๑
๏ เมื่อนั้น | นวลนางพิกุลทองกัลยา |
เป็นบุตรท้าวสันนุราชา[๑] | โสภากำดัดกระษัตรีย์ |
อันองค์พระราชมารดา | ชื่อพิกุลจันทรามารศรี |
ครองสันนุราชธานี | จำเริญศรีเลิศลํ้าอำไพ |
เกศานางหอมขจรกลิ่น | รวยรินไม่มีที่เปรียบได้ |
จะแย้มโอษฐ์เจรจาออกเมื่อใด | พิกุลทองก็ไหลจากโอษฐ์มา |
เมื่อเหตุจะถึงนางทรามวัย | ให้เดือดร้อนในใจเป็นนักหนา |
จะใคร่ไปสรงพระคงคา | ยังที่ท่าท้องฉนวนใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คิดแล้วเท่านั้นมิทันช้า | เรียกกันทลิมา[๒]พี่เลี้ยงใหญ่ |
ตัวน้องนี้ไม่สบายใจ | จะใคร่ไปสรงพระคงคา |
พี่ไปสั่งกำนัลนารี | นักเทศขันทีทั้งซ้ายขวา |
จะขึ้นไปทูลลาพระบิดา | แล้วจึงจะพากันคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกันทลิมาพี่เลี้ยงใหญ่ |
รับสั่งโฉมงามทรามวัย | บัดใจก็ลีลามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึงสั่งขอเฝ้าเจ้ากรม | นักสนมกำนัลถ้วนหน้า |
ว่านางจะไปสรงพระคงคา | ให้เตรียมวอรจนาคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ ครั้นสั่งสำเร็จเสร็จแล้ว | คลาดแคล้วกลับมาหาช้าไม่ |
กราบทูลโฉมงามทรามวัย | ข้าไปสั่งเสร็จสำเร็จแล้ว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองผ่องแผ้ว |
ได้ฟังพี่เลี้ยงว่าพร้อมแล้ว | นางแก้วประดับกายา |
สร้อยตาบประดับทับทรวงทรง | สอดพระธำมรงค์ทั้งซ้ายขวา |
ผัดพักตร์นวลละอองดังทองทา | กรีดกันเกศาบรรจงไร |
นางทรงประดับสรรพเสร็จ | เสด็จจากปรางค์ทองผ่องใส |
พร้อมด้วยสาวสรรกำนัลใน | เสด็จไปเฝ้าองค์พระบิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ เพลงช้า ฯ
๏ มาถึงจึงตั้งบังคม | ด้วยมโนภิรมย์หรรษา |
ทูลแถลงแจ้งกิจพระบิดา | ลูกจะลาไปเล่นนัที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเรืองศรี |
ได้ฟังลูกรักทูลคดี | จะไปเล่นนัทีสำราญใจ |
จึงมีพระราชบัญชา | แก่พระลูกยาพิสมัย |
จะไปเล่นคงคาชลาลัย | ตามแต่น้ำใจพระลูกยา |
ไปเล่นอย่าให้เย็นนัก | ลูกรักจงฟังบิดาว่า |
เย็นร้อนอ่อนแสงพระสุริยา | จงเร่งกลับมาเข้าวังใน |
แล้วกำชับพี่เลี้ยงซ้ายขวา | ให้ระวังลูกยากูจงได้ |
อย่าให้มีเหตุเภทภัย | จะบั่นเกล้ามึงให้มรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองเร่งหรรษา |
ครั้นแล้วถวายบังคมลา | พี่เลี้ยงซ้ายขวาห้อมล้อมไป ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | จึงหยุดวอทองผ่องใส |
กับพี่เลี้ยงทาสีมี่อึงไป | ก็ครรไลไปสรงพระคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ นางเสด็จลงสรงสนาน | ชื่นบานพระทัยหรรษา |
หัวระริกหยิกหยอกกันไปมา | บ้างว่ายบ้างคว้าหากัน |
บ้างเล่นปะเปิงจํ้าจี้ | ยินดีปริดีเปรมเกษมสันต์ |
บ้างโผบ้างคว้าหาเพื่อนกัน | ยื้อยุดฉุดพันกันไปมา |
ลางนางบ้างเล่นชิงช่วง | จับกันเหนี่ยวหน่วงแล้วยื้อคร่า |
บ้างขับลำร้องอยู่ไปมา | เล่นนํ้าในมหานัที ฯ |
ฯ ๖ คำ ยานี ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพญาแร้งราชปักษี |
อยู่สถานเขานิลคีรี | มีอิทธิฤทธีมหึมา |
เป็นใหญ่กว่าแร้งทั้งหลาย | หยาบคายร้ายกาจริษยา |
ใจจิตคิดถวิลจินดา | ให้อยากซากศพที่เคยกิน |
คิดแล้วเท่านั้นมิทันช้า | ปักษาบินผาดโผผิน |
ออกจากสถานเขานิล | ปักษินบินเตร่เร่มา ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | ยังฝั่งพระสมุทรฉานฉ่า |
เห็นสุนัขเน่านั้นลอยมา | สมดังปรารถนาที่คิดไว้ |
จึงโผลงจับจิกกิน | ปักษินลอยตามแม่น้ำไหล |
ชลธาร์พาล่องลอยไป | ยังที่ฉนวนในมิได้ช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ โล้ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองเสน่หา |
เล่นนํ้าอยู่กับหมู่ทาสา | กัลยาผันแปรแลไป |
เห็นพญาแร้งกินสุนัขเน่า | เจ้าคิดเกลียดชังไม่ทนได้ |
อาเจียนเหียนรากเป็นพ้นใจ | ทรามวัยเจ้าถ่มเขฬะลง |
อ้ายแร้งอุบาทว์ชาติช้า | กินหมาลอยมาที่กูสรง |
ขัดใจเจ้าถ่มซ้ำลง | โฉมยงเมินเสียไม่แลดู ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาแร้งได้ยินประจักษ์หู |
ขัดแค้นขึ้นมาตั้งตาดู | หญิงนี้สู่รู้เป็นเหลือใจ |
พญาแร้งจึงร้องตอบมา | ว่าเหวยเจรจาหยาบใหญ่ |
เป็นลูกท้าวพญาสามานย์ใจ | ด่ากูทำไมอีอัปรีย์ |
อาหารกูเคยรับประทานกิน | ดูหมิ่นถ่มรดอีบัดสี |
ชีวิตมึงจะไปเท่าไรมี | พาทีกับหน้าไม่สมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ฟังปักษี | เทวีขัดแค้นแสนศัลย์ |
นางจึงร้องตอบไปด้วยพลัน | ขาติมึงอย่างนั้นจึงสมใจ |
กินของโสโครกทั้งตาปี | กูเหม็นซากผีกูด่าให้ |
ลอยมาท่าฉนวนของกูไย | อ้ายแร้งจังไรอ้ายหูยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาแร้งโกรธใจดั่งไฟผลาญ |
กริ้วโกรธพิโรธดังไฟกาล | อีสามานย์ด่ากูจะย่อยยับ |
กูจะกินต้นลิ้นมึงให้ได้ | ถ้ามิได้กูไม่นอนตาหลับ |
จะผูกเวรผลาญมึงให้ย่อยยับ | จะจิกสรรพมึงกินเสียทั้งเป็น ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฟังพาที | เทวีเจ้าแค้นเป็นแสนเข็ญ |
อ้ายตายห่าอย่าพักมาจองเวร | แต่บาทากูจะเห็นก็ไม่มี |
กี่ชาติที่มึงจะกินกู | ทุดอ้ายสู่รู้อ้ายบัดสี |
นางเสด็จขึ้นจากนัที | ให้ทาสีด่าให้แล้วไคลคลา ฯ |
ฯ ๔ คำ เพลง ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงพญาแร้งราชริษยา |
ขัดแค้นสุดแสนที่โกรธา | จินดาหมายมุ่งอยู่ในใจ |
อันหญิงคนนี้จะย่อยยับ | จะฉีกสรรพกินเนื้อมันให้ได้ |
จะคิดอ่านผูกเวรเอามันไซร้ | ให้ได้สมจิตกูจินดา |
ความแค้นกูแสนสุดคิด | ไม่สมจิตกูไม่กลับไปจอมผา |
คิดแล้วขึ้นจากคงคา | ปักษาจำแลงแปลงกาย ฯ |
ฯ ๖ คำ คุกพาทย์ ฯ
ชมตลาด
๏ เป็นมนุษย์หนุ่มน้อยโสภา | พักตราแช่มช้อยเฉิดฉาย |
ทรงโฉมประโลมเลิศชาย | ผันผายมาตามมรคา |
เที่ยวชมตึกร้านบ้านช่องนั้น | เจ้าสุบรรณเที่ยวเสาะแสวงหา |
ทุกบ้านร้านตลาดทุกแห่งมา | ไม่สมจิตจินดาอารมณ์ใน |
จะคิดอ่านประการใดหนอ | แต่พอจะอาศัยได้ |
ลดเลี้ยวตามมรคาไป | แต่ในขอบเขตพระพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฉุยฉาย ฯ
๏ มาเห็น | ทับน้อยตายายที่ชายป่า |
มาณพทำกลมารยา | เดินตรงเข้าหาโศกาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ โอด ฯ
๏ บัดนั้น | สองเฒ่ายายตาคิดสงสัย |
จึงมีวาจาถามไป | เหตุผลอย่างไรอย่าพลางกัน |
รู้จักเราหรือจึงโศกา | หรือว่าแค้นเคืองสิ่งไรนั่น |
มาทำทอดสนิทติดพัน | โศกศัลย์ด้วยสิ่งอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มาณพคิดอ่านแก้ไข |
บอกว่าแม่ข้าม้วยบรรลัย | ยังแต่พ่อไซร้เลี้ยงกันมา |
พ่อมีเมียน้อยก็หลงไป | ตีด่าข้ากระไรเป็นนักหนา I |
ข้าเที่ยวสัญจรซ่อนมา | เห็นสองยายตาก็ดีใจ |
โปรดหัวเอ็นดูช่วยเลี้ยงข้า | นํ้าท่าฟืนผักจะหาให้ |
ตกนักงานข้าอย่าร้อนใจ | ว่าพลางทางไห้โศกา ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองเฒ่าดีใจเป็นนักหนา |
อยู่ด้วยกันเถิดนะหลานอา | ตาจะเลี้ยงเจ้าไว้เป็นไรมี |
ญาติวงศ์พงศาก็หาไม่ | เลี้ยงไว้จะได้ฝากผี |
พากันมาอุ้มด้วยยินดี | สองศรีภิรมย์ปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงเจ้าสุบรรณปักษา |
อยู่เย็นเป็นสุขหลายวันมา | จึงว่าแก่ยายตาจะลาไป |
ว่าแล้วก็จัดหาบคอน | บทจรจะเข้าป่าใหญ่ |
จะไปเก็บฟืนผักทั้งนั้นไซร้ | จะได้มาซื้อขายเลี้ยงกัน |
จับขอกระเช้าขึ้นใส่บ่า | ออกจากเคหาก็ผายผัน |
ครั้นมาถึงป่าพนาวัน | เจ้าสุบรรณนิมิตให้โอฬาร์ |
นิมิตเป็นเงินทองใส่กระเช้า | จัดแจงหาบเข้ามาใส่บ่า |
ทำเดินโซเซเก้กังมา | รีบรัดลีลาเข้ามาพลัน ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองเฒ่าดีใจตัวสั่น |
วิ่งออกไปรับด้วยฉับพลัน | เห็นเงินทองนั้นก็ดีใจ |
สองเฒ่าจึงมีวาจา | ถามว่าได้มาแต่ไหน |
หลานข้าอตส่าห์เป็นเหลือใจ | เอามาแต่ไหนนะพ่ออา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มาณพแต่งกลทำหรรษา |
เป็นบุญของข้าพ้นปัญญา | ขุดมันนั้นข้าพบตุ่มทอง |
ปากตุ่มนั้นเรียงเคียงกันไป | อ้ายตุ่มหนี่งใส่ล้วนข้าวของ |
ข้าเลือกเอาแต่เงินทอง | อ้ายของสี่ตุ่มไม่เอามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองเฒ่าดีใจหัวเราะร่า |
ซื้อจ่ายหัวกินให้นักหนา | ไม่กลัวจนแล้วว่าในครานี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงเจ้าสุบรรณปักษี |
โปรดให้ตายายได้มั่งมี | สุขเกษมเปรมปรีดิ์หลายวันมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ วันหนึ่ง | จึงเจ้าสุบรรณปักษา |
เข้าหาทั้งสองยายตา | ทำอ้อนวอนว่าให้อ่อนใจ |
ครั้นแล้วจึงมีวาจา | ทุกวันรักข้าฤๅหาไม่ |
แม้นรักข้าจริงดังนั้นไซร้ | ยายตาข้าไหว้ได้เมตตา |
ข้านี้มีจิตคิดรักใคร่ | ลุ่มหลงปลงใจใฝ่หา |
ข้าพอใจลูกสาวเจ้าพารา | ชื่อว่าโฉมนางพิกุลทอง |
ข้าคิดจำนงจงรัก | อักอ่วนป่วนนักให้ขุ่นหมอง |
แม้นมิได้สมอารมณ์ปอง | ข้าจะครองตัวไปไยมี |
แม้นว่าตายายมิตามใจ | ก็จะม้วยบรรลัยไปเป็นผี |
ถ้าว่าเมตตาปรานี | โปรดเกศีเถิดจงเร่งไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เจรจา ฯ
๏ ฟังหลานว่า | ยายตาลูบอกอยู่ไล่ไล่ |
ที่อื่นมิตรึกมิพอใจ | จำเพาะให้ไปขอเจ้าพารา |
จะไปพูดกับท่านประการใด | อีพ่อข้าไหว้แก่อกข้า |
ตาว่ากูเห็นก็เวทนา | มาเราไปว่าดูตามที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ว่าแล้วก็ชวนกันอาบนํ้า | ชำระกายาให้ผ่องศรี |
ตาเฒ่านุ่งปูมอย่างดี | ยายเอ๋ยกูนี้มางามครัน |
ฝ่ายยายนุ่งผ้าตารางไหม | ใส่แหวนนพรัตน์เฉิดฉัน |
ห่มผ้าขาวผุดดอกเหมือนกัน | ไม้เท้าคนละอันก็เข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | ยังที่วังในมิได้ช้า |
สองเฒ่างกงันรันเข้ามา | เขาหัวเราะร่าไม่ขามใคร |
ครั้นถึงก็ชวนกันกราบลง | พระผู้ทรงพิภพเป็นใหญ่ |
ค่อยหมอบยอบตัวกลัวภัย | จะตรัสปราศรัยอย่างไรมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสันนุราชรุ่งฟ้า |
เสด็จออกพระโรงเวลา | เสนาพรั่งพร้อมมนตรี |
อีกทั้งหมู่มุขอำมาตย์ | หมอบกลาดประณตบทศรี |
เหลือบเห็นสองเฒ่าเฝ้าผิดที | น่าจะมีธุระประการใด |
จึงเอื้อนโอษฐ์โองการประภาษ | พจนารถวาจาปราศรัย |
ว่าแก่สองเฒ่าเข้ามาไย | ทุกข์ร้อนเป็นไฉนจงบอกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ เจรจา ฯ
๏ บัดนั้น | สองเฒ่าก้มเกล้าเหนือเกศา |
กราบทูลแถลงแจ้งกิจจา | ชีวาอยู่ใต้ฝ่าธุลี |
จะฆ่าก็ตายขายก็ขาด | ด้วยราชกุมารผู้หลานนี่ |
จะเป็นเกือกทองรองธุลี | จะขอพระบุตรีศรีโสภา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชนาถา |
ได้ฟังเคืองขัดพระอัชฌา | อันชีวาของมึงจะบรรลัย |
อาจเอื้อมมาขอพระบุตรี | หลานมีบุญญาเป็นไฉน |
จะฆ่าเสียบัดนี้ก็จะได้ | กูจะงดอดไว้ก่อนเถิดรา |
ซึ่งตัวว่ากล่าวมาทั้งนี้ | พระบุตรีก็จะให้เหมือนมึงว่า |
จงเร่งทำตะพานทองมา | แต่เคหาของมึงจนถึงวัง |
แต่ในสามวันถ้ามิได้ | ก็จะม้วยบรรลัยอาสัญ[๓] |
มึงเร่งไปคิดอ่านกัน | ตรัสแล้วทรงธรรม์เข้าวังใน ฯ |
ฯ ๘ คำ เสมอ ฯ
๏ บัดนั้น | สองเฒ่าความกลัวจะตักษัย |
ชวนกันออกมาจากวังใน | เดินฉนวนออกไปไม่ตรงทาง ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึงเคหาบัดใจ | ทิ้งไม้เท้าลงไว้ต้ำผาง |
ชักผ้าคลุมหัวลงนอนคราง | จะบอกกล่าวอย่างไรก็ไม่มี |
โอ้ตัวเราเอ๋ยจะบรรลัย | แม่นแท้แน่ใจจะเป็นผี |
สองเฒ่ากอดคอกันโศกี | ตายจริงครั้งนี้นะอกอา ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าสุบรรณเห็นยิ้มอยูในหน้า |
จึงเดินเข้าไปหายายตา | ชักผ้าคลุมหัวด้วยเหตุไร |
ไปกินข้าวนํ้าชำปลา | มานอนโศการ่ำร้องไห้ |
เจ้าพาราตรัสว่าประการใด | สองเฒ่าข้าไหว้จงบอกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองเฒ่าโกรธใจเป็นนักหนา |
สนัดใจอยู่แล้วอย่าเจรจา | ครั้งนี้จะพากันบรรลัย |
เจ้าพาราตรัสคาดโทษมา | สามวันท่านจะฆ่าให้ตักษัย |
ให้เร่งทำตะหานทองไป | แต่เรือนเราไซร้ให้ถึงวัง |
เอ็งไม่เจียมตัวกลัวภัย | จะพากันบรรลัยเพราะโอหัง |
ลูกชาวกรุงศรีไม่อินัง | แกล้งชังฆ่าเราให้บรรลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ฟังวาจา | มาณพยิ้มย่องผ่องใส |
เพียงนี้ยายตาอย่าร้อนใจ | ไปอาบนํ้ากินข้าวให้สำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ อยู่มาปัจฉิมราตรี | สำแดงฤทธีด้วยใจหาญ |
กลับเป็นปักษีมิทันนาน | ไปสถานเขานิลกาฬา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ จึงชาวบริวารทั้งนั้น | บรรดาที่อยู่ในจอมผา |
ชวนกันโผผินบินมา | ยังที่เคหาฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | จึงพญาแร้งฤทธิ์เลิศเฉิดฉัน |
นิมิตกายบริวารทั้งนั้น | ฉับพลันให้เป็นมนุษย์ไป |
เคหาของยายกับตานั้น | เป็นปราสาทสุวรรณอันสุกใส |
จัดกันเป็นนายทวารไชย | เอิกเกริกทั้งในพระพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ จัดสรรกันทำตะพานทอง | กุก่องใหญ่ยาวเป็นนักหนา |
ล้วนทองพิจิตรรจนา | เข้ามาจนถึงทวารวัง |
มีทั้งราชวัติฉัตรแก้ว | เลิศแล้วเรียงรายอยู่สะพรั่ง |
ให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ | ดุริยางค์ดนตรีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ สาธุการ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชรุ่งฟ้า |
รุ่งสางสว่างพระสุริยา | เผยแกลออกมาสรงพักตร์พลัน |
เหลือบแลไปเห็นตะพานทอง | กุก่องเรียงรายอยู่เฉิดฉัน |
แสงทองระยับสลับกัน | เรียกมเหสีพลันให้แลดู |
อันหลานของยายกับตา | ชะรอยวาสนามันเคยคู่ |
บุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นพ้นรู้ | ควรกูจะให้พระธิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้ว | พระแก้วผินพักตร์มาปรึกษา |
เราจำจะแต่งการวิวาห์ | หรือว่าจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลจันทร์ศรีใส |
กราบทูลผัวรักไปทันใด | ควรที่จะให้บุตรีเรา |
เขามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ | อันใครนอกนี้จะถึงเล่า |
เขาได้แต่งมาถึงวังเรา | จะนิ่งเสียเล่าเห็นไม่ดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฟังเมียรัก | ทรงศักดิ์ชื่นชมเกษมศรี |
ทรงเครื่องเรืองรัตน์รูจี | จรลีออกท้องพระโรงพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ ตรัสสั่งมหาเสนา | เร่งเร็วอย่าช้าจงผายผัน |
ไปบอกเจ้าขรัวตาเฒ่านั้น | เร่งแต่งหลานขวัญนั้นเข้ามา |
ว่าฤกษ์จะได้เพลาใด | อันในพระนครนี้คอยท่า |
ซึ่งจะตบแต่งการวิวาห์ | ให้ทันฤกษ์เวลาในวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศี |
บังคมก้มกราบลงสามที | เสนีก็วิ่งวางไป ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึงเจ้าขรัวยายตา | เสนาก็ก้มกราบไหว้ |
รับสั่งให้แต่งหลานเข้าไป | อันในพระนครนั้นพร้อมแล้ว ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าขรัวตายายก็ผ่องแผ้ว |
ได้ฟังเสนามาบอกแล้ว | คลาดแคล้วมาแต่งพระนัดดา |
ให้ทรงเครื่องนิมิตอันเพราเพริศ | ลํ้าเลิศไม่มีในใต้ฟ้า |
ประดับประดาองค์อลงการ์ | รจนาดังเทพตรึงษ์ไตร |
เพื่อนบ่าวเชิญเครื่องเป็นขนัด | เบียดเสียดเยียดยัดตามไสว |
เป่าสังข์ทั้งแตรเซ็งแซ่ไป | มโหรีขับไม้โห่กราวมา ฯ |
ฯ ๖ คำ มโหรี ฯ
๏ ขึ้นนั่งบนแท่นราชาภิเษก | ภายใต้เศวตฉัตรซ้ายขวา |
พราหมณ์รดนํ้าสังข์ตามวิวาห์ | เษกให้สองราเข้าครองกัน |
ให้ตั้งบายศรีทองบายศรีแก้ว | เสร็จแล้วเวียนเทียนทำขวัญ |
ครบเจ็ดรอบแล้วโบกควัน | โห่สนั่นครั่นครื้นทั้งเวียงไชย ฯ |
ฯ ๔ คำ มโหรี เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าสุบรรณปรีดิ์เปรมแจ่มใส |
ถวายบังคมลาทั้งสองไท | ลงไปสู่ปรางค์รจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึง | จึงนั่งบนแท่นอันเลขา |
พอเย็นค่ำย่ำฆ้องเวลา | เข้าที่ไสยาภิรมย์ใน ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระชนนีศรีใส |
จึงสั่งนางเถ้าแก่ข้างใน | ให้แต่งบุตรีศรีโสภา |
ให้โฉมยงทรงเครื่องเสร็จสรรพ | เถ้าแก่จับกรทั้งซ้ายขวา |
บ้างเข้าพยุงพระองค์มา | นางทรงโศกามิใคร่ไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เพลง ฯ
๏ ถึงปรางค์ทองเข้าไปในที่ | เทวีรูดม่านสองไข |
เถ้าแก่อัชฌาก็คลาไคล | ออกไปจากปรางค์รจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ โอ้โลม ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงเจ้าสุบรรณปักษา |
ลูบโลมรับขวัญกัลยา | คิดถวิลจินดาข้างในใจ |
ขอเชิญนิ่มนวลยวนสวาดิ | เข้าที่ไสยาสน์พิสมัย |
เจ้าจะอายเหนียมแก่เรียมไย | พี่จะช่วยกล่อมให้เจ้านิทรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองอายจิตคิดนักหนา |
ด้วยมิใช่คู่นางกัลยา | เพราะเกรงบิดาก็จำใจ |
นางก้มพักตร์อยู่ไม่พาที | จะจงรักภักดีก็หาไม่ |
มิรู้ที่จะตอบประการใด | ชลนัยน์คลอครองนัยนา ฯ |
ฯ ๔ คำ โลม ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าสุบรรณปั่นป่วนเสน่หา |
จึงมีสุนทรวาจา | เจ้าก้มหน้าเสียไยไม่พาที |
ฤๅเจ้ามิปลงลงใจ | ขัดเคืองสิ่งใดนะโฉมศรี |
ว่าพลางอิงแอบแนบยวนยี | จะบิดผันหันหนีไม่ฟังแล้ว |
เหมือนราหูจู่จับเอาจันทร์ได้ | รู้จักหรือไม่นางน้องแก้ว |
อยู่ในใจมือของพี่แล้ว | จะคลี่คลายแก้วอย่าสงกา |
แต่สัมผัสเย้ายวนเชยชม | มิได้ร่วมภิรมย์เสน่หา |
จนล่วงเข้าสองยามเวลา | เทวดาดลจิตให้หลับไป ฯ |
ฯ ๘ คำ กล่อม ฯ
๏ ในเมื่อเพลาราตรีนั้น | จอมขวัญมิทันจะหลับไหล |
ให้เหม็นกลิ่นแร้งเป็นเหลือใจ | ที่ไหนจึงเหม็นขจรมา |
ความเหม็นเช่นนี้มิทนได้ | เหมือนแร้งจังไรตายห่า |
เหมือนเมื่อกูสรงคงคา | ฤๅว่ามาจับอยู่แห่งไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าสุบรรณแต่งกลแก้ไข |
ลุกขึ้นทำเหม็นด้วยทรามวัย | เห็นหลากแก่ใจใช่พอดี |
แต่ก่อนบุราณท่านกล่าวไว้ | สัตว์สิ่งใดใดเป็นซากผี |
อย่าถ่มน้ำลายคายรดนั้นไม่ดี | หญิงนั้นอัปรีย์จะบรรลัย |
ชะรอยเจ้าได้ด่าทอมัน | กลิ่นนั้นติดตามสำแดงให้ |
พี่ให้ร้อนรนเป็นพ้นใจ | ลุกไปชำระกายา |
เอาเครื่องพระสุคนธ์มาลูบไล้ | หวังจะให้กลบกลิ่นของปักษา |
มิให้รู้กลมารยา | แล้วกลับเข้ามาประทมไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ตระ
๏ รุ่งแจ้ง | เจ้าสุบรรณกล่าวแกล้งแถลงไข |
ตัวพี่นี้ไม่สบายใจ | พี่ไซร้จากมาได้ห้าปี |
คิดถึงบิตุเรศพระมารดา | แก่เฒ่าชราไม่รู้ที่ |
เดิมพี่อยู่ครองพระบุรี | พี่นี้เที่ยวไล่มฤคา |
พลัดหมู่ไพร่พลดั้นด้นไพร | พี่ไซร้เที่ยวเสาะแสวงหา |
จึงมาอาศัยยายกับตา | จนมาสมสู่ด้วยเทวี |
พี่จำจะพาเอาเจ้าไป | เยี่ยมเยียนท้าวไทยังกรุงศรี |
จึงชวนองค์อรเทวี | จรลีขึ้นเฝ้าพระบิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึง | จึงตั้งบังคมเหนือเกศา |
ทูลแถลงแจ้งกิจพระบิดา | ลูกจะขอกราบลาพระพันปี |
ไปเยี่ยมบิตุเรศมารดา | จะโศกาเศร้าสร้อยหมองศรี |
แต่ลูกพลัดพรากจากบุรี | หลายปีมาแล้วไม่แจ้งใจ |
อันตัวของลูกพระบิดา | จะเป็นลูกยายตาก็หาไม่ |
เที่ยวไล่เนื้อหลงพลดั้นด้นไพร | จึงมาอาศัยยายกับตา |
จนเป็นเกือกทองรองธุลี | ลูกนี้ทุกข์ร้อนเป็นนักหนา |
ลูกจะขอพาองค์พระธิดา | ไปด้วยลูกยาในครานี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสันนุราชเรืองศรี |
ทั้งองค์สมเด็จพระชนนี | ได้แจ้งคดีที่ทูลมา |
สำคัญว่าจริงทุกสิ่งไป | จึงปราศรัยด้วยความเสน่หา |
เจ้าจะไปเยี่ยมเยียนพระพารา | จะหาเมียไปด้วยก็ตามใจ |
พ่อจะจัดแจงเภตรา | ไปส่งลูกยาอย่าหม่นไหม้ |
ว่าแล้วก็สั่งเสนาใน | ให้เร่งไปทำเภตรา |
ให้พร้อมทั้งเครื่องบรรณาการ | ต้นหนคนงานถ้วนหน้า |
เร่งรัดตำรวจตรวจตรา | เราจะให้ลูกยาไปเมืองไกล ฯ |
ฯ ๘ คำ เจรจา ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาฉับพลันทันใด | บัตรหมายไปทุกพนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เร่งรัดกันทำสำเภาพลัน | ตรวจตราว่ากันเป็นอลหม่าน |
ทำสมอช่อใบให้ทันงาน | ขนเครื่องบรรณาการบรรทุกพลัน |
เสร็จแล้วก็เอามาทอดท่า | มหาเสนาก็ผายผัน |
กราบทูลพระองค์ทรงธรรม์ | สำเภานั้นเสร็จแล้วพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเรืองศรี |
ตรัสสั่งเขยขวัญทันที | ให้จัดแจงแต่งที่จะไคลคลา |
พ่อขอฝากองค์อัคเรศ | คือดั่งดวงเนตรทั้งซ้ายขวา |
เจ้าผิดพลั้งสิ่งไรจงเมตตา | เจ้าอย่าสลัดตัดรอน |
เจ้าพิกุลทองของบิดา | ลูกยาจงจำคำพ่อสอน |
ตัวเจ้าจะไปต่างนคร | บังอรฝากตัวท่านจงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิกุลทองกราบพลางเร่งหมองศรี |
วิ่งเข้ากราบองค์พระชนนี | หนักใจลูกนี้พ้นปัญญา |
ครั้นจะมิไปก็ไม่ได้ | เกรงเดชท้าวไทเป็นนักหนา |
ชลเนตรฟูมฟองนองตา | โศกาสะอื้นร่ำไร ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระชนนีเป็นใหญ่ |
สวมสอดกอดลูกสายใจ | เจ้าอย่าร่ำไรจะเป็นลาง |
มิใช่ไปแล้วไม่กลับมา | ลูกยาหักใจเจ้าไว้บ้าง |
ฝ่ายผัวของเจ้าเขาจะระคาง | ฟังคำแม่บ้างอย่าโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงเจ้าสุบรรณปักษี |
ครั้นได้พิไชยฤกษ์ดี | กราบลาชนนีพระบิดา |
จัดแจงแต่งองค์เสร็จแล้ว | จึงชวนน้องแก้วเสน่หา |
พร้อมทั้งสาวสรรกัลยา | ยาตราลงสู่สำเภาพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ทยอย เสมอ ฯ
๏ บัดนั้น | ต้นหนคนงานแข็งขัน |
เห็นท้าวลงสู่เภตราพลัน | ชวนกันโห่ร้องเอาไชย |
ถอนสมอม้าล่อตีระงม | ยิงปืนระดมหวั่นไหว |
เคลื่อนสำเภาพลันทันใด | ชักใบแล่นเรื่อยเฉื่อยมา ฯ |
ฯ ๔ คำ โล้ เชิด ฯ
๏ แล่นไปได้หลายวันวาร | ล่วงแดนหิมพานต์ปักษา |
เป็นท่าหาดริมฝั่งชลธาร์ | ชื่อว่าหาดแก้วพยัคฆี |
เจ้าสุบรรณจึงว่าไปทันใด | ให้ทอดสมอลดใบลงที่นี่ |
ท่าเราเคยจอดอยู่ทุกที | ที่นี่ยังไกลพระนคร |
จึงบอกแก่นางกัลยา | พี่จำจะลาเจ้าไปก่อน |
บอกข่าวบิตุเรศมารดร | ว่าพี่พาดวงสมรมาสำเภา |
แม้นท้าวรู้ข่าวจะดีใจ | จะเอาม้ารถคชไกรมารับเจ้า |
ครั้นสั่งโฉมยงนงเยาว์ | ขึ้นจากสำเภาระเห็จมา ฯ |
ฯ ๘ คำ เพลง ฯ
๏ แต่พอเลี้ยวลับคนพลัน | เจ้าสุบรรณก็กลายเป็นปักษา |
สำแดงแผลงอิทธิฤทธา | ไปเขานิลกาฬาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ ครั้นถึงจึงป่าวบริวาร | กรูกันออกมาไม่ช้าได้ |
จึงสั่งไปพลันทันใด | สำเภากูไว้ที่เคยกิน |
แต่บรรดาสาวสรรทั้งนั้น | สูชักชวนกันกินให้สิ้น |
เหลือแต่เจ้ามันกูจะกิน | ต้นลิ้นของมันอร่อยดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงแร้งราชปักษี |
ได้ฟังนายสั่งก็ยินดี | มิช้าก็ชวนกันบินไป ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ย่านางรักษาสำเภาใหญ่ |
มีจิตเมตตานางทรามวัย | สำแดงให้เห็นกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง เจรจา ฯ
๏ จึงบอกกับนางโฉมศรี | บัดนี้ผัวเจ้าคือปักษา |
มันจะแกล้งฆ่าเจ้าให้มรณา | อย่าช้ามาหนีไปเร็วพลัน |
จึงนิมิตแยกเสากระโดงกลาง | ให้โฉมนวลนางขมีขมัน |
ในนั้นดังวิมานเทวัญ | ให้นางจอมขวัญอยู่สำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาแร้งฤทธิไกรใจหาญ |
เหลือบแลเห็นพวกบริวาร | กินเป็นอาหารเสียหมดแล้ว |
เข้าไปที่ท้ายเภตรา | ค้นหาจะกินอียอดแก้ว |
ดูดู๋มันไปข้างไหนแล้ว | คลาดแคล้วหนีกูไปแห่งไร |
ฤๅอ้ายบริวารมันกินเสีย | สั่งแล้วกินเมียกูเสียได้ |
ทุ่มเถียงโทษกันสนั่นไป | ไม่ได้เห็นแล้วก็จรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิดโอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองโฉมศรี |
อยู่มาได้เจ็ดราตรี | โศกีเศร้าสร้อยละห้อยใจ |
โอ้อนิจจาในครานี้ | น่าที่จะม้วยตักษัย |
ใครเลยจะนำเอาข่าวไป | ให้ถึงบิตุเรศชนนี |
ว่าลูกน้อยนี้เป็นกำพร้า | พ่างเพียงชีวาจะเป็นผี |
จะอาสัญบรรลัยอยู่ในนี้ | มิได้พบชนนีกับบิดา |
ว่าพลางนวลนางเจ้าไห้ร่ำ | น้ำเนตรซึมซาบลงอาบหน้า |
ตีอกฟกชํ้าร่ำโศกา | ไฉยาพ่างเพียงจะขาดใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | ย่านางรู้แจ้งอัชฌาศัย |
ปลอบนางพลางเช็ดชลนัยน์ | เจ้าอย่าร่ำไรเจ้าแม่อา |
เจ้าออกไปสระสรงให้ผ่องแผ้ว | มันไม่มาแล้วฟังแม่ว่า |
เจ้าจะพบคู่ครองของกัลยา | จะกลับคืนพาราอย่าร้อนใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมพิกุลทองยังหมองไหม้ |
ฟังแม่ย่านางค่อยสว่างใจ | ลุกออกไปจากห้องทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาเห็นซากศพที่วอดวาย | กระดูกกองก่ายอยู่นักหนา |
สังเวชพระทัยนางไฉยา | ชลนาคลอเนตรอยู่ฟูมฟอง |
มานั่งบันไดที่เคยสรง | โฉมยงเปล่าใจให้เศร้าหมอง |
โอ้กรรมอะไรมาให้น้อง | จองเวรแต่หลังติดตามมา |
ร่ำพลางนวลนางเจ้าสระสรง | บรรจงสางเกล้าเกศา |
แต่ผมเส้นหนึ่งติดหัตถ์มา | กัลยาหลากแหลกแปลกใจ |
ดีร้ายจะมีคู่ครอง | ติดตามหาน้องมาจงได้ |
เจ้าใส่ผอบลงทันใด | จารึกไปในฝาผอบพลัน |
ถ้าผู้ใดเคยคู่ได้ผอบ | พบแล้วจงเร่งผายผัน |
ช้านักจักไม่เห็นกัน | เรานั้นเปลี่ยวองค์อยู่เอกา |
เขียนแจ้งถ้วนถี่ในฝาผอบ | จบแล้วเจ้าทูนเหนือเกศา |
เจ้าเสี่ยงด้วยพลันมิทันช้า | แม้นบุญของข้าไม่บรรลัย |
ขอให้ผอบใบนี้ | ลอยรี่ไปเหนือทะเลใหญ่ |
เทพเจ้าเมืองบนเข้าดลใจ | ให้เห็นประจักษ์กับนัยนา |
พิษฐานแล้ววางลงทันที | ลอยรี่ดั่งใจเจ้าปรารถนา |
นางจึงยกมือขึ้นวันทา | ดูสุดสายตาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๑๖ คำ เชิด เพลง ฯ