ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ

(๑) ทศกรรฐไปพบเมฆนาทอยู่ที่ตำบลกุมภิลา ใกล้นครลงกา พระศุกรผู้เปนอาจารย์เมฆนาทชี้แจงว่า เมฆนาทได้รับผลแห่งการทำพิธีหลายชนิดแล้ว คือ พิธีอัคนิษโฎม (บูชาเพลิงและพลีด้วยน้ำโสม มีกำหนดงาน ๕ วัน มักทำในฤดูวสันต์) พิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า) พิธีพาหุสุพรรณกะ (บูชายัญด้วยทอง) พิธีราชสูยะ (ซึ่งพญาร้อยเอ็ดต้องมาช่วย) พิธีโคเมธ (บูชายัญด้วยโค) และพิธีไพษณพ (บูชาพระพิษณุเปนเจ้า) ในขณที่ทศกรรฐไปพบนั้น เมฆนาทกำลังทำพิธีมาเหศวร (บูชาพระอิศวร) เพื่อขอพรพระอิศวร ผลแห่งพิธีต่างๆ นั้นคือเมฆนาทได้มีฤทธิ์ทางมายาเช่น หายตัวล่องหน และทำให้มืดได้ตามปราถนา ทั้งได้แร่งศรซึ่งไม่รู้จักหมด และธนูสำคัญอัน ๑ ทศกรรฐกล่าวติลูกว่าไม่ควรจะบูชาพระอินทรและเทวดาอื่นซึ่งเปนศัตรูกับพ่อ แล้วก็พากลับเข้าเมือง

(๒) พิเภษณ์บอกข่าวว่า ในระหว่างเวลาที่ทศกรรฐมัวไปเที่ยวเยี่ยมพิภพเพลิดเพลิน เมฆนาทมัวพะวงในพิธีต่างๆ และพิเภษณ์เองจำศีลอยู่นั้น พญามธุจอมอสูรได้มาลักเอานางกุมภีนษีไป นางนี้เปนลูกนางอนลาผู้เปนธิดาท้าวมาลียวัน ทศกรรฐโกรธจึ่งยกทัพจะไปรบท้าวมธุ ให้เมฆนาทเปนทัพน่า ทศกรรฐเปนทัพหลวง กุมภกรรณเปนทัพหลัง ฝ่ายพิเภษณ์อยู่รักษานคร ครั้นไปถึงนครมธุวัน นางกุมภีนษีออกมาห้ามทัพ ทศกรรฐกับมธุราชจึ่งตกลงทำไมตรีกัน แล้วทศกรรฐยกทัพจากมธุวัน เลยไปเที่ยวที่เขาไกลาศ

(๓) ขณที่ไปพักอยู่ณที่ใกล้สวนของท้าวกุเวร ทศกรรฐพบนางอับศรชื่อรัมภา ผู้เปนบริจาของพระนลกุวรลูกท้าวกุเวร ทศกรรฐมีความกำหนัดก็ขืนสมพาศด้วยนาง นางไปฟ้องพระนลกุวร ซึ่งในขณนั้นบำเพ็ญพรตอยู่ พระนลกุวรก็กรวดน้ำแช่งทศกรรฐว่า ต่อไปอย่าให้ทศกรรฐขืนใจสัตรีที่ไม่สมัคสังวาศได้เปนอันขาด ถ้าจะขืนใจสัตรีเมื่อใดขอให้สมองแยะเปนเจ็ดภาค ทศกรรฐได้ฟังคำแช่งก็มีความสยดสยองยิ่งนัก ไม่กล้าขืนใจสัตรีอีกต่อไป [การที่ทศกรรฐไม่กล้าขืนใจนางสีดาก็เพราะกลัวคำแช่งอันนี้เอง]

(๔) อินทราสุรสงคราม - ทศกรรฐรบกับพระอินทร ท้าวสุมาลีผู้เปนตาของทศกรรฐตายในสนามรบ เมฆนาทคิดแก้แค้น จึ่งเข้ารบกับพระไชยันต์โอรสของพระอินทร แต่เห็นว่าสู้กันตรงๆ ไม่แพ้ เมฆนาทจึ่งร่ายมนตร์ให้มืด ทัพเทวดาก็ระส่ำระสาย ฝ่ายท้าวปุโลมาสูรผู้เปนตาของพระไชยันต์เห็นโอกาศดี จึ่งเข้าอุ้มพระไชยันต์ไปซ่อนไว้ใต้มหาสมุท พระอินทรสำคัญว่าพระไชยันต์ตายในที่รบ จึ่งยกออกไปรบเอง เมฆนาทเห็นบิดาจะสู้ไม่ได้ จึ่งร่ายมนตร์ให้มืดอีก แล้วเข้าอุ้มพระอินทรไปลงกา เทวดาก็แพ้พากันหนีไปเฝ้าเล่าความให้พระพรหมา พระพรหมาจึ่งลงไปลงกา ประทานนามเมฆนาทว่าอินทรชิต แล้วขอให้ปล่อยพระอินทร อินทรชิตขอประทานพรถ่ายตัวพระอินทร แต่พระพรหมาไม่โปรดประทานให้ อินทรชิตจึ่งขอใหม่ว่า เมื่อใดบูชาเพลิงขอให้มีรถผุดขึ้นมา และถ้าตัวอินทรชิตยังคงอยู่บนรถนั้นตราบใด ขออย่าให้ใครฆ่าตายได้และอีกประการ ๑ ถ้าต้องต่อสู้ศัตรูก่อนที่ทำพิธีบูชาเพลิงสำเร็จ จึ่งให้ศัตรูฆ่าตาย พระพรหมาก็โปรดประทานให้ [เพราะเหตุฉนี้ เมื่อพระลักษมณ์จะสังหารอินทรชิต พิเภษณ์จึ่งแนะนำว่าต้องรีบไปทำลายพิธีนิกุมภิลาเสียก่อนที่สำเร็จ และต้องยิงรถให้หักก่อนจึ่งค่อยยิงตัวอินทรชิต]

(๕) มีเรื่องแซก กล่าวย้อนหลังถึงเรื่องพระอินทรได้ประพฤติผิดในกาม ทำชู้กับนางอหลยา ซึ่งพระพรหมาสร้างขึ้นให้เปนชายาพระมหาฤษีโคดม พระโคดมแช่งพระอินทรว่าให้พ่ายแพ้แก่ศัตรู (จึ่งแพ้ทศกรรฐ) และต่อไปถ้าผู้ใดประพฤติผิดทางกามมิจฉาจารอีกในโลก ให้พระอินทรต้องรับบาปกึ่งหนึ่งทุกคราวไป ทั้งผู้ใดได้เปนใหญ่ในหมู่เทวดาก็อย่าให้เปนอยู่ยั่งยืนได้ ส่วนนางอหลยานั้นพระมหาฤษีก็สาบว่า ต่อไปบรรดามนุษในโลกให้ได้รับส่วนแบ่งความงามแห่งนาง (ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีอยู่ในตัวนางผู้เดียว) และกล่าวไว้ว่า เมื่อใดได้พบพระนารายน์รามาวตารแล้ว จึ่งให้พ้นโทษ พระมุนีจะรับมาบำรุงเลี้ยงเปนชายาตามเดิม นางก็เข้าป่าไปบำเพ็ญตะบะล้างบาปจนได้พบพระราม (เรื่องนี้ในพาลกัณฑ์ก็มีเล่าไว้แล้ว)

(๖) ทศกรรฐวิวาทกับท้าวอรชุนราชา ผู้ครองนครมหิษมดีไหหัยชนบท [นี้คืออรชุนที่รบกับปรศุราม เมื่อทศกรรฐไปถึงเมืองมหิษมดีนั้น ท้าวอรชุนไปประพาศป่าริมลำน้ำเนรพุท ทศกรรฐตามไปแขวะถึงที่นั้น รบกันเปนสามารถ แต่ท้าวอรชุนมีฤทธิ์มากกว่า มีแขนถึงพันแขน (จึ่งได้นามว่า “สหัสพาหุ”) ทศกรรฐแพ้ ท้าวอรชุนจับได้ มัดเอาไปเมืองมหิษมดี พระปุลัสตยะมุนีทราบข่าวจากเทวดา จึ่งลงไปเมืองมหิษมดี ขอให้ท้าวอรชุนปล่อยทศกรรฐ ท้าวอรชุนจึ่งยอมปล่อย และทำสัญญาเปนไมตรีกัน

(๗) ทศกรรฐวิวาทกับพาลี - ทศกรรฐไปกีษกินธ์ เพื่อท้าพาลีรบ แต่ทราบว่าพาลีไปทำพิธีสนธยาอยู่ที่ทักษิณสมุท ทศกรรฐตามไปแขวะ พาลีแกล้งทำนิ่งเสีย จนทศกรรฐเข้าไปใกล้จึ่งคว้าตัวได้ เอาหนีบรักแร้เหาะไปเที่ยวประจารรอบโลก แล้วจึ่งพาไปกีษกินธ์ ทศกรรฐยอมแพ้โดยดีแล้วก็ทำไมตรีต่อหน้าไฟ [ไม่ใช่แปลงเปนปูไปยุ่มย่ามในงานลงสรงองคทอย่างในเรื่องรามเกียรติ์ของเรา เรื่องทศกรรฐแปลงเปนปูก็ดี หรือเรื่องนางมณโฑเคยเปนเมียพาลีและเปนแม่องคทก็ดี น่าจะได้มาจากหนังสืออื่น ไม่ใช่จากรามายณ บางทีจะได้จากหนังสือ “ปุราณะ” เรื่องใดเรื่อง ๑ ก็เปนได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้ามีเวลาคงจะค้นพบเรื่องนี้ และเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา แต่ที่ไม่มีอยู่ในรามายณฉบับสังสกฤต เรื่องราวของตัวสำคัญๆ ในเรื่องรามเกียรติ์มักไปมีเปนท่อนเล็กท่อนน้อยแซกๆ อยู่ในเรื่องอื่นๆ นอกจากรามายณ เพราะฉนั้นยากที่จะเก็บให้หมดได้]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ