พาลกัณฑ์

ที่ ๑ - พาลกัณฑ์ - แปลว่า “กัณฑ์เด็ก” (“พาล” คือเด็กผู้มีอายุระหว่าง ๑ กับ ๑๖ ปี) เริ่มต้นมีเปนเทือกอารัมภกะถา ว่าพระวาลมีกิมุนีอาราธนาพระนารทมหาฤษีให้แสดงเรื่องรามายณให้ฟัง ซึ่งมีสรุปความตามที่จะได้เล่าต่อไปโดยพิศดาร คล้ายๆ พระราชพงษาวดารย่อของเรา เมื่อพระนารทเล่าเรื่องรามายณแล้วและกลับไปสวรรค์แล้ว จึงกล่าวต่อไปถึงการที่พระวาลมีกิแต่งรามายณ อธิบายว่าที่ใช้ฉันท์โศ๎ลกนั้นเพราะลงไปที่ฝั่งน้ำตมสาใกล้แม่พระคงคา พะเอินพบนกกาเรียนคู่ ๑ ซึ่งมีพรานได้ยิงตัวผู้ตายลงแล้ว นางนกร้องโอดครวญ พระวาลมีกิมีความสังเวชจึงแสดงความสังเวชนั้นออกมาเปนวาจา แล้วจึ่งนึกว่าถ้อยคำที่ได้กล่าวออกมานั้นดูก็เปนคณฉันท์ใหม่แปลกกว่าฉันท์อื่นๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับขับร้องได้ และโดยเหตุที่ฉันท์นี้ได้บังเกิดขึ้นเพื่อความเศร้าใจ (โศก) จึงให้นามว่า “โศ๎ลก” พระภรัทวาชผู้เปนศิษย์พระวาลมีกินั้นก็เห็นชอบด้วย พอพระวาลมีกิกลับขึ้นมาถึงอาศรม พระพรหมาผู้เปนปรพราหมณ์และอาทิกะวี (คือกะวีที่ ๑) จึงลงมาตรัสสั่งให้พระวาลมีกิรจนาเรื่องรามายณขึ้น โดยใช้ฉันท์โศ๎ลกนั้น แล้วพระวาลมีกิก็เข้าฌานสมาธิเล็งเห็นเรื่องพระรามายณแต่ต้นจนปลาย (เล่าเรื่องย่อซ้ำอีกในที่นี้) ครั้นเมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระวาลมีกิจึ่งได้รจนาพระรามายณแต่ต้นจนจบ รวมเปนฉันท์ ๒๔๐๐๐ โศ๎ลก [คณโศ๎ลกนี้ เหมือนฉันท์อนุษฏุภ มี ๔ บาท บาทละ ๘ พยางค์ หรือเขียนเปน ๒ บาท บาทละ ๑๖ พยางค์ก็ได้ ส่วนครุลหุเปนอย่างนี้  ๐๐๐๐๐๐๐๐ ๐๐๐๐๐-๐๐ พยางค์ที่ ๖ ที่ ๗ มักเปนครุ แต่ถ้าจะใช้เปนลหุก็ได้ และถ้าจะเปลี่ยนเปนลหุต้องเปนไปด้วยกัน] ฉันท์เหล่านั้น จัดเข้าเปนวรรคได้ ๕๐๐ วรรค รวมเปนกัณฑ์ได้ ๖ กัณฑ์ กับมีกัณฑ์แถมอีกกัณฑ์ ๑ เมื่อพระวาลมีกิรจนาสำเร็จแล้ว นึกอยู่ว่าจะได้ใครเปนผู้สวดแสดงให้ปรากฎแก่โลก ขณะนั้นพะเอินพระกุมารทั้ง ๒ อันมีนามว่าพระกุศและพระลพ แต่งองค์เปนลูกพราหมณ์มาหา พระวาลมีกิจึ่งสอนให้กุมารทั้ง ๒ นั้นท่องพระรามายณจนจำได้ และสวดเข้าทำนองได้โดยถูกต้อง เข้าเสียงกับดนตรีได้ดีแล้ว จึ่งให้กุมารทั้งสองไปเที่ยวสวดในที่ชุมนุมพราหมณ์ทุกๆ แห่งไป จนเข้าไปถึงกรุงศรีอโยธยา จึ่งได้ไปสวดถวายพระรามทรงฟังเปนที่สุด

[ตั้งแต่ต้นมาจนถึงตอนนี้ ผู้ชำนาญในวรรณคดีเห็นว่า จะเปนของใหม่ ซึ่งแต่งเพิ่มเติมขึ้น ส่วนฉบับเดิมน่าจะเริ่มเมื่อจับเรื่องราวกล่าวด้วยพระรามทีเดียว คือตั้งแต่วรรคที่ ๑ ถึงที่ ๔ เปนของเติมใหม่ ของเก่าคงเริ่มที่วรรคซึ่งเปนที่ ๕ บัดนี้]

จับเรื่องพระรามายณ เริ่มว่า ยังมีพระมหานครอัน ๑ ซึ่งเรียกว่าอโยธยา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุ ในแคว้นโกศล [ในที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวไว้หน่อยว่า ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเราใช้เรียกนามนครศรีอโยธยานี้ว่า “ทวาราวดี” ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเปนเมืองเดียวกัน แท้จริงทวาราวดีเปนนครหลวงของท้าวบรมจักรกฤษณ์ และอยู่ในแคว้นคุชชระราษฎร์เปนคนละเมืองกับอโยธยา] พระนครนี้บริบูรณด้วยทรัพย์สมบัติแสนสฤงคาร พระมนูไววัสวัต ผู้เปนโอรสพระสุริยาทิพย์ ได้สร้างขึ้นไว้เปนที่สถิตย์แห่งกษัตร์สุริยวงศ์ มีท้าวอิกษวากุ ผู้เปนปฐมราชาในสุริยวงศ์ เปนอาทิ พระนครนี้กว้าง ๑๐ โยชน์ ยาว ๑๒ โยชน์ เปนที่สถิตย์แห่งท้าวทศรถและกษัตร์มหารถนับด้วยพัน (มหารถคือนักรบที่สามารถต่อสู้ศัตรูได้หมื่นคน) ท้าวทศรถเองเปนกษัตร์อติรถ (สู้มหารถได้หมื่น ๑) มีอำมาตย์มนตรีผู้ปรีชาฉลาดรอบรู้ในสรรพกิจน้อยใหญ่ ทั้งมีมหาฤษีและชนทั้ง ๔ ตระกูล [ในรามเกียรติเราว่า “ชนสี่ทวีป” ซึ่งเปนความเข้าใจผิดโดยแท้]

แต่มีข้อบกพร่องสำคัญอัน ๑ คือท้าวทศรถหามีโอรสเพื่อสืบสันตติวงศ์ไม่ ท้าวทศรถคิดจะใคร่ทำพิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า) เพื่อขอลูก จึ่งตรัสให้เชิญพระวสิษฐ์มุนี (ผู้เปนปุโรหิต) พระวามเทพมุนี (ผู้ช่วยปุโรหิต) กับพระสุยัญมุนี พระชวาลีมุนี พระกาศยปมุนี และฤษีชีพราหมณ์อื่นๆ มาทรงหาฤๅเห็นชอบพร้อมกันแล้ว จึ่งให้เตรียมการพิธีอัศวเมธที่ริมฝั่งเหนือแห่งแม่น้ำสรยุ

[ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่า เรื่องรามายณมิได้เริ่มด้วยหิรัณย์ม้วนแผ่นดิน และมิได้แสดงสุริยพงษ์ อสูรพงษ์ และวานรพงษ์ในต้นเรื่องนี้เลย ขึ้นก็จับเรื่องตั้งพิธีขอลูก ซึ่งเราเรียกว่ากวนเข้าทิพย์นั้นทีเดียว ส่วนเรื่องหิรัณย์ม้วนแผ่นดินนั้น เปนปาง ๑ ต่างหากของพระนารายน์ ไม่เกี่ยวแก่พระราม ส่วนข้อความแสดงกำเหนิดต่าง ๆ นั้น โดยมากอยู่ในอุตตรกัณฑ์ซึ่งเปนกัณฑ์แถม และที่ซอกแซกอยู่ในกัณฑ์ที่ ๑ นี้เองก็มี ของเดิมมักเปนเรื่องที่ฤษีเล่าให้ใครๆฟัง แต่รามเกียรติ์ของเราจับมาแต่งเปนบทลคร จึ่งต้องเอามาลำดับไว้ในบั้นต้น เพื่อให้ลำดับตรงตามสมัยแห่งเรื่องราวที่ได้เปนไป ข้าพเจ้าต้องแซกคำชี้แจงไว้ยืดยาวเช่นนี้ เพื่อจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ตัวไว้ว่า ถ้าแม้พบข้อความอัน ๑ อันใดซึ่งอยู่ไม่ตรงที่กับในหนังสือรามเกียรติ์ฉบับไทยเราแล้ว อย่าฉงนและอย่าได้นึกปลาดใจเลย เพราะหนังสือรามายณสังสกฤตนั้น เขามิได้แต่งไว้สำหรับเล่นลครเลย เขาแต่งไว้ให้สวด คล้ายมหาชาติของเรา เมื่อไทยเราเอามาแต่ง ตั้งใจแต่งเปนบทลคร จึ่งต้องจัดลำดับความเสียใหม่ให้เหมาะแก่การเล่นลคร คือในการเล่นลครจะให้ใครมานั่งเล่าเรื่องอะไรอยู่นานๆ คนดูก็จะเบื่อ เมื่อมีเรื่องราวอะไรก็รำให้ดูไปดีกว่า เมื่อจะต้องรำเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องจัดลำดับเอาเข้าให้ถูกสมัยอยู่เอง เช่นต่างว่าจะเล่นเรื่องพระรามยกศร เมื่อถึงตอนจะยกศร จึ่งค่อยย้อนกลับไปเล่นเรื่องกำเหนิดของศรนั้นฉนี้ก็คงจะทำให้คนดูฉงนป่นปี้ เพราะฉนั้น ถ้าหากว่าจะเล่นเรื่องกำเหนิดของศร ก็ต้องเล่นเสียก่อน แล้วจึ่งจับบทถึงพระรามไปยกศรนั้นต่อไป ดังนี้คนดูจึ่งจะไม่ฉงน]

ฝ่ายสุมันตระเสนีนายสารถี (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเขียนว่า “สุมันตัน”) ได้ทราบข่าวทรงพระปรารภจะทำพิธีอัศวเมธ จึ่งทูลท้าวทศรถถึงเรื่องพระฤษยะสฤงค์ (หรือเรียกตามภาษามคธว่า “อิสีสิงค์”) บุตรพระพิภาณฑกมุนี หลานพระกัศยปมุนี พระฤษยะสฤงค์นี้กำเหนิดในป่า และเติบใหญ่ขึ้นในป่า ไม่เคยพบมนุษเลย พระมุนีองค์นั้นเข้าฌานบำเพ็ญตะบะเปนนิตย์ จนในแคว้นองคราษฎร์นั้นแห้งแล้ง ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ (ซึ่งของเราเรียกว่า “ท้าวโรมพัต” เหลวจริงๆ) จึ่งเสด็จออกไปยังป่าที่อาไศรยแห่งพระฤษยะสฤงค์ให้จัดแต่งพลับพลาอันวิจิตร เปนที่สถิตย์แห่งนางศานตาผู้เปนราชธิดา (ซึ่งของเราเรียกว่านางอรุณวดี) แล้วจัดให้นางนครโสเภณีไปล่อพระฤษีมายังพลับพลา ท้าวโลมบาทก็ต้อนรับโดยเคารพ และยกนางศานตาให้เปนชายา แล้วเชิญเข้าไปในวัง ฝนที่แล้งก็ตกมาก สมความปราถนาแห่งท้าวโลมบาท [เรื่องนี้ในรามเกียรติ์ของเราก็มี แต่เราเรียกฤษีหน้าเนื้อนั้นว่า “กะลัยโกฏิ” ส่วนพระอิสีสิงค์เราเกณฑ์ให้เปนพ่อ ที่แท้ฤษยะสฤงค์ หรืออิสีสิงค์นั้นเองคือท่านมุนีหน้าเนื้อเอง] ครั้นเมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว สุมันตระจึ่งทูลต่อไปถึงคำทำนายของพระสนัตกุมารพรหมบุตรซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อใดท้าวทศรถปราถนาจะทำพิธีอัศวเมธเพื่อขอลูก จะเชิญพระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีก็จะสมปราถนา ท้าวทศรถได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระไทย จึ่งเสด็จไปหาท้าวโลมบาท ขออนุญาตให้พระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีขอลูก ท้าวโลมบาทก็ยินดีอนุญาตตามพระสหายปราถนา ท้าวทศรถจึ่งเชิญพระฤษยะสฤงค์กับนางศานตาไปยังกรุงศรีอโยธยา

ต่อนี้ไปจึ่งกล่าวถึงการพิธีอัศวเมธของท้าวทศรถ ซึ่งมีกษัตร์นครใกล้เคียงมาช่วยเปนอันมาก มีอาทิคือท้าวชนกสุริยวงศ์ผู้ครองนครมิถิลา แคว้นวิเทห ๑ พระเจ้านครพาราณสี แคว้นกาสี ๑ ท้าวอัศวบดี ผู้ครองเกกัยชนบท ๑ ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ ๑ พระเจ้ามคธราษฎร์ ๑ ทั้งพญาผู้ครองชนบทในบุรพเทศ สินธุเทศ โสวิรเทศ สุราษฎร์ และทักษิณเทศ พระวสิษฐ์และพระฤษยะสฤงค์ช่วยกันดูแลการพิธี ปล่อยม้าอุปการไปในที่ต่างๆ จนบรรจบครบรอบปี ๑ ม้ากลับมาแล้วจึ่งฆ่าบูชายัญ และมีพลีกรรมใหญ่ ในที่สุดพระฤษยะสฤงค์จึ่งตั้งพิธีพลีกรรมอัญเชิญบรรดาเทวดา คนธรรพ สิทธาวิชาธรมายังที่สโมสรประชุม และพระฤษยะสฤงค์ประกาศขอลูกให้ท้าวทศรถ บรรดาเทวดาและสิทธาวิชาธรจึ่งพร้อมกันทูลพระพรหมว่า ถึงสมัยกาลอันควรแล้วที่จะทรงสังหารทศกรรฐ ผู้มีความกำเริบเที่ยวรบกวนฤษีชีพราหมณ์มากนัก พระพรหมตรัสตอบว่า พระองค์ได้ประทานพรแก่ทศกรรฐว่า ไม่ให้ตายด้วยมือคนธรรพ หรือยักษ์ หรือรากษส แต่ทศกรรฐดูถูกมนุษจึ่งมิได้ขอไว้ให้รอดจากมือมนุษ ขณนั้นพะเอินพระนารายน์เสด็จมายังที่ชุมนุม พระพรหมาจึ่งอัญเชิญให้อวตารเปนมนุษเพื่อสังหารทศกรรฐ ขอให้ทรงกำเหนิดเปนโอรสท้าวทศรถ พระนารายน์ก็ทรงยอมรับคำเชิญ จึ่งมีอมุษตน ๑ มีสีกายดำรูปร่างล่ำสัน แต่งสีแดงหน้าแดง ตัวเต็มไปด้วยขนคล้ายราชสีห์ มีเคราและผมอันงามแต่งเครื่องทิพยอาภรณ์พร้อม ถือโถทองฝาเงินบรรจุทิพยปายาส ผุดขึ้นมาจากกองไฟกลางมณฑลพิธี แสดงตนว่าเปนทูตพระประชาบดี นำปายาสสำคัญนี้มาเพื่อให้พระมเหษีเสวย คงจะได้โอรสสมปราถนา ท้าวทศรถรับโถปายาสขึ้นจบเหนือพระเศียร เทวทูตก็อันตรธานไป ท้าวทศรถจึ่งเสด็จเข้าสู่วังใน แบ่งปายาสเปน ๔ ส่วน ประทานให้นางเกาศัลยา กับนายไกเกยีองค์ละส่วน แต่นางสุมิตราได้ ๒ ส่วน ต่างก็ทรงครรภสมปราถนา

[ในตอนนี้ในรามเกียรติ์ของเรามีเรื่องเล่าว่า นางกากนาสูรมาโฉบเอาปายาสไปได้กึ่งก้อน ไปให้นางมณโฑกิน จึ่งเกิดนางสีดา แต่ในฉบับสังสกฤตไม่มีเลย การที่มีเรื่องเพิ่มขึ้นเช่นนี้ จะได้มาจากแห่งใดข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาค้นสอบสวนดู แต่บางทีจะได้จากพวกหนังสือปูราณะฉบับใดฉบับ ๑ ก็เปนได้]

ฝ่ายทวยเทพทราบว่าพระนารายน์จะเสด็จอวตารลงไปมนุษโลกก็ยินดีทั่วกัน นัดกันแบ่งภาคของตน ๆ ไปให้กำเหนิดเปนบริวาร พระพรหมาตรัสว่าพระองค์เองได้สร้างชมพูพานผู้เปนราชาแห่งหมีแล้ว คือได้หาว ชมพูพานก็ออกมาจากพระโอษฐ [ตามเรื่องรามเกียรติ์ของเราว่า พระอิศวรสร้างชมพูพานจากพระเมโท แต่แท้จริงผู้ที่กำเหนิดเช่นนี้คือท้าวฤกษราช ซึ่งเปนพ่อเลี้ยงพาลีและสุครีพ ดังมีข้อความปรากฎอยู่ในอุตตรกัณฑ์ พระเปนเจ้าผู้สร้างทั้งชมพูพานและท้าวฤกษราชคือพระพรหมา ซึ่งข้างเราน่าจะมาเข้าใจผิดไปว่าพระอิศวร เพราะพระพรหมานั้นมีนามเรียกว่า “ปรเมษฏ์” อันมีสำเนียงคล้าย “ปรเมศวร์” ซึ่งเปนนามเรียกพระอิศวร] พระพรหมาตรัสให้เทวดาอื่นๆ แบ่งภาคสร้างวานรเปนบริวารพระรามาวตารบ้าง เทวดาก็ทำตามพระบัญชา คือพระอินทรสร้างพาลี พระอาทิตย์สร้างสุครีพ พระพายสร้างหนุมาน (สามตัวนี้ตรงกัน) พระวิศวกรรมสร้างนล (ซึ่งเราเรียก “นิลพัทธ์” และว่าเปนลูกพระกาฬ) พระเพลิงสร้างนิล (ซึ่งเราเรียก “นิลนนท์”) นอกนั้นก็มีกล่าวแต่ว่าพระพฤหัสบดีสร้างตาระ (ของเราว่าสร้าง “มาลุนทเกสร”) ท้าวกุเวร (หรือพระไพศพณ์) สร้างคันธมาทน์ (ซึ่งข้าพเจ้ายังจับไม่ได้ว่าเราเรียกอะไร) พระพิรุณสร้างสุเษน (ซึ่งตามสำเนียงน่าจะเปน “สุรเสน” แต่ของเราว่าสุรเสนพระพุธสร้าง) พระปรรชัญสร้างสรรพะ พระอัศวินเทวดาแฝดสร้างเมนทะกับทวิวิท (สามตัวหลังนี้ ยังเทียบไม่ถูก)

“ครั้นถึงวัน ๑๒ ปุนรวสุนักษัตร์ พระอาทิตย์สถิตย์ราษีเมษ พระจันทร์อยู่มังกร พระเสาร์อยู่ดุล พระพฤหัสบดีอยู่กรกฎ พระศุกรอยู่มิน และเมื่อพระพฤหัสบดีขึ้นสู่ราษีกรกฎพร้อมด้วยพระจันทร” นางเกาศัลยาประสูตรพระราม นางไกเกยีประสูตรพระภรตในยามบุษยานักษัตร์ พระอาทิตย์อยู่ราษีมิน นางสุมิตราประสูตรพระลักษมณ์กับพระศัตรุฆน์ เมื่อพระอาทิตย์อยู่ราษีกรกฎ อัสเลษานักษัตร์

[นามพระกุมารทั้ง ๔ นี้ ของเราเขียนถูกแต่พระรามองค์เดียว นอกนั้นคลาดเคลื่อนหมด คือพระภรตเขียนว่า “พรต” พระลักษมณ์” เขียนว่า “ลักษณ์” พระศัตรุฆน์เขียนว่า “สัตรุด” ที่เขียนคลาดเคลื่อนไปเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะขอเดาว่า พระภรตนั้นคงได้ยินพราหมณ์เขาเรียกว่า “ภะรต” ก็เขียนว่า “ภรต” ดังนี้ถูกแล้ว แต่ภายหลังคงมาอ่านกันผิดเปน “ภ๎รต” อย่าง “คะรุฑ” อ่านเปน “ค๎รุฑ” ไปฉนั้น ครั้นเมื่ออ่านผิดเปน “ภ๎รต” ไปแล้วเช่นนั้น นักเลงหนังสือชั้นหลังเห็นว่า “ภรต” แปลไม่ออก จึ่งแก้เปน “พรต” ให้แปลออก พระลักษมณ์นั้นคลาดเคลื่อนไปนิดเดียวแต่ตกตัว “ม” ไม่สู้จะน่าติเตียนปานใด ส่วนพระศัตรุฆน์ที่กลายเปน สัตรุดไปนั้น ในชั้นแรกคงผิดเพียงเขียน “ฆ” เปน “ค” ไป ภายหลัง “น” การันต์เสียแล้วไม่อ่านก็ตกหายไป คงเหลือแต่ “สัตรุค” ต่อมาผู้คัดสพร่าวเขียน “ค” เปน “ด” ไปอีกชั้น ๑ จึ่งเลอะเทอะมาก ชื่อในรามเกียรติ์เขียนคลาดเคลื่อนไปเพราะไทยเราอ่านตัวอักษรสำเนียงใกล้ๆ กันฉนี้มาก แล้วเหลวที่ผู้คัดอีกชั้น ๑ ซึ่งไม่เข้าใจคำแปลเสียแล้ว เขียนพุ่งไปตามใจหรือตามที่ตัวได้ยินผิด ข้าพเจ้าอธิบายไว้ยืดยาวในที่นี้พอให้แลเห็นตัวอย่าง และไหนๆ ได้อธิบายแล้วขออนุญาตอธิบายเลยไปอีกถึงนามพญายักษ์ตน ๑ ซึ่งเปนตัวสำคัญคือที่เราเรียกว่า “พิเภก” แท้จริงของเขาชื่อ “พิเภษณ” แต่เรามาการันต์ “ณ์” เสียแล้ว คงออกสำเนียงแต่ว่า “พิเภด” ดังนี้ก่อน ส่วนที่เลยกลายเปน “พิเภก” ไปนั้น ก็ลงเค้าที่เรียกช้างเผือกว่า “พระสะเหวก” นั้นเอง]

อยู่มาเมื่อพระรามมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระวิศวามิตรมุนี (ซึ่งเรียกในรามเกียรติ์ของเราว่า “สวามิตร์”) ได้เข้าไปเฝ้าท้าวทศรถ ร้องทุกข์ว่าไม่เปนอันบำเพ็ญพรต เพราะมีพวกรากษสมารังแก มีมารีจ (ซึ่งเราเรียกว่า “ม้ารีด”) และสุพาหุ (ซึ่งเราเขียนว่า “สวาห”) เปนผู้นำมา ขอพระรามไปช่วยปราบอสูรด้วย ท้าวทศรถไม่เต็มใจให้พระรามไป แต่เสียอ้อนวอนมิได้ จึ่งต้องยอมให้พระรามกับพระลักษมณ์ไปกับพระวิศวามิตร์

พอออกไปถึงป่า พระวิศวามิตร์ชี้ให้พระรามดูเมืองร้าง ๒ แห่ง อธิบายว่าเดิมก็เปนที่มั่งคั่ง แต่นางยักษินีชื่อตารกา (คือนางกากนาสูรของเรา) ได้กินชาวเมืองเสียหมด แล้วจึ่งเล่าเรื่องที่นางตารกาประพฤติชั่วต่างๆ ให้พระรามฟัง ใจความว่านางเปนลูกยักษ์ชื่อ สุเกตุ เปนมเหษีพญายักษ์ชื่อ สุนทาสูร มีลูกชื่อมารีจ กับ สุพาหุ เมื่อท้าวสุนทาสูรตายแล้ว นางตารกากับมารีจไปรบกวนพระอคัสตยมุนี พระมุนีสาบนางให้เปนกาเพราะชอบกินเนื้อคน และสาบมารีจให้เปนรากษส (ซึ่งเปนอสูรชั้นเลวกว่ายักษ์) ในที่สุดพระวิศวามิตร์จึ่งยุพระรามให้สังหารนางตารกา พระรามก็ไปสังหารตายในกลางป่า พระวิศวามิตร์มีความยินดีจึ่งให้อาวุธสำคัญต่างๆ เปนบำเหน็จ และสอนมนตร์ต่างๆ สำหรับใช้ในงานสงคราม

ครั้นใกล้จะถึงอาศรม พระรามจึ่งถามว่า ที่นั้นเดิมใครอยู่ พระวิศวามิตร์ว่า เดิมเปนที่สถิตย์แห่งพระนารายน์วามนาวตารผู้ชำนะท้าวพลีได้ด้วยย่างสามขุม จึ่งเปนที่ควรสถิตย์พระนารายน์รามาวตาร

เมื่อไปอยู่ได้ไม่ช้า มารีจกับสุพาหุก็ยกทัพไปเพื่อแก้แค้นแทนมารดา พระรามแผลงศรมานะวาสตร์ไปต้องมารีจกระเด็นไปร้อยโยชน์ ตกกลางมหาสมุทสลบไป แล้วแผลงศรอาคเณยาสตร์ (อัคนิวาต?) ไปฆ่าสุพาหุ และแผลงศรพายะพาสตร์ (ประลัยวาต?) ไปสังหารไพร่พลรากษส

ต่อมามีข่าวว่า ท้าวชนกผู้ครองนครมิถิลาจะมีงานใหญ่ พระวิศวามิตร์จึ่งชวนให้พระรามและพระลักษมณ์ไปเพื่อดูรัตนธนู ซึ่งทวยเทพได้ให้แด้ท้าวเทวราต (ผู้ครองมิถิลาในอดีตกาลก่อนท้าวชนก) ธนูนี้ไม่มีใครก่งได้ พระรามเต็มใจจะไปด้วยแล้ว พระวิศวามิตร์ก็พาพระรามและพระลักษมณ์ออกเดินจากอาศรมไป

ในระหว่างที่เดินทางไปนี้ เมื่อถึงตำบลสำคัญ พระรามก็ถามพระวิศวามิตร์ และพระมุนีก็เล่าเรื่องให้ฟัง เรื่องที่แสดงโดยมากเปนเรื่องเนื่องด้วยสกุลวงศ์ของคนสำคัญต่างๆ ซึ่งแท้จริงไม่เกี่ยวแก่การดำเนินเรื่องรามายณ เพราะฉนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงหัวข้อก็เปนการเพียงพอแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ