๑๕

วันที่ ๗ มิถุนายน ๘๔

วันที่ ๒๔ มิถุนายน

ถึงแม้จะได้เลื่อนมาแล้วเป็นครั้งที่สอง และถึงแม้จะกำหนดการลงไปแน่นอนแล้ว จนไม่มีทางคิดว่าจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นอีกก็ดี แต่ในวันที่ ๒๒ นั้นเอง ทางพวกหัวหน้าก็ได้รับรายงานว่า พรรคพวกทั้งฝ่ายทหารบกทหารเรือและพลเรือน ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นทั้งหมด ๑๑๕ คนนั้น มีหลายคนยังไม่พร้อมที่จะลงมือทำการ ทำให้บรรดาหัวหน้าต้องมีการปรึกษาหารือกันเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และในที่สุดได้ตกลงให้เลื่อนวันลงมือทำการออกไปอีก ๑ วัน คือเป็นวันศุกร์ ที่ ๒๔ มิถุนายน ทั้งนี้ให้ถือว่า เป็นวันกำหนดแน่นอน ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงอีก ไม่ว่าใครจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม เป็นอันว่าจะต้องลงมือละ จะมัวรีรออยู่ไม่ได้ บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าการที่จะยืดเวลาออกไปนั้น ก็เท่ากับรอเวลาให้ภัยใกล้เข้ามาเท่านั้น เพราะว่าดูเหมือนในระหว่างนั้น ทางราชการตำรวจก็เริ่มสงสัยแล้วว่า มีบุคคลหมู่หนึ่งจะคิดกบฎต่อพระราชา และดูเหมือนมีการสืบสวนเบาะแสหลักฐานในเรื่องนี้อยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจะมัวยืดเวลาต่อไปอีกนานแล้ว ก็เท่ากับให้โอกาศแก่ตำรวจ ได้มีเวลาสืบสวนจนได้เบาะแส และคณะปฏิวัติก็คงจะถูกจับกุมเสียก่อนที่จะได้ลงมือเป็นแน่ ดังนั้นบรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติจึงได้ตกลงปลงใจว่า จะเริ่มการในวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นแน่นอน พรรคพวกจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ก็ขอเลือกไปตายเอาดาบหน้า

เราทั้งหลายย่อมทราบกันแล้วว่า กำหนดวันทำการที่คณะปฏิวัติได้ตกลงกันครั้งหลังที่สุด เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายนนั้น เป็นอันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด

เผยความคิดแก่ภรรยา

เมื่อข้าพเจ้าเรียนถามท่านหัวหน้าคณะราษฎรว่า ในคืนที่จะออกไปทำการนั้น ท่านได้สั่งความข้อใดแก่ภรรยาของท่านบ้าง เจ้าคุณพหลฯ หัวเราะและแทนที่จะตอบคำถามข้อนี้ในทันที ท่านกลับย้อนไปเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่เริ่มคิดการปฏิวัติใหม่ ๆ

ท่านหัวหน้าคณะราษฎร ได้เล่าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า ในเวลาที่ตกลงปลงใจว่า จะทำการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินนั้น ภรรยาของท่านกำลังเริ่มตั้งครรภ์บุตรคนแรก ท่านว่าความคิดที่จะดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดินครั้งนี้ เป็นเรื่องระหว่างความเป็นความตายก้ำกึ่งกัน และว่าตามจริงในส่วนตัวเจ้าคุณพหลฯ เอง มองเห็นข้างตายมากกว่าข้างเป็น เมื่อทำความใคร่ครวญดูแล้ว ท่านจึงรู้สึกว่า แม้นมิได้บอกความคิดเรื่องนี้ให้ภรรยาได้ทราบและได้พูดจาสั่งเสียการภายหน้าแก่ภรรยาไว้บ้างแล้ว ก็จะไม่วายห่วง จริงอยู่พระยาทรงฯ ได้เคยพูดกำชับกับท่านไว้ว่า อย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ผู้ใดล่วงรู้เป็นอันขาด เว้นเสียแต่ผู้ที่ร่วมเป็นร่วมตายด้วยกันเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ดี เจ้าคุณพหลฯ เองเห็นว่า ท่านควรจะถือภรรยาเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายได้คนหนึ่ง

ดังนั้นเพลาเย็นวันหนึ่ง ท่านหัวหน้าคณะราษฎร จึงได้เรียกภรรยาไปสนทนากับท่านสองต่อสอง และเผยความคิดเรื่องนี้ให้ฟัง ได้ชี้แจงแก่ภรรยาของท่านอย่างตรงไปตรงมาว่าการที่คิดจะเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ ก็มิได้แน่ใจว่าจะทำไปสำเร็จดอก มองเห็นข้างศีรษะจะหลุดจากบ่านั้นมากกว่า แต่ที่เห็นแน่ตระหนักในใจก็คือ ถ้าไม่เร่งรัดจัดเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียแต่ในเวลานี้แล้ว ต่อไปภายหน้าบ้านเมืองก็คงจะประสพความหายนะถึงล่มจมลงไปเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกเป็นความจำเป็นที่จะต้องนำชีวิตเข้าเสี่ยงภัย ที่ว่ารู้สึกเป็นความจำเป็นนั้นอาศัยเหตุว่า บิดาของท่านเคยเป็นนายทหารผู้ใหญ่ก็ข้อหนึ่ง และตัวท่านเองก็เป็นนายทหารผู้ใหญ่ซึ่งได้รับความอุดหนุนของบ้านเมืองให้ออกไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ ก็จำต้องคิดถึงบุญคุณของบ้านเมืองอีกข้อหนึ่ง เมื่อเห็นภัยจะมีมาสู่ประเทศของตน จะนิ่งนอนใจอยู่มิได้ จำต้องรู้สึกถึงความรับผิดชอบพลีชีวิตออกเสี่ยงภัย เพื่อกู้บ้านเมืองไว้ตามสติปัญญาที่จะทำได้ ดังนั้นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จำต้องทำ

ภรรยาของท่านหัวหน้าคณะราษฎร ได้ฟังสามีชี้แจ้งเหตุผลประกอบความตกลงปลงใจดังนั้นแล้ว ก็มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ นอกจากจะมิได้ทำการขัดขวางแต่อย่างใดแล้ว ยังได้ให้ความสนับสนุนในทางกำลังใจอย่างเต็มที่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ