๔
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองเสน่หา |
สมสู่อยู่ด้วยพระราชา | อยู่มาก็ได้เจ็ดขวบปี |
คิดถึงบิตุเรศมารดา | จะละห้อยคอยหาทั้งสองศรี |
จะชวนสมเด็จพระภูมี | ไปเยี่ยมบูรีกับลูกยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ร่าย ฯ
๏ คิดแล้ว | จึงทูลผัวแก้วเสน่หา[๑] |
พระองค์จงทรงพระเมตตา | แต่ข้ามาอยู่ก็หลายปี |
รำลึกถึงบิตุเรศมารดา | แก่เฒ่าชราไม่รู้ที่ |
ขอเชิญสมเด็จพระพันปี | พาข้าน้อยนี้ไปพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุงกุฎฟังน้องเสน่หา |
เจ้าจะไปเยี่ยมเยียนพระพารา | พี่ยาจะไปด้วยเทวี |
จำเราจะขึ้นไปอำลา | บิตุเรศมารดาเกิดเกศี |
ทรงเครื่องเรืองรัตน์รูจี | ชวนโฉมเทวีกับลูกยา |
พร้อมทั้งสุรางค์นางใน | ตามเสด็จท้าวไทถ้วนหน้า |
พระเจ้าบทบาทยาตรา | ไคลคลาขึ้นเฝ้าพระบิตุรงค์ ฯ |
ฯ ๖ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึงจึงชวนกันกราบกราน | พระผู้ผ่านพิภพสูงส่ง |
ทูลแถลงแจ้งกิจพระบิตุรงค์ | ด้วยโฉมอนงค์นารี |
บัดนี้โฉมนางพิกุลทอง | เศร้าหมองจะไปเยี่ยมเกิดเกศี |
จะกราบลาบิตุเรศชนนี | แต่ในสามปีจะกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ศิลป์ไชยผู้รุ่งฟ้า |
กับนางสุพรรณผู้มารดา | ได้ฟังลูกว่าจะลาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลูกรัก | จะขัดนักก็เคืองอัชฌาศัย |
เจ้าจะไปกับเมียก็ตามใจ | อวยชัยให้พรพระลูกยา |
เรียกเอานัดดามานั่งตัก | จูบโฉมชมพักตร์เสน่หา |
โอ้เจ้าจะไกลอัยกา | จะตั้งใจบ่นหาทุกราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเรืองศรี |
รับพรบิตุเรศชนนี | จึงตั้งอัญชุลีกราบลา |
พระเสด็จมาสั่งเสนาใน | ให้เอาสำเภาทองมาทอดท่า |
ขนเครื่องบรรทุกเภตรา | ...[๒] ต้นหนให้เตรียมไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ สั่งแล้วเสด็จเข้ามา | ทรงเครื่องอลังการ์ไม่ช้าได้ |
ทรงศรกับสังข์คู่ใจ | ชมโฉมทรามวัยกับลูกยา |
พร้อมทั้งนักสนมกรมใน | ส่งเสด็จท้าวไททั้งวงศา |
พอได้พิไชยฤกษ์พา | ยาตราลงสู่สำเภาทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ เสมอ ฯ
๏ บัดนี้ | ต้นหนคนงานทั้งผอง |
เห็นเสด็จลงสู่สำเภาทอง | ได้ฤกษ์แล้วให้ชักใบ |
ถอนสมอตีม้าล่อระงม | ยิงปืนระดมหวั่นไหว |
เป่าสังข์ทั้งแตรเซ็งแซ่ไป | บัดใจก็เคลื่อนสำเภามา ฯ |
ฯ ๔ คำ โล้ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางกาสุวรรณยักษา |
เป็นน้องกาชาวอสุรา | สำแดงฤทธาในนัที ฯ |
ฯ ๒ คำ กราว ฯ
๏ เห็นสำเภาทองของมนุษย์ | พระพิไชยมงกุฎเรืองศรี |
ฆ่าพี่กูม้วยชีวี | ครั้งนี้จะลองฤทธิไกร |
เอาพี่ไปไว้เป็นเมีย | ฆ่าพี่กูเสียให้ตักษัย |
ถึงกูจะม้วยบรรลัย | ให้ฦาชื่อไว้ว่าน้องเมีย |
บันดาลคลื่นลมระงมมา | จะให้เภตรานั้นล่มเสีย |
พี่เขยจะลองกับน้องเมีย | ตายเสียให้ฦๅชื่อไวั |
ว่าแล้วก็เข้าขวางหน้า | ไม่ให้เภตรานั้นไปได้ |
โลดโผนโจนจับสำเภาไว้ | ตีด้วยกระบองอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด ฯ
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงฤทธิ์กระบองไชย | สำเภาใหญ่แตกไปมิได้ช้า |
เที่ยวค้นจะจับพระราชา | เทพเจ้าบังตาอสุรี |
ฝูงคนซึ่งอยู่ในเภตรา | เป็นเหยื่อกับฝูงปลาม้วยเป็นผี |
เร่งกริ้วโกรธใจอสุรี | ไม่พบภูมีก็กลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองศรีใส |
สำเภาแตกล่มจมนํ้าไป | คว้าหาภูวไนยกับลูกยา |
ให้มามืดมนเป็นพ้นไป | ทรามวัยไห้พลางกันแสงหา |
ดั่งชีวิตจะม้วยมรณา | ฝูงปลาชะลอเอาเจ้าไป |
ว่ายพลางชะแง้แลหา | จะเห็นพระราชาก็หาไม่ |
นางภาวนาพลางทางว่ายไป | กันภัยที่ท้องพระคงคา |
เจ้าว่ายแต่นํ้าตุ๋มตุ๋ม | กระทุ่มแต่นํ้าอยู่ฉ่าฉ่า |
หิวโหยโรยแรงนางกัลยา | ปิ้มว่าจะจมน้ำไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระสมุทรเป็นใหญ่ |
ซึ่งอยู่รักษาสมุทรไท | สงสารทรามวัยจะมรณา |
อย่าเลยมากูจะช่วยส่ง | อย่าให้โฉมยงเจ้าสังขาร์ |
นิมิตเป็นขอนไม้มิได้ช้า | ลอยรี่เข้าหานางทรามวัย ฯ |
ฯ ๔ คำ โล้ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองหมองไหม้ |
โผเข้ากอดเอาขอนไม้ | คลื่นซัดไปฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ นางขึ้นเลียบอยู่บนหาดทราย | โฉมฉายชะแง้แลหา |
คอยดูผัวรักกับลูกยา | โศกาพ่างเพียงจะขาดใจ |
พ่อเจ้าประคุณของเมียเอ๋ย | ทรามเชยพรัดไปอยู่ไหน |
เป็นเวรเป็นกรรมได้ทำไว้ | ที่ไหนเมียนี้จะเป็นตัว |
ครั้งหนึ่งยักษ์ทำให้พลัดพราก | ครั้งนี้มาจากทั้งลูกผัว |
ถึงสิ้นชีวิตไม่คิดตัว | ขอพบอยู่หัวกับลูกยา |
ว่าพลางนางข้อนทรวงร่ำ | นํ้าเนตรซึมซาบลงอาบหน้า |
เกลือกลงกับฝั่งพระคงคา | พ่างเพียงกัลยาจะขาดใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ โอด ฯ
๏ ครั้นว่าค่อยสร่างสมประดี | จะนิ่งอยู่ฉะนี้ก็มิได้ |
เกลือกว่ายักษามาเที่ยวไพร | จับได้จะม้วยมรณา |
จึงเปลื้องสไบทรงทำธงไว้ | ชลเนตรหลั่งไหลทั้งซ้ายขวา |
เดินพลางเหลียวดูพระคงคา | จนสุดสายตาเข้าลับไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ชาตรี ฯ
๏ เดินมา | เข้าป่าระหงดงใหญ่ |
เทพเจ้าเบื้องบนเข้าดลใจ | ฝูงสัตว์สิ่งไรไม่ราวี |
ลุถึงเวฬุจักรนัครา | เพลาพลบค่ำย่ำแสงศรี |
เหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าหลายราตรี | เทวีเข้าอยู่ใต้ต้นไทร |
คิดถึงสามีกับลูกยา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
ลดองค์ลงพิงต้นไม้ | ร่ำไรจนผล็อยม่อยนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ช้า ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ท้าวไทวิรุฬจักรยักษา |
ครองเมืองเวฬุจักรนัครา | ศักดาอานุภาพเกรียงไกร |
นักสนมแปดหมื่นสี่พัน | สาวสาวสกรรจ์ไม่นับได้ |
เมืองน้อยร้อยเอ็ดกรุงไกร | ปูนปองถวายบรรณาการ |
เธอมีพระราชบุตรี | ชื่ออรุณวดียอดสงสาร |
ฝ่ายพระมเหสีนงคราญ | เยาวมาลย์สู่สวรรคาลัย[๓] |
วันหนึ่งเข้าที่ไสยา | ยักษานิมิตเป็นข้อใหญ่ |
ฝันว่าได้ดาวอันสุกใส | ตกในพระหัตถ์อสุรา |
รัศมีสว่างกระจ่างไป | พลัดตกหายไปจากหัตถา |
ผวาตื่นจากที่ไสยา | ยักษาออกท้องพระโรงไชย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เสมอ ฯ
๏ พร้อมทั้งอสูรเสนา | เข้ามาบังคมประนมไหว้ |
พร้อมทั้งโหรนอกโหรใน | จึงดำรัสตรัสไปแก่โหรา |
คืนนี้เวลาปัจจุสมัย | กูฝันหลากใจเป็นหนักหนา |
ว่าดาวดวงหนึ่งโสภา | ตกลงมาที่แท่นบรรทมใน |
ในฝันว่าได้ชมชิด | รัศมีวิจิตรแจ่มใส |
แล้วมากลับกลายหายไป | กูอัศจรรย์ใจเป็นพ้นนัก |
ขุนโหรโหราทั้งหลาย | ทำนายให้เห็นประจักษ์ |
แล้วยังมีเทวาสุรารักษ์ | มาควักดวงเนตรของกูไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ฝันนี้ | จะร้ายจะดีเป็นไฉน |
จงเร่งทำนายทายไป | ที่ในสุบินของกูมา ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรนอกในซ้ายขวา |
คูณหารขับไล่ในตำรา | มิช้าก็ทูลขึ้นทันใด |
ฝันว่าได้ดาวดวงหนึ่งนี้ | จะได้นางศักดิ์ศรีสูงใหญ่ |
ท้าวจะได้ภิรมย์ชมยาใจ | แต่มิได้ร่วมรสประเวณี |
จะได้เชยชมแต่ภายนอก | หยิกหยอกปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
แต่นางนั้นไซร้ไม่ไยดี | ด้วยมิใช่คู่อสุรา |
ฝันว่าเทวามาควักเนตร | จะเกิดเหตุเสียบุตรท้าวยักษา |
แม้นมิเหมือนคำของโหรา | ขอถวายชีวาในครานี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรยักษี |
ได้ฟังขุนโหรทูลคดี | อสุรีกริ้วโกรธพิโรธใจ |
อันธรรมดาว่าสตรี | มันจะมีศักดิ์ศรีไปถึงไหน |
ยศศักดิ์ของมันสักเท่าไร | เมื่อได้มาอยู่ในมือกู |
เหตุไรว่านางมิร่วมรัก | ไม่สมัครสมาคมสมสู่ |
โฉลกคัมภีร์ที่เรียนรู้ | มึงรํ่าเรียนต่อครูผู้ใดมา |
ท้าวเร่งพิโรธโกรธใจ | ดั่งเพลิงผลาญลามไหม้ในเวหา |
ตรัสสั่งมหาเสนา | เอาอ้ายโหราไปจำไว้ ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ ครั้นว่าสั่งแล้วท้าวยักษา | ร่านร้อนวิญญาณ์ดั่งเพลิงไหม้ |
โหราทำนายทายไว้ | ว่าจะได้เอกองค์นารี |
ให้เดือดร้อนพระทัยจะไปป่า | ตรัสสั่งเสนายักษี |
ให้เตรียมพหลมนตรี | แต่ในบัดนี้จงเร็วรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ส่งโทน ฯ
๏ สั่งเสร็จเสด็จเข้าที่สรง | สำอางองค์วิจิตรเลขา |
สอดใส่สนับเพลาเพราตา | จีบโจงภูษาอันงามดี |
สอดทั้งชายไหวชายแครง | กระหนกกระหนาบสวมแดงแสงศรี |
ฉลององค์ยงยิ่งอย่างดี | สอดใส่สร้อยมณีจินดา |
เกราะเพชรเก็จแกมหน้าหลัง | นาคเกี้ยวเครือกระจังทั้งซ้ายขวา |
ทองกรธำมรงค์รจนา | ทรงมหามงกุฎวุฒิไกร |
ทรงจักรคทาธรศรสิทธิ์ | ฤทธาดั่งจะแข่งพระสุริย์ใส |
ยืนบนเกยแก้วแววไว | ให้ยกพลไกรจากพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ กราว ฯ
๏ มาถึง | ยังที่อรัญพงป่า |
ยักษีจึงมีพระบัญชา | เสนาเร่งตั้งพลับพลาไชย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาสั่งกันทันใด | บัดใจก็แล้วทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรยักษี |
ได้ฟังมหาเสนี | อสุรีเสด็จขึ้นพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ เอนองค์ลงเหนือปัจถรณ์ | เร่งร้อนพระทัยใฝ่หา |
ถึงที่ความฝันอสุรา | โหราทำนายทายไว้ |
ว่าจะได้เอกองค์นารี | ยักษีรำจวนครวญใคร่ |
จึงเผยพระแกลแลไกล | เห็นไปว่าองค์นางเทวี |
ผุดลุกผุดนั่งตั้งคอยหา | แล้วกลับเข้ามาพลับพลาศรี |
สติอารมณ์ไม่สมประดี | อสุรีก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มารพวกทหารน้อยใหญ่ |
เห็นท้าวเข้าที่บรรทมใน | เที่ยวจับสัตว์ในพนาวา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ เที่ยวไล่โคถึกมฤคี | ยักษีจับกินเป็นภักษา |
พากันเล็ดลอดสอดมา | แลเห็นกัลยานารี |
รูปร่างเจ้างามดั่งเทวา | มานอนอยู่ไยในไพรศรี |
บางว่าจะกินนางเทวี | บ้างว่าอย่างนี้ฝากเจ้านาย |
ด้วยว่าท่านท้าวเธอร้อนรน | ยกรี้กรีพลมาขวนขวาย |
จะได้รางวัลเป็นมากมาย | ทั้งหลายเห็นชอบทุกตัวคน |
ที่โง่เง่าให้เฝ้าอยู่รักษา | ที่มีปัญญาก็เสือกสน |
จะใคร่ได้หน้าทุกตัวคน | รีบร้นวิ่งแข่งกันเข้ามา ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | ยังที่ประตูอยู่รักษา |
ทุ่มเถียงโจษกันนี่นันมา | เร่งเปิดทวาราจะเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรฤทธิไกร |
ได้ยินเสืยงอื้ออึงคะนึงไป | ท้าวไทก็ตื่นจากนิทรา |
สั่งให้เปิดบานทวารไชย | มันได้อะไรมานักหนา |
ได้ยินเสียงเถียงกันเป็นโกลา | เร่งบอกกูมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนากราบทูลท้าวยักษี |
ข้าไปได้พบนางนารี | นอนหลับอยู่ที่ใต้ต้นไทร |
ทรงเบญจกัลยาณี | สตรีในโลกไม่เปรียบได้ |
แม้นได้มาครองภพไตร | กับองค์ท้าวไทจะสมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ ฟังเสนี | อสุรีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ฟังกล่าวถึงโฉมนิ่มนวลจันทร์ | ดั่งได้ผ่านไอศวรรย์ชั้นฟ้า |
พระองค์รีบรัดบทจร | ไม่ทันทรงอาภรณ์ภูษา |
พระองค์เสด็จลีลา | สั่งให้เสนานำหน้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ มาเห็น | โฉมนางยังนอนอยู่หลับไหล |
ให้ห้ามปากเสียงสกลไกร | ท้าวไทก็เสด็จเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ชมโฉม ฯ
๏ นั่งลงข้างองค์นางโฉมตรู | พิศเพ่งเล็งดูทั้งซ้ายขวา |
งามทั้งดวงพักตร์ลักขณา | กามารัญจวนป่วนใจ |
สองเต้าตั้งดั่งดอกบัว | ยิ่งยั่วยวนจิตพิสมัย |
อย่าเลยจะปลุกนางทรามวัย | ให้เจ้าตื่นจากนิทรา |
เจ้าลุกขึ้นเถิดนางทรามวัย | เจ้ามานอนอยู่ไยที่ในป่า |
ปลุกพลางทางยุดนางกัลยา | กลัวว่าตื่นแล้วจะแล่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองศรีใส |
ค่อยตื่นฟื้นองค์ทรามวัย | แลไปก็เห็นพญามาร |
นางผาดแผดร้องขึ้นสุดเสียง | เพียงหนึ่งพระกาลมาสังหาร |
มาช่วยเมียด้วยพระภูบาล | ลูกเอ๋ยมาช่วยพระมารดา |
บัดนี้ยักษีผีเสื้อ | มันจะกินเนื้อเป็นภักษา |
ร้องพลางนวลนางเจ้าหลับตา | จะแลดูยักษาก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรยักษี |
ลูบโลมรับขวัญนางเทวี | มารศรีจะกลัวพี่ไยนา |
พี่ใช่ยักษีผีเสื้อ | เดินป่าล่าเนื้อเป็นภักษา |
เชื้อสกุลยักษีมีศักดา | เชื้อวงศ์พงศาล้วนเทวัญ |
เพลาเช้าพี่ไสยา | นิทราเคลิ้มจิตนิมิตฝัน |
โหราทำนายทายทักพลัน | พร้อมกันว่าฝันพี่ดีนัก |
ว่าพี่จะได้มเหสี | สกุลวงศ์พงศ์พีอันมีศักดิ์ |
ได้มาประสบพบน้องรัก | อัคเรศอย่าได้มาตกใจ |
ขอเชิญท้าวน้องไปครองเมือง | อันรุ่งเรืองเป็นสุขแจ่มใส |
จะมอบเวนสาวสรรกำนัลใน | ให้เจ้าเป็นใหญ่ในนาริน |
นักสนมหกหมื่นสี่พัน | จะให้เป็นกำนัลเจ้าหมดสิ้น |
เจ้าอย่ากังขาราคิน | เชิญไปเป็นปิ่นนัครา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองคลอเนตรทั้งซ้ายขวา |
ได้ฟังพญามารกล่าววาจา | ว่าจะเสน่หาเป็นไมตรี |
แม้นว่าตัดพ้อมิง้องอน | จะหํ้าหั่นบั่นรอนให้เป็นผี |
คิดแล้วจึงตอบไปทันที | ให้ท้าวยักษีแจ้งใจ |
ข้านี้ลูกเต้าผัวมี | จะพรหมจารีก็หาไม่ |
ลูกผัวพลัดพรากจากไป | ข้าร้องไห้คนเดียวเที่ยวมา |
อันซึ่งจะให้ครองกรุงไกร | เจ้าประคุณยกไว้เหนือเกศา |
เป็นคนเมามัวชั่วช้า | อันข้อนี้ยักษาจงควรฟัง |
ขึ้นชื่อว่าใจอกุศล | พ้นจัตุราบายที่ไหนมั่ง |
ความรักชักหน่วงเป็นห่วงรั้ง | ถ้าประมาทพลาดพลั้งจะเสียตัว |
อันข้อคำสัตย์ตัดชีวิต | ใครคิดคืนหลังจะยังชั่ว |
สตรีที่นอกใจผัว | มืดมัวไม่พ้นจัตุราบาย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรฦๅสาย |
ได้ฟังถ้อยคำร่ำภิปราย | จึงกล่าวธิบายตอบไปพลัน |
ถ้อยคำว่านั้นหลักแหลม | แนมเหน็บเจ็บปวดกวดขัน |
ทั้งหว่านทั้งล้อมป้องกัน | ใครจะรู้เท่าทันนางกัลยา |
เมื่อเจ้ามานอนอยู่กลางดิน | สิงห์สัตว์จะกัดกินเป็นภักษา |
ลูกผัวอยู่ไหนไม่ตามมา | ปดเปล่าเดาว่าให้เบื่อใจ |
หรือผัวเจ้านอนอยู่แนบข้าง | พี่เบียดเสียดเข้ากลางหรือไฉน |
เมื่อของตกแล้วเราเก็บได้ | บาปกรรมจะได้ไฉนนา |
หรือเจ้าทำคิดนอกใจ | แหนงหน่ายในความเสน่หา |
เขาแกล้งล่อลวงเอาเจ้ามา | ทิ้งไว้ในป่าแล้วหนีไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ได้ฟัง | นางคั่งแค้นอกหมกไหม้ |
นางจึงโต้ตอบคำไป | มิได้คิดเกรงอสุรี |
มาหยักเหยาเซ้าซี้ไม่อินัง | น่าเกลียดน่าชังท้าวยักษี |
ยิ่งบอกว่าลูกผัวมี | ขืนมาพาทีแต่ชอบใจ |
แม้นผัวข้าอยู่ได้เห็น | ที่ไหนจะทำเป็นแก่ข้าได้ |
ข้าไม่ยักยอกนอกใจ | กรรมมีจึงได้มาจากกัน |
จะมาทำผิดไม่คิดบาป | เห็นแต่จะได้ลาภก็ตัวสั่น |
ไม่คิดว่าภัยในนรกนั้น | จะสังหารชีวันพันทวี |
ต้นงิ้วหนามคมเสมือนกรด | ยมบาลไม่ลดท้าวยักษี |
แร้งกาจิกทึ้งอยู่อึงมี่ | ยักษีไม่คิดอาตมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เจ้าพี่ | อย่าพาทีปดเปล่าเล่าว่า |
นรกหมกไหม้ที่ไหนมา | หรือว่าใครเห็นสักกี่คน |
มาพบเจ้านอนอยู่เอกา | พี่จะพาเจ้าไปให้เป็นผล |
พี่ผิดเมียท่านก็หลายคน | จะขึ้นงิ้วสักต้นก็ไม่มี |
ว่าพลางตระโบมโลมไล้ | ถอยหนีพี่ไยนางโฉมศรี |
หรือเจ้ามิยอมเป็นเมียพี่ | จะหํ้าหั่นชีวีไว้ในป่า |
.......................... | ..........................[๔] |
เลือดเนื้อจะเป็นเหยื่อแก่ยักษา | จะคิดว่ากระไรนางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ อย่าคิด | ถึงจะสิ้นชีวิตไม่ถอยหนี |
ผัวสองครองข้าไม่ไยดี | สู้ม้วยเป็นผีด้วยสัจจา |
มาฟันเสียเถิดท้าวยักษี | ให้ดับชีวีสังขาร์ |
จะเอากายไปเกิดในเมืองฟ้า | ขอแต่สัจจาข้าคงไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรฤทธิไกร |
กริ้วโกรธฮึดฮือคือไฟ | จะใคร่ฆ่าฟันนางกัลยา |
แม้นกูจะหํ้าหั่นฟันนาง | เสียดายรูปร่างนางนักหนา |
เสียแรงคิดหวังตั้งใจมา | เป็นเอกอัครกัลยาในกรุงไกร |
เหมือนหนึ่งลูกไก่อยู่ในมือ | ทางหรือจะขัดแข็งได้ |
คิดแล้วก็สั่งพลไกร | ให้เตรียมรถไว้จงเร็วรา |
สั่งแล้วพญายักษี | กำชับมนตรีซ้ายขวา |
แม้นกูเข้าอุ้มนางกัลยา | อสุรามึงโห่เอาไชย |
ว่าแล้วเสด็จเข้ามา | กล่าวเกลี้ยงโอภาปราศรัย |
เข้าโอบอุ้มองค์นางทรามวัย | ขึ้นใส่รถไชยเข้าพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ โอด ฯ
โอ้ ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองทรงโศกา |
โอ้ว่าครั้งนี้จะมรณา | จะมิได้เห็นหน้าพระสามี |
โอ้เจ้ารักเจ้ายมของแม่เอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยไม่รู้ที่ |
เมื่อครั้งหนี่งแม่เป็นชะนี | ได้ลูกสองศรีมาคิดการ |
ครั้งนี้ยักษาหามาไว้ | ไหนเลยจะได้คืนสถาน |
ในอกหมกไหม้ดั่งไฟกาล | นงคราญปิ้มจะม้วยมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุฬจักรยักษา |
เห็นนางมาร่ำโศกา | ปลอบว่านิ่งอยู่อย่าร่ำไร |
พี่จะให้เป็นใหญ่ในกรุงยักษ์ | ให้นงลักษณ์ครอบครองอย่าหมองไหม้ |
อีกทั้งนักสนมกรมใน | จะมอบให้เจ้าสิ้นทั้งบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองขัดแค้นยักษี |
ด้วยคำพญาอสุรี | ดั่งเกศีจะขาดจากกายา |
คิดแล้วจึงร้องว่าไป | เหวยอ้ายจังไรริษยา |
เป็นไรไม่อยู่ท่าพระราชา | ดีแล้วหนีมานี้ว่าไร |
เห็นกูเป็นสตรีมาขี่ข่ม | จะสู้ด้วยคารมหากลัวไม่ |
กว่าจะสิ้นเสียงกูบรรลัย | ไม่ปราศรัยมึงแต่สักนิด |
สิ้นชายแล้วหรือในธรณี | จะเอาอ้ายเดียรถีย์มาเชยชิด |
อ้ายเหล่าร้ายขี้ขโมยทุจริต | เปลื้องปลิดลักเมียของเขามา |
ให้ลูกรักเมียรักตายจากอก | ให้มึงตกอวิจีจงนักหนา |
อย่าให้ทันไปถึงพารา | ให้อสุนีผ่าเศียรมึงแตกตาย |
อย่าให้ทันสั่งบุตรภรรยา | ทั้งโคตรวงศาทั้งหลาย |
พระธรณีจงแยกสูบกาย | ฉิบหายที่กลางมรคา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ขุนมารกริ้วโกรธเป็นนักหนา |
สตรีคนนี้อหังการ์ | เผชิญเกินมาทุกทีไป |
มาแช่งชักด่าทอพ้อตัด | ใครมั่งจะมิขัดอัชฌาศัย |
เห็นว่ากูรักทำหนักไป | จะฟันให้ย่อยยับลงกับรถ |
เป็นหญิงแสนคมคารมกล้า | หยาบช้าด่ากูเป็นสาหส |
นางร้องดิ้นรนอยู่บนรถ | รากษสปิดปากนางเข้าไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองแค้นขัดอัชฌาศัย |
มึงมาปิดปากกูไว้ไย | กูจะด่าให้ยับไปบัดนี้ |
กูไม่อยากยอมไปเป็นเมีย | จะหํ้าหั่นบั่นเสียให้รู้ที่ |
มึงฟันกูลงเสียบัดนี้ | ดีกว่าที่จะหาเอากูไป |
เจ้าข้าเอ๋ยนี่แน่ะไม่ยอมด้วย | จะหํ้าหั่นให้ม้วยตักษัย |
ดูเอาเถิดเงือดงดอดไว้ไย | ฟันเสียให้ตายไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ชิชะท้าทายกูแค้นนัก | เหตุว่ากูรักว่ารูปดี |
หาไม่อะไรอย่างนี้ | ทีเดียวก็จะม้วยเป็นจุณไป |
ว่าแล้วเร่งรัดนายสารถี | ตีต้อนรีบร้นพลไพร่ |
นางจะด่าทอสักเท่าไร | นิ่งเสียมิได้นำพา ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึงเสด็จเข้าในที่ | สั่งนางสาวศรีถ้วนหน้า |
ให้ไปรับองค์นางกัลยา | พาเข้าไปไว้ปราสาทไชย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำนัลรับสั่งบังคมไหว้ |
ออกไปรับองค์นางอรไท | พาเข้าไปไว้ห้องทอง ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ พานางมาถึงปรางค์ใน | โลมเล้าเอาใจอย่าเศร้าหมอง |
พญายักษ์ตั้งใจปูนปอง | จะได้ครองสมบัติทั้งพารา |
จัดแจงให้อยู่บัลลังก์แก้ว | กวาดแผ้วหมดจดหนักหนา |
เสร็จแล้วก็ชวนกันออกมา | จากห้องไสยาทุกคนไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองก็หมองไหม้ |
อยู่ในห้องคนเดียวเปลี่ยวใจ | ซบพักตร์รํ่าไรโศกา |
โอ้คราทีนี้จากผัว | น่าที่จะเสียตัวด้วยยักษา |
อสุรีมาบีฑา | เห็นว่าไม่พ้นอัประมาณ |
นางจึงยอกรบังคมไหว้ | เทพไท้แล้วตั้งอธิษฐาน |
เดชะข้าขอต่อภูบาล | ไม่คิดการยักยอกนอกใจ |
.......................... | ..........................[๕] |
ขอให้เปล่าปลอดรอดภัย | ให้ได้พบผัวรักกับลูกยา |
นางพิษฐานพลันทันใด | ชลเนตรหลั่งไหลทั้งซ้ายขวา |
นางซบพระพักตร์ลงโศกา | ฉายาพิลาปร่ำไร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามารผ่านภพเป็นใหญ่ |
ส่งนางไปอยู่ปรางค์ปราสาทไชย | หมายใจคำนึงถึงกัลยา |
โฉมสร้อยสุดสวาดิบาดตาพี่ | วันนี้จะได้ลงไปหา |
คิดแล้วยักษีมีศักดา | แปลงกายกายาบัดเดี๋ยวใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ฯ
ชมตลาด
๏ ทรงโฉมฉายเฉิดเลิศฟ้า | ในโลกโลกาไม่เปรียบได้ |
อ้อนแอ้นแม้นเทพตรึงษ์ไตร | ทรงเครื่องวิไลละลานตา |
ทิ้งทอดพระกรอ่อนระทวย | พระนาดนวยกรีดกรทั้งซ้ายขวา |
ออกจากห้องปรางค์รจนา | ลีลาลงมาตำหนักจันทน์ ฯ |
ฯ ๔ คำ เพลงฝรั่ง ปีนตลิ่ง ฯ
๏ มาถึง | จึงเห็นทวารทองนั้นปิดมั่น |
เคาะเคาะพระเคาะใบดาลพลัน | ขวัญตามารับพี่ฉับไว |
เจ้าบังอรนอนหลับแล้วหรือยัง | เจ้าอาวรณ์คิดถึงพี่บ้างหรือหาไม่ |
วันนี้ฤกษ์งามยามไชย | เราจะได้เสพสมภิรมย์กัน |
ร่ายเวทสะเดาะทวารไชย | เข้าไปนั่งลงริมจอมขวัญ |
กับผัวของเจ้ากระไรกัน | ผินพักตร์มาดูพี่ก่อนรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองขัดแค้นเป็นหนักหนา |
บิดเบือนพักตร์ผินไม่นำพา | แกล้งด่ายุงเปรียบให้เจ็บใจ |
พอเห็นยุงริ้นบินมา | กัลยาเจ้าด่าประชดให้ |
เหม่เหม่อ้ายยุงจังไร | หมายใจจะกินแต่เลือดกู |
เนื้อหนังกำนัลขันที | อ้ายยุงบัดสีไม่อดสู |
จะสับให้ยับกับมือกู | ทุดอ้ายแสนรู้เร่งถอยไป |
เหวยเหวยอ้ายยุงสองหน้า | กูจะด่าจะสับไม่หวาดไหว |
มันจะข่มเหงกูสักเท่าไร | หัวมึงจะปลิวไปดังสับปลา ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ ยักษี | ได้ฟังพาทีนางเปรียบด่า |
ได้อายสาวสรรกัลยา | ในอกยักษาให้เตรียมตรม ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พาที | เจ้าจะด่ายุงนี้ไม่เหมาะสม |
ชิชะเจ้าแกล้งแต่งคารม | เห็นสมแล้วหรือว่าด่าสัตว์ |
ว่ายุงมากัดเอาได้ | มันขบเอาที่ไหนเข้าสนัด |
เจ้าจึงพิโรธโกรธฟัด | ขบกัดเอาเจ้าได้กี่ที |
อสุรีพิโรธโกรธใจ | ทันใดก็กลับเป็นยักษี |
สิบเศียรยี่สิบกรอสุรี | ถือพระขรรค์ไชยศรีเข้าฟาดฟัน ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ .......................... | ..........................[๖] |
เดชะความสัตย์ของนางนั้น | พระขรรค์ก็หักออกทันที |
จะประโยชน์อะไรอีขี้ริ้ว | .......................... |
เขาทิ้งเสียแล้วมาถึงนี่ | เช่นนี้กูไม่ขอพบมึง |
ว่าเป็นราพณ์ร้ายอสุรา | ยศฐาไม่เยี่ยมเทียมถึง |
เจ้าป้องกันว่าพี่จะเคล้าคลึง | เจ้าเลือกเอาให้ถึงที่หนำใจ |
จะส่งไปเป็นทาสชาวครัว | .......................... |
.......................... | ให้เขาจิกหัวเอาไว้ใช้ ฯ |
ฯ ๘ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึงนายวิเสทซ้ายขวา | ให้เอากัลยามาส่งให้ |
รับสั่งให้จำตรากตรำไว้ | ให้แล้วนางในก็กลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
[๑] เริ่มความในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๘
[๒] เอกสารหนังสือสมุดไทยชำรุด
[๓] เนื้อความตอนนี้กล่าวถึงมเหสีของท้าววิรุฬจักรว่าสิ้นชีวิตแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อความตอนท้ายเรื่องที่กล่าวว่ามเหสีของท้าววิรุฬจักรยังมีชีวิตอยู่ ดังความว่า
“ ๏ เมื่อนั้น | นางพญากำสรดน่าสงสาร |
เห็นลูกเขยมาประณตบทมาลย์ | นงคราญรับคมประนมกร...” |
[๔] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๕] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๖] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป