คำนำกรมศิลปากร

เรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชชกาลที่ ๖ ที่ตีพิมพ์อยู่ในเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เป็นอันมากแก่นักศึกษาวรรณคดีสังสกฤต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวรรณคดีของเรา ที่นักศึกษาวรรณคดีได้รับความรู้ต่าง ๆ ออกไปกว้างขวาง ก็ด้วยอำนาจพระบรมราชาธิบายเรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ จึงนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ซึ่งผู้ใฝ่ใจในเรื่องหนังสือชั้นวรรณคดี จะลืมระลึกเสียมิได้เลย พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ มาถึงบัดนี้จึงเป็นหนังสือหาฉะบับได้ยาก ด้วยเป็นเวลาล่วงมาร่วม ๒๘ ปีแล้ว ได้มีนักศึกษาวรรณคดีมาปรารภอยู่บ่อย ๆ ว่าทำไมกรมศิลปากร จึงไม่ขอพระบรมราชานุญาตเพื่อจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นใหม่ให้แพร่หลาย สำหรับนักศึกษาจะได้ใช้เป็นคู่มือ แต่กรมศิลปากรยังหาโอกาสจัดพิมพ์ไม่ได้ บัดนี้พระยาราชอักษรมาแจ้งความประสงค์ยังกรมศิลปากรว่าในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) จะใคร่ได้หนังสือสักเล่มหนึ่งสำหรับตีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึก กรมศิลปากรจึงแนะนำให้จัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ เพราะด้วยเหตุผลดั่งแจ้งมาข้างต้น ทั้งพระยาราชอักษรก็เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระมหาธีรราชเจ้ามาช้านาน ถ้าได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่องพระราชนิพนธ์ขึ้น ก็จะเป็นเชิดชูพระเกียรติคุณ เหมาะด้วยประการทั้งปวง พระยาราชอักษรมีความยินดีเห็นพ้องด้วย กรมศิลปากรจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตให้พระยาราชอักษรจัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น หวังว่าบรรดานักศึกษาวรรณคดีคงมีความยินดีอนุโมทนาทั่วกัน

บรรดาเรื่องวรรณคดีของเรา รามเกียรติ์เป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งรู้จักกันแพร่หลาย บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์มาจากคัมภีร์รามายณะภาษาสังสกฤต มีเรื่องเป็นมาอย่างไรแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว คัมภีร์รามายณะถ้าว่าในหมู่ประชาชนชาวฮินดู ก็เป็นหนังสือสำคัญในลัทธิศาสนา และเป็นเรื่องจับใจของเขา เหตุที่พวกชาวฮินดูนิยมนับถือคัมภีร์รามายณะ มีหลายประการ เป็นต้นว่า

 (๑) – “คัมภีร์รามายณะมีคุณวิเศษต่าง ๆ ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้ และปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา จะเจริญอายุ วรรณ สุข พล และเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะได้ไปสู่พรหมโลก มีกำหนดว่า รามายณะนี้ ให้ใช้พิธีสวดศราทธพรต เพื่อล้างบาปผู้ตาย ผู้ใดอ่านแม้แต่โศลกเดียว ถ้าไม่มีลูกก็จะได้ลูก ถ้าไม่มีทรัพย์ก็จะได้ทรัพย์ และพ้นบาปกรรมบรรดาที่ได้ทำมาแล้วทุกๆ วัน ผู้ได้อ่านนั้นจะมีอายุยืนเป็นที่นับถือในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงลูกหลาน ผู้ใดอ่านในเวลาเช้าก็ดีเย็นก็ดี จะหาความเหน็ดเหนื่อยมิได้” (พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)

(๒) – ประชาชนพวกฮินดู นับถือพระรามซึ่งเป็นนายกหรือนายโรงของเรื่องเพียงว่าเป็นวีรบุรุษและเป็นมหากษัตริย์ครองอโยธยา เท่านั้นหามิได้ ยังยกย่องว่าคือองค์พระวิษณุนารายณ์เป็นเจ้า อวตารลงมาปราบอธรรม ได้แก่พวกรากษส มีท้าวราพณาสูร เป็นหัวหน้า เพื่อถนอมโลกไว้ให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นศานติสุขแก่ทวยเทพและมนุษยนิกร พระรามจึงเป็นผู้มีอุปการคุณใหญ่หลวง และเป็นสหายของผู้ได้ทุกข์ แม้ผู้ตายไปแล้ว ตามประเพณีลัทธิแห่งพวกฮินดู มักนำศพไปเผาเสียที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถ้าเป็นฝั่งแม่คงคายิ่งประสิทธิ์นัก ผู้ตามศพต้องพร่ำบ่นว่า “ราม ราม สัตยราม” หรือ “นาม ราม สัตย์ ไห!” (พระนามแห่งพระรามเท่านั้นที่แท้จริง) ตลอดทางที่นำศพไป เพื่อผู้ตายจะได้รับส่วนบุญไปสู่สุคติ (เทียบคติที่พระภิกษุพร่ำบ่นพระอภิธรรมนำศพ) ทั้งนี้ เพราะเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า พระรามเมื่อทรงพระชนม์อยู่ สามารถช่วยผู้ตายไปแล้ว ให้พ้นทุคคติได้ ทั้งมีเมตตากรุณา ปกปักรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้ได้รับความร่มเย็นตลอดไปด้วย ชาวบ้านร้านตลาด จะนับสิ่งของขายให้แก่ผู้ซื้อ เวลานับ ก็จะนับว่า หนึ่งราม สองราม สามราม ฯลฯ เรื่อยไป เพียงกล่าวรามได้สี่ครั้ง ก็พอจะทำให้เกิดความซาบซึ้งขึ้นในใจผู้ออกขานพระนามให้สบายใจ ถือว่าพ้นบาป ผู้หญิงเมื่อได้ยินฟ้าผ่าฟ้าร้อง ตกใจก็จะร้องอุทานว่า “สีตาราม” (เทียบ “คุณพระช่วย” ของเรา) ในที่สุดยังกล่าวยืนยันว่า พระรามได้พาชาวอโยธยาทั้งหมดไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมโลกทั้งเป็น

(๓) – พรรณนาถึงจริยาวัตรแห่งพระราม เป็นแบบฉะบับความดี ความงามเลิศทุกประการ อันสาธุชนควรถือเป็นเยี่ยงอย่างเพราะมีความประพฤติในฐานะที่อวตารมาเป็นมนุษย์ หาตำหนิด่างพร้อยมิได้เลย เป็นโอรสที่ซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีในพระราชบิดา มีเมตตาปราณีในญาติพี่น้องชอบด้วยทำนองคลองธรรม เป็นสามีที่ซื่อตรงปลงความรักใคร่ภริยาจริงๆ ทั้งสมเป็นกษัตริย์ชาตินักรบที่แกล้วกล้าสามารถแท้

ส่วนสีดานั้นเล่า เป็นตัวอย่างกุลสตรีที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี ซื่อตรงมั่นคงฉะเพาะพระสามี กิริยาวาจาแช่มช้อย อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ส่วนผู้อื่นที่ไม่เลื่องชื่อในเรื่องราว เช่น พระลักษมณ์ พระภรต พระศัตรุฆน์ ก็เป็นภาดาที่เคารพรักภักดีในพระรามตามกุลจรรยา พิภีษณ์ (พิเภก) ยั่งยืนอยู่ในธรรมาธิปไตย สู้สละญาติวงศ์เสียได้ เพื่อเห็นแก่ธรรมเป็นที่ตั้ง

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดตามความคิดเห็นแห่งพวกฮินดูทั่วไป รามายณะเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์แรง เป็นที่นิยมนับถือแห่งประชาชนอินเดียมาตราบเท่าทุกวันนี้ จนมีการแสดงเรื่องพระรามเป็นงานเทศกาลประจำปีในภาคเหนือของอินเดีย จับแต่ทศกัณฐ์ลักสีดาจนทศกัณฐ์ล้ม เรียกว่า รามลีลา ตกในเดือนตุลาคม ซึ่งกำหนดเป็นอภิลักขิตสมัยที่ทศกัณฐ์ล้ม พิธีนี้มีการสร้างรูปทศกัณฐ์แล้วนำไปเผา ในอินเดียภาคใต้ก็มีการแสดงเรื่องพระรามเหมือนกัน เรียกว่า กถักกะฬิ และวันพระรามประสูติ ซึ่งตกอยู่ในราวเดือนเมษายน ก็มีพิธีสมโภชด้วยเรียกว่า รามนวมี

เมื่อคัมภีร์รามายณะเป็นเรื่องที่นิยมชมชื่นของชาวอินเดียดั่งนี้ จึ่งได้มีหนังสือวรรณคดีพากย์สังสกฤตที่เนื่องจากเรื่องรามายณะขึ้นมากมาย เช่น

ราโมปาขยาน เป็นเรื่องเกล็ดว่าด้วยเรื่องพระราม มีอยู่ในวันบรรพแห่งคัมภีร์มหาภารต

เรื่องพระรามในคัมภีร์ปุราณ เช่น วิษณุปุราณ อัคนีปุราณ ปัทมปุราณ สกันทปุราณ พรหมาณฑปุราณ ครุฑปุราณ พรหมไววรรตปุราณ อัธยาตมรามายณะ โยควาสิษฐรามายณะ และอัทภุตรามายณะ เป็นต้น

หนังสือเหล่านี้ ลางเรื่องมีข้อความแตกต่างกัน แต่ความสำคัญอยู่ที่นำเอาหลักลัทธิศาสนาและข้ออรรถธรรมอย่างสูงมารวมกล่าวไว้มาก นี้คงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นที่นิยมกัน

ยังมีรามายณะอีกพวกหนึ่ง ซึ่งกวีชักเอาไปประพันธ์เป็นกาพย์สำหรับเล่นละครเล่นหนัง เพื่อเจริญศรัทธาของผู้ฟังผู้ดูในลัทธิศาสนาของเขา เช่น

เรื่องมหาวีรจริต และอุตตรรามจริต ของกวีภวภูต หนุมานนาฏกะ หรือมหานาฏกะ ของกวีทาโมทรมิศร อนรรฆราฆวะหรือมุรารินาฏกะ ของกวีมุทราริมิศร พาลรามยณะ ขอกวีราชเศขร ประสันนราฆวะ ของกวีชัยเทพ ชานกิปริณัย ของกวีรามภัทรพีกษิต ทูตางคทหรือเรื่ององคทสื่อสาร (ใช้สำหรับเล่นหนัง) อภิเศกนาฏกะ ประติมานาฏกะ และอนุมัตตราฆวะ ของภาสกวี อัทภุตทรรปณ ของกวีมหาเทพรามวิชัย และรามจริต ของยุวราช อภิรามมณี ของกวีสุนทรมิศร หงสสันเทศ ของกวีเวทานตเทศิก กุนทมาลาของกวีทิญนาค ชานกิหรณ ของกวีกุมารทาส

ที่แต่งเป็นร้อยแก้วปนกาพย์ เป็นอย่างร่ายยาวปนฉันท์ เรียกว่า กาพย์จัมปูก็มี เช่น รามายณจัมปู ของท้าววิทรรภราช รามจันทรจัมปู ของกวีจันทร และรามายณจัมปูของภาสกี

เรื่องเหล่านี้ ล้วนแต่งในภาษาสังสกฤต ส่วนที่แต่งเป็นภาษาถิ่นในอินเดียก็มีอยู่มาก ที่ขึ้นชื่อลือนามคือรามายณะภาษาฮินดีฉะบับของกวีตุลสิทาส ได้มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์นั้นแล้ว นอกนี้ยังมีเรื่องทศรถชาดกในภาษาบาลี เรื่องรามายณะในภาษาอรรธมาคธี ของพวกนับถือลัทธิศาสนาชินะ ในแคว้นองคราษฎร์ (เบงคอล) ก็มีรามายณะภาษาเบงคาลีอยู่มากฉะบับ เช่นฉะบับของกวีเกียรติวาส จันทราวดีกวีหญิง กวีจันทร กวีระฆุนันทน์โคสวามิ กวีศัษฐฐีวร กวีคงคาทาส เป็นต้น รามายณะภาษากาศมิรีแห่งแคว้นกัศมีรมีอยู่ฉะบับหนึ่งชื่อรามาวตารจริตของกวีทิวาณประกาศภัฎฎ มีเรื่องคล้ายกับรามเกียรติ์อยู่หลายตอน ทางภาคใต้ของอินเดียซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชาติฑราวิท ก็มีคัมภีร์รามายณะในภาษาต่าง ๆ ของภาคนั้นอยู่มากฉะบับ

โดยเหตุที่ชาวอินเดียได้พากันมาเผยแผ่อารยธรรม มีลัทธิศาสนาเป็นต้น ยังแผ่นดินที่อยู่ถัดอินเดียออกมาทางตะวันออก มีประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีนและประเทศอินโดเนเซีย มี ชะวา มะลายู เป็นต้น เรื่องรามายณะและเรื่องที่เนื่องมาจากรามายณะดั่งกล่าวมาข้างต้น ก็มาปรากฏอยู่แพร่หลายในดินแดนแถบนี้ ลางประเทศในชะวามะลายูก็มีเรื่องรามายณะอยู่หลายฉะบับ ล้วนมีข้อความแตกต่างกันทั้งนั้น ในประเทศพะม่าและประเทศกัมพูชาก็มี ที่กลายเป็นชาดกไปก็มี เช่น พระรามชาดก แม้ประเทศญวนก็มีเรื่องรามายณะเหมือนกัน แต่รูปร่างหน้าตาเรื่องรามายณะของญวนกลายจากฉะบับเดิมไปไกล

เรื่องต่างๆ ที่เนื่องมาจากคัมภีร์รามายณะของประเทศที่อยู่ถัดอินเดียมาทางตะวันออก มีพลความของเรื่องตรงกับรามายณะฉะบับเดิมน้อยเต็มที และทั้งในระหว่างกันเอง ก็เป็นต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นหนังสือเหล่านี้ และรวมทั้งรามเกียรติ์ของเราด้วยจึงมีคุณค่าในทางศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ให้เห็นการติดต่อและแนวทางเดินของอารยธรรมหรือวัฒนธรรมของอินเดียครั้งโบราณได้ผ่านเข้ามาอย่างไร ได้อีกทางหนึ่ง

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานที่พระยาราชอักษร ได้บำเพ็ญอุทิศให้แก่คุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) สำเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัย ด้วยการตีพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ให้แพร่หลายเป็นสาธารณกุศล ขอจงสำเร็จเป็นศุภผลดลบันดาลแก่คุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) ตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ เทอญ.

กรมศิลปากร

๓ มกราคม ๒๔๘๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ