วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๘๔

พระยาศรีสิทธิสงคราม

เมื่อได้กล่าวฝันถึงพระยาศรีสิทธิสงครามในตอนนี้แล้ว ผู้เขียนก็ใคร่จะบรรยายข้อความเกี่ยวกับพระยาศรีสิทธิสงครามสักเล็กน้อย ตามที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า พอพระยาศรีสิทธิสงครามได้ทราบข่าว ในตอนเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายนว่า คณะนายทหารได้ก่อการปฏิวัติขึ้นก็ได้รีบออกจากบ้านตรงไปยังบ้านพระยาพหลฯ นั้น ก็ด้วยหมายใจว่า จะไปปรึกษาหาทางหนีทีไล่กับปิยมิตรของตน โดยที่นับแต่พระยาศรีฯได้รับการทาบทามให้ร่วมมือในการปฏิวัติ และพระยาศรีฯ มิได้ตอบตกลงปลงใจไปประการใด ทั้งต่อมาพระยาพหลฯ ก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องนี้อีกเลย เหตุนั้นเองพระยาศรีฯ จึงไม่คาดคิดว่า พระยาพหลฯ จะได้เข้าร่วมในการปฏิวัติและเป็นผู้นำในการปฏิวัติเสียเอง

เมื่อพระยาศรีฯ มาที่บ้านพระยาพหลฯ ในเช้าวันนั้น และไม่พบพระยาพหลฯ ทั้งไต่ถามเรื่องราวจากภริยาของท่านนายพันเอก ก็ไม่ได้ความว่าพระยาพหลฯ ไปไหน พระยาศรีฯ ร้อนใจใคร่จะพบปรึกษาหารือกับพระยาพหลฯ จึงพักอยู่ที่บ้านพระยาพหลฯ จนกระทั่งบ่ายจึงได้ทราบข่าวว่า พระยาพหลฯ เป็นผู้นำในการปฏิวัติ พระยาศรีฯ จึงค่อยคลายใจ จวบจนเวลาเย็นพระยาศรีฯ จึงได้กลับไปสู่บ้านของตน

ฝ่ายทางพระยาพหลฯ นั้น เมื่อยึดอำนาจการปกครองได้เรียบร้อยแล้ว ก็สั่งให้คนไปตามตัวพระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้รับคำสั่งได้ติดตามทั้งที่บ้านและที่ทำการก็ไม่ได้ตัว เพราะว่าในระหว่างนั้น พระยาศรีฯ ไปหลบอยู่เสียที่บ้านพระยาพหลฯ ซึ่งพระยาพหลฯ ก็คาดไม่ถึง การที่พระยาพหลฯ ให้คนไปตามตัวพระยาศรีฯ มาพบนั้น ก็ด้วยประสงค์จะฟังความเห็นของพระยาศรีฯ เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าพระยาศรีฯ รับจะร่วมมือบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบใหม่แล้ว ก็จะได้เสนอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชุดเริ่มการสถาปนาระบอบใหม่คนหนึ่ง และจะได้ขอให้ช่วยราชการต่อไป แต่เมื่อไปตามตัวไม่พบแล้ว พระยาพหลฯ ก็มิได้เสนอนามพระยาศรีฯ ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่แน่ว่าพระยาศรีฯ จะเต็มใจร่วมมือด้วยหรือไม่

อยู่ต่อมาอีก ๒–๓ วัน ภายหลังที่ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว พระยาศรีฯ ได้ขอให้ภริยาของท่านหัวหน้าคณะราษฎรนำตัวมาพบกับท่านหัวหน้าคณะราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้สนทนาปราศรัยและซ้อมความเข้าใจกันดีแล้ว พระยาศรีฯ ก็กลับไป

ภายหลังพระยาศรีฯ ได้ถูกย้ายจากตำแหน่งราชการทหาร มารับตำแหน่งราชการทางกระทรวงธรรมการ อยู่มาจนกระทั่งพระยาพหลฯ พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่อีก ๓ นายลาออกจากคณะรัฐบาล เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วยมีเรื่องขัดใจกับพระยามโนฯ พระยามโนฯ หวังจะเอาพระยาศรีฯ ไว้เป็นกำลังต่อไป จึงได้แต่งตั้งพระยาศรีฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ในวันที่พระยาศรีฯ จะไปรับมอบหมายงานการที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง พระยาพหลฯ ก็นำคณะยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนฯ เป็นคำรบสอง เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พระยาศรีฯ จึงไม่ได้รับตำแหน่งนั้น

อย่างไรก็ดีพระยาพหลฯ และหัวหน้าบางคนในคณะของท่านก็ใคร่จะได้พระยาศรีฯ ไว้ช่วยราชการต่อไปเหมือนกัน พระยาพหลฯ จึงได้ทำความเข้าใจกับพระยาศรีฯ ว่าการที่ไม่จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งทางทหารเวลานั้น ก็เป็นด้วยเมื่อได้ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และเป็นในยามมืดมนอนธกาลเช่นนี้ เพื่อที่จะให้คนทั้งปวงมีความมั่นใจในความสงบของบ้านเมือง ตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางราชการทหาร จำต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ขอให้พระยาศรีฯ ได้อยู่อย่างสงบไปพลางก่อน ต่อผ่านระยะแห่งความยุ่งยากไปแล้ว ก็จะได้จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งในราชการทหารสืบต่อไป ทั้งนี้เป็นความรู้สึกฉันทมิตรอันจริงใจของพระยาพหลฯ และนายทหารชั้นหัวหน้าของคณะผู้ก่อการบางคนที่มีต่อพระยาศรีสิทธิสงคราม

อย่างไรก็ดี พระยาศรีฯ คงจะมีความเข้าใจผิดคิดไปว่า ปิยมิตรไม่ไว้วางใจในตนเสียเสียแล้ว ก็คงจะมีความโทรมนัสใจ และประกอบกับ คงจะมีความเข้าใจผิดในคติการเมืองของคณะราษฎรในบางประการ จึงเป็นเหตุบรรดาลให้พระยาศรีฯ ไปร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดชก่อการกบฎต่อรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น จนถึงได้นำทหารหัวเมืองมาทำยุทธการกับเหล่าทหารของรัฐบาล ในที่สุดฉากแห่งชีวิตของท่านนายพันเอกผู้นี้ ก็ปิดลงด้วยการสู้รบจนถึงแก่ความตายในสมรภูมิ สมเยี่ยงอย่างชายชาติทหาร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ