ปุราณะ

ยังมีหนังสืออยู่อีกจำพวก ๑ ซึ่งอาจจะได้เปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวบางตอนในรามเกียรติ์ของเรา กล่าวคือหนังสือจำพวกที่เรียกว่า “ปุราณะ” นัยว่าๆ เปนหนังสือเก่า และมักจะอ้างว่าเปนคัมภีร์รวบรวมข้อความซึ่งพระเปนเจ้าองค์ใดองค์ ๑ ได้ตรัสแสดงแด่มหาฤษีตนใดตน ๑ แล้วและได้แสดงกันลงมาเปนต่อๆ นามว่า “ปุราณะ” นั้น ทำให้คนมักเข้าใจไปว่าเปนหนังสือเก่าจริงๆ จังๆ ที่แท้นั้นโดยมากเปนหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง จำพวกหนังสือที่เรียกว่า “อิติหาส” (ตำนาน) อย่างเช่นรามายณหรือมหาภารตเปนต้น หนังสือพวกอิติหาสนั้น มักแสดงตำนานแห่งวีรบุรุษ คือกษัตร์นักรบสำคัญอย่างที่ได้เปนไปจริงๆ แต่ต่อมายิ่งเล่ากันไปเรื่องก็ยิ่งวิจิตรพิศดารขึ้นทุกที จนวีรบุรุษนั้นมีผู้ที่นิยมนับถือกันมากๆ ขึ้น ก็เลยกลายเปนเผ่าพงษ์เทวดาไป และบางคนก็เลยกลายเปนพระเปนเจ้าอวตาร อย่างเช่นพระรามาวตาร หรือยกยอเลยกันขึ้นไปอีกชั้น ๑ จนถึงว่าเปนตัวพระเปนเจ้าเอง อย่างเช่นพระกฤษณ ดังนี้เปนที่สุด เมื่อถึงที่สุดยอดฉนี้แล้วจึ่งบังเกิดมีหนังสือจำพวกปุราณะขึ้น สำหรับแสดงเรื่องวีรบุรุษผู้ที่ยกย่องเชิดชูขึ้นจนเปนตัวพระเปนเจ้าเองนั้นต่อไป ในหนังสือปุราณะนั้น นอกจากแสดงพงษาวดารแห่งวีรบุรุษดังกล่าวมาแล้ว มักเปนที่รวบรวมลัทธิคำสั่งสอนแห่งไสยศาสตร์และมีข้อที่ควรเชื่อถือได้ว่าพราหมณาจารย์ได้แต่งขึ้นสำหรับแข่งกับคัมภีร์ข้างฝ่ายพระพุทธศาสนา ที่ต้องแต่งตำหรับขึ้นใหม่เช่นนั้น เพราะคัมภีร์พระเวทนั้นแต่งเปนภาษาสังสกฤตโบราณ ซึ่งแม้ในหมู่พราหมณ์เองก็อ่านได้น้อยลงทุกที จึ่งมีผู้ที่ศึกษาได้น้อยลงทุกที จนเมื่อบังเกิดมีพระพุทธศาสนาขึ้นนั้น ความรู้ในหมู่พราหมณ์ทรามเต็มทีอยู่แล้ว ส่วนข้างพระพุทธศาสนามีผู้เลื่อมใสมากขึ้น พระคณาจารย์ได้รจนาหนังสือแสดงพระบรมพุทโธวาทเปนภาษาสังสกฤตอย่างง่ายๆ บ้าง เปนภาษามคธบ้าง ซึ่งเปนภาษาที่คนในสมัยนั้นเข้าใจกันอยู่มากๆ ชนก็พากันศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที จนพวกพราหมณาจารย์รู้สึกตัวว่าถ้าไม่คิดอ่านเดินตามสมัยบ้าง ไสยศาสตร์จะเสื่อมสูญแพ้พระพุทธศาสนา จึ่งได้พยายามแต่งหนังสือขึ้นบ้างเปนภาษาสังสกฤตใหม่ หรือเปนภาษาใดภาษา ๑ ซึ่งใช้กันอยู่โดยมากแพร่หลาย หนังสือปุราณะก็ได้เกิดมีขึ้นในยุคนี้เอง

โดยมากพราหมณ์ชั้นหลังๆ ที่อ้างถึงพระไตรเพท หรือพระจัตุรเพทก็ตาม พูดไปกระนั้นเอง แท้จริงมีน้อยคนที่ได้อ่านพระเวทตลอด ถ้าหากจะได้รู้บ้างก็เปนแต่บางตอน เช่นมนตร์ต่างๆ ซึ่งใช้ในการพิธีบางอย่างเท่านั้น ส่วนลัทธิแห่งไสยศาสตร์ที่สอนๆ กันต่อมาในชั้นหลังๆ นี้ ใช้พวกหนังสือปุราณะเปนหลักทั้งนั้น หนังสือปุราณะนี้เองเปนตัวตำหรับสำคัญของพราหมณ์ที่ได้นำไสยศาสตร์เข้ามายังกรุงสยาม กับข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะได้เปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวในรามเกียรติ์ของเราบ้าง และเปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวอื่นอีกบ้าง มีเรื่องพระอนิรุทธ์ (ซึ่งเราเรียกว่า “อุณรุทธ์” นั้น) เปนต้น ข้าพเจ้าจึ่งขอกล่าวด้วยหนังสือเหล่านี้อีกต่อไปบ้างพอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้

อมรสิงหรัตนกะวี ซึ่งเปนคน ๑ ในนวรัตนกะวีที่อยู่ในราชสำนักพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราช นครอุชชยินี ได้กล่าวไว้ในหนังสืออมรโกษว่า หนังสือปุราณะที่จะนับว่าดี ควรจะบริบูรณด้วยเบญจลักษณ คือ

(๑) แสดงด้วยการสร้างโลก

(๒) แสดงด้วยการล้างโลก และสฐาปนาขึ้นใหม่

(๓) แสดงเทพวงศ์และประชาบดีวงศ์

(๔) แสดงตำนานพระมนู และมันวันตะระ (มนูยุค) ทั้งในอดีตและอนาคต

(๕) แสดงพงษาวดารกษัตร์สุริยวงศ์และจันทรวงศ์

หนังสือปุราณะที่มีอยู่บัดนี้ ไม่มีเลยที่ต้องด้วยปัญจลักษณะบริบูรณ บางคัมภีร์ก็มีลักษณใกล้เคียง แต่บางคัมภีร์ก็ห่างมาก หนังสือวิษณุปุราณะเปนอย่างที่ใกล้ที่สุด ส่วนข้อความที่แสดงไว้ในปุราณะต่างๆ นั้น โดยมากก็ปลูกความเคารพในเทวดาหลายๆ องค์ แต่ก็มักจะมีเอียงไปข้างองค์ใดองค์ ๑ ซึ่งยกย่องว่าเปนใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย แล้วแต่ผู้แต่งจะอยู่ในนิกายใด เช่นพราหมณ์ไพษณพนิกายก็ยกย่องพระวิษณุเปนเจ้า ว่าเปนใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง พราหมณ์ไศพยนิกายก็ยกย่องพระอิศวรเปนเจ้าเลิศลอยเช่นนั้น แต่ที่มีตั้งใจจะไกล่เกลี่ยว่าพระอิศวรกับพระนารายน์เสมอกันหรือเปนองค์เดียวกันก็มี ส่วนพระพรหมานั้นไม่มีผู้ใดนับถือโดยเฉภาะพระองค์อย่างพระอิศวรหรือพระนารายน์ เพราะฉนั้นโดยมากมักได้รับบูชาพร้อมๆ กับพระอิศวรหรือพระนารายน์ ในปัตยุบันนี้ทั้งประเทศอินเดียมีเทวสถานสำหรับพระพรหมโดยเฉภาะเพียงเดียวแต่ที่ตำบลบุษกร ในแคว้นกัศมีระ (อังกฤษ “Kashmir” หรือ “Cashmere”) ทั้งเทวรูปพระพรหมก็ไม่ใคร่พบเลย ในอินเดียเองถ้ามีงานอะไรที่จะต้องไหว้พระเปนเจ้าทั้งสามพร้อมกัน ก็มักปั้นรูปพระพรหมขึ้นด้วยดินพอใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเหตุฉนี้ ในหนังสือปุราณะแม้ที่นับว่ากล่าวด้วยพระพรหม ก็กล่าวถึงแต่ในส่วนที่เปนผู้สร้างโลกเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับสรรเสริญยกย่องให้เลิศลอยอย่างพระอิศวรหรือพระนารายน์ และความที่จะกดพระพรหมนั้นถึงแก่เกณฑ์ให้พระพรหมเล่าเองว่าพระองค์เกิดในดอกบัว ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายน์ และเกณฑ์ให้พระพรหมเปนผู้แสดงข้อความอันเปนปาฏิหารของพระนารายน์นั้นก็มาก

หนังสือปุราณะทั้งหมดแต่งเปนกาพย์​ และมักตั้งรูปเปนปุจฉาวิสัชนา คัมภีร์ปุราณะมี ๑๘ กับมีอุปะปุราณะอีก ๑๘ ปุราณะจัดลงเปน ๓ นิกายๆ ละ ๖ ดังต่อไปนี้

ราชัสยนิกาย - แสดงด้วยสมัยกาลเมื่อโลกยังมืด (“รัชส” หรือ “รัชนิ” แปลว่า “มืด”) สมมตว่าเปนเรื่องราวกล่าวด้วยพระพรหม แต่แท้จริงเมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นได้ว่า พระพรหมได้มีนามในหนังสือเหล่านี้ก็แต่โดยเปนผู้เล่าเรื่องอย่าง ๑ กับในตอนสร้างโลก ซึ่งเปนตอนเริ่มแห่งหนังสือชนิดนี้ มีกล่าวถึงพระพรหมผู้สร้างพอเปนสังเขปเท่านั้น หนังสือในราชัสยนิกายนี้ มี ๖ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. พรหมปุราณะ หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าอาทิปุราณะ (เพราะเปนคัมภีร์ที่ ๑) “พระพรหมาแสดงให้พระมะรีจิมุนี” และมีชื่อเรียกอีกด้วยว่าเสารยะปุราณะ เพราะมีข้อแสดงด้วยการบูชาพระสุริยาทิตย์ มีเรื่องการสร้างโลก และกล่าวด้วยมันวันตะระกับมีพงษาวดารสุริยวงศ์และจันทรวงศ์โดยย่อลงมาจนถึงพระกฤษณ ต่อนั้นจึ่งมีแสดงไตรภูมิวินิจฉัยโดยย่อ แล้วจึ่งกล่าวแสดงคุณวิเศษแห่งโอฑระปุระ (ซึ่งเรียกตามภาษาฮินดีว่า “โอริสสะ” และอังกฤษเขียนว่า “Orissa”) ซึ่งมีเทวสถานและอาราม เปนที่บูชาพระสุริยาทิตย์ พระอิศวร และพระชคันนาถ (คือพระกฤษณนารายน์​ ซึ่งอังกฤษเรียก “Juggernaut”) เปนอันแสดงให้ปรากฎว่าความปราถนาแห่งพรหมปุราณะภาคนี้ ก็คือจะเพาะความนิยมนับถือในพระชคันนาถนั้นเอง ต่อภาคนี้ลงไปมีตำนานพระกฤษณ ซึ่งมีข้อความเหมือนที่มีอยู่ในวิษณุปุราณะทุกประการ ในภาคสุดท้ายมีอธิบายวิธีโยคปฏิบัติ โดยเอาพระพิษณุเปนกรรมัษฐาน ผู้ชำนาญในวรรณคดีว่า หนังสือนี้จะได้แต่งขึ้นเมื่อราวศัตวรรษ (คือขวบ ๑๐๐ ปี) ที่ ๑๙ หรือที่ ๒๐ แห่งพุทธกาล

๒. พรหมาณฑปุราณะ คือเรื่อง “ไข่แห่งพระพรหมา” แสดงด้วยกัลปต่างๆ ในปัตยุบันนี้หาฉบับที่บริบูรณไม่ได้เสียแล้ว มีอยู่แต่เปนตอนๆ มีอยู่ตอน ๑ เรียกว่า “อาธยาตมะรามายณ” (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างน่า)

๓. พรหมไววรรตปุราณะ “ซึ่งพระมนูสาวรรณีแสดงแด่พระนารทเทพฤษี” เปนหนังสือแสดงเรื่องพระกฤษณและนางราธาเปนอาทิ สันนิษฐานกันว่าเปนหนังสือชั้นหลังๆ

๔. มารกัณเฑยะปุราณะ “เริ่มด้วยเรื่องนกซึ่งรู้จักผิดและชอบ พระมารกัณเฑยะมุนีได้แสดงไว้โดยพิศดาร ตามคำวิสัชนาแห่งพระมหาฤษีเจ้าทั้งหลาย ซึ่งตอบปุจฉาแห่งพระมุนี” เริ่มต้นพระมารกัณไฑยเปนผู้แสดงนิทาน แล้วจึ่งมีเปนเรื่องนิทานต่างๆ ซึ่งสมมตว่านกผู้รอบรู้ในพระเวทได้วิสัชนาตอบปุจฉาแห่งพระฤษีไชมินี นักรู้ในวรรณคดีสันนิษฐานว่า แต่งเมื่อราวในศัตวรรษที่ ๑๖ หรือที่ ๑๗ แห่งพุทธกาล [ปุราณะนี้คือต้นฉบับแห่ง “ปักษีปรกรณัม” ภาษาไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์แล้วแต่ครั้งพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณทรงพิมพ์หนังสือหลวง]

๕. ภวิษยะปุราณะ นัยว่าๆ เปนตำหรับโหราศาสตร์ แสดงด้วยการบูชาเทวดาต่างๆ มีพระอิศวรเปนอาทิ

๖. วามนปุราณะ “ซึ่งเปนคำอนุศาสน์แห่งท้าวจัตุรภักตรพรหมาทรงแสดงด้วยกรรมทั้งสาม อันเปนไปโดยเดชะพระบารมีแห่งพระตรีวิกรม (นารายน์)” คือเล่าเรื่องพระนารายน์ปางวามนาวตาร (เปนคนค่อม) ชำนะอสูรชื่อพลีด้วยย่างสามขุม หนังสือนี้อยู่ในจำพวกที่บำเพ็ญจะเปนกลางไม่สู้ลำเอียงนัก แสดงความเคารพในพระนารายน์และพระอิศวรปานๆ กัน เปนหนังสือซึ่งมีอายุไม่เกินกว่า ๔๐๐ ปีขึ้นไป พระวามนาวตารนี้เอง ที่เรียกในหนังสือนารายน์สิบปางของเราว่า “พระทวิชาวตาร” และท้าวพลีนั้น ของเราเรียกว่า “ท้าวตาวันตาสูร” เรื่องราวของเราทรามกว่าของเขาเปนอันมาก เพราะของเขาว่าท้าวพลีนั้นบำเพ็ญตะบะจนพระพรหมาโปรด จึ่งได้ประทานไตรภูมิเปนแดน ท้าวพลีก็ตั้งใจครอบครองโดยธรรม แต่เทวดาพากันเดือดร้อนในการที่ต้องเปนข้าอสูร จึ่งไปทูลวอนให้พระนารายน์ช่วย พระนารายน์จึ่งอวตารมากำเหนิดเปนลูกพระกัศยปมุนีกับนางอทิติ มีรูปร่างเปนคนเตี้ยค่อม จึ่งเรียกว่า “วามน” ครั้ง ๑ ท้าวพลีตั้งกิจพิธีบวงสรวงใหญ่ ให้ทักษิณาแด่พราหมณ์ทั่วไป พระวามนาวตารก็ไปยังสถานพิธี ขอทักษิณาบ้าง ท้าวพลีตรัสอนุญาตว่า ขออะไรจะให้ทั้งสิ้น พระวามนขอแผ่นดินสามย่าง ท้าวพลีก็ยินดียกให้ พระวามนย่างขุมที่ ๑ ที่เทวโลก ย่างที่ ๒ บนมนุษโลก  ย่างที่ ๓ เตรียมจะทรงวางลงที่บาดาล แต่ทรงรำฦกว่าถ้าทำเช่นนั้นท้าวพลีก็จะไม่มีที่อาไศรยอีกต่อไป และทรงพระเมตตาอยู่ว่าเปนผู้ที่ตั้งอยู่ในสัตยธรรม จึ่งทรงวางพระบาทลงบนหัวท้าวพลีนับเอาเปนย่างที่ ๓ ท้าวพลีก็ถวายตัวเปนข้าชั่วกัลปาวสาน (เพราะตามวาจาของตนได้กล่าวไว้ว่า ย่างลงตรงใดจะยกถวายตรงนั้น เมื่อย่างลงบนหัวก็ต้องถวายหัว) พระนารายน์จึ่งโปรดอนุญาตให้ท้าวพลีไปอยู่บาดาลสืบไป เรื่องราวของเขามีใจความดังนี้ ซึ่งเทียบกับของเราเข้าแล้วก็จะเห็นได้ว่า ของเราทรามเต็มที ได้มาแต่เค้าเรื่อง ก็มาผูกขึ้นเองโดยใช้ภูมิปัญญาอันต่ำกว่าเขามาก จึ่งได้มากล่าวว่าพญาอสูรนั้นขอแต่ป่าไว้สำหรับเปนที่จับสัตว์กินเท่านั้น และที่เสียทีพระนารายน์อวตารก็เพราะหลงรักรูปร่างว่าสรวยงามเท่านั้น ทั้งพระนารายน์เองที่ย่างสามขุมก็เพียงแต่ให้หมดเขตรป่า ๆ เดียวเท่านั้น จึ่งเห็นได้ว่าผู้แต่งเรื่องของเรานับว่าเปนคนที่ต่ำรอบตัว ต่ำทั้งในภูมิปัญญา ต่ำทั้งในภูมิธรรม (เพราะถ้าไม่ต่ำก็คงจะไม่นึกให้ยักษ์หลงรับรูปโฉมแห่งพระ “ทวิชาวตาร” ซึ่งเปนผู้ชายแท้ๆ ไม่ใช่ผู้หญิงริงเรืออะไรเลย) และต่ำทั้งในภูมิความคิด ซึ่งแคบอย่างน่าอายที่สุด

สาตวิกนิกาย - แสดงด้วยสมัยเมื่อโลกมีความสัตย์เปนแสงสว่าง เปนเรื่องราวอันกล่าวด้วยพระวิษณุเปนเจ้าโดยมาก มีอยู่ ๖ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. วิษณุปุราณะ “ซึ่งพระปะราศรมุนีเปนผู้แสดง จำเดิมแต่เหตุการณอันได้เปนไปแล้วในวราหกัลป” หนังสือนี้นับว่าเปนเอกในพวกปุราณะได้ เพราะพร้อมด้วยเบญจลักษณะซึ่งได้กล่าวมาแล้ว มีเปนตำนานแซกอยู่ในนั้นเปนอันมาก นับว่าเปนตำหรับสำคัญอัน ๑ และเรื่องราวที่เราได้ๆ มาน่าจะได้จากเล่มนี้เองมากกว่าเล่มอื่น ถ้าจะกล่าวถึงข้อความที่มีอยู่ในคัมภีร์นี้แม้แต่โดยย่อ ก็จะกินน่ากระดาษมากอยู่ ทั้งจะเปนเรื่องที่พบอยู่แห่งอื่นแล้วด้วย เช่นในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณเปนต้น เพราะฉนั้นต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงให้พิศดารไปอีก แต่ควรกล่าวไว้นิดหนึ่งว่า นอกจากเรื่องพระรามและทศกรรฐ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกเปนอันมาก เรื่องพระกฤษณาวตารโดยมากที่เล่าๆ กันอยู่นั้น ได้มาจากหนังสือวิษณุปุราณะ และเรื่องพระอนิรุทธ (อุณรุทธ) ก็ออกจากที่นี้เองเหมือนกัน เพราะฉนั้นข้าพเจ้ายังนึกเสียดายอยู่ว่า ไม่มีน่ากระดาษพอที่จะกล่าวถึงหนังสือนี้อีกให้พิศดารยิ่งกว่านี้ ทั้งข้าพเจ้าก็ยังมิได้มีเวลาอ่านหนังสือวิษณุปุราณะนั้นเองด้วยซ้ำ แต่เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในที่นี้แล้วว่าวิษณุปุราณะเปนบ่อเกิดแห่งเรื่องลคร และนิทานที่เล่าๆ กันอยู่ในเมืองเรา ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะมีนักเลงหนังสือหาเวลาตรวจหนังสือนี้ต่อไป น่าจะได้ความรู้เปนอันมาก

๒. นารทียะปุราณะ ซึ่งสมมตว่าพระนารทมุนีเปนผู้แสดงเปนหนังสือซึ่งสอนลัทธิภักดีต่อพระนารายน์เปนพื้น นักปราชญ์ที่ได้พิจารณาดูตลอดแล้ว เห็นว่าจะไม่ใช่หนังสือเก่าปานใด คือจะมีอายุราวศัตวรรษที่ ๒๒ หรือที่ ๒๓ แห่งพุทธกาล (คือราว ๓๐๐ หรือ ๒๐๐ ปีล่วงแล้วเท่านั้น) เพราะฉบับ ๑ มีกล่าวถึง “พวกฆ่าโค” และ “ดูถูกพระเปนเจ้า” ซึ่งแปลว่าพวกอิสลาม เพราะฉนั้นจึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่ออินเดียตกอยู่ในความปกครองของพวกโมคุลแล้ว

๓. ภาควัตปุราณะ เปนตำหรับที่พวกพราหมณ์ไพษณพนิกายนับถือกันมาก เพราะเต็มไปด้วยตำนานที่แสดงเรื่องแห่งพระนารายน์และยอพระเกียรติพระเปนเจ้าองค์นั้น กัณฑ์ที่ ๑๐ แห่งหนังสือนี้เปนกัณฑ์ที่มีคนอ่านมาก เพราะมีตำนานพระกฤษณอยู่อย่างพิศดาร และได้มีคำแปลจากภาษาสังสกฤตเปนภาษาสำหรับพื้นเมืองต่างๆ ในมัธยมประเทศนั้นทุกเมือง ปราชญ์อังกฤษชื่อโคล์บรุกยอมรับรองตามความเห็นแห่งพวกนักปราชญ์อินเดียเองว่า ผู้แต่งปุราณะนี้คืออาจารย์ชื่อโวปเทพ ซึ่งอยู่ ณราชสำนักท้าวเหมาทรี ราชาครองนครเทวคีรี ราว ๖๐๐ หรือ ๗๐๐ ปีล่วงมานี้

๔. ครุฑปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์ได้ทรงแสดง เปนตำนานกำเหนิดแห่งพระยาครุฑ ผู้เปนลูกนางเวนะตา (จึ่งมีนามเรียกว่า “ไวนัต๎ย” ซึ่งไทยเรามาเขียนกันว่า “เวนไตรย”) หนังสือนี้ไม่พบต้นฉบับเสียแล้ว

๕. ปัทมะปุราณะ “ซึ่งแสดงด้วยเหตุการณในสมัยเมื่อโลกนี้เปนดอกบัว” (คือ “ปัทมะ” ซึ่งไทยเรามาเขียนว่า “ประทุม”) หนังสือนี้แบ่งเปน ๕ กัณฑ์ คือ (๑) ส๎ฤษ๎ฏิขัณ์ฑ กล่าวด้วยการสร้างโลก (๒) ภูมิขัณ์ฑ กล่าวด้วยเมืองมนุษ (๓) ส๎วร๎คขัณ์ฑ กล่าวด้วยสวรรค์ (๔) ปาตาลขัณ์ฑ กล่าวด้วยบาดาล (๕) อุต์ตรขัณ์ฑ เปนกัณฑ์แถม กับยังมีกัณฑ์ที่ ๖ อีกกัณฑ์ ๑ เรียกว่า “ก๎ริยาโยคสาร” แสดงวิธีโยคปฏิบัติ ส่วนอายุแห่งหนังสือนี้ นักปราชญ์สันนิษฐานว่าจะได้แต่งในศัตวรรษที่ ๑๘ แห่งพุทธกาลเปนอย่างสูง ส่วนความในหนังสือนี้ คือแสดงด้วยไตรภูมิวินิจฉัยกับเพาะความศรัทธาในพระนารายน์เปนอาทิ

๖. วราหะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์ได้ทรงแสดง และว่าเปนตำนานเรื่องพระวราหาวตาร (นารายน์ปางที่ ๑) แต่หนังสือที่มีนามเช่นนี้ในปัตยุบันนี้ มิได้ต้องลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้นเลย จึ่งเข้าใจกันว่า ฉบับเดิมเห็นจะสูญเสียแล้ว

ตามัสยนิกาย - แสดงด้วยสมัยกาลเมื่อโลกยังขุ่น [คือเปน “ตม” นั้นเอง คำว่า “ตม” นี้ ข้าพเจ้าเองก็มิได้เคยนึกว่าเปนภาษาอื่นนอกจากไทยแท้ จนได้มาจับพิจารณาเรื่องปุราณะดู พบคำ “ตามัส๎ย” แปลว่า “เนื่องด้วยความขุ่น” ฉนี้ จึ่งพลิกไปดูในพจนานุกรมของโมเนียร์วิลเลียมส์ ​ได้ความว่า “ตม” แปลว่า “ขุ่น” จึ่งรู้สึกว่า “ตม” เปนภาษาสังสกฤต] หนังสือในนิกายนี้ ว่าเปนเรื่องราวแสดงด้วยพระอิศวรเปนพื้น มีอยู่ ๖​ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. มัตสยะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์มัตสยาวตารได้แสดงให้แก่พระมนูสัตยพรต มีเรื่องสร้างโลกและไตรภูมิ กับมีตำนานต่างๆ มาก บางตอนก็เห็นได้ว่าเก็บเรื่องมาจากวิษณุและปัทมะปุราณะและมหาภารต จัดเข้าในจำพวกไศพยะนิกาย (นับถือพระอิศวร) แต่ไม่สู้จะลำเอียงนัก

เรื่องพระมัตสยาวตารนี้ เดิมมีมาในหนังสือศัตบถพราหมณะ ซึ่งเปนตำหรับของพราหมณ์พิธี เปนพราหมณะสำหรับกับพระยัชุรเวท และเปนอวตารของพระพรหม ซึ่งในที่นั้นเรียกว่า “นารายน” แต่ต่อมาถึงชั้นหนังสือปุราณะ พระวิษณุมากลายเปนผู้ครอบครองนามว่า “นารายน” นั้นเสียแล้ว มัตสยาวตารก็เลยกลายเปนของพระวิษณุไปด้วย และโดยเหตุที่นับว่าเปนเรื่องสำคัญอัน ๑ ซึ่งเนื่องด้วยเรื่องล้างโลกและสฐาปนาขึ้นใหม่กับตำนานพระมนู เรื่องมัตสยาวตารนี้จึ่งมีอยู่ในปุราณะแทบทุกคัมภีร์​ ถึงแม้ว่าจะผิดแผกแปลกกันบ้าง ในส่วนสำนวนและโวหารก็ดี แต่ใจความคงลงกันหมด คือ เมื่อสิ้นมนูยุคที่ ๖ แล้ว และเริ่มมันวันตะระที่ ๗ คือยุคของพระมนูไววัสวัต พระมนูได้ช้อนปลาเล็กได้ตัว ๑ ซึ่งนำไปเลี้ยงไว้ แต่หาภาชนะอะไรใส่พอไม่ได้เลย ยิ่งหาภาชนะโตขึ้น ปลาก็โตขึ้นตาม จนปล่อยสระก็คับสระ ปล่อยแม่น้ำก็คับแม่น้ำ ปล่อยมหาสมุทก็เต็มมหาสมุท พระมนูรู้ว่าเปนพระเปนเจ้าก็นมัสการตามสมควร พระมัตสยาวตารจึ่งสอนให้พระมนูต่อเรือลำใหญ่ ต้อนสัตว์ลงไปอย่างละคู่ และเก็บพืชพรรณต่างๆ อย่างละเล็กน้อยไปในเรือนั้น ครั้นอยู่มาไม่ช้าก็มีฝนแสนห่าตกท่วมโลก พระมนูลงเรืออยู่แล้ว จึ่งไม่เปนอันตราย และพระมนูได้โยงเรือนั้นกับเขาพระมหามัตสยะ พระมหามัตสยะก็ลากเรือแล่นไป และกล่าวอนุศาสน์พระมนูในกิจการต่างๆ จนเมื่อฝนหายและน้ำลดแล้ว พระมนูจึ่งขึ้นจากเรือ และพระมนูนี้เรียกว่าประชาบดี เพราะเปนมหาชนกแห่งชนทั้งปวงบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้ และโดยเหตุที่ชนได้กำเหนิดมาแต่พระมนูจึ่งได้นามว่ามนุษ

[เรื่องนี้สังเกตุดูไม่ผิดกันเลยกับเรื่องโนอาห์ในคัมภีร์ใบเบ็ล คือในเรื่องนั้นพระเปนเจ้าก็ตรัสสั่งโนอาห์ให้ต่อเรือใหญ่ขึ้นลำ ๑ และได้ต้อนสัตว์ลงไปในเรือนั้นอย่างละคู่ ครั้นอยู่มาไม่ช้าก็มีฝนแสนห่าตกท่วมโลก มีผู้รอดพ้นจากน้ำท่วมได้แต่โนอาห์กับครอบครัวและสัตว์ที่อยู่ในเรือนั้นเท่านั้น ครั้นเมื่อน้ำลดแล้วโนอาห์ก็ได้เปนผู้ให้กำเหนิดแก่มนุษสืบไป บรรดามนุษที่มีอยู่ในโลกณบัดนี้ ก็กล่าวว่าเปนเชื้อสายแห่งโนอาห์ทั้งนั้น เรื่องราวเหมือนกันไม่มีผิดฉนี้ และมิหนำซ้ำนาม “โนอาห์” กับ “มนู” นั้นก็ใกล้กันมากอยู่ จึ่งน่าสันนิษฐานว่าจะเปนเรื่องเดียวกันดอกกระมัง]

ส่วนเรื่องพระมัตสยาวตาร ที่มีอยู่ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับไทยนั้น ได้ความว่าได้มาจากภาควัตปุราณะ คือมีเรื่องยักษ์ลักพระเวทลงไปไว้เสียใต้ทเล และพระนารายน์อวตารเปนปลาลงไปฆ่ายักษ์และเอาพระเวทคืน แต่ของเราขาดของสำคัญในตัวเรื่องไปอย่าง ๑ คือไม่ได้กล่าวถึงพระมนูเลยแม้แต่แห่งเดียวในเรื่องนั้น ซึ่งถ้าจะเปรียบให้สาใจต้องเปรียบว่า เหมือนแต่งเรื่องกากีเว้นท้าวพรหมทัตหรือพญาครุฑเสียไม่กล่าวถึง เรื่องกากีนั้นจะเปนอย่างไรบ้าง

๒. กูรมะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์กูรมาวตาร (เปนเต่า) ได้แสดงแก่พระอินทรยุมน์และเทพฤษี หนังสือนี้ถ้าจะดูแต่ชื่อก็จะเห็นควรจัดไว้ในสาตตวิกนิกาย และเปนเรื่องพระนารายน์ แต่แท้จริงเมื่อพิจารณาดูแล้วจึ่งจะเห็นได้ว่าเปนการถูกต้องแล้วที่จัดไว้ในตามัสยะนิกายนี้ เพราะข้อความมีอธิบายด้วยลัทธิบูชาพระอิศวรและพระทุรคา (อุมาในปางดุ) มากกว่าอย่างอื่น

๓. ลิงคะปุราณะ “ซึ่งพระมหาเทพ (อิศวร) อันสิงอยู่ในอัคนิลึงค์ได้แสดงด้วยกุศล ทรัพย์ ศุข และนฤพาน” เปนตำหรับพิธีบูชาพระอิศวรเปนพื้น แต่มีตำนานพระศีวะลึงค์อยู่ด้วย

๔. ศีวะปุราณะ เปนหนังสือกล่าวด้วยพระอิศวรและการบูชาพระศีวะลึงค์ ในปุราณะนี้ มีข้อความกล่าวไว้แห่ง ๑ ว่าพระอิศวรได้ตรัสว่า “กูนี้ย่อมอยู่ทั่วไป แต่โดยมากกูมีรูป ๑๒ อย่าง และอยู่ ๑๒ แห่ง” นี้คือกล่าวถึงพระศีวะลึงค์สำคัญทั้ง ๑๒ มีนามดังต่อไปนี้

(๑) โสมนาถ อยู่ที่เมืองโสมนาถปัตตนะ แคว้นคุชชระราษฎร์ (อังกฤษเรียก “Guzerat”) สุลต่านมหมุดแห่งฆัชนีได้ทำลายเสียแล้ว

(๒) มัล์ลิการ๎ชุน ฤๅ ศ๎รีไศล อยู่บนเขาศรีไศลริมฝั่งน้ำกฤษณา

(๓) มหากาล ฤๅ มหากาเลศ๎วร อยู่ที่นครอุชชยินี เมื่อพระเจ้าอัลตัมชาห์ตีเมืองนี้ได้ พุทธศักราช ๑๗๗๔ พระราชาองค์นั้น (ซึ่งเปนอิสลาม) ได้ให้ชลอพระมหากาเลศวรลึงค์นี้ไปยังนครฑิลลี และสั่งให้ทุบเสียละเอียดหมด

(๔) โองการ เห็นจะอยู่ที่ตำบลโองการมานธาต ริมฝั่งน้ำนรมทา

(๕) อมเรศ๎วร ว่าอยู่ที่นครอุชชยินี

(๖) ไวท๎ยนาถ (แพทยะนาถ) อยู่ที่ตำบล เทวะคฤห (อังกฤษเรียกว่า “Deogarh”) ในมณฑลองคราษฎร์ (เบ็งคอล)

(๗) ราเมศ ฤๅ ราเมศ๎วร อยู่ณเกาะราเมศวร (อังกฤษเรียกว่า “Ramisseram”) ซึ่งอยู่ในทเลระหว่างอินเดียกับเกาะลังกา สมมตว่าพระรามได้สร้างไว้เมื่อครั้งจองถนน พระศีวะลึงค์นี้จึ่งได้นามว่า “ราเมศวร” คือ “เปนใหญ่เหนือราม” [ขอเชิญท่านผู้อ่านสังเกตุหน่อยว่า “ราเมศวร” นั้น ไม่ใช่นามพระรามหรือพระนารายน์อย่างเช่นที่ชาวเราเข้าใจกันมา แต่เปนนามแห่งพระศีวะลึงค์ และพระศีวะลึงค์นั้นก็เปนเครื่องหมายแทนพระองค์พระอิศวร เพราะฉนั้นแปลว่า “ราเมศวร” เปนนามพระอิศวร อย่างเดียวกันกับ “อมเรศวร” หรือ “มหากาล” หรือ “โองการ” นั้นเอง]

(๘) ภีมศังกร ว่าอยู่ในฑากินีชนบท แต่แท้จริงน่าจะเปนอันที่เรียกว่า ภีเมศ๎วร ในแคว้นราชมเหนทรี (อังกฤษเรียก “Rajamundry”)

(๙) วิศ๎เวศวร อยู่ที่นครพาราณสี อีกนัย ๑ เรียกว่า โช๎ยติรลิงค

(๑๐) ต๎รยัม์พก ฤๅ ต๎รยาก์ษ อยู่ริมฝั่งน้ำโคมะดี

(๑๑) เคาตเมศ๎วร คือเปนที่เคารพของพระฤษีโคดม

(๑๒) เกทาเรศ ฤๅ เกทารนาถ อยู่ที่เขาหิมาลัย เปนก้อนศิลาไม่ได้ตกแต่งอย่าง ๑ อย่างใด

นอกนี้ยังมีออกชื่ออยู่อีก ๒ อัน คือ นาคนาถ ซึ่งเข้าใจกันว่าอันเดียวกับไวทยนาถ และวาเมศวร ซึ่งเข้าใจกันว่าอันเดียวกับเคาตเมศวร

๕. สกันทะปุราณะ สมมตว่าพระขันทกุมาร (สังสกฤต ~ “ส๎กัน์ท”) เปนผู้แสดง แต่หนังสือนี้หามีอยู่บริบูรณไม่ คงมีอยู่แต่เปนท่อนๆ เช่นหนังสือฉบับ ๑ ซึ่งมีชื่อเสียงแพร่หลายมากในอินเดียคือหนังสือกาศีขัณฑ์ (ซึ่งกล่าวว่าเปนกัณฑ์หนึ่งแห่งสกันทปุราณะ) กล่าวถึงเทวสถานสำหรับพระอิศวรภายใน ฤๅที่อยู่ใกล้เคียงนครพาราณสีกับมีคำอธิบายด้วยลัทธิบูชาพระมเหศวร และมีนิทานอุทาหรณแสดงผลานิสงส์แห่งการบูชาพระเปนเจ้าองค์นั้นกับแสดงตำนานนครพาราณสีบางเรื่องก็เปนนิทานดี บางเรื่องก็เหลวไหล

๖. อัคนิปุราณะ สมมตว่าพระอัคนีได้แสดงแด่พระวสิษฐพรหมมุนี มีข้อความเบ็ดเตล็ด ซึ่งไปเที่ยวเก็บๆ มาจากหนังสือเก่าอื่นๆ

ยังมีอยู่อีกคัมภีร์ ๑ ชื่อวายุปุราณะ ซึ่งสมมตว่าพระพายเปนผู้แสดง แต่ปุราณะนี้ ว่าข้อความตรงกันกับที่มีอยู่ในศีวะปุราณะ เพราะฉนั้นในบาญชีปุราณะแห่งตามัสยะนิกายนี้ ถ้ามีศีวะปุราณะอยู่แล้วก็ไม่กล่าวถึงวายุปุราณะ และถ้ามีวายุปุราณะอยู่แล้วก็ไม่กล่าวถึงศีวะปุราณะ

ส่วนหนังสือจำพวกที่เรียกว่า “อุปะปุราณะ” นั้น มี ๑๘ คัมภีร์ แต่โดยมากหาต้นฉบับไม่ใคร่ได้ เพราะไม่ใคร่มีผู้ใดอ่าน โดยเหตุที่ข้อความมักจะซ้ำๆ กับที่มีอยู่แล้วในปุราณะนั้นเอง

หนังสือปุราณะเหล่านี้ ถ้าได้มีเวลาตรวจดูบางเล่มให้ละเอียดหน่อย ก็น่าจะได้ความรู้ในส่วนทางที่มาแห่งเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีในหนังสือของไทยเราเปนอันมาก แต่ข้าพเจ้ายังมิได้มีเวลาจะอ่านเลย จึ่งอธิบายด้วยเรื่องหนังสือจำพวกนี้ได้แต่เพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ