๕
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๘๔
แนะนำประยูรภมรมนตรี
ท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็ก ได้บอกพี่ชายของท่านว่า ผู้ที่มาติดต่อจะคิดการปฏิวัตินั้นคือนายประยูรภมรมนตรี ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์เก่าของเจ้าคุณพหลฯนั่นเอง เจ้าคุณพหลฯก็รับว่ารู้จักดี นอกจากบิดาของเขาเคยเป็นอาจารย์ของท่านแล้ว ถึงมารดาของเขา ก็เคยเป็นอาจารย์ของท่านเหมือนกัน กล่าวคือได้เป็นผู้สอนภาษาเยอรมันแก่ท่าน ก่อนที่ท่านจะไปศึกษาวิชาทหารเพิ่มเติมณประเทศเยอรมัน
อย่างไรก็ดี เมื่อท่านจมื่นออกนามประยูรภมรมนตรีนั้น เจ้าคุณพหลฯได้ท้วงว่า “ประยูรมันดูยังเป็นเด็กอยู่ไม่ใช่หรือ? จะมาคิดอ่านเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินได้อย่างไร”
ท่านนายพันตรีผู้น้องได้ตอบว่า “คุณพี่อย่าเพิ่งประมาทเขาว่าเป็นเด็ก เดี๋ยวนี่คุณประยูรเขาไม่เป็นเด็กดังแต่ก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้เขามีความคิดความอ่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ผมได้สนทนาซักถามฟังความคิดเห็นของเขาตลอดแล้วเห็นว่า เขาเป็นคนพอจะเชื่อถือไว้วางใจได้ เขาบอกกับผมว่า เวลานี้เขาติดต่อกับบรรดาบุคคลที่จะล้มอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ยังขาดอยู่ก็แต่นายทหารผู้ใหญ่ซึ่งเขาต้องการ จะได้มาเป็นผู้นำคณะของเขาเท่านั้น ในข้อนี้เขาก็มีความหวังอยู่ในตัวคุณพี่ เพราะได้ทราบกิตติศัพท์มาว่าเป็นคนซื่อตรงและเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง ทั้งมีใจเด็ดเดี่ยวไม่ประหวั่นพรั่นภัย เหมาะสมที่จะนำคณะนายทหารก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเสียใหม่ แต่เขาเจียมตัวว่าเป็นผู้น้อยมีความยำเกรงว่าคุณพี่เป็นผู้ใหญ่ ไม่อาจมาพูดจาชักชวนคุณพี่ด้วยตนเอง จึงขอให้ผมมาพูดจา ฟังลาดเลาความคิดของคุณพี่ดูก่อน ต่อเห็นว่าคุณพี่มีแก่ใจยอมรับร่วมมือด้วยแล้ว ตัวคุณประยูรก็จะมาพูดชี้แจงความคิดและความเป็นไปต่าง ๆ ให้คุณพี่ทราบด้วยตนเองในภายหลัง ผมเห็นว่าเขาพูดจามีหลักฐานน่าฟังและทั้งเห็นว่า คุณพี่เองก็ไม่พอใจในราชการบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว จึงหวังว่าคุณพี่คงยินดีร่วมความคิดกับเขาเป็นแน่”
เมื่อได้ชี้แจงมายืดยาวแล้ว จมื่นสุรฤทธิ์จึงลงท้ายด้วยคำวิงวอนว่า “คุณพี่ก็มีอายุอยู่มาได้เห็นโลกจนพ้นครึ่งคน นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว หาควรจะอาลัยใยดีในชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ ขอจงเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง รับร่วมมือกับคุณประยูร เพื่อให้การใหญ่ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไป แม้จะมีภัยถึงแก่ชีวิตก็จะได้ชื่อปรากฏในพงศาวดารว่าต้องตายเพราะคิดกู้แผ่นดิน ถึงจะทำการมิสำเร็จ ก็จะปรากฏเกียรติคุณเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนชั้นหลังไปชั่วกาลนาน”
พระยาพหลฯ ได้ฟังน้องชายพูดพรรณาน่าเลื่อมใสเช่นนั้น ก็มีความเชื่อถือและพอใจเป็นอันมาก จึงได้นัดหมายให้จมื่นสุรฤทธิ์พานายประยูรภมรมนตรีมาพบกับท่าน เพื่อจะได้ฟังความคิดเห็น และรายละเอียดจากปากคำของชายหนุ่มผู้เป็นบุตรอาจารย์เก่าต่อไป
ข้อความเพิ่มเติมเรื่องปืนสโตร๊คบัน
เกี่ยวกับเรื่องปืนสโตร๊คบัน ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอขายให้แก่กองทัพไทย ในสมัยรัฐบาลเจ้า และพระยาพหลฯ ได้คัดค้านมิให้ซื้อ โดยกล่าวว่า เป็นปืนที่ล้าสมัย ตามที่ได้ลงพิมพ์ในวันก่อนนั้น เพื่อที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจความถูกต้องแม่นยำ ตรงตามความคิดเห็นของเจ้าคุณพหลฯ ผู้เขียนใคร่ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่เจ้าคุณพหลฯ ติเตียนความล้าสมัยของปืนสโตร๊คบันนั้นหมายถึงปืนสโตร๊คบันที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอขายในครั้งนั้น มิใช่หมายถึงปืนสโตร๊คบันโดยทั่วไป เพราะว่าปืนสโตร๊คบัน หรือที่เรียกในภาษาทหารของไทยว่า ปืนใหญ่สนามเพลาะหรือเครื่องยิงลูกระเบิดนั้น ยังเป็นอาวุธที่พึงปรารถนาในกองทัพทั่วไป ในเมื่อเปลี่ยนใช้กลไกอย่างทันสมัยแล้ว กล่าวคือ ในเวลาตั้งยิงข้าศึกนั้น สามารถหมุนกลไกให้ปืนยิงไปได้รอบตัว โดยมิจำต้องเปลี่ยนที่ตั้งปืนใหม่ ซึ่งเป็นการงุ่มง่ามเสียเวลามาก ปืนสโตร๊คบันที่รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอขายแก่ไทยนั้น เป็นปืนชะนิดที่ยังมิได้ปรับปรุงกลไกให้หมุนได้รอบตัว ดังนั้น เมื่อจะจัดเปลี่ยนทางยิงครั้งหนึ่ง ก็จะต้องจัดการตั้งปืนใหม่ด้วยแรงคน ซึ่งเสียเวลามากและไม่เหมาะแก่การยุทธสมัยใหม่ ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสคือนายพันเอกรูห์ก็ไม่อาจปฏิเสธข้อตำหนิอันนั้น เจ้าคุณพหลฯจึงได้คัดค้านมิให้ซื้อปืนสโตร๊คบันชะนิดที่ล้าสมัยไว้ใช้ในกองทัพไทย และพระยาพหลฯได้แนะนำแก่ที่ประชุมว่า ถ้ากองทัพไทยจะซื้อปืนสโตร๊คบันไว้ใช้แล้วก็ควรจะซื้อปืนสโตร๊คบันชะนิดที่ได้ปรับปรุงกลไกใหม่แล้ว คือชะนิดที่สามารถทำการยิงได้รอบตัวโดยกลไกของมันเอง