คำแถลงครั้งที่ ๓
บัดนี้ เราก็จะต้องเขียนคำแถลงตอบวิทยุกระจายเสียงเป็นคำรบสาม เพราะว่าเมื่อคืนวันอังคาร วิทยุกระจายเสียงยังคงดำเนินการเสียดสีวิพากษ์หนังสือพิมพ์ของเราต่อไป.
เราได้กล่าวไว้แต่คำแถลงครั้งแรกแล้วว่า เราไม่ขัดข้องเลยที่วิทยุกระจายเสียงจะวิพากษ์การกระทำของเรา ถ้าการวิพากษ์นั้นได้กระทำไปโดยอารยวิธี เราเสียดายอยู่ข้อหนึ่งก็ที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรมพอในการโต้ตอบ เพราะเหตุไม่มีโอกาศจะใช้เครื่องมืออันเดียวกัน
บัดนี้เรามีความเสียดายเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง กล่าวคือ ในการโต้ตอบระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรากับวิทยุกระจายเสียงนั้น ทางวิทยุกระจายเสียงดูไม่ใคร่ใส่ใจจะให้เป็นเครื่องเพิ่มพูนปัญญาแก่ผู้ฟังแต่ประการใด เพราะทางวิทยุกระจายเสียงคอยแต่จะหลีกเลี่ยงการโต้ในประเด็น ข้อใหญ่ใจความ และหลีกเลี่ยงการโต้ด้วยเหตุผล ดังจะเห็นได้ในการพูดเมื่อคืนวันอังคาร วิทยุกระจายเสียงไม่ได้ตอบประเด็นข้อใหญ่ใจความตามที่เราได้กล่าวแก้ไปเลย เช่นในข้อที่เรากล่าวว่า ข้อปรักปรำที่เขาตั้งมาใหม่ เป็นอริกับคำพูดของเขาเอง ที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อ ๓ คืนก่อน และในข้อที่เขาปรักปรำว่า เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติจะก่อให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันอีก และเราได้ขอให้เขาชี้ระบุว่า มีข้อความตอนไหนบ้างในเรื่องนั้น ที่จะทำให้คณะระบอบเก่าขัดเคือง “จนถึงจะทำให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้น และจะทำให้บ้านเมืองถึงแก่ฉิบหายล่มจมได้”
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงหาได้โต้ตอบประเด็นข้อโต้เถียงข้อใหญ่ใจความทั้งสองข้อนี้ไม่ ผู้พูดได้อวดอ้างว่าเขาตักเตือนเราด้วยเหตุผล แต่ตัวเขาเองสิกลับไม่กล้าเผชิญต่อข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่เราได้เสนอให้เขาพิจารณา.
การพูดของเขาเมื่อคืนวันอังคารแทบไม่มีเนื้อหาอะไรที่เราจะต้องนำมาคำนึง เพราะเขาเลี่ยงไปพูดในเรื่องที่ไร้สาระเสียทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ดีเราก็ใคร่จะชี้ให้ประชาชนได้เห็นว่า คารมซึ่งแสดงมาตรฐานปัญญาและจิตต์ใจของผู้เรียบเรียงบทสนทนาขนาดนั้น สมควรละหรือที่จะปล่อยให้เป็นผู้ใช้เครื่องมือวิทยุกระจายเสียงพูดโฆษณาความคิดของเขาให้ประชาชนฟังอยู่ทุกคืน.
เขาว่า เขาตักเตือนเราด้วยหวังดี ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม เพราะฉะนั้นเราจะต้องเชื่อฟังเขา และยอมรับว่าเขาเป็นฝ่ายถูกต้อง
อาศัยหลักเกณฑ์ข้อนี้ของเขา การก็จะเป็นว่า ใครๆก็ตามถ้าได้กล่าวตักเตือนใครโดยมีข้ออ้างว่า “ตักเตือนด้วยหวังดี และด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” แล้ว ผู้ที่ได้รับตักเตือนก็จะต้องเชื่อฟังทีเดียว. ถ้าผู้พูดยึดถือหลักเกณฑ์ข้อนี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เมื่อหนังสือพิมพ์ตักเตือนกรมโฆษณาการให้เปลี่ยนตัวผู้เรียบเรียงบทสนทนาเสียใหม่ ซึ่งเป็นคำ “ตักเตือนด้วยหวังดี และด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” แล้ว กรมโฆษณาการก็ควรจะจัดการทันที เช่นเดียวกันมิใช่หรือ?
เขาว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ของเราไม่เชื่อฟังแล้ว ก็เป็นการแสดงว่าเราไม่ฟังเสียงประชาชน และถือตนว่าเป็นผู้ที่ทำอะไรไม่มีผิด
ถ้าเราไม่เชื่อฟังเขาแล้ว ด้วยเหตุอะไรในโลกนี้เล่า เราจึ่งจะต้องกลายเป็นผู้ที่ถือคติเช่นนั้นไป? เสียงของเขาเป็นเสียงของประชาชนเช่นนั้นหรือ? ว่าตามจริง ถ้าเขาเป็นผู้นับถือเสียงของประชาชนแล้ว เขาก็จะต้องรีบถอนข้อปรักปรำของเขาต่อเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เสียทีเดียว เพราะข้อติเตียนปรักปรำของเขาในเรื่องนี้ ได้ปรากฏเปิดเผยแล้วว่า เป็นอริต่อเหตุผลและความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง.
วิญญูชนโปรดพิจารณาดูเถิดว่า คารมของผู้พูดมีสาระหรือไม่ คารมของผู้พูดแสดงมาตรฐานปัญญาของเขาขนาดไหน? และก็เขาผู้มีมาตรฐานปัญญาขนาดเช่นนี้แหละ คือผู้ที่อวดอ้างแก่เราทั้งหลายว่า เป็นเสียงของทางราชการ เป็นเสียงของรัฐบาล เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยแนะนำ ตักเตือน สั่งสอน พวกเราเหล่าประชาชนทั้งหลาย!
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแถลงอย่างไว้อำนาจว่า วิทยุกระจายเสียงเป็นของราชการ จะยอมให้ใครมาใช้โต้กับผู้พูดไม่ได้ แปลว่ามีไว้เพื่อผู้พูดซึ่งเป็นข้าราชการจะได้ใช้เล่นงานใครต่อใครได้ข้างเดียว และก็แน่ละ ในการเล่นงานเช่นนั้น ก็จะต้องถือว่าเป็นการเล่นงาน “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” เมื่อผู้พูดบริภาษหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่า กินสินบนจากพ่อค้ากางเกงแพร และบริภาษประชาชนที่นุ่งกางเกงแพรว่าเป็นคนป่าเถื่อน และได้พูดจาก้าวร้าวเสียดสีด้วยประการต่าง ๆ นั้น ผู้พูดก็บริภาษ “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” ผู้พูดย่อมจะใช้วิทยุกระจายเสียงบริภาษใครต่อใครได้ทั้งนั้น เมื่อผู้พูดเพียงแต่อ้างว่า “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” หรือ “เพื่อประโยชน์ของชาติ” ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่างมีอำนาจกว้างใหญ่ไพศาลนี่กระไร!
เขาว่าการที่จะยอมให้เราได้รับโอกาศใช้วิทยุกระจายเสียงโต้ตอบกับเขานั้น ย่อมเป็นสิ่งที่พ้นวิสัย เช่นเดียวกับที่เราย่อมจะไม่ยอมให้เขาได้มาใช้หน้ากระดาษของเรา เพื่อที่จะตอบโต้กับเราเองเป็นแน่
ถ้อยแถลงข้อนี้ของเขา ทำให้เราแน่ใจยิ่งขึ้นว่า ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นคนที่อยู่กันคนละโลกกับเราทีเดียว และเขามักจะคาดหมายจิตต์ใจของผู้อื่น โดยอาศัยมาตรฐานแห่งจิตต์ใจของเขาเองเสมอ เพราะว่าตามจริงแล้ว เราพร้อมที่จะให้หน้ากระดาษของเราต้อนรับข้อโต้ตอบของผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงทุกเมื่อ ถ้าหากเขาจะมีความพอใจ และถ้าหากข้อโต้ตอบของเขาดำเนินตามอารยวิธี เป็นต้นว่า ใช้คารมสุภาพพอ
การเปิดโอกาศให้แก่ผู้ซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา ได้ใช้หน้ากระดาษของเราเองนั้น มิใช่ว่าเราเพิ่งจะมาบอกอนุญาตให้แก่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก แต่เพราะว่าเป็นวิสัยจิตต์ใจแห่งหนังสือพิมพ์ของเรา ที่จะแสวงหาเหตุผลและข้อความจริงจากการวิพากษ์โต้เถียงกัน เพื่อที่จะได้ข้อยุตติ (Conclusion) ที่ดีที่สุด เราจึงเปิดโอกาศให้แก่ความคิดเห็นซึ่งแม้ไม่ตรงกับของเราและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของเรานั้น ได้เคยมีลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของเราอยู่เนือง ๆ นี่เป็นธรรมนิยมแห่งหนังสือพิมพ์ของเรา และหนังสือพิมพ์ทั่วโลกที่ดำเนินการโดยอารยชน.
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงคงจะมีความละอายใจที่ได้คาดหมายจิตต์ใจของเราผิดไปจากจิตต์ใจของเขา อย่างไรก็ดีถ้าผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงพูดมุ่งประโยชน์ส่วนรวมจริงแล้ว และมิใช่ตั้งใจมุ่งร้ายหนังสือพิมพ์ของเราและมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแล้ว ก็ชอบที่จะเห็นว่าเราควรได้รับโอกาศอันเป็นธรรม ที่จะแสดงความเห็นของเราต่อสาธารณะชนโดยทางวิทยุกระจายเสียงได้เหมือนกัน การแลกเปลี่ยนความเห็น กับการด่าหรือทะเลาะวิวาทกันนั้น เป็นของคนละอย่างต่างกัน แต่ดูเหมือนผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียง จะมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ และกำลังจะเอาไปปนกัน
ถ้าทางการวิทยุกระจายเสียงถือว่า การวิพากษ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เป็นการวิพากษ์เพื่อสาธารณประโยชน์ จนถึงยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้วิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลวิพากษ์ได้แล้ว ทางการวิทยุกระจายเสียงก็ควรจะถือว่า การโต้ตอบข้อวิพากษ์ เป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ และดังนั้นก็ควรจะให้หนังสือพิมพ์ของเราได้รับโอกาศใช้วิทยุกระจายเสียงเช่นเดียวกัน เราเชื่อว่าท่านอธิบดีกรมโฆษณาการ คงจะไม่คิดเห็นไปว่า มีแต่เจ้าหน้าที่ในกองวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ที่มีหัวคิดพอที่จะใช้วิทยุกระจายเสียง เพื่อสาธารณะประโยชน์ได้
ตามที่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้พูดอยู่เนือง ๆ ว่า เขาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้ความดิบความดีในทางส่วนตัวเลยนั้น ขอให้เลิกพูดกันเสียที มันเป็นเรื่องน่าละอายแก่ใจเพราะผู้พูดเป็นข้าราชการกินเงินเดือนอย่างงดงามอยู่แล้ว และก็หวังความเจริญก้าวหน้าในทางส่วนตัว เพราะการพูดอยู่แล้ว ว่าตามจริง หนังสือพิมพ์เสียอีกอยู่ได้ด้วยความสนับสนุนของประชาชนแท้ ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์ทำอะไรโง่ ๆ บ้า ๆ ลงไปแล้ว ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ทีเดียว เช่นถ้าเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เป็นเรื่องเหลวแหลก จนถึงจะก่อให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้นแล้ว ประชาชนย่อมจะเลิกอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเรา จนถึงต้องล้มไปเป็นแน่ หรือถ้าคำแถลงตอบของเราต่อวิทยุกระจายเสียง เป็นคำแถลงอย่างโง่ ๆ บ้า ๆ ไม่เป็นรสเป็นเรื่องแล้ว ประชาชนก็จะเลิกอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเราเช่นเดียวกัน แต่ถ้าผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงพูดอะไรออกมาอย่างเหลว ๆ ดั่งที่ประชาชนและหนังสือพิมพ์หลายฉะบับได้เคยแสดงความไม่พอใจมาแต่ก่อนและกำลังแสดงอยู่ในบัดนี้ ผู้พูดก็ยังใช้วิทยุกระจายเสียง พูดอยู่ได้ทุกคืน ไม่ว่าประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม กองการกระจายเสียงก็ไม่ล้มไปเป็นแน่!
เพราะฉะนั้นขอผู้พูดจงสังวรณ์อย่าพูดพล่ามในเรื่องทำงานตามมติประชาชน และทำงานเพื่อชาตินักเลย คำว่าชาติจะกลายเป็นของที่เปล่าสาระไป ผู้พูดยิ่งตะโกนดังออกไปเท่าใด ก็จะยิ่งแสดงถึงความว่างเปล่าภายในคำพูดมากเท่านั้น.