครั้งนั้นทรงรำขอพระแสงไอยราถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยอดมณฑปสวมครอบรอยพระพุทธบาทเป็นมณฑปห้ายอด และให้มีการสมโภชพระพุทธบาท ๗ วัน ซี่งในการนี้ทรงรำของ้าวเป็นพุทธบูชา ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[๓] โปรดเกล้าฯ ให้ประดับกระจกภายในพระมณฑปรอยพระพุทธบาท และรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้แผ่ทองหุ้มยอดพระมณฑป ครั้งนั้นเจ้าฟ้าธรรมธิเบศได้ตามเสด็จและทรงนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงไว้ด้วย หลังจากนั้น โคลงดั้นบรรยายถึงในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ว่า พวกจีนสวนพลูพากันไปลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยไปเสียสิ้น ช่วงนั้นกรุงศรีอยุธยามีศึกสงครามกับพม่า ทำให้ไม่สามารถบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทได้

สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้เสด็จประพาสพระพุทธบาทสระบุรี เนื่องจากบ้านเมืองยังมีสงคราม แต่โปรดเกล้าฯ ให้ทำหลังคามุงกระเบื้องกั้นพระพุทธบาทไว้

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาริราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปเป็นแม่การยกพระมณฑปพระพุทธบาท ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชศรัทธายิ่ง ทรงอุตสาหะแบกตัวลำยองเครื่องบนตัวหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงพระพุทธบาท และทรงปฏิสังขรณ์อารามวัตถุอื่น ๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากรัชกาลนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระพุทธบาทและไม่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใด ๆ จึงไม่ปรากฏรายละเอียดในโคลงลิลิตดั้น ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามิได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่พระพุทธบาท มีแต่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ ที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการพระพุทธบาทเมื่อครั้งเสด็จกลับจากปราบกบฏเมืองเวียงจันทน์ ทรงพระราชอุทิศเครื่องสูงที่แห่เสด็จในงานพระราชสงครามครั้งนั้นเป็นพุทธบูชา และทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้อีกหนึ่งองค์

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระพุทธบาทหลายประการ ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป พระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะที่ชำรุด ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทด้วย[๔] ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการ ๔ ครั้ง[๕] โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระวิหารหลวงและซ่อมผนังข้างในพระมณฑป โดยให้เขียนผนังพระมณฑปเป็นลายทอง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายพระพุทธบาทเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๐ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการรอยพระพุทธบาทตั้งแต่ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธียกยอดพระมณฑปในพ.ศ. ๒๔๕๖

ลิลิตเรื่องนี้ผู้ทรงพระนิพนธ์มีพระวินิจฉัยรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีว่า แม้จะมีผู้เห็นว่าตำนานรอยพระพุทธบาทเป็นเพียงนิทาน โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียและไม่เคยเสด็จมาเมืองไทย แต่รอยพระพุทธบาทก็เป็นเจดียสถานสำคัญที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ความเห็นคัดค้านจึงมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ ในขณะที่ความเลื่อมใสศรัทธาในรอยพระพุทธบาทจะพาจิตน้อมสู่ธรรมะ น้อมนำให้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป

กวีได้ทรงพระนิพนธ์โคลงนักษัตระฤกษ์ กล่าวถึงช่วงเดือนที่ผู้คนนิยมมานมัสการรอยพระพุทธบาท ชี่งแต่ละปีจะมี ๓ เดือน ได้แก่ งานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเดือน ๓ สำหรับคนไทย คนมอญนิยมมานมัสการในเดือน ๔ และคนญวนนิยมมานมัสการในเดือน ๖ นอกจากนี้ กวีได้กล่าวถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ บริเวณรอบพระพุทธบาท การละเล่นในงานสมโภช การเทศน์มหาชาติ ประเพณีการทำบุญนมัสการรอยพระพุทธบาท และสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาค้าขาย ตอนท้ายได้ทรงพระนิพนธ์โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้โรคภัยและอริราชศัตรูเลื่อมสูญไป และถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญ

โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทเป็นวรรณคดีที่รวบรวม ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรีไว้อย่างครบถ้วน โดยกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรัชกาลอย่างเป็นลำดับ และสอดแทรกประเพณีนิยมเรื่องการทำบุญนมัสการรอยพระพุทธบาทของคนไทย ร้อยเรียงด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิตดั้นและใช้อักขรวิธีที่เป็นลักษณะเฉพาะของกวี จึงนับว่าเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าเรื่องหนึ่ง



[๑] กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพๆ : ไอเดียสแควร์, ๒๕๓๘. หน้า ๒.

[๒] ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า “ศักราช ๙๖๘ ปีมะเมียอัฐศก ทรงพระกรุณาใหัพูนดินหน้าพระวิหารแกลบไว้เป็นที่สำหรับถวายพระเพลิง ในปีนั้นเมืองสระบุรีบอกมาว่า พรานบุญพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขา เห็นประหลาด สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดีพระหัย เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งพยุหยาตราพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาสามนตราชดาษดาโดยชลมารคนทีธาร ประทับท่าเรือ รุ่งขึ้นเสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ พร้อมด้วยคเชนทรเสนางคนิกรเป็นอันมาก ... สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทอดพระเนตรเห็นแท้ว่า เป็นรอยพระบรมพุทธบาทมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฎฐุตตรสตมหามหามงคลร้อยแปดประการสมด้วยพระบาลีแล้ว...”

[๓] ในโคลงลิลิตดั้นเรียกพระนามของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระว่า ขุนหลวงทรงเบ็จ

[๔] รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๘ คํ่า ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก มีงานสมโภชพระพุทธบาทเป็นเวลาหลายวัน มีพระราชพิธียกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่มกุฎพันธเจดีย์

[๕] รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระพุทธบาทสระบุรีทั้งหมด ๔ ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เสด็จฯ ก่อนมีทางรถไฟสายพระพุทธบาท - ท่าเรือ ครั้งที่สอง เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาเมื่อมีทางรถไฟแล้ว จึงได้เสด็จฯ ครั้งที่สามในพ.ศ. ๒๔๔๕ และครั้งสุดท้ายในคราวเสด็จฯ ประพาสต้นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ