คำแถลงครั้งที่ ๔
เมื่อคืนวันพุธ วิทยุกระจายเสียงยังคงดำเนินการวิพากษ์เสียดสีหนังสือพิมพ์ของเราต่อไปเป็นคำรบสี่ การที่ผู้พูดใช้เครื่องมือโฆษณาทางราชการพูดวิพากษ์เสียดสีหนังสือพิมพ์ของเรามาได้ ๔ คืน รวมทั้งที่ได้กล่าววาจาก้าวร้าวเสียดสีหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อีก ๑ คืน เป็น ๕ คืนนั้น ประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็พิศวงงงงวยไปตาม ๆ กัน ในนโยบายของการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี คารมของผู้พูดเมื่อคืนวันพุธ ก็เป็นสิ่งซึ่งปราศจากเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับคืนก่อน ข้อนี้เองที่ทำให้ผู้ฟัง เบื่อหน่ายเอือมระอา และรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์จากการฟังเสียเลย เวลาอันมีค่ายิ่งในการกระจายเสียงบทสนทนา ก็ได้ล่วงไปโดยไร้ประโยชน์และทิ้งความเอน็ดอนาถไว้เบื้องหลัง
ในระยะ ๒–๓ วันนี้ เสียงหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสียงของประชาชนโดยแท้นั้น ได้แสดงความไม่พอใจในบทสนทนาของนายมั่น–นายคงทวีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ก็มีปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ คือ “ไทยใหม่” “เสียงไทย” “หลักเมือง” “ไทยหนุ่ม” “หญิงไทย” “ประชามิตร” “ประชาชาติ” และ “วารศัพท์” รวมทั้งสิ้น ๙ ฉะบับแล้ว
ทั้งที่มีเสียงหนังสือพิมพ์แสดงความไม่พอใจในบทสนทนาของนายมั่นนายคงอย่างเกรียวกราวปานนี้แล้ว ผู้พูดก็ยังปิดหูปิดตาพูดอย่างหน้าเฉยตาเฉยอยู่ได้บ่อย ๆ ว่า “ขอให้หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” จงฟังเสียงประชาชนดูบ้าง” เราต้องยอมรับว่า เขาใช้สีข้างของเขาเก่งจริง ในการที่ให้คำเตือนแก่เราเช่นนี้
โดยที่ได้มีเสียงในหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เป็นเสียงของหนังสือพิมพ์เอง และเสียงของประชาชนคนอ่านรวมกัน แสดงความไม่พอใจแพร่หลายออกไปเช่นนี้ ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงจึงมีความกังวลใจเป็นอันมาก ดังนั้นในคืนวันพุธ เขาจึงแสดงสิ่งที่เขาเรียกของเขาเองว่า “ศิลปในการโฆษณา” ออกมาอีกครั้งหนึ่ง คือ ศิลปในการกลับถ้อยคำของเขาหรือกลืนถ้อยคำของเขาเอง ที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๑๕
ในคืนวันนั้น เขาได้กล่าววาจาก้าวร้าวเสียดสี หนังสือพิมพ์ที่คัดค้านคำชักชวนของเขาในเรื่องให้บุรุษไทยเลิกนุ่งกางเกงแพรและผ้านุ่งโจงกระเบน เขาว่าหนังสือพิมพ์คัดค้านเขา ก็ด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยประสงค์จะได้สตางค์มาก ๆ ในการขายหนังสือพิมพ์เท่านั้น หนังสือพิมพ์ไม่มีอุดมคติในการคัดค้านแต่ประการใด ท่านผู้เรียบเรียงบทสนทนา ดูหายใจเป็นเรื่องบาทสตางค์ไปเสียหมด ในหัวคิดจิตต์ใจของท่านดูเต็มไปด้วยเรื่องบาทสตางค์เสียจริง ๆ ดูท่านช่างไม่คิดเสียเลยว่าความอภิรมย์ในชีวิตนั้น จะมีอะไรได้อีก นอกจากเรื่องบาทสตางค์อย่างเดียว!
ผู้พูดได้กล่าวบริภาษหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อยู่เมื่อ ๓ คืนก่อนนี่เอง ต่อมาในวันพุธเขาเห็นว่าไม่เข้าที เพราะดูอาการหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เริ่มจะต่อต้านการคุกคามของเขาอีกแล้ว เขาก็กลับคำพูดเสียทันที โดยชี้แจงว่า ขอหนังสือพิมพ์อื่นๆอย่าเดือดเนื้อร้อนใจไปเลย หนังสือพิมพ์อื่น ๆ ไม่ได้ก่อกวนความยุ่งยากอะไร จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” และ “ประชามิตร” ๒ ฉบับเท่านั้น.
แต่ถ้อยคำบริภาษหนังสือพิมพ์ต่างๆที่เขากล่าวเมื่อคืนวันอาทิตย์ยังก้องกังวาฬอยู่ในหูของนักหนังสือพิมพ์ทั่วไป นี่แหละคือสิ่งที่ผู้เรียบเรียงบทสนทนาเรียกว่า “ศิลปในการโฆษณา” ศิลปในการกลับกลืนคำของผู้พูดเอง! และก็เขาผู้เดียวกันนี้แหละ ได้ประกาศตนว่า เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชการ ให้คอยประทานโอวาทานุศาสน์แก่พวกเราเหล่าประชาชนทั้งหลาย โดยทางวิทยุกระจายเสียงทุกคืน!
เพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย มิให้มาโต้เถียงกับเขาอีกต่อไป ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียง ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า นิ้วไหนร้ายก็จะตัดแต่นิ้วนั้น และนิ้วร้ายที่เขาต้องการจะตัดก็คือ “นิ้วสุภาพบุรุษ” และ “ประชามิตร”
บัดนี้ ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียง ก็ได้สำแดงเจตนาของเขาที่มีต่อหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ออกมาโดยเปิดเผยแล้วว่า มีอยู่ประการใด โดยที่ประชาชนมิต้องเดาด้วยความฉงนสนเท่ห์อีกต่อไป เดิมทีก็อาจมีใคร ๆ ซึ่งรวมทั้งคณะของเราด้วยเชื่อตามที่เขากล่าวว่า เขาออกความเห็นแนะนำในเรื่องนี้ ด้วยความหวังดี แต่เมื่อคืนวันพุธผู้พูดได้ประกาศเจตนาอันแท้จริงของเขาออกมาแล้วว่า เขาต้องการจะกำจัดหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เขาถือว่าหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “นิ้วร้าย” ในวงการหนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เป็นนิ้วร้ายในสายตาของเขา ก็เพราะว่าหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ไม่อยู่ในโอวาท และไม่อยู่ในบังคับบัญชาความเชื่อฟังของเขา เพราะว่าหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เคยคัดค้านความคิดเห็นของเขา
ประชาชนเมื่อได้ฟังเขาประกาศว่าจะตัดหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ออกจากวงการหนังสือพิมพ์ เพราะเหตุผลอันประหลาดดังกล่าวแล้ว ก็คงจะตลึงจังงังไปเท่านั้น
ถ้าหากจะมีผู้ใคร่ทราบว่า คณะของเราเล่ารู้สึกอย่างไรในคำประกาศของเขา เราก็ขอปล่อยให้กิจการงานประจำวันของเรา เป็นผู้ตอบปัญหาข้อนี้ต่อไป