๓
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงอสุรีกาขาวสาวสรร |
ครั้นคลายเวทมนตร์ของทรงธรรม์ | นางก็ฟื้นตื่นพลันจากนิทรา |
เหลียวไปไม่เห็นพระภูมี | ยักษีโศกเศร้าถวิลหา |
ทิ้งเมียเสียได้ไม่เมตตา | ฤๅว่าเสด็จไปแห่งใด |
นางยักษ์ลงไปดูเภตรา | ทั้งสำเภาทอดท่าหาเห็นไม่ |
ให้ร้อนรนกระวนกระวายใจ | จะตามไปให้ถึงพระบุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้ว | ฉวยจับกระบองแก้วของยักษี |
สำแดงแผลงอิทธิฤทธี | อสุรีเร่งตามไปพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ กราวใน ฯ
๏ ตามไป | ล่วงแดนกรุงไกรเขตขัณฑ์ |
เย็นรอนอ่อนแสงสุริยัน | ถึงขอบขัณฑ์พระมงกุฎกรุงไกร |
จะลอบเข้าไปในพารา | ขอบขัณฑเสมาไม่เข้าได้ |
จะคอยอยู่ให้พบพระภูวไนย | จึงจะปลอมเข้าไปในบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางพิกุลทองโฉมศรี |
สมสู่อยู่ด้วยพระภูมี | เป็นข้าหลายปีนานมา |
มีบุตรคนหนึ่งชื่อเจ้ารัก | งามสุดทรงศักดิ์เสน่หา |
เย็นเช้าขึ้นเฝ้าพระบิดา | พระชันษาเจ้าได้เจ็ดปี |
ยังอยู่ในครรภ์นางกัลยา | ถ้วนทศมาสานางโฉมศรี |
เจ็บครรภ์ประชวรพระนาภี | เทวีจะคลอดพระลูกยา |
เถ้าแก่ชาวแม่พระกำนัล | ห้อมล้อมแจ่มจันทร์อยู่พร้อมหน้า |
บ้างขึ้นไปทูลพระบิดา | บอกว่าประชวรพระนาภี ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด ฯ
๏ ขอเชิญสมเด็จพระมารดา | ทั้งพระอัยกาเรืองศรี |
เชิญเสด็จลงไปในบัดนี้ | เทวีจะคลอดพระบุตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์ตกใจเป็นนักหนา |
ทั้งองค์สุพรรณผู้มารดา | ก็เสด็จลีลาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ ครั้นถึงเฝ้าประคองพระลูกยา | เจ้าอย่าโศกากันแสงไห้ |
แม่อย่าท้อแท้จงแข็งใจ | มิใช่จะเป็นอะไรมี |
ให้หมอตำแยเข้าแปรผัน | ลูบท้องต้องครรภ์นางโฉมศรี |
ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี | เทวีก็ประสูติพระลูกยา ฯ |
ฯ ๔ คำ มโหรี ฯ
๏ เป็นชายโสภาแน่งน้อย | ทรงโฉมแช่มช้อยเสน่หา |
รูปทรงเหมือนองค์พระบิดา | พระเจ้าย่าเข้ารับใส่พานทอง |
ให้จัดนางนมพี่เลี้ยง | ถนอมพร้อมเพรียงอยู่ทั้งผอง |
ถวายนามตามวงศ์กันพี่น้อง | ที่สองชื่อพระยมกุมาร |
สำเร็จเสร็จพลันทันใด | ต่างองค์ต่างไปราชฐาน |
รักษาเลี้ยงดูพระกุมาร | อยู่จำเนียรกาลนานมา ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองเสน่หา |
เมื่อจะพรากพรัดพระภัสดา | เวราแต่หลังมาตามทัน |
จะใคร่ไปเล่นทุ่งป่า | ชมดอกบุษบากระเษมสันต์ |
โฉมนางจึงทูลพระทรงธรรม์ | เมียขวัญนี้ไม่สบายใจ |
ขอเชิญสมเด็จพระภูบาล | ไปเล่นทุ่งชลธารให้แจ่มใส |
ชมบุษย์บัวบานตระการใจ | กับกุมารชาญชัยให้เปรมปรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎฟังน้องเสน่หา |
เจ้าไม่สำราญวิญญาณ์ | ตัวพี่จะพาคลาไคล |
ว่าแล้วพระเสด็จออกมา | ตรัสสั่งเสนาน้อยใหญ่ |
เตรียมเรือพระที่นั่งจงเร็วไว | เราจะไปประพาสชลธี |
ข้างนํ้าข้างในจะไปมั่ง | จัดแจงเรือดั้งหลังคาศรี |
สั่งเสร็จแล้วพลันทันที | ภูมีเสด็จเข้ามา |
ทรงเครื่องประดับเสร็จแล้ว | ชวนโฉมน้องแก้วเสน่หา |
กับองค์ลูกรักทั้งสองรา | นักสนมซ้ายขวาก็ตามไป[๑] ฯ |
ฯ ๘ คำ เสมอ ฯ
๏ ฝีพายโยนยาวมี่ฉาวมา | กระทุ้งเสาโห่ลั่นสนั่นไหว |
ลัดทุ่งมาตามชลาลัย | เรือดั้งตั้งไล่พายสุ่มมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ชมตลาด ฯ
๏ เข้าทุ่งชมบุษย์บัวบัน | บัวเผื่อนบัวผันสันตะวา |
สัตตบุษย์บัวขาวแย้มผกา | ตูมบานระย้าระยับไป |
ดอกอุบลจงกลนี | สารพันจะมีอยู่ไสว |
บัวหลวงผุดสะพรั่งบังใบ | ดอกฝักรายไปในนัที |
ฝ่ายฝูงนางในดีใจนัก | ชิงกันเด็ดหักอยู่อึงมี่ |
บัวขมสันตะวาในนัที | ที่ใกล้วารีเก็บเอามา |
บ้างถอนสาหร่ายสายโตนดลิงโลดใจ | นางในชื่นชมหรรษา |
โฉมพิกุลทองก็เปรมปรา | สาวสรรกัลยาก็ยินดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | กาขาวอสุรียักษา |
รู้ข่าวว่าองค์พระภูมี | พาองค์มเหสีเสด็จมา |
นางยักษ์ชื่นชมภิรมย์ใจ | เห็นจะได้ดังความปรารถนา |
ออกจากสุมทุมพุ่มป่า | เล็ดลอดสอดมาในนัที ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ร่าย ฯ
๏ ครั้นมาถึงใกล้ | แอบไม้เห็นองค์พระโฉมศรี |
พิศดูทั้งองค์นางเทวี | อสุรีพิศดูไม่วางตา |
จึงนิมิตดอกบัวอันใหญ่ยิ่ง | งามพริ้งวิไลอันเลขา |
ซ่อนตัวอยู่ในพระคงคา | ผุดเคียงนาวาฝีพายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิกุลทองผ่องใส |
เมื่อกรรมจะถึงนางทรามวัย | เดินไปที่ริมพนาลี |
เห็นดอกบัวบานตระการใจ | ไม่รู้ว่ากลของยักษี |
จึงยื่นหัตถ์ไปเด็ดเอาทันที | อสุรีก็ฉุดลงในคงคา |
ตีแล้วสาปด้วยเวทของยักษี | ให้มึงเป็นชะนีไปอยู่ป่า |
ต่อได้เลือดกูมาทา | กายาจึงจะคืนสมประดี |
นิมิตตัวใหม่เหมือนนางกัลยา | แล้วผุดขึ้นนาวาร้องอึงมี่ |
จงช่วยเมียด้วยพระพันปี | แต่งกิริยาพาทีให้เชื่อใจ |
พระมงกุฎช่วยฉุดขึ้นนาวา | จะรู้กลมารยาก็หาไม่ |
สำคัญว่าองค์นางทรามวัย | ตระหนกตกใจไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองเร่งหมองศรี |
ครั้นต้องเวทอสุรี | กลายเป็นชะนีทันใด |
ขึ้นเลียบอยู่ริมฝั่งพระคงคา | ติดตามลูกยาพิสมัย |
ความแสนพิศวาสจะขาดใจ | ชลเนตรลามไหลตามเรือมา ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางอสุรีก็หรรษา |
ทำรับพระกุมารน้อยมา | เสวยนมมารดาพ่อยาใจ |
เจ้าพิศดูนมพระมารดา | เหม็นสาบยักษาไม่กินได้ |
ร้องไห้กันแสงดิ้นรนไป | โผมาหาองค์พระพี่ยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักขัดใจเป็นนักหนา |
เข้าชิงเอาองค์พระน้องมา | นี่เป็นมารดาข้าเมื่อไร |
ปลอบน้องนิ่งเถิดอย่าโศกา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
ฟังพี่เถิดน้องอย่าร้องไป | กรรมเราชื่อไรได้ทำมา |
นางยักษ์เจ้าทำเป็นขัดใจ | มิให้ภูวไนยเจ้ากังขา |
ว่าดูเอาเถิดพระราชา | ไม่เสวยนมข้าแล้วโศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น[๒] | พระมงกุฎโกรธลูกทั้งสองศรี |
สำคัญว่าองค์นางเทวี | ภูมีกริ้วโกรธพิโรธใจ |
เป็นไรเจ้ารักชิงน้องยม | มิให้เสวยนมนี้ว่าไร |
มึงว่าแม่มึงอยู่ที่ไหน | ลูกอุบาทว์จังไรขายบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักกราบทูลพระบิดา |
นางนี้มิใช่เป็นแม่ข้า | น้องยาผิดกลิ่นสะอื้นอ้อน |
ผิดเนื้อผิดนมพระมารดร | เจ้ายมจึงอ้อนถวิลหา[๓] |
ข้าเห็นมิใช่พระมารดา | บิดาจงทราบในพระทัย |
เหลือบเห็นชนนีเลียบริมน้ำ | เรียกพลางทางร่ำสะอื้นไห้ |
โน่นแน่มารดาของข้าไซร้ | ตามร้องไห้มาริมคงคา |
แม่เจ้าประคุณของลูกแก้ว | ใจลูกจะขาดแล้วไม่เห็นหน้า |
มารับลูกด้วยพระมารดา | น้องข้าอยากนมเป็นเหลือใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ฟังลูกว่า | พระราชาเคืองขัดอัชฌาสัย |
นี่อีบัดสีชะนีไพร | ไปเรียกว่าเป็นพระมารดา |
พระองค์กริ้วโกรธพิโรธใจ | ลูกชั่วจังไรขายหน้า |
ให้ฝีพายวาดเรือจงเร็วรา | ส่งอ้ายสองราให้สาใจ |
ครั้นเรือประทับกับหน้าท่า | ขับลูกสองราไม่ช้าได้ |
เป็นกรรมของนางได้สร้างไว้ | ก็มิได้พินิจพิศดู |
ขับลูกเสียแล้วออกเรือไป | ท้าวไทอัปยศอดสู |
กระทืบเรือพระที่นั่งไม่ยั้งดู | โฉมตรูเร่งฝีพายเข้าวังใน ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด โอ้ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักอุ้มน้องเดินร้องไห้ |
วิ่งตามมารดาโศกาลัย | เดินหนีลูกไยพระมารดา |
เห็นแม่คลั่งคลุ้มกลุ้มใจ | ปีนป่ายขึ้นไปบนพฤกษา |
อุ้มน้องร้องเรียกมารดา | แม่ข้ามาเถิดพระชนนี |
มาหาลูกเถิดพระผ่านเกล้า | น้องน้อยสร้อยเศร้าหมองศรี |
แม่มานิ่งเสียได้ไม่ดูดี | ปรานีลูกน้อยที่ยังเยาว์ |
แม่ข้าน้องยมอยากนมนัก | ตัวข้าชื่อรักนี้อยากข้าว |
ขอเชิญพระมารดาเจ้า | ผ่านเกล้าทรงนมพระลูกยา ฯ |
ฯ ๘ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองชะนีป่า |
ปีนป่ายร่ายไม้บนพฤกษา | วิญญาณ์ไม่เป็นสมประดี |
ครั้นคลายคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ | เหลือบไปเห็นลูกทั้งสองศรี |
อารมณ์ค่อยได้สมประดี | เทวีลงจากต้นไทร ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิดฉิ่ง ฯ
๏ รับเอาลูกน้อยมาเชยชม | ให้เจ้าเสวยนมแล้วร้องไห้ |
อียักษ์มันตีแทบบรรลัย | ที่ไหนแม่นี้จะเป็นตัว |
แม่นี้มีกรรมจำพลัดพราก | จำจากแล้วพ่อทูนหัว |
จิตใจแม่ให้มืดมัว | ทูนหัวแม่เอยแม่จากไกล |
กินนมเสียเถิดนะพระทอง | เจ้ารักเลี้ยงน้องอย่าร้องไห้ |
นางสั่งลูกพลางทางร่ำไร | ดังใจจะขาดด้วยลูกยา ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ บัดเดี๋ยวคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ | ทิ้งลูกน้อยไว้ขึ้นพฤกษา |
ร้องเป็นชะนีที่ในป่า | สองตาเจ้าแดงดังอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิดฉิ่ง ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักเศร้าสร้อยหมองศรี |
วิ่งเข้ารับน้องเจ้าทันที | ชลนัยน์ไหลรี่อาบพักตรา |
แลเห็นมารดาเจ้าขึ้นไป | บนต้นพระไทรที่ใบหนา |
เก็บพิกุลทองของมารดา | ขอดชายภูษาเข้าทันใด |
อุ้มน้องร้องสั่งชนนี | แม่เจ้าอยู่นี่อย่าไปไหน |
ลูกนี้แสบท้องเป็นพ้นใจ | ลูกไปสักครู่จะกลับมา |
อุ้มน้องเดินพลางทางเหลียวหลัง | ให้พะว้าพะวังเป็นนักหนา |
กลัวว่าสมเด็จพระมารดา | ลงจากพฤกษาสัญจรไป |
เจ้าเดินมาแล้วเฝ้าเหลียวดู | เห็นแม่ยังอยู่ที่ต้นไทร |
รีบรัดลีลาคลาไคล | ถึงท้องตลาดใหญ่มิได้ช้า ฯ |
ฯ ๑๐ คำ โอด เพลง ฯ
๏ บัดนั้น | ชาวตลาดนั่งร้านอยู่แน่นหนา |
แลเห็นกุมารทั้งสองรา | ลูกอ่อนนี้มาแต่แห่งไร |
รูปร่างเห็นเป็นผู้ดี | พักตราราศีดูผ่องใส |
อุ้มน้องเที่ยวท่องตลาดใหญ่ | น่ารักสุดใจเจ้าพ่ออา |
ถามว่าจะซื้อสิ่งอันใด | ตามแต่นํ้าใจปรารถนา |
มานี่ก่อนเถิดเจ้าพ่ออา | ชาวร้านเมตตาเป็นพ้นใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ พระกุมารจึงตอบวาที | เบี้ยหอยไม่มีทำไฉน |
พิกุลทองของข้าห่อผ้าไว้ | แล้วแก้ออกให้กับแม่ค้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แม่ค้ารับเอาพิกุลทอง | อันงามเรืองรองเลขา |
เจ้าชอบใจสิ่งไรนะพ่ออา | จัดแจงแต่งหาให้น้องกิน |
กล้วยอ้อยขนมชาวร้านให้ | กินสักเท่าไรก็ไม่สิ้น |
เจ้าป้อนน้องพลางแล้วทางกิน | พระนรินทร์อิ่มหนำสำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางวิเสทชาวใน |
ตะวันบ่ายชายแสงลงไรไร | ลีลาคลาไคลเจ้าเดินมา ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาพบพระกุมารชาญชัย | เข้าไปร่ำรักเป็นนักหนา |
พ่ออุ้มน้องไปเที่ยวข้างไหนมา | พระมารดาของเจ้าอยู่แห่งไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักบอกแจ้งแถลงไข |
เมื่อวันไปเล่นทุ่งไพร | มีดอกบัวใหญ่ผุดขึ้นมา |
พระมารดาเอื้อมมือไปเด็ดหัก | อียักษ์ฉุดไปไม่ทันคว้า |
มันแปลงเหมือนองค์พระมารดา | น้องข้าไม่กินนมมัน |
พระบิดาจึงขับข้าไป | กริ้วโกรธคือไฟไม่หุนหัน |
ข้าวิ่งมาตามมารดาพลัน | แม่นั้นเป็นชะนีอยู่ต้นไทร ฯ |
ฯ ๖ คำ เจรจา ฯ
๏ พี่จงไปบอกพระเจ้าย่า | ข้าจะอยู่ช้าก็ไม่ได้ |
สั่งเสียกันแล้วก็คลาไคล | วิเสทเข้าในนัครา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ ครั้นว่ามาถึงวังใน | เข้าไปกราบทูลพระเจ้าย่า |
ทูลว่าข้าพบกุมารา | อุ้มน้องเที่ยวมาตลาดใหญ่ |
แล้วบอกกิจจาเป็นถ้วนถี่ | เล่าถึงชนนีแล้วร้องไห้ |
กราบทูลเจ้าย่าให้แจ้งใจ | ว่ามารดานั้นไซร้เป็นชะนี |
บอกว่าสมเด็จพระบิดา | กริ้วโกรธโกรธาแล้วขับหนี |
เนื้อความจริงจังดังนี้ | จงทราบธุลีพระบาทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุพรรณฟังแจ้งแห่งทาสา |
ชลเนตรไหลหลั่งคั่งคลอตา | อนิจจามาเป็นถึงเช่นนี้ |
หลานกูกูรักดังแก้วตา | มันไม่มาบอกเท่าเกศี |
จะได้เล่นเห็นกันเป็นไรมี | อีทาสีมึงอย่าว่าให้อึงไป |
พรุ่งนี้มึงไปแสวงหา | พบตัวพามาให้จงได้ |
เงินทองเสื้อผ้าจะถึงใจ | ให้ได้แต่หลานกูเข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักอุ้มน้องร้องไห้หา |
มุ่งหมายจะไปที่มารดา | มิช้าก็ถึงต้นไทร ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ ร้องเรียกแม่ทูนกระหม่อมแก้ว | ลูกมาถึงแล้วอย่าหม่นไหม้ |
มาทรงนมลูกน้อยกลอยใจ | เจ้าประคุณลูกไหว้ได้เมตตา |
มากินโภชนาพออาศัย | ข้าวของลูกได้เต็มห่อผ้า |
ผิดรูปซูบผอมพระมารดา | ลงมาหาลูกราแม่ยาใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองหมองไหม้ |
นั่งเศร้าเหงานิ่งบนกิ่งไม้ | จิตใจร้อนนักดังอัคคี |
ขู่คำรามคึกคึกกึกก้อง | ห้อยโหนแผดร้องเสียงอึงมี่ |
มุ่งหมายไปป่าพนาลี | ด้วยขนเพชรเทวีเกือบแก่แล้ว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ได้ยิน | นางผินพักตร์ดูพระลูกแก้ว |
อารมณ์สร่างสมประดีแล้ว | นางแก้วเจ้าลงจากต้นไทร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รับเอาลูกน้อยทรามชม | ให้เจ้าเสวยนมแล้วร้องไห้ |
วันนี้ลูกยาเจ้าคลาไคล | ไปเที่ยวถึงไหนนะลูกอา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารบอกแจ้งที่กังขา |
ข้าแสบท้องเหลือใจพระมารดา | ลูกรักจึงลาพระแม่ไป |
เก็บเอาพิกุลทองของมารดา | ไปเที่ยวซื้อหาพออาศัย |
ข้าวปลาขนมมีถมไป | เชิญให้แม่กินจงสำราญ |
ลูกเห็นพระแม่เจ้าผอมผ่าย | จิตใจลูกร้อนดังเพลิงผลาญ |
เชิญกินเสียบ้างให้สำราญ | สงสารน้องน้อยแม่กลอยใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ โอ้ ฯ
๏ ฟังลูกน้อย | นางแสนโศกสร้อยละห้อยไห้ |
แม่จะกินอาหารประการใด | ให้อัดอั้นตันใจทุกเวลา |
แค้นด้วยบิดาของเจ้านัก | ไม่คิดถึงลูกรักเสน่หา |
หลงใหลไปด้วยอีมารยา | เวราของแม่มาตามทัน |
สงสารแต่แม่จะจากไกล | เจ้าจะเห็นหน้าใครพ่อจอมขวัญ |
จะได้เห็นแม่นี้สักกี่วัน | นางกอดจอมขวัญเข้าร่ำไร ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ บัดเดี๋ยวคลั่งคลุ้มกลุ้มขึ้นมา | เผ่นขึ้นพฤกษาพระไทรใหญ่ |
สองตาเจ้าแดงดังแสงไฟ | ดังเพลิงลุกไหม้ทั้งกายา |
ปีนป่ายร่ายไม้แล้วกู่ก้อง | สำเนียงเสียงร้องกันแสงหา |
ด้วยเวทมนตร์อียักษ์มันใช้มา | กัลยาไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิดฉิ่ง ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ารักอุ้มน้องหมองศรี |
เห็นองค์สมเด็จพระชนนี | ขึ้นบนไทรศรีจวนเวลา |
เก็บเอาพิกุลทองแม่ร้องไห้ | ห่อไว้กับชายภูษา |
อุ้มน้องร้องสั่งพระมารดา | ครั้นแล้วก็พาน้องไป ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิด ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางสาวศรีวิเสทใหญ่ |
ครั้นจวนเวลาก็คลาไคล | ออกจากวังในมิได้ช้า ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาพบกุมารชาญชัย | วิเสทเข้าไปก้มเกศา |
บอกว่าเจ้าย่าใช้มา | ให้หาสองราเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมารฟังแจ้งแถลงไข |
ครั้นแล้วลีลาคลาไคล | วิเสทพาเข้าในนัครา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | จึงเข้าวังในมิได้ช้า |
วิ่งเข้ากอดบาทพระเจ้าย่า | โศกาสะอื้นร่ำไร ฯ |
ฯ ๒ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุพรรณข้อนทรวงกันแสงไห้ |
อุ้มหลานใส่ตักสะพักไว้ | กล่าวความถามไถ่พระนัดดา |
ต้นถ้อยปลายความเป็นไฉน | เดิมเหตุอย่างไรจงบอกย่า |
จึงขับเจ้าพี่น้องสองรา | เล่าไปให้ย่าแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารทูลแจ้งแถลงไข |
เมื่อวันไปเล่นทุ่งไพร | มีดอกบัวใหญ่ผุดขึ้นมา |
พระมารดาเอื้อมมือไปเด็ดหัก | อียักษ์มันฉุดเอาแม่ข้า |
กลายเป็นชะนีผุดขึ้นมา | เลียบริมคงคาเดินร้องไห้ |
อียักษ์มันผุดขึ้นมา | รูปเหมือนมารดาผ่องใส |
แล้วมารับเอาน้องข้าไป | ทำเป็นจะให้กินนมมัน |
เจ้ายมผิดนมมารดา | ผลักไสโศกากันแสงศัลย์ |
พระบิดากริ้วโกรธเอาโทษทัณฑ์ | ขับข้ากับน้องนั้นจากนาวา |
ข้าจึงเดินตามมารดาไป | เห็นแม่ขึ้นต้นไทรพฤกษา |
ครั้นคลายคลั่งคลุ้มวิญญาณ์ | ก็โศการักลูกทุกราตรี |
อันความลำบากพระแม่เจ้า | โศกเศร้าทุกข์ร้อนหมองศรี |
แสนลำบากยากใจใช่พอดี | อัยกีจงทราบพระบาทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอัยกีฟังหลานเสน่หา |
เล่าความทุกข์ยากลำบากมา | กัลยากริ้วโกรธพิโรธใจ |
ดูดู๋ทำได้ถึงเพียงนี้ | จะบอกเล่าคดีก็หาไม่ |
ตรัสสั่งสาวสรรกำนัลใน | ไปบอกให้ลูกกูขึ้นมา |
ทั้งนางองค์อัครมเหสี | ว่ามีทำวนเป็นนักหนา |
เอาหลานซ่อนไว้ในปรางค์ปรา | นางทาสาเร่งไปในบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้รับสั่งใส่เกศี |
ลุกแล่นลงไปด้วยทันที | ถึงที่ปราสาทพระราชา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึง | จึงถวายบังคมเหนือเกศา |
กราบทูลไปพลันมิทันช้า | พระมารดาให้เชิญจรลี |
ให้เชิญเสด็จไคลคลา | ทั้งโฉมกัลยามเหสี |
ให้เร่งขึ้นไปในบัดนี้ | ขอเชิญภูมีจงแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎได้ฟังไข |
ชวนนางกัลยาคลาไคล | ขึ้นไปเฝ้าองค์พระมารดา ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึง | จึงตั้งบังคมเหนือเกศา |
โฉมนางพิกุลทองอสุรา | บังคมวันทาพระชนนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาให้หมองศรี |
ตรัสถามไปพลันทันที | หลานข้าทั้งสองศรีไปอยู่ไหน |
เคยขึ้นมาเฝ้าทุกเวลา | ลูกเจ้าสองราอยู่แห่งใด |
ไม่เห็นขึ้นมานี้ว่าไร | เจ็บปวดเป็นไฉนนะลูกอา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎก้มเกศา |
ทูลองค์สมเด็จพระมารดา | วันไปทุ่งป่าพนาลัย |
ไปเที่ยวประพาสบุปผา | สาวสรรกัลยาน้อยใหญ่ |
เจ้าพิกุลทองเด็ดดอกไม้ | พลัดตกลงไปในคงคา |
ชวนกันตระหนกตกใจ | พยุงนางทรามวัยขึ้นนาวา |
บัดเดี๋ยวทันใดพระมารดา | มันว่าแปลงมาประหลาดใจ |
ไปเห็นชะนีอีผีป่า | ว่าเป็นมารดาแล้วร้องไห้ |
ลูกจึงกริ้วโกรธพิโรธใจ | ขับให้มันไปพระมารดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ฟังพาที | ชนนีแค้นขัดเป็นนักหนา |
หลานกูกูรักดังแก้วตา | เคยขึ้นมาเฝ้าย่าชมเขย |
น้อยฤๅขับไล่ไม่นำพา | ให้เป็นลิงป่าเสียแล้วเหวย |
ใจคอเช่นนี้กูมิเคย | ไม่รักลูกเลยมาตัดได้ |
ทั้งนางผู้เป็นพระมารดา | ไม่รักลูกยาฤๅไฉน |
ถึงผัวจะโกรธพิโรธใจ | ช่างทิ้งเสียได้ไม่เมตตา |
มันก็มิใช่แม่ลูกกัน | ไม่ผูกพันรักลูกเท่าเกศา |
พิกุลทองที่ไหนเจ้าได้มา | ก้มหน้าขวยเขินสะเทิ้นใจ |
หลานกูเชยชมอยู่ทุกวัน | จะเกรงใจกันก็หาไม่ |
นางยิ่งโกรธาตะละไฟ | นางเปรียบปรายให้มิได้ช้า ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางยักษ์ขวยเขินเมินหน้า |
แก้ไขบ่ายเบี่ยงด้วยปัญญา | ทูลพระมารดาขึ้นทันใด |
ครั้นว่าข้าน้อยจะทูลทัด | จะขืนขัดสามีกระไรได้ |
ถึงรักก็รักอยู่ในใจ | จะขืนขัดอย่างไรพระชนนี |
ถึงลูกนี้จะขับไปเสียด้วย | จะขืนอยู่สู้ม้วยก็ใช่ที่ |
ลูกแล้วมิรักเมื่อไรมี | สุดใจลูกนี้พระมารดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ฟังพาที | พระชนนีเห็นผิดเป็นนักหนา |
จริงเหมือนถ้อยคำของนัดดา | พิกุลทองมิตกเห็นหลากใจ |
จึงเรียกแต่ลูกชายมา | เข้าในปรางค์ปราสุกใส |
ค่อยกระซิบลูกยาแม่หลากใจ | มาเป็นอย่างไรนะลูกอา |
อีเมียเจ้าคนนี้แม่หลากใจ | ดีร้ายมันเป็นยักษา |
พิกุลทองมิไหลจากโอษฐ์มา | ทั้งจริตกิริยาก็ผิดไป |
แต่ลูกไปตามพระมารดา | พิกุลทองเก็บได้เป็นนักหนา |
ตรัสเรียกหลานขวัญให้ออกมา | เล่าให้บิดาเจ้าแจ้งใจ |
พระกุมารอุ้มน้องออกมา | วันทาแล้วเมินกันแสงไห้ |
พระเจ้าย่าเรียกข้ามาว่าไร | ลูกคนจังไรขายบาทา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎเห็นลูกเสน่หา |
ชลเนตรคลอครองนัยนา | กอดลูกสองราเข้าไว้ |
พ่อขับเจ้าผิดพ่อขอโทษ | เจ้าอย่าโกรธพ่อเลยจงบอกให้ |
บัดนี้มารดาของเจ้าไซร้ | อยู่ไหนจงบอกให้บิดา |
แม้นว่าจริงจังอย่างนั้นไซร้ | พ่อจะไว้มันไยอียักษา |
เห็นผลอย่างไรนะลูกอา | มารดาบอกเจ้าประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารทูลแจ้งแถลงไข |
อันพระมารดาของข้าไซร้ | ร่ำไรรักลูกทุกเวลา |
ครั้นว่าคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ | ทิ้งลูกขึ้นไปต้นพฤกษา |
ลูกเก็บพิกุลทองของมารดา | แลกขนมข้าวปลาสู่น้องกิน ฯ |
ฯ ๔ คำ เจรจา ฯ
๏ ฟังลูกรัก | ประจักษ์วิญญาณ์พระภูมินทร์ |
คิดถึงองค์อัครเทพิน | ภูมินทร์กันแสงโหยหา |
อุ้มเอาเจ้ายมใส่ตักซ้าย | เจ้ารักพี่ชายใส่ตักขวา |
ทรงพระกันแสงโศกา | พ่างเพียงราชาจะขาดใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ฯ
๏ ครั้นพระค่อยคลายโศกาแล้ว | ตรัสสั่งลูกแก้วผู้พิสมัย |
พรุ่งนี้จงพาบิดาไป | ถามไถ่ให้รู้เหตุการณ์ |
ว่าจะคิดอ่านฉันใดดี | ชนนีจึงคืนยังสถาน |
วอนถามมารดาให้แจ้งการ | จะคิดอ่านจับแม่เจ้าเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ว่าแล้ว | จูบสั่งลูกแก้วเสน่หา |
ลาองค์สมเด็จพระมารดา | พานางยักษาไปปรางค์ไชย ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงชวนเจ้าไฉยา | ลีลาเข้าห้องอันผ่องใส |
บรรทมนิทราสำราญใจ | พอพระสุรีย์ใสสว่างฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ตระ ฯ
๏ ครั้นรุ่งรางสว่างแล้ว | พระแก้วตรัสสั่งเป็นมารยา |
วันนี้พี่จะไปพนาวา | เสนาทูลว่าช้างสำคัญ |
เผือกผู้ตัวหนึ่งโคบุตร | นงนุชคอยอยู่กระเษมสันต์ |
สั่งแล้วทรงเครื่องอันพรายพรรณ | ทรงพระขรรค์แก้วออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ เพลง ฯ
๏ ถึงเกยตรัสสั่งเสนาใน | เร่งเตรียมพลไวอย่าได้ช้า |
เราจะออกไปพนาวา | อย่าช้าให้จัดไว้บัดนี้ |
สั่งเสร็จยุรยาตรทันใด | ขึ้นไปปรางค์มาศปราสาทศรี |
บังคมสมเด็จพระชนนี | ชวนลูกสองศรีแล้วอำลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนปราสาท | ตรัสเรียกสายสวาดิทั้งสองศรี |
พรั่งพร้อมจัตุรงค์โยธี | ออกจากธานีด้วยทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ กราวนอก ฯ
๏ พระกุมารนำหน้าคลาไคล | เกือบใกล้ชายป่าที่อาศัย |
ทูลบอกบิดาทันใด | ให้หยุดพลไว้จงเร็วรา |
แม่อยู่ตรงมือลูกชี้ไป | บนต้นพระไทรสาขา |
รี้พลอื้ออึงเป็นโกลา | รู้ถึงมารดาจะตกใจ |
พระราชาตรัสสั่งไปทันที | ให้หยุดโยธีน้อยใหญ่ |
ให้ห้ามปากเสียงอย่าอึงไป | กำชับกันไว้นะเสนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ พระกุมารเดินหน้าบิตุรงค์ | ประจงอุ้มน้องรักเสน่หา |
เห็นเกือบจะถึงพระมารดา | ให้บิดาเข้าอยู่ที่พุ่มพง |
พระบิดาเข้าอยู่ที่นี่ | จะได้แจ้งคดีที่ประสงค์ |
สั่งพระบิดาแล้วดังจำนง | อุ้มน้องเดินตรงเข้าต้นไทร ฯ |
ฯ ๔ คำ เสมอ โอ้ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงเรียกพระมารดา | เชิญแม่ลงมาจากต้นไทร |
น้องยมอยากนมเป็นพ้นใจ | ชนนีจงได้เมตตา |
มาเถิดแม่ทูนกระหม่อมแก้ว | ลูกอยากนมแล้วเป็นนักหนา |
เรียกแม่เฉยได้ไม่นำพา | เรียกพลางโศการ่ำไร ฯ |
ฯ ๔ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองหมองไหม้ |
กู่ก้องร้องเป็นชะนีไพร | จิตใจไม่เป็นสมประดี |
แผดเสียงเดือดดาลทะยานใจ | มุ่งหมายจะไปไพรศรี |
ลูกเรียกไขหูไม่ดูดี | เทวีไม่รู้ซึ่งกายา |
ครั้นว่าค่อยคลายสบายใจ | แลไปเห็นลูกเสน่หา |
ค่อยโหนโยนตัวเจ้าลงมา | จากกิ่งพฤกษาด้วยทันใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิดฉิ่ง โอ้ ฯ
๏ รับเอาลูกน้อยมาเชยชม | กินนมแม่เถิดอย่าร้องไห้ |
ยังอีกเจ็ดวันแม่จะไป | พ่อสายใจกินนมเสียเถิดรา |
พ่อดวงใจนัยน์เนตรของแม่เอ๋ย | แม่มิได้อยู่เชยเจ้าแก้วตา |
เจ้ารักเลี้ยงน้องอย่าร้องไห้ | สั่งพลางร่ำไรด้วยลูกรัก |
เจ้ายมแม่จะสอนอย่าอ้อนพี่ | คล้อยไกลแม่นี้ไม่เห็นหน้า[๔] |
สิ้นบุญมารดาจะขอลา | ลูกยาเจ้ามาอยู่แต่ไกล |
ขนเพชรแม่จวนจะแข็งกล้า | แม่จะกัดลูกยาให้ตักษัย |
ว่าพลางกอดลูกทั้งสองไว้ | ร่ำไรกันแสงโศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรักกุมารเสน่หา |
เห็นองค์สมเด็จพระมารดา | ค่อยสร่างโศกากันแสงไห้ |
จึงอ้อนวอนถามพระมารดา | ลูกยาขอถามให้แจ้งใจ |
เราจะคิดอ่านประการใด | พระแม่จึงจะได้กลับเป็นคน |
โปรดกล่าวลูกเถิดพระมารดา | ลูกยาจะใคร่รู้ซึ่งเหตุผล |
ลูกเห็นแม่เจ้าเฝ้าทุกข์ทน | แต่ก่นกินน้ำตาไม่วายวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ลูกแก้ว | สุดใจแม่แล้วพ่อจอมขวัญ |
อันจะให้ขึ้นเป็นคนนั้น | แม้นฟันได้เลือดอียักษ์มา |
อาบแม่เมื่อไรจะเป็นคน | ขนเพชรแม่จะหล่นจากเกศา |
นั้นแหละแม่จะขึ้นเป็นคนมา | จะได้อยู่เห็นหน้าพ่อดวงใจ |
ครั้นนางบอกลูกได้เท่านั้น | อกใจไหวหวั่นไม่ทนได้ |
ทิ้งลูกลงพลันทันใด | ขึ้นบนต้นไทรด้วยพลัน ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงโศกกันแสงศัลย์ |
วิ่งมารับองค์พระลูกพลัน | วิโยคโศกศัลย์พันทวี |
ทีนี้ประจักษ์แก่ตาแล้ว | ว่ามิ่งเมียแก้วมเหสี |
ผิดรูปซูบผอมถึงเพียงนี้ | เจ้าพี่มาตกเข็ญใจ |
ผินพักตร์กลับมาหาผัวก่อน | ในทรวงผัวร้อนดังเพลิงไหม้ |
พี่ออกมาหานางทรามวัย | ควรเมินเสียได้ไม่เหลียวมา |
พี่จะลาพาลูกเข้าวังใน | จะโศกาอาลัยฟังผัวว่า |
อย่าโกรธผัวเลยเจ้าแก้วตา | เพลาสายัณห์จะด่วนไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ พาลูกดำเนินเดินมา | พระจะกลั้นโศกาก็มิได้ |
แลเหลียวจนเลี้ยวลับไพร | ออกจากต้นไทรเสด็จมา ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ มาถึงที่ประชุมโยธี | ตรัสสั่งเสนีทั้งซ้ายขวา |
ให้เร่งกะเกณฑ์โยธา | พิทักษ์รักษารอบต้นไทร |
ตั้งค่ายรายรอบให้จงดี | อย่าให้เจ้าหนีออกไปได้ |
ถ้าว่าชะนีออกด้านใคร | จะตัดหัวเสียบไว้นะเสนา |
แล้วเร่งทำจั่นในราตรี | ทางหนีทางไล่ให้แน่นหนา |
สั่งเสร็จเสด็จยาตรา | พาลูกสองราเข้าวังใน ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีรี้พลน้อยใหญ่ |
เย็นย่ำยอแสงอโณทัย | ตั้งค่ายรายรอบเร่งตรวจตรา |
หาฟืนกองไฟเรียงรายไป | ล้อมรอบต้นไทรมิได้ช้า |
กำชับปากเสียงเจรจา | อย่าให้เฮฮาอื้ออึงไป |
บ้างเกณฑ์ตัดไม้ให้ทำจั่น | เร่งรัดจัดกันอย่าช้าได้ |
จะใส่พระกุมารชาญชัย | ล่อไล่ให้หล่นลงทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎเรืองศรี |
จวนจะใกล้รุ่งราษตรี | ภูมีก็ตื่นจากนิทรา |
ชำระพระพักตร์ไม่แจ่มใส | ท้าวไททรงเครื่องอันเลขา |
ชวนลูกสองไทไคลคลา | ยาตรามาขึ้นพาชีไชย |
พร้อมด้วยเสนีถ้วนหน้า | แห่แหนแน่นมาอยู่ไสว |
ออกจากนิเวศน์วังใน | รีบไปก็ถึงพนาวา ฯ |
ฯ ๖ คำ เชิด ฯ
๏ มาถึงจึงสั่งเสนา | ให้พาพระลูกยาพิสมัย[๕] |
ไปยังที่สนามจันทร์ทันใด | อย่าให้ทันรุ่งพระสุริยา |
พระบิดาผาสุกสบายใจ | เสนาผู้ใหญ่นำหน้ามา |
บังเงาเข้าพุ่มพฤกษา | เสร็จแล้วก็พากันออกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
เข้าอยู่ในจั่นชั้นใน | อโณทัยก็ไขสว่างฟ้า |
ตะโกนก้องร้องเรียกแม่ทูนเกล้า | แม่เจ้าจงโปรดเกศา |
ลงมาส่งนมลูกน้อยรา | โศกาคอยหาพระชนนี |
เชิญลงมาเถิดพระแม่เจ้า | ผ่านเกล้าจงโปรดเกศี |
เอ็นดูลูกน้อยมาโศกี | อยากนมชนนีเป็นเหลือใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองหมองไหม้ |
สองตาเจ้าแดงดังแสงไฟ | ในใจจะกัดเอาลูกยา |
ครั้นแล้วตัวนางก็ห้อยโหน | กระโดดโจนร่ายตามกิ่งพฤกษา |
ได้ยินลูกเรียกเร่งโกรธา | จะกัดฟัดฆ่าให้บรรลัย |
ด้วยเวทมนตร์ยักษ์มันสาปมา | จะรู้สึกกายาก็หาไม่ |
ห้อยโหนโจนร้องกึกก้องไพร | หมายใจจะกัดเอาลูกยา |
หมายมุ่งหย่อนตัวเจ้าลงไป | จากต้นพระไทรใบหนา |
ผลุนเข้าในจั่นมิทันช้า | ดิ้นรนไปมาคำรามไป ฯ |
ฯ ๘ คำ เชิด ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีวิ่งมาไม่ช้าได้ |
เปิดอุ้มพระกุมารออกทันใด | วิ่งไปทูลองค์พระราชา ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ ทูลองค์ทรงธรรม์พันปี | ชะนีติดจั่นอยู่แน่นหนา |
พระองค์จงทราบพระบาทา | ราชาจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎเรืองศรี |
เสด็จมายังจั่นทันที | ภูมีพิศดูละห้อยใจ |
เห็นนางดิ้นรนอยู่ในจั่น | พระจะกลั้นโศกาก็มิได้ |
ตรัสสั่งมหาเสนาไปทันใด | ให้ยกกลับไปพระพารา |
กำชับอย่าให้ผู้ใดรู้ | ว่ากูจับชะนีมาแต่ป่า |
เชิญโฉมพิกุลทองให้ออกมา | ชมสวนอุทยาน์สำราญใจ |
กระซิบสั่งเสนาแล้วมิช้า | เอาคนมาล้อมด้วยฉับไว |
ว่าเราอยู่สวนขวัญทันใด | ภูวไนยตรัสสั่งพระลูกยา |
เจ้ารักเฝ้าจั่นอยู่ที่นี่ | พ่อจะฆ่าอสุรียักษา |
ว่าแล้วเสด็จไคลคลา | กับมหาเสนาที่ร่วมใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ เสมอ เจรจา ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มีอัชฌาศัย |
รีบรัดเข้ามายังวังใน | บัดใจก็ถึงนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ เชิด ฯ
๏ รับสั่งให้มาเชิญกัลยา | เสด็จคอยท่าอยู่สวนศรี |
ไปประพาสมิ่งไม้ให้เปรมปรีดิ์ | ชมผลมาลีในสวนขวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางยักษ์ดีใจกระเษมสันต์ |
ได้ฟังเสนามาพลัน | ว่าพระทรงธรรม์ให้เชิญไป |
เข้าที่ชำระสระสรง | จัดแจงแต่งองค์ให้ผ่องใส |
พร้อมด้วยนักสนมกรมใน | เสนานำไปพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ เพลงช้า ฯ
๏ มาถึง | ยังซึ่งสวนแล้วกระเษมสันต์ |
ถึงที่ประทับพลับพลาพลัน | บังคมคัลภัสดาสามี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎเรืองศรี |
ปราศรัยนวลนางเทวี | เจ้าอยู่กับพี่ในพารา |
จนมีพระราชบุตรา | ยังไม่ได้มาชมสวนศรี |
บรรทมพลับพลาให้เปรมปรีดิ์ | อ่อนแสงสุริย์ศรีจึงค่อยจร |
พระพายรำเพยมาเชยรส | หอมฟุ้งปรากฏกลิ่นเกสร |
เรณูเฟื่องฟุ้งขจายจร | เชิญเจ้านอนเล่นให้เย็นใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางยักษ์ยิ้มแย้มแจ่มใส |
เมื่อกรรมจำม้วยพิราลัย | จิตใจให้เคลิ้มหาวนอน |
หอมชื่นพื้นพันธุ์ดอกไม้ | อบอาบซาบไปไม่หยุดหย่อน |
ร่วมบนอาสน์พระภูธร | เอนองค์ลงนอนก็หลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ตระ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎยินดีจะมีไหน |
ร่ายเวทประทับระงับใจ | ค่อยย่องออกไปจากพลับพลา |
จึงส่งพระขรรค์ให้เพชรฆาต | สามารถฤทธิไกรใจกล้า |
ย่องเท้าเร่งเข้าไปอย่าได้ช้า | ฟันอียักษาให้บรรลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ เชิดฉิ่ง ฯ
๏ กายาก็กลับเป็นยักษ์ไป | โตใหญ่แทบเทียมคีรีศรี[๖] |
เลือดนั้นไหลลงพระธรณี | เต็มที่สวนศรีอุทยาน์ |
พระมงกุฎตรัสสั่งเสนาใน | เอาเลือดไปรดชะนีป่า |
ถ้านางออกปากเรียกลูกยา | เสนาตัดจั่นออกทันใด |
แม้นมิออกซึ่งวาจา | เร่งรดไปกว่าจะฟื้นได้ |
เร่งรัดกันขนเอาเลือดไป | แต่ในเดี๋ยวนี้อย่าได้ช้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เสนา | รับสั่งวาจาของท้าวไท |
เร่งมาตักขนเอาเลือดไป | รดชะนีไพรให้เป็นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ สาธุการ โอ้ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางพิกุลทองเสน่หา |
ค่อยฟื้นคืนสมประดีมา | เรียกหาลูกชายพ่อสายใจ |
โอ้พ่อรักพ่อยมของแม่เอ๋ย | ทรามเชยของแม่ไปอยู่ไหน |
เขาทำตัวแม่เป็นพ้นใจ | สองไทมาช่วยแม่ด้วยรา |
เลือดฝาดที่ไหนมาเต็มตัว | ทูนหัวแม่เอยไม่เห็นหน้า |
สุดที่จะทนพ้นปัญญา | เมาเลือดนักหนาจะขาดใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมงกุฎเรืองไชย |
เห็นนางคืนดีมาได้ | สั่งให้เปิดจั่นออกทันที |
ให้เอาวารีชำระองค์ | สระสรงกายาแจ่มศรี |
ให้หมดมลทินทั้งอินทรีย์ | เอาสุคนธ์วารีมาสรงทา |
เอาภูษาส่งให้เทวี | กับสร้อยมณีเลขา |
ตรัสเรียกโอรสเข้ามา | ไปหามารดาพ่อดวงใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ เจรจา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางพิกุลทองโฉมฉาย |
หายที่มืดมนสกนธ์กาย | โฉมฉายสวมกอดพระลูกอา |
จูบกระหม่อมจอมเกล้าแล้วรับขวัญ | ร่วมวันของแม่พึ่งเห็นหน้า |
แม่คิดในใจอยู่ไปมา | ว่าจะไม่เห็นหน้าพระลูกแก้ว |
นางถวายบังคมพระภัสดา | ชลนาไหลนองเป็นถ่องแถว |
ขัดแค้นเคืองใจไม่รู้แล้ว | นางแก้วก้มพักตร์ลงโศกา ฯ |
ฯ ๖ คำ โอด ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎเร่งหรรษา |
แล้วตรัสเล้าโลมกัลยา | จะโศกาแค้นเคืองไปว่าไร |
พี่ฆ่ามารม้วยมรณา | อียักษ์แพศยาก็ตักษัย |
อยู่ในสวนขวัญนั้นไซร้ | โตใหญ่เต็มสวนอุทยาน์ |
แล้วว่าแก่เสนาใน | เร่งไปขนศพยักษา |
ป่าวร้องพลเมืองทั้งนั้นมา | เชือดเถือแล่ผ่าเร่งขนไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ตรัสสั่งแล้วพากัลยา | กับสองลูกยาพิสมัย |
เสด็จลีลาคลาไคล | กลับเข้าวังในด้วยทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ เพลง ฯ
๏ มาถึงปราสาทรจนา | เฝ้าสองกษัตราเรืองศรี |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | บิตุเรศชนนีทั้งสองรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บิตุรงค์ครั้นเห็นพระลูกยา |
ทั้งองค์ชนนีศรีโสภา | สวมกอดกัลยาแล้วร่ำไร |
แม่นี้ทุกข์ถึงเจ้าทุกค่ำเช้า | กรรมสิ่งไรเล่ามาซัดให้ |
สงสารลูกน้อยกลอยใจ | กำพร้าแม่ได้เวทนา |
บัดนี้อียักษ์มันอยู่ไหน | มันหนีไปฤๅไรอียักษา |
มันแปลงรูปให้เหมือนกัลยา | ชาติแพศยาอีจังไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทูลแจ้งแถลงไข |
ลูกแกล้งมาลวงเอามันไป | ..........................[๗] |
.......................... | ฆ่าให้บรรลัยอาสัญ |
เอาเลือดมารดนางแจ่มจันทร์ | จอมขวัญจึงกลับคืนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยมงกุฎรุ่งฟ้า |
ทั้งนางพิกุลทองโสภา | อำลามาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ เสมอ ฯ
๏ เสด็จยังแท่นแก้วมณี | กับพระมเหสีพิสมัย[๘] |
เข้าที่บรรทมภิรมย์ใจ | อยู่ในปราสาทรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ตระ ช้า ฯ
[๑] จบความในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๑ เพียงเท่านี้ ความตอนต่อไปเป็นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๐
[๒] เริ่มความในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒๔
[๓] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้
[๔] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้
[๕] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้
[๖] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้
[๗] วรรคท้ายของคำกลอนที่ ๒ และวรรคต้นของคำกลอนที่ ๓ หายไป
[๘] สัมผัสไม่รับกับคำกลอนสุดท้ายของบทก่อนหน้านี้