วันที่ ๓ พฤษภ. ๘๔

อ่อนโยนเหมือนแกะ กล้าหาญเหมือนสิงห์

ในวันหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ บนถนนในบริเวณโรงเรียนนายร้อยทหารบก ข้าพเจ้าได้เดินสวนทางกับนายทหารปืนใหญ่ผู้หนึ่ง ร่างใหญ่ เดินก้มหน้า กิริยาเสงี่ยม ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังว่า ท่านผู้นั้นคือ นายพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก กิริยาอาการของท่านผู้นี้ ต่างกับอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารอีกผู้หนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเคยพบบนถนนในบริเวณโรงเรียนนายร้อยทหารบกเช่นเดียวกัน ท่านอาจารย์ใหญ่อีกคนหนึ่งมักจะเดินเคียงคู่ไปกับนายพลตรี พระยารามรณรงค์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันที่สโมสร ท่านผู้นี้เดินตัวตั้งตรง ใส่หมวกเอียงน้อย ๆ หน้าเชิดนิดหน่อย และชอบเดินคุยมาในระหว่างทางดูเป็นคนพากภูมิ

ท่านอาจารย์ใหญ่คนหลังนี้ คือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้เป็นเสนาธิการของคณะก่อการปฏิวัติ ท่านอาจารย์ใหญ่คนแรก นายพันโทพระสรายุทธสรสิทธิ์ผู้มีกิริยาเสงี่ยมคนนั้นเอง ได้กลายมาเป็นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะก่อการปฏิวัติอันมีนามว่า ‘คณะราษฎร.’

ถึงแม้จะได้เคยพบเคยเห็น ท่านหัวหน้าคณะราษฎรมาแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้วก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้วิสาสะกับท่านผู้นี้เลย จนกระทั่งในราวกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ท่านได้ลาออกจากคณะรัฐบาลพระยามโนฯ วันหนึ่งหรือ ๒ วัน ในครั้งนั้น ข่าวที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” จั่วหัวว่า “สี่ทหารเสือลาออก” นั้นเป็นข่าวตื่นเต้นและกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างแรง เพราะว่าในต้นเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องออกจากคณะรัฐบาลไปคนหนึ่งแล้ว อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกสั่งปิด และยังมีข่าว สี่ทหารเสือลาออกอีกเล่า ประชาชนก็พากันวิตกหวั่นหวาดว่า ระบอบประชาธิปไตยเห็นจะไปไม่ถึงฝั่งเป็นแน่ และคงจะอับปางลงในไม่ช้า

ในชั่วโมงแห่งความเป็นหรือตาย ในชั่วโมงแห่งการอยู่หรือรอดของระบอบประชาธิปไตยนี้เอง ข้าพเจ้าได้รับโอกาศเป็นครั้งแรกสนทนาวิสาสะกับท่านเชษฐบุรุษ ประมุขคณะราษฎร กิริยาเสงี่ยมสุภาพที่ข้าพเจ้าเคยพบ ที่ท่านนายพันโทพระสรายุทธสรสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น ข้าพเจ้ายังคงได้พบอยู่อย่างบริบูรณ์ เมื่อได้มานั่งอยู่ต่อหน้านายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ในตอนเช้าของวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖.

เมื่อได้มีโอกาศสนทนาวิสาสะกับท่านผู้นี้แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่ากิริยาอาการที่ท่านต้อนรับ และน้ำคำที่ท่านได้กล่าวคำปราศรัยต่อข้าพเจ้านั้น ยังแสดงให้เห็นความสุภาพอย่างน่าจับใจ ยิ่งไปกว่าจะเห็นได้จากกิริยาการภายนอกเสียอีก ท่านเจ้าคุณทราบอยู่ดีแล้วว่า หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” เป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนอุดมคติของคณะปฏิวัติอย่างเต็มกำลัง อย่างไม่คำนึงถึงภัยใด ๆ ดังนั้นจึงได้ให้โอกาศแก่ข้าพเจ้าเพื่อสนทนากับท่านได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่า ท่านจำเป็นจะต้องระมัดระวังถ้อยคำตามสมควร ในการตอบข้อถามของข้าพเจ้า เพื่อนำไปลงหนังสือพิมพ์ก็ดี แต่อาการกิริยาของท่าน และถ้อยคำบางตอนที่ท่านได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าเป็นการฉะเพาะตัว และข้าพเจ้ามิได้นำมาลงพิมพ์นั้นเป็นการเปิดเผย พอที่ข้าพเจ้าจะทราบได้ว่า การลาออกของท่านนั้น เป็นการลาออกด้วยความขมขื่นใจอย่างที่สุด คำตอบของท่านประโยคหนึ่งที่ให้แก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านเป็นโรคเจ็บปวดที่หัวใจ” และถ้อยคำของท่านประโยคนั้น เมื่อได้นำลงในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” แล้วก็เป็นดั่งสัญญาณบอกกล่าวอาการของโรคที่ไม่ปรากฏในใบลา.

การที่ข้าพเจ้าได้รับโอกาศสนทนาวิสาสะกับท่านหัวหน้าคณะราษฎร ณที่บ้านตำบลบางซื่อนั้น ข้าพเจ้าได้พบลักษณะนิสสัยอันเป็นที่จับใจในท่านผู้นี้หลายประการ ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง เหมาะจะเป็นผู้นำคณะในยามเสี่ยงชีวิตจริงๆ เป็นผู้ที่ห่วงใย ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งท่านได้เป็นผู้นำในการประดิษฐานจริง ๆ เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับท่านอีกครั้งหนึ่ง ในเช้าวันที่ ๑๙ มิถุนายน และระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังสนทนาอยู่กับท่านที่บ้านบางซื่อ และพวกเราคนหนึ่งได้นำคำสั่งปิดโรงพิมพ์ “ประชาชาติ” ไปเสนอแก่ข้าพเจ้าต่อหน้าท่านนั้น เสียงที่ท่านร้องออกมาด้วยความคั่งแค้นในเวลานั้น ยังกังวานอยู่ในหูของข้าพเจ้าตลอดมา

เมื่อเสือคำรามแล้ว ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๐ มิถุนายน ข้าพเจ้าก็ได้ทราบว่า พระยาพหลฯ ได้นำคณะยึดอำนาจการปกครองเป็นคำรบสอง ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขัน ของคณะนายทหารหนุ่มอันมีนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นประธาน ซึ่งในภายหลังท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และได้ก้าวขึ้นสู่ความสำคัญเป็นลำดับมา

แต่ความดลใจอะไรเล่า เหตุอะไรเล่าที่บรรดาลให้พระยาพหลฯ คิดเปลี่ยนการปกครอง และยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน วันที่ประชาชาติไทยได้รับรองยกย่องเป็นวันชาติ? ข้าพเจ้าจะบรรยายให้ท่านฟังในวันต่อไป

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ