๒
๏ มาจะกล่าวบทไป | พระพิไชยมงกุฎ[๑]ฤทธิไกร |
เป็นบุตรท้าวสังข์ศิลป์ไชย | พระมารดานั้นไซร้ชื่อสุพรรณ |
พระชันษาเจ้าได้สิบเจ็ดปี | ลักขณาราศีเฉิดฉัน |
งามละม่อมพร้อมสิ้นทุกสิ่งอัน | สารพันเป็นที่จำเริญตา |
คิดจะใคร่ไปสรงชลธี | ยังที่ฉนวนน้ำประจำท่า |
ด้วยบุญเคยสมอบรมมา | กับโฉมกัลยาวิลาวัณย์ |
จึงสั่งพี่เลี้ยงไปทันที | ให้ผูกพาชีตัวขยัน |
สั่งเสนาในให้พร้อมกัน | เรานั้นจะไปสรงพระคงคา ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ สั่งพลางเสด็จบทบาท | จากราชนิเวศน์เลขา |
พระเสด็จขึ้นทรงอาชา | พี่เลี้ยงเสนาก็ตามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ กราวนอก ฯ
๏ มาถึงประทับท่าฉนวนนั้น | ไม่ทันที่จะผลัดพระภูษา[๒] |
จึงเห็นผอบนั้นลอยมา | วนอยู่ตรงท่าฉนวนใน |
หลากด้วยผอบใบนี้ | น่าจะมีเหตุผลเป็นไฉน |
ฤๅจะเป็นข้าศึกประการใด | จะมาลองฤทธิไกรฤๅไรนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ว่าแล้ว | พระแก้วหยิบสังข์มิได้ช้า |
แล้วเสี่ยงสังข์ขว้างลงในคงคา | ด้วยศักดานุภาพเกรียงไกร |
อันว่าสังข์ทองอันฤทธี | ลอยรี่เข้ามาหาช้าไม่ |
ช้อนได้ผอบพลันทันใด | มาถวายท้าวไทผู้ทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ พระรับเอาผอบมาเปิดดู | เห็นเส้นผมอยู่ในผอบนั้น |
งามสดศรีใสใครจะทัน | กลิ่นนั้นหอมฟุ้งขจรมา |
พระพินิจพิศดูเร่งอาวรณ์ | เห็นตัวอักษรอันเลขา |
พระอ่านดูพลันมิทันช้า | ใครได้ผอบข้าเร่งตามไป |
อยู่ในเภตราผู้เดียวนี้ | ปักษีมันกินเสียม้วยไหม้ |
แม้นเป็นคู่ครองของน้องไซร้ | ท้าวไทจงเร่งติดตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ร่าย ฯ
๏ พระก็ปิดผอบเสียทันใด | คลั่งคลุ้มพระทัยใฝ่ฝันหา |
ดังเจ้าผมหอมติดตามมา | พระราชาเคลิ้มหลงงงงวยไป |
พระทรงถือผอบเสด็จมา | จะรู้สึกกายาก็หาไม่ |
พระเสด็จเข้ายังวังใน | โยธาไสวห้อมล้อมมา ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ พระเสด็จขึ้นสู่ปราสาท | ลีลาศเข้าปรางค์อันเลขา |
เอนองค์ลงกับแท่นไสยา | เปิดฝาผอบขึ้นเชยชม |
อันมนุษย์ในต่ำใต้ฟ้า | ไม่ปรากฏรจนาเท่ากลิ่นผม |
โอ้กลิ่นนี้เอยได้เชยชม | จะภิรมย์สมสวาดิไม่คลาดน้อง |
เมื่อไรเลยจะได้สมอารมณ์หมาย | จะได้วายทุกข์ทนที่หม่นหมอง |
จะเปลี่ยวเปล่าอยู่กระไรในสัดจอง | พระกอดผอบทองแล้วหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ฯ
๏ รุ่งแจ้ง | พระอุทัยไขแสงสุริย์ใส |
พระตื่นจากบรรทมภิรมย์ใน | เสด็จไปขึ้นเฝ้าพระบิดา ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงทูลแถลงเหตุ | แก่พระบิตุเรศนาถา |
ว่าลูกไปสรงพระคงคา | ได้ผอบลอยมาแต่นัที |
ในผอบมีผมเส้นหนึ่งไซร้ | หอมระรื่นชื่นใจลูกพ้นที่ |
คลั่งคลุ้มกลุ้มใจใช่พอดี | โปรดเกศีเถิดพระบิตุรงค์ |
แม้นลูกมิได้ดังใจคิด | เห็นชีวิตลูกนี้จะผุยผง |
จะขอลาไปตามนางโฉมยง | พระบิตุรงค์จงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระบิตุเรศเรืองศรี |
ฟังพระลูกยาพาที | ภูมีตรึตรึกนึกใน |
เห็นว่าจะเป็นคู่เคยสังวาส | ด้วยพระราชโอรสศรีใส |
ตรัสปลอบลูกรักอย่าร้อนใจ | พ่อจะให้แต่งสำเภาพลัน |
ตรัสแล้วทรงธรรม์สั่งเสนา | อย่าช้าจงเร่งผายผัน |
หมายบอกวางเวรเกณฑ์กัน | ในวันพรุ่งนี้อย่าได้ช้า |
เร่งให้ไปทำสำเภาทอง | อันงามเรืองรองเลขา |
บาหลีที่ท้ายเภตรา | ประดับแก้วจินดาให้เรืองไร |
ปากปลาราโทท้ายสัดจอง | ฉลุฉลักลายทองผ่องใส |
จัดแจงนายช่างทั้งนั้นไป | ให้แล้วแต่ในบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกศี |
ออกไปสั่งกันทันที | เร่งรัดตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา สาธุการ ฯ
๏ ครั้นทำสำเร็จเสร็จแล้ว | เสนาคลาดแคล้วเข้ามาหา |
ก้มเกล้ากราบทูลพระราชา | เภตราเสร็จแล้วพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเรืองศรี |
ครั้นได้พิไชยฤกษ์ดี | ภูมีกราบลาพระบิดา |
ทั้งพระมารดาของภูเบศ | จบบาทเหนือเกศเกศา |
พระเสด็จลีลาศยาตรา | ออกมาจัดแจงแต่งองค์ |
ทรงเครื่องประดับสำหรับกระษัตริย์ | พิพัฒน์ไพบูลย์สูงส่ง |
ทรงพระขรรค์ศรสิทธิ์ฤทธิรงค์ | เสด็จลงสู่สำเภาทอง ฯ |
ฯ ๖ คำ เสมอ ฯ
๏ บัดนั้น | ต้นหนคนงานทั้งผอง |
เห็นพระเสด็จลงสำเภาทอง | ได้ฤกษ์โห่ร้องให้ชักใบ |
บ้างถอนสมอบ้างยิงปืน | ครึกครื้นสนั่นหวั่นไหว |
เป่าสังข์กระทั่งแตรเซ็งแซ่ไป | บัดใจเคลื่อนสำเภาทองมา ฯ |
ฯ ๔ คำ โล้ ลำ ฯ
๏ พระมงกุฎจึงโบกธงสะบัด | พระพายก็พัดมานักหนา |
หัวหกยกท้ายอยู่ไปมา | เภตราแล่นเรื่อยเฉื่อยไป |
พระชมแต่พรรณฝูงปลา | โลมาพ่นนํ้าอยู่ไสว |
ปลาวาฬว่ายเรียงเคียงกันไป | ฉลามโลดไล่เคล้าคลึงกัน |
ปลาทุกังว่ายเรียงเคียงคู่ | แมงดาราหูผาดผัน |
กะโห้เหรามีหลายพรรณ | ทรงธรรม์ดูเล่นจำเริญตา ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางกาขาวยักษา |
อยู่แดนพระสมุทรคงคา | เป็นทาสาของท้าวเวสสุวัณ |
ต้องสาปลงมาอยู่ช้านาน | รักษาชลธารกระแสสรรพ์ |
ทำอิทธิฤทธิ์ไกรใจฉกรรจ์ | บัดนั้นก็ผุดขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ กราวนอก ฯ
๏ เห็นสำเภาทองของมนุษย์ | ของพระมงกุฎเรืองศรี |
แลลอดสอดดูตามวารี | เห็นพระภูมีงามโสภา |
ยักษีมีใจสวาดินัก | จะใคร่ได้ร่วมรักเสน่หา |
จึงนิมิตบ้านเมืองให้โอฬาร์ | ที่ริมคงคาชลาลัย |
ยักษีนิฤมิตตนพลัน | ให้เป็นสาวสรรแจ่มใส |
ทรงโฉมประโลมละลานใจ | ชายใดได้เห็นเป็นขวัญตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ตระ ชมตลาด ฯ
๏ นุ่งผ้าพื้นแดงแย่งทอง | ห่มสไบกรองอันเลขา |
ทองกรอร่ามงามโสภา | ใส่แหวนซ้ายขวาเห็นน่าชม |
เจ้าทอดแขนกรีดเล็บเก็บมาลา | ทำจริตกิริยาก็งามสม |
สะบัดผ้าห่มเล่นให้เห็นนม | หวังจะให้ชายชมจำเริญตา |
ครั้นเห็นเภตราเข้ามาใกล้ | ทำเดินออกไปถวายหน้า |
ทำเดินผาดนาดนวยรวยมา | ทำเป็นตากผ้าด้วยราวทอง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฉุยฉาย ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎฤทธิไกรไม่มีสอง |
สถิตยังท้ายสำเภาทอง | ทอดพระเนตรตามช่องบาหลี |
เห็นเป็นบ้านเมืองอันโอฬาร์ | นางหนึ่งลักขณาแจ่มศรี |
ตรัสสั่งเสนาไปทันที | ภูมีให้ทอดสมอลง |
พระเสด็จขึ้นจากเภตรา | ลีลาดั่งพญาราชหงส์ |
พระดำเนินเข้าไปให้ใกล้องค์ | โฉมยงจึงมีพระวาจา ฯ |
ฯ ๖ คำ เพลง ฯ
๏ น้องเจ้าพี่ | มารศรีผู้ยอดเสน่หา |
บ้านเมืองประเสริฐโอฬาร์ | ไพร่ฟ้าผู้คนจึงไม่มี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางยักษ์ทำจริตบิดผันหนี |
นางจึงทำตอบไปทันที | พระพันปีประสงค์สิ่งอันไร |
ข้านี้เป็นคนกำพร้าอยู่ | หารู้ที่จะบอกออกมาได้ |
ขอเชิญพระองค์เร่งถอยไป | อย่ากันน้องไว้จะไคลคลา |
ว่าพลางทางทำบทจร | ทอดกรกรีดกรายทั้งซ้ายขวา |
ดูเอาอาจอุกรุกเข้ามา | ทำยุดฉุดคร่าน่าอายใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ น้องรัก | จำนงลักษณ์จักด่วนไปไหน |
จะถามความสักหน่อยจึงค่อยไป | มีธุระโตใหญ่มาติดตาม |
เจ้ารู้จักผมหอมบ้างฤๅไม่ | จงบอกพี่ไปอย่าเกรงขาม |
พี่ขี่สำเภามาติดตาม | โฉมงามนี้แล้วกระมังนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฟังถาม | นางแกล้งแต่งความหรรษา |
ถามถึงผมหอมน่าเวทนา | ข้าเจ้านี้แหละขาจะทำไม |
บอกแล้วทำชะม้ายชายหนี | ทำทีจะให้สงสัย |
เลี้ยวลอดหลีกเข้าทวารไชย | หวังจะให้พระองค์เจ้าตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเร่งหรรษา |
ไม่รู้เล่ห์กลมารยา | พระเดินตามเข้ามาถึงห้องใน |
เห็นนางนั่งอยู่บนแท่นทอง | พระเจ้าค่อยย่องเข้านั่งใกล้ |
จึงถามนวลนางทรามวัย | เหตุไรมาอยู่แต่ผู้เดียว |
อตส่าห์ติดตามเจ้างามมา | ฝ่าข้ามคงคาแม่นํ้าเขียว |
มาพบโฉมงามทรามเปลี่ยว | เหลียวพักตร์สักหน่อยจะขอลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ดูเอา | อาจอุกรุกเข้ามาหา |
จนกระทั่งถึงในที่ไสยา | เนื้อความจะว่าต่อกัน |
มิหนำซ้ำยึดสไบห่ม | เลียมลองต้องนมเป็นข้อขัน |
มาทำข่มเหงไม่เกรงกัน | ทำเล่นเช่นนั้นไม่ให้ไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เหนือเกล้า | ที่นี้ต้องเกาะกุมไว้ |
จะปรับไหมมากน้อยสักเท่าใด | เป็นไรเป็นกันในวันนี้ |
ว่าพลางยอกรเกี่ยวกระหวัด | รึงรัดลูบโลมนางโฉมศรี |
กามาเดือดดิ้นทั้งอินทรีย์ | สองศรีสู่สมภิรมย์ใน ฯ |
ฯ ๔ คำ โลม ตระ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎฤทธิไกร |
สมสู่อยู่ด้วยอรไท | ได้หลายราตรีนานมา |
เกศาที่หอมขจรกลิ่น | ก็หายไปหมดสิ้นเร่งกังขา |
เปิดผอบดูผมที่เอามา | กลิ่นฟุ้งโอฬาร์ขจรใจ |
ทั้งกลิ่นก็ผิดกันนักหนา | หรือจะเป็นยักษาเร่งสงสัย |
พระเจ้าเป่ามนต์สะกดไว้ | เสด็จไปสำเภาใช้ใบมา ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ แล่นมา | ถึงแดนปักษาที่หาดใหญ่ |
เห็นสำเภาห้าร้อยเรียงกันไป | ประหลาดใจไม่เห็นหมู่โยธา |
สั่งให้ทอดสมอลงทันที | ที่นี้ชอบกลเป็นนักหนา |
เหมือนคำที่ลอยผอบมา | สั่งทหารโยธาไปทันใด |
ให้เที่ยวค้นดูทุกเภตรา | ให้รู้กิจจาเป็นไฉน |
เหตุไรจึงเงียบสงัดไป | ถามไถ่ให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศา |
เร่งรัดทหารโยธา | เที่ยวค้นเภตราทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ เห็นแต่กระดูกกองก่าย | มากมายกว่าหมื่นอสงไขย |
จะเป็นโจรปล้นก็ผิดไป | เหตุไรข้าวของเต็มเภตรา |
ผิดแล้วชาวเราอย่าไว้ใจ | ดีร้ายบรรลัยด้วยยักษา |
ชวนกันมาทูลพระราชา | เห็นผิดนักหนาพระภูวไนย |
เห็นแต่กระดูกนั้นเกลื่อนกล่น | จะเหลือสักคนก็หาไม่ |
สิ่งของที่ลำสำเภาไซร้ | เต็มอัดยัดไปทุกเภตรา |
ขอทราบพระองค์ผู้ทรงไชย | แม่นแท้แน่ใจเป็นยักษา |
สำเภาห้าร้อยยังมรณา | เราน้อยตัวนักหนาพระพันปี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎยิ้มแย้มแจ่มศรี |
จะกลัวมันไยกับไพรี | จะต่อฤทธีไม่ขามใจ |
มันมาสักเท่าไรเราจะสู้ | หาได้ร้อนถึงหมู่โยธาไม่ |
สงบอยู่ดูทีประการใด | จะรู้แจ้งใจในท่วงที ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางพิกุลทองโฉมศรี |
อยู่ในห้องทิพรูจี | เทวีตั้งคอยทุกเวลา |
ได้ยินสำเนียงเสียงรี้พล | นิฤมลยินดีเป็นนักหนา |
มาจอดทอดอยู่ริมเภตรา | จะว่าต่างภาษาก็ผิดไป |
ฤๅจะเป็นที่ได้ผอบทอง | จะมาปกเกล้าน้องฤๅไฉน |
จะเป็นเสียงจีนจามก็ผิดไป | น่าจะเป็นพวกไทยเภตรา |
ออกมาเยี่ยมตามช่องมองดู | จะรู้แห่งอย่างไรจะไปหา |
อดสูดูร้ายพ้นปัญญา | เป็นหญิงแบกหน้าไปหาชาย |
เกิดมายังไม่เคยแก่ตัวเลย | อกเอ๋ยคิดมาน่าใจหาย |
ครั้นจะนิ่งอยู่ก็สู้ตาย | โฉมฉายหักใจแล้วไคลคลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เพลง โอ้ ฯ
๏ กราบลงที่ตรงหน้าฉาน | เยาวมาลย์คลอเนตรทั้งซ้ายขวา |
ซบพักตร์ลงทรงโศกา | พิกุลทองตกมาเรี่ยรายไป ฯ |
ฯ ๒ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเร่งผ่องใส |
กลิ่นผมหอมฟุ้งจรุงใจ | ท้าวไทเพ่งพิศวนิดา |
ยกเต้าพระสุคนธ์มาลูบพักตร์ | นงลักษณ์คลายแสนเสน่หา |
เห็นนางได้สมประดีมา | พระปราศรัยแก้วตายาใจ |
เกิดเหตุไฉนน้องเจ้าพี่ | พวกพลทั้งนี้ม้วยตักษัย |
พากันมาแต่เมืองใด | เหตุการณ์เป็นไฉนเจ้าพี่อา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองไม่กังขา |
เดิมทีแร้งยักษ์ศักดา | ไปอยู่กับยายตาถึงกรุงไกร |
แกล้งทำตะพานทองไปขอข้า | พระบิดาไม่รู้จึงยกให้ |
มันบอกว่าเป็นบุตรเจ้ากรุงไกร | พรัดพลไปในพนาลี |
พระบิดาจึงแต่งสำเภาให้ | มาจอดไว้มันกินเสียเป็นผี |
ตัวข้าย่านางช่วยปรานี | ชีวีจึงได้รอดมรณา |
โปรดเกล้าเกศาพาไปส่ง | ถึงองค์พระผู้เกิดเกศา |
แม้นไปถึงกรุงพระพารา | จะปรารถนาสิ่งใดไม่คิดตัว ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎได้ฟังก็ยิ้มหัว |
วาจาเสงี่ยมเจียมตัว | ความคิดเจ้าชั่วไปเมื่อไร |
พี่เพียรพยายามมาตามน้อง | เพราะได้ผอบทองผ่องใส |
ถึงเงินทองกองโกยสักเท่าไร | พี่พอหาได้เป็นไรมี |
อันตามดอกฟ้าหายอดยาก | สุดแสนลำบากนะโฉมศรี |
ถึงเพชรมรกตที่อย่างดี | ที่มีราคาค่าควรเมือง |
พี่มาตามแก้ววิเชียรได้ | ดังฤๅจะให้พี่ปลดเปลื้อง |
พี่จะพาเจ้าไปเป็นศรีเมือง | ให้รุ่งเรืองเฟื่องฟุ้งในนัครา |
ว่าพลางเล้าโลมโฉมสวาดิ | แอบอิงพิงพาดเสน่หา |
ถอยหนีพี่ไยนะแก้วตา | ฤๅว่ากัลยาไม่ปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ โปรดเกล้า | พระเจ้าจงโปรดเกศี |
พระองค์จงได้ปรานี | ใช่ที่จะพ้นไปเมื่อไร |
ขอพระองค์จงฆ่าอ้ายปักษา | ให้ม้วยมรณาเสียให้ได้ |
เสร็จแล้วข้าน้อยจะยอมไป | ท้าวไทจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เจ้าพี่ | บัดนี้อยู่ไหนอ้ายปักษา |
สักเวลาไรมันจะมา | แก้วตาจงบอกให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระภูมี | วันนี้มันจะมาหาช้าไม่ |
เจ็ดวันมาเยี่ยมทุกคราวไป | เคยได้กินคนอยู่อัตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาแร้งราชปักษา |
ครั้นถ้วนเจ็ดวันก็ไคลคลา | จึงพาบริวารบินไป |
ออกจากเขานิลกาฬา | บดบังสุริยาแสงใส |
สุรเสียงครืนครั่นสนั่นไป | มืดคลุ้มกลุ้มในธรณี ฯ |
ฯ ๔ คำ แผละ ฯ
๏ มาถึงหาดทรายที่เคยกิน | ปักษินร้องก้องเสียงศรี |
สำเภาทองของใครลำนี้ | คนมีมากน้อยสักเท่าไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎยิ้มแย้มแจ่มใส |
ยืนหัวสำเภาแล้วตอบไป | ถามเราว่าไรอ้ายใจพาล |
อันแร้งอื่นไซร้ไม่เหมือนมึง | ถึงตายจึงกินเป็นอาหาร |
มึงแร้งตายห่าอ้ายสาธารณ์ | สามานย์กินคนเสียทั้งเป็น |
มึงเคยไปลวงมากินได้ | บัดเดี๋ยวนี้ไซร้จะได้เห็น |
มึงจะบรรลัยไม่ทันเย็น | หัวมึงจะกระเด็นจากกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาแร้งเคืองขัดเป็นนักหนา |
โผผินบินลงไปด้วยฤทธา | กับหมู่ปักษาเข้าโจมตี |
พระมงกุฎรับหวดด้วยพระขรรค์ | หัวขาดสะบั้นลงกับที่ |
ตายกลาดดาษไปในชลธี | ด้วยฤทธิ์จักรีอันเกรียงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎฤทธิ์ลํ้าสุริย์ใส |
ครั้นฆ่าพญาแร้งบรรลัย | ให้เกณฑ์คนลงใส่เภตรา |
สำเภาห้าร้อยก็ชักใบ | เคลื่อนคลาออกไปจากท่า |
แล่นตามสำเภาทองมา | ด้วยเดชบุญญาพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | ยังเมืองพระมงกุฎกรุงศรี |
สำเภาทองทอดท่าทันที | พาโฉมเทวีขึ้นเฝ้าพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึงจึงตั้งบังคมบาท | บิตุราชมารดาเกษมสันต์ |
โฉมนางพิกุลทองดวงจันทร์ | ถวายอัญชุลีภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายโฉมสุพรรณมารดา | สวมกอดลูกยาพิสมัย |
บิดามารดาปรารมภ์ใจ | อาลัยไปถึงพระลูกยา |
แล้วตรัสชมโฉมศรีสะใภ้ | สมกันกระไรเป็นนักหนา |
พ่อจะให้หาฤกษ์เวลา | ทำขวัญลูกยาทั้งสองไท |
ลูกรักเจ้าไปเหนื่อยมา | เชิญไปปรางค์ปราสุกใส |
พ่อจะจัดให้หาฤกษ์ไชย | ที่จะได้สมโภชพระลูกยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิไชยมงกุฎเร่งหรรษา |
ชวนโฉมพิกุลทองกัลยา | บังคมลามายังปรางค์ทอง ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ สมสนิทพิสมัยในไสยาสน์ | มิได้คลาดชื่นชมภิรมย์สอง |
คลึงเคล้าเย้ายวนนวลละออง | ในแท่นทองเป็นสุขทุกนิรันดร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ โลม ตระ ฯ