๒
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๘๔
มูลเหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ความคิดที่จะปฏิวัติระบอบการปกครองนั้น ได้เกิดขึ้นก่อนหน้าลงมือเปลี่ยนการปกครอง เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๒–๓ ปี ยิ่งทางฝ่ายคณะพลเรือน คือคณะหลวงประดิษฐฯ นั้น ท่านได้รับทราบว่า ได้คิดกันมา ตั้งแต่ยังอยู่เมืองนอก เป็นเวลาตั้ง ๖–๗ ปี เมื่อได้รับข้อถามว่า มีเหตุอะไรดลใจให้ท่านคิดเปลี่ยนการปกครอง เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่า “ผมเป็นทหารเหตุทางฝ่ายผมจึงได้เริ่มมาจากหน้าที่ทางการทหารของผม”
ในเบื้องต้นทีเดียว เกิดความรู้สึกว่า ราชการบ้านเมืองในเวลานั้น ดูพวกข้าราชการผู้ใหญ่ และพวกเจ้านายทำกันตามอำเภอใจไม่ใคร่จะเอาใจใส่ในความเห็นของผู้น้อย ซึ่งแม้ว่าจะมีเหตุผลควรเชื่อถือก็ตาม พวกผู้ใหญ่มักจะถือเสียว่า ความเห็นของผู้น้อยนั้น จะดีหรือไม่ดีไม่สำคัญ หากสำคัญอยู่ที่ว่าจะถูกใจท่านหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้พวกผู้น้อย ซึ่งอาจมีสติปัญญาดีๆ ก็เกิดความท้อถอยไม่อยากแสดงความคิดความเห็น ทั้งๆที่เชื่อแน่ว่า จะมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเมื่อการบริหารราชการบ้านเมืองดำเนินไปตามความเห็นของพวกผู้ใหญ่ไม่กี่คน ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างเก่า ๆ และแคบ ๆ ด้วยแล้ว ก็อาจชักนำให้บ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย
ตามประวัติการศึกษา ของพระยาพหลฯ แสดงว่า ท่านเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดี กล่าวคือเมื่อยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกนั้น จากผลแห่งการสอบไล่ซึ่งได้เป็นที่ ๑ ท่านได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาล ให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อที่เยอรมันนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ครั้นสำเร็จวิชาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่นั่นแล้ว ก็ยังได้รับการฝึกฝนราชการทหารอยู่ในกองทัพบกเยอรมัน อยู่จนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงได้ไปศึกษาวิชาฉะเพาะต่อไปอีกในเดนมาร์ค รวมเวลาที่ท่านได้ใช้ศึกษาวิชาการในต่างประเทศร่วม ๑๐ ปี
เมื่อได้รับการศึกษามาอย่างดีเช่นนี้ และทั้งเมื่อกลับเข้ามารับราชการ ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ก็ยังเอาใจใส่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ก็เป็นธรรมดาในระหว่างที่รับราชการ พระยาพหลฯ ย่อมจะใส่ใจในความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเป็นอันมาก และถ้าความคิดความเห็นที่ได้แสดงออกไป เพื่อประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ไม่ได้รับความนำพาจากผู้ใหญ่แล้ว ก็คงจะไม่พอใจเป็นแน่.
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ความรู้สึกไม่พอใจอย่างแรงอันแรกเกิดขึ้น เนื่องในการประชุมประจำปีของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หรือก่อนนั้นท่านจำไม่ได้แน่ การประชุมปรึกษาข้อราชการประจำปีที่กระทรวงกลาโหมนั้น มีประเพณีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานเป็นจอมทัพทรงนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่พวกแม่ทัพและผู้บัญชาการต่าง ๆ ชั้นนายพล ประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เข้าร่วมในการประชุมด้วย ในตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นผู้อ่อนอาวุโสที่สุดในที่ประชุม การประชุมนายทหารผู้ใหญ่ประจำปีเช่นนี้ เป็นการประชุมเพื่อจะฟังความคิดความเห็นนายทหารผู้ใหญ่ในเรื่องทั่ว ๆ ไปในราชการทหาร พระยาพหลฯ ได้เสนอเรื่องสำคัญ ให้ที่ประชุมพิจารณา ๒ เรื่อง ท่านจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จำได้แน่นอนว่า ได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากพระยาสุรเสนาเจ้ากรมเกียกกาย เมื่อได้ตอบโต้กันอยู่พักหนึ่ง ปรากฏว่า ความเห็นของเจ้าคุณพหลฯ มีน้ำหนักเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อนายทหารผู้ใหญ่ได้คัดค้านความเห็นของท่านแล้ว องค์จอมทัพผู้เป็นประธาน ก็ให้ถือตามความเห็นของผู้มีอาวุโส เรื่องสำคัญ ๒ เรื่องที่ท่านหัวหน้าคณะราษฎร ได้เสนอขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมนายทหารผู้ใหญ่ชั้นนายพลนั้น ก็เป็นอันตกไป
อีกครั้งหนึ่ง มีเรื่องรัฐบาลฝรั่งเศส เสนอขายปืนสโตร๊คบันให้แก่กองทัพไทย ท่านจเรทหารปืนใหญ่เป็นผู้ที่อ่านหนังสือว่าด้วยการทหารของเยอรมันอยู่เป็นนิจ ความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธยุทธภัณฑ์ จึงไม่ใคร่จะผ่านความรู้ของท่านไปได้ และเกี่ยวกับปืนสโตร๊คบันที่ฝรั่งเศสได้เสนอขายให้แก่กองทัพไทยนี้ พระยาพหลฯ ได้ทราบว่าเป็นปืนที่ได้นำออกใช้ตั้งแต่ครั้งมหายุทธสงคราม ค.ศ. ๑๙๑๔–๑๙๑๘ ซึ่งเมื่อตกมาถึงสมัยนี้ ก็นับว่าเป็นปืนที่ล้าสมัยเสียแล้ว ดังนั้นในการประชุมนายทหารผู้ใหญ่เพื่อปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งมีกรมขุนสิงห์ฯ เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่หลายท่าน มีหม่อมเจ้าอลงกฎ พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาเสนาสงคราม พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ พระยาอภัยสงคราม (ท่านผู้นี้เวลานี้เป็นกรรมการที่ปรึกษาป้องกันพระราชอาณาจักร) และนายทหารผู้ใหญ่อื่น ๆ อีก โดยที่ได้รู้ประวัติของปืนสโตร๊คบัน ดังกล่าวแล้ว เจ้าคุณพหลฯ จึงได้ชี้แจง ให้ที่ประชุมทราบว่าปืนสโตร๊คบันเป็นปืนที่ล้าสมัย ไม่สมควรจะซื้อไว้ใช้ในกองทัพไทย ถึงแม้จะได้อ้างหลักฐานประกอบคำชี้แจงแล้วก็ดี แต่ก็ไม่ได้รับความสนับสนุนจากที่ประชุม เป็นอันว่าความเห็นของนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่ ยังเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อยู่นั่นเอง แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยหลักฐาน และเหตุผลก็ตาม
เมื่อเอ่ยนามพระยาอภัยสงคราม เจ้าคุณพหลฯ หัวเราะ แล้วพูดว่า “ผมจำได้ดีว่าในครั้งนั้น เมื่อเลิกประชุมแล้วผมยังได้พูดต่อว่า พระยาอภัยสงคราม ว่าทำไมไม่ช่วยกันคัดค้านเล่า พระยาอภัยฯ ยังได้ตอบว่า ก็อยากจะช่วยค้านเหมือนกัน แต่เห็นว่าจะค้านไปก็ไม่ไหวจึงเลยนิ่งเสีย”
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เล่าต่อไปว่า ต่อมาในคืนวันหนึ่งมีการกินเลี้ยงกัน ในบรรดานายทหารผู้ใหญ่ที่วังพญาไท ซึ่งมีทูตทหารฝรั่งเศสร่วมรับประทานอยู่ด้วย เจ้าคุณพหลฯ ได้โอกาศจึงถามทูตทหารฝรั่งเศสตามตรงว่า “ปืนที่รัฐบาลของท่านเสนอขายให้แก่กองทัพไทยนั้น เป็นปืนรุ่นเก่าแต่ครั้งมหาสงครามใช่หรือไม่” ท่านทูตผู้นั้นอึกอักอยู่ครู่หนึ่งแล้วกลับย้อนถามว่า “ท่านทราบได้อย่างไรเล่า” เจ้าคุณพหลฯ จึ่งตอบว่า “ข้าพเจ้าทราบ เพราะว่าข้าพเจ้าศึกษาความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธต่าง ๆ จากหนังสือข่าวทหารต่างประเทศอยู่เสมอ” เมื่อได้รับการยืนยันเช่นนั้น ทูตทหารฝรั่งเศสจึงยอมรับว่าเป็นความจริง เจ้าคุณพหลฯ จึ่งถามต่อไปว่า “เมื่อท่านเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ปืนสโตร๊คบัน เป็นอาวุธที่ล้าสมัยดังนั้นแล้ว เหตุใดจึงเสนอขายให้แก่กองทัพของเราเล่า? ท่านมิได้คิดหรือว่ากองทัพไทยก็ควรจะมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ใช้ในการป้องกันประเทศของตน” ทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นตอบเลี่ยงไปว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเมืองไทยจะต้องรบกับใคร ในเวลานี้กองทัพไทยควรจะมีอาวุธก็แต่สำหรับใช้ปราบการจลาจลภายในบ้านเท่านั้น และถ้าเพื่อความประสงค์ข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าปืนสโตร๊คบัน จะทำประโยชน์ได้อย่างเป็นที่พอใจทีเดียว”