๕
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎผู้รุ่งฟ้า |
วันเสียสำเภาเภตรา | ฉวยคว้าได้ลูกทั้งสององค์ |
แลหาไม่พบองค์เทวี | กำลังคลื่นอสุรีนั้นตีส่ง |
ขึ้นขี่สังข์สิทธิ์ฤทธิรงค์ | กับลูกสององค์เที่ยวดูไป |
ขับสังข์ไปตามกระแสชล | จะพบมิ่งนิฤมลก็หาไม่ |
หรือปลากินเสียประการใด | หรือขึ้นฝั่งได้กระมังนา ฯ |
ฯ ๖ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึง | ยังริมพระสมุทรทะเลใหญ่[๑] |
เหลือบแลไปเห็นผ้าสไบ | ทำธงปักไว้ริมหาดทราย |
พระองค์ก็เสด็จเข้าไป | ..........................[๒] |
.......................... | .......................... |
จำได้ว่าของนางโฉมฉาย | พิกุลทองตกมาเรี่ยรายอยู่ |
หลากแหลกแปลกใจเป็นพ้นรู้ | หรือเจ้าซุ่มอยู่ที่แห่งใด |
กู่ก้องร้องหาเมียแก้ว | ตามแถวโตรกเตรินเนินไศล |
รักยมพ่อเอ๋ยทำกระไร | ชลนัยน์ฟูมฟองนองพักตรา |
ได้ยินเสียงนกร้องก้องไพร | แว่วไปเหมือนน้องร้องเรียกหา |
ฟังไปใช่เสียงนางกัลยา | ก็โศกาพิลาปร่ำไร |
ได้ยินเสียงชะนีร้องโหยหวน | เหมือนเสียงนิ่มนวลเจ้าร้องไห้ |
เจ้าเรียกพี่โน่นแล้วแก้วกลอยใจ | พาลูกสายใจเที่ยวมองหา |
ครั้นว่าฟังไปมิใช่แก้ว | ข้อนทรวงเข้าแล้วกันแสงหา |
สุดใจผัวแล้วเจ้าแก้วตา | เดินทรงโศกาตามทางไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ โอด ฯ
ทยอย
๏ เมื่อนั้น | นางนกสาลิกาเสียงใส |
ทำรังอยู่บนต้นไทรใหญ่ | แลเห็นท้าวไทกับลูกยา |
เดินทรงโศกาตามทางไป | คิดสงสารใจเป็นหนักหนา |
จึงร้องไปพลันมิทันช้า | พ่อลูกโศกาด้วยเหตุใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎหยุดฟังนกถามไถ่ |
จึงบอกนุสนธิ์แต่ต้นไป | พรัดเมียเราไซร้ที่คงคา |
พ่อลูกสามคนดั้นด้นไพร | ติดตามทรามวัยขนิษฐา |
ยังรู้บ้างหรือนางสาลิกา | เมตตาจงบอกให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พันปี | เรารู้คดีจะบอกให้ |
นางไปทางนี้จำชี้ไป | นานแล้วก็ได้เจ็ดราตรี |
นางร้องไห้สั่งเนื้อความไว้ | แม้นเห็นท้าวไท้ลูกสองศรี |
ให้เร่งติดตามจรลี | ภูมีจงเร่งติดตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎรู้แจ้งไม่สงสัย |
..........................[๓] | แม้นไปได้พบนางกัลยา |
จะสนองคุณเจ้าเป็นที่เลิศ | ค่อยอยู่ก่อนเถิดนางปักษา |
อยู่เป็นผาสุกทุกเวลา | อวยพรปักษาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | พระวสิษฐ์ฤๅษีอันเป็นใหญ่ |
อยู่ในแว่นแคว้นแดนไพร | สุริย์ใสพอค่ำย่ำเวลา |
กองกูณฑ์พิธีระดมไฟ | จะให้เรืองฤทธิ์แรงแสงกล้า |
ตั้งพรตตบะประสมยา | หลับตาอ่านเวทในกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเรืองศรี |
เดินตัดลัดป่าพนาลี | สุริย์ศรีเลี้ยวลับพระเมรุไกร |
จันทรส่องสว่างพ่างพื้น | ร่มรื่นเงียบสงัดทั้งป่าใหญ่ |
พาลูกเดินตามพนาลัย | เห็นแสงไฟสว่างข้างคีรี |
ลูกเอ๋ยเตรียมตัวจงฉับไว | ดีร้ายแดนไตรของยักษี |
มันจับแม่เจ้าไว้ไม่รู้ที | พระขึ้นศรศรีค่อยย่องมา |
ให้ลูกถอดถือพระขรรค์ไชย | ท้าวไทสังเกตว่ายักษา |
แม้นยักษ์พ่อจะฆ่าให้มรณา | ชิงเอามารดาของเจ้าไป |
ว่าแล้วดำเนินเดินมา | แอบเงาชายป่าเข้าให้ใกล้ |
จึงเห็นดาวบสยศไกร | เถกิงกูณฑ์อยู่ในที่ศาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เจรจา ฯ
๏ พ่อลูกก็ชวนกันเข้าไป | กราบไหว้บังคมเหนือเกศา |
พระดาวบสจงทรงพระเมตตา | ข้าขออาศัยสักราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์โคดมฤๅษี |
จึงปราศรัยไถ่ถามด้วยปรานี | โฉมศรีจะไปแห่งใด |
สามคนพ่อลูกองอาจมา | ในป่าระหงดงใหญ่ |
หรือเป็นกษัตริย์พรัดเมืองไกล | บอกให้รู้แจ้งแห่งคดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎบอกแจ้งเป็นถ้วนถี่ |
ข้าเสียสำเภาในวารี | พรัดกับเทวีที่คงคา |
ข้าจึงพาลูกขึ้นฝั่งได้ | รู้ข่าวทรามวัยเพราะปักษา |
จึงมาพบองค์พระอัยกา | เมตตาจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาวบสรู้แจ้งแห่งโฉมศรี |
หนทางยังไกลในพงพี | ต่อรุ่งพรุ่งนี้จึงคลาไคล |
จัดแจงที่บรรณศาลา | ให้พระราชาอยู่อาศัย |
หยุดพักหลับนอนสำราญใจ | ตามไปก็จะพบเป็นไรมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ได้ฟัง | พระทรงสังข์ประณตบทศรี |
พระเข้าปรนนิบัติพัดวี | แล้วให้สองศรีเจ้านิทรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ตระ ฯ
๏ รุ่งแล้ว | พาสองลูกแก้วเสน่หา |
ทั้งสามก็ชวนกันวันทา | กราบลาเจ้าตาจะคลาไคล |
พระดาวบสค่อยอยู่จงดี | ครองกิจพิธีให้ผ่องใส |
จะขอพรพระอาจารย์ชาญชัย | ทั้งสามจะได้เป็นมงคล |
พระอาจารย์ช่วยพิจารณา | ข้าจะไปพนาวาไพรสณฑ์ |
ยังจะพบนิ่มน้องนิฤมล | จะไปตำบลหนทางใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์ผู้มีอัชฌาศัย |
ดูในทิพญาณทันใด | ก็รู้แจ้งใจในปัญญา |
ตัวเจ้าจะได้คู่ครอง | แต่จะต้องรบพุ่งกับยักษา |
แล้วจะพบเมียรักของราชา | ตามทิศบูรพาจงเร่งไป |
กูจะให้แหวนน้อยใบหนึ่งนี้ | ศักดิ์สิทธิ์ฤทธีแปลงตัวได้ |
แม้นว่าจะนึกเป็นอันใด | จำแลงแปลงได้ทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎชื่นชมหฤหรรษ์ |
รับแหวนแล้วกราบลงฉับพลัน | ทั้งสามอภิวันท์พระมุนี |
แล้วทำประทักษิณสามรอบ | นบนอบกราบกรานพระฤๅษี |
ยาตราออกมาจากกุฎี | ตามทิศมุนีให้ฤกษ์ไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ ตามมา | ในป่าระหงดงใหญ่ |
เทพเจ้าเมืองบนเข้าดลใจ | เข้าแดนภพไตรอสุรา |
พลบค่ำย่ำเย็นลงอยู่ไรไร | ภูวไนยก็ลุถึงสวนขวา |
ของพระบุตรีศรีโสภา | ลับตามารหมู่อสุรี |
พาพระลูกยาเข้าอาศัย | สุมทุมพุ่มไม้ในสวนศรี |
แต่พอลับหมู่อสุรี | ต่อรุ่งพรุ่งนี้จะคลาไคล ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | นางอรุณวดีศรีใส |
เป็นบุตรท้าววิรุฬจักรฤทธิไกร | ชันษาเจ้าได้สิบห้าปี |
จำเริญรุ่นสุนทรลักขณา | พักตราช้อยแช่มแจ่มศรี |
อันองค์สมเด็จพระชนนี | เทวีสู่สวรรคาลัย |
เมื่อจะได้คู่ครองของบังอร | ให้เดือดร้อนในจิตไม่ผ่องใส |
เคยไปเล่นอุทยานใน | ที่สวนดอกไม้อย่างทุกที |
จึงเรียกพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ | เราจะออกไปสวนศรี |
พี่ไปสั่งนักเทศขันที | ให้เตรียมวอมณีจินดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พี่เลี้ยงรับสั่งใส่เกศา |
เดินผาดนาดนวยออกมา | จากวังฉายาภิรมย์ใน |
จึงสั่งขอเฝ้าเจ้ากรม | นักสนมสาวศรีน้อยใหญ่ |
พระบุตรีจะเสด็จออกไป | ให้จัดแจงไว้ในบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ ครั้นว่าจัดแจงได้พร้อมแล้ว | คลาดแคล้วมาทูลพระโฉมศรี |
ได้พร้อมเสร็จแล้วพระเทวี | โฉมศรีจงทราบในพระทัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ชมตลาด ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีศรีใส |
สระสรงสนานสำราญใจ | เอาสุคนธ์ลูบไล้ละลายทา |
ใส่นํ้ามันกุหลาบอาบกลิ่น | ให้ซาบสิ้นทุกเส้นเกศา |
ผัดผ่องละอองพักตรา | กรีดกันเกศาบรรจงไร |
ภูษาก้านแย่งพื้นดำ | เลิศล้ำไม่มีใครเปรียบได้ |
ทรงสไบตาดทองยองใย | เนาวรัตน์ตรัสไตรจินดา |
ใส่สร้อยตาบประดับทับทรวงทรง | สอดพระธำมรงค์ทั้งซ้ายขวา |
ทองหลามอร่ามรจนา | ทรงพาหุรัดตรัสไตร |
ใส่ฉลองรัดเกล้าเพราเพริศ | ฉลุเลิศรักร้อยดอกไม้ไหว |
ทรงเสร็จเสด็จคลาไคล | ขึ้นเฝ้าท้าวไทพระบิดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึงจึงตั้งบังคม | ด้วยมโนภิรมย์หรรษา |
จะขอลาสมเด็จพระบิดา | ไปชมสวนขวาสำราญใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามารผ่านภพผู้เป็นใหญ่ |
ได้ฟังลูกน้อยกลอยใจ | จะลาไปเล่นสวนอุทยาน |
เจ้าอย่าเล่นอยู่ให้ช้านัก | นงลักษณ์พ่อยอดสงสาร |
จะไปเที่ยวเล่นให้สำราญ | สุริย์ฉานบ่ายคล้อยจงกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีเร่งหรรษา |
จึงถวายบังคมทูลลา | พี่เลี้ยงซ้ายขวาห้อมล้อมไป ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | ลงจากวอทองอันผ่องใส |
พร้อมทั้งนักสนมกรมใน | เที่ยวไปในสวนอุทยาน |
พระทองลดเลี้ยวเที่ยวชมไม้ | ตกกลาดดาษไปล้วนบุปผา |
พิศดอกช่อแย้มผกา | จำปาลำดวนหอมยวนใจ |
การะเกดกระดังงาสารภี | ซ่อนชู้มะลุลีบานไสว |
สายหยุดพุดตานตระการใจ | ล้วนพรรณดอกไม้นานา |
บ้างมาเล่นซ่อนเล่นไล่ | อื้ออึงคะนึงไปในสวนขวา |
ร้องลำขับโต้กันไปมา | ปรีดาภิรมย์ชื่นชมใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ เพลงฉิ่ง ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎพิสมัย |
มองตามสุมทุมพุ่มไม้ | แลไปเห็นโฉมพระบุตรี |
เล่นอยู่กับฝูงนางใน | สายสุดสวาดิใจอาลัยพี่ |
ทรงโฉมแช่มช้อยร้อยมาลี | อยู่กลางสาวศรีกัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เห็นแล้ว | บอกสองลูกแก้วเสน่หา |
เราจะซ่อนอยู่ฉะนี้มิลับตา | ยักษาตรวจตราระวังไว |
พ่อจะจำแลงเป็นสาลิกา | กับสองลูกยาพิสมัย |
ขึ้นอยู่บนพฤกษาให้พ้นภัย | เสกด้วยพระเวทศักดา |
................................. | .................................[๔] |
................................. | กลายเป็นสกุณาด้วยฤทธี |
สามตัวพ่อลูกก็บินวน | จับบนกิ่งไม้ตรงโฉมศรี |
พลอดเป็นภาษาสกุณี | หวังจะให้เทวีเจ้าชอบใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ลำ สาลิกา ฯ
๏ เจ้าสาลิกาแก้วพ่อ | ค่ำวันนี้หนอแก้วพ่อจะนอนไหน |
ลูกนกนั้นเล่าก็ว่าไป | .....................[๕] |
แม่เราหาไม่ | ไหนไหนก็นอนเถิดรา |
................................. | ................................. |
พ่อนกบอกลูกสองมา | ว่าพ่อจะหาแม่ให้ใหม่ครานี้ |
ลูกนกตอบพลันทันที | ................................. |
................................. | พ่อจะหาที่นี่เป็นเห็นชอบกล |
พ่อนกร้องตอบบัดเดี๋ยวดล | พ่อเห็นจะเป็นผลแล้วลูกยา |
................................. | ฝ่ายว่าลูกนกก็ร้องมา |
อยากกล้วยหนักหนา | บิดาจะคิดประการใด |
................................. | พ่อนกตอบลูกบัดใจ |
ร้องขอลงไป | ใจบุญจะให้ทานกิน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมศรีมีจิตคิดถวิล |
ฟังเสียงนกหลอดให้ยวนยิน | โฉมฉินพิศวาสจะขาดใจ |
รู้พลอดดั่งคนรู้เจรจา | ชะรอยว่าพรัดตรงมาแต่ไหน |
สุรเสียงไพเราะเพราะจับใจ | พิศวงหลงใหลด้วยสาลิกา |
จึงสั่งสาวสรรกำนัลใน | ให้เอากล้วยไปให้เจ้าปักษา |
ให้จัดของหวานใส่พานมา | ตามแต่สาลิกาจะขอบใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สาวที่รับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาจัดของด้วยบัดใจ | สาวใช้ก็ยกเข้ามา |
นวลนางพี่เลี้ยงร้องเรียกไป | พ่อจะกินอะไรเจ้าปักษา |
ลงมากินเถิดเจ้าสาลิกา | ลงมาเร็วเร็วจากต้นไทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุวรรณสาลิกาเสียงใส |
ร้องตอบสาวศรีไปทันใจ | จะเอากล้วยมาให้กูไม่เอา |
กูเป็นนกท้าวนกพญา | ไม่สมควรจะลงมาหาเจ้า |
ถ้าแม้นโฉมยงนงเยาว์ | นั้นแหละตัวเราจะลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีศรีใส |
โฉมนางเสด็จเข้าไป | ทรามวัยร้องเรียกเจ้าสาลิกา |
โอ้เจ้าขุนทองของแม่เอ๋ย | ทรามเชยจงบินลงมาหา |
กล้วยอ้อยของกินเราเอามา | เจ้าปรารถนากินสิ่งไร |
อยู่ด้วยกันเถิดเจ้าสาลิกา | แม่จะหากรงทองอันผ่องใส |
ลงมาเถิดพ่อมาเจ้ายาใจ | แม่จะเลี้ยงเจ้าไว้ทั้งสามตัว ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ได้ยิน | สาลิกาก็ยิ้มแย้มหัว |
ทำดั่งจะโผเข้าจับตัว | ร้องหัวแล้วพลอดเป็นคำใน |
มั่นคงแล้วหรือจะเลี้ยงกัน | จอมขวัญยังจะจำคำสั่งได้ |
ลวงล่อแต่พอให้ลงไป | แล้วจะไม่เหมือนดั่งวาจา |
ข้าคิดรักตัวกลัวภัย | ด้วยทรามวัยเป็นเชื้อยักษา |
ขัดใจแล้วจะฆ่าให้มรณา | แม้นให้สัจจาจะลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ฟังปักษี | เทวีจะรู้กลก็หาไม่ |
น้อยหรือถ้อยคำน่าเจ็บใจ | ช่างรู้กลอะไรพ้นปัญญา |
จึงว่าดูราเจ้าขุนทอง | คำของเราสัจจะไม่มุสา |
แม่จะเลี้ยงเจ้าไว้โดยสัจจา | หรือจะหนีลงมาก็ตามใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ จึงสั่งมหาเสนา | ขึ้นคล้องสาลิกาให้จงได้ |
แม้นได้สามตัวพ่อลูกไซร้ | เราจะให้ประทานรางวัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งขมีขมัน |
หาบ่วงหาข่ายได้ครบครัน | ชวนกันขึ้นคล้องสกุณา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงพระสุวรรณปักษา |
ตรัสสั่งทั้งสองพระลูกยา | ให้เสนาเขาคล้องเอาตัวไป |
แล้วทำเป็นเชิงมิใคร่จะบิน | ปักษินให้คล้องเอาตัวได้ |
ค่อยค่อยโลดโจนไม่บินไป | อยู่บนกิ่งไม้ชม้อยตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีปีนขึ้นบนพฤกษา |
ได้ทีคล้องพลันมิทันช้า | จับได้สาลิกาบัดเดี๋ยวใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ จึงพาเจ้านกนั้นเข้ามา | ถวายนางกัลยาไม่ช้าได้ |
โฉมนางชื่นชมภิรมย์ใจ | รับเอานกไว้ด้วยยินดี |
ทั้งลูกนกน้อยก็ได้มา | แม่จะหากรงทองอย่าหมองศรี |
สั่งให้รางวัลแก่เสนี | ให้มีบำเหน็จผู้ได้มา ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีเสน่หา |
เย็นรอนอ่อนแสงพระสุริยา | กัลยาจะกลับเข้าวังใน |
พานกสาลิกาขึ้นวอทอง | ปิดป้องกำบังพระสุริย์ใส |
พร้อมพรั่งนักสนมกรมใน | ตามเสด็จทรามวัยเข้าพารา ฯ |
นางอรุณวดีนำนกสาลิกาทั้งสามตัวเข้าไปเลี้ยงในวัง เมื่อเข้าไปอยู่ในวังแล้วพระพิไชยมงกุฎแปลงกายเป็นคน ได้นางอรุณวดีเป็นชายา และเกิดการสู้รบกับท้าววิรุฬจักร ห้าววิรุฬจักรพลาดพลั้งถูกศรสิ้นชีวิต[๖]
๏ เมื่อนั้น[๗] | พระพิไชยมงกุฎนาถา |
เห็นองค์สมเด็จพระมารดา | จึงยอกรวันทานางเทวี |
แล้วทูลว่าอย่าไห้อาลัยนัก | หน่อยจักประชวรไม่ควรที่ |
ลูกไม่หมายว่าแม่ของเทวี | ลูกนึกว่าชนนีของลูกยา |
อันองค์อสุรีที่ม้วยมิด | ลูกก็ผิดเธอก็พลั้งจึงสังขาร์ |
ลูกงอนง้อขอรักสมัครสมา | ท้าวยิ่งถือโทษาคิดฆ่าตี |
เหลือทนพ้นที่จะอดกลั้น | จึงหยิบศรกรกันท้าวยักษี |
เผอิญเคราะห์จำเพาะถูกภูมี | ถึงที่ชีวาตม์ขาดชะตา |
จงคิดปลงส่งสการเถิดผ่านเกล้า | อย่าสร้อยเศร้าอาลัยให้นักหนา |
เกิดกรรมจะสนองลูกสองรา | พระมารดายกโทษได้โปรดปราน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพญากำสรดน่าสงสาร[๘] |
เห็นลูกเขยมาประณตบทมาลย์ | นงคราญรับคมประนมกร |
พิศวงทรงบางร่างรัด | งามทัดอรุณดวงสมร |
ท่วงทีกิริยาว่าวอน | โอนอ่อนเอาใจไม่หยาบคาย |
ที่วิโยคโศกเศร้าถึงสามี | เทวีค่อยเบาบรรเทาหาย |
จึงตรัสกับลูกเขยภิเปรยปราย | ไม่ควรขุ่นวุ่นวายถึงเพียงนี้ |
จริงแล้วหนอเพราะเพื่ออกุศล | เข้าดลใจจอมจักรท้าวยักษี |
แม่ไม่ถือโทษาอย่าราคี | เหตุทั้งนี้ก็กรรมได้ทำมา |
แล้วว่ากับบุตรีศรีสมร | ไม่ห้ามปรามบิดรชังน้ำหน้า |
จนวุ่นวายตายเปล่าไม่เข้ายา | อายเขาหรือว่าเจ้าไม่อาย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ฟังมารดา | กัลยาประหวั่นขวัญหาย |
กราบทูลรำพันบรรยาย | เธอวางวายสำหรับลูกอัประมาณ |
ลูกห้ามท้าวไทก็ไม่โปรด | คาดโทษกริ้วตรัสประหัตประหาร |
ลูกทำชั่วกลัวตัวจะวายปราณ | เหมือนพาลฆ่าพ่อให้มรณา |
มาตุรงค์ทรงขรรค์นี้ฟันฟาด | ถึงเศียรขาดก็ควรกับโทษา |
อยู่ก็อายไม่วายคำนินทา | กัลยาทูลพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมารดรวอนปลอบลูกสาว |
แต่แม่ห้ามยังไม่ฟังเลยครั้งนี้ | หรือจะฟังเทวีเจ้าห้ามปราม |
จะโทษอื่นโทษไกลไม่เป็นผล | เพราะพระชนม์เธอสิ้นอวสาน[๙] |
แล้วหันหน้าว่ากับพระภูบาล | พ่อเป็นภารธุระด้วยช่วยจัดแจง ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงองค์บดินทร์ทูลแถลง |
ราชการมารดาอย่าระแวง | ทุกตำแหน่งจะให้เสร็จสำเร็จการ |
ทูลพลางทางจับศรสาตร์ | อภิวาทตั้งจิตพิษฐาน |
ยืนแยงแผลงโดยคัคนานต์ | ไปพิมานเนรมิตวิสสุกรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิดฉิ่ง ฯ
๏ ตกลงตรงสุวรรณมิทันช้า | เสียงสะท้อนฟากฟ้าโกลาลั่น |
ทุกองค์เทวฤทธิ์ปิดพระกรรณ | องค์ก็สั่นไม่เป็นสมปฤๅดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ยานี ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรมเรืองศรี |
แลเห็นศรสิทธิ์ฤทธี | ภูมิหยิบทอดทัศนา |
ศรทรงขององค์สังข์ศิลป์ไชย | มอบให้กับพระโอรสา |
จะมีเหตุเภทภัยในโลกา | เทวาส่องเนตรสังเกตไป |
แจ้งว่าพระไชยสุริย์วงศ์ | ใช้ศรมาเชิญองค์เป็นการใหญ่ |
ให้ทำเมรุยักษีที่บรรลัย | จะต้องไปให้ทันท่วงที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แล้วจัดแจงแต่งองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสรัศมี |
กรกุมมหาจินดาดี | ถือหางมยุรีระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ กลม ฯ
๏ ครั้นถึงจึงนั่งร่วมอาสน์ | เทวราชกล่าวความถามไถ่ |
ใช้ศรไปหามาทำไม | ท่านประสงค์สิ่งไรเร่งบอกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงฤทธิ์ทุกทิศา |
บอกพระวิษณุกรรมมิทันช้า | เชิญมาโปรดช่วยอำนวยการ |
ครั้นจะกะเกณฑ์ทำเมรุใหญ่ | ก็ลำบากบ่าวไพร่ในไพรสาณฑ์ |
พ่อนางโฉมฉายนั้นวายปราณ | เห็นแก่เยาวมาลย์ก่อนคราวนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวัญสำรวลสรวลศรี |
มันต้องอย่างนั้นแหละพันปี | ชั่วดีขุนยักษ์ศักดิ์พ่อตา |
ถึงไม่รักหากเห็นกับลูกสาว | จริงนะท้าวเรื่องบุราณการอาสา |
นี่หากเหิมเริ่มรักกัลยา | ต้องเอาหน้าประกวดอวดแม่ยาย |
ตรัสพลางทางเสด็จโยนแก้ว | แสงสว่างพร่างแพร้วเฉิดฉาย |
นึกเอาเมรุสุวรรณพรรณราย | แพรวพรายบนยอดคีรีศรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ฯ
๏ เกิดเป็นพระเมรุมรฑป | สารพันครันครบต่างสี |
ตรีมุขช่อฟ้าบราลี | เมรุทิศตั้งที่ประจำทิศ |
สำซ่างวางสวดธรรมขันธ์ | ราชวัติฉัตรชั้นไพจิตร |
ประทีปตั้งจังหวะชวลิต | รอกติดระย้าแก้วแววระยับ |
รูปสัตว์ตั้งถัดพานผ้าไตร | สังเค็ดใส่ใช้ฐานตั้งอันดับ |
มีโรงเลี้ยงคาวหวานประทานทรัพย์ | พลับพลาศรีที่ประทับข้างหน้าใน |
ช่องระทากำมพฤกษ์ก็มีครบ | ไม่ใคร่จบท้าวนึกรำลึกใส่ |
โรงหวานคาวของเคียงเรียงกันไป | เสร็จดังเทพไทจินตนา ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ จึงตรัสกับโฉมยงพระทรงศักดิ์ | เมรุนี้งามหนักเกินรักษา |
แล้วลากษัตริย์ขัตติยา | เหาะไปฟากฟ้าด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ตรัสสั่งยักษาธิบดี | ให้เชิญศพอสุรีขึ้นเมรุทอง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาบังคมประนมสนอง |
ออกมาตราตรวจทุกหมวดกอง | เลือกรองพลไพร่ไล่จัดกัน |
บ้างเทียบรถคอยประทับรับโกศ | บ้างก็โจษทุ่มเถียงกันเสียงสั่น |
เกณฑ์ให้ใส่ลอมพอกบอกทั่วกัน | ยกสุวรรณยานุมาศมาลาดปู |
จัดพระญาติของยักษ์ชักพระศพ | แต่งเครื่องครบเปล่งปลั่งอยู่ทั้งคู่ |
ไปนิมนต์สิทธาขรัวตาครู | ที่ท่านรู้เชี่ยวชาญอ่านพระธรรม์ |
เชิดโกศอำไพใส่รถแก้ว | ขนัดแถวนางห้ามตามโศกศัลย์ |
กลองตีปี่แจ้วเยือกแก้วกรรณ | สังข์แตรแซ่สนั่นเข้าเมรุทอง ฯ |
ฯ ๘ คำ นางหงส์ ฯ
๏ ยกโกศวางมหาเบญจามาศ | โอภาสรังสีไม่มีสอง |
นางร้องไห้ครวญคร่ำทำเป็นร้อง | เสียงโพธิ์แก้วโพธิ์ทองพร้อมพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ ฝ่ายพวกหุ่นงิ้วละครโขน | ก็ตั้งท่าท้าตะโพนกลองรัวลั่น |
มาดหมายเขม้นเล่นประชัน | เสียงครื้นครั่นสนุกทุกโรงงาน |
ยามเย็นเทวดาปาทานทิ้ง | บ้างช่วงชิงล้มลุกพลุกพล่าน |
เพลาค่ำกลองฟังก้องกังวาน | พวกคนพาลเมาเหล้าวิ่งราวกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ กราว ฯ
๏ มีงานเบ็ดเสร็จเจ็ดราตรี | พระภูมีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จึงตรัสกับกัลยาวิลาวัณย์ | จะปลงศพกุมภัณฑ์เวลานี้ |
บรรดาสาวสรรกำนัลใน | เสนาน้อยใหญ่ของยักษี |
ญาติวงศ์พงศาบรรดามี | จงจัดแจงอัคคีให้พร้อมไว้ |
พระองค์ทรงประทีปบุปผา | ขอสมาแล้วพระองค์ประจงใส่ |
มารดากัลยาพวกหน้าใน | ก็จุดไฟรุ่งโรจน์โชตนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ปี่กลอง ฯ
๏ เสร็จงานการศพยักษี | สามกษัตริย์เปรมปรีดิ์เป็นหนักหนา |
ตรัสสั่งมหาเสนา | เร่งตรวจตราตัวเราจะเข้าเมือง |
สามองค์เสร็จทรงเครื่องประดับ | แวววับเปล่งปลั่งมลังเหลือง |
ชวนฝูงกำนัลนางย่างเยื้อง | ทรงรถเรืองจำรัสชัชวาล |
ช้างม้าร่าเริงบันเทิงเสียง | สำเนียงรี้พลทวยหาญ |
โกฏิแสนแน่นพงดงดาน | คืนเข้าสถานพระพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ กราว ฯ
๏ ครั้นถึงจึงประทับรถทรง | พร้อมฝูงอนงค์ซ้ายขวา |
ต่างองค์ลีลาศยาตรา | ไปยังปรางค์ปราพรรณราย ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎสุริย์วงศ์ฦๅสาย |
ทั้งสองกุมารสำราญกาย | ค่อยสบายยินดีปรีดา |
อาทิตย์อัสดงลงลับไม้ | ชวนโฉมทรามวัยขนิษฐา |
กับสองลูกรักร่วมชีวา | สู่ที่ไสยาในราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ฯ
[๑] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้
[๒] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๓] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๔] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๕] เนื้อความในหนังสือสมุดไทยหายไป
[๖] เนื้อความตอนนี้ไม่ปรากฏในหนังสือสมุดไทย เข้าใจว่าต้นฉบับน่าจะขาดหรือชำรุด จึงทำคำอธิบายแทรกไว้เพื่อขยายความให้ต่อเนื่องกับเนื้อหาในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๗ (สวป.)
[๗] เริ่มความในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๗
[๘] เนื้อความตอนนี้กล่าวถึงมเหสีของท้าววิรุฬจักร ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อความตอนต้นเรื่องที่กล่าวว่าชายาของท้าววิรุฬจักรสิ้นชีวิตแล้ว ดังความว่า
“...เธอมีพระราชบุตรี | ชื่ออรุณวดียอดสงสาร |
ฝ่ายพระมเหสีนงคราญ | เยาวมาลย์สู่สวรรคาลัย...” |
[๙] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้