ชีวประวัติ ของ พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) กับ คุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ณ ที่บ้านวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) จังหวัดพระนคร ได้เข้าศึกษาวิชาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ สอบไล่ชั้น ๕ ขึ้นชั้น ๖ เป็นที่ ๑ จึงได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ยุโรป ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ไปพร้อมกับ พล.ต. หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และ พล.ต. หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี ในฐานะเป็นนักเรียนด้วยกัน ไปถึงกรุงเบอรลินในราวกลางเดือนธันวาคม เรียนเตรียมอยู่สองปี จึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก ที่เมืองโกลสซ์สิตตอร์เฟลเด ครั้นสอบไล่โรงเรียนที่กล่าวได้แล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นนักเรียนทำการนายร้อย (แฟนริช) ประจำกองร้อยที่ ๓ กองพันที่ ๑ กรมทหารปืนใหญ่สนามที่ ๔ (ปืนกระสุนวิถีราบ) ซึ่งปริ๊นซ์เรเกนต์หลุยโปลด์เจ้าแห่งบาวาเรีย เป็นผู้บังคับการพิเศษ ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ส่งไปเข้าโรงเรียนรบที่เมืองเมตซ์ เรียนอยู่ที่นั่นจนจบหลักสูตรและสอบไล่ได้ แล้วกลับมาสำรองราชการอยู่กรมเดิมอีก ได้รับสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรีในกรมทหารปืนใหญ่สนามเบาที่ ๔ ครั้นได้เป็นนายทหารแล้วก็ย้ายมารับราชการอยู่ในกองพันที่ ๓ ซึ่งเป็นกองพันที่ใช้ปืนใหญ่ต่างชนิดกับกองพันที่ ๑ คือใช้ปืนใหญ่ชนิดกระสุนวิถีโค้ง

ในปลายปี ๒๔๕๕ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทย ให้ลาออกจากกองทัพบก เยอรมันนี เพื่อไปศึกษาวิชาช่างแสงในประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาวิชาชั้นต้น เพื่อเตรียมเข้าศึกษา ในโรงเรียนเทคนิคชั้นสูง เป็นเวลา ๑ ปี ซึ่งเป็นเวลาจวนจะสอบไล่ เพื่อเข้าโรงเรียนเทคนิคชั้นสูงอยู่แล้ว ก็ได้รับคำสั่งเรียกให้กลับประเทศไทย

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ออกไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับยศเป็นนายร้อยโท ในเดือนเมษายน ปี ๒๔๕๘ ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้นรับในอัตรานายร้อยโทชั้น ๑ กับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๑๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๕๘ ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางซื่อ ในเดือนเมษายน ๒๔๕๙ ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และรับเงินเดือนอัตราร้อยเอกชั้น ๓ กับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๑๐๐ บาท ในเดือนเมษายน ๒๔๖๐ ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้นรับอัตรานายร้อยเอกชั้น ๒ กับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๑๐๐ บาท ในเดือนสิงหาคม ๒๔๖๐ ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ ๙ จังหวัดฉะเชิงเทรา พอถึงเดือนเมษายน ๒๔๖๑ ก็ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้นรับอัตรานายร้อยเอกชั้น ๑ กับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๑๐๐ บาท และเดือนเดียวกันนั้นก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงสรายุทธสรสิทธิ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับคำสั่งให้ย้ายกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๙ ไปตั้งที่ดงพระรามจังหวัดปราจีนบุรี ประจำอยู่ที่ดงพระรามประมาณ ๘ เดือน ก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับเข้ามาเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ตำบลบางซื่อ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๒ ได้รับคำสั่งให้เลื่อนยศเป็นนายพันตรี

วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๒ ได้รับคำสั่งให้ไปรับราชการ ในกรมจเรทหารปืนใหญ่ทหารบกในกระทรวงกลาโหม เพื่อเตรียมตัวที่จะออกไปราชการประเทศญี่ปุ่น ในอันที่จะได้ไปทำการผลัดเปลี่ยนหน้าที่ นาย พล.ต. พระยาอินทรวิชิต ซึ่งเวลานั้นเปนหัวหน้าออกไปทำการตรวจรับปืนใหญ่ อันเป็นราชการพิเศษที่ประเทศญี่ปุ่น การไปราชการพิเศษครั้งนั้น นอกจากจะได้ไปเป็นผู้ตรวจรับปืนใหญ่แล้วยังได้มีโอกาศไปดูกิจการทหารต่าง ๆ ของกองทัพบกญี่ปุ่นด้วย เช่น การฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ การฝึกหัดเข้าสนามยุทธของทหารปืนใหญ่ญี่ปุ่น ระเบียบทหารภายในกรมกองหลายแห่งกับทั้งได้ดูการซ้อมรบอีกด้วย

ในการไปราชการพิเศษประเทศญี่ปุ่นครั้งนั้น ได้รับพระราชทานตราทิพยสมบัติชั้น ๔ จากราชาธิราชประเทศญี่ปุ่นด้วย ในเดือนเมษายน ๒๔๖๔ ได้กลับจากประเทศญี่ปุ่น แล้วเข้าประจำกรมจเรปืนใหญ่ รับอัตราเงินเดือนนายพันตรีชั้น ๒ กับเงินเพิ่มพิเศษ ๑๐๐ บาท วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๖ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันโท และได้รับอัตราเงินเดือนนายพันโทชั้น ๓ กับเงินเพิ่มพิเศษ ๑๐๐ บาท วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๗ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสรายุทธสรสิทธิ์ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๘ ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันโทชั้น ๒ กับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๑๐๐ บาท วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๙ ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ที่โคกกะเทียม วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ ได้รับอัตราเงินเดือนนายพันโทชั้น ๑ กับเงินเพิ่มพิเศษ ๑๐๐ บาท แล้วได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิชาทหารกรมยุทธศึกษาทหารบก วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๑ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๗๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร

ครั้นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๗๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินในคราวประพาสสิงค์โปร์ ชะวา บาหลี ในหน้าที่ราชองครักษ์ประจำ ซึ่งนับว่าเป็นราชการพิเศษอีกคราวหนึ่ง เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้ว ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๔ กับแหนบพระบรมนามาภิธัยชั้น ๒ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๓ ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น ๒ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๓ ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นจเรทหารปืนใหญ่ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปประจำอยู่กับคณะฑูตที่เข้ามาเยี่ยมพระนคร ซึ่งมีท่านยองเคียร์เดอกราฟฟ์ ผู้สำเร็จราชการเนเธอแลนด์ อินเดีย เป็นหัวหน้า และเนื่องด้วยราชการพิเศษนั้นจึงได้รับตราออเรนจ์ นัสเซาชั้น ๓ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๔ ได้รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น ๑ วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้เป็นหัวหน้าในคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติพร้อมกันให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับประธานคณะกรรมการราษฎร ได้เลือกให้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการราษฎรด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งในวาระเดียวกันนั้น

ต่อมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้จัดโครงการกระทรวงกลาโหมขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ลำดับตำแหน่งราชการ

๑. เป็นนายกรัฐมนตรี ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖

๒. เป็นนายกรัฐมนตรี ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖

๓. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖

๔. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖

----------------------------

 

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยพานิช (สาขา) เสาชิงช้า พระนคร

นายลม กลิ่นบัวแก้ว ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๔๙๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ