ยุทธกัณฑ์

ที่ ๖ - ยุทธกัณฑ์ เปนกัณฑ์ยาวกว่ากัณฑ์อื่นๆ จับแต่พระรามชมเชยหนุมาน [ไม่มีประทานผ้าชุบสรงอย่างในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยเรา เรื่องประทานผ้าชุบสรงก็เห็นจะเก็บมาจากแห่งอื่นอีก] แล้วพระรามก็สั่งให้ยกทัพลงไปฝั่งทเล เคราะห์สถิตย์ที่อุตตรผาลคุณี รุ่งขึ้นพระจันทร์เล็งกับหัสตา ให้คลาขบวนทัพ ให้นีละลูกพระเพลิง (คือ “นิลนนท์”) เปนทัพนำ ให้คชะ ๑ คะวัย ๑ คะวากษ์ ๑ เปนทัพน่า ฤษภเปนปีกขวา คันธะ ๑ คันธมาทน์ ๑ เปนปีกซ้าย องค์พระรามทรงหนุมานเปนพาหนคุมทัพหลวง ให้พระลักษมณ์ทรงองคทตามเสด็จไปในทัพหลวงกับตัวพญาสุครีพ และให้ชมพูพานผู้เปนฤกษราช (คือจอมหมี) ๑ สุเษน ๑ เวคทรรศี ๑ เปนทัพหลัง พอใกล้ฤกษ์ออกเดินทัพ นีละ พฤษภ และกุมุทก็ออกเดินล่วงน่าถางทางให้ทัพหลวงดำเนินจนถึงฝั่งมหาสมุท จึ่งให้หยุดตั้งค่ายพักแรมอยู่ณเชิงเขามเหนทรคีรี (ที่ของเราเรียกว่า “เหมติรัน”)

กล่าวถึงทศกรรฐ เมื่อหนุมานเผาเมืองแล้ว ก็ปฤกษาบรรดาเสนามาตย์ว่าจะควรคิดการอย่างไรกันต่อไป พวกท้าวพระยาอสูรก็ต่างตนต่างอวดดีกันต่าง ๆ นา ๆ มีแต่พิเภษณ์อุปราชผู้เดียว ที่ยืนยันอยู่ว่าทศกรรฐควรส่งนางสีดาคืนให้พระรามจึ่งจะถูกทำนองคลองธรรม ในวันแรกนั้นทศกรรฐมิได้ตอบว่ากระไร เปนแต่ลุกกลับเข้าไปข้างใน ครั้นรุ่งขึ้นพิเภษณ์ขอเข้าไปเฝ้าข้างใน ทูลทศกรรฐว่าได้เห็นลางร้ายต่างๆ มากนัก มีทางที่จะแก้ไขได้แต่ส่งสีดาคืนเท่านั้น ทศกรรฐก็ออกไปท้องพระโรงเรียกชุมนุมอสุรสภาอีก สั่งประหัสต์เสนาบดีให้จัดพลขึ้นประจำน่าที่พร้อมแล้ว ก็ถามความเห็นผู้ที่มาอยู่ในสภานั้นอีก กุมภกรรณ [“หูหม้อ” คือหูโตเท่าหม้อ ไม่ใช่ “คอหม้อ”] อินทรชิต และท้าวพญาก็ต่างรับอาสาจะรบทุกคน พิเภษณ์ผู้เดียวขัดขืนยืนยันให้ส่งสีดาคืน ทศกรรฐกริ้ว ลุกขึ้นเตะพิเภษณ์ตกเตียง พิเภษณ์ลุกขึ้นได้เงื้อตะบอง แต่นึกขึ้นได้ว่าทศกรรฐเปนราชาและพี่ของตน จึ่งลดตะบองแล้วชี้หน้าว่าไปตรงๆ ว่าถ้าขืนดื้อไปเช่นนี้จะถึงที่ตาย ทศกรรฐก็ขับพิเภษณ์จากน่าที่นั่ง [ในเรื่องของเขาพิเภษณ์ไม่ได้ขี้ขลาดอย่างของเราเลย เพราะเปนชาติพรหมพงษ์เหมือนกัน เปนกษัตร์เหมือนกัน] พิเภษณ์ออกได้จากท้องพระโรง ก็เหาะตรงข้ามมหาสมุทไป พร้อมด้วยเสนา ๔ ตน ชื่ออนิล ๑ อนล ๑ สัมปาติ ๑ ประมติ ๑ [ตอนขับพิเภษณ์นี้ ในฉบับสังสกฤตผิดกับของเราอีกที่มีเสนาไปด้วย ไม่ได้ไปคนเดียว อีกประการ ๑ ในเรื่องไม่มีกล่าวถึงไปลาลูกเมีย แต่ในบทลครก็ต้องเติมเข้าไปอยู่เองเพื่อให้น่าสงสาร ส่วนชื่อนางเมียและบุตรีของพิเภษณ์นั้น ของเราไม่ตรงกับของเขาเลย คือนางมเหษีเราเรียกว่า “ตรีชดา” ที่ถูกควรเปน “สรมา” นางธิดานั้นค้นพบในพจนานุกรมโมเนียร์วิลเลียมส์ว่าชื่อ “นันทา” ข้างเราจะไปได้ “เบญกาย” มาอย่างไรก็หาทราบไม่] ฝ่ายสุครีพเห็นพิเภษณ์มาก็ซักไซ้ถามจนได้ความแล้ว จึ่งไปทูลพระราม พระรามตรัสหาฤๅเหล่าวานร ต่างตนก็ไม่เห็นด้วยในการที่จะรับพิเภษณ์ไว้ แต่หนุมานเห็นควรให้รับไว้ พระรามทรงเห็นชอบด้วย จึ่งเสด็จลงไปรับพิเภษณ์ถึงที่ริมฝั่งมหาสมุท ตรัสปราไสยด้วยไมตรี แล้วสมมตพิเภษณ์เปนราชาอสุราธิบดี แล้วสุครีพกับหนุมานจึ่งถามพิเภษณ์ว่า ทำอย่างไรจึ่งจะยกทัพข้ามมหาสมุทไปถึงลงกาได้ พิเภษณ์ว่าถ้าพระรามตรัสขอทางดำเนินแก่พระสมุท พระสมุทคงจะยอมตามพระประสงค์ เพราะเหตุว่าพระเจ้าสัครราชผู้เปนชนกองค์ ๑ แห่งพระรามได้บันดาลให้ทเลมีขึ้น [ทเลจึ่งได้นามว่า “สาคร” เพราะมีกำเหนิดแต่ท้าวสัคร ดังได้เล่าไว้ในพาลกัณฑ์ข้างต้นแล้ว] สุครีพกับหนุมานนำความไปทูล พระรามก็เห็นชอบด้วย จึ่งเสด็จไปยังฝั่งสาคร เพื่อตั้งพิธีพลีกรรมขอทางดำเนินข้ามไปลงกา

ฝ่ายสรรทูลผู้คอยเหตุ เห็นพลวานรยกมาถึงฝั่งทเล ก็รีบนำความไปแจ้งแก่ทศกรรฐ ทศกรรฐจึ่งใช้เสนาชื่อศุกะไปหาสุครีพเพื่อสื่อสารว่ากล่าวโดยดีให้สุครีพยกทัพกลับไปเสียยังกีษกินธ์ ศุกะก็จำแลงกายเปนนกเหยี่ยวบินไปหาสุครีพและสื่อสารตามคำสั่ง สุครีพไม่ยอมฟัง และพวกวานรก็พากันโกรธ จับศุกะได้ทุบตีและถอนขนปีกหาง ศุกะมีความเจ็บก็ร้องให้พระรามช่วย พระรามตรัสห้ามพวกวานรมิให้ทำร้ายอีกต่อไป แต่ให้คุมตัวไว้จนกว่าจะได้ข้ามไปถึงแดนลงกา

แล้วพระรามก็เข้าพิธีต่อไปอีกสามเวลา ไม่เห็นพระสมุทขึ้นมาหรือตอบประการใด พระรามก็กริ้ว จึ่งจับศรพรหมาสตร์ขึ้นพาดสายจะแผลงไปเพื่อผลาญทเลให้แห้ง พระสมุทมีความกลัวก็ขึ้นมาเฝ้า พร้อมด้วยแม่พระคงคา พระสินธุ และบริวารอื่นๆ พระสมุททูลขอโทษ พระรามก็โปรดประทานโทษให้ พระสมุทจึ่งทูลว่า ที่จะแหวกทางเปนถนนให้พลเดินไปนั้นไม่ได้ เพราะผิดธรรมดาโลก แต่ถ้าพระรามจะโปรดให้ทหารจองถนนข้ามทเลไป พระสมุทจะรับช่วยห้ามปรามคลื่นและห้ามสัตว์น้ำมิให้รบกวนทหารในขณที่จองถนน ส่วนผู้ที่จะเปนนายช่างอำนวยการจองถนนได้นั้น พระสมุทว่ามีอยู่ในกองทัพหลวงแล้ว คือพญาวานรชื่อนล ลูกพระวิศวกรรมเทพศิลปี (วานรตัวนี้ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเรียกว่า “นิลพัทธ์” และกล่าวว่าเปนลูกพระกาฬ) พระสมุททูลความอันนี้แล้ว ก็ทูลลากลับลงไปยังที่อยู่ พระรามจึ่งตรัสสั่งใช้ให้พญานลเปนผู้อำนวยการจองถนน พญานลก็เปนนายงานจัดการจองถนนข้ามทเล กว้าง ๑๐ โยชน์ ยาว ๑๐๐ โยชน์ แล้วเสร็จใน ๕ วัน พระรามจึ่งตรัสสั่งให้กรีธาทัพข้ามไป พญาพิเภษณ์กับเสนายักษ์ทั้ง ๔ เปนผู้นำทัพ พระรามทรงหนุมาน พระลักษมณ์ทรงองคท ครั้นถึงฟากลงกาแล้ว ก็พักพลอยู่ณที่อันบริบูรณด้วยมูลผลาหารและน้ำใสจืดสนิท

[ผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นได้ว่า ในตอนจองถนนนี้ ขาดเรื่องราวสำคัญ อันมีในรามเกียรติ์ของเรา และเปนตอนที่โขนชอบเล่นนั้น ถึง ๓ เรื่อง กล่าวคือ ๑. เรื่องเบญกายจำแลงเปนสีดาลอยมา ซึ่งเรียกตามภาษาโขนว่า “ชุดนางลอย” ๒. เรื่องหนุมานกับนิลพัทธ์วิวาทกัน ๓. เรื่องหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา เรื่องทั้ง ๓ นี้ไม่มีมาในรามายณฉบับสังสกฤต แต่เหตุใดจึ่งมามีอยู่ในหนังสือรามเกียรติ์ฉบับไทยนั้น ข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า ในที่นี้จะขอดำเนินเรื่องตามที่มีมาในรามายณฉบับสังสกฤตต่อไป]

ครั้นเมื่อข้ามมหาสมุทไปได้เรียบร้อยแล้ว พระรามก็ตรัสสั่งสุครีพให้เตรียมการยกไปประชิดกรุงลงกา ฝ่ายศุกะที่จับไว้ได้แต่ก่อนจองถนนนั้นตรัสสั่งให้ปล่อยตัวกลับไปลงกา ศุกะก็เข้าไปเฝ้าทศกรรฐ เล่าความให้ฟังทุกประการ และแสดงความนิยมนับถือยำเกรงอิทธิฤทธิ์พระราม พระลักษมณ์ และวานรยิ่งนัก ทศกรรฐจึ่งใช้ให้ศุกะแลสารณไปดูเหตุการณมาอีก ศุกะและสารณก็จำแลงกายเปนวานรเข้าไปปลอมอยู่ในกองทัพวานรเพื่อสืบข่าว พิเภษณ์เห็นเข้า รู้ว่าเปนยักษ์ปลอมพลจึ่งจับตัวไปถวายพระราม ศุกะและสารณมีความเกรงกลัวยิ่งนัก ก็ถวายบังคมพระรามของประทานโทษ พระรามทรงพระสรวลและตรัสว่า ถ้าเมื่อได้ดูทั่วแล้วก็ให้รีบกลับไป แต่ถ้ายังดูไม่ทั่วก็ให้พิเภษณ์พาดูให้ทั่ว แล้วก็ตรัสสั่งให้ปล่อยตัวกลับไปลงกา ศุกะและสารณทั้ง ๒ ก็ยิ่งมีความนิยมยินดีในพระบารมีของพระรามมากขึ้น นำความไปเล่าให้เจ้านครลงกาฟังทุกประการ

[ศุกะและสารณ ๒ ตนนี้ ของเรารวมเปนตัวเดียว เรียกว่า “สุกะสาร” และที่มาเปน ๒ ครั้ง ก็จับเอามารวมเปนครั้งเดียวคือ “สุกะสาร” นั้นจำแลงเปนเหยี่ยวบินมาก่อน จนถึงที่แล้วจึ่งจำแลงเปนลิงเข้าไปปลอมพล]

ฝ่ายศุกะและสารณเข้าไปถึงลงกา เล่าความตามที่ได้เห็นตลอดแล้ว และกล่าวสรรเสริญพระรามกับพวกวานรเปนอันมาก ทศกรรฐก็ขึ้นไปบนป้อมดูพลวานร ให้สองเสนาชี้ให้ดูทั่วแล้ว ทศกรรฐยังไม่พอใจ สั่งมโหทรให้จัดส่งคนสอดแนมออกไปสืบข่าวอีก พวกสืบข่าว มีเสนาชื่อสรรทูลเปนหัวน่า ก็รีบไปยังที่พักพลวานรที่เชิงเขาสุเวล (ซึ่งอยู่ตรงน่าเมืองลงกา และสูงเทียมเขาตรีกูฎอันเปนที่ตั้งเมืองลงกาเอง) สรรทูลและพวกสืบข่าวนี้ก็ถูกพิเภษณ์จับได้อีก พวกวานรพากันทุบตีปางตาย แต่พระรามตรัสสั่งให้ปล่อยกลับไปอีก สรรทูลก็ไปเล่าเหมือนศุกะและสารณอีก ทศกรรฐจึ่งคิดอุบาย สั่งเสนาผู้ ๑ ชื่อวิทยุชชิวหา ผู้ฉลาดในเชิงมายาให้นฤมิตรหัวพระรามขึ้นหัว ๑ ซึ่งทศกรรฐนำไปให้นางสีดาเพื่อจะลวงว่าพระรามตายแล้ว ในชั้นต้นนางสีดาก็เชื่อ แต่นางรากษสีตน ๑ ชื่อตรีชดา เปนผู้ที่ใจดี มีความสงสารนางสีดา จึ่งเล่าความจริงให้นางฟัง นางสีดาจึ่งค่อยคลายความเศร้าโศก

ฝ่ายทศกรรฐกลับเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งในท่ามกลางที่ชุมนุม จึ่งถามความเห็นท้าวพระยา ท้าวมาลียวันผู้เปนตาของทศกรรฐจึ่งกล่าวตักเตือนทศกรรฐ กล่าวด้วยราชประเพณีและราชธรรมจริยาแล้วจึ่งแสดงว่าได้แลเห็นลางต่างๆ หลายอย่างมาปรากฎในลงกา เห็นว่าเปนลางร้าย ชี้ให้เห็นว่าทศกรรฐได้ประพฤติผิดทางธรรมเพราะผิดเมีย ท้าวมาลียวันเห็นควรให้รีบส่งนางสีดากลับคืนไปให้พระราม การที่จะคิดมานะทำสงครามไปนั้นหาประโยชน์มิได้ เพราะพระรามคือพระนารายน์อวตาร แต่ทศกรรฐกำลังตกอยู่ในความหลง จึ่งอวดดีทนงตนต่างๆ กลับหาว่าท้าวมาลียวันอิจฉาความเก่งของหลานจึ่งได้พูดจาคัดค้านเช่นนั้น ท้าวมาลียวันมิได้ตอบประการใด ลุกออกจากสภากลับไปที่อยู่ของตน [ตอนนี้กระมังที่ในรามเกียรติ์ของเราเอามาขยายยืดยาวออก เรียกว่า “ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ” แต่ท้าวมาลีวราชนั้น ในรามเกียรติ์ของเรามาว่าความต่อเมื่อรบกันมากแล้ว นี่ว่าแต่ก่อนน่าจะรบ ผิดกันอยู่] ฝ่ายทศกรรฐเมื่อท้าวมาลียวันไปแล้ว จึ่งจัดแบ่งปันน่าที่รักษานคร ให้ประหัสต์รักษาด้านบุรพา มหาปรรศว (“ข้างใหญ่” ของเราเรียก “เปาวนาสูร”) กับมโหทรรักษาด้านทักษิณ อินทรชิตรักษาด้านประจิม ทศกรรฐเอง กับศุกะและสารณรักษาด้านอุดร วิรูปักษ์คุมพลกลางเมือง [วิรูปักษ์ในรามเกียรติ์ของเราว่าเปนพญาอสูรต่างเมืองมาช่วยรบต่อเมื่อให้ไปเชิญ เห็นจะเปนการเข้าใจผิด]

พิเภษณ์ใช้ให้สี่เสนาลอบเข้าไปสอดแนมในลงกา ได้ความแล้วว่าตั้งแบ่งทัพรับอย่างไร พระรามจึ่งจัดแบ่งทัพเข้าล้อมและตีนครลงกา ให้นีละตีด้านบูรพา องคทตีด้านทักษิณ หนุมานตีด้านประจิม ทัพหลวงจะตีด้านอุดร ให้พระลักษมณ์ตามเสด็จในทัพหลวง ส่วนทัพหนุนให้อยู่ในบังคับบัญชาพญาสุครีพ พญาชมพูพานและพญาพิเภษณ์ และตรัสสั่งไว้ด้วยว่า เพื่อจะให้จำกันได้ง่าย ให้บรรดาวานรคงรูปเปนวานรอยู่ อย่าให้จำแลงกายเหมือนมนุษหรือยักษ์

รุ่งขึ้นพระรามอยากจะใคร่ทอดพระเนตรเมืองลงกา จึ่งเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสุเวล ทอดพระเนตรข้ามไปที่นครลงกาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาตรีกูฎ จึ่งเห็นทศกรรฐนั่งอยู่บนป้อม มีฉัตรกั้นและจามรีโบกปัด สุครีพแลเห็นก็มีความโกรธ จึ่งโลดขึ้นจากยอดเขาสุเวล เหาะไปยังลงกา ร้องว่าทศกรรฐๆ ก็ว่าตอบ สุครีพจึ่งเข้าหักฉัตรและฉวยมงกุฎจากหัวทศกรรฐ แล้วรบกันเปนสามารถตัวต่อตัว ในที่สุดทศกรรฐจะร่ายมนต์ผูกสุครีพ ๆ ก็เหาะขึ้นไปเสียบนอากาศ ทศกรรฐเหนื่อยตามไปไม่ได้ สุครีพก็เหาะกลับไปยังเขาสุเวล พระรามต่อว่าสุครีพว่า เปนเจ้าบ้านผ่านเมืองไม่ควรจะผลุนผลันไปโดยลำพังเช่นนั้น แล้วก็เสด็จลงจากยอดเขา สั่งให้ยกพลเข้าประชิดลงกา ตามที่ได้กำหนดไว้

แต่พระรามทรงรำลึกได้ถึงราชประเพณี ว่าแต่ก่อนที่จะเข้าโจมตีควรส่งทูตไปสื่อสารเจรจาว่ากล่าวโดยดีก่อน จึ่งตรัสใช้ให้องคทไปสื่อสาร องคทก็ไปสื่อสาร แต่ทศกรรฐไม่ฟัง สั่งให้เสนาสี่ตนจับองคทไปฆ่าเสีย องคทก็ยอมให้สี่เสนาจับจนมั่นแล้ว จึ่งเหาะขึ้นไปบนยอดปราสาท ทิ้งสี่เสนาให้ตกลงมา แล้วหักยอดปราสาทตีพวกยักษ์ แล้วก็เหาะกลับไปเฝ้าพระราม

ตอนหักฉัตรกับสื่อสารนี้ ในรามเกียรติ์ของเรากลับกัน คือ สื่อสารก่อนแล้วจึ่งหักฉัตร ชรอยจะเปนความหลงลืมของผู้เล่าเรื่อง

[อนึ่งในที่นี้ควรสังเกตว่า ในรามเกียรติ์ของไทยเรามีกล่าวเรื่องไมราพณ์ลักพระราม และหนุมานไปตามกลับมาได้ ในรามายณฉบับสังสกฤตไม่มีเรื่องไมราพณ์เลย เราไปได้เรื่องมาจากที่อื่น ดังจะได้แสดงต่อไปข้างน่า]

ต่อนี้ไปก็กล่าวด้วยการยุทธ์ ซึ่งได้กระทำต่อกันเปนหลายคราว จะกล่าวให้พิศดารก็ยืดยาวนัก จึ่งจะกล่าวแต่พอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้

(๑) ทัพวานรเข้าประชิตลงกา ทัพยักษ์ออกสู้ ยักษ์แพ้ถอยเข้าเมือง

(๒) ศึกอินทรชิตครั้งที่ ๑ แผลงศรนาคบาศ มัดพระรามและพระลักษมณ์กับวานรบ้าง พิเภษณ์ให้วานรตัวนายรักษาพระรามไว้ ตัวเองไปเที่ยวต้อนพลวานรที่กระจัดกระจายกลับมา [ไม่ขี้ขลาดและไม่ถูกอินทรชิตเฆี่ยนอย่างในรามเกียรติ์ของเรา] ทศกรรฐให้นางตรีชดาพานางสีดาไปดูพระรามพระลักษมณ์ นางสีดาสำคัญว่าพระรามตายจริง แต่นางตรีชดาปลอบนางสีดาโดยชี้แจงว่า ถ้าหญิงที่ผัวตายแล้วขึ้นบุษบก ๆ ไม่ลอย นี่บุษบกยังลอยจึ่งไม่เปนไร ฝ่ายพิเภษณ์ต้อนพลวานรกลับมาแล้ว ก็ปฤกษากันว่าจะควรคิดอย่างไร พญาสุเษนผู้เปนผู้ใหญ่ในหมู่วานรจึ่งบอกขึ้นถึงโอสถที่จะแก้ได้ คือวิศัลยาซึ่งอยู่ที่เกษียรสมุท ณเขาชื่อจันทรคีรีและโทณคีรี ให้ใช้หนุมานไปเอาโอสถนั้น [ผู้ที่มีความรู้ และแนะนำเช่นนี้ของเรายกให้เปนน่าที่พญาวานรชื่อชามพูวราช แต่ชามพูวราชนั้นก็เปนนามของชมพูพานนั้นเอง เพราะฉนั้นเห็นได้ว่าผิดตัว] ขณนั้นพญาครุฑบินมาที่สนามรบ นาคที่มัดสองกษัตร์อยู่ก็หนีไป ยาก็ไม่ต้องไปเอา

(๓) เสนายักษ์ชื่อธูมรากษะ (หรือธูมรเกตุ) ยกออกไปรบ หนุมานฆ่าตาย

(๔) เสนายักษ์ชื่อวัชรทนต์ยกออกไป องคทฆ่าตาย

(๕) เสนายักษ์ชื่ออกัมปัน (ซึ่งเราเรียก “อสุรกัมปั่น”) ยกออกไปรบ หนุมานฆ่าตาย

(๖) พญาประหัสต์ ยักษ์เสนาบดี ยกออกไปรบ เปนศึกใหญ่อัน ๑ แต่ในที่สุดนีละฆ่าพญาประหัสต์ตาย

(๗) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๑ ทศกรรฐรบกับพญาวานรก่อนแล้วรบกับพระลักษมณ์ ทศกรรฐพุ่งหอกกบิลพัศดุ์ถูกพระลักษมณ์แล้วเข้าอุ้มพระลักษมณ์ แต่อุ้มไม่ไหว หนุมานเข้าชกน่าอกสลบไป และหนุมานก็อุ้มพระลักษมณ์ไปเฝ้าพระราม ๆ ก็ถอนหอกนั้นออกได้แล้วพระรามก็ขึ้นทรงหนุมานเข้ารบกับทศกรรฐ แผลงศรถูกกรทศกรรฐแหลกไป แล้วแผลงถูกมงกุฎละเอียดไปกับหัว ทศกรรฐหนีกลับเข้าลงกา

(๘) ศึกกุมภกรรณ ซึ่งในเวลานั้นนอนหลับอยู่ ต้องไปปลุกกันเปนการใหญ่ แล้วจึ่งยกไป เปนศึกใหญ่อีก รบกับพญาวานรทีละตัว จนถึงรบกับสุครีพ รบกันไปจนสุครีพถูกทุ่มด้วยยอดเขาล้มลงสลบไป กุมภกรรณจึ่งจับเอาตัวสุครีพหนีบรักแร้ไปลงกา ฝ่ายหนุมานเห็นว่าถ้าจะไปช่วยสุครีพ ๆ ก็จะหาว่าดูถูก จึ่งเปนแต่ควบคุมพลที่กระจัดกระจายเข้าไว้ ฝ่ายสุครีพฟื้นขึ้นรู้สึกตัวว่าถูกจับไปแล้ว ก็แกล้งทำนิ่งเสีย จนกุมภกรรณเผลอจึ่งกัดจมูกและหูกุมภกรรณขาด และฉีกสีข้างด้วยเล็บตีน กุมภกรรณเจ็บก็โยนสุครีพลงกับดินหมายจะเหยียบให้ตาย แต่สุครีพหลุดไปได้ เหาะกลับไปยังกองทัพ กุมภกรรณโกรธแล่นออกไปรบอีก หน้ามืดจับกินเสียทั้งลิงและยักษ์ พระลักษมณ์ออกมารับ รบกับเปนสามารถแต่กุมภกรรณว่าไม่อยากรบกับเด็ก จะรบแต่กับพระราม พระรามแผลงศรตัดแขนกุมภกรรณ แล้วตัดขาแล้วแผลงศรอุดปากไม่ให้ด่าได้อีก ในที่สุดจึ่งแผลงศรไปตัดหัวขาดกระเด็นไปตกในมหาสมุท

[เรื่องกุมภกรรณทดน้ำ และตั้งพิธีโมกขศักดิไม่มีในฉบับสังสกฤตทั้ง ๒ อย่าง ไทยเราน่าจะไปได้มาจากแห่งอื่น ดังจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]

(๙) ทัพสี่รถ คือตรีเศียร ๑ เทวานตก ๑ นรานตก ๑ อติกาย ๑ เปนลูกทศกรรฐทั้ง ๔ ตน [ตรีเศียรนี้คนละคนกับที่ไปกับพญาขร และอติกายนี้ คือที่ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “อิทธิกาย” หรือ “มหากาย”] มโหทรและมหาปรรศวะไปด้วย เจ้าสี่รถล้มในสนามรบหมด มโหทรและมหาปรรศวะหนีกลับเข้าเมือง

(๑๐) ศึกอินทรชิตครั้งที่ ๒ ตั้งพิธีชุบศรพรหมาสตร์แล้วจึ่งยกไปรบ พลต่อพลรบกันเปนสามารถ แล้วอินทรชิตจึ่งแผลงศรพรหมาสตร์ไปถูกทั้งพระรามพระลักษมณ์ [ผิดกับของเราถึง ๒ ประการ คือประการที่ ๑ อินทรชิตไม่ได้แปลงเปนพระอินทร์และพลไม่ได้แปลงเปนเทวดา ประการที่ ๒ พระรามถูกศรด้วย เรื่องแปลงเปนพระอินทร์เข้าใจว่าจะเติมสำหรับยกย่องความเก่งของหนุมานที่หักคอช้างเอราวัณ คงจะเปนข้อความมาจากแห่งอื่น ดังจะได้อธิบายต่อไป] ชมพูพานแนะนำให้หนุมานไปเอาโอสถที่เขาสรรพยากล่าวคือ มฤตสัญชีวนี ๑ วิศัลยกรณี (ซึ่งเราเรียกว่า “สังกรณี”) ๑ สวรรณกรณี ๑ สนธยาณี ๑ หนุมานไปถึงเขาสรรพยาแล้ว หาต้นยาเหล่านั้นไม่พบ เพราะต้นยาซ่อนเสีย หนุมานก็ชลอเอาเขาสรรพยามาทั้งลูก มาถือไว้เหนือลม กลิ่นยามาถึงพวกที่ต้องศร ก็พากันฟื้นขึ้นหมด แล้วหนุมานจึ่งนำเขากลับไปไว้ยังที่เดิม

(๑๑) พวกวานรเผาเมืองลงกา เพื่อแก้แค้น ทศกรรฐดับไฟ

(๑๒) ทัพกุมภะ และนิกุมภะ ลูกกุมภกรรณ กับมีเสนาผู้ใหญ่ไปด้วย ๔ ตน ชื่อยูปากษ์ ๑ โสนิตากษ์ ๑ ประชงฆ์ ๑ อกัมปัน ๑ (คนละตัวกับที่ออกรบแล้ว) เปนศึกใหญ่ คล้ายครั้งทัพสี่รถ สี่เสนาตายก่อน แล้วสุครีพฆ่ากุมภะ และหนุมานฆ่านิกุมภะ

(๑๓) ทัพมังกรกรรณ ลูกพญาขร [ในฉบับสังสกฤตเขาเรียกว่า “มังกรากษะ” แปลว่า “ตามังกร” แต่ชรอยข้างไทยเราจะเห็นชื่อเสียงไม่เพราะ จึ่งเปลี่ยนเรียกเสียว่า “มังกรกรรณ” คือหูมังกร] เปนศึกใหญ่ พระรามออกรบเอง แผลงศรถูกพญามังกรกรรณตาย

[ส่วนทัพแสงอาทิตย์ไม่มี ไม่ทราบว่าข้างไทยเราจะไปได้มาจากไหน]

(๑๔) ศึกอินทรชิต ครั้งที่ ๓ อินทรชิตตั้งพิธีอัคนิโหตร ได้รถสวรรค์และอาวุธพระพรหม ทั้งทำให้หายตัวได้ด้วย อินทรชิตก็ขึ้นรถขับลอยออกไปจากลงกา แฝงเมฆอยู่แล้วยิงศรอาคเณยาสตร์ (คือศรที่ได้ในพิธีอัคนิโหตรนั้น) ต้องวานรล้มไปเปนอันมาก พระรามพระลักษมณ์ก็ต้องศรนั้น แต่ไม่เจ็บมากพระลักษมณ์จะแผลงพรหมาสตร์ไปล้างยักษ์ให้หมดโลก แต่พระรามห้ามไว้ และตรัสว่าพระรามเองจะแผลงศรไปผลาญเฉภาะตัวอินทรชิต ฝ่ายอินทรชิตได้ฟังดังนั้นก็กลับเข้าลงกา

(๑๕) ศึกอินทรชิต ครั้งที่ ๔ อินทรชิตนฤมิตรรูปมายาเหมือนนางสีดาแล้วนำออกไปฆ่าให้วานรเห็น วานรโกรธเข้ารบ อินทรชิตต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพวกวานรอิดหนาระอาใจ ด้วยสำคัญว่านางสีดาตายแล้ว จึ่งพากันถอยไป

(๑๖) อินทรชิตถอยจากสนามรบ ไปตั้งพิธีนิกุมภิลา (ซึ่งเราเรียกกันว่า “กุมภนิยา”) บูชายัญด้วยเลือด เพื่อจะทำตนให้เปนกายสิทธิ์

(๑๗) วานรนำความไปทูลพระรามว่าเห็นอินทรชิตฆ่านางสีดา แต่พิเภษณ์ทูลว่าเปนกลอุบายของอินทรชิตเท่านั้น อินทรชิตได้ไปยังทุ่งกุมภิลาแล้ว เพื่อทำพิธีชุบตัวให้อยู่คงและให้หายตัวได้โดยสนิท จนแม้เทวดาก็ไม่อาจแลเห็นได้ แต่ถ้าศัตรูทำลายพิธีเสียได้ก่อนที่สำเร็จ อินทรชิตจะตาย เพราะมีพรหมลิขิตชัดอยู่ฉนั้น พระรามจึ่งตรัสใช้พระลักษมณ์ไปทำลายพิธีนิกุมภิลา ให้พิเภษณ์ไปด้วยเพื่อเปนที่ปฤกษา

(๑๘) พระลักษมณ์กับพิเภษณ์ยกไปช่วยกันทำลายพิธีนิกุมภิลาของอินทรชิต พิเภษณ์เปนผู้ไปกั้นทางไว้มิให้อินทรชิตเข้าถึงต้นนิโครธ ซึ่งเปนสูนย์กลางแห่งมหานิกุมภิลาเวที (ซึ่งถ้าอินทรชิตถึงได้แล้ว นับว่าพิธีสำเร็จ) อากับหลานรบกันก่อน แต่พระลักษมณ์ห้ามพิเภษณ์มิให้รบต่อไป เพราะการที่อาจะฆ่าหลานไม่เปนการสมควร พระลักษมณ์จึ่งเข้าต่อสู้เอง พลวานรกับพลยักษ์ก็ต่อสู้กันเปนสามารถ จนอากาศมืดไปด้วยลูกศรแลสาตราวุธที่สาดซัด อินทรชิตรบจนรถหัก จึ่งเลี่ยงเข้าไปในนครลงกา หารถเปลี่ยนใหม่ได้อีกคัน ๑ จึ่งกลับออกมารบอีก อินทรชิตกับพระลักษมณ์ต่างแผลงศรแข่งฤทธิ์กัน คืออินทรชิตแผลงยามะศร (คือศรพระยม) พระลักษมณ์ก็แผลงโกเวรศร (ศรของท้าวกุเวร) ไปสู้กระทบกันเปนไฟลุกลามทั่วไป พระลักษมณ์จึ่งแผลงวารุณศรเปนน้ำไปดับไฟและไหลไปท่วมยักษ์ อินทรชิตแผลงโรทรศรเปนลมพัดน้ำไปหมด แล้วอินทรชิตจึ่งแผลงอาคเณยาสตร์ ซึ่งพระลักษมณ์สู้ด้วยศรสุริยาสตร์ อินทรชิตแผลงอสุรศรเปนสาตราวุธต่างๆ พระลักษมณ์ก็สู้ด้วยศรมเหศวราสตร์ ในที่สุดนี้พระลักษมณ์จึ่งแผลงศรเอนทราสตร์ไปตัดหัวอินทรชิตล้มลงตาย ทศกรรฐได้ทราบข่าวว่าลูกตายก็คลั่ง จะไปฆ่านางสีดา เพราะหาว่าเปนสาเหตุ แต่มหาปรรศวะห้ามไว้ จึ่งได้สติมิได้ทำร้ายนางสีดา

[เมื่อถึงตอนนี้ ตามรามเกียรติ์ของเรากล่าวว่าให้ไปเชิญมูลผลัม และท้าวสหัสเดชะมาด้วย แต่ในฉบับสังสกฤตไม่ได้กล่าวถึงท้าวสหัสเดชะเลย จึ่งเข้าใจว่า คงจะเปนเรื่องที่ได้มาจากแห่งอื่นอีก]

(๑๙) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๒ ยกออกไปพร้อมด้วยมโหทร มหาปรรศวะและวิรูปักษ์ วิรูปักษ์ถูกสุครีพฆ่าตายก่อน แล้วสุครีพฆ่ามโหทรอีกตน ๑ และมหาปรรศวะถูกองคทฆ่าตาย แล้วพระรามกับพระลักษมณ์จึ่งรบกับทศกรรฐ ต่างแผลงศรต่อสู้กัน คล้ายๆ อินทรชิตกับพระลักษมณ์ ทศกรรฐจับหอกหมายพุ่งไปฆ่าพิเภษณ์ แต่พระลักษมณ์เข้ากันไว้จึ่งถูกหอกแทน แล้วฝ่ายทศกรรฐก็หนีเข้าลงกา พระรามถอนเสียได้ แต่พระลักษมณ์สลบไปไม่ฟื้น พญาสุเษนจึ่งทูลพระรามให้ใช้หนุมานไปยังเขามโหทัย ไปเก็บยาสำคัญชื่อวิศัลยกรณี ๑ สวรรณกรณี ๑ สัญชีวกรณี ๑ สันธยาณี ๑ หนุมานก็ไปชลอมาทั้งเขาเช่นครั้งก่อนอีก พระลักษมณ์และบรรดาไพร่พลที่ต้องสาตราวุธ เมื่อได้กลิ่นยาก็ฟื้นขึ้นหมด

(๒๐) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๓ ทศกรรฐยกออกมาอีก แผลงศรแข่งกับพระรามคล้ายๆ คราวก่อนอีก พระอินทรเห็นว่าพระรามต้องรบอยู่กับพื้นดิน แต่ทศกรรฐขี่รถ ดูเปนการไม่สมควร จึ่งใช้ให้พระมาตุลีนำรถลงมาถวายให้พระรามใช้ในการสงคราม [ในรามเกียรติ์ของเรา พระอินทรถวายรถแต่เมื่อจองถนนเสร็จแล้ว] ทศกรรฐถูกศรและอาวุธต่างๆ มากจนสลบไป นายสารถีเห็นดังนั้นก็ขับรถไปเสียจากสนามรบ แต่ทศกรรฐพอฟื้นขึ้นก็ให้นายสารถีขับรถกลับไปสู่สนามรบอีก

(๒๑) กล่าวถึงพระอคัสตยมุนี มีความปราถนาจะให้พระรามสังหารทศกรรฐได้ จึ่งเหาะมาเฝ้าพระราม มาบอกมนตร์อาทิตยหฤทัยให้เพื่อเล่าบ่นในเมื่อจะสังหารทศกรรฐ [ที่ว่าพระรามได้ดวงใจทศกรรฐนั้น คือได้มนตร์อาทิตยหฤทัยนี้เองกระมัง คงไม่ใช่ได้ดวงใจจริงที่ถอดใส่กล่องฝากฤษี เรื่องหนุมานไปหลอกเอาดวงใจจากพระโคบุตรนั้น ก็น่าจะเปนเรื่องซึ่งตอนมาจากหนังสืออื่นอีกเรื่อง ๑ ซึ่งเปนเรื่องของหนุมาน ดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]

(๒๒) ทศกรรฐยกกลับเข้ามารบอีก แผลงศรสู้กันอีก พระรามแผลงศรไปตัดหัวทศกรรฐขาด แต่พอหัวนั้นตกถึงดิน ก็มีหัวเกิดขึ้นมาใหม่แทน เปนดังนี้ทุกครั้ง พระรามก็เปลี่ยนไปยิงที่อื่น แต่ทศกรรฐก็ไม่ตาย รบกันอยู่เช่นนี้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ในที่สุดพระมาตุลีทูลเตือนให้พระรามแผลงศรพรหมาสตร์ ศรถูกอกทศกรรฐแตกแยะเปนสองภาค ขาดใจตาย

ต่อนี้ไปก็กล่าวถึงนางมณโฑทรีและนางสนมอื่นๆ ออกมาครวญแล้วพิเภษณ์กับท้าวมาลียวันจึ่งจัดการฌาปนกิจปลงศพทศกรรฐตามประเพณี แล้วพระรามจึ่งตรัสสั่งให้จัดการราชาภิเษกพิเภษณ์ให้เปนราชาครองนครลงกา ให้พระลักษมณ์เข้าไปรดน้ำอภิเษก (เพราะพระรามเองไม่เสด็จเข้าไปในเมือง) ราชาพิเภษณ์รับอภิเษกแล้วออกไปเฝ้าถวายบังคมและถวายเครื่องสักการะแด่พระราม

พระรามจึ่งตรัสใช้หนุมานให้เข้าไปเฝ้านางสีดาเพื่อแถลงเหตุการณงานสงคราม แล้วจึ่งตรัสให้พิเภษณ์ไปเชิญนางสีดาออกมายังพลับพลา แต่พระรามไม่ยอมรับนางสีดา จึ่งต้องจัดการลุยไฟเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ บรรดาเทวดาก็มาเปนพยานพร้อมกัน ครั้นนางสีดาเข้ากองไฟ พระเพลิงก็ชูนางไว้มิให้เปนอันตราย และพระอิศวร พระพรหม และท้าวทศรถซึ่งเปนเทวดาแล้วนั้น จึ่งอำนวยพร แลพระรามขอพรพระอินทรให้บรรดาวานรที่ตายในสนามรบกลับฟื้นขึ้น พระอินทรก็ประสาทให้

ครั้นถึงเวลาอันควร พระรามจะเสด็จกลับกรุงศรีอโยธยา พิเภษณ์จึ่งนำบุษบกมาถวายให้ทรง พระรามก็ขึ้นทรงบุษบกพร้อมด้วยนางสีดา และพิเภษณ์ สุครีพ กับบริวารก็ตามเสด็จในบุษบกนั้นด้วย พอได้ฤกษ์บุษบกอันเทียมหงส์ก็ลอยไปในอากาศ แวะที่เมืองกีษกินธ์รับมเหษีสุครีพและชายาพญาวานรอื่นๆ แล้วลอยต่อไป จนถึงวันคำรบ ๕ ก็ถึงอาศรมพระภรัทวาชมุนี หยุดพักที่นี้ แล้วพระรามจึ่งตรัสให้หนุมานล่วงน่าไปนครศรีอโยธยา ให้แวะบอกข่าวแก่พญาคุหะ ผู้เปนอธิบดีแห่งพวกนิษาท ณเมืองศฤงคเวร แล้วจึ่งให้ไปยังนนทิคามที่สถิตย์พระภรต หนุมานก็ไปเฝ้าพระภรตทูลข่าว พระภรตและพระศัตรุฆน์ก็มีความโสมนัศ ตรัสสั่งให้เตรียมถนนหนทาง และเตรียมขบวนแห่ นางเกาศัลยา นางสุมิตรา และนางไกเกยีก็ออกมาต้อนรับพระรามถึงนนทิคาม แล้วพระรามก็เสด็จเข้าสู่กรุงศรีอโยธยา สั่งให้จัดการราชาภิเษกตามราชประเพณี พระวสิษฐมุนีผู้เปนปุโรหิตสรวมมงกุฎถวาย และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แล้วพระรามก็ประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้มีความชอบตามสมควร

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ราชาสุครีพกับพญาวานรทั้งปวงทูลลากลับไปยังนครกีษกินธ์ และราชาพิเภษณ์ทูลลากลับไปนครลงกา ฝ่ายพระลักษมณ์นั้น พระรามจะโปรดให้เปนมหาอุปราช แต่พระลักษมณ์ไม่ยอมรับ จึ่งโปรดตั้งให้พระภรตเปนมหาอุปราช

ต่อนี้ไปพระรามก็ทรงกระทำพิธีสำคัญต่างๆ สำหรับมหากษัตร์ มีอาทิคือ พิธีโปณฑริกา พิธีอัศวเมธและพิธีพาชีเมธ พระรามทรงราชย์อยู่ตั้งหมื่นปี ได้ทำพิธีอัศวเมธถึง ๑๐ ครั้ง [การทำพิธีอัศวเมธเปนของสำคัญจึ่งต้องอวด ใครยิ่งได้ทำมากครั้งก็ยิ่งดี เช่นท้าวศักระทำพิธีอัศวเมธถึง ๑๐๐ ครั้ง จึ่งได้เปนใหญ่ในหมู่เทวดา เปนจอมสวรรค์]

ในขณที่พระรามทรงราชย์อยู่นั้น บ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุขทั่วไป ราชตระกูลก็รุ่งเรือง พระรามเองก็บริบูรณด้วยโภคสมบัติ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บไม่มี โจรผู้ร้ายมิได้เบียดเบียฬไพร่บ้านพลเมือง อาณาประชาชนตั้งอยู่ในศีลในธรรม พระรามพระชัณษายืน มีโอรสตั้งพัน

ในที่สุดแห่งยุทธกัณฑ์นี้ จึ่งมีคำแสดงคุณแห่งคัมภีร์รามายณว่า มีคุณวิเศษต่างๆ ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้ และปราถนาสิ่งใดก็จะได้สมปราถนา จะเจริญในอายุ วรรณ ศุข พล และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็จะได้ไปสู่พรหมโลก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ