ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา

๑. ธนูนั้นเปนของพระอิศวร เทวดาได้นำมาให้ไว้แด่ท้าวเทวราชสุริยวงศ์ ผู้เปนมหาราชครองนครมิถิลา

๒. ครั้ง ๑ เมื่อพระทักษมุนีทำพลีกรรม เว้นเสียไม่เชิญพระอิศวรไปในงานนั้น พระอิศวรไปทำลายพิธี ยิงพระทักษะและกำหราบเทวดาด้วยธนูนี้ แล้วต่อมาพระอิศวรจึ่งได้ประทานธนูแก่ทวยเทพๆ นำมาฝากไว้แก่บรรพบุรุษของท้าวชนก

๓. ท้าวชนกไถนา ได้นางจากทางไถ จึ่งให้นามว่าสีดา และท้าวชนกก็รับนางมาเลี้ยงไว้อย่างบุตรี และโดยเหตุที่นางมีกำเหนิดผิดกับนางสามัญ ท้าวชนกจึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะได้นางไปเปนมเหษีจะต้องก่งรัตนธนูได้ก่อน

๔. พญาร้อยเอ็ดพระนครต่างมาขอนางสีดา แต่ไม่มีใครก่งศรได้ แม้นแต่จะยกธนูนั้นขึ้นก็ไม่ไหวเสียแล้ว ท้าวชนกจึ่งไม่ยอมยกนางสีดาให้ กษัตร์ทั้งหลายก็ชวนกันล้อมนครมิถิลาไว้ได้ปี ๑ จนท้าวชนกสิ้นกำลังรี้พล จึ่งขอพลใหม่จากเทวดาๆ ก็จัดมาให้ถ้วนจัตุรงคเสนา ท้าวชนกจึ่งรบกษัตร์ที่ล้อมนครพ่ายแพ้ไปได้

เมื่อเล่าเรื่องเสร็จแล้ว ท้าวชนกจึ่งให้ไปเชิญรัตนธนูออกมา พระรามก็ยกธนูนั้นขึ้นได้โดยง่าย และครั้นเมื่อก่งธนูจะขึ้นสาย ธนูนั้นก็หักสบั้นที่ตรงกลาง ท้าวชนกก็ยินดี แสดงความเต็มพระไทยจะยกนางสีดาให้เปนมเหษีพระราม แล้วจึ่งส่งทูตไปเชิญท้าวทศรถมาจากนครศรีอโยธยา เพื่อมาพร้อมกันในงานอภิเษกพระรามกับนางสีดา

ท้าวทศรถได้ทรงทราบข่าวก็ยินดี เสด็จจากนครอโยธยาไปยังมิถิลา พร้อมด้วยพระวสิษฐ พระวามเทพ พระชาวาลี พระกาศยป พระมรรกัณไฑย และพระกาตยายน ท้าวชนกจัดการต้อนรับสมพระเกียรติยศ แล้วท้าวชนกจึ่งสั่งให้ไปเชิญท้าวกุศธวัช ผู้ครองนครสังกาศยาและท้าวอิกษวากุ ผู้เปนปฐมกษัตร์สุริยวงศ์ทรงราชย์ในนครศรีอโยธยา ทั้งเปนบรรพบุรุษของท้าวชนกเองด้วย แต่ซึ่งได้ละราชสมบัติออกไปผนวชเปนราชฤษีอยู่นั้น ให้เสด็จมาเปนพยานในการอาวาหมงคลครั้งนั้นด้วย

เมื่อพร้อมพระญาติวงศ์แล้ว พระพรหมฤษีวสิษฐจึ่งแสดงพงษาวดารของพระราม ลำดับสกุลดังต่อไปนี้

ก. พระปรพรหม

ข. พระพรหมา (คือท้าวธาดา)

ค. พระมริจิมุนี (พรหมานัสบุตรและประชาบดี)

ฆ. พระกัศยปมุนี (เปนเทพบิดรและประชาบดี)

ง. พระวิวัสวัต (คือพระสุริยเทวราช)

จ. พระมนูไววัสวัต อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า พระประชาบดี (เหล่านี้เปนพรหมหรือเปนเทวดา เว้นแต่พระมนูเปนมนุษคนที่ ๑ และเปนราชฤษี ต่อนี้ลงไปเปนกษัตร์สุริยวงศ์ ดำรงนครศรีอโยธยา)

๑. อิกษวากุ ๑๙. ทิลีป
๒. กุกษิ ๒๐. ภคีรถ
๓. วิทุกษิ ๒๑. กกุฏสถะ
๔. วาน ๒๒. รฆุ
๕. อนรัณย์ ๒๓. ประพฤธ
๖. ป๎ฤถุ ๒๔. ศังขนะ
๗. ตรีศังกุ ๒๕. สุทรรศน์
๘. ธุนทุมาร ๒๖. อัคนิวรรณ
๙. ยุวนาศว ๒๗. สิฆรค
๑๐. มนธาตุ ๒๘. มรุ
๑๑. สุสนธิ ๒๙. ประศุจรุก
๑๒. ธ๎รุวสนธิ ๓๐. อัมพรึษ
๑๓. ประเสนชิต (น้องธ๎รุวสนธิ) ๓๑. นหุษ
๑๔. ภรต (ลูกธ๎รุวสนธิ) ๓๒. ยยาตี
๑๕. อสีต ๓๓. นาภาค
๑๖. สัคร ๓๔. อัช (อัชบาล)
๑๗. อสมัญชะ ๓๕. ทศรถ
๑๘. อังศุมาน ๓๖. รามจันทร

เมื่อพระวสิษฐแสดงพงษาวดารของพระรามแล้ว ท้าวชนกจึ่งแสดงพงษาวดารลำดับสกุลของพระองค์เองบ้าง ดังต่อไปนี้

๑. นิมิ (ลูกท้าวอิกษวากุ) ๑๒. มรุ
๒. มิถิ หรือ ชนก ๑๓. ประตินธก (หรือ ประติพันธก)
๓. อุทาวสุ ๑๔. กฤตรถ
๔. นันทิวรรธน์ ๑๕. เทวมีรหะ (หรือกฤต)
๕. สุเกตุ ๑๖. วิพุธ
๖. เทวราต ๑๗. มหิธ๎รก (หรือมหาธฤติ)
๗. พฤหัทรถ ๑๘. กฤติราต
๘. มหาวีร ๑๙. มหาโรม
๙. สุธฤติ ๒๐. สุวรรณโรม
๑๐. ธฤษฏเกตุ ๒๑. ห๎รัศวโรม
๑๑. หริยาศว ๒๒. ศีรธวัช

ท้าวศีรธวัชนั้น คือพระบิดานางสีดา ซึ่งเรียกอยู่โดยมากว่า “ท้าวชนก” บ้าง “วิเทหราช” บ้าง “มิถิลราช” บ้าง (นางสีดาจึ่งได้นามว่า “ชานะกี,” “ไวเทหิ,” และ “ไมถิลี”) ส่วน “ชนก” นั้นเปนนามราชาครองมิถิลามาตั้งแต่ท้าวชนกลูกท้าวนิมิ (อย่างเราเรียกกษัตร์ศุโขไทยว่า “พระร่วง” ทุกองค์ฉนั้น) และท้าวศีรธวัชอธิบายด้วยว่า ท้าวกุศธวัชผู้ครองนครสังกาศยานั้น คืออนุชาของพระองค์เอง ร่วมพระบิดากัน ที่ไปเปนราชาครองนครสังกาศยานั้น เพราะท้าวสุธันวะเจ้านครสังกาศยาได้ยกทัพมาติดนครมิถิลา เพื่อจะชิงเอารัตนธนู แต่ท้าวสุธันวะตายในสนามรบ ท้าวชนกจึ่งอภิเษกพระกุศธวัชผู้เปนอนุชาให้เปนราชาครองนครสังกาศยาสืบมา.

ครั้นแสดงลำดับสกุลเสร็จแล้ว ท้าวชนกจึ่งตรัสประกาศยกนางสีดาให้แก่พระราม และยกนางอุรมิลาผู้เปนธิดาอีกองค์ ๑ ให้แก่พระลักษมณ์ แล้วพระวสิษฐและวิศวามิตรก็เลยขอธิดา ๒ องค์ของท้าวกุศธวัชให้แก่พระภรตและพระศัตรุฆน์ คือนางมานทวีให้แก่พระภรต และนางศรุตเกียรติ (หรือ “เกียรติสุดา”) ให้พระศัตรุฆน์ ท้าวศีรธวัชผู้เปนกุลเชษฐาอนุญาต และสั่งเตรียมงานอภิเษก ๘ กษัตร์

พะเอินสมัยนั้นพระยุธาชิต ผู้เปนโอรสท้าวอัศวบดีเกกัยราชและเปนน้องนางไกเกยี มาเยี่ยมท้าวทศรถและพระภรตที่อโยธยา ท้าวทศรถจึ่งเลยชวนพระยุธาชิดไปมิถิลาด้วย จึ่งเปนอันพรั่งพร้อมคณาญาติทั่วกันในเวลาทำงานอภิเษก

ครั้นได้ฤกษ์ดี ก็มีงานอภิเษกพระรามกับนางสีดา พระลักษมณ์กับนางอุรมิลา พระภรตกับนางมานทวี และพระศัตรุฆน์กับนางศรุตเกียรติ รวมทั้งสี่คู่นี้พร้อมกัน [ในรามเกียรติ์ของเรามีแต่แต่งพระรามกับนางสีดาคู่เดียวเท่านั้น]

เมื่อเสร็จงานแล้ว พระวิศวามิตรมุนีกลับไปยังอาศรมที่สำนัก ณ อุตตรเทศ ฝ่ายท้าวทศรถ เมื่อถึงเวลาอันควร ก็ลาท้าวชนกยกจากมิถิลา พร้อมด้วยโอรสทั้ง ๔ และชายา กลับคืนสู่นครอโยธยา

ครั้นมากลางทาง จึ่งพบพราหมณ์ผู้ดุร้ายและมีกำลังฤทธิ์มาก อันมีนามปรากฎว่าปรศุราม หรือรามปรศุ [แปลนามว่า “รามขวาน” เพราะมักถือขวานเปนอาวุธ เรามาเรียกคลาดเคลื่อนไปว่า “รามสูร” เพราะหลงไปว่าเปนยักษ์ ซึ่งมีเหตุควรหลงอยู่บ้าง ดังจะได้อธิบายต่อไป] รามปรศุผู้นี้เปนพราหมณ์สกุลภฤคุ ลูกพระชมัทอัคนี (จึ่งมักเรียกว่า “ชามัทอัคนี”) มีศรและขวานเปนอาวุธ พระวสิษฐและเห็นรามปรศุก็มีความหวาดหวั่น จึ่งปรับทุกข์กันในพวกพราหมณ์ว่า รามปรศุจะยังไม่หายโกรธเรื่องที่พระบิดาถูกฆ่าตายอีกฤๅ แต่รามปรศุก็ได้ฆ่ากษัตร์จนหมดโลกเพื่อแก้แค้นแทนพระบิดาครั้ง ๑ แล้ว คงจะไม่ใช่โกรธเรื่องเดิมอีกกระมัง

[ในที่นี้ข้าพเจ้าขออธิบายนอกเรื่องหน่อย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องปรศุรามดีขึ้นอีกเล็กน้อย ปรศุรามนั้นในหนังสือพวกปุราณะยกย่องเปนพระนารายน์อวตาร นับเปนปางที่ ๖ ใน ๑๐ ปาง คือก่อนพระรามาวตารปาง ๑ ความประสงค์พระนารายน์ที่อวตารเปนปรศุรามนั้น เพื่อจะปราบพวกชาติกษัตร์ ซึ่งพากันรังแกพราหมณ์มาก มีเรื่องพิศดารยืดยาวมาก รวมใจความว่าพระนารายน์ได้อวตารลงมาเปนโอรสพระชมัทอัคนี กับนางเรณุกา แต่เยาว์มาก็เปนผู้ที่ดุร้าย ครั้ง ๑ เมื่อพระบิดามีความโกรธนางเรณุกา หาว่านางได้มีความรู้สึกนึกยินดีในรูปแห่งชายอื่น จึ่งสั่งให้โอรสคน ๑ ฆ่านางเสีย โอรสอื่นๆ ไม่มีใครยอม แต่ปรศุรามยอมตัดศีรษะมารดา พระชมัทอัคนีชอบใจจึ่งบอกให้ขอพรตามปราถนา ปรศุรามก็ขอพร ๓ ประการคือ ที่ ๑ ขอให้แม่กลับฟื้นมาโดยปราศจากมลทินทั้งปวง ที่ ๒ ขอให้ตนมีไชยในเมื่อจะต่อสู้กับผู้ใดตัวต่อตัว ที่ ๓ ขอให้ตนมีอายุยืนยาว บิดาก็ประสาทพรให้ ส่วนสาเหตุที่จะเปนอริกับชาติกษัตร์นั้น คือ ท้าวอรชุนกรรตวีรยะเปนมหาราชครองนครมหิษมดี ไหหัยชนบท ผู้มีแขนถึงพัน ๑ และมีเดชานุภาพมาก อาจชำนะได้แม้นทศกรรฐ (ดังมีเรื่องปรากฎอยู่ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณ) วัน ๑ ท้าวอรชุนได้ไปยังอาศรมพระชมัทอัคนี พระมุนีไม่อยู่ แต่นางเรณุกาก็ต้อนรับอย่างแขงแรง แต่เมื่อท้าวอรชุนไปจากอาศรมนั้น ได้จูงเอาลูกโคสำคัญของพระชมัทอัคนีไปเสียด้วย ปรศุรามทราบความก็โกรธ จึ่งตามไปรบกับท้าวอรชุน ฆ่าท้าวอรชุนตาย (ในรามเกียรติ์ของเราก็มีเรื่อง “รามสูร” กับพระอรชุนรบกัน แต่สาเหตุดูไม่มีอะไรนอกจากวิวาทกันอย่างนักเลงโตเท่านั้น) ฝ่ายโอรสท้าวอรชุนเมื่อมีโอกาศก็ไปฆ่าพระชมัทอัคนีบ้างเพื่อแก้แค้น ปรศุรามก็โกรธ เลยสาบาลตัวเปนศัตรูแห่งชาติกษัตร์ทั่วไป ได้สังหารกษัตร์หมดโลกถึง ๒๑ ครั้ง จึ่งหายแค้น เอาโลกไปยกให้เปนทักษิณาแด่พระกัศยปมุนี แล้วก็ไปอยู่ในเขามเหนทรบรรพต เรื่องนี้มิได้มีอยู่ในรามยณ ข้าพเจ้าจึ่งต้องแซกลงที่นี้เช่นนี้ อนึ่งการที่ข้างเราพากันเข้าใจผิดไปว่าปรศุรามเปนยักษ์นั้น เปนเพราะปรศุรามมีฉายาเรียกว่า “น๎ยักษ” เปนภาษาสังสกฤตแปลว่า “ต่ำ” หรือ “ต้อย” เพราะความปฏิบัติไม่เสมอภูมิธรรมอันควรแก่พราหมณ์ มีโทโสร้ายเหลืออดกลั้น และใจคอเหี้ยมโหดเปนต้น ฉายา “น๎ยักษ” นี้เอง ฟังไม่สู้ถนัดก็อาจเข้าใจผิดเปน “ยักษ” ไปได้ ทั้งความประพฤติและนิไสยของรามปรศุนั้นหรือก็ชวนให้เห็นเปนยักษ์ไปจริงๆ ด้วย]

ฝ่ายปรศุราม พอเข้ามาใกล้ขบวนท้าวทศรถ ก็ร้องตะโกนเรียกพระราม บอกว่าได้ยินกิติศัพท์เล่าถึงความเก่งต่างๆของพระรามและเรื่องก่งธนูจนหักนั้นด้วย จึ่งนำธนูมาอีกคัน ๑ ซึ่งท้าให้พระรามก่งและขึ้นศร ธนูนั้นเปนของพระชมัทอัคนี (คือบิดาของปรศุราม) เมื่อพระรามก่งศรนั้นได้แล้ว ก็จะได้ลองฝีมือกันตัวต่อตัวต่อไป ท้าวทศรถจึ่งต่อว่าปรศุรามว่า ปรศุรามมีกำเหนิดในชาติพราหมณ์ และได้สาบาลต่อหน้าพระอินทรแล้วว่าจะงดการใช้สาตราวุธ และจะตั้งหน้าบำเพ็ญพรตต่อไปตามวิไสยพราหมณ์ เหตุไฉนจึ่งมากล่าววาจาท้าทายเช่นนี้ ปรศุรามไม่ตอบท้าวทศรถ หันไปพูดกับพระรามว่ามีศรสำคัญอยู่ ๒ เล่มอันเปนฝีมือพระวิศวกรรม เล่ม ๑ ทวยเทพได้ถวายพระอิศวรเพื่อปราบท้าวตรีปุระ (คือที่เราเรียกว่า “ท้าวตรีบุรัม”) เล่มนั้นคือที่พระรามทำหักแล้ว อีกเล่ม ๑ ทวยเทพได้ถวายพระนารายน์ เปนธนูอันมีฤทธิ์เท่ากับรุทรธนูที่หักแล้ว และเล่าต่อไปว่า ครั้ง ๑ ทวยเทพปราถนาจะใคร่รู้ว่าพระอิศวรกับพระนารายน์องค์ใดจะมีกำลังฤทธิ์มากกว่ากัน จึ่งไปทูลถามพระพรหมา พระพรหมาก็แสร้งยุยงให้พระเปนเจ้าทั้ง ๒ นั้นวิวาทกันจนเกิดต่อสู้กันเปนภารใหญ่ พระนารายน์ร้องตวาดไปทีเดียวธนูของพระอิศวรก็อ่อนป้อแป้ไป ทวยเทพจึ่งพร้อมกันวินิจฉัยว่าพระนารายน์เก่งกว่าพระอิศวรและทูลไกล่เกลี่ยให้พระเปนเจ้าทั้ง ๒ ดีกัน พระอิศวรมีความน้อยพระไทยว่าแพ้ฤทธิ์พระนารายน์ จึ่งประทานธนูของพระองค์นั้นแด่ราชฤษีเทวราตแห่งวิเทหนคร ส่วนพระนารายน์นั้นประทานธนูของพระองค์แด่พรหมฤษีฤจิกลูกพระภฤคุมุนี พระฤจิกมุนีได้ให้ธนูนั้นแก่พระชมัทอัคนิมุนี แต่พระชมัทอัคนีนั้นพอใจในทางบำเพ็ญพรตมากกว่า จึ่งมิได้ใช้ธนูเลย จนเมื่อพระมุนีนั้นถึงมรณภาพด้วยมือท้าวอรชุนแล้ว ธนูจึ่งตกเปนของปรศุราม [ในรามเกียรติ์ของเรา “รามสูร” ให้การว่า “ศรนี้พระสยมภูวญาณ ประทานองค์ตรีเมฆยักษี ผู้เปนไอยกาธิบดี ข้านี้จึ่งได้สืบมา” ดังนี้ ผิดกันกับในฉบับสังสกฤต] แล้วจึ่งกล่าวต่อไปว่า ตนได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่เขามเหนทร จนได้ยินข่าวว่าพระรามได้ก่งธนูของพระอิศวรจนหักไปแล้ว จึ่งรีบมาเพื่อจะท้าให้ก่งธนูของพระนารายน์บ้าง

ฝ่ายพระรามมิได้มีความหวาดหวั่นเลย รับธนูสำคัญจากปรศุรามมาได้แล้วก็ก่งและขึ้นศรได้โดยง่าย แล้วจึ่งตรัสแก่ปรศุรามว่า ปรศุรามเปนพราหมณ์ ควรได้รับความเคารพ ครั้นว่าจะยิงเสียก็ไม่ควร เพราะฉนั้นให้ปรศุรามเลือกเอาอย่าง ๑ คือจะให้ยิงทำลายทางสวรรค์ของปรศุราม หรือจะให้ทำลายภูมิทั้งปวงบรรดาที่ปรศุรามได้บรรลุถึงแล้ว ฝ่ายปรศุรามรู้สึกตนว่าแพ้ฤทธิ์พระราม แม้แต่จะกระดิกตัวก็ไม่ไหวแล้ว จึ่งทูลตอบพระรามว่า เมื่อตนได้ยกโลกให้เปนทักษิณาแด่พระกัศยปนั้น พระกัศยปได้เอาสัญญาว่าปรศุรามจะไม่อยู่ในโลกต่อไป แต่นั้นมาก็ยังมิได้เคยนอนในโลกนี้แม้แต่คืนเดียว เพราะฉนั้นขออย่าให้พระรามทำลายทางสวรรค์เลย ขอให้ทรงทำลายภูมิที่ตนได้บรรลุถึงแล้วทั้งหมดนั้นเถิด และปรศุรามมาแลเห็นชัดแล้วว่า พระรามมิใช่ผู้อื่นไกล คือองค์พระตรีภูวนารถเอง ซึ่งเปนผู้ชำนะทั่วไป หาผู้ใดจะต้านทานเดชานุภาพมิได้เลย เพราะฉนั้นในการที่ตนได้พ่ายแพ้มิได้มีความโทมนัศเลย พระรามได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงแผลงศรไปทำลายบรรดาภูมิฌานที่ปรศุรามได้บรรลุถึงแล้ว ปรศุรามก็ทูลลากลับไปยังมเหนทรคีรี ส่วนธนูสำคัญนั้น พระนารายน์จึ่งฝากพระวรุณ (คือพระ “พิรุณ”) ให้รักษาไว้ แล้วก็ทูลให้พระบิดาเสด็จดำเนินขบวนต่อไปสู่พระนคร

[ในที่นี้ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่า เรื่องปรศุรามกับพระรามวิวาทกันนี้ ในรามเกียรติ์ของเราก็มี แต่รูปผิดกับในฉบับสังสกฤต เพราะเข้าใจผิดเสียในชั้นต้นแล้วว่า “รามสูร” เปนยักษ์ จึ่งแต่งให้มาเกะกะและรบพุ่งอย่างยักษ์ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อแพ้พระรามแล้ว ก็กล่าวว่ารามสูรทูลขอชีวิตรไว้ และพระรามยกประทานให้ ไม่มีกล่าวถึงทำลายภูมิของรามสูรเลย ในข้อนี้ขออธิบายว่าที่พระรามให้เลือกนั้นคือจะให้ทำลายโลกุตตรมรรค หรือจะให้ทำลายผลเท่าที่ปรศุรามได้บรรลุถึงมาแล้ว ปรศุรามเลือกเอาให้ทำลายผล เพราะว่าถึงทำลายแล้วก็มีหนทางที่จะหาได้ต่อไปโดยความพยายามภายน่า แต่ถ้าทำลายมรรคเสียแล้ว ก็จะเปนอันตัดทางที่ปรศุรามจะได้ถึงโลกุดรและพรหมภูมิ คือนฤพานนั้นต่อไปได้ ผู้แต่งรามเกียรติ์ของเรามิได้เข้าใจหัวข้อสำคัญอันนี้ เพราะหลงไปว่า “รามสูร” เปนยักษ์ จึ่งแต่งให้พระรามลงโทษในทางโลกีย์ แท้จริงปรศุรามเปนพราหมณ์ ไม่มีความอาไลยในทางโลกีย์ พะวงในทางโลกุดรมากกว่า จึ่งต้องลงโทษให้กระทบทางโลกุดร]

ครั้นเมื่อเข้าถึงพระนครศรีอโยธยา ชาวเมืองก็ต้อนรับกษัตร์ทั้ง ๑๐ องค์ (คือท้าวทศรถ พระยุธาชิต และโอรสท้าวทศรถทั้ง ๔ กับชายาแห่งโอรสทั้ง ๔ นั้น) ด้วยความชื่นชมยินดี และพระมเหษีแห่งท้าวทศรถทั้ง ๓ องค์ (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราว่าไปมิถิลาด้วยแต่ในฉบับสังสกฤตว่าไม่ได้ไป) ก็รับรองชายาแห่งโอรสทั้ง ๔ อย่างดียิ่ง เมื่อสิ้นงานสมโภชแล้ว ท้าวทศรถจึ่งอนุญาตให้พระภรตไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่เกกัย และให้พระศัตรุฆน์ไปด้วย

[พาลกัณฑ์ข้าพเจ้ากล่าวมายืดยาวฉนี้ เพราะเปนกัณฑ์ที่รวบรวมข้อความเบ็ดเตล็ดไว้มาก ถ้าจะลัดข้ามๆ ไปก็เกรงจะเสียความรู้ไป แต่ในกัณฑ์ต่อๆ ไปนี้จะย่อความได้สั้นลงมาก เพราะเปนเรื่องของพระรามคนเดียวติดต่อกันไป]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ